คำศัพท์

Cultural Evolutionism

        คำว่า “วิวัฒนาการ” หมายถึงการเปลี่ยนรูปแบบ เป็นกระบวนการของการเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างซึ่งยังคงมีบางส่วนที่เหมือนเดิม  แนวคิดวิวัฒนาการจะเกี่ยวข้องกับชีววิทยา แต่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์สาขาอื่นๆที่ต้องการศึกษาประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา  ทฤษฎีมาร์กซิสต์ที่เกี่ยวกับวัตถุนิยมแห่งความจริง และ ยุคแสวงหาความรู้แจ้งที่ต้องการสร้างประวัติศาสตร์สากลล้วนอาศัยทฤษฎีวิวัฒนาการมาอธิบาย  อาจกล่าวได้ว่าการศึกษาทางมานุษยวิทยาที่มีทฤษฎีครั้งแรกมาจากแนวคิดวิวัฒนาการในคริสต์ศตวรรษที่ 19

          แนวคิดวิวัฒนาการทางวัฒนธรรม อธิบายเกี่ยวกับความต่อเนื่องของประวัติศาสตร์  นักประวัติศาสตร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ให้ความสนใจกับประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของตะวันตก   ส่วนนักคิดวิวัฒนาการในคริสต์ศตวรรษที่ 19 สนใจประวัติศาสตร์ของคนที่อยู่นอกยุโรป หรือเป็นผู้ที่อาศัยในยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่ไม่มีตัวหนังสือ   ความแตกต่างนี้เกิดจากการศึกษาภาคสนามเกี่ยวกับคนพื้นเมือง และการค้นพบหลักฐานโบราณคดีที่แสดงว่ามีมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อนำความรู้ทางมานุษยวิทยาและโบราณคดีมารวมกัน ทำให้นักมานุษยวิทยาในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ได้สร้างทฤษฎีวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมตามที่พบเห็นจากหลักฐานก่อนประวัติศาสตร์ซึ่งเหมือนกับอุปกรณ์ที่ชนพื้นเมืองในปัจจุบันใช้อยู่   ทฤษฎีนี้ทำให้การศึกษาทางมานุษยวิทยาที่อาศัยหลักฐานโบราณคดีกลายเป็นวิธีศึกษาเชิงปรียบเทียบ  ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20  นักมานุษยวิทยาหลายคนได้วิจารณ์วิธีการศึกษาเชิงปรียบเทียบว่าเป็นการศึกษาแบบเดาสุ่ม  และทำให้ทฤษฎีวิวัฒนาการค่อยๆเสื่อมลงในแวดวงมานุษยวิทยา  ในช่วงปลายทศวรรษ 1940 นักมานุษยวิทยากลุ่มหนึ่งก็รื้อฟื้นทฤษฎีวิวัฒนาการขึ้นใหม่

          ยุครุ่งเรืองของทฤษฎีวิวัฒนาการอยู่ในช่วงทศวรรษที่ 1860-1890 ช่วงเวลานี้เกิดขึ้นหลังจากหนังสือของดาร์วินออกเผยแพร่ หนังสือเรื่องนี้คือ Origin of Species(1859) อย่างไรก็ตามทฤษฎีวิวัฒนาการวัฒนธรรมมิได้นำแนวคิดชีววิทยาของดาร์วินมาใช้  แต่นักคิดแนววิวัฒนาการทางวัฒนธรรมจะสนใจการทำงานภาคสนาม โบราณคดี และประวัติศาสตร์สากลที่แตกแขนงมาจากความคิดแบบดาร์วิน  นักคิดแนววิวัฒนาการวัฒนธรรมอาจแบ่งได้เป็นสองลักษณะคือ นักคิดที่มีอิทธิพล และนักคิดที่อยู่ชายขอบ   กลุ่มนักคิดที่มีอิทธิพลได้แก่เฮอร์เบิร์ต สเปนเซอร์, จอห์น ลับบ็อค, ลิวอิส เฮนรี มอร์แกน, เอ็ดเวิร์ด เบอร์เน็ตต์ ไทเลอร์, และเจมส์ เฟรเซอร์  ส่วนนักคิดชายขอบ ได้แก่เฮนรี เมน, โจฮันน์ บาโชเฟน และจอห์น แม็คเลนแนน    นักคิดเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นชาวอังกฤษ ยกเว้นบาโชเฟนเป็นชาวเยอรมัน และมอร์แกนเป็นชาวอเมริกัน  อิทธิพลของการศึกษาจากนักคิดเหล่านี้ช่วยตอกย้ำทัศนคติของวิคตอเรียนที่เน้นเรื่องความดีเลิศเหนือคนอื่น โดยการอธิบายว่าอารยธรรมสมัยใหม่วิวัฒนาการมาจากวัฒนธรรมชนเผ่าในลักษณะเปลี่ยนแปลงมาเป็นลำดับขั้นอย่างต่อเนื่อง

