คำศัพท์

Paleoethnography

        ชาติพันธุ์วรรณายุคโบราณ (paleoethnography) หมายถึงการเขียนเรื่องราวมนุษย์ในอดีต ซึ่งนักโบราณคดีต้องการศึกษาชีวิตหรือเล่าเรื่องราวของมนุษย์ที่ตายไปแล้ว นักโบราณคดีต้องมีสมมุติฐานเกี่ยวกับแบบแผนทางสังคมวัฒนธรรมของมนุษย์ และต้องทำความเข้าใจว่าแบบแผนเหล่านั้นมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร และมีสาเหตุอะไรที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง   สิ่งที่นักโบราณคดีพยายามศึกษาสังคมวัฒนธรรมในอดีตประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ 1) การอธิบายลำดับขั้นของวัฒนธรรม   2) การอธิบายประวัติศาสตร์ของวัฒนธรรมที่เกิดขึ้น และ 3) การอธิบายกระบวนการของวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป

          ลำดับขั้นของวัฒนธรรมหมายถึง วัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาต่างๆนับย้อนไปจากปัจจุบันจนถึงอดีต  นักโบราณคดีต้องเข้าใจเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคมว่าเหตุการณ์ใดเกิดก่อน เหตุการณ์ใดเกิดทีหลัง  ประเด็นนี้คือหน้าที่สำคัญพื้นฐานของการเป็นนักโบราณคดี และเป็นสิ่งที่ทำให้นักโบราณคดีต่างไปจากนักลักลอบขุดสมบัติ  ลำดับขั้นพัฒนาการของวัฒนธรรมต้องสัมพันธ์กับเทคนิควิธีการตรวจสอบหาอายุ ซึ่งเทคนิคที่ช่วยในการตรวจสอบอายุของวัตถุทางวัฒนธรรมคือการตรวจคาร์บอน

          ขั้นตอนแรกของการปะติดปะต่อเรื่องราวทางวัฒนธรรม ก็คือการหาช่วงเวลาตามลำดับพัฒนาการ นักโบราณคดีจะต้องมองหาช่วงชั้นของอายุในแหล่งขุดค้นนั้นอย่างละเอียด นอกจากนั้นยังต้องมีการขุดตรวจสอบพื้นที่บริเวณใกล้เคียงเพื่อตรวจสอบอายุในเชิงเปรียบเทียบว่าต่างจากหลุมขุดค้นหลักอย่างไร  จากนั้นจึงจะเข้าใจว่าแหล่งวัฒนธรรมนั้นมีอายุอยู่ในช่วงไหน  มีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงอย่างไร และสภาพแวดล้อมในอดีตในแหล่งดค้นนั้นควรจะมีลักษณะอย่างไร

          ขั้นต่อไป คือการวิเคราะห์เพื่อที่จะอธิบายว่ารูปแบบสังคมวัฒนธรรมในแหล่งขุดค้นนั้นควรมีลักษณะอย่างไร วัฒนธรรมนั้นมีอิทธิพลต่อสังคมรอบข้างอย่างไร มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ทั้งนี้นักโบราณคดีต้องศึกษาเปรียบเทียบกับแหล่งขุดค้นอื่นๆในบริเวณเดียวกัน เพื่อที่จะทำให้เข้าใจว่ารูปแบบทางวัฒนธรรมในบริเวณนั้นมีลักษระร่วมกันหรือต่างกันอย่างไร  การศึกษาความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมอาจศึกษาได้จากการเปลี่ยนแปลงของวัตถุทางวัฒนธรรมที่ค้นพบ รายละเอียดของวัตถุอาจแตกต่างกันตามยุคสมัย วัตถุที่มีลักษณะเหมือนกันก็อาจบ่งชี้ว่าถูกสร้างขึ้นในยุคเดียวกัน 

          เมื่อนักโบราณคดีนำแหล่งขุดค้นจากที่ต่างๆมาวิเคราะห์ร่วมกันก็อาจทำให้เข้าใจว่ารูปแบบทางวัฒนธรรมที่ปรากฎอยู่นั้นมีลักษณะเป็นอย่างไร  อยู่ช่วงเวลาไหน และเปลี่ยนแปลงอย่างไร   วัตถุทางวัฒนธรรมที่ค้นพบในแหล่งต่างๆอาจนำมาเปรียบเทียบกันเพื่อดูว่าอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันหรือไม่  ในท้ายที่สุดการศึกษาวัฒนธรรมในอดีตของนักโบราณคดีจะสิ้นสุดลงเมื่อมีการอธิบายกระบวนการทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่นั้น  นักโบราณคดีต้องอธิบายความสัมพันธ์ทางสังคมวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ในช่วงเวลาต่างๆ  และอธิบายให้เห็นว่าวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นนั้นสัมพันธ์อย่างไรกับประวัติศาสตร์วัฒนธรรมและวิวัฒนาการของมนุษย์  งานวิจัยของนักโบราณคดีในประเด็นนี้จะเป็นประโยชน์มากต่อนักมานุษยวิทยาในการทำความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับความหลากหลายและความซับซ้อนทางสังคมและวัฒนธรรมของมนุษย์


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

David Levinson and Melvin Ember ed. 1996. Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. Pp.79-80.

Fitzhugh, William W., and James A. Tuck. 1980. “A Review of Paleo-Eskimo Culture History in Southern Quebec-Labrador and Newfoundland.” Etudes/Inuit/Studies 4: 21-31.

Hood, Bryan. 1993. “The Maritime Archaic Indians of Labrador: Investigating Prehistoric Social Organization.” Newfoundland Studies 9, no. 2: 163-84.


หัวเรื่องอิสระ: ชาติพันธุ์วรรณายุคโบราณ