คำศัพท์

Altruism

        Altruism หมายถึง การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และความไม่เห็นแก่ตัว มีข้อถกเถียงทางวิชาการในหลายแง่มุม ทั้งทางจิตวิทยา ชีววิทยา วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์    คำว่า Altruism เริ่มปรากฎในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยการเริ่มต้นจากออกุสต์ คอมท์ ซึ่งอธิบายว่าเป็นความเอื้อเฟื้อ ตรงข้ามกับความเห็นแก่ตัว  

          การศึกษาทางเศรษฐศาสตร์ อธิบายว่าความเอื้อเฟื้อเกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์ในทรัพยากร ซึ่งมนุษย์ต้องการให้และรับทรัพยากรเพื่อประโยชน์บางอย่าง แต่คำถามคือ การแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรเป็นเรื่องทางวัฒนธรรมหรือเป็นสัญชาตญาณตามธรรมชาติ ถ้าการแสวงหาประโยชน์เป็นสิ่งที่มนุษย์แต่ละสังคมให้คุณค่าไม่เท่ากัน จะส่งผลต่อการแสดงความเอื้อเฟื้อแตกต่างอย่างไร การแสดงความเอื้อเฟื้อสัมพันธ์กับความเป็นญาติพี่น้องกับความไม่ใช่ญาติหรือไม่อย่างไร กลุ่มคนกลุ่มไหนที่มนุษย์เลือกแสดงความเอื้อเฟื้อและคนกลุ่มไหนที่ไม่ได้รับความเอื้อเฟื้อ  แม้แต่ความเป็นญาติ มนุษย์จะยังแสดงความเอื้อเฟื้อต่อญาติไม่เหมือนกัน ดังนั้น การศึกษาความเอื้อเฟื้ออาจต้องทำความเข้าใจมิติอื่นๆ เช่น ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ บทบาทหน้าที่ สถานะทางสังคม เพศสภาพ ชนชั้น อายุ และเงื่อนไขอื่นๆ

          นักทฤษฎีวิวัฒนาการทางสังคม เช่น เฮอร์เบิร์ต สเปนเซอร์ เชื่อว่าสังคมคือผลลัพธ์ของปฏิสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อกันในฐานะปัจเจกบุคคล  การแสดงความเห็นใจผู้อื่นเป็นส่วนประกอบของบุคคลที่พยายามลดความสมบูรณ์ของตนเองลงเพื่อเพิ่มความสมบูรณ์ให้กับคนอื่น  ความเห็นใจนี้จะวัดจากผลลัพธ์ทางรูปธรรมที่เกิดกับคนอื่น มิได้ดูจากความรู้สึกของผู้ที่แสดงความเห็นใจ   ดังนั้น มนุษย์และสัตว์ก็สามารถแสดงความเห็นใจผู้อื่นได้เท่าๆกัน  มนุษย์อาจมีความปรารถนาอยากช่วยคนอื่น เพราะว่าสังคมไม่มีอำนาจในตัวเองแต่อาศัยบุคคลในการแสดงออก บุคคลจะแสดงความต้องการทางอารมณ์ออกมาอย่างเต็มที่ ซึ่งหมายความหมายว่าบุคคลยึดถือตนเองเป็นหลัก  การยึดตัวเองอาจเกิดขึ้นโดยผ่านพฤติกรรมที่เป็นการช่วยเหลือพวกของตนก่อน จากนั้นจึงพัฒนาไปสู่การช่วยคนอื่นในเวลาต่อมา    อาจกล่าวได้ว่าผู้ที่มีความเห็นใจคนอื่นค่อยๆพัฒนาความรู้สึกนี้จากการรู้จักให้ เพราะการให้สร้างผลลัพธ์ในเชิงบวกต่อคนในครอบครัวหรือญาติพี่น้องของตนเอง

          ส่วนอีมิล เดอร์ไคม์ อธิบายว่า การให้ความสำคัญกับตนเองเกิดขึ้นโดยแรงขับทางอารมณ์ซึ่งเกิดขึ้นทั้งมนุษย์และสัตว์  ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นเป็นสิ่งที่มีอยู่ในใจมนุษย์ และเป็นสำนึกที่ต้องแสดงออกมาตามหน้าที่  คำอธิบายทางจิตวิทยาเชื่อว่าความเห็นใจเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อการยกระดับสังคมให้สูงขึ้น  ถ้าบุคคลเลี้ยงดูลูกของตัวเองเพื่อหวังจะได้ประโยชน์ทั้งทางกายและสังคมจากลูก บุคคลจะก็แสดงความเห็นแก่ตัวออกมา  แต่ถ้าบุคคลเลี้ยงดูลูกโดยคิดว่าเป็นหน้าที่ตามธรรมเนียมและบรรทัดฐานทางสังคม บุคคลก็จะเลี้ยงดูบุตรด้วยความเห็นอกเห็นใจและเสียสละ      ความเห็นใจในความคิดของเดอร์ไคม์ มิใช่การแสดงออกตามธรรมชาติหรือสัญชาตญาณ แต่ความเห็นใจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายในวัฒนธรรมและสังคม

          อิงโกลด์ (1986) กล่าวว่า ความเห็นใจและเห็นแก่ตัวของมนุษย์เป็นความรู้สึกทางร่างกาย  ทฤษฎีชีววิทยาสังคมอธิบายว่าพฤติกรรมในการบูชาตัวเองเป็นพฤติกรรมที่มีวิวัฒนาการมาจากอดีต  โดยแบ่งเป็น 5 ขั้นตอน เริ่มจากระดับเครือญาติ การแลกเปลี่ยนแบบต่างตอบแทน  การพึ่งพาอาศัยคนอื่น การเลี้ยงดูลูกและการเข้าเป็นสมาชิกในกลุ่ม   ถ้าหากการเห็นใจคนอื่นเป็นพฤติกรรมที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ ลูกหลานที่เกิดมาก็จะได้รับพฤติกรรมนี้ต่อจากพ่อแม่   แต่พฤติกรรมในสัตว์บางชนิดไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความเป็นญาติทางสายเลือด

