“คลังเปิด” จดหมายเหตุ (Open Archives): การส่งคืนสมบัติวัฒนธรรมด้วยใจที่เคารพ

คิมเบอร์ลี คริสเตน : เขียน / ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ : แปลและเรียบเรียง

ผลงานฉบับเต็มสามารถเข้าถึงทางออนไลน์ได้ที่
http://www.kimchristen.com/uploads/5/6/2/0/5620339/aav074n1_openingarchives.pdf

บทคัดย่อ

ในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านไป สถาบันอันเป็นคลังจัดเก็บเอกสารจำนวนไม่น้อยได้รับการกระตุ้นเตือนโดยนักทำจดหมายเหตุซึ่งเป็นชนพื้นเมืองให้ประสานตัวแบบและความรู้ในการทำจดหมายเหตุในแบบพื้นเมืองเข้ากับการทำจดหมายเหตุแบบสมัยใหม่อันเป็นแนวทางกระแสหลัก สนามการจัดการคลังสมบัติวัฒนธรรมในรูปแบบดิจิทัลนำมาสู่ความเป็นไปได้ในการร่วมทำงานกับชาวพื้นเมืองพร้อมๆ กับสร้างปัญหาให้พวกเขา ทั้งในกระบวนการจัดการ การค้นคืน การแลกเปลี่ยนหมุนเวียน และการสร้างมรดกวัฒนธรรมใหม่ ทั้งนี้ สนามดังกล่าวอยู่ในอาณาบริเวณที่ซับซ้อน อันประกอบด้วยประวัติศาสตร์แบบอาณานิคม/หลังอาณานิคม และข้อถกเถียงเกี่ยวกับสิทธิของสาธาธารณชนในการเข้าถึงความรู้ดังกล่าวในโลกยุคดิจิทัล ในขณะที่เทคโนโลยีดิจิทัลเอื้อให้เอกสารต่างๆ ได้รับการส่งคืนอย่างรวดเร็ว ได้รับการแลกเปลี่ยนหมุนเวียนในวงกว้าง และเอื้อให้มีคำอธิบายต่างๆ ขึ้นมาได้อย่างไม่จบสิ้น แต่ขณะเดียวกัน ด้วยเทคโนโลยีดังกล่าวนี้เองสร้างความท้าทายต่อชุมชนพื้นเมืองซึ่งปรารถนาให้เสียงของพวกเขาผู้เชี่ยวชาญในเรื่องราวของตนได้เป็นส่วนหนึ่งของคลังเอกสารสาธารณะ และปรารถนาที่กำหนดมาตรการเชิงวัฒนธรรมดั้งเดิมในการชม การแลกเปลี่ยนหมุนเวียน และการผลิตซ้ำวัสดุบางประเภท กรณีศึกษาที่จะหยิบยกมาอภิปรายในบทความแสดงให้เห็นโครงการร่วมในการจัดการเอกสารจดหมายเหตุ ที่มุ่งหวังให้เกิดการส่งคืนมรดกวัฒนธรรมในรูปแบบดิจิทัล และดำเนินไปด้วยความเคารพซึ่งกันระหว่างเจ้าของวัฒนธรรม สาธารณะ และสถาบันที่ดูแลคลังเอกสารของชนเผ่าในที่ราบสูงต่างๆ ในภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือของแปซิฟิค

ผู้เขียนกลายเป็นนักจดหมายเหตุด้วยความบังเอิญ เนื่องด้วยการทำงานเป็นนักมานุษยวิทยาและนักชาติพันธุ์วรรณนาที่ศึกษาชุมชนพื้นเมืองวารุมันกู (Warumungu) ในตอนกลางของออสเตรเลีย และอีกหลายชนชาติอเมริกันพื้นเมืองในภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือของแปซิฟิคในประเทศสหรัฐอเมริกัน งานของผู้เขียนให้ความสนใจกับการบูรณาการวัตถุในรูปแบบดิจิทัลในกระบวนการส่งคืนสมบัติวัฒนธรรม เข้ากับการปฏิบัติของชุมชน ขนบธรรมเนียม และการสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมร่วมสมัย โดยการสร้างคลังจดหมายเหตุดิจิทัล ตัวอย่างเช่น หลังจากที่มีสื่อบันทึกดิจิทัลจากนักวิจัย ครู และหมอสอนศาสนาที่ไหลบามาสู่ศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมนยินค์กานยันยู (Nyinkka Nyunyu Art and Culture) ผู้เขียนจะต้องทำงานรวมกับเจ้าหน้าที่ชาววารุมันกุในการจัดการสื่อดิจิทัลใหม่เหล่านั้น2 หลังจากกับผลิตภัณฑ์เชิงการพาณิชย์ที่หาได้ง่ายตามท้องตลาดแล้ว เรากลับพบจุดบอดในระบบการจัดการเนื้อหาหลายจุดด้วยกัน เช่น ระบบดังกล่าวไม่ได้กำหนดระดับของการเข้าถึงข้อมูลที่แยกย่อยตามประเภทของผู้ใช้งาน และไม่มีการสร้างมาตรการ (protocol) ในการเข้าข้อมูลที่คำนึงถึงเงื่อนไขทางวัฒนธรรมของแต่ละกลุ่ม ผู้นำชุมชนของชาวนยินค์กานยันยู (Nyinkka Nyunyu) มีความประสงค์ในการสร้างจดหมายเหตุดิจิทัลที่เอื้อต่อการจัดการเนื้อหา ตามมาตรการทางวัฒนธรรมที่มีพลวัตอยู่เนื่องๆ ทั้งการควบคุมการเข้าชม, การแลกเปลี่ยนข้อูล และการผลิตซ้ำวัสุดทางวัฒนธรรมและความรู้ เมื่อ ค.ศ. ๒๐๐๗ หลังจากการทำงานร่วมกับผู้ออกแบบโปรแกรม เราเริ่มใช้โปรแกรมใหม่ “Mukurtu Wumpurrarni-kari Archive”3คลังจดหมายเหตุดังกล่าวให้คนวารุมันกู (Warumungu) กำหนดเงื่อนไขการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์วัสดุทางวัฒนธรรมของพวกเขา ด้วยการสร้างระบบการจัดการเอกสารในระดับย่อย ที่เชื่อมต่อระหว่างสมาชิกชุมชนแต่ละคน ด้วยอาศัยการกำหนดลักษณะของผู้ใช้ที่แตกต่างกัน และกระบวนการนำเอกสารขึ้นสู่ระบบการจัดเก็บที่มีระบบการกำหนดป้ายชื่อเนื้อหาอย่างเข้มข้น ตัวอย่างเช่น ชุดเนื้อหาบางส่วนอนุญาตให้เฉพาะผู้ใช้ที่เป็นเพศหญิงสามารถเข้าถึง หรือภาพของกลุ่มชายในพิธีแรกรับ (initiation ceremony) ซึ่งได้รับมอบจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อาจจะเอื้อให้กับผู้ใช้ที่เป็นผู้อาวุโสเพศชายเท่านั้น การสลับสับเปลี่ยนประเภทของการเข้าถึงไม่ตายตัว เปลี่ยนแปลงได้ และอยู่ในกระบวนการต่อรองเสมอ เช่นเดียวกับจดหมายเหตุแบบออฟไลน์4 ภายในคลังจดหมายเหตุ กระบวนการกำหนดการเข้าถึงเอกสารเป็นรายชิ้นตามมาตรการทางวัฒนธรรม ยังผลให้สมาชิกแต่ละคนของชุมชนมี “คลังเอกสารย่อส่วน” (“mini-archive”) ของตนเอง เอกสารจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เอกสารชุมชนในระดับท้องถิ่น และภาพถ่ายครอบครัวซึ่งเป็นสมบัติส่วนบุคคล กลายเป็นองค์ประกอบที่ผสมผสานในคลังเอกสารจดหมาย “Mukurtu Wumpurrarni-kari Archive” และเปิดให้เฉพาะสมาชิกของชุมชนใช้บริการที่ศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมนยินค์กานยันยู แต่ไม่ได้ให้บริการออนไลน์ทั่วไป โครงการอย่างคลังเอกสารฯ เอื้อให้ชุมชนพื้นเมืองแสดงบทบาทในการการส่งคืนสมบัติทางวัฒนธรรมทั้งในแบบดิจิทัลและการส่งคืนวัตถุจริงๆ ทั้งความต้องการที่หลากหลายของสมาชิกชุมชน ทั้งบริบททางประวัติศาสตร์และสถานการณ์ร่วมสมัย เงื่อนไขทางเทคนิคและทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของแต่ละชุมชน และทั้งลักษณะเฉพาะของกลุ่มวัตถุ ล้วนเอื้อให้เกิดโครงการอนุรักษ์และการฟื้นฟูภาษา การสร้างรูปแบบการจัดการใหม่ๆ การผลิตวัสดุภัณฑ์ทั้งที่เป็นประโยชน์ในเชิงการค้าร่วมสมัยและการผลิตที่มิได้เป็นไปเพื่อการค้า ไปจนถึงการฟื้นฟูและการเผยแพร่ขนบปฏิบัติและการแสดงตามจารีตต่างๆ5 ทั้งโครงการ ความต้องการ และผลผลิตที่หลากหลายเหล่านี้ แสดงให้เห็นสนามอันอุดมสมบูรณ์ที่รอการบุกเบิกของการส่งคืนมรดกดิจิทัล (digital repatriation) อันเป็นจุดบรรจบของงานจดหมายเหตุ ระบบการจัดการข้อมูลของชนพื้นเมือง มาตรฐานการทำจดหมายเหตุ และมโนทัศน์ที่แตกต่างออกไปในเรื่องเข้าถึงข้อมูลและความเป็นส่วนตัว

การส่งคืนมรดกดิจิทัล: การเข้าถึงและการให้ความสำคัญกับรายละเอียด

เทคโนโลยีดิจิทัลเปลี่ยนวิถีส่งคืนมรดกวัฒนธรรมสู่ชุมชนต้นทาง เพราะมันทำให้สามารถส่งคืนมรดกวัฒนธรรมกลับไปชุมชนต้นทางต้นผ่านสำเนาต้นทุนต่ำได้ ในขณะที่นักวิชาการจากหลายสาขาวิชาให้ความสำคัญกับการดำเนินการทางจริยธรรม กฎหมาย และการเมือง ในการส่งคืนสมบัติวัฒนธรรมในทางกายภาพ รูปแบบอื่นๆ ของการส่งคืนมรดกวัฒนธรรมมักได้รับการพิจารณาว่าเป็นส่วนเพิ่มเติมจากการส่งคืนทางกายภาพเท่านั้น หรือไม่ก็จะไม่ได้รับความใส่ใจใดๆ เลย อย่างไรก็ตาม ลักษณะเฉพาะของแหล่งทรัพยากรในรูปแบบดิจิทัล ทั้งความสะดวกในการสำเนา การเผยแพร่ และการแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือจะเป็นการเอื้อให้วัสดุดิจิทัลปรากฏหลายแห่งในคราวเดียวกัน และลักษณะที่ชั่วคราวของสื่อดิจิทัล ทำให้มรดกวัฒนธรรมในรูปแบบดิจิทัลเหล่านี้มีคุณลักษณะที่ต่างจากสมบัติวัฒนธรรมประเภทอื่น นักวิชาการสามรถขบคิดถึงวิธีการที่หลากหลายในการผลิตสร้างทางวัฒนธรรมและวิถีทางในการแลกเปลี่ยนและหมุนเวียนความรู้ การส่งคืนสมบัติวัฒนธรรมในรูปแบบดิจิทัลกลายเป็นนิยามที่สร้างความสับสนได้ง่ายๆ หากใครก็ตามมองถึงความสัมพันธ์ระหว่างมรดกวัฒนธรรมที่เป็นดิจิทัลและที่เป็นกายภาพอย่างเร็วเกินไป ในขณะที่คนจำนวนหนึ่งเข้าใจในทันทีว่ามรดกวัฒนธรรมในรูปแบบดิจิทัลเป็นไปเพื่อแทนที่มรดกวัฒนธรรมในเชิงกายภาพ แต่อันที่จริงแล้วมันไม่มีนิยามหรือศัพท์แสงที่ใช้ร่วมกันสำหรับการส่งคืนวัสดุทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในรูปแบบดิจิทัลโดยสถาบัน ปัจเจกบุคคล หรือกลุ่มชุมชนท้องถิ่นเลย นอกจากนี้ในความเป็นจริงแล้ว สำเนาของมรดกวัฒนธรรมในรูปแบบดิจิทัลไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการทดแทนมรดกในรูปแบบทางกายภาพเลย ในทางตรงข้าม วัสดุวัฒนธรรมในรูปแบบดิจิทัล (หรือที่ได้รับการแปลงรูปแบบให้เป็นดิจิทัล) เป็นเพียงอีกทางเลือกในการเก็บรักษาและเป็นอีกพลวัตหนึ่งของวัตถุทางกายภาพ วัสดุที่ได้รับการแปลงสภาพเป็นดิจิทัลและที่ส่งคืนให้กับชุมชนอาจนำมาสู่การฟื้นฟูทางวัฒนธรรมและภาษา หรืออาจจะนำมาสู่ความความขัดแย้งและการต่อสู้ หรือนำมาสู่การสร้างสรรค์รูปแบบทางวัฒนธรรมใหม่หรือวัตถุทางวัฒนธรรมยอดนิยม หรือก่อให้เกิดความร่วมมือใหม่ๆ และ/หรือก่อให้เกิดการประดิษฐ์การแสดงหรือศิลปกรรมประเภทใหม่ได้เช่นกัน แต่ในทุกกรณี วัสดุเหล่านี้มักเกี่ยวข้องกับความเข้าใจที่ซ้อนทับระหว่างการเข้าถึงและการสงวนรักษาไว้ทั้งสิ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักจดหมายเหตุเองควรพิจารณาและทำความเข้าใจกับความแตกต่างกันของเอกสารจดหมายเหตุ เพราะพวกเขามีหน้าที่พยายามจัดสรรหล่งข้อมูลให้แก่สาธารณะที่มักมีความประสงค์ในการใช้งานในลักษณะแตกต่างกัน ประเด็นของการเข้าถึงนับเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับนักจดหมายเหตุ ผู้ต้องการให้ให้บริการคลังเอกสารของตนสามารถทั้งในรูปแบบที่เป็นกายภาพและที่เป็นดิจิทัล ต่อเมื่อการเข้าถึงกลายเป็นหัวใจของการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงห้าปีที่ผ่านไป นักจดหมายเหตุอเมริกันวนเวียนอยู่กับการปฏิบัติตาม “มาตรการการจัดการเอกสารจดหมายเหตุอเมริกันพื้นเมือง” (Protocols for Native American Archival Materials) เอกสารดังกล่าวกระตุ้นเตือนให้สถาบันที่มีคลังสะสมและองค์กรตัวแทนต่างๆ ใส่ใจกับคนอเมริกันพื้นเมือง เพราะพวกเขาสัมพันธ์กับคลังเอกสาร การสำเนา และการจัดการและการเข้าถึงวัสดุทางวัฒนธรรมที่อยู่ในการครอบครองของสถาบันของรัฐและเอกชน6 มาตรการที่กำหนดไว้เป็นเพียงแนวทางการทำงาน ไม่ใช่กฎหรือระเบียบที่ตายตัว มันขึ้นอยู่กับว่านักจดหมายเหตุเองว่าจะนำมาใช้หรือไม่ และหากเลือกใช้ การทำงานอาจเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ของพวกเขากับชุมชนพื้นเมืองและกับวัสดุที่อยู่ในการครอบครองของชุมชน เพราะมาตรการเชื้อเชิญให้ให้นักจดหมายเหตุทบทวนมุมมองพื้นฐานและฐานรากของสนามการทำงานของตนเองใหม่

บรรดานักจดหมายเหตุกำลังขบคิดและถกเถียงถึงการเปิดให้บริการเอกสารในคลังที่ตนเองรับผิดชอบกับสาธารณชนทั่วไป และโครงการส่งคืนสมบัติวัฒนธรรมในรูปแบบดิจิทัล ในการอภิปรายเหล่านี้ นักจดหมายใด้พิสูจน์ว่าพวกเขามีความคิดลึกซึ้งและเปิดกว้างในการมีส่วนร่วมกับของชุมชนพื้นเมืองในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถึงมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ นักจดหมายเหตุควรทำงานกับแต่ละชุมชนในแต่ละโครงการด้วยเงื่อนไขการทำงานที่มีลักษณะเฉพาะในแต่ละกรณี ทั้งการเข้าถึงและการมีส่วนร่วมในการจัดการ อย่างไรก็ดี ทั้งการใส่ใจกับมาตรฐานทางวิชาชีพที่เกี่ยวกับขอบเขตและการจำกัดสิทธิ์การเข้าถึง “ทรัพย์สินทางปัญญาสาธารณะ”(public domain) ทั้งความใส่ใจใน “การเข้าถึงที่ไม่จำกัดสิทธิ์” (open access) สำหรับสาธารณะ ตลอดไปจนถึงคุณค่าและเงื่อนไข “ความรู้เฉพาะทาง” ในการนิยามคลังเอกสาร ก็ล้วนเป็นเงื่อนไขที่ขัดขวางการเปลี่ยนแปลงใดๆ7

