คำศัพท์

Fandom

ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมแฟนคลับ

ในช่วงที่ผ่านมาการศึกษาแฟนคลับของนักวิชาการด้านสื่อและวัฒนธรรมศึกษาจะให้ความสนใจกับการรรวมกลุ่มและสร้างชุมชนของคนที่ชื่นชอบสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งทำให้เกิดความคิดเรื่องกลุ่มวัฒนธรรมย่อยของคนที่ชอบอะไรบางอย่าง (subcultural fandom) (Jenkins, 1992; Van de Goor, 2015; Hill, 2016; Hitchcock Morimoto & Chin, 2017) ความเข้าใจหลักเกี่ยวกับแฟนคลับจึงเป็นเรื่องอัตลักษณ์และแบบแผนทางสังคมที่กลุ่มคนเข้ามาสร้างบทสนทนาและทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับบุคคลหรือสิ่งของที่เขาชื่นชอบ ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ วัฒนธรรมแฟนคลับภายใต้กระบวนทัศน์ “กลุ่มทางสังคม” จะเน้นมิติวัฒนธรรมทางวัตถุและอิทธิพลของวัฒนธรรมบริโภค (Hills, 2002; Larsen & Zubernis, 2012; Linden & Linden, 2017; Woodward, 2007) คำอธิบายส่วนใหญ่จึงบอกเล่ากิจกรรมที่กลุ่มแฟนกระทำขึ้นราวกับว่าแฟนคลับแต่ละประเภทมีพรมแดนพื้นที่ของตัวเองที่ชัดเจน รวมถึงการสร้างอัตลักษณ์กลุ่มที่ถาวรมีเอกภาพ แต่ Nick Couldry and Andreas Hepp (2017) ตั้งข้อสงสัยว่ากลุ่มแฟนที่รวมตัวเหล่านั้นมีเอกภาพจริงหรือไม่ การรวมกลุ่มของแฟนคลับเกี่ยวข้องกับเครือข่ายสังคมแบบอื่นๆหรือไม่ สมาชิกในกลุ่มแฟนยึดมั่นกับกลุ่มของตัวเองอย่างเหนียวแน่นหรือไม่ คำถามเหล่านี้ทำให้เกิดการรื้อความเข้าใจเดิมๆที่มีต่อแฟนคลับ

การศึกษาแฟนคลับในโลกที่ซับซ้อนจึงมิใช่การค้นหาอัตลักษณ์ที่ถาวรหรือการสร้างชุมชนที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (Hills, 2017a) แต่เป็นการทำความเข้าใจเครือข่ายสังคมที่หลากหลายที่ทำให้กลุ่มต่างๆเชื่อมโยงเข้าหากันภายใต้ปฏิสัมพันธ์และปฏิบัติการที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจช่วยขยายมุมมองต่อแฟนคลับจากกลุ่มที่มีเอกภาพแบบของใครของมันไปสู่การมองแฟนคลับในฐานะเป็น “โลก” ที่เคลื่อนตัวไปตลอดเวลาและไม่มีความมั่นคงในอัตลักษณ์ กล่าวคือโลกของแฟนคลับมีลักษณะปลายเปิดและพร้อมจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นอะไรก็ได้ (Jenkins, 2006) ในการศึกษาแฟนคลับในมิติที่ลื่นไหล Hassler-Forest (2016) ชี้ว่ากลุ่มคนที่นิยมชมชอบวัตถุสิ่งของหรือบุคคลคือผู้ที่กำลังสร้างจินตนาการที่ไม่รู้จบและกำลังสร้างโลกที่ไม่เหมือนเดิม คนเหล่านี้พยายามทุ่มเทความรัก ความลุ่มหลงและคลั่งไคล้ ให้กับวัตถุและบุคคล ซึ่งพวกเขาได้สร้างพื้นที่สังคมที่ไม่เคยมีอยู่มาก่อนให้เป็นสิ่งที่ตอบสนองอารมณ์ความรู้สึก Hills (2017a) กล่าวว่ากลุ่มแฟนคลับคือผู้ที่บอกเล่าเรื่องราวของโลกที่เต็มไปด้วยจินตนาการ โลกดังกล่าวไม่ใช่สิ่งถาวรแต่มีลักษณะของการท้าทาย ปรับเปลี่ยนแก้ไขและรื้อสร้างใหม่

