2023-06-13 18:06:46
ผู้เข้าชม : 1019

ไทขึน มีอัตลักษณ์ที่โดดเด่น คือ เครื่องเขิน ซึ่งเป็นเครื่องจักสานที่ผ่านการลงรักและสลักลวดลาย เป็นองค์ความรู้ที่ผูกติดมากับชาวไทขึนจนกระทั่งสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนจนเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป

  • ข้อมูลพื้นฐาน
  • ประวัติศาสตร์
  • การตั้งถิ่นฐานและกระจายตัว
  • วิถีชีวิตและวัฒนธรรม
  • งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
  • อ้างอิง

ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : ไทขึน
ชื่อเรียกตนเอง : ไทขึน, ขึน, ไตขึน
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ไทเขิน
ตระกูลภาษา : ไท
ตระกูลภาษาย่อย : ไต-ไต
ภาษาพูด : ไทขึน
ภาษาเขียน : ขึน

ไทขึน เป็นชื่อเรียกตนเองของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยึดตามสำเนียงการออกเสียง คำว่าไต หมายถึง ชนชาติไต ที่ประกอบด้วยหลากหลายกลุ่ม ส่วนคำว่า ขึน มาจากชื่อแม่น้ำขึน (ขืน) หมายถึง แม่น้ำที่ไหลไปทางทิศเหนือขืนจากธรรมชาติเมื่อสะกดคำหรือออกเสียงตามภาษาไทยกลางจึงเป็น ไทขึน ส่วนชื่อไทเขิน นั้นมาจากสินค้าหัตถกรรมที่เรียกว่า “เครื่องเขิน” ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาวไทขึน และคำว่า “เขิน” กลายเป็นชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งที่คนส่วนใหญ่ในล้านนาใช้เรียกชาวไทขึน

แต่เดิมกลุ่มชาติพันธุ์ไทขึน มีถิ่นฐานพำนักอาศัยอยู่ในเมืองเชียงตุง หัวเมืองใหญ่ทางตะวันออกของที่ราบสูงฉาน ซึ่งเป็นนครรัฐที่มีความเจริญรุ่งเรืองควบคู่กับเมืองเชียงรุ่งของชาวไทลื้อสิบสองปันนาและเมืองเชียงใหม่ ปัจจุบันเมืองเชียงตุงอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐฉาน สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์เมืองเชียงตุงเป็นชุมชนของชาวลัวะและชาวไทขึนถูกสร้างขึ้นโดยพญามังในปี พ.ศ. 1810 เมืองเชียงตุงเป็นเมืองที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเบบบ้านพี่เมืองน้องกับเมืองเชียงใหม่ จากเหตุการณ์ทางการเมืองทำให้ชาวไทขึนจากเมืองเชียงตุงอพยพเข้ามาพำนักอยู่อาศัยและตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศไทยหลายครั้ง เงื่อนไขในการอพยพเกี่ยวข้องกับการติดต่อค้าขาย การหลบหนีภัยสงครามการติดตามมากับเจ้านายชนชั้นปกครอง การถูกเชื้อเชิญหรือแต่งตั้ง การแต่งงาน การถูกเกณฑ์กวาดต้อน หรือการหาแหล่งทำกินใหม่ ในยุคที่ล้านนาเป็นประเทศราชของสยาม เป็นช่วงเวลาที่ชาวไทขึนจากเชียงตุงอพยพมาที่เมืองเชียงใหม่มากที่สุด โดยเฉพาะช่วงของการฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ ในยุคเก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมือง เจ้ากาวิละได้ยกกำลังไปตีเมืองเชียงตุงสำเร็จและกวดต้อนผู้คนมาตั้งถิ่นฐานที่เมืองเชียงใหม่นอกเขตกำแพงเมืองบริเวณประตูหายยา ซึ่งได้จัดแบ่งตามระบบความสัมพันธ์และกลุ่มช่างฝีมือ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ไทขึนในล้านนา ต่อมาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสยามและประเทศไทยในปัจจุบัน ปัจจุบันการตั้งถิ่นฐานของชาวไทขึนในประเทศไทยกระจายตัวในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย และจังหวัดลำพูน

ไทขึนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่มีวิถีการดำรงชีวิตที่เป็นอัตลักษณ์ของตนเอง ทั้งมิติภาษาการแต่งกาย ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี ศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะมรดกวัฒนธรรมสำคัญ คือ เครื่องเขิน เป็นเครื่องจักสานที่ผ่านการลงรักและสลักลวดลาย ทั้งแบบขูดลาย และแบบเสริม ทักษะนี้ติดตัวมากับกลุ่มช่างชาวไทขึนที่โยกย้ายจากเชียงตุงมายังเชียงใหม่ และตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณวัดนันทาราม ประตูหายยา ดำรงชีพด้วยการผลิตเครื่องเขิน สำหรับใช้ในครัวเรือน ชุมชน พิธีกรรมทางศาสนา เมื่อมีการส่งเสริมหัตถกรรมเพื่อสร้างเป็นอาชีพ เครื่องเขินจึงเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการส่งเสริมให้มีการผลิตและจำหน่ายจนกระทั่งกลายเป็นสินค้าที่สร้างชื่อเสียงให้ชุมชนทำให้ผู้คนทั่วไปรู้จักชาวไทขึนมากขึ้น ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์จึงผูกติดกับหัตถกรรมเครื่องเขินอันเป็นที่มาของชื่อเรียก ในบางบริบทชนกลุ่มนี้จะเรียกตัวเองว่า ไทเขินตามการรับรู้ของคนทั่วไป

ไทขึน เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีชื่อสอดคล้องกับภูมิทัศน์ของพื้นที่ตั้งถิ่นฐานชาติพันธุ์ คือ แม่น้ำขึน เป็นแม่น้ำที่ไหลขึ้นไปทางทิศเหนือบรรจบกับแม่น้ำหลวยและไหลไปออกที่แม่น้ำโขงที่สบหลวย การที่แม่น้ำไหลขึ้นไปทางทิศเหนือนั้น จึงเรียกว่า “ขึน” หรือ “ขืน”

เชียงตุงได้ปรากฏในตำนาน ที่ระบุว่า ตุงคฤๅษี ได้ขาง (ขีด) น้ำออกจากพื้นที่เชียงตุงไปทางทิศเหนือ บริเวณที่เรียกว่า หลัก 13 หรือบริเวณที่ทำพิธีในช่วงสงกรานต์ให้ขุนสังขานต์ที่แห่งมาจากในเมืองมาพบกับกบที่บริเวณน้ำขึ้นแห่งนี้ เนื่องด้วยบริเวณนี้เป็นพื้นที่ที่ตั้งหอผี และเป็นบริเวณของเขตแดนของเมืองก่อนเข้าเขตป่า กลายเป็นช่องเขาที่แม่น้ำขึนไหลกลายเป็นดินแดนกว้างขวางและเพาะปลูกได้ เหลือเพียงน้ำในหนองตุงเท่านั้นที่เป็นหนองน้ำกลางเมืองที่ไม่เคยแห้งเชียงตุง จึงเป็นพื้นที่แอ่งขนาดใหญ่ที่โอบล้อมด้วยเทือกเขา มีน้ำไหลผ่ากลางเมือง ทำให้มีการผลิตทางการเกษตรที่สร้างความมั่งคั่งให้กับเมืองได้