ความเข้าใจโดยทั่วไปว่าความสามารถเข้าถึงสิ่งต่างๆ ที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญาสาธารณะได้โดยเสรีนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนกลับทำให้สถาบันที่มีคลังสะสมวัตถุและเอกสารทางวัฒนธรรม ไม่ได้พิจารณาถึงระบบการจัดการและการแลกเปลี่ยนข้อมูลของสังคมที่ไม่ใช่สังคมตะวันตก ซึ่งมีเข้าใจเกี่ยวกับ “สาธารณะ” “ส่วนตัว” และอื่นๆ ที่ต่างออกไป ตัวอย่างเช่นในกรณีของคลังจดหมายเหตุ “Mukurtu Wumpurrarni-kari Archive” ของชุมชนวารุมันกู การเข้าถึงวัสดุทางวัฒนธรรมบางส่วน (รวมทั้งความรู้ที่ประกอบกับเอกสารดังกล่าว) ต้องพิจารณาบนความเหมาะสมของอายุ เพศ วัย สถานภาพทางศาสนา ครอบครัว และความสัมพันธ์กับสถานที่ (และระบบดังกล่าวสามารถทบทวนหรือปรับเปลี่ยน) ทั้งหมดนี้เพื่อกำหนดการเข้าถึงวัสดุในระหว่างสมาชิกในชุมชน และแจงให้เห็นที่มาที่ไปของข้อกำหนดในการเผยแพร่ ทำซ้ำ และสร้างสรรค์ความรู้ ทั้งในรูปแบบที่จับต้องได้และไม่ได้ ภายในระบบดังกล่าว กลุ่มผู้คนที่เกี่ยวข้องหมั่นทบทวน ตรวจสอบ และกำหนดลักษณะการเข้าถึงโดยคำนึงจากระบบทางสังคมและชุดของมาตรการทางวัฒนธรรม เพื่อให้มาตรการดังกล่าวสะท้อนให้เห็นความรับผิดชอบและการเป็นที่ยอมรับร่วมกันในชุมชน ระบบวารุมันกูเป็นเพียงระบบที่ตอบสนองการใช้งานของชนพื้นเมืองแบบหนึ่ง ที่ชี้ให้เราเห็นถึงข้อวิพากษ์และความเข้าใจที่ลุ่มลึกมากขึ้นในประเด็นจองความเป็นสาธารณะและการเข้าถึงข้อมูล การใส่ใจกับระบบเหล่านี้ทำให้ต้องขบคิดนัยของ “สาธารณะ” มากยิ่งขึ้น (ในฐานะที่เป็นขอบเขตหนึ่งของการเผยแพร่ข้อมูล) หรือ “การเข้าถึงแบบเปิด” (open access) (ในฐานะที่เป็นเป้าหมายของการปฏิบัติแบบสากล) ฉะนั้น การเน้นรูปแบบการทำงานของระบบเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นถึงเครือข่ายการทำงานที่สัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ และการอำนวยให้คนเข้ามาเกี่ยวข้องกับการดูและวัสดุวัฒนธรรมและความรู้ในอยู่ในเครือข่ายเครือญาติในชุมชน ระบบการสร้าง การเผยแพร่ และการเข้าถึงความรู้ของชนพื้นเมือง ไม่ได้สอดคล้องกับความคิดแบบเสรีนิยมที่วางอยู่บนในการเข้าถึงความรู้ที่เป็นสากลในขอบเขตของทรัพย์สินทางปัญญาสาธารณะ ในทางตรงข้ามระบบเหล่านี้ทำให้เราจะต้องขยายความคิดเกี่ยวกับ “สาธารณะ” และจินตนาการอย่างไรกับมโนทัศน์ดังกล่าว8

ในความเป็นจริงแล้ว แนวคิดทรัพย์สินทางปัญญาสาธารณะไม่เคยได้ครอบคลุมแบบแผนของการสร้างและการเผยแพร่ความรู้ของชนพื้นเมืองเลย พาเมลา แซมมวลสัน (Pamela Samuelson) นักวิชาการด้านกฎหมายแสดงความเห็นย้ำความสำคัญของความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับแนวคิดทรัพย์สินทางปัญญาสาธารณะ เธอกล่าวว่า “ประโยชน์สำคัญของความเข้าใจแนวคิดเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาสาธารณะอย่างลือกซึ้งคือการมองเห็นชุดคุณค่าทางสังคมหลากหลายชุดที่ทรัพย์สินเหล่านี้รับใช้ และมีแนวทางจำนวนมากมายที่จะรักษาทรัพย์สินเหล่านี้ พร้อมกันกับคุณค่าที่ทรัพย์สินเหล่านี้รับใช้อยู่”9 น่าสนใจว่า แซมมวลสันเองระบุถึงระบบความรู้พื้นเมืองในฐานะของหนึ่งในชุดคุณค่าที่มักถูกละเลยหรืออยู่ชายขอบของแนวคิดเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาสาธารณะ ระบบความรู้ภูมิปัญญาของชนพื้นเมือง รวมถึงวิถีของการเผยแพร่และการเข้าถึงความรู้ นำมาสู่คำถามเกี่ยวกับความคิดเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาสาธารณะแบบมาตรฐานที่มักมองทรัพย์สินทางปัญญาสาธารณะซึ่งเป็นการกดทับประวัติศาสตร์ของการกีดกันและความอยุติธรรม อย่างไรก็ดี รูปแบบต่างๆ สิ่งที่เรียกว่าทรัพย์สินทางปัญญาสาธารณะนั้นถ้าไม่เป็นเรื่องที่เข้าใจกันน้อยเต็มที ก็ดูจะเป็นกลายเป็นจินตนาการที่เพ้อฝัน ระบบความรู้พื้นเมืองมักไม่ได้รับการคิดถึงในแง่ของทางเลือกแบบหนึ่งหรือกระทั่งส่วนเสริมของของการจัดการทรัพย์สินทางปัญญาสาธารณะ ซึ่งเอื้อให้มีการกำหนดแนวทางการสร้างและเผยแพร่สมบัติวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง10

จริงๆ แล้วแม้แต่นักจดหมายเหตุ บรรณารักษ์ และนักพิพิธภัณฑ์ ผู้ที่เห็นชอบในหลักการที่ว่าระบบความรู้พื้นเมืองและมาตรการทางวัฒนธรรมสามารถแก้ไขวิธีคิดเกี่ยวกับสาธารณะที่มองเห็นความเป็นกลุ่มคนขนาดใหญ่ที่ไม่แตกต่างกันได้ ก็กลับมองไม่เห็นหน้าที่ของวิชาชีพอื่นใดนอกจากการ “เปิด” คลังเอกสารสู่ “สาธารณะ” อันที่จริง แนวทางที่สถาบันจดหมายเหตุยึดอันวางอยู่บนการเปิดกว้างข้อมูลแก่สาธารณะก็เป็นการจำกัดการมองเป็นว่าแนวทางของคนพื้นเมืองเกี่ยวกับการจัดประเภทหรือระดับที่แตกต่างของการเข้าถึงคลังความรู้จะเป็นทางเลือกอื่นที่เป็นไปได้ บ่อยครั้งในสถานการณ์เหล่านี้ ระบบการจัดการข้อมูลของชนพื้นเมืองมักได้รับการนิยามว่าเป็น “คุณค่าทางวัฒนธรรม” หรือ “ธรรมเนียม” ส่วนในอีกหลายกรณี สถาบันที่ครอบครองเอกสารมีแม้ท่าทีที่ใส่ใจกับระบบของชนพื้นเมืองอยู่บ้าง แต่กลับมองชุดความคิดหรือแบบแผนการปฏิบัติดังกล่าวด้วยสายตาหรือท่าทีที่แตกต่างจากไปจากการมองหลักสากลที่พวกเขายึดถือ ที่ยึดเอาแนวทางการเข้าถึงอย่างเท่าเทียมกันสาธารณะเป็นที่ตั้ง เพียงรูปแบบเดียว พอล เดาริช (Paul Dourish) และโจฮันนา บริวเออร์ (Johanna Brewer) เสนอให้พิจารณาว่า การมองข้อมูลในฐานะ “หมวดหมู่ทางธรรมชาติ”(natural category) มากกว่าการมองข้อมูลแบบ “หมวดหมู่ทางวัฒนธรรม”(cultural category) มันจะจำกัดความสามารถของคนในการมองกระบวนการและความสัมพันธ์ของระบบข้อมูลที่อยู่ในวิธีคิดทางวัฒนธรรมที่ใหญ่กว่าและเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง11 การพิจารณาข้อมูลว่าเป็นสิ่งสากลโดยปริยายเท่ากับเป็นการเพิ่งเฉยต่อระบบคิดของชนพื้นเมือง และยอมรับรูปแบบสถาบันของโลกตะวันตกไปโดยปริยาย ในขณะเดียวกัน กระแสกความความคิดเกี่ยวกับการเซ็นเซอร์ยับยั้งและการตรวจสอบกับการเผยแพร่ข้อมูล ยิ่งทำให้ผู้คนที่ทำงานในโลกของการจัดการข้อมูลเสรียากจะทำให้ผู้คนมีจินตนาการในการจัดการข้อมูลในแบบอื่นๆ นอกจากเปิดเสรี เมื่อการความคิดว่าการเข้าถึงข้อมูลมีค่าเท่ากับการเปิด (openness) เป็นเป็นสิ่งที่ถูกมองว่าเป็นสาธารณะประโยชน์โดยปริยาย การจัดการข้อมูลที่จำกัดสิทธิในการเข้าถึงก็มักจะถูกมองว่าเป็นการกดขี่รูปแบบหนึ่ง เมื่อกรอบในการคิดในการเข้าถึงข้อมูลมีเสรีภาพของข้อมูลข่าวสารอยู่ที่ปลายด้านหนึ่ง และระเบียบหรือระบบการเมืองอันปิดกั้นข้อมูลขาวสารอยู่อีกที่ปลายข้างหนึ่ง การจำกัดการเข้าถึงข้อมูลใดๆ ก็ย่อมกลายเป็นเรื่องเชิงลบในฐานะการเซ็นเซอร์ (censorship)อเล็กซ์ ไบรนี่ (Alex Byrne) กล่าวไว้ว่า “การดูแลข้อมูลอย่างเหมาะสมไม่ได้หมายถึงการเซ็นเซอร์เสมอไป หากแต่หมายถึงการใส่ใจต่อบริบทที่สื่อกลางของข้อมูลทำงานอยู่ ของเขตการให้บริการของพวกเขา และลักษณะของชุมชนที่พวกเขาให้บริการ12 หากจะกล่าวในอีกแบบหนึ่งแล้ว การย้ำเตือนว่าการเซ็นเซอร์เป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันในขอบเขตทางการเมืองประเภทหนึ่งเท่านั้นอาจช่วยให้เราเข้าใจว่า “การทำให้ไม่เห็น” ทั้งหมดไม่ใช่การใช้อำนาจอย่างผิดๆ หากแต่เป็นการจัดการข้อมูลตามมาตรการทางวัฒนธรรม เพื่อธำรงค์ไว้ซึ่งความรู้บางประเภทในโลกที่มนุษย์ยังมีความแตกต่างกันอยู่ ตัวอย่างเช่นในคลังจดหมายเหตุมูกูรตู การกำหนดการเข้าถึงข้อมูลนั้นละเอียดไปถึงระดับชิ้นของเอกสาร โดยจำกัดและอนุญาตการใช้งานที่พิจารณาตามเพศสภาพ สถานภาพทางพิธีกรรม ความสัมพันธ์กับสถานที่ และอื่นๆ อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่ระบบการเลือกปฏิบัติที่มีนัยยะกดขี่ เพราะภายในระบบวัฒนธรรมของชนวารุมันกู ความรู้เกี่ยวกับสถานที่ บรรพบุรุษ และพิธีกรรมนั้นแพร่กระจายอยู่ในในชุมชน แต่ไม่มีใครไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือกลุ่มที่จะยึดครองความรู้ทั้งหมดไว้แต่เพียงผู้เดียว แทนที่จะเป็นแบบนั้น นี่เป็นระบบที่เสริมหรือเพิ่มพูนให้กลุ่มเครือญาติที่หลากหลายต้องเข้ามาพบปะเพื่อนำมาสู่การแลกเปลี่ยน การแบ่งปัน และการเผยแพร่ความรู้ มิเช่นนั้น ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ความรู้นั้นๆ ก็จะไม่มีผู้ใช้งานและล้มหายตายจากในที่สุด (ซึ่งจะทำให้ความรู้ไม่หลงเหลือมาถึงลูกหลานในปัจจุบัน)13

นักจดหมายเหตุจำนวนมากร่วมมือกับชุมชนคนพื้นเมืองและสถาบันที่เกี่ยวข้อง โดยอาศัยระบบการทำงานที่พิจารณาเป็นกรณีๆ ไป โดยหลีกเลี่ยงการจัดทำมาตรฐานเดียวที่ใช้กับทุกกรณี14 ในความเป็นจริง รูปแบบของการสร้างความร่วมมือกับชุมชนคนพื้นเมืองที่น่าสนใจที่สุดพบได้ในขั้นตอนและการปฏิบัติในการส่งคืนมรดกวัฒนธรรมในรูปแบบดิจิทัลนี่เอง ในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านไป สถาบันที่มีคลังสะสม ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด และหอจดหมายเหตุ เอาใจใส่กับข้อเรียกร้องของกลุ่มคนพื้นเมืองในการรวมแนวทางการจัดการและความรู้ของคนพื้นเมืองเข้ากับแนวทางการทำงานของพิพิธภัณฑ์และจดหมายเหตุกระแสหลัก ตั้งแต่ขั้นตอนงานทะเบียนจนถึงการจัดแสดงงาน15 ในภาวะที่เทคโนโลยีดิจิทัลเติบโต นักจดหมายเหตุ ผู้คนที่ทำงานในพิพิธภัณฑ์ และชุมชนพื้นเมืองได้ร่วมมือกันในการสร้างรูปแบบการทำงานใหม่ๆ ในการสร้างสรรค์ เผยแพร่ข้อมูล และการสร้างความรู้และวัตถุทางวัฒนธรรม หนึ่งในการพัฒนานั้นได้แก่ Web 2.0 ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่อาศัยผู้ใช้เป็นสร้างเนื้อหาและนิทรรศการที่พัฒนาจากรากฐาน รวมทั้งรูปแบบการนำเสนอได้กลายเป็นเวทีของการแบ่งปันเนื้อหา เวทีของการแบ่งปันรูปภาพโดยอาศัยการทำงานของเว็บ เช่น Flikr และในการพัฒนาล่าสุดได้แก่เครื่องมือในการเผยแพร่อย่าง Omeka ที่เชื้อเชิญให้ผู้คนใช้เทคโนโลยีต้นต้นทุนต่ำหรือไม่มีต้นทุนเลยในการสร้างการจัดแสดงและแผยแพร่วัตถุกายภาพในรูปแบบดิจิทัล16

อาณาบริเวณที่เกิดขึ้นใหม่จากเทคโนโลยีดิจิทัลหล่านี้ สร้างทั้งโอกาสและปัญหาให้กับคนพื้นเมือง ในการจัดการ การฟื้นฟู การเผยแพร่ และการสร้างสรรค์วัสดุมรดกวัฒนธรรมใหม่และภาพตัวแทนของพวกเขาเอง ในขณะที่เทคโนโลยีดิจิทัลอำนวยให้วัสดุได้รับการส่งคืนกลับอย่างรวดเร็ว เผยแพร่ได้กว้างขวางยิ่งขึ้น และให้ข้อมูลหรือแสดงความเห็นได้อย่างไม่รู้จบ แต่เทคโนโลยีเหล่านี้ก่อให้เกิดความท้าทายสำหรับชุมชนคนพื้นเมืองที่ต้องการรักษาขนบธรรมเนียมทางวัฒนธรรมดั้งเดิมในการชม การเผยแพร่ และการผลิคซ้ำวัสดุวัฒนธรรมที่ดูน่าตื่นตาตื่นใจเหล่านี้ ชุมชนคนพื้นเมืองจำนวนมากต้องการควบคุมการเผยแพร่ข้อมูลหรือวัสดุวัฒนธรรมบางประเภท โดยอิงกับระบบวัฒนธรรมของตนเอง และขณะเดียวกันก็ต้องการเพิ่มเสียงของคนที่มีความรู้เฉพาะทางและประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องต่างๆ เพื่อเป็นบันทึกสาธารณะ17 การทำงานที่ตอบสนองทั้งการจัดการคลังเอกสารของตนเอง และที่เป็นการจัดการคลังสาธารณะและเอกชนของสถาบัน ส่งผลให้คนพื้นเมืองจำนวนมากต้องการพัฒนาคลังเอกสารและจดหมายเหตุที่เขาสามารถใส่ข้อมูลและการให้รายเอียดเรื่องราวต่างๆด้วยตนเอง ดังที่ปีเตอร์ โทเนอร์ กล่าวว่า

