คำศัพท์

Gossip

           การนินทา เป็นพฤติกรรมทางสังคมชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเหมือนเป็นเกมส์ สมาชิกในกลุ่มจะใช้การนินทาเพื่อธำรงรักษาความแน่นแฟ้นของกลุ่ม ซึ่งเมื่อมีการนินทาใครสักคนก็จะเกิดการตัดสินและประเมินคุณค่าพฤติกรรมของคนๆนั้น  แม็ก กลั๊กแมน(1963) กล่าวว่าการนินทาเป็นเครื่องมือในการควบคุมทางสังคมและสร้างสังคมของกลุ่ม เป็นการควบคุมพฤติกรรมที่ยอมรับไม่ได้ให้อยู่ในขอบเขต  กลั๊กแมน  ศึกษาการนินทาด้วยทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่   ซึ่งมองว่าการนินทาจะช่วยให้สังคมดำรงอยู่ได้  การนินทาได้แยกพรมแดนระหว่างพฤติกรรมที่น่ายกย่องกับพฤติกรรมที่น่าตำหนิออกจากกัน ซึ่งทำให้สังคมกลมเกลียว และช่วยควบคุมความขัดแย้งไม่ให้ปะทุขึ้นมา  

          ในบางสังคม การนินทาหมายถึงพฤติกรรมบางอย่างของบุคคล เช่น ในวัฒนธรรมของชาว Nukulaelae Atoll ในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลาง มีคำที่มีความหมายใกล้เคียงกับ “นินทา” คือ Fatufatu หมายถึงการแต่งเรื่องเล่า   ซึ่งความหมายของการนินทาจะเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของผู้หญิง  แต่ในกรณีของผู้ชายจะมีคำเรียกว่า Sauttala หมายถึงการคุย  ถ้าหากผู้ชายในเผ่าคนใดมีการพูดในแบบนี้จะถูกมองว่าไม่ค่อยเป็นผู้ชายเท่าไรนัก ถึงแม้ว่าการพูดคุยของผู้ชายจะมีลักษณะคล้ายกับการพูดของผู้หญิงก็ตาม   การสนทนาของผู้หญิงมักจะเป็นการพูดแบบติเตียน ส่วนการพูดของผู้ชายจะพูดเป็นกลางๆ จากการสังเกตการพูดในหลายวัฒนธรรมจะพบว่าผู้ชายมักจะพูดตำหนิการกระทำของผู้หญิง และแยกบทบาททางเพศออกมาชัดเจน

          การหานิยามที่เป็นสากลของการนินทาจึงเป็นเรื่องยาก เนื่องจาก การนินทาจะเกิดขึ้นบนเงื่อนไขที่ต่างกันไปตามสถานการณ์ และตามการตีความของคนในสังคมเดียวกัน  ความหมายของการนินทาอาจจะเกี่ยวข้องกับเรื่องลักษณะวิธีของการพูดที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้ตลอด  แนวคิดทฤษฎีที่จะเข้าใจการนินทาเท่าที่มีอยู่ยังขาดเรื่องรายละเอียดเกี่ยวกับการนินทาในวัฒนธรรมต่างๆ เพราะการศึกษาเรื่องนี้เป็นเรื่องยากด้วยเหตุผลหลายประการ  ประการแรกคือ การนินทาเกิดขึ้นในพื้นที่ส่วนตัวมาก เฉพาะผู้ที่รู้จักกัน นักมานุษยวิทยาไม่อาจเข้าไปยุ่งเกี่ยวได้  ถึงแม้จะมีการให้ข้อมูลว่าสังคมมีการนินทาเกิดขึ้น แต่การนินทาดังกล่าวก็มีความแตกต่างกัน การนินทาที่นักมานุษยวิทยาได้รับข้อมูลมาจากชาวบ้าน  ต่างไปจากการนินทาที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านเอง    เหตุผลประการที่สอง คือ การศึกษาเรื่องการนินทาในฐานะเป็นวิธีการสื่อสาร หรือพฤติกรรมทางสังคม ต้องอาศัยความเข้าใจในภาษา  บรรทัดฐานทางสังคม และข้อสันนิษฐาน พอๆกับต้องคุ้นเคยกับชีวิตของคนที่นินทาและถูกนินทาเป็นการส่วนตัว   ตัวอย่างเช่น การนินทาในเผ่า Nukulaelae Atoll มักจะไม่เอ่ยชื่อของผู้ที่ถูกนินทา  นอกจากนั้น ผู้ร่วมวงสนทนาก็อาจเดาไม่ออกว่าคนที่ถูกนินทานั้นคือใคร

