คำศัพท์

Civil Society

ประชาสังคมในโลกคริสต์ศตวรรษที่ 21

การทำความเข้าใจประชาสังคมในโลกปัจจุบัน จำเป็นต้องมองปรากฎการณ์ทางการเมืองและการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างสังคมประชาธิปไตยในรัฐชาติต่างๆ (Diamond, 1997, 1994) ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 การเคลื่อนไหวทางสังคมแตกแขนงไปในหลายกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่เรียกร้องสิทธิทางเพศ กลุ่มผู้หญิง กลุ่มแรงงานข้ามชาติ กลุ่มคนด้อยโอกาส ตัวอย่างในสวีเดน มีการเสนอว่าความต้องการของประชาชนทุกกลุ่มมีรูปแบบและลักษณะที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้น การแสวงหาทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับคนแต่กลุ่มคือสิ่งสำคัญ (Botchway, 2019) Bernhard et.al (2015) ตั้งข้อสังเกตว่าประชาสังคมคือภาพสะท้อนสังคมที่มีความหลากหลาย ซึ่งประชาชนแต่ละกลุ่มมีอิสระที่จะคิดและตัดสินใจในเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ยิ่งประชาชนรวมกลุ่มกันในรูปแบบและเนื้อหาที่หลากหลายมากเท่าไร ก็จะทำให้สังคมเกิดการถ่วงดุลและไม่ถูกชักนำไปเป็นเครื่องมือของกลุ่มอำนาจใดอำนาจหนึ่ง Diamond (1994) กล่าวว่าประชาสังคมคือการส่งเสริมให้ประชาชนมีโอกาส รับรู้ แสดงออก และเข้าถึงการทำงานสาธารณะ ซึ่งเป็นรากฐานของการสร้างวัฒนธรรมและพลเมืองประชาธิปไตย (democratic citizenship)

นักมานุษยวิทยา ตั้งข้อสังเกตว่าประชาสังคมคือพื้นที่ชีวิต (associational life) ที่คนทุกคนเข้ามาร่วมรับรู้ถึงชะตากรรมและร่วมแรงร่วมใจเพื่อทำประโยชน์ต่อกัน (Schwartz and Pharr, 2003) ประชาสังคมในมิติของการอยู่ร่วมกันของคนทุกกลุ่ม ให้ความสำคัญกับพื้นที่สาธารณะที่อยู่นอกการควบคุมและกฎเกณฑ์ของรัฐและองค์กรทางเศรษฐกิจ พื้นที่สาธารณะนี้สร้างประสบการณ์ร่วมที่ประชาชนจะเข้ามาทำงานร่วมกัน (Pharr, 2003) ประชาสังคมจึงทำหน้าที่คล้ายศูนย์รวมเครือข่ายที่ไม่เป็นทางการที่นำคนกลุ่มต่างๆเข้ามาสร้างคุณธรรมและความสามัคคีทางสังคม (Ogawa, 2004) ในโลกปัจจุบันที่สังคมเต็มไปด้วยปัญหาความขัดแย้ง ความหมายของประชาสังคมมิได้เป็นเอกภาพ แต่ขึ้นอยู่กับบริบทของการก่อตัวทางสังคม สิ่งสำคัญคือ วิธีคิดเกี่ยวกับประชาสังคมไม่จำเป็นต้องอ้างอิงทฤษฎีการเมืองและลัทธิปัจเจกนิยมแบบตะวันตก (Hann and Dunn, 1996) หากแต่ควรสนใจเงื่อนไขของการดำรงชีวิตในสังคมที่หลากหลาย โดยเฉพาะปฏิสัมพันธ์ที่บุคคลมีต่อกันและสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการไปได้ตลอดเวลา ในแง่นี้ประชาสังคมจึงไม่มีสูตรตายตัว หากแต่เป็นวิธีปฏิบัติที่ต่อเนื่องและมีปลายเปิด

ในสังคมดิจิทัลที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่ ไร้ขอบเขต ไร้พรมแดน ไร้ข้อจำกัดของเวลา มีผลต่อการสร้างประชาสังคมอย่างมาก (Frangonikolopoulos, 2012) รูปแบบการวิจารณ์และแสดงความเห็นต่อสาธารณะไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในพื้นที่ภูมิศาสตร์เพียงอย่างเดียว แต่นักเคลื่อนไหวและนักต่อสู้ทางสังคมจำนวนมากเข้าไปแสดงจุดยืนทางความคิดในสื่อสังคมออนไลน์และสามารถสร้างเครือข่ายของคนที่เห็นพ้องต้องกันได้กว้างขวางและรวดเร็ว รูปแบบประชาสังคมในสื่อดิจิทัลในปัจจุบันจึงมีบทบาทสำคัญในการสร้างแนวร่วมและประชามติต่อนโยบายของรัฐ และมีพลังอย่างมากที่จะสร้างแรงกดดันให้กับการทำงานของรัฐเนื่องจากเครือข่ายประชาสังคมในสื่อออนไลน์ดึงเอาองค์กรข้ามชาติและหน่วยงานนอกประเทศเข้ามาสนับสนุนและผลักดันให้รัฐบาลประเทศต่างๆหันมาสนใจและฟังเสียงประชาชนมากขึ้น (Papacharissi, 2009)

