“สิทธิทางวัฒนธรรม ระหว่าง “คุณค่าตามจารีต” กับ สิทธิมนุษยชน ในสหประชาชาติ”

สรุปวาระของวันที่ 19 มีนาคม ณ การประชุมสิทธิทางวัฒนธรรม
ระหว่าง “คุณค่าตามจารีต” กับ สิทธิมนุษยชน ในสหประชาชาติ

เข้าถึงทางออนไลน์ได้ที่
http://www.opendemocracy.net/5050/maggie-murphy/traditional-values-vs-human-rights-at-un

คำนำ: บทความดังกล่าวเขียนโดยแมกกี้ เมอร์ฟี (Maggie Murphy) อดีตนักรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนและนักยุทธศาสตร์ที่ทำงานกับระบบของสหประชาชาติ เผยแพร่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2013 บทความกล่าวถึงกระบวนการในสหประชาชาติที่เมอร์ฟีและคนอื่นๆ อีกมากชี้ว่าเป็นอันตราย นั่นคือการให้ความชอบธรรมแก่ “คุณค่าตามจารีต” ซึ่งคุกคามความบริสุทธิ์และความเป็นสากลภาพสิทธิมนุษยชน หากผู้อ่านดูบทความที่ทางกลุ่มกฎหมายและการพัฒนาโดยสตรีเอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific Women in Law and Development) ที่ส่งให้ท่านเมื่อเดือนที่แล้ว (โปรดดูอีเมลของวันที่ 7 กุมภาพันธ์) จะเห็นได้ว่าแนวโน้มดังกล่าวมีอยู่และถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในบริบทของประกาศสิทธิมนุษยชนอาเซียน (ASEAN Human Rights Declaration) ที่เพิ่งเสร็จไปด้วย

แมกกี้ เมอร์ฟีเน้นย้ำว่าในทุกความพยายามที่จะนิยามและจัดการกฎหมายสิทธิมนุษยชนนั้น ล้วนมีความคลุมเครือทางแนวคิดแทรกอยู่ เมอร์ฟีชี้ว่าเมื่อเร็วๆ นี้แนวคิด “คุณค่าตามจารีตของมนุษยชาติ” ได้รับการสนับสนุนโดยชาติสมาชิกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เช่นจีน คิวบา และปากีสถาน นำโดยสหพันธรัฐรัสเซีย โดยมีความพยายามตั้งแต่เดือนกันยายน 2009 ในการกระตุ้นกระบวนการให้ความชอบธรรมแก่แนวคิดดังกล่าวในฐานะพื้นฐานของกฎหมายสิทธิมนุษยชน และตั้งมั่นแนวคิดนั้นลงในงานของคณะมนตรี มติที่เสนอโดยสหพันธรัฐรัสเซียในเดือนมีนาคม 2011 ได้ตั้งถ้อยแถลงหนึ่งให้เป็นจุดยืนของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นการเน้นความสำคัญของ “ค่านิยมดั้งเดิม” ในการร่างสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะความคิดเรื่อง “พฤติกรรมที่มีความรับผิดชอบ” ถ้อยแถลงดังกล่าวมีใจความดังนี้ “คณะมนตรีสิทธิมนุษยชน (…) ขอยืนยันว่าศักดิ์ศรี เสรีภาพ และความรับผิดชอบ เป็นคุณค่าตามจารีต ที่มีอยู่ในมนุษยชาติทุกหมู่เหล่าและมีอยู่ในกฎหมายสากล” แต่มตินี้ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนมากนั้น และในการอภิปรายที่จัดโดยคณะมนตรีในปี 2010 มิสฟารีดา ชาฮีด ผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านสิทธิทางวัฒนธรรมประจำสหประชาชาติ ก็ได้ชี้ถึง “อันตรายในการให้สิ่งที่ทั้งคลุมเครือและเปลี่ยนแปลงตลอดอย่าง “คุณค่าตามจารีต” เป็นมาตรฐานสำหรับสิทธิมนุษยชน”

ในขณะที่การประชุมกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยสถานภาพสตรี (United Nations Commission on the States of Women) จะมีขึ้นในเดือนมีนาคม 2013 ที่นิวยอร์คนั้น ผู้เชี่ยวชาญและรัฐต่างๆ ได้เตือนถึงข้อควรระวังเกี่ยวกับประเด็นขัดแย้งดังกล่าว โดยกล่าวว่าคุณค่าตามจารีตนั้นไม่เพียงแต่จะยากในการนิยามเท่านั้น หากแต่การนิยามมันยังเป็นอันตรายอีกด้วย และประเพณีกับวัฒนธรรมสามารถถูกใช้ในการให้ความชอบธรรมแก่การกดขี่รูปแบบต่างๆ และทำลายความเป็นสากลของหลักการสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้แมกกี้ เมอร์ฟียังเน้นอีกว่าแนวคิดเรื่องความเท่าเทียมได้ถูกลดทอนความสำคัญลงในข้อโต้แย้งเกี่ยวกับคุณค่าตามจารีตดังกล่าว และย้ำเตือนว่า “หากความเท่าเทียมไม่ได้อยู่ที่ใจกลางของการถกเถียงเรื่องสิทธิมนุษยชนแล้ว ความเป็นสากลของสิทธิมนุษยชนย่อมถูกคุกคาม”