สิ่งที่สังเกตได้อย่างชัดเจนคือ ประเภทของเมตาดาตา (metadata schemes) เช่น ดับบลิ้น คอร์ (Dublin Core) วางอยู่บนฐานคิดของการจัดการความรู้แบบตะวันตก ในเมื่อทุกวันนี้การทำงานจดหมายเหตุอาศัยการทำงานร่วมกับชุมชนพื้นเมืองมากขึ้นในการส่งคืนวัตถุอันเป็นมรดกวัฒนธรรม ในเมื่อกิจกรรมเหล่านี้มีวัตถุประสงค์สำคัญที่อาศัยการจัดความรู้ท้องถิ่น ฉะนั้น เราจะต้องขยายประเภทของเมตาดาตาให้รวมเอารูปแบบและประเภทของความรู้ที่สามารถสะท้อนคุณค่าทางวัฒนธรรมออกมาได้18

งานของโทเนอร์ผลักดันให้สถาบันที่จัดเก็บเอกสารจะต้องประเมินคุณค่าของมาตรฐานตัวเองใหม่พร้อมเปิดกว้างที่จะปรับมาตรฐานให้สอดคล้องกับการเรียกร้อง ประวัติศาสตร์ และระบบความรู้ของคนกลุ่มอื่นๆ ข้อแนะนำนี้ไม่มีวัตถุประสงค์ในการต่อต้านกับสิ่งที่เป็นมาตรฐาน หรือความจำเป็นของระบบมาตรฐานสำหรับผู้ใช้ทุกประเภท ในสายการทำงาน แต่นี่เป็นการเสนอให้ขยายขอบเขตการจัดหมวดหมู่ของความรู้ หรือทำให้หมวดหมู่เหล่านี้มีความยืดหยุ่นกับแนวทางการจัดการข้อมูลที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น

เทคโนโลยีดิจิทัลและอินเตอร์เนตสร้างช่องทางให้กับชนพื้นเมืองสามารถเข้าถึงคลังเอกสาร พอๆ กับการสร้างแรงกดดันให้กับชุมชนที่ต้องการควบคุมการจัดประเภท และมาตรการทางวัฒนธรรมในการเผยแพร่ข้อมูลในแบบดิจิทัลเหล่านี้ สิ่งที่ผู้เขียนจะได้กล่าวต่อไป คือการฉายให้เห็นความร่วมมือในการผลักดันให้โปรแกรมมูกูรตูสามารถทำงานร่วมกับหน้าเว็บของ พลาโต พีเพิล (Plateau Peoples’ Web Portal) [กลุ่มเอกสารที่มีเนื้อหากลุ่มที่อาศัยอยู่บนที่ราบสูง – ผู้แปล] ให้เป็นคลังจดหมายเหตุออนไลน์และเครื่องมือในการจัดการเนื้อหา โปรแกรมที่ทำงานผ่านเว็บไซต์อำนวยให้คนบนที่ราบสูงเข้าถึงและสามารถร่วมจัดการวัสดุที่อยู่ในคลังเอกสารที่ได้รับการดูแลไว้ที่มหาวิทยาลัยวอชิงตัน สเตทในพูลแมน วอชิงตัน และเหนือไปจากนั้นแล้วแนวทางนี้ยังทำทำให้เกิดการร่วมเป็นภัณฑรักษ์วัตถุทางวัฒนธรรมเหล่านี้จากทั้งสองฝ่ายด้วย19 โครงการดังกล่าวนี้กำหนดขั้นตอนและกลุ่มมาตรฐานใหม่ ด้วยการขยายและผลิตเพิ่มชุดความรู้ที่สัมพันธ์กับคลังเอกสารของชนบนที่ราบสูงให้สอดคล้องกับความรู้ของชนเผ่า ซึ่งมันมีน้ำหนักเทียบเท่ากับเมตาดาตา (metadata) ที่ใช้จัดการเอกสารของสถาบัน ฉะนั้นแล้วคำว่า “การร่วมเป็นภัณฑรักษ์”(reciprocal curation) คือชุดปฏิบัติการที่เปิดให้ทั้งผู้คนชนเผ่าและนักวิชาการเข้ามาให้ข้อมูลกับเอกสารในระดับรายชิ้น สำหรับกลุ่มเอกสารเฉพาะด้วยวัตถุประสงค์ในการสร้างชุดความรู้ที่รุ่มรวย มีช่วงชั้นในการเข้าถึง และเป็นพลวัต ด้วยการเน้นถึงความสัมพันธ์ที่เป็นความร่วมมือและระบบการจัดการเนื้อหาได้เราได้สร้างขึ้น ผู้เขียนต้องย้ำถึงความเป็นไปได้ที่ทั้งสถาบันและชุมชนต่างๆ ได้ใช้โอกาสของเทคโนโลยีดิจิทัล ในการจัดการเอกสาร การจัดแสดง และการผลิตซ้ำวัสดุที่เป็นมรดกวัฒนธรรม

ยึดมั่น “ในความไว้ใจ”: โครงสร้างสำหรับการสร้างคลังจดหมายเหตุบนความร่วมมือ

เมื่อ ค.ศ. ๒๐๐๕ เป็นปีที่ผู้เขียนเริ่มทำงานกับคลังเอกสารมูกูรตู วัมเพอร์ราร์นิ-คาริ (Mukurtu Wumpurrarni-kari Archive) และเป็นปีเดียวกับที่ผู้เขียนเข้ารับตำแหน่งที่มหาวิทยาลัยวอชิงตัน สเตท (Washington State University) ในฐานะที่เป็นสมาชิกของภาควิชาทางด้านชาติพันธุ์ศึกษาแบบสหวิทยาการ ผู้ขียนสร้างความร่วมมมือกับศูนย์พลาโต้เพื่ออเมริกันอินเดียนศึกษา (Plateau Centre for American Indian Studies) ที่อยู่ในวิทยาเขตที่ผู้เขียนปฏิบัติงาน เนื่องด้วยศูนย์ดังกล่าวเพิ่งได้รับการจัดตั้ง ศูนย์พลาโต้จึงจัดเสวนาร่วมกับชนเผ่าต่างๆ เพื่อเป็นเวทีในการร่วมกำหนดเป้าหมายในระยะยาวและในระยะสั้นในการดำเนินงาน20 ชนเผ่าจำนวนไม่น้อยต้องการให้คลังเอกสารในหอสมุดของมหาวิทยาลัยสามารถเข้าถึงได้ โดยเฉพาะสมาชิกของเผ่าที่อาศัยอยู่ในเขตสงวน (reservation lands) และในขณะเดียวกัน ชนเผ่าได้เรียกร้องให้นำสิ่งที่ได้จากเวทีการเสวนารวบรวมไว้เป็นส่วนหนึ่งของวัสดุเหล่านั้น พวกชาวเผ่าไม่ได้ต้องการแค่การใช้บริการเอกสารที่เกี่ยวข้องกับชนบทที่ราบสูง แต่มีเสียงเรียกร้องในการจัดการ การเล่าเรื่อง และการให้รายละเอียดกับวัสดุเหล่านั้นด้วย ด้วยวิธีคิดเช่นนี้ ชนเผ่าต่างๆ สะท้อนความคิดในการเข้าถึงเอกสารที่ควรได้รับการมองในมุมอื่นๆ ออกมาเช่นกัน ในงานทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดการจดหมายเหตุ มาเยีย เคราส (Majia Krause) และอลิซาเบธ เยเกล (Elizabeth Yakel) พบว่า “ความคิดเกี่ยวกับการเข้าถึงมันเลยพ้นไปกว่าการเข้าถึงเอกสารจดหมายเหตุเชิงกายภาพ และมันรวมถึงการส่งเสริมให้การใช้เอกสารเป็นไปอย่างมีความหมาย ด้วยการสร้างสิ่งอำนวยการสืบค้นเพื่อส่งเสริมการเข้าถึง”21 อันที่จริงแล้ว โครงการจดหมายดิจิทัลหลายโครงการเอื้ออำนวยให้กับผู้ใช้หลากหลายกลุ่ม อย่างไรก็ตามโครงการเว็บพลาโตให้ความสำคัญกับข้อเรียกร้องของชนชาติต่างๆ ในอันดับต้น เพราะ ๑) มันมีเรื่องราวที่กลุ่มชนเผ่ามักถูกกีดกันและกดทับ ๒) มันมีสถานภาพของชนชาติซึ่งมีความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลในสหรัฐอเมริกา และ ๓) มันมีโลกทัศน์ที่แตกต่างออกไป22 การอภิปราย เกี่ยวกับการเข้าถึงและการเผยแพร่โดยชนชาติต่างๆ ทำให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความต้องการของกลุ่มชนในการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยวอชิงตัน สเตท เพื่อให้อธิปไตยทางการเมือง (political sovereignty) ของพวกเขาปรากฏอยู่ในปฏิบัติการทางวัฒนธรรม

คำว่า “อธิปไตย” เป็นศัพท์ทางการเมืองที่มีนัยที่หลากหลาย ภายในชุมชนชาวพื้นเมือง เรื่องราวที่หลากหลายเกี่ยวกับช่วงอาณานิคมและหลังอาณานิคมและสถานการณ์ร่วมสมัย ส่งผลให้ความเข้าใจเกี่ยวกับองค์อธิปัตย์แบบใดแบบหนึ่งมิใช่เรื่องที่ฟังขึ้นอีกต่อไป ในความเป็นจริง โจแอนน์ เบร์เกอร์ (Joanne Barker) แสดงความเห็นว่า ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ อธิปไตยกลายเป็นประเด็นในทางการเมืองเกี่ยวกับชนพื้นเมืองในเวทีนานาชาติ เมื่อ “คำว่าอธิปไตยมันเกิดขึ้นในกรอบคิดของชนพื้นเมือง เพื่อให้ความหมายกับชุดของสิทธิ์ทางสังคมและกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดชะตากรรมของตนเองในทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม”23 ในทำนองเดียวกัน เทรสซา เบอร์แมน (Tressa Berman) กล่าวว่า “อธิปไตยในฐานะสิทธิทางวัฒนธรรมในเชิงการเมืองและปรัชญา สัมพันธ์กับการเรียกร้องหลักฐานที่แสดงสิทธิ์ของชนพื้นเมือง ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน ทรัพย์สินทางวัฒนธรรม หรือรูปแบบทางศิลปกรรม”24 การยืนยันถึงอธิปไตยในดินแดนของกลุ่มคนที่เคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ดังในกรณีของประเทศคานาดาและสหรัฐอเมริกามักมีจุดมุ่งหมายในการสนับสนุนหรือการสร้างความชอบธรรมให้กับอำนาจทางการเมืองภายในรัฐชาติ ในกรณีของสหรัฐอเมริกา ความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ กับชนชาติต่างๆ ที่อาศัย “ความไว้วางใจ” กลับไม่ได้รับความเป็นธรรม สัญญาถูกฉีกทิ้งนักต่อนัก และชุมชนชนต่างๆ ถูกผลักไสและกลายเป็นสังคมชายขอบของประเทศ ต่อเมื่อการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิ์ของชนพื้นเมืองเป็นปรากฎการณ์ที่เป็นกระแสในระดับโลกตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ ๑๙๗๐ อธิปไตยคือหลักหมายที่มีร่วมกัน และคำดังกล่าวสะท้อนจุดยืนสำหรับการเมืองในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง การเรียกร้องสิทธิ์ดังกล่าวก่อตัวบนการเรียกร้องสิทธิเหนือที่ดิน การเรียกร้องสิทธิของชุมชนในขอบเขตของรัฐชาติ รวมถึงการอาศัยกฏหมายในการเรียกคืนวัตถุอันเป็นมรดกวัฒนธรรม25

จากภูมิหลังเช่นนี้ ชนเผ่าต่างๆ ที่อยู่บนที่ราบสูงได้รวมตัวกันและหารือเพื่อสร้างความชัดเจนในมุมมอง ประวัติเรื่องราว และความรู้ เพื่อไม่ให้สิ่งเหล่านี้ไม่ได้รับการบันทึกหรือเป็นเพียงเรื่องชายขอบของบันทึกจดหมายเหตุ หรือในกระบวนการจัดการเอกสารและวัสดุที่บอกเล่าวัฒนธรรม เราวางเป้าหมายในการสร้างโครงการเพื่ออำนวยให้การก่อร่างสร้างฐานความรู้ทั้งทางวัฒนธรรมและทางการเมือง ขั้นตอนการทำงานของเราอาศัยการผสมผสานแรวทางการทำงานที่กำหนดไว้ใน “มาตรการสำหรับการจัดการเอกสารจดหมายเหตุของอเมริกันพื้นเมือง” (Protocols for Native American Archival Materials) ทั้งนี้ เนื้อหาหลักสามข้อของข้อแนะนำดังกล่าวประกอบด้วย

  1. พยายามพัฒนาให้คลังเอกสารที่อยู่ในความดูแลของสถาบัน มีความครบถ้วยสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และสะท้อนให้เห็นมุมมองต่างๆ ที่สัมพันธ์กับชนอเมริกันพื้นเมือง ต้องพยายามจัดหาทรัพยากรที่สร้างสรรค์โดยชนพื้นเมือง ไม่ใช่เฉพาะทรัพยากรที่กล่าวถึงชนพื้นเมืองเท่านั้น
  2. ให้ความเคารพและแสดงออกต่อชนอเมริกันพื้นเมืองและแนวทางการทำงานตามมุมมอง “ตะวันตก” ในการดูแลคลังเอกสารจดหมายเหตุ ระบบความรู้ดั้งเดิมมีคุณค่าและควรบรรจุไว้เป็นส่วนหนึ่งของการดูแลคลังเอกสาร กิจกรรมและนโยบายสำหรับการสงวนรักษา การเข้าถึง และการใช้ ที่อาศัยมุมมองของชนอเมริกันพื้นเมืองในบางกรณีต้องได้รับการพิจารณาเป็นอันดับต้น ซึ่งจะต้องมาจากการปรึกษาหารือกับชุมชนเผ่าก่อน
  3. ปรึกษากับตัวแทนของชุมชนที่สัมพันธ์กับเนื้อหาทางวัฒนธรรมที่ปรากฏในเอกสาร เพื่อระบุว่าวัสดุนั้นๆ มีความอ่อนไหวทางวัฒนธรรมหรือไม่ หากใช่ ควรพัฒนาข้อกำหนดในการเข้าถึงและการใช้วัสดุเหล่านั้น

 

ภาพ ๑ ตัวแทนชนเผ่าเลือกภาพแม่น้ำโคลัมเบียเป็นหน้าหลักของเว็บไซต์พอร์ทัลในฐานะของเครื่องหมายที่รวมเอากลุ่มชนต่างๆ ที่ตัดข้ามความเป็นรัฐและเส้นแบ่งความเป็นท้องถิ่น แต่ละเผ่ามีภาพหนึ่งและข้อความรวมทั้งเสียงที่แสดงการต้อนรับ ทั้งในภาษาอังกฤษและภาษาถิ่น เพื่อแสดงความแตกต่าง และลักษณะที่ไม่เฉพาะเจาะจงของความเป็นชนเผ่า

ด้วยกระบวนการทำงานที่ใส่ใจกับบริบททางวัฒนธรรมและมาตรการจัดการเอกสาร การสร้างเว็บไซต์ที่เป็นระบบบริหารจัดการร่วมกับชุมชนพื้นเมืองเป็นกิจกรรมอันดับต้นที่เชื่อมโยงระหว่างสถาบันกับชุมชนในที่ราบสูง การประชุมปรึกษาที่สำคัญๆ และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งการออกแบบ การคัดเลือกเนื้อหา และการปรับให้ข้อมูลทันสมัยอยู่เสมอ นอกจากนี้ ยังต้องให้ความเคารพกับมาตรการทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับความอ่อนไหวทางวัฒนธรรม และการสนใจกับข้อความเห็นที่มาจากชุมชน กระทั่งขั้นตอนของการตัดสินใจร่วมกัน การเริ่มทำงานที่ได้รับทุนตั้งแต่ ค.ศ. ๒๐๐๘ ผู้เขียนได้ร่วมมือกับศูนย์พลาโตสำหรับอเมริกันอินเดียนศึกษา ชนชาติอินเดียนยากามา (Yakama Indian Nation) สหพันธ์ชนเผ่าในเขตสงวนยูมาทิลลา (Confederated Tribes of Umatilla Reservation) ชนเผ่าเกอร์ ดาลิน (Coeur d’Aerene) กลุ่มเอกสารพิเศษ จดหมายเหตุ และต้นฉบับลายมือ ซึ่งเป็นหน่วยงานของหอสมุดมหาวิทยาลัยวอชิงตันสเตท (Washington State Library’s Manuscripts, Archives, and Special Collection) และสถาบันต่างๆ ในระดับภูมิภาคและระดับชาติที่จัดเก็บเอกสาร (รวมถึงสถาบันสมิธโซเนียน) รวมกันในการสร้างเว็บไซต์พลาโต พีเพิล (Plateau Peoples’ Web Portal) [เว็บไซต์คลังออนไลน์เพื่อกลุ่มชนในที่ราบสูง – ผู้แปล] เพื่อให้บรรลุพันธกิจที่ได้ตั้งไว้นี้ (โปรดดูภาพประกอบ ๑)26