การเปลี่ยนแปลงในพื้นที่จากกลุ่มชนดั้งเดิมที่เรียกว่า ลัวะ มาเป็นกลุ่มคนพูดภาษาตระกูลไทได้เปลี่ยนจากการผลิตบนพื้นที่สูงมาเป็นการผลิตนาแบบทดน้ำ คล้ายคลึงกับการสร้างเมืองเชียงใหม่ที่กลุ่มคนมีการผลิตในที่ราบลุ่มเข้ามาแทนที่กลุ่มคนดั้งเดิม จากการปริวรรตเรียบเรียงของทวี สว่างปัญญากูร(2553; 33-34)กล่าวถึง เรื่องราวหลังจากน้ำเต้าแตกออกมาเป็นลัวะและได้สร้างบ้านเรื่องใน พ.ศ. 1677

ต่อมา พ.ศ. 1772 พญามังรายได้ตามกวางทองมาถึงเมืองเชียงตุงและครอบครองเมืองดังกล่าว ใน พ.ศ. 1773 พญามังรายให้ขุนคง และขุนลังมารบกับลัวะ แต่ไม่สามารถเอาชนะลัวะได้

ในปี พ.ศ. 1786 พญามังรายให้มังคุมมารบชนะและกินเมืองเชียงตุง เมื่อมังคุมตาย จึงให้มังเคียน กินเมืองแทน เมื่อมังเคียนตาย พญามังรายจึงให้ลูกของตนชื่อ เจ้าน้ำท่วม มากินเมืองเมื่อ พ.ศ.1796 เจ้าน้ำน่าน กินเมืองเมื่อพ.ศ.1807 เจ้าสามหมื่นห้วย กินเมืองเมื่อ พ.ศ. 1860 เจ้าอ้ายลก กินเมืองเมื่อ พ.ศ.1867 เจ้าใสน่าน กินเมืองเมื่อพ.ศ.1885 ตามลำดับ หลังจากเจ้าใสน่านเมืองเชียงตุงจึงกลายเป็นเมืองร้าง

ต่อมาในหลักฐานพงศาวดารเมืองเชียงตุง ได้บันทึกไว้ว่า ในสมัยพระเจ้าผายู ได้ส่งโอรสชื่อเจ้าเจ็ดพันตู ไปปกครองเมืองเชียงตุงหลังจากเป็นเมืองร้าง โดยมีความเชื่อว่า ต้องถวายเมืองให้กับพระสงฆ์จึงจะแก้เคล็ดได้ (ทวี สว่างปัญญากูร, 2533: 33) ในครั้งพระเจ้าเจ็ดพันตู ได้นิมนต์พระมหาหงสาวดี พระมหาสิริปุญญะ พระเถรนันทะ และพระเถรพุทธโฆษะ ร่วมเดินทางโดยการจัดพิธีถวายเมืองเชียงตุงแด่พระสงฆ์ที่วัดลีเชียงพระ (วัดพระสิงห์) จากนั้นเจ้าเจ็ดพันตูจึงได้สร้างวัด จำนวน 4 แห่งเพื่อเป็นสถานที่จำพรรษาแก่หัวหน้าคณะทั้ง 4 รูป ได้แก่ วัดพระแก้ว วัดหัวข่วง วัดฟ้าก้าง และวัดจอมทอง (เสมอชัย พูลสุวรรณ, 2552; หน้า89)

หลังจากสร้างเมืองเชียงรายเมื่อ พ.ศ. 1805 พญามังรายได้สร้างเมืองเชียงตุงซึ่งเป็นชุมชนของชาวลัวะและชาวไทขึนขึ้นใน พ.ศ. 1810 เมืองเชียงตุงเป็นเมืองที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเมืองเชียงใหม่ในลักษณะบ้านพี่เมืองน้องทั้งในด้านการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และศาสนา มีการติดต่อเกี่ยวข้องกันอย่างต่อเนื่อง จนถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 24 เมืองเชียงตุงตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของพม่า ส่วนเชียงใหม่อยู่ภายใต้อิทธิพลของสยาม ความสัมพันธ์ที่แน้นเฟ้นจึงเริ่มสั่นคลอนลง โดยเฉพาะในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ที่สยามต้องการขยายอำนาจสู่ดินแดนเชียงตุง ทำให้เกิดสงครามเชียงตุง (พ.ศ. 2392-2397) จำนวน 3 ครั้ง ในสมัยพระเจ้ามโหตรประเทศ (พระยามหาวงศ์) เจ้าเมืองเชียงใหม่องค์ที่ 5 (พ.ศ. 2390-2397)

จากรากฐานความสัมพันธ์แบบเครือญาติระหว่างเชียงใหม่และเชียงตุง ทำให้ชาวไทขึนจากเมืองเชียงตุงมีการอพยพเข้ามาพำนักอยู่อาศัย และตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ต่าง ๆ ทางภาคเหนือของประเทศไทยหลายระลอก เงื่อนไขสำคัญในการอพยพเกี่ยวข้องกับการติดต่อค้าขาย การหลบหนีภัยสงคราม การติดตามมากับเจ้านายชนชั้นปกครอง การถูกเชื้อเชิญหรือแต่งตั้ง การแต่งงาน การถูกเกณฑ์กวาดต้อน หรือการแสวงหาแหล่งทำกินใหม่ การอพยพของชาวไทขึนมายังเมืองเชียงใหม่ แบ่งออกเป็น 5 ยุค ดังนี้

ยุคแรก การสร้างอาณาจักรล้านนา (พ.ศ.1839-1898) เป็นช่วงการสร้างบ้านสร้างเมืองเมืองเชียงตุงซึ่งอยู่ในเขตรัฐฉานปัจจุบัน เมืองเชียงตุงเป็นเมืองประเทศราชมีฐานะเป็นบ้านพี่เมืองน้องในการทำหน้าทรี่ดูแลความเคลื่อนไหวตามพื้นที่ชายแดน การอพยพมายังเมืองเชียงใหม่ยังคงมีจำนวนน้อย ส่วนใหญ่เป็นการติดต่อค้าขายสินค้า และการถูกเชื้อเชิญหรือแต่งตั้งการย้ายตามเจ้านายชนชั้นปกครองที่ต้องติดต่อทางด้านการเมือง

ยุคที่สอง อาณาจักรล้านนาเจริญรุ่งเรือง (พ. ศ. 1898-2068) เป็นยุคที่เมืองเชียงใหม่มีความเจริญรุ่งเรืองด้านเศรษบกิจ การค้าขายในฐานะของเมืองศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนา มีการขยายอาณาเขตอย่างกว้างขวาง ทำให้ชาวไทขึนมีการอพยพมาตั้งถิ่นฐานในเมืองเชียงใหม่มากกว่ายุคแรก ส่วนใหญ่เป็นการอพยพเพื่อการค้าขาย การแสวงหาพื้นที่ทำกิน การถูกเชื้อเชิญหรือแต่งตั้ง การโยกย้ายตามเจ้านายชนชั้นปกครอง ชาวไทขึนจึงมีการเคลื่อนย้ายเข้ามาในทุกยุคสมัยของแต่ละกษัตริย์ที่ปกครองอาณาจักรล้านนา เช่น สมัยพญากือนาที่บ้านเมืองมีความเจริญสมบูรณ์ อาณาจักรล้านนามีความเข้มแข็ง มีความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา สมัยพระยาแสนเมืองมา อาณาจักรล้านนาเจริญรุ่งเรืองในมิติเศรษฐกิจและการค้า มีฐานะมั่งคั่งและผลผลิตส่วนเกินมาก สมัยพญาสามฝั่งแกน สมัยพระเจ้าติโลกราช สมัยพญายอดเชียงราย จนถึงสมัยพญาแก้ว

