การบรรยายครั้งที่ 8: “การวิจัยและการสร้างเอกสารมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้”

โดย ดร. เคท เฮนเนสซี, วิทยาลัยศิลปและเทคโนโลยีเชิงปฏิสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยไซมอนเฟรเซอร์ ณ เซอร์เรย์ บริติชโคลัมเบีย
สรุปโดย ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ/ บรรณาธิการโดย อเล็กซานดรา เดนีส
“การวิจัยและการสร้างเอกสารมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” โดย ดร. เคท เฮนเนสซี, วิทยาลัยศิลปะและเทคโนโลยีเชิงปฏิสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยไซมอนเฟรเซอร์ ณ เซอร์เรย์ บริติชโคลัมเบีย จาก กุมภาพันธ์ 2012. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. คลังความรู้ด้านมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้และพิพิธภัณฑ์.

เข้าถึงทางออนไลน์ได้ที่

https://www.sac.or.th/databases/ichlearningresources/images/Lecture8-Eng-Final.pdf

วันที่บรรยาย 27 สิงหาคม 2010

ในการบรรยายครั้งนี้ เฮนเนสซีได้ตั้งคำถามสำคัญจำนวนหนึ่งเพื่อการอภิปราย (1) มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้รูปแบบใดสมควรได้รับการศึกษาวิจัยและบันทึกไว้? (2) ชุมชนควรจะมีส่วนร่วมอย่างไรกับกระบวนการ (3) เราควรจะรวบรวมข้อมูลแบบใดของมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (4) การบันทึกจะสะท้อนเสียงและมุมมองที่หลากหลายของท้องถิ่นได้อย่างไร (5) เราจะเลือกสื่อที่ใช้บันทึกมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้อย่างเหมาะสมได้อย่างไร และ (6) ก่อนจะทำการบันทึกควรจะมีการอนุญาติอย่างไรบ้างและการอนุญาติเหล่านี้ควรจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาอย่างไร?

ในการตอบคำถามเหล่านี้ เฮนเนสซีเสนอสามกรณีศึกษาของการมีส่วนร่วมของชุมชนในการวิจัยและบันทึกมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (1) โครงการส่งคืนความรู้ใช้ชาวอินูไวอาลูอิทที่สถาบันสมิธโซเนี่ยน (2) โครงการบันทึกภาษาใกล้สูญหายที่สถาบันมักซ์ พลังค์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ และ (3) เรื่องราวและบทเพลงของชาวเดนวาจิช-เดนซ่า: นักฝันและดินแดนของชนชาติแรกแห่งแม่น้ำโดอิก

1.0 ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับการใช้สื่อในการบันทึกมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

เฮนเนสซีแสดงให้เราเห็นว่าการบันทึกภาพวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้นั้นได้รับผลกระทบจากสิทธิเชิงวัฒนธรรมโดยการยกตัวอย่างจากเทศการเต้นรำที่พิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยาที่แวนคูเวอร์ ที่ประดูทางเข้าพื้นที่การแสดงมีป้ายห้ามถ่ายภาพหรือถ่ายวีดีโอ ข้อห้ามเดียวกันนี้ปรากฏในระเบียบปฏิบัติทางวัฒนธรรมของเหล่านักแสดงชนชาติแรกที่เชื่อว่าเครื่องประดับที่พวกเขาใส่และการเต้นรำของพวกเขานั้นเป็นทรัพย์สินทางวัฒนธรรมของพวกเขา ซึ่งนั่นหมายความว่าผู้อื่นไม่ควรจะบันทึกภาพมันไว้ นี่เป็นคำถามที่ทั้งผู้เก็บรักษามรดกทางวัฒนธรรมและนักวิจัยต้องเผชิญในบริบทที่พวกเขาต้องวิจัยและบันทึกมรดกทางวัฒนธรรม นี่หมายความว่าพวกเขาต้องตกลงกับเจ้าของวัฒนธรรมว่าเมื่อใดจึงจะเป็นเวลาที่เหมาะสมในการบันทึกกิจกรรมทางวัฒนธรรม ในอีกแง่หนึ่งแล้ว มันก็เป็นความรับผิดชอบทางจริยธรรมของผู้ที่ทำงานด้านนี้ที่จะต้องเคารพระเบียบปฏิบัติเชิงวัฒนธรรมของเหล่าเจ้าของวัฒนธรรม