ความเป็นมาของประชาสังคม

ฐานความคิดเรื่องประชาสังคม (civil society) ก่อตัวในยุคสมัยเรืองปัญญา (the age of enlightenment) ซึ่งยุโรปกำลังพัฒนาระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม (Ferguson, 1767) ยุโรปก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 18 คำว่าประชาสังคมและรัฐ แทบจะเป็นคำเดียวกัน (Kean, 1988a.: 35-38) จนกระทั่งปลายคริสต์ศตวรรษที่18 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ประชาสังคมจึงเริ่มแยกออกจากรัฐและมีบทบาทคู่ขนานกันไป (Seligman, 1992: 15 -18) ในช่วงเวลานี้ยุโรปมีความก้าวหน้าในการเดินเรือสมุทร การประดิษฐ์เข็มทิศและปืนไฟ ทำให้เกิดการเดินทางค้าขายไปทั่วโลก ส่งผลให้เกิดการเติบโตของเศรษฐกิจทุนนิยม ชาวยุโรปกลายเป็นพ่อค้านายทุนที่ร่ำรวย เกิดการขยายตัวของชนชั้นกลางจำนวนมากในเมืองท่าเรือทั่วยุโรป ซึ่งคนกลุ่มนี้จะมาชุมนุมพบปะกันในร้านกาแฟหรือสโมสรเพื่อพูดคุยถกเถียงเรื่องราวการเมือง เศรษฐกิจ สังคมที่ปรากฏอยู่ในสื่อสิ่งพิมพ์ นำไปสู่การสร้างพื้นที่สาธารณะที่ชนชั้นกลางมีบทบาทในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐและปัญหาสังคม (Habermas, 1989) สังคมยุโรปในอดีต สามัญชนหรือไพร่ในระบอบระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จะสามารถเกี่ยวข้องกับกิจกรรมสาธารณะก็แต่โดยการยอมรับและปฏิบัติตามสิ่งที่รัฐหรือราชสำนักกำหนดให้ทำ เพราะในระบอบดังกล่าวนั้น มีแต่รัฐหรือราชสำนักเท่านั้นที่มีความชอบธรรมที่จะกระทำการใด ๆ ซึ่งอ้างว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสาธารณชน เมื่อเกิดพื้นที่สาธารณะของชนชั้นกลาง ส่งผลให้ความสัมพันธ์ของรัฐและประชาชนเปลี่ยนไป โดยเฉพาะสำนึกเรื่องประชาธิปไตยและเสรีภาพในการแสดงความคิดของประชาชน สิ่งเหล่านี้คือรากฐานสำคัญของการเมืองภาคพลเมือง

ในทวีปอเมริกาเหนือ เมื่อ Alexis de Tocqueville ชาวฝรั่งเศสที่ได้เดินทางไปสหรัฐอเมริกาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ได้สังเกตชีวิตของผู้คนและพบว่าชีวิตชุมชนและองค์กรอาสาสมัครต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกานั้นมีบทบาทสำคัญในการสร้างการอยู่ร่วมกันแบบประชาธิปไตย ชาวอเมริกันทุกกลุ่ม ทุกอายุ และทุกอาชีพต่างรวมตัวกันเป็นกลุ่ม จัดตั้งเป็นบริษัทการค้า รวมทั้งจัดตั้งชมชรมและสมาคมที่มีภารกิจหลากหลาย เช่นองค์กรทางด้านศาสนา จริยธรรม สันทนาการ หรือสมาคมที่มีความเคร่งเครียด (de Tocqueville, 2002) เบนจามิน บาเบอร์ นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันได้ชี้ให้เห็นว่า สังคมอเมริกันในบันทึกของ de Tocqueville มิได้มีแค่เพียงรัฐและตลาดเท่านั้น แต่ยังประกอบขึ้นด้วยภาคประชาสังคมคือการรวมตัวกันโดยอิสระเพื่อการช่วยเหลือกันที่เข้มแข็ง ปัจเจกบุคคลก็มีความคิดว่าตนเองนั้นมีสถานะของความเป็นพลเมือง ซึ่งมีบทบาทและความชอบธรรมที่จะทำงานร่วมกันเพื่อสร้างสรรค์ความเป็นอยู่ที่ดีของส่วนรวม (Barber, 1995) ทั้งนี้ de Tocqueville เล็งเห็นว่าประชาสังคมคือกลไกสำคัญที่จะทำให้สังคมมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ โดยบทบาทของประชาชนจะต้องดำรงอยู่ในรูปแบบองค์กรที่มีระบบที่มีเป้าหมายการทำงานที่ชัดเจน (Bernhard, et. al., 2015)

ประชาสังคมในคริสต์ศตวรรษที่ 20

หลังยุคสงครามเย็น เมื่อยุโรปตะวันออกเปลี่ยนแปลงการเมืองจากระบอบสังคมนิยมที่มีลักษณะเป็นเผด็จการและการผูกขาดอำนาจโดยรัฐ กลุ่มประชาชนคือกลุ่มที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนสังคม กลุ่มคนต่างๆมีสำนึกเกี่ยวกับประชาธิปไตยและเสรีภาพซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากความคิดของอันโตนิโอ กรัมชี่ (Bernhard, 1993; Nagengast, 1991) ซึ่งเสนอความคิดว่าสังคมแบ่งออกเป็นสองส่วน คือคือสังคมการเมืองและประชาสังคม โดยเขาชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่มีลักษณะเป็นวิภาษวิธีระหว่างภาครัฐกับประชาสังคม รัฐหรือสังคมการเมืองนั้น กรัมชี่ถือว่าเป็นสถาบันในการบริหารจัดการกิจกรรมสาธารณะที่อาศัยอำนาจหรือการข่มขู่บังคับด้วยกำลังทหารหรือตำรวจเป็นตรรกะสำคัญ ในขณะที่ในภาคประชาสังคมจะอาศัยกลไกของการแสดงฉันทามติและทำข้อตกลงร่วมกันเพื่อให้เกิดแนวทางปฏิบัติที่เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ (Nagengast, 1991: 213; Babbilo, 1988; Gramsci, 1971; Pasquino, 1981) ในแง่นี้ ประชาสังคมคือพรมแดนของการต่อสู้แข่งขัน (realm of contestation) ซึ่งประชาชนจะดำรงอยู่ในฐานะ social actors ที่คอยท้าทาย ถ่วงดุล ตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐ

ในช่วงทศวรรษ 1980 เมื่อโลกเข้าสู่ระบอบอำนาจของลัทธิเสรีนิยมใหม่ซึ่งรัฐชาติหลายแห่งได้ลดทอนระบบสวัสดิการสังคม และผลักภาระให้ประชาชนต้องแสวงหาหลักประกันภายใต้การแข่งขันทางเศรษฐกิจที่มีบริษัทเอกชนเข้ามาลงทุน ส่งผลให้กลุ่มคนจนขาดที่พึ่งพิงและไม่ได้รับการดูแลจากรัฐ (Taylor, 1999) เอริก ฮอบสบอม ได้แสดงความคิดเห็นไว้ว่านับจากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา รัฐเข้าไปควบคุมจัดการสวัสดิการและสาธาราณะประโยชน์ต่างๆ แต่ในยุคทุนิยมข้ามชาติที่ขับเคลื่อนด้วยบริษัทขนาดใหญ่ รัฐชาติต่างเผชิญกับความท้าทายของอำนาจเงินตราที่รัฐต้องเปิดเสรีทางการค้าให้กับต่างชาติ (Hobsbawm, 1994) ทำให้รัฐชาติไม่สามารถรักษาอำนาจต่าง ๆ เอาไว้ บรัษัทข้ามชาติเรียกร้องให้รัฐลดบทบาทลง (Less Government) รวมทั้งทำให้เกิดกระแสความต้องการของการปฏิรูปรัฐ เห็นได้จากหนังสือของ David Osborne and Ted Gaebler (1992) เรื่อง Reinventing Government: How the Entrepreneurial Spirit is Transforming the Public Sector ซึ่งเสนอให้รัฐปฏิรูประบบราชการที่ล้าสมัยและเชื่องช้า เพราะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา ดังที่ แดเนียล เบล นักสังคมวิทยาการเมืองคนสำคัญได้กล่าวไว้ว่ารัฐชาตินั้นได้กลายเป็นจักรกลที่เล็กเกินไปสำหรับปัญหาที่ใหญ่ ๆ ที่เกิดขึ้นกับชีวิตของผู้คน แต่ในขณะเดียวกันมันก็ใหญ่เทอะทะเกินไปสำหรับปัญหาเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้คน (Bell 1989: 55) เบลล์เสนอว่าการฟื้นฟูภาคประชาสังคมกลับไปสู่ชีวิตทางสังคมที่มีขนาดเหมาะสมและปัจเจกสามารถต่อรองได้

งานศึกษาของเดวิด กอเท้น ชื่อ “เมื่อบรรษัทครองโลก” ได้เตือนให้สังคมทั่วโลกเห็นถึงบทบาทของสถาบันการเงินระหว่างประเทศ และบริษัทข้ามชาติต่าง ๆ ซึ่งกำลังแสวงหาผลประโยชน์และความมั่งคั่งของตน โดยก้าวข้ามพรมแดนของรัฐชาติ ในกระบวนการแสวงหาความมั่งคั่งดังกล่าว เดวิด กอเท้น ได้ชี้ให้เห็นว่าจะมีผลร้ายมากกว่าผลดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศด้อยพัฒนาซึ่งมีอำนาจต่อรองน้อย (Korten, 1995) ความไม่พึงพอใจและความไม่ไว้วางใจต่อสถาบันการเงินในระดับโลก เช่น ธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือIMF และองค์กรการค้าโลก (WTO) ปรากฏการณ์ดังกล่าวเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นจากกระบวนการประท้วง โดยองค์กรประชาสังคมในระดับโลก รวมทั้งความพยายามต่าง ๆ ขององค์กรเอกชน เช่นกระบวนการ จูบิลี 2000 ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่จะผลักดันให้มีการยกเลิกหนี้ระหว่างประเทศ แก่ประเทศที่ยากจนในช่วงของการเปลี่ยนสหัสวรรษ หรือองค์กร Fifty Years Is Enough ซึ่งเป็นเครือข่ายขององค์กรภาคประชาชนในสหรัฐอเมริกาที่รณรงค์ต่อสู้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจในระดับโลก ที่ต้องการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในนโยบายและแนวทางการปฏิบัติของธนาคารโลกและองค์กรการเงินระหว่างประเทศ หรือเครือข่ายประเทศโลกที่ 3 (Third World Network: TWN) ซึ่งได้ต่อสู้อย่างต่อเนื่องเพื่อความเท่าเทียมกันในระดับโลกเพื่อสุขภาพและสิทธิมนุษยชน

จะเห็นได้ว่าการดำรงอยู่และสาระสำคัญของภาคประชาสังคมได้เปลี่ยนแปลงไปตามเงื่อนไขสังคม การเมืองและเศรษฐกิจในแต่ละยุคสมัย รวมทั้งข้อคิดเห็นจากนักวิชาการจากสกุลต่างๆ ที่เสนอคำอธิบายเกี่ยวกับสังคมประชาธิปไตย ชีวิตสาธารณะและสิทธิของประชาชน ดังที่ ไมเคิล วอลเซ่อร์ (1991, 1992) ได้กล่าวไว้ว่าแนวคิดประชาสังคมนั้นเกิดขึ้นเพื่อที่จะวิพากย์แนวคิดที่ยึดติดกับบทบาทของภาครัฐมากเกินไปในการสร้างความเป็นธรรมในสังคม ในขณะเดียวกัน ก็เป็นแนวคิดที่ทักท้วงแนวคิดของฝ่ายที่เน้นกลไกตลาดเสรีโดยมิได้สนใจต่อผลกระทบทางด้านลบของทุนนิยมสุดขั้ว ซึ่งมีผลเสียต่อชีวิตชุมชนและชีวิตสาธารณะ แต่เสน่ห์ของแนวคิดประชาสังคมนั้น เกิดขึ้นจากข้อคิดเห็นร่วมกันของคนจากหลากหลาย แนวคิดทฤษฎีทางการเมืองที่ว่าภาคประชาสังคมเป็นรากฐานที่สำคัญในการสร้างประชาธิปไตย และในการสร้างธรรมาภิบาลในระบบการเมืองการปกครองของประชาชาติ (Keane 1988b.; Putnam 1993a. และ Clark 1991: 7) นิยามและหัวใจของประชาสังคม

