กลุ่มชาติพันธุ์ : ลาวครั่ง

  • ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : ลาวครั่ง
  • ชื่อเรียกตนเอง : ลาวครั่ง
  • ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ลาวครั่ง, ไทครั่ง, ลาวขี้ครั่ง, ลาวเต่าเหลือง, ลาวด่าน, คนไทยเชื้อสายลาวครั่ง
  • ภาษาที่ใช้พูดและเขียน : ภาษาลาวครั่ง อยู่ในตระกูลภาษาไท ไม่มีอักษรและไม่มีระบบการเขียนเป็นการเฉพาะ ใช้อักษรลาวร่วมกันกับกลุ่มชาติพันธุ์ลาวอื่น ๆ
  • มิติทางประวัติศาสตร์ที่มีผลต่อการเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ :

    ชื่อเรียกตนเอง  

              ลาวครั่ง ที่มาของคำว่า “คั่งหรือครั่ง” มีข้อสันนิษฐาน 3 ประการ คือ ประการแรก สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า “ภูฆัง หรือ ภูครัง” ซึ่งเป็นชื่อภูเขาที่มีลักษณะคล้ายระฆังอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของ หลวงพระบางในประเทศลาวซึ่งเป็นถิ่นฐานเดิมของ ลาวครั่ง ประการที่สอง “คั่งหรือขี้คั่ง” คือ ครั่งที่ใช้ผนึกตรา และมาออกเสียงว่า “คั่ง” ในภาษาลาวครั่งเพราะในภาษานี้ไม่มีเสียงพยัญชนะควบกล้ำ ข้อสันนิษฐานประการที่สาม คือ ลาวครั่งนิยมเลี้ยงครั่งและใช้ครั่งย้อมผ้า จึงใช้ครั่งเป็นของส่งส่วยให้กับรัฐบาลไทย จึงได้ชื่อว่าลาวขี้ครั่ง 

    ชื่อที่ผู้อื่นเรียก   ไทครั่ง ลาวครั่ง ลาวเต่าเหลือง ลาวด่าน คนไทยเชื้อสายลาวครั่ง ลาวขี้ครั่ง  

              ไทครั่ง ใช้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์ในงานวิจัย เนื่องจากเป็นภาษาตระกูลไทเช่นเดียวกับภาษาไทยและลาว และเพื่อไม่เป็นการแบ่งแยกจากชาติพันธุ์ไทอื่น ๆ ในประเทศไทย 

              ลาวขี้ครั่ง ชาวบ้านเนินขามใช้ เรียก ชาวบ้านกุดจอก เชิงหมิ่นแคลน 

              ลาวด่าน เป็นชื่อเรียกลาวครั่งที่อาศัยอยู่ในอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย และอำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี 

              ลาวเต่าเหลือง เป็นชื่อเรียกลาวครั่งที่อาศัยอยู่ในจังหวัดนครสวรรค์ ชื่อนี้มีที่มาว่าชาวลาวครั่งที่จังหวัดนี้อาศัยอยู่ตามป่าเขา เหมือนเต่าที่มีกระดองสีเหลือง 

              ลาวขี้ครั่ง ลาวครั่งนิยมเลี้ยงครั่งและใช้ครั่งย้อมผ้า จึงใช้ครั่งเป็นของส่งส่วยให้กับรัฐบาลไทย จึงได้ชื่อว่าลาวขี้ครั่ง 

              ลาวโนนปอแดง เป็นชื่อเรียลาวครั่งที่อาศัยอยู่ในอำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ นอกจากนี้ยังมีการรียกชื่อลาวครั่งตามเสียงคำลงท้ายของภาษาลาวครั่ง คือ “ลาวก๊ะล่ะ หรือลาวล่อก๊อ” (มยุรี ถาวรพัฒน์ , 2548: 5 - 7) 

             โดยชาติพันธุ์ “ไทครั่ง” หรือ “ลาวครั่ง” เป็นชาติพันธุ์ที่ไม่ชัดเจนเท่าใดนักในเรื่องของชื่อเรียก โดยชื่อ “ลาวครั่ง” ใช้เรียกชาติพันธุ์ เนื่องจากมีถิ่นฐานเดิมมาจากประเทศลาว ต่อมามีผู้วิจัยได้มีการออกสำรวจพื้นที่ในเบื้องต้น พบว่า ไม่ใช่ทุกชุมชนหรือหมู่บ้านเสมอไปที่เรียกตนเองว่า ลาวครั่ง แม้ว่าจะมีประวัติความเป็นมาเหมือนกัน คือเดิมทีอพยพมาจากหลวงพระบางและเวียงจันทน์ อีกทั้งมีการย้อมผ้าสีด้วยครั่ง จึงทำให้บางชุมชนเรียกตนเองว่า ลาวครั่ง โดยให้เหตุผลว่า เป็นการเรียกชื่อตามหน่วยงานราชการหรือคนไทยอื่น ๆ ที่เรียกตนเองว่า ลาวขี้คั่ง และปฏิเสธที่จะถูกเรียกว่า ลาวครั่ง บางชุมชนหรือหมู่บ้านมีประวัติการอพยพมาจากเวียงจันทร์ แต่ก็เรียกตนเองว่า ลาวเวียง หรือ ไทยขาว หรือบางหมู่บ้านก็เรียกตนเองว่า ลาวกา เนื่องจากถูกมองว่าพูดเสียงดังเหมือนกัน จึงทำให้การเรียกชื่อดังกล่าวนั้นยังไม่ชัดเจน ตรงตามเชื้อสายที่แท้จริง เพราะฉะนั้นการศึกษาชาติพันธุ์ลาวในสังคมไทยยังคงต้องสร้างเกณฑ์ ในการจัดแบ่งให้ชัดเจน  

              เนื่องจากว่า กลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่ง ลาวใต้ ไทยพวน ลาวเวียง ในบางบริเวณกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้มีการอยู่อย่างกระจัดกระจายไม่ได้รวมตัวกันมากนัก และมีการแต่งงานข้ามกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้ยากต่อการระบุกลุ่มชาติพันธุ์ว่าเป็นกลุ่มใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่ง ลาวใต้ และลาวเวียง ที่มีการพูดภาษาลาวเหมือนกัน ทำให้ภาษามีความคล้ายคลึงกันมาก อีกทั้งในเรื่องของประวัติความเป็นมาการทอผ้าที่คล้ายคลึงกัน จึงทำให้เกิดความไม่ชัดเจนในการเรียกชื่อและมีการสับสนในเรื่องของชาติพันธุ์ (อัญชลี สิงห์น้อย  วงศ์วัฒนา , 2559 : 107-108) 

              กลุ่มคนที่เรียกตนเอง หรือมีผู้อื่นเรียกว่า “ลาวครั่ง” นี้ ไม่อาจสืบให้แน่ชัดได้ว่า เดิมนั้นมีกำเนิดอยู่ในท้องถิ่นใด หรือที่ใด มีกล่าวแต่เพียงในเอกสาร จดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 ว่า มีถิ่นฐานเดิมอยู่เมืองภูครัง และว่าอยู่ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง แล้วกองทัพไทยกวาดต้อนให้มาอยู่ที่เมืองสุพรรณบุรี และเมืองนครชัยศรี มีเรียกว่าทั้ง ลาวภูครัง และ ลาวครัง  (บังอร ปิยะพันธุ์ หน้า 4)

              มีเรื่องเล่าหรือเป็นข้อสันนิษฐานในหมู่ชาวลาวครั่ง ถึงแหล่งที่มาของชื่อเรียกขานชาติพันธุ์ของตน จำแนกเป็น 3 ที่มา คือ

              1.กล่าวว่า ชื่อลาวครั่งนี้ ได้มาจากการที่บรรพบุรุษของตนเคยอยู่ที่ภูคัง เขาลูกนี้มีสัณฐานเป็นรูประฆัง เมื่อกองทัพสยามนำผู้คนเหล่านี้มาอยู่ในดินแดนสยาม จึงยังคงเรียกขานชื่อกลุ่มของตนว่าคนลาวคัง ต่อมาจึงมีการกล้ำอักษรและเติมเครื่องหมายวรรณยุกต์ เขียนว่า ลาวครั่ง

              2.กล่าวว่า ชื่อลาวครั่ง เรียกตามประวัติศาสตร์ที่ชาวลาวกลุ่มนี้ ได้รับมอบหมายให้เลี้ยงครั่ง เพื่อส่งโรงไหมหลวงของสยาม รวมทั้งเพื่อการนำไปเป็นสินค้าส่งออก

              3.กล่าวว่า ชื่อลาวครั่ง กร่อนไปจากคำว่า “ลาวค้าง” เล่ากันว่า มีคนลาวบางส่วนที่ถูกกองทัพสยามกวาดต้อนมาแล้ว ต่อมาจึงรวบรวมกันเดินทางกลับคืนเมืองลาว แล้วไปตกค้างอยู่ตามเมืองต่าง ๆ ไม่ได้เดินทางต่อไปตามเจตนาเดิม และบ้างก็กล่าวว่า “ลาวค้าง” นั้นมาจากการที่กองทัพสยามพยายามสักเลกชายฉกรรจ์เพื่อนำมาใช้ในราชการสงคราม แต่ก็มีลาวบางกลุ่มที่เหลือค้างมิได้สักเลก จึงเรียกว่า ลาวค้าง ต่อมาจึงกร่อนเสียงคำเรียกเป็น ลาวครั่ง

              เรื่องเล่าทั้ง 3 ประการนี้ มีเค้าความสอดรับตามข้อสันนิษฐาน แต่ความจริงทางวิชาการยังไม่อาจปักใจเชื่อได้แน่ชัด เพราะแต่ละประเด็นล้วนมีข้อคิดค้านแย้ง ยังต้องอาศัยการสืบค้นอย่างเป็นวิชาการอีกต่อไป

              อนึ่ง จากการสืบค้นข้อมูลทางภาคสนามในท้องที่ตำบลโพรงมะเดื่อ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม พบว่า เมื่ออดีตราว 40 ปีเศษ ผู้คนในท้องที่นี้ได้รับการเรียกขาน และเรียกขานกันเองว่า “ลาวขี้คั่ง” คำว่า คั่ง หรือ ขี้คั่ง ในที่นี้ หมายถึงตัวแมลงชนิดหนึ่งที่สร้างรังโอบหุ้มกิ่งไม้ ซึ่งในภาษาไทยถิ่นกรุงเทพเรียกว่า “ครั่ง” ดังนั้น เมื่อเขียนตามอักขรวิธีไทยจะได้ว่า “ลาวขี้ครั่ง”

