ชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์
ชื่อเรียกตนเอง
“ลาวโซ่ง” เอกสารจากนักวิชาการยังคงใช้ชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์นี้แตกต่างกันไป เช่น “ลาวโซ่ง” (สุมิตร ปิติพัฒน์ บัณฑร อ่อนดำ พูนสุข ธรรมภิมุข 2521, ฉวีวรรณ ประจวบเหมาะ 2553, พิเชฐ สายพันธ์ 2561) สุมิตร ปิติพัฒน์ และคณะ (2521, 2) ให้เหตุผลของคำว่า “ลาวโซ่ง” ว่า ลาวโซ่งเป็นกลุ่มไทยโบราณกลุ่มหนึ่ง มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในบริเวณแคว้นสิบสองจุไท ซึ่งมีอาณาเขตอยู่ในแถบแม่น้ำดำและแม่น้ำแดง ปัจจุบันอยู่ในเขตเวียดนามเหนือตอนเชื่อมต่อกับลาวและจีนตอนใต้ ลาวโซ่งมีชื่อเดิมเรียกกันว่าไทยดำ หรือ “ผู้ไทยดำ” (Black Tai) เพราะนิยมสวมใส่เสื้อสีดำล้วน ซึ่งแตกต่างกับกลุ่มคนไทยที่อยู่ใกล้เคียงกัน เช่น ไทยขาว หรือ “ผู้ไทยขาว” (White Tai) นิยมแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีขาว และไทยแดง หรือ “ผู้ไทยแดง” (Red Tai) ชอบใช้สีแดงขลิบและตกแต่งด้วยชายเสื้อสีดำ เป็นต้น ไทยดำกลุ่มนี้ได้ถูกกวาดต้อนเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้น คนไทยภาคกลางเรียกกันว่า “ลาวทรงดำ” เพราะเข้าใจว่าเป็นพวกเดียวกับลาวและอพยพเข้ามาพร้อมกันกับกลุ่มลาวอื่นๆ ต่อมาชื่อเดิมได้หดหายลง คำว่า “ดำ” หายไป ดังที่นิยมเรียกกันในปัจจุบันว่า “ลาวทรง” หรือ “ลาวโซ่ง” จนบางครั้งไม่รู้ว่าลาวโซ่งนี้คือพวกไทยดำนั่นเอง
พิเชฐ สายพันธ์ (2561, 60-61) ได้ให้เหตุผลของคำเรียกชื่อ “ลาวโซ่ง” ไว้ว่า ในการจัดระบบการจัดการชาวลาวในหัวเมืองชั้นในในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น พบว่าการจัดประเภทกลุ่ม “ลาวทรงดำ” ให้อยู่รวมในบรรดาลาวกลุ่มต่างๆ ด้วย โดยที่รัฐบาลไทยได้ปกครองชาวลาวโดยจัดชั้นชาวลาวเช่นเดียวกับจัดชั้นคนไทยในสังคมไทย ที่เรียกว่าระบบไพร่ เป็นที่น่าสังเกตว่า คนกลุ่มนี้เมื่ออพยพโยกย้ายเข้ามาสู่ดินแดนสยามประเทศ ได้ถูกสยามจัดประเภทให้อยู่ในกลุ่มบรรดาชาว “ลาว” ต่างๆ ทำให้มีชื่อเรียกว่า “ลาวโซ่ง” การที่ถูกระบุว่าเป็นลาวกลุ่มหนึ่งนั้น จึงเกิดขึ้นเฉพาะในบริบทประเทศไทย เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ถูกกวาดต้อนมาพร้อมกับชาวลาวกลุ่มต่างๆ ทำให้สยามในเวลานั้นเรียกเหมารวมคนเหล่านี้ว่าเป็นลาว ทั้งนี้นักวิชาการก่อนหน้านี้ เช่น สิริ พึ่งเดช และวิศรุต สุวรรณวิเวก ก็เคยตั้งข้อสังเกตมาแล้วว่า ที่มาปรากฏชื่อเรียกว่า ลาวโซ่ง อยู่ขณะนี้ก็เพราะคนเมืองล่าง (สยามประเทศ) เรียกสมมติขึ้นเอง (สิริ พึ่งเดช 2519, 11-12 และ วิศรุต สุวรรณวิเวก 2524, 12) ชื่อที่ถูกสยามเรียกว่า “ลาวโซ่ง” หรือ “ลาวทรงดำ” จึงติดปากกลายมาเป็นชื่อเรียกตนเองของบรรดาไทดำในประเทศไทยว่า “ลาวโซ่ง” หรือ “ผู้ลาวโซ่ง” และบางครั้งก็จะเรียกตนเองอย่างย่อๆ ว่า “ผู้ลาว” หรือ “โซ่ง” อย่างไรก็ตาม ลาวโซ่งในเมืองไทยก็คือกกลุ่มคนที่มีความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกับกลุ่มที่เรียกว่าไทดำในดินแดนสิบสองจุไทเดิมนั่นเอง
“ไทยโซ่ง” (สมทรง บุรุษพัฒน์ และคณะ 2554, 78) โดยให้เหตุผลว่า “ไทย” หมายถึงกลุ่มชนที่พูดภาษาตระกูลไทที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ส่วนคำว่า “โซ่ง, ทรง” มีความหมายว่า “กางเกง” และคำว่า “โซ่งดำ, ทรงดำ” เป็นคำเรียกตามเครื่องนุ่งห่มที่ใช้ เนื่องจากไทยโซ่งนิยมนุ่งห่มด้วยเสื้อผ้าสีดำย้อมด้วยคราม ในงานวิจัยนี้ (การใช้ภาษาและทัศนคติต่อภาษาและการท่องเที่ยวเชิงชาติพันธุ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ในภูมิภาคตะวันตกของประเทศไทย) จะใช้ชื่อ “ไทยโซ่ง”
นายพนัส ล้วนเมือง ชาวไทดำ มีตำแหน่งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองปรง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ให้ความเห็นต่อความหมายของการใช้คำว่า “โซ่ง” “ไททรงดำ” และ “ไทดำ” ว่า ได้ค้นคว้าเกี่ยวกับความเป็นมาของไทยทรงดำ โดยเดินทางไปประเทศลาวและเวียดนามเพื่อสืบค้น และได้พบว่า คำว่า “โซ่ง” น่าจะเป็นหน่วยการปกครองอย่างหนึ่ง โดยมีเชียงอยู่ในสุด รอบนอกออกมาเป็นเวียง และรอบนอกสุดเป็น “โซ่ง” ซึ่งประกอบด้วยหมู่บ้านประมาณ 5-10 หมู่บ้าน เวียงจะแบ่งออกเป็น 4 โซ่ง ไทยทรงดำเดิมเรียกว่า “ไทดำ” อพยพมาจากเมืองลอ เลยเมืองแถงซึ่งเป็นชื่อเก่าของเมืองเดียนเบียนฟู อยู่สิบสองจุไท เมื่ออพยพเดินทางมาประเทศไทย มีคนถามว่ามาจากไหน ไทดำก็จะตอบว่า “มาจากโซ่งใด” จึงเรียก “ไทยดำ” ว่า “ไทยโซ่ง” และปรับเปลี่ยนมาเป็น “ไทยทรงดำ” ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นชื่อที่คนไทยทรงดำส่วนใหญ่พอใจ แต่ถ้าจะให้ถูกต้องควรเรียกว่า “ไทดำ” (สัมภาษณ์ไว้เมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2553, อายุ 66 ปี, อ้างต่อจาก สมทรง บุรุษพัฒน์ และคณะ, 2554, 78)
คำอธิบายความหมายของคำว่า“โซ่ง”ของนายพนัส ล้วนเมือง ซึ่งเป็นตัวแทนของชาวลาวโซ่งในประเทศไทย สอดคล้องกับการศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ไทดำในประเทศเวียดนามของพิเชฐ สายพันธ์ และความเห็นของศาสตราจารย์คำจอง นักวิชาการชาวไทดำ ประเทศเวียดนาม ซึ่งได้อธิบายอย่างละเอียดชัดเจนไว้ว่า เฉพาะชาวไทดำมีชุมชนที่มีลักษณะพิเศษแบบหนึ่งที่เรียกว่า “โซ่ง” (xổng) เมืองของไทดำขนาดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเมืองเพี้ย เมืองโหล่ง เมืองแกวน จะมีกลุ่มชุมชนที่เรียกว่าโซ่งตั้งอยู่ โซ่งเป็นชุมชนที่ประกอบด้วยหมู่บ้านจำนวนไม่มากนัก ประมาณ 3-5 หมู่บ้าน กลุ่มโซ่งคือกลุ่มหมู่บ้านที่ทำหน้าที่พิเศษบางประการเพื่อช่วยเหลืองานทางด้านพิธีกรรม และช่วยงานการปกครองของเมือง อาจารย์คำจองเปรียบเทียบว่า เหมือนกับฝ่ายงานบริหารกับฝ่ายงานวัฒนธรรมของเมือง เช่น “โซ่งองเสน” “โซ่งองป้อง” “โซ่งหอหลวง” “โซ่งป้องกลาง” ซึ่งแต่ละเมืองจะมีโซ่งในแบบต่างๆ ไม่เท่ากัน ที่ตั้งของโซ่งอาจจะอยู่ในบริเวณศูนย์กลางของเมืองก็ได้ หรือตั้งอยู่ห่างออกไปจากกลางเมืองก็ได้ บรรดาหมู่บ้านที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นโซ่ง จะมาจากกลุ่มที่เป็น “ปวก-ไป้” ที่ได้รับอนุญาตให้มาตั้งบ้านเรือนรวมกลุ่มกันเพื่อทำหน้าที่เหล่านี้ และหมู่บ้านที่อยู่ในกำกับของโซ่ง จะถูกเรียกว่า “พ่ง” (phổng) เพราะฉะนั้นหน่วยชุมชนที่เรียกว่าโซ่ง ซึ่งเป็นหน่วยที่มีลักษณะพิเศษของบรรดากลุ่มไทดำ จึงเป็นชื่อเรียกเฉพาะของพวกไทดำ ทำให้คำนี้น่าจะเป็นที่มาของคำเรียกชื่อลาวโซ่งหรือชาวไทดำ ที่เคยถูกกวาดต้อนเข้ามาอยู่ในสยามตั้งแต่สมัยธนบุรีนั่นเอง เพราะเป็นชื่อที่พวกเขารู้จักและใช้เรียกตัวเอง รวมทั้งถือได้ว่าเป็นลักษณะของกลุ่มชุมชนที่มีเฉพาะในบรรดาไทดำ และน่าที่จะเป็นไปได้ว่า คนส่วนใหญ่ของบรรดาลาวโซ่งที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย จะมาจากกลุ่มผู้นำและชาวบ้านในชุมชนที่เรียกว่าโซ่งนี้เป็นหลักก็เป็นได้(ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และพิเชฐ สายพันธ์ 2553, 55-56)
ปัจจุบัน คำเรียกตนเองว่า “ไทดำ” เริ่มถูกนำมาใช้เรียกตนเองมากขึ้นในประเทศไทย เนื่องจากความเคลื่อนไหวในการฟื้นฟูอนุรักษ์วัฒนธรรมของชาวไทดำในประเทศไทยที่เล็งเห็นว่าต้นกำเนิดของพวกตนมาจากดินแดนดั้งเดิมที่เคยอยู่ในเขตสิบสองจุไทในเวียดนาม และต้องการเรียกชื่อของตนว่า ไทดำ ตามผู้คนและแหล่งกำเนิดดั้งเดิม รวมทั้งเห็นว่าทชื่อเรียกว่า ไทดำ เป็นชื่อเรียกที่ชาวไทดำใช้กันอย่างเป็นวงกว้างและเป็นสากล มีประโยชน์ในการติดต่อเครือข่ายไทดำที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในแต่ละประเทศอย่างเป็นที่รู้จักกันดีร่วมกันว่ามีสถานะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน
จากการสำรวจการใช้ชื่อเรียกตนเองของชาวไทดำในประเทศไทย โดยพิจารณาจากการตั้งหน่วยงานหรือองค์กรของชาวลาวโซ่ง/ไทดำในแต่ละท้องถิ่นของประเทศไทย พบว่ามีการใช้ชื่อเรียกตนเองที่หลากหลาย เช่น
“ไทยทรงดำ” (ศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ เทศบาลตำบลเขาย้อย อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี)
“ไทดำ” (สมาคมไทดำ (ประเทศไทย) ตำบลไผ่หูช้าง อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ชมรมไทดำบ้านยางใหญ่ ตำบลหนองเต่า อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์, สมาคมไทดำอำเภอเก้าเลี้ยว ตำบลหนองเต่า อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์, ชมรมไทดำภาคเหนือ)
“ไตดำ” (ศูนย์ฟื้นฟูวัฒนธรรมไตดำบ้านดอน ตำบลบ้านดอน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี)
“โซ่ง” (เฮือนผ้าไท โซ่ง บ้านรางเฟื้อ ตำบลดอนคลัง อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี)
ชื่อที่คนอื่นเรียก
“ลาวทรงดำ” เอกสารทางราชการที่บันทึกในสยามในอดีตได้แก่ พระราชพงศาวดารฉบับกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 โดยเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ใช้คำเรียกคนกลุ่มนี้ว่า “ลาวทรงดำ” โดยได้กล่าวถึงเหตุการณ์คราวที่กองทัพ “สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกตีเมืองล้านช้างได้แล้ว แล้วให้เมืองหลวงพระบางไปตีเมืองทันต์ ญวนเรียกเมืองหงี เมืองม่วย สองเมืองนี้เป็นเมืองลาวทรงดำ ตั้งอยู่ริมเขตแดนเมืองญวน ได้ครอบครัวลาวทรงดำมาเป็นอันมาก พาครอบครัวลาวเวียง ลาวทรงดำ ลงมาถึงกรุงในเดือนยี่ ปีกุญเอกศกนั้น ลาวทรงดำโปรดให้ตั้งบ้านอยู่เมืองเพชบูรี”
“ผู้ไทยดำ” “ไทยดำ” ในสมัยรัชกาลที่ 5 เอกสารของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี บันทึกเหตุการณ์เมื่อคราวยกกองทัพขึ้นไปปราบฮ่อ และได้มีโอกาสเดินทางขึ้นไปถึงเมืองแถง ในบันทึกนั้นเรียกคนเมืองแถงว่าเป็น “ผู้ไทยดำ” ร่วมกับคำว่า “ลาวทรงดำ” ที่สยามคุ้นเคยมาก่อนหน้านี้ บางครั้งก็ใช้คำว่า “ไทยดำ” และเรียกเปรียบเทียบลาวทรงดำที่อพอพมาอยู่เมืองเพชรบุรีตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีด้วยอีกชื่อหนึ่งว่า “ลาวสีไม้” หรือ “ลาวโซ่ง” (พิเชฐ สายพันธ์ 2554, 12-13) แสดงให้เห็นว่า คำว่า ลาวทรงดำ ลาวโซ่ง ลาวสีไม้ ผู้ไทยดำ และไทยดำ เป็นคำเรียกที่ปรากฏในเอกสารราชการสยามสำหรับเรียกคนกลุ่มนี้มาก่อน และทำให้คนกลุ่มนี้นำมาใช้เรียกตัวเองเมื่ออยู่อพยพย้ายมาอยู่ในดินแดนไทย โดยเฉพาะเรียกตัวเองว่าเป็น ลาวโซ่ง หรือเป็น ผู้ลาว ครั้นภายหลังจึงหันมาใช้คำว่า ไทยทรงดำ ที่เป็นคำที่นิยมอย่างเป็นภาษาราชการในปัจจุบัน
Black Thai หรือ Black Tai เป็นคำในภาษาต่างประเทศมาจากการแปลคำว่า Black ว่า สีดำ หรือบางครั้งก็แปลทับศัพท์โดยใช้คำว่า Tai Dam ตามการออกเสียงของคำว่า “ไทดำ”
ชื่อเรียกในเชิงอคติทางชาติพันธุ์
ไทดำนั้น ไม่ค่อยจะมีประเด็นด้านอคติเกี่ยวกับชื่อเรียกเท่าไหร่นัก เนื่องจากมีประวัติศาสตร์มายาวนานและได้รับการยอมรับในสังคม ขณะเดียวกันการเลือกใช้ชื่อเรียกที่หลากหลายและลื่นไหลไปตามบริบทของการปฏิสัมพันธ์ อาจจะมีชื่อเรียกที่ไม่ค่อยเป็นที่พึงใจมากนักคือชื่อเรียกที่มีคำว่า “ลาว” ได้แก่ ชื่อเรียกว่า “ลาวโซ่ง” “ลาวทรงดำ” “ผู้ลาว” “ผู้ลาวโซ่ง” เนื่องจากความรู้เกี่ยวกับไทดำในยุคแรกนั้นมีน้อย และการเคลื่อนย้ายมาในประเทศไทยนั้นมาพร้อมกัลชาวลาวกลุ่มอื่น ๆ รัฐบาลไทยปกครองชาวลาวในระบบไพร่ คนกลุ่มนี้เมื่ออพยพโยกย้ายเข้ามาสู่ดินแดนสยามประเทศ ถูกจัดประเภทให้อยู่ในกลุ่มบรรดาชาว “ลาว” ต่างๆ ทำให้มีชื่อเรียกว่า “ลาวโซ่ง” การที่ถูกระบุว่าเป็นลาวกลุ่มหนึ่งนั้น จึงเกิดขึ้นเฉพาะในบริบทประเทศไทย เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ถูกกวาดต้อนมาพร้อมกับชาวลาวกลุ่มต่างๆ ทำให้สยามในเวลานั้นเรียกเหมารวมคนเหล่านี้ว่าเป็นลาว
ภาษา
ตระกูลภาษา จัดอยู่ในตระกูลภาษาขร้าไท (Kra-Dai) สาขาตะวันตกเฉียงใต้ (Southwestern Tai Language Group)
ภาษาพูด จัดอยู่ในกลุ่มตระกูลภาษาขร้า-ไท (Kra-Dai) สาขาตะวันตกเฉียงใต้ (Southwestern Tai Language Group) เช่นเดียวกับกลุ่มไทดำ ไทขาว ลื้อ และไทยสยาม (สมทรง บุรุษพัฒน์ 2560, 26) ระบบเสียงภาษาลาวโซ่งคล้ายคลึงกับภาษาไทย ต่างกันที่ภาษาลาวโซ่งมีเสียง “ย” ขึ้นจมูกเหมือนภาษาไทยถิ่นอีสาน และมีหน่วยเสียงวรรณยุกต์ 6 หน่วยเสียง
ตัวอย่างคำศัพท์ที่เป็นคำในภาษาลาวโซ่ง เช่น
อ้าย หมายถึง พ่อ
เอ็ม หมายถึง แม่
เฮือน หมายถึง บ้าน
ขี่แบ่ว หมายถึง โกหก
แจ่บ หมายถึง อร่อย
จ่อง หมายถึง ขยัน
เอ็ดเวียะ หมายถึง ทำงาน
การวิจัยสถานการณ์ทางภาษาพูดของชาวลาวโซ่งของสมทรง บุรุษพัฒน์ และคณะ (2554, 316-317, 319) พบว่า กลุ่มตัวอย่างชาวลาวโซ่งในจังหวัดกาญจนบุรี เพชรบุรี และราชบุรี ยังสามารถพูดภาษาลาวโซ่งเป็นภาษาแรกได้ทุกช่วงอายุ แสดงให้เห็นว่าในเขตพื้นที่สามจังหวัดนี้ชาวลาวโซ่งยังสามารถใช้ภาษาชาติพันธุ์ของตนเองเป็นภาษาที่พูดได้ดีที่สุด แต่กลุ่มตัวอย่างชาวลาวโซ่งในพื้นที่จังหวัดนครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี สามารถพูดภาษาลาวโซ่งเป็นภาษาแรกในสัดส่วนที่ลดหลั่นไปตามช่วงอายุ ตั้งแต่กลุ่มวัยสูงอายุลงไปจนถึงวัยหนุ่มสาว ซึ่งในกลุ่มวัยหนุ่มสาวได้เริ่มมีการใช้ภาษาไทยเป็นภาษาแรกแทนภาษาลาวโซ่งของ โครงสร้างทางไวยากรณ์คล้ายภาษาไทย เช่น เอมนายไปกะไรมาเล้ย คือ เอมนายไปไหนมา จะไปกะเราเล้ย คือ จะไปไหน เป็นต้น (สมทรง บุรุษพัฒน์ และคณะ 2554, 79)
ตัวอักษรที่ใช้เขียน
นักภาษาศาสตร์อธิบายว่าตัวหนังสือของกลุ่มลาวโซ่งในประเทศไทยสืบทอดมาจากตัวหนังสือของไทดำที่เรียกว่า “โตสือไตดำ”(ตัวสือไทดำ)ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจจะมาจากตัวอักษรสมัยสุโขทัยเมื่อเปรียบเทียบตัวอักษรของไทดำกับตัวอักษรไทยส่วนมากจะตรงกัน แต่บางตัวจะออกเสียงต่างกัน (สมทรง บุรุษพัฒน์ และคณะ 2554, 79-80)
งานวิจัยของสมทรง บุรุษพัฒน์ และคณะ (2554, 318) ได้รายงานสถานการณ์เกี่ยวกับการใช้ภาษาเขียนของชาวลาวโซ่งในประเทศไทยไว้ว่า ชาวลาวโซ่งในเขตจังหวัดกาญจนบุรี เพชรบุรี นครปฐม มีกลุ่มตัวอย่างของวัยสูงอายุบางคนที่ยังสามารถเขียนภาษาของลาวโซ่งได้ดี ในขณะที่ในจังหวัดอื่นที่มีชาวลาวโซ่งอาศัยอยู่ยังไม่มีกลุ่มตัวอย่างที่เขียนภาษาของลาวโซ่งได้ อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีความพยายามในการฟื้นฟูและอนุรักษ์การเขียนด้วยอักษรของลาวโซ่งในประเทศไทยเกิดขึ้นหลายแห่ง ซึ่งในอนาคตหากกระบวนการฟื้นฟูการเขียนอักษรลาวโซ่งเป็นที่สำเร็จก็จะมีชาวลาวโซ่งรุ่นใหม่ที่สามารถเขียนอักษรลาวโซ่งเพิ่มขึ้นได้
อย่างไรก็ตามภาพรวมของสถานการณ์ทางภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวโซ่งในประเทศไทย ยังไม่มีแนวโน้มของการเกิดภาวการณ์ถดถอยทางภาษา ตามข้อสรุปจากงานวิจัยของสมทรง บุรุษพัฒน์ และคณะ 2554 (473-474) ทั้งนี้เนื่องจาก ชาวลาวโซ่งเป็นกลุ่มที่มีความเข้มแข็งของการใช้และการสืบต่อทางภาษากลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มตัวอย่างในการศึกษาได้สะท้อนให้เห็นทัศนคติเชิงบวกต่อภาชาติพันธุ์ของตน เช่น ความไม่อายที่จะต้องพูดภาษาลาวโซ่งต่อหน้าผู้อื่น ไม่คิดว่าภาษาลาวโซ่งจะเรียนรู้ยาก ไม่เป็นการเสียเวลาที่จะเรียนรู้ภาษาลาวโซ่ง การพูดภาษาลาวโซ่งไม่ได้แสดงว่าเป็นคนหัวเก่าหรือหัวโบราณแต่อย่างใด ทัศนคติเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ากลุ่มตัวอย่างวัยหนุ่มสาวชาวลาวโซ่งในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะในบริเวณภาคตะวันตกของประเทศไทย มีทัศนคติเชิงบวกต่อภาษากลุ่มชาติพันธุ์ของตนเอง ทั้งยังสะท้อนให้เห็นว่า คนรุ่นใหม่เห็นความสำคัญของภาษาชาติพันธุ์และยังมีการสืบทอดการใช้ภาษานี้ต่อไปในอนาคต
นอกจากนี้จากการสำรวจสถานการณ์ปัจจุบันพบว่ามีความพยายามในการฟื้นฟูและอนุรักษ์การใช้ภาษาทั้งในแบบที่เป็นภาษาพูดและระบบการเขียนของชาวลาวโซ่ง/ไทดำ กลุ่มที่มีบทบาทในประเทศไทยได้แก่ สมาคมไทดำ (ประเทศไทย) ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่จังหวัดนครปฐม เป็นกลุ่มที่มีความเข้มแข็งและเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการฟื้นฟูภาษาและระบบการเขียนให้ได้มีการใช้งานอย่างกว้างขวางขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากสมาคมไทดำ (ประเทศไทย) มีกลุ่มผู้รู้ นักปราชญ์ชาวลาวโซ่ง/ไทดำ ที่มีความสามารถหลายท่าน เช่น อาจารย์สุรีย์ ทองคงหาญ อาจารย์ชวลิต อารยุติธรรม อาจารย์วิเชียร เชื่อมชิต อาจารย์ศิริวรรณ บรรจง นางสาวอรุณี บุบผะศิริ ร่วมมือกันจัดทำคู่มือการเรียนภาษาไทดำ เพื่อเผยแพร่ให้กับชุมชนชาวลาวโซ่ง/ไทดำในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทย ใช้ร่วมกันอย่างเป็นวงกว้าง โดยการเลือกใช้แบบอักษรของไทดำจากกลุ่มไทดำที่ใช้ในเวียดนามมาเป็นแบบอักษรมาตรฐานในปัจจุบันเนื่องจากทางสมาคมไทดำเห็นว่า แบบอักษรของลาวโซ่ง/ไทดำในประเทศไทย มีการเปลี่ยนแปลง และมีลักษณะกระจัดกระจายตามชุมชนต่าง ๆ มากว่าสองร้อยปี และยังไม่เคยมีการประมวลให้เป็นแบบเดียวกัน แต่อักษรที่ใช้ในประเทศไทยก็มีที่มาจากอักษรไทดำจากสิบสองจุไทในเวียดนาม บทบาทในการฟื้นฟูภาษาและอักษรไทดำของสมาคมไทดำ (ประเทศไทย) ได้เริ่มเด่นชัดตั้งแต่มีการตั้งสมาคมอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2545 เป็นต้นมา ปัจจุบันได้มีการจัดสอบวัดผลการเรียนภาษาและอักษรไทดำเป็นสนามสอบประจำในแต่ละปี
เนื้อหาโดย ผศ.ดร. พิเชษฐ์ สายพันธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ปีงบประมาณ 2563 , อัพโหลดข้อมูลวันที่ 22 กันยายน 2563
เอกสารอ้างอิง
หนังสือและเอกสาร (ภาษาต่างประเทศ)
บทความในวารสารและหนังสือพิมพ์ (ภาษาไทย)
สัมภาษณ์
จังหวัดที่กระจายตัวตั้งถิ่นฐาน | จำนวนครัวเรือน | จำนวนประชากร |
---|---|---|
เพชรบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี พิษณุโลก นครสวรรค์ นครปฐม สุพรรณบุรี เลย พิจิตร กำแพงเพชร เป็นต้น | 120000 |
สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ. (2547). แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
จังหวัด | อำเภอ | ตำบล | หมู่บ้าน | จำนวนครัวเรือน | จำนวนประชากร | ละติจูด | ลองติจูด |
---|---|---|---|---|---|---|---|
กาญจนบุรี | ท่าม่วง | รางสาลี่ | หมู่ 1 บ้านลำขุนไทย | ||||
กาญจนบุรี | ท่ามะกา | พระแท่น | หมู่ 8 บ้านหมอสอ | ||||
กาญจนบุรี | ด่านมะขามเตี้ย | ด่านมะขามเตี้ย | หมู่ 10 บ้านท่าพลับ | ||||
กาญจนบุรี | ด่านมะขามเตี้ย | กลอนโด | หมู่ 3 บ้านแหลมทอง | ||||
กาญจนบุรี | พนมทวน | รางหวาย | หมู่ 6 บ้านดอนเตาอิฐ | ||||
กาญจนบุรี | ห้วยกระเจา | สระลงเรือ | หมู่ 3 บ้านห้วยยาง | ||||
กาญจนบุรี | ห้วยกระเจา | สระลงเรือ | หมู่ 4 บ้านหนองบัวหิ่ง | ||||
กาญจนบุรี | หนองปรือ | สมเด็จเจริญ | หมู่ 3 บ้านห้วยแม่ระวาง | ||||
กาญจนบุรี | หนองปรือ | หนองปรือ | หมู่ 11 บ้านหนองใหญ่ | ||||
เพชรบุรี | เมืองเพชรบุรี | วังตะโก | บ้านวังตะโก(เพีย) |
มนู อุดมเวช. (2547). ประวัติศาสตร์ไทดำในประเทศไทย. คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี.
สมทรง บุรุษพัฒน์ และคณะ. (2554). การใช้ภาษาและทัศนคติต่อภาษาและการท่องเที่ยวเชิงชาติพันธุ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ในภูมิภาคตะวันตกของประเทศไทย. นครปฐม: สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล.
