คำศัพท์

Grief and Mourning

ความเสียใจหมายถึงการตอบสนองทางอารมณ์และความคิดของบุคคลที่รู้สึกสูญเสีย  การไว้ทุกข์หมายถึงพฤติกรรมหรือการกระทำในพิธีกรรม ในแต่ละวัฒนธรรมจะมีคำอธิบายเพื่อความโศกเศร้า หรือเพื่อให้ที่กำลังโศกเศร้าเนื่องจากสูญเสียคนที่รัก  ความแตกต่างระหว่างความเศร้ากับการไว้ทุกข์ คือ ความเศร้าเป็นพฤติกรรมส่วนบุคคลที่วัฒนธรรมมีส่วนกำหนด  แต่ความเศร้ากับการไว้ทุกข์มีความหมายที่ใกล้เคียงกัน เนื่องจากเป็นเรื่องยากที่จะตั้งกฏเกณฑ์ที่แน่นอนว่าผู้ที่สูญเสียจะแสดงความเศร้าอย่างไร และเมื่อไหร่จึงจะต้องไว้ทุกข์

          ความเศร้าอาจเป็นการตอบสนองทางจิตขั้นพื้นฐานของมนุษย์ เมื่อคนๆนั้นพบกับการสูญเสีย การแสดงความเศร้าของมนุษย์จะต่างกันไปในแต่ละวัฒนธรรม  รวมทั้งขึ้นอยู่กับความเชื่อทางศาสนา โครงสร้างสังคม ระบบความหมาย สถานภาพและบทบาททางเพศ ตลอดจนระบบเศรษฐกิจ  ตัวอย่างเช่น ในสังคมญี่ปุ่น คำว่า “โม” หมายถึงความเศร้าโศกเสียใจเพราะสูญเสียคนรัก   คำว่า “ฮิตัน” หมายถึงความเสียใจที่ไม่เฉพาะเจาะจง

          นักมานุษยวิทยาพยายามตั้งข้อสังเกตต่างไปจากความคิดเชิงจิตวิทยาของตะวันตกซึ่งมองความเศร้าเป็นเรื่องอารมณ์ส่วนบุคคล โดยชี้ให้เห็นความแตกต่างทางสังคมที่มีส่วนกำหนดการแสดงความเศร้า ความเศร้าในแต่ละวัฒนธรรมจึงมีความหมายต่างกัน   วัฒนธรรมแต่ละแห่งจะนิยามการสูญเสียต่างกัน และให้ความหมายต่างกันด้วย   วัฒนธรรมจะกำหนดวิธีการตอบสนองและแสดงออกความเศร้า และการสูญเสียของมนุษย์ ดังนั้น ความหมายของความเศร้า การไว้ทุกข์ และการสูญเสียจึงต่างกันในแต่ละวัฒนธรรม

          การศึกษาความเศร้าในวัฒนธรรมอื่นจึงต้องเข้าใจวิธีคิดและประสบการณ์ของคนในวัฒนธรรมนั้น  เช่น ในบางสังคมที่ไม่มีแนวคิดเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดินก็จะไม่มีความเศร้าเมื่อต้องเสียที่ดิน หรือในสังคมที่ไม่มีความคิดเรื่องขวัญ ก็จะไม่แสดงอาการสูญเสียขวัญออกมา เป็นต้น

          เมื่อมนุษย์ต้องสูญเสียบางสิ่งที่สำคัญมาก มนุษย์จะแสดงความเศร้าเป็นเวลานาน บางทีอาจตลอดชีวิต แต่การแสดงความเศร้ายังขึ้นอยู่กับบุคคล  คนที่สูญเสียของรักที่ยิ่งใหญ่ก็จะมีความเศร้ามากกว่าคนอื่นๆ  ถ้าเป็นการสูญเสียในระดับสังคม เช่น สงคราม หรือการทำลายล้างสิทธิของคนหมู่มาก การสูญเสียนี้ก็จะทำให้เกิดความเศร้าทางสังคม ซึ่งวัฒนธรรมจะเป็นตัวกำหนดว่าคนจะแสดงออกอย่างไร และด้วยวิธีการใดบ้าง  การแสดงออกเหล่านี้จะเป็นที่รับรู้กันเอง และคนจะปฏิบัติตาม ในบางวัฒนธรรมอาจมีการปกปิดมิให้แสดงความเศร้า และบางวัฒนธรรมก็แสดงความเศร้าเป็นเวลานาน

