“การเข้าถึงและควบคุมความรู้เกี่ยวกับชนเผ่าพื้นเมืองในห้องสมุดและหอจดหมายเหตุ:ความเป็นเจ้าของและการใช้ในอนาคต แก้ไขแนวทางปฏิบัติ:ปรับสมดุลลิขสิทธิ์ สำหรับห้องสมุดในเวทีระดับชาติและสากล”

เขียนโดย เจน แอนเดอร์สัน เผยแพร่โดยสมาคมห้องสมุดอเมริกัน (American Library Association) และมูลนิธิแมคอาเธอร์ (MacArthur Foundation) (มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย, นิวยอร์ค, 5-7 พฤษภาคม 2005)

ผลงานฉบับเต็มสามารถเข้าถึงทางออนไลน์ได้ที่
http://www.archiving-performance.org/news-and-views-from-other-shores.html

ในงานเขียนที่เผยแพร่โดยสมาคมห้องสมุดอเมริกัน (American Library Association) และมูลนิธิแมคอาเธอร์ (MacArthur Foundation) (มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย, นิวยอร์ค, 5-7 พฤษภาคม 2005) ชิ้นนี้เป็นของเจน แอนเดอร์สัน (Jane Anderson) นักวิชาการด้านกฎหมายผู้ได้รับปริญญาเอกทางนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนิวเซาธ์เวลส์ผู้มักทำงานที่มุ่งประเด็นไปยังปัญหาเชิงปรัชญาและเชิงปฎิบัติของกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาและการปกป้องความรู้เกี่ยวกับชนเผ่าพื้นเมืองและมรดกทางวัฒนธรรม เธอได้กล่าวถึงปรากฎการณ์ที่ชนพื้นเมืองเริ่มสนใจในการเข้าถึง ควบคุมและเป็นเจ้าของวัตถุทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมภายในห้องสมุดและหอจดหมายเหตุ ไปจนถึงการเติบโตอย่างก้าวหน้าของ “สาธารณชน” พื้นเมือง สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดคำถามถึงรากฐานเกี่ยวกับเหตุและผลในการจัดการห้องสมุดและหอจดหมายเหตุ เธออธิบายกระบวนการที่เปลี่ยนแปลงของการวางตำแหน่งความรู้เกี่ยวกับชนพื้นเมืองในวาทกรรมทรัพย์สินทางปัญญา และตั้งคำถามในมุมมองที่กว้างขึ้นว่าสถาบันด้านวัฒนธรรมจะสามารถพิจารณานโยบายและแนวทางปฏิบัติใหม่เพื่อตอบสนองต่อชนพื้นเมืองผู้เป็นกลุ่มผู้ใช้ใหม่ของวัตถุดังกล่าว และมีส่วนร่วมโดยตรงกับการปรับสมดุลของลิขสิทธิ์เพื่อชนเผ่าพื้นเมืองและชุมชนได้อย่างไร เธอตั้งคำถามผ่านกรณีตัวอย่างจากองค์กรหลักของเธอ ได้แก่สถาบันอะบอริจินและชาวเกาะทอร์เรสสเตรทศึกษาแห่งออสเตรเลีย (Australian Institute of Aboriginal and Torres Strait Islander Studies (AIATSIS)) ซึ่งเป็นที่เก็บรวบรวมวัตถุเกี่ยวกับผู้คนและวิถีชีวิตของชาวอะบอริจินและชาวเกาะทอร์เรสสเตรทที่ใหญ่ที่สุด