หนึ่งในการประชุมครั้งแรกๆ เกี่ยวกับการสร้างเว็บเพจ เราได้อภิปรายประเด็นการเข้าถึงที่มหาวิทยาลัยวอชิงตันสเตท โดยการเข้าถึงดังกล่าวสัมพันธ์กับสิทธิเหนือทรัพย์สินทางปัญญาหลายๆ ประเภท พร้อมกับการตอบสนองพันธกิจในการจัดสรรให้คลังเอกสารเพื่อสาธารณะของหอสมุดมหาวิทยาลัยวอชิงตันสเตท การอภิปรายโดยตัวแทนของเผ่าต่างๆ กำหนดความแตกต่างในการเข้าถึงระหว่างการเข้าถึงและการควบคุมวัสดุประเภทเพื่อให้บริการสำหรับบุคคลภายนอกและภายใน ตัวแทนจากกลุ่มต่างๆ เข้าใจเป็นอย่างดีเกี่ยวกับระบบที่มหาวิทยาลัยใช้เพื่อให้คลังเอกสารบริการสู่สาธารณะ (ซึ่งสอดคล้องกับกฏหมายของสหรัฐอเมริกา) และการเปิดให้ใครๆ สามารถเข้าไปใช้คลังจดหมายเหตุและค้นคว้าหาเอกสารที่ต้องการ เราเข้าใจเป็นอย่างดีถึงเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ที่กำหนดให้มีการจัดประเภทวัสดุที่แตกต่าง ดังที่เรสตา (Resta) และคนอื่นๆ ชี้ว่า

“วัสดุทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์หลายอย่างของชีวิตชนพื้นเมือง ปรากฏอยู่ทั่วไปในคลังของพิพิธภัณฑ์และการถือครองส่วนบุคคล การถือครองเช่นนั้นปรากฏทั้งในตามสถานที่และยิ่งมากขึ้นในลักษณะอิเล็คทรอนิกส์ในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์เสมือนจริงและฐานข้อมูลออนไลน์ อย่างไรก็ดี ชนพื้นเมืองจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงมรดกวัฒนธรรมที่เป็นของตนเอง และอาจถูกกีดกันจากการตีความวัตถุเหล่านั้น เมื่อได้รับการจัดแสดงสู่สาธารณะ”27

ตัวแทนของชนเผ่าต่างๆ บนที่ราบสูงต้องการเพิ่มเอกสารและเข้าถึงกับใช้วัสดุที่อยู่โครงการของพวกเขา ประเด็นหนึ่งที่อภิปรายเป็นอย่างมาและคงเป็นแรงตึงในการสนทนาหลายครั้งในการเข้าถึงและการจัดทำทะเบียนวัสดุชนอเมริกันพื้นเมือง นั่นคือ คลังเอกสารมักมีสถานภาพให้บริการแก่สาธารณะ(ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันนิยามของทรัพย์สินทางปัญญาสาธารณะ และความคิดเกี่ยวกับ “สาธารณชนทั่วไป” อันเป็นองค์ประกอบของโลกประชาธิปไตยและตลาดทุนนิยมของโลกตะวันตก) อย่างไรก็ดี เนื้อหาของวัสดุจำนวนไม่น้อยมีลักษณะเป็นส่วนตัว (ซึ่งได้รับการจัดมาตรการจากชุมชนในการเข้าชม) สำหรับชนอเมริกันพื้นเมือง ผู้คนและชุมชนที่ปรากฏในภาพถ่าย ภาพยนตร์ และเอกสาร แทบไม่มีสิทธิ์ในทางกฎหมายในการกำหนดลักษณะของการเผยแพร่เอกสารเหฃ่านี้ และพวกเขาเองอาจถูกปฏิเสธในการเข้าถึงเอกสารจากการเงื่อนไขของผู้บริจาค มาตรฐานของสถาบันมักทำให้เรื่องราวของความรุนแรงหรือสิ่งที่ตั้งข้อกังขาของคลังเอกสารไม่ปรากฎโดยบอกว่าวัตถุบางอย่างเป็น “มรดกของมนุษยชาติ” (ซึ่งหมายความว่ามันจะไม่ได้รับการปกป้องจากสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญานานาชาติ)28ตัวแทนของชนเผ่าสร้างแสดงออกย่างชัดเจนว่าแม้ว่านักวิชาการจะมีความเห็นของพวกตน แต่พวกเขายังต้องการให้ความรู้ของพวกเขาได้รับการบันทึกในลักษณะที่จะไม่ผลักใสประวัติศาสตร์และเรื่องเล่าของพวเขาไปอยู่ชายขอบ หรือลดทอนความซับซ้อนของความใส่ใจและส่วนได้ส่วนเสียของพวกเขาในคลังเอกสาร

นักจดหมายเหตุและนักวิชาการพิพิธภัณฑ์ท้าทายกับการแบ่งแยกของความคิดเห็นของชนพื้นเมืองและผู้เชี่ยวชาญเช่นนี้ อลิซาเบธ เอ็ดเวิร์ดส์ (Elizabeth Edwards) กล่าวว่า “…ภาพถ่ายและการจัดเก็บได้รับการดำเนินการและควบคุมตามสถานที่ต่างๆ ในโลกของการสะสม ทั้งหอจดหมายเหตุ พิพิธภัณฑ์ และมหาวิทยาลัย โดยมีจุดมุ่งหมายในการจัดการ การจัดแสดง และการเผยแพร่ สิ่งสร้างระบอบของความจริงแบบหนึ่งขึ้นและกีดกันระบอบความจริงแบบอื่นออกไป”29 เป้าหมายของโครงการคือ การประยุกต์ปฏิบัติการชุดมาตรฐานที่ยินยอมให้ความเห็นหลากหลาย บริบทในแต่ละชั้น รูปแบบหลากหลายของเมตาดาตา และการเพิ่มเสริมเอกสารจดหมายเหตุ ปีเตอร์ โทนเนอร์สะท้อนความต้องการดังกล่าวในงานของเขากับกลุ่มชนพื้นเมืองอะบอริจินในออสเตรเลียดังนี้

“ในมุมมองของข้าพเจ้า ความทรงจำของชนโยลน์กู (Yolngu) เป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการจัดระบบเอกสาร ไม่เฉพาะการใส่ใจกับรูปแบบการจัดการข้อมูลแบบดับบลินคอร์ (Dublin Core) ตามมาตรฐานแต่ยังสามารถขยายความคิดในการจัดการข้อมูลด้วยเมตาดาตาแบบอื่น ซึ่งสามารถแสดงให้เห็นชั้นความคิดเห็นของเจ้าของวัฒนธรรมเกี่ยวกับนัยของบันทีกในบริบทวัฒนธรรมในปัจจุบันด้วย”30

ทั้งเอ็ดเวิร์ดและโทเนอร์ชี้ถึงจุดเปลี่ยนของปฏิบัติการจดหมายเหตุและการจัดการคลัง ซึ่งอำนาจและความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญถูกท้าทาย แต่ไม่ถึงขนาดที่อำนาจและความเห็นของผู้เชี่ยวชาญหมดความสำคัญอย่างสิ้นเชิง

การออกแบบสำหรับการโต้ตอบ: เว็บไซต์พีเพิ้ลพลาโต (Plateau People’s Web Portal)

ในโครงการ ตัวแทนของทุกชนเผ่า รวมทั้งนักจดหมายเหตุและบรรณารักษ์ เห็นพ้องต้องกันว่า เป้าหมายมิใช่การลบล้างความเห็นทางวิชาการ แต่เป็นการเพิ่มวิธีคิดของชนพื้นเมืองให้มีคุณค่าเทียบเท่ากับบันทึกทางวิชาการ ความก้าวหน้าล่าสุดของเทคโนโลยีดิจิทัลเอื้อให้เราสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมาย ซึ่งแตกต่างจากเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ดูเป็นเรื่องยากยิ่งในการสร้างระบบที่ยืดหยุ่น31 เมื่อโครงสร้างฐานข้อมูลมูกูรตูและระบบระดับการอนุญาต เจ้าหน้าที่ทางเทคนิค สร้างชั้นการจัดการระดับที่สอง ด้วยการสร้างชุดเครื่องมือในการบริหารที่สามารถปรับเปลี่ยนและมีลักษณะที่ตอบโต้สำหรับผู้ดูแลเว็บไซต์ของชนเผ่า ระดับการจัดการอีกชั้นหนึ่งเพิ่มความปลอดภัยให้กับข้อมูลเนื่องด้วยเว็บให้บริการออนไลน์ และระบบการนำเข้าและส่งออกข้อมูลสำหรับรับเข้าเนื้อหาจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันสเตทและจากชนเผ่า32 เพื่อให้เป็นคลังเอกสารจดหมายเหตุออนไลน์ที่ “พร้อมสรรพ” สำหรับวัสดุที่บรรจุเนื้อหาเกี่ยวกับคนบนที่ราบสูง เว็บไซต์พอร์ทัลได้รับการออกแบบให้รวบรวมเนื้อหาเชิงสถาบัน เนื้อหาจากชนเผ่า และเมตาดาตา ที่อำนวยให้พร้อมสำหรับระบบการจัดการที่แตกต่างของชนเผ่า หรือสถาบันอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ดีเว็บไซต์ยังคงมีหน้าเว็บสำหรับให้บริการแก่สารธารณะ แต่จะมีจุดในการเข้าถึงข้อมูลในระดับที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้งานกับเว็บไซต์ ชนเผ่า นักวิชาการ และสถาบันที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลขึ้นออนไลน์ เพิ่มเมตาดาตา เนื้อหาที่แสดงแผนที่ และเพิ่มเติมเรื่องราว ฉะนั้นแต่ละคนจึงสามารถเลือกวิธีการการจัดการวัสดุ แต่สำหรับมหาวิทยาลัยวอชิงตัวสเตท เนื่องจากเราเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ เราจึงไม่สามารถกำหนดการเข้าถึงข้อมูลที่แตกต่างภายในเว็บไซต์พอร์ทัลได้ ในขณะที่ชนกลุ่มต่างๆ และนักวิชาการที่นำเอกสารขึ้นออนไลน์ (หรือใครก็ตามที่เป็นผู้ถือครองลิขสิทธิ์) อาจเลือกกำหนดชุด “มาตรการร่วม” เพื่อกำหนดวิธีการเข้าถึงได้ ในขั้นตอนการนำวัสดุขึ้นออนไลน์ ขั้นตอนที่สี่อนุญาตให้ผู้ที่นำข้อมูลขึ้นสามารถกำหนดการเข้าถึง โดยอิงกับเผ่าที่ตนเองสังกัด (หรือระดับย่อยภายใน) สถานภาพของความศักดิ์สิทธิ์และหรือเพศสภาพได้ (โปรดดูภาพ ๒) มหาวิทยาลัยวอชิงตันสเตทหรือสถาบันอื่นที่เกี่ยวข้อง ชนเผ่า หรือนักวิชาการที่ได้นำข้อมูลมาแบ่งปันไว้บนเว็บไซต์ ยังคงถือครองทรัพย์สินทางปัญญาเหนือวัตถุและควบคุมการกำหนดเมตาดาตาและเงื่อนไขในการเข้าถึง เครื่องมือต่างๆ ที่บรรจุไว้ในการสร้างโปรแกรมอนุญาตให้สถาบันแต่ละแห่ง ชนเผ่า และหรือนักวิชาการควบคุมวัสดุและเมตาดาตาในระดับพื้นฐาน ระบบไม่อนุญาตให้แต่ละกลุ่มเข้าถึงข้อมูลโดยข้ามกลุ่มของตนเอง อย่างไรก็ตาม ผู้เข้าใช้สามารถเข้าถึงเอกสารหลายๆ ชิ้นที่เกี่ยวข้องในหน้าของเอกสารหรือกลุ่มเอกสาร ตัวอย่างเช่น เมื่อชมเอกสารหนึ่งอยู่ ผู้ใช้อาจพบเอกสารที่อยู่ในระบบทะเบียนของมหาวิทยาลัยวอชิลตันสเตท ความรู้ของชนเผ่า และหรือความเห็นที่อยู่ในรูปของเสียงที่ให้ความเห็นโดยชนเผ่า เว็บไซต์พอทัล จึงเอื้อให้มีเสียงในการเล่าเรื่องที่แตกต่างกันที่กำกับเอกสารชิ้นหนึ่งๆ หรือให้พื้นที่แก่เสียง “ผู้เชี่ยวชาญ” ในหลายรูปแบบ อย่างไรก็ดี เพื่อให้มีระบบต่อเนื่องในเว็บไซต์ เราตัดสินใจสร้างชั้นประเภทพื้นฐานสำหรับการเลือกดูข้อมูล (browsing) และการกำหนดประเภทวัสดุนอกเหนือ (และเพื่อเติมให้กับ) ระบบการให้หัวเรื่องของไลบราลี ออฟ คอนเกรส (Library of Congress)

 

ภาพ ๒ ตัวแทนของชนเผ่าเลือกมาตรการสำหรับการนำวัสดุแบ่งปัน โดยตัดข้ามชนเผ่าและภายในเผ่ากันเอง เพื่อแสดงให้เห็นประโยชน์ที่มีร่วมกันและความเข้าใจเกี่ยวกับการสร้างความรู้ โดยการกำหนดประเภทดังกล่าวมีพลวัตและปรับให้ทันสมัยได้อยู่ทุกเมื่อ

การกำหนดประเภทพื้นฐานในการเข้าถึง ซึ่งผู้อื่นสามารถเลือกชมเอกสารจดหมายเหตุ และชนเผ่าสามารถกำหนดประเภทของวัสดุของพวกเขา นับเป็นการสร้างระบบอภิธานศัพท์ข้ามวัฒนธรรม ในความเป็นจริง การตัดสินใจเกี่ยวกับประเภทหลังในการกำหนดการเข้าถึงใช้เวลาหลายเดือนในโครงการ ตัวแทนของชนเผ่าและเจ้าหน้าที่ของโครงการด้านห้องสมุดและจดหมายเหตุ อยู่สภาวะตึงเตรียดระหว่างการใช้ศัพท์แสง ความคิด และข้อกำหนดของโลกตะวันตก สำหรับการจัดประเภทข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับชนเผ่ากับความต้องการพัฒนาระบบเพื่อให้เป็นที่ยอมรับ ใช้ได้โดยง่าย และเป็นที่เข้าใจทั่วไป โดยตอบโจทย์ของผู้ใช้กลุ่มต่างๆ ทั้งคนจากชนเผ่า คนที่ไม่ใช่ชนเผ่า นักวิชาการ และสาธารณะทั่วไป ในช่วงเวลาหลายเดือนนั้น ผู้บริหารเว็บไซต์ของชนเผ่า เจ้าหน้าที่หอสมุด และผู้เขียน มีโอกาสพูดคุยและโต้ตอบกันผ่านอีเมล์ และร่วมกำหนดประเภทของข้อมูลให้แคบลง เพื่อสะท้อนความต้องการของชนเผ่ามากที่สุด ข้อกำหนดที่เพิ่มขึ้นในการจัดประเภทเพื่อทดลองแนวคิดนี้แม้จะมีเพียงชนเผ่าสามกลุ่มที่ร่วมโครงการ แต่เราต้องเลือกสร้างประเภทการจัดการข้อมูลที่สำคัญและสามารถนำมาสู่บันทึกข้อตกลงที่เห็นชอบร่วมกันทุกชนเผ่าให้ได้ หากชนเผ่านั้นเลือกที่จะเข้าร่วมโครงการ

แนวทางของเราในการกำหนดประเภทการจัดการข้อมูลเริ่มต้นด้วยการพิจารณาข้อกำหนดทางกฎหมาย ในการพบปะครั้งแรกๆ เราก็เพียงแค่เสนอรายนามแนวทางที่ชนเผ่าสามารถกำหนดประเภทการจัดการข้อมูลได้ด้วยตนเอง ผู้เขียนถามผู้บริหารเว็บไซต์ที่มาจากชนเผ่าให้ใคร่ครวญเงื่อนไขที่เป็นไปได้ทุกด้านในการจัดการเนื้อหาของเว็บไซต์ และมองไปยังสิ่งที่กำลังตามมาในการทำงานของเว็บไซต์พอร์ทัล จากนั้น เราได้จัดกลุ่มประเภทของคำที่ใช้จัดการข้อมูลจากหัวเรื่องใหญ่สู่หัวเรื่องย่อย เราเปิดประเด็นสู่ข้อยุ่งยากเชิงภาษาศาสตร์ในการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อเป็นตัวแทนของกลุ่มเนื้อหาวัฒนธรรมพื้นเมือง หรือกระทั่งการมีเว็บไซต์ที่จะตอบโจทย์กับชนเผ่าหลายกลุ่ม เราเองไม่อาจหาทางออกที่สวยหรูได้นัก อย่างไรก็ดี เราเลือกตัวเลือก “ด้อยน้อยที่สุด” ในการเลือกคำภาษาอังกฤษที่แต่ละเผ่าสามารถใช้ในการกำหนดประเภทข้อมูล ดังนั้น ประเภทข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ “ที่ดิน” สามารถกำหนดนิยามภาษาของแต่ละกลุ่มชนเผ่า33 นอกจากนี้ เราสามารถเพิ่มลักษณะที่แยกย่อยเพื่อตอบสนองการจัดประเภทข้อมูลที่เหมาะสมของแต่ละกลุ่มให้เฉพาะเจาะจงถึงเอกสารเป็นรายชิ้น

