คำศัพท์

Intertextuality

ความเป็นมาของ Intertexuality

ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 แนวคิดเรื่อง “สัมพันธบท” (Intertexuality) ได้รับความสนใจในแวดวงวิชาการอย่างกว้างขวาง ขอบเขตและเป้าหมายของแนวคิดนี้ให้ความสนใจเรื่องคำ ภาษาและเรื่องเขียนที่ปรากฎอยู่ในเรื่องเล่าต่างๆ การถกเถียงเรื่องสัมพันธบทเกิดขึ้นจากข้อสงสัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างภาษาที่มีต่อโลกภายนอกหรือการดำรงอยู่ของสิ่งต่างๆ ทั้งนี้ภาษาที่ถูกใช้เป็นตัวแทนอาจมิใช่ความหมายที่เกิดขึ้นจริง กล่าวคือ ความหมายของสรรพสิ่งมิได้เกิดขึ้นโดยคำเรียก ภาษามิใช่ผู้กำหนดความหมาย หากแต่การตีความของมนุษย์ในแต่ละวัฒนธรรมคือสิ่งที่บ่งชี้ความหมาย เช่น คำว่า “สีแดง” ย่อมจะมีความหมายแตกต่างกันไปในแต่ละสังคม ในแง่นี้การทำความเข้าใจคำ ภาษา ข้อเขียนและเรื่องแต่งจำเป็นต้องทำความเข้าใจบริบทของการเขียน การถกเถียงในประเด็นนี้ได้รับความสนใจในหมู่นักวิชาการที่ศึกษาทฤษฎีโครงสร้างนิยมและปฏิบัติการนิยม เริ่มจาก Mikhail Bakhtin ที่ตั้งข้อสังเกตว่าภาษามิได้มีความหมายในตัวเองแต่มันขึ้นอยู่กับคำอธิบายอื่นที่อยู่แวดล้อม จนกระทั่ง Julia Kristeva (1980, 1986) ได้เสนอแนวคิดเรื่อง “สัมพันธบท” ซึ่งต้องการวิเคราะห์บทบาทหน้าที่ของภาษาในเชิงวิพากษ์ โดยกล่าวว่าข้อเขียนต่างๆล้วนเอาคำและประโยคอื่นๆเข้ามาประกอบสร้างเป็นความหมาย แนวคิดนี้ได้รับความสนใจมากในช่วงทศวรรษ 1980-1990 พร้อมกับการวิพากษ์ภาษาของ Roland Barthes (1987) อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการนำแนวคิดสัมพันธบทไปใช้ในสาขาวิชาต่างๆ ก็มีการปรับให้เข้ากับแนวทางการศึกษาที่หลากหลาย

ในแวดวงมานุษยวิทยาภาษาศาสตร์ สนใจแนวคิดสัมพันธบทในฐานะเป็นเครื่องมือเพื่อการวิเคราะห์สังคมผ่านการใช้ภาษา ในกลุ่มนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนนำแนวคิดนี้ไปวิเคราะห์บทบาทหน้าที่ของสื่อ วาทกรรมทางการเมืองและกระบวนการเรียนการสอน การทำความเข้าใจบริบทของการใช้ภาษาจึงมีความสำคัญมากกว่าการมอง “ภาษา” หรือ “เรื่องแต่ง” ที่แยกอยู่โดดๆ ทั้งนี้ยังรวมถึงการทำความเข้าใจเรื่องราวที่ปรากฎอยู่ในรูปของสื่อชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาของภาพยนตร์ ละครทีวี ละครเวที บทเพลง นวนิยาย หนังสือพิมพ์ การ์ตูน เกมส์ นิตยสาร สื่อโฆษณา นิทรรศการ กีฬา แฟชั่นโชว์ สื่อออนไลน์ มิวสิควีดิโอ คลิปวีดิโอ ข้อความในเฟสบุ๊กหรือทวิตเตอร์ ทำให้บางครั้งคำว่า “สัมพันธบท” หรือ Intertexuality ยังหมายรวมถึง intermediality ที่ต้องการทำความเข้าใจความสัมพันธ์และการเชื่อมโยงของสื่อชนิดต่างๆ เช่น นวนิยายถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ ในแวดวงสื่อสารมวลชนจึงสนใจการศึกษาสื่อแบบข้ามประเภทเพื่อวิเคราะห์ว่าเรื่องราวชนิดเดียวกันเมื่อถูกผลิตภายในรูปแบบของสื่อที่ต่างกันจะส่งผลให้ความหมายของสิ่งเหล่านั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เช่น ตัวละครของดีสนีย์ถูกนำไปเป็นเรื่องราวในการ์ตูน ภาพยนตร์ ละครเวที การแสดงมหรสพ เกมส์ ดนตรี และสวนสนุก