          นักคิดแนววิวัฒนาการวัฒนธรรมสนใจประเด็นเกี่ยวกับความเชื่อและสถาบันทางวัฒนธรรม  นักมานุษยวิทยากลุ่มหนึ่งซึ่งนำโดยมอร์แกน ให้ความสนใจเกี่ยวกับครอบครัว การแต่งงาน และการจัดระเบียบทางสังคมและการเมือง  นักมานุษยวิทยาอีกกลุ่มหนึ่ง นำโดยไทเลอร์ สนใจเกี่ยวกับศาสนา เวทมนต์ และระบบความคิดต่างๆ   ผู้ที่แตกต่างจากคนอื่นคือสเปนเซอร์ ซึ่งเป็นนักปรัชญาและนักสังคมวิทยา  และ ลับบ็อค เป็นนักโบราณคดี   มอร์แกนเกิดและเติบโตที่เมืองโรเชสเตอร์ รัฐนิวยอร์ค และศึกษาด้านกฎหมาย  ต่อมาเขาก็เริ่มสนใจศึกษาวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองเผ่าอีโรคัวส์ และช่วยคนเหล่านี้เรียกร้องสิทธิในที่ดินคืนมา ผู้ช่วยของมอร์แกนคือ อีลี ปาร์คเกอร์ ซึ่งสามารถพูดภาษาของชาวอีโรคัวส์ได้  มอร์แกนสนใจระบบเครือญาติและระบบการจัดระเบียบสังคม ซึ่งทำให้เขาเขียนหนังสือเล่มแรก เรื่อง League of the Ho-de-no-sau-nee ในปี ค.ศ.1851  มอร์แกนขยายการศึกษาโดยการเดินทางไปทั่วอเมริกาและแคนาดา  ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาเหล่านี้กลายเป็นหนังสือเรื่อง System of Consanguinity and Affinity of the Human Family (1870)  และ Ancient Society (1877)

          ในหนังสือเรื่อง Ancient Society  มอร์แกนได้ใช้ทฤษฎีวิวัฒนาการทางวัฒนธรรม โดยอธิบายลำดับพัฒนาการทางสังคมตั้งแต่ระดับคนป่า ระดับสังคมเพาะปลูก และสังคมอารยะ หรือพัฒนาการทางสังคม 3 ขั้น คือขั้นแรกคือสังคมเก็บของป่าล่าสัตว์ ขั้นที่สอง สังคมเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์  และขั้นที่สาม สังคมแบบรัฐ  ในแต่ละลำดับขั้นจะถูกแบ่งเป็นชั้น 3ชั้น คือ ชั้นต้น ชั้นกลาง และชั้นสูง  มอร์แกนเชื่อว่าระบบเครือญาติมีสองระบบ คือระบบจัดกลุ่ม และระบบชี้เฉพาะ มอร์แกนอธิบายว่าเครือญาติแบบจัดกลุ่มจะเกิดขึ้นในสังคมของชนเผ่าหรือสังคมเกษตกรรม  ต่อมาระบบเครือญาติจะค่อยๆพัฒนาเป็นแบบชี้เฉพาะซึ่งจะเกิดขึ้นในสังคมที่มีความเจริญ

