ชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์
ชื่อเรียกตนเอง
คนมอญนิยมเรียกตนเองว่า “มอญ” (Mon) หรือ “รมัน” หรือ “รามัญ” (Rāmañ) ตามชื่อประเทศของตน คือ “รามัญญเทส” หรือ “รามัญประเทศ” (Rāmaññadesa ) อันเป็นคำเรียกขานประเทศมอญในตอนขึ้นต้นคาถาภาษาบาลี ตามที่ปรากฎในจารึกกัลยาณี (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และกาญจนี ละอองศรี, 2541, หน้า 14 ; พัชรินทร์ สิรสุนทร, 2558, หน้า8) ส่วนฉบับภาษามอญก็มีคำว่า “ระฮ์รมัน” (Rah Rman) ซึ่งหมายถึงอาณาเขตของประเทศมอญทั้ง 3 จังหวัด ได้แก่ พะสิม (Bassein) หงสาวดี (Pegu) และเมาะตะมะ (Martaban) คำว่า “มอญ” (Mon) นั้น ซี.โอ แบลกเดน (C.O. Blagden) นักปราชญ์ทางภาษาท่านหนึ่งกล่าวว่าเป็นคำ ๆ เดียวกับคำว่า “รามัญ” (Rāmañ) (Blagden, 1941, pp.59 – 60 อ้างถึงใน สุภรณ์ โอเจริญ, 2541, หน้า 14) แต่ในจดหมายเหตุของมอญเช่นใน Pegu Chronicles จะใช้ Man ซึ่งเป็นรูปคำเก่าแทน และถ้าสืบกลับไปในจารึกสมัยกลางจะพบรูป Rman ตัว R ข้างหน้ารากคำเป็นอุปสรค (prefix) ชนิดหนึ่ง ซึ่งมาในภาษาปัจจุบัน อุปสรรคนี้ได้หายไป และเวลาอ่านคงจะออกเสียงเป็น Remán (รมัน) โดยเน้นที่พยางค์ท้าย และในที่สุดก็เพี้ยนมาเป็นมอญ ส่วนคำว่า “ รามัญ ” (Rāmañña) เป็นรูปที่บัญญัติขึ้นจากรูป Rman เพื่อใช้ในภาษาบาลีในสมัยที่ยังนิยมใช้ ñ ลงท้ายแทน n และดึงให้เข้าตามกฎภาษาบาลี (ที่ว่าด้วยตัวสะกด ตัวตาม) โดยการซ้อน ñ อีกตัวหนึ่งแล้วเติม a ข้างท้าย จึงได้รูป Rāmañña ส่วนความหมายนั้นคงจะมี แต่ไม่ปรากฏเป็นที่แน่ชัด ชาวมอญบางคนได้อธิบายว่า ชื่อประเทศของตนมีความหมายว่า เป็นที่หนึ่ง ในแง่ที่ว่าพวกเขาเป็นที่หนึ่งในมนุษยชาติ (the first of mankind) บางคนกล่าวว่า “มอญ” แปลว่า ผู้นับถือพระรามปางพระนารายณ์ เรียกกันว่า รามา แล้วเลือนเป็น “รามัญ ” เรียกเร็วเป็น “ รามอญ ” ภายหลังตัดคำหน้าให้สั้นเข้าเป็น “ มอญ ” (Blagden, 1941, p. 60 อ้างถึงใน สุภรณ์ โอเจริญ, 2541, หน้า 14 )
ปัจจุบัน ชาวมอญที่อาศัยอยู่ในชุมชนมอญในประเทศไทยยังนิยมเรียกตนเองว่า “ชาวไทยรามัญ” (พัชรินทร์ สิรสุนทร, 2558, หน้า 8, 22) คำว่า “มอญ” ส่วนใหญ่คนมอญมักจะใช้ในการสื่อสารในลักษณะที่ไม่เป็นทางการ หรือเป็นการสื่อสารกันภายในกลุ่ม ส่วนคำว่า “รามัญ” หรือ “ไทยรามัญ” มักจะใช้ในการสื่อสารแบบทางการ โดยสังเกตได้อย่างชัดเจนจากชื่อของกลุ่มองค์กรของคนมอญ อาทิเช่น สมาคมไทยรามัญ สมาพันธุ์ชาวไทยเชื้อสายรามัญ จ.ปทุมธานี และมูลนิธิรามัญรักษ์
ชื่อที่คนอื่นเรียก
“ตะลาย” หรือ “ตะเลง” (Taliang) เป็นชื่อที่ชาวพม่าเรียกชาวมอญ นักเดินทางชาวยุโรปคณะแรกซึ่งเดินทางมาถึงชายฝั่งทางตอนใต้ของพม่า ในช่วงปลายทศวรรษที่ 15 และช่วงต้นศตวรรษที่ 16 เรียกว่า “เปกวน” (Peguans) หรือ “เพกวน” ตามชื่อเมืองหลวงของอาณาจักรมอญในช่วงเวลาดังกล่าวที่ชื่อว่า “เปกู” (Pegu) อันเป็นกลุ่มชนชาติมองโกลอยด์ ซึ่งเป็นชนชาติเก่าแก่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นชนชาติแรกที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณตอนล่างของประเทศพม่ามานานหลายศตวรรษก่อนคริสตกาล (พัชรินทร์ สิรสุนทร, 2558, หน้า 8)
อย่างไรก็ตาม คำว่า “ตะเลง” นั้นเป็นที่ถกเถียงกันมากในหมู่นักภาษาศาสตร์และ นักมานุษยวิทยาถึงที่มาและความหมาย ทั้งเมย์ ออง (May Oung) และชาร์ลส์ ดูรัวเซลล์ (Charles Duroiselle) ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ตามที่คนจำนวนมากเชื่อว่า พระเจ้าอลองพญาเป็นผู้เริ่มใช้คำว่า “ตะเลง” ในความหมายว่า (ผู้) ที่ถูกเหยียบย่ำ (down - trodden) เรียกพวกมอญหลังจากที่มีชัยชนะเหนือพวกมอญใน พ.ศ.2300 นั้น ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง เพราะคำว่า “ตะเลง” เป็นที่รู้จักของพม่ามานับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 20 – 21 ดังมีปรากฏอยู่ในงานเขียนของพม่าในช่วงเวลาดังกล่าว (M.O. ,1912, pp. 73 – 74 อ้างถึงใน สุภรณ์ โอเจริญ, 2541, หน้า 15 ) และยังเป็นที่รู้จักของชาวจีนในต้นพุทธศตวรรษที่ 22 ซึ่งคำนี้ใช้เรียกพลเมืองที่อาศัยในหงสาวดี (Pegu) อีกด้วย (C.D., 1912, p.100 อ้างถึงใน สุภรณ์ โอเจริญ, 2541, หน้า 15) นอกจากนี้ ชาร์ลส์ ดูรัวเซลล์ และมอง มยา (Maung Mya) ยังได้อ้างถึงจารึก พ.ศ. 1650 (ค.ศ.1107) และจารึก พ.ศ. 1625 (ค.ศ.1082) ตามลำดับว่ามีคำว่า “ตะเลง” ปรากฏอยู่ ซึ่งแสดงว่า พม่าใช้คำ ๆ นี้เรียกพวกมอญมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอนิรุธ (Anawrahta พ.ศ. 1587 - 1620) แล้ว (C.D., 1912, pp. 246-248 อ้างถึงใน สุภรณ์ โอเจริญ, 2541, หน้า 15) แต่ในเรื่องที่มานั้น นักภาษาศาสตร์ก็ยังมีความเห็นแตกแยกเป็น 2 ทฤษฎี ๆ หนึ่งบอกว่า Talaing กร่อนมาจาก Ita – lerm ซึ่งแปลว่า “พ่อ – ทำลาย” หรืออาจใช้ในความหมายว่า “ลูกผสม” (half - caste) เรียกพวกที่เกิดจากชาวมอญกับชาวเตลุคุ (Telugu) ผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากแคว้นเตลิงคัน (Talingana) ทางชายฝั่งตะวันออกของอินเดีย (Cooper, 1913, p. 1 – 3 อ้างถึงใน สุภรณ์ โอเจริญ, 2541, หน้า 15) อีกทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่า Talaing มาจาก Telingana หรือ Talingana ซึ่งเดิมใช้เรียกพวกที่อพยพมาจากแคว้นเตลิงคน์หรือแคว้นกลิงค์ทางชายฝั่งตะวันออกของอินเดียที่เข้ามาตั้งหลักอยู่ตามชายฝั่งพม่าบริเวณเมืองสะเทิม หงสาวดี ร่างกุ้ง เป็นต้น แต่ต่อมาก็ใช้เรียกพลเมืองที่สืบเชื้อสายมาจากพวกนี้ทั้งหมด (Phayre, 1873, p.32 ; Phayre, 1967,p.28 อ้างถึงใน สุภรณ์ โอเจริญ, 2541, หน้า 16) อย่างไรก็ตาม คำว่า “ตะเลง” ที่ชาวต่างชาติ โดยเฉพาะพม่าใช้เรียกพวกมอญในบริเวณพม่าตอนล่างในอดีตมาเป็นเวลานานหลายศตวรรษดูจะเสื่อมความนิยมลงในปัจจุบัน เช่นเดียวกับชื่อ “เปกวน” ที่ชาวตะวันตกมักใช้เรียกชาวมอญที่อาศัยในบริเวณนี้
ส่วนไทยเรียกชนชาติมอญว่า “มอญ” หรือ “ตะเลง” (พัชรินทร์ สิรสุนทร, 2558, หน้า 8) ซึ่งเป็นชื่อที่ชาวพม่าและชาวต่างชาติใช้เรียกพวกมอญในบริเวณพม่าตอนล่างมานานหลายศตวรรษ ชาวล้านนาเรียกชาวมอญว่า “เม็ง” โดยชาวเม็งและลัวะเป็นชาติพันธุ์ดั้งเดิมในที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง ตามตำนานจามเทวีวงศ์ (ตำนานของพระนางจามเทวี ปญมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จามเทวี อาณาจักรหริภุญชัย) เรียกชาติพันธุ์เม็งว่า “เมงคบุตร” โดยศรีศักร วัลลิโภดม วิเคราะห์ว่า กลุ่มเมงคบุตร เป็นกลุ่มชนพื้นเมืองที่เจริญเป็นพวกแรกในที่ราบเชียงใหม่ มีลักษณะการตั้งถิ่นฐานที่กระจายตัวอยู่บนที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง จึงพบคำเก่าแก่ในภาษาเม็งที่เรียกแม่น้ำปิงว่า “แม่ระเม็ง” (มาจากคำว่า รเมญ ในภาษามอญโบราณ และกร่อนมาเหลือ เมญ หรือ เม็ง ในภาษาล้านนา) หรือแม่น้ำเม็ง หมายถึงแม่น้ำที่ชาวเม็งอาศัยอยู่ (เพจรามัญคดี – Mon Studies, 13 ธันวาคม 2018) นับตั้งแต่นั้นมา ชาวล้านนาและกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ บริเวณภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยจึงมักเรียกชาวมอญว่า “เม็ง” จนถึงปัจจุบัน
ชื่อเรียกในเชิงอคติทางชาติพันธุ์
สำหรับคำเรียกว่า “ตะเลง”เป็นที่เข้าใจกันในหมู่คนมอญว่า “ตะเลง” หมายถึง “อิตะเลิม” ที่แปลว่า “พ่อแม่ฉิบหายหรือบ้านแตกสาแหรกขาด” (ฉวีวรรณ ควรแสวง, นายกสมาคมไทยรามัญ, สัมภาษณ์ 16 พฤศจิกายน 2553 อ้างถึงใน สุจิตรา เปลี่ยนรุ่ง, 2553, หน้า 113) หรืออีกความหมายหนึ่งเป็นนัยแฝงการเหยียดหยามโดยแปลว่า “เชื้อชาติอยู่ใต้ฝ่าเท้า” (down – trodden race) ซึ่งชาวมอญถือว่าเป็นการข่มเหงย่ำยีทางเชื้อชาติอย่างถึงที่สุด (จิรากรณ์ คชเสนี, 2552, หน้า 123 ) ยิ่งไปกว่านั้นยังพบคำว่า “ตะเลง” มิได้เคยปรากฏอยู่ในภาษามอญที่เป็นภาษาท้องถิ่นเดิมอีกด้วย (Phayre, 1884, หน้า 29 อ้างถึงใน สุจิตรา เปลี่ยนรุ่ง, 2553, หน้า 112) ชาวมอญได้พยายามต่อสู้ต่อรองอัตลักษณ์ของตนเองผ่านการเรียกชื่อชนชาติ (interpellation) ของตนเองมาตั้งแต่อดีต ด้วยการเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ตนเองว่า “มอญ” หรือ รามัญ และต้องการให้คนนอกกลุ่มเรียกชื่อกลุ่มตนเช่นนั้นด้วย (สุภรณ์ โอเจริญ, 2541, หน้า 16) ปัจจุบันคำนี้เลิกใช้กันแล้ว เพราะชาวมอญไม่ชอบชื่อนี้และไม่เคยนับว่า ชื่อนี้เป็นชื่อที่ใช้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์ของตนเอง ถึงแม้จะรับรู้ว่า ตะเลงหมายถึงมอญก็ตาม
ภาษา
ตระกูลภาษา
ภาษามอญอยู่ในสายโมนิก (Monic branch) ของตระกูลมอญ - เขมร (Mon – Khmer family) ซึ่งอยู่ในตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก (Austroasiatic phylum) โดยตระกูลภาษาดังกล่าวมีอายุประมาณ 3,000 – 4,000 ปีมาแล้ว (สุจริตลักษณ์ ดีผดุง และคณะ, 2542, หน้า 13)
ภาษาพูด
ชาวมอญมีภาษาพูดของตนเอง คือ ภาษามอญ ในอดีต กลุ่มที่พูดภาษามอญส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานอยู่ทางทิศตะวันตกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปัจจุบัน มีผู้พูดภาษามอญตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศพม่าและประเทศไทย (ทีฆายุ เจียมจวนขาว, 2553, หน้า 4) ภาษามอญในประเทศไทยพูดกันในกลุ่มชาวไทยเชื้อสายมอญในจังหวัดต่าง ๆ ในทุกภาค โดยเฉพาะภาคกลางในบริเวณที่ราบลุ่มใกล้แม่น้ำ เช่น ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม ราชบุรี กาญจนบุรี ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา เป็นต้น ชุมชนมอญในเขตต่าง ๆ มักมีการไปมาหาสู่ตลอดเวลา จึงมีการถ่ายเทภาษามอญของถิ่นต่าง ๆ อยู่เสมอ ทำให้แม้จะมีภาษามอญหลายถิ่น แต่ก็สามารถใช้สื่อสารได้ เข้าใจกันดี (สุภรณ์ โอเจริญ, 2541)
ตัวอักษรที่ใช้เขียน
ตัวเขียนของภาษามอญมีที่มาจากอักษรอินเดียตอนใต้ (South India type) ที่ชื่อว่า “อักษรปัลลวะ” ซึ่งชาวมอญนำมาปรับประยุกต์เพื่อใช้เขียนภาษามอญ (ทีฆายุ เจียมจวนขาว, 2553, หน้า 4) หลักฐานตัวอักษรมอญที่เก่าแก่ที่สุดพบในประเทศไทย นั่นคือ จารึกวัดโพธิ์ร้าง พ.ศ. 1143 ซึ่งเป็นจารึกที่เก่าแก่ที่สุดที่พบว่ามีการใช้อักษรปัลลวะของอินเดียทางใต้ที่ยังไม่ได้ดัดแปลง และมีการเพิ่มอักษรบางตัวที่ไม่มีในระบบอักษรปัลลวะเพื่อใช้จารึกภาษามอญ (วัฒนา บุรกสิกร, 2541) โดย ดร.เพ็ญสุดา สุขคตะ ใจอินทร์ (สัมภาษณ์ ใน Thailand Science Research and Innovation, 20 ต.ค. 2015) นักประวัติศาสตร์ศิลปะได้อธิบายว่า เนื่องด้วยภาษาของคนมอญกับอินเดียต่างกัน เมื่อชาวมอญรับตัวอักษรปัลลาวะของอินเดียมาใช้ แต่ตัวอักษรของอินเดียไม่สามารถรองรับภาษามอญได้ทั้งหมด ชาวมอญจึงต้องประดิษฐ์ตัวอักษรของตนเองเพิ่ม นอกจากนี้ ศิลาจารึกในสมัยทวาราวดียังเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงการดำรงอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์มอญในบริเวณอุษาอาคเนย์มาตั้งแต่สมัยพันกว่าปีก่อน โดยสุกัญญา เบาเนิด นักโบราณคดีและเลขาธิการชมรมเยาวชนมอญ กรุงเทพฯ (สัมภาษณ์ ใน Thailand Science Research and Innovation, 20 ต.ค. 2015) ได้กล่าวว่า ศิลาจารึกในสมัยทวาราวดีที่ขุดค้นพบนั้น เกินครึ่งหนึ่งจารึกเป็นภาษามอญ ซึ่งปรากฏคำที่เชื่อมโยงกับสำนึกความเป็นมอญได้ เช่น คำว่า “โต้ง” ที่ปรากฏในจารึกฉบับวัดโพธิ์ร้าง หมายถึง ผู้อำนวยการพิธีในการรำผีของมอญ
ต่อมาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 – 17 ตัวอักษรที่มอญรับมาใช้จึงได้ถูกปรับเปลี่ยนขนาดและมีการปรับรูปร่างตัวอักษรจากตัวอักษรปัลลวะมาเป็นตัวอักษรเหลี่ยมชนิดหนึ่งที่เรียกว่า อักษรมอญโบราณ และกลายมาเป็นอักษรรูปร่างกลมเหมือนอักษรมอญปัจจุบันในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 เนื่องจากเริ่มเปลี่ยนจากการจารึกตัวอักษรบนแผ่นหินมาเป็นจารึกลงบนใบลานแทน (วัฒนา บุรกสิกร, 2541) ชาวมอญมีการบันทึกข้อมูลด้วยอักษรมอญในรูปแบบของงานวรรณกรรมและวรรณคดีมากมาย นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 16
ภาษามอญเป็นภาษาที่มีโครงสร้างไม่ซับซ้อน ลักษณะประโยคมีการเรียงลำดับในแบบประธาน – กริยา – กรรม ไม่มีการผันคำนาม คำกริยาไปตามความสัมพันธ์ที่คำนั้นมีกับคำอื่นหรือตามกฎบังคับทางไวยกรณ์ (นริศรา โฉมศิริ, 2547, หน้า 28 - 29)
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงความเปลี่ยนแปลงต่ออัตลักษณ์ทางภาษาของชาวมอญในปัจจุบันพบว่า ภาษาเขียนมีความเปลี่ยนแปลงน้อยกว่าภาษาพูด แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่า ชาวมอญที่สามารถเขียนและอ่านตัวหนังสือมอญได้ในปัจจุบันมีจำนวนน้อยมาก ในขณะที่ภาษาพูดยังคงถูกใช้ในการติดต่อสื่อสารภายในกลุ่ม / ชุมชนของชาวมอญ ( ดาริกา ธนะศักดิ์ศิริ, 2556, หน้า 21) อย่างไรก็ตาม ระดับความเปลี่ยนแปลงของภาษาพูดมอญของแต่ละชุมชนก็มีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมหรือการตั้งถิ่นฐาน กล่าวคือ ชาวมอญที่เกาะกลุ่มกันอย่างเหนียวแน่นก็จะมีการเปลี่ยนแปลงทางภาษาค่อนข้างน้อย ในทางกลับกัน หากชาวมอญอยู่ร่วมกับชุมชนชาวไทยหรือกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ภาษามอญก็จะมีความเปลี่ยนแปลงมากกว่า เพราะได้รับอิทธิพลทางภาษาจากชนกลุ่มใหญ่ (สุจริตลักษณ์ ดีผดุง และคณะ, 2542, หน้า 12 – 13) จากประสบการณ์วิจัยภาคสนามของ สุภรณ์ โอเจริญ (อ้างถึง ใน ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และคณะ, 2551, หน้า 28 ) ในชุมชนชนมอญระหว่าง พ.ศ. 2518 – 2519 พบว่า ภาษามอญถูกกลืนหายไปค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นชุมชนมอญที่พระประแดง และฝั่งปทุมธานีตะวันออกอย่างเช่น ทรงคะนอง หรือสามโคก โดยชุมชนมอญพระประแดงมีระดับการใช้ภาษามอญลดน้อยลงมากที่สุด เพราะอยู่ใกล้กับศูนย์กลางความเจริญและทันสมัยอย่างกรุงเทพฯ แต่กรณีชุมชนมอญ บ้านเมือง จ.ราชบุรีที่เป็นสังคมค่อนข้างจะปิดมากในสมัยนั้น เนื่องด้วยเส้นทางเข้าสู่ชุมชนยากลำบาก พบว่า ชุมชนยังรักษาความเป็นมอญไว้ได้ดี และยังพูดภาษามอญกันทั่วไปในชีวิตประจำวัน สภาพการณ์ดังกล่าวทำให้สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท
มหาวิทยาลัยมหิดล (อ้างถึงโดย องค์ บรรจุน ใน ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และคณะ, 2551, หน้า 59) จัดให้ภาษามอญอยู่ในกลุ่มของภาษาที่อยู่ในภาวะวิกฤต และจำเป็นต้องได้รับดูแลและฟื้นฟูโดยเร่งด่วน ปัจจุบัน ชุมชนมอญที่ยังมีสำนึกทางชาติพันธุ์ที่ยังหลงเหลืออยู่ในกรณีของชุมชนมอญสามโคก จ.ปทุมธานี พบว่า ชาวมอญในวัยผู้ใหญ่ (อายุ 50 ปีขึ้นไป) มีการใช้ภาษามอญในการติดต่อสื่อสารกันมากกว่าคนรุ่นหนุ่มสาวและเด็กที่มักจะใช้ภาษากลางในการติดต่อสื่อสารกันมากกว่า ส่วนภาษาเขียนพบว่า ชาวมอญที่สามารถเขียนและอ่านภาษามอญได้มีจำนวนค่อนข้างน้อย (ดาริกา ธนะศักดิ์ศิริ , 2556, หน้า 21)
เนื้อหาโดย สกุลกร ยาไทย นักวิจัยอิสระ
ปีงบประมาณ 2563 อัพโหลดข้อมูลวันที่ 23 กันยายน 2563
เอกสารอ้างอิง
ภาษาอังกฤษ
ภาษาไทย
สื่อประกอบ
สัมภาษณ์
จังหวัดที่กระจายตัวตั้งถิ่นฐาน | จำนวนครัวเรือน | จำนวนประชากร |
---|---|---|
กาญจนบุรี นนทบุรี ปทุมธานี ลพบุรี นครราชสีมา สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี เพชรบุรี เชียงใหม่ ลำพูน นครปฐม ฉะเชิงเทรา สุพรรณบุรี อยุธยา ปราจีนบุรี กรุงเทพฯ เป็นต้น | 400000 |
สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ. (2547). แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
คนมอญนิยมเรียกตนเองว่า “มอญ” หรือ “รมัน” หรือ “รามัญ” ตามชื่อประเทศของตน คือ “รามัญญเทส” หรือ “รามัญประเทศ” ส่วนความหมายนั้นไม่ปรากฏเป็นที่แน่ชัด ชาวมอญบางคนได้อธิบายว่าหมายถึง เป็นที่หนึ่ง ในแง่ที่ว่าพวกเขาเป็นที่หนึ่งในมนุษยชาติ บางคนกล่าวว่าหมายถึง ผู้นับถือพระรามปางพระนารายณ์ ปัจจุบัน ชาวมอญในประเทศไทยนิยมเรียกตนเองว่า “ชาวไทยรามัญ” คำว่า “มอญ” มักจะใช้ในการสื่อสารในลักษณะที่ไม่เป็นทางการ หรือเป็นการสื่อสารกันภายในกลุ่ม ส่วนคำว่า “รามัญ” หรือ “ไทยรามัญ” มักจะใช้ในการสื่อสารแบบทางการ สำหรับคำเรียกว่า “ตะเลง”เป็นที่เข้าใจกันในหมู่คนมอญว่า “ตะเลง” หมายถึง “อิตะเลิม” ที่แปลว่า “พ่อแม่ฉิบหายหรือบ้านแตกสาแหรกขาด” หรืออีกความหมายหนึ่งเป็นนัยแฝงการเหยียดหยามโดยแปลว่า “เชื้อชาติอยู่ใต้ฝ่าเท้า” ซึ่งชาวมอญถือว่าเป็นการข่มเหงย่ำยีทางเชื้อชาติอย่างถึงที่สุด ปัจจุบันคำนี้เลิกใช้กันแล้ว เพราะชาวมอญไม่ชอบชื่อนี้และไม่เคยนับว่าชื่อนี้เป็นชื่อที่ใช้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์ของตนเอง ถึงแม้จะรับรู้ว่า ตะเลงหมายถึงมอญก็ตาม
ถิ่นฐานกำเนิดเดิมของชาวมอญคาดว่าน่าจะเป็นบริเวณทางตอนตะวันตกของจีนหรือบริเวณทางตอนใต้ของอินเดีย มีภาษาพูดและมีตัวอักษรเขียนของตนเอง เมื่ออพยพมายังอุษาอาคเนย์ ชาวมอญได้ก่อตั้งอาณาจักรโบราณสองแห่ง ได้แก่ อาณาจักรทวาราวดี บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา กับอาณาจักรสะเทิม บริเวณลุ่มแม่น้ำอิระวดีฝั่งตะวันออกทางตอนใต้ของพม่า ทั้งสองอาณาจักรมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่อารยธรรมมอญที่ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากอินเดียสู่ชนชาติต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วัฒนธรรมมอญจึงยังคงปรากฎร่องรอยในภูมิภาคนี้จนถึงปัจจุบัน และเป็นหนึ่งในแม่แบบวัฒนธรรมที่เข้มแข็งในอุษาอาคเนย์ เมื่ออาณาจักรทวาราวดีเสื่อมสลายเพราะอิทธิพลของเขมร ชาวมอญทวาราวดีได้ถูกกลืนกลายเป็นคนไทยหรือกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ในขณะที่อาณาจักรมอญทางตอนใต้ของพม่ายังคงอัตลักษณ์ความเป็นมอญอย่างเข้มแข็ง จนกระทั่งถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของพม่าในเวลาต่อมา ด้วยการทำสงครามต่อกันอย่างต่อเนื่อง ส่งผลทำให้คนมอญมีการอพยพเข้ามาในสยามอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันชาวมอญอาศัยกระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่ภาคกลางเป็นส่วนใหญ่ โดยมีชาวมอญอาศัยอยู่ 35 จังหวัดทั่วประเทศ อันได้แก่ กรุงเทพ นครนายก นครปฐม นครสวรรค์ นนทบุรี ปทุมธานี ลพบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สระบุรี สิงห์บุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี อยุธยา อ่างทอง อุทัยธานี กาญจนบุรี ตาก ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี กำแพงเพชร ชัยนาท เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน ชัยภูมิ นครราชสีมา ปราจีนบุรี