ยุคที่สาม การเสื่อมอำนาจของอาณาจักรล้านนาและการล่มสลายของอาณาจักร (พ.ศ 2069- 2101) ในสมัยนี้เกิด ความขัดแย้งทางการเมือง ถูกรุกรานจากราชอาณาจักรอยุธยาและหัวเมืองไทยใหญ่ อาณาจักรล้านนาจึงเริ่มถูกเสื่อมสลายในช่วงปลายของราชวงศ์มังราย นับตั้งแต่ พ.ศ 2069 เป็นต้นมา ในยุคนี้สภาพเศรษฐกิจซบเซา เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้ง จนทำให้อาณาจักรล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าในปี พ.ศ 2101 หลังจากพระเจ้าบุเรงนองยกทัพมารบเชียงใหม่โดยใช้เวลาเพียง 3 วัน ในช่วงเวลาดังกล่าวทำให้ชาวไทขึนมีการอพยพมายังเมืองเชียงใหม่ในสัดส่วนที่น้อย

ยุคที่สี่ อาณาจักรล้านนาอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ

ช่วงแรก (พ.ศ. 2101-2207) ในช่วงเวลาดังกล่าวมีศึกสงครามเกิดขึ้นจำนวนน้อย มีการกวาดต้อนเชลยศึกจากล้านนาไปยังพม่า แต่สภาพการค้ายังมีการเจริญเติบโต ศาสนามีความเจริญรุ่งเรือง สะท้อนให้เห็นว่า บ้านเมืองยังคงอยู่ในสภาพปกติ การปกครองโดยกษัตริย์พม่าทำให้บ้านเมืองสงบสุข เพราะให้อำนาจเจ้าเมืองแต่ละเมืองในล้านนาปกครองตนเองภายใต้การกำกับดูแลของกษัตริย์พม่า ในช่วงเวลาดังกล่าวชาวไทขึนยังคงมีการอพยพมายังเชียงใหม่จำนวนน้อยโดยมีเป้าหมายในการค้าขายหรือแสวงหาถิ่นที่อยู่ใหม่

ช่วงหลัง (พ.ศ. 2207 - 2317) เป็นช่วงเวลาที่อาณาจักรล้านนาถูกพม่าเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในมากขึ้น ทำให้เกิดปัญหาต่าง ทั้งในด้านการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ การค้าขาย การแบ่งปันผลประโยชน์ การเกณฑ์แรงงาน การเก็บภาษี การเก็บส่วย และการขูดรีด ทำให้เกิดกลุ่มต่อต้านอำนาจพม่า และเกิดการสู้รบในกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ในช่วงเวลาดังกล่าวจึงเกิดการการจลาจลในอาณาจักรล้านผู้คนต้องละทิ้งชุมชนของตนเองเพื่อหลีบหนีไปอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัย มีการอพยพลี้ภัยไปอยู่ยังที่ต่าง ๆ รวมทั้งเกิดการรวมตัวขับไล่กองทัพพม่าออกจากเชียงใหม่ได้สำเร็จในปี พ.ศ. 2317

ยุคที่ 5 สมัยล้านนาเป็นประเทศราชของราชอาณาจักรสยาม (พ.ศ. 2317- 2442) เป็นช่วงเวลาที่ชาวไทขึนมีการอพยพจากจากเชียงตุงมาที่เมืองเชียงใหม่มากที่สุด โดยเฉพาะในยุคเก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมืองในสมัยของพระเจ้ากาวิละ เป็นช่วงของการฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ ในการอพยพเกิดขึ้นจากทั่งความสมัครใจในการติดตามญาติพี่น้อง การหนีภัยสงคราม การแสวงหาพื้นที่ทำกินใหม่ และการถูกกวาดต้อน จำนวนหลายระลอก

ภายหลังจากการฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ใน พ.ศ. 2339 ทำให้เมืองเชียงใหม่มีความเจริญในด้านต่าง ๆ เกิดการอพยพย้ายถิ่นฐานของผู้คนเพิ่มมากขึ้นอย่างไรก็ตาม ภายหลังสงครามเชียงตุงสิ้นสุดลง การอพยพมายังเมืองเชียงใหม่ของชาวไทขึนมีจำนวนลดน้อยลง จนกระทั่งพ.ศ. 2345 เจ้ากาวิละได้ยกกำลังไปตีเมืองเชียงตุงสำเร็จและกวดต้อนผู้คนมาตั้งถิ่นฐานที่เมืองเชียงใหม่นอกเขตกำแพงเมืองบริเวณประตูหายยา (สรัสวดี อ๋องสกุล, 2539, หน้า 270) ซึ่งเป็นจึดเริ่มต้นของการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ไทขึนนับตั้งแต่อาณาจักรล้านนาและต่อมากลายเป็นส่วนหนึ่งของสยาม จนกระทั่งกลายเป็นประเทศไทยในปัจจุบัน

จากเอกสารได้ระบุการตั้งถิ่นฐานของชาวไทขึนในประเทศไทย นับตั้งเต่การอพยพโยกย้ายถิ่นฐานของเจ้ากองไตย ราชบุตรในเจ้าฟ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลง เจ้าฟ้าเชียงตุงองค์ที่ 8 ที่ได้อพยพมาพร้อมกับเจ้ากระหม่อม เจ้าแสนเมือง เจ้าเมืองเหล็ก เจ้าดวงทิพย์ เจ้าดวงแสง (เจ้ามหาขนาน) เจ้ามหาพรหม เจ้านางสีแก้ว เจ้านางคำแดง มาตั้งถิ่นฐานที่เมืองเชียงใหม่ ในระยะแรกชาวไทขึน ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณประตูหายยา และ ในบริเวณหน้าวัดนันทาราม ซึ่งได้ตั้งคุ้มเจ้าอยู่สองคุ้ม คือ บริเวณหน้าวัด (ปัจจุบัน คือ โรงน้ำแข็ง) เรียกว่า คุ้มใต้ เป็นที่ตั้งคุ้มของเจ้าแสนเมือง และบริเวณตอนเหนือของคุ้มใต้เรียกว่า คุ้มเหนือ เป็นคุ้มเจ้านางคำแดง ต่อมาเจ้าต่างๆที่อพยพเข้ามาก็ได้กระจายตัวออกไปยังพื้นที่ต่างๆ ในล้านนา คือ เมืองสารทหลวงเมืองสารทน้อย บ้านเมืองกาย บ้านเชียงขาง อ.สารภี เชียงแสน บริเวณบ้านเมืองมาง บ้านธาตุคำ บ้านหมื่นสาร บ้านสุพรรณ และตำบลป่าบอง อำเภอดอยสะเก็ด

ในขณะที่เจ้ามหาขนาน (เจ้าดวงแสง) ซึ่งเดิมเป็นเจ้าเมืองเชียงขาง ไม่ยอมอพยพเข้ามายังเมืองเชียงใหม่ และได้กลับไปยอมรับอำนาจพม่า ได้ถูกแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองเชียงตุงต่อไป โดยที่พงศาวดารเมืองเชียงตุงที่แปลเรียบเรียงโดย ทวี สว่างปัญญากูร (2533 หน้า 60-61) ได้กล่าวไว้ ดังนี้

“...ที่ยังตกค้างอยู่เชียงตุงเจ้าดวงแสง น้องเจ้ากองไตยได้หนีไปอยู่ บริเวณที่เรียกว่า ข้า11บ้าน-15บ้าน ต่อมาได้รวบรวมผู้คนที่เมืองหลวยเมืองยาง และรวมตัวต่อต้านพม่าจนไปตั้งมั่นที่เชียงแสน และทราบว่าทางเจ้าเมืองเชียงใหม่จะนำตัวเจ้ามหาขนานไปอยู่ที่เชียงใหม่จึงได้รวบรวมผู้คนกลับไปยอมรับอำนาจกษัตริย์อังวะ และได้แต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองเชียงตุงต่อไป...”

