คำศัพท์

Migration

         การอพยพของมนุษย์หมายถึงการย้ายที่อยู่จากที่เดิมไปที่ใหม่ โดยอาขเป็นการย้ายชั่วคราวหรือถาวรก็ได้ และเหตุผลของการย้ายก็มีหลายประการ เช่น ย้ายเพื่อการทำมาหากิน ย้ายเพราะสภาพแวดล้อม ย้ายเพราะสงคราม ฯลฯ  นับตั้งแต่ยุคไพลสโตซีนตอนกลางที่โฮโม อิเรคตัส เคลื่อนย้ายเข้าไปยังดินแดนยูเรเซีย  จนถึงยุคไพลสโตซีนตอนปลาย การอพยพย้ายถิ่นเป็นมากกว่าการเคลื่อนย้าย  เพราะหมายถึงการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและถิ่นอาศัยทางภูมิศาสตร์ ซึ่งอาจทำให้เกิดความขัดแย้ง และไม่ลงรอยถ้าโครงสร้างทางสังคมและสภาพแวดล้อมต่างไปจากเดิม   นอกจากนั้น การย้ายถิ่นยังต่างจากการเคลื่อนย้ายที่อยู่อาศัยเพื่อปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม เช่น การย้ายถิ่นตามฤดูกาลในสังคมล่าสัตว์เร่ร่อน หรือสังคมเลี้ยงสัตว์ที่ตระเวนไปตามที่ต่างๆที่อุดมสมบูรณ์  การอพยพย้ายถิ่นยังเป็นเรื่องของคนเฉพาะกลุ่มซึ่งมีตำนานความเชื่อบางอย่าง

         โคลิน เรนฟริวอธิบายว่ากลุ่มชนที่สาบสูญตามตำนานไบเบิล ได้แก่ชาวอิทรัสกันแห่งเฮโรโดตุส และชาวฟินีเซียนแห่งสตราโบ  มีความเชื่อว่ากลุ่มชนเหล่านี้คือร่องรอยอดีตของยุโรป แต่ไม่มีข้อสนับสนุนหรือหลักฐานยืนยัน   ในกรณีการอพยพเข้ามาของชาวอินเดียนในอเมริกา     ฮูโก้ โกรเตียสกล่าวว่าชนพื้นเมืองในอเมริกาสืบตระกูลมาจากชาวสแกนดิเนเวีย  ชนเผ่ายูเคเทกัน สืบมาจากชาวเอธิโอเปีย  ชาวเปรูสืบมาจากชาวจีน ส่วนชนพื้นเมืองอื่นๆสืบมาจากชาวเมลานีเซียน     ขณะที่ แมทธิว เฮลเชื่อว่าชนพืนเมืองอเมริกามีบรรพบุรุษเป็นชาวเอเชีย

          การอพยพยังเป็นคำอธิบายสำหรับปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมที่คล้ายๆกัน โรเบิร์ต วูโชป อธิบายเกี่ยวกับเรื่องชนเผ่าที่สาบสูญและทวีปที่จมหาย โดยใช้วิธีการศึกษาทางชาติพันธุ์วิทยา  แต่การอพยพย้ายถิ่นก็มิใช่ปัจจัยของการสร้างประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรม และมิใช่กระบวนการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมซึ่งไม่มีคนเข้ามาเกี่ยวข้อง     อัลเฟร็ด โครเบอร์ กล่าวว่า การย้ายถิ่นของประชากรที่นำไปสู่การแพร่กระจายทางวัฒนธรรม เพราะการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมมาจากการแก้ไขทีละเล็กละน้อย  ซึ่งความคิดของโครเบอร์เป็นเรื่องที่เข้าใจผิด      การอธิบายเรื่องการแพร่กระจายวัฒนธรรมควบคู่ไปกับการอพยพย้ายถิ่น ยังมีเรื่องของวัฒนธรรมอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับการอพยพ   ข้อสมมุติฐานที่อยู่ตรงข้ามกับแนวคิดทฤษฎีการแพร่กระจาย  เชื่อว่ากระบวนการอพยพย้ายถิ่นอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมในกลุ่มของผู้อพยพเอง  โธมัส แจ็คสันกล่าวว่าชนพื้นเมืองในแคลิฟอร์เนียเป็นกลุ่มคนที่ย้ายถิ่นเข้ามาอยู่ใหม่ ปะปนอยู่กับคนกลุ่มเดิมและปรับตัวให้สังคมใหม่