เมื่อชาวมอญอพยพมาอยู่ในประเทศไทยก็ยังคงพยายามรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนอย่างเข้มแข็ง อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นที่สุดของมอญ คือ ระบบความเชื่อในการนับถือผีบรรพบุรุษและความศรัทธาในพุทธศาสนานิกายเถรวาทอย่างแรงกล้า ซึ่งกลายเป็นข้อปฏิบัติทางจารีตประเพณีที่ชาวมอญยึดถือปฏิบัติในชีวิตประจำวันอย่างเคร่งครัด โดยสะท้อนผ่านพิธีกรรม ประเพณีสำคัญ และเทศกาลต่าง ๆ ตลอดจนวิถีชีวิตในชีวิตประจำวันทั่วไป ระบบความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษและความศรัทธาต่อพุทธศาสนายังมีส่วนสำคัญยิ่งในการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาวมอญ รวมทั้งธำรงรักษาความเป็นมอญจวบจนปัจจุบัน
ประวัติศาสตร์
ชาวมอญนับเป็นชนชาติพื้นเมืองเก่าแก่กลุ่มหนึ่งในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้ ถิ่นฐานกำเนิดเดิมของชาวมอญก่อนที่จะอพยพมายังดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงเป็นข้อถกเถียงระหว่าง 3 แนวคิดที่สำคัญ กล่าวคือ แนวคิดแรก สันนิษฐานว่า ชาวมอญมาจากทางตะวันตกของประเทศจีน และเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แนวคิดที่สอง ชาวมอญมาจากภูเขาหิมาลัย ลงมาที่ลุ่มแม่น้ำคงคา - พรมบุตร เข้าสู่แคว้นอัสสัมของอินเดีย และแนวคิดที่สาม ชาวมอญมาจากอินเดียทางตอนใต้ โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
แนวคิดแรก ชาวมอญมาจากทางตะวันตกของประเทศจีนก่อนที่จะเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Nai Pan Hla นักวิชาการทางด้านประวัติศาสตร์และวรรณกรรมชาวมอญ ได้แสดงข้อสมมุติฐานว่า ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของกลุ่มชนที่พูดภาษาตระกูลมอญ-เขมร อาศัยอยู่เป็นเวลายาวนาน คือ หุบเขาแยงซีเกียง (the valley of Yangtze Kiang (Chiang)) ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของประเทศจีน ก่อนที่ชาวจีนซึ่งอพยพมาจากทางตอนเหนือจะเข้ามาครอบครองดินแดนแถบนี้แทน (1992, หน้า 13) โดยข้อสมมุติฐานของ Nai Pan Hla วางอยู่บนข้อวิเคราะห์ทางด้านภาษาศาสตร์เรื่อง “Chinese and Indo – Europeans” โดย E.G. Pulleyblank ศาสตราจารย์ทางด้านภาษาจีนจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ซึ่งอธิบายถึงความเกี่ยวข้องทางด้านภาษาศาสตร์ระหว่างภาษาจีนในยุคแรกเริ่มกับภาษาดั้งเดิมของชนเผ่าหลากหลายกลุ่มที่อาศัยอยู่ในประเทศจีนในยุคแรกเริ่มประวัติศาสตร์ โดยปรากฏร่องรอยภาษามอญ - เขมร ในภาษาจีนปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น คำว่า “ Chiang ” ที่แปลว่า “ แม่น้ำ ” ภาษาจีนโบราณออกเสียงว่า “karwn”หรือ “krawn” ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับการออกเสียงคำว่า แม่น้ำในภาษามอญ คือ “ Krun ” (1966 อ้างถึงใน Nai Pan Hla, 1992, หน้า 13)
แนวคิดที่ว่าชาวมอญอพยพมาจากทางตะวันตกของประเทศจีนได้รับการตอบรับจากนักวิชาการชาวจีนจำนวนหนึ่ง โดย You. Z. (1994, อ้างถึงใน L. Shi et al., 2010, หน้า 473) ได้แสดงข้อสมมุติฐานเกี่ยวกับต้นกำเนิดของชาวมอญในงานศึกษาเรื่อง “History of Yunnan Nationalities” ว่า ชนเผ่าโบราณที่ชื่อ “ Baipu ” ซึ่งตั้งถิ่นฐานกระจายตัวทางตอนใต้หรือตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลยูนนานตั้งแต่ยุคหินใหม่ ได้พัฒนากลายมาเป็นชนเผ่าโบราณกลุ่มต่าง ๆ ที่พูดภาษาตระกูลมอญ – เขมร ในมณฑลยูนนาน ต่อมาในช่วงปลาย 2000 ปีก่อนคริสตกาล ชนเผ่าเหล่านี้ส่วนใหญ่ได้อพยพลงมายังคาบสมุทรอินโดจีน แต่บางส่วนยังคงอาศัยอยู่ในมณฑลยูนนานตามเดิม โดยเฉพาะชนเผ่า Wa, Bulang และ Dean จากข้ออธิบายทางด้านประวัติศาสตร์และภาษาศาสตร์ได้พัฒนาไปสู่การศึกษาความเชื่อมโยงทางพันธุกรรมระหว่างชนเผ่าที่พูดภาษาตระกูลมอญ - เขมร ที่อาศัยอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนกับประชากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันได้แก่ งานศึกษาของ L. Shi et.al (2010, pp.467 - 475) ซึ่งเป็นกลุ่มนักวิชาการทางด้านชีววิทยาการแพทย์จากประเทศจีนและญี่ปุ่นได้วิเคราะห์ว่า เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประชากรที่พูดตระกูลภาษาอื่น ๆ จะเห็นได้ว่า กลุ่มประชากรที่พูดภาษาตระกูลมอญ – เขมรที่อาศัยอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ดังเช่น Bulang และ Wa ล้วนมีลักษณะทางพันธุกรรมแบบเดียวกัน (พิจารณาจากค่า Human leucocyte antigen (HLA) alleles และ haplotupes) อันเป็นลักษณะทางพันธุกรรมที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากต้นบรรพบุรุษ (primogenitor alleles) ซึ่งก็คือชนเผ่าโบราณ Baipu หรืออาจกล่าวได้ว่า ชนเผ่าเหล่านี้ยังคงสามารถรักษาลักษณะทางพันธกรรมดั้งเดิมของตนไว้ได้ และมีระยะห่างทางพันธกรรม (genetic distance) จากกลุ่มประชากรอื่น ๆ เป็นอย่างมาก (อาจเป็นผลมาจากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของชนเผ่าเหล่านี้ที่มีความโดดเดี่ยวห่างไกลจากประชากรกลุ่มอื่น ๆ) ก่อนที่สมาชิกของชนเผ่าจำนวนมากจะแยกย้ายกันไปตั้งถิ่นฐานในดินแดนอื่น ๆ ดังนั้นจึงสันนิษฐานว่า ชาว Bulang และ Wa น่าจะเป็นเป็นต้นบรรพบุรุษของกลุ่มประชากรที่พูดภาษาตระกูลมอญ – เขมรทั้งหมดด้วย อันสอดคล้องกับผลการทดลองของงานวิจัยที่ได้ทดสอบลักษณะการกระจายตัวของค่า HLA ในกลุ่มประชากรชนเผ่า Bulang ในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน เปรียบเทียบกับประชากรในประเทศเวียดนามและไทย ซึ่งพบว่า ประชากรทั้งสองกลุ่มล้วนมีความเกี่ยวข้องทางพันธุกรรมอย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ นักโบราณคดีจำนวนหนึ่งยังได้ตั้งข้อสมมุติฐานจากหลักฐานทางโบราณคดีและข้อมูลภาษาศาสตร์ว่า บริเวณใจกลางหุบเขาแยงซี (Yangtze Valley) ประเทศจีนอาจเป็นถิ่นกำเนิดของกลุ่มชนที่พูดตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก (austroasiatic) ในช่วงก่อน 10,000 bp (Pejros and Shnirelman 1998; Bellwood 2005b as cited in RICCIO et. al, 2011, p.424) ต่อมาในสมัยยุคหินใหม่ได้เกิดการกระจายตัวของกลุ่มชนเหล่านี้ออกจากประเทศจีนไปทางทิศตะวันตก บางส่วนอพยพยังภาคตะวันออกของอินเดีย ในขณะที่บางส่วนอพยพไปยังทิศใต้เข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้ นักโบราณคดีบางส่วนเชื่อว่า กลุ่มชนตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติกในประเทศจีนเป็นผู้ให้กำเนิดวัฒนธรรมการเพาะปลูกข้าว จากการค้นพบหลักฐานการเพาะปลูกข้าวในยุคแรกเริ่มที่แหล่งโบราณคดี Pengtoushan (บริเวณชายฝั่งทะเลสาบ Dongting) และ Bashudang (ทางตอนเหนือของ Pengtoushan) และบริเวณใจกลางหุบเขาแม่น้ำ Yanzi ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีเก่าแก่ที่มีอายุประมาณ 9,000 bp ดังนั้น การกระจายตัวของกลุ่มชนชาวออสโตรเอเชียติกที่ส่วนใหญ่เป็นชาวนาจึงย่อมก่อให้เกิดการเผยแพร่วัฒนธรรมการปลูกข้าวไปสู่อินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตามมาด้วย (Blust 1996a; Blust 1996b; Diffloth 2005 as cited in RICCIO et. al, 2011, p.424)
แนวคิดที่สอง ชาวมอญมาจากภูเขาหิมาลัย ลงมาที่ลุ่มแม่น้ำคงคา - พรมบุตร เข้าสู่แคว้นอัสสัมของอินเดีย นักมานุษยวิทยากลุ่มแรก ๆ ที่ริเริ่มนำเสนอแนวคิดนี้ คือ Carleton S. Coon และ Edward E. Hunt. Jr (1966 อ้างถึงใน ผาสุก อินราวุธ, 2548, หน้า 85) ผ่านงานเขียนเรื่อง “The Living Races of Man ” ซึ่งได้วิเคราะห์ที่มาของชนชาติมอญว่า เป็นชนเผ่าหนึ่งที่มีเชื้อสายมองโกลอยด์เช่นเดียวกับบรรพบุรุษของชนชาติพม่า ไทย และลาว โดยอพยพมาจากภูเขาหิมาลัย ลงมาที่แม่น้ำคงคาและแม่น้ำพรมบุตร แล้วจึงอพยพเข้าไปในอินเดียบริเวณแคว้นพิหารและแคว้นอัสสัมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างไรก็ตามงานศึกษาของ ผาสุก อินราวุธ (2548, หน้า 85) ได้ชี้ให้เห็นถึงข้อขัดแย้งจากการอธิบายดังกล่าวในส่วนที่ว่า ชาวมอญและชาวพม่ามีสายบรรพบุรุษร่วมกัน เพราะหากวิเคราะห์โดยใช้เกณฑ์ด้านภาษาศาสตร์จะเห็นได้ว่า รากของภาษามอญและพม่าอยู่คนละกลุ่มภาษากัน กล่าวคือ ภาษาของชาวพม่าอยู่ในกลุ่มภาษา Sino – Tibetan Languages ส่วนของชาวมอญอยู่ในกลุ่มตระกูลออสโตรเอเชียติก (Austro – Asiatic Languages) หรือกลุ่มภาษามอญ - เขมร (Mon Khmer) ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับภาษามุณฑะ (Munda) ของชนเผ่ามุณฑะ ซึ่งเป็นชนเผ่าเชื้อสายมองโกลอยด์กลุ่มหนึ่งที่เป็นต้นบรรพบุรุษของชาวพิหาร ชาวอัสสัม และชาวยะไข่ของพม่าในปัจจุบัน
หลักฐานทางด้านภาษาศาสตร์ที่อธิบายว่า ภาษามอญ – เขมรและภาษามุณฑะในอินเดียควรจะจัดอยู่ในกลุ่มตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติกได้ถูกนำเสนอครั้งแรกในงานศึกษาเรื่อง “ The Talaeng Language ” ของ Francis Mason ในปี 1854 (as cited in Sidwell, 2007, pp.2 - 3) อันเป็นที่มาของแนวคิดที่ว่า ชาวมอญอาจจะสืบเชื้อสายมาจากชนเผ่ามุณฑะ ชนเผ่าโบราณที่สันนิษฐานว่าเป็นลูกหลานของประชากรมนุษย์กลุ่มหนึ่งที่อพยพจากแอฟริกามายังอินเดียในช่วงประมาณ 56,000 bp (Basu et al, 2003 ; Agrawal et al, 2008 as cited in Riccio et al. , 2011, p. 407) และได้กลายมาเป็นต้นบรรพบุรุษของกลุ่มชนที่พูดภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติกในอินเดีย อันรวมถึงชนเผ่ามุณฑะด้วย (Risley, 1915 ; Pattanayak, 1998; Gadgil et al. 1998 ; Majumder, 2001; Roychoudhury et al. 2001 as cited in Riccio et al. , 2011, p. 407) ต่อมาชนเผ่ามุณฑะได้อพยพมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงประมาณ 50, 000 bp ภาษามุณฑะของชนเผ่ามุณฑะได้ก่อให้เกิดภาษาย่อยอื่น ๆ ซึ่งล้วนอยู่ในตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติกเหมือนกัน อันได้แก่ ภาษา Khasi – Khumic ในรัฐเมฆาลัย (Meghalaya) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย และภาษามอญ - เขมร ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Riccio et al. , 2011, p. 407)
อย่างไรก็ตาม แนวคิดที่ว่าชาวมอญสืบเชื้อสายมาจากชาวมุณฑะในประเทศอินเดียได้ถูกโต้แย้งจากงานศึกษาทางด้านภาษาศาสตร์และพันธุกรรมศาสตร์บางส่วน กล่าวคือ ในส่วนของงานศึกษาทางภาษาศาสตร์นั้น Sir George Grierson (1904 : V. 2, p.2) เป็นนักวิชาการคนแรกที่แสดงข้อถกเถียงในหนังสือ “Linguistic Survey of India” ว่า แท้จริงแล้วควรจะจัดกลุ่มภาษามุณฑะกับภาษามอญ – เขมร ให้อยู่ในตระกูลภาษาเดียวกันหรือไม่ เพราะภาษาพูดของทั้งสองกลุ่มต่างก็แสดงให้เห็นถึงระเบียบความคิดที่ตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง ข้อถกเถียงของ Sir George Grierson ได้ถูกนำมาวิเคราะห์ต่ออย่างเป็นระบบในงานศึกษาของ Patricia Donegan (et. al, 1983, p.3) ที่ศึกษาเปรียบเทียบโครงสร้างทางภาษาระหว่างภาษามุณฑะกับภาษามอญ – เขมร พบว่า แม้ว่าทั้งสองภาษาจะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติกเหมือนกัน แต่เมื่อพิจารณาถึงโครงสร้างภาษากลับพบว่า มีความตรงกันข้ามกันในทุก ๆ ระดับ ดังนั้นแนวคิดที่ว่าชาวมอญสืบเชื้อสายมาจากชาวมัณฑุ เพราะมีภาษาพูดในตระกูลเดียวกันจึงยังคงเป็นข้อถกเถียงอยู่ สำหรับงานศึกษาทางพันธุกรรมศาสตร์ได้นำเสนอข้อถกเถียงที่สำคัญว่า แท้จริงแล้ว ชาวมุณฑะในประเทศอินเดียมีความเกี่ยวข้องทางพันธุกรรมกับประชากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สันนิษฐานว่าสืบเชื้อสายมาจากชาวมุณฑะหรือไม่ โดยงานศึกษาของ Riccio et. al ( 2011, pp.405 – 406) ได้ศึกษาความหลากหลายของลักษณะทางพันธุกรรมของยีน HLA (HLA - A, - B, and – DRB 1 loci) ที่พบในชาวมุณฑะที่อาศัยอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียว่า มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับยีน HLA ที่พบในประชากรกลุ่มอื่น ๆ ในอนุทวีปอินเดียกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือไม่ ผลการศึกษาพบว่า ชาวมุณฑะมีความใกล้ชิดทางพันธุกรรมกับประชากรที่อาศัยอยู่ในอนุทวีปอินเดียมากกว่าประชากรกลุ่มที่อาศัยอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และพูดภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติกเช่นเดียวกับชาวมุณฑะ จากผลการศึกษาดังกล่าวจึงทำให้ Riccio ไม่สนับสนุนแนวคิดที่ว่า ชาวมุณฑะอาจเป็นตัวแทนของกลุ่มประชากรที่สืบเชื้อสายมาจากต้นบรรพบุรุษของกลุ่มชนที่พูดภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติกในอินเดีย และอพยพไปทางทิศตะวันออกเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แนวคิดที่สาม ชาวมอญมาจากอินเดียทางตอนใต้แนวคิดดังกล่าวอ้างถึงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี และความเชื่อมโยงทางด้านวัฒนธรรม นักวิชาการบางส่วนจึงมีข้อสมมุติฐานว่า ชาวมอญสืบเชื้อสายมาจากชาวอินเดียใต้ (ผาสุก อินทราวุธ , 2548, หน้า 85) กล่าวคือ ในส่วนของหลักฐานทางประวัติศาสตร์นั้น งานศึกษาของ C.D. (1912 อ้างถึงใน สุภรณ์ โอเจริญ, 2541, หน้า 15) ได้เสนอให้พิจารณาจากร่องรอยของคำในภาษาพม่าที่ใช้เรียกคนมอญว่า “เตลง ” (Talaing) ซึ่งปรากฏอยู่ในจารึกพม่าตั้งแต่ปี พ.ศ.1650 สมัยพระเจ้าอโนรธา โดยนักวิชาการบางส่วนคาดว่าเป็นคำที่คนพม่าใช้เรียกคนมอญทางตอนใต้ที่อาศัยปะปนอยู่กับชาวอินเดียที่มาจากตลิงคะ (เตลิงคะนะ) หรือรัฐเตลังคานา (Talangana) ประเทศอินเดียในปัจจุบัน (G.H. Luce, 1969, อ้างถึงใน องค์ บรรจุน, 2559, หน้า 54) ในขณะที่งานศึกษาขององค์ บรรจุน (2559, หน้า 54) ได้พยายามชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงทางด้านวัฒนธรรมระหว่างชาวมอญกับชาวอินเดียทางตอนใต้ อันสอดคล้องกับคัมภีร์พิธีรำผีมอญที่จะต้องมีขั้นตอนเซ่นไหว้เจ้าพ่อแห่งชมพูทวีป (ตะละเหญียะฮ์เกาะเกรียง) ในการประกอบพิธีทุกครั้ง ตลอดจนการรับวัฒนธรรมและตัวอักษรปัลลวะของอินเดียใต้มาพัฒนาขึ้นเป็นอักษรมอญในปัจจุบัน รวมทั้งตำนานที่ตกทอดอยู่ในบทเพลงที่กล่าวถึงมอญ 3 กลุ่ม ซึ่งมีสัญลักษณ์ในการนับถือผี (Totem) ที่ต่างกัน ได้แก่ “มอญตาง” (สัญลักษณ์ ผ้า) อาศัยอยู่ในเมืองหาสาวดี มาจากลุ่มน้ำคงคา “มอญเตี๊ยะ” (สัญลักษณ์ มะพร้าว) อาศัยอยู่ในเมืองพะสิม มาจากแคว้นตลิงคะ และ “ มอญญะ ” (สัญลักษณ์ กระบอกไม้ไผ่) อาศัยอยู่ในเมืองเมาะลำเลิง (มะละแหม่ง) มาจากปากน้ำโคธาวาร (Nai Pan Hla, 1992, p.48 อ้างถึงใน องค์ บรรจุน, 2559, หน้า 54)
ประวัติศาสตร์มอญที่ยาวนานนับพันปี สามารถอธิบายโดยแบ่งเป็น 2 ช่วงเวลา อันได้แก่ ประวัติศาสตร์อาณาจักรมอญโบราณ และประวัติศาสตร์คนมอญในเมืองไทยในฐานะผู้พลัดถิ่น ดังต่อไปนี้
ประวัติศาสตร์อาณาจักรมอญสมัยโบราณ
ที่ตั้งของอาณาจักรมอญยุคโบราณสามารถจำแนกออกเป็น 2 พื้นที่ คือ 1.) อาณาจักรมอญในประเทศไทย และอาณาจักรมอญในประเทศพม่า ทั้งนี้ การศึกษาร่องรอยของอาณาจักรมอญสมัยโบราณในช่วงแรกจะอ้างอิงจากหลักฐานทางโบราณคดีที่ขุดค้นพบจากประเทศไทยมากกว่าประเทศพม่า เพราะในช่วงเวลานั้น ทางประเทศพม่ายังมีการขุดค้นทางโบราณคดีและการศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์ไม่มากนัก ดังนั้น นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่จึงสันนิษฐานว่า อารยธรรมมอญยุคแรกเริ่มมีศูนย์กลางอยู่ที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ก็มีนักวิชาการบางส่วนที่เชื่อว่า มีความเป็นไปได้ที่ทั้งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและทางพม่าตอนล่างเป็นแหล่งอารยธรรมที่เจริญควบคู่กันมา (Emmanuel Guillon, 1999, pp. 72 – 73 อ้างถึงใน องค์ บรรจุน, 2559, หน้า 56)
อาณาจักรมอญโบราณในประเทศไทย
สำหรับการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีเกี่ยวกับอาณาจักรมอญโบราณในประเทศไทยนั้น จดหมายเหตุการณ์เดินทางของพ่อค้าและขุนนางราชวงศ์ถัง พ.ศ. 1132 – 1405 และบันทึกของพระถังซำจั๋ง พระภิกษุสงฆ์ชาวจีนที่เดินทางไปอินเดียในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 ได้กล่าวถึงรัฐชาวพุทธแห่งหนึ่ง ชื่อ “โตโลปี” (to – lo- po – ti) ซึ่ง Samuel Beal นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันได้ตีความชื่อนี้เป็นภาษาสันสกฤตว่า “ทวาราวดี” และเสนอว่า อาณาจักรนี้อยู่ในภาคกลางของประเทศไทย คำว่า “ทวาราวดี” มาจากคำจารึกภาษาสันสกฤตว่า “ศรีทวาราวดี ศวรปุณยะ” อันมีความหมายว่า “พระเจ้าศรีทวาราวดีผู้มีบุญอันประเสริฐ” (ธิดา สารยะ, 2545, หน้า 10) โดยปรากฏคำจารึกนี้บนเหรียญเงิน 2 เหรียญ ซึ่งพบที่พระปฐมเจดีย์ในจังหวัดนครปฐม และที่อินทร์บุรีใกล้จังหวัดลพบุรี นอกจากนี้ ยังได้พบจารึกชื่อ “ทวาราวดี” บนฐานบัวศิลาทรายแดงรองรับพระพุทธรูปที่วัดจันทึก อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 1223 หลักฐานทางโบราณคดีเหล่านี้จึงสนับสนุนให้นักประวัติศาสตร์ศิลปะเรียกชื่อศิลปะแบบมอญในช่วงเวลานี้ที่พบในประเทศไทยว่า “ทวาราวดี” ด้วย ( กรรณิการ์ วิมลเกษม และจิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา, 2542, หน้า 392)
Paul Pelliot นักวิชาการชาวฝรั่งเศสเสนอสมมุติฐานว่า ประชากรของอาณาจักรเป็นมอญ ข้อสมมุติฐานข้างต้นมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น เมื่อมีการขุดค้นพบจารึกภาษามอญที่เก่าแก่ที่สุด คือ จารึกสองชิ้นพบที่วัดโพธิ์ร้าง อ.เมือง จ.นครปฐม ซึ่ง Emmanuel Guillon สันนิษฐานว่า ตัวอักษรที่ใช้ในจารึกมีแหล่งกำเนิดจากอักษรปัลลวะจากอาณาจักรปัลลวะในอินเดียใต้ และอักษรจากตอนกลางลุ่มแม่น้ำกฤษณาทางตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดีย จารึกดังกล่าวยังปรากฎคำที่เชื่อมโยงกับสำนึกความเป็นมอญ คือ คำว่า “โต้ง” อันหมายถึงเจ้าพิธีในการรำผีของมอญด้วย ต่อมาได้มีการค้นพบจารึกภาษามอญโบราณกระจายอยู่ตามบริเวณภาคกลางของประเทศไทย นักประวัติศาสตร์จึงสรุปว่า ภาษามอญเป็นภาษาเดียวที่มีการจารึกในยุคนี้และบริเวณนี้ (Emmanuel Guillon, 1999, pp. 73,78 อ้างถึงใน องค์ บรรจุน, 2559, หน้า 58 ; องค์ บรรจุน 28 ตุลาคม 2014) นอกจากนี้ยังได้ปรากฎจารึกอักษรมอญโบราณดังกล่าวที่ฐานเจดีย์วัดเป่อแหละเหงี่ม หรือโบตาทอง (Botahtaung) ในเมืองละเกิง (ย่างกุ้ง) และเสาสลักที่บ้านตลาดในบริเวณที่ราบเวียงจันทร์ของลาว รวมทั้งพระพุทธรูปยืนที่มีลักษณะจีวรและพระศกที่สัมพันธ์กับศิลปะทวาราวดีในที่ราบภาคกลางของไทย อันเป็นหลักฐานที่ยืนยันขอบเขตของอารยธรรมทวาราวดีซึ่งขยายพื้นที่ออกไปมาก (องค์ บรรจุน, 2559, หน้า 60)
อาณาจักรทวาราวดีมีอำนาจทางการเมืองอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 11 และพุทธศตวรรษที่ 12 คาดว่าเป็นอาณาจักรที่อยู่บริเวณภาคกลางของประเทศไทย นักวิชาการส่วนใหญ่สันนิษฐานว่า เมืองหลวงของอาณาจักรทวาราวดีอยู่ที่บริเวณเมืองเมืองนครปฐมโบราณ ซึ่งมีพระปฐมเจดีย์เป็นศูนย์กลางและมีเจดีย์พระประโทนเป็นองค์ประกอบอยู่ทางด้านตะวันออก (ธิดา สาระยา, 2545, หน้า 24) แต่ฌอง บวสเซอลิเยร์และควอริทซ์ เวลส์ (H.G. Quaritch Wales) นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษมีความเห็นว่า อู่ทองน่าจะเก่าแก่กว่าและเป็นเมืองหลวงมากกว่า เพราะอู่ทองมีผังเมืองเป็นรูปวงรีแบบผังเมืองของมอญ และมีการค้นพบเครื่องมือหินใหม่ที่แสดงว่า เป็นแหล่งที่มีการตั้งถิ่นฐานมานานมากแล้ว นอกจากนี้ยังค้นพบแผ่นทองแดงจารึกชื่อกษัตริย์ 2 องค์ คือ พระเจ้าหรรษะวรมัน (Harshavarman) และพระเจ้าอีศานวรมัน (Isanavarman) ซึ่งอาจจะแสดงถึงความเป็นเครือญาติกับราชวงศ์เขมรในยุคเดียวกัน นอกจากนี้ยังพบจารึกไดอัง (Kdai Ang) ของเขมรซึ่งสร้างขึ้นในราวปี พ.ศ.1172 ร่วมยุคเดียวกัน กล่าวถึงมอญด้วยชื่อโบราณว่า “รามัญ” หรือ “รมัญ” (องค์ บรรจุน, 2559, หน้า 59)