ส่วนเจ้ากองไตย เมื่ออพยพเข้ามาไม่ได้ครองเมืองจึงขอไปอยู่ที่เชียงแสนพร้อมกับผู้คนอีกจำนวนหนึ่ง และได้ทิ้งกลุ่มลูกหลานบางส่วนไว้ที่คุ้มเหนือคุ้มใต้ หน้าวัดนันทาราม การไปตั้งถิ่นฐานที่เชียงแสนเพื่อจะกลับไปเชียงตุง แต่ความคาดหวังดังกล่าวไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากพม่าได้แต่งตั้งเจ้ามหาขนานเป็นเจ้าครองเมืองเชียงตุงแล้ว ดังนั้น กลุ่มเจ้ากองไตยจึงยังคงตั้งถิ่นฐานบริเวณเชียงแสน

ในส่วนเจ้าเมืองเหล็กซึ่งเป็นพี่น้องเจ้ากองไตยได้อพยพไปตั้งถิ่นฐานที่ลำพูน มีสายตระกูล คือ เหล็กสมบูรณ์ ตุงคนาคร ส่วนเจ้ามหาพรมเริ่มตั้งถิ่นฐานที่หน้าวัดนันทาราม ต่อมาได้ย้ายไปตั้งบ้านเรือนที่หน้าวัดเจดีย์หลวง จากนั้นลูกหลานได้ย้ายไปตั้งบ้านเรือนที่บ้านเด่น ต.วัดเกตุ อ.เมืองเชียงใหม่ และ ที่บ้านสันทรายมหาวงค์ อ.สารภี ส่วนน้องเจ้ากองไตยที่เป็นเจ้านางชื่อเจ้านางคำแดงนั้นไม่ได้อพยพย้ายไปไหนยังคงอาศัยที่คุ้มเหนือ หน้าวัดนันทาราม จุดที่ตั้งคุ้มนั้นปัจจุบันคือตั้งแต่บริเวณบ้านลูกหลานที่ชื่อ นางบุญเรียบ สุริยวงษ์ มาจนถึงบ้าน นายศิลป์ เทพรัตน์ ปัจจุบันเชื้อสายของเจ้านางคำแดงก็ยังอาศัยอยู่บริเวณนี้เช่นเดิม

นอกจากพื้นที่ดังกล่าวแล้ว ชาวไทขึนยังกระจายตัวตั้งถิ่นฐานในหลายหมู่บ้านปะปนกับคนล้านนา จนไม่สามารถแยกออกจากกันได้ นอกจากจะมีเพียงนามสกุลและประวัติครอบครัวเท่านั้น การเข้ามาของคนเชียงตุงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กลายเป็นกลุ่มไทขึนที่แตกต่างจากการอพยพครั้งใหญ่ครั้งแรก สามารถเชื่อมโยงได้จากภาษา ซึ่งเป็นตัวอักษร และพระสงฆ์เชียงตุงที่เข้ามาศึกษาในประเทศไทย

ลักษณะของพื้นที่ในการตั้งถิ่นฐานดั้งเดิมของชาวไทขึน (เสมอชัย พูลสุวรรณ, 2552) ในรูปแบบคุ้มซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 2-3 ไร่ ตัวคุ้มเป็นเรือนไม้หลังใหญ่ หลังคาแฝดมีชานหน้าบ้านกว้างขวาง มีบันไดบริเวณตรงกลาง ต่อจากชานบ้าน ตัวเรือนหันหน้าไปทางทิศเหนือ หน้าคุ้มมียุ้งข้าวขนาดใหญ่ มีถนนผ่านหน้าคุ้มเป็นถนนกว้าง มีบริเวณที่เป็นโรงช้าง (ปัจจุบันกลายเป็นบ้านของครอบครัวนางแก้วดี อุดมพันธุ์) คุ้มนี้เมือเจ้านางศรีแก้วเจ้านางคำแดงถึงแก่กรรมได้ตกทอดมายังเจ้านางก๋องแก้ว ซึ่งเป็นธิดา และตกทอดมาถึงเจ้านางเต่าผู้เป็นลูกเจ้านางก๋องแก้ว เมื่อเจ้านางเต่าและสามีถึงแก่กรรม คุ้มนี้จึงตกทอดมายังลูกสาว 4 คน คือ 1) เจ้าแม่กาบแก้ว เทพรัตน์ 2) เจ้าแม่เกี๋งคำ บุญเฉลียว 3) เจ้าแม่บัวชุม อุดมพันธุ์ และ 4) เจ้าแม่บัวเลื่อน สุริยวงศ์ โดยมีเจ้าลุงที่เป็นชาย คือ เจ้าตั๋น หรือท่านพระครูสารภังค์ ที่ตำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดนันทาราม ได้แบ่งพื้นที่คุ้มออกเป็น 5 ส่วน คือ หลานทั้ง 4 คน
และส่วนสุดท้ายให้เจ้าน้อยดวงคำ เหล็กสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังมีที่นาที่บ้านป่าแกโยง ต.หนองผึ้ง อ.สารภี และที่นาที่บ้านหนองช้างคืน ต่อมาเจ้าดวงคำได้แลกที่กับเจ้าแม่กาบแก้ว โดยเจ้าดวงคำจะไปอยู่ที่หนองช้างคืนเนื่องจากเป็นพื้นที่อยู่อาศัยมายาวนาน

กลุ่มเครือญาติเจ้าเชียงตุงได้เชื่อมโยงเครือญาติกันในช่วงปีใหม่เมือง โดยการเดินทางรดน้ำดำหัวเครือญาติเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ยังมีการไหว้ผีปู่ย่าที่เป็นผีบรรพบุรุษบริเวณคุ้มเหนือ ช่างฝีมือ ที่ติดตามเจ้าเชียงตุงมาได้ทำเครื่องเขิน (คัวรักคัวหาง) และทำเครื่องเงินส่งขายที่ร้านค้าบริเวณถนนวัวลาย และยุติการทำเครื่องเขินเมื่อทศวรรษที่ 2520

การอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยของไทขึน มีทั้งผู้คนที่อพยพมาในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ตามกลุ่มเจ้าเชียงตุง และผู้คนที่อพยพเข้ามา ในช่วงต้น พ.ศ. 2520 สืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงในเมียนมาม่า ทำให้มีการอพยพของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ไทขึน เข้ามาตั้งถิ่นฐานในบ้านเหล่าพัฒนา ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย

การดำรงชีพ

ในระยะแรกที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยชาวไทขึนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านการเกษตรกรรม เช่น ทำไร่ ทำนา ทำสวน เลี้ยงสัตว์ โดยใช้ผู้ชายเป็นแรงงานหลัก ส่วนผู้หญิงจะนิยมทอผ้า เย็บปักทักร้อย

ปัจจุบัน จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและความทันสมัยในด้านต่างๆ ได้แพร่กระจายมาสู่ชุมชน ทำให้วิถีชีวิตของชาวไทขึนรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงระบบการศึกษาที่ดีขึ้น จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านอาชีพโดยหันไปประกอบอาชีพอื่นมากขึ้น เช่น การค้าขาย รับจ้างทั่วไป รับราชการหรือทำธุรกิจส่วนตัว ส่วนการประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมมีเพียงจำนวนน้อย

เครื่องเขิน อัตลักษณ์ปัจจุบันที่ผู้ติดกับงานหัตกรรม

เครื่องเขิน เป็นงานหัตถกรรม ที่มีความสำคัญเชื่อมโยงกับความเป็นชาติพันธุ์ การทำเครื่องเขิน จำแนกออกเป็น 2 ลักษณะ คือ แบบขูดลาย และแบบเสริมลาย สำหรับชาวไทขึนในชุมชนวัดนันทาราม มีการสืบทอดการทำเครื่องเขินแบบขูดลายที่กลายเป็นลักษณะเฉพาะของไทขึนวัดนันทาราม

ในการทำเครื่องเขิน จะมีการคัวรัก คัวหาง หรือเครื่องลงรัก เป็นอัตลักษณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศจีนมีมามากกว่าหนึ่งพันปี ในประเทศไทยเรียกว่า เครื่องลงรัก ที่ผูกติดกับความเป็นชาติพันธุ์ไทขึนจากเชียงตุงที่เคลื่อนย้ายถิ่นมาตั้งบ้านเรือนที่เมืองเชียงใหม่ กลุ่มคนเหล่านี้ประกอบด้วย ผู้นำ คือ เจ้าเชียงตุงและบริวาร ที่อพยพเข้ามาในยุคที่เรียกว่า “เก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมือง” หรือยุคฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่จากพม่ามาเป็นสยาม

การทำเครื่องเขินเพื่อใช้งานของกลุ่มช่างจากเชียงตุงที่ติดตามเจ้าเชียงตุงมาอยู่ที่บริเวณหน้าวัดนันทาราม ได้สืบทอดการทำเครื่องเขินมาตลอดเพื่อการใช้งานในชีวิตประจำวัน เครืองเขินถูกนำมาใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา และซื้อขายแลกเปลี่ยนต่อมาก่อนสงความโลกครั้งที่ 2 ต่อมารัฐบาลมีนโยบายในการส่งเสริมหัตถกรรม จึงส่งข้าราชการมาในภาคเหนือเพื่อให้การผลิตหัตถกรรมเป็นอาชีพ การทำเครื่องเขินจึงเป็นหัตถกรรมหนึ่งที่ได้รับการส่งเสริมในกลุ่มช่างจากชุมชนวัดนันทาราม ต่อมามีการผลิตและส่งขายให้กับ ร้านวิชัยกุล ทำให้ร้านวิชัยกุลเป็นหน้าร้านของกลุ่มช่างเครื่องเขิน ต่อมาในพ.ศ. 2490 ได้มีชาวอเมริกันนำเอาเครื่องเขินไปเผยแพร่โฆษณา จนเป็นที่นิยม การทำเครื่องเขินเป็นที่ต้องการของตลาด ทำให้ร้ายวิชัยกุลมีการรับเครื่องเขินมาจำหน่ายจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม การทำเครื่องเขินมีการเปลี่ยนแปลงตามบริบทสังคม สามารถแบ่งออกเป็น 4 ช่วงเวลา ที่สะท้อนทั้งความรุ่งเรืองและความถดถอยของการทำเครื่องเขิน อิสราภรณ์ พัฒนาวรรณ (2558: 135-136) ดังนี้

ช่วงแรก พ.ศ. 2463 เป็นช่วงที่ภาชนะเคลือบโลหะจากต่างประเทศได้เข้ามามีบทบาทใช้ สอยในครัวเรือนมากขึ้น จึงมีการหยุดทําเครื่องเขิน จนกระทั่งงานเครื่องเขิน กลับมาเป็นที่นิยมของเจ้านายและผู้สูงอายุ ทำให้ชุมชนกลับมาทำเครื่องเขินอีกครั้ง

ช่วงที่สอง สงครามเอเชียบูรพา (พ.ศ. 2483 - 2488) ชุมชนนันทารามได้ลดการผลิตการทําเครื่องเขินและหันประกอบอาชีพอื่นๆ ต่อมาจึงกลับมาทำอีกครั้งจนถึงปี พ.ศ. 2490 เนื่องจากคนนำยางรักมาขาย

ช่วงที่สาม หลังจาก พ.ศ. 2490 ชาวอเมริกันที่เห็นคุณภาพของเครื่องเขินได้นําไปเผยแพร่โฆษณาและหาตลาดให้ จนเครื่อเขินหลายเป็นที่รู้จักของชาวไทยและชาวต่างประเทศ ขณะเดียวกันครอบครัววิชัยกุลก็ได้นําสินค้าเครื่องเขินไปแสดงตามงานต่าง ๆ ทั้งในจังหวัดเชียงใหม่และพื้นที่อื่น ๆ เครื่องเขินจึงได้รับการรื้อฟื้นขึ้นอีกครั้ง

ช่วงที่สี่ พ.ศ. 2495 - 2500 เครื่องเขินวิชัยกุล ได้รับประกาศนียบัตรเป็นครั้งแรก ในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนที่กรุงเทพฯ จากนั้นใน พ.ศ.2500 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้ให้การสนับสนุนงานผลิตเครื่องเขินแก่ร้านวิชัยกุล โดยให้ซื้อสินค้าเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตจากร้านไทยอุตสาหกรรมเชียงใหม่

ช่วงที่ห้า หลัง พ.ศ. 2500 เครื่องเขินกลายเป็นสินค้าหัตถกรรมที่ได้รับความนิยม แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงของครอบครัวไทขึนจากการได้รับการศึกษาที่สูงขึ้นประกอบกับการอพยพย้ายถิ่นของคนรุ่นใหม่ การทำเครื่องเขินจึงได้กระจายตัวจากกลุ่มไทขึนไปสู่กลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ

อย่างไรก็ตาม ชื่อชาติพันธุ์ไทขึนได้ถูกผูกติดกับหัตถกรรมเครื่องเขิน การถูกเรียกว่าไทเขินนั้น ส่วนหนึ่งจึงเกิดจากการประกอบอาชีพการทำเครื่องเขิน หรืล้านนา เรียกว่า คัวฮัก คัวหาง (Lacquer ware) ซึ่งคำว่า คัว หรือครัว หมายถึง (ถิ่น-เหนือ) ของหรือเครื่องใช้ ส่วนคำว่า “ฮัก” หรือ “รัก” หมายถึง ต้นไม้ที่ยาง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Gluta usitata ชื่อในภาษาอังกฤษเรียกว่า Burmese lacquer เป็นพืชในวงศ์มะม่วง มีถิ่นกำเนิดในภูมิภาคอินโดจีน และนำมาทำเครื่องใช้ ยางรักมีชื่อสามัญว่า Lacquer varnish เป็นน้ำยางที่ได้จากต้นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ขึ้นอยู่เป็นหมู่ๆทั่วไปตามป่าเบญจพรรณ ที่ค่อนข้างแห้งแล้งและป่าแดงในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ตอนบน