เมื่อเราทำงานผ่านกานออกแบบและสร้างสถาปัตยกรรมของฐานข้อมูล เราไม่หยุดอยู่เพียงการกำหนดส่วน “ความเห็น” ที่มาจากกลุ่มชนพื้นเมือง หมือนดังหลายโครงการเกิดขี้นก่อนหน้านั้น ในทางตรงข้าม เราต้องการให้นำความรู้เรานั้นมาใช้เป็นแนวทางกำหนดประเภทของมูลหรือเมตาดาตา ซึ่งเปิดทางให้กับความรู้ตามของคนพื้นเมืองมีคุณค่าเท่ากับความรู้ในทางวิชาการ ฉะนั้น แทนที่จะเป็นการทำงานแบบ “คราวด์ชอร์ซซิ่ง” (crowd sourcing) (หรือการเปิดโอกาสให้ชุมชนออนไลน์ร่วมกันแบ่งปันความรู้- ผู้แปล) ซึ่งวางอยู่บนฐานว่าความรู้ที่แต่ละคนแสดงออกนั้นมีคุณค่าอย่างเท่าเทียมกันและให้สังคมคัดเลือก เว็บไซต์พอร์ทัลเน้นความรู้ที่เป็นของชนพื้นเมืองที่วางเคียงบ่าเคียงไหล่กับความรู้ที่มาจากนักวิชาการที่ให้ข้อมูลกับคลังข้อมูล ด้วยเหตุนี้ ในเว็บไซต์ เมตาดาตาที่เป็นดับลินคอร์จัดอยู่ในประเภทหัวเรื่อง “เอกสารการจัดระบบทะเบียน” (catalogue record) สำหรับแต่ละชิ้นของเอกสาร เมื่อสถาบันที่ดูแลคลังเอกสารใช้การกำหนดประเภทข้อมูลดังกล่าวจัดการกับข้อมูลในเว็บไซต์ จากนั้น เมื่อสังเกตภายใต้เอกสารทะเบียน ก็จะเห็นปุ่ม “เอกสารการจัดระบบทะเบียนแบบชนเผ่า” (tribal catalogue record) ให้เลือก ทางเลือกดังกล่าวมาจากการโต้ตอบในช่วงหกเดือนแรกของโครงการที่แต่ละชนเผ่าให้ความเห็นกับการจัดการข้อมูลด้วยกลุ่มเมตาดาตาของสถาบัน ประการแรก เราคิดถึงเอกสารการจัดระบบทะเบียนแบบชนเผ่า จะนำมาใช้กับเอกสารที่ชนเผ่าครอบครองและนำขึ้นไว้ในเว็บไซต์พอร์ทัล นั่นคือ หากชนเผ่าตัดสินใจว่าเขาต้องการให้รวมภาพของตะกร้าที่อยู่ในพอร์ทัล นั่นแปลว่า เอกสารในระบบทะเบียนชนเผ่าย่อมหมายรวมถึงเอกสารที่อยู่ในประเภทระบบทะเบียนทั่วไป ที่ได้รับการกำหนดข้อมูลด้วยระบบดับลินคอร์ด้วย แม้ปฏิบัติการแนวทางนั้นจะช่วยให้ตระหนักถึงเจ้าของเอกสารเหล่านี้ แต่ทำให้ช่องทางในการนำเอกสารขึ้นในเว็บไซต์และวิธีแก้ไขเอกสารที่อยู่ระบบทะเบียนของสถาบันก็ไม่ชัดเจนนัก ตัวอย่างเช่น หากชื่อที่อยู่ในเอกสารของมหาวิทยาลัยได้รับการสะกดผิด หรือมีข้อมูลไม่ถูกต้อง และผู้ที่ดูแลเว็บไซต์ของชนเผ่าจะเข้ามาแก้ไขได้อย่างไร? วิธีแก้ปัญหาคือการกำหนดให้เอกสารในระบบทะเบียนชนเผ่าทำหน้าที่สองประการ สำหรับเอกสารที่ชนเผ่าครอบครอง ต้องมีการกำหนดระบบข้อมูลมาตรฐาน โดยผู้ที่ดูแลจากชนเผ่าทำหน้าที่ในการป้อนข้อมูลในระดับชิ้นเอกสาร แต่สำหรับเอกสารที่มหาวิทยาลัยครอบครอง ชนเผ่าสามารถให้ความเห็นเพิ่มเติม แต่ไม่สามารถลบเนื้อหาที่ทางมหาวิทยาลัยเป็นผู้กำหนดไว้ได้ นั่นคือเอกสารของสถาบัน หากมีความผิดพลาดหรือความไม่ลงรอยในเนื้อหาของประเภทข้อมูลในช่องใดช่องหนึ่งสำหรับเอกสารในระบบทะเบียนสถาบัน ชนเผ่าสามารถให้รายละเอียดในช่องเอกสารเดียวกันในระบบทะเบียนของชนเผ่า นี่เป็นวิธีการทำงานที่สามารถเห็นข้อมูลประกอบเอกสารที่เป็นของสถาบันและชนเผ่า การเห็นข้อคิดเห็นเพิ่มเติมหรือการแก้ไขทำให้เห็นประวัติศาสตร์ของความรู้ที่พัฒนาไป นอกจากนี้ ตัวแทนของชนเผ่ายังแนะนำถึงการจัดชั้นข้อมูลที่แตกต่างกันของแต่ละเผ่า ไม่มีใครต้องการลบเอกสาร เราทุกคนเข้าใจตรงกันถึงประโยชน์ในหลายด้านที่ชนเผ่า นักวิชาการ และผู้ใช้ได้รับประโยชน์จากเว็บไซต์ ในการเห็นข้อมูลที่แล้วเสร็จ ยังไม่แล้วเสร็จ และข้อต่อรองตลอดระยะเวลา แม้ “เอกสาร” ดูเหมือนจะเป็นทางการและไม่อาจโต้แย้งได้ แต่เอกสารสามารถเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาได้เช่นกัน ระบบจัดการเอกสารในปัจจุบันเน้นพลวัตของความรู้ รวมไปถึงเมตาดาตาด้วย

 

ภาพ ๓ ความรู้ชนเผ่าเป็นชุดของการเล่าเรื่องที่เพิ่มหรือเสริมโดยกำหนดให้เป็นหัวเรื่องย่อย เพื่อแสดงให้เห็นเนื้อหาต่างๆ ที่สัมพันธ์กับวัสดุ

นอกเหนือเมตาดาตาในระบบดับลินคอร์ ชนเผ่าก็ยังต้องการเส้นทางในการแสดงออกชุดความรู้สำคัญ ดังนั้น ชุดเมตาดาตาที่เพิ่มเติมมาจากชนเผ่า หรือเรียกว่า “ความรู้ชนเผ่า” (tribal knowledge) สามารถได้รับการเพิ่มเติมโดยผู้ดูแลเว็บไซต์ชนเผ่า (โปรดดูภาพ ๓)34ด้วยกระบวนการกำหนดประเภทในระบบการจัดการ แต่ละประเภทสัมพันธ์กับความรู้ของชนเผ่า ตัวอย่างเช่นภายใต้คำว่า “ที่ดิน” (lands) ตัวแทนของชนเผ่าตัดสินใจกำหนดหัวเรื่อง โดยหัวเรื่องดังกล่าวสะท้อนให้เห็น ความรู้เกี่ยวกับที่ดินได้แก่ “original territory” (เขตแดนดั้งเดิม) “aboriginal territory” (เขตแดนชนพื้นเมือง) “ceded lands” (ผืนดินที่ยึดครอง) “treaty” (ผืนดินพันธะสัญญา) “reservations” (เขตสงวน) “allotment” (ที่ดินจัดสรร) “lost places” (สถานที่สูญหาย) “ceremony” (สถานที่ประกอบพิธีกรรม) (โปรดดูภาพ ๔) ตัวแทนชนเผ่าผู้ที่ดูแลเว็บไซต์จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าหัวเรื่องใดเกี่ยวข้องกับเอกสารตามที่เขาเห็นว่าสอดคล้องกับระบบความรู้ชนเผ่าตามความเหมาะสม พวกเขายังสามารถเพิ่มหรือเสริมหัวเรื่องความรู้ชนเผ่าใน “ส่วนบริหารระบบ” (system admistration) ที่จะเห็นได้เฉพาะผู้ที่บริหารเว็บไซต์ของสถาบันและชนเผ่า เราทำให้ความรู้ของชนเผ่าและการจัดประเภทข้อมูลไม่ต้องผูกโยงกับระบบมาตรฐานของสถาบันจนเกินไปพร้อมๆ กับรักษามาตรฐานไว้ ในการลิงค์เนื้อหาเข้ากับประเภทข้อมูลเฉพาะหรือข้อมูลเชิงซ้อน เราได้รักษาบูรณภาพของเมตาดาตาไว้ รวมทั้งการเพิ่มส่วนความรู้ที่เกิดจากทางเผ่าลงไปในเมตาดาตาด้วย ดังนั้น สถาปัตยกรรมของเว็บไซต์พอร์ทัลจึงมีประเภทข้อมูลหลักสองลักษณะ ได้แก่ ประเภท (category) และชนเผ่า (tribe) ในการนำเอกสารขึ้นในเว็บไซต์จึงต้องกำหนดประเภทข้อมูลที่เชื่อมโยงเอกสารในประเภทใดประเภทหนึ่ง หรือทั้งสองประเภท ความหลากหลายของประเภทข้อมูลคือหัวใจของระบบ นั่นคือแต่ละประเภทข้อมูลไม่สามารถหมายรวมเอาความซับซ้อนของวัสดุมาไว้ในประเภทใดประเภทหนึ่ง แต่ละประเภทของข้อมูลจะไม่สามารถแสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนทั้งหมดไปจนถึงความเปลี่ยนแปลงของข้อมูลเมื่อเวลาผ่านไปได้ นอกจากนี้ ขณะที่โครงสร้างฐานข้อมูลและระบบการจัดการเนื้อหาอนุญาตให้เอกสารแต่ะชิ้นมาจากชุมชนใดชุมชนหนึ่งเท่านั้น แต่ระบบของเว็บไซต์พอร์ทัลสามารถสร้างมิติทับซ้อนของเรื่องราวระหว่างชนเผ่าต่างๆ กับวัตถุจากเผ่าต่างๆโครงสร้างดังกล่าวอนุญาตให้เรากำหนดประเภทการจัดการข้อมูลของชนเผ่าเป็นหลัก และกำหนดให้เอกสารสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล นั่นคือจะมีการฝังความสัมพันธ์ทางสังคมและประวัติศาสตร์เชิงซ้อนลงไปในเนื้อหาเลย จึงไม่มีเอกสารใดที่ “ปราศจากชนเผ่า” (tribe-less) หากแต่มันมักจะสัมพันธ์กับกลุ่มชนเผ่าที่หลากหลายเสียมากกว่า

ภาพ ๔ หน้าบริหารจัดการที่สามารถถึงได้เฉพาะผู้ที่บริหารจัดการเว็บไซต์และผู้บริหารที่เป็นตัวแทนของชนเผ่า ซึ่งสามารถเพิ่มและปรับเปลี่ยนช่องรายละเอียดข้อมูลที่ขยายจากหัวเรื่องย่อยสำหรับข้อมูลความรู้ชนเผ่า

เมื่อเราตกลงร่วมกันเกี่ยวกับโครงสร้างฐานข้อมูล เราเน้นการสร้างกระบวนการทำงานที่จัดการร่วมกัน ขั้นตอนของระบบเอื้อให้ปรับเปลี่ยนได้ทั้งระบบจัดการของชนเผ่าและสถาบัน โดยหลีกเลี่ยงการทำซ้ำและพยายามที่จะมีการควบคุมคุณภาพในการรักษาความสม่ำเสมอในการทำงาน ขั้นตอนในการนำข้อมูลเอกสารสถาบันขึ้นในเว็บไซต์พอร์ทัลประกอบด้วย

  1. เลือกเอกสารที่ต้องการ โดยตัวแทนชนเผ่าผู้ที่บริหารเว็บไซต์จากรายนามของวัสดุของมหาวิทยาลัย
  2. ค้นคืนข้อมูลจากตำแหน่งเก็บของคลังเอกสารมหาวิทยาลัย
  3. กำหนดประเภทจัดการข้อมูลของเว็บไซต์พอร์ทัลจากข้อกำหนดชนเผ่าบนหน้ากระดานหลัก
  4. ตรวจสอบสถานภาพของลิขสิทธิ์
  5. สแกนเอกสารโดยปฏิบัติตามมาตรฐาน บีซีอาร์ (BCR standards and guidelines)35
  6. สร้างชื่อไฟล์โดยใช้ระบบที่ใช้ร่วมกันของเว็บไซต์พอร์ทัล โดยการกำหนดชื่อไฟล์เป็นประกอบดัวยอักษร ๑๒ ตัว

ตัวอย่างเช่น การตั้งชื่อไฟล์ 3wsumasc0010

ตัวอักษรแรกหมายถึง ความสัมพันธ์กับชนเผ่า (tribal association)

0 คือวัสดุที่เกี่ยวข้องกับชนเผ่ามากกว่าหนึ่ง

1 คือกลุ่มเกอร์ ดาลีน (Coeur d’Alene)

2 คือกลุ่มยูมาทิลลา (Umatilla)

3 คือกลุ่มยากามา (Yakama)

ตัวอักษรเจ็ดตัวระบุแหล่งจัดเก็บหรือแหล่งที่มา

wsumasc (WSU, Manuscripts, Archives, and Special Collections) อันหมายถึงกลุ่มเอกสารพิเศษ จดหมายเหตุ และเอกสารต้นฉบับลายมือ

wsuanth (WSU Museum of Anthropology) อันหมายถึงพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยาของมหาวิทยาลัยวอชิงตันสเตท

umatppp (Confederated Tribes of the Umatilla Indian Reservation) อันหมายถึงสหพันธ์เขตสงวนอินเดียนยูมาทิลลา

yakappp (Yakama Nation) อันหมายถึงชนชาติยากามา

cdapppp (Coeur d’Alene Tribe) อันหมายถึงชนเผ่าเกอร์ดาลีน

nwmacpp (Northwest Museum of Arts and Culture) อันหมายถึงพิพิธภัณฑ์ศิลปะและวัฒนธรรม ตะวันตกเฉียงเหนือ

naapppp (Smithsonian Institution, National Anthropological Archives) อันหมายถึงสถาบันสมิธโซเนียน หอจดหมายเหตุแห่งชาติ มานุษยวิทยา

nmaippp (National Museum of the American Indian, Smithsonian Institution) อันหมายถึงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อเมริกันอินเดียน

* (นอกจากนี้ในกรณีจำเป็น เราสามารถเพิ่มรหัสแหล่งที่มาได้ตามความเหมาะสม)

ตัวเลขที่ต่อข้างท้าย แสดงเป็นตัวเลข ๔ ตัว จาก “0001” ถึง “9999” แสดงให้เห็นจำนวนที่เพิ่มของคลังในเว็บไซต์พอร์ทัล เช่น 3WSUMASC0010 เป็นเอกสารลำดับที่สิบ

  1. การนำไฟล์ภาพ JPEGs ขึ้นในเว็บไซต์พอร์ทัล ทั้งในลักษณะที่เป็นรายชิ้นหรือรายชุด
    1. การเข้าสู่ระบบตามแต่ละชนเผ่า
    2. การเลือกประเภท
    3. การใส่ข้อมูลไฟล์ ประกอบด้วย ชื่อ ประเภทสื่อ วันที่
    4. การนำเข้าเมตาดาตาของบันทึกทะเบียน
    5. การนำเข้าคำอธิบายสั้นขนาดหนึ่งบรรทัดในช่อง “คำอธิบาย”
    6. การกำหนดให้เอกสารเป็น “สาธารณะ”
    7. การกด “เข้าสู่คลังจดหมายเหตุ”
    8. การสร้างเอกสารทะเบียน เพิ่มชิ้นเอกสารสู่ทะเบียนพอร์ทัล

ผู้บริหารเว็บไซต์ที่เป็นตัวแทนชนเผ่าสามารถดำเนินการด้วยขั้นตอนเดียวกัน โดยการเข้าสู่ระบบการจัดเก็บที่เป็นความรู้และการนำเอกสารขึ้นในทะเบียนเอกสารชนเผ่า และเปิดให้เลือกว่าเอกสารนั้นๆ สามารถเปิดสู่สาธารณะได้หรือไม่หรือจะมีการกำหนดเงื่อนไข “choose sharing protocols” (โปรดดูภาพ ๕)