โครงสร้างของอาณาจักรทวาราวดีประกอบด้วย “ บ้านพี่เมืองน้อง ” ต่าง ๆ ซึ่งมีโครงสร้างวัฒนธรรมเดียวกันที่เป็นอารยธรรม “ทวาราวดี” แต่ในขณะเดียวกัน อารยธรรมทวาราวดีก็ถูกผสมกลมกลืนไปกับวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วย จนกระทั่งเกิดเป็นอารยธรรมเฉพาะตนขึ้นในประเทศไทย (องค์ บรรจุน, 2559, หน้า 59) ภาพถ่ายทางอากาศเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงขอบเขตของอารยธรรมทวาราวดีที่แผ่ขยายไปอย่างกว้างขวาง เพราะได้แสดงให้เห็นว่า ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา มีเมืองรูปวงรีแบบเดียวกันที่มีผู้คนอยู่อาศัยมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 6 – 11 เป็นจำนวนมากกว่า 20 เมือง เมืองสำคัญในภาคกลาง เช่น เมืองอู่ทอง เมืองสุพรรณบุรี เมืองสังขละบุรี เมืองคูบัว เมืองราชบุรี เมืองซับจาปา เมืองลพบุรี เมืองนครปฐม เมืองดงศรีมหาโพธิ์ และเมืองศรีเทพ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ เมืองเสมา เมืองพุทไธสง เมืองฟ้าแดดสงยาง เมืองนครจาปาศรีนาดูน และเมืองกันทรวิชัย ในภาคเหนือ ได้แก่ เมืองหริภุญไชย เมืองศรีสัชนาลัย และเมืองพิษณุโลก ส่วนทางภาคใต้ ได้แก่ เมืองนครศรีธรรมราช เมืองไชยา เมืองสะทิงพระ และเมืองยะรัง กระทั่งในยุคต่อมา คือ พุทธศตวรรษที่ 13 – 14 พงศาวดารมอญฉบับปากลัดยังได้กล่าวถึงหัวเมืองมอญ 3 แห่ง คือ พะสิม (สิเรียม) พะโค (หงสาวดี) และเมาะตะมะ (ธิดา สาระยา, 2545, หน้า 24)
นักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อว่า อาณาจักรทวาราวดีเป็นอาณาจักรของชาวมอญโบราณ โดยชาวมอญเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ในอาณาจักรและเป็นชนชั้นผู้ปกครอง (ปภัสสร เธียรปัญญา, หน้า 20) และมีประชากรหลากหลายชาติพันธุ์อาศัยอยู่ปะปนด้วย ได้แก่ ไทย (สยาม) เป็นหลัก นอกจากนั้นเป็นชาวต่างชาติ เช่น เปอร์เซีย จีน อินเดีย ซึ่งเข้ามาติดต่อด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรม (ธิดา สาระยา, 2545, หน้า 183) ทั้งนี้ เนื่องจากเมืองต่าง ๆ ในอาณาจักรทวาราวดีส่วนใหญ่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการทำเกษตรกรรม เมืองเหล่านี้จึงมีความสำคัญในด้านการเกษตรกรรม โดยเฉพาะการปลูกข้าว ส่วนเมืองชัยภูมิอยู่ในศูนย์กลางของเส้นทางการค้า ทางบก และการค้าทางทะเล นอกจากนี้ ในยุคที่อาณาจักรทวาราวดีรุ่งเรืองยังได้มีการหลั่งไหลแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกับอารยธรรมอื่น ๆ โดยเฉพาะอารยธรรมจากอินเดีย ดังจะเห็นได้จากการขุดค้นพบโบราณวัตถุจำนวนมากที่มีอิทธิพลศิลปะอินเดียทั้งในศาสนาพุทธและฮินดู โดยศิลปะทวาราวดีมีวิวัฒนาการต่อมาจนถึงประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 ศึกษาได้จากการค้นพบเสมาหินในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยที่มีรูปแบบและคติในการสร้างคล้ายคลึงกันกับของอาณาจักรสะเทิม (Thaton) ของมอญในพม่าตอนล่าง ซึ่งพิสูจน์ถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างกัน รวมทั้งมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมเดียวกันระหว่างประชากรทั้งสองกลุ่ม (Emmanuel Guillon, 1999, p.78, 86 อ้างถึงใน องค์ บรรจุน, 2559, หน้า 60)
ต่อมา ศูนย์กลางของอาณาจักรทวาราวดีในบริเวณจังหวัดนครปฐมหรือสุพรรณบุรีเริ่มเสื่อมอำนาจลง ศูนย์กลางของอำนาจจึงได้เคลื่อนไปยังเมืองหริภุญชัย (จ.ลำพูน) ในราวพุทธศตวรรษที่ 13 และเมื่อเมืองทวาราวดีในบริเวณจังหวัดนครปฐมหรือสุพรรณบุรีตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของเขมรที่ครอบครองอาณาจักรอีสานปุระ ชาวมอญจำนวนหนึ่งจึงอพยพขึ้นทางเหนือสู่หริภุญชัยในราวพุทธศตวรรษที่ 16 (สรัสวดี อ๋องสกุล, 2543, หน้า 40) โดยนักวิชาการต่างมีความเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับสาเหตุของการสูญสิ้นของอาณาจักรทวาราวดี กล่าวคือ ปิแอร์ ดูปอง (Pierre Dupont) นักวิชาการชาวฝรั่งเศสให้เหตุผลการสูญสิ้นของรัฐทวาราวดีว่า เกิดจากการรุกรานของกองทัพพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 (ครองราชย์ พ.ศ.1544 - 1593) จากเขมร ส่วนฌอง บวสเซอลิเยร์ (Jean Boisselier) นักวิชาการชาวฝรั่งเศสอีกท่านหนึ่ง เชื่อว่า กองทัพที่เข้ามารุกรานทวาราวดี เมื่อราว พ.ศ.1724 – 2267 คือ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (ครองราชย์ พ.ศ. 1724 - 1761) แต่เอมมานูเอล จียอง (Emmanuel Guillion) นักวิชาการชาวฝรั่งเศสร่วมสมัย มีความเห็นว่า น่าจะเป็นการค่อย ๆ ซึมซับทางวัฒนธรรม และกลืนกันไปในที่สุดมากกว่า (ปภัสสร เธียรปัญญา, 2547, หน้า 16 – 17) อันสอดคล้องกับความเห็นของสุวิชญ์ รัศมิภูติ อดีตรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการและอธิบดีกรมศิลปากรที่ระบุในคำนำหนังสือ “ประวัติศาสตร์โบราณคดี - กัมพูชา” เขียนโดย นิคม มุสิกะคามะ อดีตอธิบดีกรมศิลปากรลำดับถัดมาว่า “ความผูกพันใกล้ชิดนี้น่าเชื่อว่า ไทย - ลาว และขอม - มอญ นั้นมีส่วนร่วมโคตรเหง้าทางภาษาและวัฒนธรรมกันมาแต่โบราณในยุคก่อนประวัติศาสตร์” และความเห็นของชาร์ลส ไอแฮม คือ “คนก่อนประวัติศาสตร์สมัยหินใหม่ สัมฤทธิ์ และสมัยเหล็กนั้นมี ‘Gene’ หรือหน่วยถ่ายพันธุ์ ถ่ายทอดปะปนคละเคล้ากันมาเป็นระยะเวลานานและผสมผสานถ่ายทอดมายังรุ่นลูกหลานที่เป็นคนไทยในผืนแผ่นดินไทยตราบทุกวันนี้” (ชาร์ลส ไฮแอม และ รัชนี ทศรัตน์, 2542, หน้า 218)
สำหรับศูนย์กลางอำนาจของอารยธรรมทวาราวดีในภาคเหนือ ณ เมืองหริภุญชัย บริเวณลุ่มแม่น้ำปิงนั้น นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่า แต่เดิมเมืองนี้คงเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรทวาราวดี ซึ่งมีเมืองละโว้เป็นศูนย์กลางอำนาจและได้แผ่ขยายวัฒนธรรมมอญจากเมืองละโว้ขึ้นมาทางภาคเหนือ โดยเมืองหริภุญชัยเป็นเมืองเหนือสุดที่รับวัฒนธรรมมอญจากละโว้ ต่อมาเมืองหริภุญชัยได้แยกตัวเป็นอิสระ และพัฒนาการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมในภูมิภาคนี้ ต่อมาจึงรับวัฒนธรรมจากแหล่งอื่น ๆ เข้ามาผสมผสาน เช่น ศิลปะพุกาม ศิลปะอินเดียสมัยปัลลวะ จนสร้างเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น “ มอญหริภุญชัย ” (องค์ บรรจุน, 2559, หน้า 61) การตั้งถิ่นฐานของเมืองหริภุญชัยตั้งอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำปิงขยายตัวจนถึงเวียงฮอด (อ.ฮอด จ.ตาก) ซึ่งอยู่ใต้สุด โดยตั้งอยู่บนเส้นทางที่เชื่อมชุมทางการค้าระหว่างล้านนากับอยุธยา และยังสามารถตัดข้ามภูเขาไปยังเมืองหงสาวดีในเขตหัวเมืองมอญได้ ( สรัสวดี อ๋องสกุล, 2543, หน้า 76)
ตำนานจามเทวีวงศ์และสังคีติยวงศ์กล่าวถึงการสร้างเมืองหริภุญชัย และการอัญเชิญพระนางจามเทวีจากละโว้ (ลพบุรี) มาครองเมืองหริภุญชัย เมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ 14 มีพระเถระ ขุนนาง ข้าราชการ และช่างฝีมือผู้เชี่ยวชาญศิลปวิทยาการแขนงต่าง ๆ ติดตามมาด้วยเป็นจำนวนมาก พระนางจามเทวีจึงเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จามเทวี เอกสารโบราณของจีนเรียกเมืองหริภุญชัยว่า “หนี่หวังก๊ก” ซึ่งหมายถึง อาณาจักรที่มีกษัตริย์เป็นผู้หญิง (องค์ บรรจุน, 2559, หน้า 61) ประชากรในเมืองหริภุญชัยประกอบด้วยชาติพันธุ์ผสม คือ ชาวเม็ง (มอญ) และลัวะ ซึ่งเป็นชาติพันธุ์เดิม ในภายหลังจึงปรากฎกลุ่มคนไทย นอกจากนี้ยังมีชาวละโว้ซึ่งเชื่อกันว่า เป็นมอญที่มากับพระนางจามเทวี โดยมี “เม็ง” (คำเรียก “ มอญ ” ของชาวล้านนา) เป็นกลุ่มที่รับความเจริญมาจากมอญในแถบภาคกลางเป็นชนชั้นปกครอง (สรัสวดี อ๋องสกุล, 2543, หน้า 83) สภาพบ้านเมืองของหริภุญชัยมีความสงบ ปราศจากสงคราม มีความเจริญรุ่งเรืองทางพระพุทธศาสนา กษัตริย์ที่สำคัญในสมัยนี้ คือ พญาอาทิตยราช ผู้ทรงสร้างพระธาตุหริภุญชัยเมื่อประมาณ พ.ศ.1700 และพญาสววาธิสิทธิ (สรรพสิทธิ์) ดังพบหลักฐานศิลาจารึกเป็นภาษามอญที่มีจารึกพระราชกรณียกิจของพระองค์ในด้านศาสนา (จำปา เยื้องเจริญ, 2532, หน้า 11 - 14) ความเจริญด้านต่าง ๆ จากหริภุญชัยได้แพร่ไปสู่เมืองที่เกิดขึ้นในระยะต่อมา เช่น ล้านนา กล่าวคือ ตัวอักษรธรรมล้านนามีที่มาจากอักษรมอญหรือหริภุญชัย ด้านศิลปกรรมก็ยอมรับศิลปะหริภุญชัยอย่างเด่นชัด เช่น รูปทรงเจดีย์ รวมทั้งกฎหมาย “มังรายศาสตร์” ที่น่าเชื่อว่าจะได้รับอิทธิพลมาจากกฎหมายของมอญที่หริภุญชัย (สรัสวดี อ๋องสกุล, 2543, หน้า 131)
ส่วนเมืองสุโขทัยซึ่งครอบครองดินแดนที่เคยเป็นของมอญในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและดินแดนบริเวณเหนือแม่น้ำโขงสืบแทนพวกเขมรนั้น (สรัสวดี อ๋องสกุล, 2543, หน้า 121) ประชากรส่วนใหญ่ของสุโขทัยก็คงจะเป็นมอญและเขมร ซึ่งพ่อขุนรามคำแหงคงได้ดัดแปลงตัวอักษรจากทั้ง 2 ชาติ (ประเสริฐ ณ นคร, 2534, หน้า 13 - 14) เป็นภาษาทางการเพื่อที่ประชากรในอาณาจักรสุโขทัยที่พูดภาษามอญและเขมรจะสามารถใช้ร่วมกันได้ (องค์ บรรจุน, 2559, หน้า 62)
อาณาจักรมอญโบราณในประเทศพม่า
ปัจจุบัน ประเทศพม่าให้ความสำคัญกับการขุดค้นทางโบราณคดีมากขึ้น ทำให้เกิดการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีที่มีนัยยะสำคัญต่อการศึกษาเกี่ยวกับอาณาจักรมอญโบราณในประเทศพม่ามากยิ่งขึ้น ดังปรากฏรายชื่อแหล่งโบราณคดีในพิพิธภัณฑ์มอญเมืองเมาะลำเลิง (มะละแหม่ง) รัฐมอญ ประเทศพม่าหลายแห่ง เช่น แหล่งโบราณคดีในแขวงเมืองจย้าจก์แหมะโร่ะฮ์ (Kyail Mayaw) ย่านหมู่บ้านเกาะซั่วเกาะซ่าก ประกอบด้วยถ้ำธ่มแหมะสะ (Dhamathat Cave) ถ้ำเต่อคะราม (Khayone Cave) และถ้ำจะปาย (Sabae Cave) แหล่งโบราณคดีเมืองโบราณเมาะตะมะ (Motama Ancient City) พระธาตุอินทร์แขวน (Kyaik htiyoe Pagoda) เมืองโบราณเว่คะราว (Wagaru Ancient City) แหล่งโบราณคดีในแถบเมียนมาใต้ (Lower Myanmar) เมืองพะสิม หรือเมืองสิเรียม (Bassein) และแหล่งโบราณคดีสำคัญเมืองย่านเก่าสุวรรณภูมิ คือ แหล่งโบราณคดีหมู่บ้านวังกะ (Win Ka Ancient City) และเมืองโบราณสุวรรณภูมิ (Suvanabumi ancient City) แหล่งโบราณคดีกำแพงเมืองเก่าสะเทิม หรือสุธรรมวดี (Kadike Gyi Fortress Thaton) (U San Win, 2012, pp.1-3 อ้างถึงใน องค์ บรรจุน, 2559, 56 -57) นอกจากนี้ยังมีแหล่งโบราณคดีในรัฐกะเหรี่ยง ประกอบด้วย ถ้ำโบราณ 2 แห่ง คือ ถ้ำเกาะกุ้น (Kaw – Goon Cave) และถ้ำยะตะบัน (Ya The Byan Cave) ซึ่งอยู่ใกล้กัน เป็นเขตอารยธรรมโบราณทวาราวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 11 – 12 (U Tun Aung Chain, 2013, p.18 อ้างถึงใน องค์ บรรจุน, 2559, หน้า 56 -57) เช่นเดียวกับที่สเตทเนอร์ (Donald M.Stadtner) ยืนยันว่า หลักฐานทางด้านโบราณคดีที่พบทางตอนใต้ของประเทศพม่า ได้แก่ ชิ้นส่วนอิฐสร้างวัด ซากสถูป ภาชนะดินเผา จารึกคำอุทิศถวาย เหรียญเงิน รูปสลักในทางพุทธศาสนาและฮินดู รูปสำริด และจารึกภาษามอญ ล้วนแสดงให้เห็นถึงอารยธรรมมอญที่เจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่ช่วงพันปีแรก (Stadtner, 2011, p.25 อ้างถึงใน องค์ บรรจุน, 2559, หน้า 57)
อย่างไรก็ตาม ไมเคิล ออง ทวิน (Michael A.Aung Thwin) นักประวัติศาสตร์ชาวพม่า ได้แสดงข้อโต้แย้งในงานศึกษาของเขา คือ “The Mists of Ramanna : The Legend that was Lower Burma ” ว่า แท้จริงแล้ว อารยธรรมทางตอนใต้ของพม่าเป็นของชาวพยู (Pyu) และเป็นการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมจากพม่าตอนบน สู่พม่าตอนล่างแบบทางเดียว (Single Dominant) หรือการที่เอลิซาเบธ มอร์ (Elizabeth H.Moore) เลือกที่จะศึกษาเทียงเคียงรูปแบบทางศิลปะ “ มอญและพยู ” (Mon and Pyu) ที่เป็นต้นแบบของอารยธรรมพม่า โดยแม้จะตัดขาดจากความเกี่ยวข้องทางภาษาและวัฒนธรรมออกไป แต่มอร์ก็เชื่อว่าเป็นต้นแบบของอารยธรรมพม่า โดยแม้จะตัดขาดจากความเกี่ยวข้องทางภาษาและวัฒนธรรมออกไป แต่มอร์ก็เชื่อว่า อย่างน้อยการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมก็มีความซับซ้อนและเกิดจากหลายกลุ่มวัฒนธรรม (Moore, 2007, pp. 129-131 อ้างถึงใน องค์ บรรจุน, 2559, หน้า 57 ) ทว่า Stadtner ยังคงยืนยันว่า ไม่เพียงแค่ความมั่งคั่งและความแผ่กว้างของอารยธรรมทางตอนใต้ของพม่าในยุคต้นเท่านั้น แต่ยังเป็นคุณลักษณะอีกด้วยที่มาจากวัฒนธรรมมอญ (Stadtner, 2011, p.30 อ้างถึงใน องค์ บรรจุน, 2559, หน้า 57)
ประวัติการก่อตั้งอาณาจักรมอญโบราณได้ถูกกล่าวถึงในพงศาวดารชนชาติมอญ (ฉบับอักษรมอญ) แปลโดยพระครูโชติธรรมสุนทร ที่ระบุว่า รัชสมัยของพระเจ้าติสสะได้ทรงก่อตั้งอาณาจักรมอญขึ้นที่แคว้นมณีปุระในชมพูทวีป มีเมืองหลวงชื่อ “ทูปินะ” ต่อมาเกิดการแย่งชิงราชสมบัติกันขึ้น พระราชโอกาสของพระเจ้าติสสะทั้ง 2 พระองค์ จึงได้รวบรวมไพร่พลลงเรือสำเภามายังสุวรรณภูมิ (2543, หน้า 13) พบทำเลบริเวณอ่าวเมาะตะมะเป็นที่ราบ ล้อมรอบด้วยภูเขาเกลาสะ ชัยภูมิเหมาะสมแก่การสร้างเมืองและเป็นยุทธศาสตร์ในการป้องกันข้าศึกได้ดี พระเจ้าสีหะราชา บุตรบุญธรรมของพระราชโอรสในพระเจ้าติสสะ จึงได้ก่อตั้งกรุงสุธรรมวดี (สะเทิม หรือสุวรรณภูมิ) สถาปนาอาณาจักรมอญขึ้นตั้งแต่ก่อนปีพุทธศักราช 241 (เรื่องเดียวกัน, หน้า 16) ในขณะที่บันทึกของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ระบุว่า ชาวมอญค่อย ๆ ขยายอาณาเขตจากบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำสาละวินขึ้นไปในแถบที่ราบลุ่มแม่น้ำอิระวดีและแม่น้ำสะโตง จนสามารถสถาปนาอาณาจักรแรกขึ้นได้โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองสะเทิม (สมเด็จกรมพระยาดำรงเดชานุภาพ, 2999, หน้า 423) ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากหลักฐานทางโบราณคดีที่มีการค้นพบจารึกโบราณทั้ง 3 ชิ้น ได้แก่ จารึกวัดโพธิ์ร้าง จ.นครปฐม ที่สร้างขึ้นราว พ.ศ.1143 จารึกปยู (Pyu)[1] พบบนโกศศพที่ศรีเกษตร สร้างขึ้นราว พ.ศ.1216 และจารึกไดอังของเขมร สร้างขึ้นราว พ.ศ.1172 จารึกเหล่านี้ได้กลายเป็นหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดที่แสดงให้เห็นถึงการเริ่มต้นของการบันทึกประวัติศาสตร์ที่ร่วมสมัยชองชนชาติทั้ง 3 เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 11 – 13 นักประวัติศาสตร์จึงสันนิษฐานว่า ชาวมอญได้ตั้งถิ่นฐานขึ้นทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำอิรวดีในบริเวณพม่าตอนล่าง ร่วมสมัยกับเขมรและปยู ราวพุทธศตวรรษที่ 8 – 13 ก่อนที่บรรพบุรุษปัจจุบันของชาวพม่าจะเคลื่อนย้ายเข้ามา (กรมศิลปากร, 2529, หน้า 29) ซึ่งศูนย์กลางอำนาจในยุคนั้นเป็นลักษณะของรัฐอิสระที่ไม่ขึ้นตรงต่อกัน ไม่มีเส้นแบ่งเขตแดนที่ชัดเจน แน่นอน บางครั้งจึงมีอาณาเขตที่ซ้อนทับกัน มีการเคลื่อนตัวไปมาของประชากรอยู่เสมอ เป็นไปตามสถานการณ์ทางการเมืองหรือสังคมในช่วงนั้น ๆ เช่น ประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 16 อาณาจักรหริภุญชัยเกิดอหิวาตกโรคระบาดต้องอพยพไปอยู่อาณาจักรสะเทิมและหง สาวดี ราว 6 ปี ภายหลังจากโรคร้ายสงบลงก็อพยพกลับมาหริภุญชัยตามเดิม (สรัสวดี อ๋องสกุล, 2543, หน้า 17)
นักประวัติศาสตร์บางท่านนับว่า อาณาจักรสะเทิมเป็นเมืองหลวงแห่งแรกของอารยธรรมมอญ นอกจากนี้ มอญยังสร้างอาณาจักรต่าง ๆ อีก 3 อาณาจักรที่อาจก่อรูปขึ้นและมีความเจริญไล่เลี่ยกับอาณาจักรทวาราวดี อันได้แก่ เมืองทวันเท (Twante), เมืองทะละ (Dala) และเมืองหงสาวดีหรือเมืองพะโค ซึ่งแต่ละอาณาจักรต่างเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อกัน (สุภรณ์ โอเจริญ, 2541, หน้า 17) ตามพงศาวดารชนชาติมอญระบุว่า เมืองสะเทิมนับเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่เกรียงไกรมากในยุคนั้น โดยมีพระมหากษัตริย์ปกครองสืบเนื่องต่อกันมารวมทั้งสิ้น 57 พระองค์ เป็นเวลานานกว่า 1, 500 ปี (จิราภรณ์ คชเสนี, 2552, หน้า 117) อีกทั้งยังเป็นเมืองที่ร่ำรวยทั้งด้านภาษา ศาสนา ศิลปะ และการค้า เนื่องด้วยความเป็นเมืองท่าชายทะเลทำให้เมืองสะเทิมกลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าที่สำคัญของภูมิภาคในยุคต้นประวัติศาสตร์ ซึ่งมีการติดต่อค้าขายกับต่างชาติ โดยเฉพาะกับอินเดีย อันส่งผลทำให้อารยธรรมมอญในสมัยเมืองสะเทิมได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากอินเดียเป็นส่วนใหญ่ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 เมืองสะเทิมจึงนับได้ว่า เป็นศูนย์กลางแห่งความเจริญรุ่งเรืองด้วยอารยธรรมต่าง ๆ ถึงขีดสุดยิ่งกว่าอาณาจักรใด ๆ ในบริเวณใกล้เคียง (สุกัญญา เบาเนิด,2549, หน้า 74) อาณาจักรสะเทิมมีความเจริญรุ่งเรืองต่อมาอีกหลายพันปีจนกระทั่งพม่าได้ก่อตั้งอาณาจักรพุกามขึ้น และได้ยกทัพเข้ามารุกรานอาณาจักรสะเทิมหลายครั้งจนกระทั่งอาณาจักรสะเทิมตกเป็นของพม่าอย่างสิ้นเชิงเมื่อปลายพุทธศตวรรษที่ 23 ในรัชสมัยของพระเจ้าอนิรุธหรืออโนระธามังช่อฝ่ายพม่าที่ได้กวาดต้อนเอานักปราชญ์ราชบัณฑิตและช่างศิลปะต่าง ๆ ของมอญกว่า 30,000 คน รวมทั้งพระไตรปิฏกและเจดีย์วัตถุและทรัพย์สินมีค่าต่าง ๆ มากมายไปไว้ที่เมืองพุกาม พม่าได้หลอมรวมวัฒนธรรมมอญให้กลายเป็นวัฒนธรรมประจำชาติพม่า ดังจะเห็นได้จากการเกษตรกรรม การชลประทาน การสร้างและตกแต่งเจดีย์ต่าง ๆ ในสมัยนั้น รวมทั้งการดัดแปลงตัวหนังสือมอญไปใช้เป็นตัวเขียนของพม่าตลอดจนรับคำในภาษามอญไปใช้ในภาษาพม่าด้วย ซึ่งนับตั้งแต่นั้นมา ศิลปวัฒนธรรม และอัตลักษณ์ความเป็นมอญในด้านต่าง ๆ ที่แม้จะยังคงอยู่ แต่ก็ถูกผสมผสานกลืมกลืนไปกับวัฒนธรรมของพม่าไปบ้าง (สุภรณ์ โอเจริญ, 2541, หน้า 17 – 18 ; ไพโรจน์ โพธิ์ไทร, 2519, หน้า 18)