ข้อเขียนเริ่มด้วยการเล่าถึงการเดินทางของเพื่อนเจน แอนเดอร์สันนามว่าโจ ผู้เป็นชาวพื้นเมืองจากชุมชนห่างไกลในอาร์เน็มแลนด์ (ทางภาคเหนือของออสเตรเลีย) เขาเดินทางลงมายังแคนเบอร์ราเพื่อเสาะหาร่องรอยของวัตถุทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับชุมชนและเผ่าของเขา นั่นคือเผ่ากุพาพินกุ (Gupapyngu) เมื่อเขาค้นหาจากวัตถุจำนวนมากที่บันทึกไว้ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1920 โดยผู้คนหลากหลาย (เช่นนักมานุษยวิทยา นักโบราณคดี อาจารย์ และมิชชันนารี) ที่เก็บรักษาอยู่ในสถาบันวัฒนธรรมหลายแห่ง เขาก็พบภาพยนตร์ซึ่งบันทึกนักมานุษยวิทยาในทศวรรษที่ 1950 ซึ่งมีภาพของดจาวาพ่อของเขาซึ่งเป็นอดีตผู้นำอาวุโสของชาวกุพาพินกุอยู่ ในขณะที่เขากำลังสอนเด็กสองสามคนในเผ่าให้ประกอบพิธีกรรมสำคัญอยู่ เจน แอนเดอร์สันชี้ให้เห็นทันทีว่าภาพยนตร์ที่เก็บรักษาอยู่ในสกรีนซาวนด์ออสเตรเลีย (Screensound Australia – หอจดหมายเหตุแห่งชาติออสเตรเลียสำหรับเสียงและภาพยนตร์ [ผู้แปล]) ชิ้นนี้ไม่ได้เป็นของโจ ของพ่อเขา หรือของชุมชนเขา และในขณะนั้นโจก็พยายามโน้มน้าวอย่างยาวนานให้บรรณารักษ์และนักจดหมายเหตุช่วยเขาค้นหาและส่งคืนวัตถุทั้งหมดเกี่ยวกับชาวกุพาพันกุให้ชุมชนในรูปแบบวัตถุดิจิทัล จากสถานการณ์ดังกล่าว เจน แอนเดอร์สันอธิบายว่าปัญหาและความท้าทายหลักที่สถาบันเก็บรักษาวัตถุในออสเตรเลียและที่อื่นๆ กำลังเผชิญหน้าอยู่นั้นมักจะเกี่ยวกับประเด็นเรื่องความเป็นเจ้าของและการเข้าถึงวัตถุทางวัฒนธรรมชนเผ่าพื้นเมือง นั่นคือในกรณีส่วนใหญ่ชนเผ่าพื้นเมืองไม่ใช่ผู้ถือครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมายของวัตถุนั้น และไม่สามารถควบคุมวิธีการใช้และเข้าถึงมันได้ ปัญหานี้ยิ่งยุ่งยากขึ้นเนื่องจากวัตถุจำนวนมาก (ไม่ว่าจะเป็นบันทึกเสียง ภาพถ่าย ภาพยนตร์ ต้นฉบับ รวมถึงรายชื่อและรายการสิ่งของที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ) ได้เข้าไปอยู่ในคลังทรัพย์สินทางปัญญาสาธารณะ (public domain) แล้ว

ผลก็คือความสนใจที่ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมาของชนพื้นเมืองที่มีต่อวัตถุทางวัฒนธรรมในห้องสมุดและหอจดหมายเหตุได้นำไปสู่การตั้งคำถามต่อแนวคิดทางกฎหมายเกี่ยวกับความเป็นผู้สร้างและความเป็นเจ้าของ รวมถึงแนวคิดเรื่องความเป็นสาธารณะ ที่อยู่ใจกลางวิธีการจัดการก่อนๆ ที่สถาบันทางวัฒนธรรมส่วนมากใช้กันมาจนถึงทุกวันนี้ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้จำเป็นต้องพิจารณาเหตุและผลในการเข้าถึงและควบคุมข้อมูลเสียใหม่ เนื่องจาก “ปัจจุบันเราอยู่ในพื้นที่ร่วมสมัยที่ต้องรับรู้ถึง ‘สาธารณชน’ พื้นเมืองทั้งที่มีขึ้นมาแล้วและกำลังจะมีขึ้น เมื่อผู้เป็นหัวข้อทางประวัติศาสตร์ของจดหมายเหตุอาณานิคมได้กลายมาเป็นผู้ใช้กลุ่มใหม่ของจดหมายเหตุ ก็ย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีข้อท้าทายในเรื่องการแสดงภาพตัวแทน การเข้าถึง การควบคุม และการเป็นเจ้าของ (…) การตีความวัตถุภายในห้องสมุดและหอจดหมายเหตุใหม่ของผู้เป็นหัวข้อทางประวัติศาสตร์ของโครงการอาณานิคมนั้น นอกจากจะมีผลต่อความเข้าใจในตัววัตถุเองแล้ว ยังมีผลต่อวิธีที่ห้องสมุดและหอจดหมายเหตุตอบสนองต่อความต้องการของชนพื้นเมืองในการเข้าถึง การควบคุม ความเป็นเจ้าของ และการใช้ในอนาคตอีกด้วย” การเข้าหาความเปลี่ยนแปลงในแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับจดหมายเหตุนั้นยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นไปอีกเมื่อมีความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัลร่วมสมัยเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งนั่นทำให้เกิดคำถามใหม่ๆ เกี่ยวกับกฎหมายลิขสิทธิ์ และก่อให้เกิดผลกระทบลึกซึ้งต่อความสัมพันธ์ของชุมชนชาวเผ่าพื้นเมืองที่มีต่อสถาบันทางวัฒนธรรม ผ่านรายละเอียดที่เติบโตขึ้นของแนวคิดเรื่องหอจดหมายเหตุดิจิทัลที่ได้พัฒนามาอย่างน้อยสิบปีแล้ว

ตามที่เจน แอนเดอร์สันได้กล่าวไว้ ชนพื้นเมืองได้กลายมาเป็นผู้ใช้หลักของหอจดหมายเหตุของสถาบันอะบอริจินและชาวเกาะทอร์เรสสเตรทศึกษาแห่งออสเตรเลีย เกิดเป็นสาธารณชนพื้นเมืองในเวลาสิบสี่ปีที่ผ่านมา (ในทศวรรษ 1990 มีผู้ใช้ห้องสมุดเพียงร้อยละ 1 เท่านั้นที่เป็นชาวอะบอริจินและชาวเกาะทอร์เรสสเตรท แต่ในปัจจุบันจำนวนนั้นได้เพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 75) การเปลี่ยนแปลงนี้มีที่มาจากกระบวนการแปรเปลี่ยนในวงกว้าง และมักเกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงหลักสามประการเกี่ยวกับสถานการณ์ของชนพื้นเมืองที่มีขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว ได้แก่การขยายสิทธิในที่ดินและกรรมสิทธิ์ของชนพื้นเมือง การมองเห็นปัญหาของ “คนรุ่นที่ถูกลักพาตัว” (stolen generations – เป็นคำใช้เรียกนโยบายรัฐบาลระหว่างปี 1910 ถึง 1970 ที่ให้แยกลูกของชนเผ่าพื้นเมืองออกจากพ่อแม่ [ผู้แปล]) และความสนใจที่มากขึ้นในการรื้อฟื้นภาษาพื้นเมือง งานชิ้นนี้เน้นย้ำถึงความต้องการเร่งด่วนของแนวคิดและวิธีปฏิบัติสำหรับความสัมพันธ์และการจัดการข้อมูลแบบใหม่ระหว่างชุมชนเผ่าพื้นเมืองและสถาบันวัฒนธรรม