คำศัพท์

Functionalism

          ทฤษฎีหน้าที่นิยม (Functionalism) ต้องการอธิบายว่าสังคมประกอบด้วยส่วนต่างๆที่มีหน้าที่เฉพาะและพึ่งพาอาศัยเหมือนกับอวัยวะต่างๆในร่างกายที่ช่วยให้ชีวิตดำรงอยู่ด้วย กล่าวคือหน่วยต่างๆในสังคมจะถูกมองเหมือนเป็นอวัยวะที่มีหน้าที่จรรโลงให้สังคมดำรงอยู่ได้ ถ้าหน่วยต่างๆในสังคมไม่ทำงานก็จะส่งผลให้สังคมล่มสลาย ในทางมานุษยวิทยา ทฤษฎีหน้าที่นิยมเป็นสกุลความคิดหนึ่งที่เกิดขึ้นโดยนักมานุษยวิทยาที่สำคัญสองคน คือ โบรนิสโลว์ มาลีนอฟสกี้ ซึ่งมองสถาบันสังคมจะทำหน้าที่ช่วยให้บุคคลดำรงชีพอยู่ได้อย่างมีความสุขทั้งในเชิงเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม สถาบัน ส่วน  เรดคลิฟฟ์-บราวน์ อธิบายว่าสังคมคือระบบความสัมพันธ์ที่หน่วยต่างๆจะสร้างกฎเกณฑ์เพื่อจรรโลงให้สังคมอยู่ได้  

           แนวคิดหน้าที่นิยมเกิดขึ้นในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20  มานุษยวิทยาในอังกฤษเริ่มนำแนวคิดหน้าที่นิยมมาโต้ตอบกับทฤษฎีวิวัฒนาการ  และโต้แย้งกับนักวิชาการที่เชื่อทฤษฎีการแพร่กระจายและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม  แนวคิดหน้าที่นิยมเชื่อเรื่องความเป็นองค์รวม  (Holistic) ของชีวิตทางสังคม และอธิบายว่าสังคมแบบ bands  และ tribe เป็นระบบของสังคมที่มีคุณค่าและวัฒนธรรมของตัวเอง  คำอธิบายนี้ขัดแย้งกับความเชื่อที่ว่าวัฒนธรรมชนเผ่าถูกแยกให้อยู่โดดเดี่ยวลำพัง  แนวคิดหน้าที่นิยมเชื่อในระบบเหตุผล และความหมายของพฤติกรรมต่างๆที่เกิดในสังคมชนเผ่า แตกต่างจากแนวคิดวิวัฒนาการ ซึ่งอธิบายว่าความเชื่อและพิธีกรรมของชนเผ่าเป็นเรื่องงมงายไร้เหตุผล

       มาลีนอฟสกี้เชื่อว่าการวิจัยภาคสนามเป็นการทำความเข้าใจความคิดของชาวบ้าน เข้าใจการใช้ชีวิต และโลกทัศน์ของชาวบ้าน การศึกษา “ชีวิตทางสังคม” ของมาลีนอฟสกี้เป็นการสืบหาความสัมพันธ์ที่โยงใยระหว่างการกระทำต่างๆ เพื่อหาข้อสรุปว่าวัฒนธรรมคืออะไร  ฉะนั้นการศึกษาวัฒนธรรมต้องเข้าใจบริบทในการกระทำต่างๆ ซึ่งต่อมากลายเป็นความเชื่อในหมู่นักมานุษยวิทยาว่าไม่มีขนบธรรมเนียมใดๆของมนุษย์ที่อยู่เป็นเอกเทศ แต่ทุกอย่างดำรงอยู่อย่างมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันและเป็นส่วนประกอบของระบบสังคมทั้งหมด มาลีนอฟสกี้เชื่อว่าวัฒนธรรมมีการปรับตัวเพื่อให้เข้ากับสังคมและสภาพแวดล้อม  ตัวอย่างที่สำคัญได้แก่การศึกษาเรื่องตำนานความเชื่อของสังคมชนเผ่า ตำนานทำหน้าที่หลายอย่าง เช่น แสดงออกถึงความเชื่อ สร้างสัญลักษณ์ และความหมายของสังคม สร้างภูมิคุ้มกันทางศีลธรรม  เป็นแหล่งค้ำชูและยืนยันพิธีกรรม ควบคุมและชี้นำการประพฤติตามกฎระเบียบของบุคคล  มาลีนอฟสกี้วิจารณ์ทฤษฎีวิวัฒนาการที่ได้สร้างเครื่องหมายตายตัวให้กับสังคมชนเผ่าว่าเป็นสังคมที่โง่ ไร้เหตุผลและเชื่อในขนบประเพณี