ความคิดหลักของประชาสังคมคือ ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่เป็นอิสระ มีความสมัครใจ เป็นประชาธิปไตย และเน้นประโยชน์สาธารณะ มิเชล เบิร์นฮาร์ด ได้ชี้ให้เห็นถึงประวัติศาสตร์และพัฒนาการของแนวคิดภาคประชาสังคมว่า ภาคประชาสังคมที่เกิดจากการรวมตัวกันนอกอาณัติการควบคุมของรัฐได้สร้างปริมณฑลหรือพื้นที่ทางสังคมอันใหม่ที่ผู้คนสามารถแสดงออกได้อย่างเสรี เกิดเป็นองค์กร สมาคมต่าง ๆ ทั้งที่เป็นลักษณะองค์กรอาสาสมัคร องค์กรวิชาชีพ องค์กรที่ทำงานเชิงวัฒนธรรมสังคม รวมทั้งสหกรณ์และหอการค้าต่าง ๆ ตลอดจนความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ทางสังคมและสื่อมวลชนที่มีเสรีภาพมากขึ้น (Bernhard, 1993: 3) องค์กรสาธารณะเหล่านี้ล้วนเป็นอิสระจากการควบคุมของรัฐและนายทุน โดยเหตุนี้ภาคประชาสังคม จึงมักถูกเรียกว่าเป็นองค์กรในภาคส่วนที่สามหรือ The Third Sector (Anheier, Helmut K., & Wolfgang Seibel. (eds.), 1990) ขณะที่โอลิวิล่าร์และแทนดอน (Oliveira and Tandon (eds.), 1994) อธิบายว่าภาคประชาสังคมหมายถึงเครือข่ายความสัมพันธ์ขององค์กร ค่านิยมของสังคมและแนวทางการปฏิบัติที่ประกอบกันขึ้นเป็นกิจกรรมทางสังคมที่แตกต่างออกไปจากกิจกรรมที่เกิดขึ้นโดยรัฐ และจึงมีบทบาทสำคัญควบคู่ไปกับภาครัฐและภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคมมีเป้าหมายเพื่อสร้างดุลยภาพ เน้นการมีส่วนร่วมและการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ไม่ยึดติดกับรูปแบบการทำงานทางการเมืองแบบเก่า และมุ่งสร้างจิตสำนึกของการเสียสละเพื่อส่วนรวม องค์กรสาธารณะประโยชน์หรือองค์กรการกุศลต่างๆ จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญในภาคประสังคม ปัจจุบัน องค์กรธุรกิจหลายแห่งหันมาสนับสนุนองค์กรสาธารณะประโยชน์ เพื่อทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร ซึ่งมิได้มีเป้าหมายอย่างแท้จริงที่จะคืนกำไรให้แก่สังคม

ไมเคิล แบรตตัน (Micheal Bratton) เสนอว่าประชาสังคมควรเป็นพื้นที่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับครอบครัว ซึ่งแสดงออกด้วยความเอื้อเฟื้อ เกื้อกูล และความร่วมมือกันระหว่างชุมชน ผ่านการรวมกลุ่มเป็นชมรมและสมาคมที่ทำประโยชน์แก่สาธารณะ ทำให้คนทุกกลุ่มเข้ามาใช้ชีวิตสาธารณะ เน้นการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจและฉันทามติ (Bratton, cited in Soccorso 1994: 7) ในงานศึกษาของโคเฮ็นและอาราโต้อธิบายว่าประชาสังคมเกิดขึ้นนอกขอบเขตองค์กรของรัฐและเอกชน โดยเฉพาะองค์กรสาธารณะประโยชน์ ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม และการสื่อสารที่ช่วยให้ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (Cohen and Arato, 1992: 9 ) Civic Practices Network หรือเครือข่ายประชาคมปฏิบัติการ เสนอว่าเครือข่ายคือหัวใจของภาคประชาสังคม องค์กรและสมาคมการกุศลต่างๆ ล้วนแล้วแต่เป็นเครือข่ายที่ไม่เป็นทางการ และนำเอาประชาชนจากส่วนต่างๆเข้ามาทำงานเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ (Civic Practices Network, online at: WWW.CPN.org/Sections/tools/Models/Civil_Society.html) เบนจามิน บาร์เบอร์ (Barber, 1995) กล่าวว่าประชาสังคมคือสาธารณะที่ไม่มีการบังคับ และเป็นการอาสาสมัครที่ไม่เป็นเรื่องส่วนตัว และเพื่อสาธารณประโยชน์ โดยไม่มีการใช้อำนาจมาบังคับเหมือนกับองค์กรภาครัฐ เฟอนันเดซ อธิบายว่าภาคประชาสังคม คือส่วนที่เรียกว่า ส่วนตัวเพื่อส่วนรวม (Fernandes, 1994a.: 342-343)

พัฒนาการประชาสังคมในประเทศไทย

ในบริบทของสังคมไทย องค์กรนอกภาครัฐที่จะมีบทบาทในทางการเมืองเป็นปรากฏการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ดังที่อเนก เหล่าธรรมทัศน์ได้ชี้ให้เห็นว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ก่อตัวช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา ที่สมาคมธุรกิจต่าง ๆ มีอำนาจต่อรองทางการเมืองมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงหรือมีอิทธิพลต่อนโยบายของรัฐ อเนก เหล่าธรรมทัศน์ได้วิเคราะห์ให้เห็นว่า รัฐไทยได้ถูกเปลี่ยนผ่านจากรัฐราชกาารไปสู่รัฐที่เป็นสังคมเสรีนิยมมากขึ้น โดยการเกิดขึ้นของชนชั้นกลางและการก่อตัวเป็นพลังที่เข้มแข็งของภาคธุรกิจ (Anek, 1992) หากเปรียบเทียบการเกิดขึ้นของประชาสังคมในยุโรปซึ่งก่อตัวด้วยชนชั้นกลางที่มีฐานะทางเศรษฐกิจ เราจะพบว่าประชาสังคมในประเทศไทยอาจพิจารณาได้จากการทำงานของสงฆ์และบทบาทของวัดที่เกิดขึ้นมายาวนานในประวัติศาสตร์ วัดกับชุมชนต่างมีปฏิสัมพันธ์กัน โดยคนกลุ่มต่างๆจะเข้ามาทำงานเพื่อส่วนรวม เช่นในงานบุญ ประเพณี พิธีกรรมทางศาสนา รวมถึงการใช้วัดเป็นที่เล่าเรียน ฝึกฝนงานศิลปะและเรียนวิชาการต่างๆ