ส่วนคำว่า หาง หมายถึง สีแดง หรือ เรียกว่า ชาด เป็นแร่ซินนาบาร์ (Cinnabar) เป็นแร่ในตระกูลปรอท พบตามถิ่นภูเขาไฟ หรือบ่อน้ำร้อน มีลักษณะเป็นผลึกแข็งสีแดงมักพบร่วมกับหินปูน การใช้งานจะต้องนำมาหุงเพื่อให้ได้ผงสีแดงที่มีราคาสูง ในวัฒนธรรมไทยและล้านนา สีแดงจึงเป็นสีที่ใช้สำหรับกษัตริย์และคนชั้นสูงเท่านั้น ส่วนเครื่องเขิน คนพม่าเรียก โยนเท่ (yun hte) (โยน-=คนล้านนา)

ระบบความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม

ศาสนาและความเชื่อ

ศาสนา

ชาวไทขึนในประเทศไทยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ และมีบางส่วนนับถือศาสนาคริสต์ ในขณะที่บางครอบครัวที่แต่งงานกับคนจีนยูนนาน ก็จะเปลี่ยนแปลงไปนับถือศาสนาอิสลาม ในกรณีที่หญิงชาวไทขึนแต่งงานกับผู้ชายชาวจีนยูนนานมุสลิมและมีการหย่าร้างเกิดขึ้นจะเปลี่ยนแปลงไปนับถือศาสนาพุทธดังเดิม นอกจากศาสนาหลักแล้วชาวไทขึนยังมีการนับถือผีบรรพบุรุษ และวิญญาณ

ความเชื่อเรื่องผี

ตามความเชื่อของชาวไทขึน แบ่งผีออกเป็น 2 ลักษณะ คือ

1) เสื้อวัดเสื้อบ้าน (ภาษาและสำเนียงไทขึนออกเสียงว่า เสี้ยววัดเสี้ยวบ้าน) ที่ทำหน้าที่คุ้มครองป้องกันสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ภายในวัดและภายในชุมชน รวมทั้งทำหน้าที่ปกป้องรักษาดูแลชาวบ้านและลูกหลานของคนในชุมชนให้ปลอดภัยจากภัยอันตรายต่าง ๆ และให้ประสบแต่ความเจริญ ชาวบ้านที่มากราบไหว้จึงมักนำธูปเทียนและเครื่องบูชาต่าง ๆ

มาทำพิธีทั้งเพื่อการบอกกล่าว การขออนุญาต การขอขมา และขอให้ประสบความสำเร็จในชีวิต หน้าที่การงาน รอดพ้นจากอันตรายหรือโรคร้าย

2) “ผีปู่ย่า” เป็นผีบรรพบุรุษในครอบครัว เป็นผีประจำตระกูล การนับถือผีปู่ย่ามีความสัมพันธ์กับการสืบเชื้อสายและการนับถือเครือญาติ โดยสืบทอดทางสายมารดา เป็นสิ่งที่เชื่อมความสัมพันธ์ในกลุ่มและช่วยในการแก้ไขปัญหาหรือยุติข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นใน
เครือญาติ เช่น การทะเลาะวิวาท การทำผิดจารีต (การผิดผี) หากไม่มาบอกกล่าว หรือขอขมา ครอบครัวก็จะประสบ ภัยอันตราย หรือ โรคร้าย

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรม

ชาวไทขึนมีประเพณี เทศกาล และพิธีกรรม ที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์และคลอดบุตร การแต่งงาน และการหย่าร้าง ความตาย และการทำศพ การสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์และบรรพบุรุษ และการรักษาโรค ดังรายละเอียด ต่อไปนี้

การตั้งครรภ์และคลอดบุตร

ในอดีตชาวไทขึนรุ่นแรกที่เข้ามาตั้งรกรากในประเทศไทย จะให้หมอตำแยเป็นผู้ทำคลอด มีการอยู่ไฟ มีข้อห้ามต่าง ๆ เช่นเดียวกันกับชาวไทยวน การเกิดใหม่ของสมาชิกในครอบครัวจะต้องมีการแจ้งบอกผีบรรพบุรุษของวงศ์ตระกูลเพื่อให้ช่วยปกป้องรักษาดูแลให้ปลอดภัย รวมถึงบางครอบครัวที่มี “ผีปู่ย่า” ซึ่งเป็นผีหรือวิญญาณของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วก็ต้องทำพิธีบอกกล่าวด้วยเช่นกัน

ปัจจุบัน ในการทำคลอดของชาวไทขึน ส่วนใหญ่จะมีการฝากครรภ์และทำคลอดที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือโรงพยาบาลที่ได้ฝากครรภ์ไว้ เป็นการคลอดด้วยการบริการทางการแพทย์สมัยใหม่ หลังจากกลับมาพักฟื้นที่บ้าน จะมีประเพณีการอยู่เดือนซึ่งมีข้อปฏิบัติหรือข้อห้ามที่เคร่งครัดเข้มงวดมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละครอบครัว ทั้งนี้ เนื่องจากบริบทสังคมเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะลักษณะครอบครัว เครือญาติ การศึกษา และการประกอบอาชีพ ส่งผลให้แต่ละครอบครัวมีพื้นฐานความเชื่อแตกต่างกันมากขึ้น ความเชื่อหรือข้อห้ามเกี่ยวกับการคลอดบุตรจึงมีความเข้มข้นลดน้อยลง

การแต่งงาน และการหย่าร้าง

ปัจจุบันลักษณะการแต่งงานของชาวไทขึนมีความคล้ายคลึงกับการแต่งงานตามสมัยนิยมในสังคมเมืองเชียงใหม่หรือล้านนา เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมดังได้กล่าวไปแล้วข้างต้น พิธีแต่งงานของชาวไทขึนแบ่งพิธีการออกเป็น 2 ช่วง คือ พิธีการช่วงกลางวัน และ พิธีการช่วงเย็นจนถึงกลางคืน

พิธีการช่วงกลางวัน มักจัดที่บ้านฝ่ายหญิง เนื่องจากชาวไทขึนมีความเชื่อเกี่ยวกับผีบ้านผีเรือน จึงให้มีการใส่ผี (ขอ,หมั้น) ซึ่งจำนวนเงินที่ฝ่ายชายจะต้องนำมาขอ คือ 8 หรือ 12 บาท จากนั้นญาติผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายจะทำการปรึกษาหารือเกี่ยวกับวันและเดือนที่เหมาะสมสำหรับการแต่งงาน เมื่อแต่งงานแล้วฝ่ายชายจะย้ายเข้าไปอยู่ในบ้านของฝ่ายหญิง เพื่อช่วยทำงานหรือช่วยเป็นแรงงานในการทำการเกษตร ในอดีตสังคมไทขึนจึงเน้นการอยู่อาศัยแบบครอบครัวขยาย ในการย้ายไปอยู่ในบ้านฝ่ายหญิงฝ่ายชายจะมีเพียงหีบที่ใส่เสื้อผ้าและทรัพย์สมบัติของตนเองติดตัวไปเท่านั้น