เช่น “เราสามารถตีความการใช้และการเข้าถึงวัตถุอย่างชอบธรรมด้วยบรรทัดฐานปกติในบริบทของความรู้และคติชาวบ้านของชนเผ่าพื้นเมืองได้หรือไม่? หรือเราต้องพิจารณาความต้องการของชนเผ่าพื้นเมืองใหม่ว่าก่อให้เกิดการตีความแบบอื่นๆ ว่าอะไรบ้างที่ต้องพบความเสี่ยงในการแพร่กระจายของข้อมูล ห้องสมุดและหอจดหมายเหตุสามารถตอบสนองต่อชนเผ่าพื้นเมืองในฐานะกลุ่มผู้ใช้ใหม่ได้อย่างไร?” สถาบันทางวัฒนธรรมต้องเผชิญกับคำถามด้านจรรยาบรรณอันละเอียดอ่อนเกี่ยวกับการเซ็นเซอร์และข้อมูลที่เป็นความลับ ในประเด็นว่าใครบ้างที่สามารถเข้าถึงวัตถุทางวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองบางประเภทได้ หรืออีกนัยหนึ่งคือ ใครมีสิทธิที่จะได้เห็นมันบ้าง เพราะแน่นอนว่า “วัตถุวัฒนธรรมชนเผ่าพื้นเมืองบางอย่างอาจจะก่อความขุ่นเคืองและไม่เหมาะสม และมีคำถามเรื่องความเป็นส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง” ตัวอย่างเช่น “ในบางชุมชนในออสเตรเลีย ภาพถ่ายของชาวอะบอริจินที่เสียชีวิตไปแล้วอาจก่อให้เกิดความขุ่นเคืองใจ” หรือในทางเดียวกัน “บันทึกภาพเคลื่อนไหวของพิธีกรรมนั้นจะให้รับชมได้เฉพาะเผ่าหนึ่งในชุมชนเท่านั้น และไม่ให้เผยแพร่” งานเขียนนี้เน้นย้ำความสำคัญของข้อพิจารณาทางจรรยาบรรณในกระบวนการปรับสมดุลสิทธิการเข้าถึงและควบคุมให้แก่ชนเผ่าพื้นเมือง เจน แอนเดอร์สันยกตัวอย่างจากประสบการณ์ตรงของตนในการทำงานในประเด็นเฉพาะด้านลิขสิทธิ์กับเอไอเอทีเอสไอเอส และเสนอว่าวัตถุที่ละเอียดอ่อนและจัดการด้วยยากที่สุดในเรื่องการเข้าถึงและควบคุมของชนเผ่าพื้นเมืองและเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์ได้แก่ภาพยนตร์ บันทึกเสียง และภาพถ่าย เนื่องจากวัตถุเหล่านั้นจำนวนมากไม่ได้รับการเผยแพร่ ดังนั้นจึงมีลิขสิทธิ์ที่เหมือนจะไม่มีวันหมดอายุ และเจ้าของลิขสิทธิ์โดยมากแล้วจะเป็นผู้ที่ทำการบันทึกสื่อเหล่านั้น

งานชิ้นนี้ชี้ถึงความจำเป็นในการมองประวัติศาสตร์ในการถกเถียงประเด็นเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของมรดกทางวัฒนธรรมชนพื้นเมือง โดยต้องพิจารณาว่าปัญหาเหล่านี้มีต้นกำเนิดจากโครงการของเจ้าอาณานิคมที่ได้บันทึกความเป็นอยู่ ภาษา วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อจะได้มองเห็นการเมืองในการเก็บสะสมสิ่งที่เกี่ยวกับชนพื้นเมือง เห็นร่องรอยของเงื่อนไขทางประวัติที่ทำให้เกิดการเก็บบันทึกวัตถุทางวัฒนธรรมของชนพื้นเมือง