         การศึกษาเรื่องการอพยพในระยะแรกเป็นเรื่องของชาติพันธุ์ และสนใจในประเด็นอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์และประวัติศาสตร์ของกลุ่มคน  การวิจัยในระยะต่อมาเป็นการตีความการอพยพ โดยเชื่อว่ามันคือกลไกการปรับตัว    ประเด็นที่สำคัญคือเรื่องความหลากหลายของปัจจัยของการอพยพ ได้แก่ จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นทำให้ทรัพยากรขาดแคลน การเข้ามาหางานทำในเมือง  การบุกเบิกดินแดนใหม่ การมีโรคระบาด ภัยสงคราม สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม การติดต่อค้าขาย และการค้นหาความฝัน

          รูปแบบของการย้ายถิ่นมีลักษณะต่างกันไป ทั้งเรื่องจำนวนประชากรและช่วงเวลา   อาจแยกประเภทของการอพยพย้ายถิ่นได้เป็น 3 กรณี คือ  1) การย้ายถิ่นเร่ร่อนเพื่อยังชีพ หมายถึงการย้ายถิ่นชั่วคราวในพื้นที่ที่ใกล้เคียงกับถิ่นอาศัยเพื่อออกไปหาแหล่งอาหารสำหรับเลี้ยงสมาชิกในครัวเรือน  การย้ายถิ่นแบบนี้สามารถพบได้ในสังคมชนเผ่า หรือรัฐ  หรือการย้ายถิ่นของแรงงานเพื่อไปหางานทำในเขตอุตสาหกรรม  2) การอพยพเป็นวงจร หมายถึงการย้ายถิ่นของประชากรที่มีความสัมพันธ์กับสองคมสองแบบ เช่น สังคมเมืองกับสังคมชนบท เช่นการย้ายถิ่นของชาวแอฟริกันเขตกึ่งทะเลทราย 3) การย้ายถิ่นที่อยู่ใหม่อย่างถาวร หมายถึงการย้ายถิ่นจากที่เดิมไปอยู่ที่ใหม่ เช่น การย้ายถิ่นไปอยู่ในอเมริกาของคนกลุ่มต่างๆ

        ปัจจุบันการศึกษาเรื่องการอพยพย้ายถิ่นเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ  คนที่อพยพในปัจจุบันจะย้ายไปแสวงหารายได้ในที่ใหม่ที่คิดว่าจะทำให้ชีวิตดีขึ้น เช่น แรงงานจากโลกที่สามย้ายไปทำงานในประเทศตะวันตก ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือ การเข้าเมืองผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์ การลักลอบเข้าเมือง ทำให้ประเทศที่เป็นเป้าหมายของการอพยพต้องสร้างกฎระเบียบมาควบคุม ปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องการเมืองระดับนานาชาติและสิทธิมนุษยชน กลุ่มคนยากจนในประเทศโลกที่สามจะตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้าแรงงาน นักมานุษยวิทยาที่ศึกษาปัญหาเหล่านี้พยายามทำความเข้าใจการอพยพด้วยแนวคิดทฤษฎีหลายอย่าง ทฤษฎีที่สำคัญคือ world-systems theory โดยชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจและการเมืองส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพของมนุษย์ เงื่อนไขของการอพยพในปัจจุบันมีความซับซ้อนมากกว่าเดิม


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Bauder, Harald. 2006. Labour Movement: How Migration Regulates Labour Markets, New York: Oxford University Press.

Brettell, Caroline, and James Hollifield, eds. 2008. Migration theory: Talking across disciplines. New York: Routledge.

Castles, Stephen, and Mark Miller. 2009. The age of migration: International population movements in the modern world. New York: Guilford.

De La Torre, Miguel A., 2009. Trails of Terror: Testimonies on the Current Immigration Debate, Orbis Books.

Hanlon, Bernadette and Vicino, Thomas J. 2014. Global Migration: The Basics, New York and London: Routledge.

Hoerder, Dirk. 2002. Cultures in Contact. World Migrations in the Second Millennium, Duke University Press

Kearney, Michael. 1986. From the invisible hand to visible feet: Anthropological studies of migration and development. Annual Review of Anthropology 15:331–361.

Robert H.Winthrop. 1991. Dictionary of Concepts in Cultural Anthropology. Greenwood Press. New York. Pp.187-188.


หัวเรื่องอิสระ: การอพยพ