Kristina Busse and Jonathan Gray (2014) ตั้งข้อสังเกตว่าในปัจจุบันที่เทคโนโลยีสื่อออนไลน์มีการเติบโตและมีบทบาทต่อการเสพสื่อแบบใหม่ การเกิดขึ้นของแฟนคลับย่อมจะต่างไปจากยุคเดิมที่สื่อหลักจะเป็นสิ่งพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ สื่อใหม่ในยุคดิจิทัล ทำให้การสร้างกลุ่มแฟนคลับมีความซับซ้อนมากกว่าเดิม นอกจากนั้น ยังมีการศึกษาวัฒนธรรมแฟนในบริบทของสังคมทุนนิยม โดยมองกลุ่มแฟนคลับเป็นผู้บริโภคสินค้าที่กำลังสร้างอำนาจในตัวเองและแสวงหาการมีส่วนร่วมต่อการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม (Linden & Linden, 2017) ในการศึกษาของ Coppa (2014) อธิบายว่าวัฒนธรรมแฟนคลับมิใช่สิ่งที่สมบูรณ์หรือเป็นชุมชนที่กลมเกลียวสวยงาม หากแต่เป็นกระบวนการและการปฏิบัติที่มีการต่อรองและขัดแย้งอยู่ตลอดเวลา เสมือนเป็นวิถีการการดิ้นรนในการใช้ชีวิตทางสังคม ในแง่นี้จะเห็นว่าการศึกษาแฟนคลับเริ่มถอยห่างจากกรอบคิดแบบ “วัฒนธรรมย่อย” ของคนที่มารวมกลุ่มกันเป็นชุมชน แต่เคลื่อนไปสู่การทำความเข้าใจวัฒนธรรมแฟนคลับจากประสบการณ์ชีวิตของคนที่มิได้มีเอกภาพอยู่กับกลุ่ม (Sandvoss et al., 2017) เนื่องจากกลุ่มแฟนคลับมิได้มีอัตลักษณ์ที่ตายตัว และมิใช่คู่ตรงข้ามกับกลุ่มคนที่มิใช่แฟนคลับ การทบทวนความเข้าใจนี้ทำให้เห็นว่าบุคคลที่นิยมชมชอบบุคคล วัตถุสิ่งของหรือปรากฎการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง สามารถเปลี่ยนความชอบของตัวเองไปได้หลากหลาย (Busse & Gray, 2014) วัฒนธรรมแฟนคลับและวัฒนธรรมกระแสหลักจึงมิใช่สิ่งที่แยกขาดจากกัน

คำถามสำคัญต่อความเข้าใจเรื่องวัฒนธรรมแฟนคลับ คือ แฟนคลับดำรงอยู่ในฐานะกลุ่มย่อยทางสังคมที่มีอัตลักษณ์เหมือนกัน หรือเป็นปัจเจกบุคคลที่มีวิถีชีวิตที่ต่างกัน (Kahn-Harris, 2007) หากมองกลุ่มแฟนคลับเป็นสังคมของคนที่ชอบอะไรเหมือนกัน ก็จะเห็นมิติของการสร้างอัตลักษณ์ร่วม ในทางกลับกันหากมองแฟนคลับเป็นปัจเจกที่มีชีวิตแตกต่างกัน ก็จะพบว่าคนแต่ละคนที่ชอบอะไรเหมือนกันอาจมีสิ่งที่แสดงออกต่างกันได้ การทำความเข้าใจในสองมิตินี้ส่งผลต่อการอธิบายการดำรงอยู่ของแฟนคลับในด้านที่เป็นความกลมเกลียว และด้านที่เป็นความแปลกแยก