คำเรียกชื่อตนเองว่า “ไทดำ” เริ่มถูกนำมาใช้เรียกตนเองมากขึ้นเนื่องจากความเคลื่อนไหวในการฟื้นฟูอนุรักษ์วัฒนธรรมเล็งเห็นว่าต้นกำเนิดจากดินแดนดั้งเดิมที่เคยอยู่ในเขตสิบสองจุไทในเวียดนาม และต้องการเรียกชื่อของตนว่า ไทดำ ตามผู้คนและแหล่งกำเนิดดั้งเดิม รวมถึงชื่อนี้ ใช้กันอย่างกว้างขวางและเป็นสากล สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายที่อยู่ในประเทศอื่นในสถานะของความเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน ในขณะที่ชื่อเรียกที่มีคำนำหน้าว่าลาว เช่น ลาวโซ่ง หรือ ลาวทรงดำ เริ่มถูกปฏิเสธเนื่องจากพวกเขาเป็นกลุ่มคนไท แต่เนื่องจากการถูกบังคับโยกย้ายถิ่นในประวัติศาสตร์นั้นเดินทางมาพร้อมกับกลุ่มลาวหลายกลุ่ม จึงถูกเรียกรวมกับกลุ่มชาว
กลุ่มชาติพันธุ์ไทดำเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่จัดอยู่ในตระกูลภาษาขร้าไท (Kra-Dai) สาขาตะวันตกเฉียงใต้ (Southwestern Language Group) มีระบบภาษาเขียนเป็นของตนเอง เรียกโดยทั่วไปว่า “โตสือไตดำ” (ตัวสือไทดำ) ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจจะมาจากตัวอักษรสมัยสุโขทัย ไทดำในประเทศไทย มีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ในบริเวณภาคเหนือของประเทศเวียดนาม แถบแม่น้ำดำและแม่น้ำแดง ปัจจุบันอยู่ในเขตเวียดนามเหนือตอนเชื่อมต่อกับลาวและจีนตอนใต้ เคยเป็นที่รู้จักในนามของสิบสองจุไท เคลื่อนย้ายเข้ามาสู่ประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2322 เป็นต้นมา ช่วงเวลาของการเคลื่อนย้ายครั้งสำคัญเข้าสู่ประเทศไทย 7 ครั้งคือ 1) พ.ศ. 2322 สมัยกรุงธนบุรี 2) พ.ศ. 2335 รัชกาลที่ 1 กรุงรัตนโกสินทร์ 3) พ.ศ. 2378 รัชกาลที่ 3 กรุงรัตนโกสินทร์ 4) พ.ศ. 2379 รัชกาลที่ 3 กรุงรัตนโกสินทร์ 5) พ.ศ. 2381 รัชกาลที่ 3 กรุงรัตนโกสินทร์ 6) พ.ศ. 2382 รัชกาลที่ 3 กรุงรัตนโกสินทร์ 7) พ.ศ. 2429 รัชกาลที่ 5 กรุงรัตนโกสินทร์ การเคลื่อนย้ายเข้ามาสู่ดินแดนประเทศไทยของชาวไทดำ ในระยะแรกต่างได้รับอนุญาตในการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนในเขตเมืองเพชรบุรี ทำให้เพชรบุรีกลายเป็นถิ่นฐานบ้านเรือนของชาวไทดำในประเทศไทยเป็นแห่งแรก และเป็นที่ตั้งถิ่นฐานอย่างต่อเนื่องมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ภายหลังจากนั้นจึได้เริ่มโยกย้ายออกจากเพชรบุรี ไปตั้งบ้านเรือนกระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ เป็นจำนวนมา ทำให้ปัจจุบันพบชุมชนชาวไทดำ อยู่ในหลายจังหวัดของประเทศไทย ได้แก่ ราชบุรี กาญจนบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ลพบุรี สระบุรี นครสวรรค์ พิจิตร สุโขทัย พิษณุโลก ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี เลย
กลุ่มชาติพันธุ์ไทดำ มีความเข้มเข็งทางวัฒนธรรม และยังสามารถรักษาลักษณะวัฒนธรรมทางชาติพันธุ์ไว้ได้หลายประการ ด้วยความผูกพันในระบบสายตระกูลและเครือญาติ และระบบผีบรรพบุรุษ ทำให้แม้การเคลื่อนย้ายแยกออกห่างจากถิ่นฐานดั้งเดิมมายาวนานกว่าสองร้อยปี ยังสามารถรักษาอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์และลักษณะร่วมในการธำรงชาติพันธุ์ของตนร่วมกับชาวไทดำในภูมิภาคได้ จึงเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูและธำรงรักษาลักษณะกลุ่มชาติพันธุ์ให้เข้มแข็งท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน
ประวัติศาสตร์
ประวัติการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ไทดำ ในประเทศไทย โดยย่อ อ้างอิงจากสมทรง บุรุษพัฒน์ และคณะ (2552, 540) กล่าวไว้ว่า กลุ่มชาติพันธุ์ไทยโซ่งหรือไทดำ ดั้งเดิมอยู่ที่เมืองแถง หรือปัจจุบันคือเมืองเดียนเบียนฟู ทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม ต่อมาได้มีการอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยครั้งแรกในปี พ.ศ. 2322 ด้วยเหตุผลทางการเมือง หลังจากนั้นการอพยพดำเนินต่อไปอีกหลายครั้ง บริเวณที่กลุ่มชาติพันธุ์ไทยโซ่งเข้ามาตั้งหลักแหล่งเป็นแห่งแรกคือ ที่ตำบลหนองปรง อำเภอเขาย้อย เมืองเพชรบุรี ต่อมาได้มีการโยกย้ายไปหาที่ทำกินใหม่ในบริเวณใกล้เคียง ในภูมิภาคตะวันตกมีชุมชนภาษาไทยโซ่งอาศัยอยู่ใน 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี เพชรบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี กลุ่มชาติพันธุ์ไทยโซ่งที่อาศัยอยู่ในจังหวัดที่มาอาณาบริเวณใกล้เคียงกับจังหวัดเพชรบุรี ส่วนใหญ่อพยพมาจากจังหวัดเพชรบุรีเป็นเวลา 3-4 ชั่วอายุคน (ประมาณ 200 ปี) กลุ่มชาติพันธุ์ไทยโซ่งได้มีการรวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง ทำให้เกิดชุมชนภาษาไทยโซ่งที่เข้มแข็งแทบทุกจังหวัดของภูมิภาคตะวันตก
งานวิจัยของพิเชฐ สายพันธ์ (2561, 18-20) ได้อธิบายลำดับขั้นของการอพยพเคลื่อนย้ายชาวไทดำในประเทศไทย จากดินแดนที่เคยเรียกว่าสิบสองจุไท ซึ่งตั้งอยู่บริเวณภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม เข้ามาสู่ประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2322 โดยได้รับการโปรดเกล้าฯ จากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีให้ชาวไทดำ ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองเพชรบุรีเป็นแห่งแรก ซึ่งแสดงให้เห็นช่วงเวลาของการเคลื่อนย้ายครั้งสำคัญเข้าสู่ประเทศไทย 7 ครั้งคือ
1) พ.ศ. 2322 สมัยกรุงธนบุรี กองทัพเมืองหลวงพระบางไปตีเมืองทันต์ เมืองหวี เมืองม่วย โดยบัญชาของเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้ครอบครัว “ลาวทรงดำ” ลงมาเป็นอันมาก โปรดฯ ให้ตั้งบ้านเรือนที่เพชรบุรี
2) พ.ศ. 2335 รัชกาลที่ 1 กรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าเมืองเวียงจันทน์แต่งกองทัพไปตีเมืองแถง เมืองพวน กวาดต้อนผู้คนส่งลงมากรุงเทพฯ โปรดฯ ให้ตั้งบ้านเรือนที่เพชรบุรี
3) พ.ศ. 2378 รัชกาลที่ 3 กรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าพระยาธรรมา (สมบุญ) แม่ทัพยกขึ้นไปหลวงพระบาง แต่งให้เจ้าสญไชย เจ้าแก่นคำ เจ้าคำปาน คุมทัพขึ้นไปตีเมืองแถง กวาดต้อนครอบครัวชาวเมืองแถงประมาณ 10,000 คน ลงมากรุงเทพฯ โปรดฯ ให้ตั้งบ้านเรือนที่เพชรบุรี
4) พ.ศ. 2379 รัชกาลที่ 3 กรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าอุปราช เจ้าราชวงศ์เมืองหลวงพระบาง แต่งทัพขึ้นไปตีเมืองหึมหรือฮึม เมืองคอย เมืองควร จับได้กลุ่มชาวลาวทรงดำ แล้วให้พระยาศรีมหานาม คุมลงมากรุงเทพฯ โปรดฯ ให้ตั้งบ้านเรือนที่เพชรบุรี
5) พ.ศ. 2381 รัชกาลที่ 3 กรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าราชวงศ์จากหลวงพระบาง คุมครัวเรือนลาวทรงดำลงมากรุงเทพฯ โปรดฯ ให้ไปอยู่ท่าแร้ง บ้านแหลม เพชรบุรี
6) พ.ศ. 2382 รัชกาลที่ 3 กรุงรัตนโกสินทร์ เมืองหลวงพระบางส่งครัวลาวทรงดำร้อยคนเศษ ลงมาถวายที่กรุงเทพฯ
7) พ.ศ. 2429 รัชกาลที่ 5 กรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เป็นแม่ทัพขึ้นไปปราบฮ่อ ได้ตั้งค่ายที่เขตเมืองแถง ครั้งนี้ไม่ปรากฏหลักฐานการกวาดต้อนผู้คนลงมา แต่สันนิษฐานว่าทหารที่เป็น“ลาวโซ่ง” อาจจะพาญาติมิตรของตนมาสมทบที่เมืองเพชรบุรีอีก
เห็นได้ว่า การเคลื่อนย้ายเข้ามาสู่ดินแดนประเทศไทยของชาวไทดำ ในระยะแรกต่างได้รับอนุญาตในการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนในเขตเมืองเพชรบุรี ทำให้เพชรบุรีกลายเป็นถิ่นฐานบ้านเรือนของชาวลาวโซ่ง/ไทดำในประเทศไทยเป็นแห่งแรก และเป็นที่ตั้งถิ่นฐานอย่างต่อเนื่องมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ภายหลังจากนั้นจึงได้ปรากฏว่า ชาวลาวโซ่ง/ไทดำ ได้เริ่มโยกย้ายออกจากเพชรบุรี ไปตั้งบ้านเรือนกระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ เป็นจำนวนมาก ทำให้ปัจจุบันพบชุมชนชาวลาวโซ่ง/ไทดำ อยู่ในหลายจังหวัดของประเทศไทย ได้แก่ ราชบุรี กาญจนบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ลพบุรี สระบุรี นครสวรรค์ พิจิตร สุโขทัย พิษณุโลก ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี เลย
การตั้งถิ่นฐานและการกระจายตัวของประชากร
ประวัติศาสตร์ของชาวลาวโซ่งที่อาศัยอยู่ในบริเวณประเทศไทย ได้เริ่มอพยพเคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2322 ก่อนหน้านั้นกลุ่มชาติพันธุ์นี้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณที่เรียกว่าสิบสองจุไท ซึ่งตั้งอยู่ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม อย่างไรก็ตามนักประวัติศาสตร์ก็ยังสันนิษฐานถึงประวัติศาสตร์ต้นกำเนิดของกลุ่มไทดำในเวียดนามว่าควรเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อใด ศาสตราจารย์คำจอง (Cam Trong) นักชาติพันธุ์วิทยาชาวเวียดนามซึ่งมีเชื้อสายเป็นลูกหลานตระกูลเจ้าเมืองไทดำในเวียดนามด้วย ได้เสนอข้อสันนิษฐานไว้ไว้ใน “ประวัติศาสตร์และเอกสารไทดำในเวียดนาม” ว่า น่าจะปรากฏร่องรอยของกลุ่มไทดำในเวียดนามมาตั้งแต่ราวคริสต์ศตวรรษที่ 8-10 ซึ่งกลุ่มไทดำอพยพมาจากหัวแม่น้ำตาว (แม่น้ำแดง) มีท้าวสวง ท้าวเงิน เป็นผู้นำลงมาสู่เมืองลอ (ปัจจุบันเมืองนี้ตั้งอยู่ในภาคเหนือของเวียดนามมีชื่อว่า เหงียโหละ – Nghia Lo) จนถึงประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 11 ผู้นำชื่อล้านเจืองได้พาผู้คนแยกออกมาจากเมืองลอ มาตั้งถิ่นฐานใหม่ที่เมืองแถง (เดียนเบียนฟู) ครั้นถึงคริสต์ศตวรรษที่ 13 เจ้าฟ้าคำแลบ (หรือท้าวลอแลด) ได้ย้ายเมืองหลวงจากเมืองแถงมาตั้งที่เมืองหม้วย (คำจอง 2536, 194) ซึ่งระยะเวลานี้เป็นช่วงที่อาณาจักรล้านช้างมีกำลังเข้มแข็งและสถาปนาขึ้นมาที่เมืองหลวงพระบาง
ช่วงเวลาของคริสต์ศตวรรษที่ 13 นี้เอง ที่นักประวัติศาสตร์มักจะเริ่มอธิบายการปรากฏตัวขึ้นของกลุ่มไทดำในเอกสารประวัติศาสตร์ที่ช่วยสันนิษฐานความน่าจะเป็นของระยะเวลาที่ใกล้เคียงได้ David Wyatt (1976, 110-111) ได้ระบุถึงเอกสารประวัติศาสตร์ที่มีการกล่าวถึงไทดำจากเรื่อง “ขุนบรม” ที่ปรากฏอย่างอ้างอิงได้ในบันทึกพงศาวดารล้านช้างและพงศาวดารเมืองน่าน ที่อธิบายการเกิดขึ้นของบ้านเมืองต่างๆ ที่โยงใยเครือข่ายความสัมพันธ์กันตั้งแต่แถบสิบสองจุไท มายังล้านช้าง ในดินแดนลุ่มแม่น้ำโขง เมื่อเทียบเคียงเรื่องราวของขุนบรมกับตำนานและเอกสารท้องถิ่นของไทดำเอง ก็จะเห็นเรื่องราวที่ดำเนินไปอย่างสอดคล้องกัน จึงอาจกล่าวได้ว่า อย่างน้อยในราวคริสต์ศตวรรษที่ 13 เป็นต้นมา ชาวไทดำน่าจะได้ตั้งถิ่นฐานในดินแดนสิบสองจุไท และมีเครือข่ายบ้านเมืองเฉพาะกลุ่ม จนเป็นที่รู้จักและรับรู้ในบ้านเมืองอาณาจักรแวดล้อม ที่ทำให้เห็นการบันทึกเรื่องราวของคนกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ปรากฏขึ้นอย่างมีความเกี่ยวข้องกันในระดับภูมิภาค
ประวัติของชุมชนไทดำบางแห่งในประเทศไทย ได้รับการศึกษาและบันทึกไว้ แม้ว่าจะยังไม่มีงานศึกษาชุมชนไทดำครบทุกแห่งในประเทศไทยก็ตาม ประวัติของชุมชนหรือหมู่บ้านบางแห่งที่มีการบันทึกไว้เท่าที่จะสามารถระบุเวลาและที่มาของการเคลื่อนย้ายอพยพได้ ได้นำมาเสนอไว้ ณ ที่นี้ เพื่อการค้นคว้าและศึกษาเปรียบเทียบต่อไปในอนาคต และเพื่อได้เห็นภาพของการโยกย้ายถิ่นฐานของกลุ่มไทดำในประเทศไทยได้มากขึ้น
จังหวัดเพชรบุรี
ตำบลหนองปรง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี
เป็นที่ทราบกันดีว่าตำบลหนองปรง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี เป็นถิ่นที่ตั้งถิ่นฐานเก่าแก่จนเรียกติดปากว่าเป็น “บ้านเก่า” ของชาวลาวโซ่ง/ไทดำในประเทศไทย งานค้นคว้าเรื่อง “ประวัติศาสตร์ไทดำในประเทศไทย” ของมนู อุดมเวช (2547) ได้รวบรวมข้อมูลอธิบายไว้ว่า ที่มาของชาวไทดำในเพชรบุรี เท่าที่ชาวไทดำท้องถิ่นหมู่บ้านหนองปรง (เดิมเรียกว่าบ้านเลา) หนองจิก หนองเข้ เชื่อกันอยู่ในปัจจุบัน ก็คือ ชาวไทดำได้มาอยู่ที่เพชรบุรีตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี โดยถูกกำหนดให้ไปอยู่บริเวณตำบลท่าแร้ง ทางไปอำเภอบ้านแหลม ในปัจจุบัน ได้อยู่ที่นั่นนานเท่าใดไม่ทราบ แต่ชาวไทดำดั้งเดิมมาเคยอยู่บริเวณที่ดอนใกล้ภูเขา จึงย้ายไปอยู่ที่หมู่บ้านหนองปรง และคาดว่าจะย้ายไปพร้อมกับพวกไทดำที่หมู่บ้านสะพานยี่หน และหมู่บ้านเวียงคอย หนองปรงจึงเป็นที่มาของไทดำทั่วไปในประเทศไทย (พนัส ล้วนเมือง 2543, เมษายน 7, อ้างในมนู อุดมเวช 2547, 17)
ตำบลห้วยข้อง อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี
ไทดำบ้านห้วยข้อง หรือบ้านใหม่ ได้อพยพไปจากหมู่บ้านเวียงคอย และหมู่บ้านวังตะโก ในเขตอำเภอเมืองเพชรบุรี เมื่อราว พ.ศ. 2350-2400 โดยประมาณ และยังมีไทดำหมู่บ้านใกล้เคียงชื่อว่าบ้านหนองโสน หรือห้วยทราย
เมื่อราวก่อน พ.ศ. 2460 ไทดำจากแถบห้วยข้องและหนองโสน หรือบ้านใหม่และห้วยทราย มีจำนวนหนึ่งได้อพยพไปอยู่จังหวัดพิจิตร กำแพงเพชร หมู่บ้านแม่ประจันต์ในเพชรบุรี และไร่หลวง ในเขตอำเภอท่ายาง เพชรบุรี
ครั้นถึงราว พ.ศ. 2510 ไทดำจากหนองโสนหรือห้วยทราย ได้อพยพไปอยู่ที่พิจิตร กับอำเภอวังทองและอำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก และมีกลุ่มที่อพยพจากห้วยข้องและหนองโสนลงไปทางภาคใต้ ไปอยู่ที่ตำบลท่าข้าม อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร
หมู่บ้านแม่ประจันต์ ตำบลวังไคร้ อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี
ชาวไทดำบ้านแม่ประจันต์ ส่วนใหญ่อพยพมาจากบ้านวังตะโก อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ตั้งแต่ราว พ.ศ. 2440 จนปัจจุบันมีประชากรชาวไทดำอาศัยอยู่ในตำบลวังไคร้ถึงร้อยละ 90 ของประชากรทั้งหมด
จังหวัดราชบุรี
บ้านด่านทับตะโก อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี
ไทดำรุ่นแรกอพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนเมื่อราว พ.ศ. 2505-2510 โดยส่วนใหญ่มาจากอำเภอกำแพงแสน นครปฐม จากบริเวณหมู่บ้านโนนทอง สระพัง บ่อน้ำจืด และไผ่หูช้าง จนถึง พ.ศ. 2544 ไทดำที่บ้านด่านทับตะโกมีประมาณ 15 ครัวเรือน
บ้านวังปลา อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี
ไทดำหมู่บ้านวังปลา ส่วนใหญ่อพยพมาจากบ้านไผ่หูช้าง อำเภอกำแพงแสน และหมู่บ้านเกาะแรต อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม เมื่อราว พ.ศ. 2510 เนื่องจากภูมิลำเนาเดิมมีที่ทำกินไม่เพียงพอ การอพยพไปหมู่บ้านวังปลาในสมัยนั้นมีความยากลำบาก หากเดินทางด้วยรถยนต์จากราชบุรีจะไปได้เพียงแค่ห้วยท่าช้าง ซึ่งอยู่ระหว่างอำเภอจอมบึงกับวังปลา จากนั้นต้องเดินตามทางเกวียนต่อไปอีกจนถึงเย็นจึงจะถึงหมู่บ้านวังปลา
บ้านอ้ออีเขียว ตำบลกรับใหญ่ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี
ไทดำบ้านอ้ออีเขียวมีประวัติว่าอพยพมาจากเพชรบุรีเมื่อประมาณ พ.ศ. 2440 เช่น ตระกูลของนายพอ แฝงเพชร มีพ่อของปู่และแม่ของปู่อพยพมาจากเพชรบุรี ตระกูลของนายสมัย ติดหงิม ประวัติกล่าวว่าอพยพมาจากเพชรบุรี ส่วนใหญ่ไทดำบ้านอ้ออีเขียวตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้กับวัดอ้ออีเขียว ทางหน้าวัดอ้ออีเขียว 7 หลังคาเรือน และหลังวัด 6 หลังคาเรือน
จังหวัดนครปฐม
บ้านดอนทราย อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม
ไทดำบ้านดอนทรายส่วนใหญ่ย้ายมาจากบ้านโป่ง ราชบุรี เมื่อประมาณ พ.ศ. 2470 ทั้งนี้ประวัติของบางครอบครัวกล่าวว่า ก่อนที่จะอยู่ที่บ้านโป่งราชบุรี บรรพบุรุษก็ย้ายมาจากเพชรบุรีพากันอพยพด้วยเกวียนมาอยู่ที่บ้านโป่ง ราชบุรี ก่อนหน้านี้แล้วเมื่อราว พ.ศ. 2440 และภายหลังจึงได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านดอนทราย นครปฐมอีกครั้งหนึ่ง
บ้านหัวถนน ตำบลดอนพุทรา อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม
ไทดำบ้านหัวถนนมีบรรพบุรุษอพยพจากเพชรบุรีเมื่อราว พ.ศ. 2420 ด้วยการเดินทางด้วยเกวียนค้างแรมรายทางไปเรื่อย ในเวลานั้นยังมีชาวไทดำกลุ่มอื่น ๆ ที่อพยพตามกันมาผ่านมาทางบ้านหัวถนนและเดินทางไปต่ออีก เช่น ไปอยู่ที่หมู่บ้านเกาะแรต บ้านดอนขมิ้น บ้านดอนยอ อำเภอบางเลน หมู่บ้านดอนทอง บ้านสระสี่มุม บ้านชุกหัวบัว บ้านไผ่หูช้าง และบ้านหนองหมูอำเภอกำแพงแสน การอพยพจากหมู่บ้านหัวถนนต่อไปยังที่อื่นยังมีอีกหลายรุ่น ตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2480 และช่วง พ.ศ. 2490 หลังจากนั้นการอพยพจากหัวถนนก็เบาบางลง มีการอธิบายถึงเส้นทางและวิธีในการอพยพแยกย้ายต่อจากหัวถนนไปยังถิ่นต่าง ๆ ได้แก่ กลุ่มที่อพยพไปทางสุพรรณบุรี ใช้วิธีขึ้นรถไฟจากนครปฐมไปบางกอกน้อย แล้วต่อด้วยเรือซึ่งว่าจ้างจากสุพรรณบุรีมาขนของจากบางกอกน้อย กลุ่มที่อพยพขึ้นไปทางเหนือ ใช้วิธีไปขึ้นรถไฟที่นครปฐมแล้วต่อรถไฟอีกครั้งที่หัวลำโพงเพื่อขึ้นไปทางเหนือ เป็นต้น
บ้านเกาะแรต ตำบลบางปลา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม
งานศึกษาของนุกูล ชมภูนิช (2532, 10) ได้รับฟังคำบอกเล่าจากพระมหามนต์ เพชรศาสตร์ กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านเกาะแรต ดังนี้
ในราวปี พ.ศ. 2411 ลาวโซ่งกลุ่มหนึ่งซึ่งตั้งหลักแหล่งบริเวณคลองในตำบลปอหลวง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ได้เดินทางโดยทางเท้ามุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ผ่านเขตอำเภอบางคนฑี จังหวัดสมุทรสงคราม ติดต่อกับอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี เดินทางข้ามแม่น้ำแม่กลองไปตามคลองดำเนินสะดวก (สมัยนั้นเป็นเพียงลำธารธรรมดา) ผ่านบ้านบังลอยแล้วเดินทางต่อไปถึงทุ่งหนองผำ(บ้านเกาะแรตปัจจุบัน) ก็เดินทางข้ามแม่น้ำท่าจีนไปทางทิศตะวันออกถึงเขตคลองหนองกระทุง ตำบลบางภาษี อำเภอบางเลน ปรากฏว่าเป็นที่ลุ่มไม่เหมาะแก่การทำมาหากิน จึงได้มาตั้งบ้านเรือนกันอยู่ที่บ้านเกาะแรตจนถึงทุกวันนี้
หัวหน้าหมู่บ้านลาวโซ่งคนแรกคือ นายทรัพย์ ครั้นในสมัยรัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯให้มีการตั้งนามสกุลขึ้นเพื่อระลึกถึงถิ่นเดิม คนในหมู่บ้านนี้จึงมักใช้คำว่า“เพชร”นำหน้านามสกุล เพราะได้ย้ายมาจากเมืองเพชรบุรี เช่น นายทอน เพชรรุณ นายเพียง เพชรแอน นายแอ เพชรยวน เป็นต้น
บ้านดอนทอง อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม
แต่เดิมชาวไทดำบ้านดอนทองเรียกชื่อหมู่บ้านนี้ว่า“ไผ่ควาย”เป็นชุมชนไทดำชุมชนใหญ่แห่งหนึ่งในอำเภอกำแพงแสน ประวัติกล่าวว่าบรรพบุรุษอพยพมาจากเพชรบุรีเมื่อประมาณ พ.ศ. 2440 ปัจจุบันหมู่บ้านดอนทองมีชาวไทดำอาศัยอยู่ร้อยละ 70 จากประชากรทั้งหมด
ในบริเวณนี้ยังมีชุมชนไทดำจำนวนมากแถบตำบลสระสี่มุมซึ่งมาตั้งถิ่นฐานในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ครั้นราวปี พ.ศ. 2495 ชาวไทดำบางส่วนจากตำบลสระสี่มุม อำเภอกำแพงแสน ได้อพยพไปตั้งถิ่นฐานในเขตอำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรีอีกหลายหมู่บ้าน เช่น ที่บ้านหนองรี บ้านยางสูง เป็นต้น
จังหวัดสุพรรณบุรี
บ้านดอนมะนาว อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี
ไทดำบ้านดอนมะนาวมีบรรพบุรุษอพยพมาจากเพชรบุรี เมื่อราว พ.ศ. 2440 โดยการเดินทางด้วยเกวียนเพื่อหาแหล่งทำกินใหม่ ต่อจากนั้นราวปี พ.ศ. 2495 ชาวไทดำกลุ่มหนึ่งซึ่งใช้นามสกุล “แสงอรุณ” “ออมสิน” และ “ทองเชื้อ” จากบ้านดอนมะนาว อำเภอสองพี่น้อง สุพรรณบุรี ได้อพยพไปอยู่หมู่บ้านน้ำเรื่อง อำเภอกงไกรลาศ สุโขทัย
บ้านดอนมะเกลือ อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
ไทดำบ้านดอนมะเกลือ อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี อพยพมาจากจังหวัดเพชรบุรีตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2440 โดยมาจากบ้านตาลเรียง บ้านห้วยท่าช้าง อำเภอเขาย้อย เพชรบุรี ในระยะแรกบ้านดอนมะเกลือยังมีสภาพเป็นป่า เป็นที่เล่าขานกันว่ามีงูชุกชุมมาก และการอพยพคราวนั้นก็ใช้การเดินทางด้วยเกวียน
ภายหลังต่อมาชาวไทดำบางส่วนจากดอนมะเกลือ อำเภออู่ทอง สุพรรณบุรี ได้อพยพไปอยู่ทางภาคเหนือ แถบจังหวัดสุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร และพิษณุโลก เช่น บ้านเนินหว้า อำเภอกงไกรลาศ สุโขทัย บ้านเขาหน่อ บ้านวังหยวก จังหวัดนครสวรรค์ เป็นต้น การอพยพจากดอนมะเกลือไปทางภาคเหนือนิยมใช้เส้นทางรถไฟ
จังหวัดกาญจนบุรี
บ้านห้วยยาง อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี
ไทดำบ้านห้วยยาง อำเภอห้วยกระเจา กาญจนบุรี มีบรรพบุรุษอพยพมาจากบ้านดอนและบ้านยาง ในเขตอำเภออู่ทอง สุพรรณบุรี ประวัติกล่าวว่าคนแรกที่อพยพจากบ้านดอน สุพรรณบุรี มาอยู่ที่บ้านห้วยยาง กาญจนบุรี คือนายธง ได้เดินทางเข้ามาจับจองพื้นที่ในป่าซึ่งปัจจุบันคือหมู่บ้านห้วยยาง เมื่อราว พ.ศ. 2460-2470 นายธงเป็นคนเก่า และมีเพื่อนมาก พากันตระเวนยิงเนื้อยิงสัตว์ป่าไปหลายแห่ง ในที่สุดก็มาถึงบริเวณที่เป็นหมู่บ้านห้วยยางในปัจจุบัน จึงได้ย้ายมาตั้งหลักแหล่งที่นั่น
จังหวัดนครสวรรค์
บ้านไผ่สิงห์ ตำบลไผ่สิงห์ อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์
ชาวไทดำรุ่นแรกของหมู่บ้านไผ่สิงห์ อำเภอชุมแสง นครสวรรค์ อพยพมาจากเพชรบุรี ประมาณ 5-6 ครอบครัว เมื่อ พ.ศ. 2488 หลังจากนั้นก็มีชาวไทดำอพยพตามกันมาอีกหลายครอบครัว ในตอนแรกชาวไทดำกลุ่มนี้อพยพไปอยู่ในตัวอำเภอชุมแสง ต่อมาได้อพยพไปยังหมู่บ้านโพธิ์หนองยาว และย้ายมายังหมู่บ้านไผ่สิงห์ เมื่อได้ตั้งหลักแหล่งที่หมู่บ้านไผ่สิงห์แล้ว ได้มีชาวไทดำจากราชบุรี เพชรบุรี บ้านสระสี่มุม อำเภอกำแพงแสน นครปฐม ได้อพยพตามกันมาอยู่สมทบอีก
บ้านคลองเกษม อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค
ชาวไทดำหมู่บ้านคลองเกษม อำเภอชุมแสง นครสวรรค์ อพยพมาจากราชบุรีและเพชรบุรี เมื่อประมาณ พ.ศ. 2440 ในระยะเริ่มแรกมีผู้อพยพเข้ามาอยู่ประมาณ 20 หลังคาเรือน หมู่บ้านคลองเกษมนั้นเมื่อก่อนชาวไทดำเรียกว่า “คลองขอม”
บ้านหนองเนิน อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์
ชาวไทดำบ้านหนองเนิน อำเภอท่าตะโก นครสวรรค์ ได้อพยพมาจากอำเภอกำแพงแสน นครปฐม และอำเภอสองพี่น้อง สุพรรณบุรี ตั้งแต่ราว พ.ศ. 2460 แต่เดิมพื้นที่ตั้งแต่นครสวรรค์มาถึงหนองเนินเป็นป่าใหญ่ ในการอพยพครั้งนั้นมีเรื่องเล่ากันว่า ไทดำบางคนที่มาจากนครปฐม อยากจะไปอยู่หนองเนิน แต่ไปไม่ถูก ได้เดินทางเลยไปตั้งถิ่นฐานถึงจังหวัดพิจิตรก็มี นอกจากนี้ยังพบว่าภายหลังต่อมาชาวไทดำที่บ้านหนองเนินบางครอบครัวได้ย้ายมาจากบ้านบัวงาม ราชบุรี เมื่อราว พ.ศ. 2470-2480 รวมทั้งในภายหลังก็ยังมีบางครอบครัวที่อพยพมาจากอำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ตามมาอยู่ที่บ้านหนองเนินด้วย
บ้านแหลมย้อย อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์
ชาวไทดำบ้านแหลมย้อย อำเภอบรรพตพิสัย นครสวรรค์ บางครอบครัวมีประวัติว่าอพยพมาจากอำเภอชุมแสง นครสวรรค์ เมื่อราว พ.ศ. 2480 ทั้งนี้ก่อนหน้านั้นครอบครัวมีประวัติว่าอพยพมาจากบ้านสระสี่มุม อำเภอกำแพงแสน นครปฐม มาอยู่ที่ชุมแสงก่อนนี้แล้วจึงย้ายมาที่แหลมย้อย บรรพตพิสัยอีกทีหนึ่ง เนื่องจากที่ดินทำกินในอำเภอชุมแสงมีน้อยลงและคนรุ่นหลังก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น การอพยพใช้วิธีการเดินทางด้วยรถไฟจากอำเภอชุมแสง ลงที่ปากน้ำโพ แล้วขึ้นรถยนต์จากปากน้ำโพไปลงที่ตัวอำเภอบรรพตพิสัย จากนั้นก็เดินทางไปหมู่บ้านแหลมย้อย ปัจจุบันมีชาวไทดำเป็นจำนวนมากถึง 100 ครัวเรือนที่บ้านแหลมย้อยและบ้านปากดงที่อยู่ใกล้เคียง
บ้านหนองหูช้าง อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์
ไทดำบ้านหนองหูช้าง อำเภอลาดยาว นครสวรรค์ มีประวัติว่า มีชาวไทดำสองคนจากเพชรบุรีชื่อ เสาร์ และเปลี่ยน มาดูพื้นที่เมื่อราวก่อน พ.ศ. 2500 เมื่อพอใจก็เตรียมซื้อที่ดินและพากันอพยพมาอยู่
บ้านหนองตาหมู อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์
ไทดำบ้านหนองตาหมู อำเภอลาดลาว จังหวัดนครสรรค์ มีประวัติว่า ใน พ.ศ. 2495 ครอบครัวของ เกี้ยว และวน อุ่นเรื่อน อพยพมาจากบ้านห้วยท่าช้าง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ได้พาครอบครัว พร้อมกับผู้ใหญ่เสาร์ซึ่งเป็นลุง และครอบครัวอื่นอีกรวมทั้งสิ้น 4 ครอบครัว เช่าเหมารถยนต์จากเพชรบุรีมาถึงสถานีรถไฟนครสวรรค์ แล้วนั่งรถประจำทางจากนครสวรรค์ไปตามถนนลูกรังจนถึงทางแยกหนองวัว แล้วจึงลงเดินเท้าตามคันนาเข้าไปยังหนองตาหมู หลังจากการอพยพของ 4 ครอบครัวนี้มาอยู่ที่หนองตาหมู ก็มีครอบครัวอื่นอพยพตามกันมาอีก
บ้านน้ำสาด อำเภอหนองบัง จังหวัดนครสวรรค์
ชาวไทดำหมู่บ้านน้ำสาดส่วนใหญ่อพยพมาจากจังหวัดเพชรบุรี และจากภาคใต้ก็มี โดยเข้ามาอยู่ที่บ้านน้ำสาดตั้งแต่ราว พ.ศ. 2480 การอพยพใช้วิธีขึ้นรถไฟจากเพชรบุรี ไปต่อที่หัวลำโพง แล้วไปลงสถานีชุมแสง จากนั้นจึงเดินเท้าเรื่อยไปจนมาถึงหมู่บ้านน้ำสาด นอกจากนี้ยังมีบางครอบครัวย้ายมาจากบ้านไผ่สิงห์ อำเภอชุมแสง และจากแถบตัวอำเภอชุมแสง เข้ามาอาศัยสมทบด้วย
บ้านท่าช้าง บึงหล่ม และทุ่งหญ้าคา ตำบลคลองน้ำไหล อำเภอคลองลาน จังหวัดนครสวรรค์
ชาวไทดำในบริเวณตำบลคลองน้ำไหล อำเภอคลองลาน นครสวรรค์ เป็นกลุ่มที่อพยพโยกย้ายมาจากอำเภอท่าตะโก นครสวรรค์ เมื่อปี พ.ศ. 2518 เนื่องจากญาติพี่น้องได้พากันชักชวนไปหาแหล่งทำกินใหม่
จังหวัดกำแพงเพชร
บ้านหนองกระทิง อำเภอขาณุวรลักษณบุรี จังหวัดกำแพงเพชร
ชาวไทดำบ้านหนองกระทิง อำเภอขาณุวรลักษณบุรี กำแพงเพชร มีประวัติว่าอพยพมาจากอำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม มาที่บ้านหนองกระทิงตั้งราว พ.ศ. 2500 เดินทางมาราว 2-3 ครอบครัว เนื่องจากย้ายที่ทำกินจากแหล่งเดิมและมีญาติพี่น้องที่อยู่ในบริเวณนี้มาก่อนบ้างแล้ว
บ้านวังน้ำ อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร
ชาวไทดำบ้านวังน้ำ อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร อพยพมาจากหลายแหล่งตามลำดับ ได้แก่ กลุ่มที่ย้ายมาจากบ้านวังหยวก ซึ่งอยู่ใกล้เคียง อพยพมาเมื่อ พ.ศ. 2492 เนื่องจากที่วังหยวกเกิดอุทกภัย กลุ่มที่อพยพมาจากสุพรรณบุรีมาเมื่อราว พ.ศ. 2495 และกลุ่มที่อพยพมาจากอำเภอกำแพงแสน นครปฐม ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ย้ายมาเมื่อ พ.ศ. 2500 กลุ่มที่ย้ายมาจากสุพรรณบุรีและกำแพงแสน เป็นกลุ่มที่ย้ายมาเนื่องจากหาแหล่งทำกินใหม่
จังหวัดพิจิตร
ตำบลไผ่รอบ อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร
บริเวณตำบลไผ่รอบ อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร เป็นแหล่งที่ตั้งถิ่นฐานของชาวไทดำกลุ่มใหญ่อีกแห่งหนึ่งในภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยหลายหมู่บ้าน เช่น บ้านหนองไม้แดง บ้านไผ่รอบ บ้านคลองยาง บ้านหนองหลวง บ้านป่าสัก บ้านหนองนาร้าง บ้านเกาะแก้ว บ้านไดโพ บ้านโรงวัว บ้านก่อ บ้านเนินตาล บ้านเนินตะค้อ บ้านเนินยาง บ้านห้วยแยก บ้านหนองหัวปลวก และบ้านหนองแห้ว ส่วนใหญ่ชาวไทดำตำบลไผ่รอบ อพยพมาจากเพชรบุรี ซึ่งเกิดขึ้นก่อน พ.ศ. 2495 โดยขึ้นรถไฟจากเพชรบุรีไปลงที่ตัวเมืองพิจิตร แล้วเดินเท้าจากพิจิตรไปถึงหมู่บ้านวังจิก จากนั้นลงเรือที่บ้านวังจิกไปขึ้นบกที่ไผ่รอบ ทั้งนี้ประวัติเท่าที่เล่ากันมาทราบว่าในเวลานั้นเมื่อเดินทางมาที่ไผ่รอบ ได้มีญาติที่อพยพจากเพชรบุรีมาอยู่บริเวณนี้ก่อนหน้านี้แล้ว