          มอร์แกนแบ่งชนิดของเครือญาติเป็นระบบต่างๆ เริ่มจากระบบมาลายัน  เป็นระบบที่รวมเอาพ่อแม่รวมเข้ากับพี่น้องชายของแม่  ระบบนี้วิวัฒนาการไปเป็นระบบทูเรเนียน-กาโนวาเนียน หรือ ระบบอีโรคัวส์  ซึ่งเป็นระบบที่ญาติพี่น้องข้างพ่อและแม่แยกออกจากกัน  เมื่อความสัมพันธ์ทางสังคมของญาติขึ้นอยู่กับการแบ่งแยกเพศ ก็จะทำให้เกิดระบบเครือญาติแบบ unilineal kinship หรือการนับญาติแบบลำดับขั้น   สังคมแบบชนเผ่าจะมีการนับญาติหรือสืบสายทางข้างแม่  ส่วนในสังคมเกษตกรรม จะมีการนับญาติข้างพ่อ ระบบเครือญาติข้างผู้ชายจะมีความสำคัญในสังคมระดับอารยะ นอกจากนั้น มอร์แกนยังอธิบายว่าการแต่งงานแบบกลุ่มระหว่างพี่น้องชายและพี่น้องหญิงเรียกว่า consanguine   ซึ่งจะวิวัฒนาการไปสู่การมีกฎข้อห้ามแต่งงานระหว่างญาติพี่น้อง และการมีครอบครัวเดี่ยวแบบผัวเดียวเมียเดียว

          ความคิดที่สำคัญของมอร์แกนคือการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นจากยุคก่อนประวัติศาสตร์ไปสู่ยุคอารยะ โดยที่มอร์แกนใช้วิธีการแยกแยะจากระบบการเขียน การเกิดขึ้นของเมือง สถาปัตยกรรม และการมีรัฐ  มอร์แกนอธิบายว่าการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นเนื่องจากความต้องการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ซึ่งต้องใช้ที่ดินมากขึ้น การเกิดขึ้นของทรัพย์สินส่วนตัวทำให้คนบางคนมีสิทธิพิเศษ มีการสืบทอดมรดกทางฝ่ายชาย  การเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลให้เกิดระบบชนชั้นตามมา และชนชั้นสูงจะมีสิทธิเข้าถึงทรัพยากรได้มากกว่า  มอร์แกนเชื่อว่าวัฒนธรรมชนเผ่าในปัจจุบันเป็นร่องรอยของสังคมในสมัยก่อนประวัติศาสตร์

          เมื่อคาร์ล มาร์กซ์ และแองเกิลส์ อ่านหนังสือของมอร์แกนเรื่อง Ancient Society พวกเขามีความตื่นเต้นเพราะได้พบข้อมูลทางมานุษยวิทยาที่สนับสนุนความเชื่อของพวกเขา ซึ่งเชื่อว่าความไม่เท่าเทียมทางชนชั้นมิได้อยู่ในสายเลือดของมนุษย์   มาร์กซ์และแองเกิลส์นำความคิดของมอร์แกนไปสร้างทฤษฎีเกี่ยวกับวัตถุวิสัยแห่งความจริง โดยชี้ให้เห็นถึงต้นกำเนิดสถาบันแห่งทรัพย์สินส่วนตัว และเมื่อปราศจากทรัพย์สินส่วนตัว สังคมก็จะเปลี่ยนไปสู่สังคมคอมมิวนิสต์  แองเกิลส์เขียนหนังสือเรื่อง Origin of the Family, Private Property, and The State ในปี ค.ศ.1884 โดยกล่าวว่ามอร์แกนเป็นนักวิชาการที่ไม่ใช่มาร์กซิสต์

          ถึงแม้เวลาจะผ่านไป แต่งานของมอร์แกนก็ยังทันสมัย  นักมานุษยวิทยารุ่นใหม่คิดว่ามอร์แกนเป็นบิดาแห่งการศึกษาระบบเครือญาติ  ความแตกต่างระหว่างทฤษฎีของมอร์แกนกับนักคิดแนววิวัฒนาการคนอื่นๆอยู่ที่ลำดับขั้นของสังคมและสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงในแต่ละขั้น  มอร์แกนเสนอว่าลำดับขั้นวิวัฒนาการของการแต่งงานที่เกิดจากความมีอิสระพัฒนาไปสู่การควบคุมของญาติ      เฮนรี เมน เขียนหนังสือเรื่อง Ancient Law ในปี ค.ศ.1861 โต้แย้งว่ารูปแบบครอบครัวแบบแรกคือระบบสืบทายาทข้างพ่อ  เมนแบ่งแยกวิวัฒนาการสังคมเป็นสองระดับคือ ระดับแรกเป็นสังคมแบบฐานะ แบบที่สองคือสังคมที่มีสัญญา   สังคมแบบฐานะเป็นสังคมที่มีพื้นฐานจากครอบครัว มีสมบัติส่วนรวม และใช้ระบบควบคุมโดยการลงโทษเชิงสังคม  ส่วนสังคมแบบสัญญาเน้นปัจเจกบุคคล ทรัพย์สินส่วนตัว และควบคุมสังคมด้วยกฎหมาย

