คำศัพท์

Initiation Rites

       พิธีกรรมแรกรับ หรือพิธีกรรมรับเข้ากลุ่ม (Initiation Rites) หมายถึง พิธีที่เปลี่ยนสถานะและบทบาทของบุคคล ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นพร้อมกับการรับเข้าไปอยู่ในกลุ่มอายุ เช่น กลุ่มวัยรุ่น กลุ่มผู้ใหญ่ กลุ่มผู้ชาย กลุ่มผู้หญิง  หรือการได้รับสถานะพิเศษ เช่น การเป็นพระ พ่อมดแม่มด หรือกษัตริย์  พิธีกรรมดังกล่าวนี้ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ การนำบุคคลออกจากสถานะเดิม การเปลี่ยนแปลงสถานะ และการรับเข้าไปสู่สถานะใหม่  อาร์โนลด์ แวน เก็นเน็ป(1909) กล่าวถึงพิธีกรรมเปลี่ยนสถานะโดยยกตัวอย่างจากพิธีกรรมหลายๆแห่ง  สังคมมนุษย์ทุกแห่งล้วนมีพิธีกรรมแรกรับและเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และความรู้สึกนึกคิดในช่วงวัยที่เปลี่ยนจากเด็กไปสู่วัยรุ่น 

          วัตถุประสงค์ของพิธีแรกรับในวัยรุ่นคือการสร้างสถานะและบทบาทที่ต่างกันระหว่างชายและหญิง  ชเลเกลและแบร์รีพบว่าไม่มีพิธีแรกรับที่รวมเพศหญิงและเพศชายเข้ามารวมกัน ในสังคม 182 แห่ง มีอยู่ 102 แห่งที่มีพิธีกรรมแรกรับวัยรุ่น แสดงว่าสังคมส่วนใหญ่จะมีพิธีกรรมนี้  สังคม 46 แห่งจะมีพิธีแรกรับที่มีทั้งเพศหญิงและเพศชาย  สังคม 39 แห่งมีพิธีเฉพาะเพศหญิง  สังคม 17 แห่ง มีเฉพาะพิธีแรกรับเด็กชาย และอีก 8 แห่งไม่มีพิธีแรกรับ   การวิเคราะห์ทางสถิติชี้ให้เห็นว่าพิธีกรรมแรกรับที่มีเฉพาะเพศเดียวจะเกิดขึ้นมากกว่า  สังคมส่วนใหญ่ เพศชายจะเข้าไปมีส่วนในพิธีกรรมเฉพาะกลุ่มเด็กผู้ชาย และผู้หญิงจะเข้าพิธีของเด็กผู้หญิง  กิจกรรมที่เกิดขึ้นในพิธีกรรมนี้ ได้แก่ การนวดตัว การอบตัว การอาบน้ำ การระบายสีบนเรือนร่าง หรือทำให้ร่างกายได้รับความเจ็บปวด  สมาชิกในสังคมคิดว่าพิธีกรรมนี้เป็นเครื่องหมายของการเปลี่ยนแปลงสถานะ  สรีระร่างกาย และพฤติกรรม

          ชเลเกลและแบร์รี (1980) อธิบายว่าในพิธีกรรมแรกรับของวัยรุ่นจะเกี่ยวข้องกับบริบททางวัฒนธรรม  พิธีกรรมในสังคม 31 แห่ง  จะมีกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเก็บอาหารและการตกปลา  สังคม 38 แห่งจะจัดพิธีกรรมในสายตระกูลข้างแม่หรือข้างที่เป็นภรรยา  ในสังคมที่ผู้หญิงมีบทบาทในการทำมาหากินจะมีพิธีแรกรับ สังคมประเภทนี้มักจะเป็นสังคมขนาดเล็กและไม่ค่อยมีเทคโนโลยีที่ซับซ้อน   แบร์รีและชเลเกล รายงานว่าสังคมส่วนใหญ่ซึ่งมีพิธีแรกรับสำหรับวัยรุ่น  ความแตกต่างระหว่างเพศจะถูกเน้นย้ำมากตั้งแต่วัยเด็ก    พิธีแรกรับของวัยรุ่นยังตอกย้ำเรื่องความแตกต่างระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย  การเน้นย้ำความต่างทางเพศแบบนี้ทำให้เด็กชายและหญิงสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางสรีระร่างกายได้เมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่น