ความพยายามของพม่าที่จะรวมมอญมอญเข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรพม่ายังมีอยู่ต่อเนื่อง แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะมอญก็สะสมกองกำลังต่อสู้เพื่ออิสรภาพของตนอยู่เสมอ จนมอญสามารถกอบกู้อิสรภาพและฟื้นตัวได้ถึง 2 ครั้ง ครั้งที่สำคัญ คือ สมัยพระเจ้าฟ้ารั่ว (Wareru) หรือมะกะโทที่ได้สถาปนาราชวงศ์ชานตะเลงขึ้น เมื่อ พศ.1830 มีเมาะตะมะเป็นเมืองหลวง ต่อมาในสมัยพระยาอู่ (Binnya U) ได้มีการย้ายเมืองหลวงจากเมาะตะมะมาที่หงสาวดี ในปี พ.ศ.1912 เพราะถูกโจมตีจากฝ่ายไทย (D. G.E. Hall, 1966 อ้างถึงใน พรพิมล ตรีโชติ, 2542, หน้า 114) จนกระทั่งในรัชสมัยของพระเจ้าราชาธิราช อาณาจักรมอญในพม่าตอนล่างสามารถรวมเป็นอาณาจักรเดียวกันได้เป็นครั้งแรก (สุจริตรา เปลี่ยนรุ่ง, 2553, หน้า 114) สำหรับเหตุผลที่มอญสามารถสถาปนาอาณาจักรขึ้นมาได้ในครั้งนั้นก็เนื่องจากพม่ากำลังเสื่อมอำนาจ จึงเกิดการจลาจลและสู้รบกันเอง รวมทั้งต้องสู้รบกับชาวมองโกล ซึ่งแผ่ขยายอำนาจเข้ามารุกรานพม่าในตอนเหนือ จึงทำให้มอญมีโอกาสพัฒนาบ้านเมืองอย่างเต็มที่อีกครั้งหนึ่ง อาจกล่าวได้ว่า ในช่วง พ.ศ.1966 – 2082 เป็นเหมือนยุคทองของมอญ กษัตริย์ที่สำคัญ คือ พญาวารุ (พ.ศ.1989 - 1993) พระนางชินสอบู หรือมิจาวปุ (พ.ศ. 1996 - 2035) และพระเจ้าธรรมเจดีย์หรือธรรมปิฎกธร (พ.ศ.2015 - 2035) จึงทำให้ในช่วงนั้น มอญได้ทำการติดต่อค้าขายกับต่างชาติอย่างมากมาย โดยมีเมืองท่าสำคัญ ได้แก่ สิเรียม พะสิม เมาะตะมะ และหงสาวดีประเทศที่มอญทำการค้าขายด้วย คือ อินเดีย มะละกา และหมู่เกาะมาเลย์ (สุภรณ์ โอเจริญ, 2541, หน้า 21 ; เจือจันทร์ วงศ์พลกานันท์, 2549, หน้า 46)
ในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 15 – 16 เมืองพะโค (Pegu) หรือเมืองหงสาวดีได้กลายเป็นเมืองหลวงและเป็นเมืองท่าที่เป็นศูนย์กลางการค้ากับพ่อค้าต่างชาติ โดยจากบันทึกของลูโดวิโก้ ดีวาร์ติมา (Ludovio di Varthema) พ่อค้าชาวอิตาเลียน ซึ่งเข้ามาในอาณาจักรมอญ พ.ศ.2048 ได้บันทึกถึงความมั่งคั่งของเมืองหงสาวดีว่า เมืองหงสาวดีเป็นเมืองใหญ่อยู่ใกล้ทะเลมีเรือเข้าออกมาก บ้านเรือนพระราชวังก็ก่อสร้างด้วยหินปูน มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ มีข้างเป็นจำนวนมาก พระราชาทรงเครื่องประดับทับทิมอันมีค่ามหาศาล สินค้าที่นำความมั่งคั่งมาสู่อาณาจักร ได้แก่ ครั่ง ไม้ ฝ้าย ไหม และทับทิม (สุจริตรา เปลี่ยนรุ่ง,2553, หน้า 116) อาณาจักรมอญในยุคนี้ยังมีความเจริญรุ่งเรืองทางอารยธรรมด้านต่าง ๆ เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะพระพุทธศาสนา ดังจะเห็นได้จากการสร้างเจดีย์ชเวดากอง (เจดีย์พระเกศธาตุ) ที่มีความสูงถึง 302 ฟุต และปิดทองตลององค์ ในรัชสมัยของพระนางชินสอบู (Shinsawbu) อีกทั้งยังมีการแลกเปลี่ยนสมณทูตกับลังกา และมีการแปลบัญญัติพระเจ้าฟ้ารั่วในสมัยพระเจ้าธรมเจดีย์ (เจือจันทร์ วงศ์พลกานันท์, 2549,หน้า 46) นอกจากนี้ วัฒนธรรมทางด้านการเมืองการปกครองก็มีความโดดเด่นเช่นกัน โดยเฉพาะในรัชสมัยของพระเจ้าธรรมเจดีย์ที่ทรงร่างกฎระเบียบการปกครองที่เรียกว่า “ธรรมเจดีย์พยัทตัน” (Dammajedipyatton) ไว้เป็นแบบอย่าง อีกทั้งยังจัดทำประมวลกฎหมายใหม่ที่ดัดแปลงมาจากพระมนูธรรมศาสตร์แปลเป็นภาษาพม่า ซึ่งรู้จักกันดีในนาม “พระธรรมศาสตร์ฉบับพระเจ้าฟ้ารั่ว” และรวบรวมกฎหมาย ประเพณีของพม่าเพื่อนำมาประยุกต์ใช้อีกด้วย (สุกัญญา เบาเนิด, 2549, หน้า 78 ; สุภรณ์ โอเจริญ, 2541, หน้า 21)
อย่างไรก็ตาม อาณาจักรมอญในยุคนี้ได้เสื่อมอำนาจลงในสมัยราชวงศ์ชานตะเลง อันเนื่องมาจากการปราชัยในสงครามกับพม่าในสมัยพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ แห่งราชวงศ์ตองอูของพม่า พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ได้ทรงรวมมอญเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรพม่าใน พ.ศ.2082 พร้อมทั้งทรงดำเนินนโยบายรวมมอญและพม่าเข้าเป็นชาติเดียวกัน โดยพม่ารับเอาอารยธรรมมอญไปใช้ ตลอดจนให้ชาวมอญรับราชการในตำแหน่งสำคัญ ๆ จึงทำให้ชาวมอญจึงอยู่อย่างสงบสุขได้ แต่เมื่อถึงรัชสมัยพระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์พม่าองค์ต่อมาที่ทรงฝักใฝ่การทำสงครามแผ่พระราชอาณาเขตและสร้างจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ให้พม่า จึงมีการบังคับเกณฑ์ชาวมอญเข้ากองทัพโดยไม่เลือกฤดูกาล ทำให้ชาวมอญเกิดภาวะอดอยาก ประกอบกับกษัตริย์องค์ต่อ ๆ มาก็ปกครองชาวมอญอย่างกดขี่ ทำให้ชาวมอญจึงก่อการจลาจลอยู่บ่อยครั้งและถูกทางการพม่าปราบปรามอย่างรุนแรง ชาวมอญจึงเริ่มพากันอพยพเข้าสู่ประเทศไทย (พ.ศ.2172) เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่นั้นมา (สุจริตรา เปลี่ยนรุ่ง, 2553, หน้า116 - 117)
สงครามระหว่างพม่าและมอญดำเนินไปหลายครั้ง โดยชาวมอญสามารถประกาศอิสรภาพอีกครั้งเมื่อปี พ.ศ.2283 ภายใต้การนำของสมิงทอพุทธเกษที่ได้รับความช่วยเหลือจากนักผจญภัยชาวฮอลันดาและโปรตุเกสอีกทางหนึ่ง ซึ่งเป็นช่วงที่ราชวงศ์ตองอูของพม่ากำลังเผชิญกับศึกสงครามทั้งกับไทยและจีนฮ่อ (สุภรณ์ โอเจริญ,2541, หน้า 25) อย่างไรก็ตาม ชาวมอญสามารถดำรงสถานะความเป็นเอกราชในช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น โดยในปี พ.ศ. 2294 ในรัชสมัยของพระเจ้าอลองพญา ซึ่งเป็นต้นวงศ์กษัตริย์สุดท้ายของพม่ามีนโยบายที่จะย้ายราชธานี จากเมืองตองอูที่ลุ่มน้ำสะโตงลงมาอยู่ที่เมืองหงสาวดี ได้สถาปนาหมู่บ้านชเวโบเป็นเมืองรัตนสิงห์ และยกทัพไปตีเมืองอังวะได้ในปี พ.ศ.2296 ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว อังกฤษและฝรั่งเศสกำลังแผ่ขยายอำนาจอยู่ ในขณะที่อังกฤษสนับสนุนพม่า ฝรั่งเศสก็เข้าสนับสนุนมอญ แต่เนื่องจากพม่าเข้มแข็งกว่า จึงสามารถยึดเมืองหงสาวดีได้ในปี พ.ศ. 2300 ส่งผลทำให้ชาวมอญจำนวนมากถูกสังหาร บ้านเรือนที่อยู่อาศัยและวัดวาอารามถูกเผาทำลายลงจำนวนมาก ทำให้มีการอพยพครั้งใหญ่ของชาวมอญเพื่อหลบหนีภัยสงครามเข้ามาในพื้นที่ของประเทศไทยในปัจจุบัน มอญได้สูญสิ้นอาณาจักรกลายเป็นชนชาติไร้แผ่นดินนับตั้งแต่นั้นมา ในช่วงยุคหลังอาณานิคมอังกฤษ มอญได้ถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของพม่า (ส.พลายน้อย (นามแฝง), 2544)
ประวัติศาสตร์ชาวมอญพลัดถิ่นในราชอาณาจักรไทย
ชาวมอญจำนวนมากอพยพเข้ามาในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาสี่ร้อยกว่าปี นับตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ ดังนั้น นอกเหนือจากรัฐมอญในพม่าแล้ว จึงอาจกล่าวได้ว่า ประเทศไทยเป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์มอญจำนวนมากที่สุดในโลก เส้นทางอพยพของมอญที่สำคัญ ได้แก่ (1.) ด่านพระเจดีย์สามองค์ จังหวัดกาญจนบุรี (2.) ด่านแม่ละเมา จังหวัดตาก (3.) ชายแดนจังหวัดเชียงใหม่ และ (4.) ทางเมืองอุทัยธานี โดยนิธิ เอียวศรีวงศ์ (2547 ) เสนอว่า การอพยพเข้ามาระลอกแรกของมอญ คือ เมื่อปี พ.ศ.2082 หลังจากกษัตริย์ในพม่าในราชวงศ์ตองอูเข้าตีเมืองเมาะตะมะ ชาวมอญอีกกลุ่มหนึ่งก็หนีตายเข้ามาในอยุธยาอีก รัฐไทยในยุคนั้นมักดำเนินนโยบายเป็นมิตรกับมอญ เพื่อใช้รัฐมอญเป็นเมืองหน้าด่านทำสงครามรบกับพม่า ด้วยเหตุนี้ ทางทิศตะวันตกจึงมีการตั้งค่ายหน้าด่าน 7 ค่าย และกลายเป็นหัวเมืองรามัญ 7 หัวเมือง ส่งส่วยทองคำ รับเกณฑ์คนมอญเข้ากองทัพ ตั้งกองเสบียง และลาดตระเวนให้กรุงเทพฯ โดยมีหลักฐานที่มีนัยยะสำคัญมากมาย เช่น วัดคงคาราม อ.โพธาราม จ.ราชบุรี มีวัดเก่าที่สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีกู่อัฏฐิบรรพชนที่ลูกหลานเชื่อว่า เป็นผู้นำหัวเมืองรามัญทั้ง 7 (ศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์, ผอ.สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ , สัมภาษณ์ ใน Thailand Science Research and Innovation, 20 ต.ค. 2015)
เหตุผลสำคัญของการอพยพของชาวมอญเข้ามาอาศัยอยู่ในอาณาบริเวณที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบันมี 5 ประการ คือ เดินทางเข้ามาติดต่อค้าขาย แลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและความเชื่อทางศาสนา ลี้ภัยสงคราม การสมรส และการติดตามญาติพี่น้องเข้ามาตั้งหลักแหล่งหรือประกอบอาชีพ การเคลื่อนย้ายของชาวมอญเข้ามาในดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบันจึงเกิดขึ้นเสมอ ๆ ด้วยเหตุผลข้างต้นตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงปัจจุบัน มีทั้งที่อยู่ในรูปของการอพยพด้วยความจำเป็นหรือการถูกบังคับ เนื่องจากภัยสงครามการบังคับกวาดต้อนเข้ามา กับการอพยพเข้ามาด้วยความเต็มใจ เช่น ทูตทางพุทธศาสนา แสวงหาที่ดินทำกินที่อุดมสมบูรณ์ และเพื่อทำมาค้าขายระหว่างกัน จากการศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้อง พบว่า การอพยพของชาวมอญเข้ามาในประเทศไทย เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนาน กว่า 47 ปีแล้ว โดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (2547,หน้า 12 - 17) ทรงค้นคว้าและสันนิษฐานว่า ชาวมอญมีการพลัดถิ่น 9 ระลอก โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
ระลอกที่ 1 เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2082 หลังจากพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ตีกรุงหงสาวดีแตก มีชนชั้นสูง ชาวมอญ ข้าราชบริพาร และข้าราชการจำนวนมาก อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในกรุงศรีอยุธยา และอีกครั้งในปี พ.ศ.2084 เมื่อเมืองเมาะตะมะถูกกษัตริย์จากราชวงศ์ตองอูเข้าตีแตก ชาวมอญถูกทหารพม่าฆ่าจนล้มตายจำนวนมาก จึงอพยพหนีตายเข้ามาในกรุงศรีอยุธยา
ระลอกที่ 2 เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2127 หลังจากพระเจ้าบุเรงนองสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยาประกาศแยกแผ่นดินกับกรุงหงสาวดี และเกลี้ยกล่อมชาวมอญจำนวนมากให้อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในอาณาจักรอยุธยา (พิสันห์ ปลัดสิงห์, 2530, หน้า 131 - 132)
ระลอกที่ 3 เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2138 เมื่อกรุงหงสาวดีแตก ชาวมอญอพยพเข้ามาทางตะวันออก เข้ามาตั้งถิ่นฐานในกรุงศรีอยุธยา
ระลอกที่ 4 เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2156 เมื่อกองทัพพม่าเข้าปราบปรามมอญอย่างหนัก ทำให้ชาวมอญอพยพเข้ามาในกรุงศรีอยุธยา
ระลอกที่ 5 เกิดขึ้นในระหว่างปี พ.ศ.2202 – 2205 เมื่อชาวมอญในพม่าก่อกบฏ และกองทัพพม่าปราบปรามอย่างหนัก ชาวมอญกลุ่มใหญ่จึงอพยพเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์
ระลอกที่ 6 เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2300 เมื่อพระเจ้าอลองพญา กษัตริย์พม่าเข้าตีกรุงหงสาวดี กดขี่ ทรมานชาวมอญ และทำลายล้างวัฒนธรรมมอญ ทำให้ชาวมอญจำนวนมากอพยพหนีเข้ามาในกรุงศรีอยุธยา และบางส่วนหนีขึ้นเหนือไปอาศัยอยู่ในอาณาจักรล้านนา หรือที่เรียกว่า “พวกเม็ง” บางส่วนอพยพหนีขึ้นไปทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน และบางส่วนหนีลงใต้เข้าไปอาศัยอย๋ในเทือกเขาตะนาวศรี
ระลอกที่ 7 เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2316 หลังจากการก่อกบฏของชาวมอญในเมืองย่างกุ้ง กองทัพพม่าเข้าปราบปราม ฆ่า และเผาอย่างทารุณ ทำให้คนมอญจำนวนมาก อพยพเข้ามาในกรุงธนบุรีในสมัยพระเจ้าตากสิน ในช่วงเวลานี้ เกิดการก่อตัวของแนวคิดทางการเมืองที่แตกต่างกันของมอญเก่า และมอญใหม่ โดยชาวมอญใหม่ที่อพยพเข้ามาในช่วงนี้ สืบเชื้อสายมาเป็นชาวไทยรามัญในปัจจุบัน ในขณะที่ชาวมอญเก่าที่อพยพเข้ามาก่อนหน้านี้ ได้ถูกกลืนกลายเป็นไทยไปหมดแล้ว
ระลอกที่ 8 เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2336 สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อรัชกาลที่ 1 เข้ายึดเมืองทวาย แต่รักษาเมืองเอาไว้ไม่ได้ ระหว่างที่ต้องถอยทัพกลับ จึงกวาดต้อนชาวมอญจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มหัวหน้า กลับเข้ามาด้วย
ระลอกที่ 9 เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2357 ในสมัยรัชกาลที่ 2 เมื่อพม่าเข้าปราบปรามกบฏชาวมอญที่เมืองเมาะตะมะ ทำให้ชาวมอญจำนวนมากหนีเข้ามาในกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเจ้าฟ้ามงกุฎในขณะนั้น เสด็จออกไปรับชาวมอญกลุ่มนี้ถึงชายแดน และอนุญาตให้ตั้งถิ่นฐานบริเวณปากเกร็ดและพระประแดง
สำหรับการเข้ามาอยู่อาศัยอย่างกลมกลืนภายใต้การปกครองของราชอาณาจักรไทยนั้น องค์ บรรจุน (2550: 20) ได้วิเคราะห์ว่า เมื่อชาวมอญมีความเดือดร้อนเพราะถูกกดขี่ข่มเหงจากพม่าก็มักจะมีหนังสือลับเข้ามากราบบังคมทูลฯ ต่อพระมหากษัตริย์ไทยก่อน เพื่อขออพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร นโยบายทางการของไทยที่มีต่อชาวมอญอพยพ คือ ยินดีต้อนรับ เพราะนอกจากจะเป็นการเพิ่มแรงงานการผลิตในภาคเกษตรแล้ว ยังเป็นกำลังสำคัญในการป้องกันและสร้างอาณาจักรไทยให้เข้มแข็ง ทางการไทยจะจัดเตรียมกองทัพพร้อมเสบียงอาหารออกไปรับครอบครัวมอญอพยพ เมื่อชาวมอญเข้ามาอยู่ใต้พระบรมโพธิสมภารแล้ว พระมหากษัตริย์ไทยจะพระราชทานที่ดิน อุปกรณ์ก่อสร้างและจัดสถานที่ให้ปลูกบ้านเรือนอยู่อาศัย โดยมากเป็นย่านริมน้ำและใกล้พระนครหรือชานพระนคร เนื่องจากสะดวกต่อการสัญจรและมีความอุดมสมบูรณ์ในการดำรงชีวิต และให้สิทธิในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและการประกอบอาชีพโดยอิสระ ส่วนหัวหน้ามอญที่นำครอบครัวมอญเข้ามาก็มักได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ปกครองดูแลชาวมอญด้วยกันเอง แต่จะทรงพระราชทานรางวัล ตำแหน่งบรรดาศักดิ์ตามที่ได้รับเมื่อครั้งอยู่ในเมืองมอญ เพื่อให้เกิดการกลืนกลายทางสังคม (องค์ บรรจุน, 2550, หน้า 20)
งานศึกษาของสุจริตลักษณ์ ดีผดุง. (2542, หน้า 7 - 9) ได้อธิบายว่า บรรพชนชาวมอญที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่เมื่อสี่ร้อยกว่าปีก่อนมักจะได้รับการโปรดเกล้าฯ จากพระมหากษัตริย์ไทยให้ตั้งถิ่นฐานบริเวณภาคกลางของประเทศไทยเป็นส่วนใหญ่ โดยชาวมอญจะถูกจัดให้อาศัยอยู่ตามลำน้ำหรือริมแม่น้ำทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
ถิ่นฐานชาวมอญในราชอาณาจักรไทย
สมัยกรุงศรีอยุธยา ส่วนหนึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ตามแม่น้ำแม่กลอง อำเภอบ้านโป่ง อำเภอโพธาราม ในจังหวัดราชบุรี และอีกส่วนหนึ่งเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่แถบชานพระนคร และบริเวณที่ติดต่อกับจังหวัดนนทบุรี
สมัยกรุงธนบุรี มีการอพยพครั้งใหญ่ของชาวมอญราว 30,000 คนเศษ โดยหัวหน้าที่พาชาวมอญอพยพเข้ามา คือ พระยาเจ่ง หัวหน้ากบฏมอญในพม่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้โปรดเกล้าฯ ให้ครอบครัวชาวมอญไปอยู่ที่ปากเกร็ด แขวงเมืองนนทบุรี และที่สามโคก แขวงเมืองปทุมธานี
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้มีการสร้างป้อมขึ้นที่ปากลัด แล้วกำหนดให้เป็นเมืองใหม่อีกแห่งหนึ่ง ชื่อว่า “ เมืองนครเขื่อนขันธ์ ” โดยรวมเอาเนื้อที่บางส่วนของแขวงเมืองสมุทรปราการและแขวงเมืองกรุงเทพมหานครเข้าด้วยกัน และได้โปรดเกล้าให้ย้ายครัวมอญจากเมืองปทุมธานี ซึ่งเป็นพวกพระยาเจ่งส่วนหนึ่งไปไว้ที่เมืองนครเขื่อนขันธ์นี้ และโปรดเกล้าฯ ตั้งสมิงทอมา บุตรพระยามหาโยธาขึ้นเป็นพระยาราม ให้เป็นพระยานครเขื่อนขันธ์รามัญราชชาติ เสนาบดีศรีสิทธิสงครามผู้รักษาเมือง
มอญที่เข้ามาหลังสุด โปรดเกล้าฯ ให้ไปอยู่ที่เมืองนครเขื่อนขันธ์บ้าง ปทุมธานีบ้าง นนทบุรีบ้าง เพราะฉะนั้น บริเวณที่มีชาวมอญอยู่เป็นจำนวนมาก คือ ปากเกร็ด นนทบุรี, สามโคก ปทุมธานี และปากลัด หรือนครเขื่อนขันธ์ ซึ่งปัจจุบันรู้จักกันในนามอำเภอพระประแดง ขึ้นกับจังหวัดสมุทรปราการืแม้ว่าชาวมอญจะอพยพเข้ามาในไทยหลายระลอกใหญ่ ๆ อย่างต่อเนื่องตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่หากพิจารณาจำนวนของพลเมืองมอญในกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ในช่วงเวลาดังกล่าวนับว่ามีจำนวนไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม ปัญหาสงครามภายในพม่าที่ทวีความรุนแรงต่อชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์มากขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งส่งผลทำให้ชาวมอญอพยพหนีภัยสงครามมาอาศัยอยู่กับญาติตามแนวตะเข็บชายแดนทางด้านตะวันตก จำนวนประชากรชาวมอญในประเทศไทยจึงเพิ่มสูงขึ้น ดังพบว่าในปี พ.ศ. 2376 ประชากรที่อาศัยบริเวณจังหวัดราชบุรีเกือบทั้งหมดเป็นชาวมอญ (ดํารงราชานุภาพ และคณะ, 2547, หนา 16) ทั้งนี้ พบเช่นกันว่า เมื่อบ้านเกิดในรัฐมอญมีความสงบสุข ชาวมอญในไทยก็อพยพกลับบ้าน คราวละหลายพันครอบครัว เช่น เมื่อคราวที่อังกฤษเข้ามาปกครองพม่า และมีการพัฒนาระบบการค้าข้าวจนมีความเจริญก้าวหน้าในหัวเมืองมอญต่าง ๆ (พัชรินทร์ สิรสุนทร, 2558, หน้า 17)
บทบาททางการเมือง
เมื่อชาวมอญอพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรสยามก็ต่างเรียนรู้และปรับตัวตามบริบททางการเมือง จนสามารถเข้ากับวัฒนธรรมที่อยู่ภายใต้ระบบอุปถัมถ์ของอาณาจักรสยามในอดีตได้เป็นอย่างดี (พัชรินทร์ สิรสุนทร, 2558, หน้า 17) ขุนนางมอญที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ก็ตั้งใจรับราชการในสยามจนเจริญก้าวหน้า และมักมีธรรมเนียมถวายลูกหลานให้เข้ารับราชการฝ่ายในตามกลไกของระบบอุปถัมภ์ที่มีความสัมพันธ์เชิงผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย ฝ่ายผู้ปกครองต้องการเครื่องประกันความจงรักภักดี ส่วนฝ่ายขุนนางต้องการเครื่องประกันความมั่นคงและก้าวหน้าในชีวิตการงาน โดยอาศัยความสัมพันธ์อันโยงใยจากสตรี สตรีมอญในราชสำนักสยามมีเป็นจำนวนมาก นับตั้งแต่นางพนักงานอยู่งาน กระทั่งพระมเหสีเทวี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมวงศานุวงศ์จำนานมากที่ประสูติแด่สตรีมอญ ได้รับการอภิบาลจากสตรีมอญ จนทรงคุ้นเคยและนิยมในศิลปวัฒนธรรมแบบมอญ ทำให้ราชสำนักสยามมีความเป็นมอญเข้มข้น นอกจากนี้ สตรีมอญในราชสำนักฝ่ายในทุกรัชกาลยังทรงมีอิทธิพลทางการเมืองโดยอ้อม โดยการกระชับสายสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์กับขุนนางมอญตระกูลเดิมของตน หรือดำเนินการช่วยเหลือเครือญาติของตนให้เข้ารับราชการในตำแหน่งสำคัญ หลายท่านยังมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่วัฒนธรรมประเพณีมอญสู่ราชสำนักสยาม ซึ่งแพร่ขยายต่อไปยังสังคมของสามัญชนอย่างกลมกลืน จนทำให้วัฒนธรรมมอญเป็นที่ยอมรับในสังคมไทย อาทิเช่น พุทธศาสนานิกายเถรวาท ที่มาพร้อมกับภาษามอญ พิธีหุงข้าวเพื่อบูชาเทวดาตามพิธีกตตมมอญ การประยุกต์ข้าวแช่พื้นบ้านมอญจนกลายเป็นตำรับชาววัง ศิลปะการแสดงของมอญที่ได้รับการบรรจุไว้ในงานมหรสพพิธีหลวง เป็นต้น (องค์ บรรจุน, 2550)