 

ภาพ ๕ มาตรการแบ่งปันเอกสารอนุญาตให้ชนเผ่ากำหนดข้อจำกัดทางวัฒนธรรมในการเผยแพร่ความรู้ที่พวกเขาเป็นเจ้าของและนำวัสดุขึ้นไว้ในเว็บไซต์พอร์ทัล จนถึง ณ ปัจจุบัน มีวัสดุที่เป็นของชนเผ่าที่แบ่งปันไว้ในเว็บไซต์จำนวนน้อยกว่า ๒% ที่จำกัดการเข้าถึง

ขั้นตอนสำหรับแต่ละกลุ่มชนเผ่า ให้ปฏิบัติตามขั้นตอนพื้นฐานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับวัสดุของมหาวิทยาลัยวอชิงตันสเตท ตัวแทนของชนเผ่าได้รับการคัดเลือกโดยชนเผ่าหลังจากที่มีการติดต่อเบื้องต้นโดยศูนย์พลาโตเพื่ออเมริกันอินเดียนศึกษา และเริ่มทำงานร่วมกันที่มหาวิทยาลัยวอชิงตันสเตท วิทยาขตพูลล์แมน (เมื่อ ค.ศ. ๒๐๐๙-๒๐๑๐ เราได้รับเงินสนับสนุนในการเดินทาง) โดยมีประชุมร่วมกันกับหน่วยจัดการเอกสารพิเศษ จดหมายเหตุ และต้นฉบับลายมือ ของหอสมุดต่างๆ ของมหาวิทยาลัย ก่อนการประชุมครั้งนั้น คณะทำงานเว็บไซต์พอร์ทัลร่วมกันสร้างรายการ “ทางเข้าหลัก” (master pass) สำหรับวัสดุที่เก็บไว้ในคลังเอกสารของมหาวิทยาลัยทุกวิทยาเขต36 ในแต่ละหอสมุด ชนเผ่าสามารถเข้าชมเอกสารได้ทั้งจากสำเนาเอกสารจากทางเข้าหลัก หรือการเข้าชมต้นฉบับได้ที่คลังเก็บเอกสารของแต่ละวิทยาเขต ในขั้นตอนดังกล่าว เราได้ทำงานใกล้ชิดกับชนเผ่าในการระบุแหล่งเอกสารอื่นๆ ที่สามารถนำเข้าสู่โครงการ แต่ละกลุ่มชนเผ่าตัดสินใจว่าเอกสารใดที่ต้องการแปลงสภาพเป็นดิจิทัลในลักษณะต่างๆ มีเผ่าหนึ่งนำเนื้อหามากที่สุดที่เป็นไปได้เข้าไปสู่ที่ประชุมผู้อาวุโสของชนเผ่าทุกวันอังคารเพื่อการตัดสินใจ บางเผ่านำเอกสารไปปรึกษากับ “คณะกรรมการวัฒนธรรม” ขั้นตอนของการตัดสินใจแตกต่างกันในแต่ละกลุ่ม หลังจากที่เอกสารของมหาวิทยาลัยได้รับการคัดเลือกเพื่อการแปลงเป็นรูปแบบดิจิทัล เจ้าหน้าที่ที่ดูแลเว็บไซต์พอร์ทัลของมหาวิทยาลัยเข้าสู่ระบบ นำเอกสารขึ้นในเว็บไซต์ และเพิ่มเอกสารดังกล่าวเข้าสู่ระบบทะเบียนและเพิ่มเมตาดาตา เมื่อวัสดุนำเข้าสู่เว็บไซต์ ผู้ที่ดูแลเว็บไซต์ที่เป็นตัวแทนของชนเผ่าเข้าสู่ระบบโดยผ่านทาง “เนื้อหาที่จัดการโดยชนเผ่า” และเพิ่มเนื้อหา โดยไม่สามารถดัดแปลงแก้ไขเอกสารและเมตาดาตาของสถาบัน ในทางตรงข้าม ผู้ดูแลเว็บไซต์ตัวแทนชนเผ่าสามารถเข้าสู่ระบบการบริหารเอกสารตามระบบทะเบียนของชนเผ่าและความรู้ชนเผ่า และเพิ่มเมตาดาตา เรื่องราว และความเห็นในรูปแบบวิดีโอ37 ระบบดังกล่าวนี้เอื้อให้บูรณภาพของวัสดุที่เป็นของสถาบันยังคงอยู่ ในขณะเดียวกัน ยังสามารถเพิ่มขยายข้อมูลจากเมตาดาตา เรื่องราว และเนื้อหาใหม่ของชนเผ่า ทั้งในลักษณะที่เป็นชิ้นเอกสาร ชุดเอกสาร หรือความเห็นในรูปแบบของไฟล์เสียง/ภาพ38

การออกแบบพอร์ทัลเน้นประวัติของเอกสารแต่ละชิ้นอย่างเป็นลำดับ เชื่อมโยงประวัติศาสตร์ของเอกสารและอาณานิคมเข้ากับการเอาตัวรอดและปรับตัวของกลุ่มชน ซึ่งเป็นขยายขอบเขตของเอกสารประวัติศาสตร์และความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่มีอยู่บนเว็บไซต์ ตัวอย่างเช่น ชุดภาพสไลด์ชาล์คราฟต์-พิกเคอริ่ง (Chalcraft-Pickering lantern slide collection) ที่ได้รับการแปลงสภาพให้เป็นดิจิทัลเป็นเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานในระยะแรกของโครงการที่บรรจุภาพจากโรงเรียนเชมาวาอินเดียน (Chemawa Indian School) ในซาเลม (Salem)รัฐโอเรกอน (Oregon) กลุ่มภาพดังกล่าวแสดงให้เห็นความเชื่อมโยงกันของประวัติศาสตร์อเมริกันอินเดียนบนที่ราบสูง และการเผชิญหน้ากับอาณานิคมอเมริกันทางตะวันตกเฉียงเหนือ ภาพๆ หนึ่งของการอบขนมกระตุ้นการแสดงความเห็นโดยสมาชิกของชนเผ่ายากามาและลิงค์อีกสองเรื่องจากสมาชิกของชนเผ่ายูมาทิลลา การเข้าถึงภาพถ่าย ผู้ใช้สามารถอ่านเกี่ยวกับโรงเรียนประจำและประวัติของโรงเรียน เห็นทั้งที่ตั้งของโรงเรียนและได้ยินเสียงของผู้อาวุโสยุคปัจจุบันกล่าวถึงการให้บริการอาหารในโรงเรียน และได้อ่านเอกสารทะเบียน จะเห็นได้ว่าการทำภาพหนึ่งภาพให้เป็นดิจิทัลและส่งกลับไปชุมชน ได้เปิดให้เห็นชุดวัสดุทางวัฒนธรรมหลายประเภท ทั้งไฟล์เสียงดิจิทัล ไฟล์บทความ และเมตาดาตาของชนเผ่า ในทำนองเดียวกัน ภาพของกลุ่มชนยากามาที่เป็นส่วนหนึ่งของชุดเอกสารแม็ควอร์เตอร์ที่จัดเก็บไว้ที่มหาวิทยาลัย “แดนซ์เฮ้าส์ ออฟ ยากามาส์” (Dancehouse of the Yakama) ปรากฏเรื่องเล่าจากผู้ดูแลเว็บเซต์ที่เป็นตัวแทนของชนเผ่า และความรู้ชนเผ่าอีกหลายย่อหน้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเอกสารประเภทวิถีชีวิต ยิ่งมีเอกสารเพิ่มในเว็บไซต์ แนวโน้มที่เว็บไซต์เติบโตยิ่งเท่าทวี เว็บไซต์พอร์ทัลไม่ใช่เพียงสถานที่เพื่อจัดเก็บวัสดุที่มีอยู่ในครองครองอยู่แล้วเท่านั้น แต่มันยังเปิดกว้างสู่วัตถุใหม่ๆ อีกด้วย ในแนวทางนี้ เว็บไซต์พอร์ทัลเป็นเครื่องมือที่กระตุ้นให้เกิดสิ่งใหม่ ความรู้ใหม่ วัตถุใหม่ และชุดการโต้ตอบระหว่างสาธารณชนกลุ่มต่างๆ อีกด้วย

สมาชิกของชนเผ่า นักวิชาการ นักศึกษาและผู้ใช้อินเตอร์เนตทั่วไปสามารถเห็นชุดเอกสารเดียวกันได่ แต่วิถีที่คนเหล่านี้มีปฏิสัมพันธ์กับวัตถุเหล่านั้นไปจนถึงการนิยามวัตถุเหล่านั้นก็ขึ้นอยู่กับชุดความรู้ที่แตกต่างกันไป ชนเผ่า นักวิชาการจากเผ่า และเจ้าหน้าที่องค์กรที่เชื่อมโยงกับเผ่าสามารถนำเนื้อหาขึ้นไว้ในเว็บไซต์ และเพิ่มเมตาดาตา เนื้อหาที่เป็นแผนที่ และเรื่องเล่าได้ ผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์สามารถเพิ่มความเห็นและคำสำคัญ และสร้าง “กลุ่มเอกสารของฉัน” สำหรับการวิจัยในอนาคตได้ ในขณะที่พิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุอีกหลายแห่ง ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ให้ความรู้หลัก ส่วนการสร้างคำสำคัญเพื่อการสืบค้นหรือความเห็นที่เสริมขึ้นมากลับเป็นเป็นเพียงความรู้ปลีกย่อย แต่ในเว็บไซต์พอร์ทัลนี้ เราสร้างพื้นที่เพื่อการสนทนาเปิดและให้มุมมองของชนพื้นเมืองและข้อมูลเชิงวิชาการมีความเท่าเทียมกัน เว็บไซต์พอร์ทัลมีวัตถุประสงค์ในการขยายความรู้ทางจดหมายเหตุ โดยอิงกับเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ร่วมสมัยหลากหลายชุดและความรู้แวดล้อมวัสดุทางวัฒนธรรม และมีจุดประสงค์ที่จะสร้างเวทีสำหรับการสร้างวัสดุและความรู้ใหม่เช่นกัน

จินตนาการจดหมายเหตุ

มาตรฐานเป็นคำที่นิยมสำหรับนักจดหมายเหตุ เพราะเป็นฐานสำคัญสำหรับการทำงาน แต่ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นนักมานุษยวิทยาที่มองระบบต่างๆ มีเป็นสิ่งประกอบสร้างทางวัฒนธรรมที่มีนัยยะทางการเมือง ผู้เขียนจึงรู้สึกกระอักกระอ่วนในการปกปักรักษามาตรฐานและระบบเอาไว้โดยไม่สนใจกับความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์และการเมืองเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเริ่มเห็นนักจัดหมายเหตุปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน และปรับเปลี่ยนมาตรฐานไปตามสถานการณ์และบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป39มันจะมากไปหรือไม่หากผู้เขียนจะจินตนาการถึงการเปลี่ยนมุมมองของนักจดหมายเหตุเกี่ยวกับ ความเป็นส่วนตัว(privacy) การเข้าถึงแบบเปิด (open access) และสิ่งที่เรียกว่า สาธารณประโยชน์ บนฐานของการเมืองของคนพื้นเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป?นักวิชาการทางกฎหมายและนักเทคนิคเห็นทัศนคติสาธารณะที่เปลี่ยนแปลงในการแบ่งปันไฟล์และการเผยแพร่เอกสารดิจิทัล และใช้กระแสนี้เป็นแรงเหวี่ยงในการผลักดันประเด็นของตนเองไม่ว่าจะเป็นทางการเข้าถึงข้อมูลมากขึ้น การรักษาสมดุลการเข้าถึงข้อมูล หรือการควบคุมการเข้าถึงข้อมูลยิ่งขึ้น40 นักจดหมายเหตุสามารถทำในสิ่งเดียวกันอย่างแสดงความใส่ใจและเรื่องราวของคนพื้นเมืองและคลังเอกสารของพวกเขา การเรียกร้องโดยชนพื้นเมืองมักเป็นการพยายามยึดพื้นที่ของความหมายสถานที่จัดเก็บจดหมายเหตุ (สถาบันอื่นๆ ที่ทำหน้าที่ทำนองเดียวกัน) คืน เป็นส่วนหนึ่งงของกระแสการพูดถึงทรัพย์สินทางปัญญาสาธารณะ (public domain) พร้อมๆ กับกระแสของการเรียกร้องกำหนดชะตาชีวิตของตนเองและอธิปไตยของชุมชนดั้งเดิมที่อยู่ชายขอบ41 นักจดหมายเหตุควรอยู่ในแนวหน้าในพื้นที่ทำงานที่เปลี่ยนไปนี้ และนี้ไม่ได้เป็นเพียงเพราะเหตุผลทางจริยธรรมของวิชาชีพด้วย แต่มันเป็นเรื่องของการชดเชยความอยุติธรรมทางประวัติศาสตร์และกระบวนการผลักไสทำให้ชุมชนอีกนับไม่ถ้วนไปอยู่ชายขอบในปัจจุบัน

หอจดหมายเหตุเป็นสถานที่อันทรงพลังในการสร้างความสมานฉันท์ระหว่างคนพื้นเมืองกลุ่มต่างๆ ในชาติที่ก่อตัวมาจากผู้อพยพมาตั้งรกรากอย่างสหรัฐอเมริกา แคนาดา และออสเตรเลีย หอจดหมายเหตุแห่งชาติเป็นกุญแจสำคัญในการอ้างสิทธิเหนือที่ดิน การสืบสายตระกูลในครอบครัว และประวัติศาสตร์ชุมชน อย่างไรก็ดี หอจดหมายเหตุอาจจุดชนวนความรู้สึกคลุมเครือให้กับกลุ่มชนต่างๆ นั่นคือ การเตือนให้ผู้คนระบบที่กดขี่ที่ทำให้พวกเขาบ้านแตกสาแหรกขาด แต่ในขณะเดียวกัน มันก็เอื้อให้ชนพื้นเมืองหาคำตอบทางประวัติศาสตร์และเรียกร้องการชดเชยจากรัฐด้วย หอจดหมายเหตุเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างชาติเสมอมา และด้วยปฏิบัติการดังกล่าว หอจดหมายเหตุได้มองข้ามผลประโยชน์กลุ่มคนชายขอบที่ไม่มีตัวแทนระดับชาติ ในความเป็นจริงแล้ว บันทึกประวัติศาสตร์ไม่เคยมีความโปร่งใสอย่างที่ใครบางคนประสงค์ให้มันเป็น อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่เหตุผลที่ควรหยุดยั้งนักจดหมายเหตุ (และผู้ทำงานในสถาบันที่พัฒนาคลังเอกสาร) ในการชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ทางอำนาจในการจัดการข้อมูลในแบบปัจจุบันผ่านโครงสร้างการจัดการคลังเอกสารอย่างที่เป็นอยู่ รวมทั้งการใช้ระบบมาตรฐานเมตาดาตาที่ไม่ยืดหยุ่น (ไม่เป็นกลาง) ไปจนถึงความคิดแบบเสรีนิยมในการรักษาความเป็นส่วนตัว การเข้าถึง และความเป็นสาธารณะที่ยังคงวางอยู่บนความหลงลืมประวัติศาสตร์ของการกีดกัน ตั้งแต่กลางคริสต์ทศวรรษ ๑๙๙๐ พิพิธภัณฑ์ หอจดหมายเหตุ หอสมุด และมหาวิทยาลัยที่ได้รับการยกที่ดินให้เป็นสาธารณะประโยชน์ (เช่น มหาวิทยาลัยวอชิงตันสเตท) ในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก ต่างรับรู้ถึงพลังของการออกไปทำงานร่วมและหมายรวมเอาชุมชนคนท้องถิ่นไว้ในกระบวนการจัดการต่างๆ หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์หลายแห่งลงนามบันทึกความเข้าใจกับชุมชนพื้นเมืองในการเข้าถึงและการสนับสนุนการค้นคืนวัตถุต่างๆ เทคโนโลยีดิจิทัลสามารถสนับสนุนแนวทางใหม่ๆ ที่ก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างสถาบันที่ครอบครองคลังวัสดุและชุมชนท้องถิ่น ไดสัน (Dyson), เฮนดริกส์ (Hendricks) และแกรนท์ (Grant) ได้แนะนำไว้ว่า “ความสามารถของมัลติมีเดีย ศักยภาพในการจัดเก็บ และเครื่องมือสื่อสารโดยเทคโนโลยีสารสนเทศ เปิดโอกาสใหม่ๆ ในการสงวนรักษาและการฟื้นฟูวัฒนธรรมและภาษาของคนพื้นเมือง และการส่งคืนวัสดุจากสถาบันวัฒนธรรมในระดับชาติกลับไปยังชุมชน”42 การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อรวมความรู้หลายๆ ชั้นที่รายล้อมชุดเอกสารของหอจดหมายเหตุและวัตถุของพิพิธภัณฑ์ เป็นฐานของการกรุยทางสู่การส่งคืนวัตถุ ภาพ และเอกสารในรูปแบบดิจิทัล อย่างไรก็ดีเทคโนโลยีเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการเท่นั้น ขณะที่เทคโนโลยีใหม่เอื้อในการผลิตซ้ำและการเผยแพร่ แต่เทคโนโลยีกับไม่สามารถสร้างความมั่นใจถึงกระบวนการทำงานที่ให้ความเคารพและเป็นการทำงานเอื้อประโยชน์ระหว่างกันได้ ฉะนั้น เราก็ยังการพบปะและพูดคุยอย่างสม่ำเสมอและมุ่งมั่นในการทำงานจดหมายเหตุที่อาศัยความร่วมมืออย่างแท้จริงอยู่

