คำศัพท์

Border Studies

การศึกษาชายแดนในทางมานุษยวิทยา

การศึกษาพื้นที่ชายแดนในมุมมองทางมานุษยวิทยา มีโจทย์สำคัญคือ พื้นที่ชายแดนถูกสร้างขึ้นมาได้อย่างไรในประวัติศาสตร์ของความเป็นรัฐ พื้นที่ชายแดนของรัฐเป็นสิ่งเดียวกับวัฒนธรรมชาติหรือไม่อย่างไร ในโลกปัจจุบันที่ผู้คนเดินทางข้ามพรมแดนรัฐจะมีผลต่อการเปลี่ยนความหมายของพื้นที่ชายแดนอย่างไรบ้าง โจทย์เหล่านี้ถูกชี้ให้เห็นในหนังสือของ Barbora Spalová และ Jakub Grygar เรื่อง Anthropology at Borders: Power, Culture, Memories ตีพิมพ์ในปี 2006 โดยหนังสือเล่มนี้พยายามตรวจสอบความคิดเรื่องพื้นที่ที่ถูกทำให้เป็นชายแดนภายใต้อุดมการณ์ชาติสมัยใหม่ที่สร้างขอบเขตภูมิประเทศให้เป็นเขตแดนของรัฐ (state borders) รวมทั้งทบทวนว่าพื้นที่ที่อยู่บริเวณรอยต่อของรัฐมิอาจขีดเส้นแบ่งได้อย่างลงตัว เนื่องจากแบบแผนการปฏิสัมพันธ์ของผู้คนในบริเวณรอยต่อมีการข้ามเส้นแบ่งตลอดเวลา

ชีวิตผู้คนที่อยู่บริเวณพื้นที่ชายแดน มีลักษณะเฉพาะที่จำเป็นต้องทำความเข้าใจ ซึ่งไม่สามารถนำวิธีคิดเรื่องเส้นแบ่งของรัฐมาเป็นตัวกำหนดและควบคุมคนให้อยู่ในพื้นที่ที่จำกัดได้ คนที่อาศัยบริเวณชายแดนมีวิธีคิดและวิธีปฏิบัติต่อพื้นที่ในหลากหลายรูปแบบ ประเด็นที่นักมานุษยวิทยานำมาศึกษาคือการทำความเข้าใจว่าคนที่อยู่ชายแดนสร้างและทำลายความหมายของ “ชายแดน” อย่างไร ภายใต้บริบทและเงื่อนไขอะไรที่ความเป็นชายแดนถูกทำให้ชัดเจนขึ้น และถูกทำให้คลุมเครือ วิธีปฏิบัติของคนบริเวณชายแดนทำให้เกิดการตอกย้ำ รื้อสร้าง และแก้ไขความหมายของชายแดนอย่างไร บริเวณที่เรียกว่าชายแดนจะถูกทำให้มีความหมายที่ซับซ้อนได้อย่างไร พื้นที่ชายแดนจะทับซ้อนอยู่กับพื้นที่ประเภทอื่นอย่างไร ประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องที่นักมานุษยวิทยาเข้าไปศึกษาเพื่อดูประสบการณ์ของคนที่กระทำต่อพื้นที่ภายใต้สถานการณ์ต่างๆ ในแง่นี้ พื้นที่ที่เรียกว่าชายแดนอาจมีความหมายที่ไม่คงที่ ขึ้นอยู่กับวิธีกระทำที่มนุษย์มีต่อพื้นที่นั้น

ข้อถกเถียงเรื่องชายแดนของรัฐ

ความเป็นพื้นที่ชายแดนของรัฐ เป็นการปฏิบัติเชิงการเมืองที่มีผู้กระทำการเข้ามาเกี่ยวข้องหลายส่วน ดังนั้นในการทำความเข้าใจประเด็นนี้จำเป็นต้องศึกษาปฏิบัติการของคนกลุ่มต่างๆที่เกิดขึ้นบริเวณชายแดนและการควบคุมของรัฐ ทั้งนี้เพื่อตรวจสอบว่าพื้นที่ที่รัฐเข้าไปจัดระเบียบถูกต่อรองและรื้อสร้างความหมายอย่างไร พื้นที่เชิงภูมิศาสตร์ที่ถูกขีดแบ่งให้เป็นพรมแดนของชาติจึงมิใช่เป็นพื้นที่ที่อยู่ในอำนาจควบคุมของรัฐเพียงฝ่ายเดียว หากแต่พื้นที่ชายแดนจะถูกสร้างจากคนหลายกลุ่ม (co-create borders) ซึ่งเข้ามาใช้พื้นที่เพื่อกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจ ในแง่นี้ความเป็นชายแดนของรัฐจึงมิได้หยุดนิ่งอยู่กับกฎระเบียบที่ตายตัว แต่ปรับเปลี่ยนความหมายไปตามลักษณะกิจกรรมและการตอบโต้ไปมาระหว่างรัฐและคนกลุ่มต่างๆ