          เรดคลิฟฟ์-บราวน์กล่าวว่าหน้าที่ของพฤติกรรม เช่นการลงโทษผู้ทำความพิษ หรือพิธีกรรมงานศพ เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต  การกระทำเหล่านี้จะถูกสื่อสารออกไปเพื่อทำให้โครงสร้างสังคมดำรงอยู่ได้    อย่างไรก็ตาม แนวคิดเกี่ยวกับสังคมที่เรดคลิฟฟ์-บราวน์นำมาศึกษาในทางมานุษยวิทยาเป็นแนวคิดที่ปั้นแต่งขึ้น เป็นสังคมที่มีลักษณะหยุดนิ่ง มีความลงตัวสมบูรณ์และไม่ถูกรบกวนจากสิ่งภายนอก  เรดคลิฟฟ์-บราวน์อธิบายว่าระบบสังคมทำงานได้โดยมีความสมานสามัคคีหรือส่วนต่างๆในสังคมยังทำหน้าที่ของตัวองอย่างสม่ำเสมอ  ดังนั้นความขัดแย้งจึงถูกควบคุมหรือถูกกำจัดไปได้  ประเด็นที่เรดคลิฟฟ์-บราวน์ให้ความสำคัญเป็นพิเศษคือเรื่องระบบเครือญาติ และการสืบตระกูล  เขาเชื่อว่าในสังคมชนเผ่าจะมีการจัดระเบียบในเครือญาติ มีระเบียบการใช้อำนาจ การควบคุมทางเศรษฐกิจ และกฎความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มอย่างเด่นชัด 

          ทั้งมาลีนอฟสกี้และเรดคลิฟฟ์-บราวน์ ทำให้การศึกษาวัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงจากเรื่องการแพร่กระจาย ไปสู่เรื่องการตีความจากชีวิตทางสังคม  โดยอธิบายว่ามนุษย์ทำสิ่งต่างๆอย่างมีเหตุผล    ข้อเสนอของมาลีนอฟสกี้ในระยะแรกเป็นเรื่องการทำงานภาคสนาม การทำงานของมาลีนอฟสกี้ทำให้เกิดความเข้าใจวัฒนธรรมในมิติของกลไกที่ขับเคลื่อนความต้องการของปัจเจกบุคคล ซึ่งเป็นเรื่องที่บุคคลเลือกที่จะปฏิบัติเพื่อตอบสนองความต้องการหรือผลประโยชน์ส่วนตัว แนวคิดดังกล่าวนี้อาจเรียกว่าเป็นวิธีคิดแบบปัจเจกนิยม

          ประเด็นสำคัญของเรดคลิฟฟ์-บราวน์ คือเรื่องความสมดุลเป็นเอกภาพของสังคมชนเผ่า ศึกษากฎเกณฑ์ของสังคมและกระบวนการของการเกิดสังคม เพื่อจัดประเภทและเปรียบเทียบสังคมต่างๆ  อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวนี้ ไม่ได้รับความสนใจหลังสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เนื่องจากสังคมเต็มไปด้วยความขัดแย้ง แตกแยก และเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นผลมาจากการเมืองยุคอาณานิคมของอังกฤษ   จึงเกิดคำถามเกี่ยวกับแนวคิดทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่ว่าจะใช้อธิบายสังคมได้หรือไม่   


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Goldschmidt, Walter. 1966. Comparative Functionalism. An Essay in Anthropological Theory. Berkeley: University of California Press.

Kuklick, Henrika. 1996. Functionalism. In Encyclopedia of Social and Cultural Anthropology. Alan Barnard and Jonathan Spencer, eds. New York: Routledge.

Lesser, Alexander. 1985. Functionalism in Social Anthropology. In History, Evolution, and the Concept of Culture, Selected Papers by Alexander Lesser (ed) Sidney W. Mintz. Cambridge: Cambridge University Press.

Robert H. Winthrop 1991. Dictionary of Concepts in Cultural Anthropology. Greenwood Press, New York, p.127-131.

Stocking, George W. Jr. 1984 Functionalism Historicized. Essays on British Social Anthropology. Madison: The University of Wisconsin Press.

White, Leslie A. 1945. History, Evolutionism, and Functionalism: Three Types of Interpretation of Culture. Southwestern Journal of Anthropology 1(2):221-248.


หัวเรื่องอิสระ: ทฤษฎีหน้าที่นิยม