กลุ่มชาติพันธุ์ : ไทขึน

  • ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : ไทขึน
  • ชื่อเรียกตนเอง : ขึน, ไทขึน, ไทเขิน
  • ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ไทขึน, ไทเขิน
  • ภาษาที่ใช้พูดและเขียน : ตระกูลภาษาไต-กะได กลุ่มภาษา คํา-ไต กลุ่มภาษาย่อยไทพายัพ ชาวไทขึนใช้อักษรชนิดเดียวกันกับอักษรล้านนา (ตัวเมือง)
  • มิติทางประวัติศาสตร์ที่มีผลต่อการเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ :

              กลุ่มคนขึน ในเมืองเชียงใหม่หรือในล้านนา เรียกตนเองว่า ไทเขิน เท่านั้น ซึ่งเป็นข้อถกเถียงกันทางวิชาการว่า คำว่าไทเขินนี้มาจากไหน โดย วิถี พาณิชพันธ์ ได้กล่าวเป็นคนแรกว่า คำว่าเขินหรือไทเขินมาจากเครื่องเขิน ที่คนกรุงเทพเรียกภาชนะที่คนเชียงตุงที่อพยพมาอยู่เชียงใหม่ทำขาย แต่การศึกษาของอุษณีย์ ธงชัย กล่าวว่าไม่มีเอกสารหลักฐานที่กล่าวถึงคำว่าเครื่องเขินหรือคนเขินเลยในเอกสารช่วงรัชกาลที่ 5-6 การศึกษาในเอกสารของกลุ่มคนไทใหญ่ และไทขึน ทั้งหมดยังไม่พบคำว่า คนเขิน หรือไทเขิน ในเอกสารเก่า (ซึ่งเป็นข้อค้นพบในช่วงเวลานี้ซึ่งต้องค้นต่อไป) ข้อสันนิษฐานของการออกเสียงนั้น เป็นข้อเสนอของคนที่อาศัยในวัฒนธรรมไทใหญ่ ไทเขิน และล้านนา ว่า เขิน น่าจะมาจากการออกเสียงของคนเชียงใหม่ (ล้านนา) มากกว่าการเรียกที่มาจากการผลิตเครื่องใช้

    ชื่อเรียกตัวเอง 

              ขึน/ไทขึน/ไตเขิน เป็นคำที่ชาวขึนใช้เรียกตัวเอง ข้อสันนิษฐานที่ค่อนข้างเป็นที่ยอมรับของที่มาของชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ไทขึน คือมาจากชื่อของแม่น้ำขึน เป็นแม่น้ำสาขาที่ช่วยระบายน้ำจากหนองตุง โดยไหลย้อนไปทางทิศเหนือก่อนแล้วค่อยไหลลงทางทิศใต้ ขณะที่แม่น้ำสายอื่นๆ ใน เอเชียอาคเนย์แม่น้ำใหญ่ทุกสายจะไหลลงทางใต้  คำว่า ขึน ของแม่น้ำ ที่ "ขืน" หรือ "ฝืน" เส้นทางการไหลของน้ำจึงกลายมาเป็นชื่อที่ใช้เรียกกลุ่มคนที่อาศัยอยู่บริเวณดังกล่าวด้วย (เสมอชัย พูลสุวรรรณ 2552) 

    ชื่อที่คนอื่นเรียก 

              ไทเขิน เป็นคำที่คนไทยมักใช้เรียกกลุ่มนี้นั้น สาเหตุอาจมาจากการออกเสียง เมื่อชาวไทขึนพูดออกเสียงสำเนียงมาจะได้ยินเป็น "ไทขึ้น" หรือ "ไทเขิน" ตามสำเนียงภาษาไทยกลาง ประกอบกับอาชีพงานหัตถกรรมของชาวไทขึนอย่างหนึ่งเมื่ออพยพมาอยู่ในเมืองเชียงใหม่คือการทำเครื่องเขิน ทำให้มีการเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ไทขึนเป็น "ไทเขิน" ด้วย 

              อย่างไรก็ตามที่มาของชื่อคำว่า "ขึน" ยังมีการบอกเล่าที่แตกต่างออกไปบ้าง บ้างก็ว่ามาจากคำว่า "ขืน" หรือ "กลับคืน" เกิดจากในสมัยพญามังรายรบได้เมืองเชียงตุงแล้ว ได้ส่งไพร่พลจากเชียงแสนและเชียงรายขึ้นไปอยู่เชียงตุง ชาวเมืองทั้งสองไม่ชอบเมืองเชียงตุงจึงหนีกลับกันลงมา พญามังรายก็ส่งกลับขึ้นไปอีกแล้วก็หนีลงมาอีก ชาวเมืองจึงได้ชื่อว่า "ขืน" ที่หมายถึง "กลับคืน" (เสมอชัย พูลสุวรรณ, 2552) 

     

  • เอกสารอ้างอิง :

    เนื้อหาโดย  ดร.พลวัฒ ประพัฒน์ทอง  มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

    ปีงบประมาณ 2563  อัพโหลดข้อมูลเมื่อวันที่  29 กันยายน  2563 

    เอกสารอ้างอิง

    • กรด เหล็กสมบูรณ์. (2562). การศึกษาภูมิปัญญาการดูแลรักษาสุขภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ไทขึนในประเทศไทย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว. สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
    • จิตติ เทพรัตน์. (2531). จากเชียงตุงมุ่งสู่ไทยบ้านเขิน วัดนันทาราม ต.หายยา อ.เมืองเชียงใหม่. เอกสารโรเนียวเย็บเล่ม
    • เสมอชัย พูลสุวรรณ. (2552). รัฐฉาน(เมิงไต). กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
    • ทวี สว่างปัญญากูร. (2533). พงศาวดารเมืองเชียงตุง. หนังสือแจกเป็นบัตรพลีงานพระราชทางเพลิงศพเจ้าแม่ทิพวรรณ ณ เชียงตุง. มปท.
    • เบญจวรรณ  สุขวัฒน์. (2558). การปรับตัวของกลุ่มชาติพันธุ์ไทเขิน : การต่อรองเพื่อสิทธิการเป็นพลเมือง ทางวัฒนธรรม,วิทยานิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาไทศึกษา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
    • สรัสวดี อ๋องสกุล. (2539). ประวัติศาสตร์ล้านนา. (พิมพ์ครั้งที่ 2) กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์อมริรทร์พริ้นติ้ง แอนพลับลิสชิ่ง จำกัด (มหาชน)
    • อิสราภรณ์ พัฒนาวรรณ. (2552). กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของชาวไทเขิน ในชุมชนวัดนันทาราม ตำบลหายยา อำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิตสาขาภูมิภาคศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