นักมานุษยวิทยา เช่น Evans-Pritchard (1940) สนใจศึกษาพื้นที่ชายแดนในฐานะเป็นพื้นที่ทางสังคมที่ถูกจัดระเบียบให้เป็นเขตแดนของรัฐ การศึกษาของ Barth (1969) เรื่อง Ethnic Groups and Boundaries อธิบายว่าพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน ทำให้เห็นการเชื่อมโยงข้ามวัฒนธรรมที่ซับซ้อน กล่าวคือพื้นที่ทางกายภาพไม่สามารถเป็นตัวกำหนดขอบเขตของวัฒนธรรมได้ แต่วัฒนธรรมในฐานะวิธีการแลกเปลี่ยนทางสังคมมีการเคลื่อนที่ข้ามพรมแดนทางภูมิศาสตร์ แบบแผนและการแสดงออกทางวัฒนธรรมจึงไม่หยุดนิ่งอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์จึงเคลื่อนตัวไปตามปฏิสัมพันธ์ทางสังคมซึ่งทำให้เกิด “พรมแดนสังคม” อันหมายถึงพื้นที่ของชีวิตทางสังคมที่ไม่หยุดนิ่ง ส่วนที่ทำให้วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์แตกต่างกันก็คือวิธีปฏิบัติที่เกิดขึ้นในพื้นที่สังคม ในแง่นี้ พรมแดนและขอบเขตของชาติพันธุ์จึงมิได้ตัดสินจากพื้นที่กายภาพ แต่ขึ้นอยู่กับวิธีปฏิบัติและพฤติกรรมทางสังคมที่แสดงออกในชีวิตประจำวัน ในการศึกษาของ Vermulen and Govers (1994) อธิบายว่าพรมแดนของชาติพันธุ์สามารถเข้าใจได้จากปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่คนในกลุ่มจะมีสำนึกเกี่ยวกับความเป็นพวกพ้องและคนที่มิใช่พวกพ้อง กล่าวคือวิธีปฏิบัติต่อกันจะบ่งบอกว่าพรมแดนทางชาติพันธุ์จะมีสภาพเป็นอย่างไร ประเด็นที่มีการถกเถียงต่อมาคือ ประสบการณ์ระดับบุคคลอาจทำให้เกิดการสร้างสำนึกทางชาติพันธุ์ต่างกันได้ พรมแดนชาติพันธุ์จึงเต็มไปด้วยประสบการณ์ของบุคคลที่แตกต่างหลากหลาย

การศึกษาของ Cole and Wolf (1974) ชี้ให้เห็นว่าพรมแดนชาติพันธุ์เกี่ยวข้องกับแบบแผนสังคมและการสบทอดที่ดินทำกินภายในกลุ่มเครือญาติโดยเปรียบเทียบชุมชน 2 แห่งที่มีระบบสังคมที่ต่างกัน คือชุมชนเซนต์เฟลิกซ์ (St. Felix) ซึ่งเป็นภาษาเยอรมัน และชุมชนเทร็ต (Tret) ที่มีวัฒนธรรมใกล้คียงกับอิตาลี ชาวเซนต์เฟลิกซ์จะมีธรรมเนียมการสืบทอดมรดกที่ดินให้กับลูกชายคนโต ในขณะที่ชาวเท็ตจะแบ่งที่ดินให้กับลูกทุกคนเท่ากันๆ รูปแบบการสืบทอดที่ดินที่ต่างกันนี้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง กล่าวคือ ชาวเทร็ตรุ่นใหม่จะอพยพย้ายถิ่นออกจากชุมชนเพื่อเข้าไปหางานทำในเขตยุโรปตะวันตกที่กำลังเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ที่ดินในชุมชนถูกขายไปให้กับคนภายนอก ในขณะที่ชาวเฟลิกซ์สามารถรักษาที่ดินที่เป็นมรดกของครอบครัวเอาไว้ โดยลูกชายคนโตจะทำหน้าที่ปกป้องดูแลที่ดินในฐานะเป็นทรัพย์สมบัติ ความแตกต่างนี้ชี้ว่าพรมแดนสังคมของชาวเทร็ตแตกกระจายไปตามการสูญเสียที่ดินทำกิน ลูกหลานของชาวเทร็ตจะอพยพออกไปอยู่ที่อื่น ในขณะที่พรมแดนสังคมของชาวเฟลิกซ์ยังปรากฎชัดเจนอยู่กับการสืบทอดที่ดินทำกิน

