คำศัพท์

Museum Anthropology

          มานุษยวิทยาพิพิธภัณฑ์ หมายถึง การทำงานทางมานุษยวิทยาที่เกิดขึ้นภายในพิพิธภัณฑ์ หรือหมายถึงการศึกษาพิพิธภัณฑ์ในมิติมานุษยวิทยาก็ได้  ความหมายแต่ละด้านอาจไม่เหมือนกัน เพราะมีประวัติความเป็นมาที่ต่างกัน  การศึกษามานุษยวิทยาสายวัฒนธรรม ได้รวมเอาการศึกษาพิพิธภัณฑ์เข้าไว้ด้วยซึ่งในเวลาต่อมาการศึกษาพิพิธภัณฑ์ในมิติมานุษยวิทยากลายเป็นสาขาหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ศึกษา หรือพิพิธภัณฑ์วิทยา

          มิติมานุษยวิทยาในการศึกษาพิพิธภัณฑ์มีประวัติความเป็นมายาวนานพอๆกับการที่นักมานุษยวิทยาเข้าไปทำงานในพิพิธภัณฑ์  ไม่ว่าจะเป็นนักมานุษยวิทยาสายวัฒนธรรม นักมานุษยวิทยากายภาพ นักโบราณคดี และนักมานุษยวิทยาภาษาศาสตร์   นักมานุษยวิทยาเหล่านี้มักทำงานในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ เนื่องจากวัตถุทางวัฒนธรรมบางชิ้นซึ่งถูกค้นพบโดยนักมานุษยวิทยา หรือนักโบราณคดีจะถูกอธิบายว่าเป็นงาน “ศิลปะ” ชนิดหนึ่ง ซึ่งจะถูกนำไปจัดเก็บและแสดงในพิพิธภัณฑ์ศิลปะ เช่น ผลงานของชนเผ่าที่ถูกศึกษาโดยนักมานุษยวิทยาวัฒนธรรมหลายชิ้นจะถูกเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะ  ภัณฑารักษ์บางคนที่เก็บรักษาดูแลวัตถุที่ได้จากสังคมชนเผ่าจึงเป็นนักมานุษยวิทยา  แต่ในระยะเวลาต่อมาผู้ที่มาทำหน้าที่ภัณฑารักษ์คือนักประวัติศาสตร์ศิลปะ

          วัฒนธรรรมเชิงวัตถุทั้งหลายคือสิ่งที่ได้รับความสนใจจากพิพิธภัณฑ์ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเรียกว่า “ศิลปะ” หรืออะไรก็ตาม  วัตถุทางวัฒนธรรมทั้งหลายจะถูกมองว่าเป็นสิ่งของที่ถูกสร้าง ถูกใช้โดยมนุษย์ และสิ่งของเหล่านี้ก็มีความหมาย    การทำงานพิพิธภัณฑ์ในปัจจุบันให้ความสนใจกับเรื่องการประเมินคุณค่าของวัตถุ  ซึ่งมีการศึกษาว่าวัตถุแต่ละอย่างจะอธิบายวัฒนธรรมได้อย่างไร  และคิดทบทวนว่าการศึกษาวัฒนธรรมเชิงวัตถุซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 ควรจะเป็นอย่างไร   นักวิชาการในมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาต่างๆพยายามเสาะหาแนวคิดทฤษฎีเพื่อมาอธิบายความหมายที่ถูกต้องของวัฒนธรรมเชิงวัตถุ  ซึ่งแนวการศึกษาของนักวิชาการเหล่านั้นแตกต่างจากสิ่งที่นักมานุษยวิทยาทำในพิพิธภัณฑ์  ในช่วงทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา ความเข้าใจวัฒนธรรมเชิงวัตถุก็เริ่มแบ่งแยกอย่างชัดเจน ระหว่างนักวิชาการที่ทำงานในพิพิธภัณฑ์ และผู้ที่เข้ามาชมพิพิธภัณฑ์