นอกจากนั้น เจ้านายในราชสำนักก็มีการตั้งองค์กรสาธารณประโยชน์ เช่น พ.ศ. 2433 สมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 5 ทรงจัดตั้งสภาอุณาโลมแดง พ.ศ. 2447 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จำนวนหนึ่งได้จัดตั้ง “สยามสมาคม” ขึ้น เพื่อเป็นองค์กรที่ทำงานด้านสาธารณประโยชน์ต่าง ๆ นอกจากนั้น ยังมีการรวมกลุ่มกันขององค์กรทางชาติพันธุ์และองค์กรศาสนาต่าง ๆ เช่น สมาคมตระกูลแซ่ของชาวจีนโพ้นทะเล ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อสงเคราะห์และจัดหาอาหาร ที่พำนักอาศัย ตลอดจนการให้สวัสดิการทางสังคม เช่นการสงเคราะห์ทางการแพทย์แก่ผู้อพยพชาวจีนที่ได้เข้ามาอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทย โรงพยาบาลที่จัดตั้งขึ้นในระยะแรกสุดก็ยังเป็นสิ่งที่ริเริ่มโดยองค์กรของชาวจีนเหล่านี้ด้วย ดังเช่น โรงพยาบาลเทียนฟ้า มูลนิธิและโรงพยาบาลหัวเฉียว เป็นต้น โรงพยาบาลเหล่านี้ ให้การสงเคราะห์แก่ครอบครัวชาวจีนหรือแรงงานจีนอพยพที่เข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองไทยโดยไม่มีที่พึ่งพา กลุ่มมิชชันนารีตะวันตกที่ได้เข้ามาเผยแพร่ศาสนาในราชอาณาจักรไทย และได้จัดตั้งโรงพยาบาลขึ้นเพื่อให้การสงเคราะห์แก่ชาวไทยด้วย อาทิโรงพยาบาลแม็คคอร์มิกในจังหวัดเชียงใหม่ โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียนและโรงพยาบาลมิชชั่นในกรุงเทพมหานคร

งานศึกษาของ อมรา พงศาพิชญ์ (2545) เกี่ยวกับพัฒนาการของภาคประชาสังคมไทย ได้แยกแยะให้เห็นว่า การเกิดขึ้นของภาคประชาสังคมไทยอาจแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะด้วยกัน กล่าวคือ ในระยะแรก ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองจนกระทั่งถึงในยุคที่ทหารมีบทบาทสำคัญในการบริหารประเทศ ยุคที่สอง จะเป็นช่วงที่มีการเรียกร้องการปกครองแบบประชาธิปไตย ซึ่งมีผลให้การปกครองโดยรัฐบาลเผด็จการทหารสิ้นสุดลง ยุคที่สาม เป็นยุคที่เกิดขึ้นหลังจากการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากการเคลื่อนไหวขององค์กรภาคประชาชน จนทำให้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวถูกเรียกขานว่า “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” โดยในแต่ละยุคจะมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ยุคแรก หลังสงครามโลกครั้งที่สองและระหว่างรัฐบาลเผด็จการทหาร องค์กรนอกภาครัฐที่ทำงานด้านสาธารณประโยชน์ในยุคนี้จำกัดบทบาทของตัวเองไว้เฉพาะในด้านที่เกี่ยวกับการให้บริการทางสังคม และกิจการการกุศลเท่านั้น และองค์กรต่าง ๆ เหล่านี้ก็มีเพียงจำนวนน้อย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นองค์กรที่ดำเนินการโดยชนชั้นนำในสังคมชั้นสูง เพื่อจัดหาบริการและให้ความช่วยเหลือสงเคราะห์ต่าง ๆ แก่ผู้ที่ประสบเคราะห์กรรม อุทกภัย หรือทุพภิกขภัยต่าง ๆ และจัดหาทุนการศึกษาเล่าเรียนแก่เด็กนักเรียนที่ยากจน รวมทั้งการบริจาคทุนทรัพย์แก่โรงพยาบาล เพื่อใช้สำหรับเยียวยารักษาผู้ป่วยอนาถาต่าง ๆ

ยุคที่สอง ช่วงต้นทศวรรษ 2510 กลุ่มนักศึกษาและประชาชนหนุ่มสาวออกมาเคลื่อนไหวและวิจารณ์การทำงานแบบเผด็จการของรัฐบาลทหาร ในช่วงหลังการลุกฮือขึ้นในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ได้เปิดศักราชการมีส่วนร่วมทางการเมืองและประชาธิปไตยขึ้น มีการก่อตั้งองค์กรของภาคประชาชนมากมาย เช่น องค์กรทางด้านแรงงาน องค์กรชาวนาชาวไร่ องค์กรนักศึกษา ตลอดจนกลุ่มต่าง ๆ ที่มีการเคลื่อนไหวในทางการเมืองอีกเป็นจำนวนมาก ต่อมาในช่วงหลังปี พ.ศ.2520 มีการตื่นตัวเรื่องการพัฒนาชนบท ประชาชนเคลื่อนไหวเพื่อต่อสู้กับปัญหาการพัฒนาของรัฐที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาสาธารณสุขมูลฐานในระดับท้องถิ่น (บัณฑร, 2545)

ยุคที่สาม ช่วงทศวรรษ 2530 เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างรวดเร็วและพัฒนาไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมมากขึ้น การเติบโตทางเศรษฐกิจได้ทำให้ชนชั้นกลางในสังคมไทยเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว องค์กรด้านธุรกิจเริ่มมีอำนาจต่อรองมากขึ้นและมีอิทธิพลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้อย่างชัดเจน เมื่อมีการปฏิวัติโดยทหารซึ่งนำพลเอกสุจินดา คราประยูร ทำการยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนซึ่งเป็นรัฐบาลที่เป็นที่รู้กันว่ามีการฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างกว้างขวาง แต่ต่อมารัฐบาลทหารกลับต้องการสืบทอดอำนาจของตนโดยได้ทำลายหลักการประชาธิปไตย ชนชั้นกลางจึงออกมาขับไล่รัฐบาลสุจินดาในเดือนพฤษภาคม ปี 2535 โดยส่งข้อมูลข่าวสารถึงกันผ่านโทรศัพท์มือถือ (ม็อบมือถือ) จนสามารถโค่นล้มรัฐบาลทหารลงได้ (อเนก, 2536) หลังวิกฤตเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 ชนชั้นกลางมีบทบาททางการเมืองอย่างมากและเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมืองพร้อมทั้งเสนอให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยคณะกรรมการที่เป็นอิสระและรับฟังเสียงของประชาชน ซึ่งกลายเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ใช่วงเวลานี้ถือว่าเป็นการเปลี่ยนผ่านการเมืองภาคประชาชนที่สำคัญ