บ้านบัวยาง อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร
ไทดำที่หมู่บ้านบัวยาง อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร เป็นชุมชนไทดำที่มีขนาดใหญ่มากนับเป็นร้อยหลังคาเรือน และแทบจะไม่มีคนกลุ่มอื่นปะปนเลย ทั้งนี้ก่อนหน้านี้บริเวณนี้ขึ้นกับอำเภอสามง่าม แต่ปัจจุบันถูกตัดมาเป็นเขตของอำเภอวชิรบารมี การอพยพของกลุ่มไทดำมาที่บ้านบัวยาง มีเรื่องเล่าที่น่าตื่นเต้นกันว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2480 มีชาวพวนและชาวไทดำแถบอำเภอกำแพงแสน นครปฐม เป็นจำนวนมากรวมตัวกันอพยพผู้คนด้วยกองเกวียนกว่าร้อยเล่ม นำโดยหัวหน้ากองเกวียนชื่อหนานแก่นซึ่งเป็นชาวพวน ในกลุ่มชาวพวนนี้ต่อมาไปตั้งถิ่นฐานที่อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก ส่วนกลุ่มไทดำในตอนแรกได้มาเริ่มตั้งบ้านเรือนที่บ้านบัวยางเพียง 2-3 หลังเท่านั้น ภายหลังต่อมาอีก 3 ปีจึงมีการอพยพชาวไทดำตามมาอีกครั้งหนึ่ง
จังหวัดพิษณุโลก
อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก
ประวัติการเคลื่อนย้ายในภาพรวมของกลุ่มไทดำมายังอำเภอวังทอง พิษณุโลก กล่าวว่ามีกลุ่มหนึ่งย้ายมาจากเพชรบุรีก่อน ต่อมาราว พ.ศ. 2490 มีไทดำจำนวนมากอพยพจากบางกุ้ง สุพรรณบุรี มาอยู่ที่อำเภอวังทอง เช่น หมู่บ้านดงข่อย (ไทดำเรียกดอนข่อย) หมู่บ้านหนองบัว เป็นต้น
อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก
ประวัติชาวไทดำในอำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษที่เพชรบุรี ซึ่งมีครอบครัวที่ใช้นามสกุล “มาเพชร” เพื่อบ่งบอกว่าตระกูลของตนมีบรรพบุรุษมาจากเพชรบุรี และบางส่วนอพยพมาจากสุพรรณบุรี ในช่วงราว พ.ศ. 2460 กระจายกันอยู่ในหมู่บ้านต่าง ๆ เช่น บ้านคลองวัดไร่ บ้านท่าโก บ้านคุยยาง บ้านยางแขวนอู่บ้านบึงคัด และบ้านหนองเขาควาย ในตำบลบางระกำ บ้านหนองขานาง บ้านคุยขวาง และหมู่บ้านรุ้งวิไล ตำบลคุยม่วง บ้านหนองตาเขียว และหมู่บ้านดอนอภัย ตำบลบ่อทอง บ้านห้วงกระได ตำบลชุมแสงสงคราม บ้านประดู่งาม ตำบลพันเสา บ้านวัดกลาง และบ้านพันต่าง ตำบลวังอีทก บ้านโป่งหม้อข้าง ตำบลบางแก้ว เป็นต้น หลังจากนั้นก็มีชาวไทดำทยอยโยกย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานในหมู่บ้านต่าง ๆ เป็นระยะ ซึ่งรวมถึงการเคลื่อนย้ายของชาวไทดำในพื้นที่ใกล้เคียงเนื่องจากเกิดการแต่งงานกันด้วย
จังหวัดสุโขทัย
บ้านคลองยาง อำเภอเมืองสุโขทัย จังงหวัดสุโขทัย
ชาวไทดำหมู่บ้านคลองยาง อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย มีประวัติว่าบรรพบุรุษอพบพโยกย้ายมาจากบ้านเวียงคอย อำเภอเมือง เพชรบุรี ตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2470 โดยครั้งแรกได้ไปตั้งถิ่นฐานกันอยู่ที่บ้านพันต่าง ตำบลบางอีทก อำเภอบางระกำ พิษณุโลก ครั้นถึงปี พ.ศ. 2496 ได้อพยพครอบครัวต่อมาตั้งอยู่ที่บ้านคลองยาง อำเภอเมือง สุโขทัย จนทำให้บ้านคลองยางมีชาวไทดำอาศัยอยู่นับร้อยหลังคาเรือน แต่เมื่อช่วงปี พ.ศ. 2513 เป็นต้นมาแถบนี้ประสบกับปัญหาน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ชาวบ้านต้องอพยพออกไปทำกินในที่อื่น ทำให้เหลือชาวไทดำอยู่ที่บ้านคลองยางเพียงจำนวน 40 หลังคาเรือน
บ้านน้ำเรื่อง อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย
หมู่บ้านน้ำเรื่อง อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย มีประชากรเป็นชาวไทดำเกือบทั้งหมด ประวัติของการย้ายถิ่นฐานมาตั้งที่บ้านน้ำเรื่องมีอยู่ว่า ส่วนใหญ่เป็นชาวไทดำที่อพยพมาจากดอนมะนาว สุพรรณบุรี และเพชรบุรี (บางครอบครัวระบุได้ว่ามาจากบ้านทับคาง อำเภอเขาย้อย เพชรบุรี) ซึ่งบางครอบครัวอาจจะอพยพมาอยู่ที่นครสวรรค์ก่อน แล้วไปอยู่ที่พิจิตร แล้วจึงมาอยู่ที่บ้านน้ำเรื่อง
จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ประวัติย่าน “ซอยลาว” นิคมสร้างตนเอง ประจวบคีรีขันธ์ ย่าน “ซอยลาว” เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปใช้เรียก
ชุมชนชาวไทดำซึ่งตั้งอยู่บริเวณถนนสายโท หลักกิโลเมตรที่ 4 มีชาวไทดำอาศัยอยู่ราว 20 ครัวเรือน ชาวไทดำในย่านดังกล่าวส่วนใหญ่อพยพไปจากหมู่บ้านห้วยท่าช้าง และหมู่บ้านหนองปรง อำเภอเขาย้อย กับหมู่บ้านวังตะโก อำเภอเมือง เพชรบุรี โดยอพยพไปตั้งแต่ราวปี พ.ศ. 2502-2507
บ้านตาลเจ็ดยอด กิ่งอำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ไทดำที่หมู่บ้านตาลเจ็ดยอด กิ่งอำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้อพยพมาจากบ้านหนองพลับ อำเภอเมือง เพชรบุรี เมื่อช่วงปี พ.ศ. 2470-2475 เริ่มจากจำนวน 2 ครอบครัว แล้วมีตามไปสมทบอีก จนถึง พ.ศ. 2543 มีชาวไทดำในหมู่บ้านตาลเจ็ดยอดจำนวนเกือบถึงสองร้อยครัวเรือน
ที่ได้ชื่อหมู่บ้านสามร้อยยอดนั้น มีเรื่องเล่ามาว่า ในยุคนั้นหมู่บ้านมีต้นตาลอยู่ต้นเดียว แต่ไม่มียอด แต่กลับพบว่ามีลูกดกมากรอบต้นเต็มไปหมด ต่อมาเกิดไฟป่าขึ้น และตาลต้นนี้ถูกไฟไหม้หมดไป จึงทำให้สันนิษฐานว่าต้นตาลที่มีลักษณะประหลาดต้นนี้อาจจะเป็นที่มาของชื่อตาลเจ็ดยอด อันเป็นชื่อของหมู่บ้านก็ได้
บ้านหนองตลาด อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ชาวไทดำที่บ้านหนองตลาด อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปว่า “ลาวหนองตลาด” แต่เดิมกล่าวกันว่าอาศัยอยู่จำนวนมากแต่ในปัจจุบันแต่งงานกับคนท้องถิ่นและกลายเชื้อสายไปไม่น้อย ไทดำกลุ่มนี้ย้ายมาจากเพชรบุรี ส่วนใหญ่กล่าวว่าเป็นลูกหลานของผู้ที่มาจากบ้านหนองพลับ และบ้านสมอลก อำเภอเมือง เพชรบุรี เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2460 บางครอบครัวระบุได้ว่ามาจากหมู่บ้านเขาอีโก้ อำเภอเขาย้อย เพชรบุรี เมื่อราว พ.ศ. 2503
บ้านห้วยยาง และบ้านห้วยไผ่ อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
เมื่อราว พ.ศ. 2500 มีชาวไทดำจากหมู่บ้านหนองปรง เพชรบุรี เดินทางลงไปทางภาคใต้จำนวนหนึ่งประมาณ 20 คน เพื่อบุกเบิกไร่นาในบริเวณหมู่บ้านห้วยยาง อำเภอทับสะแก ประจวบคีรีขันธ์ ปัจจุบันยังมีไทดำตั้งถิ่นฐานที่หมู่บ้านห้วยยาง อำเภอทับสะแกอยู่ 4 ครัวเรือน นอกจากนี้ในเวลานั้น มีกลุ่มที่ย้ายไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านห้วยไผ่ อำเภอทับสะแก ซึ่งมีบางครอบครัวมาจากบ้านทับคาง เพชรบุรีด้วย บางคนในกลุ่มนี้ได้อพยพต่อไปอยู่ที่บ้านดอนรวบ อำเภอเมือง ชุมพร บางคนไปอยู่ที่อำเภอท่าแซะ ชุมพร บางคนไปยู่ที่อำเภอสวี ชุมพร บางคนย้ายลงไปอยู่ที่บ้านนาสาร สุราษฎร์ธานี ปัจจุบันมีชาวไทดำอยู่ที่บ้านห้วยไผ่ราว 20 คน
บ้านโคกตาหอม อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ชาวไทดำที่บ้านโคกตาหอม อำเภอบางสะพาน ประจวบคีรีขันธ์ มีจำนวน 9 หลังคาเรือน อพยพโยกย้ายมาจากสระสี่มุม อำเภอกำแพงแสน นครปฐม เมื่อราว พ.ศ. 2500 เนื่องจากปัญหาในการประกอบอาชีพทำนาในแหล่งเดิม ครั้นมาอยู่ที่บ้านโคกตาหอม ไทดำกลุ่มนี้ประกอบอาชีพปลูกผัก ทำไร่ ปลูกพริก ปลูกมะพร้าว เพื่อขาย ไม่ได้ทำนา ซึ่งมาจากสภาพแวดล้อมที่อยู่ติดทะเล ทำให้ชุมชนไทดำหมู่บ้านโคกตาหอม อำเภอบางสะพาน ประจวบคีรีขันธ์ เป็นชุมชนไทดำที่มีลักษณะทางภูมิศาสตร์แปลกที่สุดในบรรดาชุมชนไทดำทั้งหลาย คือ โดยปกติชุมชนไทดำมักตั้งในพื้นที่ที่มีท้องทุ่งหรือที่ราบเชิงเขา ซึ่งสะดวกในการทำนา หาของป่า และทำสวนได้ แต่ที่บ้านโคกตาหอม เป็นหมู่บ้านชาวไทดำซึ่งอยู่ชายทะเล ทำให้มีภูมิทัศน์รอบ ๆ หมู่บ้านแปลกกวาหมู่บ้านไทดำอื่น ๆ
จังหวัดชุมพร
บ้านดอนรวบ อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร
ชาวไทดำบ้านดอนรวบ มีประวัติว่าอพยพมาจากอำเภอเขาย้อย เพชรบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2440 ครั้งแรกมากัน 3 ครอบครัว เดินทางด้วยเท้าลงใต้เรื่อย ๆ จนมาถึงที่ดินข้างตลาดชุมพรในปัจจุบัน แต่ก็ไม่ได้ตั้งถิ่นฐานเพราะเกรงว่าน้ำจะท่วมถึงได้ จึงเดินทางต่อไปถึงที่ดอนอันเป็นบริเวณที่ตั้งของบ้านดอนรวบในปัจจุบัน จึงได้จับจองที่ดินทำกิน ในระยะแรก ต้องโค่นป่าเสม็ด ขุดตอไม้ออก แล้วทำนา แต่เนื่องจากไม่มีควาย จึงต้องใช้มีดหวดถากเอา ต่อมาเมื่อรวบรวมเงินได้จึซื้อควาย แล้วสร้างเกวียนตามแบบเกวียนที่เคยใช้ในเพชรบุรี ภายหลังครัวเรือนขยายตัว และมีไทดำจากสุพรรณบุรีและเพชรบุรีมาอยู่ด้วยทำให้ประชากรเพิ่มขึ้นมาก ในปัจจุบันมีถึง 160 ครัวเรือน ราว 600 คนเศษ เป็นชาวไทดำทั้งหมด
อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร
ชาวไทดำในอำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร อพยพมาจากหลายหมู่บ้านในจังหวัดเพชรบุรี ได้แก่ บ้านห้วยท่าช้าง บ้านหนองปรง บ้านเขาย้อย อำเภอเขาย้อย เพชรบุรี บ้านไร่โคก บ้านห้วยข้อง บ้านหนองโสน อำเภอบ้านลาด เพชรบุรี โดยเริ่มอพยพมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 เพื่อแสวงหาที่ทำกินใหม่ อีกทั้งมีการเปิดนิคมท่าแซะ ที่อำเภอท่าแซะ ชุมพร ในปีเดียวกัน จึงเป็นโอกาสได้เข้ามาอาศัยอยู่ในนิคมที่เปิดพื้นที่ทำกิน
จังหวัดสุราษฎร์ธานี
บ้านท่าสะท้อน และบ้านไทรงาม อำเภอพุนพิน สุราษฎร์ธานี
หมู่บ้านท่าสะท้อน และหมู่บ้านไทรงาม อำเภอพุนพิน สุราษฎร์ธานี ตั้งอยู่คนละฝั่งแม่น้ำ ชาวบ้านท้องถิ่นเรียกชาวไทดำสองหมู่บ้านนี้ว่า พวก “คลองแม่น้ำ” ประวัติกล่าวว่าบรรพบุรุษเดิมอยู่ที่เพชรบุรี และมีส่วนที่ย้ายไปอยู่ที่นครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรี ก่อนที่จะย้ายมาอยู่ที่บ้านท่าสะท้อน และบ้านไทรงาม อำเภอพุนพิน สุราษฏร์ธานี เมื่อราว พ.ศ. 2500-2504 ด้วยการเดินทางตามเส้นทางรถไฟ เมื่อมาถึงสุราษฎร์ธานีก็จะเดินทางต่อด้วยเรือเมล์มายังบ้านไทรงาม ในตอนหลังหมู่บ้านไทรงามเปลี่ยนชื่อใหม่ว่าบ้านดอนมะลิ ตามชื่อวัดดอนมะลิ
บ้านสะพานสอง อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ชาวไทดำบ้านสะพานสอง อำเภอบ้านนาสาร สุราษฎร์ธานี ส่วนใหญ่อพยพมาจากเพชรบุรี มีบางกลุ่มมาจากราชบุรี และนครปฐม โดยอพยพมาครั้งแรกราว พ.ศ. 2490 ด้วยเส้นทางรถไฟจนมาถึงบ้านนาสาร และมีผู้อพยพตามกันมา
บ้านทุ่งเกวียน อำเภอเคียนซา สุราษฎร์ธานี
หมู่บ้านทุ่งเกวียน เป็นที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า “ทุ่งทอง” แต่ชาวไทดำจะเรียกหมู่บ้านนี้ว่าบ้านทุ่งเกวียน ส่วนใหญ่อพยพมาจากอำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม เมื่อราวปี พ.ศ. 2500 บางครอบครัวอพยพมาจากเพชรบุรี อาศัยการเดินทางอพยพด้วยทางรถไฟมาถึงสถานีบ้านนาสาร จากนั้นก็เดินเท้าต่อแต่เช้าจนมาถึงทุ่งเกวียนในตอนค่ำ
อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ประวัติไทดำหมู่บ้านทำเนียบ อำเภอคีรีรัฐนิคม จัวหวัดสุราษฎร์ธานี
ชาวไทดำหมู่บ้านทำเนียบ อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นกลุ่มที่อพยพโยกย้ายมาจากบ้านไทรงาม คลองแม่น้ำ อำเภอพุนพิน สุราษฎร์ธานี อีกทอดหนึ่ง เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2530 เนื่องจากประสบปัญหาน้ำท่วมที่ทำกินในบริเวณบ้านไทรงาม หมู่บ้านทำเนียบมีไทดำอยู่ 3 ครอบครัว ประชากรประมาณ 20 คน
จังหวัดเลย
บ้านนาป่าหนาด อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย
ไทดำบ้านนาป่าหนาด อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เป็นเพียงไทดำกลุ่มเดียวที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และมีเพียงหมู่บ้านนาป่าหนาดเท่านั้น ชื่อบ้านนาป่าหนาดมาจากที่แต่เดิมบริเวณนี้เป็นป่าต้นหนาด
ประวัติที่มาของไทดำบ้านนาป่าหนาดระบุถึงว่ากลุ่มไทดำที่อยู่บริเวณทุ่งเชียงคำ ในแขวงหัวพัน ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เนื่องจากเมื่อ พ.ศ. 2436 ฝรั่งเศสได้นำชาวไทดำส่วนหนึ่งกลับไปที่ลาวอีก แต่ชาวไทดำส่วนที่อยู่ในทุ่งเชียงคำได้อพยพข้ามแม่น้ำโขงมายังฝั่งประเทศไทยภายหลังจากที่ลาวเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส
นอกจากนี้ยังมีประวัติของบางครอบครัว เช่น ครอบครัวของนายอ่อน ทันหา เล่าว่าเมื่อครั้งศึกฮ่อไทดำกลุ่มหนึ่งไปอยู่เพชรบุรี แล้วอพยพกลับไปทางกรุงเทพฯ ไปอยู่บ้านนาเบน ต่อมาอพยพไปอยู่ที่กกเชียง แต่อยู่ไม่ได้จึงเดินทางออกมาจนมาถึงบ้านนาป่าหนาด ในครั้งนั้นมี 15 ครอบครัว และได้มาตั้งบ้านเรือนที่บ้านนาป่าหนาด
และมีบางครอบครัวระบุว่าอพยพมาจากทุ่งเชียงคำเมื่อราว พ.ศ. 2475-2476 โดยเดินทางเท้ากันมาจากทุ่งเชียงคำ ลงเรือข้ามโขงมาสู่บ้านนาป่าหนาดร่วมกับครอบครัวอื่น ๆ ราว 10 ครอบครัว ปัจจุบันบ้านนาป่าหนาดมีชาวไทดำราว 250 ครัวเรือน
จากหลักฐานในอดีต ได้แก่ข้อมูลประชากรที่บันทึกโดยบาทหลวงปาเลอกัวซ์ (Pallegoix) ให้ข้อมูลประชากรกลุ่มต่าง ๆ ในสมัยต้นรัตนโกสนินทร์ หนึ่งในนั้นมีการระบุตัวเลขประชากรชาวลาวโซ่งร่วมกับชาวกะเหรี่ยงในประเทศไทยว่ามีจำนวนรวมกัน 50,000 คน (ม.ร.ว. อคิน รพีพัฒน์ 2521, 41) แม้จะไม่ได้ระบุแน่ชัดแต่ก็ทำให้สันนิษฐานว่าอย่างน้อยกลุ่มลาวโซ่งในประเทศไทยก็มีจำนวนมากที่สามารถระบุชื่อกลุ่มในเวลานั้นได้ และอาจจะมีจำนวนประชากรชาวลาวโซ่งในประเทศไทยอย่างน้อยถึง 10,000 คน ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์
ปัจจุบันยังไม่มีการสำรวจจำนวนประชากรที่เป็นชาวไทดำในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ จึงขาดตัวเลขของจำนวนประชากรที่แน่นอน อย่างไรก็ตามอาจจะพอคาดคะเนประชากรชาวไทดำจากพื้นที่บางแห่งที่เป็นที่ตั้งถิ่นฐานของชาวไทดำโดยเฉพาะ เช่น ในตำบลเขาย้อย อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นตำบลที่ตั้งถิ่นฐานของชาวไทดำอยู่ในทุกหมู่บ้าน รายงานตัวเลขประชากรจาก “ศูนย์ข้อมูลประเทศไทย – Thailand Information Center”) ของตำบลนี้ระบุว่า มีประชากรตำบลนี้จำนวน 7,048 คน และหากพิจารณาร่วมกับการคาดคะเนประชากรชาวลาวโซ่งจากงานวิจัยของ ฉวีวรรณ ประจวบเหมาะ (2530) ที่ศึกษาลาวโซ่งในชุมชนแห่งหนึ่งในตำบลหนองปรง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งแสดงสถานการณ์ประชากรลาวโซ่งในพื้นที่นั้นว่ามีจำนวน 85 % เพราะปัจจุบันมีคนกลุ่มอื่นเข้ามาผสมผสานตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ร่วมกันในชุมชนชาวลาวโซ่ง ก็อาจจะประมาณจำนวนประชากรเฉพาะในตำบลเขาย้อยที่เป็นพื้นที่ตั้งถิ่นฐานเดิมของชาวลาวโซ่งในประเทศไทยได้จากตัวเลข (7,048 x 85%) เป็นตัวเลขประมาณการของประชากรลาวโซ่งตำบลเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ได้ประมาณ 5,990 คน ซึ่งเป็นตัวเลขชาวลาวโซ่งในพื้นที่ 1 ตำบล ทั้งนี้ปัจจุบันชาวลาวโซ่งในประเทศไทยได้กระจายกันไปตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนของตนในหลายตำบลและหลายจังหวัด จึงอาจจะคาดคะเนได้ว่ามีประชากรชาวลาวโซ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งแสนคนที่ตั้งถิ่นฐานกระจายตัวในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทย
สถานการณ์ด้านประชากร
กลุ่มประชากรชาวไทดำในประเทศไทย มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากอดีตอย่างมาก แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของชาวไทดำในประเทศไทยไปตามยุคสมัย แต่ประชากรส่วนใหญ่ของกลุ่มนี้ยังสามารถยืนยันสถานะและอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของกลุ่มตนไว้ได้ในปัจจุบัน ตลอดจนมีกระบวนการอนุรักษ์และฟื้นฟูวัฒนธรรมชาติพันธุ์ของตนอย่างกว้างขวาง จึงทำให้สถานการณ์ประชากรชาวลาวโซ่ง/ไทดำในประเทศไทย มีอัตราการเติบโตของจำนวนประชากรเพิ่มขึ้ และไม่ประสบกับปัญหาวิกฤตทางประชากรชาติพันธุ์ของตน
แม้จะพบว่าจำนวนประชากรชาวไทดำ ได้เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของชุมชนที่กระจายตัวอยู่ในพ้นที่ต่าง ๆ อย่างไรก็ตามยังมีปัญหาเรื่องการระบุอัตลักษณ์ประชากรในฐานะที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทดำ และการระบุตัวเลขประชากรที่ยังขาดจำนวนที่ชัดเจน อีกทั้งยังมีปัญหาของการถูกกลืนกลายทางวัฒนธรรมในประเทศและการแต่งงานข้ามกลุ่มเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีตัวแปรในการประมาณสถานการณ์ประชากรของชาว ไทดำมีความซับซ้อนมากขึ้น
วิถีชีวิต
อัตลักษณ์ชาติพันธุ์
อัตลักษณ์ชาวไทดำที่สะท้อนผ่านวิถีชีวิต เป็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่มีพื้นฐานจากวิถีชีวิตแบบเกษตรกรรม ระบบความเชื่อและศาสนาในคติผีแถนและผีบรรพชน ซึ่งผูกพันด้วยสำนึกในระบบเครือญาติและความเป็นกลุ่มทางชาติพันธุ์ไว้ได้อย่างเหนียวแน่น และยังสามารถสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยงสถานะทางชาติพันธุ์ของกลุ่มไทดำที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศต่าง ๆ ไว้ได้ในปัจจุบัน
การผลิตอาหาร การเกษตรการยังชีพ
ระบบการผลิตในอดีตของคนไทดำ ซึ่งยังคงเป็นแบบแผนในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจมาจนถึงปัจจุบัน มีความสัมพันธ์กับลักษณะการตั้งถิ่นฐานที่คนไทดำนิยมตั้งถิ่นฐานตามที่ราบในหุบเขาที่มีลำน้ำไหลผ่าน เพื่อเอื้อต่อระบบการเพาะปลูกแบบการทำนา ข้าวจึงเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของคนไท และพัฒนาระบบการจัดน้ำจากธรรมชาติเข้าสู่พื้นที่นา ด้วยระบบชลประทานขนาดเล็ก เรียกกันว่าระบบ “เหมือง ฝาย ไหล ลิน” ซึ่งเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพต่อการทำนาในพื้นที่หุบเขา
นอกจากการทำนาลุ่มแล้ว ยังมีการทำไร่ในพื้นที่บริเวณที่เป็นที่ลาด สำหรับการเพาะปลูกพืชหลายชนิด เช่น ข้าวโพด ฝ้าย มัน รวมทั้งข้าวไร่ด้วย การดำรงชีวิตที่อาศัยระบบเกษตรกรรมจึงเป็นแบบแผนทางเศรษฐกิจที่สำคัญของกลุ่มไทดำ เพื่อนำผลผลิตทางการเกษตรมาแลกเปลี่ยนกับสินค้าและผลผลิตชนิดอื่นๆ ในตลาด การเกษตรและการแลกเปลี่ยนในตลาดจึงเป็นกลไกทางการผลิตและเศรษบกิจพื้นฐานที่สำคัญของกลุ่มไทดำ (Cam Trong 1978, 91-103, และฉัตรทิพย์ นาถสุภา และพิเชฐ สายพันธ์ 2553, 28-29)
นอกจากระบบการผลิตที่เกี่ยวข้องกับการเพาะปลูกโดยเฉพาะการทำนาและการทำไร่แล้ว การเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ ควาย วัว หมู เป็น ไก่ ก็เป็นสัตว์เลี้ยงสำคัญที่พบอยู่ทั่วไปในชุมชนของชาวไทดำ โดยเฉพาะควาย ถือเป็นสัตว์เลี้ยงสำคัญที่ควบคู่ไปกับการทำนา ดังมีความไทดำว่า “ควายใกล้กล้า” หมายความว่า ควายมักจะอยู่ใกล้กับต้นกล้าหรือพื้นที่ทำนาอยู่เสมอ นอกจากควายจะถูกเลี้ยงไว้เพื่อการทำนาเป็นหลักแล้ว ยังมีการนำควายมาฆ่าในพิธีกรรมเสนบ้านเสนเมืองด้วย สัตว์เลี้ยงเหล่านี้อยู่ในวิถีชีวิตของชาวไทดำสมกับคำกล่าวที่ว่า “หมูไก่อันของนาย วัวควายอันของปู่” หมายความว่า ทั้งหมู ไก่ วัว ควาย ต่างก็เป็นสัตว์เลี้ยงสำคัญมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย
โครงสร้างครอบครัวและเครือญาติ
งานวิจัยเรื่องลาวโซ่ง โดยสุมิตร ปิติพัฒน์ และคณะ (2521, 20-21) ได้อธิบายลักษณะครอบครัวและเครือญาติอย่างสังเขปไว้ว่า เดิมระบบครอบครัวลาวโซ่งเป็นครอบครัวขยาย (extended family) คือฝ่ายชายจะนำภรรรยาไปอยู่บ้านเดียวกับพ่อแม่ของตน หลังจากที่ได้ไปช่วยทำงานอาสามี่บ้านฝ่ายหญิงระยะหนึ่งตอนแต่งงานแล้ว แต่ปัจจุบัน ครอบครัวลาวโซ่งมีขนาดเล็กลง ลูกชายนิยมพาภรรยาไปตั้งบ้านเรือนใหม่ของตนเอง รูปแบบของครอบครัวจึงมีขนาดเล็กลงเป็นแบบครอบครัวเดี่ยว (nuclear family) มากขึ้น คือมีเฉพาะ พ่อ แม่ และลูกเท่านั้น บิดาจะเป็นใหญ่ มีอำนาจในบ้าน (patriarchal) และเป็นผู้นำในการตัดสินใจต่าง ๆ การสืบตระกูลก็จะนับทางฝ่ายบิดา (patrilineal) ลูกชายและภรรยาจะนับถือผีบรรพบุรุษทางพ่อ ส่วนลูกสาวจะไปนับถือผีทางสามีของตนภายหลังการแต่งงาน
ครอบครัวลาวโซ่ง มีการแบ่งเป็นกลุ่มตระกูล หรือ “สิง” ต่าง ๆ คล้ายกับการใช้แซ่ของคนจีน คนในตระกูลหรือสิงเยวกัน ถือว่าเกี่ยวข้องและเป็นเครือญาติกัน ตระกูลของลาวโซ่งมีหลายตระกูล เช่น สิงลอ สิงคำ สิงเลือง สิงวี สิงกวาง สิงกา เป็นต้น ปัจจุบันชาวลาวโซ่งได้หันมาใช้นามสกุลแบบไทย โดยตั้งนามสกุลขึ้นใหม่อย่างเป็นทางการ แต่สิงหรือระบบตระกูลแบบเดิมก็ยังใช้อ้างถึงความเกี่ยวข้องกันในกลุ่มของชาวลาวโซ่งเท่านั้น โดยเฉพาะการทำพิธีเสนเรือน และพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับผีบรรพบุรุษ
การสืบผีบรรพบุรุษและสายตระกูล
ผีประจำตระกูลของไทดำเรียก “ผีด้ำ” ผู้ที่อาวุโสที่สุดของตระกูลเพศชาย จะเป็นผู้ดูแลรักษาและเซ่นไหว้ผีด้ำในโอกาสต่าง ๆ หัวหน้าตระกูลมีดาบของตระกูลเป็นสัญลักษณ์ และนำมาใช้ในพิธีเซ่นไหว้ผีด้ำด้วย
เมื่อพ่อแม่หรือบรรพบุรุษในครอบครัวถึงแก่ความตาย ส่วนหนึ่งของขวัญของผู้ตายจะถูกเชิญมาไว้ในห้องผีที่เรียกว่า กะล้อห่อง ซึ่งตั้งอยู่ในตัวเรือน เมื่อถึงปีจะมีพิธีเสนเป็นทางการ ทำการเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษที่เชิญมาอยู่ในเรือน สำหรับผู้ที่มีฐานะดีอาจทำพิธีเซ่นไหว้หลายครั้ง ถ้าหากบุตรหลานละเลยไปไม่เลี้ยงผีบรรพบุรุษ เชื่อกันว่าผีบรรพบุรุษอาจทำให้เจ็บป่วย การเซ่นสังเวยผีบรรพบุรุษยังทำให้ครอบครัวมีความสุขและความเจริญอีกด้วย การเซ่นไหว้ต้องใช้หมูและไก่จำนวนมากน้อยตามแต่ละฐานะของครอบครัว หากมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในครอบครัวก็ต้องบอกกล่าวผีเรือนโดยการเซ่นไหว้ ไทดำมักเซ่นไหว้ผีเรือนรุ่นพ่อ-แม่ และปู่-ย่า รุ่นเก่าแก่ไปกว่านี้ก็จะถูกเปลี่ยนสภาพเป็นผีด้ำ ซึ่งเจืองกกหรือหัวหน้าตระกูลจะเป็นผู้ดูแลเซ่นไหว้
การปกครองชุมชน/ การจัดการชุมชน
ลักษณะโครงสร้างการปกครองของชาวไทดำ มีพัฒนาการอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่การสถาปนาเมืองลอขึ้นเป็นเมืองศูนย์กลางในการตั้งถิ่นฐานครั้งแรกของกลุ่มไทดำ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของการกำหนดความสัมพันธ์และการสืบทอดสถานะ บทบาททางสังคมผ่านสังกัดในระบบสายตระกูล โดยเฉพาะสายตระกูลชนชั้นนำที่แบ่งบทบาทและสถานะกันตามจารีตประเพณี ดังคำกล่าวที่ว่า “สิงเลืองเย็ดหมอ สิงลอเย็ดท้าว” หมายความว่าผู้สืบเชื้อสายในตระกูลลอมีสถานภาพเป็นท้าวหรือผู้ปกครอง ในขณะที่ผู้ที่สืบเชื้อสายในตระกูลเลือง มีสถานภาพเป็นหมอหรือปราชญ์ผู้ประกอบพิธีและผู้นำทางองค์ความรู้ของเมือง ซึ่งจารีตทางการปกครองนี้ได้กำหนดเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาจนสิ้นสุดระบบการปกครองแบบจารีตของสิบสองจุไท กระนั้นก็ตามแม้ภายหลังระบบนี้จะได้ถูกยกเลิกไปเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม แต่ในปัจจุบันพิธีกรรมและความเชื่อในการนับถือผีบรรพบุรุษของชาวไทดำ ยังคงรักษาสถานะของกลุ่มผู้ปกครองและผู้ใต้ปกครองเหล่านี้ไว้ โดยแบ่งโครงสร้างเป็นกลุ่มผู้ท้าว (หมายถึงกลุ่มที่สืบเชื้อสายมาจากชนชั้นปกครองจารีต) และกลุ่มผู้น้อย (หมายถึงกลุ่มที่สืบเชื้อสายมาจากชนชั้นใต้ปกครองตามจารีต) โครงสร้างชนชั้นทางการปกครองของกลุ่มไทดำ ยังคงสามารถพบร่องรอยได้ทั่วไปในพิธีกรรมผีบรรพบุรุษที่ชาวไทดำไม่ว่าจะอยู่ในเวียดนาม ลาว และไทย ยังมีการแบ่งแบบแผนปฏิบัติระหว่างชนชั้นทั้งสองนี้แตกต่างกันมาจนถึงปัจจุบัน
ระบบโครงสร้างทางการปกครองในแบบจารีตของไทดำ ทำให้เกิดการแบ่งชนชั้นในสังคมไทดำออกเป็น 2 ชนชั้นคือ ชนชั้นผู้ปกครอง เรียกว่า ชนชั้น “เพี้ย-ท้าว” หรือ “ผู้ท้าว” และชนชนผู้ใต้ปกครอง เรียกโดยรวมว่า “ผู้น้อย” ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มชาวนาทั่วไป(ไท) กลุ่มชาวนาที่ต้องทำงานในสังกัด (ปวก ไป้ กวง ยก) และกลุ่มข้ารับใช้ (คนเฮือน)
ชนชั้นผู้ปกครอง (เพี้ย-ท้าว หรือ ผู้ท้าว) ประกอบด้วย สายตระกูลผู้ปกครองเมือง ซึ่งเชื่อว่าสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษสายตระกูลลอ (สิงลอ) ปัจจุบันสายตระกูลลอซึ่งปกครองเมืองต่างๆ ของไทดำ ได้แยกสาขาของตระกูลออกเป็น ตระกูลคำ ตระกูลบากคำ ตระกูลฮว่าง ตระกูลแดว(หรือเดียว หรือดาว) ตระกูลสา (หรือกาคำ หรือวีคำ) ซึ่งแต่ละกลุ่มตระกูลจะปกครองเมืองต่างๆ ในสังกัดของตน นอกจากสายตระกูลลอ (สิงลอ) จะมีฐานะเป็นเจ้าเมืองโดยตรงแล้ว ยังมีตระกูลเลือง (สิงเลือง) ที่ถูกกำหนดให้มีสถานภาพเป็นหมอหรือผู้รู้ เพื่อทำหน้าที่ประกอบพิธีกรรมให้แก่ชุมชน ทั้งในระดับหมู่บ้านและระดับเมือง ดังนั้นสายตระกูลลอ (สิงลอ) และสายตระกูลเลือง (สิงเลือง) จึงมีบทบาทร่วมกันในกลไกการปกครอง และมีสถานภาพเป็นกลุ่มชนชั้นปกครองของสังคมไทดำ
ชนชั้นใต้ปกครอง ประกอบด้วยสามกลุ่มย่อยคือ กลุ่มชาวนาทั่วไป (ไท) กลุ่มชาวนาที่ต้องทำงานในสังกัดผู้ปกครอง (ไป้ ปวก กวง ยก) และกลุ่มข้ารับใช้ติดเรือน (คนเฮือน)
ระบบการปกครองของไทดำภายใต้ความสัมพันธ์ของโครงสร้างชนชั้น ทำให้เกิดการผูกขาดบทบาทหน้าที่ตามระบบเครือญาติและสายตระกูล โดยการนับสายโลหิตจากญาติฝ่ายชายเป็นหลัก นอกจากนี้ความสัมพันธ์ทางการปกครองยังเกิดขึ้นจากกลไกเศรษฐกิจพื้นฐานในระบบการผลิตข้าวและการจัดการที่นา กลุ่มคนไทดำมีระบบที่ดิน ที่นา โดยกำหนดประเภทตามโครงสร้างของชนชั้นด้วย เช่น นาประเภทต่างๆ ของผู้ปกครองแต่ละระดับ
เครือข่ายของระบบการปกครองในแบบจารีตของกลุ่มไทดำ ได้พัฒนาขึ้นมาเป็นเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนไทดำแห่งต่างๆ เป็นระบบที่เรียกว่าเครือข่ายระบบ “บ้าน-เมือง” ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองหลักของแต่ละกลุ่มที่ทำหน้าที่เป็นแกนของเมืองแต่ละเมือง เรียกเมืองหลักนี้ว่า “เจิวเมือง” และในบรรดาเมืองหลักหรือเจิวเมืองทั้งหลาย จะมีการยอมรับเมืองที่เป็นศูนย์กลางของเจิวเมืองทั้งหมด เรียกว่า เมืองหลวง ระบบเจิวเมืองนี้ทำให้พัฒนาการทางสังคมและการปกครองของกลุ่มไทดำมีลักษณะที่เรียกเป็นชื่อในภาษาท้องถิ่นว่า สิบหกเจิวไท ภายหลังเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า สิบสองจุไท
ข้อสังเกตของระบบการปกครองภายใต้เครือข่ายความสัมพันธ์ในระบบ “บ้าน-เมือง” แบบนี้ จะไม่สามารถธำรงสถานะความเป็นศูนย์กลางของอำนาจหรือสถานะของเมืองหลวงได้ยาวนาน เนื่องจากมีความผันแปรไปตามอำนาจของเจ้าเมืองแต่ละเมืองที่สามารถแข่งขันอิทธิพลกันได้ในแต่ละช่วงสมัย จึงพบว่า เมืองหลวงของกลุ่มไทดำในดินแดนสิบสองจุไท มีการเคลื่อนย้ายศูนย์กลางอยู่หลายครั้ง นับตั้งแต่การเริ่มต้นตั้งถิ่นฐานที่เมืองลอ มาสู่เมืองแถง เมืองหม้วย เมืองสาง เมืองลา
ดังนั้น การเปลี่ยนสถานะของศูนย์กลางทางการปกครอง จึงเกิดขึ้นจากบทบาทอำนาจและอิทธิพลของเจ้าเมืองและกลุ่มเครือข่ายของเจ้าเมืองที่มีความเข้มแข็ง หากเจ้าเมืองมีความอ่อนแอ บรรดาเครือข่ายก็จะหันไปพึ่งพากับเมืองที่มีเจ้าเมืองมีอำนาจมากกว่า เจ้าเมืองที่มีอำนาจมากจึงต้องพยายามรักษาความสัมพันธ์ในเครือข่ายของกลุ่มตัวเอง และจำเป็นต้องสร้างความสัมพันธ์อันดีกับรัฐแวดล้อมที่มีอิทธิพลมากกว่า เช่น รัฐเวียดนาม รัฐล้านช้าง เพื่อความช่วยเหลือคุ้มครอง และป้องกันการรุกราน
Cam Trong 1978, และ ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และพิเชฐ สายพันธ์ 2553, 29-31)