แฟนคลับกับทุนนิยมและจินตนาการ

Hannerz (2015) อธิบายว่าวัฒนธรรมแฟนคลับมีการยืดหด ขยายตัวหรือปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ ภายใต้ระบบทุนนิยมที่มีการกระตุ้นเร้าให้เสพสินค้า จินตนการและบริการหลากหลายรูปแบบ จะพบว่านายทุนและผู้สร้างสรรค์งานวัฒนธรรมให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจจะมองเห็นกลุ่มเป้าหมายที่จะเป็นผู้เฝ้าติดตามและรอคอยสินค้าที่เขาต้องการ นายทุนเหล่านี้จึงเป็น “ผู้ประกอบการที่สร้างแฟนคลับ” (fantrepreneurship) (Carter, 2018) ผู้ที่เห็นช่องทางสำหรับแสวงหารายได้จากความนิยมชมชอบของกลุ่มเป้าหมาย พวกเขาจะพยายามสร้างเรื่องราว วัตถุสิ่งของ ดรารานักแสดง นักร้อง ศิลปิน ความบันเทิงและสิ่งสร้างสรรค์ต่างๆขึ้นมา เนื่องจากสิ่งเหล่านี้จะดึงดูดความสนใจจากคนบางกลุ่ม เมื่อมีสินค้าที่ตรงใจ กลุ่มแฟนคลับก็จะยอมจ่ายเงินเพื่อให้ได้ในสิ่งที่เขาปรารถนาและชื่นชม (Cherry, 2016) ในแวดวงธุรกิจเชื่อว่าวัฒนธรรมแฟนคลับคือแหล่งสร้างรายได้ที่น่าสนใจ ยิ่งมีสินค้าและบริการต่างๆมาให้แฟนคลับซื้อไปครอบครองและสะสม กลุ่มผู้ประกอบการก็จะได้รับผลกำไรต่อเนื่อง เช่น สินค้าที่มาจากการ์ตูนหรือภาพยนตร์ เป็นต้น

Hills (2017b) กล่าวว่าในระบอบเสรีนิยมใหม่ วัฒนธรรมแฟนคลับมิใช่กลุ่มวัฒนธรรมย่อยที่มีลักษณะต่อต้านและท้าทายกฎระเบียบสังคม หากแต่ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมบริโภคที่ถูกกระตุ้นด้วยสินค้าและบริการที่แฟนคลับยอมจ่ายเพื่อให้ได้เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เขาชื่นชอบ ในขณะที่ Athique (2016) ตั้งข้อสังเกตว่าในยุคอินเตอร์เน็ตและสังคมออนไลน์ กลุ่มผู้บริโภคกับกลุ่มแฟนคลับที่ชื่นชอบสินค้าต่างๆ มิได้แยกขาดจากกัน แต่ดำรงอยู่ในพื้นที่สังคมของการเสพสินค้าซึ่งกลุ่มธุรกิจต่างๆล้วนแผ่ขยายอำนาจไปทั่วโลก ส่งผลให้ความชื่นชอบและความนิยมในสินค้ากระจายตัวไปยังกลุ่มคนที่หลากหลาย ปรากฎการณ์นี้ทำให้แนวคิดเรื่อง “วัฒนธรรมย่อย” ที่เชื่อว่ามีความคงที่และเป็นเอกภาพไม่สามารถนำมาใช้วิเคราะห์เครือข่ายผู้เสพสินค้าที่ข้ามพรมแดน Hill (2016) ตั้งข้อสังเกตว่าการศึกษาวัฒนะรรมแฟนคลับในยุคโลกไร้พรมแดน จำเป็นต้องเข้าใจความหลากหลายของวิธีปฏิบัติของแฟนคลับ ซึ่งมีทั้งการแสดงตัวแบบเปิดเผยและกลุ่มคนที่ไม่เปิดเผยและไม่นิยมเข้ากลุ่มทางสังคม แต่พวกเขายังคงเฝ้าติดตามและชื่นชมศิลปิน ดารานักแสดง นักร้อง หรือวัตถุสิ่งของที่มีความหมายต่อเขา

