คำศัพท์

Ethnography in Space of Violence

หนึ่งในพื้นฐานการศึกษาวิจัยทางมานุษยวิทยาคือการเก็บข้อมูลหรือวิจัยภาคสนาม (Fieldwork/ field research) ซึ่งเป็นวิธีการที่นักมานุษยวิทยาใช้เรียนรู้วิถีชีวิต การปฏิบัติ และความคิดความเชื่อของมนุษย์ในสังคมที่แตกต่างหลากหลาย โดยการทำงานภาคสนามนั้นนักมานุษยวิทยามักจะใช้การสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วม (Participant-Observation) หรือการฝังตัว (Immersion) ด้วยการเข้าไปคลุกคลีอยู่อาศัยกับคนในสังคมนั้น ๆ เป็นเวลานานในสภาพที่เป็นจริง โดยที่ข้อมูลจากการทำงานภาคสนามจะถูกนำมาเขียนเรียบเรียงหรือที่เรียกว่างาน “ชาติพันธุ์วรรณา” (Ethnography) ทั้งนี้ การทำงานภาคสนามถือเป็นวิธีการศึกษาที่ต้องอาศัยทักษะและประสบการณ์เป็นอย่างมาก และโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ในบางครั้งนักมานุษยวิทยาก็อาจจะพบว่าในสนามที่ตนศึกษาวิจัยอยู่นั้นอาจเป็นพื้นที่ที่มีประเด็นของความขัดแย้งหรือความรุนแรงเกิดขึ้นอยู่เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้ง/รุนแรงภายในกลุ่มหรือระหว่างกลุ่ม ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการทำงานใน ‘สนามของความขัดแย้ง/รุนแรง หรือ สนามที่อันตราย’ อันเป็นสนามที่นักมานุษยวิทยาต้องเผชิญกับความยากลำบากและข้อท้าทายต่าง ๆ ทั้งในแง่ของระเบียบวิธีวิจัยหรือทฤษฎี จริยธรรมการวิจัยหรือเชิงศีลธรรม และในแง่ของความรับผิดชอบหรือบทบาทของนักมานุษยวิทยาในสนามของความขัดแย้ง/รุนแรง (ชยันต์, 2001; Barcott et al., 2008)

