2023-06-13 18:18:23
ผู้เข้าชม : 11686

ไทใหญ่ มีถิ่นฐานตั้งเดิมในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา มณฑลยูนนานของประเทศจีน แคว้นอัสสัมของประเทศอินเดีย และภาคเหนือของประเทศลาว ปัจจุบันตั้งถิ่นฐานอย่างหนาแน่นในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ ในอดีตชาวไทใหญ่มักตั้งถิ่นฐานในที่ราบหุบเขาที่มีแม่น้ำไหลผ่าน มีการดำรงชีพด้วยการปลูกข้าวบนพื้นราบ คนกลุ่มนี้มีองค์ความรู้ในการสร้างเหมืองฝาย การรักษาโรคด้วยหมอสมุนไพรหรือ "สล่ายา" ในขณะเดียวกันยังมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นในงาน "ปอยส่างลอง" หรืองานบวชสามเณรเพื่อสร้างมหากุศลให้แก่บิดามารดา

  • ข้อมูลพื้นฐาน
  • ประวัติศาสตร์
  • การตั้งถิ่นฐานและกระจายตัว
  • วิถีชีวิตและวัฒนธรรม
  • งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
  • อ้างอิง

ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : ไทใหญ่
ชื่อเรียกตนเอง : ไต, คนไต
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ชาน, ฉาน, ไทใหญ่, เงี้ยว, ไทเหนือ-ไทมาว
ตระกูลภาษา : ไท
ตระกูลภาษาย่อย : ไต-ไต
ภาษาพูด : ไต
ภาษาเขียน : ลิกถั่วงอก, ตัวมน

ไต หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ “ไทใหญ่” โดยความหมายของคำว่า “ไต” นั้น หมายถึงคน ขณะที่ชื่อเรียก “ไทใหญ่” นั้น เป็นชื่อที่คนไทยภาคกลางใช้เรียกคนไต หรือกลุ่มคนที่อยู่ในลุ่มน้ำสาละวิน ส่วนชื่อเรียก“เงี้ยว”เป็นคำที่คนยวนในล้านนาใช้เรียกพวกเขา แต่เป็นคำที่คนไทใหญ่ไม่ชอบเพราะส่อไปในทำนองดูถูก ในขณะที่ “ฉาน” นั้นเป็นอีกชื่อเรียกหนึ่งที่ชาวพม่าใช้เรียกชาวไต จวบจนยุคอาณานิคม ชาวอังกฤษก็เรียกชื่อนี้ตามอย่างพม่า ในขณะที่เจ้าของวัฒนธรรมเอง ประสงค์ให้คนทั่วไปเรียกตนเองว่า “ไต” มากกว่าชื่ออื่น ขณะเดียวกันชื่อเรียกนั้นมีการใช้สลับไปมา มีความลื่นไหลและพลวัตขึ้นอยู่กับมิติความสัมพันธ์

ไต หรือไทใหญ่ อาศัยอยู่ในแผ่นดินใหญ่เอเชียในตอนเหนือของเวียดนาม ตอนใต้ของจีน ตอนเหนือของลาว ไทย พม่า และในแค้วนอัสสัม ด้านตะวันออกของอินเดีย ในประเทศไทยนั้นกระจายตัวอยู่ในหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือมายาวนานก่อนยุคการขีดแบ่งเส้นพรมแดน อาศัยอยู่หนาแน่นในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ในอดีตมีบทบาทสำคัญในการค้าทางไกลด้วยวัวต่าง ม้าต่าง เดินทางเชื่อมโยงเส้นทางการค้าในตอนใต้ของจีน พม่า ตอนเหนือของไทย เข้าสู่ประเทศลาวฯ ชาวไทใหญ่บางส่วนตั้งชุมชนกระจัดกระจายไปในเส้นทางการค้า ในยุคพระเจ้ากาวิลละปกครองเชียงใหม่นั้นเรียกได้ว่าเป็นยุค “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” เมื่อเกิดการสู้รบชนะ ได้รวบรวมผู้คนจากดินแดนต่างๆ เข้ามาตั้งถิ่นฐานในดินแดนล้านนา ผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ถูกอพยพมาจากชุมชนเดิมและให้กระจายไปอาศัยยังที่แห่งใหม่ เกิดเป็นชุมชนชาติพันธุ์กระจายอยู่ทั่วไปทั้งในเขตเมืองเชียงใหม่และรอบนอก ในขณะที่กลุ่มชาวไตอีกกลุ่มเคลื่อนย้ายเข้ามาในประเทศไทยในช่วงความไม่สงบภายในประเทศพม่า ผนวกกับแรงดึงดูดด้านแรงงานในประเทศไทย ส่งผลให้ชาวไตจากหลายเมืองในรัฐฉานเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยทางด้านทิศเหนือเพื่อเข้ามาหางานทำและกระจายออกมาสู่จังหวัดอื่น ๆ โดยเฉพาะเมืองที่ต้องการแรงงานในกิจกรรม 3 D เช่น สมุทรสาคร สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร

ปัจจุบันคนทั้งสองกลุ่มยังคงดำรงอยู่ในสังคมไทยในสถานะที่ต่างกัน กล่าวคือ คนไตดั้งเดิมติดแผ่นดินมีความเป็นอยู่ที่ยึดโยงกับชุมชนท้องถิ่นและความเป็นรัฐไทย ผสมกลมกลืนกับสังคมและวัฒนธรรมแบบไทย ขณะที่คนไตกลุ่มใหม่ที่เข้ามาเป็นแรงงานนั้นอยู่ในสถานะของแรงงานที่ขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศไทย ทั้งที่มีสถานะถูกกฏหมายและผิดกฏหมาย ในแง่มุมของวิถีวัฒนธรรมคนไตทั้งสองกลุ่มได้รับการยอมรับอย่างมาก เนื่องด้วยความศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้าสอดคล้องกับสังคมพุทธในประเทศไทย พื้นที่ทางศาสนา พื้นที่ของพิธีกรรม และศิลปกรรม จึงเป็นพื้นที่หลักที่คนไตใช้แสดงออกถึงอัตลักษณ์และตัวตน เช่น การบวชลูกแก้ว หรือปอยส่างลอง การรำโต รำนกกิ่งกะหล่า อันเป็นศิลปะการถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาผ่านงานศิลปะทั้งสิ้นไต หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ “ไทใหญ่” โดยความหมายของคำว่า“ไต” นั้น หมายถึงคน ขณะที่ชื่อเรียก “ไทใหญ่” นั้น เป็นชื่อที่คนไทยภาคกลางใช้เรียกคนไต หรือกลุ่มคนที่อยู่ในลุ่มน้ำสาละวิน ส่วนชื่อเรียก“เงี้ยว”เป็นคำที่คนยวนในล้านนาใช้เรียกพวกเขา แต่เป็นคำที่คนไทใหญ่ไม่ชอบเพราะส่อไปในทำนองดูถูก ในขณะที่ “ฉาน” นั้นเป็นอีกชื่อเรียกหนึ่งที่ชาวพม่าใช้เรียกชาวไต จวบจนยุคอาณานิคม ชาวอังกฤษก็เรียกชื่อนี้ตามอย่างพม่า ในขณะที่เจ้าของวัฒนธรรมเอง ประสงค์ให้คนทั่วไปเรียกตนเองว่า “ไต” มากกว่าชื่ออื่น ขณะเดียวกันชื่อเรียกนั้นมีการใช้สลับไปมา มีความลื่นไหลและพลวัตขึ้นอยู่กับมิติความสัมพันธ์

ไต หรือไทใหญ่ อาศัยอยู่ในแผ่นดินใหญ่เอเชียในตอนเหนือของเวียดนามตอนใต้ของจีน ตอนเหนือของลาว ไทย พม่า และในแค้วนอัสสัม ด้านตะวันออกของอินเดียในประเทศไทยนั้นกระจายตัวอยู่ในหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือมายาวนานก่อนยุคการขีดแบ่งเส้นพรมแดน อาศัยอยู่หนาแน่นในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ในอดีตมีบทบาทสำคัญในการค้าทางไกลด้วยวัวต่าง ม้าต่าง เดินทางเชื่อมโยงเส้นทางการค้าในตอนใต้ของจีน พม่า ตอนเหนือของไทย เข้าสู่ประเทศลาวฯชาวไทใหญ่บางส่วนตั้งชุมชนกระจัดกระจายไปในเส้นทางการค้า ในยุคพระเจ้ากาวิลละปกครองเชียงใหม่นั้นเรียกได้ว่าเป็นยุค “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” เมื่อเกิดการสู้รบชนะ ได้รวบรวมผู้คนจากดินแดนต่างๆ เข้ามาตั้งถิ่นฐานในดินแดนล้านนา ผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ถูกอพยพมาจากชุมชนเดิมและให้กระจายไปอาศัยยังที่แห่งใหม่ เกิดเป็นชุมชนชาติพันธุ์กระจายอยู่ทั่วไปทั้งในเขตเมืองเชียงใหม่และรอบนอกในขณะที่กลุ่มชาวไตอีกกลุ่มเคลื่อนย้ายเข้ามาในประเทศไทยในช่วงความไม่สงบภายในประเทศพม่า ผนวกกับแรงดึงดูดด้านแรงงานในประเทศไทย ส่งผลให้ชาวไตจากหลายเมืองในรัฐฉานเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยทางด้านทิศเหนือเพื่อเข้ามาหางานทำและกระจายออกมาสู่จังหวัดอื่น ๆโดยเฉพาะเมืองที่ต้องการแรงงานในกิจกรรม3 D เช่น สมุทรสาคร สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร

ปัจจุบันคนทั้งสองกลุ่มยังคงดำรงอยู่ในสังคมไทยในสถานะที่ต่างกัน กล่าวคือ คนไตดั้งเดิมติดแผ่นดินมีความเป็นอยู่ที่ยึดโยงกับชุมชนท้องถิ่นและความเป็นรัฐไทย ผสมกลมกลืนกับสังคมและวัฒนธรรมแบบไทย ขณะที่คนไตกลุ่มใหม่ที่เข้ามาเป็นแรงงานนั้นอยู่ในสถานะของแรงงานที่ขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศไทย ทั้งที่มีสถานะถูกกฏหมายและผิดกฏหมาย ในแง่มุมของวิถีวัฒนธรรมคนไตทั้งสองกลุ่มได้รับการยอมรับอย่างมาก เนื่องด้วยความศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้าสอดคล้องกับสังคมพุทธในประเทศไทย พื้นที่ทางศาสนา พื้นที่ของพิธีกรรม และศิลปกรรม จึงเป็นพื้นที่หลักที่คนไตใช้แสดงออกถึงอัตลักษณ์และตัวตน เช่น การบวชลูกแก้ว หรือปอยส่างลอง การรำโต รำนกกิ่งกะหล่า อันเป็นศิลปะการถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาผ่านงานศิลปะทั้งสิ้น