สุมิตร ปิติพัฒน์ (2545, 10-15) ได้อธิบายระบบการปกครองแบบจารีตของชาวไทดำในช่วงสมัยดินแดนสิบสองจุไท ทำให้เข้าใจถึงรูปแบบทางการปกครองของกลุ่มไทในลักษณะรัฐจารีตที่มีลักษณะเป็นเสมือนสหพันธ์ (federation) ซึ่งผู้นำของชาวไทดำจากเมืองต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ในบริเวณระหว่างลุ่มแม่น้ำแดงและแม่น้ำดำในบริเวณประเทศเวียดนาม ได้มีการรวมตัวทางการเมืองแฃอย่างหลวม ๆ เจ้าเมืองมีอำนาจเหนือพื้นที่ในกลุ่มบ้านเมืองของตน โดยการจัดแจงที่ดินให้ผู้คนที่อาศัยอยามำประโยชน์เพื่อเลี้ยงครอบครัว เกณฑ์แรงงานและเก็บผลผลิตส่วนเกินในรูปของส่วย เพื่อรักษาอำนาจและสถานภาพของตน ที่สำคัญยิ่งก็คือต้องส่งส่วยหรือบรรณาการไปให้ผู้นำที่มีอำนาจเหนือกว่าตนตามลำดับขั้น การส่งส่วยไปให้เจ้าเมืองที่มีอำนาจเหนือกว่าจึงเป็นสัญลักษณ์ของการอ่อนน้อม ยอมรับอำนาจนั้น ซึ่งคุ้มครองและช่วยเหลือเมื่อบ้านเมืองขนาดเล็กกว่าเผชิญกับการคุกคามหรือรุกรานจากภายนอก ความสัมพันธ์ของบ้านเมืองในสิบสองจุไทจึงเป็นเสมือนระบบอุปถัมภ์ (patron-client relationship) ที่ผู้มีฐานะแตกต่างกัน มีความสัมพันธ์ในลักษณะของการแลกเปลี่ยนส่วยหรือบรรณาการกับความคุ้มครองเป็นการตอบแทน ในทำนองเดียวกันหมู่บ้านเล็ก ๆ ก็ต้องส่วยหรือผลผลิตส่วนเกิน ให้กับเมืองที่ตนเองเป็นบริวารอยู่ เพื่อความปลอดภัยของชุมชนของตน ซึ่งมีกำลังไม่เพียงพอในการป้องกันตนเองหากถูกรุกรานจากภายนอก
ระบบส่วยและบรรณาการจากชุมชนขนาดเล็กไปสู่ชุมชนขนาดใหญ่ ทำให้สุมิตร ปิติพัฒน์ (2545, 14) มีความเห็นว่า อาจเป็นการขูดรีดอย่างหนึ่งในระบบเศรษฐกิจการเมืองของสิบสองจุไท แต่ก็มีการยืดหยุ่นได้บ้างหากบ้านเมืองประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่ทำให้ผลผลิตไม่เพียงพอสำหรับการบริโภคภายในครอบครัว จนชุมชนไม่สามารถรวบรวมส่วยไปให้เจ้าเมืองที่มีอำนาจเหนือกว่าได้ ความยืดหยุ่นและการต่อรองในการขอชลอหรืองดส่งส่วยเป็นครั้งคราว ก็เป็นกลไกทางสังคมที่ช่วยลดความตึงเครียดภายในระบบการเมืองแบบอุปถัมภ์ในสิบสองจุไท การดูดซับผลผลิตส่วนเกินจากบ้านเมืองเล็ก ๆ สู่เมืองขนาดใหญ่และเมืองหลวงเป็นทอด ๆ สะท้อนให้เห็นภาพที่ผู้นำสูงสุดของสิบสองจุไทต้องส่งส่วยและบรรณาการไปให้เวียดนาม ลาว และจีน อย่าสม่ำเสมอ หากไม่ส่งบรรณาการไปให้ตามกำหนดก็จะถูกมองว่าเป็นการแข็งเมือง และอาจถูกกองทัพจากอาณาจักรเหล่านั้นโจมตีได้ การที่สิบสองจุไทถูกขนาบด้วยอำนาจจากภายนอกทั้ง 3 แห่ง ที่คอยแย่งชิงผลผลิตส่วนเกินที่มีอยู่อย่างจำกัด จึงส่งผลให้ไม่อาจพัฒนาเป็นรัฐ (state) หรืออาณาจักรที่มั่นคงได้ เห็นได้จากเหตุการณ์บ่อยครั้ง ที่เวียดนาม ลาว สยาม รวมถึงโจรฮ่อจากจีน ยกกองทัพเข้ามาโจมตีบ้านเมืองในสิบสองจุไทให้เสียหาย โดยเฉพาะในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19
โครงสร้างเครือข่ายของระบบบ้าน-เมือง ตามแบบจารีตประเพณีของชาวไทดำในสิบสองจุไท สุมิตร ปิติพัฒน์ (2545, 11) ได้อธิบายไว้ว่า บ้านเมืองถูกจัดให้มีระดับฐานะแตกต่างกันด้วย หมู่บ้านของไทดำประกอบด้วยบ้านเรือนของผู้คนที่อยู่กันเป็นกลุ่ม ๆ ใกล้ทุ่งนา มีภูเขาและแม่น้ำลำธารไหลผ่าน แต่ละหมู่บ้านมีผู้ปกครอง เรียกว่า “ต๊าวบ้าน” (หรือท้าวบ้าน) หลายหมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียงกันจะรวมกันเป็นเมืองมีผู้ปกครอง เรียกว่า “ท้าวตง” เมืองระดับเล็กนี้เรียกว่า “เมืองตง” เมื่อเมืองตงมารวมกันมีขนาดใหญ่ขึ้น 5-6 เมือง ก็จะมีเพียเมืองปกครอง เรียกเมืองระดับนี้ว่า “เมืองเพีย” เมืองเพียหลายเมืองรวมกันอยู่ภายใต้เมืองขนาดใหญ่ที่มีฐานะเป็น “เมืองเจ้าเมือง” ซึ่งมีผู้ปกครองเรียกว่า เจ้าเมืองหรืออาญาดูแล เช่น เมืองแถง (Dien Bien Phu) ประกอบด้วยเมืองเพีย 9 เมือง ในบรรดาเมืองเจ้าเมืองนี้ จะอยู่ภายใต้เมืองเจ้าฟ้าปกครองเหนือดินแดนทั้งหมดเรียกว่า เมืองหลวง ซึ่งอาจย้ายไปมาในแต่ละช่วงเวลา ขึ้นอยู่กับอำนาจของเจ้าเมืองใดที่เป็นที่ยอมรับกันมากที่สุด เจ้าเมืองของเมืองหลวงเรียกว่า อาญาเมืองหลวง หรือ เจ้าฟ้า มีหน้าที่ในการแต่งตั้งเจ้าเมืองบริวาร โดยปกติจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการปกครองในระดับท้องถิ่น (ซี่งดำเนินไปตามจารีตประเพณีของแต่ละเมือง) แต่เวลามีศึกสงครามก็จะเกณฑ์กำลังจากเมืองต่าง ๆ ไปช่วยเหลือในการสู้รบ หากเมืองใดมีปัญหาขัดแย้งภายในหรือจากภายนอกก็อาจขอความช่วยเหลือจากเมืองหลวงได้ เจ้าเมืองต่าง ๆ ต้องส่งบรรณาการและส่วยให้กับอาญาเมืองหลวงทุกปี เพื่อรวบรวมส่งต่อไปให้เวียดนาม ลาว และจีน (ยูนนาน) ซึ่งมีอำนาจและแผ่อิทธิพลเข้ามาในสิบสองจุไท เมืองที่เคยเป็นเมืองหลวงคือ เมืองแถง เมืองหม้วย เมืองสาง เมืองลา และเมืองไล
โครงสร้างในการบริหารของแต่ละเมือง นอกจากเจ้าเมืองที่ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าของแต่ละเมืองแล้ว แต่ละเมืองจะมีคณะผู้อาวุโสเป็นคณะทำงานดูแลกิจการต่าง ๆ ของเมือง เรียกว่า “เฒ่าแก่ฮางเมือง” แบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายคือ องหมอ เป็นผู้ดูแลหนังสือและเอกสารสำคัญของบ้านเมือง เป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับระเบียบประเพณีของบ้านเมือง และประกอบพิธีกรรมของเมือง องหมอมีผู้ช่วยสองคนคือ องจาง และองแง ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งมีหน้าที่ดูแลกิจการงานเมือง แบ่งออกเป็น 4 แผนกคือ องปัน องป้อง องหอหลวง และองป้องกลาง กลุ่มเฒ่าแก่ฮางเมืองยังสามารถสิทธิในการพิจารณาเลือกลูกท้าวคนใดคนหนึ่งขึ้นเป็นเจ้าฟ้าหรือเจ้าเมืองได้ด้วย ซึ่งเป็นระบบที่ช่วยคานอำนาจระหว่างตระกูลเจ้าเมืองกับตระกูลในกลุ่มเครือข่ายของชนชั้นปกครอง
ในส่วนของโครงสร้างการบริหารระดับหมู่บ้าน มีกวานบ้าน ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าหมู่บ้าน ดูแลความเรียบร้อยและทุกข์สุขของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในเขตหมู่บ้านของตน กวานบ้านมีผู้ช่วยเรียกว่า จ่าบ้าน
ระบบการปกครองแบบจารีตนี้ดำเนินอย่างต่อเนื่องในดินแดนสิบสองจุไทจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 เมื่อฝรั่งเศสเข้ามามีอิทธิพลเป็นเจ้าอาณานิคมในอินโดจีน ภัทธิยา ยิมเรวัติ (2544, 169-204) ได้บรรยายถึงผลกระทบการเปลี่ยนแปลงทางการปกครองในสิบสองจุไทไว้ว่า ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1884 ฝรั่งเศสเริ่มเข้ามามีอิทธิพลในดินแดนสิบสองจุไท นับแต่การทำสัญญา Patenôtre ซึ่งนำมาสู่การตกลงในรายละเอียดในสนธิสัญญาเทียนสิน (Traité de Tien Tsin) ในปี ค.ศ. 1885 มีผลต่อการตกลงเรื่องพรมแดนระหว่างจีนกับแคว้นตังเกี๋ย ซึ่งมีผลทำให้เมืองไทที่อยู่ในพรมแดนของตังเกี๋ยซึ่งก็คือดินแดนที่เป็นที่รู้จักกันในนามสิบสองจุไท ตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของฝรั่งเศส (ในช่วงเวลานี้มีคำอธิบายเพิ่มเติมว่า แต่ก่อนดินแดนนี้เรียกว่าเป็นดินแดน “สิบหกเจ้าไท” ครั้นเมื่อการแบ่งเขตแดนใหม่ระหว่างจีนกับฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1885 ทำให้เมืองไทบางเมืองตกอยู่ในฝั่งจีน เหลือเพียงเมืองหลัก 10 เมืองในฝั่งตังเกี๋ย แล้วจึงตั้งเพิ่มอีก 2 เมือง ทำให้เป็นที่รู้จักกันในนาม สิบสองเจ้าไทหรือสิบสองจุไทในเวลาต่อมา)
เมื่อดินแดนสิบสองจุไทอยู่ภายใต้การควบคุมของอาณานิคมฝรั่งเศส ฝรั่งเศสได้ตั้งเมืองไลเป็นศูนย์กลางใหม่ของบรรดาเมืองไทในเวียดนาม และคืบคลานไปยึดเมืองแถง (เดียนเบียนฟู) เมืองม่วก (ต่วนย้าว) และเมืองลา (เซินลา) ทำให้ฝรั่งเศสเข้าไปควบคุมเมืองสำคัญในดินแดนสิบสองจุไทได้เกือบทั้งหมด ต่อมาเจ้าเมืองไลได้ยินยอมทำสนธิสัญญาแห่งเมืองไลเจิว (Traité de Lai Châu) ทำให้ฝรั่งเศสได้ครอบครองดินแดนไทในเวียดนามทั้งหมด จากนั้นในปี ค.ศ. 1911 เป็นต้นมา ฝรั่งเศสได้เข้าจัดการแบ่งเขตปกครองโดยแบ่งเป็นเมืองต่าง ๆ คือ เขตปกครองเซินลา 6 เมือง (เมืองสาง เมืองหม้วย เมืองลา เมืองม่วก เมืองวาด และเมืองเติ๊ก) เขตปกครองไลเจิว 6 เมือง (เมืองไล เมืองสอ เมืองเจี๋ยน เมืองแถง เมืองควาย และเมืองมุน) ทั้ง 12 เมืองนี้ฝรั่งเศสยังคงให้เจ้าเมืองแต่ละเมืองทำหน้าที่ปกครองอยู่ อันเป็นที่มาของชื่อเรียกของหน่วยปกครอง 12 เมืองนี้ว่า สิบสองเจ้าไทหรือสิบสองจุไท ยังมีเมืองไทอีกสองเมืองคือ เมืองลอและเมืองวัน ตั้งเป็นเขตปกครองเอียนบ๋าย (Yên Bái) ซึ่งฝรั่งเศสเป็นผู้ปกครองเมืองเอง ดังนั้นนับแต่ ค.ศ. 1911 ดินแดนสิบสองจุไทรวมถึงเขตปกครองเอียนบ๋ายจึงอยู่ภายใต้อิทธิพลของฝรั่งเศส ฝรั่งเศสลดบาทบาทเมืองไลที่เคยตั้งให้เป็นศูนย์กลางของเมืองไทในเวียดนามก่อนหน้านั้น รวมถึงลดบทบาทบรรดาเจ้าเมืองที่เหลืออยู่ในสิบสองจุไท แล้วกำหนดให้เมืองเซินลาเป็นเมืองปกครองสำคัญของกลุ่มสิบสองจุไทคู่ขนานกับเมืองไล ในระหว่างนี้เริ่มมีขบวนการต่อต้านฝรั่งเศสโดยกลุ่มคนไทบางกลุ่มเข้าร่วมมือกับเวียดนาม จนเวียดนามสามารถประกาศเอกราชเป็นอิสระจากฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1945
อย่างไรก็ตาม ระบบการปกครองในแบบจารีตดังกล่าว โดยเฉพาะสถานภาพและบทบาทของเจ้าเมืองและบรรดาชนชั้นปกครองของชาวลาวโซ่ง/ไทดำ เมื่ออพยพโยกย้ายเข้ามาสู่ประเทศไทย ได้ถูกยกเลิกระบบการปกครองดังกล่าวไปโดยอัตโนมัติ ไม่มีระบบบ้าน-เมือง เจ้าเมืองผู้ปกครองของลาวโซ่ง/ไทดำแบบที่เคยปฏิบัติมา เนื่องจากชาวลาวโซ่งที่อพยพเข้ามาสู่ประเทศไทยตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ ได้กลายเป็นไพร่สม สังกัดกับสมุหกลาโหม ซึ่งควบคุมเมืองเพชรบุรีอยู่ในเวลานั้น และเมื่อมีการยกเลิกระบบไพร่ทาสไปในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็มีสถานนะเป็นพลเมืองอิสระ ออกไปแสวงหาที่ทำกินในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทย และอยู่ภายใต้หน่วยทางการปกครองของรัฐไทย ในระบบหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ทั้งนี้ความเชื่อถือในระบบชนชั้นปกครองของลาวโซ่งยังคงรักษาไว้ในประเพณีและการจัดวางสถานะชนชั้นที่เรียกว่า กลุ่ม ผู้น้อยและผู้ท้าว โดยมีพิธีกรรมที่แยกแยะระหว่างกลุ่มผู้น้อยกับผู้ท้าวเป็นเสมือนแนวทางรักษาโครงสร้างชนชั้นแบบจารีตไว้ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของชาวลาวโซ่งภายใต้บริบทที่อยู่ในสังคมไทย
เสื้อผ้าและการแต่งกาย
ชาวลาวโซ่งยังคงมีการแต่งกายที่แสดงอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ของตนเอง ทั้งการแต่งกายในชีวิตประจำวัน เช่น การใช้ซิ่นลายแตงโมของผู้หญิง และการแต่งกายในพิธีกรรม เช่น การใช้เสื้อฮี การใช้ซิ่นนางหาญ(หาน) การใช้ผ้าเปียว รวมถึงการไว้ทรงผมตั้งเกล้า ปัจจุบันยังพบการแต่งกายที่แสดงอัตลักษณ์ของลาวโซ่งโดยเฉพาะในคนสูงอายุ ในพิธีกรรม และในวาระพิเศษ เช่น การไปทำบุญที่วัด เทศกาลสำคัญ รวมถึงโอกาสที่ใช้ในการท่องเที่ยว ทำให้มีการประยุกต์เครื่องแต่งกายมากขึ้นจากที่เป็นในอดีตแต่ยังสามารถคงอัตลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความเป็นชาติพันธุ์ลาวโซ่งได้
การแต่งกายในชีวิตประจำวัน
เครื่องแต่งกายที่แสดงอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ลาวโซ่งที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ส่วนใหญ่มักพบในการแต่งกายของผู้หญิง ในผู้ชายมีการเปลี่ยนแปลงเครื่องแต่งกายมาก แต่ยังพอมีหลักฐานที่แสดงให้เห็นลักษณะเครื่องแต่งกายในชีวิตประจำวันประเภทต่างๆ ของลาวโซ่ง ได้ดังนี้
เครื่องแต่งกายชาย
เสื้อซอน เสื้อซอนเป็นเสื้อแขนยาวทรงกระบอก ปลายแขนปล่อยกว้างขนาดข้อมือของผู้ใส่ ผ่าหน้าตลอด ติดกระดุมเงินยอดแหลม มีลวดลายเรียงกันประมาณ 10-19 เม็ด ตัวสั้นแค่เอว ตัวเสื้อเย็บเข้ารูปทรงกระสอบ หน้าอกผายเล็กน้อย คอตั้ง ตัวเสื้อด้านข้างตอนปลายผ่าทั้งสองข้าง เย็บติดรอยด้วยเศษผ้า 2-3 ชิ้น เสื้อซอนใส่คู่กับส้วงก้อม ซึ่งเป็นกางเกงขาสั้น
ส้วงก้อม เป็นกางเกงขาสั้น ปลายแคบเรียวยาวปิดเข่า นุ่งขมวดปมที่เอว เสื้อซอนและส้วงก้อมใช้ใส่ในชีวิตประจำวัน
เครื่องแต่งกายหญิง
เสื้อก้อม ใช้เรียกเสื้อของผู้หญิง เป็นเสื้อแขนยาวทรงกระบอก ตัวเสื้อเย็บเข้าตัว คอตั้งผ่าอกตลอด ติดกระดุมเงินถี่ราว 10 เม็ด ใช้ใส่ในโอกาสออกนอกบ้าน
เสื้อแขนจิ๊ด ผ้าเปี่ยว(หรือเรียกว่าผ้าเปียว) และซิ่นลายแตงโม
ในชีวิตประจำวันผู้หญิงชาวลาวโซ่งจะใส่เสื้อแขนจิ๊ดหรือผ้าเปี่ยว เสื้อแขนจิ๊ดเป็นเสื้อแขนกุด ตัวเสื้อสั้น ผ่ากระดุมด้านหน้า ส่วนผ้าเปี่ยวเป็นผ้าคาดอก ปักลวดลายไว้ที่ชายผ้าทั้งสองด้าน ผู้หญิงชาวลาวโซ่งมักจะใช้ผ้าเปี่ยวพาดบ่าสำหรับใช้สารพัดประโยชน์ เครื่องนุ่งตอนบนของผู้หญิงชาวลาวโซ่งทั้งสามแบบ ใส่คู่กับผ้าซิ่นลายเปลือกแตงโมซึ่งประกอบด้วยตัวซิ่นและตีนซิ่น
ทรงผมปั้นเกล้า(หรือตั้งเกล้า) เป็นทรงผมที่แสดงอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของผู้หญิงชาวลาวโซ่ง ผู้หญิงลาวโซ่งจะไว้ผมยาวและมีศิลปะในการต่งทรงผมที่แตกต่างกันตามวัย ทรงผมที่ยังพบเห็นในปัจจุบันเป็นทรงผมปั้นเกล้า ซึ่งแม่เฒ่าชาวลาวโซ่งยังไว้ผมทรงนี้อยู่ ผมทรงปั้นเกล้าเป็นทรงผมที่เกล้ารวบม้วนตลบไว้กึ่งกลางศีรษะ ชายม้วนสอดเข่าไว้ข้างใน และใช้ไม้ขัดไว้ ด้านหน้าทำผมเป็นลอน
การแต่งกายในโอกาสพิเศษ
เสื้อฮี ส้วงฮี ในโอกาสพิเศษ เช่น การประกอบพิธีเสน พิธีแต่งงาน หรือในการละเล่น ชาวลาวโซ่งจะแต่งชุดใหญ่เรียกว่า เสื้อฮี ตัดเย็บด้วยผ้าฝ้ายย้อมคราม มีสองด้าน ใช้ได้ทั้งด้านในและด้านนอก เสื้อฮีของผู้ชายมีความยาวคลุมมาถึงสะโพก คอกลมติดคอ กุ๊นรอบคอด้วยผ้าไหมสีแดง แล้วเดินทับด้วยไหมสีอื่น ตรงคอเสื้อด้านข้างติดกระดุมแบบคล้องหนึ่งเม็ด ผ่าตลอดโดยเริ่มผ่าตรงกระดุมด้านซ้ายลงมา ด้านหน้าจะป้ายทบมาด้านข้าง และติดกระดุมอีกเม็ดหนึ่งที่เอวด้านข้างซึ่งเป็นด้านเดียวกับที่ติดกระดุมคอ แขนเสื้อเป็นแขนกระบอกยาวปลายแคบ จากรักแร้ถึงชายเสื้อจะปักตกแต่งด้วยเศษผ้าไหมสี และด้ายไหมสีต่างๆ พร้อมทั้งติดกระจกชิ้นเล็กๆ ตามลวดลาว ด้านข้างผ่าตั้งแต่ปลายเสื้อจนเกือบถึงเอง แล้วปักตกแต่งอย่างสวยงาม เสื้อฮีด้านนี้จะใช้ในงานมงคลต่างๆ ส่วนอีกด้านหนึ่งจะมีสีสันหลากสี โดยตกแต่งผ้าสีต่างๆ ไว้ตามชายเสื้อและขอบแขน ใช้ในโอกาสทีไม่เป็นมงคล เช่น งานพิธีศพ เสื้อฮีนี้จะใส่กับกางเกงขายาวสีดำขาแคบเรียกว่า “ส้วงฮี”
เสื้อฮีของฝ่ายหญิงก็เช้นกัน มีสองด้าน ใส่ได้ทั้งสองด้านตามโอกาสเช่นเดียวกับฝ่ายชาย ตัวเสื้อของผู้หญิงจะมีขนาดใหญ่และยาวกว่าของผู้ชาย คอแหลมลบึก ใช้สวมหัว ไม่ผ่าหน้า แขนเสื้อเย็บแขนในตัว แขนแคบทรงกระบอก เสื้อฮีของผู้หญิงจะใส่กับผ้าซิ่นลายเปลือกแตงโม ในพิธีเสนเรือน ผู้หญิงชาวลาวโซ่งที่เป็นสะใภ้ของเรือนจะต้องใช้เสื้อฮีคาดทับตัวเสื้อด้านใน
ในอดีตชาวไทดำนิยมทอผ้าและเย็บเครื่องแต่งกายไว้ใช้เอง ซึ่งใช้ทั้งผ้าฝ้ายและผ้าไหม แต่ในปัจจุบัน ความนิยมในการซื้อเครื่องแต่งกายสำเร็จรูปจากตลาดมีมากขึ้น เครื่องแต่งกายตามประเพณีจึงถูกนำมาใช้ในบริบทของงานเทศกาล ประเพณี วันสำคัญ และใช้เป็นจุดขายทางการท่องเที่ยว รวมถึงเริ่มมีการผลิตสินค้าเครื่องแต่งกายตามประเพณีในฐานะที่เป็นสินค้าที่ระลึกทางชาติพันธุ์
เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายของชาวไทดำที่มีการประดิษฐ์อย่างเป็นพิเศษ ปรากฏในเสื้อฮี หรือเสื้อยาวที่ใช้ใส่ในการประกอบพิธีกรรม และผ้าเปียวหรือผ้าพันศีรษะ ลักษณะของการประดิษฐ์ เป็นการนำเศษผ้าชิ้นเล็กชิ้นน้อยมาเย็บซ้อนต่อกันเป็นลวดลายหรือเรียกว่าดอกในแบบต่าง ๆ มีทั้งแบบดั้งเดิมและแบบประยุกต์
ลวดลายแบบดั้งเดิม เรียกว่า ลายขอกุด ใช้ปักในผ้าเปียว และเสื้อฮีของผู้ชาย ลักษณะของลายขอกุด จะทำเป็นขดวงกลมมี 8 ขด ตรงกลางจะเป็นเหลี่ยม
ลายปักผ้า ด้วยการนำผ้าชิ้นเล็ก ๆ ตัดแล้วนำมาเย็บต่อกันให้เป็นลวดลาย เช่น ลายดอกจัน ลายดอกแปด ลายดอกเต้า ลายบานจ้าย
ลวดลายแบบประยุกต์ เป็นการนำลายดั้งเดิมต่าง ๆ มาสร้างสรรค์ต่อเติให้กลายเป็นลายใหม่ ๆ เช่น ลายดอกจันล้อมดาว เป็นการประยุกต์จากลายดอกจัน รวมกับลายบานจ้าย นำมาผสมผสานกันแล้วติดกระจกเล็ก ๆ ไว้ตรงกลาง
ลายขาดอกบัวประยุกต์ เป็นการประยุกต์มาจากลายขาดอกบัวและลายดอกเต้า ด้านนอกเป็นการต่อลายจากลายบานจ้าย นำมาผสมผสานกันและติดกระจกเล็ก ๆ ไว้ตรงกลาง
ลายดอกมะลิ มีลักษณะเหมือนลายดอกแปด แต่มีการใช้ลายบานจ้ายและการติดกระจกมาผสม
ลายดอกไม้อื่น ๆ ที่สร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ เช่น ลายดอกมะละกอ ลายดอกทานตะวัน เป็นต้น
ที่อยู่อาศัย
การตั้งบ้านเรือนในอดีตของชาวไทดำเป็นไปตามแบบแผนประเพณี ภายหลังจากการแต่งงาน จะอาศัยอยู่ในเรือนของตระกูลที่เป็นญาติทางฝ่ายพ่อหรือฝ่ายสามี ซึ่งเรียกกันว่าเป็นอ้ายน้องด้ำปู่ หรืออ้ายน้องด้ำเดียว หรือ้ายน้องร่วมปู่ อ้ายน้อยร่วมด้ำ ดังนั้นเรือนที่อยู่อาศัยของชาวไทดำจะมีลักษณะที่สามารถทำให้เป็นเรือนขยายออกไปได้ บางเรือนสามารถขยายได้เป็นเรือนยาว และมีจำนวนห้องตามครอบครัวของสมาชิกฝ่ายชายในเรือนนั้น ซึ่งภายหลังต่อมาบางครอบครัวอาจจะแยกตัวออกมาตั้งเรือนใหม่ได้ ดังนั้นในเรือนหนึ่ง ๆ จึงประกอบด้วยญาติตั้งแต่ ปู่ย่า พ่อแม่ ตัวเอง ลูก ซึ่งนับได้อย่างน้อยถึง 4 รุ่น
ในปัจจุบันพบว่า มีการเปลี่ยนแปลงของการตั้งเรือน โดยมีความนิยมแยกออกไปอาศัยอยู่เป็นอิสระนอกจากการอยู่กับพ่อแม่ของตนเองมากขึ้น และรูปแบบของการสร้างเรือนก็เป็นแบบสมัยใหม่ เรือนลาวโซ่งหรือไทดำที่อยู่ในประเทศไทย ปัจจุบันไม่มีการสร้างเรือนที่อยู่อาศัยในแบบประเพณีดั้งเดิมแล้ว รูปทรงของเรือนเปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและความนิยมรูปแบบสิ่งปลูกสร้าง แต่มีข้อสังเกตว่าชาวลาวโซ่งในประเทศไทยส่วนใหญ่ยกคงรักษาพื้นที่สำคัญที่เรียกว่า กะล้อห่อง เป็นพื้นที่สำหรับที่อยู่ของผีบรรพบุรุษในเรือนอยู่ด้วย
แบบแผนการสร้างบ้านเรือน ลักษณะบ้านเรือน
ชาวลาวโซ่งเรียกบ้านว่า “เฮือน” ลักษณะบ้านหรือเฮือนแบบลาวโซ่งดั้งเดิมเป็นบ้านทรงหลังเต่า ทำด้วยไม้ไผ่หรือหวาย หลังคาบ้านใช้หญ้าคาแห้งมาเย็บให้เป็นตับ แล้วเอาไปมุง ใช้เชือกหลายเป็นเครื่องผูกรัด ยอดบนหลังคาเรียกว่า “ขอกุด” มีลักษณะคล้ายเขาควาย เพราะเชื่อว่าควายเป็นสัตว์ที่มีพระคุณกับมนุษย์ ทำให้ชาวลาวโซ่งมีอยู่มีกิน หลังคาบ้านจะยาวลงมาถึงพื้นซึ่งปูด้วยฟากสับจากไม้รวก ฝาบ้านก็ใช้ฟากสับเช่นเดียวกัน พื้นบ้านจะยกสูง ทำให้มีใต้ถุนบ้านซึ่งใช้ประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิต (วิลาวัณย์ ปานทอง, วรวรรธน์ ศรียาภัย, กรรณิการ์ รักษา, ภูเนตุ จันทร์ชิต, และแสน ไชยบุญ, 2551) อาจารย์ถนอม คงยิ้มละมัย (15 มิถุนายน 2552) ได้ให้ข้อมูลว่า “คนโซ่งจะปลูกบ้านตามตะวัน จะไม่ขวาง เพราะไม่ว่าเจอพายุกี่ปีบ้านก็ไม่พัง แต่ถ้าพังก็ต้องซ่อมมันเป็นธรรมชาติ การซ่อมบ้านเค้าเรียกว่า การหยดเฮือน คือการซ่อมแซม เป็นการเอาหญ้าคามาซุก ๆ ไว้ ส่วนที่เป็นโค้ง ๆ เวลาไฟไหม้ก็จะดีดลอยไปที่อื่น ไหม้บ้านคนอื่น ที่บ้านจะมีไม้ล้วงสาว จะมีลักษณะคล้ายไม้ตะพดมีหมุดตอกอยู่ ใช้เพื่อเรียกสาวลงมาคุยด้วยตอนดึก บ้านไทยทรงดำแบบดั้งเดิม ฝาบ้านจะมีลักษณะอีหลุกขุกขุย คือฝาบ้านจะเป็นไม้ไผ่สานดูยาว ๆ สั้น ๆ ต่างกันนิดหน่อย ไม่ได้สานจากไม้ไผ่ที่มีความยาวเท่ากันทุกอัน เดี๋ยวนี้บ้านจะเป็นปูนหมดแล้ว หัวเส็งจะเป็นไม้ขัดกัน ถ้าบ้านที่ดูดีหน่อยก็จะตัดตกแต่งให้ดูสวยงาม การสร้างบ้านแบบไทยทรงดำนั้นต้องซ่อมแซมบ่อย คนจะไม่ค่อยมีเวลา บ้านสมัยก่อนฝาบ้านจะเป็นไม้เกะ ๆ กะ ๆ ซึ่งบ้านเศรษฐีจะมีฝาบ้าน ใต้ถุนสูง ไม้จะเป็นไม้ไผ่”
ปัจจุบัน ไม่ปรากฏบ้านชาวลาวโซ่งแบบดั้งเดิมที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย ชาวลาวโซ่งอาศัยอยู่ในบ้านเรือนที่มีลักษณะเหมือนคนไทยทั่วไป แต่จะมีบ้านของชาวลาวโซ่งแบบดั้งเดิมหรือประยุกต์ที่จำลองไว้ตามชุมชนลาวโซ่งแห่งต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมลาวโซ่ง หรือเป็นพิพิธภัณฑ์ชาวลาวโซ่ง เป็นต้น
บนเรือนของชาวลาวโซ่ง/ไทดำ มีพื้นที่พิเศษสำหรับเป็นที่อยู่ของผีด้ำหรือผีบรรพชน ที่เชิญมาอยู่บนเรือนเพื่อคอยคุ้มครองปกปักรักษาดูแลลูกหลานที่มีชีวิตอยู่ ห้องดังกล่าวเรียกว่า “กะล่อหอง”[1] โดยทั่วไป กะล่อหองจะอยู่ทางขวามือเมื่อหันหน้าออกไปทางหน้าของตัวเรือน และมีข้อห้ามไม่ให้บันไดขึ้นเรือนสร้างขึ้นตรงมายังหน้ากะล่อหอง ดังนั้นเมื่อกะล้อห่องอยู่ทางขวามือของเรือน บันไดขึ้นเรือจะอยู่ทางแนวซ้ายมือของเรือน กะล้อห่องจะถือว่าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์บนเรือนเพราะเป็นที่อยู่ของผีด้ำ ห้ามไม่ให้เข้าไปเล่นหากไม่มีพิธีกรรม และไม่ให้คนเข้าไปอยู่อาศัย ในกะล้อห่องจะมีสิ่งของสำคัญ 3 สิ่งวางตั้งอยู่ ได้แก่ 1. ถ้วยก้อ 2. บั้งน้ำโตง 3. ไต๊
โครงสร้างบ้านเรือนและการแบ่งพื้นที่ใช้ประโยชน์
เรือนของชาวไทดำมีโครงสร้างเป็นเรือนยกพื้น มีใต้ถุนเรือน ซึ่งมักจะปล่อยให้เป็นที่โล่ง ใช้สำหรับเลี้ยงสัตว์และกิจกรรมใต้ถุนบ้าน ตามปกติชาวไทดำมักไม่ใช้ใต้ถุนบ้านสำหรับกิจกรรมในชีวิตประจำวัน แต่เรือนในปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงและเพิ่มพื้นที่การใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันมากขึ้น ใต้ถุนจึงมีการดัดแปลงสำหรับทำกิจกรรมเพิ่มขึ้นด้วย
บนเรือนแบบดั้งเดิม มีพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับเป็นที่ตั้งของหิ้งผีบรรพชน เรียกว่ากะล้อห่อง เป็นพื้นที่ต้องห้ามสำหรับบุคคลภายนอก แม้แต่สมาชิกในครอบครัวหากไม่มีความจำเป็นหรือหากไม่มีพิธีกรรมก็จะไม่เข้าไปใช้พื้นที่ในห้องนี้
บนตัวเรือนจะมีลักษณะเป็นโถง ส่วนที่เป็นที่นอนจะถูกกั้นเรียงไว้ทางแนวด้านซ้ายหรือขวาของบ้าน โดยมีห้องนอนของเจ้าของบ้านต่อจากห้องผีเรือน ลูกสาวจะนอนในส่วนที่อยู่ด้านในสุดของเรือน บนเรือนจะมีส่วนที่เป็นครัวไฟ ในเรือนดั้งเดิมของชาวไทดำซึ่งยังพบได้บ้างในประเทศเวียดนามหรือประเทศลาว ครัวไฟอาจจะมีอยู่ 2 แห่ง แห่งหนึ่งเป็นครัวไฟในส่วนที่อยู่ท้ายเรือน ซึ่งเป็นบริเวณทำครัวและซักล้าง อีกแห่งจะเป็นครัวไฟตั้งอยู่กลางเรือน ซึ่งเอาไว้สำหรับให้ความอบอุ่นในฤดูหนาว และการอุ่นอาหารเล็ก ๆ น้อย ๆ ในตัวเรือน
ตามประเพณี ชาวไทดำจะแบ่งพื้นที่การใช้สอยของตัวเรือนตามบทบาทและสถานภาพทางเพศ โดยให้พื้นที่ส่วนหน้าเรือนเป็นพื้นที่และการใช้งานของเพศชายเป็นส่วนใหญ่ พื้นที่ส่วนท้ายเรือนเป็นพื้นที่ของเพศหญิงเป็นหลัก
[1] บางเอกสารสะกดว่า “กะล้อห่อง”
อาหารพื้นฐานของชาวไทดำสัมพันธ์อยู่กับระบบการผลิตแบบเกษตรกรรม การทำนา และสภาพแวดล้อมที่อยู่ตามลำห้วยและทุ่งนาและชายป่า ดังนั้น อาหารประเภทปลา ข้าว หน่อไม้ จึงเป็นอาหารสำคัญในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้อาหารยังสัมพันธ์กับความเชื่อและพิธกรรมด้วย เช่น อาหารที่จัดทำในโอกาสพิเศษทางเทศกาลหรือพิธีกรรม ได้แก่ ข้าวเม่า ซึ่งทำเฉพาะเทศกาลรับข้าวใหม่ ส่วนใหญ่ชาวบ้านจำนำข้าวเม่ามาใช้ในพิธีปาดตงข้าวใหม่ รวมทั้งการแสดงรื่นเริงเมื่อข้าวใหม่รับการเก็บเกี่ยว จะมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไปช่วยกันตำข้าวเม่า พร้อมกับการร้องรำทำเพลง
ชาวไทดำจะนิยมอาหารที่ปรุงสุก ผักที่รับประทานมักจะเป็นผักสด หากมีการปรุงเนื้อสัตว์หรือผัก นิยมทำการปรุงให้มีรสเปรี้ยว เช่น หมูจุ๊บ ปลาส้ม ผักจุ๊บ อาหารแปรรูปของชาวไทดำ ได้แก่ การทำปลาส้ม ปลาร้า ผักดอง หน่อไม้ส้ม
ข้าวเม่า คือข้าวใหม่ ที่เพิ่งเก็บเกี่ยวเมื่อเลยระยะเวลาน้ำนมของข้าว ข้างในเปลือกข้าวเริ่มแข็งตัวเป็นเมล็ด มีสีขาว ห่อหุ้มด้วยเยื่อบาง ๆ สีเขียว ซึ่งเยื่อสีเขียวนี้มีรสชาดหอมหวานเนื่องจากเป็นแหล่งที่รวมธาตุอาหารและวิตามินหลายชนิด ข้าวเม่าโดยทั่วไปนิยมคลุกกับมะพร้าวและน้ำตาล ในปัจจุบันมีการดัดแปลงเป็นข้าวเม่าทรงเครื่อง ข้าวเม่าทอด ข้าวเม่าอบกรอบ และทำในเชิงพาณิชย์มากขึ้น
ผักจุ๊บ เป็นอาหารพื้นบ้านไทดำ นิยมทำกันในชีวิตประจำวันและในพิธีเสนเรือน
อาหารพิเศษทำในพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น พิธีปาดตง พิธีเสนประเภทต่าง ๆ เพื่อบูชาผีแถนและผีบรรพบุรุษ มักจะทำเป็นอาหารดั้งเดิม ได้แก่ ผักจุ๊บ แกงหน่อไม้ส้ม เป็นต้น หากเป็นอาหารสำหรับการจัดเลี้ยงให้กับแขกที่มาร่วมงาน ก็จะเป็นอาหารปรุงเนื้อไก่ หมู เช่น ลาบ หรือ เลือดหมูที่ปล่อยให้เย็นเป็นก้อน ที่เรียกว่า เลือดต้า
เทศกาลปีใหม่-กินเจียง
เป็นเทศกาลเฉลิมฉลองการขึ้นปีใหม่ของชาวไทดำ ในช่วงเวลานี้ชาวไทดำในเวียดนามและลาวนิยมทำพิธีเสนเฮือนพร้อมกันไปด้วย บางหมู่บ้านจะไม่ทำพร้อมกับวันปีใหม่ของเวียดนาม (กรณีในเวียดนามวันขึ้นปีใหม่ตรงกับวันเต๊ดหรือช่วงเวลาเดียวกับเทศกาลตรุษจีน) แต่จะทำกันในเดือน 5 ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่ว่างจากฤดูทำนา เช่น ที่เมืองลอง ปฏิทินการทำงานของชาวบ้านคือ เดือน 4 จะตำกล้า เดือน 5 เสนเฮือน เดือน 6 ดำนา เดือน 9 เกี่ยวข้าว เกี่ยวเสร็จก็จะปลูกข้าวโพดต่อจนถึงเดือน 12 นอกจากการฉลองในช่วงปีใหม่แล้ว ที่เมืองลอยังมีการฉลองในวันที่ 14 เดือน 7 อีกด้วย ซึ่งในงานเดือน 7 นี้ มีการทำขนมพิเศษทำจากแป้ง บางทีก็เรียกว่า แป้งสิบสี่ ในบางหม่บ้านโดยเฉพาะที่เดียนเบียนฟู แม้จะมีงานกินเลี้ยงที่ตรงกับวันตรุษของเวียดนามแล้ว ก็ยังคงมีการจัดงาน กินเบือนห้า (กินเดือนห้า) อีกด้วย ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับการเฉลิมฉลองชัยชนะของสงครามเดียนเบียนฟูอีกด้วย
ในการกินเลี้ยงหรือเทศกาลต่าง ๆ ชาวไทดำจะทำอาหารต่าง ๆ สำหรับงานเลี้ยง จำฆ่าไก่ หมู กินเหล้ากันสนุกสนาน และทำอาหารตามประเพณี เช่น ลาบ เนื้อจุ๊บ ผักจุ๊บ เนื้อปิ้ง ปลาปิ้ง ต้มไก่ ก้อยปลา หากเป็นชาวไทดำในประเทศเวียดนามจะมีการทำขนมเวียดนามที่เรียกว่า แบ๋งห์จึง ซึ่งเป็นขนมในเทศกาลตรุษตามที่ได้รับอิทธิพลจากเวียดนามมาใช้ในเทศกาลกินเจียงปีใหม่ของชาวไทดำอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการดื่มเหล้า เหล้าของชาวไทดำมี เหล้าส่า ซึ่งจะหมักไว้ในไห เวลาดื่มต้องเอาไม้ไผ่เล็กมาทำเป็นหลอดดูด เหล้านี้ผู้หญิงในครอบครัวจะต้องทำเป็น นอกจากเหล้าส่า ยังมี เหล้าเสี่ยว (คำว่าเสี่ยวเป็นคำในภาษาเวียดนามแปลว่าเหล้า - เป็นการใช้คำซ้อน) ซึ่งเป็นเหล้าขาว หรือเหล้าอีกประเภทหนึ่งคือ เหล้าหวาน เป็นเหล้าหมักข้าวเหนียว
นอกจากการกินอาหารร่วมกันแล้ว ในช่วงเวลาของเทศกาลจะมีการละเล่นที่เรียกว่า ทอดมะก๋อน ระหว่างหญิงชาย ส่วนมากการทอดมะก๋อนจะเล่นกันมากในตอนกินเจียง เมื่อหมดฤดูการเล่นแล้ว ก็จะโยนมะก๋อนขึ้นฟ้าไป จะไม่เก็บเอาไว้ ถือว่าเป็นการส่งลูกมะก๋อนขึ้นไปเมืองฟ้า
ปัจจุบันชาวไทดำในประเทศไทย นิยมจัดเทศกาลประเพณีประจำปีของชาวไทดำ เป็นประเพณีวัฒนธรรมไทดำประจำปี โดยแต่ละชุมชนและแต่ละหมู่บ้านจะมีการกำหนดงานประเพณีประจำปีของตนขึ้น ซึ่งจะอยู่ในระหว่างช่วงปลายเดือนมีนาคม – ต้นเดือนพฤษภาคม บางแห่งจะอาศัยช่วงเวลาเทศกาลสงกรานต์ร่วมกับการจัดงานประเพณีประจำปี โดยถือว่าเป็นช่วงปีใหม่ที่เป็นการผสมผสานวัฒนธรรมปีใหม่ดั้งเดิมแบบไทยประเพณีและปีใหม่ดั้งเดิมแบบประเพณีกินเจียงของไทดำเข้าด้วยกัน ชาวไทดำในประเทศไทยเมื่อชุมชนใดกำหนดวันจัดงานแล้ว ก็จะมีการเชิญชุมชนไทดำจากที่ต่าง ๆ ในประเทศไทยเข้าร่วมงานประเพณีด้วย การกำหนดวันจัดงานของแต่ละชุมชนจึงมักจะกำหนดวันจัดงานที่ไม่ตรงกัน ชาวไทดำในประเทศไทยจะมีการประสานงานกันระหว่างชุมชนต่าง ๆ เพื่อเลือกวันจัดงานประจำปีของแต่ละชุมชน และในปัจจุบันนอกจากจะมีชาวไทดำในประเทศไทยเข้าร่วมงานกันแล้ว บางชุมชนยังมีการเชื้อเชิญชาวไทดำจากต่างประเทศ เช่น ลาว เวียดนาม และไทดำที่อยู่ทวีปต่าง ๆ ได้มีโอกาสมาร่วมงานประเพณีประจำปีนี้ด้วย