การศึกษาของ John Fiske (1988) ชี้ว่าโทรทัศน์ในฐานะเป็นสื่อสาธารณะ ตัวบทที่ถูกเผยแพร่จำนวนมากจะเคลื่อนที่ไปตลอดเวลาพร้อมกับเครือข่ายของตัวบทอื่นๆที่แวดล้อมอยู่ในอุตสหกรรมโทรทัศน์ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต ผู้ชม เจ้าของสถานีโทรทัศน์ และบริษัทที่สนับสนุนรายการต่างๆ เรื่องราวที่ปรากฏอยู่ในโทรทัศน์จึงเชื่อมโยงกับชีวิตของผู้คน เนื้อหาของละคร รายการทีวี ข่าว โฆษณาและประชาสัมพันธ์ต่างๆ เกี่ยวข้องกับประสบการณ์ของคนกลุ่มต่างๆ อีกตัวอย่างหนึ่งคือภาพยนตร์เจมส์ บอนด์ ซึ่งมีการสร้างมาหลายภาค ได้รับความนิยมจากผู้ชมทั่วโลก สร้างผลกำไรให้กับผู้สร้าง ผู้กำกับและนักแสดง ตัวบทของเจมส์ บอนด์จะบ่งบอกเรื่องราวของผู้ชายที่มีความสามารถรอบตัว ฉลาด มีทักษะในการต่อสู้ รอบรู้ในการใช้เทคโนโลยีเพื่อปราบอาชญากร รวมถึงการมีรูปร่างหน้าตาที่ดึงดูดทางเพศและมีความสัมพันธ์กับผู้หญิงที่สวยเซ็กซี่ ภาพลักษณ์นี้ถูกผลิตซ้ำๆกันจนกลายเป็นสัญลักษณ์ โดยผู้กำกับและนักแสดงที่เปลี่ยนไปจะพยายามอ้างอิงแบบแผนและคุณลักษณะของเจมส์ บอนด์ที่เคยสร้างกันมาก่อนหน้านั้น นอกจากนั้น การคัดเลือกนักแสดงชายที่จะมารับบทเจมส์ บอนด์ และนักแสดงหญิงที่จะมารับบทคู่ขาของบอนด์ได้รับความสนใจจากสื่อแขนงต่างๆ รวมทั้งมีข้อถกเถียงที่ว่าทำไมผู้แสดงเป็นเจมส์ บอนด์จึงมีแต่ผู้ชายผิวขาว ซึ่งเป็นการเชิดชูเชื้อชาติผิวขาวให้เหนือกว่าเชื้อชาติอื่น และการทำให้ผู้หญิงเป็นเหมือนวัตถุทางเพศที่มีไว้ตอบสนองอารมณ์ของผู้ชาย ข้อโต้แย้งและคำวิจารณ์คุณลักษณะที่พบในภาพยนตร์เจมส์ บอนด์ ชี้ให้เห็นว่าการสร้างความหมายเกิดขึ้นจากคนหลายกลุ่ม