ประเด็นที่เกี่ยวข้องประเด็นที่สองคือประเด็นเรื่องความยินยอม เมื่อผู้ทำงานด้านมรดกทางวัฒนธรรมทำวิจัยโดยมีการบันทึกเป็นส่วนหนึ่งของการวิจัย พวกเขาควรจะบอกเจ้าของวัฒนธรรมถึงเหตุผลในการบันทึกกิจกรรมทางวัฒนธรรมและขออนุญาตบันทึกกิจกรรมทางวัฒนธรรม ผู้วิจัยควรจะขอคำอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรหรือคำอนุญาตแบบปากเปล่าก็ได้ ขึ้นอยู่กับรูปแบบที่เหมาะสมในบริบททางวัฒนธรรมนั้นๆ

ประเด็นที่เกี่ยวของประเด็นที่สามที่ผู้ทำงานด้านมรดกทางวัฒนธรรมต้องตระหนักก็คือการทำสำเนา ในยุคปัจจุบัน เทคโนโลยีดิจิทัลเปิดโอกาสให้เราสร้างสำเนาเอกสารอย่างมหาศาล ทันใดนั้น นักวิจัยก็ต้องเผชิญกับปัญหาการควบคุมสำเนา นักวิจัยจะมีส่วนในการบันทึกและคุ้มครองควบคุมมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ไปจนถึงการบริการเอกสารดิจิทัลอย่างไรที่จะมั่นใจใด้ว่าเทคโนโลยีใหม่นี้จะไม่ลดทอนมูลค่าของมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้?

ประเด็นที่สี่นั้นเกี่ยวกับการฉวยเอาการแสดงออกทางวัฒนธรรมมาใช้ในเชิงพาณิชย์ ตัวอย่างหนึ่งของกรณีนี้ได้แก่การที่อุตสาหกรรมดนตรีร่วมสมัยได้ฉวยเอาบทพระพันธ์เพลงพื้นบ้านพื้นเมืองมาใช้ในเพลงใหม่ที่เป็นไปเพื่อผลกำไรและมีลิขสิทธิ์ เฮนเนสซียกตัวอย่างบทเพลงสมัยนิยมนาม “El Condor Pasa” ของวงดนตรีอเมริกันอย่างไซมอนแอนด์การ์ฟังเคลซึ่งแต่งขึ้นมาโดยใช้ทำนองเพลงพื้นเมืองแถบเทือกเขาแอนดีส เพื่อเป็นการตอบโต้การกระทำนี้รัฐบาลโบลิเวียได้แก้สนธิสัญญาลิขสิทธิ์สากลเพื่อเพิ่มระเบียบปฏิบัติในการปกป้องศิลปะพื้นบ้านพื้นเมืองและการสืบทอดวัฒนธรรมของชาติ1 กรณีนี้นำไปสู่ข้อถกเถียงนานาชาติเรื่องทรัพย์สินเชิงวัฒนธรรมและทรัพย์สินทางปัญญา นี่นำไปสู่คำถามเชิงวิพากษ์ว่าผู้ทำงานด้านมรดกเชิงวัฒนธรรมจะจำกัดการใช้วัตถุดิบทางวัฒนธรรมที่สะสมมาเพื่อการวิจัยและบันทึก และป้องกันการที่วัตถุดิบเหล่านี้จะถูกนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้หรือไม่?

เพื่อที่จะตอบประเด็นพิจารณาทั้งสี่ เฮนเนสซียืนยันว่าการรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ต้องพึ่งพาการมีส่วนร่วมของชุมขน เจ้าของมรดกทางวัฒนธรรมต้องมีบทบาทสำคัญตลอดกระบวนการ ไม่ว่าจะเป็นการรักษาและส่งมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ไปสู่คนรุ่นต่อไป

2.0 กรณีศึกษางานวิจัยและการบันทึกมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

2.1 โครงการส่งคืนความรู้ใช้ชาวอินูไวอาลูอิท2

โครงการส่งคืนความรู้ใช้ชาวอินูไวอาลูอิท: คลังสะสมของแมคฟาร์เลนเป็นโครงการร่วมระหว่าง ดร. นาตาชา ลีออนส์ ศูนย์ทรัพยากรอินูไวอาลูอิท สมาคมการสื่อสารอินูไวลูอิท พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งชาติของสถาบันสมิธโซเนี่ยน และโครงการทรัพย์สินทางปัญญาด้านมรดกทางวัฒนธรรมที่มหาวิทยาลัยไซมอนเฟรเซอร์ เป้าหมายของโครงการนี้มีดังนี้

