คำศัพท์

Literary Anthropology

        มานุษยวิทยาที่วิเคราะห์วรรณกรรม หมายถึง การสำรวจบทบาทของงานเขียนและวรรณกรรมที่ปรากฎอยู่ในสังคมของมนุษย์ ซึ่งจะมีการตรวจสอบวิธีการแสดงออกทางภาษาในรูปแบบต่างๆที่สัมพันธ์กับช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ เกี่ยวข้องกับบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่หล่อหลอมและมีอิทธิพลต่อการสร้างงานเขียน นอกจากนั้นมานุษยวิทยาที่วิเคราะห์วรรณกรรมยังเป็นการทบทวนตรวจสอบธรรมเนียมการเขียนความรู้ทางมานุษยวิทยา ซึ่งนักมานุษยวิทยาในแต่ละยุคสมัยจะมีเทคนิคการเขียนความรู้ด้วยความคิดและมุมมองต่างกัน

          คลิฟฟอร์ด เกิร์ตซ์ (1988) อธิบายว่างานเขียนทางมานุษยวิทยาถูกหล่อหลอมด้วยวัฒนธรรมและการใช้สำนวนภาษา ในที่นี้หมายถึงระบบความหมายซึ่งจะถูกตีความโดยผู้อ่าน  ความคิดของเกิร์ตซ์มีผลกระทบต่อเรื่องการเขียนงานทางมานุษยวิทยา โดยเฉพาะแนวคิดเรื่องอำนาจของผู้เขียน  ในประเด็นนี้เกิร์ตซ์กล่าวว่า เป็นการกระทำที่แสดงออกโดยการเขียน  หมายถึงงานเขียนที่ถูกสร้างขึ้นโดยความคิด ประสบการณ์ ความสนใจส่วนตัว และบริบททางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ที่มีอยู่ในตัวผู้เขียน  ผู้เขียนจะใช้ประสบการณ์ส่วนตัวโต้ตอบกับประสบการณ์ของคนอื่น ซึ่งเป็นการสื่อสารที่ถูกสร้างโดยผู้เขียน เรารู้ว่าเรื่องแต่งสัมพันธ์เชื่อมโยงกับการแสดงออกของมนุษย์  มนุษย์รู้ว่าจะเปลี่ยนเรื่องแต่งให้กลายเป็นความรู้ได้อย่างไร  ถ้าความจริงต่างๆไม่ได้สร้างมาจากภาษาหรือวัฒนธรรม มนุษย์ก็จะไม่มีประวัติศาสตร์ และการทำงานของนักมานุษยวิทยาก็จะไร้ค่า  การเขียนงานทางชาติพันธุ์จึงเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นโดยความคิดและการตีความ ซึ่งบอกให้เราทราบว่ายังมีเรื่องราวที่คลุมเคลือเกิดขึ้นรอบๆตัว  งานเขียนทางมานุษยวิทยาจึงเปรียบเสมือน “เรื่องแต่ง” ที่คลุมเคลือ และมีความแตกต่างจากงานวรรณกรรมหรืองานประวัติศาสตร์ ด้วยเหตุผลที่ว่างานเขียนทางมานุษยวิทยาต้องการนำเสนอเรื่องราวของผู้คนที่ไม่มีภาษาเขียน

          จอร์จ อี มาร์คัส กล่าวว่าวัฒนธรรมเปรียบเสมือนเรื่องแต่ง และมีนักวิชาการหลายคนเชื่อตามความคิดของมาคัส พวกเขาพยายามใช้ทฤษฎีที่ศึกษาวรรณกรรมมาใช้ตีความวิธีการเขียนของตัวเอง  และศึกษาว่าวัฒนธรรมอื่นจะถูกอธิบายอย่างไร เช่นเดียวกับการศึกษาเรื่องเล่าแบบปากต่อปากของคนพื้นเมือง  มาร์คัส(1988) กล่าวว่าเมื่อเราเขียนเรื่องแต่งด้วยความประณีตสวยงาม เรื่องแต่งนั้นก็จะเปรียบเสมือนเรื่องเล่าของผู้เขียน   คลิฟฟอร์ด(1988) กล่าวว่าเรื่องเล่าคือการพรรณนาให้เห็นภาพ และทำให้เกิดสิ่งที่จับต้องได้ ซึ่งสิ่งนี้เต็มไปด้วยบริบททางวัฒนธรรมและการแย่งชิงอำนาจเพื่อทำให้เรื่องแต่งนี้กลายเป็นสิ่งที่มีจริง  มาร์คัสและนักวิชาการคนอื่นๆ นำความคิดของเกิร์ตซ์มาสานต่อเพื่ออธิบายว่ามานุษยวิทยาสามารถทำหน้าที่เป็นผู้วิจารณ์ทางวัฒนธรรม มิใช่เป็นผู้ที่เยินยอวัฒนธรรมเหมือนกับนักวรรณกรรม  อย่างไรก็ตาม เมื่อการเขียนเรื่องแต่งและวรรณกรรมเริ่มมีปัญหามากขึ้น  นักมานุษยวิทยาก็เริ่มถามว่าจะเขียนงานทางชาติพันธ์อย่างไร และในงานเขียนทางชาติพันธุ์จะมีเรื่องที่สมมุติขึ้นหรือไม่