การศึกษากลุ่มคนไทใหญ่ในเชิงมิติทางประวัติศาสตร์ในยุครัฐชาติ อาจแบ่งได้เป็นสองแนวทางดังนี้ แนวทางแรก การศึกษาประวัติศาสตร์และพัฒนาการทางการเมืองของประเทศพม่า และแนวทางที่สอง การศึกษาพัฒนาการทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับชายแดนและการจัดการกับประชากรในประเทศไทย โดยมีรายละเอียด ดังนี้

แนวทางแรก การศึกษาประวัติศาสตร์และพัฒนาการทางการเมืองของประเทศพม่า สังคมไตยุคจารีตเป็นสังคมเกษตรกรรม แรงงานเพื่อการผลิตเป็นสิ่งจำเป็น ช่วงอายุของคนหนุ่มจึงเป็นช่วงที่ยาวนานกว่าช่วงอื่น หน้าที่ทางสังคมของคนไตมักสัมพันธ์กับเพศและช่วงอายุ ในงานศึกษาเรื่อง สังคมและวัฒนธรรมไทบ้านใหม่หมอกจ๋าม ของนงนุช จันทราภัย และเรณู วิชาศิลป์ (2541) กล่าวถึงเพศ และ วัยของชาวไตบ้านใหม่หมอกจ๋ามว่า เพศและวัยเป็นองค์ประกอบสำคัญในการจัดระบบช่วงวัย (Age – grade system) ในสังคมไต การเป็นสมาชิกในกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้สมาชิกต่างผ่านกระบวนการการขัดเกลาทางสังคม (Socialization) และมาตรการควบคุมทางสังคม (Social Control) ตามลำดับช่วงวัยของตน การจัดระบบช่วงวัยจึงเป็นกลไกในการผลิตสมาชิกให้เหมาะสมกับระบบสังคมเกษตรกรรมที่ต้องพึ่งพาตนเองเป็นหลัก สมาชิกของสังคมจะถูกจำแนกกลุ่มตามแรงงานและสติปัญญา เพื่อพัฒนาไปสู่วัยที่สูงกว่าระบบช่วงวัยจึงมีความสำคัญต่อการสร้างคุณสมบัติและเอกลักษณ์ของการเป็นสมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ (นงนุช จันทราภัยและเรณู วิชาศิลป์, 2541,306)

การเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมครั้งใหญ่ในรัฐฉานเกิดขึ้นหลังจากที่อังกฤษยึดพม่าทั้งหมดรวมทั้งรัฐฉานได้อย่างเบ็ดเสร็จในปี พ.ศ. 2429 รัฐบาลอังกฤษใช้วิธีการแบ่งแยกกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ออกเป็นกลุ่ม ๆ เพื่อให้ง่ายต่อการปกครอง อาณานิคมอังกฤษได้นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่รัฐฉานสองประการ ดังนี้

ประการแรก การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองแบบรัฐชาติสมัยใหม่ โดยช่วงทศวรรษที่ 2460 อังกฤษได้เปลี่ยนรูปการปกครองในรัฐฉานใหม่ รวบรวมหัวเมืองต่าง ๆ กว่า 33 หัวเมืองสถาปนาโครงสร้างการปกครองรัฐฉานรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “สหพันธรัฐฉาน” (Federated Shan State) จัดตั้งสภาผู้นำแห่งสหพันธรัฐฉาน (Federal Council of Shan Chiefs) ขึ้นเป็นหน่วยปกครองหลักมีสมาชิกสภาประกอบไปด้วยเจ้าฟ้าเมืองต่าง ๆ ทำหน้าที่ดูแลกิจการภายในและงบประมาณของรัฐ แต่ทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลอังกฤษ การปกครองแบบรัฐสมัยใหม่ของอังกฤษทำให้ความเป็น “รัฐฉาน” ในทางการเมืองการปกครองเริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้น สร้างสำนึกทางชาติพันธุ์ที่ไปไกลกว่ายุคจารีตที่สำนึกทางชาติพันธุ์นั้นเชื่อมโยงเฉพาะเมืองต่าง ๆ อย่างเป็นเอกเทศ ผ่านตำนานเรื่องเล่าประจำเมือง ไม่ได้เชื่อมโยงกับความเป็นชาติพันธุ์ไตโดยรวมเหมือนรัฐฉาน.

ประการที่สอง การเปลี่ยนแปลงไปสู่ความทันสมัย ทั้งด้านการศึกษา การค้าเสรี การคมนาคม และเทคโนโลยีด้านต่าง ๆรัฐบาลอังกฤษได้ตัดถนน สร้างทางรถไฟ โรงเรียน โรงพยาบาล นำวัฒนธรรมตะวันตกมาเผยแพร่ อังกฤษเปิดบริษัทค้าไม้สัก ทำเหมืองแร่ โดยแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งให้กับพวกเจ้าฟ้า และค่าจ้างให้กับชนชนชั้นแรงงานในรัฐฉาน ดังนั้นภายใต้การปกครองของอังกฤษที่ยาวนานกว่า 70 ปี จึงเป็นช่วงของการปะทะสังสรรค์ระหว่างวัฒนธรรมตะวันตกและวัฒนธรรมท้องถิ่นของไต วิถีชีวิตของคนไต เคลื่อนจากสังคมเกษตร เปิดรับสิ่งใหม่ ๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต

ในระดับชาวบ้าน สิ่งที่เข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตของพวกเขาในช่วงอาณานิคม ไม่ใช่การศึกษาเนื่องจากการศึกษายังกระจุกอยู่กับชนชั้นปกครองเท่านั้น แต่เป็นระบบเศรษฐกิจการค้าสมัยใหม่โดยเฉพาะการค้าไม้และสินแร่ จากการพัฒนาระบบการคมนาคมที่สะดวกสบายมากขึ้น กิจกรรมการค้ารุ่งเรืองในรัฐฉานเป็นอย่างมาก เกิดคาราวานพ่อค้าไต หรือ พ่อค้าวัวต่างที่ออกเดินทางไปค้าขายยังที่ต่าง ๆ กลายเป็นกิจกรรมทางสังคมที่ทำให้คนหนุ่มคนสาวในยุคนั้น (วราภรณ์ เรืองศรี, 2557; นิติ ภวัครพันธุ์, 2558) การเปลี่ยนรูปแบบการปกครองไปสู่รัฐชาติสมัยใหม่ และการเปิดรับความทันสมัยทำให้สังคมและวัฒนธรรม ของรัฐฉานเปลี่ยนไป เป็นสังคมที่เปิดกว้างผสมผสานระหว่างความทันสมัยและจารีตนิยม

ต่อมายุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ในพม่าทวีความรุนแรงมากขึ้น รัฐฉาน ตกลงทำสัญญาปางโหลงกับรัฐพม่าและรัฐชาติพันธุ์อื่น ๆ เพื่อขอเอกราชจากอังกฤษภายใต้เงื่อนไขว่ารัฐฉานมีสิทธิแยกตัวออกจากสหภาพได้หากอยู่ร่วมกันครบ 10 ปี สิทธิการแยกตัวนี้ถูกที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับแรกของสหภาพพม่า (พ.ศ. 2491-2505) กระนั้นก็ตามภายใต้สหภาพพม่า นโยบายการบริหารสหภาพบางประการ สร้างผลกระทบต่อกลุ่มชาติพันธุ์ไม่น้อย จากฐานคิดเรื่องการหลอมรวมชนในชาติให้เป็นเอกภาพ ละเลยความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ทำให้ปัญหาความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์เริ่มรุนแรงมากยิ่งขึ้นประกอบกับการเมืองในระดับโลกที่กำลังขับเคี่ยวกันภายใตสงครามตัวแทนระหว่างฝ่ายประชาธิปไตย (เสรีนิยม)กับฝ่ายคอมมิวนิสต์ (สังคมนิยม) พม่ากับรัฐฉานจึงกลายเป็นสมรภูมิรบทั้งจากกลุ่มชาติพันธุ์และกลุ่มมหาอำนาจ

ต่อมาในช่วงเผด็จการทหาร (พ.ศ. 2505 - 2553) ปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่าได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นจนกลายเป็นสงครามกลางเมือง เผด็จการทหารปรับนโยบายเศรษฐกิจของประเทศมาเป็นสังคมนิยมภายใต้ชื่อว่า “สังคมนิยมวิถีพม่า” (The Burmese Way to Socialism) แล้วยึดกิจการต่าง ๆ ของภาคเอกชนมาเป็นของรัฐนั้น ส่งผลให้ภาคเศรษฐกิจสังคมการเมืองของพม่าพังทลายลง ในรัฐฉานเกิดขบวนการกู้ชาตินำโดยกลุ่มทหาร นักศึกษา พระสงฆ์ รวมถึงชาวบ้าน รัฐบาลทหารพม่าได้ใช้ยุทธวิธีทางการทหารเข้าปราบปราม ในการตัดกำลังของกองกำลังกู้ชาติกลุ่มต่าง ๆ ด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชนผ่านการคุกคามทางเพศ การเกณฑ์ทหาร การบังคับโยกย้ายถิ่นฐานและใช้แรงงานทาส รัฐฉานจึงไม่ใช่ดินแดนที่น่าอยู่สำหรับชาวไตบางกลุ่ม การอพยพโยกย้ายเข้ามาในประเทศไทยจึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จากรายงานมูลนิธิสิทธิมนุษยชนชาวไต (Shan Human Right Foundation: SHRF) ในปี พ.ศ. 2539 ชี้ว่า ผู้นำของพม่าได้ใช้กำลังบังคับประชาชนจากหมู่บ้านในภาคกลางของรัฐฉานกว่า 1,400 แห่งให้ย้ายออกจากถิ่นที่อยู่อาศัย ชาวไตที่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรถูกบังคับให้ย้ายออกจากที่ทำกินเดิมเพื่อไปอยู่ที่ใหม่ในเมืองที่รัฐบาลตระเตรียมไว้ให้ ทำให้สูญเสียที่ทำกินและทรัพย์สินที่เคยครอบครอง ประมาณว่าในปีนั้นมีประชาชนจากรัฐฉานมากกว่า 300,000 คนถูกบังคับย้ายถิ่น และระหว่างปี พ.ศ. 2539-2540 ประมาณว่ามีชาวไตถึง 80,000 คนหนีเข้ามาอยู่ในประเทศไทย (SWAN, 2546)