          พิธีแรกรับเป็นกลไกสำหรับการอนุญาตให้มีอิสระและมีสิทธิพิเศษสำหรับวัยรุ่น  ในสังคมส่วนใหญ่ที่มีการจัดลำดับช่วงชั้นทางสังคมที่ละเอียดซับซ้อน จะไม่มีพิธีแรกรับ และไม่อนุญาตให้วัยรุ่นมีอิสระทางเพศ  แบร์รีและชเลเกล(1986) อธิบายว่าในหมู่สังคมที่มีช่วงชั้นด้วยกันนั้น สังคมที่ให้อิสระทางเพศแก่วัยรุ่นจะเป็นสังคมที่มีพิธีแรกรับ  พิธีแรกรรับจึงเป็นการตอบโต้กับข้อจำกัดในเรื่องพฤติกรรมทางเพศในสังคมที่มีการแบ่งฐานะของคน

          พิธีสำหรับเด็กผู้ชายจะเป็นพิธีขนาดใหญ่และมีความสำคัญมากกว่าพิธีของเด็กผู้หญิง   พิธีของเด็กผู้ชายจะได้รับความสนใจจากนักวิจัยและนักทฤษฎีทั้งหลาย จะพบว่าพิธีของเด็กชายจะปรากฎให้เห็นมากกว่า  การศึกษาของจอห์น เอ็ม ไวทิง(1958) ศึกษาสังคม 56 แห่ง พบว่าพิธีแรกรับสำหรับเด็กชายจะพบมากกว่า กล่าวคือเด็กผู้ชายจะต้องนอนกับแม่ตั้งแต่วัยทารก มีผู้ตีความว่าพิธีนี้เป็นการแก้เคล็ดเนื่องจากเด็กชายต้องพึ่งแม่และเป็นศัตรูกับพ่อ  นอกจากนั้นยังเชื่อว่าตุ๊กตาผู้ชายและผู้หญิงที่มอบให้เด็กคือการมอบสถานะที่สูงส่ง   พิธีแรกรับช่วยให้เด็กชายเปลี่ยนสถานะจากความเป็นหญิงไปสู่ความเป็นชาย

          แฟรง ยัง(1965) ศึกษาสังคม 54 แห่ง พบว่าในสังคมที่มีพิธีแรกรับสำหรับเด็กชาย กลุ่มสังคมของผู้ชายจะมีความเข้มแข็งมาก  ยังเสนอว่าพิธีแรกรับมีหน้าที่สร้างความกลมเกลียวให้กับผู้ชาย แต่การตีความของยังอาจจะใช้ได้เฉพาะกับกลุ่มผู้ชาย แต่ค่อนข้างยากที่จะนำไปอธิบายความกลมเกลียวระหว่างผู้ใหญ่และเด็ก  เนื่องจากสังคมส่วนใหญ่ที่มีความแน่นแฟ้นในกลุ่มผู้ชาย ก็ยังคงมีความสัมพันธ์และติดต่อกับเด็กๆด้วย  เด็กผู้ชายต้องเปลี่ยนแปลงสถานะโดยอาศัยพิธีแรกรับ เพื่อทำให้ตัวเองหลุดจากความดูแลของแม่ไปสู่กลุ่มสังคมของพ่อและผู้ชายคนอื่นๆ  พิธีแรกรับอาจช่วยให้เด็กชายเปลี่ยนบทบาทและสถานะทางสังคมของตัวเอง