นักวิชาการสารพัดสาขาวิชาเห็นความสำคัญของการจัดการของชนพื้นเมืองกับคลังวัตถุในพิพิธภัณฑ์และคลังเอกสารในหอจดหมายเหตุ43 อนึ่ง มันไม่มีแนวทางหนึ่งเดียว หรือคำตอบเบ็ดเสร็จในการตอบคำถามด้านงานจดหมายเหตุให้กับชนพื้นเมืองที่แก้ปัญหาให้สถาบันที่ครอบครองมรดกวัฒนธรรม แทนที่จะเป็นดังนั้น เราต้องเข้าใจถึงทัศนะหลากหลายของความต้องการ เรื่องราว การเมืองวัฒนธรรม และวาระท้องถิ่นและข้ามถิ่นภายในชาติ จินตนาการจดหมายเหตุเช่นนี้โน้มนำมาสู่กระบวนการทำงานที่ยืดหยุ่น การจัดทำโครงการให้เหมาะสมกับแต่ละชุมชน การขยายเมตาดาตา ฐานข้อมูลหลายประเภท เสียงหรือความเห็นที่หลากหลายของผู้เชี่ยวชาญ และความยินยอมเปิดรับชุดความต้องการที่แตกต่างของชุมชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไว้เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างเอกสารจดหมายเหตุและการสงวนรักษาเอกสาร44 ความต้องการดังกล่าวไม่นับเป็นการคุกคามสนามของการทำงานเฉพาะทาง หรือการโจมตีกระบวนการทำงานด้วยระบบมาตรฐาน หากแต่หมายถึงการที่นักจดหมายเหตุต้องใช้การฝึกฝน การเข้าถึงมุมมองในระดับลึก และจินตนาการ ในการปรับมุมมองและความรู้ด้านงานจดหมายเหตุให้เหมาะสมในแต่ละโครงการ

นักจดหมายเหตุ นักเทคโนโลยี นักวิชาการ และชนพื้นเมืองผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้เริ่มเข้ามาประสานงานความร่วมมือในลักษณะต่างๆ ทั้งในระดับท้องถิ่น ภูมิภาค ชาติ นานาชาติ เพื่อตอบโจทย์การทำงานจดหมายเหตุที่แก้ไขความอยุติธรรมในประวัติศาสตร์และการผลักไสไปที่ชายทางสังคมที่ยังดำเนินอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน45 ทางออกไม่ใช่การจำนวนโครงการ จำนวนโครงการไม่ได้เป็นสิ่งที่ดีงามเท่ากระบวนการทำงานในกรอบคิดใหม่ ของนักจดหมายเหตุที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการกับการทำงานจดหมายเหตุในชีวิตประจำวันของพวกเขา เมื่อเราละวางแนวทางการทำงานที่ตายตัวหรือมาตรฐานที่เข้มงวดไป เราจะเริ่มมองเห็นอนาคตของจดหมายเหตุที่มีชีวิต ที่ขึ้นอยู่กับนวัตกรรมใหม่ที่ออกแบบโดยนักจดหมายเหตุที่ได้รับการฝึกฝนและมีความใส่ใจในประวัติศาสตร์ในแนวทางการดำเนินงาน การเปิดมุมมองร่วมใหม่ๆ สู่ความต้องการที่หลากหลายและความหวังใหม่ๆ ของคนพื้นเมือง ส่งผลต่องานจดหมายเหตุที่มีลักษณะพลวัตและขยายขอบเขตการทำงาน การฝึกฝนมุมมองของเราให้เห็นสิ่งที่เลยพ้นจากขอบเขตของเราไป ให้เห็นสิ่งที่ถูกบันทึกทับลงไปนั้นเป็นงานที่ทั้งนักจดหมายเหตุและนักวิชาการพึงปฏิบัติ การเพิ่มระบบความรู้และระบบการจัดการคลังจากมุมมองของชนพื้นเมืองช่วยทำให้สีสันของการทำงานมีความสดใสยิ่งขึ้น

กิตติกรรมประการ

ผู้เขียนขอขอบคุณเพื่อนร่วมงานที่พัฒนาเว็บไซต์พอร์ทัลของผู้คนบนที่ราบสูง และตัวแทนที่ร่วมทำงานอย่างแข็งขัน ได้แก่ วิเวียน อดัมส์ (Vivian Adams), โจลินา ทิลเลกัวต์ส (Jolena Tillequots), คิม เมเธอสัน (Kim Matheson), เมลิสสา มิธอน วิกส์ (Malissa Minthorn Winks), ดัลลัส ดิก (Dallas Dick), แรนดัลล์ เมลตัน (Randall Melton), กามีย์ เพลสันต์ส (Camille Pleasants), กีย์ โมรา (Guy Moura), เกนา พีออน (Gena Peone), และมาร์ชา วีนคุป (Marsha Wynecoop), อีกทั้งสมาชิกของกลุ่มชนเผ่าที่ใช้เวลาในการพัฒนาเว็บไซต์พอร์ทัลอย่างต่อเนื่อง เว็บไซต์พอร์ทัลได้รับการสนับสนุนทุนจากเงินอุดหนุนของกลุ่มสถาบันสนับสนุนการคอมพิวเตอร์ภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือ (Northwest Computing Consortium Proof of Concept Grant) และสภาอเมริกันเพื่อส่งเสริมสังคมการเรียนรู้นวัตกรรมดิจิทัล (American Council for Learned Societies Digital Innovation Fellowship) ข้าพเจ้ามีความยินดียิ่งที่ได้ที่งานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของส่วนงานคลังเอกสารพิเศษ จดหมายเหตุ และต้นฉบับลายมือของมหาวิทยาลัยวอชิงตันสเตท (WSU’s Manuscripts, Archives, and Special Collections) หากปราศจากการทำงานอย่างแข็งขันของอเล็กซ์ เมรริลล์ (Alex Merrill), เทรเวอร์ บอนด์ (Trevor Bond), และเชอรี่ กันเซลแมน์ (Cheryl Gunselman) โครงการนี้ไม่มีทางสำเร็จลงได้ บาร์บารา แอสตัน (Barbara Aston) และแมรี่ คอลลินส์ (Mary Collins) ช่วยให้คำแนะนำ ติดตาม และประสานงานกับการทำงานร่วมกับศูนย์พลาโตเพื่ออเมริกันอินเดียนศึกษาของมหาวิทยาลัยวอชิงตันสเตท (Plateau Center for American Indian Studies) หากปราศจากผู้ช่วยวิจัย ชอว์น แลมบัลล์ (Shawn LameBull) เอมมา มูลเลอร์ (Emma Mueller) และ เอมิเลีย แม้คคลัง (Amelia McClung) คงไม่อาจมีภาพดิจิทัลหรือเมตาดาตาสำหรับการนำขึ้นในเว็บไซต์ รวมทั้งความร่วมมือจากองค์กรระดับชาติ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ มานุษยวิทยาและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อเมริกันอินเดียน ของสถาบันสมิธโซเนียน ไม่เพียงการแบ่งปันเนื้อหาในเว็บไซต์พอร์ทัล แต่รวมถึงคำแนะนำ ความช่วยเหลือในการเขียนเอกสารสนับสนุน และกำลังใจส่งให้แก่กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เจนนี่เฟอร์ โอนิล บากบั่นในส่งเสริมให้โครงการกลายเป็นที่รับทราบกันในระดับภูมิภาคและระดับชาติ ซึ่งส่งผลอย่างดีเยี่ยมกับโครงการ ในท้ายที่สุด ขอขอบคุณร็อบ ลิโอโพลด์ด้วยใจจริง ร็อบเป็นผู้ซึ่งอ่านร่างบทความนี้หลายครั้งและร่วมสนทนา เพื่อการแก้ไขและให้คำแนะนำเกี่ยวกับจดหมายเหตุและยุยงให้ผู้เขียนเขียนบทความนี้ขึ้นมา.

1บทความนี้แปลและเรียบเรียงจาก Christen, Kimberly. “Opening Archives: Respectful Repatriation,” The American Archivist, Vol. 74, 2011, pp. 185-210.

2โปรดู Nyinkka Nyunyu Art and Culture Centre, http://www.nyinkkanyunyu.com.au, accessed 26 September 2010. และโปรดดู Kimberly Christen, “Following the Nyinkka: Relations of Respect and Obligations to Act in the Collaborative Work of Aboriginal Cultural Centres,” Museum Anthropology 30, no. 2 (2007): 101-24.

3สำหรับประวัติของโครงการและการทดลองใช้งาน โปรดดูเว็บไซต์ของโครงการที่ http://www.mukurtuarive.org, accessed 24 August 2010, และสามารถอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะการจัดทำคลังจดหมายเหตุและเป้าหมายได้ที่ Kimberly Chirsten, “Archival Challenges and Digital Solutions in Aboriginal Australia,” SAA Archaeological Recorder 8, no. 2 (2008): 21-24.

4หากต้องการทำความรู้จักเกี่ยวกับมาตรการทางวัฒนธรรมของวารุมันกูและขั้นตอนในการเจรจาต่างๆ มากขึ้น โดยสัมพันธ์กับการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความรู้ สามารถดูได้ที่ Kimberly Christen, “Tracking Properness: Repacking Culture in a Remote Australian Town,” Cultural Anthropology 21, no. 3 (2006): 416-46.

5โปรดดู Joshua Bell, “Looking to See: Reflections on Visual Repatriation in the Purari Delta Guilf Province, Papua New Guinea,” ใน Museums and Sources Communities: A Routledge Reader, ed. Laura Peers and Alison Brown (London: Routledge, 2003), 111-22; Aron Crowell, “Sharing Knowledge in Alaska: Smithsonian Collections Come Home,” paper presented at the American Anthropological Association, Philadelphia, Penn. 4 December 2009: Haidy Geismar, “Photography Changes Who Gets to See Images of Us,” Click! Photography Changes Everything, Smithsonian Photography Initiative (2009), http://click.si.edu/Story.aspx?story=530, accessed 10 December 2009; Kate Hennessy, “Virtual Repatriation and Digital Technologies and Contested Ideologies: The Tagish First Voices Project,” American Indian Quarterly 30. Nos. 1 and 2 (2006): 119-37; และ Ruth Philips, “Replacing Objects: Historical Practices for the Second Museum Age,” Canadian Historical Review 86, no. 1 (2005): 83-110.

6โปรดดูรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการการจัดการเอกสารจดหมายเหตุอเมริกันพื้นเมือง (Protocols for Native American Archival Materials), http://www2.nau.edu/libnap-p/protocols.html, accessed 1 September 2010.

7องค์กรทางวิชาชีพหลายแห่งกำลังพัฒนามาตรฐานการจัดการเอกสารเกี่ยวกับชนพื้นเมือง รัฐบัญญัติในการปกป้องสุสานของอเมริกันพื้นเมืองและการส่งคืนสมบัติวัฒนธรรม ค.ศ. ๑๙๙๙ ในสหรัฐอเมริกา เป็นช่วงเวลาที่มีกฎหมายตระหนักถึงบทบาทของชนพื้นเมือง ในการควบคุมวัสดุทางวัฒนธรรมที่อยู่ในความดูแลของของสถาบันต่างๆ และนำมาสู่ประเด็นของการจัดประเภทการเข้าถึง โปรดดูมาตรการจัดการเอกสารจดหมายเหตุชนพื้นเมือง (Protocols for Native American Archival Materials); “Charge for the Society of American Archivists Working Group Cultural Property, “ http://www.archivists.org/council/Council0809/0809-1-II-E-CulturalPropWG.pdf; และเว็บไซต์ของสมาคมห้องสมุดอเมริกัน (American Library Association) ว่าด้วยการแสดงออกทางวัฒนธรรมแบบประเพณี (Traditional Cultural Expressions และห้องสมุดใน “Librarianship and Traditional Cultural Expressions: Nurturing Understanding and Respect,” http://wo.ala.org/tce/; all accessed 1 September 2010. นอกจากนี้ยังมีการประชุมนานาชาติเช่นการประชุมที่จัดโดยองค์การยูเนสโก (UNESCO) และองค์กรทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ที่ผลักดันนิยามใหม่ ข้อกำหนดทางกฎหมาย และแนวทางในการจัดการมรดกวัฒนธรรมของชนพื้นเมือง. โปรดดู Monika Dommann, “Lost in Tradition? Reconsidering the History of Folklore and its Legal Protection Since 1800,” in Intellectual Property and Traditional Cultural Expressions in a Digital Environment. (Chelten, U.K.: Edward Elger Press, 2008), 3-16; และ Wend Wendland, “It’s a Small World (After All): Some Reflections on Intellectual Property and Traditional Cultural Expressions.” ใน Intellectual Property and Traditional Cultural Expressions in a Digital Environment. (Chelten, U.K.: Edward Elger Press, 2008), 150-81.

8โปรดดู Kimberly Christen, “Gone Digital: Aboriginal Remix and the Cultural Commons,” International Journal of Cultural Property 12 no.3 (2005): 315-45; Rosemary Coombe, “Fear, Hope and Longing for the Future of Authorship and a Revitalized Public Domain in Global Regimes of Intellectual Property,” De Paul Law Review 52 (2003): 117-91; James Leach, “Modes of Creativity and the Register of Ownership,” in CODE: Collaborative Ownership and the Digital Economy, ed. Rishab Aiyer Ghosh (Cambridge, Mass.: MIT Press, 2005), 29-44; Fred Myers, “some Properties of Culture and Persons,” in CODE, 45-60; Anthony Seeger, “Who Got Left Out of the Property Grab Again: Oral Traditions, Indigenous Rights, and Valuable Old Knowledge,” in CODE: 75-84.

9เน้นโดยผู้เขียน. Pamela Samuelson, “Enriching Discourse on Public Domains,” Duke Law Journal 55 (2006): 104, Social Science Network, http://ssrn.com/abstract=925052, accessed 19 February 2010. One of the thirteen conceptions of the public domain she outlines is the “Romantic or Imperialist Public Domain” (p.138) แสดงให้เห็นว่าขอบข่ายสาธารณะที่ไม่ครอบคลุมความรู้ภูมิปัญญา และกล่าวถึงการสร้างแนวคิดทางเลือกในการกล่าวถึงทรัพย์สินและการเข้าถึงสมบัติวัฒนธรรม (pp. 140-41). โปรดดู Brad Sherman and Leanne Wisemann, “Toward an Indigenous Public Domain?,” in The Future of the Public Domain, ed. Luice Guibault and Bernt Hugenholtz (Kluwer Law International, 2006), 259-77 และ Anupam Chander and Madhavi Sunder, “The Romance of the Public Domain,” California Law Review 92 (2004), Social Science Research Network, http://ssrn.com/abstract=562301, accessed 1 February 2010.

10โปรดดู Kathy Bowery and Jane Anderson, “The Politics of Global Information Sharing: Whose Cultural Agendas Are Being Advanced?,” Social and Legal Studies 18, no.4 (2009): 1-26; Chander and Sunder, “The Romance of the Public Domain;” Christen, “Gone Digital,” 315-44; and Rosemary Coombe, “The Expanding Purview of Cultural Properties and Their Politics,” Annual Review of Law and Social Sciences 5 (2009): 393-412.

11Johanna Brewer and Paul Dourich, “Storied Spaces: Cultural Accounts of Mobility, Technology, and Environmental Knowing,” International of Human-Computer Studies (2008).

12Alex Byrne, quoted in Elizabeth Edwards, “Talking Visual Histories: Introduction,” in Museums and Sources Communities, 83-99, quote at p. 95.

13 Kimberly Christen, Aboriginal Business: Alliances in a Remote Australian Town (Santa Fe: School of Advanced Research Press, 2009) and Fred Myers, “Ontologies of the Image and Economics of Exchange,” American Ethnologists 31, no.1 (2004): 5-20.

14ตัวอย่างเช่น โปรดดู Ramesh Srinivasan, Jim Enote, Katherine M. Becvar, and Robin Boast, “Critical and Reflective Uses of New Media Technologies in Tribal Museum,” Museum Management and Curatorship, forthcoming; Michael Brown, Who Owns Native Culture? (Cambridge, Mass.: Harvard University Press, 2003); Timothy Powell, “A Drum Speaks: A Partnership to Create a Digital Archive Based on Traditional Ojibwe Systems of Knowledge,” RBM: A Journal of Rare Books, Manuscripts and Cultural Heritage (2007): 167-79.