          เมื่อเกิดความเข้าใจที่ต่างกัน คณะกรรมการของนักมานุษยวิทยาที่ศึกษาพิพิธภัณฑ์ก็ผลิตวารสารชื่อ  Museum Anthropology ออกมาเผยแพร่พร้อมกับนิทรรศการที่แนะนำนักมานุษยวิทยาอเมริกัน  วารสารและนิทรรศการนี้ทำให้เกิดความเข้าใจใหม่ว่านักมานุษยวิทยาทำงานอะไรในพิพิธภัณฑ์ และเกิดสาขาย่อยมานุษยวิทยาพิพิธภัณฑ์ในเวลาต่อมา  วารสารของคณะกรรมการดังกล่าว ได้กล่าวถึงวารสารรุ่นแรกของสมาคมพิพิธภัณฑ์อเมริกัน ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 1970 ซึ่งมีคำสนทนาของนักมานุษยวิทยาหลายคนซึ่งปูทางให้เกิดการศึกษามานุษยวิทยาพิพิธภัณฑ์

          หากมองเชิงประวัติศาสตร์ การศึกษาพิพิธภัณฑ์ในมิติมานุษยวิทยาในอเมริกา แตกต่างจากยุโรป  แต่การศึกษาพิพิธภัณฑ์ในสองประเทศนี้เริ่มขยายตัวในศตวรรษที่ 19 ซึ่งอยู่ในช่วงการแผ่ขยายของลัทธิอาณานิคมและทุนนิยม   ช่วงเวลาดังกล่าวนี้คือสิ่งที่นักมานุษยวิทยารุ่นต่อมาวิพากษ์วิจารณ์ เพราะพิพิธภัณฑ์ในยุคอาณานิคมที่เกิดในอเมริกาและแคนาดาล้วนตกอยู่ใต้อำนาจการเมืองและเชื้อชาตินิยม   อย่างไรก็ตาม พิพิธภัณฑ์ซึ่งอยู่ในฐานะสถาบันทางสังคมก็ถูกสถาปนาโดยรัฐชาติและพิพิธภัณฑ์ก็ถูกใช้เป็นเครื่องบันทึกประวัติศาสตร์ของชาติที่เกิดใหม่    พิพิธภัณฑ์หลายแห่งในชาติที่เกิดใหม่ หรือในประเทศที่เกิดมานานแล้วบางประเทศ เริ่มปรับทาทีของตัวเอง โดยการนำเรื่องสุขภาพ สาธารณะมาจัดแสดงพร้อมกับเรื่องราวทางศิลปะ ประวัติศาสตร์และโบราณคดี   พิพิธภัณฑ์แห่งชาติต้องการสร้างสำนึกของการอยู่ร่วมกัน ความเป็นชาติเดียวกัน และมีเอกลักษณ์ของชาติเหมือนกัน โดยไม่สนใจชนกลุ่มน้อยที่มีวัฒนธรรมที่ต่างไป   ชนกลุ่มน้อยจึงหันไปสร้างพิพิธภัณฑ์ของตัวเองเพื่อเล่าเรื่องราวทางวัฒนธรรมและประเพณีที่พวกเขายกย่อง

          นักวิจารณ์ที่สนใจเรื่องเหตุผลทางการเมือง และนักวิชาการที่สนับสนุนให้มีการคิดใหม่เกี่ยวกับการเขียนประวัติศาสตร์ คือผู้ที่กำลังต่อสู้ภายในชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งเต็มไปด้วยกลุ่มอำนาจต่างๆ  นักวิชาการเหล่านี้ต้องการทำงานร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ และให้มีการยอมรับกลุ่มชาติพันธุ์       การศึกษาของจอร์จ อับบรัม เกี่ยวกับการส่งคืนเข็มขัดลูกปัดให้กับชนพื้นเมือง 6 กลุ่ม ซึ่งเข็มขัดนี้ถูกจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์อเมริกันอินเดียนในนิวยอร์ค จอร์จอธิบายว่าการส่งคืนวัตถุทางชาติพันธุ์นี้อาจไม่ใช่เรื่องกฎหมายอย่างเดียวแต่เป็นเรื่องของศีลธรรมและจริยธรรมด้วย   ข้อโต้แย้งยังคงดำเนินต่อมา  วิลเลียม สจ๊วตวอง ภัณฑารักษณ์จากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันสมิธโซเนียน ให้ความเห็นว่าการส่งคือวัตถุทางชาติพันธุ์ให้กับชนพื้นเมือง เป็นการเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ว่าวัตถุในพิพิธภัณฑ์เป็นของใคร รวมทั้งเปลี่ยนวิธีคิดของการทำงานของภัณฑารักษ์ การบริหารงานและปรัชญาของพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์ต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่เกี่ยวกับการดูแลวัตถุในพิพิธภัณฑ์ว่าวัตถุมิใช่ของที่แตะต้องไม่ได้ แต่ควรนำวัตถุเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์เพื่อคนรุ่นหลัง