              คำเรียกนี้ เป็นไปในลักษณะของการสื่อความกันในท้องถิ่นชุมชน มิได้เป็นทางการ เพราะก่อนหน้านี้ สังคมสยามได้รับการปลูกฝังจากแนวนโยบายของรัฐ เพื่อให้เกิดเอกภาพทางเชื้อชาติและสัญชาติ นับตั้งแต่การเปลี่ยนนามของประเทศจาก สยาม มาเป็น ไทย ในปี พ.ศ. 2482 และเรียกผู้คนหลากเผ่าหลายชาติพันธุ์ด้วยคำว่า ไทย นำหน้า เช่น ไทยจีน ไทยเหนือ ไทยใต้ ไทยอีสาน ไทยอิสลาม ไทยเขมร (เขมรถิ่นไทย) ไทยลาว ไทยภูเขา ฯลฯ การที่ชาวท้องถิ่นจะแสดงออกถึงความเป็นตัวตนว่าเป็นชาวท้องถิ่นก็เป็นเรื่องยากหรือเรื่องลำบาก อีกทั้งอาจมีการด้อยค่าตีราคาต่ำว่าเป็นคนหลังเขา ที่ยังไม่ได้รับการศึกษา ประกอบกับระบบการเรียนการสอน และระบบราชการที่กำหนดให้คนไทยทุกคนที่ติดต่องานราชการต้องใช้ภาษากลาง ซึ่งก็คือภาษาถิ่นกรุงเทพ ในการสื่อสาร ส่งผลให้ภาษาท้องถิ่นไม่มีบทบาทในสังคม รวมถึงภาษาถิ่นบางภาษา ได้ตายไปจากสังคมสยามแล้วก็มาก

              ระหว่างที่เกิด “ภาวะหลอมรวมความเป็นไทยอย่างเคร่งเครียด” ต่อมาก็ค่อย ๆ เกิดภาวะผ่อนปรน ปลดปล่อย หรือการให้อิสระในการแสดงออกมากขึ้น เช่น นโยบายเรื่องส่งเสริมการท่องเที่ยวท้องถิ่น หน่วยงานระดับอุดมศึกษานำวิชาภาษาศาสตร์มาสอน สร้างพจนานุกรมภาษาชาติพันธุ์ เกิดการเรียนรู้ การเก็บข้อมูลผู้คนที่มิได้พูดภาษาไทยถิ่นกรุงเทพ ทั้งทางด้านภาษาและวัฒนธรรม เพื่อนำมาวิจัยวิเคราะห์ มีการนำคำศัพท์ “ชาติพันธุ์” มาใช้แทนการกล่าวว่า พวก หรือ เผ่า ประกอบกับแนวคิดสากลเรื่องความหลากหลายทางชาติพันธุ์ (Ethnic diversity)  การนำเสนออัตลักษณ์ชุมชนชาวชาติพันธุ์ กลายเป็นสินค้า ชักชวนให้เกิดการท่องเที่ยว สร้างรายได้แก่ชุมชนและแก่ประเทศในภาพรวม

              ภาวะปลดปล่อยนี้ ทำให้ชาวท้องถิ่น (ที่ไม่ใช่ชาวถิ่นกรุงเทพ หรือถิ่นบางกอก) ลุกขึ้นมานิยามตัวเอง เรียกขานตัวเอง ประกาศชื่อชาติพันธุ์ตัวเองจากการถูกเรียกขานที่ไม่เป็นจริงตามวัฒนธรรมภาษา เช่น ให้เรียกว่า เมี่ยน ไม่อยากให้เรียกว่า เย้า, ให้เรียกว่า อ่าข่า ไม่อยากให้เรียนกว่า อีก้อ, ให้เรียกว่า ลาหู่ ไม่อยากให้เรียกว่า มูเซอ, ให้เรียก ละเวือะ ไม่อยากให้เรียก ละว้า, ให้เรียกว่า ญัฮกูร ไม่อยากให้เรียกว่า ชาวบน รวมถึงให้เรียก ลาวครั่ง ไม่อยากให้เรียกว่า ลาว หรือ ลาวขี้ครั่ง เป็นต้น

    คำเรียกกลุ่มชนที่มีภาษาและวัฒนธรรมลาว หรือคนลาว จำแนกที่มา 2 ประการคือ

              ประการที่ 1 เป็นคำเรียกแบบโบราณกาลของคนสยามในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เรียกคนที่พูดภาษาตระกูลไทที่ไม่เหมือนกับตน (ไม่เหมือนคนไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา) ว่า ลาว เจตนาคือจำแนกให้ทราบว่า มิใช่ไทยสยาม และไม่ใช่ญวน แขก จีน จาม มอญ พม่า มลายู ชาวต่างชาติที่เดินทางมาเกี่ยวเนื่องกับชาวสยามก็พลอยเรียกคนกลุ่มนี้ตามแบบคนสยามว่า “ลาว” ส่วนจะมีคำเสริมความให้ปลีกย่อยออกไปเป็นอะไร ขึ้นอยู่กับเจตนาถึงการจำแนก เช่น ถ้าจำแนกถึงถิ่นที่อยู่หรือเมือง ก็กล่าวว่า ลาวเชียงใหม่ ลาวลำพูน ลาวลำปาง  ลาวเมืองน่าน ลาวเวียงจันทน์ หรือถ้ากล่าวถึงรูปลักษณ์การแต่งกายหรือการแสดงออกทางกายภาพ ก็เรียกว่า ลาวโส้ง (นุ่งกางเกง) ลาวพุงดำ ลาวพุงขาว เป็นอาทิ

              ในเอกสารบันทึกการเดินทางสำรวจเพื่อจัดทำแผนที่ของ เจมส์ ฟิตซรอย แมคคาร์ธี (James Fitzroy McCarthy) เริ่มเข้ามาสำรวจในปี พ.ศ. 2433 กล่าวถึงเส้นทางช่วงปากน้ำโพว่า “การเดินทางแต่แรกมาจนบัดนี้ นับว่าสะดวกสบาย และเราก็เดินทางต่อไปยังปากน้ำโพ อันเป็นที่บรรจบแควสองสาย ที่ไหลมาจากภาคเหนือของสยามซึ่งสยามเรียกว่าลาวนั้น กลายเป็นแม่น้ำใหญ่ที่เรียกว่าแม่น้ำเจ้าพระยา” (แมคคาร์ธี หน้า 84)

              ในวรรณกรรมเรื่องขุนช้างขุนแผน แม้มิอาจยืนยันว่าเป็นประวัติศาสตร์ แต่เรื่องราวและบรรยากาศในเรื่อง ก็ช่วยสำแดงทัศนะแห่งการเรียกขานของคนไทยสยาม กับคนที่มิใช่ไทยสยาม เช่น การดำเนินเรื่องส่อให้เห็นทัศนะว่า เจ้าเชียงใหม่ (รวมถึงทหารและประชากร) เป็นลาว   และเจ้าเวียงจันทน์ (รวมถึงทหารและประชากร) ก็เป็นลาวเช่นกัน

              นอกจากนี้ ภาพบรรยากาศของคนลาวที่อยู่ร่วมชุมชนเดียวกันกับคนไทย คนละว้า คนมอญ มีปรากฏในตอนที่นางทองประศรีจัดพิธีเรียกขวัญหลานชาย (คือพลายงาม บุตรของขุนแผน) ความว่า

                        “พอบ่ายเบี่ยงเสียงละว้าพวกข้าบ่าว              ทั้งมอญลาวเลิกนาเข้ามาสิ้น

                        บ้างสุมไฟใส่ควันกันยุงริ้น                       ตามที่ถิ่นบ้านนอกอยู่คอกนาฯ”

                                                                                      (ขุนช้างขุนแผน หน้า 449)

              การจำแนกกลุ่มคนตามชื่อที่ปรากฏในกลอนนี้ ช่วยส่อภาพชีวิตสังคมชาวสยามในราวสมัยอยุธยาว่า คงจะมีชุมชนที่ผู้คนอยู่ร่วมคละปะปนกันเช่นนี้ มีบทบาทช่วยเหลือเกื้อหนุนกันในทางสังคม ในฐานะเป็น “บ่าว” หรือบ้างก็เรียกใช้ไหว้วานกันตามความสันทัดทางวัฒนธรรม ดังที่นางทองประศรีเรียกใช้ “ให้สาวสาวลาวเวียงที่เสียงดี มาซอปี่อ้อชั้นทำขวัญนาย” (ขุนช้างขุนแผน หน้า 450)

              ในทัศนะของคนต่างชาติ อย่าง มร. แมคคาร์ธี ก็มองความเป็นคนลาวด้วยมุมมองเช่นเดียวกับคนไทยสยาม เช่น กล่าวว่า “ทางจากลำพูนถึงเชียงใหม่เป็นระยะทาง 17 ไมล์ ราบเรียบดีมาก เชียงใหม่เมืองหลวงของลาวพุงดำ อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 1000 ฟุต” (แมคคาร์ธี หน้า 112)

              คนต่างชาติและคนไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยามองคนที่พูดภาษาตระกูลไท แต่ไม่ได้พูดภาษาไทย ไม่มีวัฒนธรรมอย่างคนลุ่มน้ำเจ้าพระยา ว่าเป็นลาว รวมถึงเรียกกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไทที่อยู่ในราชอาณาจักรล้านช้างเมื่ออดีตว่า ลาว

              ในขณะที่คนในอาณาจักรล้านนากลับไม่เรียกตนว่าเป็นคนลาว แต่เรียกตนเองว่าเป็น “คนเมือง” โดยมีความหมายเพื่อจำแนกว่ามิใช่คนดง หรือมิใช่คนดอย (คนบนภูเขา) หรือมิใช่คนป่า แล้วเรียกภาษาของตนว่า “คำเมือง” แปลว่า ถ้อยวาจาของคนเมือง คำว่า “คำ” มีค่าความหมายเท่ากับคำว่า “ภาษา” (Language) (เรืองเดช ปันเขื่อนขัติย์ หน้า 3)

              นอกจากนี้ ทัศนะที่จำแนกตนว่าเป็นคนเมือง ต่างจากคนลาว ดังตัวอย่างที่พระราชชายา เจ้าดารารัศมีที่ทรงกำชับข้าราชบริพารในพระองค์ให้แต่งกายด้วยการนุ่งผ้าถุงที่เป็นลายขวาง ไม่นุ่งผ้าถุงในลายแนวตั้งอย่างชาวลาวฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ด้วยเหตุผลว่า เรามิใช่ลาว

              คนในแผ่นดินล้านนาอีกส่วนหนึ่งเรียกตนเองว่าเป็น “ยวน” หรือ “ยูน” หรือ “โยน” ไม่เรียกตนว่า ลาว แต่ประการใด