          ความพยายามที่จะละลายความขัดแย้งระหว่างสาขาวิชาต่างๆ ทำให้นักมานุษยวิทยาหลายคนหันมาเขียนงานในเชิงวรรณกรรมมากขึ้น เพื่อที่จะทำให้งานเขียนทางมานุษยวิทยาแบบเดิมๆดำเนินต่อไปได้ เช่น การใส่ใจเรื่อง “ความรู้สึกของผู้แต่ง” (การแสดงตัวของผู้เขียนในฐานะเป็นผู้เล่าเรื่อง และผู้ทำงานภาคสนาม ตรงข้ามกับการเขียนแบบเดิมที่ไม่พูดถึงผู้แต่ง)  การให้ความสำคัญกับความคิดสร้างสรรค์ และเรื่องแต่งทางมานุษยวิทยาทำให้สูญเสียวิธีการค้นหาความจริง ซึ่งมิใช่เป็นแค่เพียงการต่อสู้กันระหว่างความคิดแบบจารีตนิยมที่เชื่อความจริงแท้หนึ่งเดียวกับความคิดที่ไม่เชื่อในความจริงทั้งปวง  หากแต่ยังเป็นการสูญเสียเรื่องราวเชิงนามธรรมในการเขียนวรรณกรรมที่สืบทอดกันมายาวนาน  สิ่งที่เกิดขึ้นในจุดหักเหนี้ก็คือ การท้าทายความรู้ทางวิทยาศาสตร์  การให้ความสำคัญต่อรูปแบบการเขียนมากกว่าเนื้อหาที่ซ่อนอยู่ ทำให้งานวรรณกรรม หรือกวีนิพนธ์กลายเป็นเป้าหมายแรกที่ถูกโจมตี ในขณะที่วิทยาศาสตร์รอดตัวไปได้   การวิจารณ์งานวรรณกรรมทำให้เกิดสาขามานุษยวิทยาวรรณกรรมเกิดขึ้น นอกจากนั้นยังทำให้เห็นว่างานเขียนทางมานุษยวิทยามีข้อวิจารณ์ในเรื่องของวิธีการเขียนและข้อสมมุติฐานเรื่องความจริงแท้  ทั้งนี้ บทกวีทางมานุษยวิทยามีลักษณะเหมือนกับบทกวีทั่วไป นั่นคือเป็นการแต่งเรื่อง มิใช่ความจริง ซึ่งการแต่งเรื่องก็พบได้ในสาขาวิชาต่างๆทางสังคมศาสตร์

          มานุษยวิทยาต่างได้รับแรงบันดาลใจมาจากบทกวีจากสาขาวิชาอื่นๆ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นอาจไม่เหมือนกัน  ถ้าบทกวีทางชาติพันธุ์เป็นกิจกรรมทางมานุษยวิทยาที่โดดเด่นที่สุดในแวดวงวรรณกรรม  บทกวีทางมานุษยวิทยาก็อาจเป็นกิจกรรมทางวรรณกรรมที่โดดเด่นที่สุดในแวดวงมานุษยวิทยาเช่นเดียวกัน  บทกวีเป็นข้อความทางภาษาซึ่งแฝงด้วยความคิดเห็นเชิงวิพากษ์ที่มีต่อโลกและสิ่งต่างๆรอบตัว   สำหรับนักมานุษยวิทยาคิดว่าบทกวีคือการแสดงออกของมนุษย์ซึ่งมีอยู่ทุกวัฒนธรรม หรือเป็นข้อมูลทางมานุษยวิทยาที่อยู่ในรูปของบทกวี  บทกวีในแต่ละวัฒนธรรมจึงมีเรื่องราวทางวัฒนธรรมเกิดขึ้น และมีการเล่าถึงประสบการณ์ภาคสนามของนักมานุษยวิทยา  ถึงแม้ว่าบทกวีจะมิใช่วิทยาศาสตร์ แต่งานวิทยาศาสตร์ที่กระทำโดยนักมานุษยวิทยา ก็อาจถูกเขียนขึ้นเป็นบทกวี กล่าวคือมีการเล่าถึงประสบการณ์การทำงานภาคสนามโดยแต่งออกมาเป็นบทกลอน  ผู้เขียนบทกลอนจะใช้จิตใจความรู้สึกเขียนเรื่องราวด้วยภาษาที่สวยงามให้ออกมาเป็นกวีที่ไพเราะ

