คำศัพท์

Gesture

           การแสดงออกทางท่าทาง (Gesture) ของมนุษย์เป็นการสื่อสารความหมายชนิดหนึ่ง ซึ่งท่าทางอาจใช้เป็นสัญลักษณ์ มีการจัดระเบียบของการเคลื่อนไหวทางร่างกายและอวัยวะต่างๆ  ท่าทางการเคลื่อนไหวนี้อาจปรากฎอยู่ในกิจกรรมต่างๆ เช่น ศิลปะการป้องกันตัว การเล่นกีฬา การเต้นรำ การแสดง การประกอบพิธีกรรมและงานเฉลิมฉลองต่างๆ การเคลื่อนไหวร่างกายเหล่านี้ล้วนมีแบบแผนที่ชัดเจน        ท่าทางของการเคลื่อนไหวร่างกายบางอย่างอาจไม่เป็นที่สังเกต เช่น การกินอาหาร การแต่งกาย การเดิน การนั่ง การทำงานที่ต้องออกแรง การตกปลา การทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เป็นต้น  การเคลื่อนไหวร่างกายในกิจกรรมเหล่านี้แตกต่างกันในแต่ละวัฒนธรรม  มนุษย์อาจจะไม่สังเกตเห็นว่าตนเองเคลื่อนไหวร่างกายอย่างไร เช่น การแสดงสีหน้า การยกมือ การแสดงกิริยาอาการต่างๆ และการติดต่อสัมพันธ์กับคนอื่นๆ 

          การศึกษาการเคลื่อนไหวร่างกายเป็นสิ่งที่นักมานุษยวิทยาให้ความสำคัญมาเป็นเวลานาน  เนื่องจากเงื่อนไขทางวัฒนธรรมจะเป็นตัวควบคุมร่างกายของมนุษย์  แต่วัฒนธรรมตะวันตกมองข้ามสิ่งเหล่านี้ แนวคิดของเดส์คาร์ต ได้แยกความคิดของจากร่างกายเพื่ออธิบายเหตุผลแบบวิทยาศาสตร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 17  แนวคิดของเดส์คาร์ตมีอิทธิพลต่อสังคมศาสตร์ ทำให้เกิดความรู้ที่อธิบายว่าจิตใจของมนุษย์เป็นบ่อเกิดของเหตุผล ภาษา ความคิด และความรู้ ตรงข้ามกับร่างกายที่ถูกมองว่าเป็นวัตถุที่เป็นบ่อเกิดของความไร้เหตุผล การแสดงอารมณ์ และความรู้สึกที่ปรวนแปร   นอกจากนั้น แนวคิดของดาร์วินยังทำให้เกิดความคิดที่ว่าธรรมชาติตรงข้ามกับวัฒนธรรม มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีวัฒนธรรมและเจริญกว่าสัตว์อื่นๆ    ตามธรรมเนียมคริสต์ศาสนา ร่างกายเปรียบเสมือนที่อยู่ของบาป กิเลส ตัณหา ราคะ อารมณ์ และการฉ้อฉล  ตรงข้ามกับความคิดและการทำงานศิลปะซึ่งเป็นสิ่งที่น่ายกย่องและเป็นหนทางไปสู่ความรุ่งโรจน์

          จากความเชื่อนี้ทำนักเดินทางชาวตะวันตกและมิชชันนารีในคริสต์ศตวรรษที่ 19 คิดว่าคนพื้นเมืองเป็นพวกแปลกพิศดาร  เพราะไม่เคยเห็นพิธีกรรมและการแสดงที่แปลกๆ ท่าทางและการเต้นรำของคนป่าที่น่าพิศวง คนพื้นเมืองจึงกลายเป็นคนที่ไร้อารยธรรมในสายตาของตะวันตกที่คิดว่าตัวเองมีเจริญกว่า  ยิ่งชาวตะวันตกใช้มาตรฐานทางความคิดของตัวเองมากเท่านั้น คนพื้นเมืองก็ยิ่งถูกมองในแง่ลบมากขึ้นเท่านั้น   ชาวตะวันตกจึงพยายามที่จะเปลี่ยนคนป่าให้มีอารยะมากขึ้น โดยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมต่างๆ เช่น สอนให้นุ่งผ้า แต่งกายแบบตะวันตก ตัดผมให้สั้น กินอาหารด้วยช้อน รักษามารยาท และกริยาอาการต่างๆเมื่อออกสังคม เป็นต้น 