การตั้งครรภ์และคลอดบุตร
ผู้หญิงไทดำสามารถมีลูกกับเจ้าบ่าวได้ตั้งแต่เมื่อเจ้าบ่าวได้ผ่านการอยู่เขยที่บ้านของเจ้าสาว ในระหว่างนี้ผู้ที่เป็นภรรยายังอยู่ที่บ้านเดิมของพ่อแม่ของตนเอง หากทราบว่าฝ่ายหญิงกำลังตั้งครรภ์จะไม่ได้รับอนุญาตให้กลับไปอยู่ที่บ้านของสามี จนกว่าจะคลอดลูกเสร็จ หรือจนกว่าการอยู่เขยจะครบกำหนดลง แต่หากฝ่ายหญิงเกิดการตั้งครรภ์ภายหลังจากการอยู่เขย และได้ย้ายไปเป็นสะใภ้เข้าไปอยู่ที่เรือนของสามีแล้ว ช่วงเวลาก่อนครบกำหนดคลอด แม่ของฝ่ายหญิงสามารถเข้าไปดูแลเพื่อช่วยเหลือในการทำคลอดลูกสาวของตนที่เรือนของลูกเขยได้
เด็กแรกเกิดจะนำรกและสายสะดือไปฝังหรือแขวนไว้ตามต้นไม้ แม่ของเด็กจะมีระยะเวลาอยู่ไฟ มีข้อห้ามไม่ให้กินปลาตะเพียน เนื้อควายเผือก และเนื้อสุนัข
หลังจากทารกมีชีวิตรอดมาได้ระยะหนึ่ง อาจจะประมาณอย่างน้อย 1 เดือน จะมีการทำขวัญลูก หากเป็นเด็กหญิงมีการนำเส้นด้ายมาร่วมทำพิธี เพื่อคาดหวังว่าโตขึ้นจะได้ทอผ้าเป็น หากเป็นผู้ชายจะนำหน้าไม้ เครื่องมือทำมาหากินมาเข้าพิธี เพื่อคาดหวังว่าโตขึ้นจะได้ทำมาหากินแข็งขัน หลังจากครอบครัวรับขวัญเด็กเป็นการภายในแล้ว จะเชิญมดมาทำพิธีทำขวัญให้เด็กอีกครั้งหนึ่ง ในพิธีนี้มีการตั้งชื่อให้กับเด็ก มดจะทำการ “ขับเสนต้อนเขยเอาจื่อ(ชื่อ)” พีนี้จะมีญาติทางฝ่ายแม่ของเด็กเข้ามาร่วมพิธีด้วย พร้อมกับนำข้าวของมารับขวัญเด็กและมาช่วยงาน ญาติของฝ่ายแม่ของเด็ก จะเตรียมชะลอมใส่พัดหรือหน้าไม้มาให้เด็ก และเตรียม “ไต้” เป็นเครื่องสานขนาดเล็ก แทนขวัญของเด็กสำหรับนำไปผูกไว้ในกะลอห่อง ใกล้หิ้งผีบรรพชนเพื่อให้ผีเรือนคอยช่วยคุ้มครองดูแล พิธีในการตั้งชื่อเด็กจึงแสดงถึงการรับรองสมาชิกใหม่ที่กลายเป็นสายสัมพันธ์ทางเครือญาติระหว่างญาติทางฝ่ายแม่ และญาติทางฝ่ายพ่อให้ผูกพันเป็นเครือญาติกัน
พิธีเสนฆ่าเกือด เป็นพิธีฆ่าแม่ซื้อของเด็กแรกเกิด ชาวลาวโซ่งมีความเชื่อว่า แม่ซื้อเป็นผีติดตามเด็กแรกเกิดมา และจะมาเอาชีวิตเด็กคืนไป จึงต้องทำพิธีฆ่าแม่ซื้อเพื่อเด็กจะได้มีสุขภาพแข็งแรง
การสู่ขวัญเด็กอ่อน เด็กที่เกิดมาเป็นสมาชิกใหม่ของชาวไทดำ จะทำพิธีสู่ขวัญเพื่อทำให้เด็กมีความแข็งแรง เป็นการก้าวผ่านเข้าสู่ชีวิตที่จะเกิดขึ้นใหม่และดำเนินต่อไปอย่างเป็นปกติสุขในสังคม การก้าวเข้าสู่ชีวิตใหม่ของวัยทารก เมื่อคลอดออกมาแล้วแม่จะทำพิธีสู่ขวัญให้ลูกน้อย ของที่ต้องเตรียมคือ ไก่ 1 ตัว น้ำต้ม 1 ถ้วย ข้าวเหนียวนึ่ง เหล้า 1 ขวด เสื้อตัวเล็กให้ลูกน้อยใส่ เมื่อผู้ทำพิธีทำพิธีเสร็จแล้วก็จะเรียกลูกให้ตื่น เอากระบอกไม้ไผ่ที่ใช้สำหรับใส่น้ำเรียกว่า บั้งน้ำ มากระทุ้งบนเรือน แล้วพูดว่า
“ตื่นไปไฮ่ล้อมอา
ตื่นไปนาล้อมเอื้อย
ตื่นขึ้นเย้อวสูง...แหละน้อ” (เย้อว = ใหญ่)
เมื่อพูดจบแล้วก็กระแทกบั้งนั้นให้เสียงดัง ถ้าเป็นลูกหญิงก็จะเอาดอกฝ้ายปั่นให้เป็นเส้นด้าย แล้วสอดเข้าไประหว่างนิ้ว มัดนิ้วเอาไว้ เพื่อว่าเมื่อเด็กเติบโตขึ้นจะได้ทอผ้าเป็น เพราะการทอผ้าเป็นคุณสมบัติของลูกหญิงชาวไทดำ ส่วนลูกชายนั้นก็จะเอากง (หน้าไม้) อันน้อยๆ ใส่มือไว้
การแต่งงาน
พิธีเกี่ยวกับการแต่งงานของไทดำ เป็นพิธีกรรมที่มีขั้นตอนและมีความสลับซับซ้อนมาก มีความเกี่ยวโยงกับผีบรรพชน เนื่องจากในการแต่งงานเมื่อผู้หญิงแต่งงานแล้วจะต้องย้ายผีจากตระกูลเดิม มาเคารพผีตามตระกูลของสามี จึงต้องมีพิธีลาผีตระกูลเดิม และบอกผีเพื่อให้อนุญาตเข้ามาอยู่กับตระกูลของสามีด้วย
เมื่อหนุ่มสาวชอบพอกัน ฝ่ายชายจะส่งตัวแทนทาบทามสู่ขอผู้หญิงจากพ่อแม่ของฝ่ายหญิง เมื่อตกลงกันได้แล้วก็จะนัดหมายกำหนดวันทำพิธีส่งเขย ในวันส่งเขยเจ้าบ่าวและญาติฝ่ายชายจะเดินทางไปที่บ้านของเจ้าสาว ทางบ้านของเจ้าสาวจะเตรียมงานเลี้ยงไว้ต้อนรับ ในการไปบ้านเจ้าสาวนี้ไทดำเรียกว่า “ส่งเขย” ฝ่ายเจ้าบ่าวต้องเตรียมจำสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นมายังบ้านเจ้าสาว เช่น เสื้อผ้า ที่นอน ผ้าห่ม มุ่ง มีดพร้า ของใช้ส่วนตัว มายังบ้านเจ้าสาว ซึ่งเป็นขั้นตอนที่เจ้าบ่าวต้องอยู่บ้านเจ้าสาวเพื่อช่วยทำงานระยะเวลาหนึ่ง อาจจะยาวนานเป็น เดือนหรือเป็นปีก็ได้ ในกรณีที่เป็นตระกูลผู้ท้าวเจ้าบ่าวอาจจะต้องอยู่นานถึง 2-3 ปี ช่วงเวลาที่เจ้าบ่าวต้องอยู่บ้านเจ้าสาวนี้ ยังไม่นับว่าเป็นสามีภรรยากัน เพราะเจ้าบ่าวยังต้องแยกนอนกับเจ้าสาว เจ้าบ่าวจะถูกเรียกว่าเป็น “เขยกวาน”
หลังจากที่เขยกวานได้อยู่ที่บ้านเจ้าสาวตามระยะเวลาที่ตกลงกันไว้จนเป็นที่พอใจกันแล้ว จะประกอบพิธีแต่งงานอย่างเป็นทางการเรียกว่า “กินดอง” ครอบครัวของฝ่ายชายจะนำสิ่งของจำนวนมากมาให้เป็นของกำนัลแก่ครอบครัวของเจ้าสาว เช่น เหล้า หมู ไก่ ปลา หมาก พลู ยาสูบ ฯลฯ พร้อมกับของขวัญแก่เจ้าสาว เช่น กำไล ตุ้มหู ปิ่นปักผม เครื่องประดับต่าง ๆ ฯลฯ เมื่อญาติทั้งสองฝ่ายต่างรับรองพิธีกินดองแล้ว ก็จะไปจัดห้องให้คู่สามีภรรยา ฝ่ายหญิงจะมาทำพิธีตั้งเกล้าผม ซึ่งถือว่าตนมีสามีแล้ว ฝ่ายชายจะอยู่ที่บ้านของฝ่ายหญิงต่อไปอีกระยะหนึ่ง ช่วงเวลานี้เรียกว่าการ “อยู่เขย”
หลังจากระยะเวลาอยู่เขยของฝ่ายชายที่อยู่บ้านฝ่ายหญิงผ่านไป ซึ่งบางครั้งกินเวลายาวนานถึงสิบปี ทางญาติพี่น้องของฝ่ายชายจะเตรียมของขวัญไปให้กับครอบครัวของฝ่ายหญิง เพื่อรับลูกสะใภ้กลับมาอยู่ที่บ้านของสามี ก่อนที่สะใภ้จะย้ายบ้านไปอยู่กับสามีต้องทำพิธีบอกลาผีเรือนเดิมของตนเองให้ทราบ เพื่อที่ต่อไปสะใภ้จะต้องย้ายไปเข้ากับผีเรือนของสามี เมื่อสะใภ้ย้ายมาอยู่ที่เรือนของสามีและทำพิธีบอกผีเรือนสามีเพื่อรับลูกสะใภ้เข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ของตระกูลแล้ว ถือว่าฐานะของสะใภ้ได้กลายเป็นคนในตระกูลของสามีอย่างสมบูรณ์
ความตาย และการทำศพ
เมื่อมีคนตายในหมู่บ้าน ชาวบ้านทุกครัวเรือนจะให้ความสำคัญกับการตายมาก จะหยุดงานการทุกอย่างและมาช่วยกันจัดการงานศพ ในวันแรกที่มีคนตาย ญาติพี่น้องจะอาบน้ำแต่งตัวให้ศพ โดยให้ใส่เสื้อด้านที่มีสีสัน แล้วยกศพวางบนแคร่ไม้ไผ่ที่ทำขึ้น นำไปวางไว้ใต้ขื่อบ้านตามยาว รองและคลุมศพด้วยผ้าไหมหรือผ้าฝ้ายที่แขวนไว้ ปลายเท้าศพจะวางเครื่องเซ่นไหว้ ในสมัยก่อนตอนกลางคืนจะก่อกองไฟไว้ข้างบนบ้านติดกับห้องผี เป็นสัญลักษณ์ของคนตายและปล่อยไฟลุกทั้งคืน ในวันรุ่งขึ้นหมอพิธีจะทำพิธีบอกทางให้กับผู้ตาย เพื่อให้วิญญาณกลับไปบ้านเกิดเมืองนอน หลังจากนั้นจะหามศพไปเผาที่ป่าช้า โดยให้ลูกชายผู้ตายถือธงนำหน้า เมื่อถึงป่าช้าหมอพิธีจะพิธีเสี่ยงทายเพื่อขอซื้อที่ดินสำหรับเผาศพ เมื่อได้ที่แล้วจะช่วยกันถางหญ้าพรวนดินให้เป็นรูปสี่เหลี่ยม แล้วปักเสา 4 เสา วางแคร่บนปลายเสา กองฟืนไว้ใต้เสา หมอพิธีจะจุดไฟเป็นคนแรก วันรุ่งขึ้นญาติจะเก็บกระดูกและทำพิธีส่งผี คือส่งเสื้อผ้าเครื่องใช้ไปให้ผี ตั้งเสาธง เสาหลวง เรือนแก้วสำหรับเป็นบ้านเรือนให้ผู้ตายได้อยู่เมืองฟ้า เป็นต้น หลังจากพิธีส่งผีแล้ว ต้องหาวันที่ทำพิธีแผ้วเรือน เพื่อล้างเรือนสะอาดเสียก่อนที่จะอยู่อาศัยกันต่อไปโดยปราศจากทุกข์โศก เพราะเชื่อว่าบ้านที่มีคนตายเป็นเรือนไม่สะอาดบริสุทธิ์ (ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม จังหวัดนครปฐม 2551, อ้างต่อจากสมทรง บุรุษพัฒน์ 2554, 82)
การสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์และบรรพบุรุษ
พิธีเสนเฮือน
เมื่อพ่อแม่เสียชีวิต ชาวลาวโซ่งจะเชิญมาอยู่บนแท่นบูชาที่มุมหนึ่งของห้องในบ้าน เรียกว่า “กะล่อหอง” แปลว่า “มุมห้อง” ครอบครัวของชาวลาวโซ่งจะมีสมุดจดรายชื่อบรรพบุรุษในผีเรือนเดียวกันเรียกว่า “ปั๊บผีเรือน” ภายในหนึ่งหรือสองปี ชาวลาวโซ่งจะทำพิธีเสนเฮือน เพื่อแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษให้มากินเครื่องเซ่น การทำพิธีเสนเฮือนมีสองลักษณะคือ ทำตามตระกูลหรือสิง ได้แก่ ตระกูลผู้ต๊าว (ผู้ท้าว) ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากตระกูลชั้นเจ้าเมือง และตระกูลผู้น้อย ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากสามัญชน (วิลาวัณย์ ปานทอง, วรวรรธน์ ศรียาภัย, กรรณิการ์ รักษา, ภูเนตุ จันทร์จิต, และแสน ไชยบุญ, 2551)
พิธีเสนเฮือนจะเริ่มในตอนเช้าตรู่ โดยจะจัดเครื่องเซ่นใส่ในภาชนะที่เรียกว่า “ปานเผือน” โดยใส่เนื้อหมูไว้ล่างสุด ขนมและเครื่องเซ่นอื่น ๆ ไว้ด้านบน ราวเจ็ดโมงเช้า หมอเสนจะประกอบพิธีเซ่นผีเรือนที่กะล่อหอง ซึ่งมีของสำหรับประกอบพิธีวางอยู่ ได้แก่ ปานเผือนบรรจุเครื่องเซ่น กะแอบข้าวเหนียวนึ่ง ตะเกียบ 1 คู่ น้ำ 1 ชาม และปั๊บผีเรือน 1 เล่ม หมอเสนจะใส่เสื้อฮี และกล่าวในภาษาลาวโซ่งร้องเรียกให้ผีเรือนมารับเครื่องเซ่น จากนั้นจะอ่านรายชื่อผีเรือนทีละราย และคีบเครื่องเซ่นลงในช่องฝากระดานให้ผีเรือนแต่ละราย จนหมดรายชื่อ ในระหว่างนั้นจะหยดน้ำลงไปในช่องให้ผีเรือนได้ดื่ม เมื่อเสร็จพิธีจะเอาเครื่องเซ่นออกจากปานเผือนมาแบ่งปันกันในบรรดาญาติและผู้ร่วมงาน จากนั้นหมอเสน เจ้าของบ้าน และญาติจะรับประทานอาหารร่วมกันในห้องผีเรือน ส่วนแขกที่มาร่วมงานรับประทานอยู่นอกห้องผีเรือน (ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม 2551, อ้างต่อจาก สมทรง บุรุษพัฒน์ และคณะ 2554, 82)
พิธีปาดตง
เป็นการเซ่นผีหรือเลี้ยงผีเรือน ด้วยอาหารเป็นประจำในทุก ๆ รอบ 10 วัน ตามวันกำหนดของแต่ละตระกูล เรียกว่า “เวนตง”
ตามธรรมเนียมของชาวลาวโซ่ง/ไทดำ เมื่อบิดามารดาได้เสียชีวิตลง หลังจากการทำพิธีศพเสร็จสิ้นไปแล้วได้ประมาณ 1 เดือน จะมีพิธีเชิญผีผู้ตายซึ่งได้มีสถานะเป็นผีด้ำอยู่ร่วมกับผีด้ำบรรพชนที่อยู่บนเมืองฟ้าแล้ว ให้วิญญาณหรือขวัญส่วนหนึ่งกลับมาอยู่กับลูกหลานบนเรือน เพื่อทำหน้าที่คุ้มครองดูแลลูกหลานที่อาศัยอยู่ในเรือนให้ชีวิตดำเนินไปอย่างปกติสุข บนเรือนของลาวโซ่ง/ไทดำ จะมีห้องที่กั้นไว้เป็นพิเศษสำหรับผีด้ำ เรียกว่ากะล่อหอง เมื่อผีด้ำได้ถูกเชิญมาอยู่บนกะล่อหองแล้ว ก็จะมีกำหนดวันสำหรับเลี้ยงผีด้ำ การเลี้ยงผีด้ำที่เชิญมาอยู่บนเรือนนี้เรียกว่าการทำพิธี “ปาดตง”
การกำหนดรอบวัน 10 วัน เป็นวิธีการนับวันตามแบบประเพณีของลาวโซ่ง/ไทดำ ได้แก่ 1. มื้อกาบ 2. มื้อฮับ 3. มื้อฮาย 4. มื้อเมิง 5. มื้อเปิก 6. มื้อกัด 7. มื้อโขด 8. มื้อฮ้วง 9. มื้อเต่า 10. มื้อก่า
ในการทำพิธีปาดตงมีข้อกำหนดที่แตกต่างกันระหว่าง กลุ่มตระกูลผู้ท้าว และกลุ่มตระกูลผู้น้อย กล่าวคือ กลุ่มตระกูลผู้ท้าว ได้แก่ ตระกูล “สิงลอ” และ “สิงลอคำ” จะทำพิธีปาดตง 2 ครั้ง ในรอบ 10 วัน โดยกำหนดทำใน มื้อฮาย และมื้อฮ้วง ส่วนกลุ่มตระกูลผู้น้อยจะทำพิธีปาดตงเพียง 1 ครั้ง ในรอบ 10 วัน ซึ่งจะทำพิธีในวันใดขึ้นกับวันที่คนในตระกูลผู้น้อยแต่ละตระกูลได้กำหนดเอาไว้มาก่อนแล้ว
ผู้ที่ทำหน้าที่ในการปาดตง คือ ลูกสะใภ้ ที่แต่งงานเข้ามาอยู่ในเรือน สะใภ้เป็นผู้เตรียมสำรับกับข้าวสำหรับการเลี้ยงผีด้ำเมื่อถึงกำหนดวันทำปาดตง พร้อมทั้งคอยดำเนินการปาดตงจนเสร็จสิ้น ในวันปาดตงของแต่ละเรือนจะมีการเตรียมสำรับกับข้าวเลี้ยงผีด้ำ 2 เวลา คือ “งายตง” เป็นการเลี้ยงผีในตอนเช้า และ “แลงตง” เป็นการเลี้ยงผีในตอนกลางวัน
เมื่อสะใภ้ทำสำรับกับข้าวเสร็จแล้วจะอาบน้ำชำระร่างกายแต่งตัวโดยนุ่งซิ่นผ้าลายแตงโม ผ้าคาดนม เอาเสื้อฮีคาดทับผ้าคาดนมเข้าไปทำความสะอาดในกะล่อหอง ล้างถ้วยก้อ บั้งน้ำโตง หากมีเหล้า (เหล้าหน่องก้อ) ก็จะทำการหน่องหรือรินเหล้าในถ้วยก้อก่อนการเลี้ยงสำรับกับข้าวให้ผีด้ำ ในขั้นตอนการเข้าไปทำความสะอาดกะล่อหอง ล้างถ้วยก้อ บั้งน้ำโตง และรินเหล้าหน่องก้อ หลังจากทำความสะอาดในขั้นตอนนี้เสร็จ สะใภ้จึงเข้าครัวเพื่อเตรียมสำรับกับข้าวแล้วจึงนำไปวางให้ผีด้ำตรงกลางของกะล่อหอง จากนั้นสะใภ้จะถอยห่างจากสำรับกับข้าวประมาณ 3 ก้าว จึงนั่งยอง ๆ หันหน้าไปทางสำรับกับข้าว และกล่าวเชิญเพื่อเรียกผีด้ำให้มากินข้าวในสำรับนั้น
คำกล่าวเรียกผีด้ำมากินข้าวพิธีปาดตง มีความแตกต่างกันระหว่างผีด้ำผู้น้อยและผีด้ำผู้ท้าว ดังนี้
“เออเจอนี้นา ด้ำสะถ่อปอด้ำปอกวาน...(นั้น) “เอาะจือ” ด้ำสะแกวแม่ด้ำแม่นาง...(นั้น) ด้ำสะถู่ปู่ด้ำปู่กวาน...(นั้น) ด้ำสะข่าย่าด้ำย่านาง...(นั้น) สามสิบด้ำเฮือนโก๊บ โหกสิบด้ำเฮือนกู๊จูโตนจูโก๊น เออเจอนี้นา หยังมี เข้าสุกหายงายโต๊งสุกป๊าด “ตอนเช้า” เข้าสุกแหงแลงโค๊งสุกป๊าด “กลางวัน” เหล้ามาหยอดก้อหน่องฟาย (เหล้าหน่องก้อ) หนี้เนอ เจือกันมาป๊ากันมากิน โก๊นเด๊าว์ (ไหน) หย่าเฮี๊ยะเบ่าฮู้ผู้เด๊าว์หย่าเฮี๊ยะเบ่าเงิน เว้นผู้เด๊าว์มันกลาย กายผู้เด๊าว์มันหม้อม ได้กินป๊อมมันอ่าวส่วนดูงาม กินแล้ว จั่งเห๊าย์ (ให้) กู้มเห๊าย์ลุ๊เต้าลุหลาน ผู้โก๊นัวกว๊ายปายเขา ผีอย่าซน คนอย่าแพ้ (ชนะ) ผู้ปีหย่าเห้าย์เจ็บต๊อง ผู้น้องหย่าเห๊าว์เจ็บปูม กินแล้ว เห๊าย์เมือหยู่หัวกอนเห้าย์เมือนอนหัวขื่อ ผีจีขึ้นต๊างตูเอาหยู๊มากั้ง ผีจีขึ้นตางหลั้งเอาเหาะมาแต๊ง เนอ”
คำกล่าวเรียกผีด้ำสำหรับผู้ท้าวในพิธีปาดตง
“เออ เจอนี้นา บุนก๊ำฮ้าวต้าวก๊ำ...(นั้น) ผู้หลวง รวงก๊ำเจ้าผู้เหย๊าย์ แม่นางส้อยลายอำนางก๊ำ...(นั้น) ผู้หลวงรางก๊ำเจ้าผู้เหย๊าย์ สามสิบต้าวเฮือนโก๊บ โหกสิบต้าวเฮือนกูจูโตนจูโก๊น เฮย เจอนี้นา หยังมีข้าวสุกหายงานโต๊งสุกป๊าด หนี้เนอ เจื๊อกันมา...(ว่าคือกว๊ามผู้น้อย)
หลังจากกล่าวเชิญผีด้ำมากินข้าวที่จัดไว้ให้เสร็จแล้ว สะใภ้ก็ลุกออกมาจากกะล่อหอง เตรียมเชี่ยนหมากพลู ประกอบด้วย ใบตอง ยาสูบ ไม้ขีด มีดไต หมากพลู ปูนแดง ใส่ไว้ในสำรับเชี่ยนหมากให้ครบถ้วน ทิ้งระยะห่างประมาณ 20 นาที ว่าผีด้ำกินข้าวเสร็จแล้ว จึงถือเชื่ยนหมากเข้าไปวางในกะล่อหอง แล้วกล่าวว่า “มีหมะปู๊อันเส่าย์ (ใส่) แหล ปู๊แป๊อันเส่าย์ถ้วยมาเมยหนี้ เนอ” สะใภ้ยกสำรับกับข้าวออกมา เป็นอันเสร็จพิธีปาดตง ขั้นตอนตามที่กล่าวมาทำทั้งปาดงายตงในเวลาเช้า และปาดแลงโตงซึ่งทำอีกครั้งในช่วงกลางวันประมาณระหว่าง 11.00 – 13.00 น.
พิธีเสนเต็ง
เป็นพิธีเพื่อขอไถ่ความผิดของผีเฮือนที่ได้ทำผิดต่อแถน ซึ่งเป็นเทวดาที่อยู่บนฟ้า มีอำนาจเหนือมนุษย์ สามารถดลบันดาลให้เกิดสิ่งดีและสิ่งร้ายแก่คน สัตว์ และพืชได้ ผีเฮือนถูกแถนจับไปลงโทษ ส่งผลให้ผีเฮือนกลับมาทำร้ายลูกหลานให้เจ็บป่วย เพื่อจะได้ไปช่วยไถ่ถอนตนออกมาจากแถน ดังนั้นเมื่อมีการเจ็บป่วย จึงต้องมีการทำพิธีเสนเพื่อนำเครื่องเซ่นไปให้แถนเพื่อช่วยให้หายป่วย
พิธีเสนตั้งบั้ง
เป็นพิธีที่มีลักษณะพิเศษกว่าพิธีการเสนอื่น ๆ เพราะพิธีเสนตั้งบั้งเป็นความเชื่อของชาวลาวโซ่งที่มีความเชื่อว่า บ้านใดที่มีพ่อหรือปู่เป็นผู้มีเวทย์มนต์หรือเรียกว่าเป็นผู้มีวิชา มีครูบาอาจารย์สามารถรักษาไข้ ถอนพิษ ถอนคุณ ด้วยเวทย์มนต์ได้ เมื่อตายไปแล้วลูกหลานจะอัญเชิญมาไว้ที่เรือน มีการจัดพิธีเสนประจำปี ด้วยการเป่าปี่ประโคมและการร่ายรำประกอบเป็นพิเศษ ผู้สืบผีต้องเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ 2 ชุด แยกกัน และเครื่องเซ่นก็ต่างกัน คือมีการเซ่นผีเรือนธรรดาก่อนในตอนเช้า และการเซ่นไหว้ผีผู้มีเวทย์มนต์เป็นพิเศษในตอนบ่าย
งานศึกษาของ สานิตย์ รัศมี (2545) เรื่อง “พิธีเสนตั้งบั้ง: กรณีศึกษาดนตรีและพิธีกรรมของลาวโซ่งหมู่บ้านเกาะแรต จังหวัดนครปฐม” ได้อธิบายพิธีนี้อย่างละเอียดเป็นตัวอย่างที่ดีของพิธีเสนตั้งบั้ง ซึ่งปัจจุบันเป็นพิธีที่ไม่คอ่ยได้จัดทำมากนักในประเทศไทย เนื่องจากเป็นพิธีประจำปี และบางครั้งต้องอาศัยระยะเวลา 2-3 ปีตามเงื่อนไขและความพร้อมจึงจะสามารถทำพิธีนี้ได้ครั้งหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นพิธีใหญ่ที่ต้องทำร่วมกับพิธีเสนเรือนประจำปี จึงทำให้โอกาสของการจัดพิธีเสนตั้งบั้งมีน้อยลง สานิตย์ รัศมี ได้ทำการศึกษาพิธีกรรมนี้ไว้อย่างดี ซึ่งมีรายละเอียดและสาระสำคัญสรุปได้ว่า พิธีเสนตั้งบั้งเป็นพิธีที่จัดทำขึ้นในบ้านของผู้ที่มีพ่อหรือปู่ที่เป็นผู้มีความรู้เวทย์มนต์วิชาในการรักษาโรค เมื่อผู้นั้นตายไปแล้วลูกหลานจะอัญเชิญมาเป็นผีเรือน โดยจะจัดหิ่งที่อยู่ไว้เฉพาะต่างหากจากผีเรือนธรรมดา แต่อยู่ในห้องผีเดียวกัน เมื่อถึงโอกาสสำคัญก็จะถูกเชิญมาร่วมพิธีกรรม ซึ่งวาระที่จะทำพิธีเสนตั้งบั้งได้นั้นนิยมทำกันในเดือน 4 เดือน 6 และเดือน 12 เพราะเป็นช่วงที่ว่างจากฤดูทำนา ไม่นิยมทำกันในเดือน 5 เพราะถือว่าเป็นเดือนร้อน และไม่ทำในเดือน 9-10-11 เพราะเชื่อว่าใน 3 เดือนนี้ผีไม่อยู่เนื่องจากเป็นเดือนที่ผีไปเผ้าแถนจึงไม่สะดวกในการทำพิธีเสนตั้งบั้ง
การทำพิธีเสนตั้งบั้งจะทำต่อจากการเสนเรือนในตอนเช้า แล้วจึงทำพิธีเสนตั้งบั้งในตอนบ่าย ระยะเวลาในการทำพิธีนั้นขึ้นอยู่กับการเสี่ยงทายของหมอผู้ทำพิธีที่เสี่ยงทายได้ถูกต้องตามที่ต้องการเร็วหรือช้า พิธีเสนตั้งบั้งเป็นพิธีของครอบครัวที่หัวหน้าครอบครัวจะจัดขึ้นในระหว่าง 2-3 ปีต่อครั้งแล้วแต่ฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว หากไม่มีการจัดพิธีเสนตั้งบั้ง ชาวลาวโซ่งเชื่อว่าเกิดอัปมงคล มีการเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นผู้ไม่รู้บุญคุณของพ่อแม่ปู่ย่าและบรรพบุรุษ เป็นที่ตำหนิติเตียนของตนทั่วไป
ขั้นตอนของพิธีเสนตั้งบั้ง
เครื่องบูชาของหมอพิธี ได้แก่ กระบุงข้าวเปลือก 1 กระบุง ข้าวสาร 1 ชาม ไข่ไก่ต้มสุก 1 ฟอง ด้ายสายสิญจน์หรือด้ายดิบ 1 ใจ (สำหรับเคียนหัวหมอพิธี) กำไล 1 อัน หมากพลู เหล้าขาว 1 ขวด ห่อผ้าหรือถุงหลา (ห่อผ้าเจ้าของบ้าน) ห่อข้าวเหนียว 10 ห่อ ห่อปลาปิ้ง 9 ห่อ เทียน แก้วน้ำ ปานเผือนสำหรับใส่เครื่องเซ่น เงิน 1 บาท
เครื่องเซ่นไหว้ในพิธี ประกอบด้วย 4 ชุด แต่ละชุดมีเครื่องเซ่นเหมือนกัน ไก่ต้มสุก 1 ตัว ห่อข้าวสุก 1 ห่อ (ข้าวเหนียว) หมากพลู 1 คำ หมูนอนรอง 1 ชิ้นหรือ 1 ถาด (บางเจ้าใช้หัวหมูหรือคางหมูก็ได้แล้วแต่สภาพเศรษฐกิจ) ข้าวต้มมัด 1 ชุด เผือกสุก 1 ชุด มันต้มสุก 1 ชุด อ้อย 1 ชุด ขนมแล้วแต่จะจัดหาได้ (ควรเป็นขนมที่มีชื่อเป็นสิริมงคล) ผลไม้ตามฤดูกาล ปานขวัญ 4 ใบ ขนมจันอับ เหล้า
ขันหมากของหมอเมือง ประกอบด้วย ตะกร้า 1 ใบ เหล้าขาว 1 ขวด แก้ว 1 ใบ หมากพลู, ปูน 1 ชุด เทียน 1 เล่ม ขันน้ำมนต์ 1 ใบ ขันน้ำขนาดเล็ก 1 ใบ (สำหรับใส่ข้าวสารเสี่ยงทาย)
อุปกรณ์ตั้งเสาหลัก ประกอบด้วย ไม้ไผ่สูงจากพื้นถึงเพดานยาวประมาณ 250 ซม. 1 อัน (เสาลั่งหรือเสาตั้ง) จะตั้งไว้กลางบ้าน ไหเหล้า 1 ไห ร่มขาวและร่มแดงขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 45 ซม. 2 คัน (อยู่สูงกว่าโคนเสาประมาณ 120 ซม. เป็นร่มที่ทำขึ้นเอง) ยอดตำลึง (นำมาเพื่อพอเป็นพิธี) ยอดหญ้าใบแหลมๆ (นำมาเพื่อพอเป็นพิธี) ยอดกระถิน 2-3 ยอด เชือกสำหรับไว้ผูก 1 ชุด ใบมะละกอ ใบตาลอ่อน (สำหรับตกแต่งในไหเหล้า)
อุปกรณ์การแต่งหิ้งมนต์ ประกอบด้วย ผ้าไหมสีแดงขนาดความกว้าง 70 ซม. ยาว 250 ซม. จำนวน 1 ผืน ผ้าขาวขนาดความกว้าง 75 ซม. ยาว 250 ซม. จำนวน 1 ผืน ผ้าสไบเฉียงสีขาว ไม้ไผ่ผ่าซีก 2 อัน ขนาดยาว 270 ซม. กว้าง 3 ซม. ดอกไม้ พวงมาลัย ตะกร้าเครื่องเซ่นขึ้นหิ้ง 2 ชุด ตะกร้า ไก่ ยำหน่อไม้ดอง ใบตอง
ลำดับขั้นตอนในการทำพิธีเสนตั้งบั้ง
ก่อนเริ่มงาน เจ้าของบ้านเตรียมติดต่อหาหมอพิธีช่วยดูฤกษ์ วัน เวลา ในการจัดว่าเหมาะสมวันไหน โดยให้เจ้าของบ้านต้องนำเอาเสื้อผ้าที่สวมใส่แล้วใส่ห่อไปให้หมอพิธีเพื่อดูฤกษ์การจัดงานพร้อมทั้งเจ้าของบ้านต้องเตรียมเครื่องเซ่นไหว้มาบูชาครูและเลี้ยงผีที่บ้านของหมอพิธีด้วย โดยเครื่องเซ่นไหว้ที่นำมาเลี้ยงประกอบด้วย หมาก พลู ดอกไม้ ธูป เทียน เหล้าข้าว เงิน 21 บาท ซึ่งหมอพิธีจะทำการกำหนดวันสำหรับทำพิธีเสนตั้งบั้งให้
ก่อนถึงวันทำพิธีตามที่กำหนด เจ้าของบ้านจะเตรียมอุปกรณ์และเครื่องเซ่นไหว้ให้พร้อม โดยเฉพาะการเตรียมหมูในพิธี ซึ่งตามปกติชาวลาวโซ่งจะเลี้ยงลูกหมูไว้สำหรับการประกอบพิธีไหว้ผีเรือน หมูที่เลี้ยงไว้ทำพิธีนี้ต้องเลือกตัวที่แข็งแรง มีลักษณะดีและเป็นตัวผู้เท่านั้น และเชิญญาติพี่น้องแขกเหรื่อมาร่วมงานพิธี
วันทำพิธี เวลาประมาณ 00.30 น. ของวันที่เริ่มทำพิธี เจ้าของบ้านพร้อมกับญาติพี่น้องจะมาช่วยงาน โดยการเริ่มฆ่าหมูที่เลี้ยงไว้สำหรับไหว้ผีเรือน โดยจัดการผ่าท้องเอาเครื่องในหมูออกแล้วทำความสะอาดให้เรียบร้อย หลังจากนั้นให้ลูกเขยหรือลูกสะใภ้เป็นคนหามหมูขึ้นบนเรือน เข้าไปที่ห้องเลี้ยงผี ถ้าบ้านนั้นไม่มีลูกเขยหรือลูกสะใภ้ก็ให้ญาติในตระกูลเดียวกันเป็นคนหามแทนก็ได้ เมื่อเอาหมูเข้าห้องผีเรือนตรงมุมห้องที่เรียกว่ากะล้อห่อง ทำความเคารพพร้อมทั้งกล่าวบอกผีเรือนว่า เอาหมูมาให้กินตามประเพณีเพื่อให้อยู่เย็นเป็นสุข จากนั้นจึงจัดการชำแหละออกเป็นส่วน ๆ เช่น หัว ขา ซี่โครง หาง อย่างละพอเหมาะที่จะประกอบเป็นตัวหมูทั้งตัวเพื่อเป็นพิธีใส่ปานเผือนสำหรับเตรียมเซ่นไหว้ แล้วนำเนื้อหมูส่วนที่เหลือทั้งหมดไปต้มให้สุกเสียก่อน แล้วจึงนำไปเซ่นไหว้พร้อมกับเครื่องเซ่นไหว้อย่างอื่น ที่เจ้าของงานได้เตรียมไว้แล้วทั้งคาวหวาน จากนั้นเริ่มพิธีเสนเรือนไปจนเสร็จ แล้วหมอพิธี เจ้าของงาน และญาติที่นับถือผีเดียวกันที่มาร่วมพิธีในวันนั้นก็รับประทานอาหารร่วมกันห้องบนบ้านนั้น ส่วนแขกที่มาร่วมในงานนั้นก็รับประทานอาหารเช่นเดียวกัน แต่อยู่นอกห้องผีเรือน
อาหารที่จัดทำสำหรับเลี้ยงแขกในพิธี เป็นอาหารตามประเพณีของชาวลาวโซ่ง ได้แก่ จุ๊บหมู แกงส้มหน่อไม้ดองกับไก่ แกงเจือหมูใส่ผักดองที่นิยม เช่น หัวผักกาดหรือสับปะรด ลาดเลือด (ลาบเลือดที่ทำจากหมูต้มสับให้ละเอียดแล้วนำคลุกกับเลือดหมูสด ๆ แล้วใส่เครื่องเคียงและเครื่องเทศตามที่ต้องการ) ลาบเลือดนี้ชาวลาวโซ่งถือว่าเป็นอาหารที่ให้ความแข็งแรงและมักกินกันทุกคน
การเริ่มเสนตั้งบั้ง
ภายหลังจากการกินเลี้ยงช่วงเช้าแล้ว ในเวลาบ่าย เริ่มทำพิธีเสนตั้งบั้ โดยหมอพิธีจะเริ่มด้วยการไหว้ครูบาอาจารย์ที่ได้ร่ำเรียนวิชาความรู้ทางด้านพิธีก่อนด้วยเครื่องบูชาครู ในระหว่างนี้จะมีการเป่าปี่เสนสั้นและปี่เสนยาวไปตามเสียงร้องของหมอพิธีตลอด และมีการกล่าวเชิญชวนแขกเหรื่อให้เข้ามาร่วมในบริเวณที่ทำพิธีกรรม หลังจากนั้นหมอพิธีจะกล่าวเป็นภาษาลาวโซ่งบอกผีบ้านผีเรือนในทำนองว่า ทำพิธีเซ่นไหว้ผีแล้วขอให้รับรู้พร้อมทั้งลงมาร่วมพิธีดังกล่าว ข้างตัวหมอที่ทำพิธีมีห่อผ้าวางไว้ที่ใกล้ตัวหมอพิธี 1 ห่อ ห่อผ้านี้เรียกว่า “ถุงหลา” ถุงนี้นำมาเข้าพิธีเพื่อเป็นเครื่องเสี่ยงทายของเจ้าของบ้านและครอบครัว เกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บและการทำมาหากิน หมอพิธีจะกล่าวคำบูชาครูเป็นภาษาลาวโซ่งคล้ายบทสวดมนต์ ซึ่งจะมีความหมายเกี่ยวกับการอัญเชิญครูบาอาจารย์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้รับรู้ว่า สถานที่นี้มีการเซ่นไหว้ หลังจากการสวดบอกกล่าวเสร็จแล้วเจ้าของบ้านได้นำอาหารมาเลี้ยงหมอพิธี อาหารเหล่านั้นประกอบด้วย เหล้า ไก่ต้ม ข้าวสุก และแกง 2-3 อย่าง หมอพิธีรับประทานอาหารนั้นเสร็จแล้ว มีผู้สูงอายุหรือเจ้าของบ้านได้กล่าวบอกหมอพิธีเป็นภาษาลาวโซ่งความว่า ขณะนี้บ้านนี้ต้องการเซ่นไหว้ผีเรือน ขอให้หมอพิธีอัญเชิญผีเรือนมารับเครื่องเซ่นไหว้เหล่านี้ด้วย โดยเฉพาะผีเรือนที่เคยเป็นมนต์มาก่อน จึงกล่าวให้หมอพิธีเซ่นผีให้ถูกต้องด้วยเถิด
ต่อจากนั้นหมอพิธีนั่งลงหน้าหิ้งผีมนต์ ประนมมือไหว้ครู จุดเทียน 1 เล่ม ร่ายมนต์เป็นภาษาลาวโซ่งเวียนไปรอบ ๆ กระบุงข้ามม้า (กระบุงข้าวเปลือกสำหรับไหว้ครู) สามรอบ แล้วส่งเทียนให้หมอผู้ช่วยจุดต่ออีก 4 เล่ม ปักไว้ที่ราวผ้าสไบเฉียงข้างละ 2 เล่ม แล้วร่ายมนต์อีกครั้ง ระหว่างนี้เริ่มมีการเป่าสี่เสนทั้งสองไปพร้อมกัน เพื่อบอกกล่าวแก่แถนว่าตนต้องการเซ่นไหว้มนต์ในวันนี้ ให้แถนลงมาช่วยตามหาขวัญของมนต์ได้หรือไม่ จากนั้นหมอพิธีจึงสั่งให้หมอผู้ช่วยทำพิธีเสี่ยงทายเพื่อให้ทราบตำตอบจากแถน หมอทำพิธีถามตอบนี้เรียกว่า “หมอสะ” หมอสะถามแถนว่า ถ้าแถนตกลงรับช่วยเหลือตามที่หมอพิธีได้เชิญ ขอให้เม็ดข้าวสารที่หยิบขึ้นมาเป็นเลขคู่ ถ้าไม่ตกลงตามที่มาหาขวัญให้ ขอให้หยิบข้าวสารนับได้เป็นเลขคี่ จากนั้นจึงใช้มือขวาหยิบเม็ดข้าวสารมาหยิบมือหนึ่งใส่ในฝ่ามือซ้ายแล้วนับ ถ้านับได้ 8 เม็ด เป็นอันว่าแถนลงมารับที่หาขวัญปละให้ได้รับเครื่องเซ่นไหว้
จากนั้น หมอพิธีทำพิธีเชิญแถนลงมารับเครื่องเซ่นไหว้ ด้วยการร้องทำนองเพลงพื้น พร้อมทั้งเป่าปี่ประโคมเป็นตอน ๆ เป็นการต้อนรับและยินดีที่แถนลงมารับที่ทำน้ำมนต์มาให้รับเครื่องเซ่นไหว้ การขับร้องและบรรเลงเพลงนั้นทำดังนี้ หมอพิธีร้องเป็นภาษาโซ่งลักษณะคล้ายบทสวดมนต์ มีความหมายกล่าวเชิญแถนมารับเครื่องเซ่นไหว้ แล้วเป่าปี่เป็นทำนองยาว เมื่อเพลงจบหมอพิธีเล่าความเป็นมาที่ต้องทำพิธีนี้ และขอร้องให้แถนนำขวัญของมนต์ซึ่งอยู่ในหอแก้วให้ลงมารับเครื่องเซ่นไหว้ของลูกหลาน ให้หมอสะเสี่ยงทายด้วยเม็ดข้าวสารอีกครั้งว่าขวัญของมนต์มารับเครื่องเซ่นไหว้ได้หรือไม่ หากยังไม่ได้ต้องอัญเชิญแถนใหม่ แล้วเสี่ยงทายจนกว่าจะได้ ถ้าได้แล้วจะเป่าปี่ประโคมแสดงความดีใจ เพื่อเป็นการรับขวัญและบางครั้งหมอพิธีร้องเพลงเซิ้งบ้างเพื่อเพิ่มความสนุกสนานในงาน
ในการรับขวัญมนต์ที่ลงมารับเครื่องเซ่นไหว้ของลูกหลานนี้ หมอพิธีเปลี่ยนชุดสวมใส่ ชุดเครื่องทรงของหมอพิธี พร้อมให้แถนลงมาเข้าร่างทรงได้ ในพิธีมีการสร้างสิ่งสมมติเป็นสถานที่ที่ขวัญมนต์ลงมาประทับ เช่น สร้างเป็นสวนแก้ว หอแก้ว ให้เป็นที่ต้อนรับอย่างดี จากนั้นจึงเริ่มพิธีฉลองขวัญมนต์ มีการบรรเลงกล่อมขวัญ ต่อหลักบ้าน หลักเมือง เจ้าของบ้านจับหลักมั่นยืนด้วย แล้วถวายของที่จัดไว้ให้มนต์ เลือกช้าง ม้า ให้มนต์ แล้วเชิญมนต์ไต่บันไดขึ้นหอแก้วหรือหิ้งที่จัดไว้บนบ้านนั้นเอง จากนั้นเจ้าของบ้านนำขันธ์ 5 ขันธ์ 11 ขันธ์ 12 จากบนหิ้ง ซึ่งหมอพิธีจัดทำไว้ตั้งแต่แรก ทำการสักการะมนต์ของตน แล้วหมอพิธีก็ถามมนต์ โดยการให้หมอสะเสี่ยงทายว่าถูกใจหรือไม่ ถ้าถูกใจแล้วจึงเชิญมนต์ลงมากินเครื่องเซ่น
การเลี้ยงเครื่องเซ่นมนต์ ไม่ได้มีการกำหนดว่าเร็วหรือช้า การเลี้ยงเครื่องเซ่นไหว้มนต์ต้องมีการร้องรำไปและกินอาหารไปสลับกัน เริ่มด้วยหมอพิธีเชิญมนต์มาเข้าทรง มีการแต่งตัวให้สวยงาม เช่น เอาด้ายสายสิญจน์เคียนหัวทับด้วยผ้าลายสีแดง จุดเทียนถือไว้ที่มือซ้าย มือขวาถือวี (พัด) ลุกขึ้นรำเป็นจังหวะตามเสียงเครื่องดนตรีประกอบจังหวะ การทำเสียงดนตรีให้เป็นจังหวะ เล่นโดยญาติที่สูงอายุ 5 คน ซึ่งถือเอาญาติตระกูลเดียวกันกับเจ้าของบ้าน สวมเสื้อฮียืนถือกระบอกไม้ไผ่ ยกขึ้นกระแทกลงไปกับไม้กระดานที่วางอยู่บนพื้นบ้าน พร้อมกับอีกคนหนึ่งเคาะถาดซึ่งวางคว่ำอยู่บนปากโอ่งแทนกลอง เป็นทำนองจังหวะ