    สัมภาษณ์

    • อัจฉรา (บุญมี) ประพัฒน์ทอง

ชุดข้อมูล : แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย

แสดง 1-1 จากทั้งหมด 1 รายการ
จังหวัดที่กระจายตัวตั้งถิ่นฐาน จำนวนครัวเรือน จำนวนประชากร
เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน20000
ที่มา:

สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ. (2547). แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ


  • บทนำ :

              กลุ่มชาติพันธุ์ไทขึนหรือไทเขิน ในประเทศไทยมีพื้นเพเดิมจากเมืองเชียงตุง รัฐฉาน ประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา โดยคำว่าไทขึนนั้นมาจากชื่อแม่น้ำขึน (ขืน) ที่หมายถึงแม่น้ำที่ไหลไปทางทิศเหนือฝืนจากธรรมชาติที่แม่น้ำส่วนใหญ่ไหลจากทิศเหนือลงทิศใต้ ชาวขึนกลุ่มแรกถูกกวาดต้อนมาตั้งรกรากในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2345-2347 โดยให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่แรกที่บริเวณประตูหายยา จังหวัดเชียงใหม่และกระจายตัวออกไปทั่วจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย และจังหวัดแพร่ และยังคงมีเชื้อสายที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ประตูหายยา หน้าวัดนันทาราม จังหวัดเชียงใหม่ อยู่จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2563)

              ความไกล้ชิดกับคนท้องถิ่น เกิดการถ่ายเท แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และได้กลืนกลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐจารีตล้านนา เป็นกลุ่มผลิตสินค้าหัตถกรรมที่เรียกว่า "เครื่องเขิน" และคำว่า "เขิน" นี้กลายเป็นชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่ง รวมถึงเครื่องเขินกลายเป็นสิ่งหนึ่งที่ใช้เป็นเครื่องมือในการรื้อฟื้นเพื่อสร้างตัวตนทางชาติพันธุ์ 

     

  • ประวัติ/ที่มาของกลุ่มชาติพันธุ์ไทขึน :

    การเกิดขึ้นของไทขึน

              ไทขึน เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีชื่อสอดคล้องกับภูมิทัศน์ของพื้นที่ตั้งถิ่นฐานชาติพันธุ์ คือ แม่น้ำขึน เป็นแม่น้ำที่ไหลขึ้นไปทางทิศเหนือ บรรจบกับแม่น้ำหลวยแล้วไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่สบหลวย การที่แม่น้ำไหลขึ้นไปทางทิศเหนือนั้น จึงเรียกว่า "ขึน" หรือ "ขืน"

              เชียงตุงในตำนานนั้นกล่าว่า ตุงคฤๅษี ได้ขาง (ขีด) น้ำออกจากพื้นที่เชียงตุงไปทางทิศเหนือ (ตรงบริเวณที่เรียกว่า หลัก 13) กลายเป็นช่องเขาที่แม่น้ำขึนไหลออก ทำให้กลายเป็นดินแดนกว้างขวางและเพาะปลูกได้ เหลือเพียงน้ำในหนองตุงเท่านั้นที่เป็นหนองน้ำกลางเมืองที่ไม่เคยแห้ง ดังนั้นภูมิทัศน์ของเชียงตุงคือพื้นที่แอ่งขนาดใหญ่ที่โอบล้อมด้วยเทือกเขาทุกด้านและมีน้ำไหลผ่ากลางเมืองทำให้สามารถมีการผลิตทางการเกษตรที่สร้างความมั่งคั่งให้กับเมืองได้

              การเปลี่ยนแปลงในพื้นที่จากกลุ่มชนดั้งเดิมที่เรียกว่า ลัวะ มาเป็นกลุ่มคนพูดภาษาตระกูลไท เปลี่ยนจากการผลิตบนพื้นที่สูงมาเป็นการผลิตนาแบบทดน้ำ คล้ายกับการสร้างเมืองเชียงใหม่ที่กลุ่มคนที่มีการผลิตในที่ราบลุ่มเข้ามาแทนที่กลุ่มคนดั้งเดิม จากการปริวรรตเรียบเรียงของทวี สว่างปัญญากูร ในหนังสือพงศาวดารเมืองเชียงตุง (2553 หน้า 33-34) กล่าวถึง เมื่อน้ำเต้าแตกออกมาเป็นลัวะสร้างบ้านเรื่อนอยู่ ปี พ.ศ. 1677 และต่อมามีกลุ่มคนเข้ามาครอบครองพื้นที่ที่เรียกว่าเชียงตุง โดยเมื่อ ปี พ.ศ. 1772  โดยกล่าวว่าพระญามังรายตามกวางทองมาถึงเมืองเชียงตุง จึงให้ขุนคงและขุนลังมารบกับพวกลัวะแต่เอาชนะพวกลัวะไม่ได้ (พ.ศ. 1773) ต่อมาในปี พ.ศ. 1786 พระญามังรายให้มังคุม มารบชนะและกินเมืองเชียงตุง เมื่อมังคุมตาย จึงให้มังเคียน กินเมืองแทน เมื่อมังเคียนตาย พญามังรายจึงให้ลูกของตนชื่อ เจ้าน้ำท่วม มากินเมืองเมื่อปี พ.ศ. 1796  เจ้าน้ำน่าน ปี พ.ศ. 1807  เจ้าสามหมื่นห้วย ปี พ.ศ. 1860 เจ้าอ้ายลก ปี พ.ศ. 1867 เจ้าใสน่าน  ปี พ.ศ. 1885 ตามลำดับ แต่หลังจากเจ้าใสน่านแล้ว เมืองเชียงตุงก็เป็นเมืองร้าง 

