คำศัพท์

Diffusion

         ความคิดเรื่อง “การแพร่กระจาย” ทางวัฒนธรรม (Cultural Diffusion) หมายถึงการกระจายตัวของแบบแผนทางวัฒนธรรมจากพื้นที่หนึ่งไปยังพื้นที่อื่น เช่น ภาษา การแต่งกาย ศาสนา เทคโนโลยี วัตถุสิ่งของ เครื่องมือเครื่องใช้ หรือความคิดความเชื่อ ซึ่ง ลีโอ โฟรบีเนียส เป็นผู้นำเสนอความคิดนี้ครั้งแรกในปี 1897  รูปแบบการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมมี 5 ลักษณะ คือ 1 การแพร่จากที่หนึ่งไปยังที่อื่นโดยวัฒนธรรมในที่เดิมยังคงมีพลังและแพร่ออกไปมีพลังในที่อื่นด้วย 2 การแพร่แบบเปลี่ยนพื้นที่ โดยกลุ่มคนในวัฒนธรรมหนึ่งย้ายถิ่นอาศัยไปอยู่ในที่ใหม่ 3 การแพร่แบบลำดับชั้น เป็นการนำวัฒนธรรมของชนชั้นสูงแพร่ไปสู่ชนชั้นล่าง  4 การแพร่ผ่านบุคคล ซึ่งคนๆหนึ่งจะนำวัฒนธรรมติดตัวไปและเผยแพร่ไปสู่คนอีกคนหนึ่งแบบตัวต่อตัว และ 5 การแพร่แบบมีตัวกระตุ้น เป็นการแพร่วัฒนธรรมผ่านบางสิ่งบางอย่าง หรืออาศัยความคิดบางอย่างเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่

          นอกจากนั้น หากพิจารณาจากกลไกที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายวัฒนธรรม อาจแบ่งกลไกออกเป็น 3 รูปแบบ คือ 1 การแพร่กระจายโดยอาศัยอำนาจบังคับ ซึ่งผู้นำทางการเมืองจะเข้าไปปกครองดินแดนที่ด้อยกว่า เช่น ชาวตะวันตกเข้าไปปกครองชนพื้นเมือง 2 การแพร่กระจายโดยการตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน และ 3 การแพร่กระจายทางอ้อม โดยอาศัยคนกลางที่นำวัฒนธรรมหนึ่งไปเผยแพร่ในพื้นที่อื่นที่มิใช่ต้นกำเนิดของวัฒนธรรม

          การแพร่กระจายทางวัฒนธรรม แตกต่างจากการหลอมรวมวัฒนธรรม (acculturation) ซึ่งอธิบายกระบวนการเปลี่ยนผ่านทางวัฒนธรรมอย่างเป็นระบบโดยมีสังคมที่มีอำนาจเหนือกว่าเข้าไปเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของสังคมที่ด้อยกว่า   กราฟตัน เอลเลียต สมิธ อธิบายว่าอียิปต์คือต้นกำเนิดของวัฒนธรรมขั้นสูง และเป็นแหล่งสร้างอารยธรรมให้กับอินเดียในสมัยโบราณ และต่อไปถึงดินแดนอื่นๆในเอเชีย หมู่เกาะในมหาสมุทร และอเมริกา  สมิธยังกล่าวถึงเทคนิคการทำมัมมี่ การสร้างอนุสาวรีย์แท่งหิน การบูชาดวงอาทิตย์  การเคารพลึงค์ และการเกษตรกรรม สิ่งเหล่านี้ยังเป็นปริศนาว่ามีการแพร่กระจายหรือไม่   ส่วนนักทฤษฎีชาวเยอรมันและออสเตรีย กล่าวถึงวงจรของวัฒนธรรม โดยอธิบายว่าวัฒนธรรมมีศูนย์กลาง และแผ่ขยายออกไปยังที่อื่นๆ ความเชื่อนี้นำไปสู่ทฤษฎี   Hyperdiffusionism ซึ่งมองว่าวัฒนธรรมของมนุษย์เติบโตมาจากศูนย์กลางที่เดียวกัน  ตรงข้ามกับทฤษฎีการกระจายวัฒนธรรมจากหลายแหล่ง หรือ Culture circles diffusionism อธิบายว่าวัฒนธรรมต่างๆเกิดขึ้นจากศูนย์กลางหลายแหล่ง

ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 นักมานุษยวิทยาใช้ทฤษฎีวิวัฒนาการเพื่อหักล้างแนวคิดการแพร่กระจาย  โดยอธิบายการพัฒนาทางวัฒนธรรมของโลกมีการเปลี่ยนแปลงตามลำดับขั้น   โดยมองว่าการคิดประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ทุกสังคม มนุษย์คือนักประดิษฐ์ และพัฒนาสิ่งต่างๆขึ้นมาใช้ภายในสังคมของตัวเอง   ตรงข้ามกับทฤษฎีการแพร่กระจาย ที่สันนิษฐานว่ามนุษย์เป็นผู้ที่เฉื่อยชา และไม่รู้จักการสร้างสิ่งต่างๆ  

         

          ถึงแม้ว่าทฤษฎีการแพร่กระจายจะถูกอธิบายว่าเป็นสาเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม  นักมานุษยวิทยาอเมริกันอย่างฟรานซ์ โบแอส ,โรเบิร์ต เลวี่ และราล์ฟ ลินตัน ก็ยังเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นทั้งการคิดเอาเองและเหตุบังเอิญ เพราะแต่ละสังคมย่อมได้รับอิทธิพลจากหลายแหล่ง และสร้างวัฒนธรรมแบบผสมผสาน คล้ายกับนำสิ่งของต่างๆมารวมกัน 

          ถึงแม้ว่าการศึกษามานุษยวิทยาในมิติประวัติศาสตร์จะสนใจศึกษารายละเอียดของแบบแผนทางวัฒนธรรมซึ่งนำความคิดการแพร่กระจายมาอธิบาย แต่ต่อมาการศึกษาก็เริ่มมององค์รวมมากขึ้น และมีการตีความทางวัฒนธรรมกับการเปลี่ยนแปลง   นอกจากนั้นทฤษฎีแพร่กระจายยังนำไปสู่แนวคิดแบบ acculturation การศึกษารูปแบบทางวัฒนธรรม และความสัมพันธ์ของวัฒนธรรมกับบุคลิกภาพ     ในทศวรรษที่ 1940 แนวทฤษฎีวิวัฒนาการทำให้เกิดการศึกษาประเด็นนิเวศน์วัฒนธรรมและการปรับตัว ทำให้แนวคิดการแพร่การกระจายเริ่มเสื่อมคลาย เพราะไม่อาจอธิบายกระบวนการเปลี่ยนแปลงได้


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Kroeber, Alfred L. 1940. "Stimulus diffusion." American Anthropologist 42(1), Jan.–Mar., pp. 1–20.

Robert H. Wintrop .1991. Dictionary of Concepts in Cultural Anthropology. Greenwood Press, New York. Pp.82-84.

Rogers, Everett 1962. Diffusion of innovations. New York: Free Press of Glencoe, Macmillan Company.


หัวเรื่องอิสระ: การแพร่กระจายทางวัฒนธรรม