การรำและการกระทุ้งกระบอกไม้ไผ่แสดงความยินดี โดยหมอพิธีเป็นคนรำนำหน้า มีผู้ชายที่เป็นคนในตระกูลเดียวกับเจ้าของบ้านรำตาม โดยหมอพิธีรำเป็นลักษณะการยกเท้าขึ้นสองเท้า ขึ้นลงพร้อม ๆ กัน แล้วเจ้าของงานหยิบร่มสีแดงและสีขาว 2 คัน มาจากหลักตั้ง มากางให้หมอพิธี พร้อมกับหมุนร่มให้ควงไปมาตามจังหวะกระแทกไม้ไผ่หรือตั้งบั้ง หมอพิธีรำรอบเสาตั้ง 3 รอบ แล้วจึงนั่งลง จากนั้นหมอสะนำเหล้า ไก่ต้ม ผ้าขาว 1 ผืน หมาก พลู แล้วหมอสะก็กล่าวให้หมอพิธีหรือตัวแทนของมนต์ให้ทราบว่านำอาหารมาเซ่นไหว้ให้กิน หมอสะรินเหล้าใส่แก้วยื่นให้มนต์จิบ 3 ครั้ง จิบครั้งหนึ่งแล้วก็รินเติมใหม่ ยื่นให้จิบใหม่จนครบ 3 ครั้ง จากนั้นหมอสะเอาตะเกียบคีบเนื้อไก่ป้อนให้มนต์ 3 คำ เมื่อกินเสร็จแล้วหมอสะเอาผ้าขาวเช็ดปากให้ เสร็จแล้วมนต์นำผ้าสไบของหมอพิธีมาพาดบ่าสะพายแล่งไว้ที่หน้าอก เลยไปถึงข้างหลัง แล้วใช้ผ้าขาวที่เช็ดปากนั้นคาดทับผ้าสะไบไขว้กันอีกชั้นหนึ่ง แล้วใช้ผ้าอีกผืนหนึ่งคาดทับไว้ที่เอว จากนั้นจึงไปนั่งที่กระบุงข้าวม้า พนมมือบูชาที่หิ้งมนต์ มีปี่เป่าประกอบคำบูชาไปสักพักหนึ่ง หมอพิธีเอาผ้าสไบสีขาวที่พาดอยู่บนราวใต้หิ้งมนต์ส่งให้เจ้าของบ้านและญาติผีเดียวกันห่มสไบเฉียงหรือพาดที่คอปล่อยชายห้อยลงมาข้างหลังทุกคน ทั้ง 5 คนลุกขึ้นรำตามหมอพิธี ผู้ที่ถือกระบอกไม้ไผ่กระทุ้งพื้นและตีถาดเป็นจังหวะอย่างสนุกสนาน แล้วหมอพิธีจุดเทียนถือไว้ในมือซ้าย ถือพัดมือขวา ลุกขึ้นทำท่ากระโดดลงพร้อมกันทั้งสองเท้า ตามจังหวะที่กระทุ้งไม้ไผ่ รำวน 3 รอบ ตามด้วยเจ้าของบ้านพร้อมทั้งญาติรำตามกัน ในการรำทุกครั้งหมอสะจุดเทียนจากราวไปจุดไว้บนหิ้งมนต์ เมื่อรำเสร็จรอบที่สองนี้แล้ว มุกคนโยนผ้าพาดไหล่คืนให้หมอพิธี เอาผ้านั้นพาดไว้ที่ราวตามเดิม จากนั้นหมอพิธีเริ่มกล่าวคำเซ่นมนต์เป็นครั้งที่ 3 เสร็จแล้วหมอพิธีเริ่มออกรำเช่นเดียวกับครั้งที่ 2 ในรอบนี้ไมอพิธีคอยสังเกตการกระทุ้งกระบอกไม้ไผ่ทั้ง 5 คน ถ้าเห็นว่าการทำจังหวะให้รำนั้นไม่ตรงตามจังหวะหรือผิดจังหวะ หมอพิธีก็ตรงไปตักน้ำในกระป๋องน้ำที่เตรียมไว้ สาดไปที่ผู้กระทุ้งกระบอกไม้ไผ่ ฝ่ายผู้กระทุ้งกระบอกไม้ไผ่แกล้งกระทุ้งกระบอกไม้ไผ่ให้ได้จังหวะตามเดิม แล้วหมอพิธีก็ออกรำใหม่ สักระยะหนึ่งผู้กระทุ้งไม้ไผ่แกล้งกระทุ้งไม้ไผ่ให้ผิดจังหวะกันอีก แล้วหมอพิธีก็เอาน้ำสาดอีก ดูเป็นการสนุกสนานเมื่อมีการเซ่นอาหารและเหล้าพร้อมกับการรำ ครบทั้ง 3 ครั้งนี้แล้ว หมอพิธีทำการแก้ถุงหลาออกดูว่าเปียกหรือแห้ง โดยการให้หมอสะถามมนต์ว่าการทำพิธีนี้ถูกใจหรือไม่ แล้วการเสี่ยงทายเพื่อหาคำตอบคือบอกว่า ถ้าถูกใจขอให้ห่อข้าวเหนียวแห้ง และถ้าไม่ถูกใจขอให้ห่อข้าวเหนียวเปียก เมื่อได้ตามที่ต้องการแล้วของหมอสะถือว่าเสร็จพิธี ซึ่งหมายความว่า บ้านที่จัดพิธีเสนตั้งบั้งนั้นอยู่เย็นเป็นสุขแลมีความเจริญรุ่งเรืองในครอบครัวต่อไป
หลังจากเสร็จการเสนตั้งบั้ง ก็เป็นเวลาเย็นราว 16.30 น. หมอพิธีได้กล่าวเชิญมนต์กลับที่เดิม โดยมีปี่เสนประโคม
ขั้นสุดท้ายของงานพิธีคือการนำอาหารมาเลี้ยงหมอพิธีและเลี้ยงผู้ที่เข้ามาร่วมงาน พร้อมทั้งของหวานของคาวและเครื่องดื่ม เป็นอันว่าสิ้นสุดการจัดพิธีเสนตั้งบั้งทั้งหมด แขกและญาติพี่น้องช่วยกันเก็บข้าวของ บางอย่างอาจยืมมาจากที่วัดหรือจากบางบ้าน แล้วจึงแยกย้ายกันกลับบ้านเป็นอันเสร็จสิ้นพิธี
พิธีเสนเต็งหรือเสนน้อยจ้อย
เป็นพิธีเสนเพื่อขอขมาไถ่โทษผีแถน เพื่อให้ผีแถนปล่อยตัวหรือไม่ลงโทษผีเรือนเนื่องจากผีเรือนอาจไปทำผิดต่อแถนที่อยู่บนฟ้า แล้วทำให้ไม่สามารถดูแลลูกหลานได้ตามปกติ ทำให้ลูกหลานอาจมีความเดือดร้อนหรือไม่สบาย ดังนั้นลูกหลานจึงต้องไปเชิญแม่มดมาทำพิธีเพื่อขอไถ่โทษผีแถน ให้ผีแถนปล่อยผีเรือนกลับมาดูแลลูกหลานให้อยู่เป็นปกติเหมือนเดิม
พิธีเสนอานปาง
คือพิธีเสนบูชาครูบาอาจารย์ของมด ผู้ที่เป็นมด ไม่ว่าเป็นพ่อมดหรือแม่มด จะมีหิ้งมดสำหรับบูชามดครูบาอาจารย์ของตนอยู่บนเรือน หากเรือนใดมีหิ้งผีมดด้วยเมื่อทำพิธีเสนเรือนแล้วก็จะทำพิธีเสนอานปางเพื่อบูชาผีมดในเรือนตามไปด้วย แต่ในการประกอบพิธีเสนอานปาง จะไม่ใช้หมอผู้ทำพิธีมาเสนอานปาง เนื่องจากเป็นผีคนละประเภท พิธีเสนอานปางจะใช้มดเป็นผู้ประกอบพิธี หากเป็นพ่อมดก็จะมีการเป่าปี่ประกอบพิธีเสนไปด้วย
พิธีเสนฮับมด
เป็นพิธีกรรมที่ทำขึ้นเพื่อรับผีมดให้มาอาศัยอยู่ด้วย เมื่อบุคคลนั้นตกลงที่จะเป็นมดแล้ว ต้องตั้งหิ้งผีมดขึ้นในเรือน แล้วเชิญผีมดเข้ามา ดังนั้นในเรือนของคนที่เป็นพ่อมดหรือแม่มด จะมีหิ้งผีสองประเภท คือหิ้งผีเรือนซึ่งตั้งอยู่บริเวณกะลอห่องหรือห้องผีเรือน และหิ้งมดซึ่งตั้งแยกต่างหากจากหิ้งผีเรือน เมื่อผีมดเข้ามาอยู่บนหิ้งในเรือนเรียบร้อยแล้ว พ่อมดหรือแม่มดที่อาศัยอยู่ในเรือนก็จะนำอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบพิธีกรรมต่างๆ ของมดไว้บนหิ้ง เช่น พัด เครื่องแต่งตัวมด ปั๊บมด ก่อนที่จะออำไปทำพิธีมดต้องมีการเซ่นเหล้าผีมดหรือผีครูที่หิ้งผีมดทุกครั้ง
การรักษาโรคภัยไจ้เจ็บ
พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคภัยไข้เจ็บของชาวไทดำ จะใช้มดเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมรักษา หากเป็นโรคภัยไข้เจ็บทั่วไปแม่มดเป็นผู้ประกอบพิธี โรคภัยไข้เจ็บที่มีอาการหนักมักจะให้พ่อมดหรือมดลาวเป็นผู้ประกอบพิธีรักษา
พิธีเสนแบหรือพิธีฆ่าแพะ เป็นพิธีรักษาคนป่วยที่มีอาการเจ็บหนัก โดยใช้พ่อมดหรือมดลาว เป็นผู้ประกอบพิธีกรรม การทำพิธีของมดลาวจะมีหมอเป่าปี่ประกอบด้วย พิธีเสนแบจะมีการฆ่าแพะเลี้ยงผี นอกจากนั้นยังมีการฆ่าหมูและฆ่าไก่เลี้ยงผีร่วมด้วย
พิธีเสนโต๋ (เสนตัว) เป็นการเรียกขวัญเมื่อมีอาการเจ็บป่วย เพื่อเรียกขวัญกลับมาสู่ตน และหายจากการเจ็บป่วย
พิธีเสนเต็ง เป็นพิธีรักษาอาการเจ็บไข้ได้ป่วยที่เชื่อว่าเกิดจากการกระทำของผีเฮือนหรือผีบรรพบุรุษที่ไม่สามารถดูแลปกปักรักษาลูกหลานได้ เนื่องจากผีเฮือนหรือผีบรรพบุรุษไปทำผิดต่อแถนไว้ จึงถูกแถนจับไปลงโทษ ส่งผลให้ลูกหลานเจ็บป่วย ลูกหลานจึงต้องทำพิธีเสนเต็งเพื่อขอไถ่ความผิดของผีเฮือนที่ได้ทำผิดต่อแถนที่อยู่บนฟ้า เพื่อจะได้ไปช่วยไถ่ถอนผีเฮือนออกมาจากแถน ดังนั้นเมื่อมีการเจ็บป่วย จึงต้องมีการทำพิธีเสนเต็ง นำเครื่องเซ่นไปให้แถนเพื่อช่วยให้หายป่วย
พิธีเสนแก้เคราะห์ เป็นพิธีแก้เคราะห์ให้กับผู้ป่วยที่หายจากอาการเจ็บป่วยแล้ว
พิธีเสนแก้เคราะห์เฮือน เป็นพิธีแก้เคราะห์ให้กับบ้าน ที่มีคนในบ้านเสียชีวิต หรือบ้านที่สร้างใหม่
พิธีกรรมที่สูญหายไปจากกลุ่มไทดำในประเทศไทย ได้แก่ พิธีเสนเมือง เนื่องจากไทดำในประเทศไทยเมื่ออพยพเข้ามาสู่ดินแดนประเทศไทยแล้ว ได้สิ้นสูญระบบเมืองและระบบเจ้าเมืองตามจารีตประเพณีของตน ชุมชนชาวไทดำในประเทศไทยกลายเป็นชุมชนในสังกัดของสมุหกลาโหม (ผู้ควบคุมเมืองเพชรบุรี ที่ตั้งของชาวไทดำที่ถูกกวาดต้อนมาในครั้งแรก) และภายหลังกลายเป็นชุมชนภายใต้ระบบการปกครองของสยามและประเทศไทยตามลำดับ ประเพณีและพิธีกรรมเสนเมืองซึ่งทำโดยระบบเจ้าเมืองตามจารีตของไทดำจึงถูกยกเลิกไปโดยปริยาย
นอกจากนี้ประเพณีเสนบ้าน ได้มีการปรับเปลี่ยนและผสมผสานไปกับประเพณีเทศกาลประจำปีที่ได้รับอิทธิพลจากสังคมไทยไปอย่างมาก ผู้นำชุมชนในระดับหมู่บ้านอาจจะมีศาลเจ้าซึ่งนับถือกันว่าเป็นต้นตระกูลหรือบรรพบุรุษที่สำคัญในการตั้งชุมชน แต่ก็ได้รับการรับรู้ค่อนข้างจำกัดเฉพาะตระกูลที่มีความเกี่ยวข้องเท่านั้น
พิธีเสนเมือง
พิธีเสนเมืองเคยเป็นพิธีกรรมสำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่งของไทดำ แต่ปัจจุบันได้ถูกยกเลิกไปเนื่องจากการสิ้นสุดระบบการปกครองในแบบจารีตของไทดำ พิธีเสนเมืองแบบจารีตในระยะสุดท้ายถูกปฏิบัติที่ดินแดนสิบสองจุไท ก่อนที่จะถูกประกาศให้ยกเลิกการทำพิธีนี้เมื่อสิบสองจุไทกลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศเวียดนาม และระบบบ้านเมืองแบบเดิมที่ปกครองด้วยเจ้าเมืองคนไทดำก็ได้ถูกยกเลิกไปด้วย ส่วนพิธีเสนเมืองของไทดำในลาวและไทดำในประเทศไทย ได้คลี่คลายและยกเลิกไปก่อนหน้านั้นนานมากแล้ว เนื่องจากไทดำในลาวไม่มีระบบเมืองที่มีเจ้าเมืองไทดำเป็นของตนเอง เพราะต้องขึ้นกับหัวเมืองลาวกลุ่มอื่น ๆ ส่วนกรณีไทดำในประเทศไทย ภายหลังจากที่ได้อพยพเข้ามาสู่ดินแดนไทยเมื่อสองร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ชุมชนชาวไทดำก็กลายเป็นส่วนหนึ่งภายใต้การปกครองของขุนนางท้องถิ่นสยาม ไม่สามารถตั้งเมืองไทดำที่มีผู้ปกครองเป็นไทดำของตนเองได้ ทำให้พิธีเสนเมืองของไทดำในเมืองไทยได้หายไปจากความทรงจำของชาวไทดำเองมากว่าสองร้อยปี
พิธีเสนเมืองในแบบจารีตที่เคยปฏิบัติมาก่อนหน้านี้นั้น ในอดีตชาวไทดำในสิบสองจุไทจัดพิธีเสนเมืองขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อให้บ้านเมืองร่มเย็น อุดมสมบูรณ์ ปราศจากเหตุร้าย ภัยอันตรายต่าง ๆ ซึ่งเป็นการเลี้ยงผีฟ้าและผีเมือง ในพิธีเสนเมือง ผู้ประกอบพิธีกรรมที่สำคัญคือ องหมอ ซึ่งเป็นหัวหน้าของบรรดาหมอผู้ประกอบพิธีร่วมกันจัดพิธีนี้ขึ้น กับเจ้าเมืองซึ่งถือว่าเป็นประธานในพิธี
พิธีเสนเมืองจะต้องระดมส่วนร่วมจากเมืองบริวาร และหมู่บ้านที่อยู่ภายใต้การปกครองของบ้านเมืองเข้ามาร่วมพิธีด้วยกัน ในพิธีมีการฆ่าสัตว์ใหญ่ เช่น ควาย ซึ่งได้จากบรรดาเมืองบริวารต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีการฆ่าหมู ไก่ และจัดตั้งอาหารเครื่องคาวหวาน เพื่อทำการเลี้ยงผีฟ้าและผีเมือง โดยการเชิญผีฟ้าหรือผีแถนมารับเครื่องเซ่นสังเวยก่อน แล้วจึงเชิญผีเมืองซึ่งจะนำโดยผีที่เป็นต้นตระกูลของเจ้าเมืองตามลำดับ ระหว่างนั้นหมอเมืองจะเป็นคนนำหนังสือประจำบ้านเมืองออกมาอ่าน และแม่มดเมืองจะเป็นคนออกมาขับเพื่อช่วยแก้เคราะห์ให้กับเมือง เมื่อเสร็จจากการเลี้ยงผีฟ้าผีเมือง ก็จะนำอาหารจากสัตว์ต่าง ๆ ที่ฆ่ามาเลี้ยงผีเมืองนั้นออกแจกจ่ายแก่ประชาชนชาวบ้านให้กินอิ่มหนำสำราญโดยทั่วไป
พิธีเสนเมืองจึงแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ทางเครือข่ายของระบบการปกครองของกลุ่มไทดำ ที่ผูกดันกันขึ้นมาจากระบบหมู่บ้านและเมืองบริวาร ภายใต้เมืองหลักแต่ละแห่ง ความสัมพันธ์ดังกล่าวแสดงถึงการเป็นหน่วยทางการเมืองการปกครองเดียวกัน รวมทั้งความสัมพันธ์ของชนชั้นผู้ปกครองในกลุ่มผู้มีสถานะเป็นเจ้าเมืองหรือที่เรียกว่า “เพี้ย-ท้าว” กับ ผู้ประกอบพิธีกรรมที่เรียกว่า “หมอ” ที่เป็นชนชั้นปกครอง รักษาสถานะอำนาจทางการปกครองด้วยความชอบธรรมจากการสืบสายตระกูล และการรักษาระเบียบกฏเกณฑ์บ้านเมืองด้วยระเบียบของจารีตประเพณีที่ควบคุมไว้พร้อมกับอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของระบบความเชื่อในเรื่องผีแถนผีฟ้าและผีเจ้าเมือง กำกับเป็นแบบแผนของลักษณะการเมืองการปกครองแบบจารีตของไทดำ
พิธีเสนบ้าน
พิธีเสนบ้าน เป็นพิธีกรรมระดับชุมชนเพื่อเลี้ยงผีประจำหมู่บ้าน อ้อนวอนให้ผีประจำหมู่บ้าน ซึ่งเป็นผีบุคคลสำคัญในการก่อตั้งหมู่บ้าน เรียกว่าผีเจ้าเชื้อหรือเจ้าเสื้อ ช่วยปกปักรักษาและดูแลผู้คนในหมู่บ้านให้ดำเนินชีวิตอย่างเป็นปกติสุข มั่นคง ปลอดภัย ทำมาหากินได้ผลผลิตอุดมสมบูรณ์ ไม่ให้ผีบ้านมาทำร้ายทำอันตรายแก่คนในหมู่บ้าน และแสดงความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชน พิธีเสนบ้านชาวไทดำในเวียดนามในอดีตจะทำเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือน 10 นับแบบจันทรคติ หลังฤดูเก็บเกี่ยว (สุมิตร ปิติพัฒน์ 2545, 54) โดยมีหมอเป็นผู้ประกอบพิธีเสนบ้าน ระยะเวลาในการเสนบ้านประมาณ 3 วัน ในระหว่างนี้มีข้อห้ามไม่ให้คนเข้าออกหมู่บ้าน มีการปักตาแหลวเป็นเครื่องหมายว่าหมู่บ้านกำลังทำพิธี ในบริเวณที่ประกอบพิธีกรรมจะฆ่าสัตว์เพื่อเลี้ยงผี เช่น ควาย หรือหมู และห้ามไม่ให้ผู้หญิงและเด็กเข้าไปในพื้นที่ประกอบพิธีกรรม
ผู้นำในการประกอบพิธีกรรม
พิธีกรรมทางความเชื่อและศาสนาดั้งเดิมของชาวลาวโซ่ง/ไทดำที่เกี่ยวข้องกับคติผี อาศัยผู้ประกอบพิธีกรรมตามจารีตประเพณีมีชื่อเรียกว่า “มด” และ “หมอ” ซึ่งมีหน้าที่แตกต่างกันไปตามลักษณะและวัตถุประสงค์ของพิธีกรรม นอกจากนี้ยังมีตำแหน่งผู้ประกอบพิธีศพเป็นการเฉพาะเรียกว่า “เขือย” หรือ “หมอเขย” หรือ “เขยกก” แยกออกมาจากมดและหมอทั่วไป สุมิตร ปิติพัฒน์ (2545, 33-35) ได้อธิบายคุณสมบัติของ “มด” และ “หมอ” ไว้อย่างเป็นระบบว่า
มด เทียบเคียงได้กับ sorcerer เป็นผู้ทำพิธีกรรมเกี่ยวกับการรักษาความเจ็บไข้ได้ป่วย อันเชื่อว่าเกิดจากการกระทำของผีต่าง ๆ มดจึงเป็นเสมือนแพทย์ผู้ทำหน้าที่รักษาโรคด้วยวิธีทางไสยศาสตร์ (magic) ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่ประกอบด้วยเวทย์มนตร์คาถาและการใช้อำนาจลึกลับต่าง ๆ ที่ถ่ายทอดภายในกลุ่มโดยเฉพาะ ไม่เปิดเผยหรือเผยแพร่ให้แก่คนอื่น ๆ ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นมด ต้องบูชาผีมด ตั้งหิ้งบูชาผีมดแยกจากผีบรรพชนที่อยู่ในเรือน มีข้อกำหนดในการปฏิบัติตนเองที่เป็นข้อห้ามแตกต่างไปจากคนทั่วไป เช่น ห้ามบริโภคเนื้อสุนัข ปู ลิง และตะพาบ
ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นมดได้นั้นพบได้ทั้งเพศหญิงและเพศชาย มดที่เป็นเพศหญิงเรียก “แม่มด” มดที่เป็นเพศชายเรียก “พ่อมด” หรือ “มดลาว” ผู้ที่จะสามารถทำหน้าที่มดได้ต้องมีเชื้อสายที่เกี่ยวโยงกับมด โดยมีพ่อแม่หรือเชื้อสายเคยเป็นมดมาก่อน และผีมดจะมาเข้าทรงแสดงความจำนงว่าอยากให้บุคคลนั้นเป็นมดต่อไป โดยการทำให้บุคคลนั้นเจ็บป่วยเสียก่อน หลังจากนั้นเมื่อบุคคลนั้นตัดสินใจที่จะรับหน้าที่เป็นมดแล้วอาการป่วยก็จะหายไป คนผู้นั้นก็จะเริ่มฝึกหัดเล่าเรียนทางไสยศาสตร์และวิธีการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาคนที่มีอาการเจ็บป่วย ด้วยการติดต่อกับผีแต่ละชนิด ซึ่งมดแต่ละคนอาจจมีความสามารถในการรักษาและการติดต่อกับผีในแต่ละชนิดตามความเชี่ยวชาญเฉพาะที่ถ่ายทอดและสืบต่อกันมา เมื่อมดทำการรักษาผู้ป่วยให้หายแล้ว ผู้ป่วยจะฝากตัวเป็นลูกเลี้ยงของมด โดยจะเผาเสื้อซึ่งเป็นตัวแทนของชีวิตหรือขวัญของตนไปมอบให้มดเก็บรักษาไว้ เพื่อให้ความคุ้มครอง พ้นจากผีร้ายไม่ให้มารบกวน ดังนั้นมดจึงเป็นพ่อแม่ผู้ดูแลชีวิตของผู้ป่วย เมื่อหายป่วยจึงสมัครเป็นลูกเลี้ยงของมด บรรดาลูกเลี้ยงเหล่านี้จะกลับมารวมตัวกันกับมดผู้รักษาเมื่อมีการเสนผีมดหรือเสนอางปางจึงต้องมาเข้าร่วมพิธีด้วย
พ่อมด หรือมดลาว ทำหน้าที่ในการประกอบพิธีกรรมรักษาคนเจ็บป่วยที่มีอาการหนัก เพราะเชื่อว่าเป็นผู้ที่มีเวทมนตร์และเครื่องรางของขลังต่าง ๆ ที่สามารถบังคับผีได้ อำนาจบังคับผีเหล่านี้จะอยู่ในวัตถุที่เป็นเครื่องรางของขลัง เช่น ดาบ พัด เขี้ยวเสือ เขี้ยวหมูป่า ลูกหิน ชิ่นส่วนจากสัตว์ร้ายต่าง ๆ ฯลฯ ผู้ที่เป็นมดลาวจะมีอำนาจมากในการเรียกผีมดและบริวารจากเมืองมด เพื้อมาช่วยต่อสู้แย่งชิงขวัญของผู้ป่วยจากผีได้ หากว่าผีนั้นดื้อรั้นไม่ยอมส่งขวัญของคนไข้คืนให้แต่โดยดี ลักษณะพิเศษประการหนึ่งของมดลาวระหว่างการประกอบพิธีกรรมคือ จะมีผู้ช่วยทำหน้าที่เป่าปี่ตลดพิธี
หมอ เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เทียบเคียงได้กับ priest หมอมีสถานะเป็นผู้รู้หนังสือและรอบรู้เกี่ยวกับระเบียบแบบแผน จารีตประเพณีของบ้านเมือง ทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษาและประกอบพิธีกรรมทางศาสนาแก่เจ้าเมืองและราษฏรทั่วไป เมื่อมีข้อสงสัยและพิพาทซึ่งเกี่ยวข้องกับการกินดีอยู่ดีของประชาชนเกิดขึ้น หมอจะเป็นผู้ให้คำปรึกษาแก่เจ้าเมือง โดยอ้างอิงหลักฐานจากหนังสือและระเบียบประเพณีเก่าของบ้านเมืองเป็นหลัก ฉะนั้นหมอจึงเป็นผู้ที่มีอิทธิพลมากคนหนึ่งในสังคมไทดำ แต่ในกรณีของชาวลาวโซ่ง/ไทดำในประเทศไทย ไม่มีระบบเมืองและการสืบทอดเจ้าเมืองของกลุ่มไทดำ จึงทำให้บทบาทของหมอในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเมืองและเจ้าเมืองของชาวลาวโซ่งในประเทศไทยในส่วนนี้ถูกลดทอดความสำคัญลงไป
ตามธรรมเนียมประเพณี ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นหมอต้องสืบเชื้อสายมาจากตระกูลหรือ สิงเลือง ดังคำกล่าวที่ว่า “เลืองเฮ็ดหมอ ลอเฮ็ดท้าว” ซึ่งมีความหมายว่าสกุลเลืองทำหน้าที่เป็นหมอ ส่วนสกุลลอทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองบ้านเมืองหรือเจ้านาย ทั้งนี้เนื่องจากการเป็นหมอนั้นต้องเรียนรู้ความรู้ในด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับประเพณีแบบแผนจารีตบ้านเมือง ความรู้ทางด้านโหราศาสตร์ และวิธีการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ อย่างละเอียด ความรู้และบทบาทนี้จะถ่ายทอดจากพ่อไปสู่ลูกอย่างใกล้ชิดและผ่านการสืบทอดทางสายตระกูล
ในระยะหลังมีความเปลี่ยนแปลงการสืบทอดหน้าที่หมด โดยมีคนในตระกูลอื่นสามารถเข้ามาทำพิธีนี้ได้ เช่น สิงกา สิงกวาง สิงแดว เป็นต้น ทำให้ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นหมอไม่จำเป็นต้องมาจากตระกูล หรือสิงเลือง ตามที่เคยกำหนดไว้ในอดีตเท่านั้น
ศาสนาและความเชื่อ
ชาวลาวโซ่งในประเทศไทย มีการปรับตัวหันมานับถือพุทธศาสนาตามบริบทของสังคมไทยส่วนใหญ่ เดิมชาวลาวโซ่งไม่ได้นับถือพุทธศาสนา แต่รักษาคติความเชื่อดั้งเดิมได้แก่ ความเชื่อที่เกี่ยวกับขวัญ ผี และแถน และยังคงรักษาแบบแผนคติความเชื่อเหล่านี้ไว้ผ่านการปฏิบัติทางพิธีกรรมโดยเฉพาะพิธีบู่ชาผีบรรพชน ซึ่งยังมีการทำพิธีปากตงเลี้ยงผีบรรพชนกันในทุกรอบ 5 วันสำหรับกลุ่มที่สืบเชื้อสายมาจากตระกูลผู้ท้าว และในทุกรอบ 10 วันสำหรับกลุ่มที่สืบเชื้อสายมาจากตระกูลผู้น้อย อย่างไรก็ดี ในกรณีของกลุ่มชาวลาวโซ่งที่ได้อพยพเคลื่อนย้ายเข้ามาสู่ประเทศไทยมากกว่าสองร้อยปีที่ผ่านมาทำให้แวดล้อมด้วยบริบททางสังคมที่นับถือพุทธศาสนา จึงทำให้เห็นว่าอิทธิพลทางพุทธศาสนาได้เข้าไปกระทบต่อระบบความเชื่อ ศาสนา ของชาวลาวโซ่งในประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เสมอชัย พูลสุวรรณ (2544, 50) ได้ตั้งข้อสังเกตให้เห็นว่า ชาวลาวโซ่งเกือบทังหมดรับนับถือพุทธศาสนาเถรวาทตามอย่างคนไทยภาคกลาย แต่ก็ยังไม่ละทิ้งความเชื่อ ประเพณีการนับถือผีบรรพชนแบบดั้งเดิม ทั้งนี้เพราะชาวบ้านไม่เห็นว่าการนับถือผีขัดกับหลักทางพุทธศาสนา โดยมากให้เหตุผลว่า การประกอบพิธีเสนเรือนเพื่อเซ่นผีบรรพชน ก็เป็นวิธีที่แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบุพการี ตามหลักของพุทธศาสนาด้วย ในส่วนประเพณีอย่างอื่น เช่น ประเพณีการทำศพ แม้ยังคงรักษารูปแบบประเพณีดั้งเดิมไว้ แต่มีการประยุกต์ให้เข้ากับหลักพุทธศาสนาด้วย เช่น มีการนิมนต์พระมาสวดพระอภิธรรม และทำบุญเลี้ยงพระอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตายด้วย
ในส่วนของการนับถือพุทธศาสนา ชาวลาวโซ่งได้มีประเพณีปฏิบัติทางพุทธศาสนาเหมือนกับคนไทยภาคกลาทั่วไป เช่น ประเพณีการบวชเรียนของชายหนุ่มที่มีอายุครบยี่สิปปีบริบูรณ์ การทำบุญในเทศกาลต่าง ๆ เช่น สงกรานต์ เข้าพรรษา และวันสำคัญทางศาสนาอื่น ๆ ในชุมชนของชาวลาวโซ่งขนาดใหญ่มักจะมีวัดประจำชุมชน หากเป็นชุมชนลาวโซ่งขนาดเล็กก็อาจใช้วัดร่วมกับคนไทยด้วย
คริสต์ศาสนา
นอกจากนี้ยังพบว่า มีชาวลาวโซ่งบางกลุ่มนับถือคริสต์ศาสนาด้วย ครอบครัวที่นับถือคริสต์ศาสนาจะไม่มีการนับถือความเชื่อเดิมในระบบผีต่างๆ ประวัติของการนับถือคริสต์ศาสนาของชาวลาวโซ่งในประเทศไทยตามหลักฐานที่ปรากฏ อาจจะเริ่มได้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งที่ศาสนาจารย์ แดเนียล แมคกิลวารี มิชชันนารีคณะเพรสไบทีเรียน ได้เข้าไปทำงานประกาศศาสนาที่เมืองเพชรบุรี ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดฯ ให้สร้างพระนครคีรีเป็นพระราชวังฤดูร้อนขึ้นที่นั่น บันทึกของแมคกิลวารีได้กล่าวถึง “นายอัง” ชาวลาวที่มาเปลี่ยนศาสนา นายอังผู้นี้ ปรากฏชื่อในบันทึกของแหม่มแมรี คอร์ต ที่เดินทางไปเพชรบุรีว่า เป็นชาวลาวที่สังกัดกับกลุ่มที่เธอบรรยายการแต่งกายและวัฒนธรรมที่ทำให้ทราบว่าเป็นลาวโซ่ง (เสมอชัย พูลสุวรรณ 2544, 51-52) ซึ่งก็นับได้ว่าเป็นบันทึกครั้งแรกที่กล่าวถึงชาวลาวโซ่งที่เพชรบุรี ที่ได้มีโอกาสเปลี่ยนไปนับถือคริสต์ศาสนาตั้งแต่เวลานั้น
หลังจากสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา ไม่ปรากฏหลักฐานต่อเนื่องถึงชาวลาวโซ่งในเพชรบุรีที่หันมานับถือศาสนา จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2500 จอห์น แซม มิชชันนารีโปรเตสแตนท์ในคณะดีไซเปิล ได้รายงานว่า เขาได้พบข้อมูลการเผยแพร่คริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิคอีกครั้งหนึ่งในกลุ่มชาวลาวโซ่งเพชรบุรีด้วย โดยกล่าวถึงมิชชันนารีคาทอลิคเข้ามาซื้อที่ดิน แล้วมอบให้ชาวลาวโซ่งเข้าไปทำกินในบริเวณที่เรียกว่า “โคกฝรั่ง” แต่ก็ไม่ปรากฏว่าที่ชุมชนโคกฝรั่งจะกลายเป็นชุมชนชาวลาวโซ่งที่หันมานับหถือคริสต์ศาสนาอย่างยั่งยืนได้
นอกจากนี้ยังมีรายงานกล่าวถึงหมู่บ้านชาวลาวโซ่ง ชื่อบ้านยาง ซึ่งอยู่ระหว่างทางจากนครปฐมไปสุพรรณบุรี โดย อลัน ยูแบงค์ มิชชันนารีโปรเตสแตนท์อีกท่านหนึ่งกล่าวว่า เคยมีมิชชันนารีคาทอลิคเข้ามาซื้อที่ดินผืนใหญ่ห็ชาวบ้านมาเช่าทำกินในราคาถูก และชักจูงให้ชาวบ้านเข้ารีตเป็นคริสตัง แต่เมื่อผ่านเวลามาถึงกลางทศวรรษที่ 1960 เมื่ออลัน ยูแบงค์ เข้ามาสำรวจที่หมู่บ้านนี้ ก็พบว่าเหลือเพียงชาวลาวโซ่งครอบครัวเดียวที่เชื่อในคริสต์ศาสนาอยู่
ในกรณีชาวลาวโซ่งที่นครปฐม พบว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2495 คณะมิชชันนารีกลุ่มใหม่ที่เข้ามาสานต่องานเผยแพร่ศาสนาที่นครปฐมคือ ดร. เอ็ดน่า กีซ กับศาสนาจารย์ จิร์จ เชอรี่โฮมส์ และภรรยา มีความสนใจที่จะเผยแพร่ศาสนาในหมู่ชาวลาวโซ่ง มิชชันนารีคณะดังกล่าวได้ประสานงานร่วมกับอาจารย์บำรุง อดิพัฒน์ จัดซื้อที่ดินสร้างอาคารที่พัก ผู้บริหาร อาคารคลีนิค และอาคารโรงเรียนขึ้นที่ตำบลสามง่าม อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ต่อมามีการสร้างโบสถ์ถาวรแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2513 เป็นที่รู้จักกันในนามของ คริสต์จักรสามแยก ซึ่งถือว่าเป็นศูนย์กลางของชาวลาวโซ่งในแถบนั้น และมีการไปเผยแพร่ศาสนาในหมู่บ้านลาวโซ่งแห่งอื่น ๆ ในบริเวณใกล้เคียงด้วย เช่น บ้านไผ่หูช้าง บ้านแหลมกระเจา เป็นต้น
งานวิจัยของเสมอชัย พูลสุวรรณ (2544) เรื่อง “ลาวโซ่งกับคริสต์ศาสนา” เป็นตัวอย่างของการศึกษาอิทธิพลและกระบวนการของคริสต์ศาสนาในกลุ่มชาวลาวโซ่งในประเทศไทย โดยมีพื้นที่ศึกษาชาวลาวโซ่งบ้านแหลมกระเจา ตำบลลำลูกบัว อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม พบว่าความสัมพันธ์ระหว่างคริสต์ศาสนากับชาวลาวโซ่งแห่งนี้เกิดขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 2500 เมื่อมีมิชชันนารีเข้าไปช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่ชาวบ้านซึ่งประสบภัยนาล่มเนื่องจากถูกน้ำท่วมหลายปีติดต่อกัน หลังจากนั้นมิชชนนารีได้ช่วยสร้างอาชีพเสริมให้กับชาวบ้านในหมู่บ้าน ด้วยการส่งเสริมงานหัตถกรรม โดยมีตัวแทนจำหน่ายอยู่ภายใต้การดูแลของสภาคริสต์จักรแห่งประเทศไทย อีกทั้งมิชชันนารียังให้การสงเคราะห์ในด้านอื่น ๆ อีก เช่น ให้เงินกู้ด้วยดอกเบี้ยราคาถูก นำผู้เจ็บป่วยเข้ารับการรักษาพยาบาลในกรุงเทพฯ ความสัมพันธ์ระหว่างคริสต์ศาสนากับชาวลาวโซ่งจึงเกิดขึ้นผ่านระบบการช่วยเหลืออุปถัมภ์ และทำให้ชาวบ้านได้เริ่มสนใจเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนากับองค์กรคริสต์ ในระดับต่างๆ กัน ตั้งแต่การเข้าร่วมตามมารยาทไปจนถึงการยอมรับเชื่อว่าพระเจ้ามีอยู่จริง และยอมรับศีลเปลี่ยนศาสนาไปเป็นคริสเตียน
งานศึกษาดังกล่าวได้ชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนศาสนาไปเป็นคริสเตียนของชาวลาวโซ่ง ส่วนใหญ่เป็นการเปลี่ยนในฐานะปัจเจกบุคคล ซึ่งหมายถึงว่าอาจมีบางคนในครอบครัวเปลี่ยนไปเข้ารีต แต่ยังมีสมาชิกในครอบครัวคนอื่นที่เป็นฝ่ายชายในครอบครัวเดียวกัน ทำหน้าที่สืบผีของตระกูลอยู่ ทำให้เห็นว่าผีตระกูลยังไม่ได้ถูกละทิ้ง และความสัมพันธ์ทางระบบเครือญาติก็ยังไม่ได้ถูกกระทบมากนัก มีบางครอบครัวที่หัวหน้าครอบครัวยอมเข้ารีตและเลิกประเพณีการบูชาผีบรรพชน พร้อมกับยินยอมใหมิชชันนารีเข้ามาทำพิธียกหิ้งผีบรรพชนออกจากเรือนไป แต่ก็มักเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของชาวบ้านว่าเป็นการทิ้งผีด่อแม่ ทำให้ผู้ที่เปลี่ยนศาสนาได้รับการต่อต้านและแปลกแยกจากสังคม เช่นที่ชาวบ้านจะกล่าวกันว่า “คริสเตียนเป็นพวกที่ละทิ้งผีบรรพบุรุษ พวกนี้จะไม่ประกอบพิธีเสนเรือนอีกต่อไป ปล่อยให้ผีบรรพบุรุษต้องอดอยาก” (เสมอชัย พูลสุวรรณ 2544, ก-ข)
งานวิจัยของเสมอชัย พูลสุวรรณ (2544) ได้ชี้ให้เห็นบทเรียนของการเผยแพร่คริสต์ศาสนาในกลุ่มชาวลาวโซ่งในประเทศไทยว่า สังคมชาวลาวโซ่งมีความเข้มแข็งของระบบความเชื่อดั้งเดิม แม้แต่การที่ชาวลาวโซ่งหันมานับถือพุทธศาสนาด้วยนั้น ก็เกิดขึ้นอย่างค่อนข้างล่าช้ากว่าชนกลุ่มน้อยกลุ่มอื่น ๆ ในภาคกลางของประเทศไทย ระบบความเชื่อดั้งเดิมที่เข้มแข็งของชาวลาวโซ่งจึงเป็นอุปสรรคต่อการเผยแพร่คริสต์ศาสนาให้ได้รับการยอมรับในหมู่ชาวลาวโซ่ง
ที่ผ่านมามิชชันนารียังไม่สามารถหาวิธีการจัดการที่ดีพอต่อการทำความเข้าใจหิ้งผีของชาวลาวโซ่ง ซึ่งมีความหมายมากในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์แทนศูนย์รวมความสัมพันธ์ทางสังคมผ่านระบบเครือญาติที่เหนียวแน่น และสัมพันธ์กับการดำรงอยู่ของการจัดวางสถานะของกลุ่มคนในสังคมของชาวลาวโซ่งตามระบบกลุ่มชั้นของสายตระกูล เมื่อมีการยกหิ้ผีออกจากเรือน จงทำให้เกิดความแปลกแยกต่อระบบความสัมพันธ์ชุดเดิมที่ยึดโยงอยู่ อีกทั้งชาวบ้านยังมีทัศนะว่าการย้ายหิ้งผีออกไปเป็นการละทิ้งผีบรรพชน และถูกตราหน้าว่าเป็นผู้ที่ปล่อยให้ผีบรรพชนอดอยาก ซึ่งหากผีบรรพชนอดอยากก็จะมีผลต่อเนื่องกลับมาทำให้ผู้ที่เป็นลูกหลานไม่สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข ตามความเชื่อเดิมที่รองรับอยู่ ซึ่งคริสต์ศาสนายังไม่สามารถหาทางออกมารองรับความหมายที่ขาดหายไปในทาสังคมภายหลังจากการย้ายหิ้งผีบรรพชนออกจากเรือนในกลุ่มผู้ที่หันมานับถือคริสต์ศาสนาได้ ในทางตรงกันข้าม ชาวล้านลาวโซ่งกลับสามารถปรับความสัมพันธ์ของตนกับคริสต์ศาสนาได้อย่างลื่นไหล โดยสามารถยอมรับสมาชิกที่เปลี่ยนไปนับถือคริสต์ศาสนาได้ในระดับปัจเจกบุคคล ตราบเท่าที่ยังไม่มีผลกระทบต่อระบบการสืบผีของตระกูล ในขณะที่ผู่ที่เปลี่ยนไปเข้ารีตทั้งครอบครัวจะถูกมองว่าเป็นผู้ที่แปลกแยกกับชุมชนไป
ความเชื่ออื่นๆ
ความเชื่อดั้งเดิมของชาวลาวโซ่งคือการนับถือ “ผี” และ “ขวัญ”
ความเชื่อเรื่องผี
เนื่องจากเชื่อว่าผีนั้นเป็นเทพยดาที่ให้ความคุ้มครองพิทักษ์รักษา หรืออาจให้โทษถึงตายได้
“ผีแถน” “ผีฟ้า”
“ผีบ้าน” “ผีเรือน” และ “ผีบรรพบุรุษ” ความเชื่อในเรื่องของผีเรือน หากทำในสิ่งไม่ดีจะเป็นการ “ผิดผี” และถูกลงโทษได้
“ผีป่า” “ผีข่วง” และ ผีอื่นๆ
พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับผีต่างๆ อาจจะจำแนกได้ดังนี้ (รายละเอียดของพิธีกรรมต่าง ๆ โปรดดูในหัวข้อ ประเพณี/เทศกาล/พิธีกรรม)
พิธีกรรมที่เกี่ยวกับแถนหรือผีฟ้า (เทวดาที่อยู่บนฟ้า) ได้แก่ พิธีเสนเต็งหรือเสนผีน้อยจ้อย
พิธีกรรมที่เกี่ยวกับผีเฮือนหรือผีบรรพบุรุษ ได้แก่ พิธีขึ้นบ้านใหม่ พิธีเชิญผีขึ้นเรือน พิธีเสนกวัดไกวหรือเสนกวัดกวาย พิธีเสนปาดตง พิธีปาดตงข้าวใหม่ พิธีเสนเรือน
พีธีกรรมเกี่ยวกับผีมด (ผีที่ทำให้เจ็บป่วย) ได้แก่ พิธีเสนหับมด(หรือเสนฮับมด) พิธีเสนกินปาง พิธีตามขวัญผู้ป่วย พิธีเสนตัว พิธีเสนแก้เคราะห์ พิธีเสนตั้งบั้ง