          พิพิธภัณฑ์และสมาคมประวัติศาสตร์ธรรมชาติเกิดขึ้นในอเมริกาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ชาร์เลสตันในรัฐเซาท์แคโรไลน่า ( ค.ศ.1783) พิพิธภัณฑ์เพียล ในฟิลาเดลเฟีย (ค.ศ.1875) และพิพิธภัณฑ์เพียบอดี้ในเมืองซาเล็ม (ค.ศ.1799)  ส่วนในประเทศอังกฤษ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งแรกคือ พิพิธภัณฑ์แอชมอลีน ก่อตั้งในปี ค.ศ.1683 ในมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด  ส่วนพิพิธภัณฑ์แห่งชาติอังกฤษเกิดขึ้นในปี ค.ศ.1753 โดยเซอร์ฮันส์ สโลน  ก่อนหน้านั้นพิพิธภัณฑ์อยู่ในรูปแบบของสะสมของนักวิชาการในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 หรือรู้จักในนาม “ตู้เก็บของแปลก”

          พิพิธภัณฑ์เริ่มขยายตัวในช่วงหลังคริสต์ศตวรรษที่ 15 เมื่อมีการพัฒนาความเจริญทางวิทยาศาสตร์ การประดิษฐ์เครื่องพิมพ์ การขยายตัวทางการค้า และการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเมืองและเศรษฐกิจของยุโรป  รวมถึงดินแดนอาณานิคมของยุโรปในเอเชีย แอฟริกา และอเมริกา  ในระยะแรกๆ ผู้สนใจสะสมของแปลกคือพวกขุนนางและราชวงศ์ ซึ่งเก็บไว้ดูส่วนตัว ไม่เปิดให้สาธารณะชม   นักมานุษยวิทยารุ่นแรกๆจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับของสะสมในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 การศึกษาประวัติศาสตร์พิพิธภัณฑ์เริ่มแพร่หลายมากขึ้น  การศึกษาเหล่านี้ทำให้นักมานุษยวิทยาหันมาสนใจเรื่องวัตถุในพิพิธภัณฑ์

          ซูซาน เพียร์ซ (1989)  อธิบายว่าประวัติศาสตร์การศึกษามานุษยวิทยาพิพิธภัณฑ์ในอังกฤษ พบว่า การทำงานในพิพิธภัณฑ์ของนักมานุษยวิทยาหรือนักโบราณคดีทั้งในอเมริกาและอังกฤษล้วนผูกพันธ์กับมหาวิทยาลัย  การศึกษาของอีวาน คาร์พ และ เอส ดี ลาวีน ในปี ค.ศ. 1991 เรื่อง Exhibiting Cultures อธิบายเกี่ยวกับการจัดแสดงวัตถุในพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่ ซึ่งมีการใช้วัตถุในการแสวงหาตัวตน ประเด็นนี้เป็นที่สนใจในหมู่นักวิชาการหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นนักมานุษยวิทยา นักประวัติศาสตร์ นักวรรณคดี นักรัฐศาสตร์ และสาขาที่เกี่ยวข้อง