และได้สำรวจประเด็นการวิพากษ์วิจารณ์หลากหลายประเด็นที่เผยให้เห็นความตึงเครียดระหว่างขอบข่ายทางกฎหมายที่ฝังอยู่ในวิถีปฏิบัติของการเก็บจดหมายเหตุในประวัติศาสตร์กับสิทธิและผลประโยชน์ของชนเผ่าพื้นเมือง เช่น “ประวัติศาสตร์อันซับซ้อนของการสะสมและฝากวัตถุทางวัฒนธรรม” “ใครเป็นตัวแทนและ/หรือ ‘เป็นเจ้าของ’ วัตถุทางวัฒนธรรมเมื่อผู้สร้างได้เสียชีวิตแล้วและวัตถุนั้นอาจเข้าไปอยู่ในคลังทรัพย์สินทางปัญญาสาธารณะ” “ความสัมพันธ์ที่แปรเปลี่ยนไประหว่างสิ่งที่เป็นความลับและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในชุมชนเผ่าพื้นเมือง และผลกระทบที่มีต่อการเข้าถึงได้” “การแบ่งแยกเพศสภาพในการเข้าถึงความรู้” และสุดท้าย “ธรรมชาติของการเจรจาต่อรองระหว่างชนเผ่าพื้นเมืองและนักวิจัยในการสร้างและใช้ความรู้” นอกจากนี้งานชิ้นดังกล่าวยังเน้นถึงปัญหาที่ยังแก้ไม่ได้ของกระบวนการปัจจุบันในการกำหนดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะผ่านการกล่าวถึงความยากลำบากทางประวัติศาสตร์ในการให้ความชอบธรรมแก่สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับมรดกทางวัฒนธรรมที่โดยเนื้อแท้แล้วจับต้องไม่ได้ และผ่านการย้ำเตือนว่าในบางครั้งกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาก็ถูกตัดสินว่าไม่เหมาะสำหรับการปกป้องความรู้เกี่ยวกับชนเผ่าพื้นเมืองเนื่องจากไม่ได้ให้ความสำคัญมากพอแก่มิติของบูรณภาพของวัฒนธรรมและปัญหาของการอนุรักษ์ ซึ่งล้วนเป็นมิติที่สำคัญเป็นพิเศษสำหรับชุมชนเผ่าพื้นเมือง จากนั้นเจน แอนเดอร์สันก็วิจารณ์วิธีที่กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาอาจ “ตัดแบ่ง” ความรู้บางรูปแบบอย่างผิดๆ และปฏิเสธธรรมชาติที่มีวิวัฒนาการของบริบทวัฒนธรรมชนพื้นเมืองโดยการสุ่มขีดเส้นแบ่งขั้วความรู้ของชนเผ่าพื้นเมืองและ “ความรู้ของชาวตะวันตก” ตรงกันข้ามเธอยืนยันให้เน้นไปที่ความซับซ้อน ความแทรกซึม และความซ้อนทับของความรู้ทุกรูปแบบ และชวนให้คิดวิพากษ์ต่อคำถามที่ว่า “ผลของการแบ่งขั้วที่มักเกิดขึ้นระหว่างความรู้ของชาวเผ่าพื้นเมืองและ ‘ความรู้ของชาวตะวันตก’ เกิดขึ้นผ่านเครือข่ายของอำนาจอย่างไร” เธอวิพากษ์วิธีที่บางครั้งความรู้ของชนเผ่าพื้นเมืองมีค่าเท่ากับ “ความรู้โบราณ” เนื่องจาก “การเน้นส่วนที่ ‘โบราณ’ ของความรู้ชนเผ่าพื้นเมืองนั้นทำให้ง่ายต่อการมองว่ามีความแตกต่างระหว่างความรู้ชนเผ่าพื้นเมืองและความรู้ตะวันตกท่ประสานกันไม่ได้อยู่ และมันก็กระทบถึงความรับรู้และเข้าใจในทางกฎหมายต่อความรู้ชนพื้นเมืองอย่างมีนัยยะสำคัญ (…) การย้ำถึงความ ‘โบราณ’ ในฐานะเครื่องหมายของความแตกต่างนั้นบดบังทั้งกิจวัตรร่วมสมัยของชนพื้นเมืองและความจริงที่ว่าความรู้ของชนพื้นเมืองก็เหมือนความรู้อื่นๆ ที่เปลี่ยนแปลงผ่านการใช้และการแพร่กระจาย (…) แนวคิดเรื่อง ‘วัฒนธรรมโบราณ’ นั้นให้ภาพของวัฒนธรรม ประสบการณ์และชุมชนของชนเผ่าพื้นเมืองที่โรแมนติกเกินจริง”