Lindlof (2016) กล่าวว่าการศึกษาแฟนคลับด้วยแนวคิดเรื่อง “ชุมชน” มีข้อจำกัดมาก เนื่องจากกลุ่มแฟนเป็นปัจเจกที่มาจากชนชั้น ฐานะและแบแผนชีวิตที่ไม่เหมือนกัน คนที่ชื่นชอบอะไรเหมือนกันไม่จำเป็นต้องมีวิธีคิดและโลกทัศน์แบบเดียวกัน ความเป็นแฟนคลับจึงมิใช่การมีชุมชนถาวรของตัวเอง ในทางตรงกันข้าม กลุ่มแฟนแต่ละคนล้วนมีเครือข่ายทางสังคมที่ซับซ้อน หลากหลายและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ความเป็นแฟนคลับจึงไม่สามารถวิเคราะห์ได้จากการเป็นชุมชนที่มีเอกภาพ ทั้งนี้ ปัจเจกที่ชอบวัตถุสินค้า บริการ ตัวบุคคล และเหตุการณ์ต่างๆ ล้วนมีการแสดงออกต่อสิ่งที่ชอบไม่เหมือนกัน Hills (2017b) เสนอว่าการทำความเข้าใจวัฒนธรรมแฟนคลับอาจพิจารณาถึง “ความรู้สึกหลงใหล” ที่บุคคลมีต่อบางสิ่งบางอย่าง และทำให้เกิดการสร้างโลกจินตนาการขึ้นมา การเข้าไปอยู่ในจินตนาการของสิ่งที่หลงใหลทำให้บุคคลรู้สึกอิ่มเอมและมีแรงกระตุ้นที่จะทำสิ่งต่างๆเพื่อสนองตอบสิ่งที่หลงใหล ขณะที่ Ryan (2017) เสนอว่าโลกจินตนาการที่พบเห็นในสื่อสังคมออนไลน์และเทคโนโลยีดิจิทัล ทำเห็นเห็นปรากฎการณ์สองลักษณะคือ หนึ่ง โลกที่เต็มไปด้วยความรู้สึกคลั่งไคล้หลงใหล และปฏิบัติการที่บุคคลมีต่อสิ่งที่เขาชื่นชอบ สื่อดิจิทัลในปัจจุบันจึงนำผู้คนไปพบกับโลกแห่งความฝัน จินตนการและความหลงใหล ในแง่นี้วัฒนธรรมแฟนคลับจึงเป็นพรมแดนของอารมณ์คลั่งไคล้หมกมุ่น และยึดติดกับสิ่งที่ปรารถนา

Ryan (2017) ตั้งข้อสังเกตว่าโลกจินตนาการคือพื้นที่เปิดของความเป็นไปได้ที่ทำให้มนุษย์สร้างสรรค์สิ่งต่างๆได้ไม่รู้จบ ซึ่งเป็นโลกคู่ขนานกับโลกสังคมที่เต็มไปด้วยกฎระเบียบที่เคร่งครัดและปิดกั้นจินตนาการ ลักษณะนี้อาจทำให้เห็นว่าวัฒนธรรมแฟนคลับคือโลกที่บุคคลสร้างขึ้นจากความรู้สึกหลงใหลคลั่งไคล้ในบางสิ่งบางอย่างซึ่งพวกเขาคิดว่าทำให้ชีวิตมีความสุข เป็นวิธีการสร้างโลกที่ซ้อนทับเข้าไปในโลกสังคมที่เป็นจริง ในการศึกษาของ Fuschillo (2020) ชี้ให้เห็นว่าวัฒนธรรมแฟนคลับเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมบริโภคและความชื่นชอบในตัวสินค้าที่ถูกสร้างขึ้นจากบริษัทการค้าต่างๆ (brand-related fanaticism) ความนิยมชมชอบและความคลั่งไคล้ดังกล่าวคืออารมณ์ของสังคมบริโภคที่มนุษย์แสดงออกด้วยไล่ตามจับจ้อง จับจองสินค้าและบริการต่างๆ ซึ่งทำให้มนุษย์รู้สึกถึงชีวิตที่มีค่า สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นมิติของผู้กระทำการระดับปัจเจกซึ่งแสวงหาความปรารถนาในสิ่งที่ตนเองหลงใหล (Duffett, 2013) เช่นเดียวกับ Connor (2010) กล่าวว่าวัฒนธรรมแฟนคลับคือโลกที่บุคคลคิดว่าให้เสรีภาพในการแสดงออกและช่วยทำให้เขารู้สึกว่าอยู่ห่างจากชีวิตที่เคร่งครัดและน่าเบื่อ วัฒนธรรมแฟนคลับจึงเปรียบเสมือนเป็น “พื้นที่เปิด” (Becker, 2008) ที่เอื้อให้คนต่างๆเข้ามาร่วมทำกิจกรรมบางอย่างในสิ่งที่ชื่นชอบเหมือนกัน พื้นที่เปิดนี้ไม่มีขอบเขตที่ชัดเจน คนที่หลากหลายสามารถเข้ามาและออกไปได้ตลอดเวลา โลกของแฟนคลับจึงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน และไม่สามารถอธิบายได้ด้วยความคิดเรื่องกลุ่มและชุมชนที่มีเอกภาพ