ก่อนจะเข้าไปอยู่บ้านฝ่ายหญิง ฝ่ายชายจะต้องขอเจ้าที่เจ้าทางและบอกกล่าวผีเรือน ซึ่งฝ่ายหญิงจะทำหน้าที่เตรียมเครื่องเรือนต่าง ๆ ไว้ และจะมีพิธีการข้าวขว้าง (การขว้างข้าว) ใส่ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง

พิธีการช่วงเย็นจนถึงกลางคืน จะมีการจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ โดยให้คนที่มีชื่อเป็นสิริมงคล เช่น มงคล เงิน หรือ ทอง ทำหน้าที่จูงเจ้าบ่าวและเจ้าสาวเข้าห้องหอและจัดที่นอนปูเตียงให้ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต เพื่อให้ทั้งสองอยู่ด้วยกันอย่างราบรื่นและยาวนาน หลังจากพิธีแต่งงานจะมีพิธีแอ่วหาบ (ฝ่ายชายจะพาฝ่ายหญิงไปทำความรู้จักกับญาติผู้ใหญ่ของทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง) ของที่อยู่ในหาบจะมีทั้งของกินและของใช้ทั่วไป ทั้งสองจะนำไปมอบให้แก่ญาติผู้ใหญ่ ขณะเดียวกันญาติผู้ใหญ่จะมอบเงินให้ทั้งบ่าวสาวเพื่อนำไปสร้างเนื้อสร้างตัวและแนะนำถึงวิธีการใช้ชีวิตร่วมกัน สำหรับพิธีการแต่งงานช่วงเย็นถึงกลางคืนจะเป็นการเฉลิมฉลองมงคลสมรสตามปกติทั่วไป

ความตาย และการทำศพ

เมื่อสมาชิกในชุมชนไทขึนเสียชีวิตหากเป็นการเสียชีวิตตามปกติจะทำพิธีศพตามธรรมเนียมโดยการตั้งศพไว้ที่บ้าน และการบำเพ็ญกุศล อาจกำหนด 3 วัน 5 วัน หรือ 7 วัน ขึ้นอยู่กับสถานภาพและฐานะของเจ้าภาพ จากนั้นจึงจะทำการเผาที่เมรุ ที่มีข้อปฏิบัติเกี่ยวกับการเว้นวันดี วันเสียหรือวันไม่ดีตามความเชื่อ เพื่อไม่ให้เกิดสิ่งอัปมงคลตามมา

ในกรณีที่เสียชีวิตผิดธรรมชาติ หรือ การตายโหง ซึ่งเป็นการเสียชีวิตแบบกะทันหัน จะไม่นำศพไว้ในบ้าน โดยจะนิมนต์พระสงฆ์ไปสวดถอนดวงวิญญาณ มีการกำหนดวันและเวลาในการจัดงานพิธีศพและวันเผา โดยเลือกวันดีเว้นวันเสียเช่นกัน ในช่วงก่อนวันที่จะนำศพไปเผา เรียกว่า “วันดา” ชาวบ้านจะช่วยกันเตรียมเครื่องใช้ สังฆทานต่าง ๆ ในวันที่จะนำศพไปเผาจะต้องนิมนต์พระสงฆ์จำนวน 8 รูปขึ้นไป เพื่อถอดถอนวิญญาณ มีมัคนายกเป็นผู้นำพิธีการ การเผาจะเผาในพื้นที่โล่งแจ้งแทนการเผาที่เมรุ หลังจากเผาแล้ว 2-3 วัน จึงจะมีการเก็บกระดูกที่ป่าช้า

การนำศพผู้เสียชีวิตแบบปกติและแบบผิดธรรมชาติ มัคนายกจะท่องบทสวดประจำตัว ซึ่งได้มาจากบรรพบุรุษตนเพื่อป้องกันตนเองจากวิญญาณผีปีศาจ สิ่งชั่วร้าย หลังจากทำพิธีเสร็จก่อนออกจากป่าช้าจะล้างมือด้วยน้ำขมิ้นส้มป่อยเพื่อเป็นการชำระล้างสิ่งไม่ดี

การสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์และบรรพบุรุษ

ชาวไทขึน เชื่อว่า ผีแต่ละประเภทของจะมีที่อยู่ที่พำนัก สิงสถิต หรือสถานที่ที่ใช้ในการติดต่อ เพื่อให้ชาวบ้านหรือสมาชิกในชุมชน ในครอบครัวเซ่นไหว้บูชา ชาวไทขึนถือว่าเป็นเสื้อบ้านและเสื้อวัดเนื่องจากมีหน้าที่ในการดูแลรักษาคนในหมู่บ้าน โดยเสื้อวัดเสื้อบ้านจะอยู่ติดกันบริเวณหน้าวัด ชาวบ้านจะทำพิธีเลี้ยงโดยการบูชาดอกไม้ธูปเทียน ถวายเครื่องดื่ม อาหารคาวหวานในโอกาสต่าง ๆ การทำพิธีส่วนใหญ่จะทำโดยผู้อาวุโสที่ได้รับการยอมรับนับถือจากคนในชุมชน

การเซ่นไหว้ผีปู่ย่า ที่มีทั้งลักษณะเป็นหอผี และหิ้งผี ในกรณีเป็นหอผี จะตั้งอยู่มุมใดมุมหนึ่งภายในบริเวณบ้าน หอผีจะมีลักษณะคล้ายหอเสื้อบ้าน ส่วนหิ้งผี จะอยู่ภายในตัวบ้าน มีลักษณะคล้ายหิ้งบูชาพระ อาจมีรูปหรือสิ่งของที่เป็นของบรรพบุรุษวางหรือตั้งไว้ หิ้งผีปู่ย่าจะติดตั้งให้สูงกว่าศีรษะเพราะถือเป็นของสูง และจัดทำไว้บนหัวนอนเจ้าบ้าน

โดยทั่วไปการเซ่นไหว้บูชาผีปู่ย่า บางครั้งอาจถูกเรียกว่า ผีเรือน หรือ ผีเฮือน เพราะช่วยให้ความคุ้มครองบ้านเรือนและลูกหลาน เครื่องเซ่นไหว้ประกอบด้วย ดอกไม้ธูปเทียน สำรับกับข้าวอาหารคาวหวานอย่างละเล็กละน้อย ส่วนในงานเทศกาลหรืองานบุญ ในกรณีที่เป็นงานสำคัญอาจมีการเลี้ยงหัวหมูหรืออาหารชุดใหญ่ที่ญาติพี่น้องในครอบครัวนำมารวมกัน เช่น ไก่ต้ม 1 ตัว ไข่ไก่ 1 ฟอง เหล้าขาว ข้าวเหนียว และผลไม้ การเลี้ยงผีปู่ย่าในบางครอบครัวที่เคร่งครัดจะจัดเลี้ยงเซ่นไหว้เป็นประจำทุกวัน เนื่องจากเชื่อว่าหากเลี้ยงไม่ดีเท่าที่ควร ผีปู่ย่าจะอดอยาก อาจจะทำโทษให้ครอบครัวเดือดร้อนหากปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอจะช่วยคุ้มครองและดลบันดาลให้เกิดโชคลาภ