การศึกษาพื้นที่ชายแดนของนักมานุษยวิทยาในทศวรรษ 1990 ให้ความสำคัญกับกระบวนการเปลี่ยนแปลงความหมายของพื้นที่ในบริบทชาตินิยมและโลกภิวัตน์ของทุนนิยม เช่นการศึกษาของ Alonso (1994) และ Wilson and Donnan (1998) อธิบายว่าความตึงเครียดภายใต้เส้นเขตแดนของรัฐชาติสมัยใหม่ในโลกปัจจุบันดำเนินไปด้วยความขัดแย้ง โดยเฉพาะวิธีคิดที่เอารัฐชาติเป็นศูนย์กลาง ส่งผลให้การควบคุมพื้นที่ชายแดนเต็มไปด้วยการล้วงละเมิดสิทธิของคนท้องถิ่นและเป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ ความขัดแย้งดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้บริบทเศรษฐกิจแบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ที่มีอำนาจชี้นำ ส่งผลให้ผู้คนดิ้นรนเพื่อแสวงหาทางออกกับชีวิตและเดินทางไปทำงานในพื้นที่ที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้เกิดการอพยพข้ามแดน เช่น ชาวเม็กซิโกที่ยากจนพยายามหลบหนีเข้ามาทำงานในสหรัฐอเมริกา (Alvarez, 1994; 1995) ปัญหาชายแดนจึงสะท้อนความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากกลไกอำนาจระหว่างกลุ่มทุนขนาดใหญ่ในประเทศตะวันตกกับกลุ่มคนยากจนในประเทศที่เคยอยู่ใต้อาณานิคมตะวันตก ปัญหานี้ Heyman (1994) วิเคราะห์ว่าเป็นนิเวศทางการเมืองที่ดำรงอยู่ในพื้นที่ชายแดน ซึ่งคนท้องถิ่นจะเคลื่อนย้ายข้ามเขตแดนเพื่อเข้าไปแสวงหาแหล่งที่สร้างรายได้ อันมีผลทำให้สภาพแวดล้อมบริเวณชายแดนเปลี่ยนแปลงไปตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

Tonkin (1994) อธิบายว่าความพยายามที่รัฐเข้าไปควบคุมพื้นที่ชายแดน สะท้อนให้เห็นว่าพื้นที่ในเชิงกายภาพกำลังกลายเป็นสิ่งมีค่าและเป็นสมบัติของรัฐ ดังนั้น ผู้คนที่จะมีสิทธิอาศัยอยู่ในพื้นที่ชายแดนจำเป็นต้องได้รับการรับรองทางกฎหมาย คนกลุ่มใดที่มิได้รับสิทธิดังกล่าว รัฐจะเข้าไปดำเนินการกำจัดและขับไล่ออกไป พื้นที่ชายแดนจึงเป็นเครื่องมือของรัฐในการควบคุมคนให้อยู่ในระเบียบ ขณะเดียวกันก็เป็นสัญลักษณ์ของการมีอยู่ของรัฐ การมีขอบเขตพื้นที่ชายแดนที่ชัดเจนจึงเท่ากับเป็นการสร้างพรมแดนที่มั่นคงของรัฐ (secure territories) คนและทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ชายแดนจึงต้องถูกควบคุมอย่างเข้มงวด นอกจากนั้น พื้นที่ชายแดนยังเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองที่บงบอกถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ หากรัฐที่อยู่ตรงข้ามเข้ามารุกล้ำพื้นที่ชายแดน รัฐที่เป็นเจ้าของและอ้างกรรมสิทธิ์จำเป็นต้องต่อสู้เพื่อปกป้องและแย่งชิงพื้นที่กลับคืนมา ชายแดนจึงเป็นตัวแทนของความมั่นคงและอำนาจอธิปไตยของรัฐ (Herzog, 1990) เส้นแบ่งเขตแดนระหว่างรัฐที่ถูกกำหนดขึ้นจึงเป็นผลผลิตจากลัทธิชาตินิยม และรูปแบบการปกครองที่รัฐชาติแต่ละแห่งพยายามสร้างกลไกอำนาจที่ควบคุมพื้นที่ได้อย่างเบ็ดเสร็จ (Horsman & Marshall, 1994) สภาวะดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าการควบคุมชายแดนของรัฐแต่ละแห่งเป็นการเผชิญหน้าความขัดแย้งซึ่งรัฐต่างๆย่อมจะแสดงอำนาจเพื่ออ้างสิทธิในพื้นที่ของตน ชายแดนจึงเต็มไปด้วยเครือข่ายอำนาจที่ต่อสู้กันตอลดเวลา (contested power)