แม้ในช่วงทศวรรษ 1850-1920 นักมานุษยวิทยาจะยังไม่ได้ศึกษาสงคราม (warfare) หรือความรุนแรงในฐานะศูนย์กลางของประเด็นความสนใจอย่างตรงไปตรงมา ทว่าก็มักจะพบการกล่าวถึงความขัดแย้งและความรุนแรงในสังคมโดยเป็นส่วนหนึ่งในงานชาติพันธุ์วรรณาของแต่ละสังคมอยู่บ้างเช่นกัน กระทั่งต่อมาในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นักมานุษยวิทยาก็ได้มีการทำงานภาคสนามและให้ความสนใจประเด็นต่อ ‘ความอาฆาตบาดหมางและการเป็นศัตรูกันระหว่างพี่น้องและเครือญาติ’ (Feuding) รวมทั้งสงครามและความรุนแรงอื่น ๆ มากยิ่งขึ้น ทั้งการศึกษาในเชิงทฤษฎีทางมานุษยวิทยาและทฤษฎีของความรุนแรง รวมทั้งการศึกษาในเชิงชาติพันธุ์วรรณาของความรุนแรง ซึ่งมักจะเป็นการอธิบายมุมมองของความรุนแรงในฐานะที่เป็นหน้าที่ (function) หนึ่งในสังคม โดยเฉพาะสังคมชนเผ่าที่จะมีวิธีจัดการหรือแก้ไขปัญหาความขัดแย้งภายในกลุ่มและระหว่างกลุ่ม ซึ่งแนวทางนี้เป็นแนวทางที่ได้รับอิทธิพลมาจากทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่นิยม (structural-functional theory) รวมทั้งยังอยู่ภายใต้อิทธิพลของวัฒนธรรมสัมพัทธ์ (cultural relativism) กระทั่งในช่วงปลายทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา จึงเป็นช่วงที่งานศึกษาวิจัยความรุนแรงได้ดำเนินไปในหลายทิศทางมากขึ้น ทั้งในแง่การทำความเข้าใจที่มาและความร้ายแรงของสงคราม สงครามชาติพันธุ์และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ สนามการประท้วงต่อต้านในที่ต่าง ๆ รวมทั้งการศึกษาสังคมที่มีสันติภาพ โดยในช่วงนี้การศึกษาความรุนแรงในสาขามานุษยวิทยาได้มีการเปลี่ยนไปจากการมุ่งสนใจพลวัตทางโครงสร้างและสัญญะของความรุนแรง ไปสู่ความสนใจต่อมิติเชิงปฏิบัติการทางสังคมและประวัติศาสตร์มากขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นช่วงที่นักมานุษยวิทยา เช่น George E. Marcus, Nancy Scheper-Hughes, Ruth Behar ได้เสนอว่านักมานุษยวิทยาที่ทำงานในสนามของความขัดแย้ง/รุนแรง ควรทำหน้าที่เป็น ‘พยาน’ (witnessing) ของการใช้ความรุนแรง และงานชาติพันธุ์วรรณาของความรุนแรงควรมีฐานะเป็น ‘คำให้การ’ ที่ทำให้คนในสังคมได้รับรู้ถึงความโหดร้ายและความทุกข์ยากจากความรุนแรงที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามการทำงานภาคสนามของนักมานุษยวิทยาในพื้นที่อันตราย รวมทั้งบทบาทต่าง ๆ ที่นักมานุษยวิทยาพึงกระทำ ก็ถือเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงในแง่ของระเบียบวิธีและจริยธรรมของการวิจัยมาโดยตลอด โดยเฉพาะในประเด็นของการผลิตซ้ำความเป็นเหยื่อและผู้กระทำความรุนแรง ซึ่งในความจริงแล้วมันอาจมีความซับซ้อนกว่าที่นักวิจัยสังเกตเห็นหรืออธิบายไว้ หรือในประเด็นของข้อเถียงเถียงต่อความรับผิดชอบที่นักมานุษยวิทยาพึงมีต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่าง ๆ ความสำคัญกับการปกป้องสวัสดิภาพทางกาย สังคม และจิตใจของผู้มีส่วนร่วมในงานวิจัย รวมทั้งประเด็นของการเคารพในสิทธิ ผลประโยชน์ ความอ่อนไหว และความเป็นส่วนตัว รวมถึงประเด็นการบีบบังคับ การตบตา (deception) และการปิดบังซ่อนเร้นรายละเอียดเกี่ยวกับงานวิจัยของต่อคนที่ศึกษา (จักรพันธ์, 2018; Kovats-Bernat, 2002; Otterbein, 1999; Varshney, 2007; Levine, 1961; Robben, 2016; Sanford & Angel-Ajani, 2006; Marcus, 1992; Scheper-Hughes, 1995; Behar, 1996; Avruch, 2001)