สำหรับบทบาททางการเมืองของชาวมอญในฐานะที่เป็นราษฎรสามัญนั้น รัฐไทยถือเป็นพลเมืองของประเทศ โดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (2516 อ้างถึงใน สุจริตลักษณ์ ดีผดุง, 2542, หน้า 67 - 80) ทรงบันทึกไว้ว่า ชายฉกรรจ์มอญมีหน้าที่ต้องรับราชการในฐานะพลเมืองของประเทศ คือ เมื่ออายุ 18 ปี ต้องขึ้นทะเบียนเป็น “ ไพร่สม ” เพื่อฝึกหัดงานกับมูลนาย เมื่อถึงอายุ 20 ปี ปลดจากไพร่สมไปเป็น “ ไพร่หลวง ” ซึ่งถือว่าเป็นการเข้ารับราชการ จนถึงอายุ 60 ปี จึงปลดชรา แต่หากมีลูกชายเข้ารับราชการ 3 คน ก็สามารถปลดประจำการได้ก่อนอายุ 60 ปี โดยที่ทั้งไพร่สมและไพร่หลวงจะต้องสังกัดมูลนายให้แน่นอน ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ไพร่หลวงรามัญจัดเป็นไพร่หลวงฝ่ายทหาร ซึ่งไม่มีหลักฐานว่า มีการแบ่งกรมกองรามัญอย่างชัดเจน แต่ในสมัยรัตนโกสินทร์ แบ่งออกเป้น 5 กรม ส่วนกองมอญที่ยกไปประจำตามเมืองต่าง ๆ เวลาสักก็จะสักรวมกับกรมทั้ง 5 นอกจากนี้ยังมีไพร่มอญอีกประเภท คือ “ ไพร่เจ้า ” สังกัดในกรมเจ้า มีหน้าที่ทำงานที่เจ้ากำหนดให้ทำในสมัยอยุธยา มีไพร่เจ้า แต่ในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี มีไพร่เจ้าได้แต่ในกรมพระราชวังบวรเท่านั้น (มี 3 กรม) ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อสิ้นกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญแล้ว ตำแหน่งกรมพระราชวังบวรถูกยกเลิกไป โดยให้กรมมอญวังหน้าไปขึ้นกับกรมพระกลาโหม ในปี พ.ศ. 2435 โปรดให้กองมอญไปเป็นพลตระเวน และโอนกองมอญทั้ง 8 กรม ไปเป็นทหารเรือในปี พ.ศ. 2436 มอญที่เป็นทหารเรือยังคงแยกสังกัดตามกรมกองเดิมและสักแขนต่างกันตามชื่อกรมที่สังกัด งานโดยทั่วไปของไพร่หลวงสามัญ คือ ในยามสงครามจะถูกเกณฑ์ไปทัพหน้าเพื่อร่วมรบ ส่วนยามสงบจะทำงานโยธา และงานทำนุบำรุงบ้านเมือง แต่หน้าที่ที่สำคัญของไพร่หลวงรามัญ คือ การคอยสืบราชการความเคลื่อนไหวของพม่า และหาข่าวตามแนวชายแดนและในพม่า ซึ่งยังคงมีญาติพี่น้องอาศัยอยู่ให้ที่พักและให้ข่าว ในด้านการศาล ไพร่หลวงรามัญจะถูกตัดสินคดีภายใต้ศาลและกฎหมายไทยเหมือนพลเมืองไทย ซึ่งต่างจากคนจีนและแขกที่รัฐไทยถือว่า เป็นคนต่างชาติ ไม่ได้เป็นไพร่หลวง และต้องขึ้นศาลต่างหากในกรมเจ้าท่า
สำนึกชาติพันธุ์ และการผสานเข้ากับสังคมไทย
ชาร์ล ไฮแอม (Charls Higham) มีความเห็นว่า ชาวมอญโบราณในดินแดนประเทศไทยคงได้กลืนกลายเป็นคนไทยอยู่ทั่วไป ส่วนชาวมอญที่ยังรักษาความเป็นมอญของตนเองไว้ได้ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่มาจากประเทศพม่าด้วยปัจจัยทางการเมือง ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลางจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น (ชาร์ลส ไฮแอม และรัชนี ทศรัตน์, 2542, หน้า 218 - 219) สอดคล้องกับความเห็นขององค์ บรรจุน นักวิชาการเชื้อสายมอญในประเทศไทยที่เห็นว่า คนมอญในเมืองไทย เท่าที่ยังมีสำนึกทางชาติพันธุ์ว่าตนเองเป็นคนมอญ คือ กลุ่มคนมอญที่อพยพมาจากประเทศพม่าตั้งแต่ปลายกรุงศรีอยุธยาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ (องค์ บรรจุน , 28 ตุลาคม 2014)
สังคมมอญในสังคมไทยในช่วงยุคกรุงศรีอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์นับว่า เป็นสังคมระดับหมู่บ้าน โดยทางราชการไทยได้จัดสถานที่อยู่อาศัยให้ชาวมอญตั้งหมู่บ้านในบริเวณลุ่มแม่น้ำ อีกทั้งยังให้โอกาสชาวมอญในการปกครองตนเอง ทำให้ชาวมอญสามารถอาศัยอยู่ในสภาพภูมิประเทศเดิมที่คุ้นเคย และอาศัยอยู่ในกลุ่มชาวมอญด้วยกันตั้งแต่ครั้งอาศัยอยู่ในพม่าตอนล่าง ภายในหมู่บ้านมอญจะมีวัดประจำหมู่บ้าน ซึ่งนอกจากเป็นที่ประกอบพิธีทางศาสนาแล้วยังเป็นสถานที่ให้การศึกษาอีกด้วย ซึ่งภาษาที่ใช้กันในหมู่บ้านตลอดจนในวัดทั้งบทสวดและบทเทศน์จะเป็นภาษามอญ และไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ในหมู่บ้านก็จะสื่อสารด้วยภาษามอญอย่างเดียว นอกจากนี้ เนื่องจากหมู่บ้านของชาวมอญสามารถพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจได้ ไม่จำเป็นต้องพึ่งปัจจัยการดำรงชีพจากภายนอก ประกอบกับยังคงมีอุปสรรคด้านภาษาและสภาพภูมิศาสตร์ที่กั้นการติดต่อกับภายนอก ทำให้มีการติดต่อกับสังคมภายนอกน้อยมาก ปัจจัยเหล่านี้จึงส่งผลทำให้ชาวมอญในยุคแรกสามารถธำรงรักษาและสืบทอดอัตลักษณ์ของตนไว้ได้อย่างเต็มที่ (สุภรณ์ โอเจริญ, 2541, หน้า 297 – 299 ; สุจริตรา เปลี่ยนรุ่ง, 2553 , หน้า 124)
งานศึกษาของสุจริตรา เปลี่ยนรุ่ง (2553, หน้า 124) ได้วิเคราะห์ถึงอัตลักษณ์ความเป็นมอญที่ยังปรากฎอย่างชัดเจนแทบทุกด้านในช่วงยุคกรุงธนบุรีจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ ไม่ว่าจะเป็นอัตลักษณ์ด้านที่อยู่อาศัยนิยมอาศัยอยู่รวมกันในหมู่บ้านเดิมริมแม่น้ำ การสร้างเรือนไม้ให้หันหน้าจั่วไปทางทิศตะวันออกที่ขวางแม่น้ำอันเป็นที่มาของคำว่า “ มอญขวาง ” และการมีเสาเอกที่เป็นเสาผีเป็นที่ประดิษฐานของผีบรรพบุรุษอยู่ในทุกหลังคาเรือน เมื่อสร้างบ้านเรือนแล้วก็ยังนิยมสร้างวัดไว้เป็นศูนย์กลางของชุมชน เนื่องจากความเคร่งครัดและศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า การใช้ภาษาก็ยังคงใช้ภาษามอญล้วน ๆ ที่จะสื่อสารพูดจากันภายในกลุ่ม การแต่งกายของชายและหญิงที่นุ่งสโร่งตาหมากรุกและนุ่งผ้าถุงแบบมอญ ก็ยังคงได้รับการสืบทอดเรื่อยมา และเนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่คล้ายคลึงกันทำให้วิถีชีวิตต่าง ๆ ของชาวมอญไม่ว่าจะเป็นอาหารการกินต่าง ๆ รวมไปถึงการประกอบอาชีพ เช่น ทำนาและการปั้นเครื่องปั้นดินเผาจึงคงถูกสืบทอดไว้เป็นอัตลักษณ์สำคัญเหมือนเช่นเดิม ที่สำคัญ คือ อัตลักษณ์ความเป็นมอญที่เกี่ยวกับประเพณีและความเชื่อที่ยังเก็บรักษาเอาไว้ได้เป็นอย่างดี ทั้งความเชื่อที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาและการนับถือผี
อย่างไรก็ตาม การที่ชาวมอญอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นระยะเวลานาน ในที่สุดก็ถูกผสานเข้ากับสังคมไทย โดยองค์ บรรจุน (28 ตุลาคม 2014) และ พัชรินทร์ สิรสุนทร (2558, หน้า 25) วิเคราะห์ว่า ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้คนมอญถูกผสานเข้ากับสังคมไทยอย่างกลมกลืน คือ ความใกล้เคียงกันทางวิถีชีวิตและวัฒนธรรม โดยวัฒนธรรมมอญก็เป็นแม่แบบของหลายวัฒนธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งยังมีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างกลุ่มคนมอญและคนไทยตลอดเวลา เมื่อมอญที่เข้ามาใหม่จากฝั่งพม่าก็นำวัฒนธรรมใหม่เข้ามา ในขณะที่ไทยก็รับวัฒนธรรมเดิมของมอญที่ทิ้งไว้มาตั้งแต่สมัยทวาราวดีจนวัฒนธรรมพัฒนาไปจนถึงจุดหนึ่ง ซึ่งวัฒนธรรมทั้งสองแบบก็มีความคล้ายคลึงกันหลายอย่าง รากของวัฒนธรรมมอญในด้านต่าง ๆ จึงผสมกลมกลืนในสังคมไทย แม้ว่าจะมีประเพณีและวิถีชีวิตหลายอย่างที่แตกต่างกัน แต่ก็เป็นความแตกต่างที่ผสมกลืมกลืนในสังคมไทยจนถึงทุกวันนี้ อิทธิพลทางวัฒนธรรมมอญที่ปรากฎเด่นชัดในสังคมไทย เช่น วัฒนธรรมอาหาร ศิลปะ ดนตรี กฎหมายตราสามดวงของไทยที่ได้แบบอย่างมาจากกฎหมายมนูญธรรมศาสตร์ของมอญที่ดัดแปลงมาจากกฎหมายของอินเดีย ทางด้านภาษาพบว่า มีคำไทยเก่า ๆ เกือบ 700 คำ ที่มีรากฐานมาจากคำมอญ แม้ว่าในปัจจุบันคำเหล่านี้จะถูกกลืนกลายเป็นคำไทยไปหมดแล้ว นอกจากนี้ยังพบว่า มีการแปลวรรณคดีมอญเป็นภาษาไทย เช่น เรื่องราชาธิราช ในด้านความเชื่อ พบความสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธศาสนาเถรวาทกับลังกาวงศ์รุ่นแรกที่รับมาจากนครพัน อิทธิพลของธรรมยุตินิกายกับการตีความด้านพระวินับ และลิทธิความเชื่อเกี่ยวกับพระธาตุของมอญ เป็นต้น (องค์ บรรจุน , 28 ตุลาคม 2014 ; พัชรินทร์ สิรสุนทร, 2558, หน้า 25)
นอกเหนือจากปัจจัยทางด้านความใกล้ชิดทางด้านวัฒนธรรมแล้ว งานศึกษาของสุภรณ์ โอเจริญ (2541, หน้า 257 - 297) ยังได้วิเคราะห์ถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่เอื้อให้เกิดการผสมกลมกลืนชาวมอญเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย อันได้แก่ ความคล้ายคลึงกันในด้านรูปร่างหน้าตา อาชีพ การนับถือศาสนา และการแต่งงานกับคนไทย (ดังปรากฏหลักฐานว่ามีการแต่งงานระหว่างมอญกับไทยมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย) รวมทั้งนโยบายของรัฐไทยในการปกครองชาวมอญอพยพตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งทำให้คนมอญมีฐานะเท่าเทียมกับคนไทยตามกฎหมายและระบบไพร่ ส่งผลทำให้คนมอญไม่สามารถดำรงความเป็นกลุ่มเชื้อชาติเป็นเอกเทศแยกออกไปจากคนไทยโดยเด็ดขาดได้ แต่ในขณะเดียวกันก็นับเป็นการเปิดโอกาสให้มีการผสมกลมกลืนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยได้ง่าย ประกอบกับเมื่อประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคการพัฒนาไปสู่สภาวะความทันสมัย (modernization) สังคมมอญจึงจำเป็นต้องรับอิทธิพลความเจริญจากสังคมภายนอก ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพสังคมมอญให้ทันสมัยยิ่งขึ้น ชาวมอญจึงต้องปรับตัวให้เข้ากับความเจริญสมัยใหม่ที่มีส่วนทำลายเอกลักษณ์ความเป็นมอญลง แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้ชาวมอญจำเป็นต้องเรียนรู้ภาษาไทยเพื่อประโยชน์ในการดำรงชีพมากขึ้น และใกล้ชิดกับสังคมไทยยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลทำให้กระบวนการผสมกลมกลืนเป็นไปอย่างเชื่องช้า แต่ปัจจัยที่มีส่วนเร่งทำให้กระบวนการผสมกลมกลืนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น คือ กระบวนการสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ของรัฐไทย นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา โดยเฉพาะนโยบายการปฏิรูปการศึกษาที่รัฐเข้ามามีบทบาทในการจัดการศึกษาโดยตรง ทำให้เด็กชาวมอญจำเป็นต้องเข้าเรียนในโรงเรียนหลวง และเรียนหนังสือด้วยภาษาไทยทั้งหมดตามหลักสูตรที่รัฐบาลกำหนด แทนการเรียนหนังสือที่วัดด้วยภาษามอญดังเช่นในอดีต รวมทั้งนโยบายการปฏิรูปลักษณะการปกครองของคณะสงฆ์ ใน พ.ศ.2445 ที่นำไปสู่การยกเลิกสถานะที่เป็นเอกเทศของคณะสงฆ์รามัญนิกาย และยกเลิกการการศึกษาพระปริยัติธรรมแบบรามัญ โดยให้พระภิกษุสามเณรรามัญในประเทศไทยศึกษาเล่าเรียนตามแบบพระภิกษุไทยแทน นโยบายดังกล่าวทำให้พระสงฆ์และวัดมอญบางแห่งแทบจะไม่มีความแตกต่างกับพระสงฆ์ไทยและวัดไทยเลย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าชาวมอญจะมีแนวโน้มในการผสมผสานกลมกลืนเป็นไทยมากขึ้น แต่ระดับขั้นของการผสมกลืมกลืนในแต่ละหมู่บ้านก็มีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสถานที่ตั้ง ลักษณะภูมิประเทศ และการประกอบอาชีพของแต่ละชุมชนด้วย
การตั้งถิ่นฐานและการกระจายตัวของประชากร
บรรพชนของคนไทยเชื้อสายมอญในปัจจุบัน ส่วนใหญ่อพยพมาจากเขตลุ่มแม่น้ำอิระวดีตอนล่างของประเทศพม่าเข้ามาในประเทศไทย เพราะสาเหตุจากสงครามเป็นสำคัญ โดยอพยพมาจากหลายหมู่บ้าน ทยอยเข้ามาหลายยุคสมัย และใช้เส้นทางข้ามพรมแดนที่แตกต่างกัน ตามที่ปรากฏให้เห็นถึงความแตกต่างหลากหลายของคนมอญชุมชนต่าง ๆ ในประเทศไทย โดยนับตั้งแต่ที่กษัตริย์บุเรงนองของพม่ายึดครองอาณาจักรมอญในปี พ.ศ. 1600 ชาวมอญก็อพยพหนีภัยสงครามมาเป็นระยะ ยุคที่ปรากฎหลักฐานชัดเจนถึงการอพยพของชาวมอญ คือ สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระเจ้าประสาททอง และพระนารยณ์มหาราช โดยข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์วัดม่วง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ได้แสดงให้เห็นว่า ชาวมอญในช่วงสมัยนั้น ส่วนใหญ่ใช้เส้นทางเมาะตะมะ หงสาวดี และเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ จ. กาญจนบุรี เพื่อเข้ามาอาศัยที่ชานเมืองกรุงศรีอยุธยา พลวัตรการเคลื่อนย้ายของชาวมอญมายังประเทศไทยดำเนินมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เมื่อสีร้อยกว่าปีก่อนจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ โดยชาวมอญส่วนใหญ่ใช้เส้นทางมะละแหม่งเข้าสู่ด่านเจดีย์สามองค์ - จ.กาญจนบุรี หรือชายแดนตาก - แม่สอด และเคลื่อนย้ายต่อไปยังบริเวณพื้นที่หลักของชุมชนชาวมอญในประเทศไทย อันได้แก่ จังหวัดราชบุรี นครปฐม อยุธยา อุทัยธานี ตาก เชียงใหม่ ลำพูน ต่อมาจึงได้กระจายตัวไปตามจังหวัดต่าง ๆ ตามภาคกลาง อีสาน เหนือ และใต้ (Thailand Science Research and Innovation, 20 ต.ค. 201
บรรพชนชาวมอญที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่เมื่อสี่ร้อยกว่าปีก่อนมักจะได้รับการโปรดเกล้าฯ จากพระมหากษัตริย์ไทยให้ตั้งถิ่นฐานบริเวณภาคกลางของประเทศไทยเป็นส่วนใหญ่ โดยชาวมอญจะถูกจัดให้อาศัยอยู่ตามลำน้ำหรือริมแม่น้ำทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ) นอกจากการตั้งถิ่นฐานตามบริเวณที่ทางราชการจัดหาไว้ให้แล้ว ชาวมอญจำนวนมากยังเลือกตั้งหลักแหล่งเองตามบริเวณที่มีญาติพี่น้องหรือคนจากหมู่บ้านเดิมในรัฐมอญอาศัยอยู่ โดยงานศึกษาของสุจริตลักษณ์ ดีผดุง. (2542, หน้า 7 - 9) ได้บ่งชี้ให้เห็นถึง การที่ชาวมอญจากพม่ามักจะหนีภัยความไม่สงบทางการเมืองเข้ามาอาศัยปะปนกับญาติชาวมอญในไทย และอาศัยอย่างเนืองแน่นในหลายจังหวัดในละแวกลุ่มน้ำแม่กลองชายฝั่งตะวันตก ทั้งนี้ การโยกย้ายถิ่นฐานของชาวมอญยังสัมพันธ์กับรูปแบบการดำรงชีพ โดยพบว่า ชาวมอญในภาคกลางบางส่วนที่ประกอบอาชีพล่องเรือขายสินค้าไปตามแม่น้ำสายหลักบริเวณภาคกลาง นับตั้งแต่สมัยอยุธยา มักจะจอดเรือขึ้นฝั่งและเลือกที่ทางตั้งบ้านเรือนตลอดริมฝั่งน้ำ จากนั้นจึงกระจายตัวไปตามลำน้ำถึงแม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และจังหวัดเชียงใหม่อีกด้วย นอกจากนี้ยังพบชาวมอญที่อาศัยอย่างหนาแน่นในอีกหลายจังหวัด เช่น ตามลำน้ำมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร ชาวมอญที่มาอาศัยอยู่บริเวณนั้นเป็นชาวมอญที่เข้ามารับจ้างขุดคลอง และที่จังหวัดลพบุรีและอุทัยธานี ซึ่งเป็นเส้นทางผ่านของการอพยพของชาวมอญจากประเทศพม่าเข้าสู่ประเทศไทย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสมัยก่อนชาวมอญจะนิยมตั้งถิ่นฐานริมแม่น้ำเช่นเดียวกับคนไทย แต่เมื่อการคมนาคมทางบกเจริญก้าวหน้าขึ้น คนมอญจำนวนมากจึงหันมาสร้างบ้านเรือนริมถนนแทน เพราะสะดวกและรวดเร็วกว่า ปัจจุบัน ชาวมอญตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่ทั่ว 36 จังหวัดในประเทศไทย (Thailand Science Research and Innovation, 20 ต.ค. 2015)
งานศึกษาของกาญจนา ชินนาค (2543, หน้า 15) ได้อธิบายถึงการตั้งถิ่นฐานของชาวมอญกลุ่มใหญ่ที่กระจายตัวอาศัยอยู่ตามบริเวณดังต่อไปนี้
1.) บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา กระจายตัวกันตามกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะบ้านบางกระดี่ เขตบางขุนเทียน ต่อเนื่องมาถึงเขตปริมณฑล อันได้แก่ ตำบลปากลัด จังหวัดนนทบุรี อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ไปจนถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
2.) บริเวณลุ่มแม่น้ำแม่กลองที่อำเภอบ้านโป่ง อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี และบริเวณระหว่างแม่น้ำแม่กลองกับชายแดนไทย – พม่าในจังหวัดกาญจนบุรี
3.) บริเวณระหว่างลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง เช่น จังหวัดนครปฐม และจังหวัดสมุทรสาคร
4.) บริเวณลุ่มน้ำแม่ปิง ภาคเหนือ เช่น จังหวัดลำปาง จังหวัดลำพูน และจังหวัดเชียงใหม่
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนมอญกระจัดกระจายตัวเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ในบริเวณจังหวัดนครราชสีมา ในภาคอีสานและบริเวณจังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง และจังหวัดสุราษฎร์ธานีในภาคใต้ด้วย
ปัจจุบัน คนไทยเชื้อสายมอญตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่ใน 35 จังหวัดทั่วประเทศ อันได้แก่ กรุงเทพ นครนายก นครปฐม นครสวรรค์ นนทบุรี ปทุมธานี ลพบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สระบุรี สิงห์บุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี อยุธยา อ่างทอง อุทัยธานี กาญจนบุรี ตาก ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี กำแพงเพชร ชัยนาท เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน ชัยภูมิ นครราชสีมา ปราจีนบุรี (Thailand Science Research and Innovation, 20 ต.ค. 2015)
จากการสำรวจสำมะโนประชากรชาวมอญในประเทศไทยในระหว่าง พ.ศ.2512 – 2515 โดยศาสตราจารย์นายแพทย์สุเอ็ด คชเสนี และผู้ร่วมวิจัยที่ได้สำรวจจำนวนประชากรชาวมอญในท้องที่ 17 จังหวัด 37 อำเภอ 112 ตำบล 403 หมู่บ้าน 13,960 หลังคาเรือน พบว่า มีจำนวนประชากรมอญทั้งสิ้น 94,229 คน (สุจริตลักษณ์ ดีผดุง และคณะ, 2542, หน้า 14 - 16) ต่อมา สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดลได้ดำเนินโครงการวิจัยเพื่อจัดทำแผนที่ภาษาแสดงกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในประเทศไทย โดยสำรวจจำนวนประชากรระหว่าง พ.ศ. 2537 – 2539 พบว่ามีจำนวนผู้ที่ใช้ภาษามอญในชีวิตประจำวันประมาณ 70,000 คน (จำนวนนี้ไม่รวมชาวมอญที่จัดเป็นผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าและผู้หลบหนีเข้าเมือง) (สุวรณะ เย็นสุข, 2544, หน้า 28) สำหรับข้อมูลประชากรชาวมอญล่าสุดปรากฎในงานศึกษาของพัชรินทร์ สิรสุนทร ในปี 2558 (หน้า 44) ซึ่งได้ประมาณการจำนวนประชากรชาวมอญในประเทศไทยที่อาศัยอยู่ในบริเวณภาคกลาง หรือในพื้นที่ของจังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี พระนครศรีอยุธยา และลพบุรี เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 120,000 คน และมีชาวมอญมากกว่า 50,000 คนที่ยังใช้ภาษามอญเพื่อการสื่อสารในชีวิตประจำวัน
อย่างไรก็ตาม การสำรวจข้อมูลจำนวนประชากรชาวมอญในปัจจุบัน อาจต้องประสบข้อจำกัดในปัญหาการนิยมความเป็นชาติพันธุ์มอญและการระบุจำนวนที่แน่ชัด เนื่องจากกลุ่มคนมอญในประเทศไทยเท่าที่ยังมีสำนึกทางชาติพันธุ์ว่า ตนเองเป็นมอญ ใช้ภาษาและวัฒนธรรมเดียวกับกลุ่มคนมอญในประเทศพม่า ส่วนใหญ่เป็น “กลุ่มมอญใหม่” ที่อพยพเข้ามาประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่ปลายกรุงศรีอยุธยาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ (องค์ บรรจุน, 28 ตุลาคม 2014) อย่างไรก็ตาม งานศึกษาของพัชรินทร์ สิรสุนทร (2558, หน้า 44) ได้บ่งชี้ว่า ตลอดระยะเวลาสองร้อยกว่าปีที่ผ่านมา กลุ่มคนมอญใหม่เหล่านี้ได้ถูกผสมผสานกลืนกลายทางวัฒนธรรมกับคนไทยอย่างกว้างขวาง ผ่านการสมรส การศึกษาแบบสมัยใหม่ นโยบายชาตินิยมและนโยบายการพัฒนาสู่ภาวะความทันสมัยของรัฐไทย ด้วยเหตุนี้ แม้ว่าในปัจจุบันยังมีชาวมอญบางส่วนที่พยายามรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของกลุ่มตนไว้ แต่ก็มีบางส่วนที่ยอมละเลิกวัฒนธรรมมอญ และเลือกดำเนินชีวิตแบบชาวไทยส่วนใหญ่ หรือยอมกลืนกลายเข้ากับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ร่วมชุมชนเดียวกัน นอกจากปัจจัยทางด้านการผสมกลืนกลายทางวัฒนธรรมยังรวมถีงปัจจัยทางด้านการอพยพเคลื่อนย้ายของชาวมอญจากประเทศพม่าเข้ามาในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาวมอญที่อพยพหนีภัยสงครามที่เข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวในประเทศไทย รวมทั้งกลุ่มแรงงานข้ามชาติชาวมอญที่อพยพมาประเทศไทยในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา เพื่อแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น (พัชรินทร์ สิรสุนทร, 2558, หน้า 44) ชาวมอญกลุ่มนี้บ้างก็อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม บ้างก็อยู่ปะปนกับชาวมอญในประเทศไทย บางส่วนเดินทางกลับประเทศพม่า ในขณะที่บางส่วนแต่งงานและพำนักในประเทศไทยอย่างถาวร (องค์ บรรจุน, 28 ตุลาคม 2014) พลวัตรดังกล่าวได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน จนส่งผลทำให้เป็นการยากที่จะจำแนกแยกแยะได้อย่างชัดเจนว่า บุคคลใดเป็นชาวมอญที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย หรือชาวไทยเชื้อสายมอญ