              ประการที่ 2 กลุ่มคนที่เรียกตนเองว่า ลาว ซึ่งเป็นประชากรของ สปป.ลาว โดยเฉพาะลาวลุ่ม มีความภาคภูมิใจที่จะเรียกตนเองว่าเป็นลาว หรือคนลาว  อีกทั้งชาววัฒนธรรมลาวในท้องที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ในอดีตก็เคยนิยามว่าตนเป็นคนลาวด้วยเช่นกัน เพราะในประวัติศาสตร์ดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงจนมาถึงภูเขาพญาไฟ เขตพื้นที่เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ถือว่าเป็นราชอาณาจักรล้านช้าง ความในพงศาวดารลาวกล่าวถึงพระเจ้าอู่ทองมีพระราชสาส์นตอบพระเจ้าฟ้างุ้มที่จะยกทับมาตีอยุธยาว่า

     “...เฮาหากเป็นพี่น้องกันมาแต่ขุนบรมปางก่อนพุ้นดาย  เจ้าอยากได้บ้านได้เมือง ให้เอาแต่เขตแดนดงสามเส้า (ดงพญาไฟ) เมือเท่าภูพญาพ่อ และแดนเมืองนครไทเป็นเจ้าถ้อน อันหนึ่ง ข้อยจักส่งน้ำอ้อยน้ำตาลซู่ปี อันหนึ่งลูกหญิงข้าชื่อนางแก้วยอดฟ้า ใหญ่มาแล้วจักส่งเมือให้ปัดเสื่อปูหมอนแก้เจ้าฟ้าแล...”  (สิลา วีระวงส์ หน้า 42)

              ในสังคมไทย สถานภาพคำเรียกขานกลุ่มคนว่า “ลาว” ถูกด้อยค่า (discredit) ในช่วงราชอาณาจักรธนบุรีตอนปลาย  ช่วงต้นรัตนโกสินทร์  จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีเหตุการณ์สำคัญควรแก่การกล่าวถึง เช่น

              1) ในรัชกาลพระเจ้าตากสินมหาราช กองทัพสยามยกไปทำสงครามกับล้านช้าง ทั้งจำปาศักดิ์และเวียงจันทน์ ฝ่ายสยามมีชัย จึงได้นำทั้งเจ้านาย ข้าราชบริพาร และราษฎรลาวอันเป็นข้าแผ่นดินของราชอาณาจักรลาวมาอาศัยอยู่ในแผ่นดินสยาม (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2) เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์นี้ แม้มิได้เป็นการด้อยค่าโดยตรง แต่ก็สื่อนัยทางการเมืองการปกครองว่า กองทัพสยามมีอำนาจและอิทธิพลเหนือกว่า สื่อความในลักษณะว่า “ลาวสู้สยามไม่ได้” ก่อให้เกิดความทรงจำในเชิงดูแคลนคำเรียกขานว่า ลาว

              2) ช่วงต้นรัตนโกสินทร์มีการทำสงครามที่ต่อเนื่องระหว่าง สยามกับล้านช้าง ประกอบกับในราชอาณาจักรล้านช้างก็แตกสามัคคีกันเอง ส่งผลให้มีการนำผู้คนจากอาณาจักรล้านช้างมาอยู่ในสยามมากขึ้น แม้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยสยาม หรือไทยพื้นถิ่น กับคนลาวที่อพยพเข้ามาใหม่จะเป็นไปในเชิงถ้อยทีถ้อยอาศัย ถือเป็น “คนร่วมบาง” จนถึงเกิดการเกี่ยวดองทางเครือญาติทั้งในระดับเจ้านายและราษฎรทั่วไป แต่ในมุมของหลักฐานเอกสาร ก็ยังคงถือว่า ลาว เป็นเชลยศึก คำศัพท์ที่ใช้ในพงศาวดารที่กล่าวถึงชาวลาว (และชาวอื่นๆ ) มักใช้ว่า “กวาดต้อน” ซึ่งส่อความหมายในการถูกกระทำ

              3) พระบาทสมเด็จพระจอมเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศมิให้เล่นแอ่วลาว ทั้งนี้เพราะในสมัยของพระองค์ มีข้าแผ่นดินที่เป็นคนลาวจำนวนมาก การเล่นแอ่วลาวมีแพร่หลายในสยาม จนพระองค์ทรงวิตกว่าจะทำให้การละเล่นมหรสพอย่างไทยเสื่อมสูญ จึงทรงประกาศห้ามดังกล่าว ความในประกาศตอนหนึ่งระบุว่า “...ลาวแคนเป็นข้าของไทย ไทยไม่เคยเป็นข้าลาว จะเอาอย่างลาว จะมาเป็นพื้นเมืองไทยไม่สมควร...” (ประชุมประกาศ ร. 4 หน้า 437-438)

              4) ในสื่อของไทย คำว่า ลาว หรือ ความเป็นลาว ถูกนำมาใช้ในฐานะเป็นตัวตลก หรือในการสื่อสารอย่างไม่เป็นทางการ  การคำกล่าวว่า “ลาว” คำเดียว สามารถกลายเป็นคำบริภาษได้

              5) นักวิชาการไทย เรียกอักษรลาวเดิมที่เป็นเค้าของการพัฒนามาเป็นอักษรลาวในปัจจุบันว่า “อักษรไทยน้อย” กล่าวคือไม่ให้เกียรติว่าเป็นอักษรลาวทั้ง ๆ ที่ชาววัฒนธรรมลาวเป็นผู้ใช้อักษรนี้มาแต่เดิม เป็นอักษรที่ผลิตขึ้นมาเพื่อแทนค่าเสียงในภาษาของลาว และเรียกอักษรที่ลาวได้แบบอย่างจากล้านนาว่า “อักษรธรรมอีสาน” ทั้งๆ  ที่อักษรนี้ไม่ได้เกิดจากดินแดนอีสาน หรือไม่ได้มีเฉพาะในดินแดนอีสาน แต่อักษรทั้ง 2 แบบ เคยมีบทบาทในราชอาณาจักรลาว คำเรียกเช่นนี้ หากไม่ตรึกตรองให้ละเอียด ก็จะเห็นเป็นเพียงคำเรียกขานอย่างสามัญ และอ้างอิงว่าครูบาอาจารย์สอนให้เรียกเช่นนั้น ซึ่งผู้ศึกษาเรื่องนี้อย่างลุ่มลึกด้วยจิตเป็นธรรม ย่อมเห็นความเหลื่อมล้ำและการด้อยค่าคำว่า ลาว จากการเรียกขานนี้

              ด้วยสถานภาพรุมเร้าในสังคมไทยหลายประการดังที่กล่าวนี้ กลุ่มชาววัฒนธรรมลาวในไทยจึงต้องปรับตัว ทั้งในแง่การกำหนดเรียกขานตนเอง เช่น ไม่ต้องการให้เหลือคำเรียกว่า ลาว เพียงพยางค์เดียว บางกลุ่มก็ปฏิเสธคำว่า ลาว หรือการนำคำมาเสริมความเพื่อให้เกิดความแตกต่างจาก ลาว พยางค์เดียว การสืบค้นเรื่องราว และเสาะหาลักษณะเฉพาะ หรือลักษณะย่อยของตนมาขยายความ สร้างจุดเด่น เน้นจุดขาย เพิ่มรายได้ ขยายตลาด ตลอดถึงสร้างความรับรู้ความเข้าใจให้แก่สังคมไทย  แนวคิดเหล่านี้มีผลต่อการเรียกขานชื่อชาติพันธุ์ของไทย

              คำเรียกขานชื่อชาติพันธุ์ ลาวครั่ง เป็นอีกปรากฏการณ์หนึ่งในความเป็นพลวัตของสังคมไทย ซึ่งเกิดการปรับเปลี่ยนและแสดงออกทางชาติพันธุ์ของผู้คนพลเมือง ที่ประกาศตัวและแสดงจุดยืนในความต่างที่ตนมี

  • อื่น ๆ :

             ในการสำมะโนประชากร ประเทศไทยมิได้กำหนดลักษณะทางชาติพันธุ์อย่างเด่นชัด  เพราะมีแนวคิดการหลอมรวมความเป็นไทย ตามนโยบายจากอดีต การระบุเรื่องชาติพันธุ์จึงไม่เคร่งครัดนัก กล่าวคือ ทางการไทยไม่มุ่งเน้นแยกหาว่า เป็นชนเผ่าใดหรือชาติพันธุ์ใด และมิได้นำมาย้ำแยก  ในการสำรวจแม้จะมีการให้ระบุเชื้อชาติ (race) กับสัญชาติ (nationality) แต่คนไทยมักจะระบุว่าตนเป็น คนเชื้อชาติไทย สัญชาติไทย ไปโดยปริยาย ยกเว้นผู้มีประวัติว่าเป็นชาวต่างชาติจริงแล้วเพิ่งย้ายตัวมาอยู่ในประเทศไทย เช่น เชื้อชาติอินเดีย สัญชาติไทย, เชื้อชาติจีน สัญชาติไทย แต่ถ้าบุพการีเป็นชาวต่างชาติแล้ว  แต่ตนเกิดที่ประเทศไทย เช่น ลูก หลาน หรือเหลนของคนมอญ คนอินเดีย คนอิหร่าน คนจีน ที่เกิดในไทย เขาย่อมมีสิทธิแสดงตนว่าเป็นคนเชื้อชาติไทย สัญชาติไทย

             ดังนั้น ในการสำรวจประชากรไทย จึงไม่พบข้อมูลที่เป็นเอกเทศแน่ชัดว่า มีชาวลาวครั่ง (และกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ) เป็นจำนวนเท่าใด  เพราะชาวลาวครั่งในปัจจุบัน ล้วนเกิดในประเทศไทย ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องระบุว่าตนมีเชื้อชาติลาวครั่ง เพราะคำว่า เชื้อชาติ เป็นคำทางการ แต่คำว่า เชื้อสาย เป็นคำที่ไม่เป็นทางการ ด้วยเหตุนี้ จึงพบเห็นคนไทยจำนวนมากที่มักเผยตัวว่าเป็นคน เชื้อสายจีน เชื้อสายมอญ เชื้อสายลาว แต่ไม่บอกว่าตนเป็นคนเชื้อชาติจีน เชื้อชาติมอญ หรือเชื้อชาติลาว

              งานวิจัยโครงการแผนที่ภาษากลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยของมหาวิทยาลัยมหิดล[1] ซึ่งใช้ ภาษา เป็นตัวกำหนดผู้คน  กล่าวคือ ไม่มุ่งเน้นถามถึงเชื้อชาติหรือสัญชาติ แต่ถามถึงภาษาที่พูดหรือที่เรียกขานภาษา พบว่า มีผู้คนที่พูดภาษาลาวครั่ง เป็นจำนวนประมาณ 90,000 คน มีกระจายอยู่ในจังหวัดเลย นครปฐม สุพรรณบุรี อุทัยธานี ชัยนาท กำแพงเพชร นครสวรรค์ (สุวิไล เปรมศรีรัตน์ 2547) อย่างไรก็ดี สถานภาพการใช้ภาษาของชาวลาวครั่ง มีความเข้มข้น-เบาบางไปตามท้องที่ 