          จอห์น แม็คเลนแนน เขียนหนังสือเรื่อง Primitive Marriage (1865) อธิบายว่าการแต่งงานแบบกลุ่มมาก่อนการแต่งงานที่นับญาติข้างพ่อ    แต่การแต่งงานแบบกลุ่มจะเกิดขึ้นในสังคมที่มีความแร้นแค้น ซึ่งเด็กทารกหญิงอาจถูกฆ่าตั้งแต่เกิด  เมื่อมีผู้หญิงน้อยก็ทำให้ผู้ชายมีตัวเลือกในการมีคู่ครองน้อย ทำให้ผู้หญิงต้องมีสามีหลายคนในเวลาเดียวกัน  ผู้ชายอาจจับผู้หญิงจากหมู่บ้านอื่นมาเป็นภรรยาทำให้เกิดการแต่งงานกับคนนอกกลุ่ม   โจฮันน์ บาโชเฟน เขียนหนังสือเรื่อง Mother Right ในปี ค.ศ.1861 อธิบายคล้ายกับแม็คเลนแนน

          เอ็ดเวิร์ด เบอร์เน็ตต์ ไทเลอร์ หรือได้ฉายาว่าบิดามานุษยวิทยาวัฒนธรรมแห่งอังกฤษ โต้แย้งความคิดของคริสเตียนที่เชื่อเรื่องความเสื่อมถอยของมนุษย์  ในปี ค.ศ.1871 ไทเลอร์เขียนหนังสือเรื่อง Primitive Culture และให้คำนิยามของวัฒนธรรมว่าหมายถึง  ความรู้ ความเชื่อ ศิลป ประเพณี ศีลธรรม  พฤติกรรมและความสามารถต่างๆที่จำเป็นสำหรับมนุษย์ในการดำรงอยู่เป็นสมาชิกในสังคม   ความสนใจของไทเลอร์เป็นเรื่องวิวัฒนาการของสถาบันและความเชื่อทางศาสนาและเวทมนต์   จอห์น ลับบ็อคเขียนหนังสือเรื่อง The Origin of Civilization (1870) อธิบายถึงวิวัฒนาการของศาสนาและเวทมนต์ โดยเริ่มจากความเชื่อที่ไม่นับถือพระเจ้า และเปลี่ยนไปสู่การมีศาสนาที่นับถือพระเจ้าองค์เดียว   เฮอร์เบิร์ต สเปนเซอร์ ศึกษาวิวัฒนาของเวทนต์และศาสนาโดยเขียนหนังสือเรื่อง Principles of Sociology(1879)   ทั้งงานของไทเลอร์และสเปนเซอร์เป็นการอธิบายวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมด้วยระบบเหตุผล

          แนวคิดแบบไทเลอร์-สเปนเซอร์  อธิบายว่าศาสนาเกิดขึ้นเมื่อมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์พยายามที่จะแก้ปริศนาของธรรมชาติ ตัวอย่างเช่น มนุษย์อาจสังเกตก้อนเมฆที่ลอยมาแล้วหายไป มองดูพระอาทิตย์ขึ้นและตก และมองดูก้อนหินกลิ้งไป อาจเกิดคำถามว่าทำไมวัตถุบางอย่างจึงเคลื่อนที่  บางอย่างจึงหยุดนิ่ง  มนุษย์อาจตอบว่าวัตถุที่เคลื่อนที่ได้เพราะมีวิญญาณเข้าสิง ถ้าในความฝันมนุษย์ไปอยู่ในที่ที่แปลกประหลาด ก็จะถูกอธิบายว่ามนุษย์มีวิญญาณแยกจากร่างและเดินทางไปยังที่ต่างๆได้  เมื่อคนเสียชีวิตลง วิญญาณก็จะออกจากร่างและไปอยู่ยังโลกใหม่ หรือโลกหลังตวามตาย  แต่วิญญาณบางวิญญาณจะมาหลอกหลอนและเข้าสิงสิ่งต่างๆในรูปของภูตผีปีศาจ  วิญญาณของภูตผีจะมีทั้งดีและเลว