เมอร์ฟีกล่าวว่าอันตรายที่อยู่ใจกลางกระบวนการนี้จะเกิดจากการที่สิทธิมนุษยชนถูกทำให้มีเงื่อนไขไม่เป็นธรรมชาติอีกต่อไปเพราะ “การวางกรอบใหม่ทำให้มันเป็นสิ่งที่ขึ้นกับพฤติกรรมแทนที่จะเป็นสิ่งที่ติดตัวแต่กำเนิด” และ “ การที่หลักการแห่งความเป็นสากลได้เกิดมีเงื่อนไขได้แก่พฤติกรรมที่มีความรับผิดชอบ และคำที่ตีความได้คลุมเครืออย่าง “คุณค่าตามจารีต” ” สตรีและสมาชิกชนกลุ่มน้อยดูจะเป็นเป้าแรกๆ ของมุมมองที่เปลี่ยนแปลงไปในเรื่องสิทธิมนุษยชน เพราะพวกเขาอาจถูกกีดกันด้วยแนวคิดเรื่อง “พฤติกรรมที่มีความรับผิดชอบ” อันเต็มไปด้วยนัยยะทางการเมือง ที่ตัดสินและนิยามโดยผู้มีอำนาจที่จะปฏิเสธสิทธิพื้นฐานของพวกเขา แมกกี้ เมอร์ฟีเสนอว่าผู้ที่อาจเป็นเหยื่อของความกำกวมด้านแนวคิดดังกล่าวได้แก่ “ใครก็ตามที่อยู่ในกลุ่มประชากรที่ไม่มีอำนาจพอจะมีอิทธิพลเหนือของคุณค่าตามจารีตของคนส่วนใหญ่ พวกเขาอาจถูกกฎหมายเหล่านั้นกระทำอย่างไม่ยุติธรรมได้” ผลที่ตามมาก็คือ “กลุ่มชาติพันธุ์ ศาสนา และคนที่ใช้ภาษาชนกลุ่มน้อย รวมถึงคนกลุ่มน้อยในประเด็นอื่นๆ เช่นเพศหรือความเชื่อทางการเมือง คือผู้ที่เสี่ยงที่สุดในการถูกริดรอนสิทธิหากพวกเขาไม่ประพฤติตน “ตามจารีต” หรือ “รับผิดชอบ” มากพอ”

ร่างพิจารณาที่เสนอโดยสหพันธรัฐรัสเซียนั้นยกค่านิยมดั้งเดิมอยู่เหนือกฎหมายสิทธิมนุษยชน โดยนิยามค่านิยมเหล่านั้นว่าดีสมบูรณ์และสนับสนุนบทบาทดั้งเดิมของสถาบันครอบครัวในสังคม แม้ว่าครอบครัวเหล่านั้นจะทำให้เกิดการบังคับแต่งงาน การฆ่าทารก หรือการฆ่าเพื่อรักษาเกียรติยศก็ตาม นอกจากนี้สหพันธรัฐรัสเซียยังเสนอมติอีกมติในเดือนกันยายน 2012 ที่ถูกวิจารณ์อย่างหนักภายในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน เนื่องจากไม่สนใจผลกระทบด้านลบของคุณค่าตามจารีต และเรียกร้องให้รัฐต่างๆ ยอมรับ “วิธีปฎิบัติที่ดีที่สุดที่นำคุณค่าตามจารีตมาร่วมใช้ รวมทั้งสนับสนุนและปกป้องสิทธิมนุษยชนและรักษาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ร่างสุดท้ายจะถูกเสนอต่อคณะมนตรีในเดือนมีนาคม 2013 สุดท้ายแมกกี้ เมอร์ฟีประณามการเล่นการเมืองทางการฑูตที่ใช้จารีตทางวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือ และการเกิดขึ้นใหม่ของแนวคิดอันไม่เท่าเทียมในใจกลางของการเมืองในสหประชาชาติในปัจจุบัน

หมายเหตุ: ท่านสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวได้ที่เว็บไซต์ของโครงการ Violence is Not our Culture (VNC) โดยโครงการดังกล่าวเริ่มขึ้นเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2007 มีวัตถุประสงค์ในการจับตาดูระบบสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ เพื่อป้องกันการใช้วัฒนธรรมและศาสนาในการละเมิดสิทธิพื้นฐานและเสรีภาพของสตรี

เว็บไซต์เข้าถึงได้ที่
http://www.violenceisnotourculture.org/home1

Comments are closed.