    ภาษาลาวครั่ง อยู่ในหมวดภาษาลาว ภายในกรอบภาษาตระกูลไท ซึ่งหมวดภาษาลาวทั้งหลายจะใช้คำศัพท์ร่วมกันเป็นส่วนมาก และแตกต่างจากภาษาไทยสยามอยู่บางส่วน สิ่งที่ทำให้บรรดาภาษาลาวแตกต่างกันก็คือ ระบบเสียงวรรณยุกต์และการใช้คำลงท้ายของภาษาแต่ละถิ่น

    วีระพงศ์ มีสถาน  จัดทำ  20 ตุลาคม 2563 

     

             ตามหลักการนั้น นับจากปี พ.ศ. 2544 (อันเป็นปีที่เสร็จสิ้นการวิจัยโครงการแผนที่ภาษาฯ)  จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2563) นานนับได้ 19 ปี จำนวนประชากรลาวครั่งควรจะเพิ่มขึ้นตามอัตราการเกิดของประชากร  แต่ตามพฤติการณ์มิอาจคาดการณ์เช่นนั้นได้ เนื่องจากสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว คนที่มีบรรพบุรุษเป็นชาวลาวครั่ง แต่เติบโตมาพร้อมกับวัฒนธรรมสังคมไทยสมัยใหม่ เขาหรือเธออาจจะไม่ได้อยู่อาศัยในชุมชนจนเกิดความซาบซึ้งหรือรับรู้รากเหง้าทางวัฒนธรรมของบรรพบุรุษ บ้างก็ออกจากชุมชนดั้งเดิมเพื่อการศึกษาและทำงาน มีครอบครัว และรวมถึงไม่สามารถพูดภาษาลาวครั่งได้ สภาวการณ์เช่นนี้ จึงไม่อาจเรียกได้ว่า กลุ่มคนดังกล่าวยังคงความเป็นประชากรลาวครั่ง สามารถกล่าวได้แต่เพียงว่า มีเชื้อสายลาวครั่ง เท่านั้น ยังผลไปสู่การไม่สามารถระบุจำนวนตัวเลขประชากรลาวครั่งได้อย่างชัดเจน

             ความเป็นชาติพันธุ์ มิได้เกิด หรือมีขึ้นเพียงเพราะมีสายสายแหรก หรือมีบรรพบุรุษ แต่ยังหมายรวมถึงการยินยอมพร้อมใจที่จะเรียกตนเป็นชาติพันธุ์  การเข้าร่วมกิจกรรมทางชาติพันธุ์ (ร่วมพิธีกรรม ประเพณี การแต่งกาย ความเชื่อ การดำรงชีวิต การแสดงออก) หรือกล่าวอีกอย่างว่า ต้องมีส่วนร่วมทั้งทางประวัติศาสตร์ กาย ใจ กับหมู่กลุ่มนั้น จึงจะนับว่าเป็นชาติพันธุ์โดยแท้

  • เอกสารอ้างอิง :

    เนื้อหาโดย วีระพงษ์ มีสถาน  สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมแห่งเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล

    ปีงบประมาณ  2563   อัพโหลดข้อมูลเมื่อวันที่  29  กันยายน  2563

    เอกสารอ้างอิง

              จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จ พระ. (2548). ประชุมประกาศ ร. 4. (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ-หัวหน้าบรรณาธิการ)  พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

              ชนิดา ตั้งถาวรสิริกุล. (2541). สื่อสัญลักษณ์ผ้าลาวเวียงจันท์.  กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

              ชอบ ดีสวนโคก , สุเทพสารคุณ พระครู และสายฝน ศรีชุมพล. (2540). ของเก่าบ่เล่ามันลืม เฮียนธรรมนำคำโบฮานอีสาน.  ขอนแก่น: คลังนานาวิทยา.

              ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (บรรณาธิการ). (2551). สยามหรือไทย : นามนั้นสำคัญฉะนี้หรือ?.  กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

              ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระ. (2545). เทศาภิบาล.  กรุงเทพฯ: พิฆเณศ พริ้นท์ติ้ง เซ็นเตอร์.

ชุดข้อมูล : แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย

แสดง 1-1 จากทั้งหมด 1 รายการ
จังหวัดที่กระจายตัวตั้งถิ่นฐาน จำนวนครัวเรือน จำนวนประชากร
เลย นครปฐม สุพรรณบุรี อุทัยธานี กำแพงเพชร นครสวรรค์ เป็นต้น90000
ที่มา:

สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ. (2547). แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ


  • บทนำ :

              การสืบค้นต้นตอหรือแหล่งที่มาของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่ง ยังไม่เป็นที่สรุปได้

  • ประวัติ/ที่มาของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่ง :

    ประวัติการตั้งถิ่นฐาน

              ชาวลาวครั่งที่เข้ามาอยู่ในอาณาจักรสยามนั้น  เดินทางมาเพราะเหตุของสงคราม  เป็นเชลยศึกโดยถูก “เทครัว” หรือถูกย้ายผู้คนในชุมชนมาทั้งหมด คือมีทั้งผู้เฒ่าชรา ชาย หญิง เด็ก โดยมีกองกำลังทัพของฝ่ายสยามกำกับการเคลื่อนย้าย

              เมื่อพิจารณาตามความเป็นจริงของมนุษย์  ย่อมรักถิ่นฐานบ้านเกิด  หวงแหนถิ่นที่ทำกิน และรักพวกพ้องวงศ์วาน  หากมิใช่เรื่องร้ายแรง หรือไม่มีแรงจูงใจที่ดีกว่า ชาวบ้านชาวเมืองย่อมจะไม่หนีจากถิ่นของตน เว้นเสียแต่ภาวะจำยอม เช่น เกิดโรคระบาด ผู้คนล้มตายเป็นอันมาก ถูกขู่ฆ่าเอาชีวิตดังกรณีสงคราม ดังนั้น เมื่อย้อนพิจารณาถึงชาวลาว (นับรวมว่ามีลาวครั่งอยู่ด้วย) ที่เป็นข้าแผ่นดินของเจ้าชีวิตลาวในสมัยอดีต  ก็ย่อมรักแผ่นดินถิ่นเกิดเช่นกัน จึงเห็นได้ว่า การที่ชาวลาว (และลาวครั่ง) จะเดินทางมุ่งหน้ามาอยู่ในแผ่นดินสยามด้วยจิตที่ชื่นบานนั้น เป็นไปได้ยากมาก หรือไม่มีหลักฐานที่พอเชื่อถือได้ว่า ได้มีการอพยพมาสยามด้วยเจตนาตนเอง

              การอพยพเคลื่อนย้าย

              คำพรรณนาในหนังสือกาพย์เมืองพวน ช่วยฉายภาพให้เห็นว่า กองทัพสยามได้กวาดต้อนเชลยศึกชาวลาวหลากกลุ่มหลายพวกเข้ามาอยู่ในแผ่นดินสยาม  มีการจัดเป็นหมวดหมู่โดยใช้ชาวลาวด้วยกันกำกับดูแล ส่วนแม่ทัพนายกอง และกองกำลังของสยามคอยควบคุมสั่งการให้เคลื่อนย้ายหรือหยุดพักตามระยะทางหรือท้องทำเลที่เคลื่อนผ่าน เหล่าชายฉกรรจ์ชาวลาวที่มีพละกำลังก็หลบหนีจากการกวาดต้อนเข้าป่า หรือไปสู่บ้านเมืองถิ่นอื่นที่หลบเร้นจากการเกณฑ์ย้าย  ส่วนผู้ชายที่ทนสงสารลูกเมียไม่ได้ ก็จำยอมเดินทางมากับกองทัพ กระนั้นก็ดี ระหว่างเดินทางรอนแรมเป็นระยะทางหลายร้อยกิโลเมตร อีกทั้งเส้นทางทุรกันดาร ผิดน้ำและเปลี่ยนอากาศก็ทำให้เชลยที่กวาดต้อนมานั้น เจ็บป่วยและล้มตายมากเกินครึ่ง

              เหตุการณ์ที่ปรากฏในวรรณกรรมเรื่องกาพย์เมืองพวนข้างต้น ไม่ได้เน้นหนักที่ชาวพวนเท่านั้น แต่เป็นภาวะการณ์ที่เกิดขึ้นตามมาจากสงคราม ซึ่งในอดีตนั้น ฝ่ายที่มีชัยมักจะกวาดต้อนนำคนของฝ่ายที่พ่ายไปเป็นข้าแผ่นดินของตน จึงพออนุมานได้ว่า ชาวลาวครั่งที่ต้องอพยพเพราะตกเป็นเชลยศึก ก็คงมีสภาพทุกข์ยากจากการเดินทาง และเหลือคนที่มีชีวิตรอดจำนวนหนึ่ง จนได้มาเป็นบรรพบุรุษของชาวลาวครั่งในผืนแผ่นดินไทยปัจจุบัน

              สภาพแวดล้อมของการตั้งถิ่นฐาน

              ชาวลาวครั่งเป็นหมู่ชนที่มีวัฒนธรรมอยู่ในพื้นที่ราบ เช่นเดียวกับชาววัฒนธรรมลาว ทั่ว ๆ ไป การตั้งชุมชนถิ่นฐาน จึงเลือกทำเลที่เป็นพื้นราบ ประกอบกับชาวลาวครั่งมีวิทยาการด้านการปลูกข้าวทุ่ง ไม่ใช่ข้าวดอย  สภาพแวดล้อมที่เหมาะในการตั้งถิ่นฐาน จึงต้องพิจารณาถึงแหล่งน้ำใช้ในชีวิตประจำวัน และแหล่งน้ำเพื่อการทำนา ด้วยเหตุนี้ จึงปรากฏว่า ชื่อบ้านนามเมืองอันเป็นชุมชนชาวลาวครั่ง (และกลุ่มลาวอื่น ๆ) มักประกอบด้วยชื่อของแหล่งน้ำ แล้วตามด้วยชื่อพืชหรือสัตว์