สุดท้ายบทความได้แสดงกรณีตัวอย่างสามกรณีจากห้องสมุด หอจดหมายเหตุ และสถาบันเก็บรักษาวัตถุในออสเตรเลีย เพื่อให้เห็นภาพความต้องการอันซับซ้อนที่มีต่อวัตถุเกี่ยวกับวัฒนธรรมชนพื้นเมืองบางประเภท และประเด็นเรื่องคลังทรัพย์สินทางปัญญาสาธารณะ การใช้ที่ชอบธรรม และลิขสิทธิ์ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสถานการณ์ซับซ้อนที่เกิดขึ้นจากการที่กลุ่มนักชาติพันธุ์วรรณากลุ่มหนึ่งได้เดินทางไปยังภาคกลางของออสเตรเลียในทศวรรษ 1970 เพื่อบันทึกเนื้อหาเกี่ยวกับชาวพิทจันทจัทจารา (Pitjantjatjara) และบันทึกภาพเคลื่อนไหวของพิธีกรรมที่เรียกว่า “พิธีกรรมรงแดง” (Red Ochre Ceremony) ซึ่ง “น่าจะเป็นพิธีกรรมที่เป็นความลับและจำกัดที่สุดของวัฒนธรรมอะบอริจินในภาคกลางของออสเตรเลีย” ร่องรอยของวัตถุภาพยนตร์ที่เป็นประเด็นอ่อนไหวนี้ปัจจุบันอยู่ในห้องปิดล็อคที่สถาบันอะบอริจินและชาวเกาะทอร์เรสสเตรทศึกษาแห่งออสเตรเลีย และแม้ว่าชายอาวุโสชาวพิทจันทจัทจาราจะรับรู้ถึงการมีอยู่ของมันเมื่อเร็วๆ นี้ และมีผู้แทนมาขอดูวัตถุดังกล่าวและทำสำเนาเพื่อที่พวกเขาจะได้จัดการกับเนื้อหาภาพนี้ในรูปแบบดิจิทัลตามกฎในการเข้าถึงของพวกเขาเอง เจ้าของลิขสิทธิ์ก็ไม่อนุญาตให้มีการผลิตซ้ำวัตถุนี้ในรูปแบบดิจิทัล เป็นผลให้เจน แอนเดอร์สันยืนยันว่า “เอไอเอทีเอสไอเอสตกที่นั่งลำบากในเรื่องความรับผิดชอบต่อชุมชนพื้นเมือง เจ้าของลิขสิทธิ์ และกฎหมายลิขสิทธิ์” ซึ่งเป็นสถานการณ์ซับซ้อนที่คล้ายคลึงกับที่สถาบันวัฒนธรรมในประเทศอื่นๆ ก็พบเจอ อย่างไรก็ตาม บทความนี้จบลงด้วยการยืนยันว่าแม้ว่าความยุ่งยากเหล่านี้จะมีผลกระทบต่อการทำงานของห้องสมุดและหอจดหมายเหตุ “ออสเตรเลียก็ได้มีความก้าวหน้าในการยอมรับสิทธิที่ชนเผ่าพื้นเมืองคาดหวังเกี่ยวกับวัตถุทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับพวกเขา โดยเฉพาะผ่านการพัฒนาระเบียบการเพื่อจัดการวัตถุทางวัฒนธรรมชนพื้นเมือง และมุ่งความสนใจไปยังประเด็นทางจรรยาบรรณที่อาจมีขึ้น” … แม้ว่าการเข้าถึงและเป็นเจ้าของวัตถุทางวัฒนธรรมโดยชาวเผ่าพื้นเมืองยังจะเป็นความท้าทายประจำวันทั้งในออสเตรเลียและในที่อื่นๆ ก็ตาม

Comments are closed.