ตัวอย่างการศึกษาของ Crossley (2015) อธิบายว่ากลุ่มพั้งในเมืองเชฟฟีลด์, แมนเชสเตอร์, ลิเวอร์พูล และลอนดอน เต็มไปด้วยคนที่แตกต่างหลากหลาย ไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ถึงแม้ว่าพวกพั้งจะชื่ชอบแนวเพลงและดนตรีที่เหมือนกัน แต่คนที่มารวมตัวกันล้วนมีรสนิยมและการแสดงออกแตกต่างกันไป นอกจากนั้น ยังพบว่ากลุ่มคนที่นิยมดนตรีพั้งในอังกฤษในช่วงทศวรรษ 1970-1980 มีวิธีการแสดงออกทั้งที่เหมือนกันและขัดแย้งกัน คนกลุ่มนี้สร้างเครือข่ายเพื่อทำกิจกรรมต่างๆในเมืองที่มีสมาชิกอาศัยอยู่ ขณะเดียวกันก็มีเครือข่ายข้ามชาติซึ่งเป็นผู้นิยมเพลงแนวพั้งที่อยู่นอกประเทศอังกฤษ เครือข่ายที่มีทั้งในประเทศและนอกประเทศทำให้กลุ่มคนที่ชื่นชอบเพลงแนวพั้งมีการรวมตัวและขยายตัวไปตามสถานการณ์ เครือข่ายที่หดตัวและขยายตัวดังกล่าวคือแบบแผนของวัฒนธรรมแฟนคลับที่สามารถนำเอาแนวดนตรีแบบใหม่ๆเข้ามาแลกเปลี่ยนกัน ความนิยมในดนตรีพั้งจึงแตกตัวไปเชื่อมต่อกับแนวดนตรีแบบอื่นๆได้จากการสร้างเครือข่ายที่เกิดขึ้นตลอดเวลา