              ต่อมาในหลักฐานพงศาวดารเมืองเชียงตุงซึ่งได้บันทึกไว้ว่าในสมัยพระเจ้าผายู ได้ส่งโอรสชื่อเจ้าเจ็ดพันตู ไปปกครองเมืองเชียงตุงหลังจากเป็นเมืองร้าง โดยเชื่อว่าต้องถวายเมืองให้กับพระสงฆ์ก่อนจึงจะแก้เคล็ดได้ จึงมีพระสงฆ์ไปด้วยโดยกระทำตั้งแต่สมัยเจ้าน้าท่วมเป็นต้นมา (ทวี สว่างปัญญากูร,2533: 33) ในครั้งพระเจ้าเจ็ดพันตูได้นิมนต์พระมหาหงสาวดี พระมหาสิริปุญญะ พระเถรนันทะ และพระเถรพุทธโฆษะ ไปด้วยโดยการจัดพิธีถวายเมืองเชียงตุงแด่พระสงฆ์นั้นจัดที่วัดลีเชียงพระ (วัดพระสิงห์) โดยที่เมืองเชียงตุงเจ้าเจ็ดพันตูได้สร้างวัดขึ้น 4 วัด เป็นที่จำพรรษาแก่หัวหน้าคณะทั้ง 4 รูปได้แก่ วัดพระแก้ว วัดหัวข่วง วัดฟ้าก้าง และวัดจอมทอง (เสมอชัย พูลสุวรรณ ,2552, หน้า 89)

              จากนั้นเมืองเชียงตุงก็มีเจ้าเมืองเชื้อสายพญามังรายสืบเนื่องมาโดยตลอด จนมาถึงปี พ.ศ. 2345 พงศาวดารเมืองเชียงตุง (ทวี สว่างปัญญากูร, 2533 หน้า 60) กล่าวว่า สมัยเจ้ากองไตย เมื่อกินเมืองมีชื่อว่า "เจ้าสารกยะ ภูมินท นริทา เขมาธิบติราชา" มีชาวเชียงใหม่ยกกำลังขึ้นมาตีเมืองเชียงตุงได้ตัวเจ้ากองไตยพร้อมทั้งไพร่ฟ้าข้าเมืองนำลงไปสู่เชียงใหม่สอดคล้องกับ สรัวดี อ๋องสกุล (2539 หน้า 266) ที่ว่าเจ้ากาวิละได้ยกกำลังไปตีเมืองเชียงตุงสำเร็จและกวดต้นผู้คนมาตั้งถิ่นฐานที่เมืองเชียงใหม่นอกเขตกำแพงเมืองบริเวณประตูหายยาซึ่งได้จัดแบ่งตามระบบความสัมพันธ์ และกลุ่มช่างฝีมือ (สรัสวดี อ๋องสกุล, 2539, หน้า 270) ดังนั้นจึงเป็นการเริ่มต้นกลุ่มชาติพันธุ์ไทขึนในล้านนาและต่อมากลายเป็นส่วนหนึ่งของสยามและเป็นประเทศไทยในปัจจุบัน

              จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ไทขึนนั้นเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่แตกต่างจากกลุ่มอื่นๆ แต่ก็มีงานบางชิ้นที่กล่าวว่า ไทขึนเป็นไทลื้อกลุ่มหนึ่ง ซึ่งก็ยังเป็นประเด็นที่ต้องศึกษาต่อไป

    การตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย

              เมื่อเจ้ากองไตยได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานที่เมืองเชียงใหม่พร้อมพี่น้อง จุดเริ่มต้นของการกระจายตัวชาวไทขึน ที่อพยพมาจากเชียงตุงนั้นคือบริเวณประตูหายยา ในบริเวณหน้าวัดนันทาราม ซึ่งได้ตั้งคุ้มเจ้าอยู่สองคุ้มคือ บริเวณหน้าวัด (ปัจจุบันคือโรงน้ำแข็ง) เรียกว่าคุ้มใต้ เป็นที่ตั้งคุ้มของเจ้าแสนเมือง และบริเวณตอนเหนือของคุ้มใต้เรียกว่า คุ้มเหนือ เป็นคุ้มเจ้านางคำแดง และต่อมาเจ้าต่างๆ ที่อพยพเข้ามาก็ได้กระจายตัวออกไปยังพื้นที่ต่างๆ ในล้านนา คือ เมืองสารทหลวงเมืองสารทน้อย, บ้านเมืองกาย, บ้านเชียงขาง อำเภอสารภี, เชียงแสน, บ้านเมืองมาง, บ้านธาตุคำ, บ้านหมื่นสาร, บ้านสุพรรณ, ตำบลป่าบอง อำเภอดอยสะเก็ด เป็นต้น

              แต่เจ้ามหาขนาน (เจ้าดวงแสง) ซึ่งเดิมเป็นเจ้าเมืองเชียงขาง ไม่ยอมอพยพเข้ามายังเมืองเชียงใหม่และได้กลับไปยอมรับอำนาจพม่าและได้แต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองเชียงตุงต่อไป โดยที่พงศาวดารเมืองเชียงตุงที่แปลเรียบเรียงโดย ทวี สว่างปัญญากูร (2533 หน้า 60-61) ได้กล่าวไว้  ดังนี้

              ที่ยังตกค้างอยู่เชียงตุงเจ้าดวงแสง น้องเจ้ากองไตยได้หนีไปอยู่ บริเวณที่เรียกว่า ข้า 11 บ้าน - 15 บ้าน ต่อมาได้รวบรวมผู้คนที่เมืองหลวย เมืองยาง และรวมตัวต่อต้านพม่าจนไปตั้งมั่นที่เชียงแสน และทราบว่าทางเจ้าเมืองเชียงใหม่จะนำตัวเจ้ามหาขนานไปอยู่ที่เชียงใหม่จึงได้รวบรวมผู้คนกลับไปยอมรับอำนาจกษัตริย์อังวะ และได้แต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองเชียงตุงต่อไป