              ชื่อเรียกทำเลที่ตั้งชุมชนของชาวครั่งมักเป็นคำลาว สอดคล้องกับคำเรียกภาษาลาวหรือชนกลุ่มลาวอื่น ๆ ในภาพรวม เช่น ชื่อหมู่บ้านที่เริ่มด้วยคำว่า หนอง หมายถึงบึงหรือบ่อ ทั้งที่เป็นบ่อจากการขุดหรือบ่อธรรมชาติ,  กุด หมายถึง แอ่งน้ำ หรือแหล่งที่มีน้ำขังมากเป็นพิเศษ, โสก หมายถึง โตรกหรือลำธาร มีฝั่งลึกชัน, ห้วย หมายถึง ลำห้วยหรือลำธารธรรมชาติ, วัง หมายถึงแอ่งน้ำกว้างใหญ่หรือลึกพิเศษกว่าจุดอื่น ๆ ในลำน้ำเดียวกัน นอกจากนี้ก็มีชื่อที่บ่งบอกสภาพภูมิศาสตร์ เช่น  โคก/โนน หมายถึง ที่ดอนหรือที่เป็นเนินสูง ยากแก่การที่น้ำท่วมขัง  และนำเอาชื่อพืชหรือสัตว์มาผนวกเข้ากับชื่อภูมิศาสตร์ ทำให้ชื่อชุมชนของกลุ่มคนวัฒนธรรมลาว (ไม่ใช่เฉพาะลาวครั่ง) มีเอกลักษณ์ทางภาษาอยู่ในคำเรียกขานด้วย

              ชื่อบ้านนามเมืองในภาษาลาวเหล่านี้ ช่วยส่อนัยถึงประวัติความเป็นมาของชุมชนชาวลาวได้เป็นอย่างดี  และลาวครั่งก็เป็นหนึ่งในสมาชิกชาติพันธุ์สาแหรกลาว จึงมีการใช้หรือนำเอาคำลาวมากำหนดเป็นชื่อหมู่บ้านหรือชุมชนของตน

     

  • วิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่ง :

    อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์

              ชาวลาวครั่งมีอัตลักษณ์ (identity)  หลายประการ แต่ไม่ถึงกับเรียกว่าเป็นเอกลักษณ์ (Unified style) หรือลักษณะอันเป็นหนึ่งเดียว ทั้งนี้เพราะวัฒนธรรมสามารถเลื่อนไหลหรือกลืนกลายไปมาหาสู่กันกับสังคมที่แวดล้อม

              ตัวอย่างอัตลักษณ์ เช่น ภาษา เมื่อกล่าวถึงภาษาลาวครั่ง ชาวท้องถิ่นหรือนักภาษาที่ศึกษาเรื่องนี้ จะหมายรู้ร่วมกันว่าเป็นภาษาที่มีสำเนียงเฉพาะ (เป็นอัตลักษณ์) แต่ไม่ได้มีอยู่ในเฉพาะกลุ่มคนที่เรียกตนเองว่าลาวครั่งเท่านั้น เพราะยังพบสำเนียงภาษาเช่นนี้กับชาวหลวงพระบาง ชาววังสะพุง จังหวัดเลย ชาวน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ ชาวหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นต้น

              ผ้าถุงพื้นแดง ทอขิดหรือทอยกดอก ถือเป็นอัตลักษณ์ แต่มิใช่เอกลักษณ์ เพราะชาติพันธุ์ลาวท้องถิ่นอื่นก็มีความรู้เกี่ยวกับการทอผ้าด้วยด้ายหรือไหมสีแดง และรู้กรรมวิธีย้อมด้ายหรือไหมด้วยครั่ง ดังปรากฏในวรรณกรรมนิพนธ์เรื่อง ย่าสอนหลาน ซึ่งเป็นวรรณกรรมลาวลุ่มน้ำโขงว่า

              “มีไหม คันบ่มีคั่งญ้อมสิเป็นป่านซาวกะเลิง ดำ

              บ่แดงพอกะเทินส่วนสิเสียเซิงผ้า

              มีความหมายว่า แม้ว่ามีไหม แต่ถ้าไม่มีครั่งเพื่อนำมาย้อมให้แดงใสงามแล้ว ก็ไม่ต่างอะไรกับป่านของชาวเผ่ากะเลิง รังแต่จะเกิดความกระดำกระด่าง แม้ทอไปแล้วก็จะได้ผ้าคุณภาพไม่ดี ทำให้เปล่าประโยชน์

              แกงไข่ผำ ถือว่าเป็นอัตลักษณ์ แต่ไม่ถึงกับเป็นเอกลักษณ์ เพราะการรู้กรรมวิธีนำผำหรือไข่น้ำ หรือดอกไม้น้ำจืดมาปรุงเป็นอาหาร มีอยู่ทั่วไปทั้งชาวไทยภาคเหนือ อีสาน และใน สปป.ลาว

              ขนมตาวัวตาควาย เป็นลักษณะอย่างการทำขนมบัวลอยใส่ไส้หน้ากะฉีกหรือไส้ถั่ว เป็นอัตลักษณ์ของชาวลาวครั่งถิ่นบ้านโคก จังหวัดสุพรรณบุรี ไม่ปรากฏพบในหมู่ชาวลาวครั่งถิ่นอื่น ๆ

              อัตลักษณ์หลายอย่างที่ชาวลาวครั่งนิยามไว้นี้ มีความเหมือน คล้าย หรือเป็นไปในลักษณะสอดคล้องกับชนถิ่นอื่นอยู่บ้าง ซึ่งถือเป็นความสามัญของวัฒนธรรมที่ต้องมีการหยิบยืมหรือลอกเลียนกันได้เสมอ ด้วยเหตุนี้ เมื่อศึกษาถึงกลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่งในหลายท้องที่ และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นที่มิได้เรียกขานตนเองว่าเป็นคนลาวครั่ง ก็จะพบปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมที่เหมือนหรือสอดคล้องกันบ้าง เป็นเรื่องสามัญ

     

              การผลิตอาหาร / การเกษตร / การยังชีพ

              ในอดีต ชาวลาวครั่ง ดำรงชีพด้วยการทำนาเป็นหลัก ซึ่งการทำนานี้ อาศัยน้ำฝน เป็นการทำนาปี หรือการทำเพียงครั้งเดียว เป็นข้าวเจ้าพันธุ์ท้องถิ่นภาคกลาง พันธุ์ข้าวดังกล่าวนี้  มีลักษณะพิเศษคือทนน้ำท่วมขังได้ และยืดลำต้นได้รวดเร็วคล้ายสายบัวที่ยืดยาวไปตามระดับน้ำ ซึ่งพันธุ์ข้าวลักษณะนี้น่าจะดับสูญไปแล้ว การทำนานิยมใช้วิธีตกกล้า เมื่อต้นกล้าสูงได้เกือบศอก หรือมีอายุประมาณ 20 วัน ต่อจากนั้นจึงถอนต้นกล้าแล้วนำไปดำในดินเลนที่ไถและคราดจนเละเหลว  แรงงานที่ใช้ลากไถและคราด ชาวลาวครั่งถิ่นโพรงมะเดื่อนิยมใช้วัว ไม่ใช้ควายเหมือนกับชาวลาวหรือชาวอีสาน โดยมีเหตุผลว่า ควายมักเกลือกเลนโคลน ตีแปลงลงปลัก ทำให้ต้องล้างทำความสะอาด อย่างไรก็ดี การใช้แรงงานสัตว์เพื่อลากคราดหรือไถ ชาวลาวครั่งดอนตูม จังหวัดนครปฐม และชาวลาวครั่งอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี เมื่ออดีตนั้น นิยมใช้ควาย ไม่นิยมใช้วัว  นอกจากนี้ การทำให้เมล็ดข้าวหลุดออกจากรวง ใช้วัวหรือควายเดินย่ำ ไม่นวดหรือฟาดฟ่อนข้าวลงที่ผืนลาน ซึ่งการนวดข้าวโดยใช้แรงงานสัตว์ย่ำนี้ เป็นขนบวิธีทำนาของคนไทยภาคกลาง ชาวลาวครั่งที่มาอยู่ในถิ่นภาคกลางจึงรับเอาแบบแผนการทำนาเช่นนี้ไว้ด้วย

              ปัจจุบัน การทำนาดังกล่าวเหลือแต่เพียงคำบอกเล่า ทั้งนี้เพราะมีการทำนาแบบนาหว่าน ใช้แรงงานเครื่องจักร มีการจ้างแทนการวานหรือเอาแรง อีกทั้งชาวลาวครั่งที่อยู่ในพื้นที่ชลประทาน สามารถทำนาได้ถึงปีละ 2-3 ครั้ง การทำนาก็มุ่งผลิตข้าวเพื่อขาย มากกว่ามุ่งบริโภคภายในเฉพาะครัวเรือน เมื่อบุตรหลานชาวลาวครั่งมีความรู้ ต่างก็ออกไปทำงานนอกชุมชน ทำให้ผืนนาบางแปลงรกร้างไม่มีผู้ทำ หรือบ้างก็เปลี่ยนจากการทำนามาเป็นการปลูกพืชเศรษกิฐอื่นๆ เช่น การปลูกข่า มะเขือ ดอกรัก อ้อย ฯลฯ กล่าวได้ว่า อาชีพหรือการประกอบการทำมาหากินของชาวลาวครั่ง เป็นไปเช่นเดียวกับชาวไทยในพื้นที่หรือท้องถิ่นเดียวกัน ไม่บ่งบอกว่าเป็นอาชีพของชาวลาวครั่งเป็นการเฉพาะ

     

              เครื่องมือ เครื่องใช้สำคัญในชีวิต

              ในอดีต ชาวลาวครั่งเกือบทั้งหมดประกอบอาชีพทางการเกษตร มีเพียงส่วนน้อยที่ประกอบอาชีพการค้า เช่น คนที่แต่งงานกับคนจีน ทำให้หันอาชีพจากการทำเกษตรไปเป็นการค้าขาย  เครื่องมือสำคัญที่เนื่องด้วยการดำรงชีวิตของชาวลาวครั่งเมื่อสมัยอดีต จำแนกดังนี้

              เครื่องมือการเกษตร เช่น จอบ เสียม, หลาว (ไม้หาบฟ่อนกล้า/ ฟ่อนข้าว), คราด, ไถ, แอก (ใช้ข่มคอวัว-ควาย), คันโซ้/ ซงโลง (ใช้วิดน้ำในแปลงนา),  เคียว,  คันฉาย (ไม้สงฟาง),  วี (พัดขนาดใหญ่ให้โบกให้แกลบหรือข้าวลีบปลิว)

              เครื่องมือประมง เช่น แห, สวิง, เบ็ด, ลัน (เครื่องดักปลาไหล), ลอบ (ใช้ดักปลา ดักกบ), ไซ, สุ่ม (ครอบปลา),  ตาข่าย,  ข้อง

              เครื่องมืองานไม้ เช่น ค้อน, ตะลุมพุก (ค้อนไม้),  กบ,  สว่าน,  เหล็กซี (เหล็กแหลมช้เจาะ) เลื่อย, สิ่ว, บุ้ง (ตะไบถูไม้ให้เข้ารูป), ตะไบ (ถูกเหล็ก ถูฟันเลื่อย)