ต่อมาในยุครัฐบาลกึ่งพลเรือนกึ่งทหารในปัจจุบัน (พ.ศ. 2553 - ปัจจุบัน) พม่าได้ปฏิรูปประเทศเปลี่ยนการปกครองจากดเผด็จการทหารมาเป็นการปกครองกึ่งทหารกึ่งพลเรือน เปิดประเทศและเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น ในลักษณะกึ่งปิดกึ่งเปิดทางการปกครองเช่นนี้และการเข้ามาของทุนต่างชาติ ได้ก่อให้เกิดปัญหาร่วมสมัยคือ การเข้ามาตักตวงทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การทำเหมือง การทำเขื่อน เป็นต้น นำมาสู่การยึดที่ดินของชาวบ้าน โดยเฉพาะในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งเป็นเขตที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ การเปิดประเทศและการจะพัฒนาไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย ทำให้องค์กรต่าง ๆ สามารถมีพื้นที่ในการเคลื่อนไหวทางสังคมได้อย่างอิสระมากขึ้น

แนวทางที่สอง การศึกษาพัฒนาการทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับชายแดนและการจัดการกับประชากรในประเทศไทย คนไทใหญ่จำนวนหนึ่งอาศัยอยู่ในดินแดนล้านนาและบางส่วนในประเทศไทยมาตั้งแต่ก่อนยุครัฐชาติ คนกลุ่มนั้นก็ผสมกลมกลืนกลายเป็นพลเมืองไทยได้ไม่ยาก เพราะมีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกันทั้งทางภาษา ศาสนา วัฒนธรรม รวมถึงอาหาร

นับในช่วงหลังยุครัฐชาติ ปี พ.ศ. 2501 เป็นช่วงที่ความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์ในพม่าเริ่ม]ลุกลาม ในรัฐฉานเริ่มมีกลุ่มกองกำลังกู้ชาติจำนวนหนึ่งเกิดขึ้นเพื่อต่อสู้เรียกร้องเอกราชจากพม่า กองกำลังเหล่านี้เข้ามาอาศัยชายแดนไทย – พม่า เป็นฐานบัญชาการ ประกอบกับรัฐไทยในขณะนั้นต้องการป้องกันการเข้ามาของคอมมิวนิสต์จากจีน จึงได้อาศัยกองกำลังกู้ชาติไตเป็นรัฐกันชน(Buffer state) ตั้งแต่ชายแดนจังหวัดเชียงราย ถึงชายแดนจังหวัดแม่ฮ่องสอน ยาวนานกว่า 40 ปี เป็นช่วงที่ชายแดนไทย-พม่าเต็มไปด้วยภัยสงครามระหว่างกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์และรัฐบาลเผด็จการพม่า นอกจากนั้นยังมีปัญหายาเสพติดที่ระบาดหนักและปัญหาการทะลักเข้ามาของผู้อพยพจากพม่า พื้นที่ชายแดนจึงเต็มไปด้วยชุมชนของผู้อพยพและค่ายลี้ภัย

การที่กองกำลังกู้ชาติไตเข้ามาอาศัยบริเวณชายแดนเป็นฐานบัญชาการนั้น ได้ก่อให้เกิดชุมชนชาวไตอพยพหลายชุมชนขึ้นทั้งฝั่งไทยและพม่า เพื่อรองรับครอบครัวของทหารและชาวบ้านที่อพยพหนีภัยสงครามเข้ามา ชุมชนเหล่านี้บางแห่งมีสถานะเป็นรัฐซ้อนรัฐไม่อยู่ในการควบคุมทั้งจากรัฐไทยและพม่า บางพื้นที่ถูกประกาศเป็นรัฐอิสระไม่ขึ้นตรงต่อทั้งรัฐไทยและรัฐพม่า แต่อยู่ในการควบคุมของกองทัพ ที่สามารถจัดองค์กรทางการเมืองและวัฒนธรรมของตนเองขึ้นมาได้ เช่น โรงเรียน โรงพิมพ์ โรงพยาบาล ศูนย์ฝึกทหาร เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีชาวไตอพยพอีกจำนวนมากที่อพยพกระจายตัวกันอยู่ตามชายแดนจังหวัดเชียงใหม่ เช่น อำเภอเชียงดาว อำเภอฝาง อำเภอไชยปราการ อำเภอแม่อาย และอำเภอเวียงแหง ในชุมชนชายแดนของไทย ใช้ชีวิตร่วมกับคนไทยและกลุ่มคนอื่น ๆ บริเวณชายแดน หรือสร้างชุมชนของตนเองขึ้นมาใหม่ในที่รกร้างว่างเปล่าตามชายแดน ชาวไตอพยพกลุ่มนี้ไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากกองกำลังกู้ชาติมากนัก เนื่องจากไม่ได้อยู่ในพื้นที่ควบคุมของกองกำลังกู้ชาติ ทำให้ผู้อพยพจำนวนมากสามารถกลมกลืนเข้ากับชุมชนชายแดนของไทยได้ เนื่องจากมีภาษาและวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกันดังนั้นชุมชนที่อพยพเข้ามา สถานทางบุคคล การศึกษา ช่วงชั้นอายุ ที่มีความแตกต่างกันของผู้อพยพมาในช่วงนี้ จึงทำให้วิถีชีวิตของคนผู้อพยพแต่ละคนในแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน

การศึกษาวิถีชีวิตของคนไทใหญ่ในช่วงนี้ปรากฎผ่านงานศึกษาเรื่อง “กระบวนการสร้างอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของชาวไทใหญ่ชายแดนไทย-พม่า กรณีศึกษาหมู่บ้านเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่” ของวันดี สันติวุฒิเมธี (2545) เป็นงานศึกษาเกี่ยวกับชุมชนชาวไตอพยพที่ให้รายละเอียดของการเปลี่ยนแปลงภายในชุมชนได้ละเอียด ระหว่างปี พ.ศ. 2501 – 2544 และงานศึกษาเรื่อง สังคมและวัฒนธรรมไทบ้านใหม่หมอกจ๋าม ของนงนุช จันทราภัย และเรณู วิชาศิลป์ (2541) มักฉายภาพให้เห็นถึงพัฒนาการของการโยกย้ายตั้งถิ่นฐาน การปรับตัวให้เข้ากับสังคมไทย รวมทั้งการปรับตัวทางวัฒนธรรม ประเพณีและอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของพวกเขา หลังจากนั้นการศึกษาเกี่ยวกับคนไทใหญ่ในช่วงสามทษวรรษที่ผ่านมาได้ขยับมาศึกษาชาวไทใหญ่ที่อพยพเข้ามาเป็นแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย

อาจจะกล่าวได้ว่า ปัจจุบันประชากรไทใหญ่ในประเทศไทยจำแนกออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ กลุ่มแรก เป็นคนไทใหญ่ที่อาศัยอยู่ในดินแดนแถบนี้มานานตั้งแต่ยุคจารีต มาจนถึงยุคก่อนรัฐชาติ และยุคก่อตัวของรัฐชาติ ซึ่งคนไทใหญ่กลุ่มนี้บางส่วนได้ผสมกลมกลืนเข้ากับสังคมวัฒนธรรมไทย จนกลายเป็นพลเมืองไทย โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นลูกหลานของคนไทใหญ่ในยุคแรก ๆ ส่วนกลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มคนไทใหญ่ที่อพยพมาหลังยุคสร้างชาติในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา คนไทใหญ่กลุ่มนี้บางส่วนยังมีความเชื่อมโยงกับไทใหญ่ในพม่า บางส่วนสามารถสามารถตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยได้แล้ว และบางส่วนยังดำรงชีพด้วยการเป็นแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย

ปัจจุบันชาวไทใหญ่มีถิ่นฐานที่อยู่กระจัดกระจายในหลายประเทศ ทั้งในเขตรัฐฉานในภาคเหนือของพม่า ในมณฑลยูนนานของสาธารรัฐประชาชนจีน ในรัฐอัสสัมของประเทศอินเดีย ในภาคเหนือของประเทศลาว เป็นต้น ส่วนในประเทศไทยนั้นยังไม่มีการทำแบบสำรวจที่ครอบคลุมชัดเจนเกี่ยวกับจำนวนประชากรชาวไทใหญ่ในประเทศไทย มีเพียงการศึกษาชาวไทใหญ่เป็นกรณีตามแต่ละพื้นที่ ในภาพรวมที่มีชาวไทใหญ่อาศัยอยู่หนาแน่นในประเทศไทยในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ และมีชาวไทใหญ่ที่เป็นกลุ่มแรงงานข้ามชาติอยู่ตามเมืองเศรษฐกิจสำคัญของไทยในพื้นที่ กรุงเทพมหานครและพื้นที่เขตอึตสาหกรรมอื่นๆ

ในประเทศไทย จังหวัดที่มีชาวไทใหญ่อาศัยอยู่เป็นจำนวนมากคือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน รองลงมาคือเชียงใหม่ เชียงราย และจังหวัดอื่นตามลำดับเช่น นครสวรรค์ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก ตาก นครนายก เป็นต้น (วีระพงศ์ มีสถาน, 2544,13) เนื่องจากรัฐบาลไทยไม่มีนโยบายจัดการที่ชัดเจนกับกลุ่มชนนี้ ทำให้กลุ่มชาวไทใหญ่รู้สึกถึงความไม่มั่นคงทั้งในเรื่องความปลอดภัยและที่พักพิง ส่งผลให้ชาวไทใหญ่จำนวนมากย้ายถิ่นทะลักเข้าสู่เมืองใหญ่ต่างๆ รวมถึงกรุงเทพมหานครที่เปรียบเสมือนแหล่งรวมชาติพันธุ์หลากหลายซึ่งหลั่งไหลเข้ามาทำมาหากิน (ปิลันธน์ ไทยสรวง, 2559) ปัจจุบันคนไทใหญ่ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมีความแตกต่างทั้งช่วงระยะเวลาของการอพยพ เหตุผลที่อพยพ อายุ การศึกษา สถานภาพทางทะเบียนราษฤร์ และบริบทพื้นที่ที่ชาวไทใหญ่ตั้งถิ่นฐานที่เอื้อต่อปรับตัวและการรักษาอัตลักษณ์วัฒนธรรมความเป็นไทใหญ่แตกต่างกัน