Bennet and Woollacot (1986) กล่าวว่าเนื้อหาของเจมส์ บอนด์ในนิยายของ Ian Fleming ต่างไปจากเนื้อหาในภาพยนตร์ โดยเฉพาะคุณลักษณะของบอนด์ในหนังมีความผ่อนคลายและเป็นกันเองมากกว่า ต่างไปจากบอนด์ในนิยายที่มีความเคร่งเครียดจริงจังและเข้าถึงยาก นอกจากนั้น บริบทที่เกิดขึ้นในหนังสะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของโลกและระบอบอำนาจ ซึ่งเดิมคอมมิวนิสต์ชาวรัสเซียจะเป็นผู้ร้าย ต่อมาเมื่อลัทธิสังคมนิยมในตะวันตกล่มสลาย ขั้วการเมืองที่เป็นศัตรูของตะวันตกจะเปลี่ยนไปเป็นจีนแผ่นดินใหญ่ ประกอบการการเข้าสู่สังคมข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้เรื่องราวอาชญกรรมพัวพันกับเทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่และการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการก่อการร้ายมากขึ้น ในการศึกษาของ Robert Caplan (2012) ตั้งข้อสังเกตว่าการนำเสนอภาพลักษณ์ของผู้หญิงในหนังเจมส์ บอนด์ ผลิตซ้ำจารีตนิยมและบรรทัดฐานที่ผู้หญิงคือเพศที่ถูกกระทำและทำหน้าที่ตอบสนองความต้องการของผู้ชายเป็นหลัก ภาพลักษณ์นี้ขัดแย้งกับกระบวนการเรียกร้องสิทธิสตรีที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1960-1970 ข้อวิจารณ์นี้ส่งผลให้ผู้สร้างภาพยนตร์พยายามสร้างตัวละครหญิงที่มีภาพลักษณ์แบบผู้นำและกล้าหาญเข้าไปในเรื่องราวของเจมส์ บอนด์ เพื่อให้เกิดสมดุลกับภาพลักษณ์ผู้หญิงเซ็กซี่ที่ปรากฎอยู่แต่เดิม

ตัวอย่างการศึกษาจากหนังเจมส์ บอนด์ ทำให้เห็นว่าการตีความเรื่องราวที่เกิดขึ้นคือขอบเขตที่ทำให้เห็นตัวบทและสัมพันธบทที่เชื่อมโยงเครือข่ายที่หลากหลาย Fiske (1988) อธิบายว่าคุณลักษณะของตัวบทแต่ละชนิดนำไปสู่การตีความในระดับที่ต่างกันไป ตัวบทบางประเภทที่มีความซับซ้อนอาจต้องการการตีความหลายชั้นและต้องพิจารณาความสัมพันธ์ที่ตัวบทมีกับตัวบทอื่นๆ นักวิชาการด้านวรรณกรรมวิจารณ์และสื่อสารมวลชนจึงให้ความสนใจบทบาทของผู้ประพันธ์และผู้เขียนในฐานะผู้ที่มีอำนาจสร้างความหมายและส่งต่อความหมายต่างๆผ่านตัวบทไปสู่สาธารณะ รวมทั้งสนใจว่าผู้เขียนใช้ประสบการณ์ ความรู้ สัญลักษณ์และความหมายจากสังคมมาประกอบสร้างเป็นสัมพันธบทอย่างไร การศึกษาในแนวนี้จึงต้องการเปิดเผยให้เห็น “ความหมายที่ซ่อนเร้น” ที่ผู้แต่งได้สื่อสารไว้ในตัวบท เช่นการศึกษาของ Druick (2009) เกี่ยวกับรายการข่าวล้อเลียนในฐานะเป็นการวิพากษ์ผู้มีอำนาจในอุตสาหกรรมและธุรกิจข่าว รายงานนี้สะท้อนให้เห็นแบบแผนทางสังคมของการผลิตและการเสพข่าวที่ชี้นำให้คนจำนวนมากเชื่อและคล้อยตาม การวิเคราะห์ตัวบทและสัมพันธบทจึงเท่ากับเป็นการตรวจสอบเรื่องราวต่างๆที่คนในสังคมมักจะมองข้ามหรือมองไม่เห็นความหมายที่แอบแฝง