              ส่วนเจ้ากองไตยนั้นเมื่ออพยพเข้ามาแล้วพบว่าไม่ได้ครองเมือง จึงขอไปอยู่ที่เชียงแสนพร้อมกับผู้คนอีกจำนวนหนึ่ง และได้ทิ้งกลุ่มลูกหลานบางส่วนไว้ที่คุ้มเหนือคุ้มใต้ หน้าวัดนันทาราม การไปตั้งถิ่นฐานที่เชียงแสนก็เพื่อที่จะกลับไปเชียงตุง แต่ก็ไม่สำเร็จเพราะว่าทางพม่าได้แต่งตั้งเจ้ามหาขนานเป็นเจ้าครองเมืองเชียงตุงแล้ว ดังนั้นกลุ่มเจ้ากองไตยยังคงค้างและตั้งถิ่นฐานบริเวณเชียงแสน

              พี่น้องเจ้ากองไตยที่อพยพมาด้วยกันมี เจ้าเมืองเหล็ก ได้อพยพไปตั้งถิ่นฐานที่ลำพูน มีสายตระกูลคือ เหล็กสมบูรณ์ ตุงคนาคร ในส่วนเจ้ามหาพรม ก็ได้เริ่มตั้งถิ่นฐานที่หน้าวัดนันทารามและต่อมาได้ย้ายไปตั้งบ้านเรือนที่หน้าวัดเจดีย์หลวง ต่อมาลูกหลานได้ย้ายไปตั้งบ้านเรือนที่บ้านเด่น ตำบลวัดเกตุ อำเภอเมืองเชียงใหม่ และ ที่บ้านสันทรายมหาวงค์ อำเภอสารภี ส่วนน้องเจ้ากองไตยที่เป็นเจ้านางชื่อเจ้านางคำแดงนั้น ไม่ได้อพยพย้ายไปไหนยังคงอาศัยที่คุ้มเหนือ หน้าวัดนันทาราม จุดที่ตั้งคุ้มนั้นปัจจุบันคือตั้งแต่บริเวณบ้านลูกหลานที่ชื่อนางบุญเรียบ สุริยวงษ์ มาจนถึงบ้าน นายศิลป์ เทพรัตน์ ซึ่งทุกวันนี้เชื้อสายของเจ้านางคำแดงก็ยังอาศัยอยู่บริเวณนี้เช่นเดิม  

              ในปัจจุบันนี้นอกจากพื้นที่ดังกล่าวแล้วชาวไทขึน ยังกระจายตัวไปอีกหลายหมู่บ้าน ปะปนกับกลุ่มคนล้านนา จนไม่สามารถแยกออกจากกันได้ นอกจากการสืบสาวจากนามสกุลและประวัติครอบครัวเท่านั้น การเข้ามาของคนเชียงตุงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น เป็นกลุ่มไทขึน อีกกลุ่มที่มีความแตกต่างจากกกลุ่มที่อพยพครั้งใหญ่ครั้งแรก แต่สามารถเชื่อมโยงได้จากภาษา ตัวอักษร และพระสงฆ์เชียงตุงที่เข้ามาศึกษาในประเทศไทย       

      

  • วิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ไทขึน :

    อัตลักษณ์ชาติพันธุ์

              ชาติพันธุ์ไทขึนในพื้นที่ประเทศไทยดำรงอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ผ่านการเชื่อมโยงกลุ่มต่าง ๆ เข้าด้วยกันและรับรู้ได้ว่าตนเองแตกต่างจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ในหลายด้าน ได้แก่

              1. "ชื่อชาติพันธุ์ ไทขึน (ไทเขิน)" ที่สามารถเชื่อมกับกลุ่มเดียวกันในพื้นที่อื่น ๆ ได้ การรู้ว่าตนเองเป็นไทขึนนั้นเนื่องด้วยการสืบสาวประวัติศาสตร์แต่ละครอบครัว  ในขณะที่กลุ่มชาติพันธุ์ไทขึนในประเทศไทยนั้นไม่ได้มีประวัติศาสตณ์เป็นหนึ่งเดียวที่จะต้องระลึกหรือหวนให้หามาตุภูมิอย่างเช่นกลุ่มชาติพันธุ์อื่น 

              2. "พญามังราย" วีรบุรุษของชาติพันธุ์ สำหรับไทขึนที่สามารถสืบสาแหรกทางชาติพันธุ์ไปจนถึงกลุ่มเจ้าเชียงตุงที่อพยพมาในช่วง พ.ศ. 2345 ก็มีความเชื่อมโยงการสืบสายตระกูลไปจนถึงพญามังรายที่เป็นวีรบุรุษทางชาติพันธุ์ แต่สำหรับกลุ่มคนไทขึนอื่น ๆ นั้นพญามังรายก็เป็นวีรบุรุษในประวัติศาสตร์ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้ก็ยังเชื่อมโยงพญามังรายเข้าไว้ด้วยกัน จากการสำรวจในพื้นที่เชียงตุง รัฐฉาน ประเทศสหภาพเมียนมา เราจะไม่พบเรื่องเล่าและการนับถือพญามังรายในฐานะวีรบุรุษชาติพันธุ์เลย

              3. "หัตถกรรมเครื่องเขิน" ชาติพันธุ์ไทขึนเป็นกรณีที่ชื่อชาติพันธุ์ถูกนำไปผนวกกับสินค้าจากนโยบายรัฐที่ส่งเสริมหัตถกรรมในช่วงทศวรรษที่ 2500

              4. "อัตลักษณ์ที่ถูกรื้อฟื้นขึ้นด้วยอุตสาหกรรมวัฒนธรรม" การสร้างวรรณกรรมที่ใช้ฉากและตัวละครเป็นกลุ่มคนไทขึนสร้างจินตนาการถึงความเป็นชาติพันธุ์ไทขึนให้กับคนทั่วไปและยังย้อนกลับไปยังกลุ่มคนไทขึนที่สืบเชื้อสายในประเทศไทยและขณะนี้ละครที่เกี่ยวข้องกับไทขึน ได้กลับไปสร้างการรื้อฟื้นอัตลักษณ์ที่ต้นทางคือเมืองเชียงตุงอีกทางหนึ่งโดยอุตสาหกรรมวัฒนธรรม มีได้แก่ บ่วงบรรจถรณ์ รอยไหม รากนครา เป็นต้น นอกเหนือจากจินตนาการทางชาติพันธุ์แล้วอุตสาหกรรมวัฒนธรรมยังสร้างการรื้อฟื้น และประดิษฐ์สร้าง เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ประเพณีพิธีกรรมของชาติพันธุ์ไทขึนขึ้นมาอีกด้วย