ธีรยุทธ บุญมี (2536) เสนอว่ายุทธศาสตร์ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคม คือการสร้างสังคมเข้มแข็ง โดยประชาชนต้องมีจิตสำนึกทางสังคมและนำชุมชนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม ธีรยุทธชี้ว่าอุดมการณ์ชาติกำลังเสื่อมคลาย เพราะประชาชนกำลังออกมาแสดงจุดยืนในสิทธิและเสรีภาพของตัวเอง ธีรยุทธได้ชี้ให้เห็นถึงขั้นตอน 4 ขั้นตอน ที่จะนำไปสู่ความเข้มแข็งของสังคม อันได้แก่ (1) การเกิดขึ้นของจิตสำนึกทางสังคม (2) การเกิดขึ้นขององค์กรภาคประชาสังคมต่าง ๆ (3) การตกผลึกของแนวคิดประชาสังคมจนกลายเป็นอุดมการณ์ของชาติ และ (4) คือกระบวนการสร้างประชาสังคมให้กลายเป็นสถาบันหลักสถาบันหนึ่งของสังคม ธีรยุทธได้ชี้ให้เห็นว่า ในระหว่างสามทศวรรษที่ผ่านมานั้น สังคมไทยได้ก้าวเข้าสู่ช่วงที่สามซึ่งแนวคิดประชาสังคมได้กลายเป็นอุดมการณ์อย่างหนึ่งของสังคมไปแล้ว

ในช่วงหลังทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา การก่อตัวของภาคประชาสังคมอาจพิจารณาได้จากการเคลื่อนไหวของสมัชชาคนจนซึ่งเคลื่อนไหวเพื่อให้รัฐบาลรับผิดชอบต่อปัญหาการพัฒนาที่ล้มเหลวที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตชาวชนบท เกษตรกร กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มแรงงานนอกระบบ รวมถึงผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัด (ประภาส ปิ่นตบแต่ง, 2561) รวมถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาชนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองต่างกันซึ่งรู้จักในนามกลุ่มเสื้อเหลือง เสื้อแดง เสื้อน้ำเงิน หรือเสื้อหลากสี การเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มเหล่านี้อาศัยเครือข่ายประชาชนที่หลากหลายทั้งคนเมือง คนชนบท ชนชั้นกลาง และชนชั้นแรงงาน โดยที่แต่ละฝ่ายยึดโยงอยู่กับสถาบันอำนาจที่ตนเองสนับสนุน (เอกพลณัฐ ณัฐพัทธนันท์, 2556, 2557, 2558) เมื่อเกิดรัฐประหารในปี 2549 และ 2557 ทำให้ทหารเข้ามามีอำนาจอีกครั้งและมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในปี 2560 ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าเป็นรัฐธรรมนูญของ คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ที่ปกป้องรัฐและระบบราชการมากกว่าคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน (ประภาพร สีหา, 2560)

ในช่วงปี 2563-2564 เกิดปรากฎการณ์ใหม่ของการชุมนุมที่นำโดยกลุ่มเยาวชน และกลุ่มนักเรียนนักศึกษาหลายสถาบันซึ่งถูกเรียกว่าเป็นการชุมนุมแฟล็ชม็อบ กลุ่มเคลื่อนไหวสำคัญ เช่น กลุ่มเยาวชนปลดแอก (Free Youth) กลุ่มนักเรียนเลว กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กลุ่มทะลุแก๊ส เป็นต้น โดยเปลี่ยนสถานที่ชุมชนไปหลายพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานครและเมืองใหญ่ๆ โดยใช้เวลาชุมนุมไม่นาน สถานที่ชุมชนเช่น อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สี่แยกราชประสงค์ สี่แยกดินแดง และสี่แยกปทุมวัน เป็นต้น รวมทั้งมีการใช้สื่ออนไลน์เพื่อรณรงค์และนำเสนอความคิดที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม ซึ่งจะมีการติดแฮชแท็กข้อความต่างๆ เช่น “#ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” “#RepublicofThailand” เป้าหมายของการชุมนุมคือเรียกร้องให้รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ นอกจากนั้นยังรวมถึงความรู้สึกที่ไม่พอใจกับกฎระเบียบและข้อบังคับที่ล้าสมัยที่ใช้ในสถานศึกษา ซึ่งเยาวชนคิดว่าปิดการสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของพวกเขา กนกรัตน์ เลิศชูสกุลและธนาพงศ์ เกิ่งไพบูลย์ (2564) ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนที่เรียกว่า “กลุ่มทะลุแก็ส” ซึ่งเป็นลูกหลานของชนชั้นล่าง มีต้นทุนทางสังคมและเศรษฐกิจต่ำกว่ากลุ่มอื่น การออกมาชุมนุมประท้วงของพวกเขาสะท้อนว่ารัฐมองข้ามและละเลยที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของพวกเขา

ความรู้สึกไม่พอใจรัฐบาลกลับมารุนแรงอีกครั้งในช่วงเดือนมีนาคม 2565 สาเหตุมาจากความพยายามที่รัฐต้องการเสนอพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร (พ.ร.บ. เอ็นจีโอ) ซึ่งเครือข่ายภาคประชาชนคิดว่าเป็นกฎหมายที่ไม่ชอบธรรม ละเมิดสิทธิมนุษยชน และการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกทางสังคม โดยเครือข่ายภาคประชาสังคม ได้แก่ เครือข่ายองค์กรผู้สูงอายุ เครือข่ายองค์กรคนพิการ เครือข่ายด้านเด็กและครอบครัว เครือข่ายเยาวชน เครือข่ายผู้หญิง เครือข่ายความหลากหลายทางเพศ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เครือข่ายชุมชนเมืองและสลัมสี่ภาค เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายแรงงานในระบบ เครือข่ายด้านสุขภาพ เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนและความมั่นคงทางอาหาร เครือข่ายชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง เครือข่ายสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย เครือข่ายองค์กรระหว่างประเทศ เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน 5 ภาค เครือข่ายวิชาการด้านสังคม และคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช) รวมจำนวน 1,867 องค์กร ได้รวบรวมรายชื่อจำนวน 13,000 รายชื่อผ่านช่องทางเว็บไซต์ Change.org โดยเรียกร้องใน 3 ประเด็นคือ 1) ยกเลิกกระบวนการร่างและผลักดันพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ....โดยทันที 2) เรียกร้องให้ทุกขั้นตอนในการร่างกฎหมายมีการสร้างระบบและพื้นที่รับฟังความคิดเห็น อย่างโปร่งใส เข้าถึงได้ และไม่เลือกปฏิบัติ รวมทั้งประเมินผลกระทบต่อสาธารณะและองค์กรประชาชนซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงอย่างแท้จริง และ 3) ประกันว่าสิทธิในการสมาคมรวมทั้งการเข้าถึงทรัพยากร สิทธิในการดำเนินงาน ต้องสอดคล้องกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของประเทศไทย และปราศจากการแทรกแซงที่ไม่ได้สัดส่วนของรัฐ เพื่อความเป็นอิสระและประสิทธิภาพในการสมาคม

การรวมตัวของภาคประชาสังคมครั้งนี้ถือเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สำคัญที่สะท้อนว่าการเมืองภาคประชาชนและการมีส่วนร่วมพัฒนาสังคมของประชาชนเป็นสิ่งที่รัฐไทยต้องโอบอุ้ม เปิดกว้าง และยอมรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทุกกลุ่มโดยไม่ใช้อำนาจและการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ดังที่ Warren (1999) ตั้งข้อสังเกตว่าบทบาทของภาคประชาชนจะช่วยให้การทำงานของรัฐดำเนินไปบนฐานของการรับฟังเสียงของประชาชน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ธรรมาภิบาล (Good Governance) จำเป็นต้องยึดโยงอยู่กับผลประโยชน์ของประชาชน และต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากกว่าจะเกิดจากกฎระเบียบและความคิดของข้าราชการ ในขณะที่ Jensen (2006) เสนอว่าประชาสังคมคือส่วนประกอบสำคัญของระบบที่สร้างความเท่าเทียมและมีเสรีภาพ ซึ่งเป้าหมายคือสร้างสังคมประชาธิปไตย การรวมตัวกันจึงเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะทำให้ประชาชนสามารถแสดงออกซึ่งความต้องการและการปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง การรับประกันสิทธิพื้นฐานของการรวมตัวกันนี้จึงเป็นหลักประกันของการสร้างสรรค์ระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีสิทธิ์มีเสียงและมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง


ผู้เขียน: ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ และ ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

กนกรัตน์ เลิศชูสกุล และธนาพงศ์ เกิ่งไพบูลย์. (2564). รายงานเบื้องต้นโครงการวิจัยการก่อตัว พัฒนาการ และพลวัตการชุมนุมบริเวณแยกดินแดง ช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2564 สืบค้นจาก https://www.the101.world/wp-content/uploads/2021/10/Preliminary-report-Kanokrat- 25102021.pdf

ธีรยุทธ บุญมี. (2536). สังคมเข้มแข็ง. กรุงเทพฯ: มิ่งมิตร.

บัณฑร อ่อนดำ และคณะ. (2545). บทบาทขององค์กรพัฒนาเอกชนในการปฏิรูประบบสุขภาพ. รายงานการวิจัย. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข.

ประภาพร สีหา. (2560). ความขัดแย้งทางการเมืองกับรัฐประหาร ปี พ.ศ. 2557. วารสารรัฐศาสตรปริทรรศน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร, 4(2), 145-166.

ประภาส ปิ่นตบแต่ง. (2561). ขบวนการชาวนาชาวไรในสังคมไทย : จากอดีตสู่ปัจจุบัน. วารสารวิจัยสังคม, 41(1), 1-50.

อมรา พงศาพิชญ์. (2545). รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ รายงานหลักโครงการองค์กรสาธารณประโยชน์ในประเทศ ไทย. กรุงเทพฯ: สถาบันวิจัยสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

อเนก เหล่าธรรมทัศน์. (2536). ม็อบมือถือ ชนชั้นกลางและนักธุรกิจกับพัฒนาการประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ: มติ ชน.

อเล็กซิส เดอะ ต็อกเกอะวิลล์. (2522). ประชาธิปไตยในอเมริกา. แปลจาก Dela democratie en Amerique. โดย วิภาวรรณ ตุวยานนท์. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.(2 เล่ม).

เอกพลณัฐ ณัฐพัทธนันท์. (2556). ปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐ ขบวนการและขบวนการโต้กลับ: กรณีศึกษาการ เคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดง ตั้งแต่ปี 2549-2553. ปริญญารัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชารัฐศาสตร์, คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

เอกพลณัฐ ณัฐพัทธนันท์. (2557). ขบวนการมวลชนเสื้อแดงกับการปฏิวัติทางสังคมที่ไม่ถึงจุดสิ้นสุด. วารสารวิจัย สังคม, 37(2), 45-88.

เอกพลณัฐ ณัฐพัทธนันท์. (2558). การเมืองเสื้อสีกับการศึกษาขบวนการโต้กลับตามจารีตการศึกษาขบวนการทาง สังคมและการเมือง. วารสารสังคมศาสตร์, 27(1), 85-127.

ภาษาอังกฤษ

Anek Laothamatas. (1992). Business Associations and the New Political Economy of Thailand. Boulder, Westview Press.

Anheier, Helmut K., and Wolfgang Seibel. (eds.) (1990).The Third Sector: Comparative Studies of Nonprofit Organization. Berlin & New York: Walter de Gruyter.