          ในพิธีแรกรับของเด็กหญิงจะพบในช่วงที่ย่างเข้าสู่ภาวะเจริญพันธุ์ ซึ่งคนในครอบครัวจะมารวมตัวกันจัดพิธี โดยแยกเด็กหญิงออกมาอยู่ตามลำพังเพื่อเน้นความสำคัญของเพศและการเจริญพันธุ์  ในสังคมส่วนใหญ่ พิธีสำหรับเด็กหญิงจะมีคนในครอบครัวเท่านั้นที่มีส่วนร่วม  สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าทำไมพิธีของเด็กหญิงจึงไม่มีความสำคัญเมื่อเทียบกับพิธีของเด็กชาย  ยัง(1965)อธิบายว่าพิธีแรกรับของเด็กหญิงจะเกิดขึ้นในสังคมที่มีครอบครัวขยายและพ่อมีภรรยาหลายคน  พิธีดังกล่าวนี้จะถูกตีความว่าเป็นการทำหน้าที่สร้างความกลมเกลียวให้กับกลุ่มผู้หญิงที่เป็นภรรยาซึ่งอยู่ในบ้านเดียวกัน การอธิบายนี้คล้ายกับการตีความหน้าที่ของพิธีกรรมในเด็กชาย  แต่พิธีของเด็กหญิงมีความละเอียดซับซ้อนน้อยกว่า

          จูดิธ เค บราวน์(1963) ศึกษาสังคม 75 แห่ง พบว่าพิธีแรกรับสำหรับเด็กหญิงมักจะเกิดในสังคมที่เด็กหญิงต้องอยู่กับพ่อแม่ตลอดแม้ว่าจะแต่งงานแล้ว และผู้หญิงต้องทำงานบ้าน ทำการเพาะปลูก และหาเลี้ยงครอบครัว  พิธีแรกรับจะกลายเป็นพิธีที่ตอกย้ำภาวะเจริญพันธุ์ของเด็กหญิงในสังคมที่ผู้หญิงต้องแต่งงานและยังอยู่กับพ่อแม่หรือทำงานในครัวเรือน  การศึกษาของชเลเกลและแบร์รีพบว่าพิธีของเด็กหญิงจะเกิดในสังคมชนเผ่าซึ่งยังไม่มีเทคโนโลยีที่ซับซ้อน และยังชีพด้วยการล่าสัตว์ป่าเป็นอาหาร  สัตว์ป่าเหล่านี้จะถูกทำให้หวาดกลัวโดยกลิ่นเลือดประจำเดือนของเด็กสาว  กลิ่นของประจำเดือนจะหมายถึงข้อห้ามซึ่งถูกนำมาใช้ในพิธีกรรมสำหรับเด็กหญิง    การศึกษาของมิชิโอ คิตาฮาร่า(1984) พบว่าสังคมส่วนใหญ่ที่มีพิธีแรกรับเด็กหญิงจะมีการใช้ประจำเดือนเป็นข้อห้าม ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการอาหารจากเนื้อสัตว์   คิตาฮาร่าเสนอว่าพิธีแรกรับจะทำเกิดการห้ามมีกิจกรรมทางเพศ  ในสังคมเร่ร่อนซึ่งมีพิธีแรกรับเด้กหญิงจะมีกฎห้ามการมีเพศสัมพันธ์ที่เข้มข้นกว่าสังคมที่ไม่มีพิธีนี้