15โปรดดู Jane Anderson, “Access and Control of Indigenous Knowledge in Libraries and Archives: Ownership and Future Use,” paper presented at Correcting Course: Rebalancing Copyrights for Libraries in the National and International Arena, 5-7 May 2005, Columbia University, N.Y., http://correctingcourse.columbia.edu/program.html, accessed 1 March 2010; Christen, “Archival Challenges and Digital Solutions in Aboriginal Australia,” 21-24; Edwards, “Talking Visual Histories,” 83-99; Geismar, “Photography Changes Who Gets to See Images of Us”; และ Ruth Philips, “Replacing Objects: Historical Practices for the Second Museum Age,” Canadian Historical Review 86, no. 1 (2005): 83-110.

16 Flickr (http://www.flickr.com, accessed 20 September 2010) เป็นเว็บไซต์ที่อำนวยให้ผู้ใช้สามารถนำภาพส่วนบุคคลขึ้น ให้รายละเอียด ให้ความเห็น และเปิดให้ผู้คนเข้าถึงคลังภาพดังกล่าว Omeka (http://www.omeka.org, accessed 20 September 2010) เป็นเครื่องมือของการสร้างนิทรรศการ ที่เชื้อเชิญให้บุคคลและสถาบันใช้รูปแบบพื้นฐาน (template-based sets) ในการสร้างสรรค์นิทรรศการออนไลน์.

17โปรดดูKimberly Christen, “Access and Accountability: The Ecology of Information Sharing in the Digital Age,” Anthropology News (April 2009) 4–5; Kate Hennessy, “Virtual Repatriation and Digital Cultural Heritage,” Anthropology News (April 2009): 5–6; Jane Hunter, Ronald Schroeter, Bevan Koopman, and Michael Henderson, “Using the Semantic Grid to Build Bridges between Museum Communities and Indigenous Communities,” presented at Global Grid Forum: Semantic Grid Applications Workshop, Honolulu, Hawaii, 6–10 June 2004, University of Queensland UQeSpace, http://espace.library.uq.edu.au/view/UQ:7929, accessed 1 February 2010; Heidi Johnson, “Graded Access to Sensitive Materials at the Archive of the Indigenous Languages of Latin America,” Proceedings of the Joint Conference on Digital Libraries (Washington, D.C.: IEEE Computer Society, 2003), 176–78; Powell, “A Drum Speaks,167–79; and Karen J. Underhill, “Protocols for Native American Archival Materials,” RBM: A Journal ofRare Books, Manuscripts, and Cultural Heritage 7, no. 2 (2006): 134–45.

18 Peter Toner, “History, Memory and Music: The Repatriation of Digital Audio to Yolngu Communities, or, Memory as Metadata,” in Researchers, Communities, Institutions, Sound Recordings, ed. Linda Barwick, Allan Marett, Jane Simpson, and Amanda Harris (Sydney, Aus.: University of Sydney, 2003), 14.

19โปรดเข้าชมได้ที่http://plateauportal.wsulibs.wsu.edu/html/ppp/, and the portal’s informational website at http://libarts.wsu.edu/plateaucenter/portalproject/, both accessed 23 September 2010.

20เมื่อ ค.ศ. ๑๙๙๗ มหาวิทยาลัยวิชิงตัน สเตท ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับชนชาติหลายกลุ่มในการ “กระชับความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยและชนเผ่าที่เป็นคู่สัญญาในระดับที่สูงที่สุด และเพื่อเพิ่มจำนวนชนอเมริกันพื้นเมืองและความสำเร็จของผู้ที่เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยวอชิงตันสเตท ผู้อ่านสามารถดูสำเนาบันทึกข้อตกลงได้ที่ http://www.washington.edu/diversity/summit/2008/wsu_MOU.pdf, accessed 20 September 2010.

21 Magia Ghetu Krause and Elizabeth Yakel, “Interaction in Virtual Archives: The Polar Bear Expedition Digital Collections Next Generation Finding Aid,” American Archivist 70 (Fall/Winter 2007): 288.

22โปรดดูMichael Brown, Who Owns Native Culture? (Cambridge, Mass.: Harvard University Press, 2004); Mary Riley, ed., Indigenous Intellectual Property Rights: Legal Obstacles and Innovative Solutions (Walnut Creek, Calif.: AltaMira Press, 2004).

23 Joanne Barker, Introduction, in Sovereignty Matters: Locations of Contestation and Possibility in Indigenous Struggles for Self-Determination (Lincoln: University of Nebraska Press, 2005), 1. See also Jessica Cattelino’s notion of “relational sovereignty” in High Stakes: Florida Seminole Gaming and Sovereignty (Durham, N.C.: Duke University Press, 2008).

24Tressa Berman, “As Long as the Grass Grows,” in Indigenous Intellectual Property Rights.

25โปรดดูMichael Brown, “Sovereignty’s Betrayals,” in Indigenous Experience Today, ed. Marisol de la Cadena and Orin Starn (Oxford, U.K.: Berg, 2007), 171–96; Cattelino, High Stakes; Clifford James, “Varieties of Indigenous Experience: Diasporas, Homelands, Sovereignties,” in Indigenous Experience Today, 197–224; Richard Falk, The Right of Self-Determination under International Law: The Coherence of Doctrine versus the Incoherence of Experience. In Self-Determination and Self-Administration: A Sourcebook (Boulder, Colo.: Lynne Rienner, 1997), 47–63; and Duncan Ivison, Paul Patton, and Will Sanders, “Introduction,” in Political Theory and the Rights of Indigenous Peoples, ed. Duncan Ivison, Paul Patton, and Will Sanders, (Cambridge: Cambridge University Press, 2000), 1–24.

26เว็บไซต์พลาโตพีเพิล(Plateau Peoples’ Web Portal)ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจาก สหภาพวิชาการคอมพิวเตอร์ตะวันตกเฉียงเหนือ (Northwest Academic Computing Consortium) “เห็นพ้องในการสนับสนุน”(๒๐๐๘–๒๐๐๙)และสภาอเมิรกันของการสนับสนุนนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ทางสังคม(American Council of Learned Societies Digital Innovation Fllowship) (๒๐๐๙–๒๐๑๐). ตัวแทนของชนเผ่าทำงานในโครงการประกอบด้วย มาลิสสา มินทอน วินค์ส(Malissa Minthorn Wink)แรนดัล เมลตัน (Randall Melton) และดัลลัส ดิกค์(Dallas Dick) จากสถาบันวัฒนธรรมทามัสท์สลิคต์ สหพันธ์ชนเผ่าในพื้นที่สงวนยูมาทิลลา (Tamastslikt Cultural Institute Confederated Tribes of the Umatilla Indian Reservation) วิเวียน อัมส์(Vivian Adams) และโยเลนา ทิลล์คัวท์ส(Jolena Tillequots) จากห้องสมุดชนชาติยากามา (Yakama Nation library) คิม มาเธอสัน(Kim Matheson) จากกรมภาษาเกอค์ดาเลน(Coeur d’Alene Language Department) ชนเผ่าเกอดาเลน(Coeur d’Alene Tribe)เกนา พีโอน (Gena Peone) และมาร์ชา เวนคุป(Marsha Wynecoop) เผ่าอินเดียนสโปเคน(Spokane Tribe of Indians) และกามีย์ เพลเซนต์ส(Camille Pleasants) กีย์ โมรา(Guy Moura) และอามีลี แม็คคลัง (Amelia McClung) จากสหพันธ์ชนเผ่าในเขตโคลวิลล์(Confederated Tribes of the Colville Reservation) เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๐๑๐ชนเผ่าอินเดียนสโปเคน (Spokane Tribe of Indians) และสหพันธ์ชนเผ่าในเขตสงวนโคลวิลล์ร่วมพัฒนาโครงการเว็บเพจเช่นกัน.

27 Paul Resta, Loriene Roy, Marty Kreipe de Montaño, and Mark Christal, “Digital Repatriation: Virtual Museum Partnerships with Indigenous Peoples,” Proceedings of the International Conference on Computers in Education 2002, 1482.

28โปรดดูColin McCarthy, Exhibiting Maori: A History of Colonial Cultures of Display (Oxford, U.K.: Berg Publishers, 2007); Dommann, “Lost in Tradition?”; Jason Baird Jackson, “Boasian Ethnography and Contemporary Intellectual Property Debates,” Proceedings of the American Philosophical Society 154, no. 1 (2010): 40–49; Barbara Kirshenblatt-Gimblett, “Exhibitionary Complexes,” in Museum Frictions: Public Cultures/Global Transformations (Durham, N.C.: Duke University Press, 2006), 35–45; and Phillips, “Replacing Objects,” 83–110.

29 Edwards, “Talking Visual Histories,” 83.

30 Toner, “History, Memory and Music,” 8.

31มรดกจากระบบการจัดการคลังดิจิทัลรุ่นแรกในการรองรับระบบการจัดการของชนพื้นเมือง.

32โปรแกรมเป็นระบบจัดการทรัพย์สินที่ปรับได้ตามผู้ใช้ โดยพัฒนาบนกองซ้อนของLAMP หรือWAMP สภาพแวดล้อมในการผลิตและการพัฒนาใช้CentOS 5.x Linux Server Operating System, Apache Web server, MySQL ในฐานะฐานข้อมูลและPHPในฐานะภาษาพัฒนาหลัก ส่วนการพัฒนาอินเตอร์เฟสที่เพิ่มขึ้นใช้jQuery.

33ในขณะเดียวกัน ผู้ดูแลเว็บไซต์ของแต่ละกลุ่มชนเผ่าสามารถเพิ่มคำอธิบายของคำที่ใช้ในการกำหนดประเภทข้อมูล เมื่อผู้ดูแลเสร็จสิ้นชั้นตอนดังกล่าว คำอธิบายของคำสำคัญที่ใช้ในการกำหนดข้อมูลจะปรากฏที่หน้าเลือกลำดับที่สอง อันเป็นทางเข้าสู่ข้อมูล.

34ผู้ดูแลเว็บไซต์ชนเผ่าหลายคนในแต่ละชนเผ่า ในฐานะสถาบัน มหาวิทยาลัยวอชิงตันสเตทและหรือศูนย์พลาโต (Plateau Center) ไม่ได้ควบคุมชนเผ่าในการตัดสินใจว่าใครคือผู้ดูแลเว็บไซต์ที่มาจากชนเผ่า ในฐานะชนชาติที่มีอธิปไตย ชนเผ่าต่างๆ มีโครงสร้างการบริหารของตนเองและมีกลไกสำหรับกำหนดตัวแทนในแต่ละโครงการ เราเริ่มโครงการกับตัวแทนจากชนเผ่าที่ได้รับมอบหมายให้ทำงานกับศูนย์พลาโต จากจุดนั้น แต่ละชนเผ่าตัดสินใจด้วยกระบวนการของตนเองในการเลือกวัสดุ เลือกทรัพยากรและตัวแทน รวมทั้งการกำหนดความรู้ของชนเผ่า และอื่นๆ.

35ระบบใช้มาตรฐานนานาชาติดับลินคอร์(Dublin Core metadata) (http://www.dublincore.org) และแนวทางการทำงานคลังเปิดจดหมายเหตุเพื่อการจัดเก็บข้อมูล(Open Archives Initiative, Protocol for Metadata Harvesting) โปรดดูที่http://www.openarchives.org)เพื่อใช้ปฏิบัติการร่วมและการเผยแพร่ ระบบในปัจจุบันใช้เมตาดาตาของส่วนงานเอกสารพิเศษ จดหมายเหตุ และต้นฉบับลายมือ (WSU’s MASC department) ภาพที่มาจากคลังเอกสารดังกล่าวได้รับการแปลงรูปแบบเป็นดิจิทัลที่ความละเอียด 400 dpi 16-bit grayscale, TIFF images;ส่วนผู้ใช้สามารถเข้าถึงสำเนาและการดูภาพที่ชุดภาพเลือก(thumbnails) ในเว็บไซต์พอร์ทัลได้ มีการจัดเก็บคลังภาพดิจิทัลลงเทปด้วยระบบอัตโนมัติ (RAID 5) ทุกสัปดาห์ เทปบันทึกได้รับการจัดเก็บหน่วยเซริฟเวอร์กลางของหน่วยสารสนเทศของมหาวิทยาลัย เอกสารสำเนาสามชุดได้รับการจัดเก็บแยกไว้เพื่อเป็นคลังสำรอง หอสมุดของมหาวิทยาลัยใช้ระบบการทำงานร่วมกับศูนย์พลาโตเพื่ออเมริกันอินเดียนศึกษา (Plateau Center for American Indian Studies) ในการจัดการเอกสารอย่างสม่ำเสมอ.

36ขั้นตอนนี้มีฐานพัฒนามาจากตัวช่วยค้นหาในระดับคอลเลคชั่นที่สร้างขึ้นโดยหน่วยเอกสารพิเศษ จดหมายเหตุ และต้นฉบับลายมือ(MASC)ศูนย์พลาโต(Plateau Center) และพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา เมื่อ ค.ศ. ๒๐๐๘ โปรดดูWSU, Plateau Center for American Indian Studies, “Finding American Indian Collections at WSU,” http://nwda.wsulibs.wsu.edu:8080/plateau/projecthome.html, accessed 28 January 2010.

37ประเภทความรู้ที่เป็นชนเผ่าและประเภทย่อยสามารถปรับเปลี่ยนและเพิ่ม โดยผู้บริหารเว็บไซต์ที่เป็นตัวแทนชนเผ่าแบบปัจจุบันทันด่วน.

38ความเห็นในรูปแบบวีดิโอที่เพิ่มขึ้นในเว็บไซต์ต่อเนื่องกับเอกสารที่ได้รับการแบ่งปันไว้ในเว็บไซต์แล้ว (ไม่ว่าจะเป็นเอกสารของชนเผ่าหรือเอกสารของสถาบัน) จะกลายเป็นส่วนเนื้อหาของฐานข้อมูลเช่นกัน.

39ตัวอย่างเช่น ความสนใจเกี่ยวกับภาพแทนของชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชนที่ไม่ได้รับการกล่าวถึง หรือความสนใจเกี่ยวกับข้อกังขาทางจริยธรรมเกี่ยวกับการฆ่ามนุษย์และเผ่าพันธุ์ที่ยังคงปรากฏในเอกสารบางชิ้น ความเปลี่ยนแปลงในกลยุทธ์การจัดการเมื่อมีการจัดเก็บในระบบอิเล็คทรอนิกส์ “การคัดกรอง” (precustodial intervention) (โปรดดูAdrian Cunningham, “Waiting for the Ghost Train: Strategies for Managing Electronic Personal Records before It Is Too Late,” Archival Issues: Journal of the Midwest Archives Conference 24, no. 1 (1999): 55–64, http://www.mybestdocs.com/cunningham-waiting2.htm, accessed 30 September 2010 นอกจากนี้ ยังมีความต้องการจัดเก็บเอกสารส่วนบุคคลในสื่อสังคมออนไลน์และเทคโนโลยีเว็บ ๒.๐ นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาข้อพึงพิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับชนพื้นถิ่น หอจดหมายเหตุบางแห่งในออสเตรเลียจำกัดการเข้าชมบันทึกภาคสนามและภาพในกรณีที่มันมีเนื้อหาที่อ่อนไหวในทางวัฒนธรรม โดยอาศัยการปรึกษากับตัวแทนของชุมชน.

40 Jane Anderson and Grace Koch, “The Politics of Context: Issues for Law, Researchers and the Creation of Databases,” in Researchers, Communities, Institutions, Sound Recordings; James Boyle, “The Second Enclosure Movement and the Construction of the Public Domain,” Law and Contemporary Problems 66, nos. 1–2 (2003): 33–74; Coombe, “Fear, Hope and Longing for the Future of Authorship;” Lawrence Lessig, Free Culture: How Big Media Uses Technology and the Law to Lock Down Culture and Control Creativity (New York: Penguin Press, 2004).

41โปรดดูMartin Nakata and Marcia Langton, Introduction, in Australian Indigenous Knowledge and Libraries,ed. Martin Nakata and Marcia Langton (Sydney: University of Technology Sydney Press, 2005), 3–7.

42 Laurel Evelyn Dyson, Max Hendriks, and Stephen Grant, Information Technology and Indigenous People(New Jersey: IGI Global Press, 2007), xvi.

43 Joy Hendry, Reclaiming Culture: Indigenous People and Self-Representation (New York: Palgrave Macmillan,2005); Christina Kreps, Liberating Culture: Cross-Cultural Perspectives on Museums, Curation, and HeritagePreservation (London: Routledge, 2003).

44โปรดดูThomas Nesmith, “Reopening Archives: Bringing New Contextualities into Archival Theory and Practice,” Archivaria 60 (2005); and Katie Shilton and Ramesh Srinivasan, “Preserving Empowered Representations: Using Archival Principles to Maintain Context for Cultural Heritage Materials,” Archivaria 63 (2007).

45โปรดดู Randall Jimerson, Archives Power: Memory, Accountability and Social Justice (Chicago: Society of American Archivists), 2009.

Comments are closed.