              เครื่องมือทอผ้า เช่น กี่ (โครงไม้ใช้กางเส้นทอผ้า) กระสวย, กง (ระวิง), หลา (ไน), กวัก/ อัก, คอนอัก (คอนสำหรับใช้สอดกวัก), อิ้ว (เครื่องแยกเมล็ดฝ้ายออกจากใยฝ้าย), เปีย (อุปกรณ์รวบด้ายให้เป็นไจ หรือเป็นเข็ด), เฝีย (เฝือ อุปกรณ์เป็นซี่คล้ายคราด ใช้เกี่ยวสาวเส้นด้ายเพื่อเริ่มเส้นยืนของการทอผ้า หรือเรียกว่า ค้นหูก),  กงฝ้าย (ใช้ดีดปุยฝ้ายให้พองฟู)

              เครื่องนอน เช่น ฟูก (ที่นอนยัดนุ่น), สาด (เสื่อ), มุ้ง, หมอน, ผ้าผวย (ผ้าห่ม)

              เครื่องครัว เช่น หม้อ,  จาน,  ชาม,  ช้อน,  สารพี (ทัพพี), กระจ่า, ครก, สากกะเบือ, เตา, คีไฟ (กระบะดิน เป็นที่ตั้งสำหรับก่อไฟบนเรือน),  เส้า (ก้อนดินหรือหินใช้หนุนหม้อในคีไฟ)

              เครื่องใช้ เช่น กระด้ง, ตะกร้า, เขิง (ตะแกรง กระด้งตาห่าง ใช้ร่อนกรอง หรือใช้ตากของ), ครก/ ครกกระเดื่อง (ตำข้าว เป็นอาทิ), สาก (ใช้ร่วมกับครกตำข้าว), กระบวย, หีบอ้อย (กรามช้าง ใช้หีบอ้อย), สีฟันเฟือง (โม่สีข้าว)

              ภาชนะและอุปกรณ์เกี่ยวเนื่อง เช่น กระบุง, กระจาด, สาแหรก,  หม้อ, ไห, ตุ่ม, โอ่ง, โตก (ถาดหรือกระด้งมีตีน),  เฝียน (หน้าแว่นใช้บีบขนมจีน)

              ปัจจุบันนี้ สิ่งของดังที่กล่าวเกือบทั้งหมด ไม่ได้มีการใช้อยู่ในวิธีชีวิตประจำวันแล้ว บางแห่งได้นำไปถวายวัด  รวบรวมไว้สร้างเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน หรือหากจะเหลือการใช้จริงอยู่บ้าง เฉพาะในชุมชนที่อนุรักษ์ จัดแสดงพร้อมกับการสาธิตการใช้งาน ทั้งนี้เนื่องจากวิถีการดำรงชีวิตของชาวลาวครั่งได้ปรับตัวเข้ากับยุคสมัย ทำให้สิ่งของเครื่องใช้เหล่านี้ลดบทบาทไปจากสังคม

  • ครอบครัวและระบบเครือญาติของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่ง :

    โครงสร้างครอบครัว และเครือญาติ

              ชาวลาวครั่งนับถือผู้อาวุโสในครอบครัวเป็นใหญ่ เช่น ปู่ ตา ย่า ยาย  รองลงมาคือพ่อแม่ ตลอดถึงญาติทั้งฝ่ายพ่อหรือฝ่ายแม่ ถ้าครัวเรือนใดมีบุตรสาวมากกว่า 1 คน บุตรสาวคนโตเมื่อแต่งงานแล้ว จะได้รับการแบ่งมรดกเป็นที่ดินให้ปลูกสร้างเรือน ในอาณาเขตใกล้เรือนเดิมของพ่อแม่ สร้างครอบครัวใหม่เป็นของตนเอง แต่ถ้าเป็นบุตรสาวคนสุดท้อง (ลูกสาวหล้า) จะได้รับมรดกคือที่ดินและเรือนเดิมของพ่อแม่ เพราะถือว่า บุตรสาวคนสุดท้องมีภาระหน้าที่ต้องดูแลพ่อแม่เป็นคนสุดท้าย มีบทบาทต้อง “เลี้ยงเฮียน” หรือการดูแลรักษาเรือนอันเป็นสมบัติจากบรรพบุรุษ รวมถึงมีหน้าที่ปรนนิบัติรับใช้พ่อแม่จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

              ในทำนองเดียวกัน บุตรชายเมื่อโตเป็นหนุ่มและแต่งงานมีครอบครัว เขาจะต้องออกจากเรือนเดิมไปอยู่ที่เรือนของภรรยา การที่ชายต้องออกจากเรือนไปสร้างครอบครัวใหม่ที่บ้านฝ่ายหญิงนี้ เรียกว่า “ไปคูนหน้า” คือการไปสร้างชีวิตให้เจริญเอาข้างหน้า โดยไม่หวังพึ่งพาพ่อแม่ของตน

              ชาวลาวครั่งถือว่า พ่อแม่ของภรรยาก็เหมือนพ่อแม่ของตน หรือพ่อแม่ของสามีก็เหมือนพ่อแม่ของตน ดังนั้น การแต่งงาน หรือการ “กินดอง” จึงไม่เพียงแต่ชายหนุ่มกับหญิงสาวมาใช้ชีวิตร่วมกันเท่านั้น แต่ยังหมายถึงญาติของฝ่ายหญิงกับญาติฝ่ายชายได้ผนึกความเป็นญาติของกันและกัน เรียกว่า “เป็นดองกัน” การปฏิบัติตนต่อญาติผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่าย จึงเป็นไปด้วยความคารวะนอบน้อม มีการแบ่งปันอาหาร ของกินของใช้ รวมถึงของฝากที่ได้มาจากบ้านอื่นเมืองไกล หากมีโอกาสอำนวย ก็มักจะมีการนำไปฝากแก่ญาติผู้อาวุโสเสมอ

              การรับประทานอาหารภายในครอบครัว เมื่อมีผู้อาวุโสอยู่ร่วมครัวเรือน ภายหลังที่จัดสำรับแล้ว จะเชิญให้ผู้อาวุโสที่สุดลงมือรับประทานก่อนเป็นคำแรก หรือประเดิมการรับประทานอาหารในคาบคราวนั้น 1-2 คำก่อน ถ้ามีผู้อาวุโสทั้งหญิงและชาย เช่น มีปู่กับย่า จะให้ปู่ลงมือรับประทานก่อน เป็นการยกย่องฝ่ายชายว่าเป็นผู้นำ ฝ่ายหญิงเป็นผู้นำชั้นรอง ต่อจากนั้นทุกคนจึงค่อยร่วมรับประทานจนสิ้นมื้ออาหาร ซึ่งการรับประทานอาหารร่วมกันนี้ ถือว่ามีความสำคัญ หากไม่ติดธุระสำคัญ ทุกคนจะต้องอยู่รับประทานร่วมสำรับ การไม่ยอมร่วมรับประทานอาหารของสมาชิกในครัวเรือน จะถือว่ามีความขุ่นข้องเคืองใจกัน

              ถ้ามีแขกมาร่วมสำรับ จะกันมิให้เด็กหรือผู้หญิงมาร่วมรับประทานอาหารกับแขก ทั้งนี้เพราะเด็กอาจทำกิริยาที่ไม่เหมาะสมต่อหน้าแขก เช่น ทำเศษข้าวตกหล่นในอาหาร ร้องงอแง มีขี้ตา ขี้มูกเกรอะกรัง สร้างความน่ารังเกียจ ส่วนผู้หญิงเป็นฝ่ายสนับสนุน ทำหน้าที่จัดแจงการต้อนรับขับสู้ ให้แขกเป็นคนพิเศษ ถือว่าแขกเป็นผู้อาวุโส ถ้าไม่สนิทชิดชอบกันมากพอ ฝ่ายหญิงจะไม่ร่วมสำรับกับแขก

              ปัจจุบันนี้ กรอบแนวทางปฏิบัติทางวัฒนธรรมดังกล่าวยังมีอยู่ แต่การแสดงออกหรือการปฏิบัติในวิถีชีวิตจริงไม่เข้มขลังเหมือนเช่นเมื่อในอดีต เนื่องจากชาวลาวครั่งมีโอกาสได้รู้เห็นสังคมนอกชุมชน ได้ออกไปศึกษา ได้ทำงานที่ไม่ใช่การเกษตรแบบดั้งเดิม การที่มีคนจากวัฒนธรรมอื่นมาแต่งงานด้วย ประกอบกับเศรษฐกิจแต่ละครัวเรือนดีขึ้น และแนวคิดแบบปัจเจก ทำให้การแสดงออก หรือการปฏิสัมพันธ์แบบเดิมผ่อนคลายลง  จะมีการไปมาหาสู่กันอย่างเอิกเกริก แสดงความเป็นเครือญาติ โดยผู้น้อยนำสิ่งของไปคารวะผู้อาวุโสอีกครั้งเมื่อถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์

  • การแต่งงานของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่ง :

          การแต่งงานในหมู่ชาวลาวครั่ง ฝ่ายชายจะเป็นฝ่ายออกจากเรือนไปอยู่กับฝ่ายหญิง อยู่ในครอบครัวของฝ่ายหญิงในฐานะเป็น “เขยเข้าบ้าน” ทำมาหากิน เป็นแรงงานเลี้ยงดูภรรยา ลูก พ่อตา แม่ยาย จนเมื่อพ่อตาแม่ยายเห็นว่า คงจะอยู่เป็นคู่สามีภรรยากันได้ยืนนาน จึงมีการแบ่งที่ดินหรือมอบมรดกบางส่วนไว้ให้เป็นทุน

               การแต่งงานสืบวงศ์พงศ์พันธุ์ตามวัฒนธรรมลาวครั่งนั้น ฝ่ายชายจะเข้ามาอยู่เรือนฝ่ายหญิง ถือว่ามา “เข้าผี” เป็นการเข้าในวงศ์เครือญาติ ถ้ามีกิจกรรมงานพิธีที่เนื่องด้วยความเชื่อหรือศรัทธา จะต้องบอกกล่าวเล่าแจ้งแก่ผีเรือนซึ่งเป็นผีฝ่ายหญิง เช่น เมื่อหญิงคลอดแล้วผู้อาวุโส จะเด็ดช่อยอดดอกไม้และจุดธูปบอกบวงสรวงแก่ผีว่า บัดนี้มีสมาชิกในครัวเรือนเพิ่มอีก พร้อมทั้งวิงวอนขอให้ผีเรือน ผีเจ้าโคตรได้ช่วยปกปักรักษา ให้แอน้อย (ทารก) อยู่รอดปลอดภัย ฝ่ายชายซึ่งเป็นเขยมาเข้าผีฝ่ายหญิง จะต้องทำตัวนอบน้อม หลีกเลี่ยงการผิดผีนานาประการ และไม่ว่าใครก็ตามถ้าละเมิดหรือผิดผี เชื่อว่า จะส่งผลให้เกิดความวุ่นวายในครัวเรือน

  • การสืบผีและมรดกของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่ง :

