คำศัพท์

Nutritional Anthropology

           มานุษยวิทยาโภชนาการ หมายถึงการศึกษาสภาพและลักษณะการกินของมนุษย์ ซึ่งสัมพันธ์กับเรื่องสังคม วัฒนธรรม และอาหาร  มานุษยวิทยาโภชนาการจะศึกษาเรื่องราวของอาหาร การจัดระเบียบอาหาร และนโยบายทางด้านอาหาร  การศึกษาเรื่องราวของอาหารจะประกอบด้วย 2 แนวทาง คือการศึกษามิติประวัติศาสตร์ของอาหารในวัฒนธรรมหนึ่งๆ มีการอธิบายประเภทของอาหารที่มีอยู่ในวัฒนธรรมนั้น อีกแนวทางหนึ่งคือการศึกษาวิธีการปรุงและกินอาหาร การใช้อาหารในบริบทต่างๆ การถนอมเก็บรักษาอาหาร และความหมายของอาหาร  การศึกษานโยบายและการจัดระเบียบอาหารจากมุมมองมานุษยวิทยา จะประกอบด้วยการวิเคราะห์ระดับมหภาคของผลกระทบเรื่องการกินที่เกิดจากนโยบายเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างแบบแผนการกินและการผลิตอาหารระดับท้องถิ่น กับแบแผนระดับชาติ

          การศึกษามานุษยวิทยาโภชนาการหลายเรื่อง จะให้ความสนใจกับเรื่องรูปแบบการนำอาหารมาใช้ ซึ่งแตกต่างจากการศึกษามานุษยวิทยาอาหาร  เนื่องจากการศึกษามานุษยวิทยาโภชนาการจะสนใจรูปแบบการกิน นอกจากนั้นยังศึกษาการเจริญเติบโตทางร่างกายของมนุษย์ และรูปแบบการเติบโตของจำนวนประชากร  มานุษยวิทยาโภชนาการนำความรู้แขนงต่างๆมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นโบราณคดี ชีววิทยา และมานุษยวิทยาวัฒนธรรม  นอกจากนั้นยังนำแนวคิดทฤษฎีของชีววิทยาและสังคมศาสตร์มาอธิบาย จึงทำให้มานุษยวิทยาโภชนาการเป็นศาสตร์ที่ผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมและวิทยาศาสตร์

          คำว่า “กระบวนการทางสังคม-วัฒนธรรม” หมายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในระยะสั้นและระยะยาวของวิวัฒนาการชีวิตมนุษย์    ในส่วนของมานุษยวิทยาโภชนาการ สิ่งที่เป็นวิวัฒนาการที่สำคัญที่สุดคือการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการยังชีพจากการเก็บของป่าล่าสัตว์ไปเป็นการตั้งถิ่นฐาน เพาะปลูก  ในปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากภาวะสมัยใหม่ การขยายตัวของเมือง การพัฒนาอุตสาหกรรม การเพิ่มบทบาทของสื่อ และการเพิ่มจำนวนของแรงงานหญิง ล้วนเป็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมที่สำคัญที่ได้รับความสนใจจากนักมานุษยวิทยาโภชนาการ

          การวิจัยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการทางสังคมวัฒนธรรมที่มีต่อโภชนาการ จะประกอบด้วยคำถามที่ว่า อะไรคือผลกระทบของ เอ็กซ์ ที่มีต่อการบริโภค  คำว่าเอ็กซ์ในที่นี้คือกระบวนการ หรือเหตุการณ์ต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการยังชีพจากสิ่งหนึ่งไปสู่อีกสิ่งหนึ่ง  การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีใหม่ๆ  หรือการอพยพย้ายถิ่นจากเขตชนบทไปสู่เมือง  นักวิชาการบางคนจะศึกษาเรื่องโภชนาการจากมิติประวัติศาสตร์ หรือสภาพภูมิศาสตร์เพื่อที่จะสร้างทฤษฎีเกี่ยวกับกระบวนการทางสังคมวัฒนธรรม  เช่น การศึกษาของนักมานุษยวิทยากายภาพและนักโบราณคดีได้เสนอแนวคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงลักษณะโภชนาการและสุขภาพของมนุษย์จากการเก็บของป่าล่าสัตว์ ไปสู่การเพาะปลูก   ในทำนองเดียวกัน นักมานุษยวิทยาบางคนก็พยายามศึกษาผลกระทบที่มีต่อการกินอาหารในสังคมขนาดใหญ่ เช่น การศึกษาของริชาร์ด ดับบลิว แฟรงค์(1989) เรื่องผลกระทบจากลัทธิอาณานิคมเก่าและใหม่ที่มีต่อโภชนาการ และการศึกษาของกรีเทล เอช เพลโต และเพิร์ทตี เจ เพลโต(1985)  เรื่องผลกระทบของการล่มสลายของหมู่บ้านต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีการกินของมนุษย์ตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา

          ความคล้ายคลึงกันของการวิจัยมานุษยวิทยาโภชนาการ คือการมองหาปัจจัยและองค์ประกอบที่มีอยู่ในพื้นที่ทางสังคมหนึ่งๆ เพื่อที่จะอธิบายว่าปัจจัยเหล่านั้นมีผลต่อการกินหรือการใช้อาหารอย่างไร   ปัจจัยต่างๆที่นำมาศึกษาประกอบด้วย ลักษณะทางสังคม เทคโนโลยีซึ่งอาจพบได้ในสังคมประเภทเก็บของป่าล่าสัตว์ และสังคมเลี้ยงสัตว์ เช่น การศึกษาชนเผ่าคุง ซาน เป็นการค้นหาความสัมพันธ์ระหว่างการจัดระเบียบทางสังคม  สภาพแวดล้อมธรรมชาติ และการกินอาหาร  ไปจนถึงเรื่องราวร่วมสมัยที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน   เช่น การศึกษาการเปลี่ยนแปลงการกินอาหารที่สัมพันธ์กับการอพยพย้ายถิ่นข้ามพรมแดนรัฐชาติ ซึ่งมีสาเหตุจากสงครามและการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เช่น การกินอาหารของชาวกัมพูชาที่อพยพไปอยู่ในอเมริกา เป็นต้น

          นักมานุษยวิทยาหลายคนให้ความสนใจเรื่องผลกระทบต่อการกินที่เกิดขึ้นในการทำงาน การเลี้ยงเด็ก และการเปลี่ยนแปลงอาหารตามฤดูกาล  เช่น การศึกษาในแทนซาเนียของมาร์กาเร็ตตา แวนเดล และเกิร์ด โฮล์มโบ-อ็อตเทนเซ่น(1992)  และการศึกษาของแนนซี อี เลอไวน์(1988) เรื่องความแตกต่างในบทบาททางเศรษฐกิจของผู้หญิงในกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆของเนปาล ซึ่งส่งผลต่อการวิธีให้อาหารเลี้ยงลูก

          การวิจัยเกี่ยวกับโรคติดต่อที่เกิดจาการกินอาหาร เป็นการวิจัยที่คล้ายกับการศึกษากระบวนการทางสังคมและโภชนาการ แต่การศึกษาโรคติดต่อจะเน้นเรื่องสภาพของการกิน และมีการค้นหาบทบาทของปัจจัยที่มีผลต่อการระบาดของโรค  การวิจัยเกี่ยวกับ “ตัวชี้วัด” สถานะของโภชนาการและพฤติกรรมการกินอาหารอาจจะคล้ายกับการวิจัยที่ศึกษากระบวนการทางสังคมที่เน้นเรื่องการแพร่ระบาดของโรค  คำถามของการวิจัยในแนวนี้ เช่น ถามว่าอะไรคือตัวบ่งชี้ว่าจะมี “วาย” เกิดขึ้น  วายในที่นี้หมายถึงสภาพของโภชนาการ เช่น ความบกพร่องของการกินอาหารที่มีแร่ธาตุชนิดเดียว  สภาพของโภชนาการในภาพรวม ( เช่น ระดับการใช้พลังงาน การใช้ไขมัน) การวัดอัตราการเติบโต (ความสูง) หรือสภาพทางพยาธิวิทยาของโภชนาการ เช่น โรคกล้ามเนื้อลีบที่เกิดจากความบกพร่องของการใช้โปรตีนในร่างกาย

