คำศัพท์

Descent

        Descent  คือการสืบเชื้อสายหรือการสืบตระกูล นักมานุษยวิทยาจะศึกษาวิธีการจัดจำแนกบุคคลตามสายสัมพันธ์ทางเครือญาติ เช่น การสืบเชื้อสายตระกูลทางฝ่ายแม่หรือฝ่ายพ่อจะมีกฎที่แตกต่างกัน นอกจากนั้นยังศึกษาเรื่องการเป็นญาติพี่น้องโดยมีบรรพบุรุษร่วมกันมา  ความสัมพันธ์ทางสายโลหิตของมนุษย์เป็นสิ่งที่รับรู้กันว่าถูกกำหนดในเชิงสังคม  บุคคลที่อ้างว่าเป็นทายาทของบรรพบุรุษเดียวกันจะได้รับการยอมรับให้อยู่ในกลุ่ม ซึ่งอาจมิใช่เป็นการสืบทางสายเลือดเท่านั้น คนที่เป็นญาติกันยังเกิดจากเหตุผลอื่นๆ  การเป็นทายาทเป็นเรื่องทางสังคม และแตกต่างกันไปในแต่ละวัฒนธรรม   ในสังคมตะวันตกความหมายของการเป็นญาติหรือทายาทไม่ใช่สิ่งสำคัญสำหรับการรวมตัวทางสังคม  อย่างไรก็ตาม ในสังคมขนาดเล็ก ความเป็นญาติกันเป็นเรื่องสำคัญมาก

          การสืบสายโลหิตเป็นสิ่งที่มีอำนาจ และให้ประโยชน์แก่บุคคล ไม่เฉพาะเรื่องการได้รับมรดกเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการได้รับความเอาใจใส่ดูแลทางสังคมด้วย  การรวมกลุ่มของผู้ที่เป็นทายาทนั้นเป็นการรวมกลุ่มตามธรรมชาติเนื่องจากทุกๆคนมีสายโลหิตเดียวกัน  นักมานุษยวิทยาได้เรียกผู้ที่เป็นญาติกันว่า สายตระกูล (Lineage) ซึ่งประกอบด้วยเครือญาติ และการเรียกชื่อญาติพี่น้องตามลำดับของสายตระกูล  ส่วนคำว่า Clan หรือ กลุ่มตระกูล หมายถึงกลุ่มทายาทขนาดใหญ่ขึ้นไปซึ่งมีบรรพบุรุษคนเดียวกัน

          ภายในกลุ่มตระกูลจะประกอบด้วยสายตระกูลหลายสายซึ่งผูกพันธ์ใกล้ชิดกัน และมีกฎระเบียบใช้ร่วมกัน โดยเฉพาะกฎการแต่งงานที่สมาชิกในกลุ่มต้องแต่งงานกับคนนอกตระกูล (exogamy)   การเป็นทายาทนั้นขึ้นอยู่กับการนับญาติทางฝ่ายพ่อหรือแม่  ทายาททางฝ่ายพ่อ(Patrilineal Descent) เป็นการนับญาติที่ฝ่ายผู้ชาย ในสังคมที่ผู้ชายมีบทบาทสำคัญการนับญาติข้างพ่อเป็นสิ่งสำคัญมาก ผู้ชายจะเป็นผู้ควบคุมทรัพย์สินต่างๆ และจัดระเบียบทางสังคม 

ในการศึกษาของอีวาน พริชาร์ด ในสร้างทฤษฎีเรื่องการจัดระเบียบเครือญาติด้วยการแบ่งเขต(segmentary lineage) เช่นในสังคมอาหรับ คนที่เป็นญาติพี่น้องกันจะถูกแยกว่าใครบ้างที่เป็นญาติสนิท และใครเป็นญาติห่างๆ  ในสังคมโซมาลี ในแอฟริกา เป็นสังคมที่มีการนับญาติทางฝ่ายชาย ซึ่งญาติผู้ชายจะต้องรวมตัวกันเพื่อทำการต่อสู้ และยอมรับความตายร่วมกัน  ความเป็นญาติพี่น้องจึงเป็นพื้นฐานของการจัดระเบียบทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ  อย่างไรก็ตามการนับญาติข้างพ่อไม่ได้หมายถึงการตัดขาดจากญาติข้างแม่  ในทางตรงกันข้าม ความสัมพันธ์ของเครือญาติยังคงเหนียวแน่นทั้งสองฝ่าย  โดยเฉพาะหลานสาวของแม่ ซึ่งเป็นลูกของพี่ชายแม่จะได้รับการคาดหมายว่าคือคู่สมรสของลูกชายในครอบครัว