แฟนคลับมิใช่ผู้ตกเป็นเหยื่อ

เท่าที่ผ่นมาการศึกษาวัฒนธรรมและสังคมของแฟนคลับมักจะมองด้วยทัศนะเชิงลบ เช่น มองว่าเป็นกลุ่มคนที่หลีกหนีสังคม พวกต่อต้านสังคม พวกที่ตกเป็นทาสสินค้า คนที่ถูกมอมเมาด้วยการโฆษณา เป็นต้น (Jenkins,1992; Colas, 1997; Crawford, 2004) คำอธิบายนี้ส่งผลคนเกิดการแบ่งแยกกลุ่มแฟนคลับออกจากสังคม โดยมองแฟนคลับเป็นเพียงวัฒนธรรมย่อยที่มีอัตลักษณ์ผิดแปลกไปจากคนส่วนใหญ่ ความเข้าใจนี้เป็นเพียงการมองในเชิงโครงสร้างที่จัดกลุ่มแฟนคลับให้มีสังคมของตัวเองโดยมิได้สัมพันธ์กับโลกที่ซับซ้อน อย่างไรก็ตามในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา แนวโน้มการศึกษาแฟนคลับหันมาให้ความสนใจอารมณ์ความรู้สึกของคนที่หลงใหลชื่นชอบวัตถุสิ่งของและเรื่องราวต่างๆ โดยชี้ให้เห็นว่าคนเหล่านี้กำลังต่อเติมจินตนาการทางสังคมและสร้างตัวตนที่ไม่หยุดนิ่ง (individual process) (Duffett, 2013) ความหลงใหลในบางสิ่งบางอย่างที่เกิดขึ้นกับบุคคลไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับสังคมส่วนใหญ่ เพราะคนแต่ละคนสามารถหลงใหลในสิ่งใดก็ได้ กล่าวคือภายใต้สังคมขนาดใหญ่ ปัจเจกแต่ละคนล้วนสร้างพื้นที่ของความรู้สึกและแสดงความชื่นชอบได้หลากหลาย ความชื่นชอบเหล่านั้นอาจจะต่างหรือคล้ายกับคนอื่นได้ตลอดเวลา (Benzecry, 2011)

ในการศึกษาของ Benzecry (2011) พบว่าในกลุ่มคนที่ชื่นชอบหลงไหลการฟังเพลงโอเปร่า พวกเขาจะติดตามศฺลปินและการแสดงในโอกาสต่างๆ ซึ่งสะท้อนถึงการกระทำด้วยความรัก เมื่อพวกเขาเข้าไปฟังและชมการแสดงโอเปร่าในโรงละคร พวกเขาจะรู้สึกอิ่มเอม มีความสุข ปราบปลื้มและสะเทือนใจเมื่อได้ยินเสียงร้องโอเปร่าจากศิลปินที่เขาชื่นชอบ บางคนแสดงออกด้วยน้ำตาที่ปราบปลื้มอย่างล้นเหลือ อารมณ์ดังกล่าวนี้ทำให้แฟนคลับโอเปร่าเดินทางเข้าไปสู่โลกของบสุนทรียะและความงดงามในการมีชีวิต ในการศึกษาของอาจินต์ ทองอยู่คง (2555) พบว่าแฟนบอลชาวไทยมีการรวมกลุ่มกันนอกเหนือไปจากการชมฟุตบอลจากสโมสรที่ตนเองชื่นชอบ โดยการทำกิจกรรมนอกสนามแข่งขัน เช่น ทำรายการโทรทัศน์ออนไลน์เผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ต การผลิตอุปกรณ์เชียร์และสินค้า เป็นต้น กิจกรรมเหล่านี้ได้สร้างสังคมของสมาชิกที่มีความสำคัญมาก กลุ่มแฟนบอลเหล่านี้จึงมิใช่เป็นผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของธุรกิจกีฬา แต่พวกเขาเป็นผู้ขับเคลื่อนและสร้างสินค้าขึ้นมาเองซึ่งส่งเสริมให้อุตสาหกรรมฟุตบอลได้รับความนิยมมากขึ้น ในแง่นี้กลุ่มแฟนบอลจึงเป็นผู้มีส่วนร่วมในการสร้างและบริโภควัฒนธรรมฟุตบอล


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

อาจินต์ ทองอยู่คง. (2555). แฟนบอล ปฏิบัติการทางวัฒนธรรมของแฟนสโมสรฟุตบอลไทย. วิทยานิพนธ์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

Athique, A. (2016). Transnational audiences: Media reception on a global scale. Cambridge: Polity Press.

Becker, H. S. (2008). Art worlds: Updated and revised 25th anniversary edition. Berkeley, CA: University of California Press.

Benzecry, C.E. (2011). The Opera Fanatic: Ethnography of an Obsession. Chicago, IL: University of Chicago Press.

Busse, K., & Gray, J. (2014). Fan cultures and fan communities. In V. Nightingale (Ed.), The handbook of media audiences (pp. 425–443). Oxford: Wiley-Blackwell.

Carter, O. (2018). Making European cult cinema. Amsterdam: Amsterdam University Press.