[1] ชนชาติในตระกูลธิเบต - พม่า
การดำรงชีพ
ชาวมอญเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่สำคัญอีกกลุ่มหนึ่งในสังคมไทยในอดีต แม้ว่าชาวมอญจะมีสถานภาพเป็น “ไพร่หลวง” ภายใต้ระบบไพร่นับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ แต่รัฐไทยก็ให้ความเป็นอิสระทางเศรษฐกิจต่อชาวมอญพอสมควร ชาวมอญจึงสามารถเลือกประกอบอาชีพต่าง ๆ ตามความถนัดของตนเอง ตั้งแต่ช่วงแรกที่อพยพมาประเทศไทย ซึ่งแตกต่างจากแรงงานจีนที่เริ่มเข้ามาเป็นแรงงานรับจ้างโดยตรง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าชาวมอญมีบทบาทเป็นผู้ประกอบการสำคัญทางเศรษฐกิจ ทั้งในแง่ผู้ผลิตและผู้ขาย อันมีส่วนขับเคลื่อนการแลกเปลี่ยนและไหลเวียนของสินค้าและเงินตราในระบบเศรษฐกิจ แต่ชาวมอญไม่ได้เป็นผู้กุมอำนาจทางเศรษฐกิจการค้าที่สำคัญของประเทศไทยแบบคนจีน เพราะระบบเศรษฐกิจของชาวมอญมีลักษณะเป็นเศรษฐกิจที่เลี้ยงตนเองได้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่จึงหมุนเวียนอยู่ในระบบท้องถิ่นภายในหมู่บ้านของตนหรือบริเวณใกล้เคียงเท่านั้น ส่วนการค้าก็เป็นการรับซื้อสินค้าจากตำบลหนึ่งล่องเรือไปขายยังอีกตำบลหนึ่ง ไม่มีการค้ากับต่างประเทศโดยตรงดังเช่นชาวจีน (สุภรณ์ โอเจริญ, 2541, หน้า 85, 207)
อาชีพสำคัญของมอญในอดีต คือ การทำนา เหมือนกับที่เคยทำอยู่ในประเทศพม่าและคนไทยทั่วไป กรรมวิธีในการทำนาของชาวนามอญก็ไม่ต่างไปจากชาวนาไทยนัก เครื่องมือที่ใช้ในการประกอบอาชีพดังกล่าว ได้แก่ คันไถและคราด ใช้วัวและควายเป็นแรงงานสำคัญ ซึ่งนอกจากจะใช้ไถนาแล้วยังใช้ในการนวดข้าวเพื่อแยกเมล็ดข้าวออกจากรวงอีกด้วย ในพื้นที่ไร่นาบางแห่งยังมีการปลูกพืชผลต่าง ๆ เช่น ผักและผลไม้ต่าง ๆ มันเทศ น้ำเต้า สัปปะรด อ้อย ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการทำอุตสาหกรรมและหัตถกรรมต่าง ๆ แตกต่างกันไปตามท้องถิ่น อาชีพที่เป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นความเชี่ยวชาญของชาวมอญและเป็นกิจการของชาวมอญ คือ อุตสาหกรรมครัวเรือนทำเครื่องปั้นดินเผาและการทำอิฐ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาเก่าแก่ของบรรพชนชาวมอญตั้งแต่อาศัยอยู่ในพม่าและสืบทอดมายังคนรุ่นหลังที่อยู่ในไทยที่ทำเป็นอาชีพหลักด้วย แหล่งสำคัญที่มีการทำเครื่องปั้นดินเผาที่รู้จักกันดี คือ ชุมชนมอญ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ซึ่งทำเครื่องปั้นดินเผาที่เป็นภาชนะที่ใช้ในครัวเรือนหลายชนิด ตั้งแต่ตุ่มใส่น้ำขนาดต่าง ๆ ไห หม้อ อ่าง ครก ตลอดจนถ้วยชามและอื่น ๆ ในระยะแรกคงจะทำเป็นงานอดิเรกในครัวเรือนควบคู่กับการทำนาเป็นอาชีพหลัก ต่อมาเมื่อสินค้าเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย และใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น คือ ดินเหนียวในแถบเมืองนนทบุรี มอญแถบนั้นจึงหันมาทำอาชีพนี้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน โดยสันนิษฐานว่าคงจะเป็นในสมัยกรุงธนบุรีหรือรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งเป็นช่วงที่มีมอญอพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนที่ปากเกร็ดกันมาก ภาชนะดินเผาเหล่านั้นเมื่อทำเสร็จแล้วจะมีมอญอีกพวกหนึ่งล่องเรือมารับซื้อแล้วนำไปขายทางภาคกลางและภาคเหนือ (สุภรณ์ โอเจริญ, 2541, หน้า 207)
ส่วนการทำอิฐนั้นทำกันมากแถบสามโคก ปทุมธานี และคงจะทำกันมาแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยาเช่นเดียวกับการทำเครื่องปั้นดินเผา ส่วนมากมักทำเป็นงานอดิเรกในยามว่างจากฤดูทำนา อิฐดังกล่าวมีลักษณะเป็นก้อนสี่เหลี่ยมผืนผ้าเล็ก ๆ ผิวไม่เรียบ เรียกกันว่า “อิฐมอญ” ซึ่งอาจเพราะชาวมอญเป็นผู้นำเข้ามาและทำกันมากจนดูเหมือนจะเป็นผู้ผูกขาดการทำอิฐชนิดนี้ โดยเฉพาะในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ทางการได้เกณฑ์ไพร่หลวงรามัญไปตั้งเตาทำอิฐเพื่อใช้ในการก่อสร้างป้อมค่ายและกำแพงเมืองต่าง ๆ ในสมัยนั้น (สุภรณ์ โอเจริญ, 2541, หน้า 208)
นอกจากอาชีพทำเครื่องปั้นดินเผาและอิฐแล้ว ชาวมอญจำนวนไม่น้อยที่หันมายึดอาชีพค้าขาย แม้มิใช่วิสัยของชาวมอญทั่วไปก็ตาม อาชีพค้าขายของชาวมอญที่เป็นที่รู้จักกันดี คือ การค้าเครื่องปั้นดินเผาที่ใช้เรือเป็นพาหนะขนส่งสินค้าของชาวมอญสามโคก ซึ่งคาดว่าเป็นอาชีพที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการทำเครื่องปั้นดินเผา โดยพ่อค้ามอญจะเป็นเจ้าของเรือซึ่งมีขนาดต่าง ๆ กันตามแต่ฐานะของแต่ละคน และใช้เรือเป็นพาหนะรับซื้อสินค้าต่าง ๆ จากแหล่งผลิต อันได้แก่ เครื่องปั้นดินเผา พวกหม้อ ไห โอ่ง ฯลฯ รวมทั้งวัสดุที่ใช้ก่อสร้างอื่น ๆ อาทิเช่น มุงหลังคา อิฐ ทราย หิน ซีเมนต์ ฯลฯ ล่องเรือไปตามแม่น้ำลำคลอง จากลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในภาคกลางรอนแรมไปจนถึงพิษณุโลก อุตรดิตถ์ ในภาคเหนือ เพื่อนำสินค้าไปขายต่อให้กับพ่อค้าคนกลาง มอญชาวเรือจะใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในเรือ ดังนั้นจึงต้องปรับสภาพเรือให้มีลักษณะเป็นบ้านอยู่ในนั้นด้วย และเวลาไปค้าขายก็จะพากันไปหมดทั้งครอบครัว มอญชาวเรือบางพวกเมื่อขายสินค้าหมดแล้วก็จะอยู่ทำไร่ตามตลิ่งในหัวเมือง กล่าวคือ ในฤดูแล้งจะซื้อสินค้าจากกรุงเทพ ฯ บรรทุกเรือไปขายตามหัวเมืองทางเหนือจนถึงอุตรดิตถ์ พอจะเข้าฤดูฝนก็จะถอยเรือลงมาจอดตามที่ว่างในลำน้ำแถวแควใหญ่ ถางตลิ่งทำไร่ปลูกแตงและยาสูบ ครั้นถึงฤดูน้ำหลากก็เก็บของในไร่บรรทุกเรือล่องลงมาขายที่กรุงเทพ ฯ แล้วซื้อสินค้ากรุงเทพ ฯ กลับขึ้นไปอีก วนเวียนเช่นนี้ทุกปี (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงเดชานุภาพ, 270 – 271 อ้างถึงใน สุภรณ์ โอเจริญ, 2541, หน้า 210)
การดำทรายเป็นอีกอาชีพที่สำคัญของชาวมอญ ชาวมอญจะนำทรายที่ดำขึ้นมาไปขายเองหรืออาจมีพ่อค้าคนกลางมอญรับซื้อไปขายต่ออีกทีหนึ่ง แม้ว่าจะไม่ปรากฏหลักฐานชี้ชัดว่า ชาวมอญเริ่มประกอบอาชีพนี้ตั้งแต่เมื่อใด เท่าที่สืบค้นได้คาดว่า ชาวมอญได้ทำอาชีพดำทรายอยู่แล้วในสมัยรัชกาลที่ 5 แถบบางพูด นนทบุรี และคงทำกันเป็นกลุ่มใหญ่พอสมควรจนเป็นที่สังเกตเห็นได้ชัด และทราบกันดีในสังคมไทย จึงเป็นที่กล่าวถึงในตอนที่เกิดเหตุเรือพระประเทียบของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ล่มที่บางพูดว่า ขณะที่เกิดเหตุนั้นมีมอญดำทรายอยุ่แถบนั้นเต็มไปหมด แต่ไม่มีใครกล้าเข้าไปช่วยกู้เรือ (ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม, 2509, หน้า 154 อ้างถึงใน สุภรณ์ โอเจริญ, 2541, หน้า 210 )
อาชีพที่มาจากภูมิปัญญาเก่าแก่สำคัญที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของชาวมอญ คือ การทำเส้นขนมจีนจำหน่าย โดยขนมจีนเป็นอาหารที่ชาวมอญเป็นต้นตำรับและเป็นที่นิยมรับประทานทั่วไปในประเทศไทย ชุมชนมอญสมัยก่อนที่ขึ้นชื่อเรื่องการทำเส้นขนมจีน ได้แก่ ชุมชนมอญ จ.พระนครศรีอยุธยา ชุมชนมอญหนองดู่ จ.ลำพูน ชุมชนมอญแถบพระประแดง จ.สมุทรปราการ (เพจรามัญคดี – Mon studies (27 กรกฎาคม 2017) นอกจากนี้ ยามเมื่อว่างเว้นจากฤดูการทำนา ชาวมอญก็มีการทำงานฝีมือต่าง ๆ ไว้ใช้สอยตามความจำเป็น เช่น ทอผ้า ทอเสื่อ สานตะกร้า กระบุง ชุมชนมอญแถบอยุธยา สมุทรสาคร ราชบุรี และกาญจนบุรี จึงอาศัยทักษะงานฝีมือเหล่านี้มารับจ้างเย็บและค้าจากซึ่งใช้มุงหลังคา จนกลายเป็นอาชีพเสริมนอกเหนือจากงานประจำด้วย ในขณะที่บางชุมชนประกอบอาชีพทำนาเกลือและตัดฟืนขาย อาชีพอีกอย่างหนึ่งที่มอญหันมาให้ความสนใจไม่น้อยในระยะหลัง คือ การรับราชการ เป็นขุนนาง และข้าราชการอยู่ในกรมกองต่าง ๆ ตั้งแต่นายหมวด นายกอง ตลอดจนเสมียน สารวัตร และท้ายที่สุดเป็นนายทหารในกรมทหารเรือ (สุภรณ์ โอเจริญ, 2541, หน้า 85 – 86; สุจริตลักษณ์ ดีผดุง, 2542, หน้า 11 – 12)
นับตั้งแต่ พ.ศ. 2500 การดำเนินนโยบายพัฒนาประเทศให้เข้าสู่ภาวะทันสมัย (Modernization) ของรัฐบาลไทย รวมทั้งกระแสโลกาภิวัตน์ที่ก่อตัวขึ้นได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อวิถีชีวิตของชาวมอญหลายประการ โดยเฉพาะในแง่ของวิถีการดำรงชีพทางเศรษฐกิจ งานศึกษาของจริยาพร รัศมีแพทย์ (2544, หน้า 64) ได้ศึกษาความเปลี่ยนแปลงต่อวิถีการประกอบอาชีพของชาวมอญชุมชนบ้านบางกระดี่ เขตบางขุนเทียน กทม. พบว่า ในระยะแรก คนในชุมชนทำนาเป็นอาชีพหลัก แต่หลังจากช่วงปี พ.ศ. 2510 – 2512 ชาวบ้านเริ่มเปลี่ยนอาชีพมาเป็นเย็บจากตัดฟืนขาย เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป รายได้จากการเย็บจาก ตัดฟืน ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ ส่วนใหญ่จึงหันไปประกอบอาชีพอื่น เช่น ประกอบกิจการวังกุ้ง วังปลา รวมไปถึงค้าขาย รับราชการ และเป็นลูกจ้างในโรงงาน เมื่อชุมชนมีถนนและรถยนต์เข้ามาใช้ในหมู่บ้าน ทำให้การติดต่อกับภายนอกมีความสะดวกรวดเร็ว กิจการต่าง ๆ ในชุมชนจึงซับซ้อนยิ่งขึ้นและขยายตัวอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมที่เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่พื้นที่การเกษตรลดลงเป็นอย่างมาก
สำหรับกรณีของชาวมอญสามโคก จ.ปทุมธานี พบว่า อาชีพหลักที่ขึ้นชื่อของชาวมอญสามโคกในอดีตที่นิยมผลิตเครื่องปั้นเดินเผาและค้าขายเครื่องปั้นดินเผาและสินค้าอื่น ๆ ทางเรือนั้น ปัจจุบัน เมื่อถนนตัดเข้ามาถึงชุมชน วิถีชีวิตที่ใช้เส้นทางน้ำเป็นเส้นทางหลักก็ลดความสำคัญลง แม้ว่าชาวบ้านบางส่วนยังคงประกอบอาชีพผลิตเครื่องปั้นดินเผาอยู่บ้าง แต่ก็มีจำนวนไม่มากนัก แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้ประกอบอาชีพล่องเรือขายเครื่องปั้นดินเผาอีกแล้ว เพราะชาวบ้านมักจะนิยมขนเครื่องปั้นดินเผาบรรทุกรถยนต์ไปขายชุมชนอื่น ๆ แทน ส่วนเรือมอญก็ยังคงมีหลงเหลือให้เห็นในชุมชน แม้ว่าจะลดบทบาทลงไปมาก บางครอบครัวเก็บรักษาเรือมอญไว้ในฐานะเป็นสิ่งที่แสดงถึงความเจริญและความมั่งคั่งในอดีต แต่ก็มีส่วนน้อยที่ยังคงใช้เรือมอญค้าขายสินค้าทางน้ำ อาทิเช่น ขายมะพร้าวและเตาถ่านใช้เวลาล่องเรือขายสินค้าเป็นอาทิตย์แล้วจึงจะกลับบ้าน อาชีพในปัจจุบันของชาวมอญสามโคกส่วนใหญ่เป็นอาชีพใหม่ ๆ เช่น รับราชการ ทำงานเอกชน หรือประกอบธุรกิจส่วนตัว เป็นต้น (ดาริกา ธนะศักดิ์ศิริ, 2556, หน้า 25 – 56 ; Thailand Science Research and Innovation , 20 ต.ค.2015)
ในขณะที่ชาวมอญเกาะเกร็ด จ.นนทุบรี ซึ่งเป็นชุมชนที่มีชื่อเสียงในฐานะที่เป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาคุณภาพดี เมื่อเครื่องปั้นดินเผาประเภทภาชนะสำหรับใช้งานในชีวิตประจำวันได้ลดบทบาทลงไปมากในสังคมปัจจุบัน ช่างฝีมือเกาะเกร็ดจึงได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบเครื่องปั้นดินเผา โดยประยุกต์ให้ดูทันสมัยและสวยงาม เพื่อเน้นขายเป็นของที่ระลึกให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนเกาะเกร็ด (Thailand Science Research and Innovation, 20 ต.ค.2015 )
โครงสร้างครอบครัว
ครอบครัวของชาวมอญในอดีตมักจะเป็นครอบครัวขยาย เนื่องจากส่วนมากมีอาชีพเกษตรกรรม จึงต้องใช้แรงงานในครอบครัว รวมทั้งคนสมัยก่อนให้ความสำคัญกับความกตัญญู ตอบแทนคุณบิดามารดา ปู่ย่าตายาย จึงไม่ทอดทิ้ง ไม่แยกบ้านไปอยู่ถิ่นอื่น เมื่อบุตรคนต่อไปแต่งงาน บุตรที่แต่งงานก่อนจะแยกไปปลูกบ้านเรือนใกล้ ๆ กับบ้านเรือนของบิดามารดา ซึ่งบิดามารดาจะยกที่ดินใกล้บ้านให้แก่บุตร นอกจากบุตรคนสุดท้องที่บิดามารดาจะยกบ้านและที่ดินที่บิดามารดาอยู่ให้เป็นมรดกของบุตรคนสุดท้อง เว้นแต่บิดามารดามีบุตรหลายคน และมีบุตรคนหนึ่งซึ่งสามารถอยู่เลี้ยงบิดามารดาได้ บุตรคนอื่นจึงจะสามารถแยกไปอยู่ที่อื่นได้ แต่ก็จะกลับมาเยี่ยมเยือนดูแลทุกข์สุขบุพการีเสมอ ในปัจจุบัน กรณีศึกษาจากชุมชนมอญเกาะเกร็ด และชุมชนตำบลคลองควาย ในระหว่างปี 2542 – 2543 พบว่า รูปแบบครอบครัวของชาวไทยเชื้อสายมอญมีลักษณะที่ผสมผสานกัน ระหว่างครอบครัวเดี่ยวและครอบครัวขยาย ในสัดส่วนที่ใกล้ ๆ กัน โดยครอบครัวเดี่ยวมีสมาชิกอยู่น้อยกว่า 5 คน และครอบครัวขยายมีสมาชิกตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป จัดเป็นครอบครัวขนาดใหญ่ และมีสมาชิกหลายชั่วอายุคนอาศัยอยู่ด้วยกัน เนื่องจากส่วนใหญ่มีฐานะไม่ค่อยดี การออกไปปลูกบ้านเองหรือซื้อบ้านของตนเองทำได้ยาก จึงต้องอาศัยอยู่กับพ่อแม่ ส่วนมากฝ่ายชายย้ายเข้าไปอยู่กับฝ่ายหญิง ครอบครัวที่สามารถแยกบ้านของตนเองได้ ส่วนมากจะมีฐานะดี ลูกมีการศึกษาดี เมื่อสำเร็จการศึกษามีครอบครัวแล้ว ก็มักจะซื้อบ้านแยกอยู่ต่างหาก หรือปลูกบ้านต่อเติมออกไปจากบ้านพ่อแม่ และมีครัวของตนเอง
การกำหนดบทบาทและสถานภาพของสมาชิกในครอบครัวของชาวไทยเชื้อสายมอญในอดีตจะกำหนดโดยใช้เพศและระดับอายุเป็นสำคัญ ผู้ชายจะมีบทบาทและสถานภาพสูงกว่าผู้หญิง ผู้อาวุโสจะมีบทบาทและสถานภาพสูงกว่าผู้เยาว์ ผู้ชายมีหน้าที่หาเลี้ยงครอบครัวและมีอำนาจในการตัดสินประเด็นในครอบครัว ส่วนผู้หญิงมีหน้าที่อยู่บ้านเลี้ยงลูก ปรนนิบัติสามี และมีหน้าที่ดูแลกิจกรรมภายในบ้านทุกเรื่อง รวมทั้งบริหารเรื่องค่าใช้จ่ายในบ้าน บางครั้งภรรยาอาจทำหน้าที่เป็นตัวช่วยเสริมแรงงานของสามีบ้าง ส่วนผู้อาวุโสพบว่า ในอดีตมีบทบาทเป็นหมอตำแย เป็นหมอสมุนไพร สอนการรำละคร และเป็นที่ปรึกษาของคนในครอบครัว โดยผู้อาวุโสจะได้รับการเคารพจากคนในครอบครัวและชุมชนมาก แต่ในยุคสมัยใหม่ การรักษาพยาบาลแผนโบราณไม่ได้รับความนิยมอีกต่อไป หน้าที่หลักของผู้อาวุโสจึงเป็นการช่วยเหลือดูแลหลาน และการช่วยเหลืองานบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น
ลักษณะโครงสร้างทางด้านอำนาจของครอบครัวมอญ เป็นโครงสร้างที่เน้นความเป็นใหญ่ของฝ่ายชาย แต่การแสดงออกถึงความเป็นใหญ่ของผู้ชายมอญเป็นภาพลักษณ์ที่ผู้ชายแสดงออกผ่านทางสถานภาพและบทบาททางสังคมเท่านั้น ในทางปฏิบัติ ผู้ชายจะใช้เหตุผลพูดคุยหรือถกเถียงปัญหาในครอบครัว การตัดสินใจเรื่องสำคัญในครอบครัวจะตัดสินใจร่วมกัน ภรรยามักจะตัดสินใจในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ และเป็นเพื่อนคู่คิดของสามี ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า ลักษณะการจัดสรรอำนาจในครอบครัวชาวมอญมีลักษณะแบบ Equalitarian มากขึ้น กล่าวคือ ฝ่ายชายและหญิงมีการใช้อำนาจในการตัดสินใจกิจกรรมของครัวเรือนร่วมกันมากขึ้น ปัจจุบัน การแสดงบทบาทในการหาเลี้ยงครอบครัวของผู้ชายและผู้หญิงมีเท่ากัน สามีชาวมอญให้การยอมรับบทบาทในการทำงานนอกบ้านของภรรยา และให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมภายในบ้าน นอกจากนี้ ทั้งสามีและภรรยาชาวมอญยังถูกคาดหวังจากสังคมให้แสดงบทบาทในเรื่องความซื่อสัตย์ต่อคู่สมรส ตามที่กฎหมายในปัจจุบันให้การรองรับ ประกอบกับหลักคำสอนในศาสนาพุทธและกฎจารีตในการนับถือผีล้วนสอนให้ชาวมอญไม่ประพฤติผิดในกามด้วย
ในส่วนของการแสดงบทบาทการเป็นพ่อแม่ที่ดีนั้น สังคมมอญคาดหวังให้พ่อแม่อบรมสั่งสอนลูกให้ปฏิบัติตามค่านิยมที่ชาวมอญให้ความสำคัญมากที่สุด คือ การเคารพผู้อาวุโส รองลงมา คือ การศึกษา ความขยันเข้มแข็ง การยึดมั่นในคุณธรรม ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในครอบครัว การรักษาเกียรติยศของครอบครัวและวงศ์ตระกูล ความมีระเบียบ ความรักในพวกพ้อง ความเป็นตัวของตัวเอง รวมทั้งการสะสมวัตถุเงินทองและความสอดคล้องในชีวิต พ่อแม่ชาวมอญมักแสดงบทบาทต่อลูกในเรื่องของการเป็นแบบอย่างที่ดีมากที่สุด รองลงมาคือการให้ขวัญกำลังใจ การดูแลทางด้านสุขภาพกายใจ และการอบรมสั่งสอนลูกให้เป็นคนดี ลักษณะการอบรมเลี้ยงดูบุตรของชาวมอญมีลักษณะแบบกึ่งประชาธิปไตย คือ ให้อิสระในบางเรื่องและควบคุมบางเรื่อง กล่าวคือ ให้อิสระในเรื่องการเลือกเรียน อาชีพ คู่ครอง แต่จะควบคุมไม่ให้ลูกเที่ยวเตร่และคบเพื่อนที่ไม่ดี และกำกับดูแลให้ลูกช่วยงานบ้าน โดยชาวมอญพยายามสอนลูกด้วยเหตุผลมากกว่าอารมณ์ เพราะให้ความสำคัญกับลูกมาก ในอดีตพ่อแม่ชาวมอญมักจะอบรมสั่งสอนลูกในเรื่องต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องการทำงาน เพื่อให้ลูกสามารถสืบทอดอาชีพจากพ่อแม่ได้ ลูกชายมักจะถูกสอนในเรื่องการรู้จักการดำรงชีวิต ลูกสาวมักจะได้รับการอบรมจากแม่เรื่องงานบ้านงานเรือน ส่วนผู้สูงอายุมักจะอบรมสั่งสอนและถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของบรรพบุรุษ ความสัมพันธ์ในครอบครัวไทยเชื้อสายมอญในสมัยก่อนจึงมีความใกล้ชิดกันมาก
การที่สภาพสังคมได้เปลี่ยนไปจากสังคมแบบเกษตรกรรมมาเป็นสังคมแบบอุตสาหกรรมนั้น ได้ส่งผลทำให้ลักษณะครอบครัวมอญในหลายชุมชนเปลี่ยนแปลงไป เมื่อทั้งพ่อและแม่จำเป็นต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ครอบครัวที่เป็นครอบครัวเดี่ยวอาจจำเป็นต้องจ้างผู้เลี้ยงดูบุตร หรือนำไปให้บุพการีเลี้ยงดูแทน เมื่อลูกถึงวัยเข้าเรียน พ่อแม่ยิ่งต้องแสวงหารายได้เพิ่มขึ้น เพื่อให้เพียงพอกับรายจ่ายที่จะตามมา โอกาสที่ลูกจะอยู่ใกล้ชิดพ่อแม่ก็น้อยลง ประกอบกับความก้าวหน้าของนวัตรกรรมและเทคโนโลยีต่าง ๆ โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตที่ดึงดูดความสนใจของลูกให้ใช้เวลากับสิ่งเหล่านี้ ปัจจัยเหล่านี้ก่อให้เกิดภาวะแปลกแยกระหว่างพ่อแม่และลูกสูง จนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ลูกขาดที่ยึดเหนี่ยวทางใจ ขาดที่ปรึกษา และนำไปสู่ปัญหาการใช้ยาเสพติด ปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร และปัญหาสุขภาพจิตของเด็กในชุมชนมอญในปัจจุบันค่อนข้างมาก นอกจากนี้ ในส่วนของความสัมพันธ์ระหว่างผู้อาวุโสและบุคคลในครอบครัวในยุคปัจจุบัน พบว่า ผู้อาวุโสได้รับการปฏิบัติดูแลจากลูกหลานในเรื่องการดูแลเสือผ้า การพาไปเที่ยวนอกบ้านค่อนข้างน้อย แต่ยังมีการขอคำแนะนำบ้างในบางครั้งแต่ไม่บ่อย ส่วนใหญ่ลูกหลานมักมาเยี่ยมเยือน ซื้อของให้รับประทานดูแลสุขภาพและให้ความเคารพ
ระบบเครือญาติ
ระบบเครือญาติของชาวมอญมีความสัมพันธ์กับระบบการนับถือผีอย่างใกล้ชิด เนื่องจากชาวมอญสมัยโบราณ (รวมทั้งชาวมอญในรัฐมอญ ประเทศพม่าในปัจจุบัน) ไม่มีระบบนามสกุลอย่างคนไทยหรือระบบแซ่ของชาวจีน จึงใช้สัญลักษณ์การนับถือผีของแต่ละตระกูลในการระบุความเกี่ยวดองเป็นเครือญาติ ระบบเครือญาติของชาวมอญสามารถแบ่งได้เป็นญาติทางสายโลหิต และญาติที่เกิดจากการดองของสองตระกูลผ่านการแต่งงาน ซึ่งถือเป็นญาติตระกูลผีเดียวกัน ส่วนลูกสาวและหลานสาวที่แต่งงานไปกับคนในตระกูลอื่น หรือเชื้อสายอื่น เรียกว่า “ ลูกหลวงตา ” (โกนสุ่มตา) ก็นับญาติเป็นผีตระกูลเดียวกับฝ่ายครอบครัวสามี แต่ “ ลูกหลวงตา ” ก็ยังนับเป็นญาติกับครอบครัวเดิม เพียงแต่นับถือ “ คนละผี ” กับครอบครัวเดิมเท่านั้น (สุภาวดี มิตรสมหวัง, 2544; หน้า 132, 144 ; องค์ บรรจุน, 2559, หน้า 133 - 135)