          นักมานุษยวิทยาที่ศึกษาประเด็นการเมือง ให้ความสำคัญกับเรื่องบริบททางสังคมที่การเมืองเข้าไปพัวพัน  ซึ่งเป็นไปได้ที่สังคมต่างๆจะมีเงื่อนไขทางการเมืองแอบแฝงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นในครัวเรือน หรือพื้นที่ส่วนตัว  การนินทาในฐานะเป็นรูปแบบหนึ่งของกระทำทางการเมืองจึงให้ความสำคัญกับเรื่องพฤติกรรมของบุคคล  การนินทาจึงเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่มีพลัง และสามารถกำหนดระเบียบศีลธรรมและข้อห้ามทางสังคมต่างๆได้  การตีความของกลั๊กแมน เกี่ยวกับเรื่องหน้าที่ของการนินทาถูกวิจารณ์โดยโรเบิร์ต เพน     เพนกล่าวว่าการนินทาของบุคคลมีเป้าหมายหรือความต้องการต่างกัน การนินทามิใช่การรักษาความสามัคคีแต่เป็นเรื่องพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลง หรือ Transactional

          แองเกิล แมรี อธิบายว่าการนินทายังมีมิติอื่นๆ เช่น มิติทางสุนทรียะ มิติของการจัดการภายในกลุ่มซึ่งใช้การแสดงออกด้วยวาจา และคำพูดต่างๆ       การศึกษาของแมรีชี้ว่า ข้อสันนิษฐานของกลั๊กแมนและเพนยังขาดๆเกินๆ เพราะการนินทาอาจเป็นทั้งการสร้างความกลมเกลียว และความต้องการส่วนตัวไปพร้อมกันได้  ความต้องการของผู้พูดอาจจะไม่เหมือนกับความต้องการของกลุ่ม  นักมานุษยวิทยารุ่นแรกๆอาจมองข้ามในประเด็นนี้ไป โดยเฉพาะเรื่องบทบาทของผู้ฟัง

          ในบางสังคม เช่นเผ่า Bhatgoan ในฟิจิ ผู้พูดและผู้ฟังอาจเป็นคนๆเดียวกัน เพราะการนินทาเกิดขึ้นจากการพูดของคนทุกคนในกลุ่ม และเรื่องที่ถูกนินทาก็เปลี่ยนไปได้ตลอดเวลา   ในบางสถานการณ์ที่ผู้พูดสามารถพูดได้เต็มที่โดยไม่มีใครขัดจังหวะ การนินทาก็ยังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามความต้องการและปฏิกิริยาของผู้ฟังเช่นกัน    ตัวอย่างเช่น การนินทาในเผ่า Nukulaelae   อาจมีจังหวะหยุดชะงักลงเพื่อฟังคำพูดของคนอื่น หรือเพื่อที่จะวิจารณ์เหตุการณ์ที่อื้อฉาวที่กำลังถูกนินทา   การนินทาเป็นพฤติกรรมที่ถูกสร้างขึ้นจากคนหลายคนที่ร่วมวงสนทนา ซึ่งเป็นสิ่งที่นักมานุษยวิทยาสามารถศึกษาได้