          พิธีแรกรับสำหรับวัยรุ่นในบางสังคม เด็กๆจะไดรับความเจ็บปวด  การกระทำดังกล่าวนี้ได้รับความสนใจมากเนื่องจากเป็นพิธีกรรมที่หาดูยากและคล้ายกับเป็นการทำทารุณเด็ก   ความเจ็บปวดที่เป็นส่วนหนึ่งในพิธีแรกรับถูกเชื่อว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในพิธีของเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง  ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจะมาจากการขลิบอวัยวะเพศ  การศึกษาสังคม 20 แห่งพบว่าเด็กชายจะถูกขลิบอวัยวะเพศ และมีเพียง 7 แห่งที่เกิดกับเด็กหญิง  การขลิบอวัยวะเพศในเด็กชายและหญิง ก็คือการตัดหนังหุ้มปลายองคชาติ และการตัดหนังหุ้มอวัยวะเพศหญิง  ความเจ็บปวดอื่นๆ ได้แก่ การเฆี่ยนตี การสักลายบนผิวหนัง การถอนฟัน และการกินสิ่งที่น่ารังเกียจ

          ไวทิง, คลักโคน และแอนโธนี(1958) รายงานว่าพิธีแรกรับของเด็กชายเต็มไปด้วยความเจ็บปวด และการขลิบอวัยวะเพศ  ซึ่งเด็กผู้ชายจะต้องเจอกับสิ่งเหล่านี้ตลอดช่วงเวลายาวนานที่ต้องอยู่กับมารดา  ยีฮูดี โคเฮน(1964) เสนอว่าความเหนียวแน่นวนกลุ่มผู้ชายจะเกิดขึ้นเมื่อได้รับความเจ็บปวดในพิธีแรกรับ  บราวน์(1963) อธิบายว่าพิธีแรกรับของเด็กหญิงจะมีความเจ็บปวดเกิดขึ้นเหมือนกับช่วงที่เด็กยังเป็นทารก  การอธิบายในทำนองนี้วางอยู่บนฐานคิดที่เชื่อว่าเด็กหญิงมีความขัดแย้งในอัตลักษณ์ทางเพศ  เด็กผู้หญิงจะถูกสอนให้รู้จักความเป็นหญิงโดยต้องนอนกับแม่ แต่ในช่วงเวลาเดียวกันเด้กหญิงก็พัฒนาลักษณะความเป็นชายขึ้นมาด้วย เนื่องจากในครัวเรือนจะมีอำนาจผู้ชายเป็นใหญ่  ความเจ็บปวดที่เกิดในพิธีแรกรับจะช่วยให้เด็กหญิงยอมรับบทบาทความเป็นผู้หญิงในสังคมซึ่งมีผู้ชายปกครอง

          ชเลเกลและแบร์รี(1980) ได้แยกแยะสภาพทางวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับการมีและไม่มีพิธีแรกรับในสังคมชนเผ่า พบว่าสังคม 55 แห่ง ไม่มีพิธีกรรมนี้เนื่องจากเป็นสังคมเกษตรกรรมและมีความซับซ้อน เช่นเดียวกับสังคมอุตสาหกรรม ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากวัยรุ่นมีโอกาสไปโรงเรียน  พิธีกรรมที่แยกความแตกต่างระหว่างเด็กหญิงและเด็กชายจึงอาจมีความไม่ลงรอยเพราะนโยบายการศึกษาที่ให้เด็กชายและเด็กหญิงเรียนรวมกัน นอกจากนั้นความซับซ้อนของอาชีพ ศาสนา และกลุ่มคนอาจทำให้ชุมชนมีความขัดแย้งได้