          ในสังคมที่ผู้ชายแต่งงานกับผู้หญิงหลายคน หรือมีภรรยาหลายคน (Polygyny) ผู้หญิงจะกลายเป็นผู้ที่ผลิตลูกหลานให้กับผู้ชาย ฐานะผู้หญิงจะมีความสำคัญมาก  การมีภรรยาหลายคนนี้ทำให้เกิดการแบ่งกลุ่มของญาติไปตามบ้านของภรรยาแต่ละคน ซึ่งทายาทที่เกิดขึ้นจะนับถือผู้เป็นพ่อคนเดียวกัน  การสืบทายาทยังกำหนดว่าการแต่งงานควรจะเป็นอย่างไร เช่น ห้ามแต่งงานกับคนที่เป็นญาติ หากฝ่าฝืนจะผิดกฎ เป็นต้น  ความเหนียวแน่นของการเป็นญาติพี่น้องจะขึ้นอยู่กับกฎการแต่งงาน พี่น้องจะแต่งงานกันไม่ได้ คู่แต่งงานจะต้องมาจากคนนอกตระกูล(Exogamy)

          ในบางสังคมที่มีการนับญาติข้างพ่อ   เจ้าสาวจะถูกนับเป็นญาติคนหนึ่ง  แต่ในบางสังคมผู้หญิงยังคงสืบตระกูลในครอบครัวเดิม  การแต่งงานจึงเป็นการจัดระเบียบของญาติโดยเฉพาะในสังคมที่มีการแต่งงานนอกกลุ่มซึ่ง สมาชิกในตระกูลจะต้องแต่งงานกับคนนอกตระกูล   ในสังคมที่มีการนับญาติข้างแม่ บทบาทของผู้ชายก็ยังคงมีความสำคัญมาก  ลูกชายในครอบครัวจะมีความสำคัญมาก รวมทั้งพี่น้องผู้ชายในตระกูลจะได้รับสิทธิบางอย่าง   อย่างไรก็ตาม ลูกชายของพี่ชายหรือพี่สาวของแม่ในตระกูลจะเป็นผู้ที่ต้องเผชิญหน้ากับทางเลือกในการแต่งงาน ซึ่งมีความไม่มั่นคงเท่าใดนัก  พี่ชายของแม่มักจะควบคุมหลานชาย เมื่อหลานแต่งงานก็ต้องนำภรรยาเข้ามาอยู่ในครัวเรือนที่ลุงเป็นผู้ควบคุมและมีอำนาจ  สังคมที่มีการนับญาติข้างแม่ ลูกชายจึงต้องอยู่กับแม่

          ในสังคมเผ่านายาร์ในประเทศอินเดีย มีการนับญาติข้างแม่ แต่หลังจากตกอยู่ใต้อาณานิคมอังกฤษ กฎระเบียบต่างๆจึงเปลี่ยนแปลงไป  ในสังคมบางแห่งมีการนับญาติทั้งสองฝ่าย สมาชิกในครอบครัวจึงต้องอาศัยอยู่กับญาติข้างพ่อและแม่ตามระยะเวลากำหนด อย่างไรก็ตามในบางกรณี  ครอบครัวที่นับญาติทางแม่ ลูกชายจะมีบทบาทควบคุมกฎระเบียบต่างๆ  ลูกหลานที่เป็นผู้ชายจึงถูกควบคุมโดยลุง หรืออาที่เป็นพี่น้องกับแม่  ในสังคมสมัยใหม่ บุคคลเริ่มสะสมทรัพย์สินส่วนตัว   ผู้ชายเริ่มมีอิสระและไม่ได้อยู่ใต้อำนาจของญาติฝ่ายชายเหมือนเดิม  ในยุคอาณานิคมและอิทธิพลของศาสนาคริสต์ ผนวกกับระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม การนับญาติข้างแม่เริ่มเลือนหายไป  ครอบครัวเริ่มมีการนับญาติข้างพ่อ หรือนับญาติทั้งสองฝ่าย

          การนับญาติทั้งสองฝ่าย มีให้เห็นในสังคมบางแห่ง เช่น ในเผ่ายาโก ในแอฟริกาตะวันตก  ญาติมีน้องจะมีกฎระเบียบทั้งฝ่ายพ่อและแม่ ทายาทจึงนับญาติทั้งสองฝ่าย แต่ความเหนียวแน่นอาจมีน้อยกว่าการนับญาติข้างใดข้างหนึ่ง เนื่องจากการสืบทอดมรดกเป็นข้อจำกัด   ในเผ่าอัมฮาร่าในประเทศเอธิโอเปีย การนับญาติจะขึ้นอยู่กับการครอบครองที่ดิน และควบคุมให้สมาชิกแต่งงานกับคนนอกตระกูล ทำให้กลุ่มเครือญาติมีความเหนียวแน่น   การนับญาติจึงเป็นเรื่องของผลประโยชน์ของกลุ่ม


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Alan Barnard and Jonathan Spencer (eds). 1996 Encyclopedia of Social and Cultural Anthropology. Routledge : London. P.151-154.

Fox, Robin 1977. Kinship and Marriage: An Anthropological Perspective. Harmondsworth: Penguin.

Holland, Maximilian (2012). Social Bonding and Nurture Kinship: Compatibility Between Cultural and Biological Approaches. Createspace Press.

Joyce, Rosemary A. & Susan D. Gillespie (eds.). 2000. Beyond Kinship: Social and Material Reproduction in House Societies. University of Pennsylvania Press.


หัวเรื่องอิสระ: การสืบเชื้อสาย