ไต หรือไทใหญ่เคลื่อนย้ายเข้ามาในบริเวณภาคเหนือ (ล้านนา) ตั้งแต่อดีต เนื่องจากชาวไทใหญ่มีบทบาทในด้านการค้าขายทั้งในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย และอื่นๆ ซึ่งจากการศึกษาของ ปานแพร เชาวน์ประยูร (2550) ได้อธิบายถึงการตั้งชุมชมของชาวไทใหญ่ในจังหวัดเชียงใหม่จากอดีตและปัจจุบัน ดังนี้

ในอดีตชุมชนชาวไทใหญ่ เกิดจากการอพยพเข้ามาในเชียงใหม่ตั้งแต่ยุคสมัยพระเจ้ากาวิลพปกครองนครเชียงใหม่ ปี พ.ศ. 2325 ที่มีการดำเนินการรวบรวมกำลังคนจากเมืองต่างๆ เรียกว่ายุค “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” โดยเข้าไปตั้งถิ่นฐานบริเวณด้านเหนือของเมืองเชียงใหม่ คือ บริเวณประตูช้างเผือก มีสถานที่สำคัญของชาวไทใหญ่ คือ วัดกู่เต้า ซึ่งเป็นวัดนิกายเงี้ยวตามความศรัทธาของชาวไทใหญ่ นอกจากในเมืองเชียงใหม่แล้ว ชาวไทใหญ่ยังกระจายไปตั้งถิ่นฐานในบริเวณรอบนนอกด้วย เช่น ชุมชนบ้านโปง (ตำบลป่าไผ่ อำเภอสันทราย) ชุมชนบ้านกาด (ตำบลบ้านกาด อำเภอแม่วาง) ชุมชนบ้านลาน (ตำบลม่อนขิน อำเภอฝาง) บ้านเวียงหวาย (อำเภอฝาง) ตำบลเวียงแหง และตำบลเปียงหลวงนอกจากนั้นชาวไทใหญ่ยังกระจายไปตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ต่างๆ ในจังหวัดเชียงใหม่

ปัจจุบัน ชุมชนชาวไทใหญ่ที่อพยพเข้ามาในจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 เป็นต้นมา บางกลุ่มเป็นกลุ่มที่มีการสร้างเครือข่ายข้ามพรมแดนระหว่างชาวไทใหญ่ด้วยกันเอง ดังนั้นผู้ที่อพยพเข้ามาจึงเข้ามาอาศัยอยู่กับเครือข่ายของตนเองที่อาศัยอยู่ก่อนแล้วในจังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่ในเมืองเชียงใหม่ ที่มีชาวไทใหญ่อาศัยอยู่จำนวนมาก ได้แก่ ชุมชนวันกู่เต้าและวัดป่าเป้า เนื่องจากเป็นบริเวณที่อยู่อาศัยดั้งเดิมของชาวไทใหญ่ นอกจากนี้ยังมีชาวไทใหญ่ที่ไม่ได้เข้ามาอาศัยอยู่ญาติพี่น้อง ส่วนใหญ่มักเป็นกลุ่มที่เข้ามาเป็นแรงงาน โดยเฉพาะการก่อสร้าง หรือการทำงานในโรงงาน มักอาศัยอยู่บริเวณสถานที่ก่อสร้าง และมีการย้ายที่อยู่อาศัยไปตามลักษณะงาน การตั้งถิ่นฐานจึงไม่เป็นหลักแหล่งดังเช่นกลุ่มที่เข้ามาก่อน สำหรับพื้นที่รอบนอกเมืองเชียงใหม่มีชาวไทใหญ่อาศัยอยู่หลายพื้นที่ เช่น อำเภอเวียงแหง อำเภอแม่อาย และอำเภออื่นๆ ลักษณะของชาวไทใหญ่ที่ตั้งถิ่นฐานในจังหวัดเชียงใหม่จำแนกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ (ปณิธิ อมาตยกุล, 2547)

การอยู่อาศัยในประเทศไทยของชาวไทใหญ่ประกอบทั้งกลุ่มคนที่อาศัยอยู่อย่างถูกกฎหมาย และกลุ่มคนที่ข้ามพรมแดนเข้ามาเป็นแรงงาน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. ชาวไทใหญ่ที่มีบัตรประจำตัวประชาชน เป็นกลุ่มคนที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานเข้ามาในประเทศไทยก่อนปี พ.ศ. 2521 ได้รับสิทธิการโอนสัญชาติเป็นสัญชาติไทย ส่วนใหญ่มีครอบครัว โดยบุตรหลานได้สัญชาติไทยเช่นกัน ชาวไทใหญ่กลุ่มนี้โดยพื้นฐานแล้ว เป็นกลุ่มที่มีความรู้ มีการศึกษา ส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับมัธยมปลายหรืออุดมศึกษา มีทักษะทางด้านภาษาอังกฤษ เมื่ออพยพเข้ามาจึงสามารถประกอบอาชีพที่ต้องใช้ทักษะความรู้ได้ เช่น พนักงานเสนอขายสินค้าของที่ระลึก มัคคุเทศก์ และองค์อิสระที่เกี่ยวข้องกับไทใหญ่ (NGOs) เป็นต้น มีรายได้ประมาณ 5000-10,000 บาทต่อเดือน ชาวไทใหญ่กลุ่มนี้จะไม่ตั้งถิ่นฐานเป็นกลุ่มใหญ่ แต่จะอาศัยอยู่กระจัดกระจายในจังหวัดเชียงใหม่ ในอำเภอเมือง อำเภอหางดง อำเภอแม่ริม อำเภอสันทราย และอำเภออื่นๆ

2.ชาวไทใหญ่ที่ ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน เป็นกลุ่มคนที่อพยพเข้ามาหลังปี พ.ศ. 2521 เพื่อเข้ามาทำงาน มีทั้งกลุ่มคนที่เข้ามาอย่างถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย นอกจากนั้นบางส่วนอพยพเข้ามาพร้อมครอบครัว บางส่วนมาแต่งงานสร้างครอบครัวกับคนไทย ส่วนเด็กที่อพยพเข้ามามักจะบวชเป็นสามเณรเพื่อศึกษาต่อในจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งนี้ กลุ่มที่เข้ามาทำงานอย่างถูกกฎหมาย ส่วนใหญ่จะทำงานเป็นแม่บ้านทำความสะอาด ลูกจ้างในร้านค้า โรงงานทอผ้า โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า รายได้ประมาณ 700-2,000 บาทต่อเดือน และยังมีบางส่วนที่ประกอบอาชีพค้าขาย รายได้ไม่แน่นอน ประมาณ 200-500 บาทต่อวัน นอกจากนั้นกลุ่มที่เข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมาย ส่วนใหญ่ทำงานด้านก่อสร้าง บางส่วนเป็นลูกจ้างในสวนผลไม้ มักได้รับค่าตอบแทนเป็นรายวัน ประมาณ 35-120 บาทต่อวัน

กลุ่มที่ประกอบอาชีพรับจ้างต่างๆ มักจะอาศัยอยู่กับนายจ้าง หรือสถานที่ที่นายจ้างจัดไว้ให้ จะไม่ได้อาศัยอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มใหญ่ แต่จะกระจัดกระจายกันไปตามลักษณะของการประกอบอาชีพ ส่วนชาวไทใหญ่ที่ประกอบอาชีพก่อสร้าง มักจะพักอาศัยรวมกันเป็นกลุ่มใหญ่บริเวณใกล้เคียงที่ทำงาน ลักษณะที่อยู่อาศัยจะสร้างเป็นกระท่อมเล็กๆ เพื่อให้ง่ายต่อการเคลื่อนย้าย



การดำรงชีพ

ชาวไทใหญ่ดั้งเดิมที่ตั้งถิ่นฐานในเมืองเชียงใหม่ ในอดีตแต่ละครัวเรือนจะประกอบอาชีพที่หลากหลาย ไม่ได้ยึดติดกับการประกอบอาชีพใดอาชีพหนึ่ง (สมโชติ อ๋องสกุล, 2546) ได้แก่

1. การค้าวัวต่างพ่อค้าวัวต่างส่วนใหญ่เป็นชาวไทใหญ่ ในช่วงฤดูแล้ง พ่อค้าวัวต่างจะรวมกลุ่มเป็นขบวน รวบรวมผลผลิตสินค้าภายในท้องถิ่นไปแลกเปลี่ยนสินค้ากับหมู่บ้านอื่นๆ กลับมาในท้องถิ่น เส้นทางการค้าวัวต่างมีทั้งระยะไกล เช่น เชียงใหม่ถึงมะละแหม่ง และเส้นทางระยะใกล้ เช่น เชียงใหม่ถึงฝาง ต่อมาเมื่อมีการพัฒนาทางด้านการคมนาคม การสร้างทางรถไฟและการสร้างถนนทำให้บทบาทของพ่อค้าวัวต่างหมดลงไป

2. การทำหนังพองขาย ในอดีตชาวไทใหญ่แทบทุกครัวเรือนจะทำหนังพอง ซึ่งเป็นการทำหนังควายแห้งนำมาทอด การขายหนังพองจะขายสองแบบ คือ แบบที่ยังไม่ได้ทอด และแบบทอดแล้ว ขายให้กับพ่อค้าคนกลางที่มารับซื้อเพื่อนำไปขายต่อ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา หลังจากที่เริ่มมีผู้คนจากพื้นที่ต่างๆ เข้ามาอาศัยในเมืองโดยเฉพาะบริเวณชุมชนช้างเผือก-ป่าเป้า ทำให้การทำหนังพองของชาวไทใหญ่ต้องเลิกกิจการไป เนื่องจากการทำหนังพองใช้กรรมวิธีที่ต้องใช้เชื้อเพลิงความร้อน และมีควันมาก เทศบาลนครเชียงใหม่เกรงว่าจะเกิดอัคคีภัยจึงขอให้เลิกทำหรือย้ายไปทำที่อื่น

3. การปั้นหม้อชาวไทใหญ่ที่มีอาชีพปั้นหม้อขาย จะใช้ดินในบริเวณบ้านที่อยู่อาศัย โดยการขุดดินลงไปเพื่อนำเอาดินเหนียวด้านล่างขึ้นมา นำมาตากแดด แล้วจึงทุบให้ละเอียด นำมาร่อนแล้วจึงผสมน้ำ ขึ้นเป็นรูปทรง นำไปเผาไฟเป็นหม้อดิน ส่วนใหญ่จะขายที่ห้องแถวย่านถนนราชวงศ์