พิธีกรรมเกี่ยวกับผีเกือด (แม่ซื้อ) ได้แก่ พิธีเสนฆ่าเกือด
พิธีกรรมที่เกี่ยวกับผีประจำหมู่บ้าน ได้แก่ พิธีไหว้ศาลประจำหมู่บ้าน
พิธีกรรมเกี่ยวกับผีนาและแม่โพสพ ได้แก่ พิธีเลี้ยงผีนา พิธีเรียกขวัญข้าวขึ้นยุ้ง
พิธีกรรมที่เกี่ยวกับผีไม่มีญาติหรือผีที่ตายไม่ดี ได้แก่ พิธีทำสังกบาล (สังฆทาน) พิธีนี้ได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนาเข้ามาผสมผสานกับความเชื่อเดิม
พิธีกรรมที่เกี่ยวกับความเชื่อทางพุทธศาสนา ชาวลาวโซ่งที่ตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย ได้รับอิทธิพลทางพุทธศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงมีการปฏิบัติพิธีกรรมตามหลักพุทธศาสนาเหมือนคนไทยทั่วไป เช่น มีการบวชนาค ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า การทำบุญในเทศกาลวันสำคัญทางพุทธศาสนา ตลอดจนงานรื่นเริงประจำปี เช่น สงกรานต์ ปีใหม่ เป็นต้น หากแต่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ทางการแต่งกายเพิ่มขึ้นมา และมิได้ขัดกับพิธีกรรมดั้งเดิมอย่างไร
ความเชื่อเรื่องขวัญ
“ขวัญ” คือสิ่งที่อยู่ติดตัว เป็นสิ่งที่มองไม่เห็น แต่ทำให้ร่างกายมีชีวิต ทำงาน เคลื่อนไหวได้ ขวัญอาจจะตกหายจากการตกใจหรือเจ็บป่วย ขวัญจะไม่อยู่กับตัว ต้องทำพิธีเรียกขวัญ
ไทดำมีความเชื่อพื้นฐานในเรื่องร่างกายและชีวิต โดยที่มีขวัญเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้ร่างกาย(ซึ่งถือว่าเป็นองค์ประกอบทางวัตถุ) มีชีวิตชีวา เคลื่อนไหว และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขวัญเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่สามารถเคลื่อนไหวเข้าออกจากร่างกายได้โดยที่เจ้าของไม่รู้สึกตัว ในยามปกติขวัญจะอยู่ในร่างกาย ทำให้คนมีจิตใจและสุขภาพสมบูรณ์ หากเมื่อขวัญออกจากร่างกายแล้ว ผู้เป็นเจ้าของขวัญอาจเจ็บป่วย หมดเรี่ยวหมดแรง และอาจเสียชีวิตได้หากขวัญไม่กลับคืนมาสู่ร่างกายเหมือนเดิม ดังนั้นเมื่อคนไทดำเกิดอาการเจ็บป่วยทางร่างกายหรือรู้สึกไม่สบายใจ อยู่ไม่เป็นปกติ ก็จะประกอบพิธีเรียกขวัญหรือสู่ขวัญ เพื่อให้ขวัญกลับคืนมาอยู่กลับร่างกายให้เข้าสู่สภาวะปกติเหมือนเดิม ลักษณะขวัญของชาวไทดำมีความแตกต่างจากมโนภาพในเรื่องวิญญาณแบบอินเดียซึ่งจะมองว่าวิญญาณมีเป็นส่วนเดียวไม่อาจแบ่งย่อยลงไปได้ แต่ขวัญของไทดำสามารถแยกย่อยออกได้เป็นจำนวนมาก ชาวไทดำมีคำกล่าวว่า “สามสิบขวัญหน้า ห้าสิบขวัญปลาย” แสดงถึงการที่ขวัญสามารถแยกย่อยออกเป็นองค์ประกอบในส่วนต่างๆ ของร่างกายได้มากมาย เมื่อขวัญส่วนใดไม่อยู่กับร่างกายก็จะทำให้ร่างกายส่วนนั้นไม่ปกติ แต่ถ้าขวัญทั้งหมดไม่อยู่กับร่างกายแล้ว ก็จะทำให้เสียชีวิต
เมื่อชาวไทดำเสียชีวิต ขวัญส่วนต่างๆ ที่อยู่ในร่างกายก็จะแยกย้ายกันออกจากร่าง ไปอยู่ตามสถานที่ต่างๆ เพื่อไม่ให้ขวัญของคนตายกระจัดกระจายไปจนควบคุมไม่ได้ ในพิธีศพจะมีการทำพิธีช้อนขวัญ เพื่อรวมขวัญต่างๆ ของคนตายให้เข้ามาอยู่ร่วมกัน ในขณะที่ขวัญในส่วนที่สำคัญ เช่น ขวัญกก หรือขวัญต้น จะถูกส่งให้กลับไปอยู่ยังเมืองฟ้ากับบรรพชนที่เสียชีวิตไปก่อนหน้านั้นแล้ว ในพิธีศพจึงจะมีขั้นตอนในการสวดบอกทางให้ขวัญเดินทางกลับไปหาบรรพชนบนเมืองฟ้าตามเส้นทางได้อย่างถูกต้อง ส่วนที่เรียกว่า ขวัญปลาย ของผู้ตายจะถูกนำไปอยู่ที่ป่าช้า (ป่าแฮ่ว) ซึ่งเป็นที่ฝังศพหรือฝังกระดูกของผู้ตาย(ในกรณีเผา) ที่ป่าช้าจะปลูกเรือนหลังเล็กๆ คร่อมบนหลุมศพของผู้ตายเรียกว่า เฮือนแฮ่ว หากผู้ตายเป็นคนสูงอายุจะมีการสร้างเรือนเล็กอีก 1 เรือน ตั้งคู่กับเฮือนแฮ่ว เรียกว่า หอแก้ว ขวัญอีกส่วนหนึ่งคือ ขวัญหัว ของผู้ตาย เมื่อเสร็จจากพิธีจัดการศพจะทำการเชิญขวัญหัวให้กลับมาอยู่บนเรือนของลูกชาย บนเรือนจะมีห้องที่จัดแบ่งพื้นที่ไว้เฉพาะสำหรับเป็นที่อยู่ของบรรพชน เรียกว่า กะลอห่อง ลูกหลานในตระกูลจะทำพิธีเซ่นไหว้เลี้ยงผีบรรพบุรุษเป็นประจำทุก 10 วัน ซึ่งจะเป็นรอบกำหนดของแต่ละตระกูล (สิง) ตามรอบการนับวันของไทดำเรียกพิธีเลี้ยงผีในรอบ 10 วันนี้ว่า “เวนตง” หรือ “ปาดตง” ซึ่งเป็นการทำพิธีเลี้ยงผีในระดับของแต่ละครอบครัว และในแต่ละปีจะมีการเซ่นไหว้ที่เรียกว่าเสนเฮือน ซึ่งจะเป็นพิธีใหญ่ที่ต้องเชิญลูกหลานเครือญาติในสายตระกูลเข้ามาร่วมพิธี
ลูกชายจึงมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้สืบทอดระบบสายตระกูลและระบบผีบรรพชน หากบ้านใดไม่มีลูกชายเป็นผู้สืบทอด เมื่อพ่อแม่เสียชีวิตลง ลูกสาวจะเชิญขวัญของพ่อแม่กลับไปอยู่ด้วย แต่ขวัญพ่อแม่ของผู้เป็นลูกสาวนี้จะไม่มีสิทธิ์ขึ้นไปอยู่บนกะลอห่อง ซึ่งเป็นที่อยู่ของผีตระกูลของสามีของลูกสาว เนื่องจากลูกสาวเมื่อแต่งงานแล้วจะถูกตัดออกจากผีตระกูลเดิมของตนและไปเข้ากับผีบรรพชนในตระกูลของสามีแทน ดังนั้น กรณีที่พ่อแม่ไม่มีลูกชาย แต่เมื่อลูกสาวจำเป็นต้องเชิญขวัญพ่อแม่ไปอยู่ด้วยเมื่อตายแล้ว ขวัญของพ่อแม่ลูกสาวคนนั้นจะได้รับอนุญาตให้เพียงแค่ปลูกเป็นหอหรือศาลเล็กๆ อยู่นอกเรือน ใกล้ๆ กับบ้านของลูกเขยเท่านั้น
สำหรับกรณีของเด็กหรือคนหนุ่มสาวที่ตายไปก่อนวัยอันควรหรือยังไม่ได้แต่งงาน ขวัญของผู้ตายจะไม่ได้ถูกเชิญให้กลับมาอยู่กับบรรพชนที่บ้าน แต่จะถูกส่งขึ้นไปบนเมืองฟ้า ให้ไปอยู่รวมกันบนพื้นที่ที่ถูกจัดไว้ เพื่อมิให้ขวัญผีกลุ่มนี้ล่องลอยไร้จุดหมายเป็นอันตรายต่อคนที่มีชีวิตอยู่
ความเชื่อในเรื่องขวัญของไทดำจึงสะท้อนให้เห็นการจัดระเบียบความสัมพันธ์ของชีวิตที่เป็นปกติ ชีวิตไม่ปกติ(การเจ็บไข้ได้ป่วย) และความตาย ไปจนถึงการจัดระเบียบพื้นที่ของโลกมนุษย์สำหรับการดำเนินชีวิตของคนปกติ กับโลกหลังความตายซึ่งมีพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับซากชีวิตอันได้แก่บริเวณป่าแฮ่ว และพื้นที่ของชีวิตหลังความตายซึ่งชาวไทดำเรียกว่าเมืองฟ้า ซึ่งเป็นที่อยู่ของบรรดาขวัญของคนที่ตายไปแล้วกลุ่มต่างๆ รวมทั้งบรรพชนแต่ละสายตระกูล ร่วมกับบรรดาผีแถนผู้มีอำนาจในการควบคุมชีวิตและระบบธรรมชาติ ซึ่งสะท้อนให้เห็นระบบจักรวาลวิทยาของชาวไทดำจากความเชื่อในเรื่องขวัญ
พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์
กะล้อห่อง เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ในบ้านหรือเรือนที่อยู่อาศัยของชาวไทดำ เป็นห้องพิเศษที่เป็นที่สำหรับตั้งหิ้งผีบรรพชนหรือผีเรือน และเป็นพื้นที่ที่ใช้งานได้เฉพาะในพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงผีเท่านั้น จึงถือว่ากะล้อห่อง เป็นพื้นที่ต้องห้ามสำหรับบุคคลทั่วไป
ป่าแฮ่ว คือป่าช้า เป็นที่ฝังกระดูกหรือฝังศพของคนตาย หมู่บ้านของชาวไทดำ จะมีป่าแฮ่วตั้งอยู่ในส่วนที่เป็นท้ายหมู่บ้าน ไม่ตั้งอยู่กลางชุมชน เป็นพื้นที่เฉพาะในพิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย หากไม่มีความจำเป็นหรือไม่ถึงเวลาประกอบพิธีกรรม จะเป็นพื้นที่ต้องห้ามที่บุคคลทั่วไปไม่จำเป็นต้องเข้าไปใช้ ทุกครั้งที่มีการประกอบพิธีกรรมในป่าแฮ่วเสร็จสิ้น จะต้องทำพิธีรับขวัญให้กับสมาชิกของคนในครัวเรือนที่ไปร่วมพิธีนั้นเสมอ
การรักษาโรคตามประเพณี อาศัยผู้ประกอบพิธีกรรมในการดูแลรักษา ซึ่งจะต้องมีมดหรือหมอเป็นผู้ชำนาญในการทำหน้าที่รักษาโรค โดยมีการเสี่ยงทายให้ทราบว่าผีประเภทใดทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย หลังจากนั้นมดหรือหมอจะเป็นผู้ทำการรักษาด้วยวิธีการที่จะทำให้ผีประเภทนั้นพอใจ การรักษาจึงอาศัยการใช้เวทย์มนต์และไสยศาสตร์ มีการนำสมุนไพรมาประกอบการรักษาในบางกรณี
การรักษาด้วยวิธีการแบบดั้งเดิม โดยอาศัยมดหรือหมอจึงอาศัยการใช้เวทย์มนต์และไสยศาสตร์ มีการนำสมุนไพรมาประกอบการรักษาในบางกรณี
ชาวไทดำส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีสุขภาพดี มีอายุยืนยาว ไม่เป็นโรคขาดสารอาหารืเนื่องจากสัคมไทดำโดยพื้นฐานเป็นกลุ่มที่เป็นเจ้าของกิจกรรมการเกษตร เพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ด้วยชุมชนของตนเอง ไม่ได้มาจากการอาศัยการแลกเปลี่ยนเพื่อได้มาซึ่งอาหาร จึงมีอาหารพื้นฐานค่อนข้างพอเพียง
ในการรักษาแบบดั้งเดิม เรียกผู้ที่มีความสามารถประกอบพิธีกรรมรักษาว่า มดหรือหมอ ในบรรดามดหรือหมอกลุ่มนี้ ผู้ที่มีความสามารถในการรักษามากจะเรียกว่ามดลาว ซึ่งในการประกอบพิธีกรรมรักษาของมดลาวจะมีการเป่าปี่ประกอบพิธีกรรมรักษาด้วย
ปัจจุบันการแพทย์แผนใหม่เข้าถึงชุมชนไทดำในทุกแห่ง จึงมีการปรับวิธีการรักษาจากการรักษาแบบดั้งเดิมโดยใช้มดหรือหมอในพิธีกรรมรักษา มาเป็นการรักษาโดยระบบการแพทย์และการสาธารณสุขสมัยใหม่มากขึ้น
เพลงขับ ชาวลาวโซ่ง/ไทดำ มีเพลงขับซึ่งแบ่งได้เป็น 2 ประเภทตามลักษณะการใช้งาน คือ เพลงขับที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมความเชื่อ เช่น เพลงขับในพิธีเสน เพลงขับในพิธีศพ และเพลงขับที่ใช้ในงานรื่นเริงทั่วๆ ไป ซึ่งชาวลาวโซ่งจะเรียกเพลงขับชนิดนี้ว่า ขับสายแปง มักใช้เล่นในงานประเพณีอิ่นกอนหรือเล่นคอน (เล่นลูกช่วง)
เพลงขับสายแปง
งานวิจัยเรื่อง วัฒนธรรมไทยโซ่ง ภาพสะท้อนผ่านเพลงขับสายแปง ของพิเชฐ สีตะพงศ์ และไอยเรศ บุญฤทธิ์ (2556, 42-46) ได้อธิบายเพลงขับสายแปงไว้ว่า
ขับสายแปง หมายถึง การเอื้อนเอ่ยเนื้อความ (กลอน) ของชาวไทยโซ่งเป็นทำนองไพเราะ อ่อนหวาน อ่อนโยน และความรัก มีทำนองไม่ซับซ้อน เรียบง่าย ภาษาในการบรรยายถึงภาพชีวิตในแง่มุมต่างๆ อย่างงดงาม เพื่อทักทาย บอกเรื่องราว หรือโต้ตอบกัน มีอยู่ในกิจกรรมทางวัฒนธรรมของไทยโซ่งในงานรื่นเริงทั่วไป เช่น อิ่นกอน (เล่นลูกช่วง) การเรียกขวัญ การลงขวง (การเกี้ยวสาว-หนุ่ม) งานเทศกาลประจำปี (ช่วงสงกรานต์) เป็นต้น
เพลงขับสายแปง แบ่งประเภทตามเนื้อหาในขับลำนำ และแบ่งหน้าที่ตามลักษณะการใช้งานดังนี้
ขับทักทาย (ขับสายแปง) แสดงความรัก ความหวังดี มีอยู่ในประเพณีอิ่นกอน เป็นการขับทักทายกัน แสดงความรักความหวังดีต่อกันระหว่างผู้เล่นลูกช่วงของฝ่ายหญิงปละฝ่ายชาย คำขึ้นต้นของคำขับ จะมีคำส่า “แปง” อยู่ จึงเรียกคำขับทักทายนี้ว่า ขับสายแปง
ขับแปงขวัญ คือการขับเรียกขวัญ ให้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ตามความเชื่อเรื่องขวัญของชาวไทยโซ่งว่า ขวัญเป็นสิ่งสำคัญในตัวคนทุกคน คราวใดถ้าขวัญหนีออกไปจะเป็นเหตุให้เจ็บป่วย จึงต้องมีการเรียกขวัญกลับคืนมา การขับสายแปงเพื่อเรียกขวัญ มีพิธีกรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง มีการแบ่งช่วงของการขับออกเป้น 2 ช่วง คือ การขับสายแปงเรียกขวัญ และการขับสายแปงเพื่อเชิญขวัญมากินของเซ่นไหว้
ขับเอิ้นพร หรือ แปงพร เป็นการกล่าวความขอบคุณ และอวยพรให้แก่เจ้าของบ้านที่ให้การต้อนรับ และความสะดวกแก่ผู้มาเยือน ให้มีความอยู่ดี มีสุข
ขับเล่าเรื่อง เป็นการบอกเรื่องราว มีบทบาทหน้าที่คล้ายกับนิทาน ที่ขับเพื่อเล่าเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประวัติความเป็นมา นิทานไทยโซ่ง หรือเรื่องที่ต้องการสอนเกี่ยวกับศีลธรรม มีทั้งที่บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร และสืบทอดกันปากต่อปาก
ขับเกี้ยวสาว-หนุ่ม มีอยู่ในประเพณีอิ่นกอน (เล่นคอน, เล่นลูกช่วง) ในช่วงเดือนห้า เป็นช่วงพักผ่อนเลิกจากการทำนา หนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่จะเดินทางไปเที่ยวตามหมู่บ้านต่างๆ เพื่อขอเล่นลูกช่วง ตามขวง (ลานบ้านของสาวที่รับเป็นหัวหน้าในหมู่บ้านนั้น) ขับสายแปงเกี้ยวสาว-หนุ่ม จัดได้ว่าเป็นกิจกรรมบันเทิงที่สานสัมพันธ์ระหว่างชาย-หญิง เป็นเพลงปฏิพากย์ที่มีการโต้ตอบกัน คล้ายกับเพลงอีแซว เพลงฉ่อยในวัฒนธรรมไทย เนื้อหาต่างๆ ที่อยู่ในเพลงขับสายแปงประเภทนี้ มักเชื่อมโยงเอาโลกของนิทาน ธรรมชาติ วิถีชีวิต มาเปรียบเปรยกับหญิงที่สนใจ หรือชายหนุ่มที่หมายปองได้อย่างลงตัว และงดงามในเชิงภาษาการเปรียบเทียบ เช่น บทเกี้ยวสาวจากการบอกเล่าของคุณสำรวย จันทร์ผ่อง จังหวัดเพชรบุรี กล่าวถึงบทเกี้ยวสาวที่เปรียบเปรยความรักของหนุ่มสาวที่เหมือนกับเส้นหวาย เถาวัลย์ที่พันเกี่ยวกับต้นไม้อย่างเหนียวแน่น หากจะดึงความรักของชาย-หญิงคู่นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้พละกำลังอย่างมหาศาล โดยใช้ช้างมาลากดึงออกไป เป็นต้น ภาพสะท้อนของการเปรียบเทียบดังกล่าว ทำให้เห็นภาพของธรรมชาติที่ผูกพันอยู่กับวิถีชีวิต
ขับกล่อมเด็ก เพื่อให้เด็กนอนเช่น บทขับว่า
“นอนซะเนอ ลุหล่า นอนเหยอ
มะนอนโตไก่จิมาตอดตา
โตหมาจิมากินก้น
โตอ้นจิมากินหำ”
เพลงขับสายแปงกล่อมเด็ก เป็นเพลงขับสายแปงประเภทหนึ่งที่ปัจจุบันไม่มีผู้ขับให้เห็นแล้ว
ข้อสังเกตประการหนึ่งที่งานวิจัยของพิเชฐ สีตะพงศ์ และไอยเรศ บุญฤทธิ์ (2556,46) อธิบายถึงลักษณะเฉพาะของเพลงขับที่เรียกว่า “เพลงขับสายแปง” คือ ไม่มีการขับสายแปงในการทำพิธีที่เกี่ยวข้องกับผีบรรพบุรุษ พิธีเสนต่างๆ การขับลำนำนั้นคงมีในกิจกรรมทั้งที่มีความบันเทิง การละเล่น และกิจกรรมประเพณีที่เกี่ยวข้องกับการเสน การบูชาผีบรรพบุรุษและสะเดาะเคราะห์ เป็นต้น เพียงแต่ว่าการขับลำนำเหล่านั้นจะไม่เรียกว่าขับสายแปง เพราะขับสายแปงเป็นเรื่องราวของความรัก โดยเฉพาะความรักฉันท์หนุ่มสาว ที่มีการใช้ในประเพณีอิ่นกอน และยังคงใช้เรียกคำขับที่มีเนื้อความไม่เกี่ยวกับความรัก ว่าเป็นขับสายแปงด้วย เช่น คำขับอวยพร คำขับเล่าเรื่อง คำขับแปงขวัญ คำขับกล่อมเด็ก เป็นต้น
การร่ายรำ ปัจจุบันชาวไทดำในประเทศไทยนิยมการรำฟ้อน ซึ่งได้รับอิทธิพลจากการฟ้อนรำในสังคมไทยเข้าไปผสมผสาน ทำให้เกิดการประยุกต์การรำแบบดั้งเดิมที่เรียกว่าแส่ ร่วมกับการสร้างท่ารำใหม่ ๆ สำหรับใช้ในการแสดงทั้งในการแสดงตามเทศกาลงานประเพณี และการแสดงรื่นเริงเนื่องในโอกาสของการท่องเที่ยว
เครื่องดนตรี
แคน เครื่องดนตรีสำคัญของชาวไทดำคือแคน เป็นเครื่องดนตรีที่ผู้ชายมักจะใช้เล่นในการรื่นเริง หากมีการรำฟ้อนประกอบกับการเป่าแคน ก็จะเรียกว่าเป็นการฟ้อนแคน หรือรำแคน ในปัจจุบันมีการใช้จังหวะดนตรีสมัยใหม่ร่วมกับการเป่าแคน ทำให้เกิดดนตรีแคนแบบประยุกต์เกิดขึ้น
ปี่ เป็นเครื่องดนตรีที่ใช้เฉพาะในงานพิธีกรรม โดยเฉพาะพิธีกรรมที่มีผู้ประกอบพิธีมีฐานะสำคัญหรือเป็นพิธีกรรมใหญ่ จะมีการบรรเลงปี่ประกอบ
การละเล่นพื้นบ้าน
ในอดีตช่วงเดือน 5 และเดือน 6 เป็นช่วงเวลาแห่งการพักผ่อนของชาวลาวโซ่ง จึงจัดให้มีการละเล่นต่างๆ เช่น การลงขวง การเล่นคอน (เล่นลูกช่วง) การเล่นสะบ้า การเล่นผีมดแดง การเล่นตะกร้อ (เรณู เหมือนจันทร์เชย 2540) แต่การละเล่นเหล่านี้ได้คลายลงไปในปัจจุบัน สาเหตุเนื่องจากปัจจุบันชาวลาวโซ่งต้องทำมาหากินโดยไปทำงานรับจ้าง ทำสวนเกษตร และทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้ไม่มีเวลามาร่วมงานรื่นเริง เพราะเสียเวลาทำมาหากิน
การอิ่นกอน (เล่นคอนหรือเล่นลูกช่วง)
ในปัจจุบันการละเล่นดังกล่าว ถูกจัดให้เป็นกิจกรรมรื่นเริงในงานสืบสานอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมไททรงดำ เช่น วันสงกรานต์มีการอิ่นกอน (เล่นคอนหรือลูกช่วง) ชาวลาวโซ่ง/ไทดำได้บอกเล่าประเพณีเล่นคอนในอดีตไว้ว่า เมื่อถึงช่วงตราสงกรานต์ หนุ่มสาววัย 16-17 ปี จะออกมาเกี้ยวกัน โดยพวกผู้ชายจากหมู่บ้านหนึ่งจะไปเล่นรำแคนกับผู้หญิงอีกหมู่บ้านหนึ่ง ซึ่งเรียกกันในภาษาของไทดำว่า “เล่นคอน” ประเพณีนี้ทำให้ชายหญิงมีความสนิทสนมกัน เมื่อชอบพอกันผู้ชายก็จะให้พ่อแม่ไปสู่ขอฝ่ายหญิง (ม. ศรีบูรพา 2522, 123) เอกสารบางชิ้นกล่าวว่าการเล่นคอนมีขึ้นในช่วงเดือน 5 ทั้งเดือน โดยทั่วไปหนุ่มๆ มักจะไปเล่นคอนที่หมู่บ้านอื่น ส่วนใหญ่จะไปเล่นกันทีละ 5-10 คน ซึ่งจะมีทั้งหมอแคน หมอขับ หมอลำ ไปด้วยกัน การแต่งกายในการออกไปเล่นคอนจะเป็นการพิเศษขึ้นทั้งหญิงและชาย มีการสวมเสื้อฮีไม่เอาลายออก ผู้หญิงก็จะแต่งด้วยสไบ ผ้าซิ่น กางเกง ให้เป็นที่สนใจ (รัชพล ปัจพิบูลย์ 2538, 57) ในการเล่นคอนฟ้อนแคนนั้น จะมีการเล่นลูกช่วง คือการโยนผ้าห่อให้อีกฝ่ายหนึ่งรับ ฝ่ายที่รับไม่ได้ก็จะต้องถูกทำโทษตามคำสั่งของอีกฝ่ายหนี่ง (ธิดา ชมพูนิช 2539, 31)
ในการละเล่นนี้จะมีการทำลูกมะก๊อน (ลูกคอนหรือลูกช่วง) ไว้จำนวนหนึ่ง แบ่งฝ่ายหญิงฝ่ายชาย แต่ละฝ่ายผลัดกันโยนลูกมะก๊อนเรียกว่า “ต๊อดมะก๊อน” หากอีกฝ่ายหนึ่งรับไม่ได้ก็ต้องทำตามคำสั่ง เช่น ให้ฟ้อนรำ เป็นต้น ในระหว่างการต๊อดมะก๊อนจะมีการพูดจาโต้ตอบ หยอกล้อกัน ดังนั้นนอกจากให้ความสนุกสนานแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ฝ่ายชายได้เกี้ยวพาราสีฝ่ายหญิงอีกด้วย ขณะที่หนุ่มสาวเล่นคอนกัน พ่อขับแม่ขับซึ่งเป็นผู้มีความสามารถเชี่ยวชาญในการร้องเพลงขับ ก็จะขับลำนำโต้ตอบกันท่ามกลางเสียงแคน (สมทรง บุรุษพัฒน์ และคณะ 2554, 83)
พรพิมล ชันแสง (2541, 63-110) อธิบายเพิ่มเติมว่า การอิ่นกอนหรือเล่นคอน แบ่งเป็น 2 ประเภท
อิ่นกอนเดียว หรือ อิ่นกอนกลับ คือการเล่นคอนที่เมื่อเลิกเล่นแล้ว ชายหนุ่มที่มาร่วมเล่นคอนต่างก็แยกย้ายกันกลับหมู่บ้านของตนเองเมื่อการละเล่นเสร็จสิ้นในแต่ละครั้ง
อิ่นกอนค้าง หากชายหนุ่มที่เล่นคอนยังไม่กลับหมู่บ้าน เมื่อเล่นเสร็จในแต่ละครั้งแล้ว ก็จะเดินทางต่อไปเพื่อขอแสวงหาขวงหรือข่วง ที่ยินยอมให้กลุ่มตนได้อิ่นกอนด้วย
เกี่ยวกับคำอธิบายความหมายของคำว่าอิ่นกอน มีการตีความแตกต่างไปตามความเข้าใจของผู้ศึกษา งานวิจัยของพิเชฐ สีตะพงศ์ และไอยเรศ บุญฤทธิ์ (2556, 38-39) ได้พยายามตรวจสอบและอธิบายไว้ว่า ประเพณีอิ่นกอน มีคำเรียกได้หลายอย่าง เช่น อิ่นก๋อน เล่นคอน เล่นช่วง ส่วนลูกช่วงซึ่งเป็นคำไทย มีคำเรียกแทนได้เช่น มะกอน มะก๋อน ลูกคอน เป็นต้น งานวิจัยบางชิ้นโยงคำว่า คอน หรือ กอน ไปสัมพันธ์กับคำว่า กลอน ในภาษาไทย เช่น ของ จิรัชฌา วานิช (2541, 22, 25) กล่าวว่า การอิ่นกอนคือการด้นกลอนสดโต้ตอบเกี้ยวพาราสีกันระหว่างชาย-หญิง การให้ความหมายดังกล่าวให้เหตุผลว่า เพราะในประเพณีอิ่นกอนมีการขับลำนำ ที่เรียกว่า ขับสายแปง ซึ่งเป็นการขับโต้ตอบกันระหว่างชาย-หญิง จึงทำให้แปลความหมายคำว่า อิ่นกอน ว่า เล่นกลอน แต่จากการสอบถามผู้ให้ข้อมูลที่สำคัญของโครงการวิจัย วัฒนธรรมไทยโซ่ง ภาพสะท้องผ่านเพลงขับสายแปง ของพิเชฐ สีตะพงศ์ และไอยเรศ บุญฤทธิ์ (2556) คุณแม่บุญสม มียอด ท่านบอกไว้ว่า ไม่ได้หมายความว่าอย่างนั้น เล่นคอน ก็คือเล่นลูกช่วง ลูกช่วงเป็นภาษาไทย ภาษาไทยโซ่งเรียก มะกอน หรือ ลูกคอน
งานวิจัยนั้นจึงสรุปว่า อิ่นกอน คือ เล่นคอน หรือ เล่นช่วง (เล่นโยนลูกช่วง) ลูกช่วง ในภาษาไทยโซ่ง เรียกว่า มะกอน มะก๋อน ลูกคอน คำว่า ต๊อดมะก๋อน ก็คือ โยนลูกคอน หรือโยนลูกช่วงในภาษาไทย ส่วนการเล่นกลอนโต้ตอบกันนั้น ไทยโซ่งเรียกว่า “ขับสายแปง” คือการขับลำนำอย่างหนึ่ง ที่เกี่ยวกับความอ่อนหวาน อ่อนโยน ความน่ารัก ใช้ทักทาย และเชื่อมสายสัมพันธ์กันระหว่างหนุ่มสาวในการเล่นอิ่นกอน
วรรณกรรม/ตำนาน
เนื่องจากชาวไทดำเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีระบบการเขียนเป็นของตนเอง ดังนั้นเรื่องราวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ ตำนาน นิทาน เรื่องเล่าพื้นถิ่น สำนวน สุภาษิต วรรณกรรม จึงถูกบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ประเพณีการบันทึกอักษรของชาวไทดำยังคงสืบทอดและพบเห็นอยู่ในกลุ่มไทดำทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นในเวียดนาม ลาว และประเทศไทย ศาสตราจารย์คำจอง (คำจอง 2538, 196 และ คำจอง ใน ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และพิเชฐ สายพันธ์ 2553, 167-168) ได้แบ่งกลุ่มวรรณกรรมไทดำ ที่ถูกบันทึกอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรในระบบการเขียนของไทดำ ออกเป็น 3 ประเภทคือ
กลุ่มเอกสารประวัติศาสตร์ หรือเรียกว่า “ความเจียนลาง” ประกอบด้วย ความโทเมือง ควมไต่ปู่ศึก ความแฝงเมือง ความศึกหาญธงเหลือง ความคำบุนอวาย ความศึกฮั่นฟ่านเมืองซำ ความศึกแม้ว
ความเปียดเมือง
1) กลุ่มเอกสารพิธีกรรม-ฮีตบ้านคองเมือง ได้แก่
-ฮีตปลูกท้าวแปลงกวาน
-ฮีตเสน มีหลายประเภทของพิธีเสน ได้แก่ เสนปางแปลง เสนจา เสนต๋งกุ๋ย เสนเมืองเต๋นางหาญ เสนแก้เขอ ป่าวขวัญ เมืองฟ้าเมืองลุ่ม ฆ่าเข่าเรือน กายปวงรักปวงใจ ความสื่อนาง (ไทขาว) ความตือกำ ความตาเติง น้อยเติงหลวง ความขอตีฆ้องกลอง ความขอนาง ล่ามทาง ความสอนคน พับมื้อ (มื้อจันวันดี)
2) กลุ่มเอกสารวรรณคดี เรียกว่า “ความสือบาก” วรรณคดีบางเรื่องรับอิทธิพลมาจากจีนและเวียดนาม บางเรื่องก็แพร่หลายร่วมกับวรรณกรรมล้านช้าง เช่น ส่งชู้สอนสาว ขุนลูนางอั้ว เจืองหาญ (ท้าวฮุ่ง) สีทาดสีลา สีทน ท้าวแม่งตง วันฮวาน นางนี นางเจียวกวน สามก๊กทกาดงท้าวคำแปง บากเมืองกายา นางบอก็อด นางลิ่วเก่า จางเหงวียน (จอหงวน) นางกกฮวา
ในปัจจุบัน เอกสารดังกล่าวนี้กระจัดกระจายอยู่ตามที่ต่างๆ ทั้งหน่วยงานของรัฐบาล(เวียดนาม) และสมบัติส่วนตัวของคนไท
สถานการณ์ปัจจุบันและสภาพปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การเมืองการปกครอง
สถานการณ์ทั่วไปของชุมชน
สังคมชาวลาวโซ่ง/ไทดำ ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของแต่ละประเทศที่คนกลุ่มนี้ตั้งถิ่นฐานอยู่ ดังนั้นอิทธิพลของการผสมผสานวัฒนธรรมที่มาจากวัฒนธรรมแห่งชาติของแต่ละประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในกรณีของกลุ่มชาวลาวโซ่ง/ไทดำที่ตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย ได้รับวัฒนธรรมไทยที่ส่งอิทธิพลต่อกลุ่มชาวลาวโซ่ง/ไทดำที่อาศัยอยู่ในบริเวณต่าง ๆ ในประเทศไทย รวมทั้งได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมท้องถิ่นที่แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค เช่น ชาวไทดำในภาคใต้ของประเทศไทย ต้องปรับตัวและเปลี่ยนวิถีชีวิตทางการเกษตรกรรมจากการทำนา มาเป็นการปลูกสวนปาล์ม ชาวไทดำที่อาศัยอยุ๋ในภาคกลางของประเทศไทย โดยเฉพาะแถบจังหวัดนครปฐม ต้องปรับตัวเป็นอย่างมากต่อการรุกล้ำพื้นที่เกษตรกรรมเพื่อเปลี่ยนแปลงเป็นพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม ในฐานะที่เป็นพื้นที่สำคัญของเมืองบริวารที่เป็นชานเมืองของกรุงเทพมหานคร
นโยบายและการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับชุมชน
นโยบายและการพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจและการเมืองของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน ในกรณีกลุ่มชาวลาวโซ่ง/ไทดำในประเทศไทยนโยบายตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตั้งแต่ทศวรรษที่ 2500 เป็นต้นมา มีผลต่อการปรับตัวและการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการแสวงหาที่ดินทำกินของชาวลาวโซ่ง/ไทดำอีกครั้งหนึ่ง ลักษณะของการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของชาวลาวโซ่ง/ไทดำ จะเกิดขึ้นจากการขายที่ดินของตนเองและออกไปตั้งถิ่นฐานใหม่ ซึ่งมีทั้งการไปตั้งถิ่นฐานร่วมกับกลุ่มชาวลาวโซ่ง/ไทดำที่เคยอพยพโยกย้ายไปอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ มาก่อนแล้ว และการตั้งชุมชนไทดำขึ้นมาใหม่ในบริเวณใกล้เคียง การเปลี่ยนแปลงทางอาชีพจากการทำเกษตรกรรมโดยส่วนใหญ่เข้ามาสู่การทำงานภาคอุตสาหกรรมและบริการมากขึ้น นอกจากนี้นโยบายทางวัฒนธรรมของรัฐไทยในด้านการส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ทศวรรษที่ 2530 เป็นต้นมา ได้มีผลทำให้กระบวนการฟื้นฟูและการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทดำในประเทศไทยได้รับความตื่นตัว ทั้งการส่งเสริมจากภาครัฐและความพยายามฟื้นฟูวัฒนธรรมโดยกลุ่มไทดำด้วยกันเอง เช่น มีการตั้งพิพิธภัณฑ์ไทดำในแต่ละชุมชน ทั้งในส่วนที่เป็นพิพิธภัณฑ์ไทดำของเอกชนชาวไทดำ และพิพิธภัณฑ์ไทดำที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานท้องถิ่นของภาครัฐ เช่น โรงเรียน เทศบาล เป็นต้น รวมทั้งมีการจัดตั้งกลุ่มชมรมและสมาคมของชาวไทดำเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางวัฒนธรรมท้องถิ่นในแต่ละแห่งเพิ่มมากขึ้น
ผลที่เกิดจากนโยบายและการพัฒนา
นโยบายตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตั้งแต่ทศวรรษที่ 2500 เป็นต้นมาของประเทศไทย มีผลต่อการปรับตัวและการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการแสวงหาที่ดินทำกินของชาวลาวโซ่ง/ไทดำในด้าน ลักษณะของการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของชาวลาวโซ่ง/ไทดำ ซึ่งเกิดขึ้นจากการขายที่ดินของตนเองและออกไปตั้งถิ่นฐานใหม่ มีทั้งการไปตั้งถิ่นฐานร่วมกับกลุ่มชาวลาวโซ่ง/ไทดำที่เคยอพยพโยกย้ายไปอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ มาก่อนแล้ว และการตั้งชุมชนไทดำขึ้นมาใหม่ในบริเวณใกล้เคียง
การเปลี่ยนแปลงทางอาชีพจากการทำเกษตรกรรมโดยส่วนใหญ่เข้ามาสู่การทำงานภาคอุตสาหกรรมและบริการมากขึ้น ตลอดจนผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมจากโรงงานอุตสาหกรรมที่เข้ามาตั้งในบริเวณที่ใกล้เคียงหรือตั้งอยู่ในชุมชนชาวไทดำมีจำนวนมากขึ้น
นโยบายทางวัฒนธรรมของรัฐไทยในด้านการส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ทศวรรษที่ 2530 เป็นต้นมา มีผลทำให้กระบวนการฟื้นฟูและการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทดำในประเทศไทยได้รับความตื่นตัว ทั้งการส่งเสริมจากภาครัฐและความพยายามฟื้นฟูวัฒนธรรมโดยกลุ่มไทดำด้วยกันเอง เช่น มีการตั้งพิพิธภัณฑ์ไทดำในแต่ละชุมชน ทั้งในส่วนที่เป็นพิพิธภัณฑ์ไทดำของเอกชนชาวไทดำ และพิพิธภัณฑ์ไทดำที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานท้องถิ่นของภาครัฐ เช่น โรงเรียน เทศบาล เป็นต้น รวมทั้งมีการจัดตั้งกลุ่มชมรมและสมาคมของชาวไทดำเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางวัฒนธรรมท้องถิ่นในแต่ละแห่งเพิ่มมากขึ้น
ด้านอื่นๆ
ผลกระทบจากกระแสการท่องเที่ยวที่มาจากอิทธิพลโลกาภิวัฒน์ และนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาลไทย ได้มีผลต่อชุมชนชาวไทดำในแต่ละประเทศ เห็นได้ชัดในกรณีของชาวไทดำในประเทศไทยที่มีการส่งเสริมการจัดตั้งหมู่บ้านเพื่อการท่องเที่ยว การจัดทำหมู่บ้านโฮมสย์ ตามแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวจากรัฐ เช่น การจัดตั้งหมู่บ้านการท่องเที่ยวเชิงชาติพันธุ์ที่บ้านไผ่หูช้าง จังหวัดนครปฐม หมู่บ้านท่องเที่ยวชุมชนของไทดำบ้านดอน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นต้น
การรวมกลุ่ม และสร้างเครือข่ายในปัจจุบัน
เครือข่ายเยาวชน กลุ่มเยาวชนไทดำที่รวมตัวกันและมีศักยภาพในการอนุรักษ์ฟื้นฟูวัฒนธรรมไทดำอย่างเข้มแข็งในประเทศไทย ได้แก่ กลุ่มเยาวชนสืบสานภูมิปัญญาไทดำ ซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนที่รวมตัวกันจากชุมชนไทดำบ้านทับชัน บ้านไทรงาม (ดอนมะลิ) บ้านท่าสะท้อน อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี และมีการจัดตั้งศูนย์ทำการขึ้นโดยก่อสร้างเป็นเรือนไทดำแบบดั้งเดิมตั้งอยู่ในพื้นที่ของวัดดอนมะลิ (บ้านไทรงาม) อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี
เครือข่ายสังคมออนไลน์ รายชื่อเว็บไซต์ เพจ และกลุ่มไทดำออนไลน์ในประเทศไทย
ชื่อเว็บไซต์ | แหล่งเข้าถึงข้อมูล |
ไททรงดำ | https://www.facebook.com/ไททรงดำ-2093589790901873 |