          ถ้าหลังความตายมีวิญญาณ วิญญาณเหล่านั้นจะมาติดต่อกับสิ่งมีชีวิตอย่างไร  ทฤษฎีของไทเลอร์-สเปนเซอร์อธิบายว่าผู้เชี่ยวชาญทางศาสนา เช่น หมอผี หรือผู้วิเศษจะเป็นผู้ติดต่อกับวิญญาณ  ในวัฒนธรรมที่มีพื้นฐานจากเครือญาติและไม่มีตัวหนังสือ  จะมีการนับถือวิญญาณของบรรพบุรุษซึ่งได้รับการบูชาเพราะผีบรรพบุรุษจะมีผู้ปกป้องคุ้มครอง   ความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษสะท้อนให้เห็นชีวิตทางโลก เมื่อวัฒนธรรมวิวัฒนาการไปมากขึ้น ความเชื่อเรื่องชีวิตหลังความตายก็จะกลายเป็นวิทยาศาสตร์  ในวัฒนธรรมชนเผ่าหรือก่อนประวัติศาสตร์ซึ่งมีการแบ่งช่วงชั้นของญาติพี่น้องและตระกูลที่ซับซ้อน ก็จะมีความเชื่อเรื่องผีที่มีลำดับขั้นเช่นเดียวกัน เมื่อสังคมที่พัฒนาก้าวหน้ามากขึ้น ผู้ปกครองที่มีอำนาจสูงสุดจะมีคนเดียว การนับถือเทพเจ้าก็จะมีองค์เดียว ซึ่งถือเป็นศาสนาขั้นสูงสุด  

          ในการวิวัฒนาการทางชีววิทยา มนุษย์ได้รับมรดกทางกรรมพันธุ์มาจากบรรพบุรุษ ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตคล้ายลิง ซึ่งในสมัยวิคตอเรีย คำอธิบายนี้ได้รับการโต้แย้งเป็นอย่างมาก เช่นเดียวกับการโต้แย้งความคิดของไทเลอร์-สเปนเซอร์ที่บอกว่าศาสนาคริสต์มีรากเหง้ามาจากความเชื่อเรื่องผีในสังคมชนเผ่า  มานุษยวิทยาจึงทำให้เกิดข้อถกเถียงทางวิชาการมาตั้งแต่อดีต  นักคิดแนววิวัฒนาการทางวัฒนธรรมที่สำคัญอีกคนหนึ่งคือ เจมส์ เฟรเซอร์ ซึ่งสนใจแนวคิดวิวัฒนาการของจิตใจที่เกี่ยวข้องกับเวทมนต์ ศาสนา และวิทยาศาสตร์  นักเวทมนต์เชื่อว่าพวกเขาสามารถควบคุมธรรมชาติโดยการนำของวิเศษบางอย่างมารวมกัน  ต่อมาเมื่อเกิดศาสนา มีความเชื่อว่ามนุษย์ควบคุมธรรมชาติไม่ได้ แต่สามารถขอร้องให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือพระเจ้าช่วย  และเมื่อมีความรู้มากขึ้น ก็จะเกิดวิทยาศาสตร์ซึ่งเข้ามาควบคุมธรรมชาติ  เฟรเซอร์เชื่อว่าวิทยาศาสตร์อยู่ขั้นสูงสุดของวิวัฒนาการ


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Johnson, Allen W. and Earle, Timothy, 1987. The Evolution of Human Societies: From Foraging Group to Agrarian State, Stanford University Press.

Leslie White, 1959. The Evolution of Culture; The Development of Civilization to the Fall of Rome, Mcgraw-Hill,

Marshall David Sahlins, 1970. Evolution and culture, University of Michigan Press

Mesoudi, A. 2011. Cultural Evolution: How Darwinian Theory Can Explain Human Culture and Synthesize the Social Sciences, University Of Chicago Press

Paul A. Erickson. 2001. A History of Anthropological Theory. Broadview Press, New York. Pp.44-52.


หัวเรื่องอิสระ: วิวัฒนาการทางวัฒนธรรม