คำศัพท์

Folklore

       คติชาวบ้าน (Folklore) หมายถึง แบบแผนการแสดงออกทางความคิดความเชื่อของชาวบ้านในรูปแบบต่างๆ เช่น ดนตรี ตำนาน ความเชื่อ สุภาษิต คำพังเพย คติพจน์ นิทาน เรื่องเล่า เป้นต้น คำว่า Folklore เริ่มใช้ในปี ค.ศ.1846    โดย วิลเลียม โธมัส  หมายถึง นิยายของชาวบ้าน  โดยทั่วไปคติชาวบ้านจะใช้การแสดงออกทางภาษาซึ่งแฝงด้วยความเชื่อทางศาสนา มีการเล่าแบบปากต่อปากจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่ง

          ชาร์ด วีส อธิบายว่า folk หมายถึงทัศนคติ ความคิด สำนึกทางจิตใจที่เป็นของส่วนรวม และเป็นไปตามจารีตประเพณี   อลัน ดันเดส อธิบายว่า หมายถึงกลุ่มคนที่มีอะไรร่วมกันบางอย่าง  สิ่งที่มีร่วมกันนั้นอาจเป็นอาชีพการทำงาน ภาษา ถิ่นที่อยู่อาศัย สำนึกทางชาติพันธุ์ และบุคลิกลักษณะอื่นๆ นักมานุษยวิทยาหลายคนนิยามความหมายของคติชนแบบกว้างๆ  เช่น จอร์จ ฟอสเตอร์ อธิบายว่าคติชนหมายถึงการแสดงออกโดยวาจาของผู้คน ซึ่งอาจรู้หนังสือหรือไม่ก็ได้     วิลเลียม บาสคอมกล่าวว่า คติชนคือศิลปะของการพูด  ประกอบด้วยตำนาน เรื่องเล่า นิทาน สุภาษิต ปริศนาคำทาย บทเพลง บทกลอน และอื่นๆ แต่มิใช่งานศิลปะ นาฏศิลป์ ดนตรี เครื่องแต่งกาย ยารักษาโรค ขนบธรรมเนียมและความเชื่อ

          การศึกษาคติชนเริ่มมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 –17 โดยเป็นการศึกษาขนบธรรมเนียมและวัตถุทางวัฒนธรรมที่หายาก โดยเฉพาะในสังคมที่ห่างไกล  อย่างไรก็ตาม การศึกษาเกี่ยวกับคติชนวิทยา เป็นศาสตร์หนึ่งในการศึกษาที่ได้รับอิทธิพลมาจากแนวทฤษฎีชาตินิยมและโรแมนติกนิยม   การศึกษาในแนวนี้ตอกย้ำประสบการณ์ของมนุษย์ที่มีความแปลก อธิบายสังคมในฐานะเป็นหน่วยตามธรรมชาติซึ่งเป็นบ่อเกิดของขนบธรรมเนียมประเพณี และเชื่อว่าวัฒนธรรมเป็นเบ้าหลอมทางการเมือง  การศึกษาแนวนี้นำไปสู่การค้นหาบุคลิกของชีวิตแบบชาวบ้านซึ่งถูกทำให้หดสั้นลงเป็นเพียงเรื่องเล่าหรือขนบธรรมเนียม   เจ จี วอน เฮอร์เดอร์ เป็นผู้มีอิทธิพลต่อการแยกประเภทคติชน และประเภทขนบธรรมเนียมต่างๆ  เขาอธิบายว่า ธรรมชาติของการเมืองมักจะมีคติความเชื่อชาวบ้านที่ทำให้เกิดเอกลักษณ์เฉพาะของสังคมนั้น  

          ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 การศึกษาของนักมานุษยวิทยาซึ่งได้รับอิทธิพลจากทฤษฎีวิวัฒนาการ อธิบายคติชนในฐานะเป็นการเอาชีวิตรอดของมนุษย์ในระยะแรกของวิวัฒนาการทางวัฒนธรรม ซึ่งยังไม่มีเหตุผลและเต็มไปด้วยความขัดแย้ง  แอนดรูว์ แลง อธิบายว่าคติชนคือการเก็บรวบรวมและเปรียบเทียบเรื่องราวทางวัฒนธรรมของคนโบราณ  ศึกษาเรื่องโชคลาง เรื่องเล่า และความคิดซึ่งยังคงสืบทอดมาถึงปัจจุบัน    

          นักคติชนในคริสต์ศตวรรษที่ 20  อธิบายว่าการศึกษาคติชน คือการศึกษาวัตถุทางขนบธรรมเนียมประเพณี  สติธ ธอมป์สัน อธิบายว่า ความคิดที่ปราฏอยู่ในคติชนคือขนบธรรมเนียมซึ่งมีการสืบทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง การสืบทอดนี้ทำโดยความจำและการปฏิบัติ มิใช่ผ่านตัวหนังสือ  ความทรงจำและการปฏิบัติ ได้แก่ การเต้นรำ บทเพลง นิทาน ตำนาน  ความเชื่อ โชคลาง คำพังเพย สุภาษิต และธรรมเนียมประเพณีต่างๆ   อังเดร  วาราแน็ค เชื่อว่าคติชนเป็นเรื่องง่ายๆ ไม่ซับซ้อน เป็นความเชื่อของคนหมู่มากที่ไม่ต้องยึดเป็นกฎเกณฑ์ข้อบังคับ  เป็นการปฏิบัติของส่วนรวมที่ไม่ต้องมีคำสอนหรือทฤษฎี

          คติชนวิทยา มีการศึกษาทั้งในวิชามานุษยวิทยาและศาสตร์อื่นๆ  การศึกษาประเด็นนี้มีลักษณะเฉพาะที่สนใจเรื่องการปฏิบัติและบันทึกต่างๆเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณี ซึ่งประมวลออกมาจากบริบททางสังคม  จุดประสงค์ของการศึกษา คือการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อเปรียบเทียบ และดูลักษณะการแพร่กระจายของเรื่องเล่าต่างๆตามยุคสมัย    ในทางตรงข้าม การศึกษาคติชนทางมานุษยวิทยาเป็นการศึกษาหลักฐานของสิ่งที่ทำให้เกิดวัฒนธรรมและโครงสร้างสังคม   แต่ทั้งมานุษยวิทยาและคติชนวิทยาต่างสนใจที่จะอธิบายเรื่องเล่าในฐานะเป็นวิธีการสื่อสาร ซึ่งมิใช่เฉพาะแต่ตัวเรื่องเล่าเท่านั้น หากแต่ยังสนใจประสบการณ์ของการเล่า ซึ่งประกอบด้วยผู้เล่า ผู้ฟัง การได้ยินและการมองเห็น


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Georges, Robert A., Michael Owens Jones, 1995. "Folkloristics: An Introduction," Indiana University Press.

 Kenneth S. Goldstein, 1971. "Strategy in Counting Out: An Ethnographic Folklore Field Study," in Elliott M. Avedon and Brian Sutton-Smith, eds., The Study of Games. New York: John Wiley & Sons.

Robert H. Winthrop. 1991. Dictionary of Concepts in Cultural Anthropology. Greenwood Press, New York. Pp.124-127.


หัวเรื่องอิสระ: คติชาวบ้าน