          การแลกเปลี่ยนแบบต่างตอบแทน อาจเห็นได้จากค้างคาวที่ดูดเลือดให้กันและกัน หรือมดที่พึ่งพาอาศัยต้นอะคาเซีย    การพึ่งพาอาศัยคนอื่นอาจทำให้เกิดการเห็นอกเห็นใจกัน เช่นปาราสิตที่อยู่ในรังของนกพึ่งพาอาศัยอาหารในรังนก   การเลี้ยงดูบุตรอาจทำให้ผู้เป็นพ่อเป็นแม่เกิดความรู้สึกเห็นใจลูกที่ตนเองให้กำเนิดมา ส่วนการเข้าเป็นสมาชิกในกลุ่มเป็นประเด็นที่ยังมีข้อถกเถียงในเชิงทฤษฎีว่าเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการเห็นใจหรือไม่  มีความเชื่อว่าคนที่แสดงความเห็นใจผู้อื่นเป็นคนที่ดี กลุ่มที่มีคนประเภทนี้อยู่มากก็จะไม่มีการแข่งขัน กลุ่มก็จะดำรงอยู่ได้ และมีโอกาสที่จะขยายพรมแดนของกลุ่มออกไปได้กว้างขวางแทนที่กลุ่มที่เต็มไปด้วยคนที่เห็นแก่ตัว

          อย่างไรก็ตาม  ทฤษฎีเกี่ยวกับการเป็นสมาชิกในกลุ่มยังคงมีความขัดแย้งและไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน เพราะยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าความเห็นใจจะทำให้กลุ่มอยู่รอด  ความเห็นใจในระดับปัจเจกอาจกลายเป็นความเห็นแก่ตัวได้    เดอร์ไคม์กล่าวว่าปัจเจกบุคคลต้องแสดงความเห็นใจออกมา เพราะต้องการทำให้คนอื่นพึงพอใจ เดอร์ไคม์เชื่อว่าสังคมพัฒนาการมาจากการคัดเลือกสมาชิกในกลุ่มที่มีความเห็นใจ แต่ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับสถิติที่จะอธิบายว่าสัดส่วนของผู้เห็นใจในกลุ่มมีมากน้อยแค่ไหนเมื่อเปรียบเทียบกับการอยู่รอดของกลุ่ม

          อีริค ไมเคิล จอห์นสัน นักมานุษยวิทยาสายวิวัฒนาการกล่าวว่าในสังคมชนเผ่าซีพู ในประเทศคองโก การเห็นแก่ตัวเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการเอาชีวิตรอด ทำให้การออกไปล่าสัตว์กับกลุ่มคือการแสวงหาประโยชน์ให้กับตัวเอง  ข้อสังเกตนี้ ชี้ให้เห็นว่าการทำงานทางสังคมก็คือการใช้แรงงานของผู้อื่นเพื่อประโยชน์ของตัวเอง เช่น การรวมกลุ่มจับปลาในลำธาร ชาวซีพูจะจับปลาให้กับตัวเองมากกว่าที่จะจับให้ผู้อื่น  จอห์นสันเชื่อว่าพฤติกรรมของชาวซีพูมิใช่เรื่องทางศีลธรรม การจับปลาหรือล่าสัตว์เพื่อให้ตนเองมีอาหารกินเป็นเพียงการเอาตัวรอด มิใช่เรื่องของการไร้น้ำใจแต่อย่างใด กรณีนี้อาจชี้ให้เห็นว่าการตัดสินว่าอะไรคือความเอื้อเฟื้อและความเห็นแก่ตัวในสังคมอื่น เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เราไม่สามารถนำเอามาตรฐานทางศีลธรรมของเราไปตัดสินความเอื้อเฟื้อในวัฒนธรรมอื่นได้

          วิลค์ (1993) ตั้งข้อสังเกตว่าการศึกษาเรื่องความเอื้อเฟื้อและความเห็นแก่ตัว ควรจะทำความเข้าใจวิธีปฏิบัติของบุคคลในสถานการณ์ต่างๆที่มีการไกล่เกลี่ยต่อรอง มากกว่าที่จะอธิบายเพียงโครงสร้างหน้าที่ทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และประเพณี เพราะการแบ่งแยกคู่ตรงข้ามระหว่างการเอื้อเฟื้อและความเห็นแก่ตัวอาจจะหยาบเกินไปในการทำความเข้าใจพฤติกรรมทางสังคมที่เกิดขึ้น สิ่งสำคัญคือ ต้องเข้าใจกระบวนทัศน์ที่นำมาใช้ตีความเรื่องเหล่านี้ เช่น ระบบเหตุผลแบบวิทยาศาสตร์และเศรษฐศาสตร์มีผลต่อการสร้างคำอธิบายเกี่ยวกับความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เป็นการทำให้พฤติกรรมของมนุษย์เป็นเรื่องทางวัตถุวิสัยและการมุ่งแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากร


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

David Levinson, Melvin Ember (eds.) Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. 1996. Pp.50-52.

Wilk, Richard. 1993. Altruism and Self-Interest: Toward An Anthropological Theory of Decision Making. Research in Economic Anthropology, Vol.14, 191-212.


หัวเรื่องอิสระ: ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่