4. การทำรองเท้ากาบโปก รองเท้ากาบโปก เป็นภูมิปัญญาของชาวไทใหญ่ เป็นการนำเอาไม้ไผ่หรือไม่ซางมาตัดเป็นพื้นรองเท้า แล้วใช้หนังควายหรือหนังหมูมาหุ้มทั้งด้านบนและล่าง และเย็บหนังติดกัน ส่วนใหญ่ทำขึ้นเพื่อใช้ถวายพระภิกษุ

5. การทำนาชาวไทใหญ่ที่อาศัยในเมืองเชียงใหม่ ส่วนน้อยที่จะทำนา ที่นาจะอยู่บริเวณหลังโรงเรียนโกวิทธํารงเชียงใหม่ รูปแบบการทำนาเป็นการจ้างแรงงานท้องถิ่นมาทำ

6. ช่างคำชาวไทใหญ่บางครอบครัวที่แต่งงานกับคนเมืองเชียงใหม่ ประกอบอาชีพช่างคำ โดยการซื้อทองคำในเมือง มาตีเป็นแหวน หรือกำไล

7. การค้าอัญมณีชาวไทใหญ่ส่วนหนึ่งประกอบอาชีพการค้าขายอัญมณี เช่น เพชร พลอย หยก เป็นต้น ซึ่งนับว่าชาวไทใหญ่เป็นกลุ่มที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องอัญมณีอ่างมาก

8. หมอยาสมุนไพร หมอนวด หมอดูชาวไทใหญ่ส่วนหนึ่งมีความเชี่ยวชาญทางด้านสมุนไพร จึงมีชาวไทใหญ่ที่เป็น “สล่ายา” นอกจากนั้นส่วนหนึ่งก็ประกอบอาชีพเป็นหมอนวดและหมอดู

9. สล่าหรือช่างทำงานก่อสร้างชาวไทใหญ่บางกลุ่มมีความเชี่ยวชาญทางด้านการก่อสร้างและช่างไม้ เรียกว่า “สล่า”

ระบบความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม

ศาสนาและความเชื่อ

ชาวไทใหญ่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ซึ่งศาสนาพุทธได้เริ่มเข้ามามีบทบาทในกลุ่มชาวไทใหญ่ที่อาศัยอยู่ในรัฐฉานในช่วง ปี พ.ศ. 2015 เริ่มเฟื่องฟูมากขึ้นในช่วงที่พระญาณคัมภีร์เดินทางมาจากเชียงใหม่ไปเผยแพร่ศาสนาพุทธนิกายโยน ในขณะเดียวกันชาวไทใหญ่ก็นับถือเทพและผีเจ้าเมืองด้วย เป็นความเชื่อดั้งเดิมที่เชื่อว่าเจ้าเมืองที่เสียชีวิตไปแล้วจะยังคงปกปักรักษาชาวบ้านในชุมชนอยู่

ชาวไทใหญ่นับถือศาสนาพุทธร่วมกับการนับถือเทพและเจ้าเมือง โดยมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ในชุมชนจึงมีทั้งวัดเป็นศาสนสถานและหอเจ้าเมืองและใจบ้าน อีกทั้งชาวไทใหญ่มีประเพณี 12 เดือน ที่ในแต่ละเดือนจะมีประเพณีที่เกี่ยวข้องกับวัดทั้งสิ้น จึงกล่าวได้ว่าชาวไทใหญ่เป็นผู้นับถือศรัทธาศาสนาพุทธอย่างแนบแน่น นอกจากนั้นชาวไทใหญ่ยังมีความเชื่อในเรื่องของโลกหน้าอีกด้วย ชาวไทใหญ่จะนิยมการทำบุญทำทาน และให้ความสำคัญกับประเพณีทางศาสนาอย่างมาก เชื่อเมื่อตายไปแล้วจะได้อยู่บนสวรรค์ (ปานแพร เชาวน์ประยูร, 2550)

ความเชื่ออื่นๆ

ความเชื่อของชาวไทใหญ่ในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นเป็นลักษณะผสมผสานระหว่างพุทธ ผี พราหมณ์ ที่ได้รับอิทธิทั้งจากความเชื่อดั้งเดิมและความเชื่อจากชาติพันธุ์อื่นๆ ซึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญของชาวไทใหญ่ลำดับได้ ดังนี้

1. พระเจ้า หมายถึง สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เนื่องจากวัฒนธรรมของชาวไทใหญ่นั้นนับถือพระพุทธศาสนา ด้วยความเชื่อในเรื่องของโลกหลังความตาย บุญกรรม และชีวิตในโลกหน้า ชาวไทใหญ่จึงนิยมการทำบุญทำทานเป็นอย่างยิ่ง ในวันพระจะเข้าวัดทำบุญ ถือศีล ในบ้านของชาวไทใหญ่จะมีหิ้งพระที่เรียกว่า “เข่งพารา” เป็นส่วนประกอบหนึ่งของเรือนทุกเรือน

2. ขุนสาง หรือสางฟ้า หรือเลงดอน หมายถึง เทพเทวดาโดยกำเนิด มีหน้าที่ดูแลเจ้าผีฟ้าทุกองค์ที่ตายไปแล้ว ต่อมาเมื่อพุทธศาสนาเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เลงดอนจึงถูกรวมเรียกว่า “แถน” หรือขุนศึกยา สิ่งศักดิ์สิทธิ์นี้ปรากฏเพียงในตำนานการสร้างเมืองไต ทั้งนี้ธรรมเนียมในระดับพิธีกรรม ชาวไทใหญ่จะไหว้ขอพรและขอการคุ้มครองจากขุนสางที่หอเจ้าเมือง

3. เจ้าเมือง หรือขุนหอคำ ชาวไทใหญ่เชื่อว่าเจ้าเมืองที่สิ้นชีวิตไปแล้วจะขึ้นไปเป็นเทพที่เรียกว่า “ขุนสาง” เป็นขุนสางที่สามารถทำพิธีกรรมได้ แตกต่างจากสางฟ้าที่เป็นเทพเทวดาโดยกำเนิด มีหน้าที่ดูแลสารทุกข์สุขดิบของคนในชุมชน เจ้าเมืองจึงถือเทพวีรบุรุษประจำหมู่บ้าน เป็นผีที่มีอิทธิพลสูงสุดสามารถควบคุมผีอื่นๆ ที่มีอำนาจน้อยกว่าได้ (อรวรรณ วิไชย, 2557)

พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์

1. หอเจ้าเมือง สถานที่สักการะเพื่อระลึกถึงสิ่งสูงสุดเป็นอำนาจฝ่ายผี เรียกว่า “ขั้นเจ้าเมือง” เพื่อตอบแทนบุญคุณที่เจ้าเมืองได้มาให้ความคุ้มครองคนในหมู่บ้านทั้งหมดให้มีความเป็นอยู่สุขสบายและอุดมสมบูรณ์ ขุนสางที่อันเชิญมาที่หอเจ้าเมืองนี้เชื่อว่าเป็นวิญญาณของเจ้าเมืองแรกของชุมชนแต่ละแห่งพิธีกรรมขึ้นเจ้าเมืองมักจะกระทำกันในเดือนเมษายน ขั้น 10 ค่ำของทุกๆ ปี อันเป็นช่วงประเพณีสงกรานต์ หรือ “สางจ้าน” เป็นพิธีกรรมร่วมกันทั้งหมู่บ้าน พิธีกรรมปฏิบัติต่อเจ้าเมืองมีปีละ 2 ครั้ง ได้แก่ วันสงกรานต์ เดือน 5 (เมษายน) ขั้น 10 ค่ำ และเดือนแปด ขั้น 13 ค่ำ บูชาเจ้าเมืองก่อนทำไร่ทำนา

2. ใจบ้าน สถานที่เคารพสักการะของชุมชน หรือเรียกว่า “มังคละเจ้าบ้าน” หมายถึง มงคลของบ้านหรือชุมชน คำอธิบายบางนัยบอกเล่าว่า ใจบ้านคือจุดศูนย์กลางของหมู่บ้าน สร้างเป็นหอใจบ้านขึ้นมา เป็นสัญลักษณ์ว่าชุมชนได้เลือกที่ตั้งทำเลแห่งนี้สำหรับลงหลักปักฐาน ใจบ้านจะมีลักษณะเหมือนเรือนหลังเล็กๆ มีเสาเพียงเสาเดียว เป็นจุดศูนย์กลางของชุมชน ความเชื่อของชาวไทใหญ่นั้น ใจบ้านจะไม่มีผีหรือสางสิงอยู่ เพราะเป็นสถานที่มงคล พิธีกรรมที่ปฏิบัติต่อใจบ้านทุกปี เรียกว่า “สวดมังคละใจบ้าน” (สวดมงคลใจบ้าน) เป็นการแสดงความขอบคุณที่ทำให้ตนได้มาอยู่ ณ สถานที่นั้นๆ อย่างเป็นสุข พิธีกรรมดังกล่าวจะจัดขึ้นหลังจากเสร็จสิ้นวันสงกรานต์แล้ว (เรณู อรรฐาเมศร์, 2541)

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรม

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรมในชีวิต

การแต่งงาน การหย่าร้าง

ประเพณีการแต่งงานชาวไทใหญ่มีคำที่ใช้เรียกการแต่งงานหลายคำ เช่น กินแขก เฮ็ดแขก กินแขกกินดอง กินเน่งกินเกลือ ช้อนมิ่งค้างหัว ช้อนมิ่งก๊บคู่ กินปู๊กินเน่ง (กินพลูกินชา) เฮ็ดมังกะหล่า ปอยส่งสาว (ฝ่ายหญิงเรียก) และปอยเอาสาว (ฝ่ายชายเรียก)