ทั้งนี้ เนื่องด้วยระบบการนับถือผีทำให้เกิดข้อห้ามทางจารีต ซึ่งห้ามคนในตระกูลผีเดียวกันแต่งงานกันโดยเด็ดขาดขาด อย่างไรก็ตาม กรณีของชาวมอญบ้านทุ่งเข็น จ.สุพรรณบุรีได้มีข้อยกเว้นสำหรับรุ่นหลานที่เป็นลูกของพี่หรือน้องชายกับลูกของพี่หรือน้องสาว เพราะถือว่า สายเลือดฝ่ายหญิงได้เปลี่ยนไปนับถือตามผีตามฝ่ายชายแล้ว จึงสามารถแต่งงานกันได้ โดยหลายตระกูลที่มีฐานะมักจะให้ลูกพี่ชายแต่งงานกับลูกน้องสาว เพื่อเป็นการรักษาสมบัติภายในตระกูลของตนไว้ หรือบางกรณีก็มีการแต่งงานระหว่างเครือญาติซึ่งไม่ห่างกันมากนัก แต่กระนั้น ส่วนใหญ่ผู้คนในชุมชนต่างเกี่ยวดองเป็นเครือญาติกันโดยการแต่งงานไขว้ข้ามกันไปมาเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่หลายตระกูลก็มีการแต่งงานกับคนต่างกลุ่มชาติพันธุ์ ดังนั้น เมื่อสืบสาวเครือญาติชาวบ้านทุ่งเข็นรุ่นปัจจุบันจึงมักจะปรากฎสายเลือดผสม 3 – 4 ตระกูลอยู่ในตนเองเป็นอย่างน้อย (องค์ บรรจุน, 2559, หน้า 134 - 135)
การที่ผู้คนในชุมชนส่วนใหญ่ล้วนมีความสัมพันธ์กันผ่านระบบเครือญาติ นับเป็นผลดีต่อการช่วยรักษาความสัมพันธ์ของชาวบ้านในชุมชน เพราะลูกหลานมักจะให้ความเกรงใจผู้อาวุโสของตระกูลหรือผู้นำชุมชน ซึ่งเป็นผู้นำในการตัดสินใจหรือไกล่เกลี่ยประนีประนอมให้คนในตระกูลที่มีข้อพิพาทต่อกันกลับเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในปัจจุบัน ระบบอาวุโสยังสามารถรักษาความสัมพันธ์และภาลักษณ์ของคนภายในตระกูลไว้ได้ แต่มีบทบาทสำคัญต่อการรักษาความสัมพันธ์ของชาวบ้านในชุมชนลดน้อยลง (องค์ บรรจุน, 2559, หน้า 137) นอกจากนี้ สภาพสังคมแบบสมัยใหม่ในปัจจุบันยังได้ส่งผลกระทบต่อการช่วยเหลือเกื้อกูลระหว่างญาติ โดยพบว่ามี 2 ลักษณะ ลักษณะแรกเป็นครอบครัวเดี่ยวที่เกาะกลุ่มกันคล้ายครอบครัวขยาย เป็นครอบครัวที่มีลูกหลายคน เมื่อแต่งงานไปแล้วก็ยังอยู่บริเวณใกล้เคียงกันทำให้สามารถช่วยเหลือกันได้เป็นอย่างดี ลักษณะที่สองเป็นลักษณะที่แยกมาอยู่เด็ดขาด ลักษณะนี้ความสัมพันธ์จะห่างมากขึ้น โอกาสพบหน้ากันมีเพียงวาระสำคัญเท่านั้น
เสื้อผ้าและการแต่งกาย
งานศึกษาของสุจิตรา เปลี่ยนรุ่ง (2553 , หน้า 134 – 139) อธิบายเกี่ยวกับเสื้อผ้าและการแต่งกายของชาวมอญแต่ละเพศและช่วงวัย ดังต่อไปนี้
การแต่งกายของเด็ก : การแต่งกายของเด็กชาวมอญคล้ายกับเด็กไทย แต่ต่างกันตรงที่เด็กมอญตั้งแต่แรกเกิดจนอายุ 7 ขวบ นิยมไว้ผมอันเป็นเอกลักษณ์อยู่ 2 แบบ คือ เด็กผู้หญิงไว้จุก โดยจะไว้ผมปล่อยไว้ยาว และมัดจุกไว้ตรงกลางกระหม่อมค่อนมาทางด้านหน้า ส่วนผมบริเวณอื่นจะโกนทิ้ง ส่วนเด็กผู้ชายจะไว้ผมจุกเฉพาะตรงขวัญ แต่ค่อนไปทางด้านหลัง เรียกว่า “เปีย” สมัยก่อนนั้น เด็กผู้หญิงจะมีแผ่นโลหะถักด้วยเงินเป็นรูปห้าเหลี่ยม โดยทิ้งมุมมาทางด้านล่างเพื่อปกปิดอวัยวะเพศที่เรียกว่า “ตะปิ้ง” และเด็กชายจะมีดอกจำปีเล็กๆ ห้อยไว้ที่เอวเรียกว่า “ลูกพริก” โดยเชื่อว่าป้องกันเขี้ยวเล็บจากสัตว์ต่าง ๆ ได้ ซึ่งปัจจุบันนี้ตะปิ้งและลูกพริกไม่มีให้เห็นแล้ว แต่การไว้จุกและเปียยังคงมีให้เห็นโดยทั่วไป
การแต่งกายของผู้ชาย : ในช่วงประมาณ 50 ปีที่แล้ว ผู้ชายมอญนิยมสวมเสื้อคล้ายกับคนพม่า คือ เป็นเสื้อสีขาวพื้น หรืออาจจะมีลายตารางสีแดงบนพื้นขาว คอกลมแขนยาวผ่าอกตลอดแล้วผูกเชือก หรือมีกระดุมผ้า แขนเสื้อยาวทรงกระบอกและมีเสื้อตัวสั้นแบบเจ๊กเก๊ตสวมทับข้างนอก แต่ก็มีบ้างที่สวมเสื้อตามสมัย เช่น เสื้อคอกลมผ่าหน้า เสื้อเชิ้ตหรือเสื้อยืด ส่วนผ้านุ่งมีหลากหลายรูปแบบ บางคนก็นุ่งโสร่ง บางคนก็นุ่งกางเกงขาก๊วยขึ้นอยู่กับความนิยมและความสะดวกของแต่ละคน แต่ส่วนใหญ่แล้วเด็กมักนุ่งกางเกง แต่คนแก่มักจะนุ่งโสร่งที่เป็นผ้าลายตาหมากรุก ซึ่งภาษามอญเรียกว่า “เกลิด” หมายถึง ผ้านุ่ง หรือบางทีเรียกว่า “สะล่ง” หรือ “สล่วง” คล้ายกับที่คนไทยเรียกว่า “โสร่ง” นั่นเอง แต่หากมีงานประเพณีหรืองานเทศกาลต่าง ๆ จะนิยมนุ่งผ้าผืนยาวที่เรียกว่า “เกลิดฮะเหลิ่น” แปลว่า ผ้านุ่งยาว (ลอยชาย) หรือนุ่งโสร่งทั้งแบบสีพื้นหรือแบบตาหมากรุกหลากสี โสร่งนี้แต่เดิมผู้หญิงจะเป็นผู้ทอเอง และมีลายพิเศษซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของคนมอญโบราณ คือ ลายตาสี่เหลี่ยม การนุ่งโสร่งมักให้ชายโสร่งยาวจนถึงข้อเท้าแล้วใช้ผ้าขาวม้าคาดเอว ถ้าเป็นกางเกงขาก๊วยนั้นจะมีทั้งชนิดขาสั้น สามส่วน และขายาว สีที่นิยม คือ สีน้ำตาล สีดำ และน้ำเงิน และสวมเสื้อคอกลมสีพื้นเรียบ ๆ หรือลายดอก นอกจากนี้ยังใช้ผ้าซึ่งเรียกว่า “หยาดอะบัว” ที่มีลักษณะเหมือนผ้าขาวม้า พาดไหล่ข้างใดข้างหนึ่ง หรือพาดคล้องไหล่ทั้งสองข้าง โดยปล่อยให้ชายผ้าทั้งสองข้างทิ้งไปด้านหลัง อีกแบบหนึ่งเป็นการพาดพันตัวเป็นสไบเฉียง ซึ่งมักจะปฏิบัติกันทุกคนเมื่อเข้าวัด เป็นการแสดงความสุภาพและความเคารพต่อพระภิกษุ นอกจากนี้ สำหรับผู้ชายแล้วเวลาไปวัดบางครั้งก็จะนิยมนุ่งโจงกระเบนด้วย และจะไม่แต่งลอยชายเข้าวัดเด็ดขาดเพราะถือว่าไม่สุภาพ แต่เมื่อออกจากบริเวณวัดแล้วและจะไปสังสรรค์ต่อก็จะปล่อยชายผ้าของโจงกระเบนลงมาเป็นลอยชาย ดังนั้น การแต่งลอยชายสำหรับผู้ชายจึงนิยมแต่งกันในงานรื่นเริง เช่น ช่วงเทศกาลสงกรานต์เท่านั้น สำหรับทรงผมผู้ชายนิยมโพกผ้าด้วยในสมัยโบราณ แต่พออยู่นานไปก็เลิกและหันมาไว้ผมแบบชายไทยตามสมัยนิยมทั่วไป
สำหรับชุดแต่งกายที่คนมอญถือว่าเป็นชุดประจำชาตินั้น ผู้ชายจะต้องใส่ “โสร่งแดง” คือ เป็นโสร่งพื้นแดงลายตารางคล้ายคันนามีแถบขาวคาดที่กลางผืน เดิมแถบสีขาวนี้เกิดจากการนำผ้าสองชิ้นเย็บริมต่อกัน เนื่องจาก “กี่” ทอผ้าของมอญมีขนาดเล็กทำให้ได้ผ้าทอที่มีลักษณะเป็นผ้าหน้าแคบ แต่ในปัจจุบันถึงแม้จะมีการทอด้วยเครื่องจักรที่ทำให้ได้ขนาดผืนผ้าตามที่ต้องการแล้ว แต่ชาวมอญก็ยังนิยมไว้แถบขาวเหมือนเดิม ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ที่ทำให้โสร่งมอญแตกต่างจากโสร่งของพม่า อย่างไรก็ตาม ความจริงแล้วในอดีตที่ผ่านมา คนมอญสมัยก่อนไม่ได้นุ่งโสร่ง แต่จะนุ่งกางเกงตัวเดียว (ลักษณะคล้ายกางเกงขาก๊วยของคนจีนใส่ทั้งในบ้านและนอกบ้าน) และไม่นิยมใส่เสื้อ แต่หลักจากเสียเอกราชให้แก่พม่า เมื่อปี พ.ศ. 1600 ก็ถูกพม่าบังคับให้ใส่โสร่งนับตั้งแต่นั้นมา โดยมีนัยยะแห่งการดูถูกว่า มอญเป็นชนชาติที่ไร้ศักดิ์ศรีจนต้อง “ใส่โสร่งเมี ” เพราะโสร่งที่บังคับให้ใส่เป็นลักษณะผ้าถุงของผู้หญิง ซึ่งชาวมอญเองมิได้ยอมรับในเรื่องการใส่โสร่งนี้นักดูได้จากการที่เมื่อมีคนมอญ (โดยเฉพาะในประเทศพม่า ) เสียชีวิตก็จะนำด้ายมาเนาให้โสร่งมีลักษณะเป็นกางเกง เพราะเชื่อว่านั่นคือการแสดงถึงความเป็นคนมอญที่แท้จริง (แต่ในเมืองไทยมิได้มีประเพณีเช่นนี้)
การแต่งกายของผู้หญิง : ผู้หญิงมอญนิยมนุ่งผ้า “กานิน” (ganin) หรือ “หนิ่น” ซึ่งคล้ายกับ “สะล่ง” ของชายแต่เล็กกว่าและมีวิธีนุ่งที่ต่างกัน ส่วนมากมักเป็นสีพื้นหรือมีตาเล็ก ๆ ที่ละเอียดและสวยงามกว่าของฝ่ายชาย ผ้านุ่งแบบนี้บางทีก็เรียกว่า ผ้า “ตาโถง” และนิยมนุ่งกรอมส้น (สุภรณ์ โอเจริญ, 2541, หน้า 83 อ้างถึงใน สุจิตรา เปลี่ยนรุ่ง , 2553 , หน้า 136)
สำหรับผมของผู้หญิงมอญนิยมไว้ผมยาวเช่นเดียวกับพม่าและมักเกล้าทำเป็นมวยผม ซึ่งจะเกล้าต่ำค่อนไปข้างหลังต่างกับพม่าที่นิยมเกล้าสูงขึ้นไปข้างบน (สุภรณ์ โอเจริญ, 2541, หน้า 83 อ้างถึงใน สุจิตรา เปลี่ยนรุ่ง , 2553 , หน้า 136) โดยเฉพาะผู้สูงอายุยังคงไว้ผมยาวและเกล้ามวยกันทุกคน ซึ่งในช่วงหลังประมาณปี พ.ศ. 2371 – 2373 ผู้หญิงมอญได้รับอิทธิพลการทำผมแบบคนไทยโดยเริ่มหันมาใช้วิธีแต่งผมแบบไทย คือ ใช้เขม่าผสมน้ำมันหอมใส่ผมที่เรียกว่า “จับเขม่า” และถอนไรผมบนหน้าออกด้วย แต่ยังคงไว้ซึ่งผมมวยแบบมอญ อย่างไรก็ตาม หากเป็นผู้หญิงที่เกล้ามวยจะนิยมประดับมวยด้วยเครื่องประดับ 2 ชนิด บังคับไม่ให้มวยผมหลุด เครื่องประดับอาจทำจากไม้ เงิน เหล็ก หรืออลูมิเนียมก็ได้ โดยชิ้นหนึ่งลักษณะคล้ายใบไผ่หรือปีกกาเรียกว่า “ฮะเหลี่ยงโซ่ก” ใช้เสียบแนวนอน เครื่องประดับผมนี้ผู้หญิงมอญยังใช้เป็นอาวุธป้องกันตัวได้ด้วย เพราะมีลักษณะแหลมคม ยิ่งไปกว่านั้น เวลาที่ไปงานบุญหรือไปงานต่าง ๆ สาวมอญ โดยเฉพาะสาวมอญย่านบางกระดี่จะประดับมวยผมด้วยดอกไม้หรือลูกปัดที่มีพู่ห้อยหลากสีสวยงามรอบมวยผมเรียกว่า “แหมะเกวี่ยปาวโซ่ก” หรือ “แหมะเกวี่ยอะเรม”
สาวมอญจะสวมเสื้อคอกระเช้าหรือเสื้อสีพื้นคอปก นุ่งผ้าถุงกรอมเท้าปล่อยชาย (ยกเว้นผู้สูงอายุที่มักจะใส่เสื้อชั้นในคอกระเช้าแบบหลวม ๆ) และแบบรัดทรงมีกระดุมด้านหน้า หากเป็นงานพิธีในวัดมักจะใส่เสื้อคอปกซึ่งส่วนมากจะเป็นสีขาว แต่ถ้าจะไปถือศีลที่วัดจะต้องแต่งกายสีขาวทั้งชุดรวมทั้งผ้าสไบด้วย หากเป็นงานศพจะนุ่งผ้าสีดำใส่เสื้อสีขาว และพาดผ้าสไบสีขาวไว้ที่ไหล่ซ้ายเมื่อออกไปทำธุระนอกบ้าน
สำหรับชุดประจำชาติของผู้หญิงมอญนั้น ผู้หญิงต้องนุ่ง “ผ้าถุงแดง” ลายดอกบนพื้นแดงมีเชิง ส่วนเสื้อจะนิยมสวมเสื้อตัวในเป็นคอกลม แขนกุด เล็กพอดีตัว สีสด สวมทับด้วยเสื้อแขนยาวทรงกระบอก คอกลม ผ่าหน้าผูกเชือกจะเป็นผ้าลูกไม้หรือผ้าเนื้อบางสีอ่อนก็ได้ มองเห็นเสื้อตัวใน ถ้ายังสาวอยู่แขนเสื้อจะยาวถึงข้อมือ หากมีครอบครัวแล้วก็จะเป็นแขนสามส่วน ชายเสื้อค่อนข้างยาวปิดสะโพกเพื่อให้แตกต่างจากเสื้อผู้หญิงพม่า ทั้งนี้ เป็นที่น่าสนใจว่า การแต่งกายที่จัดว่าเป็นชุดประจำชาติของมอญทั้งชายและหญิงนั้น เป็นผลมาจากความพยายามของคนมอญในพม่าที่ต้องการรักษาอัตลักษณ์ความเป็นชาติพันธุ์ของตนเอง และต่อต้านนโยบายกลืนชาติของพม่าที่พยายามแสดงออกว่าพม่ากับมอญเป็นชนชาติเดียวกัน โดยพม่ารับอารยธรรมมอญไว้แทบทุกด้าน รวมทั้งวัฒนธรรมการแต่งกายที่คล้ายคลึงกัน ส่งผลทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ไม่สามารถจำแนกแยกแยะระหว่างชาวมอญกับชาวพม่าได้ ด้วยเหตุนี้ ในปี พ.ศ. 2513 คนมอญจึงคิดค้นชุด “ประจำชาติ” ที่เป็นเอกลักษณ์ของเครื่องแต่งกายมอญขึ้นใหม่เพื่อให้เกิดความแตกต่างจากพวกพม่าโดยเน้นสีแดงเป็นหลัก นำโดยนายอองมู นักศึกษาแพทย์สังกัดชมรมนิสิตนักศึกษามอญในมหาวิทยาลัยย่างกุ้งในขณะนั้นที่ลงพื้นที่กระจายกันเก็บข้อมูล สำรวจลวดลายผ้ามอญพื้นบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลายที่เลิกทอกันไปแล้วบ้าง ไม่ได้รับความนิยมบ้าง รวมทั้งผ้าในหีบห่อผ้าผี ซึ่งสืบทอดกันมาแต่ครั้งบรรพชนไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อได้ข้อมูลและตัวอย่างผ้ามอญโบราณมาแล้ว กลุ่มนักศึกษาจึงได้ประมวลทั้งลายและสีที่ใช้กันมากที่สุด และปรับปรุงให้เป็นชุดมอญที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและนำอัตลักษณ์นี้มาใช้เพื่อแบ่งแยกความเป็นมอญกับพม่าได้ทันทีตั้งแต่แรกเห็น(องค์ บรรจุน, 2549; หน้า 225 )
“ผ้าสไบ” นับเป็นอัตลักษณ์สำคัญของเครื่องแต่งกายชาวมอญอีกประเภทหนึ่ง โดยใช้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย สำหรับผู้ชาย ผ้าสไบเรียกได้ว่าเป็นผ้าสารพัดประโยชน์เทียบเท่ากับผ้าขาวม้าของคนไทย แต่มิได้ใช้ประโยชน์แบบผ้าขาวม้าและจะไม่ใช้ผลัดอาบน้ำเป็นอันขาด เพราะสไบจะถูกนำมาใช้ในวาระโอกาสสูงและใช้ในพิธีรรมสำคัญ อย่างใช้โพกหัว ใช้หนุนนอน ใช้พาดไหล่ เมื่อประกอบพิธีกรรมโดยพาดไหล่ซ้าย พาดปล่อยชายผ้าทั้งสองข้างทิ้งไปด้านหลังยามไปงานรื่นเริง หรือพาดเฉลียงบ่าเมื่อเข้าวัดหรือร่วมงานพิธีการ และเมื่อจะใช้เป็นผ้าปูรองกราบก็จะปล่อยชายจากไหล่ลงข้างหนึ่ง โดยคนมอญเรียกผ้านี้ว่า “หญาดอะบัว” สำหรับผู้หญิงจะเรียกผ้าพาดไหล่สไบเฉียงนี้ว่า “หญาดหะเหริ่มโตะ” หรือ “หญาดหมิ่นโตะ” เนื่องจากริมของผ้าสไบเฉียงนี้ ปักแบบลายปักริมผ้าปูโต๊ะ อีกเหตุผลหนึ่งเชื่อกันว่า แต่เดิมมา หญิงมอญมักใช้ผ้าลักษณะนี้พันรอบอกต่างเสื้อ โดยผู้หญิงแต่ละคนจะมีคนละหลายผืน หลายสี ในสมัยโบราณผู้หญิงแต่ละคนจะเย็บและปักผ้าเอง แต่ในปัจจุบัน หาไม่ทำเองก็จะมีผู้ผลิตมาขายสนนราคาตั้งแต่ผืนละ 400 – 800 บาท ตามแต่ความละเอียดสวยงามของลวดลายริมผ้า อย่างไรก็ตาม สำหรับสไบมอญที่เป็นผ้าปักของชาวมอญน้ำเค็มแถบจังหวัดสมุทรสาครจะมีลวดลายโดดเด่นไม่เหมือนใคร รวมทั้งชุมชนที่อพยพไปจากสมุทรสาคร เช่น บางกระดี่ ลาดกระบัง (กรุงเทพฯ) บางเลน (นครปฐม) หรือไทรน้อย (นนทบุรี) ด้วย โดยสไบจะมีขนาดกว้างประมาณ 50 เซนติเมตร ยาวประมาณ 200 – 250 เซนติเมตร เมื่อเวลาใช้จะพับเป็นสี่ทบตามแนวยาว ที่ขอบสไบปักเป็นลายดอกพิกุล ส่วนกลางผืนปักเป็นลายดอกมะเขือ (ดอกไม้ 5 กลีบ) สอดสลับสีตัดกับพื้นของสไบอย่างดงาม สีที่นิยม เช่น สีบานเย็น สีตอง สีจำปา และสีเหลือง เป็นต้น ผ้าสไบชนิดนี้ ปัจจุบันถือเป็นอัตลักษณ์สำคัญของการแต่งกายของหญิงชาวมอญในชุมชนบางกระดี่
อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยอิทธิพลของนโยบายผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมของรัฐไทยกระแสนิยมวัฒนธรรมตะวันตก รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำรงชีพของชาวมอญรุ่นใหม่ที่ส่วนใหญ่ใช้ชีวิตในเมืองมากกว่าชนบท ส่งผลทำให้ชาวมอญในปัจจุบันไม่กล้าแสดงอัตลักษณ์ความเป็นมอญผ่านเครื่องต่างกาย และนิยมแต่งกายด้วยชุดสากลนิยมในชีวิตประจำวันเฉกเช่นคนไทยมากกว่า มีเพียงผู้สูงอายุบางส่วนที่ยังคงนิยมแต่งกายด้วยชุดมอญในชีวิตประจำวัน รวมทั้งแต่งกายไปวัด หรืองานสำคัญในโอกาสต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่ายินดีว่า การขับเคลื่อนเพื่อฟื้นฟูอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมโดยกลุ่มองค์กรและเครือข่ายของชาวมอญในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ได้มีส่วนกระตุ้นให้คนมอญรุ่นใหม่หันมาให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมทางวัฒนธรรมมอญ และมีความมั่นใจที่จะแต่งกายด้วยชุดมอญไปวัดหรือเข้าร่วมงานประเพณี พิธีกรรมสำคัญต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น (Thai PBS, 31 พฤษภาคม 2016)
สไบมอญ
สถานที่ ศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นไทยรามัญเจ็ดริ้ว
ถ่ายภาพโดย ศิวพงษ์ วงศ์คูณ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563
ที่อยู่อาศัย
เมื่อชาวมอญอพยพเข้ามาอาศัยในประเทศไทย ทางการไทยมักจะพาชาวมอญไปตั้งหลักแหล่งในจุดที่เหมาะสม ซึ่งส่วนใหญ่บริเวณที่จัดให้มักจะเป็นริมน้ำ เพื่อให้สอดคล้องกับภูมิประเทศแบบเดิมในเมืองมอญที่เคยอยู่อาศัยมาก่อน เช่นในบริเวณสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตอนเหนือกรุงเทพฯ ขึ้นไป ปัจจุบัน ชาวมอญจำนวนมากก็ยังคงอาศัยอยู่เป็นหลักแหล่งตามสถานที่ที่ราชการจัดไว้ให้แต่เดิมเหมือนครั้งแรกที่อพยพเข้ามา โดยนิยมอยู่อาศัยด้วยกันภายในกลุ่มชาวมอญเอง กล่าวคือ เมื่อสมัยอยู่ที่เมืองมอญเคยอยู่ในหมู่บ้านใด เมื่ออพยพเข้ามาไทยก็จะอยู่ร่วมกับผู้คนในหมู่บ้านแห่งเดิม ลักษณะการตั้งหมู่บ้านของชาวมอญจะเหมือนกับการตั้งคุ้มของชาวเหนือหรือหมู่บ้านตามภาคอีสานของไทย กล่าวคือ ปลูกบ้านอย่างหนาแน่นติด ๆ กันในที่หนึ่ง แล้วถัดออกไปจากหมู่บ้านจึงจะเป็นสถานที่ทำกินเช่นเทือกสวนไร่นา บ้านเรือนส่วนใหญ่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำในหมู่บ้าน ถึงแม้ว่าจะมีการขยับขยาย โยกย้ายถิ่นฐานบ้านเรือนออกไป บ้านเรือนในที่ใหม่ก็จะยังคงเอกลักษณ์อยู่ริมน้ำเช่นเดิม นอกจากนั้น จุดเด่นที่สำคัญของชุมชนมอญอีกประการหนึ่ง คือ ทุกชุมชนจะต้องมีวัดในพระพุทธศาสนาเป็นวัดประจำชุมชนอย่างน้อยหนึ่งวัด ( สุจิตรา เปลี่ยนรุ่ง, 2553, หน้า 130 - 131 )
ลักษณะบ้านเรือนที่อยู่อาศัย
งานศึกษาของสุจิตรา เปลี่ยนรุ่ง ( 2553, หน้า 130 - 131 ) ได้สัมภาษณ์ชาวมอญจากชุมชนต่าง ๆ ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ล้วนระบุตรงกันว่า ลักษณะของบ้านเรือนที่ชาวมอญอยู่อาศัยเมื่อประมาณ 200 ปีที่ผ่านมา มีลักษณะเป็นเพียงเพิงพักหรือบางท่านให้คำนิยามว่า “กระต๊อบ” หลังคามุงจาก ฝาขัดแตะ และปลูกเพียงหลังเล็ก ๆ พออาศัยเท่านั้น เนื่องจากสมัยก่อนชาวมอญมีฐานะยากจน ต่อมาเมื่อมีฐานะดีขึ้นจึงปรับปรุงให้เป็นบ้านทรงไทยขึ้นมา แต่ยังคงลักษณะของบ้านทรงไทยใต้ถุนสูง เพราะต้องเตรียมไว้รับกับสภาพน้ำขึ้นน้ำลง เนื่องจากบ้านชาวมอญส่วนใหญ่จะอยู่ติดริมแม่น้ำ และเพื่อใช้พื้นที่ในส่วนของใต้ถุนไว้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ของครอบครัวด้วย ลักษณะของหมู่บ้านมอญส่วนใหญ่จึงเป็นลักษณะหมู่บ้านยาวไปตามริมแม่น้ำ
บ้านเรือนส่วนใหญ่มีลักษณะและใช้วัสดุในการปลูกบ้านคล้ายคลึงกับเรือนของคนไทยทั่วไปในสมัยนั้น ๆ คือ เป็นเรือนไม้เครื่องผูกคาดว่า ช่วงแรกเครื่องผูกก็จะใช้วัสดุที่หาได้ตามท้องถิ่น ตัวบ้านยกพื้นสูง หลังคาทรงจั่ว ใช้ทั้งไม้ไผ่และไม้เนื้อแข็ง มีปั้นลมแหลม ใช้ฝาเฟี้ยมและมุงหลังคาด้วยจาก ซึ่งในปัจจุบันก็มีการปรับเปลี่ยนเป็นทั้งมุงด้วยสังกะสีและมุงด้วยกระเบื้อง ซึ่งการปลูกบ้านของชาวมอญในสมัยก่อนจะต้องสอดคล้องกับหลักความเชื่อเรื่องการปลูกบ้านตามคัมภีร์โละสิทธิของมอญ ตลอดจนมีการดูฤกษ์ยาม มีเกณฑ์และโฉลกตามที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา เริ่มตั้งแต่การเลือกเวลาที่จะปลูก เลือกที่ดิน เลือกตำแหน่งที่จะปลูก การขุดเสาเรือน การตั้งเสาเรือน ต้องให้ถูกต้องตามขนาดและสัดส่วนที่กำหนด (สุจริตลักษณ์ ดีผดุงและคณะ, 2542 ; สรัญญา ชูชาติไทย, 2543, หน้า 40)
ส่วนประกอบของตัวบ้านมักจะประกอบด้วยนอกชาน ระเบียง ที่สำคัญที่สุด คือ จะตั้งเสาเรือน ซึ่งเป็นเสาหลักต้นหนึ่งในบ้านเป็นที่ตั้งหิ้งบูชาผีเรือน เครื่องเรือนที่สำคัญ ได้แก่ เสื่อ ซึ่งทอกันเองภายในหมู่บ้านและหมอน ไม่ค่อยมีโต๊ะหรือเก้าอี้ เพราะชาวมอญมักจะนิยมนั่งรับรองแขกด้วยเสื่อ (สุภรณ์ โอเจริญ, 2541, หน้า 80) และการปลูกบ้านของชาวมอญมักจะสร้างและหันหน้าเรือนไปทางทิศเหนือ เหตุเพราะชาวมอญอพยพมาจากทิศเหนือ เมื่อเข้ามาอยู่ในประเทศไทยตั้งหลักแหล่งมั่นคงถาวรแล้วจึงปลูกบ้านหันไปทางทิศเหนือ และเพราะเหตุที่แม่น้ำสายต่าง ๆ ในประเทศไทยส่วนใหญ่ก็มีแนวจากเหนือไปใต้ทั้งสิ้น ดังนั้น เมื่อเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ชาวมอญก็ยังคงนิยมปลูกบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำลำคลองและหันหน้าไปทางทิศเหนือ จึงกลายเป็นต้องปลูกบ้านขวางแม่น้ำ อันเป็นที่มาของคำเรียกว่า “ มอญขวาง ” (สุจริตลักษณ์ ดีผดุง และคณะ, 2542, หน้า 10) การปลูกบ้านขวางแม่น้ำของชาวมอญสันนิษฐานว่ามีที่มาจากความเชื่อสองประการ กล่าวคือ ประการแรก เชื่อว่าการปลูกเช่นนี้เป็นการถูกต้องตามสุขลักษณะและสุขสบาย และประการที่สอง เชื่อว่าปลูกเพื่อให้สะดวกกับการประกอบพิธีศพ (สุจิตรา เปลี่ยนรุ่ง, 2553, หน้า 133) กล่าวคือ ตามประเพณีการเคลื่อนศพออกจากบ้านของชาวมอญจะต้องเอาศพออกทางทิศเหนือของตัวเรือนเสมอ ถ้าทางทิศเหนือไม่มีประตูก็จะต้องทะลุฝาบ้านออก เมื่อประเพณีเป็นเช่นนี้จึงทำให้ชาวมอญจึงสร้างบ้านเผื่อเอาไว้ อย่างไรก็ตาม ชาวมอญซึ่งนิยมปลูกบ้านตามริมแม่น้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่ยาวจากทิศเหนือลงใต้ ซึ่งถ้าหากจะปลูกบ้านตามริมแม่น้ำ คือ ให้ขนานกับแม่น้ำแล้ว เวลาจะเอาศพออกต้องทะลุฝาออกด้านข้าง ซึ่งไม่สะดวกเพราะไม่มีประตู ดังนั้น จึงต้องปลูกเรือนขวางคลองหรือหันหน้าเรือนไปทางเหนือ (ส.พลายน้อย, 2544,หน้า 247)