  • เพื่อที่จะรวบรวมสมาชิกชุมชนอินูไวอาลูอิท3ให้สามารถเข้าถึงวัตถุต่างๆ ที่ถูกเก็บมาจากถิ่นพำนักของพวกเขา เพื่อที่จะสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกชุมชน นักวิจัย และภัณฑรักษ์ของสถาบันสมิธโซเนี่ยน
  • เพื่อเชื่อมโยงความรู้เชิงวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้เข้ากับวัฒนธรรมเชิงวัตถุอีกครั้ง
  • เพื่อบันทึกความรู้ที่จับต้องไม่ได้
  • เพื่อนำความรู้กลับคืนสู่ชุมชนอินูไวอาลูอิท

บรรดาวัตถุในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งชาติของสถาบันสมิธโซเนี่ยนถูกเก็บมาจากชุมชนต่างๆ กันในพื้นที่ซึ่งทุกวันนี้รู้จักกันในนามพื้นที่ตั้งถิ่นฐานของชาวอินูไวอาลูอิท ในขณะที่วัตถุเหล่านี้ได้รับการเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี แต่พวกมันก็ห่างไกลจากชุมชนที่เป็นต้นกำเนิดมันมาก เป้าหมายหลักของโครงการนี้คือการนำสมาชิกชุมชนที่เป็นแหล่งกำเนิดของสิ่งของเหล่านี้มายังสถาบันสมิธโซเนี่ยนเพื่อที่พวกเขาจะได้มีโอกาสสัมผัสวัตถุของบรรพบุรุษของพวกเขา นี่เป็นโอกาสจะจุดประกายความทรงจำของผู้คนอีกครั้งและดลบันดาลให้พวกเขาพูดคุยกันเกี่ยวกับความหมายที่จับต้องไม่ได้และคุณค่าของวัตถุเหล่านี้ดังที่คริสตินา เครปส์เคยกล่าวไว้ครั้งหนึ่งว่า

“วัตถุเหล่านี้เป็นตัวแทนของจารีต ความคิด ประเพณี ความสัมพันธ์ทางสังคมที่มีความสำคัญ อันที่จริงแล้วเรื่องราวที่วัตถุเหล่านี้บอกเล่า พิธีกรรมที่วัตถุเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนด้วยกันและระหว่างผู้คนกับพื้นที่ต่างๆ มีความสำคัญกว่าตัววัตถุเหล่านี้เองด้วยซ้ำ”

แน่นอนว่าวัตถุเหล่านี้มีความสำคัญมาก แต่ความรู้ที่รายล้อมพวกมันอยู่ต่างหากที่ต้องได้รับการบันทึกไว้เพื่อที่เราจะมั่นใจได้ว่าจะมีการส่งผ่านมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้สู่คนรุ่นใหม่ไปเรื่อยๆ สืบไปดังนั้นสำหรับโครงการนี้ ก็จึงมีการนำทีมสื่อมาบันทึกสิ่งที่ผู้คนได้กล่าวเอาไว้ และไปจนถึงบันทึกการปฏิสัมพันธ์กับวัตถุของพวกเขา

เฮนเนสซีแสดงภาพกิจกรรมต่างๆ ออกมา อัลเบิร์ต อีเลียสหนึ่งในผู้เข้าร่วมชาวอินูไวอาลูอิทได้แบ่งปันความทรงจำของเขาเกี่ยวกับหอกและวิถีการใช้หอกของผู้คนเมื่อครั้งเขายังเด็ก เชนีสัมภาษณ์เจมส์ โพเคียค นักล่าหมีขั้วโลกผู้มีชื่อเสียงซึ่งเป็นลุงของเธอเอง เขาเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับหอกและวัตถุสารพัดที่ใช้ในการล่า ฟรีดา แรดดี ผู้มีทักษาด้านการเย็บปักถักร้อยเป็นลายต่างๆ ก็ศึกษาบทความเกี่ยวกับเสื้อผ้าเพื่อจะสร้างลายต่างๆ เธอได้วาดลายของวัตถุต่างๆ ในคลังลงบนกระดาษเพราะเธอสนใจการส่งผ่านมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้โดยการนำลายเหล่านี้กลับมาที่บ้านเกิด4 การบันทึกทั้งหมดล้วนอยู่ในสื่อที่ผู้เข้าร่วมสามารถนำกลับมาสู่ชุมชนได้ทั้งสิ้น และบันทึกบางส่วนก็สามารถเข้าถึงได้แบบออนไลน์ด้วย (IPinCH Community-based Initiative Spotlight: The Inuvialuit Living History Project)