Fiske (1988) ได้แยกประเภทของตัวบทเป็น 3 ชนิด คือ 1) ตัวบทปฐมภูมิ หมายถึง ตัวบทหรือเรื่องแต่งที่ผู้เขียนสร้างขึ้นมาจากความคิดของตัวเองโดยมิได้หยิบยืมมาจากแหล่งใด 2) ตัวบททุติยภูมิ หมายถึงตัวบทที่อาศัยเรื่องราวที่มีการเขียนหรือการประดิษฐ์ขึ้นมาก่อน และพัฒนาเป็นตัวบทเฉพาะ และ 3) ตัวบทตติยภูมิ หมายถึงตัวบทที่ถูกตีความจากผู้อ่าน ผู้ชมและผู้นิยมชมชอบ นำไปสู่การให้ความหมายตัวบทภายใต้ประสบการณ์ที่แตกต่างไปจากเจตนารมย์ของผู้แต่ง ตัวบททั้งสามประเภทนี้มิได้แยกอยู่โดดเดี่ยว แต่ล้วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันตลอดเวลา นำไปสู่การศึกษาสัมพันธบทที่ตัวบทต่างๆถูกอ้างอิงโยงใยกันเป็นเครือข่ายที่ยุ่งเหยิง Hardy (2011) กล่าวว่าในยุคข้อมูลข่าวสารและอินเตอร์เน็ตที่มีการผลิตและเผยแพร่ตัวบทที่เข้มข้น หลากหลายและรวดเร็ว ประชาชนธรรมดาสามารถเป็นผู้สร้างตัวบทได้ไม่ต่างจากบริษัทสื่อขนาดใหญ่ ปรากฎการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดสัมพันธบทที่กว้างใหญ่ไพศาล ที่ตัวบทจากแหล่งต่างๆถูกอ้างอิงข้ามกันไปกันมาจนยากจะสืบหาต้นตอของแหล่งกำเนิด การทะลักและไหลเวียนของสัมพันธบทในยุคดิจิทัลและสื่อสังคมออนไลน์ ตัวบทแบบตติยภูมิได้แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วและไร้ขอบเขต เช่น การเกิดขึ้นของกลุ่มแฟนคลับและกลุ่มคนที่สนใจเรื่องราวประเภทเดียวกันในเฟสบุ๊ก ทวิตเตอร์ และแอปพลิเคชั่นจำนวนมาก กลุ่มคนเหล่านี้อาจเป็นผู้ที่สร้างตัวบทปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิในเวลาเดียวกัน

Van Zoonen (2017) กล่าวว่าวงวิชาการปัจจุบัน สนใจศึกษาความสัมพันธ์ของตัวบทที่ซับซ้อน ทำให้เกิดแนวคิดที่ใกล้เคียงกับคำว่า Intertexuality เช่น parallel texts, paratexts, megatexts, textual shifters, cross-media, transmedia, transtextuality แนวคิดเหล่านี้ใช้อธิบายปรากฎการณ์ที่คล้ายๆกันแต่มีจุดเน้นที่ต่างกัน ประเด็นสำคัญคือ ตัวบทที่ปรากฏขึ้นมิได้แยกอยู่อย่างเอกเทศ หากแต่มันเกี่ยวข้องกับตัวบทอื่นๆที่อยู่แวดล้อมอีกจำนวนมาก ทำให้เกิดพรมแดนของสัมพันธบทที่แผ่กว้างไปทุกทิศทุกทาง ท่ามกลางพรมแดนนี้จะเห็นการผลิตซ้ำต่อเติมเสริมแต่งความหมายของสิ่งต่างๆ ตลอดเวลา และเป็นการยากที่จะค้นหาแหล่งกำเนิดและต้นทางของตัวบท สัมพันธบทจึงทำให้เกิดการจำลองและการทำซ้ำความหมายของสิ่งต่างๆ ตัวบทแต่ละประเภทจึงถูกสร้างขึ้นด้วยความหมายที่หยิบยืมมาจากตัวบทอื่นๆ ประเด็นนี้นำไปสู่การตั้งคำถามเกี่ยวกับ “เนื้อแท้” หรือ “ความจริงที่สมบูรณ์” ซึ่งสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นภายใต้สัมพันธบท ไม่มีสิ่งใดยืนยันได้ว่าตัวบทใดเป็นความจริงมากกว่ากัน เช่น ความหมายของปารีสที่ปรากฏอยู่ในตัวบทต่างๆ ทั้งที่เป็นนิตยสารท่องเที่ยว ภาพยนตร์ สารคดี สื่อโฆษณา มิวสิควีดิโอ และคลิปวีดิโอที่แชร์ในสื่อสังคมออนไลน์ ล้วนแล้วแต่สร้างความหมายให้กับปารีสในแง่มุมที่หลากหลาย จนทำให้เราไม่รู้ว่าตัวบทใดคือความหมายที่แท้จริง