          การศึกษาของนักมานุษยวิทยาอังกฤษ เอ็ดเวิร์ด บี ไทเลอร์(1878)  พบว่าชนชั้นสูงของอังกฤษยุควิคตอเรียนมีทัศนะคติเชิงลบต่อเรื่องการแสดงท่าทางและกิริยาอาการที่เป็นไปตามธรรมชาติ  ไทเลอร์อธิบายว่าท่าทางและภาษาเชิงสัญลักษณ์เป็นภาษาตามธรรมชาติ มีความเรียบง่ายไม่ซับซ้อนเหมือนภาษาเขียน   การแสดงกิริยาท่าทางของมนุษย์จึงเป็นภาษาสากล ไทเลอร์เรียกกิริยาตามธรรมชาติว่า “ภาษาแห่งท่วงท่า”  ซึ่งเขาได้เก็บข้อมูลจากการใช้ภาษาสัญลักษณ์ของคนหูหนวกในประเทศอังกฤษและเยอรมัน และเปรียบเทียบกับคนหูหนวกในอเมริกา  ไทเลอร์เชื่อว่าเขาค้นพบต้นเหตุของการสร้างสัญลักษณ์ในตัวมนุษย์ซึ่งทำให้มนุษย์รู้จักการใช้ภาษาพูด 

          การ์ริค เอ มัลเลอรี (1981) เปรียบเทียบระบบสัญลักษณ์ของชาวพื้นเมืองในอเมริกา กับภาษาของคนหูหนวก ภาษาท่าทางของชาวยุโรป และนักแสดง  การศึกษาของฟรานซ โบแอส มีคำอธิบายที่ต่างไปจากแนวคิดเรื่องวิวัฒนาการของภาษา  โบแอสเชื่อว่าการแสดงท่าทางขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมในแต่ละแห่ง  ความงามเชิงสุนทรียะในการแสดงท่วงท่าของมนุษย์ไม่ได้มีเฉพาะการเต้นรำของชนพื้นเมืองเท่านั้น แต่ยังมีในการแสดงการเคลื่อนไหวร่างกายประกอบดนตรี และการเล่านิทาน   สิ่งที่โบแอสสนใจก็คือการสื่อสารด้วยเสียงและการพูด ซึ่งต่อมานักมานุษยวิทยาภาษาศาสตร์นำแนวคิดนี้ไปศึกษาระบบการเปล่งเสียงของมนุษย์

          เอ็ดเวิร์ด ซาเปียร์ ตังข้อสังเกตว่าภาษาท่าทางจะมาพร้อมกับภาษาพูด  แต่สิ่งที่ซาเปียร์สนใจคือรหัสลับที่เกิดขึ้นในการสื่อสาร  ซาเปียร์เชื่อว่าวัฒนธรรมคือระบบสัญลักษณ์ของพฤติกรรม แต่การศึกษารูปแบบการเคลื่อนไหวร่างกายของมนุษย์ในเชิงสัญลักษณ์ในฐานะเป็นสิ่งที่มนุษย์ปรุงแต่งขึ้นยังไม่มีการศึกษาเท่าที่ควร   ในเชิงจิตวิทยา มีการศึกษาท่วงท่าและกิริยาต่างๆของมนุษย์เพื่อใช้ทดสอบพฤติกรรมและบุคลิกภาพ   

          การศึกษาของมาร์การเร็ต มี้ด(1928) เรื่องการเต้นรำของเด็กวัยรุ่นชาวซามัว พบว่าเป็นวิธีการปลดปล่อยอารมณ์ของวัยรุ่น   การศึกษาของรูธ เบเนดิกต์(1934) พบว่าชาวควากุยล์ จะมีพิธีกรรมในฤดูหนาวเพื่อนำคนในหมู่บ้านไปสู่โลกของความศักดิ์สิทธิ์   การศึกษาเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าการเคลื่อนไหวร่างกายในการเต้นรำและพิธีกรรมจะเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการทางสังคม  

          เรย์ เบิร์ดวิสเทลล์ นำแนวคิดของซาเปียร์เรื่องต้นกำเนิดของภาษามาอธิบายร่วมกับทฤษฎีการเปล่งเสียงของมนุษย์ ซึ่งมาจากความคิดของ เอช เอล สมิธ และ จี แอล เทรเกอร์   เบิร์ดวิสเทลล์ใช้ข้อมูลที่มาจากภาพยนตร์เพื่อสังเกตกิริยาท่าทางของมนุษย์ โดยนำแนวคิดทางภาษาศาสตร์มาอธิบายการแสดงท่าทางต่างๆ  เบิร์ดวิสเทลล์พบว่าการเต้นรำ การแสดงละคร ละครใบ้ และการประกอบพิธีทางศาสนา จะมีการเคลื่อนไหวร่างกายที่เป็นระบบชัดเจน แต่สิ่งที่เบิร์ดวิสเทลล์สนใจคือการเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสาร  

