คำศัพท์

Cultural Resource Management

       การจัดการทรัพยากรทางวัฒนธรรม หมายถึง วิธีบริหารจัดการดูแลรักษาทรัพยากรหรือวัตถุทางวัฒนธรรมที่เป็นมรดกตกทอดมายาวนานของมนุษย์ เช่น ศิลปกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม โบราณสถาน รวมถึงวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ เช่น คติชน  และปัจจุบันยังครอบคลุมถึงวัฒนธรรมร่วมสมัยที่เป็นผลงานสร้างสรรค์ใหม่  การบริหารจัดการ อาจหมายถึงการวางแผนงาน และการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการอนุรักษ์ดูแลรักษา หรือการจัดการข้อมูล สถานที่ พื้นที่  และการตรวจสอบเรื่องราวในอดีตของชาติ หรือของกลุ่มชนเผ่าพันธุ์ต่างๆ  รูปแบบของการจัดการอาจปรากฎอยู่ในงานพิพิธภัณฑ์ ศูนย์การเรียนรู้ หรือนิทรรศการ เป็นต้น

         การบริหารจัดการทรัพยากรทางวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากลัทธิชาตินิยมและพาณิชยนิยมของยุโรปในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16  การครอบครองดินแดนของชาวยุโรปในทวีปอเมริกา แอฟริกา ออสเตรเลีย และเอเชียเป็นผลโดยตรงจากการขยายตัวของการค้าในโลกเก่า     ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ดินแดนที่ตกเป็นอาณานิคมของชาวยุโรปเริ่มตระหนักว่าอดีตและประวัติศาสตร์ของตนเองกำลังถูกทำลายลง 

          ในปี ค.ศ. 1966 สหรัฐได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับการอนุรักษ์คุ้มครองมรดกทางประวัติศาสตร์ของชาติ และในปี ค.ศ. 1974 ออกกฎหมายเกี่ยวกับการอนุรักษ์คุมครองแหล่งประวัติศาสตร์และโบราณคดี  กฎหมายนี้ช่วยยืนยันว่ารัฐบาลจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการทำลายแหล่งประวัติศาสตร์ หรือแหล่งโบราณคดีซึ่งเป็นของเอกชนที่ได้รับอนุญาตให้ครอบครองพื้นที่เหล่านี้ได้ตามกฎหมาย

          สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งของการจัดการทรัพยากรทางวัฒนธรรมในสหรัฐก็คือ เกิดการอนุรักษ์แหล่งโบราณคดีอย่างต่อเนื่อง และทำให้ประชาชนมีสำนึกในการอนุรักษ์โดยอาศัยองค์กรต่างๆ เช่น หน่วยอุทยานแห่งชาติ องค์การป่าไม้ และบริษัทจัดการที่ดินอื่นๆ  รูปแบบการจัดการทรัพยากรทางวัฒนธรรมดังกล่าวนี้เกิดขึ้นเนื่องจากมีการจัดตั้งระบบการควบคุมในระดับรัฐซึ่งกระตุ้นให้มีกิจกรรมการอนุรักษ์คุ้มครองแหล่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นยังได้ทรัพย์สมบัติที่มีค่ากลับคืนมา  การจัดการวัฒนธรรมยังรวมถึงการจัดทำข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับแหล่งโบราณสถานและทรัพยากรทางวัฒนธรรมนั้นเพื่อเผยแพร่ให้ความรู้แก่ประชาชน  ประเด็นนี้กำลังเป็นสิ่งที่สำคัญมากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากการจักทำข้อมูลเพื่อเผยแพร่สาธารณะถือเป็นการทำข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์

          หน่วยงานที่ทำงานด้านอนุรักษ์โดยตรง เช่น องค์การยูเนสโก จะมีการคัดเลือกสถานที่สำคัญๆให้เป็นมรดกโลก ซึ่งทำให้เกิดความพยายามที่จะอนุรักษ์สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ไปทั่วโลก  สถานที่หลายแห่งได้รับการดูแลจากองค์การสหประชาติชาติและหน่วยงานด้านอนุรักษ์ของชาติ  ในปี ค.ศ.1959 องค์กร ICCROM เกิดขึ้นในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของยูเนสโก โดยทำหน้าที่อนุรักษ์และฟื้นฟูสมบัติทางวัฒนธรรม  คณะกรรมการนานาชาติด้านพิพิธภัณฑ์ หรือ ICOM และหน่วยงานที่ดูแลสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ หรือ ICOMOS คือหน่วยงานเอกชนที่เข้ามาเผยแพร่ให้ข้อมูล ให้ผู้เชี่ยวชาญจากนานาชาติ  ไคอมเป็นหน่วยงานที่ทำให้เกิดการจับกุมผู้ลักลอบค้าของเก่า และยังทำหน้าที่สำรวจวัตถุสิ่งของทางประวัติศาสตร์เพื่อส่งคืนกลับประเทศเดิม