              การสืบทอดผีตระกูลเป็นคนละส่วนกับการเป็นผู้นำครอบครัว กล่าวคือ ฝ่ายชายจะได้รับการกำหนดทางสังคมอยู่กราย ๆ ว่า ต้องเป็นผู้นำครอบครัว มีความเข้มแข็ง ขยันทำงานเพื่อจะได้มีผลผลิตมาเลี้ยงครอบครัว ต่อสู้และขจัดปัญหาต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดแก่คนในครัวเรือน และในกาลต่อมา ประเทศสยามมีพระราชบัญญัตินามสกุล หญิงที่แต่งงานแล้วจึงต้องเปลี่ยนนามสกุลไปตามสามี อีกทั้งมีการเปลี่ยนคำนำหน้าจากนางสาวมาเป็น นาง พยางค์เดียว ดังนั้น การสืบสกุล หรือการอิงชื่อนามสกุล เป็นไปตามฝ่ายชาย ส่วนความเชื่อทางสายเจ้าโคตรเจ้าเหง้า เป็นไปตามฝ่ายหญิง

     

  • การแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่ง :

    การแต่งกายตามอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์  องค์ประกอบและความหมาย

              การแต่งกายของชาวลาวครั่งแบบดั้งเดิมโดยแท้นั้นไม่อาจทราบได้แน่ชัด หลักฐานทางด้านภาพถ่ายเพิ่งเริ่มมีในสยามเมื่อ พ.ศ. 2388 การถ่ายภาพในยุคสมัยแรก เป็นการถ่ายภาพบุคคลชนชั้นสูงและสถานที่สำคัญในเมืองหลวง จึงไม่สามารถหาหลักฐานภาพถ่ายที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์การแต่งกายของลาวครั่งในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ได้

              ในปัจจุบัน ชาวลาวครั่งได้สร้าง หรือนำเสนออัตลักษณ์ทางด้านการแต่งกาย โดยสื่อความว่า ผ้าถุงของสตรีชาวลาวครั่งมักจะเป็นสีแดง อันเป็นสีที่ได้จากการนำครั่งมาย้อมเส้นด้ายสอดรับกับชื่อเรียกขานชาติพันธุ์ว่า ลาวครั่งมีการทอยกดอกด้วยลวดลายต่าง ๆ แล้วกล่าวว่าเป็นลายประจำชาติพันธุ์ของลาวครั่ง

              เนื่องจากมีประชากรที่เรียกตนเองว่าเป็นชาวลาวครั่งอยู่ในหลายจังหวัดในประเทศไทย การแต่งกายของลาวครั่งจึงแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น ขึ้นอยู่กับการออกแบบรูปแบบและสีของเนื้อผ้า ตามแต่ผู้ออกแบบของแต่ละชุมชนจะกำหนดขึ้น ซึ่งมิได้เป็นเอกภาพเดียวกันทั่วทุกแห่ง หรือกล่าวอีกอย่างได้ว่า ไม่มีแบบแผนเป็นหนึ่งเดียวจากบรรพชน เช่น เสื้อสตรีเป็นสีคราม สีเหลือง หรือสีขาวด้ายดิบ ตัดเย็บเป็นแขนยาว หรือแขนสามส่วน เย็บขลิบด้วยผ้าริ้วลายพื้นบ้านที่ขอบแขน สาบอก หรือที่รอบคอ เป็นต้น

    การแต่งกายในชีวิตประจำวัน

              สันนิษฐานว่า เมื่อครั้งที่ชาวลาวครั่งเข้ามาอยู่ในดินแดนสยาม ยังคงมีการนุ่งห่มหรือการแต่งกายตามอัตภาพของคนในวัฒนธรรมลาว กล่าวคือ หญิงนุ่งซิ่นและมีผ้าคาดหรือผ้าแถบสำหรับคาดอก หรือการห่มผ้าท่อนบนคล้ายการห่มสะไบ

              ในอดีตก่อนช่วงรัชกาลที่ 5 สตรีไทย (และน่าจะรวมถึงสตรีลาว เพราะคนเชื้อสายวัฒนธรรมลาวเข้ามาอยู่ในสยามเป็นจำนวนมาก) มีการห่มผ้าคลุมไหล่คลุมอกโดยไม่สวมเสื้อ

              “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้คงการนุ่งจีบแบบโบราณเมื่อเวลาแต่งเต็มยศใหญ่ห่มตาด (ส่วนเวลาปกติโปรดให้นุ่งแบบโจงกระเบน สวมเสื้อแขนยาวห่มสะไบ) ทั้งนี้เป็นพระราชดำริ เมื่อ พ.ศ. 2416... รัชกาลที่ 5 โปรดให้สวมเสื้อแขนยาวแล้วจึงห่มสะไบ แทนการห่มตัวเปล่าเฉยๆ” (เอนก นาวิกมูล หน้า 34-35)

              ความข้างต้นนี้ สะท้อนอดีตได้ว่า การแต่งกายเมื่อก่อนมิได้นุ่งโจงกระเบน แต่เป็นการนุ่งผ้าซิ่นหรือผ้าถุงอยู่เป็นพื้น ดังรูปลักษณ์ของวัฒนธรรมข้างเคียง เช่น รูปลักษณ์ของนางกวัก นางธรณี นางโพสพ นางเหล่านี้ เป็นหญิงตามกรอบความเชื่ออย่างไทย มักเป็นในลักษณะของหญิงที่นุ่งผ้าถุง มิได้นุ่งกระโปรง กางเกง หรือนุ่งโจงกระเบนแต่ประการใด เพราะของนุ่งทั้ง 3 อย่างนี้ เป็นของที่มีมาทีหลัง ท่อนบนก็มิได้มีเสื้อเพื่อการสวมสอด (insertion) แต่เป็นการห่อหุ้ม (wrapping)

              ชายนุ่งผ้าผืนยาววา ในลักษณะปล่อยชาย แต่เมื่อประสงค์จะทำกิจกรรมการงานที่ต้องการความคล่องตัว ทะมัดทะแมง หรือการต่อสู้ จึงจะกระหวัดชายผ้าให้ลอดหว่างขา แล้วจึงรวบไปเหน็บที่ขอบด้านหลังบั้นเอว เรียกการนุ่งผ้าเช่นนี้ว่า นุ่งเตี่ยว หรือนุ่งกะเตี่ยว หรือเหน็บกะเตี่ยว

              ข้อสันนิษฐานนี้ อิงจากรูปถ่ายของหมู่ชนชาววัฒนธรรมลาว ที่แม้จะถ่ายในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกับปัจจุบันมากกว่าตอนที่เพิ่งเดินทางอพยพเข้ามาในสยาม ก็ยังส่อเค้าให้ทราบว่า ถ้าเป็นชาวบ้านทั่วไปนั้น ยังคงเปลือยท่อนบน แล้วนุ่งเพียงผ้าผืนยาววา

              ชายไทยพื้นบ้านในยุคต้นรัตนโกสินทร์ ก็ไม่นิยมสวมเสื้อ ความไม่นิยมนี้อาจเป็นได้ทั้งอัตคัดเสื้อผ้า และสภาพอากาศ เว้นเสียแต่ทหารที่ออกทัพ จะได้รับเสื้อและผ้า หรือการที่ทำราชการได้บำเหน็จความดีความชอบ สิ่งหนึ่งที่พระเจ้าอยู่หัวมักจะพระราชทานแก่ข้าราชการก็คือ เสื้อผ้า หรือเมื่อทรงแต่งตั้งใคร ก็มักจะพระราชทานเสื้อผ้าและเครื่องยศพระราชทานร่วมไปด้วย

              ด้วยแนวเทียบเหล่านี้ นำไปเปรียบกับยุคสมัยก่อนที่จะมีหลักฐานด้านภาพถ่าย อนุมานได้ว่า ชาวลาวครั่งในวิถีพื้นบ้านที่อยู่ในสยามเมื่อกาลก่อน ก็น่าจะแต่งกายคล้ายภาพถ่ายที่แสดงออกทางวิถีชีวิตทั้งของไทยและของลาว

              อนึ่ง การนำเสนอ การให้ข้อมูล หรือการแสดงให้เห็นอัตลักษณ์เรื่องการแต่งกายของชาวลาวครั่งว่า ชาวลาวครั่งผู้ชายนุ่งโจงกระเบนนั้น อาจเกิดจากการตีความหรือหยิบยกเอาแนวเทียบการแต่งกายของข้าราชสำนักสยาม หรือผู้ที่ได้รับหน้าที่เป็น “คนหลวง” เพราะการนุ่งโจงกระเบน นับว่าเป็นความงาม เป็นทางการ และความสุภาพกว่าการนุ่งผ้าลอยชาย หรือการนุ่งผ้าเตี่ยว ซึ่งผ้าที่ใช้นุ่งโจงกระเบน ต้องใช้ผ้าที่ยาวและกว้างกว่าผ้าผืนยาววา หรือผ้าขาวม้าทั่วไป เมื่อเวลานุ่งแล้วผ้าจะกรอมหัวเข่า ต่างจากการนุ่งผ้าเตี่ยว โดยเมื่อรวบแล้ว ผ้าจะเลยเหนือหัวเข่า ส่วนท่อนบนสวมเสื้อราชปะแตน ซึ่งเสื้อราชปะแตนนี้ เพิ่งมีเมื่อ พ.ศ. 2415 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ข้อมูลการแต่งกายดังกล่าวข้างต้นนี้ จึงห่างไกลจากปริบทและหลักฐานทั้งทางประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวลาวครั่งในอดีต

              แต่อย่างไรก็ดี การนำเสนอชุดข้อมูลดังกล่าวของกลุ่มชาวลาวครั่ง  ถือเป็นเอกสิทธิ์ที่เจ้าของวัฒนธรรมจะนิยามตนเองเป็นอย่างไรก็ได้ แต่งกายด้วยเสื้อผ้ารูปทรงและสีสันอย่างไร ก็ได้ ตามที่ชาวลาวครั่งในแต่ละท้องถิ่นจะยินยอมพร้อมใจกันยอมรับ เพียงแต่หลักฐานในอดีตไม่สอดรับแนวทางที่เสนอ และถือว่าเป็นวิวัฒนาการด้านการแต่งกายและความพอใจของเจ้าของวัฒนธรรม

              นอกจากนี้ การนิยามความหมายและที่มาแห่งสีในการแต่งกายชาวลาวครั่ง  บางท้องที่มีการปรับให้สอดคล้องกับปัจจุบัน ทั้งนี้อาจเป็นการน้อมถวายพระเกียรติคุณพระราชวงศ์ของไทย ดังข้อมูลที่มีการนำเสนอทางสื่อออนไลน์ เช่น ชุดแดง เป็นสีของลาวครั่งดั้งเดิม, นุ่งซิ่นร่วมกับเสื้อสีเหลือง เพื่อร่วมงานในวันพ่อแห่งชาติ,  นุ่งซิ่นร่วมกับสวมเสื้อสีม่วง เพื่อร่วมงานอันเนื่องด้วย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  หรือการนุ่งซิ่นร่วมกับสวมเสื้อสีฟ้า เพื่อร่วมแสดงออกในงานที่เนื่องด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