          ความเศร้าอาจทำให้บุคคลตัดขาดจากสังคม และสังคมอาจต้องให้ความดูแล  พิธีไว้ทุกข์อาจเกิดขึ้นในบางสถานการณ์ เช่น ผู้ที่สูญเสียอาจแยกตัวออกจากคนอื่นๆในช่วงที่มีการไว้ทุกข์ และคนอื่นๆต้องคอยดูแลคนเหล่านี้ไปพร้อมๆกัน   การแยกตัวของผู้ที่สูญเสียออกจากสังคม และการไว้ทุกข์อาจแตกต่างกันในแต่ละวัฒนธรรม    พิธีการไว้ทุกข์ให้กับคนตายมีรูปแบบที่หลากหลาย  และยังมีส่วนกำหนดวิธีการแสดงความเศร้าให้กับบุคคล ทั้งในแง่สังคมและอารมณ์ความรู้สึก  การไว้ทุกข์ยังสร้างกระบวนการเปลี่ยนสถานะของคนตายจากสภาวะที่มีชีวิตไปสู่สภาวะของความตาย และนำคนที่เศร้าโศกจากการไว้ทุกข์ไปสู่การเลิกไว้ทุกข์ ความตายอาจหมายถึงเหตุการณ์สำคัญของชีวิต หรือเป็นเหตุการณ์ที่ประกอบด้วยการกระทำต่างๆหลายอย่าง

          สังคมหลายแห่ง มีการไว้ทุกข์เป็นเวลานาน หลายเดือนหรือหลายปีนับตั้งแต่ที่มีคนตาย  ช่วงเวลาของการไว้ทุกข์ขึ้นอยู่กับความพร้อมในเรื่องทรัพยากรและพิธีกรรม หรืออาจขึ้นอยู่กับสภาพของศพที่จะเก็บรักษาไว้ หรือขึ้นอยู่กับเงื่อนไขอื่นๆ  ช่วงของการไว้ทุกข์ อาจมีคนบางคนได้รับความลำบาก สังคมอาจช่วยเหลือให้คนที่ไว้ทุกข์ได้รับความสะดวกเพื่อลดอุปสรรคในการทำงาน  การไว้ทุกข์ยังขึ้นอยู่กับบทบาททางสังคม  ฐานะทางเศรษฐกิจ และตัวบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคนตาย เช่น บุคคลที่ถูกเชื่อว่าทำให้ผู้อื่นตาย เป็นต้น  สิ่งที่ท้าทายนักมานุษยวิทยาก็คือ การทำความเข้าใจกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเปลี่ยนแปลงความคิดและการแสดงออกเกี่ยวกับความเศร้าและการไว้ทุกข์  เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่คงที่ หรือไม่มีมาตรฐานเดียว ความหมายของความเศร้า และการไว้ทุกข์ เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหา การต่อรองและการขจัดความขัดแย้ง


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Klass, Dennis. "Ancestor Worship in Japan: Dependence and the Resolution of Grief." Omega: The Journal of Death and Dying 33, no. 4 (1996):279–302.

Read more: http://www.deathreference.com/Gi-Ho/Grief-and-Mourning-in-Cross-Cultural-Perspective.html#ixzz3dTRMaPzC

Paul C. Rosenblatt.  1996. “Grief and Mourning” In David Levinson and Melvin Ember.(eds.) 1996. Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company. New York. Pp.548-549.

Rosenblatt, Paul C., Patricia R. Walsh, and Douglas A. Jackson. 1976 Grief and Mourning in Cross-cultural Perspective. New York: Human Relations Area Files Press


หัวเรื่องอิสระ: ความโศกเศร้า