ชีวิตที่ไม่หยุดนิ่งของชายแดน

การศึกษาของ Radu (2010) กล่าวว่าในการทำความเข้าใจพื้นที่ที่เป็นชายแดน (border-space) ไม่อาจเข้าใจได้จากมิติของพื้นที่อยู่อาศัยที่ถาวร แต่ควรมองในฐานะพื้นที่ที่กำลังเปลี่ยนสภาพ (becoming) ไปตามช่วงเวลาและบริบทการต่อสู้ทางสังคมซึ่งประกอบด้วยผู้กระทำการที่หลากหลาย พื้นที่ชายแดนจึงไม่สามารถมีเส้นแบ่งที่ตายตัว เนื่องจากมีคนกลุ่มต่างๆ เดินทางเข้าออกและเคลื่อนย้ายไปมาตลอดเวลา และในช่วงเวลาหนึ่ง คนกลุ่มต่างๆจะมีปฏิสัมพันธ์ที่กระทำต่อกันภายใต้กิจกรรมสังคม เมื่อเวลาเปลี่ยนไปก็จะมีปฏิสัมพันธ์แบบใหม่เกิดขึ้น ลักษณะดังกล่าวนี้คือกระบวนการสังคมที่ปรากฏอยู่ในพื้นที่ชายแดนที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามการต่อสู้แข่งขันที่ไม่ลงรอยกัน (spatiotemporal politics) ระหว่างคนในพื้นที่ คนนอกพื้นที่ กลุ่มชาติพันธุ์ เจ้าหน้าที่ของรัฐและกลุ่มทางสังคมอื่นๆ

การทำความเข้าใจความไม่ลงรอยและความซับซ้อนของปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่ปรากฏอยู่ในพื้นที่ชายแดน จำเป็นต้องเห็นกระบวนการที่เวลากับพื้นที่เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม (spatiotemporalization) Radu เสนอว่าสิ่งที่จะทำให้เห็นกระบวนการนี้คือการพิจารณาเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น โดยนำแนวคิดเรื่อง eventalization ของฟูโกต์ (1996) มาเป็นแนวทางการวิเคราะห์ โดยชี้ว่าปฏิสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อกันและกับสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นบนอำนาจและความรู้ที่ต่างกันและไม่เท่ากัน Badiou (2007) กล่าวว่าเหตุการณ์ในแต่ละช่วงเวลามีลักษณะเฉพาะที่ส่งผลไปยังเหตุการณ์อื่นๆที่จะเกิดขึ้นตามมา เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งจึงเป็นกระบวนการที่ทำให้เห็นสภาวะปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น Radu ชี้ให้เห็นเหตุการณ์ในเขตชายแดนระหว่างโรมาเนียและเซอร์เบียก่อนทศวรรษ 1940 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่โรมาเนียยังไม่มีลัทธิคอมมิวเนิสต์ ช่วงเวลานั้นชาวบ้านที่อยู่ชายแดนของโรมาเนียและเซอร์เบียเดินทางข้ามไปมาได้อย่างอิสระ แต่ในช่วงทศวรรษ 1950 เมื่อโรมาเนียตกอยู่ใต้การปกครองของโซเวียต ชายแดนจะถูกควบคุมด้วยกองทหารและมีการกั้นพื้นที่ด้วยลวดหนาม ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถเดินทางข้ามไปมาได้ รวมทั้งที่ดินของชาวบ้านจะถูกเวรคืนไปเป็นของรัฐ ชาวบ้านที่มีฐานะจำนวนมากถูกเนรเทศให้ไปอยู่ในพื้นที่อื่นที่กันดาร