สมาคมไทดำจังหวัดพิจิตร | https://www.facebook.com/taidam.of.phichit |
พิพิธภัณฑ์ปานถนอม | https://www.facebook.com/pantanommuseum/ |
ไทยทรงดำ บ้านหนองปรง | https://www.facebook.com/ไทยทรงดำ-บ้านหนองปรง-1648018728818614 |
ไทดำบ้านแหลมทอง | https://www.facebook.com/ไทดำบ้านแหลมทอง-783558655003274/ |
บ้านพิพิธภัณฑ์ไทดำ นาป่าหนาด | https://www.facebook.com/บ้านพิพิธภัณฑ์ไทดำ-นาป่าหนาด-639477699501684 |
กลุ่มวิจัยฟื้นฟูภาษาไทดำ บ้านนาป่าหนาด | https://www.facebook.com/TaiDamChiangkhan/ |
หมู่บ้านท่องเที่ยวไทดำ ไผ่หูช้าง | https://www.facebook.com/blacktakvillage |
ศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำบ้านหัวเขาจีน ต.ห้วยยางโทน อ.ปากท่อ | https://www.facebook.com/huakaojeen |
ชุมชนไทยทรงดำ บ้านหัวเขาจีน ราชบุรี กรณีศึกษา | https://www.facebook.com/ชุมชนไทยทรงดำ-บ้านหัวเขาจีน-ราชบุรี-กรณีศึกษา-492318824163838 |
ชุมชนไททรงดำ ชุมชนท่องเที่ยว Otop นวัติวิถี บ้านท่าช้าง จ.กำแพงเพชร | https://www.facebook.com/Taidambaanthachang |
ศูนย์วัฒนธรรมไทดำ โรงเรียนวัดสระสี่มุม | https://www.facebook.com/TaidomWSSM |
ศูนย์ศึกษาไทดำบ้านน้ำเรื่อง | https://www.facebook.com/ศูนย์ศึกษาไทดำบ้านน้ำเรื่อง-134942543729122/ |
ศูนย์อนุรักษ์วัฒนธรรมไทดำไผ่รอบ # Products of Tai dum Phairob Group | https://www.facebook.com/chanat65/ |
ศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ "ไตดำ" - บ้านไผ่คอกเนื้อ | https://www.facebook.com/ศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ-ไตดำ-บ้านไผ่คอกเนื้อ-105464270850575/ |
ศูนย์ฟื้นฟูวัฒนธรรมไตดำโบราณ | https://www.facebook.com/ศูนย์ฟื้นฟูวัฒนธรรมไตดำโบราณ-816514705074960/ |
ชมรมไทดำ ภาคเหนือ | https://www.facebook.com/ชมรมไทดำ-ภาคเหนือ-448766721867127/ |
ไทดำบ้านดอนเตาอิฐ -วัดสระบ้านกล้วย | https://www.facebook.com/ไทดำบ้านดอนเตาอิฐ-วัดสระบ้านกล้วย-491134924273770 |
ผ้าทอพื้นบ้านไททรงดำ | https://www.facebook.com/ผ้าทอพื้นบ้านไททรงดำ-1387368448183264 |
ป้าขวัญยืน ไทยทรงดำ | https://www.facebook.com/ป้าขวัญยืน-ไทยทรงดำ-950501948307028/ |
ชุดไทยทรงดำแม่วรรณา | https://www.facebook.com/ชุดไทยทรงดำแม่วรรณา-651325658551063 |
ผ้าสิ้น ลาวโซ่ง อนุรักษ์วัฒนธรรมไทยทรงดำ | https://www.facebook.com/ผ้าสิ้น-ลาวโซ่ง-อนุรักษ์วัฒนธรรมไทยทรงดำ-170377383588179 |
ป้าหลอด ไทยทรงดำ | https://www.facebook.com/appareltaidum/ |
กลุ่มสตรีทอผ้าฝ้ายไทดำ ฟื้นฟู | https://www.facebook.com/กลุ่มสตรีทอผ้าฝ้ายไทดำ-ฟื้นฟู-708416872576488/ |
กลุ่มทอผ้าไทดำ - หัตถไทดำ จังหวัดพิจิตร | https://www.facebook.com/กลุ่มทอผ้าไทดำ-หัตถไทดำ-จังหวัดพิจิตร-208383592993131/ |
อินไซด์ ไทดำ | https://www.facebook.com/InsideTaidam/ |
Taidamweaving | https://www.facebook.com/taidamweaving/ |
ขายผ้าเปียวไทดำ | https://www.facebook.com/ขายผ้าเปียวไทดำ-1640841139318792/ |
เสื้อไทยดำ | https://www.facebook.com/เสื้อไทยดำ-668141946581413/ |
JOUNG Tai-Dam เจื้องไต๊ดำ | https://www.facebook.com/joungtaidam |
Taidam Signature'หลานยิ๊งอ้ายอู่ | https://www.facebook.com/Taidamsignature.fanpage/ |
หมอ วิไล เจืองไตดำ | https://www.facebook.com/HmxWiliThiyThrngDa/ |
เสนเรือนไทยทรงดำ | https://www.facebook.com/เสนเรือนไทยทรงดำ-210024586132366 |
เสนเฮือน club | https://www.facebook.com/SenHeuxnClub/ |
วงแคน ลูกทุ่งไทย | https://www.facebook.com/วงแคน-ลูกทุ่งไทย-226716694162119/ |
บ้านสมุนไพรคนไทดำ | https://www.facebook.com/บ้านสมุนไพรคนไทดำ-696758873777951/ |
ร้านกาแฟไตดำ-เลย เฮือนอ้าย เอ็ม | https://www.facebook.com/ร้านกาแฟไตดำ-เลย-เฮือนอ้าย-เอ็ม-798664677138185/ |
เครือข่ายผู้หญิง
กลุ่มสตรีชาวไทดำมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มแม่บ้านหรือกลุ่มสตรีในแต่ละชุมชน ซึ่งมีบทบาทส่วนใหญ่เกี่ยวกับการฟื้นฟูอนุรักษ์วัฒนธรรม การสร้างอาชีพเสริม ในด้านอาหารและผ้าทอ ตัวอย่างเช่น ชุมชนไทดำบ้านดอน ได้มีการรวมตัวจัดตั้งกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ งานฝีมือผ้าไทดำขึ้น ร่วมกันผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของชุมชน ในปี พ.ศ. 2549 ได้รับการรับรองมาตรฐาน มผช. และได้ส่งผลิตภัณฑ์หมอนไทดำเข้าคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย (Otop Production Champion) จนกลุ่มได้รับการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ระดับสองดาว ต่อมาได้รับการพัฒนาด้านบรรจุภัณฑ์ด้านการตลาดและการจัดการทำแผนธุรกิจจากสำนักงานพัฒนาชุมชน จังหวัดสุพรรณบุรี และได้จะทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP
เครือข่ายชาติพันธุ์ระดับต่างๆ
กลุ่มเยาวชนไทดำที่รวมตัวกันและมีศักยภาพในการอนุรักษ์ฟื้นฟูวัฒนธรรมไทดำอย่างเข้มแข็ง ได้แก่ กลุ่มเยาวชนสืบสานภูมิปัญญาไทดำ เป็นกลุ่มเยาวชนที่รวมตัวกันจากชุมชนไทดำบ้านทับชัน บ้านไทรงาม (ดอนมะลิ) บ้านท่าสะท้อน อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี และมีการจัดตั้งศูนย์ทำการขึ้นโดยก่อสร้างเป็นเรือนไทดำแบบดั้งเดิมตั้งอยู่ในพื้นที่ของวัดดอนมะลิ (บ้านไทรงาม) อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ด้านการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม
งานค้นคว้าวิจัยของสมทรง บุรุษพัฒน์ และคณะ (2554) ได้แสดงให้เห็นตัวอย่างของพื้นที่ต้นแบบในการอนุรักษ์และฟื้นฟูประเพณีวัฒนธรรมของชาวลาวโซ่งในประเทศไทยไว้หลายแห่ง ด้วยเหตุผลเพราะชาวลาวโซ่งมีความเชื่อที่เคร่งครัด ดังคำกล่าวที่ชาวลาวโซ่งเองอธิบายว่า “คนโซ่งต้องไหว้ผีบรรพบุรุษ เราต้องมีกะล่อหองให้ผีบรรพบุรุษ มิฉะนั้นจะมีอันเป็นไป” (นางเรือง บุญประเสริฐ วัย 72 ปี หมู่ 7 บ้านยางพัฒนา ตำบลทุ่งกระพังโหม อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม 2552, อ้างต่อจากสมทรง บุรุษพัฒน์ และคณะ 2554, 140) ด้วยความเชื่อเช่นนี้ ชาวลาวโซ่งจึงยังคงรักษาพิธีกรรมที่สำคัญไว้ได้ แต่เนื่องจากกระแสสังคมไทย ทำให้ยากต่อการต้านทางกระแสวัฒนธรรมไทยเพราะ “วัฒนธรรมประเพณีของไทยโซ่งในช่วงสิบปีที่ผ่านมากำลังจะหมดไป เพิ่งจะมีการรณรงค์ฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีไทยโซ่งด้วยการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐบาล ทำให้ประเพณีสำคัญยังคงอยู่” (นางเมือง สิงห์ทอง วัย 89 ปี หมู่ 9 ตำบลสระกระเทียม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม, 2552, อ้างต่อจาก สมทรง บุรุษพัฒน์ และคณะ 2554, 140) ตัวอย่างพื้นที่ชุมชนต้นแบบชาวลาวโซ่ง(ไทยทรงดำ) ที่งานวิจัยของสมทรง บุรุษพัฒน์ และคณะ (2554, 140-151) ได้ยกตัวอย่างไว้ในพื้นที่จังหวัด กาญจนบุรี เพชรบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และสุพรรณบุรี ได้แก่
การอนุรักษ์ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมลาวโซ่งในจังหวัดกาญจนบุรี
ชาวลาวโซ่งในจังหวัดกาญจนบุรีส่วนใหญ่อพยพมาจากจังหวัดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นจากจังหวัดเพชรบุรี ราชบุรี นครปฐม หรือสุพรรณบุรี โดยมาตั้งหลักแหล่งอยู่กระจัดกระจายในหลายอำเภอ ได้แก่ อำเภอท่ามะกา อำเภอด่านมะขามเตี้ย อำเภอหนองปรือ อำเภอพนมทวน และอำเภอห้วยกระเจา ซึ่งเกือบทั้งหมดจะมีวิถีชีวิตเหมือนคนทั่วไป ความเชื่อที่ยังเหลืออยู่เหมือนๆ กันคือ การเลี้ยงผีเรือน และการเลี้ยงผี ส่วนการแต่งกายก็จะทำเฉพาะเวลามีงานประเพณีเท่านั้น ในการอนุรักษ์ฟื้นฟูหรือความพยายามรณรงค์เรื่องวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และวัฒนธรรม ส่วนใหญ่จะไม่มีการดำเนินการ ยกเว้นที่ ตำบลพระแท่น หมู่ที่ 8 บ้านหมอสอ ซึ่งยังมีชมรมชาวไทยทรงดำ และยังคงมีการทอผ้าและเย็บเสื้อแบบชาวไทยทรงดำ ทั้งที่ทำใช้กันเอง และที่ส่งขายศูนย์อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยทรงดำ มีผู้นำชุมชนคือ ผู้ใหญ่คำภา วุฒิไกลกัลยา และแม่บ้านชาวไทยทรงดำในหมู่ 8
ที่อำเภอพนมทวน หมู่ที่ 6 บ้านดอนเตาอิฐ ตำบลรางหวาย ก็เป็นอีกที่หนึ่งที่มีประวัติว่าเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ ยังคงมีซากหลักฐานให้เห็นได้ที่วัดสระกล้วย คือ บ่อน้ำโบราณ และมีการอนุรักษ์ฟื้นฟูส่งเสริมวิถีชีวิตชาวไทยทรงดำ ทั้งผู้นำและกลุ่มแม่บ้านที่เข้มแข็ง เช่น นายจำลอง สระทองชัง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 นางมาลับย จิตนิยม มีศูนย์อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมชาวไทยทรงดำ มีกลุ่มแม่บ้านที่ทอผ้าพื้นเมืองไทยทรงดำ มีโครงการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และโฮมสเตย์ และมีคำขวัญประจำหมู่บ้านว่า “ผ้าทอพื้นเมือง ลือเลื่องวัฒนธรรม ไทดำเสียงแคน ดินแดนโฮมสเตย์”
การอนุรักษ์ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมลาวโซ่งในจังหวัดเพชรบุรี
ชุมชนไทยทรงดำหรือไทยโซ่งในจังหวัดเพชรบุรี ถือว่าเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง มีการสร้างบ้านเรือนไทยโซ่งไว้หลายที่เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์ไทยโซ่งอีกด้วย อาจารย์ถนอม คงยิ้มละมัย ได้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ปานถนอม ณ บ้านเลขที่ 8 หมู่ 1 ตำบลหนองปรง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี พิพิธภัณฑ์ไทยโซ่งแห่งนี้ได้รวบรวมสิ่งของและบันทึกเรื่องราวของไทยโซ่งเอาไว้
ชุมชนไทยโซ่งหนองปรง ยังคงรักษาประเพณีปาดตง คือ เลี้ยงผีประจำทุก 10 วัน พิธีเสนเรือน นอกจากนี้ยังมีสัญลักษณ์ทางประเพณีพิธีกรรมกะล่อหอง คือ ที่อยู่ผีบรรพบุรุษ ตั้งอยู่ในเรือน นอกจากนี้ส่วนอื่นๆ ของบ้านจะมีผีกำกับอยู่ เช่น ที่บันไดมีผี เพราะผีจะช่วยดูแลป้องกันโจร ที่หน้าต่างประตูมีผี เพราะโจรขโมยจะได้ไม่เข้าเรือน ที่เตาไฟมีผี เพราะไฟจะได้ไม่ไหม้บ้าน
ที่วัดจะมีงานประจำปีคือ รำแขก วันที่ 10 เมษายน แต่ในหมู่ 1 จะเป็นวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 6 งานประเพณีไทยโซ่ง หนึ่งปีจะมี 1 ครั้ง ในวันที่ 10 เมษายน เรียกว่า อิ่นโซงดำ หมายถึงเล่นโซ่งดำ หรืองานละเล่นชาวไทยโซ่งดำนั่นเอง
ด้านการดนตรี การฟ้อนรำ ในอดีตมีแต่เสียงแคนกับเสียงตบมือ ในปัจจุบันมีกลอง ไทยโซ่งมีเครื่องดนตรีคือ แคน กลอง เวลามีงานประเพณีจะมาฟ้อนรำกัน ชาวไทยโซ่งมักจะไปร่วมงานฟ้อนรำทุกที่ที่มีการตั้งถิ่นฐานของชาวไทยโซ่งอยู่
ด้านการแต่งกายตามประเพณีที่อนุรักษ์ เครื่องแต่งกายจะเป็นเสื้อก้อม เสื้อฮี ผ้าซิ่น สำหรับผู้ชายเป็นเสื้อก้อม เสื้อฮี ซึ่งเสื้อก้อมใส่อยู่กับบ้าน ส่วนเสื้อฮีจะเป็นเสื้อแขนยาว ผู้หญิงเด็กสาวจะเป็นกระโจมอก ห่มผ้าสี ผ้าซิ่น ถ้าคนมีสามีแล้วจะห่มสีดำ แต่สมัยนี้ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีก็จะห่มผ้าดำทั้งนั้น สำหรับเครื่องประดับก็จะมีกำไล มีปลอกคอ กำไลมีแบบแบน แบบกลม ปลอกคอจะเป็นแบบกลม เป็นเงินแท้ทั้งอัน
นอกจากนี้ชุมชนไทยโซ่งหนองปรง ยังมีการฟื้นฟูและอนุรักษ์ภาษาและวัฒนธรรมไทยโซ่งในโรงเรียนด้วย มีการจัดทำหลักสูตรประวัติศาสตร์ชุมชนที่โรงเรียนวัดหนองปรง มีการเรียนภาษาและวัฒนธรรมไทยโซ่ง
การอนุรักษ์ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมลาวโซ่งในจังหวัดราชบุรี
จังหวัดราชบุรีมีชุมชนไทยโซ่งที่อำเภอดำเนินสะดวก อำเภอบางแพ อำเภอปากท่อ และอำเภอจอมบึง ชุมชนไทยโซ่งที่อำเภอดำเนินสะดวกมีความเข้มแข็งในการอนุรักษ์และฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีมากที่สุด โดยเฉพาะที่ ตำบลดอนคลัง และตำบลบังงาม รองลงมาคือ ชุมชนไทยโซ่งที่อำเภอบางแพ อำเภอปากท่อ และอำเภอจอมบึง ตามลำดับ
ชุมชนไทยโซ่งที่อำเภอดำเนินสะดวก อาศัยอยู่ใน 2 ตำบลคือ ตำบลดอนคลัง และตำบลบัวงาม ชุมชนไทยโซ่งที่ดอนคลัง มีการอนุรักษ์และฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีของไทยโซ่งอย่างเข้มแข็ง ที่นี่มีศูนย์อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยทรงดำดอนคลัง ตั้งอยู่ที่ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการดอนคลัง ตำบลดอนคลัง อำเภอดำเนินสะดวก เป็นพื้นที่ที่มีกิจกรรมด้านการส่งเสริม อนุรักษ์ และสืบสานวัฒนธรรมไทยทรงดำประจำทุกปี
ชุมชนไทยโซ่งตำบลเกาะคา อำเภอบางแพ มีพระครูถาวรวิหารการ เจ้าอาวาสวัดดอนพรหม กำนันประจวบ ติ่งต้อย กำนันตำบลดอนคา และผู้มีความรู้ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีของไทยโซ่งของตำบลดอนคา ร่วมกันสร้างศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำขึ้น เพื่อเป็นที่แสดงวิถีชีวิต และเป็นที่จัดกิจกรรมงานประเพณีของไทยโซ่งในตำบลดอนคา โดยมีโครงการที่จะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมต่อไป
ชาวไทยโซ่งในจังหวัดราชบุรียังสามารถรักษาวัฒนธรรมประเพณีไทยโซ่งโดยทั่วไปมาจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ ภาษาไทยโซ่ง การแต่งกายที่มีเอกลักษณ์ บ้านเรือนแบบดั้งเดิมที่มีให้เห็นได้ในศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ ประเพณีเสนเฮือน เป็นต้น
การอนุรักษ์ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมลาวโซ่งในจังหวัดนครปฐม
ชุมชนชาวไทยโซ่งในจังหวัดนครปฐมอาศัยอยู่ในหลายพื้นที่ ได้แก่ ตำบลไผ่หูช้าง ตำบลเกาะแรตพัฒนา อำเภอบางเลน ตำบลสระกระเทียม ตำบลดอนยายหอม อำเภอเมือง ตำบลดอนพุทรา อำเภอดอนตูม ตำบลดอนข่อย ตำบลสระสี่มุม และตำบลสระพัฒนา อำเภอกำแพงแสน
ชุมชนไทยโซ่งบ้านไผ่หูช้าง ตำบลไผ่หูช้าง อำเภอบางเลน จงหวัดนครปฐม ได้มีการก่อตั้งสมาคมไทดำ (ประเทศไทย) มีนายกสมาคมคือ อาจารย์สุรีย์ ทองคงหาญ อายุ 77 ปี (2552)
ชุมชนไทยโซ่ง บ้านเกาะแรตพัฒนา อำเภอบางเลน เป็นชุมชนไทยโซ่งที่เข้มแข็ง ใช้ศูนย์เด็กเล็กเป็นศูนย์ของชุมชนไทยโซ่ง มีสิ่งของเครื่องใช้ของไทยโซ่งเก็บไว้ มีการตื่นตัวเรื่องภาษาไทยโซ่ง นายบุญชู เพชรหยอย ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 14 อยากให้มีการเรียนการสอนที่โรงเรียนตั้งแต่ระดับประถม ปัจจุบันมีสอนในระดับมัธยมเท่านั้น
ชุมชนไทยโซ่งตำบลสระกระเทียม อำเภอเมือง หมู่ที่ 9 บ้านดอนทราย ได้มีการจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยทรงดำ ได้รับการสนับสนุนโดยองค์การบริหารส่วนตำบลสระกระเทียม
ชุมชนไทยโซ่งบ้านสะแกราย หมู่ 9 ตำบลดอนยายหอม อำเภอเมือง ผู้นำชุมชนบ้านสะแกรายคือ นายสะอาด มีดี ผู้ใหญ่บ้าน และนายวิทยา มียอด ได้จัดให้มีกิจกรรม เช่น
ชุมชนไทยโซ่งบ้านหัวถนน หมู่ที่ 1 ตำบลดอนพุทรา อำเภอดอนตูม ได้มีการฟื้นฟูวัฒนธรรมไทยทรงดำ ภายใต้การนำของนายเมือง รักจ้อย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดอนพุทรา และนายประสงค์ เตี๊ยะตราช้าง รองประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอดอนตูม ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตไทยทรงดำบ้านหัวถนน พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้การศึกษาภูมิปัญญาชาวไทยโซ่งในอดีตจนถึงปัจจุบัน มีกิจกรรมเรียนรู้ เช่น การแสดงวัฒนธรรมประเพณีไทยโซ่ง การสาธิตการทอผ้าด้วยไหม การย้อมผ้า การสาธิตอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ของชาวไทยโซ่ง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีโครงการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ไทยทรงดำ บ้านหัวถนน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนมีส่วนร่วม
ในโอกาสเทศกาลสำคัญของบ้านหัวถนน เช่น วันสงกรานต์ ชุมชนไทยโซ่งทุกชุมชนจะจัดงานสงกรานต์ ที่ชุมชนบ้านหัวถนน องค์การบริหารส่วนตำบลดอนพุทราร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครปฐม ได้จัดให้มีโครงการประเพณีวันสงกรานต์ รดน้ำขอพรผู้สูงอายุ และอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยทรงดำเป็นประจำทุกปี
ชุมชนไทยโซ่งบ้านดอนทอง ตำบลข่อย อำเภอกำแพงแสน ผู้นำชุมชนบ้านดอนทอง คือ รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ชาติชาย สิบแอง อายุ 52 ปี (2552) ได้มีโครงการหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยทรงดำ โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีของไทยทรงดำไว้ทั้งหมด จะสร้างบ้านไทยทรงดำเพื่อจัดกิจกรรม เป็นพิพิธภัณฑ์และที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว พื้นที่ดำเนินการคือ ที่สาธารณะประโยชน์ บ้านโคกหลวง หมู่ที่ 15 ตำบลดอนข่อย อำเภอกำแพงแสน จะมีการปรับภูมิทัศน์ เพื่อทำเป็นโฮมสเตย์ เพราะหมู่บ้านนี้มีภูมิทัศน์ที่เอื้ออำนวยอยู่แล้ว มีวัดป่าดอนทอง (สายหลวงพ่อชา) ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเยี่ยมชมได้ โครงการนี้กำลังของบประมาณมาสนับสนุน
ชุมชนไทยโซ่งบ้านสระสี่มุม และชุมชนไทยโซ่งบ้านสระพัฒนา อำเภอกำแพงแสน มีการใช้ภาษาไทยโซ่งในชีวิตประจำวัน มีประเพณี พิธีกรรม เช่น วันที่ 17 เมษายน ขอองทุกปี องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครปฐม ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลสระสี่มุม จะจัดงานไทยทรงดำ มีรำฟ้อนแคนที่หน้าที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลสระสี่มุม มีนายทวีวัฒน์ คชศิลา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสระสี่มุม ท อำเภอกำแพงแสน ได้สนับสนุนให้อนุรักษ์ประเพณีของไทยโซ่ง
ชุมชนไทยโซ่งหมู่บ้านเสืออีด่าง ที่วัดลาดปลาเค้า มีอาจารย์สุรีย์ ทองคงหาญ นายกสมาคมไทดำ (ประเทศไทย) เป็นผู้สอนภาไทยโซ่งทุกวันศุกร์ มีการจัดทำคู่มือการเรียนภาษาไทดำ ที่โรงเรียนวัดลาดปลาเค้า มีการสร้างบ้านไทยโซ่งเพื่อเก็บสิ่งของที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยโซ่ง โดยใช้เงินบริจาคในการสร้างบ้านหลังนี้ ซึ่งเริ่มสร้างในปี 2552 ตามริมสระบางแห่งได้สร้างเถียงนาหลังเล็กๆ มีหลังคมแบบไทยโซ่งไว้อีกด้วย
การอนุรักษ์ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมลาวโซ่งในจังหวัดสมุทรสาคร
ในจังหวัดสมุทรสาคร ชุมชนไทยโซ่งที่เข้มแข็งและยังคมมีการอนุรักษ์และฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณี คือชุมชนไทยโซ่งที่ตำบลหนองสองห้อง
ชุมชนไทยโซ่งหนองสองห้องนี้ มีผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 5 คือ นายนรินทร์ เสวี ที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทยโซ่ง และเป็นคณะกรรมการสมาคมไทดำ (ประเทศไทย) ผู้ใหญ่นรินทร์เป็นผู้นำไทยโซ่งที่เป็นแกนนำในการส่งเสริมสนับสนุนการส่งเสริมอนุรักษ์และฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีไทยโซ่งในระดับชุมชน โดยริเริ่มกิจกรรมทางสังคมวัฒนธรรมไทยโซ่งมาตั้งแต่ปี 2550
นอกจากนี้ ผู้ใหญ่นรินทร์ยังมีแนวคิดที่ขยายกิจกรรมอนุรักษ์และฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์โซ่งให้กับลูกหลานเยาวชนไทยโซ่ง โดยมีแนวคิดที่จะเชิญอาจารย์สุรีย์ ทองคงหาญ นายกสมาคมไทดำ (ประเทศไทย) มาสอนภาษาไทยโซ่งให้กับนักเรียน ลูกหลานที่ตำบลหนองสองห้อง
ที่ชุมชนไทโซ่งหนองสองห้อง มีวิทยุชุมชนท้องถิ่นที่จัดโดยชาวไทยโซ่ง พูดภาษาไทยโซ่ง มีเพลงไทยโซ่ง เวลาออกอากาศ 10.00 – 10.30 น. คลื่น AM 63 เปิดสถานีทุกวัน เว้น วันเสาร์และวันอาทิตย์ ด้านประเพณีวัฒนธรรมที่ยังคงมีการถือปฏิบัติในชุใชนไทยโซ่งหนองสองห้อง คือ ประเพณีการเสนเรือน ประเพณีปาดตง
นอกจากการดำเนินการอนุรักษ์และฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีไทยโซ่งระดับชุมชน ในระดับโรงเรียนชุมชนหนองสองห้อง มีดรงเรียนวัดหนองสองห้อง (สายชนูอุปถัมภ์) เป็นหน่วยงานสำคัญที่ได้ดำเนินการอนุรักษ์และฟื้นฟูวัฒนธรรมในระดับโรงเรียน ที่ให้นักเรียนทั้งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทยโซ่ง และไม่ใช่กลุ่มชาติพันธุ์ไทยโซ่ง ได้เรียนรู้เรื่องราวและประเพณีวัฒนธรรมไทยโซ่งร่วมกัน ผ่านหลักสูตรท้องถิ่น “สาระการเรียนรู้ท้องถิ่นของเรา เรื่อง ไทยทรงดำ (ลาวโซ่ง)” โดยอาจารย์พิกุลทอง วันวงษ์ ซึ่งอาจารย์พิกุลทอง เป็นคนเชื้อสายไทยโซ่ง อีกทั้งโรงเรียนชุมชนทุ่งสองห้อง ได้มีการจัดตั้งศูนย์อนุรักษ์วัฒนธรรมไทยทรงดำ ริเริ่มและดำเนินการอย่างต่อเนื่องโดยอาจารย์พิกุลทอง วันวงษ์ และอาจารย์พูนทรัพย์ ขวัญดี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงวัฒนธรรมประเพณีไทยโซ่ง เช่น ภาพการแต่งกาย เครื่องใช้ต่างๆ เป็นต้น
อาจารย์พิกุลทอง วันวงษ์ และอาจารย์พูนทรัพย์ ขวัญดี ได้ริเริ่มจัดทำห้องอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมประเพณีไทยทรงดำ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับนักเรียนและผู้ที่สนใจ โดยนำปราชญ์ชาวบ้านมาสอน และถ่ายทอด งานฝีมือ ภาษาพูด นอกจากนี้ ยังได้จัดทำโครงการมัคคุเทศก์น้อย และเป็นคณะกรรมการการจัดงานสืบสาน อนุรักษ์ ประเพณีวัฒนธรรมไทยทรงดำ ในวันที่ 2 เมษายน ของทุกปี รวมทั้งได้รับเชิญจัดแสดงผลงานนิทรรศการนอกสถานที่ เช่น กิจกรรมจัตุรัสวัฒนธรรม งานชุมนุมลูกเสือโลกครั้งที่ 20 และจัดตั้งชุมนุมอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น โรงเรียนวัดหนองสองห้อง (สายชนอุปถัมภ์)
การอนุรักษ์ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมลาวโซ่งในจังหวัดสมุทรสงคราม
ชุมชนไทยโซ่งบ้านดอนมะโนรา อำเภอบางคนที และชุมชนไทยโซ่งบ้านนางตะเคียน อำเภอเมืองสมุทรสงคราม เป็นชุมชนที่มีการรวมตัวทำกิจกรรมทางวัฒนธรรมประเพณีไทยโซ่ง ที่ชุมชนไทยโซ่งดังกล่าว มีวัดที่ชาวบ้านไปทำบุญ ร่วมกิจกรรมทางศาสนา 2 วัด คือ วัดดอนมะโนรา ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลดอนมะโนรา อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม และวัดธรรมาวุธาราม (วัดบังปืน) ตั้งอยู่ในพื้นที่ ตำบลนางตะเคียน อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม กลุ่มชาติพันธุ์ไทยโซ่งมักไปร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมของไทยโซ่งที่วัดธรรมาวุธาราม (วัดบังปืน) ซึ่งมีเจ้าอาวาสเป็นคนเชื้อสายไทยโซ่ง และทางวัดเป็นหนึ่งในหลายๆ วัด ที่มีการจัดกิจกรรมวัฒนธรรมประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยโซ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงวันสงกรานต์ การจัดกิจกรรมดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจาก องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล และสมาคมไทดำ (ประเทศไทย)
การอนุรักษ์ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมลาวโซ่งในจังหวัดสุพรรณบุรี
ชาวไทยโซ่งในจังหวัดสุพรรณบุรีมีการรวมกลุ่ม กระจายตัวในหลายอำเภอ โดยเฉพาะที่อำเภออู่ทอง อำเภอสองพี่น้อง และเขตอำเภอเมือง มีกลุ่มไทยโซ่งกลุ่มใหญ่ที่มีการอนุรักษ์สืบทอดขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเพณีพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการนับถือผี ทั้งนี้เนื่องจากชาวไทยโซ่งมีความเชื่อในการนับถือผี ประเพณีต่างๆ จึงมีความเกี่ยวข้องกับผีที่ตนนับถือด้วย ดังจะเห็นได้ว่า หมู่บ้านของชาวไทยโซ่งจำเป็นต้องสร้างห้องผีบรรพบุรุษไว้ 1 ห้อง เรียกว่า “กะลอหอง” และห้ามบุคคลที่ไม่ใช่เชื้อสายผีนั้นเข้าไปในห้องผี นอกจากนี้ชาวไทยโซ่งในจังหวัดสุพรรณบุรียังมีประเพณีต่างๆ ที่สำคัญ ที่เกี่ยวข้องกับการนับถือผีที่ยังพบเห็นในจังหวัดสุพรรณบุรี ได้แก่ ประเพณีเสนเรือน ประเพณีงานศพ
ชาวไทยโซ่งในจังหวัดสุพรรณบุรี มีหลายชุมชนที่มีการจัดสร้างบ้านไทยโซ่งขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ให้คนรุ่นหลังได้ทราบวัฒนธรรมการอยู่อาศัย พร้อมกันนี้ยังมีการฟื้นฟูภาษาเขียนของตนเอง โดยจัดหาครูผู้สอน บางครั้งก็เป็นผู้รู้ในชุมชน บางครั้งก็เป็นผู้รู้จากชุมชนใกล้เคียง มาสอนการเขียนภาษาไทยโซ่งให้แก่ลูกหลานในหมู่บ้าน
ด้านการท่องเที่ยวชุมชน ชุมชนชาวลาวโซ่งในประเทศไทยหลายแห่งได้มีโครงการพัฒนาชุมชนของตนเองเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม เช่น จังหวัดนครปฐม
จากรายงานการวิจัยเรื่อง การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงชาติพันธุ์ไทยโซ่ง ของสมทรง บุรุษพัฒน์ และคณะ (2556, 268) ได้ให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะไว้ว่า ชุมชนชาวไทยโซ่งมีศักยภาพและขีดความสามารพที่จะจัดการท่องเที่ยวได้ด้วยตนเอง เพราะชุมชนไทยโซ่งมีความร่ำรวยมรดกทางวัฒนธรรม สามารถสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวได้ แต่ทั้งนี้ชุมชนมิควรจำกัดหรือมุ่งเน้นไปที่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือกำไรรูปตัวเงินเท่านั้น การจัดการท่องเที่ยวให้เกิดประโยชน์ที่แท้จริงนั้น ควรเป็นกุศโลบายรวมให้ชาวไทยโซ่งเข้ามาทำงานร่วมกัน จนทำให้เกิดความภาคภูมิใน พร้อมที่จะธำรงรักษาภาษาและวัฒนธรรมของตนไว้ในวิถีชีวิต นอกจากนี้ชุมชนไทยโซ่งควรมีภาคีร่วมพัฒนา เช่น มหาวิทยาลัย องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น บริษัทห้างร้านที่สนใจเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม ให้เข้ามาเรียนรู้กันร่วมกับชุมชน เพื่อให้เกิดความสำเร็จ
ด้านอื่นๆ
ศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาไทดำ “ห้องเรียนภูมิปัญญาไทดำ” เป็นรูปแบบของศูนย์การเรียนรู้การฟื้นฟูและอนุรักษ์วัฒนธรรมไทดำ อีกแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยที่ก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มเยาวชนสืบสานภูมิปัญญาไทดำและชาวบ้านไทดำบ้านทับชัน ไทรงาม ท่าสะท้อน อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีที่ตั้งอยู่ที่วัดดอนมะลิ บ้านดอนมะลิ (บ้านไทรงาม) อำเภอพุนพิน สุราฏร์ธานี โดยมีแนวคิดในการพัฒนาร่วมกับการศึกษาบนฐานภูมิปัญญาชาวไทดำอย่างเป็นรูปธรรม อาศัยผู้นำทางภูมิปัญญาที่มีอยู่ในท้องถิ่นและชุมชน ร่วมกันถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญาในด้านต่าง ๆ ให้กับชาวไทดำ เด็ก เยาวชน รวมทั้งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับกลุ่มไทดำในพื้นที่ต่าง ๆ ตลอดจนเผยแพร่วัฒนธรรมไทดำให้เป็นที่รับรู้แก่ภายนอกอย่างกว้างขวางขึ้นอีกด้วย
Access Point |
---|
No results found. |
ลาวโซ่ง หรือไทดำ หรือไทยทรงดำ คลื่อนย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยหลายครั้งด้วยกัน โดยถิ่นฐานแรกที่อยู่อาศัยคือพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี หลังจากลงหลักปักฐานมั่นคงก็เริ่มกระจายตัวออกไปหลายถิ่นที่ ถึงแม้นว่าจะโยกย้ายถิ่นฐานมาจากต่างบ้านต่างเมือง แต่ชาวไทดำยังคงพยายามรักษาอัตลักษณ์ องค์ความรู้ท้องถิ่น ประเพณีวัฒนธรรม ของตนเอง ขณะเดียวกันก็ปรับปรนตามท้องถิ่นที่เข้าไปอาศัย