          การศึกษาด้านมานุษยวิทยาภาษาศาสตร์ ให้ความสนใจเกี่ยวกับการพูดในทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นวิธีการศึกษาที่ต่างไปจากนักภาษาศาสตร์  ในช่วงทศวรรษที่ 1980 และ 1990 การศึกษาเกี่ยวกับการพูด การสื่อสารและการแสดงท่าทางกลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากนักมานุษยวิทยาภาษาศาสตร์จำนวนมาก   ดริด วิลเลียมส์ และ เอเดรียนน์ เคปเลอร์ ได้พัฒนาวิธีศึกษาการเคลื่อนไหวร่างกายโดยการบันทึกรายละเอียดต่างๆ  การศึกษาของเอ็ดเวิร์ด ที ฮอลล์(1959) เรื่องการใช้พื้นที่ของมนุษย์ ทำให้ทราบว่ามนุษย์ใช้พื้นที่ในการทำกิจกรรมทางสังคมอย่างไร  และเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมอย่างไร  ฮอลล์นำข้อมูลการใช้พื้นที่ของมนุษย์ไปเปรียบเทียบกับการใช้พื้นที่ของสัตว์ซึ่งนักจิตวิทยานำไปศึกษาพฤติกรรมการสื่อสารที่ไม่มีการใช้คำพูด  การศึกษาด้านพฤติกรรมของนักวิทยาศาสตร์จะอธิบายว่าสัตว์จะแสดงพฤติกรรมตามสัญชาตญาณเพื่อเอาชีวิตรอด แต่นักมานุษยวิทยาเชื่อว่าพฤติกรรมของมนุษย์เป็นระบบสัญลักษณ์

          การศึกษาของเคนดอน นำความรู้ทางภาษาศาสตร์มาใช้กับมานุษยวิทยา เพื่ออธิบายว่าการสื่อสารของมนุษย์เกี่ยวข้องกับสังคม ความเชื่อ และทักษะทางภาษา เคนดอนศึกษาชาวพื้นเมืองในออสเตรเลีย และพบว่าภาษาทางร่างกายเป็นพื้นฐานสำคัญพอๆกับภาษาของคำพูด  ส่วนเคปเลอร์และวิลเลียมส์ใช้ทฤษฎีโครงสร้างทางภาษามาอธิบายโครงสร้างการเคลื่อนไหวของร่างกาย  เคปเลอร์(1972) นำความคิดเรื่อง emic /etic ของเคนเน็ธ ไพค์มาอธิบายเพื่อวิเคราะห์โครงสร้างการเต้นรำและการร้องเพลงของชาวตองกาและชาวฮาวาย   ส่วนวิลเลียมส์นำแนวคิดทางภาษาศาสตร์มาวิเคราะห์   อย่างไรก็ตามทั้งเคปเลอร์และวิลเลียมส์ยังคงติดกรอบความคิดที่ว่าการเคลื่อนไหวของร่างกายมีโครงสร้างที่ตายตัว และถูกกำกับด้วยการใช้คำพูด  กล่าวคือเป็นความเชื่อที่ว่าจิตใจถูกแสดงออกด้วยภาษา  แนวคิดของวิลเลียมส์นำไปสู่การหาคำอธิบายใหม่ว่า ร่างกายและจิตใจแยกจากกันไม่ได้ กล่าวคือมนุษย์จะเป็นผู้กระทำและสร้างความหมาย  และการแสดงออกทางร่างกายจะเป็นระบบเดียวกับการใช้ความคิด แนวคิดของวิลเลียมส์เรียกว่า semasiology   


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

David Levinson , Melvin Ember (eds.) Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. 1996. Pp.536-540.

Farnell, Brenda M. 1994. Ethnographies and the Moving Body. Man 24(4): 929-974.

Farnell, Brenda M. (Ed.) 1995. Action Sign Systems in Cultural Context: The Visible and the Invisible in Movement and Dance. Metuchen: Scarecrow Press.


หัวเรื่องอิสระ: การแสดงออกทางท่าทาง