ต่อมาในทศวรรษ 1960 เมื่อความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างโรมาเนียกับยูโกสลาเวียเริ่มดีขึ้น และมีการสร้างเขื่อนบริเวณแม่น้ำดานูบ กฎระเบียบบริเวณชายแดนเริ่มผ่อนคลาย เมื่อมีการเปิดเขื่อนบริเวณชายแดนในทศวรรษ 1970 ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างโรมาเนียและยูโกสลาเวีย พื้นที่บริเวณเขื่อนของสองประเทศจะมีคนเข้ามาอาศัยหนาแน่น เขื่อนจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและจำนวนคน มีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำดานูบที่ทำให้ชาวบ้านสองฝั่งเดินทางข้ามไปมาอย่างสะดวก แม่น้ำดานูบจะมีความกว้างมากขึ้นและเป็นที่ผลิตกระแสไฟฟ้าที่สำคัญ ชุมชนดั้งเดิมหลายแห่งเปลี่ยนสภาพไป หลายแห่งจมอยู่ใต้ลำน้ำ การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมบริเวณชายแดนนี้บ่งบอกว่าเหตุการณ์ที่เปลี่ยนไปสะท้อนแบบแผนชีวิตและสังคมบริเวณชายแดนที่ไม่เหมือนเดิม พื้นที่ชายแดนจึงมีความหมายที่ไม่หยุดนิ่งโดยเปลี่ยนไปตามเหตุการณ์ทางสังคม เศรษฐกิจและการเมือง

Ingold (2000, 2009) อธิบายว่าการอยู่อาศัยในพื้นที่ (space) มิได้หมายถึงการอยู่กับสภาพที่แน่นอนตายตัว แต่หมายถึงการใช้ชีวิตทางสังคมที่ปรากฏอยู่ในสถานที่ (place) ที่มีความหมายในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง การมีชีวิตในพื้นที่ที่เรียกว่าถิ่นอาศัยจึงมิใช่การครอบครองที่ดิน หากแต่เป็นการใช้ชีวิตบนสถานที่ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จากกรณีของชาวโรมาเนียและยูโกสลาเวียที่อาศัยอยู๋บริเวณชายแดน จะพบว่าชีวิตทางสังคมจะดำเนินไปในลักษณะข้ามเขตแดนไปมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นชีวิตที่ผันแปรไปตามเหตุการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ไม่คงที่ ซึ่งทำให้แบบแผนและคุณลักษณะการอยู่อาศัยและการทำมาหากินของผู้คนเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง การทำความเข้าใจพื้นที่ชายแดนในลักษณะนี้สะท้อนความคิดใหม่เรื่องพื้นที่ กล่าวคือ “พื้นที่” มิใช่พรมแดนอันเป็นที่ตั้งทางสังคมและวัฒนธรรม แต่มีลักษณะเป็นพรมแดนในห้วงเวลาที่ผันผวนตามเหตุการณ์ (relative spacetime) ซึ่งทำให้พื้นที่กับเวลามิได้แยกอยู่เป็นคู่ตรงข้าม แต่ดำรงอยู่ทับซ้อนกันเหมือนสิ่งที่แยกขาดจากกันมิได้ (Munn, 2003)

การศึกษาของ Jimenez (2003) พบว่าชุมชนที่มีการทำเหมืองแร่ในประเทศชิลี มีลักษณะเปลี่ยนแปลงไปตามกิจกรรมและความสัมพันธ์ทางสังคม ผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณเหมืองแร่มีวิธีการปฏิบัติตัวและตอบโต้กันที่ทำให้พื้นที่นั้นมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา พื้นที่ในลักษณะนี้มิได้เกิดขึ้นจากสภาพทางภูมิศาสตร์ แต่ปรากฏขึ้นจากปฏิบัติการของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงและไม่หยุดนิ่ง (processuality) (Massey, 2008) การเคลื่อนที่ของผู้คนภายใต้กิจกรรมทางสังคมที่เปลี่ยนไปทำให้เห็นการเชื่อมโยงของพื้นที่หลายแบบ บริเวณที่เป็นพื้นที่ชายแดนจึงเต็มไปด้วยเครือข่ายของปฏิบัติการที่ไม่คงที่ เครือข่ายเหล่านี้มิได้มีขอบเขตที่ชัดเจน แต่เคลื่อนที่ไปตามเหตุการณ์สังคม ดังที่ Demetriou (2007) กล่าวว่าเหตุการณ์สังคมบ่งบอกถึงช่วงเวลาที่ต่างกันและสะท้อนแบบแผนของอำนาจที่ผู้กระทำการประเภทต่างๆเข้าไปเกี่ยวข้อง นอกจากนั้น เหตุการณ์หนึ่งย่อมส่งผลต่ออีกเหตุการณ์หนึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วจึงสัมพันธ์กับสิ่งที่กำลังเกิดในปัจจุบันและสิ่งที่จะเกิดในอนาคต พื้นที่ชายแดนจึงเคลื่อนตัวไปพร้อมกับเหตุการณ์สังคมที่ต่อเนื่อง ผู้คนที่อยู่บริเวณชายแดนจึงให้ความหมายกับพื้นที่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น ในแง่นี้ ชายแดนจึงมิได้เป็นชายขอบของอำนาจรัฐที่เป็นที่อยู่ของคนต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย แต่เป็นพื้นที่ที่กำลังเปลี่ยนสภาพตัวเองตลอดเวลา