          หน่วยงานที่ชื่อ ICAHM เป็นหน่วยงานที่จัดการมรดกทางโบราณคดีนานาชาติ ก่อตั้งในปี ค.ศ.1985 หน่วยงานนี้ทำหน้าที่วางแผนงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์ในระดับสากล  อย่างไรก็ตาม การจัดการด้านทรัพยากรทางวัฒนธรรมจะมีความเข้มข้นมากในระดับชาติ โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือในประเทศที่มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานซึ่งบ่งบอกความเป็นชาติพันธุ์ที่เข้มแข็ง  การทำงานด้านในมิตินี้ทำให้การจัดการทางวัฒนธรรมเป็นเรื่องทางการเมือง หรือเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกสถานะ หรือช่วยให้เกิดสัญลักษณ์ใหม่ในสังคม

          การตัดสินใจว่าใครจะเข้ามาจัดการทรัพยากรทางวัฒนธรรม หรือ จะใช้วิธีใดในการจัดการ คือประเด็นที่นำไปสู่การตระหนักถึงเรื่องทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรทางวัฒนธรรมซึ่งเริ่มมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง  ประเด็นเหล่านี้ยังคงถกเถียงกันเรื่อยมา แต่เป็นเรื่องที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากในประเทศที่เคยตกเป็นอาณานิคมของตะวันตก เช่น ในดินแดนอเมริกาใต้ ออสเตรเลีย และอเมริกาเหนือ  ประเด็นหลักของการถกเถียงคือการควบคุมมรดกทางวัฒนธรรมของคนพื้นเมือง  การประเมินคุณค่าของการอนุรักษ์ และการใช้ที่ดินที่เป็นสถานที่ประวัติศาสตร์  แนวคิดการอนุรักษ์ของชาวยุโรปถูกตั้งคำถามจากคนพื้นเมืองว่าคุณค่า ความหมายทางวัฒนธรรม ศาสนา การเมืองในสถานที่ทางประวัติศาสตร์นั้นเป็นของใคร

          ในประเทศเม็กซิโก และลาตินอเมริกาหลายประเทศ พยายามที่จะพัฒนาอัตลักษณ์ของชาติตนเองโดยการเน้นให้เห็นความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมทั้งที่มีอยู่ในดินแดนโลกเก่าและโลกใหม่ ทั้งนี้เพื่อยืนยันว่าคุณค่าของคนพื้นเมืองและชาวยุโรปที่อพยพมาที่หลังนั้นมีพอๆกัน   อย่างไรก็ตาม ในสหรัฐอเมริกา   มีการแยกวัฒนธรรมของคนพื้นเมืองออกจากชาวยุโรป โดยอาศัยนโยบายเกี่ยวกับคนพื้นเมืองที่มีอยู่ในรัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลกลาง  ในสังคมอเมริกันมักจะมีการหยิบยกประเด็นเกี่ยวกับชนพื้นเมืองขึ้นมากล่าวถึงบ่อยๆ  บางครั้ง ประวัติศาสตร์ของชนพื้นเมืองในสหรัฐจะแยกขาดจากประวัติศาสตร์ของคนอเมริกันผิวขาว โดยมองข้ามการผสมผสานทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้น  ประเด็นนี้กลายเป็นข้อขัดแย้งเกี่ยวกับการเข้าไปควบคุมดูแลทรัพยากรและมรดกทางวัฒนธรรมของคนพื้นเมือง

          อย่างไรก็ตาม ทิศทางของการจัดการทางวัฒนธรรมจะต้องคำนึงถึงประชาชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์เหล่านั้น  ถึงแม้ว่าหลักการทำงานด้านอนุรักษ์และการคุ้มครองยังคงอยู่ในมือของรัฐก็ตาม  พรรคการเมืองบางพรรคได้ริเริ่มให้รัฐเข้าไปจัดการอนุรักษ์ทรัพยากรประวัติศาสตร์ในพื้นที่ของเอกชน  แต่สิ่งนี้ยังไม่เกิดขึ้น เนื่องจากต้องคำนึงถึงการกฎหมายเกี่ยวกับการครอบครองที่ดินส่วนตัวด้วย


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

David Levinson, Melvin Ember (eds.) 1996. Encyclopedia of Anthropology. Henry Holt and Company,New York. pp.285-288.

King, Thomas F. 2005. Doing Archaeology: A Cultural Resource Management Perspective. Left Coast Press.

Nissley, Claudia and Thomas F. King. 2014. Consultation and Cultural Heritage: Let Us Reason Together. Left Coast Press.

Smith, Laurajane. 2004. Archaeological Theory and Politics of Cultural Heritage. Routledge.

Zorzin, Nicolas. 2014. Heritage Management and Aboriginal Australians: Relations in a Global, Neoliberal Economy—A Contemporary Case Study from Victoria. Archaeologies: The Journal of the World Archaeological Congress 10(2): 132-167.


หัวเรื่องอิสระ: การจัดการทรัพยากรทางวัฒนธรรม