          ทาร์น(1991) กล่าวว่าการแต่งเรื่องเปรียบเสมือนการแข่งขันทางวิชาการซึ่งเป็นการปิดกั้นอุปสรรคที่เกิดจากเรื่องส่วนตัว การเมือง และความคิด  การแข่งขันระหว่างศิลปะและวิทยาศาสตร์มิได้ทำให้ศิลปินหมดหนทางที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่   สิ่งที่ศิลปะต่อต้านวิทยาศาสตร์ก็คือระบบเหตุผล แต่ทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปะต่างก็ใช้เรื่องแต่งมาบดบังตนเองทั้งสิ้น  ทั้งศิลปะและวิทยาศาสตร์จึงมิใช่สิ่งที่ขัดแย้งกัน  ความท้าทายของบทกวีสำหรับนักมานุษยวิทยา ก็คือการพัฒนารูปแบบการเขียนและการรายงานข้อมูลอย่างเป็นระบบและน่าพอใจ  รวมทั้งขัดเกลาเรื่องแต่งที่เขียนขึ้นให้มีความถูกต้อง โดยปราศจากการลุ่มหลงเรื่องที่ตนเองต้องการจะเขียน   ความพยายามที่จะเชื่อมโยงให้เห็นประสบการณ์การทำงานภาคสนามของนักมานุษยวิทยา อาจมิใช่เรื่องที่จะอธิบายออกมาง่ายๆ  นักมานุษยวิทยาบางคนอาจเขียนประสบการณ์ของตัวเองเป็นบทประพันธ์ได้ดี แต่บางคนอาจทำไม่ได้

          นักเขียนที่แต่งบทประพันธ์ในทางมานุษยวิทยา อาจทำให้เราเข้าใจประสบการณ์ของคนอื่น โดยผ่านการเปรียบเทียบด้วยภาษาที่งดงามเพื่อทำให้เข้าใจความรู้สึกของมนุษย์  นักประพันธ์ หรือนักวิชาการที่มีความคิดแบบมานุษยวิทยาอาจคิดว่าการเขียนบทกวีเป็นการพูดถึงจิตใจของคนอื่น มากกว่าจะเป็นการบอกเล่าจากผู้เขียน  การเขียนบทประพันธ์จึงเป็นเรื่องของสุนทรียภาพ ซึ่งเป็นการสร้างความหมายให้กับสิ่งที่นักมานุษยวิทยาทำและศึกษา  บทกวีทางมานุษยวิทยาอาจเป็นความคิดเห็นที่มีข้อโต้แย้งได้ ซึ่งต่างจากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์  ความพยายามที่จะพัฒนาการเขียนทางมานุษยวิทยากับการทำงานภาคสนาม บทกวีอาจช่วยให้วิชามานุษยวิทยาดำเนินไปสู่ความคิดเชิงปรัชญาสำหรับนักมานุษยวิทยา และอาจทำให้การเขียนถึงความจริงต่างๆปราศจากความบิดเบือน  ในขณะที่นักมานุษยวิทยาใช้วิธีคิดทฤษฎีและการทำงานที่ต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกัน คือ ทุกคนต่างแสวงหาวิธีการ “บอกเล่าความจริง” ของสิ่งที่เกิดขึ้นในวัฒนธรรมอื่น 


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

David Levinson and Melvin Ember (eds.) Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. 1996. Pp.954-956.

Geertz, Clifford. 1988. Works and lives: The anthropologist as author. Cambridge, UK: Polity.

Hymes, Dell. 1973. An ethnographic perspective. In Special issue: What is literature? New Literary History 5.1: 431–457.

Rapport, Nigel. 1994. The prose and the passion: Anthropology, literature, and the writing of E. M. Forster. Manchester, UK: Manchester Univ. Press.

Strathern, Marilyn. 1987. Out of context: The persuasive fictions of anthropology. Current Anthropology 28.3: 251–281.


หัวเรื่องอิสระ: มานุษยวิทยาวรรณกรรม