          คำถามจาการวิจัยของนักมานุษยวิทยาโภชนาการ ที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของโลกที่เกิดจากการกินอาหาร เช่น อะไรคือปัจจัยที่ทำให้เกิดการหย่านม อะไรคือตัวชี้วัดช่วงเวลาของการให้นม หรือการเลือกที่จะให้นมด้วยการใช้ขวดในกลุ่มประชากร อะไรคือปัจจัยทางสังคมที่ทำให้เกิดการกินวิตามินเอ อะไรคือปัจจัยที่ที่ชี้วัดการกินอาหารที่ไม่ถูกต้องของผู้หญิงซึ่งอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ขาดแคลนอาหาร ซึ่งต่างจากสภาพแวดล้อมที่มีอาหารสมบูรณ์  อะไรคือปัจจัยทางสังคมที่ทำให้เกิดกินไขมันมากในกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงต่อการสูบฉีดโลหิต

          การศึกษาระบบความเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นคุณค่าเชิงสัญลักษณ์ซึ่งมนุษย์กระทำต่อวัตถุหรือการกระทำต่างๆ เป็นสิ่งที่มีความสำคัญในทางมานุษยวิทยา  ความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อกับโภชนาการเป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจจากนักมานุษยวิทยาโภชนาการเป็นอย่างมาก   นักมานุษยวิทยาโภชนาการจะมองความเชื่อต่างไปจากมานุษวิทยาการอาหาร ในประเด็นที่ว่าความเชื่อมีผลต่อลักษณะการกินอาหารของมนุษย์   นักมานุษยวิทยาโภชนาการจะถามว่า อะไรคือความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อและลักษณะการกิน  คำว่า “ความเชื่อ” ในที่นี้กินความกว้างขวาง โดยอาจเกี่ยวข้องกับเรื่องความรู้ เช่น ความรู้เรื่องอาหารที่มีวิตามิน  การศึกษาในประเด็นนี้ เช่น การกินอาหารของผู้ชายและผู้หญิงแตกต่างกัน ผู้ชายชอบกินอาหารบางชนิด และผู้หญิงอาจกินอาหารที่เหมาะกับผู้หญิง  อาหารร้อนและอาหารเย็นอาจสัมพันธ์กับความเชื่อเรื่องความร้อนและความเย็น  และอาการเจ็บไข้ได้ป่วย

          การศึกษาทางมานุษยวิทยาที่เชื่อมโยงความเชื่อเข้ากับการกินอาหารและสภาพของโภชนาการ อาจมีเรื่องที่หลากหลาย ตั้งแต่การวิเคราะห์ความเชื่อตามประเพณีไปจนถึงการกินอาหารในยุคปัจจุบัน เช่น การศึกษาผลกระทบจากการบริโภคของหญิงมีครรภ์ การให้และไม่ให้ทารกกินนมแม่  วงจรของการอดอาหารเนื่องจากความเชื่อทางศาสนา ผลกระทบของการเป็นแม่ที่เกิดจากาความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงทารกและเด็กอ่อน และการศึกษาแนวคิดเรื่องอาหารเพื่อสุขภาพที่มีผลต่อการกินอาหาร เป็นต้น

          การศึกษาทางมานุษยวิทยาเกี่ยวกับการปรับตัวทางสรีระ พันธุกรรม และโภชนาการ  วางอยู่บนการประยุกต์ใช้แนวคิดเรื่องการปรับตัวของมนุษย์ เพื่อที่จะอธิบายความสัมพันธ์ของการกินอาหารและลักษณะทางชีววิทยาของประชากร คำถามต่อการศึกษาในแนวนี้ เช่น ประวัติศาสตร์การกินอาหารของประชากรมีผลต่อร่างกายและลักษณะทางพันธุกรรมอย่างไร  อะไรคือบทบาทของอาหาร หรือแบบแผนการกินอาหาร เพื่อที่จะอธิบายการเกิดขึ้นของร่องรอยทางพันธุกรรมและลักษณะทางกายภาพในกลุ่มประชากรหนึ่งๆ