          การเติบโตของอวัยวะสืบพันธุ์คือการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่สำคัญซึ่งจะเริ่มเมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่น  ในบางสังคมตระหนักว่าการเริ่มต้นนี้อาจไม่เกี่ยวข้องกับพิธีแรกรับ  ในสังคมชนเผ่าในอเมริกาเหนือ เด็กชายจะได้รับการติดต่อจากวิญญาณ และต้องออกตามหาความเป็นผู้ใหญ่ วิธีการอาจทำโดยการอดอาหารหรือการทรมานตัวเอง พิธีกรรมดังกล่าวนี้ไม่เกี่ยวข้องกับครอบครัวหรือชุมชน ดังนั้นการแสวงหาความเป็นผู้ใหญ่ของเด็กชายจะไม่ใช่พิธีแรกรับ   ในพิธีทางศาสนาบางแห่งอาจเกี่ยวข้องกับเรื่องการเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ เช่นชาวยิวจะมีพิธีเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์สำหรับเด็กชายและเด็กหญิง   ชาวคริสต์จะมีพิธีแบบติสต์หรือการรับเข้าศาสนาซึ่งเกี่ยวข้องกับวัยรุ่น  พิธีเหล่านี้มิใช่พิธีแรกรับเพราะเป็นเรื่องของกลุ่มศาสนามากกว่าจะเป็นเรื่องของชุมชนทั้งหมด

          วัยรุ่นคือช่วงที่สำคัญของชีวิตช่วงหนึ่ง มีพิธีกรรมหลายอย่างเกิดขึ้นในแต่ละช่วงวัย เช่น พิธีการตั้งชื่อ พิธีแต่งงานและพิธีศพ  โคเฮน(1964) แยกความแตกต่างระหว่างลำดับขั้นของช่วงวัย 2 ลำดับ คือ ลำดับอายุ 8-10 ปี เด็กๆจะถูกแยกออกจากบ้านและพี่น้อง  คนในครอบครัวจะมีบทบาทสำคัญในพิธีแรกรับ  ลำดับที่สองจะเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ วัยรุ่นจะต้องเข้าพิธีแรกรับ   พิธีแรกรับสำหรับเด็กชายจะเป็นพิธีทางสังคมโดยเฉพาะในช่วงแรกของการแยกตัวเมื่อเด็กถูกแยกจากครอบครัว  ในประเทศสมัยใหม่ เหตุการณ์ที่เข้ามาแทนพิธีแรกรับก็คือการส่งเด็กเข้าโรงเรียนจนกระทั่งเด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งจะไม่มีพิธีเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์  ในบางพิธีอาจเกี่ยวข้องกับการรับบุคคลหรือกลุ่มคนเข้าเป็นสมาชิกพิเศษ เช่นเข้ากลุ่มพี่น้องร่วมสาบาน หรือกลุ่มอาชีพเดียวกัน  พิธีเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีหรือบุคคลสาธารณะคือพิธีแรกรับบุคคล ซึ่งโทรทัศน์ทำให้คนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นจำนวนมาก

          พิธีแรกรับคือพิธีเปลี่ยนแปลงสถานะ และพิธีแรกรับของวัยรุ่นคือตัวอย่างพิธีที่มีการศึกษามากที่สุด  พิธีดังกล่าวนี้เกี่ยวข้องกับสภาวะเจริญพันธุ์ซึ่งเป็นช่วงที่มีความสำคัญในหลายสังคม จะเห็นได้จากการปฏิบัติต่ออวัยวะเพศและการสร้างความเจ็บปวดให้ร่างกาย  พิธีนี้จะไม่ค่อยปรากฏในสังคมสมัยใหม่ซึ่งเป็นสิ่งที่นักมานุษยวิทยาต้องศึกษาว่าสังคมแบบใดจะมีพิธีแรกรับบ้าง  พิธีแรกรับสำหรับวัยรุ่นเป็นการตอกย้ำความแตกต่างทางเพศ  พิธีสำหรับเด็กชายจะเป็นการสร้างความกลมเกลียวภายในกลุ่มของผู้ชายที่เป็นผู้ใหญ่ ส่วนพิธีสำหรับเด็กหญิงจะเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นแม่ 


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Barker, John 2007. The Anthropology of Morality in Melanesia and Beyond. Ashgate Publishing.

David Levinson and Melvin Ember (eds.) Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. 1996. Pp.652-656.

Mircea Eliade, 1958. Rites and Symbols of Initiation, first edition, New York, NY Harper and Row


หัวเรื่องอิสระ: พิธีแรกรับ