ผู้สร้างและผู้อ่านตัวบท

ตัวบททั้งหลายที่ถูกสร้างขึ้นมาล้วนได้รับการอ่านและการตีความจากมนุษย์ ประเด็นสำคัญคือการตีความของคนแต่ละกลุ่ม (Decoding) อาจไม่ตรงกับความคิดของผู้สร้างตัวบท (Encoding) และไม่จำเป็นต้องเหมือนกับการตีความของคนอื่น (Hall, 1973) การตีความเสมือนกับวิธีการอ่านหนังสือซึ่งผู้อ่านแต่ละคนย่อมจะมีความคิดและประสบการณ์ต่อสิ่งที่อ่านไม่เหมือนกัน ในทัศนะของ Hall (1973) เชื่อว่าการให้ความหมายคือกระบวนการต่อรอง ต่อต้านและการยอมรับอุดมการณ์ทางสังคมบางอย่างที่เกิดขึ้นในบริบทการเมืองและเศรษฐกิจ ในปรากฎการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรม การอ่านตัวบทมีวิธีการที่หลากหลาย เช่น การชมภาพยนตร์ การดูคอนเสิร์ต การชมละครเวที การดูคลิปในสื่อออนไลน์ การฟังเพลง และการดูกีฬา สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการอ่านตัวบททั้งสิ้น การทำความเข้าใจผู้อ่านในฐานะเป็นผู้กระทำการเชิงสังคมจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ เพราะกลุ่มคนที่แตกต่างหลากหลายถูกขัดเกลา ซึมซับ เรียนรู้และหล่อหลอมจากบริบททางสังคมที่ต่างกัน ส่งผลให้การอ่านตัวบทของมนุษย์เต็มไปด้วยความขัดแย้งและการไม่ลงรอยกัน เช่นชนชั้นแรงงานจะให้ความหมายกับตัวบทต่างไปจากชนชั้นนายทุน รวมทั้งความต่างของเพศภาวะ เพศวิถี ช่วงวัย ระดับการศึกษา ฐานะทางเศรษฐกิจ ความเชื่อทางศาสนาและเชื้อชาติ ล้วนมีผลต่อการสร้างความหมายให้กับตัวบท (Storey, 2006)

Deming (1986) อธิบายว่าผู้อ่านที่มีความแตกต่างทางชนชั้น วัฒนธรรมและชาติพันธุ์ คือตัวบทอีกประเภทหนึ่งที่ถูกให้ความหมายจากผู้อ่านคนอื่น ในแง่นี้บุคคลจึงเป็นทั้งตัวบทและผู้อ่านในเวลาเดียวกัน ในมิติความสัมพันธ์ที่ผู้อ่านมีต่อกัน Brewer, Young & Morreale (2013) อธิบายว่าผู้อ่านแต่ละคนที่มีประสบการณ์ชีวิตใกล้เคียงกันย่อมจะมีสัมพันธบทไปในทางเดียวกัน กลุ่มคนที่มีวิถีชีวิตคล้ายคลึงกันจะสร้างความหมายและรับรู้ถึงความหมายในตัวบทที่ใกล้เคียงกัน เช่นกลุ่มแฟนคลับที่ชื่นชอบนักร้องและนักแสดงย่อมจะให้ความหมายต่อตัวบทไปในทางเดียวกัน และมีผลต่อการสร้างอารมณ์ความรู้สึกร่วมของกลุ่มคนที่ชื่นชอบนักร้องและนักแสดง