          ถึงแม้ว่าการนินทาจะพบเห็นได้ในหลายวัฒนธรรม  แต่ผู้ที่ถูกนินทาอาจได้รับผลที่ต่างกันไป หากการนินทาเสมือนเครื่องมือทางการเมือง การนินทาก็จะเป็นการไตร่ตรองเพื่อจะให้คุณค่าอย่างหนึ่งอย่างใดต่อสังคม เหมือนกับการพูดล้อ กับการพูดจริงจัง  ผลที่ตามมาจาการนินทา โดยเฉพาะกับบุคคลที่ถูกนนินทาเป็นสิ่งที่นักมานุษยวิทยาให้ความสนใจ  การศึกษาเรื่องผลกระทบของการนินทาอาจแตกต่างกันไปตามเงื่อนไข แต่ให้คำตอบที่ต่างไปจากการศึกษาในแนวโครงสร้างหน้าที่    การเข้าใจผลที่เกิดจากการนินทาอาจช่วยให้มองเห็นบริบททางสังคมและการเมืองที่ใหญ่ขึ้นไป  แมรีอธิบายว่า การนินทาอาจส่งผลทางเศรษฐกิจ โดยทำให้ผู้ที่ถูกนินทาไม่ได้รับทรัพยากร  ส่วนผลทางการเมืองอาจทำให้บุคคลได้รับการสนับสนุน และมีบางคนถูกปฏิเสธ ซึ่งเป็นความไม่เท่าเทียมกัน และไม่มีโอกาสโต้ตอบ

          ผลทางสังคมอาจเป็นเรื่องการเนรเทศ การเย้ยหยัน หรือทำให้ได้รับความตาย   แต่การนินทาอาจไม่ส่งผลใดๆเลย  คนที่ถูกกีดกันจากสังคมทนต่อการนินทา และใช้การนินทาแสวงหาประโยชน์ให้กับตัวเองได้  รูปแบบและตัวอย่างของการนินทาอาจสร้างผลลัพธ์บางอย่างตามมา แต่ในบางแห่งการนินทาก็อาจเป็นเรื่องที่ผ่านมาผ่านไป ไม่ใช่สิ่งสำคัญ   ประเด็นที่คาบเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ การนินทาสร้างประโยชน์และอันตรายให้กับใคร  เนื่องจากการนินทาเป็นเรื่องของความไม่แน่นอน อาจเป็นเครื่องมือสำหรับการขัดขื่น หรือการต่อต้านสำหรับกลุ่มคนที่ขาดช่องทางในการแสดงออกทางการเมือง  การนินทาจึงช่วยให้คนได้พูดเพื่อตัวเองหรือเพื่อกลุ่ม เช่น พวกหนุ่มสาว กลุ่มสตรี หรือคนชั้นล่าง คนเหล่านี้มักจะถูกกีดกันออกจากการเมือง   กลุ่มคนที่ไร้อำนาจเหล่านี้อาจใช้การนินทาเพื่อเปลี่ยนแปลงสถานภาพ แต่อาจมีคำถามว่า การเมืองในสถานการณ์ไหนที่จะทำให้คนเหล่านี้ใช้การนินทาเป็นเครื่องมือได้บ้าง

          ในทางกลับกัน การนินทายังอาจเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจเพื่อที่จะควบคุมคน ทรัพยากร และวัตถุต่างๆ ซึ่งตอกย้ำความไม่เสมอภาคให้ดำเนินต่อไป ตัวอย่างเช่น เผ่าKwanga ในปาปัวนิวกินี  หัวหน้าเผ่ามักจะพูดถึงความสามารถของตนเองในการติดต่อกับผีและวิญญาณ การพูดโอ้อวดนี้ก็เพื่อทำให้ตนมีสถานะเด่น และทำให้คู่แข่งเกิดความเกรงขาม  อาจกล่าวได้ว่าผู้ที่ได้และเสียประโยชน์จากการนินทา ขึ้นอยู่กับกลุ่มทางสังคมที่เกิดขึ้นในเวลานั้น  นักมานุษยวิทยาในปัจจุบันต่างตระหนักในเรื่องผลที่ตามมาของการนินทา เช่น การนินทาเพื่อปลุกปั่นให้แตกแยก หรือ ทะเลาะวิวาท    แต่การนินทาอาจทำให้ความขัดแย้งเบาบางได้ในบางกรณี  และยังอาจช่วยลดการเผชิญหน้าที่รุนแรงได้