Cherry, B. (2016). Cult media, fandom and textiles: Handicrafting as fan art. London and New York, NY: Bloomsbury Academic. Colas, D. (1997). Civil Society and Fanaticism: Conjoined Histories. Stanford, CA: Stanford University Press.

Couldry, N., & Hepp, A. (2017). The mediated construction of reality. Cam-bridge: Polity Press.

Connor, S. (2010). I believe that the world. In V. Nünning, A. Nünning, & B. Neumann (Eds.), Cultural ways of worldmaking: Media and narratives (pp.27–46). Berlin and New York, NY: de Gruyter.

Coppa, F. (2014). Fuck yeah, fandom is beautiful. Journal of Fandom Studies, 2(1), 73–82.

Crawford, G. (2004). Consuming Sport: Fans, Sport and Culture. London, UK: Routledge.

Crossley, N. (2015). Networks of sound, style and subversion: The punk and post-punk worlds of Manchester, London, Liverpool and Sheffield, 1975 –80. Manchester: Manchester University Press.

Duffett, M. (2013) Understanding Fandom: An Introduction to the Study of Media Fan Culture. London, UK: Bloomsbury Publishing.

Fuschillo, G. (2020). Fans, Fandoms, or Fanaticism? Journal of Consumer Culture, 20(3), 347- 365.

Hannerz, E. (2015). Performing punk. Basingstoke and New York, NY: Pal-grave Macmillan.

Hassler-Forest, D. (2016). Science Fiction, fantasy and politics: Transmedia world-building beyond capitalism. London: Rowman and Little-field International.

Hills, M. (2002). Fan cultures. London and New York, NY: Routledge.

Hills, M. (2017a). From Fan Culture/Community to the Fan World: Possible Pathways and Ways of Having Done Fandom. Palabra Clave, 20(4), 856-883.

Hills, M. (2017b). Transnational cult and/as neoliberalism: The liminal economies of anime fansubbers. Transnational Cinemas, 8(1), 80–94.

Hill, R. L. (2016). Gender, metal and the media: Women fans and the gendered experience of music. Basingstoke and New York, NY: Palgrave Macmillan

Hitchcock Morimoto, L., & Chin, B. (2017). Reimagining the imagined community: Online media fandoms in the age of global convergence. In J. Gray, C. Sandvoss, & C. L. Harrington (Eds.), Fandom: Identities and communities in a mediated world – Second edition (pp. 174–188). New York, NY and London: New York University Press.

Jenkins, H. (1992). Textual poachers. New York, NY and London: Routledge.

Jenkins, H. (2006). Convergence culture. New York, NY and London: New York University Press.

Kahn-Harris, K. (2007). Extreme metal: Music and culture on the edge. Oxford and New York, NY: Berg.

Larsen, K., & Zubernis, L. (Eds.). (2012). Fan culture: Theory/practice. New-castle upon Tyne: Cambridge Scholars Publishing.

Linden, H., & Linden, S. (2017). Fans and fan cultures. Basingstoke and New York, NY: Palgrave Macmillan.

Lindlof, T. R. (2015). The interpretive community redux: The once and future saga of a media studies concept. In R. A. Lind (Ed.), Produsing theory in a digital world 2.0 (pp. 19–39). New York, NY: Peter Lang.

Ryan, M.-L. (2017). Why worlds now? In M. J.P. Wolf (Ed.), Revisiting imaginary worlds: A subcreation studies anthology (pp. 3–13). New York, NY and London: Routledge.

Sandvoss, C., Gray, J., & Harrington, C. L. (2017). Introduction: Why still study fans? In J. Gray, C. Sandvoss, & C. L. Harrington (Eds.), Fandom: Identities and communities in a mediated world – Second edition (pp. 1–26). New York, NY and London: New York University Press.

Van de Goor, S. (2015). You must be new here: Reinforcing the good fan. Participations, 12(2), 275–295.

Woodward, I. (2007). Understanding material culture. London: Sage.


หัวเรื่องอิสระ: แฟนคลับ, กลุ่มสังคม, วัฒนธรรมย่อย, ความนิยม, ทุนนิยม