              การแต่งกายในปัจจุบัน เมื่อเข้าสู่ชุมชนลาวครั่งในคราวที่ไม่มีงานเทศกาลใด ๆ จะไม่พบเห็นการแต่งกายที่แสดงถึงชาติพันธุ์ เพราะส่วนใหญ่แต่งกายแบบสบาย บ้างก็สวมเสื้อยืด เสื้อที่ผลิตจากโรงงาน นุ่งกางเกง ยกเว้นผู้หญิงสูงอายุ ยังคงนุ่งซิ่นเป็นปกติวิสัยทั้งการอยู่กับบ้าน และการออกไปทำธุระนอกบ้าน หากไปงานบุญ งานพิธีทางประเพณีจึงสวมใส่ชุดที่แสดงความเป็นชาติพันธุ์ โดยลาวครั่งแต่ละชุมชนหมู่บ้าน จะกำหนดสีและรายละเอียดของเครื่องแต่งกายไม่เหมือนกัน

     การได้มาของเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย

              ในอดีต เส้นใยที่นำมาทอผ้า ได้จากใยจากรังหนอนไหม เรียกว่า เส้นไหม หรือ ไหม และจากใยดอกฝ้ายสุก โดยต้องนำมาเข็น (ปั่น บิด หมุน) ด้วยเครื่องมือเข็นที่เรียกว่า หลา (ไน) เส้นไหมจะนิยมนำมาย้อมให้เป็นสีต่างๆ ก่อนนำไปทอเป็นผืนผ้า เพราะไหมเป็นของที่มีราคาสูง ต่างจากฝ้ายที่มีราคาย่อมกว่า ซึ่งฝ้ายนั้น มีการนำมาทอทั้งโดยไม่ต้องย้อมเส้นด้าย หรือย้อมด้ายแล้วจึงนำมาทอก็ได้ ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของการนำผ้าไปใช้ เช่น ถ้าต้องการทำเป็นผืนผ้าเพื่อตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าสำหรับการทำงานในไร่นา มีทั้งที่ทอเป็นผืนผ้าขาว ตัดเย็บ แล้วจึงนำไปย้อมคราม หรือคลุกโคลน หรือย้อมเส้นด้ายด้วยครามแล้วทอเป็นผืน ต่อจากนั้นจึงนำไปตัดเย็บก็ได้ การทอให้ผืนผ้าเป็นลวดลายมีหลากหลายสี ทำโดยการมัดหมี่ ซึ่งทำได้ทั้งด้ายฝ้ายและด้ายไหม นำมามัดให้เป็นเปราะตามลวดลายที่กำหนด นำไปย้อม  แล้วจึงนำไปทอ

              การได้มาซึ่งเสื้อผ้าในวิถีวัฒนธรรมลาวครั่ง มีกระบวนการผลิตหลายขั้นตอน นับตั้งแต่การปลูกต้นหม่อนเพื่อนำใบหม่อนมาเป็นอาหารของหนอนไหม ต้องคอยประคบประหงมหนอนไหมให้มีสุขภาพดี คอยป้องกันมดหรือสัตว์อื่นๆ ที่จะเข้ามาทำร้ายหนอนไหม เมื่อหนอนไหมเป็นดักแด้แล้วจึงนำมาสาวเอาเส้นใย ส่วนกรณีของฝ้าย ต้องปลูกฝ้าย บำรุงดิน เมื่อฝ้ายออกดอก บาน และสุกสะพรั่งแล้ว ต้องเก็บและตากให้แห้งสนิทเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดคราบเชื้อรากระดำกระด่าง แล้วนำมาเข็นให้เป็นเส้นด้าย

              ชาวลาวครั่ง (และผู้คนกลุ่มชาติพันธุ์วัฒนธรรมลาวอื่น ๆ) มีความรู้เกี่ยวกับการทอเส้นใยให้เป็นผืนผ้ามาแต่ครั้งโบราณ ดังจะพบว่า อุปกรณ์ที่เนื่องด้วยการทอผ้า จะมีคำศัพท์เรียกเป็นภาษาลาว ไม่ใช่เป็นคำยืม ไม่ใช่คำศัพท์บัญญัติ หรือไม่ใช่คำเลียนเสียงจากวัฒนธรรมภาษาอื่น เพราะการที่มีความรู้เกี่ยวกับการทอผ้า จึงทำให้ผู้คนกลุ่มวัฒนธรรมลาวผลิตผ้าได้อย่างหลากหลาย มีทั้งกระบวนการทอแบบยก จก ขิด และมัดหมี่

              ในปัจจุบันนี้ การผลิตเส้นไหมและเส้นฝ้ายแบบดั้งเดิมในชุมชนลาวครั่งได้ลดพื้นที่ลงไปมาก เพราะมีขั้นตอนที่ซับซ้อน แต่ก็มีไหมสำเร็จ (ไหมจากโรงงาน) และฝ้ายโรงงานจำหน่าย ซึ่งมีคุณสมบัติดีคือ เป็นเส้นที่เรียบเสมอกัน ไม่เป็นปมหรือขอดเหมือนไหมที่สาวด้วยมือ หรือด้ายที่เข็นจากดอกฝ้าย ชาวลาวครั่งยังคงดำรงความรู้เกี่ยวกับการผลิตสิ่งทอทั้งแบบจารีตนิยม และสมัยนิยม นำมาทำเป็นเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายทางวัฒนธรรม ซึ่งเสื้อผ้าที่ผลิตจากผ้าทอพื้นบ้านนี้ จะใช้นุ่งห่มในงานประเพณี พิธีกรรม หรืองานไปวัดทำบุญ ตลอดถึงการสวมใส่เพื่อต้อนรับแขกคนสำคัญ

     

    การประดิษฐ์เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย รวมถึงเครื่องมือเครื่องใช้ในการประดิษฐ์เสื้อผ้า

              วิถีการนุ่งห่มเสื้อผ้าอาภรณ์ของชาวลาวครั่งตามธรรมเนียมนิยมนั้น มักเป็นการห่อหุ้ม เช่น ผ้าถุง ผ้าโต่ง (สะไบ) ผ้าวา (ผ้าที่มีขนาดยาว 1 วา หรือผ้าขาวม้า) ผ้ายาว (ผ้าปูม) ผ้าโสร่ง  ผ้าตุ้ม ผ้าผวย (ผ้าห่ม) ผ้าคลุม มากกว่าการสวมสอด อย่างการสวมเสื้อ สวมกางเกง  ดังนั้น การประดิษย์ของใช้นุ่งห่ม จึงเริ่มต้นที่การผลิตผืนผ้าว่า ผ้าผืนนั้นมีจุดประสงค์จะนำไปสร้างหรือประดิษฐ์เป็นเครื่องนุ่งห่มอะไร เช่น ถ้าเป็นผ้าถุง จะมีหน้ากว้างเป็นพิเศษ แต่ถ้าประสงค์จะทำผ้าถุงต่อตีน ผืนผ้าที่ตั้งใจทำเป็นตัวผ้าถุงจะไม่กว้างมาก ต้องเผื่อการต่อหัวและต่อตีน แล้วให้มีความสูงประมาณช่วงเหนือสะดือของผู้ที่จะสวมใส่ราว 1 ฝ่ามือ หรือการจะทำผ้าอเนกประสงค์อย่างผ้าผืนวา มักทำหน้ากว้างประมาณศอก หรือศอกเศษ แต่ถ้าหากประสงค์จะนำผ้านั้นมาตัดเป็นเสื้อหรือกางเกง จะต้องทำหน้ากว้างมากกว่า 1 แขน หรือเมตรเศษ เป็นต้น ด้วยวัฒนธรรมการใช้ผ้าเป็นผืนโดยตรง เมื่อผลิตเป็นผืนผ้าแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องนำไปผลิตเป็นสิ่งใดเพิ่มเติมอีก เว้นแต่การเย็บบางส่วนให้สมบูรณ์ เช่น การเย็บผ้าถุง หรือเย็บผ้าโสร่งให้ครบรอบวง  การเย็บต่อตีนต่อหัวผ้าซิ่น การเย็บขอบชายผ้ากันไม่ให้รุ่ย อุปกรณ์ที่ใช้จึงมีเพียง ด้าย กรรไกร และเข็ม

              ในระยะต่อมา ความนิยมเรื่องการนุ่งห่มมีมากกว่าการห่อหุ้ม คือต้องการประดิษฐ์เสื้อหรือเป็นการเกงให้ได้รูปทรง อุปกรณ์เพื่อการตัดเย็บเสื้อหรือกางเกงก็ยังต้องอาศัยด้าย เข็มและกรรไกร ดังนั้น แม่บ้านเมื่ออดีตจึงต้องฝึกหลายอย่าง คือต้องทอผ้าเป็น เย็บผ้า ปะ ซ่อมบำรุงผ้า ทุกครัวเรือนจึงต้องมีเข็มไว้เย็บเสื้อผ้าของสมาชิกภายในครอบครัว การทำซิ่นตีนจกหรือยกดอก อยู่ที่การเตรียมทำผืนผ้าชิ้นนั้น ๆ โดยตรง ไม่ได้นำมาปักหรือพิมพ์ลาย จึงไม่มีเครื่องมือพิเศษเพื่อการนี้แต่ประการใด  เพียงอาศัยอุปกรณ์คือด้ายและเข็มเท่านั้นในการเย็บให้ผ้าต่อเนื่องกัน

    แสดงลักษณะลวดลายและสีของเสื้อผ้าสตรีชาวลาวครั่งในปัจจุบัน ซึ่งนิยามว่าตนเองเป็นลาวครั่ง และทำเสื้อผ้าให้เป็นสีแดง สอดคล้องกับสีที่ได้จากนำครั่งมาย้อมผ้า แม้ว่าปัจจุบันนี้ ไม่นิยมนำครั่งมาย้อมแล้วก็ตาม เนื่องจากครั่งหายาก และมีความยุ่งยากมากกว่าการย้อมด้วยสีเคมี ในภาพ เป็นขบวนฟ้อนรำของบรรดาหญิงลาวครั่ง ในตำบลโพรงมะเดื่อ เนื่องในงานจุลกฐิน ณ วัดโพรงมะเดื่อ ตำบลโพรงมะเดื่อ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม

    หน้าวัดโพรงมะเดื่อ ตำบลโพรงมะเดื่อ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม 

     นายวีระพงศ์ มีสถาน ถ่ายภาพ   24 ตุลาคม 2563