     

    ศิลปะ/งานศิลปกรรมสำคัญ 

    เครื่องเขิน อัตลักษณ์ปัจจุบันที่ผูกติดกับงานหัตถกรรม

              เครื่องเขิน เป็นงานหัตถกรรม ที่สำคัญเชื่อมโยงกับความเป็นชาติพันธุ์มากที่สุด การทำเครื่องเขินนั้นมีสองลักษณะคือแบบขูดลาย และแบบเสริมลาย แต่สำหรับพื้นที่ชุมชนวัดนันทารามนั้นเป็นการการสืบทอดการทำเครื่องเขินแบบขูดลาย ซึ่งขณะนี้การทำแบบนี้ลดน้อยลงและกลายเป็นลักษณะเฉพาะของไทขึนวัดนันทาราม

    กำเนิดเครื่องเขินในประเทศไทย

              คัวรัก คัวหาง หรือเครื่องลงรัก มีมาอย่างยาวนานในประเทศไทยเรียกว่า เครื่องลงรัก ที่ประเทศจีนมีมากว่าพันปี การค้าเครื่องลงรักมีพบจากแหล่งเรือจม ที่เป็นการค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่นมาตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่สำหรับค่าเครื่องเขินนั้น ผูกติดกับความเป็นชาติพันธุ์ไทขึนอย่างชัดเจน เมื่อกล่าวถึงเครื่องเขินคือคัวรักคัวหาง ชนิดหนึ่ง นั้นจะเริ่มต้นที่ชุมชนวัดนันทารามที่เป็นกลุ่มชาวเชียงตุงที่เคลื่อนย้ายถิ่นมาตั้งบ้านเรือนที่เมืองเชียงใหม่ กลุ่มคนเหล่านี้มีผู้นำคือเจ้าเชียงตุงและบริวารเข้ามาในยุคที่เรียกว่า "เก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมือง" หรือยุคฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่จากพม่ามาเป็นสยาม

              การทำเครื่องเขินเพื่อใช้งานของกลุ่มช่างจากเชียงตุงที่ติดตามเจ้าเชียงตุงมาอยู่ที่บริเวณหน้าวัดนันทาราม ได้สืบทอดการทำเครื่องเขินมาตลอดเพื่อการใช้งานในชีวิตประจำวัน ใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาและซื้อขายแลกเปลี่ยน ต่อมาก่อนสงความโลกครั้งที่ 2 เล็กน้อย รัฐบาลมีนโยบายเรื่องการส่งเสริมหัตถกรรม ได้ส่งข้าราชการมาในภาคเหนือเพื่อให้การผลิตหัตถกรรมเป็นอาชีพ การทำเครื่องเขินก็เป็นหัตถกรรมหนึ่งที่ได้รับการส่งเสริมในกลุ่มช่างจากชุมชนวัดนันทาราม ต่อมามีการผลิตและส่งขายให้กับร้านวิชัยกุล ที่ถนนวัวลายเพื่อจัดจำหน่าย ซึ่งทำให้ร้านวิชัยกุลเป็นหน้าร้านของกลุ่มช่างเครื่องเขิน ต่อในปี พ.ศ. 2490 ได้มีชาวอเมริกันนำเอาเครื่องเขินไปเผยแพร่โฆษณาจนเป็นที่นิยม ซึ่งร้านวิชัยกุลพบว่าการทำเครื่องเขินเป็นที่ต้องการของตลาดจึงได้ทำต่อมาจนถึงปัจจุบัน

              การทำเครื่องเขินมีทั้งยุครุ่งเรืองและยุคถดถอยจากงานของอิสราภรณ์ (2558 หน้า 135-136) ดังนี้

              พ.ศ. 2463 ซึ่งเป็นเวลาที่ภาชนะเคลือบโลหะจากต่างประเทศได้เข้ามามีบทบาทใช้สอยในครัวเรือนมากขึ้นจึงหยุดทําเครื่องเขิน จนกระทั่งงานเครื่องเขินกลับมาเป็นที่นิยมของเจ้านายและผู้สูงอายุทำให้ชุมชนกลับมาทำเครื่องเขินอีกครั้ง

              สงครามเอเชียบูรพา (พ.ศ.2483-2488) ชุมชนนันทารามได้ลดการผลิตการทําเครื่องเขินไปประกอบอาชีพอื่น ๆ ต่อมาจึงกลับมาทำอีกครั้งเพราะว่ามีคนนำยางรักมาขายจึงคิดว่าน่าจะทำเครื่องเขินจากทักษะเดิมอีกครั้ง จนถึงปี พ.ศ. 2490

              หลังจากปี พ.ศ.2490 ชาวอเมริกันที่เห็นคุณภาพของเครื่องเขินได้นําไปเผยแพร่โฆษณาและหาตลาดให้จนเป็นที่รู้จักของชาวไทยและชาวต่างประเทศ ขณะเดียวกันครอบครัววิชัยกุล ก็ได้นําสินค้าเครื่องเขินไปแสดงตามงานต่าง ๆ ทั้งในจังหวัดเชียงใหม่และที่อื่น ๆ เครื่องเขินจึงได้รับการรื้อฟื้นขึ้นอีกครั้ง    

              พ.ศ. 2495 ในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนที่กรุงเทพฯ เครื่องเขินวิชัยกุลได้รับประกาศนียบัตรเป็นครั้งแรก

              พ.ศ. 2500 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ให้การสนับสนุนงานผลิตเครื่องเขินแก่วิชัยกุล โดยให้ซื้อเชื่อสินค้าเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตจากร้านไทยอุตสาหกรรมเชียงใหม่

              หลังปี 2500 เครื่องเขินจึงเป็นสินค้าหัตถกรรมที่ได้รับความนิยม แต่ด้วยการพัฒนาเปลี่ยนแปลงครอบครัวของกลุ่มไทขึนได้ไปประกอบอาชีพอื่น ๆ เนื่องด้วยการศึกษาที่สูงขึ้นและการอพยพย้ายถิ่นของคนรุ่นใหม่ การทำเครื่องเขินจึงได้กระจายตัวออกจากกลุ่มไทขึนไปสู่กลุ่มคนอื่น ๆ เช่นปัจจุบัน