          การศึกษาของแอนนา ลอร่า โจนส์ เรื่อง Exploding Cannons The Anthropology of Museums (1993) อธิบายว่าการจัดแสดงวัตถุของมนุษย์จากดินแดนนอกตะวันตกในพิพิธภัณฑ์ เป็นผลมาจากการศึกษาทางมานุษยวิทยาในรุนแรกๆ  โจนส์เชื่อว่าการจัดแสดงวัตถุในพิพิธภัณฑ์มีปัญหาทางจริยธรรมและการใช้อำนาจ รวมถึงนโยบายของรัฐที่มีต่อพิพิธภัณฑ์   โจนส์เรียกร้องให้นักมานุษยวิทยาที่ทำงานในพิพิธภัณฑ์เปลี่ยนวิธีการทำงานใหม่  เพื่อมิให้ดำเนินรอยตามความคิดแบบอาณานิคม

          การศึกษาของไมเคิล เอมส์ เรื่อง Biculturalism in Exhibition (1991) อธิบายถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมของโลกปัจจุบัน และเรียกร้องให้มีความร่วมมือกันระหว่างคนทำพิพิธภัณฑ์กับเจ้าของวัตถุที่ถูกจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์  เช่นการแสดงเรื่อง Into the Heart of Africa ในพิพิธภัณฑ์ออนทาริโอ ซึ่งมีชาวแอฟริกันในแคนาดาออกมาคัดค้าน   นักวิชาการเริ่มมองเห็นประวัติศาสตร์ความคิดในการสร้างและการจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ และการทำให้พิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งเรียนรู้ของประชาชน    การศึกษาของมาร์ก็อต บลูม สกีวิลล์ (1993) ชี้ให้เห็นบทบาทของผู้หญิงในการทำงานพิพิธภัณฑ์ เช่น การทำงานของไลล่า เอ็ม โอนีล และอิสซาเบล เคลลี

          การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทำให้การจัดแสดงเรื่องราวของวัฒนธรรมในพิพิธภัณฑ์ต่างไปจากเดิม   การศึกษาด้านพิพิธภัณฑ์ หรือพิพิธภัณฑ์วิทยา เริ่มให้ความสนใจประเด็นเกี่ยวกับความคิดในการจัดแสดงระหว่างนักวิชาการกับผู้ที่ทำงานในพิพิธภัณฑ์  เกิดแนวคิดเรื่องสถาบันทางวัฒนธรรม และมีการตีความว่าพิพิธภัณฑ์คือสถาบันทางสังคมและวัฒนธรรมยุคแรกๆในโลกตะวันตก  นอกจากนั้น นักมานุษยวิทยายังทบทวนการเก็บข้อมูล การจัดแสดง การตีความ และการจัดเก็บวัตถุในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามบริบททางการเมืองยุคโลกาภิวัตน์  ในปัจจุบัน มีกลุ่มคนที่หลากหลาย มีวัฒนธรรมที่ต่างกัน   ดังนั้นการแสวงหาความหมายของวัตถุประเภทต่างๆ ทำได้ยากขึ้น และเป็นสิ่งที่ท้าทายนักมานุษยวิทยา


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Amiria Henare 2005. Museums, Anthropology and Imperial Exchange. New York: Cambridge University Press.

Antonio R. Chavarria andMaxine E. McBrinn. 2015. Museum Anthropology: Continued Conversations in the Field. Museum Anthropology, Volume 38, Issue 1, 3–14, Spring 2015

Barbara Kirshenblatt-Gimblett 1998. Destination Culture: Tourism, Museums, and Heritage. Berkeley: University of California Press.

David  Levinson and Melvin Ember (eds.) 1996. Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. 1996, pp.813-816.

Ira Jacknis 2002. The Storage Box of Tradition: Kwakiutl Art, Anthropologists, and Museums, 1881–1981. Washington: Smithsonian Institution Press.

Maxine McBrinn and Antonio Chavarria. 2015.  Change and Stability in Museum Anthropology. Museum Anthropology, Volume 38, Issue 1, 1–2, Spring 2015


หัวเรื่องอิสระ: มานุษยวิทยาพิพิธภัณฑ์