เมื่อหนุ่มสาวพอใจกัน ฝ่ายชายก็จัดให้ญาติผู้ใหญ่ ซึ่งเรียกว่า “ปะใจ้” (คนใช้) 2 คน นำหว่านไข่ (ชามใส่ไข่) เป็นไข่ไก่ดิบ 2 ฟอง ข้าวสาร เน่งยำ (ใบชาเปียก หรือใบเมี่ยง) กับเกลือ ไปที่เรือนฝ่ายหญิง ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงมาคอยรับ ถ้าพ่อแม่ของฝ่ายหญิงตกลงรับคำสู่ขอ ก็จะแก้ห่อเน่งยำ แจกแก่ญาติพี่น้องที่เชิญมาเป็นสักขีพยาน ให้กินกันคนละเล็กน้อยพอเป็นพิธี (กินปู๊กินเน่ง) ญาติฝ่ายชายก็กลับไปแจ้งข่าวและเตรียม “เงินฝาก” (สินสอด) ไข่ เน่งยำ กับเกลือ เพื่อมาหมั้นอีกครั้งหนึ่ง ในหมู่ชาวไทเหนือ เมื่อนับเงินสินสอดครบถ้วนตามที่ตกลงกันแล้ว นำไข่นั้นไปทอดเป็นไข่ดาวไหว้ผีบรรพบุรุษของฝ่ายหญิงเป็นการบอกกล่าว ก่อนแต่งงานพ่อแม่ฝ่ายหญิงให้หมอโหรา หาฤกษ์งามยามดี เพราะในแต่ละเดือนจะวันทุน (วันดี) และวันม้วย (วันไม่ดี) ในเดือนเจี๋ยว (เดือนอ้าย) เดือนห้า เดือนเก้า ห้ามแต่งงานในวันพฤหัสบดี, ศุกร์ เดือนหก เดือนสิบ ห้ามแต่งงานวันพุธ, วันศุกร์ เดือนก้ำ (เดือนยี่) เดือนเจ็ดห้ามแต่งงาน ส่วนเวลานั้นจะเลือกเวลาใดก็ได้ หากเลือกวันและเดือนดีแล้ว

วันแต่งงาน ขบวนแห่เจ้าบ่าว นำหน้าด้วยวงฆ้อง กลอง เดินทางไปบ้านเจ้าสาว เจ้าบ่าวนำไก่ต้ม 2 ตัว กล้วย 2 หวี น้ำอ้อย 2 ชาม เหล้า 2 ถ้วย หมาก พลู และเงินจ่ายค่าไขประตู ค่าปูที่นอน และค่ากางมุ้งไปด้วย ถึงเวลาทำพิธี เจ้าบ่าวเจ้าสาวนั่งคู่กัน โดยเจ้าบ่าวนั่งด้านขวา เจ้าสาวนั่งด้านซ้าย ป้อแขก (พ่อแขก) คือ ผู้ที่จะกล่าวคำมงคล เจ้าสาวเอาเหล้าส่งให้เจ้าบ่าว แล้วส่งต่อให้ป้อแขกหยดลงบนตัวไก่ ป้อแขกและญาติผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายผูกข้อมือให้พร เป็นอันเสร็จพิธี เจ้าภาพเอาของฝาก (ของชำร่วย) อาจเป็นน้ำอ้อย เงิน แจกให้คนเฒ่าคนแก่ที่มาในงาน (เรณู วิชาศิลป์, 2541)

การหย่าร้างการหย่าร้าง เรียกว่า “การแป้ดกัน” ซึ่งจะต้องตกลงต่อหน้าผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่าย ถ้ามีบุตรชาย สามีจะเป็นผู้เลี้ยงดู เว้นแต่บุตรยังเล็กมาก จึงจะมอบให้ภรรยาเป็นผู้เลี้ยงดูส่วนทรัพย์สินที่หามาได้ก็แบ่งกันไปตามธรรมเนียมของแต่ละท้องถิ่น ภรรยากลับไปอยู่เรือนพ่อแม่ตามเดิม (เรณู วิชาศิลป์, 2541)

ความตาย และการทำศพ

เมื่อมีผู้ตาย จะนำศพมาอาบน้ำสวมเสื้อใหม่ โดยกลับหน้าหลัง แล้วเอานอนหันหัวไปทางทิศเหนือ ครั้นต่อโลงแล้ว เอาใบยาสูบ ใบฝรั่งหรือฟักเขียวเจาะรูใส่ไว้ เพื่อดับกลิ่นแล้วปูด้วยเสื่อหรือฟูก นำศพใส่โลงหันหัวไปทางทิศเหนือ เอาด้ายผูกหัวแม่มือแม่เท้าให้ติดกัน ถ้าเป็นชนชั้นหัวหน้าใช้แผ่นทองคำเปลวติดที่หน้าเสียก่อน จากนั้นเอาเหรียญเงินใส่ปากผู้ตาย หากเป็นผู้ที่มีฐานะดีก็ใส่เครื่องประดับมีค่าต่างๆ ไว้

ผู้ตายที่เป็นสามัญชน ไม่มีตำแหน่งสำคัญมากนัก เมื่อต่อโลงแล้ว นำศพใส่โลงเคลื่อนศพไปฝังทันที แต่หากเป็นเจ้าฟ้าหรือเชื้อพระวงศ์จะตั้งศพไว้ 1 สัปดาห์ หรือนานกว่านั้นตามต้องการ เพื่อส่งข่าวไปยังหมู่บ้านต่างๆ และเชื้อเชิญมางานศพ ในระหว่างนั้นก็ต้องจัดให้มีผู้เฝ้าศพตลอดทั้งคืน ผู้หญิงนั่งด้านซ้าย ผู้ชายนั่งด้านขวาของศพ ต้องจัดอาหารตลอดจนเครื่องใช้ให้พร้อมเสมือนยังมีชีวิตอยู่ ญาติผู้ตายจะรำพันถึงความดีของผู้ตายที่เคยทำแก่ตน ตลอดเวลาที่ศพยังอยู่จะมีการเลี้ยงอาหารแก่แขกที่มาร่วมงานทุกมื้อ ในบริเวณบ้านมีวงฆ้อง กลอง ฉาบ ประโคมเพื่อไล่วิญญาณร้ายที่จะมารบกวนวิญญาณของผู้ตาย

เมื่อถึงเวลาเคลื่อนศพลงจากเรือน จะหามเอาทางปลายเท้าออก หากเป็นการตายโดยปกติโลงศพจะถูกหามออกทางประตู ผ่านชาน ลงบันได นำไปวางบนแคร่หามศพ แต่หากเป็นการตายที่ผิดปกติ เช่น ตายทั้งกลม จะเคลื่อนศพลงข้างโดยเปิดฝาเรือนออกแล้วหย่อนศพลงข้างล่าง ก่อนจะนำศพไปป่าช้า เจ้าภาพจะเลี้ยงอาหารแก่แขกที่มาเผาศพ มีการโปรยข้าวสาร ถั่ว เงิน และแจกเสื้อผ้าแก่คนจน

ขบวนแห่ศพ นำด้วยพระสงฆ์ตามจำนวนที่เจ้าภาพนิมนต์ พระสงฆ์ถือด้ายสายสิญจน์ที่โยงจากแคร่หามศพ ซึ่งมีผู้ผลัดเปลี่ยนกันหามหลายชุด คือ ญาติพี่น้องของผู้ตายและแขกที่มาร่วมพิธี เมื่อเข้าป่าช้าก็กลับเอาหัวเข้าก่อน หามไปจนถึงหลุมที่ขุดเตรียมไว้ พระสงฆ์และผู้ชายทำพิธีฝัง ส่วนผู้หญิงนั่งรวมกลุ่มอยู่ห่างจากหลุมฝังศพไม่ไกลนัก ครั้นหย่อนศพลงหลุมโดยหันหัวไปทางทิศเหนือ แล้วนำข้าว ใบชา ยาสูบวางลงในหลุม พระสงฆ์สวดอีกครั้งแล้วจึงกลบหลุม เจ้าภาพถวายสิ่งของในนามผู้ตาย (เรณู วิชาศิลป์, 2541)

การสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์และบรรพบุรุษ

การไหว้ผีเจ้าเมือง (กั่นตอเจ้าเมือง)

วันไหว้ผีเจ้าเมืองจะเลือกวันหลังวันสงกรานต์ คือ ตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน เป็นต้นไป สิ่งของที่ชาวบ้านนำมาบูชา ได้แก่ ข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียน เงิน ข้าวสาร ขนม ผลไม้ น้ำนม น้ำชา เมื่อมาถึงบริเวณหอก็นำของบูชาไปให้ผู้ดูแลหอเจ้าเมือง โดยจะมีการแยกประเภทของที่นำมาบูชาไว้ในถาด กาละมัง กระบุง แล้วนำขึ้นไปวางบนชานหอโดยจัดใส่ถาดไว้ในห้อง 3 ห้อง ห้องละ 3 ถาด นอกจากสิ่งของดังกล่าวแล้วชาวบ้านยังนำขันส้มป่อยมาด้วย นำมาวางรวมกันไว้ที่เชิงบันไดหอ เพื่อ “ชอนน้ำ” (รดน้ำ) เจ้าเมือง จากนั้น “หมอลิ่ก” ผู้อาวุโสของหมู่บ้านจะกล่าวคำบูชาผีเจ้าเมืองเมื่อกล่าวจบ ชาวบ้านใช้ใบไม้จุ่มน้ำส้มป่อยพรมที่หอเจ้าเมือง แล้วพรมลงบนศีรษะตนเองเพื่อความเป็นสิริมงคล เมื่อเสร็จสิ้นพิธีก็แยกย้ายกลับบ้าน (นงนุช จันทราภัย และเรณู วิชาศิลป์, 2541)

การสวดมังคละใจบ้าน (กั่นตอเจ้าบ้าน)

ความเชื่อของชาวไทใหญ่ถือว่า “ใจบ้าน” เป็นสถานที่มงคล ศูนย์กลางของชุมชน พิธีกรรมที่ปฏิบัติต่อใจบ้านทุกปี เรียกว่า “สวดมังคละใจบ้าน” (สวดมงคลใจบ้าน) เป็นการแสดงความขอบคุณที่ทำให้ตนได้มาอยู่ ณ สถานที่นั้นๆ อย่างเป็นสุข

พิธีกรรมดังกล่าวจะจัดขึ้นหลังจากเสร็จสิ้นวันสงกรานต์แล้ว โดยเริ่มตั้งแต่เช้าตรู่ ชาวบ้านจะจัดอาหารประกอบด้วย ขนมและผลไม้ใส่ตะกร้า ถาด หรือถังน้ำจากบ้านของตน เอาไปรวมไว้ที่หอใจบ้านเพื่อจะถวายแด่พระสงฆ์ ขณะที่พระสงฆ์สวดมงคลเพื่อให้อยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติสุข ต้องมีวิธีปฏิบัติต่อกัน คือ มงคล 38 ประการ