Babblio, Norberto. (1988). Gramsci and the Concept of Civil Society. In J. Keane, (ed.) Civil Society and the State: New European Perspective. London: Verso.

Barber, Benjamin R. (1995). The Search for Civil Society, in “Rebuilding Civil Society,” A Symposium from The New Democrat, 7(2)(March/April), available online at: www.cpn.org/sections/partisans/perspectives/new_democrat/rebuild_civil_society.html.

Bell, Daniel. (1989). American Exceptionalism Revisited: The Role of Civil Society. The Public Interest, 95, 38-56.

Bernhard, Michael. (1993). The Origins of Democratization in Poland: Workers, Intellectuals, and Oppositional Politics, 1976-1980. New York: Columbia University Press.

Bernhard, M., Tzelgov, E., Jung, D.-J., Coppedge, M., & Lindberg, S. I. (2015). The Varieties of Democracy Core Civil Society Index. Gothenburg: The Varieties of Democracy Institute.

Botchway, T.P. (2019). Understanding the Dynamics and Operations of Civil Society in the 21st Century: A Literature Review. Journal of Politics and Law, 12(1), 108-121.

Clark, J. (1991). Democratising Development: The Role of Voluntary Organizations. London: Earthscan.

Cohen, Jean, and Andrew Arato. (1992). Civil Society and Political Theory. Cambridge, MA: MIT Press.

Diamond, L. (1994). Rethinking Civil Society: Towards Democratic Consolidation. Journal of Democracy, 5(3), 4-17.

Diamond, L. (1997). Civil Society and the Development of Democracy. Estudio/Working Paper /101, 1-72.

de Tocqueville, A. (2002). Democracy In America Volume 1. Translated by Henry Reeve. The Pennsylvania State University.

Ferguson, A. (1767). An Essay on the History of Civil Society (5 ed.). London: T. CADELL.

Fernandes, Rubem Cesar. (1994a). Threads of Planetary Citizenship. In M.D. de Oliveira and Rajesh Tandon, eds. Citizens: Strengthening Global Civil Society. (Pp. 319- 346). Washington, DC: CIVICUS: World Alliance for Citizen Participation.

Frangonikolopoulos, C.A. (2012). Global civil society and deliberation in the digital age. International Journal of Electronic Governance, 5(1), 11 – 23.

Gramsci, Antonio. (1971). Selections from the Prison Notebooks. Quintin Hoare and Geoffrey Nowell Smith, eds. and transl. New York: International Publishers.

Habermas, Jurgen. (1989). The Transformation of Public Sphere: An Inquiry into a Category of Bourgeois Society. Thomas Burger, transl. Cambridge, MA: MIT Press.

Hann, Chris M. and Elizabeth S. Dunn, (eds.). (1996). Civil Society: Challenging Western Models. London: Routledge.

Harris, J. (2011). Civil Society and Politics: An Anthropological Perspective. In Isabelle Clark- Decès, (Ed.). A Companion to the Anthropology of India (pp.389-406). Hoboken, NJ: Blackwell Publishing.

Hobsbawm, Eric. (1994). The Age of Extreme: The Short Twentieth Century. Oxford: Oxford University Press.

Keane, John. (1988a). Despotism & Democracy: The Origin and Development of the Distinction Between Civil Society and the State. In Civil Society and the State: New European Perspective.

J. Keane, ed. London: Verso. Keane, John. (1988b). Democracy and Civil Society. London: Verso.

Korten, David. (1995). When Corporations Rule the World. San Francisco, CA: Berrett-Koehler Publishers.

Nagengast, Carole. (1991). Reluctant Socialists, Rural Entrepreneurs: Class, Culture, and the Polish State. Boulder, San Francisco and Oxford: Westview Press.

Ogawa, A. (2004). The failure of civil society? An Ethnography of NPOs and the State in Contemporary Japan. Dissertation. Cornell University.

Oliveira, Miguel D. de, and Rajesh Tandon, (eds.). (1994). Citizens: Strengthening Global Civil Society. Washington, DC: CIVICUS.

Osborne, David, and Ted Gaebler. (1992). Reinventing Government: How the Entrepreneurial Spirit is Transforming the Public Sector. Reading, MA: Addison-Wesley.

Papacharissi, Z. (2009). ‘The virtual sphere 2.0: the internet, the public sphere, and beyond’, in Chadwick, A. and Howard, N.P. (Eds): Routledge Handbook of Internet Politics, (pp.230– 246). London & New York: Routledge.

Pasquino, P. (1981). Introduction to Lorenz von Stein. Economy and Society, 10(1), 1–6.

Pharr, Susan J . (2003). “Preface.” In Frank J. Schwartz and Susan J. Pharr, (eds.). The State of Civil Society in Japan. (Pp. xiii-xviii). Cambridge, UK: Cambridge University Press.

Putnum, Robert. (1993a). Making Democracy Work: Civic Traditions in Modern Italy. Princeton: Princeton University Press

Seligman, Adam. (1992). The Idea of Civil Society. New York: The Free Press.

Soccorso, Andrea. (1994). The Role of Development NGOs in Strengthening Civil Society. Master thesis, Kennedy School of Government, Harvard University.

Schwartz, Frank J. and Susan J. Pharr. (2003). The State of Civil Society in Japan. Cambridge, UK: Cambridge University Press.

Taylor, Lucy. (1999). Globalization and Civil Society-Continuities, Ambiguities, and Realities in Latin America. Indiana Journal of Global Legal Studies, 7(1), 269-295.

Walzer, Michael. (1991). The ldea of Civil Society: A Path of Social Reconstruction. Dissent, spring 1991, 293-304.

Walzer, Michael. (1992). The Civil Society Argument. In C. Mouffe, (ed.). Dimensions of Radical Democracy: Pluralism, Citizenship, Community. (Pp. 89-107). London: Verso.

Warren, M. E. (1999). Civil Society and Good Governance. Washington: Department of Government, Georgetown University.


หัวเรื่องอิสระ: ประชาสังคม, ประชาธิปไตย, พื้นที่สาธารณะ, การเมือง, การมีส่วนร่วม