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Alonso, A. M. (1994). The politics of space, time and substance: state formation, nationalism, and ethnicity. Annual Review of Anthropology, 23, 379-40.

Alvarez, R.R. (1994). Changing ideology in a transnational market: chiles and chileros in Mexico and the US. Human Organization, 53 (3), 255-62.

Alvarez, R.R. (1995). The Mexican-US border: the making of an anthropology of borderlands. Annual Review of Anthropology, 24, 447-7.

Badiou, A. (2007) The event in Deleuze. Parrhesia, 2, 37–44.

Barth, F. Ed. (1969). Ethnic Groups and Boundaries. The Social Organisation of Culture Difference. Oslo: Universitetsforlaget.

Cole, J. W. and E. R. Wolf. (1974). The Hidden Frontier: Ecology and Ethnicity in an Alpine Valley. New York: Academic Press.

Demetriou, O. (2007). To cross or not to cross? Subjectivization and the absent state in Cyprus. Journal of the Royal Anthropological Institute, 13, 987–1006.

Evans-Pritchard, E. E. (1940). Th e Nuer. Cambridge: Cambridge University Press.

Foucault, M. (1996) Foucault Live: Collected Interviews, 1961–1984. In Lotringer, S. (Ed.) New York: Smiotext(e).

Herzog, L. A. (1990). Where North meets South: cities, space, and politics on the US-Mexico border. Austin: University of Texas.

Heyman, J. (1994). The Mexico-United States border in anthropology: a critique and reformulation. Journal of Political Ecology, 1, 43-65.

Horsman, M. and Marshall, A. (1994). After the nation-state: citizens, tribalism and the new world disorder. London: Harper Collins.

Ingold, T. (2000). The Perception of the Environment: Essays on Livelihood, Dwelling and Skill. London: Routledge.

Ingold, T. (2009). Against space: Place, movement, knowledge. In: Kirby, P.W. (Ed.) Boundless World: An Anthropological Approach to Movement. (pp.29–43). New York: Berghahn Books.

Jimenez, A.C. (2003). On space as a capacity. Journal of the Royal Anthropological Institute, 9,137–53.

Massey, D. (2008). For Space. Los Angeles: SAGE.

Munn, N.D. (2003). Excluded spaces: The figure in the Australian aboriginal landscape. In Low, S.M. and Lawrence-Zuniga, D. (Eds.), The Anthropology of Space and Place: Locating Culture. (pp.92–109). Malden: Blackwell Publishing,

Radu, C. (2010). Beyond border-‘dwelling’: Temporalizing the border-space through events. Anthropological Today, 10(4), 409-433.

Spalová, B. & Grygar, J. (Eds.). (2006). Anthropology at Borders: Power, Culture, Memories. Praha: FHS UK a MKC Prague.

Tonkin, E. (1994). Borderline questions: people and space in West Africa. in H. Donnan and T. M. Wilson (eds.), Border approaches: anthropological perspectives on frontiers. Lanham, MD: University Press of America.

Vermulen, H. and G. Cora. (Eds.). (1994). Th e Anthropology of Ethnicity. Beyond Ethnic Groups and Boundaries. Amsterdam: Het Spinhuis Publishers.

Wilson, T.M. and Donnan, H. (Eds.). (1998). Border Identities: Nation and State at International Frontiers. Cambridge: Cambridge University Press.


หัวเรื่องอิสระ: ชายแดน, รัฐ, ชาติ, ปฏิบัติการ