              ชื่อชาติพันธุ์ไทขึนจึงผูกติดกับหัตถกรรมเครื่องเขิน สำหรับประเทศไทย คนไทขึนนั้นถูกเรียกหรือบางทีก็เรียกตัวเองว่าไทยเขิน การถูกเรียกว่าไทเขินนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอาชีพการทำเครื่องเขินหรือทางล้านนาเรียกว่า คัวฮัก คัวหาง(Lacquer ware) โดย คัว,ครัว หมายถึง (ถิ่น-เหนือ) ของ, เครื่องใช้ ฮัก คือ รัก หมายถึง ต้นไม้ที่ยาง มีชื่อวิทยาศาสตร์: Gluta usitata, อังกฤษ: Burmese lacquer เป็นพืชในวงศ์มะม่วง มีถิ่นกำเนิดในภูมิภาคอินโดจีนและนำมาทำเครื่องใช้ ยางรักมีชื่อสามัญว่า Lacquer varnish เป็นน้ำยางที่ได้จากต้นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ขึ้นอยู่เป็นหมู่ ๆ ทั่วไปตามป่าเบญจพรรณ ที่ค่อนข้างแห้งแล้งและป่าแดงทางภาคเหนือ ภาคอีสานและภาคใต้ตอนบน หาง หมายถึง สีแดง หรือ เรียกว่า ชาด คือแร่ซินนาบาร์ (Cinnabar) เป็นแร่ในตระกูลปรอทมักพบตามถิ่นภูเขาไฟหรือบ่อน้ำร้อน มีลักษณะเป็นผลึกแข็งสีแดงมักพบร่วมกับหินปูน จำต้องนำมาหุงจึงจะได้ผงสีแดงที่มีสีแดงมีราคาสูง ในวัฒนธรรมไทยและล้านนา สีแดงจึงเป็นสีที่ใช้สำหรับกษัตริย์และคนชั้นสูงเท่านั้น ส่วนเครื่องเขิน นั้น คนพม่าเรียก โยนเท่ (yun hte)  (โยน=คนล้านนา)

              คัวฮัก คัวหาง : วัฒนธรรมร่วมในเอเชีย

              คัวฮัก คัวหาง (ครัวรักครัวหาง) หรือเครื่องเขิน เป็น เทคโนโลยีพื้นบ้านที่สำคัญในการแปรรูปไม้ไผ่ หรือไม้อื่น ๆ ให้เป็นภาชนะ ที่มีน้ำหนักเบาสามารถทดแทนภาชานะที่เป็น โลหะ หรือ เครื่องปั้นดินเผาได้ รวมถึงการทางเครือบวัสดุต่าง ๆ ให้มีความคงทน หรือเคลือบเพื่อแปรรูปตกแต่งวัสดุโดยเฉพาะไม้  นับว่าครัวรักครัวหางหรือเครื่องเขิน  เป็นพัฒนาการที่สำคัญของวัฒนธรรมไม้ไผ่ ในเอเชีย คัวฮัก คัวหาง หรือเครื่องเขิน มีถิ่นกำเนิดจากที่ไหน ยังไม่แน่ชัด สำหรับในวันนี้ขอตอบว่าเป็นวัฒนธรรมร่วมในเอเชีย เพียงแต่ว่า รูปแบบแตกต่างกัน

              เครื่องเขิน

              ความลับของคำว่า "เขิน"

              ในทางชาติพันธุ์คนเขิน หรือ คนขึน เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่อยู่เชียงตุง ซึ่งมีจิตสำนึกทางชาติพันธุ์เฉพาะกลุ่มที่รู้ว่าตนเองแตกต่างจากกลุ่มคนพูดภาษาตระกูลไทอื่น ๆอย่างไร การเรียกชื่อกลุ่มคนที่มาจากเชียงตุงว่า คนเขิน นั้นยังหาข้อสรุปที่แน่ชัดว่า กลุ่มคนเหล่านี้ถูกเรียกว่า "คนเขิน" หรือ "ไทเขิน" เมื่อใด ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้เรียกตัวเองและถูกกลุ่มชาติพันธุ์ที่สัมพันธ์กันมาอย่างยาวนานเรียกว่า "คนขึน" หรือ "ไทขึน" ซึ่งหมายถึงคนจากลุ่มแม่น้ำขึน ในเชียงตุงซึ่งแม่น้ำนี้มีลักษณะเด่นคือ เป็นแม่น้ำที่ไหลขึ้นทางทิศเหนือ คือฝืนธรรมชาติที่ไหลลงทางใต้

              กลุ่มคนขึน ในเมืองเชียงใหม่หรือในล้านนา เรียกตนเองว่า ไทเขิน เท่านั้น ซึ่งเป็นข้อถกเถียงกันทางวิชาการว่า คำว่า ไทเขิน นี้มาจากไหน โดย วิถี พาณิชพันธ์ ได้กล่าวเป็นคนแรกว่า คำว่า เขิน หรือ ไทเขิน มาจากเครื่องเขินที่คนกรุงเทพเรียกภาชนะที่คนเชียงตุงที่อพยพมาอยู่เชียงใหม่ทำขาย แต่การศึกษาของอุษณีย์ กล่าวว่าไม่มีเอกสารหลักฐานที่กล่าวถึงคำว่าเครื่องเขินหรือคนเขินเลยในเอกสารช่วงรัชกาลที่ 5-6

              การศึกษาในเอกสารของกลุ่มคนไทใหญ่และไทขึน ทั้งหมดยังไม่พบคำว่า คนเขิน หรือไทเขิน ในเอกสารเก่า (ซึ่งเป็นข้อค้นพบในช่วงเวลานี้ซึ่งต้องค้นต่อไป) ข้อสันนิษฐานของการออกเสียงนั้น เป็นข้อเสนอของคนที่อาศัยในวัฒนธรรมไทใหญ่ ไทเขิน และล้านนาว่า เขิน น่าจะมาจากการออกเสียงของคนเชียงใหม่ (ล้านนา) มากกว่าการเรียกที่มาจากการผลิตเครื่องใช้

     