การรักษาโรค

ชาวไทขึนมีพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการรักษาด้านจิตใจ หรือ การสู่ขวัญ เป็นประเพณีที่สำคัญที่ปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนานตั้งแต่บรรพบุรุษ เป็นประเพณีที่มีความเกี่ยวพันอย่างแน่นแฟ้นกับวิถี การดำรงชีวิตของผู้คนทุกเพศและทุกช่วงวัย นับตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย เป็นประเพณีที่สามารถกระทำได้ทุกโอกาส

การจัดสู่ขวัญ แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ 1) การสู่ขวัญเพื่อความเป็นมงคลแก่ชีวิต เช่น สู่ขวัญแต่งงาน สู่ขวัญบวชนาค สู่ขวัญขึ้นบ้านใหม่ สู่ขวัญคนป่วย เป็นต้น และ 2) การสู่ขวัญในโอกาสที่รอดพ้นจากอันตราย เป็นการทำพิธีโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขับไล่ความอัปมงคลเพื่อให้ความเป็นสิริมงคลเข้ามาแทนที่ เช่น การสู่ขวัญเนื่องในโอกาสที่หายจากการเจ็บป่วยหรือหลังจากประสบอุบัติเหตุ

ในการสู่ขวัญทั้ง 2 รูปแบบผู้สู่ขวัญจะต้องมีพานบายศรีเพื่อมาทำพิธีสู่ขวัญกับพ่อหมอ ผู้ที่ทำหน้าที่เรียกขวัญ โดยจะสวดคาถาใช้เวลาในการทำพิธีประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้นพ่อหมอจะผูกข้อมือและอวยพรให้ เป็นการเสร็จพิธี

กรด เหล็กสมบูรณ์. (2558). ชาติพันธุ์ไทเขินในประเทศไทย: การเคลื่อนย้าย การตั้งถิ่นฐาน วิถีชีวิต และเครือข่ายทางสังคม. รายงานการวิจัย. เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

กรด เหล็กสมบูรณ์. (2560). แผนที่ชุมชนชาติพันธุ์ไทในล้านนา: ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์. รายงานการวิจัย. เชียงใหม่: สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

กรด เหล็กสมบูรณ์. (2562). การศึกษาภูมิปัญญาการดูแลรักษาสุขภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ไทขึนในประเทศไทยสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว. สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

กันยายน 2563)

จิตติ เทพรัตน์. (2531). จากเจียงตุ๋งมาฮอดเจียงใหม่ บ้านไทเขิน วัดนันทาราม. (เอกสารอัดสำเนา). เชียงใหม่: มปท.

ชมรมคนฮักตั๋วเมือง. (2560). ไตเขิน. มติชนสุดสัปดาห์. ออนไลน์ เผยแพร่ 8 ธันวาคม 2560. (สืบค้น 11

ทวี สว่างปัญญางกูร. (2527). ตำนานเมืองเชียงตุง. เชียงใหม่ : ธรรมสถาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ทวี สว่างปัญญากูร. (2533). พงศาวดารเมืองเชียงตุง. หนังสือแจกเป็นบัตรพลีงานพระราชทางเพลิงศพ เจ้าแม่ทิพวรรณ ณ เชียงตุง. มปท.

ธีรภาพ โลหิตกุล. (2538). คนไทในอุษาคเนย์. กรุงเทพฯ : ผู้จัดการ.

บุญช่วย ศรีสวัสดิ์. (2545 [2506]). ชาวเขาในไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน.

เบญจวรรณ สุขวัฒน์. (2558). การปรับตัวของกลุ่มชาติพันธุ์ไทเขิน : การต่อรองเพื่อสิทธิการเป็นพลเมือง ทางวัฒนธรรม. วิทยานิพนธ์ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาไทศึกษา . มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

พระนันตา ฐานวโร และทวี สว่างปัญญากูร. (2530). ตำราเรียนภาษาไทใหญ่. เชียงใหม่: ชมรมศึกษาภาษาไท.

ระวิวรรณ โอฬารรัตน์มณี. (2557). รูปแบบบ้านเรือนของกลุ่มชาติพันธุ์ในอุษาคเนย์. พิมพ์ครั้งที่ 2. เชียงใหม่: สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

วิชุลดา มาตันบุญ ธิตินัดดา จินาจันทร์ กรด เหล็กสมบูรณ์ และสุวิภา จำปาวัลย์. (2556). ชาติพันธุ์ไทพื้นราบในล้านนา. เชียงใหม่: สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

วิถี พานิชพันธ์. (2548). วิถีล้านนา. กรุงเทพฯ: โอ เอส พริ้นติ้งเฮาส์.

วิถี พานิชพันธ์. (2556). ไทเขินแห่งเชียงตุง. พะเยา: โครงการจัดตั้งศูนย์ศิลปวัฒนธรรมล้านนา (ไต) มหาวิทยาลัยพะเยา.

สรัสวดี อ๋องสกุล. (2539). ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 2 สำนักพิมพ์อมริรทร์พริ้นติ้ง แอนพลับลิสชิ่ง จำกัด (มหาชน). กรุงเทพ

สรัสวดี อ๋องสกุล. (2552). ประวัติศาสตร์ล้านนา. (พิมพ์ครั้งที่ 6).กรุงเทพฯ: อัมรินทร์.

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่. (2553). วัฒนธรรมไทเขิน วัดสีมาราม. เชียงใหม่: เวียงบัว การพิมพ์.

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่. (2557). วิถีไท 8 ชุมชน. เชียงใหม่: สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่.

สำนักเรือนเดิมและชมรมปักขทืนล้านนา. (2552). ยุทฺธพิชยํ ตำราพิชัยสงครามฉบับล้านนา. เชียงใหม่: สิริลักษณ์การพิมพ์

เสมอชัย พูลสุวรรณ. (2552). รัฐฉาน (เมืองไต): พลวัติของชาติพันธุ์ในบริบทประวัติศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

อนาโตล โรเจอร์ เป็ลติเยร์. (2531). อลองเจ้าสามลอ: วรรณกรรมไทยเขิน. เชียงใหม่ : สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

อนาโตล โรเจอร์ เป็ลติเยร์. (2536). ภาษาและวรรณกรรมไทขึน. เอกสารประกอบการเสวนาไทศึกษา. เชียงใหม่ : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

อนาโตล โรเจอร์ เป็ลติเยร์. (2555). มาตลังกา. เชียงใหม่: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่.

อัครพงศ์ อั้นทอง. (2549). ความรู้ของแพทย์พื้นบ้านล้านนาและฐานข้อมูลแพทย์พื้นบ้านล้านนาของจังหวัดเชียงใหม่. เชียงใหม่: มิ่งเมือง.

อิสราภรณ์ พัฒนาวรรณ. (2552). การบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของชาวไทเขิน ในชุมชนวัดนันทาราม ตำบลหายยา อำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์ ศิลปะศาสตรมหาบัณฑิตสาขาภูมิภาคศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

อัจฉรา(บุญมี) ประพัฒน์ทอง. 2563. พลวัตร ประพัฒน์ทอง ผู้สัมภาษณ์


close
ลืมรหัสผ่าน?
กรุณากรอกอีเมลที่ท่านสมัครสมาชิกไว้เพื่อรับรหัสผ่านใหม่
ระบบจัดส่งการสร้างรหัสผ่านใหม่ให้ท่านทางอีเมลเรียบร้อยแล้ว
นโยบายความเป็นส่วนตัว