2.2 โครงการบันทึกภาษาใกล้สูญหายที่สถาบันมักซ์ พลังค์ ประเทศเนเธอร์แลนด์

สถาบันมักซ์ พลังค์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ได้ริเริ่มโครงการบันทึกภาษาใกล้สูญหาย5ขึ้นและโครงการนี้ก็ได้รับการสนับสนุนโดยมูลนิธิโวล์ควาเกนแห่งประเทศเยอรมัน เป้าหมายของครองการเป็นไปเพื่อบันทึกภาษาที่ใกล้สูญหายเอาไว้ มีการส่งทีมนักวิจัยกว่า 50 คนไปยังส่วนต่างๆ ของโลกเพื่อที่จะบันทึกภาษาในฐานะของมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ นี่รวมถึงจารีตแบบมุขปาฐะ เรื่องเล่าส่วนตัว กิจกรรมตามประเพณี และกิจกรรมทางสังคม พวกเขาใช้สื่อที่หลากหลายในการบันทึกสิ่งที่พวกเขาค้นพบตามความเหมาะสม นอกเหนือจากนี้ พวกเขายังได้รับอนุญาตจากผู้คนที่พวกเขาทำงานอยู่ด้วยในเวลาที่พวกเขาทำการบันทึก และเหนือไปกว่านั้น พวกเขายังเก็บข้อมูลจำนวนมากเกี่ยวกับบริบทของการบันทึกมาอีกด้วย

บันทึกเหล่านี้ถูกส่งไปที่สถาบันมักซ์ พลังค์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ และมันก็จะเป็นวัตถุดิบของการศึกษาเปรียบเทียบต่อไป เฮนเนสซีเป็นหนึ่งในทีมวิจัย และเธอก็ทำการบันทึกในพื้นที่ตะวันตกเฉียงเหนือของแคนาดา

2.3 เรื่องราวและบทเพลงของชาวเดนวาจิช-เดนซ่า: นักฝันและดินแดนของชนชาติแรกแห่งแม่น้ำโดอิก6

โครงการเรื่องราวและบทเพลงของชาวเดนวาจิช-เดนซ่าเป็นโครงการด้านสื่อที่มีฐานหลักในชุมชนที่มีเป้าหมายและกิจกรรมดังนี้

  • วิจัยและบันทึกมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ผ่านการสร้างสื่อในชุมชนแบบมีส่วนร่วม
  • สร้างการมีส่วนร่วมของเยาวชนผ่านการฝึกสอนการบันทึกวีดีโอ
  • เปิดให้ชุมชนให้คำปรึกษาจากตั้งแต่เริ่มโครงการไปจนถึงของกระบวนการโพสต์โปรดัคชั่นอีกสองปี
  • พัฒนากระบวนการอนุญาตโดยร่วมมือกับสภาเผ่า
  • ใช้วัฒนธรรมเชิงวัตถุที่ชุมชนเลือกมาเพื่อที่จะระบุมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้
  • บันทึกจารีตแบบมุขปาฐะ ประวัติศาสตร์พื้นที่ ผลของน้ำมันและแก๊ส
  • ส่งผ่านมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ผ่านกระบวนการในชุมชนและพัฒนาการหลักสูตรโรงเรียน
  • ทำให้สาธารณะชนเข้าถึงข้อมูลได้แบบออนไลน์

โครงการนี้แสดงให้เห็นถึงมุมมองแบบองค์รวมเกียวกับมรดกทางวัฒนธรรมและวัฒนธรรมที่มีชีวิต และเรื่องราวจำนวนมากก็นำเสนอเรื่องราวแย้งที่ท้าทายสิทธิอำนาจของอุตสาหกรรมน้ำมันและแก๊สไปจนถึงเรื่องราวแบบอาณานิคมเกี่ยวกับภูมิภาคนี้ ในแคนาดา ชนเพื้นเมืองอยู่ใต้อาณานิคมของพวกอังกฤษ ชนพื้นเมืองประสบความยากลำบากมากและพวกเขาก็ยังคงต่อสู้กับผลของการเลือกปฏิบัติและการเหยียดเชื้อชาติ นโยบายอาณานิคมบางนโยบายได้บีบบังคับให้คนพื้นเมืองต้องออกไปจากบ้านเกิดเพื่อที่จะไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนที่จัดไว้ให้ และพวกเขาก็ไม่ได้รับอนุญาตให้พูดภาษาพื้นเมืองในโรงเรียน