    ภาพเครื่องเขินยุคสุดท้ายที่ทำขึ้นในชุมชนวัดนันทาราม
    ที่ทายาทผู้สืบทอดจากเจ้าเชียงตุงได้ทำขึ้นก่อนเลิกการทำหัตถกรรมนี้ในช่วงทศวรรษที่ 2520 
    สะสมอยู่ที่โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
    ที่มา : โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง 2562

     

    ​เครื่องเขินแบบลายขูด (ฮายลาย)
    เป็นลักษณะเฉพาะที่ทำขึ้นในพื้นที่ชุมชนวัดนันทาราม
    สะสมอยู่ที่โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
    ที่มา : โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง 2562

  • การสืบผีและมรดกของกลุ่มชาติพันธุ์ไทขึน :

              ยังมีการสืบสายผีประจำตระกูลอยู่ในพื้นที่ตั้งถิ่นฐานดั้งเดิมบริเวณหน้าวัดนันทาราม จังหวัดเชียงใหม่ โดยการสืบสายผีทางฝ่ายผู้หญิงจะทำการไหว้ผีปีละครั้งในช่วงวันสงกรานต์ (ปีใหม่) และอาจมีการไหว้ผีตามวาระต่าง ๆ ตามที่กลุ่มครอบครัวเห็นตรงกัน ในปี พ.ศ. 2562 เดือนมิถุนายน ได้มีการทำพิธีไหว้ผีบรรพบุรุษครั้งใหญ่อีกครั้ง

     

    ศาลผีประจำตระกูล (เจ้าปู่เจ้าย่า) ก่อนบูรณะจะพบว่าไม่มีพระพุทธรูป

    มีแต่รูป เจ้าตั๋น หรือท่านพระครูสารภังค์ และเจ้านางที่เป็นเครือญาติฝ่ายหญิง

    ที่มา : รัมภา เทพรัตน์ 2562

     

    ศาลผีประจำตระกูล (เจ้าปู่เจ้าย่า)

    ตั้งอยู่กลางกลุ่มบ้านเรือนคนเชื้อสายไทขึน ที่ชุมชนหน้าวัดนันทาราม

    ที่มา:  รัมภา เทพรัตน์ 2562

     

    ศาลตายาย ที่อยู่ทางทิศตะวันตกของกลุ่มบ้าน

    ที่มา:  รัมภา เทพรัตน์ 2562

     

  • การแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์ไทขึน :

              การแต่งกายตามอัตลักษณ์ชาติพันธุ์องค์ประกอบและความหมาย งานของอิราภรณ์ ได้อ้าอิงงานของ บ.บุญค้ำ ว่าการแต่งกายของชาวไทขึน เป็นลักษณะเด่นที่แตกต่างจากชาวไทยยวน  โดยผู้ชายจะนิยมนุ่งกางเกงขากว้าง สวมเสื้อแขนสั้นตัวยาวแบบพม่า โพกศีรษะด้วยผ้าทิ้งชายตั้งขึ้นบน ส่วนผู้หญิงนิยมแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีฉูดฉาดสวยงาม โดยจะสวมเสื้อแขนกระบอกเป็นเสื้อ เข้ารูปพอดีตัว คอป้ายที่เรียกว่า "เสื้อปั๊ด" หรือ "เสื้อป้าย" นุ่งผ้าถุงยาวกรอมเท้ามีการรื้อฟื้นการแต่งกายตามอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ไทขึนขึ้นมาใหม่ราว 30 ปีที่ผ่านมา (เริ่มที่ต้นทศวรรษที่ 2520) โดยการนำภาพเก่าของยุคเจ้าฟ้าในช่วงอาณานิคมของอังกฤษ มาตัดเย็บใหม่รวมถึงมีการจัดเก็บเครื่องแต่งกายของเก่า โดยผ้าซิ่นของไทขึนที่มีชื่อเสียงคือซิ่นไหมคำ และซิ่นลายบัวคว่ำบัวหงาย

     

  • บ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ไทขึน :

              ในหนังสือ จากเชียงตุงมุ่งสู่ไทยบ้านเขิน วัดนันทาราม ต.หายยา อ.เมืองเชียงใหม่  มีคำอธิบายพื้นที่ตั้งถิ่นฐานเดิม ที่เรียกว่าคุ้ม มีรูปลักษณะ ดังนี้

              เนื้อที่ตัวคุ้มมีประมาณ 2-3 ไร่ ตัวคุ้มเป็นเรือนไม้หลังใหญ่ หลังคาแฝดมีชานหน้าบ้านกว้างขวาง มีบันไดลงตรงกลาง ต่อจากชานบ้าน ตัวเรือนหันหน้าไปทางทิศเหนือ หน้าคุ้มจะมียุ้งข้าวใหญ่มาก มีถนนผ่านหน้าคุ้มเป็นถนนกว้าง มีบริเวณที่เป็นโรงช้าง (ปัจจุบันเป็นบ้านของครอบครัวนางแก้วดี อุดมพันธุ์) คุ้มนี้เมือเจ้านางศรีแก้วเจ้านางคำแดงสิ้นแล้ว ก็ตกทอดมายังเจ้านางก๋องแก้ว ซึ่งเป็นธิดา  และมาถึงเจ้านางเต่าผู้เป็นลูกเจ้านางก๋องแก้ว เมื่อเจ้านางเต่าและสามีถึงแก่กรรม คุ้มนี้จึงตกทอดมายังลูกสาว 4 คน เจ้าแม่กาบแก้ว เทพรัตน์ เจ้าแม่เกี๋งคำ บุญเฉลียว เจ้าแม่บัวชุม อุดมพันธุ์ เจ้าแม่บัวเลื่อน สุริยวงศ์ โดยมีเจ้าลุงที่เป็นชาย คือ เจ้าตั๋น หรือท่านพระครูสารภังค์ ซึ่งบวชและตำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดนันทาราม และได้แบ่งพื้นที่คุ้มออกเป็น 5 ส่วน คือหลานทั้ง 4 และส่วนสุดท้ายให้เจ้าน้อยดวงคำ เหล็กสมบูรณ์ ยังมีที่นาที่บ้านป่าแกโยง ต.หนองผึ้ง อ.สารภี และที่นาที่บ้าน หนองช้างคืน อีก ต่อมาเจ้าดวงคำได้แลกที่กับเจ้าแม่กาบแก้วโดยเจ้าดวงคำจะไปอยู่ที่หนองช้างคืน เพราะไปอาศัยมานานแล้ว