          การศึกษาที่รู้จักอย่างแพร่หลาย คือการศึกษาเรื่องเอ็นไซน์แล็คเตส ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการย่อยอาหารที่เป็นนม  ในกลุ่มประชากรหลายกลุ่ม เมื่อพ้นวัยเด็กไปแล้ว คนส่วนใหญ่จะสูญเสียเอ็มเไซน์ตัวนี้ ทำให้ไม่สามารถดื่มนมได้  เมื่อมนุษย์พ้นวัยเด็กไปแล้ว ความสามารถในการย่อยสารอาหารที่เป็นนมจะลดลงไป เนื่องจากร่างกายไม่สามารถสร้างเอ็มไซน์ได้ซึ่งไปลักษณะทางพันธุกรรม  นักมานุษยวิทยาโภชนาการจึงศึกษาความแตกต่างของประชากรที่มีเอ็นไซน์ชนิดนี้ไม่เท่ากัน  นักวิชาการหลายคนเชื่อว่า ผู้ใหญ่ที่สามารถดื่มนมได้เป็นการปรับตัวของร่างกายโดยเฉพาะในสังคมที่ต้องกินนมเป็นอาหารหลัก

          การศึกษาอีกแนวหนึ่ง เป็นการศึกษาการปรับตัวจากการกินอาหารที่เกี่ยวข้องกับการเจริญพันธุ์และความอ้วน  นักมานุษยวิทยาโภชนาการจะศึกษาการตั้งครรภ์ของสตรี  น้ำหนักของเด็กทารกเมื่อแรกคลอด การกินอาหารที่ทำให้อ้วน และการหยุดการเจริญเติบโตซึ่งเกี่ยวข้องกับการกินอาหาร สภาพแวดล้อม โรคภัยไข้เจ็บ และบริบททางสังคม

          ลักษณะสำคัญของวิชามานุษยวิทยาโภชนาการคือการนำความรู้จากวิทยาศาสตร์หลายสาขามาใช้  นักมานุษยวิทยาโภชนาการจะนำแนวคิดทฤษฎีและวิธีการศึกษาของนักเคมีชีวะ นักสรีระวิทยา นักพันธุศาสตร์ และนักระบาดวิทยามาใช้อธิบายการกินอาหาร และในเวลาเดียวกันก็นำแนวคิดทางสังคมศาสตร์มาใช้ร่วมด้วย  ในเวลาเดียวกัน นักมานุษยวิทยาโภชนาการก็มีคำถามทางมานุษยวิทยามาอธิบายลักษณะของประชากรที่สัมพันธ์กับการกิน  โดยศึกษาจากระดับครัวเรือน เพื่อสังเกตพฤติกรรมการกินอาหารของสมาชิกแต่ละคน  การศึกษาส่วนใหญ่จะสะท้อนลักษณะของครอบครัวที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฐานะทางเศรษฐกิจ ลักษณะทางสังคมและประชากร ทั้งนี้นักมานุษยวิทยาโภชนาการต้องศึกษาปัจจัยต่างๆอย่างรอบด้าน  การศึกษาอาจเป็นเรื่องข้อมูลสถิติ หรือเชิงคุณภาพ ซึ่งจะมีวิธีการศึกษาต่างกัน อาจจะเป็นการสัมภาษณ์แบบไม่เป็นทางการ ไปจนถึงการมีคำถามที่ชัดเจนและการตรวจสอบที่เป็นระบบ ซึ่งอาจได้ข้อมูลตัวเลขและสถิติซึ่งจะถูกนำไปวิเคราะห์ต่อไป


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Alan H. Goodman, Darna L. Dufour, Gretel H. Pelto (eds.) 2000. Nutritional Anthropology: Biocultural Perspectives on Food and Nutrition. Mountain View, California: Mayfield Publishing Company

David Levinson and Melvin Ember(eds.) 1996. Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York, Pp.881-883.

Goodman, Alan H., and Thomas L. Leatherman, eds 1998. Building a New Biocultural Synthesis: Political-Economic Perspectives on Human Biology. Michigan: University of Michigan Press.

Mintz, Sidney 1985, Sweetness and Power: the Place of Sugar in Modern History. New York: Penguin.

Pelto, Gretel H., and Pertti J. Pelto 1989, Small but Health? An Anthropological Perspective. Human Organization 48(1): 11-15


หัวเรื่องอิสระ: มานุษยวิทยาโภชนาการ