โครงการนี้ได้นำเยาวชนและผู้อาวุโสมาทำงานร่วมกันกับนักมานุษยวิทยาภาษา นักชาติพันธุ์วรรณนา และผู้สร้างสื่อเพื่อที่จะสร้างนิทรรศการเกี่ยวกับเรื่องราวและบทเพลงของชาวเดนซ่า ในกระบวนการนี้ ทีมจำเป็นต้องเจรจาว่าบันทึกมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ชิ้นใดควรจะได้รับการนำเสนอต่อสาธารณะ และบันทึกใดไม่ควรจะถูกนำเสนอต่อสาธารณะ คณะผู้ปฏิบัติงานโครงการพบว่าการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นสิ่งจำเป็นในการตัดสินเลือกรูปแบบการบันทึกมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้สำหรับโครงการธำรงค์รักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ที่ใหญ่กว่านี้

3.0 สรุป

“…การแยกระหว่างมรดกที่จับต้องได้ มรดกทางธรรมขาติ และมรดกที่จับต้องไม่ได้และการทำรายชื่อแยกสิ่งเหล่านี้ออกจากกันนั้นไม่มีหลักการกำกับชัดเจนตายตัว แม้ว่ามันจะมีประวัติศาสตร์และตรรกะของมันกำกับอยู่บ้างก็ตาม ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับมรดกทางธรรมชาติจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เสนอว่าพื่นที่ส่วนใหญ่ที่อยู่ในรายชื่อมรดกทางธรรมชาตินั้นเป็นสิ่งที่มันเป็นเพราะมนุษย์ได้มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ในทำนองเดียวกัน มรดกที่จับต้องได้ก็คงจะเป็นเปลือกอันกลวงเปล่าถ้าปราศจากมรดกที่จับต้องไม่ได้”

Kirshenblatt-Gimblett 2004

 ณ ที่นี้เคิร์ชเชนแบลทท์-กิมเบลทท์เดือนเหล่าผู้ทำงานเกี่ยวกับวัฒนธรรมว่าการสร้างรายชื่อเพื่อแยกระหว่างมรดกทางธรรมขาติ มรดกที่จับต้องได้ และมรดกที่จับต้องไม่ได้ออกจากกันนั้นดูจะไม่มีกฏเกณฑ์ตายตัว เนื่องจากสิ่งเหล่านี้ล้วนเชื่อมโยงกัน แน่นอนว่าภูมิทัศน์ตามธรรมชาตินั้นได้รับความหมายและให้คุณค่าเป็น “มรดก” เพราะมนุษย์มีปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่เหล่านั้น จิตวิญญาณของวัตถุและพื้นที่มาจากความรู้ที่จับต้องไม่ได้ของผู้คน

ผู้ทำงานเกี่ยวกับวัฒนธรรมต้องคิดเกี่ยวกับมรดกแบบองค์รวม นั่นคือคิดถึงความเชื่อมโยงระหว่างมรดกทางธรรมขาติ มรดกที่จับต้องได้ และมรดกที่จับต้องไม่ได้ นี่เป็นอีกครั้งที่วิธีวิทยาแบบมีส่วนร่วมเป็นวิธีที่จะกระตุ้นให้ชุมชนระบุมรดกที่จับต้องไม่ได้และวิธีนี้ยังช่วยนำไปสู่รูปแบบการบันทึกมรดกเหล่านี้ที่เหมาะสมด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงองค์ประกอบต่างๆ ของกระบวนการเดียวกัน ชุมชนสามารถจะระบุองค์ประกอบของมรดกตกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ที่พวกเขาต้องการระปกป้องรักษาไว้ผ่านการร่วมมือกับผู้ทำงานด้านมรดกทางวัฒนธรรม

3ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Inuvialuit_Settlement_Region

4ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.sfu.ca/ipinch/Inuvialuit_Smithsonian_Visit_Spotlight

5ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.mpi.nl/DOBES

6ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่http://www.virtualmuseum.ca/Exhibitions/Danewajich/english/index.html

Comments are closed.