     

  • ศาสนาและความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ไทขึน :

              ชาติพันธุ์ไทขึนในประเทศไทยนับถือศาสนาพุทธเป็นส่วนใหญ่บางส่วนนับถือศาสนาคริสต์ ในกรณีของกลุ่มไทขึนที่ชุมชนวัดนันทารามนั้น มีบางครอบครัวที่แต่งงานกับคนจีนยูนนานมุสลิมก็ไปนับถือศาสนาอิสลาม แต่บางครอบครัวที่แต่งงานกับผู้ชายชาวจีนยูนนานมุสลิม แต่เมื่อหย่ากันก็หันกลับไปนับถือศาสนาพุทธเช่นเดิม ความเชื่ออื่น ๆ ความเชื่อในการบูชาบรรพบุรุษ มีศาลหอเจ้าปู่เจ้าย่า และศาลตายาย

  • การรักษาของกลุ่มชาติพันธุ์ไทขึน :

              รูปแบบและวิธีการการรักษาโรคของกลุ่มชาติพันธุ์ไทขึน มีดังต่อไปนี้

              การรักษาโดยยาจากตำหรับยาพับสา ในชุมชนวัดนันทาราม ซึ่งมีประวัติการปรุงยาจากเจ้าอาวาส  พระครูสารภังค์  (พ.ศ.2403 - 2472) ที่เป็นหลานเจ้าแม่คําแดงหลานเจ้าสารัมภยะเป็นสังฆราชา 1 ใน 7 องค์ กล่าวกันว่าตํารายาวัดนันทารามสืบทอดมาจากพระครูสารภังค์ที่นำตํารายาโบราณจากพับสาเมืองเชียงตุงมาใช้รักษาอาการเจ็บไข้ได้ป่วยของศรัทธาวัดนันทาราม (อิสราภรณ์ พัฒนาวรรณ, 2552 หน้า 131)

              กลุ่มชาติพันธุ์ไทขึนในงานของ กรด เหล็กสมบูรณ์ (หน้า40-54) ได้ศึกษาในชุมชนวัดสีมาราม ชุมชนทรายมูล อำเภอสันกำแพง ชุมชนวัดแหนน้อยอำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ และชุมชนผาแตก อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย การรักษาโรคของชุมชนไทขึน มีการรักษาแบบองค์รวมกล่าวคือการรักษามีการรักษาแบบทั้งพิธีกรรมบำบัดและการรักษาโรค ในส่วนพิธีกรรมบำบัดนั้นได้แก่ การดูดวงทางโหราศาสตร์ การสู่ขวัญ การฮ้องขวัญ การขอขมาผีปู่ย่า และทานขันข้าว ในส่วนการรักษาโรคนั้น มีหมอยาที่ทำการรักษาด้วยวิธี  การนวด การเช็ด การแหก ซึ่งขณะทำพิธีนี้หมอจะบริกรรมคาถาไปพร้อมกัน มีวิธีการขูดด้วยเหรียญ รวมถึงการรักษาด้วยยาต้มสมุนไพร และยาลูกกลอน

     

  • สถานการณ์ปัจจุบันของกลุ่มชาติพันธุ์ไทขึน :

              สถานการณ์ความเป็นชาติพันธุ์ของไทขึนในประเทศไทย จากการถูกผสมกลมกลืนไปกับวัฒนธรรมล้านนามาอย่างยาวนาน การรื้อฟื้นอัตลักษณ์ชุมชนไทขึนในประเทศไทยเริ่มขึ้นจากนักวิชาการในภาคเหนือและนักสะสมของเก่าโดยเฉพาะเสื้อผ้าและหัตถกรรมเครื่องเขิน สร้างการก่อรูปวัฒนธรรมของคนพลัดถิ่นขึ้น และพยายามเชื่อมโยง รื้อฟื้นอัตลักษณ์ตนเองขึ้นในกลุ่มคนไทขึนรอบนอกของตัวเมืองเชียงใหม่ แต่ในพื้นที่การตั้งถิ่นฐานเริ่มแรกนั้น หลังจากสูญเสียอัตลักษณ์ความเป็นไทขึนไปจนเกือบหมดสิ้นแล้ว ยังมี นายจิตติ เทพรัตน์ (เสียชีวิตแล้ว) เป็นผู้ที่พยายามค้นหาสาแหรกของเครือญาติไทขึนที่อพยพมาตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2345-2347 ส่งผลต่อการเข้าใจในตัวตนของคนไทขึนที่ยังอาศัยอยู่ที่ชุมชนวัดนันทาราม จังหวัดเชียงใหม่

              ในส่วนไทขึนที่อพยพมาใหม่เช่นกรณีบ้านเหล่าพัฒนา ได้พยายามสร้างความเป็นไทขึนขี้นซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมไทใหญ่ แต่เมื่อมาอาศัยในพื้นที่เชียงราย จึงได้สร้างตัวตนไทขึนในอาหารการกินและประเพณีต่าง ๆ ว่า เป็นของไทขึน เช่น "ข้าวแรมฟืนไทเขิน" (เบญจวรรณ สุขวัฒน์, 2558, หน้า 112)

     

Access Point
No results found.

ไทขึน ไตขึน ไตเขิน  เป็นกลุ่มชาติพันธุ์มี่ทีจำนวนไม่มากนัก อีกทั้งเริ่มกลืนกลายทางวัฒนธรรมกับคนไทยวนท้องถิ่นของภาคเหนือ  อัตลักษณ์สำคัญของชาวไทขึนคือการผลิตเครืองเขิน  โดยเฉพาะเครื่องเขินแบบลายขูด (ฮายลาย) เป็นลักษณะเฉพาะที่ทำขึ้นในพื้นที่ชุมชนวัดนันทาราม อย่างไรก็ตาม ชาวไทเขินได้เลิกทำเครื่องเขินในช่วงทศวรรษ 2520 โดยความรู้เหล่านี้ถูกถ่ายเทและสืบทอดสู่คนท้องถิ่นกลุ่มอื่น ๆ