นอกจากนี้ ชาวมอญยังมีความเชื่อเรื่องที่อยู่อาศัยอีกว่า คนมอญเมื่อแต่งงานแล้วจะอยู่หลังคาเดียวกับเรือนใหญ่ไม่ได้ หากฝ่าฝืนเชื่อว่าจะทำให้เกิดความเสียหาย จะทำกินไม่ขึ้น หรือเกิดการเสื่อม เพราะถือเป็นการไม่ให้ความเคารพต่อผู้ใหญ่ ทั้งนี้ ห้องนอนของผู้ใหญ่ เช่น พ่อแม่ปู่ย่าตายายหรือแขกผู้ใหญ่ต้องให้อยู่ทางทิศตะวันออก หรือทางทิศใต้ ส่วนครัวให้อยู่ทางตะวันตกของบ้าน ลูกสาวที่ยังไม่ออกเรือนให้อยู่ห้องติดกับผู้ใหญ่ แต่อยู่ทางทิศตะวันตกอันแสดงถึงความอ่อนอาวุโส ส่วนลูกสาวที่ออกเรือนแล้วก็ให้มากั้นห้องใหม่อยู่ทางทิศตะวันตกหรืออยู่ในส่วนของเรือนครัว ซึ่งแบ่งเรือนครัวแห่งนี้เป็นสามส่วน ได้แก่ ส่วนของการทำอาหาร ส่วนเก็บของ และห้องนอน ทั้งนี้ ชาวมอญมีความเชื่อด้านที่อยู่อาศัยประการหนึ่งที่แตกต่างกับคนไทยโดยสิ้นเชิง คือ เรื่องทิศของหัวนอน โดยมีคำพูดติดปากว่า “ มอญทิศใต้ ไทยทิศเหนือ ” กล่าวคือ คนไทยนิยมหัวหัวนอนไปทางทิศเหนือ ส่วนคนมอญจะหันหัวนอนไปทางทิศใต้ อย่างไรก็ตาม คนไทยเชื้อสายมอญในปัจจุบันมิได้เคร่งครัดในเรื่องนี้นัก (ธีระ ทรงลักษณ์, สัมภาษณ์ 16 มกราคม 2553 อ้างถึงใน สุจิตรา เปลี่ยนรุ่ง, 2553, หน้า 133)
คติในการปลูกบ้านที่มีเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของชาวมอญ คือ การหันเรือนให้ห้องที่มีเสาผี (เสาเอก) ของบ้านอยู่ด้านทิศตะวันออก ให้เป็นจุดแรกที่รับแสงยามอรุณรุ่งก่อนห้องอื่น ๆ ทำให้เงาของคนที่อาศัยอยู่ในบ้านจะได้ไม่ทาบทับเข้ากับเสาผีที่คนมอญเคารพสูงสุดรองจากพระพุทธเจ้า นอกจากเหตุผลในเรื่องความเชื่อเกี่ยวกับผีแล้ว ยังสามารถอธิบายได้แบบวิทยาศาสตร์ ในแง่ที่ว่า ห้องที่มีเสาผีนั้นเป็นห้องเจ้าบ้าน ซึ่งก็คือ ห้องพ่อแม่อันเป็นประมุขของครอบครัว จึงควรที่จะได้รับแสงยามเช้าก่อนใคร นอกจากแสงแดดยามเช้าเป็นแดดอ่อนที่มีวิตามินดีซึ่งมีคุณค่าต่อร่างกายแล้ว ประโยชน์ที่แท้จริงอีกประการหนึ่ง คือ แสงแดดช่วยสาดส่องฆ่าเชื้อโรคภายในห้อง และในตอนเย็นห้องดังกล่าวก็จะเย็นก่อนใคร เพราะไม่ถูกแดดบ่ายซึ่งร้อนจัดแผดเผายาวนาน พ่อกับแม่จึงเข้านอนได้สบาย ส่วนลูก ๆ ในวัยหนุ่มสาวที่แข็งแรงอยู่แล้วย่อมหาเวลานอนที่เหมาะสมได้เอง ยิ่งไปกว่านั้น นอกจากบ้านใหญ่ซึ่งเป็นบ้านพ่อแม่แล้ว เมื่อลูกหลานต้องการแยกเรือนออกไปก็จะต้องไม่ปลูกเรือนขวางตะวันให้เงาบ้านลูกทับบ้านพ่อแม่อีกด้วย มิเช่นนั้น เชื่อกันว่าจะทำให้ลูกหลานทำมาหากินไม่ขึ้น (องค์ บรรจุน, นิตยสารศิลปวัฒนธรรม, กุมภาพันธ์ 2549, หน้า 50 - 53)
สำหรับจุดเปลี่ยนในเรื่องสภาพที่อยู่อาศัยของชาวมอญนั้นสันนิษฐานว่า ในยุคเริ่มอพยพ บ้านเรือนของชาวมอญยังมีลักษณะเป็นเรือนไม้เครื่องผูกหลังเล็ก ๆ ก่อนและอาศัยอยู่รวม ๆ กัน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงเริ่มเปลี่ยนแลงเป็นบ้านแบบเรือนไทยภาคกลาง แต่ใช้หลักการปลูกตามความเชื่อเรื่องการปลูกบ้านตามแบบคัมภีร์โลกะสิทธิของมอญ สำหรับการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินในช่วงแรกของชาวมอญยังมีที่ดินรวมเป็นอาณาเขตเดียวกัน ต่อมา เมื่อมีการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ที่ดิน ( ตามแผนที่ระวาง ร.ศ.112 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ) ทำให้ลักษณะการจับจองต่างกันไปตามฐานะและขนาดครอบครัว ส่งผลทำให้เกิดความแตกต่างของขนาดที่ดิน จากเดิมที่คาดว่ามีขนาดที่ดินไม่แตกต่างกันมากนัก (สรัญญา ชูชาติไทย, 2543, หน้า 40) นอกจากนี้ ชุมชนมอญส่วนใหญ่ยังคงเป็นชุมชนเกษตรกรรมที่มีการขยายตัวไม่มาก แต่หากขยายตัวก็จะกระจุกตัวอยู่อย่างหนาแน่นในแถบสถานที่ราชการและตลาด ส่วนชุมชนที่พักอาศัยก็ยังคงมีการตั้งถิ่นฐานแบบเดิม (สุจิตรา เปลี่ยนรุ่ง, 2553, หน้า 134)
ปัจจุบัน เมื่อการคมนาคมทางบกเจริญก้าวหน้าขึ้น ชาวมอญจำนวนมากจึงเปลี่ยนจากการตั้งถิ่นฐานริมแม่น้ำมาเป็นสร้างบ้านริมถนนแทน เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเดินทางสัญจรในชีวิตประจำวัน สำหรับความเปลี่ยนแปลงต่อรูปแบบบ้านของชาวมอญในปัจจุบันนั้น กรณีของชุมชนมอญบางขันหมากซึ่งเป็นชุมชนที่อยู่ในบริบทกึ่งชนบทกึ่งเมือง และมีหลากหลายทางชาติพันธุ์สูง แม้ว่าชาวมอญจะเป็นชนกลุ่มใหญ่ แต่ก็มีการผสมผสานทางวัฒนธรรมกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ อย่างไรก็ตาม บ้านของชาวมอญแบบเดิมที่เป็นบ้านไม้หลังคาทรงจั่ว ใต้ถุนสูง คล้ายบ้านทรงไทยของคนไทยก็ยังคงมีอยู่ แต่มีจำนวนน้อยลง เพราะส่วนหนึ่งปรับเปลี่ยนเป็นบ้านแบบทันสมัย แต่กระนั้น ความเชื่อเรื่องการสร้างบ้านเรือนและรูปแบบบ้านมอญแบบเดิมบางส่วนยังคงยึดถือปฏิบัติกัน โดยพบว่า ชาวมอญยังคงสร้างห้องที่เป็นที่อยู่ของผีเรือน หรือหากเป็นบ้านของต้นผีหรือหัวหน้าต้นตระกูลก็จะใช้เป็นห้องเก็บเครื่องผีของตระกูลด้วย ( Thailand Science Research and Innovation , 6 เม.ย.2015 )
ในขณะที่งานศึกษาของสุจิตรา เปลี่ยนรุ่ง ( 2553, หน้า 254 - 255) ได้ศึกษาอัตลักษณ์ด้านที่อยู่อาศัยของชาวมอญในชุมชนมอญที่ถือว่าอยู่ในบริบทความเป็นเมืองทั้งหมด อันได้แก่ ชุมชนมอญพระประแดง ชุมชนมอญปากเกร็ด และชุมชนมอญบางกระดี่ พบว่า ชุมชนมอญบางกระดี่ยังคงรักษาอัตลักษณ์ทางด้านที่อยู่อาศัยไว้ได้มากที่สุด ในขณะที่ชุมชนมอญพระประแดงและชุมชนมอญปากเกร็ดไม่ได้สืบทอดความเชื่อทางด้านที่อยู่อาศัยที่สำคัญ 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ (1.) การปลูกบ้านตามคัมภีร์โลกะสิทธิ์ (2.) การมีอะลกห้อยประจำบ้าน และ (3.) การมี “เสาผี” หรือการมีเสาบูชาผีเรือนในบ้าน ทั้งนี้ เนื่องจากความเชื่อเรื่องผีมีการกลืนกลายไปมากแล้ว อีกทั้งขาดผู้อาวุโสในชุมชนที่จะคอยควบคุมการปฏิบัติในเรื่องดังกล่าวด้วย สำหรับประเด็นอัตลักษณ์ด้านที่อยู่อาศัยที่สูญหายมากที่สุดจากทั้ง 3 ชุมชน มี 2 ประเด็น ได้แก่ (1.) การรับแขกด้วยเสื่อ (2.) การมีเสื่อและหมอนที่ทำขึ้นเอง เนื่องจากทุกชุมชนอยู่ในบริบทความเป็นเมือง สภาพบ้านเรือนมีความทันสมัย ผู้คนสามารถหาซื้อเฟอร์นิเจอร์และของใช้ภายในบ้านได้เอง ดังนั้น วิถีปฏิบัติในการรับรองแขกด้วยเสื่อและการทำของใช้เองภายในบ้านจึงสูญหายไปในปัจจุบัน
อาหาร
ชาวมอญมีภูมิปัญญาเกี่ยวกับอาหารที่มีลักษณะเฉพาะของตน การที่ชาวมอญอพยพมาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยเป็นจำนวนมากเป็นเวลาหลายร้อยปี ส่งผลทำให้วัฒนธรรมอาหารหลายอย่างของชาวมอญได้ถูกผสมผสานอยู่ในสังคมไทยอย่างกว้างขวาง อันปรากฏอย่างชัดเจนว่า อาหารมอญหลายประเภทเป็นอาหารที่คนไทยคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี มีการปรุงและรับประทานกันอย่างแพร่หลายนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน (พิสัณห์ ปลัดสิงห์, 2530 อ้างถึงใน พัชรินทร์ สิรสุนทร, 2558, หน้า 41) โดยองค์ บรรจุน (28 ตุลาคม 2014) อธิบายว่า วัฒนธรรมอาหารมอญมีความดั้งเดิมมากกว่าอาหารไทยเป็นอย่างมาก ดังที่ปรากฏอย่างชัดเจนที่สุด คือ วัฒนธรรมการรับประทานปลาร้า อันเป็นภูมิปัญญาอาหารดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์เก่าแก่ในเอเชียตะวันออกเฉียงได้ คือ กลุ่มชาติพันธุ์ตระกูลออสโตร - เอเชียติก ได้แก่ ชาวมอญ เขมร และเวียดนาม ซึ่งได้ส่งต่อภูมิปัญญาเก่าแก่มายังคนรุ่นหลังในปัจจุบันและกลายเป็นส่วนหนึ่งของเอกลักษณ์อาหารไทย ส่วนวัฒนธรรมอาหารมอญแบบใหม่ เช่น ขนมจีนและข้าวแช่ ก็ถูกผสมกลมกลืนกลายเป็นอาหารไทยในปัจจุบันเช่นกัน
วัฒนธรรมอาหารที่ชาวมอญยังคงสืบทอดอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท อันได้แก่ อาหารที่รับประทานในชีวิตประจำวัน อาหารที่ใช้ในพิธีกรรมและประเพณี และอาหารของชาวมอญในแต่ละท้องถิ่น โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
อาหารที่รับประทานในชีวิตประจำวัน
อาหารพื้นบ้านมอญเป็นอาหารที่มีคุณประโยชน์สูงทางโภชนาการ เนื่องจากมักประกอบด้วยผักสมุนไพร ปลา และเครื่องเทศ ซึ่งล้วนแต่เป็นวัตถุดิบที่หาได้ตามธรรมชาต พืชอาหารหลักของคนมอญส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นเมือกลื่น ซึ่งมีสรรพคุณช่วยดูดซับสารพิษออกจากร่างกาย ได้แก่ ลูกมะตาด ( เป็นผลไม้ประจำชาติมอญ คนไทยเรียกว่า “แอปเปิ้ลมอญ”) กระเจี๊ยบ (รับประทานทั้งใบ ผลอ่อน และฝัก) มะส้าน ผักปลัง พุทราป่า อาหารที่พบมากในสำรับอาหารของชาวมอญในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นแกง หรือที่ชาวมอญเรียกว่า “ คว่ะ ” มี 2 ประเภท คือ ประเภทแรก คือ แกงใส่กะทิและแกงส้ม แกงส้มของชาวมอญ นิยมใส่กระชายและผิวมะกรูด และใส่ผักพื้นบ้านหรือผักที่มีรสออกเปรี้ยว เช่น กระเจี๊ยบ มะตาด มะสั้น ส่วนแกงกะทิที่นิยม ได้แก่ แกงเลียง แกงบอน กับประเภทที่สอง ได้แก่ น้ำพริก และเครื่องจิ้ม มักใช้ปลาร้าเป็นส่วนประกอบ มีทั้งที่ใส่กะทิและไม่ใส่ นิยมใส่เครื่องเทศและสมุนไพรเป็นจำนวนมาก เช่น หอมแดง กระเทียม ตะไคร้ ใบมะกรูด และใส่เนื้อปลา อาจเป็นปลาสดหรือปลาย่างตามความนิยมในแต่ละพื้นที่ (องค์ บรรจุน , 28 ตุลาคม 2014 ; ดาริกา ธนะศักดิ์ศิริ, 2556, หน้า 38)
อย่างไรก็ตาม อาหารมอญในปัจจุบันก็มีความแตกต่างจากอาหารมอญแบบดั้งเดิม โดยองค์ บรรจุน (28 ตุลาคม 2014) ได้อธิบายว่า ในสังคมดั้งเดิมของชาวมอญจะไม่นิยมรับประทานแกงกะทิในชีวิตประจำวันแบบคนไทย ส่วนใหญ่จะถือว่า แกงกะทิเป็นอาหารที่ดี จึงนิยมทำถวายพระ แต่ในช่วงหลังที่รับอิทธิพลทางด้านอาหารจากพม่าหรืออินเดีย อาหารมอญในช่วงหลังจึงเริ่มใส่เครื่องเทศที่กลิ่นแรงและใส่น้ำมันเยอะ แกงกะทิมอญเหล่านี้มักใส่เนื้อสัตว์ประเภทต่าง ๆ โดยเพจรามัญคดี – Mon Studies ( 10 พฤษภาคม ; 10 มิถุนายน 2563) ได้อธิบายถึงวัฒนธรรมการรับประทานเนื้อสัตว์ของชาวมอญในอดีตที่ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ใหญ่ และไม่ได้รับประทานเป็นชิ้นใหญ่แบบชาวตะวันตก วิถีการกินดังกล่าวสอดคล้องกับพระรามัญนิกายที่จะไม่ฉันกุ้งหอยปูปลาที่เห็นรูปลักษณ์เป็นตัวตนชัดเจน ต้องหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ก่อนนำมาประกอบอาหาร วัฒนธรรมการรับประทานเนื้อสัตว์ใหญ่ของชาวมอญในระยะหลังน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากชาวมุสลิมหรือชาติตะวันตก นอกจากนี้ อาหารมอญดั้งเดิมจะต้องใส่กระชายในแกงแทบทุกชนิด เพราะมีกลิ่นหอมชวนรับประทาน โดยเฉพาะในแกงส้ม ทำให้แกงส้มมอญมีกลิ่นและรสชาติที่ต่างจากแกงส้มของไทย ทว่าคนมอญในปัจจุบันกลับไม่นิยมใส่กระชายในแกงส้มเท่าใดนัก เหลือเพียงใส่เฉพาะในแกงขี้เหล็กและน้ำยาที่รับประทานกับขนมจีนเท่านั้น (เว้นแต่ชุมชนมอญราชบุรีที่ยังคงเอกลักษณ์ของตนไว้มาก ) เหตุผลหลักประการหนึ่งอาจเป็นเพราะคนมอญต้องออกนอกชุมชนและปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มคนเชื้อสายอื่น ๆ จึงเกิดการประนีประนอมรสชาติอาหารให้กลุ่มคนชาติอื่น ๆ รับประทานได้ ตัวอย่างอาหารพื้นบ้านมอญที่รับประทานในชีวิตประจำวัน ได้แก่
แกงส้ม
แกงส้มเป็นเมนูที่ชาวมอญนิยมรับประทานในชีวิตประจำวันบ่อยครั้งมาก รสชาติของแกงจะเปรี้ยวนำ โดยปรุงจากพืชผักส่วนประกอบที่ให้รสเปรี้ยว เช่น กระเจี๊ยบ มะตาด ลูกมะสั้น พุทรา หรือมีการปรุงรสด้วยส้มมะขาวเพิ่มด้วย ชาวมอญแต่ละท้องถิ่นมีพืชผักที่นำมาแกงแตกต่างกันไป ถึงแม้จะเป็นแกงส้มแบบเดียวกัน แต่หากใช้ผักต่างกันก็จะให้รสชาติคนละแบบ จากภาพเป็นเมนูแกงส้ม 5 อย่างของชุมชนมอญบางขันหมาก จ.ลพบุรี ได้แก่ แกงเอื้องกับปลาย่าง แกงถั่วแปบกับพุทรา แกงเม็ดผักบุ้งกับพุทราใส่ไข่ปลา แกงดอกสันตะวาใส่ปลาย่าง และแกงกระเจี๊ยบใส่ปลาย่าง
(คุณปัทมา ขำดี ชุมชนมอญบางขันหมาก จ.ลพบุรี สัมภาษณ์ ใน เพจรามัญคดี – MON Studies, 30 ธันวาคม 2015)
ขนมจีนน้ำยา
ขนมจีนน้ำยา แม้จะพบว่าเป็นอาหารที่รับประทานอย่างแพร่หลายทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เป็นที่ชัดเจนว่าเป็นอาหารที่มีต้นกำเนิดจากชาวมอญ ชาวมอญเรียกว่า “ คะนอม ” หรือภาษาพูดเรียกว่า “ หะนอม ” แปลว่า “ เส้น ” ส่วนคำว่า “ จีน ” ที่เกิดจากการเรียกของคนไทย ภาษามอญแปลว่า “ สุก ” ขนมจีนกินกับน้ำยาที่มอญเรียกว่า “ ฮะก่ม ” หรือ “ ทะก่ม ” สำหรับที่มาของชื่อขนมจีนนั้น ว่ากันว่า มีเรื่องเล่ากันว่า คนไทยได้ยินชาวมอญถามกันขณะที่กำลังทำอาหารเส้นชนิดนี้ว่า “ หะนอมจิน ” ซึ่งหมายถึง “ เส้นสุกหรือยัง ” เนื่องจากกระบวนการทำเส้นขนมจีนต้องผ่านการทำให้แป้งสุกด้วยความร้อนหลายครั้ง เมื่อคนมอญบอกว่า “ จิน ” (สุกแล้ว) บ่อยครั้ง คนไทยจึงจดจำเรียกผสมรวมเข้าเป็นสร้อยคำว่า “ ขนมจีน ” นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เส้นขนมจีนมอญแบบโบราณจะต้องหมักจนมีรสเปรี้ยวจึงจะนับว่าอร่อย สำหรับแกงที่ใช้รับประทานกับขนมจีนมี 2 ชนิด คือ น้ำยาและน้ำพริก สูตรของคนมอญโบราณเป็นน้ำยาปลาไม่ใส่กะทิ แต่ภายหลังเมื่อคนมอญได้รับวัฒนธรรมการปรุงอาหารให้มีการใส่กะทิแบบคนไทย ขนมจีนเป็นอาหารที่คนมอญรับประทานบ่อยครั้ง ในอดีต ชาวบ้านนิยมทำเส้นขนมจีนและน้ำยาเอง ปัจจุบันสามารถหาซื้อเส้นขนมจีนและน้ำยาได้ง่ายตามท้องตลอด แต่เส้นขนมจีนแบบสมัยใหม่มักจะผสมยากันบูด ไม่ให้มีรสเปรี้ยว เพื่อเก็บไว้รับประทานได้นานกว่าขนมจีนสูตรโบราณ ส่วนน้ำยา หากมีงานบุญหรืองานประเพณีใหญ่ ๆ ชาวบ้านมักจะนิยมปรุงเอง ( เพจรามัญคดี – Mon studies , 27 กรกฎาคม 2017)
แกงเนื้อ
แกงเนื้อเป็นอาหารมอญที่ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมการรับประทานเนื้อสัตว์ใหญ่มาจากชาวมุสลิมหรือชาวตะวันตก แกงเนื้อแบบที่ชุมชนมอญจากพม่าที่อาศัยอยู่บริเวณสังขละบุรีและสมุทรสาครนิยมรับประทานได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอาหารของอินเดียและพม่าอย่างเข้มข้น โดยแกงเนื้อทำจากนำเนื้อวัวผัดกับน้ำมันเยิ้ม ๆ หรืออาจผัดกับใบกระเจี๊ยบแบบแห้ง ๆ ใส่หน่อไม้ กุ้ง ขมิ้น และเครื่องเทศที่เรียกว่า “ มะสล่า ” ซึ่งเป็นเครื่องเทศอินเดียที่มีการนำไปใส่อาหารพม่า และถ่ายทอดผ่านมายังอาหารมอญในเมนูแกงเนื้อเหล่านี้ ในขณะที่คนมอญภาคกลางในประเทศไทย ส่วนใหญ่นิยมรับประทานแกงเนื้อที่ใส่พริกแกง ใส่กะทิ ใส่ผัก เช่น มะเขือพวง มะเขือเปราะ กล้วยดิบ ฟักทอง หรือหน่อไม้ ฯลฯ หน้าตาและรสชาติคล้ายกับแกงเนื้อของคนไทย โดยแกงเนื้อแบบที่ใส่กะทิก็น่าจะได้รับอิทธิพลจากแกงกะหรี่ของอินเดียเช่นกัน เพียงแต่ไม่ได้ใส่มะสล่าลงไปในแกง ( องค์ บรรจุน, 28 ตุลาคม 2014 ; เพจรามัญคดี – Mon studies, วันที่ 10 พฤษภาคม 2563)
พริกกะเกลือ
พริกกะเกลือเป็นอาหารที่คนมอญสมัยก่อนที่ใช้ชีวิตอย่างแร้นแค้น ประดิษฐ์ขึ้น เพื่อใช้เป็นเสบียงอาหารยามขาดแคลน หรือใช้เป็นเสบียงเดินป่าและออกศึก พริกกะเกลือสูตรดั้งเดิมทำจากพริกแห้งคั่ว ตำให้แหลก ใส่เกลือพอเค็มปะแล่ม ๆ เอามาคลุกข้าวกิน ส่วนที่เหลือสามารถเก็บไว้รับประทานได้นาน จึงเรียกว่า พริกกะเกลือ (อะรอจก์เบอ) ต่อมาในยุคหลัง ผู้คนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงใส่มะพร้าว ใส่งา ใส่ถั่ว และเลิกใส่พริกเพราะรสชาติไปด้วยกันไม่ได้ แต่ผู้คนยังคงเรียกขานในชื่อเดิมว่า พริกกะเกลือ” สำหรับสูตรพริกกะเกลือของมอญสามโคก ปทุมธานี มอญลพบุรี และราชบุรี ใช้เครื่องปรุง 3 อย่าง ได้แก่ มะพร้าว งา ( บ้างใช้ถั่วเหลือง ) และเกลือ วิธีทำ คือ คั่วงาและมะพร้าวที่ขูดในกะทะ จากนั้นนำทั้งหมดไปโขลกในครกให้ละเอียด ใส่เกลือ เติมน้ำตาลเล็กน้อย ส่วนใหญ่จะไม่ใส่เลย ตักใส่ขวดโหลเก็บไว้รับประทานได้นาน รสชาติของพริกกะเกลือจะมีรสมัน เค็ม หวานปะแล่ม ๆ ใช้คลุกข้าวกิน แต่คนแก้ส่วนใหญ่ชอบเอาผลไม้รสหวานฉ่ำจิ้มพริกกะเกลือ รับประทานกับข้าว ( เพจรามัญคดี – Mon studies , 16 ธันวาคม 2016)
น้ำพริก
น้ำพริกมอญสูตรดั้งเดิมจะใช้กะปิมอญที่ทำมาจากปลาตัวเล็กตัวน้อย แทนที่จะใช้กะปิที่ทำจากกุ้งและเคยเหมือนคนไทย น้ำพริกจะมีความข้น ปัจจุบัน คนมอญภาคกลางไม่ค่อยทำน้ำพริกสูตรดั้งเดิมแล้ว ส่วนใหญ่ทำน้ำพริกแบบไทย น้ำพริกสูตรดั้งเดิมยังเป็นที่นิยมในหมู่ชาวมอญสังขละบุรีมากกว่า ( องค์ บรรจุน, 2014 )
อาหารที่ใช้ในพิธีกรรมและประเพณี
อาหารพื้นบ้านที่นิยมใช้ในพิธีกรรมหรืองานเทศกาลต่าง ๆ สะท้อนถึงความเข้มแข็งของภูมิปัญญาและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของมอญที่สัมพันธ์กับความเชื่อเรื่องการนับถือผีและความศรัทธาต่อพุทธศาสนา โดยปรากฎอย่างชัดเจนผ่านการจัดเตรียมอาหารนานาชนิดที่เป็นเครื่องเซ่นไหว้ผี หรือธรรมเนียมปฏิบัติของชาวมอญที่เรียกคนที่ผ่านไปมาให้มากินข้าวด้วยกัน เพราะได้รับการสั่งสอนมาว่า คนเดินผ่านไปมาอาจเป็นผีปอบแฝงตัวมา หากไม่เรียกอาจโกรธจนทำให้เราล้มหมอนนอนเสื่อได้ นอกจากนี้ ชาวมอญยังมีค่านิยมในการจัดเตรียมอาหารที่จะถวายพระสงฆ์ในงานบุญต่าง ๆ ที่ต้องจัดเตรียมอาหารที่ดีที่สุดเท่าที่มี ข้าวที่หุงจะต้องไม่มีแกรบหรือกรวดทรายมาเจือปน และนิยมถวายอาหารในปริมาณที่เยอะมาก เมื่อพระสงฆ์ฉันเสร็จแล้ว ญาติโยมจะมาล้อมวงกันประทานอาหารต่อ อาหารที่เหลือก็จะเทลงหม้อเป็นแกงสำรวม สามารถเก็บรับประทานได้หลายวัน บางครั้งในวันรุ่งขึ้นหลังวันทำบุญก็อาจจะมีคนมาขอแบ่งปันแกงสำรวมจากทางวัด เพราะเป็นแกงที่รสชาติอร่อย (องค์ บรรจุน, 28 ตุลาคม 2014) (องค์ บรรจุน, 2557 อ้างถึงใน ดาริกา ธนะศักดิ์ศิริ, 2556, หน้า 38) ตัวอย่างอาหารมอญที่ใช้ในพิธีกรรม
แกงขี้เหล็ก
แกงขี้เหล็กเป็นอาหารมอญแบบดั้งเดิม ภาษามอญเรียกว่า “ ฟะแป่คัด ” เป็นอาหารที่ใช้ในพิธีรำผีมอญของคนมอญภาคกลาง และใช้ในพิธีฟ้อนผีเม็งของชุมชนมอญทางภาคเหนือที่ถูกเรียกว่า “ เม็ง” สูตรดั้งเดิมเป็นแกงไม่ใส่กะทิ แกงขี้เหล็กที่ใช้ในงานรำผีมอญที่พม่าในปัจจุบันก็ไม่ใส่กะทิ แต่แกงขี้เหล็กของชาวมอญในไทยได้รับวัฒนธรรมอาหารกะทิของคนไทย จนกลายเป็นสูตรแกงขี้เหล็กที่ใส่กะทิตามที่นิยมรับประทานกันในปัจจุบัน ทั้งนี้ นอกจากแกงขี้เหล็กแล้ว ยังมีอาหารในพิธีกรรมอื่น ๆ ที่สำคัญ อาทิเช่น “ แกงยอดหวาย ” ( ฟะบอ ) “ แกงขี้เหล็ก ” (ฟะแป่คัด) “ แกงบอน “ (ฟะกราว) “ แกงลูกชิ้นปลา ” (ฟะกะเกล่) เป็นต้น ( องค์ บรรจุน, 28 ตุลาคม 2014)
ขนมทอด
ขนมทอด ภาษามอญเรียกว่า “กวาญย์อะนา” เป็นขนมที่ทำจากแป้งปั้นเป็นรูปสัตว์ เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา ภาชนะเครื่องใช้ในครัวเรือน เช่น หม้อข้าว หม้อแกง ถ้วย ชาม และเครื่องประดับนาชนิด เช่น สร้อย แหวน กำไล ต่างหู และสังวาล ฯลฯ โดยปั้นแป้งในลักษณะที่คล้ายกับเครื่องสังฆทาน ขนมทอดเป็นขนมที่ใช้ในงานพิธีกรรม ส่วนใหญ่จะใช้ในพิธีเซ่นไหว้บวงสรวงผีบรรพบุรุษ พิธีรำผี และพิธีรำผีเจ้าพ่อประจำหมู่บ้าน (ต้าจก์เปียะจุ) ทั้งนี้ นอกจากขนมทอดแล้ว ยังมีขนมมอญชนิดอื่น ๆ ที่มักใช้ทั้งในพิธีเซ่นไหว้ผีบูชาผีกับพิธีสู่ขวัญ ทั้งสู่ขวัญโกนจุก สู่ขวัญบรรพชาอุปสมบท และสู่ขวัญแต่งงาน อันได้แก่ “ขนมต้มแดงต้มขาว” (กวาญย์เปลิบด้าจก์) และ “ขนมเล็บมือนาง” (กวาญย์อะน่ะฮ์ตอว) (องค์ บรรจุน , 2559, หน้า 163)