เมื่อไปถึงหอใจบ้าน ชาวบ้านแต่ละคนจะนำธูปเทียนบูชาหอใจบ้านก่อน แล้วจึงนั่งรายรอบหอ พระสงฆ์จะนั่งตรงข้าม ชาวบ้านนำข้าวตอกมาด้วย จะใส่ข้าวตอกไว้ในมือที่พนมไหว้พระ ในขณะที่พระสงฆ์สวดมงคล เมื่อสวดมงคลจบไปตอนหนึ่ง ชาวบ้านจะโปรยขว้างซัดข้าวตอกลงไปบนพื้นดินรอบๆ ตัว เพื่อให้ภูมิพื้นที่มีความเป็นมงคลตามคำสวด

เมื่อพิธีแล้วเสร็จพระสงฆ์จึงกลับวัด ชาวบ้านจะนำผลไม้และขนมที่ทำพิธีไปส่งไว้ที่วัด จนเสร็จสิ้นพิธีกรรม “แก่วัด” (เจ้าจอวรรณะ) เอาน้ำพุทธมนต์ประพรมให้แก่ชาวบ้านโดยทั่วถึง จากนั้นก็ “ชอนน้ำไม้หย่อง” คือการรดน้ำต้นโพธิ์เป็นพิธีสุดท้าย (เรณู อรรฐาเมศร์, 2541)

พิธีกรรมเกี่ยวกับการเคารพผู้อาวุโส

พิธีกั่นตอ

“กั่นตอ” เป็นคำไทใหญ่ เพี้ยนมาจากภาษาพม่าว่า “กั่นต้อ” หมายถึง การแสดงออกทางเจตนาเพื่อขอขมาญาติผู้ใหญ่ ผู้นำชุมชน และพ่อแม่ แสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีที่มีต่อเครือญาติและผู้นำชุมชน และยังเป็นการรับพรจากผู้ที่เราเคารพนับถือเพื่อความเป็นศิริมงคลในชีวิตของตนเองและครอบครัว

ประเพณีกั่นตอหรือขอขมาจัดปีละ 2 ครั้ง ได้แก่ เดือน 5 และเดือน 11 (เดือนเมษายนและเดือนตุลาคม) หรือก่อนวันขึ้นวัด 1 วัน คือ ช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 14-15 เมษายนของทุกปี และขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี กิจกรรมที่จัดมีการกั่นตอหรือขอขมาพระสงฆ์ และสรงน้ำพระพุทธรูปที่วัด ชาวบ้านในชุมชนจะจัดเตรียมน้ำส้มป่อย น้ำอบน้ำหอมในขันเงินที่เตรียมไป เมื่อกั่นตอหรือขอขมาพระสงฆ์และสรงน้ำพระพุทธรูปแล้ว พระสงฆ์ให้คำอวยพรเป็นเสร็จพิธี

นอกจากนั้น การกั่นตอจะจัดอีกครั้งในเดือน 11 คือ เดือนตุลาคมก่อนออกพรรษา จะเริ่มที่การกั่นตอบิดามารดา ญาติผู้ใหญ่ ในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 เช้าวันรุ่งขึ้นมีการตักบาตรเทโว ตอนสายฟังเทศน์ ฟังธรรมที่วัด โดยช่วงวันแรม 2-3 ค่ำ เดือน 5 จะมีการกั่นตอต่างหมู่บ้าน หรือหมู่บ้านใกล้เคียง อาศัยวัดประจำหมู่บ้านเป็นศูนย์กลาง รูปแบบการกั่นตอแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ

1. การกั่นตอบิดามารดา ผู้เฒ่าผู้แก่ ต้องมีการกั่นตอบิดามารดาทุกครั้งก่อนขึ้นวัดหนึ่งวัน เมื่อกั่นตอบิดามารดาแล้ว ก็จะกั่นตอผู้เฒ่าผู้แก่และญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ สิ่งของที่ใช้สำหรับกั่นตอ เช่น ขนม ข้าวตอก ดอกไม้ ธูป และเทียน เพื่อกั่นตอลาโทษในสิ่งที่กระทำผิดทางกาย วาจาและทางใจ จากนั้นบิดามารดาจึงให้พร

2. การกั่นตอพระสงฆ์ หลังจากการกั่นตอบิดามารดาแล้ว ในวันรุ่งขึ้นต้องไปทำบุญที่วัด และมีการกั่นตอพระสงฆ์ โดยนำดอกไม้ ธูป เทียน น้ำส้มป่อยผสมน้ำอบน้ำหอม ข้าวตอก การกั่นตอพระสงฆ์อาจมีการนำน้ำส้มป่อยรดมือพระสงฆ์ด้วย จากนั้นพระสงฆ์ให้พร และการสรงน้ำพระพุทธรูปในวันศีลหรือวันพระจะมีในเดือน 5 หรือเดือนเมษายนของทุกปี

การรักษาโรคภัยไข้เจ็บ

ชาวไทใหญ่มีความเชื่อว่าความเจ็บไข้นั้นเกิดมาจากหลายสาเหตุ เช่น ผิดผี มีเคราะห์ ขวัญหนี ลมและพยาธิ (โรค) จึงมีการรักษาพยาบาลทั้งแบบไสยศาสตร์ การรักษาแผนโบราณ และแพทย์แผนปัจจุบันโดยพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ สรุปได้ดังนี้

1. ผิดผี ต้องทำพิธี “เลี้ยงผี” หรือ “เซ่นผี” มักจะเซ่นด้วยข้าว ขนม และผลไม้ ไม่ฆ่าสัตว์เลี้ยงผี เพราะถือว่าทำบาป

2. ขวัญหนี ต้องทำพิธีเรียกขวัญ

3. มีเคราะห์ จะให้หมอเมืองหรือพระสงฆ์ทำพิธีบูชาเทียน เพื่อเป็นการส่งเคราะห์ ซึ่งการจะทราบว่าผู้ใดมีเคราะห์นั้น จะทำโดยการนำเสื้อของผู้นั้นมาพับ เอาใบตอง 5 แผ่น วางซ้อนอยู่ในเสื้อจุดเทียนวางบนปากคนโทที่บรรจุน้ำเต็ม ยกคนโทวางบนเสื้อซึ่งมีใบตองซ้อนอยู่ ถ้าใบตองมีรอยไหม้เกรียม แสดงว่ามีเคราะห์ ถ้าไหม้ทุกแผ่นแสดงว่ามีเคราะห์มาก

พิธีส่งเคราะห์ จะจัดสิ่งของต่างๆ ได้แก่ (1) ข้าวสาร (2) กล้วยทั้งหวี (3) มะพร้าวดิบ (4) หมาก, พลู (5) ยาสูบ (6) ผลไม้อื่นๆ (7) ซองปัจจัยค่าขันตั้งครู (8) ช่อตุง (9) ฉัตรสีขาว 9 ชั้น (10) กรวยดอกไม้สีขาว 2 กรวย (ใช้ยวงฝ้ายแทนได้) (11) จอกน้ำ

การจะทราบว่าเคราะห์หมดเมื่อใดนั้น จะต้องหมั่นดูใบตอง เปลี่ยนใบตองจนกว่าจะไม่เกิดรอยไหม้เกรียมรูปก้นคนโทที่ใบตอง ผู้มีเคราะห์ต้องภาวนา สงบจิต ทำบุญทำทานทุกวันจนกว่าจะหมดเคราะห์ (นงนุช จันทราภัย และเรณู วิชาศิลป์, 2541)

ผู้นำในการประกอบพิธีกรรม

ชาวไทใหญ่มีความเชื่อทั้งความเชื่อทางพระพุทธศาสนาและความเชื่อเรื่องเทพและผีเจ้าเมือง ดังนั้นการประกอบพิธีกรรมจะมีผู้นำในการประกอบพิธีกรรมที่แตกต่างกันไปตามความเชื่อ

1. พระสงฆ์ เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมทางด้านพุทธศาสนา เช่น การประกอบพิธีกรรมในวันพระ วันศีลใหญ่ การสวดมังคละใจบ้าน และพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับชีวิต เป็นต้น

2. หมอเมือง หรือ ปู่เมือง เป็นผู้มีความรู้ในเรื่องพิธีกรรม โดยเฉพาะพิธีไหว้หอเจ้าเมือง มีบทบาทสำคัญอันเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดพิธี นอกจากนั้นหมอเมืองถือเป็นบุคคลที่ชาวบ้านเชื่อถือในคำพูด ต้องเป็นคนมีสัจจะ คำขอต่างๆจึงจะศักดิ์สิทธิ์ในพิธีไหว้หอเจ้าเมือง ปู่เมืองจะเป็นผู้สื่อสารกับเจ้าเมือง เมื่อเจ้าเมืองมาพร้อมกันแล้ว ปู่เมืองก็จะเป็นผู้สั่งให้ทำการสังเวยไก่แก่เจ้าเมือง ในการสอบถามเรื่องเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งปู่เมืองจะเป็นผู้ติดต่อกับเจ้าเมืองทั้งหมด ดังนั้น ปู่เมืองต้องเป็นคนดีอยู่ในศีลธรรม เป็นคนซื่อสัตย์ มีสัจจะ "การเป็นหมอเมืองไม่ได้อะไรตอบแทน นอกจากได้บุญ” (MGR Online, 2551)

3. จเร ผู้ทรงคุณวุฒิและวัยวุฒิในทางธรรม ศึกษาเรียนรู้การอ่านธรรมแบบไทใหญ่ ทำหน้าที่เป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรม เช่น การสมาทานศีล การนำไหว้พระเรียกขวัญส่างลอง เป็นต้น (โชคนิธินันต์ คุณยศยิ่ง, 2557)

เกียรติก้อง ศิลปะสนธยานนท์. (2555). ลิเกไทใหญ่ ในบริบทของกระบวนการสร้างจิตสำนึกทางชาติพันธุ์ กรณีศึกษาคณะจ๊าดไตยอดแซงแลงใหม่ หมู่บ้านเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่.(วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภูมิภาคศึกษา). มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

แก่นจันทร์ มะลิซอ. (2546). การออกแบบผลิตภัณฑ์จากผ้าทอไทใหญ่ บ้านใหม่หมอกจ๋าม อำเภอ
แม่อาย จังหวัดเชียงใหม่.
(วิทยานิพนธ์ปริญญาศึกษาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาอาชีวศึกษา). คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ขำคม พรประสิทธิ์. (2555). กลองก้นยาว: ระเบียบวิธีการบรรเลงและการประสมวง. กรุงเทพฯ: กองทุนวิจัยรัชดาภิเษกสมโภช จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ขำคม พรประสิทธิ์. (2559). วัฒนธรรมการบรรเลงดนตรีไทใหญ่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน. วารสารศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปีที่ 8 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม-ธันวาคม 2559

โครงการพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมและชาติพันธ์ล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (2551). ไทใหญ่ ความเป็นใหญ่ในชาติพันธุ์. เชียงใหม่: สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

จุฑารัตน์ สุภาษี. (2544). การผลิตและการบริโภคถั่วเน่าของกลุ่มไทใหญ่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน (วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโภชนาศาสตร์ศึกษา). มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ชัยสิทธิ์ ด่านกิตติกุล และสิงหนาท แสงสีหนาท. (2549). โครงการภูมิทัศน์วัฒนธรรมในชุมชนไทใหญ่ ในชุดโครงการภูมิปัญญา พัฒนาการ และความสัมพันธ์ระหว่างกันของเรือนพื้นถิ่นไทย-ไท คุณลักษณะของสถาปัตยกรรมสิ่งแวดล้อมในเรือนพื้นถิ่น รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

โชคนิธินันต์ คุณยศยิ่ง. (2557). องค์ความรู้ของการจัดการปอยส่างลองวัดป่าเป้า อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ (วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการศิลปะและวัฒนธรรม). คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ดนิตา มาตา และคณะ. (2561). รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ เรื่อง เครือข่ายข้ามพรมแดน: ตัวตน และพลวัตทางวัฒนธรรมของชาวไทใหญ่ ในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา. สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.

นงนุช จันทราภัย และเรณู วิชาศิลป์. (2541). สังคมและวัฒนธรรมไทบ้านใหม่หมอกจ๋าม. ใน ฉลาดชาย รมิตานนท์ และคณะ (บรรณาธิการ) ไท: Tai (หน้า 287-332). เชียงใหม่: โรงพิมพ์มิ่งเมือง.

ปณิธิ อมาตยกุล. (2547). การย้ายถิ่นของชาวไทใหญ่เข้ามาในจังหวัดเชียงใหม่ (วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภูมิภาคศึกษา). มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ปานแพร เชาวน์ประยูร. (2550). บทบาทของพระพุทธศาสนาต่อกระบวนการผลิตซ้ำทางอัตลักษณ์ของชาวไทใหญ่ในอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ (วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภูมิภาคศึกษา). มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม. (2553). โครงการการออกแบบเบื้องต้นและการศึกษาความเป็นไปได้สำหรับพิพิธภัณฑ์มีชีวิตของเมืองแม่ฮ่องสอน รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

พิทยา ฟูสาย และคณะ. (2553). โครงการ “กระบวนการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าสู่จังหวัดแม่ฮ่องสอน กรณีศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ คะยาห์ และกระเหรี่ยง” รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

เรณู วิชาศิลป์. (2541). สังเขปภูมิหลังของชาวไทใหญ่ในรัฐฉาน. ใน ฉลาดชาย รมิตานนท์ และคณะ (บรรณาธิการ) ไท: Tai (หน้า 255-259). เชียงใหม่: โรงพิมพ์มิ่งเมือง.

เรณู อรรฐาเมศร์. (2541). ภูมิปัญญาชาวไทใหญ่กับความเชื่อและพิธีกรรม. ใน ฉลาดชาย รมิตานนท์ และคณะ (บรรณาธิการ) ไท: Tai (หน้า 434-448). เชียงใหม่: โรงพิมพ์มิ่งเมือง.

วันดี สันติวุฒิเมธี. (2545). กระบวนการสร้างอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของชาวไทใหญ่ชายแดนไทย-พม่า กรณีศึกษาหมู่บ้านเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา). คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

วิสุทธิ์ เหล็กสมบูรณ์ และคณะ. (2552). รายงานการวิจัย เรื่อง การสร้างความหมายทางสังคมวัฒนธรรมของเด็กและเยาวชนไร้สัญชาติในจ๊าดไต (ลิเกไทใหญ่) ภายใต้บริบทการเข้าถึงทรัพยากร : กรณีศึกษาจ๊าดไต บ้านแม่ละนา อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน. สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.

ศันสนีย์ กระจ่างโฉม. (2556). องค์ความรู้ด้านการบริโภคอาหารของผู้สูงอายุในกลุ่มชาติพันธุ์ไทยวน ไทลื้อ ไทยอง และไทใหญ่ภายใต้วัฒนธรรมล้านนา. สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.

สมคิด แสงจันทร์ . (2559). Facebook : พื้นที่สาธารณะออนไลน์ของแรงงานไทใหญ่ในประเทศไทยใน วารสารสังคมศาสตร์ ปีที่ 28 ฉบับที่ 2/2559 (กรกฏาคม-ธันวาคม) หน้า133- 173 เชียงใหม่. วนิดาการพิมพ์.

สมคิด แสงจันทร์ . (2560). แรงปรารนาและวัฒนธรรมวัยรุ่นของกลุ่มคนหนุ่มไต ในจังหวัดเชียงใหม่ (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาสังคมศาสตร์). คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

สมโชติ อ๋องสกุล. (2546). โครงการวิจัยการสร้างประวัติศาสตร์ชุมชนในเชียงใหม่: การสร้างประวัติศาสตร์ท้องถิ่น รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

สุทัศน์ กันทะมา. (2542). การคงอยู่ของวัฒนธรรมพื้นบ้านของชาวไมใหญ่ (วิทยานิพนธ์ปริญญาศึกษาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษานอกระบบ). คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัย
เชียงใหม่.

อรวรรณ วิไชย. (2557). วาทกรรมของไทใหญ่ว่าด้วยเรื่องสมเด็จพระนเรศวรมหาราช : กรณีศึกษาลัทธิพิธีและความเชื่อของชุมชนไทใหญ่ อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่. (วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภูมิภาคศึกษา). มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

อัมพร จิรัฐกร. (2558). พื้นที่สาธารณะข้ามชาติ การเมืองเรื่องพื้นที่ของแรงงานอพยพไทใหญ่ในจังหวัดเชียงใหม่. เชียงใหม่:ศูนย์บริการวิชาการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ระบบออนไลน์

สุภฎารัตน์. (2556). ถั่วเน่าซา ไทยใหญ่ ไทยเฮา https://www.smileconsumer.com

taiyai.net. (2551) เมนูอาหารรสเด็ดชาวไทใหญ่. http://www.taiyai.net/TAI%20food.html

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน. https://www.m-culture.go.th/maehongson/
main.php?filename=index

MGR Online. (2551). ฟื้นชีวิต “จ๊าดไต” ต่อลมหายใจศิลปินไทใหญ่ https://mgronline.com/
qol/detail/9510000048103 (2561) งานฤดูหนาวและงานรื่นเริง ประจำปี 2561 จ แม่ฮ่องสอน 9 ก พ 61 https://www.youtube.com/watch?v=-yqeh6G4Jf4

สถาบันไทใหญ่ศึกษา วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน. (2560). https://www.facebook.com/
taiyaimcc/posts/1274133429344322/

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม. (2562). กิงกะหร่า–โต การฟ้อนที่แสดงตัวตนของชาวไทใหญ่.http://www.culture.go.th/culture_th/ewt_news.php?n...

บุษกร บิณฑสันต์ และคณะ. (2558). รายงานวิจัย เรื่อง วัฒนธรรมดนตรีไทใหญ่ในรัฐชาน สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม. (2563). กวามไต (เพลงไต) เพลงพื้นบ้านของชาวไต. http://ich.culture.go.th/index.php/th/ich/performing-arts/236-performance
/340-----m-s

สถาบันไทใหญ่ศึกษา วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน. (2554).วรรณกรรม. http://www.taiyai.org/
2011/index.php?page=4c2378500328311c7354592d47cc700d&r=3&id=72

เชียงใหม่นิวส์. (2562). ศูนย์ไทใหญ่ศึกษา วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน จัดลานกิจกรรมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การก้าลายไต ( ศิลปะการป้องกันตัวชาวไทใหญ่ https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/1000787/

Thai PBS. (2562). ศิลปะก้าลายไต. https://www.thaipbspodcast.com/podcast/tracks/
8341/ศิลปะก้าลายไต

สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว. (2563). สถิติการทำงานของคนต่างด้าว ประจำเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563. https://www.doe.go.th/prd/assets/upload/files/alien_th/cfd5266a
7529106b9fdd751603d77d31.pdf

วรันธรณ์ แก้วทันคำ. (2558). แกงอุ๊บไก่บ้าน. http://www.food4change.in.th/2013-04-22-11-06-40-100119/2013-04-22-11-07-30/2014-03-11-10-57-24/806-แกงอุ๊บไก่บ้าน.html

https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=679&code_db=610008&code_type=TK007

https://www.museumthailand.com/th/1032/storytelling/ข้าวแรมฟืน

Voice online. (2560ก). ไทยทัศนา : (32) ‘จอง’ แบบพม่า วัดพระแก้วดอนเต้า ลำปาง. https://www.voicetv.co.th/read/503689

Voice online. (2560ข). ไทยทัศนา : (33) ชมวิหารพม่า วัดศรีชุม ลำปาง. https://www.voicetv.co.th/read/505447

MGR Online. (2551). จากไทใหญ่ ถึงล้านนาไทเมือง ย้อนวิถีสู่อดีต จิตวิญญาณที่ปราศจากรสเมรัย. https://mgronline.com/live/detail/9510000078520

Taiyai.net. (2551). เจ้าเสือข่านฟ้า(พ.ศ. 1854-1907 หรือ ค.ศ. 1331-1364 ).http://www.taiyai.net/Surkhan.html

เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน. http://www.mmhs.go.th/index.php/89-trad/462-10

[SS1]


[SS1]เห็นควรให้มีการปรับแก้ไขรูปแบบการอ้างอิงให้ถูกต้องตามรูปแบบ APA


close
ลืมรหัสผ่าน?
กรุณากรอกอีเมลที่ท่านสมัครสมาชิกไว้เพื่อรับรหัสผ่านใหม่
ระบบจัดส่งการสร้างรหัสผ่านใหม่ให้ท่านทางอีเมลเรียบร้อยแล้ว
นโยบายความเป็นส่วนตัว