มานุษยวิทยาและสัมพันธบท

การศึกษาของ Briggs & Bauman (1992) อธิบายว่าสัมพันธบทที่ความหมายของสิ่งต่างๆเข้ามาบรรจบและเชื่อมโยงกัน มิใช่สิ่งที่สามารถจัดหมวดหมู่ของชนิดตัวบทได้อย่างตรงไปตรงมา เพราะตัวบทมีเรื่องราวและเนื้อหาที่หลากหลาย การจัดจำแนกตัวบทให้มีขอบเขตที่ชัดเจนจึงเป็นไปไม่ได้ กล่าวคือ ภายใตตัวบทย่อมจะมีความหมายที่มากกว่าหนึ่งแบบ เมื่อแต่ละตัวบทถูกหยิบยืมความหมายข้ามกันไปมา เส้นแบ่งของชนิดตัวบทจึงพร่าเลือน เช่น ตัวบทที่เป็นนวนิยายกับภาพยนตร์อาจมีเรื่องราวที่คล้ายคลึงกันมาก การศึกษาทางมานุษยวิทยาจึงเสนอว่าการทำความเข้าใจตัวบทควรมองดูกระบวนการที่เคลื่อนตัวของการสร้างความหมายที่เกิดจากผู้สร้างและผู้อ่าน กระบวนการนี้เกิดขึ้นบนความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ทำให้คนบางกลุ่มสามารถชี้นำให้ผู้อื่นยอมจำนนหรือหลงติดอยู่กับความหมายบางอย่างที่ผู้มีอำนาจต้องการ ตัวอย่างเช่น การทำให้ประชาชนคล้อยตามการเสพผลิตภัณฑ์ความงาม ทั้งผู้ที่สร้างตัวบทและอ่านตัวบทต่างมีส่วนขับเคลื่อนค่านิยมความงามให้แผ่กว้างไปในสังคม เช่น ค่านิยมการมีจมูกโด่งและผิวขาว เป็นต้น

Hanks (1989) กล่าวว่าตัวบทคือผลผลิตและกระบวนการทางสังคมและวัฒนธรรม เรามิควรมองตัวบทเป็นเพียงภาษา ข้อเขียน เรื่องเล่า เรื่องแต่ง บทกวี วรรณกรรม คำอธิบาย ภาพถ่าย ภาพวาด งานศิลปะภาพยนตร์ ละคร วีดิโอ หรือการแสดงที่มีแบบแผนที่ตายตัว ตัวบทมิใช่สิ่งที่หยุดนิ่งหากแต่มันถูกให้ความหมายอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ในแง่นี้กระบวนการให้ความหมายต่อตัวบทจึงมีความสำคัญมากกว่าตัวบท นักมานุษยวิทยาให้ความสนใจกระบวนการสร้างความหมายต่อตัวบทบนเงื่อนไขทางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งทำให้เห็นการทับซ้อนของความหมายที่อยู่ในตัวบท สิ่งนี้คือฐานคิดสำคัญของสัมพันธบท เช่น ตัวบทแบบเดียวกันจะถูกตีความต่างกันไปเมื่อปรากฎอยู่ในการดำเนินชีวิตของคนที่มีวัฒนธรรมต่างกัน เงื่อนไขของพื้นที่และเวลาจึงเป็นสิ่งที่แยกไม่ขาดจากการให้ความหมายต่อตัวบท (Barnes & Duncan, 1992) การศึกษาตัวบทภายใต้เงื่อนไขของสังคมและวัฒนธรรมที่มีคนกลุ่มต่างๆเข้ามาสร้างความหมาย ทำให้ตัวบทมิใช่เครื่องพิสูจน์ความจริงทางสังคม แต่เป็นส่วนประกอบที่ทำให้เกิดความจริงบางอย่างขึ้น