          กู้ดวินอธิบายว่า เด็กๆอเมริกันผิวดำ ซึ่งมาจากชนชั้นแรงงานในเมืองฟิลาเดลเฟีย มีการพูดหยอกล้อกันเกี่ยวกับการนินทาที่มีอยู่ ซึ่งเป็นความซับซ้อนของการพูด เรื่องที่พูดเกี่ยวข้องกับคนหลายคน และเปิดโอกาสให้เด็กๆแสดงความก้าวร้าวได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบ หรือต้องเผชิญหน้ากับการใช้กำลังทางร่างกาย   ในขณะเดียวกัน ผู้ที่ถูกนินทาก็ยังคงปลอดภัย  อย่างไรก็ตามไม่ว่าการนินทาจะช่วยทำให้ความขัดแย้งหนักขึ้นหรือว่าอาจทำให้รักษาสัมพันธภาพต่อไป การนินทาก็ยังเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์ที่เป็นอยู่     การนินทาในฐานะเป็นวิธีการสื่อสาร และการแสดงออกทางสังคม สามารถเข้าใจได้แต่เพียงการตรวจสอบตัวอย่างการพูดคุยทั่วๆไป   ถึงแม้ว่ารายละเอียดของการพูดคุยเช่นนี้จะเป็นเรื่องธรรมดาและไม่น่าจะนำมาเป็นข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ได้  แต่ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะสืบหารูปแบบทางภาษาของการนินทา นอกเหนือไปจากวิเคราะห์เรื่องการแปลความหมายและถอนความเพียงอย่างเดียว

          ข้อค้นพบสำคัญในการศึกษารายละเอียดของการนินทาก็คือ  การนินทามิใช่เครื่องมือทางการเมืองหากแต่เป็นรูปแบบของการแสดงออกส่วนบุคคล  บริบทของการสนทนาจะช่วยให้ผู้พูดมีโอกาสแสดงความคิดสร้างสรรค์ส่วนตัว เพื่อตอบสนองความพึงพอใจต่อทุกๆคนในวงสนทนา   การศึกษาในแนวนี้ได้แก่งานวิจัยของโรเจอร์ อะบราฮัม  ในเรื่องการนินทาในหมู่บ้าน เซนต์ วินเซนต์ ในหมู่เกาะทะเลแคริบเบียน และการศึกษาของโดนัลด์ เบรนไนเรื่องการนินทาในชุมชนชนบทบนเกาะฟิจิ      เบรนไนอธิบายว่าการนินทาของชาวฟิจิคล้ายๆกับทำนองเพลงเป็นจังหวะ มีการพูดซ้ำกันบ้าง คล้ายๆกันบ้าง และ มีการใช้คำหลายคำ  การนินทาแบบนี้เหมือนกับการทำให้กลุ่มดำรงอยู่ ซึ่งสมาชิกจะรู้สึกพอใจและมีความเท่าเทียมกัน

          ในหลายๆสังคม การนินทามีลักษณะเป็นการเมืองควบคู่ไปกับการเป็นสุนทรียะ ลักษณะดังกล่าวนี้ช่วยให้การนินทาเป็นเรื่องการแสดงออกทางสังคม  คำถามมากมายที่นักมานุษยวิทยาถามเกี่ยวกับเรื่องการนินทาก็คือ การตระหนักว่าการนินทาเป็นทั้งโครงสร้างการเมืองทางสังคมของกลุ่ม   และเป็นสิ่งที่รับรู้กันเฉพาะคนในกลุ่ม  อาจกล่าวได้ว่า การนินทาช่วยหล่อหลอมโครงสร้างสังคมและสถานภาพของบุคคล และยังช่วยให้บุคคลรู้จักปรับเปลี่ยนตนเองไปตามสภาวะต่างๆ   การทำความเข้าใจเรื่องการนินทาจึงเป็นการตรวจสอบความสัมพันธ์ของบุคคล และตรวจสอบโครงสร้างสังคมที่บุคคลนั้นดำรงอยู่


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Max Gluckman, ‘Gossip and Scandal’, Current Anthropology 4:3 (1963), 307-16)

Niko Besnier ใน David Levinson and Melvin Ember (eds.) 1996. Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. Pp.544-547.

Peter J. Wilson, ‘Filcher of Good Names: An Enquiry into Anthropology and Gossip’, Man new series 9:1 (1974), 93-102)

Ralph L. Rosnow and Gary Alan Fine, 1976. Rumor and Gossip: The Social Psychology of Hearsay. New York: Elsevier

Robert Paine, ‘What is Gossip About? An Alternative Hypothesis’, Man new series 2:2 (1967), 278-85)

Robin Dunbar, Grooming, 1996. Gossip and the Evolution of Language. London: Faber and Faber


หัวเรื่องอิสระ: การนินทา