Sangren (1988) ตั้งข้อสังเกตว่าในช่วงที่แวดวงมานุษยวิทยากำลังทบทวนตรวจสอบสถานะและบทบาทการสร้างความรู้ทางชาติพันธุ์วรรณนา ประเด็นที่นักมานุษยวิทยาสนใจคืออำนาจของการเขียนและการเล่าเรื่องที่นักมานุษยวิทยาจะเล่าเรื่องวัฒนธรรมของ “คนอื่น” ภายใต้ชุดความรู้ แนวคิดทฤษฎี กระบวนทัศน์และโลกทัศน์บางอย่าง ข้อสงสัยนี้คือจุดเปลี่ยนของการเขียนครั้งสำคัญ ส่งผลให้นักมานุษยวิทยาพยายามตั้งคำถามกับบทบาทของตัวเองที่มีส่วนสถาปนาความจริงทางสังคม อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นักมานุษยวิทยาควรให้ความสนใจไปพร้อมกับการทบทวนบทบาทของตัวเองคือการตั้งคำถามกับระบอบอำนาจที่อยู่นอกการควบคุมของนักมานุษยวิทยา โดยเฉพาะความเป็นสถาบันวิชาการที่ยึดโยงอยู่กับระบบเหตุผลและบรรทัดฐานของการสร้างความรู้แบบตะวันตก ในแง่นี้ บทบาทของนักมานุษยวิทยาในงานเขียนทางชาติพันธุ์นิพนธ์ จึงเป็นตัวบทที่เกาะเกี่ยวอยู่กับโครงสร้างอำนาจ เช่น มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย หน่วยงานของรัฐ และองค์กรทางวิชาการต่างๆ การทำความเข้าใจสิ่งเหล่านี้อาจช่วยทำให้การทบทวนตรวจสอบงานเขียนทางมานุษยวิทยามีสัมพันธบทที่มากไปกว่างานเขียนและผู้ประพันธ์ การตรวจสอบระบอบอำนาจที่ผลิตนักมานุษยวิทยาให้ออกไปทำงานจึงเป็นการชี้ให้เห็นพื้นที่และเวลาที่มีส่วนสร้างความหมายให้กับตัวบทที่เป็นงานชาติพันธุ์นิพนธ์ ซึ่ง Sangren (1988) วิจารณ์ว่าการที่นักมานุษยวิทยาสนใจตรวจสอบบทบาทของตัวเองแบบสะท้อนย้อนคิด (reflexivity) คือผลผลิตจากวัฒนธรรมตะวันตกที่ให้คุณค่าปัจเจกบุคคลว่ามีอำนาจคิดวิเคราะห์และแสวงหาทางออกได้ด้วยสติปัญญา ในแง่นี้ การสะท้อนย้อนคิดจำเป็นต้องเข้าใจบริบทสังคมที่หล่อหลอมให้เกิดปฏิบัติการดังกล่าว เพื่อทำความเข้าใจว่านักมานุษยวิทยาถูกทำให้เป็นตัวบทของลัทธิปัจเจกนิยมได้อย่างไร


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Barnes, T.J. & J.S. Duncan. (1992). Introduction: Writing Worlds. In T.J. Barnes and J.S. Duncan, (Eds). Writing Worlds: Discourse, text & metaphor in the representation of landscape, (pp. 1-17). London and New York: Routledge.

Barthes, R. (1987). From work to text. Image, Music, Text, trans. S. Heath. New York: Hill & Wang.

Briggs, C., & Bauman, R. (1992). Genre, intertextuality, and social power. Journal of Linguistic Anthropology 2.2: 131–172.

Bennett, T. & Woollacott, J. (1986). Bond and Beyond: the political career of a popular hero. London: Methuen.

Brewer, P., Young, D.G. & Morreale, M. (2013). The impact of real news about ‘fake news’: intertextual process and political satire. International Journal of Public Opinion Research, 25 (3), 323 -343.

Caplan, R. (2012). Shaken or Stirred: the feminism of James Bond. Bloomington IN: XLibris.

Deming, R. H. (1986). Theorizing television: Text, textuality, intertextuality. Journal of communication Inquiry, 10(3), 32-44.

Druick, Z. (2009). Dialogic Absurdity TV News Parody as a Critique of Genre. Television & New Media, 10(3), 294-308.

Fiske, J. (1988). Television Culture. London: Methuen.

Hall, S. (1973). Encoding and Decoding in the television discourse. Discussion Paper. University of Birmingham, Birmingham.

Hanks, W. F. (1989). Text and textuality. Annual Review of Anthropology, 18, 95–127.

Hardy, J. (2011). Mapping commercial intertextuality; HBO’s True Blood. Convergence: The International Journal of Research into New Media Technologies, 17(1), 7-17.

Kristeva, J. (1980). Desire in language: A semiotic approach to literature and art, European perspectives. Oxford: Blackwell.

Kristeva, J. (1986). Word, dialogue and the novel. In T.Moi (Ed.). The Kristeva reader. (pp. 35- 61). New York: Columbia University Press.

Sangren, P.S. (1988). Rhetoric and the Authority of Ethnography: "Postmodernism" and the Social Reproduction of Texts. Current Anthropology, 29(3), 405-435.

Storey, J. (Ed.). (2006). Cultural theory and popular culture: A reader. University of Georgia Press.

Van Zoonen, L. (2017). Intertextuality. In Rössler, P, Hoffner, C. and L. van Zoonen. (Eds.), International Encyclopedia of Media Effects. Wiley-Blackwell. DOI: 10.1002/978111878376


หัวเรื่องอิสระ: ตัวบท, ภาษา, สื่อ, เรื่องแต่ง, ข้อเขียน