ทั้งนี้ ในปีค.ศ. 1995 ก็ได้มีหนังสือเล่มสำคัญเรื่อง fieldwork under fire ซึ่งเป็นการรวบรวมบทความวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณาและเชิงทฤษฎีจากการทำงานภาคสนามในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยอันตรายถึงตายหลายรูปแบบจากนักวิชาการ ได้แก่ Ted Swedenburg, Anna Simons, Frank N. Pieke, Antonius C.G.M. Robben, Linda Green, Carolyn Nordstrom, Cathy Winkler, Maria B. Olujic, Joseba Zulaika, Allen Feldman, Myrna Mack, Elizabeth Oglesby, Beatriz Manz และ Jeffrey A. Sluka โดยมี Antonius C. G. M. Robben และ Carolyn Nordstrom (1995) เป็นบรรณาธิการและได้เขียนบทนำของหนังสือดังกล่าวชื่อ The Anthropology and Ethnography of violence and Sociopolitical Conflict ที่เสนอว่า ในสนามของความรุนแรง นักมานุษยวิทยาสามารถแสดงให้เห็นถึงประสบการณ์ในชีวิตประจำวันทั้งของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อและผู้กระทำความรุนแรง ซึ่งทั้งสองฝ่ายก็อาจจะหว่านล้อมให้นักมานุษยวิทยาคล้อยตามด้วยเช่นกัน นักมานุษยวิทยาควรเสนอประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างคนทำงานภาคสนามกับคนในพื้นที่ความรุนแรงในมุมมองเชิงวิพากษ์ด้วยเช่นกัน อีกทั้งเขาได้เน้นย้ำว่าการทำงานภาคสนามในพื้นที่ที่มีความรุนแรงนั้นนักวิจัยต้องมีความรับผิดชอบที่ยิ่งไปกว่าการศึกษาชาติพันธุ์วรรณาแบบดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นความรับผิดชอบต่อความปลอดภัยของคนที่ทำงานภาคสนาม ความรับผิดชอบต่อความปลอดภัยของผู้ให้ข้อมูลและรับผิดชอบต่อการใช้ทฤษฎีที่ช่วยสร้างทัศนคติที่มีต่อความความรุนแรงอันเป็นจริง และงานชิ้นนี้ยังช่วยให้ผู้ที่ทำงานชาติพันธุ์วรรณาในสนามของความรุนแรงได้ตระหนักต่อปัญหาในสนามรูปแบบดังกล่าวและสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงานภาคสนามได้ ตลอดจนขจัดความวิตกกังวลที่จะเกิดขึ้นในการทำงานภาคสนามที่มีความรุนแรง

Dennis Rodgers (2001) หนึ่งในนักมานุษยวิทยาที่ไม่ได้ตั้งใจจะศึกษาความรุนแรงตั้งแต่แรกเริ่ม ทว่าเมื่อเขาได้ทำงานภาคสนามในเขตชุมชนเมืองของนิการากัวตั้งแต่ปี ค.ศ. 1996 ก็เป็นเหตุให้เขาต้องคลุกคลีอยู่กับความรุนแรง โดยเขาได้ศึกษาความรุนแรงจากแง่มุมของกลุ่มอาชญากรที่เป็นเยาวชน หรือ pandilla ด้วยการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มในฐานะผู้สังเกตการณ์ เขาเสนอว่ามันจำเป็นที่เราจะต้องพิจารณาทุกด้านทุกแง่มุมของความรุนแรง ไม่เพียงแต่ด้านของเหยื่อ แต่รวมถึงด้านของผู้กระทำความรุนแรง หากต้องการบรรลุความเข้าใจอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับการปฏิบัติที่รุนแรงและมุมมองที่แตกต่าง ในสนามของความรุนแรงนั้นนักมานุษยวิทยาก็ไม่ได้เป็นข้อยกเว้นของการใช้ความรุนแรง และเขาก็มองว่าการฝังตัวและมีส่วนร่วมกับกลุ่มของผู้ใช้ความรุนแรงนั้นย่อมปฏิเสธไม่ได้ที่ต้องเผชิญกับคำถามในเชิงจริยธรรมและความรับผิดชอบในแง่มุมต่าง ๆ

ขณะเดียวกัน J. Christopher Kovats-Bernat (2002) นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกันที่เคยศึกษาเด็กข้างถนนในเมืองปอโตแปร็งส์ ประเทศเฮติ ก็เสนอว่า ในสนามที่อันตรายนั้น การ “ปรับ” หรือ “เปลี่ยน” วิธีการทำงานภาคสนามเกิดขึ้นได้เกือบตลอดเวลา เพื่อจะเอาชีวิตรอดกลับมาให้ได้พร้อม ๆ กับต้องได้ข้อมูลภาคสนามติดมือกลับมาด้วย นักมานุษยวิทยาต้องประเมินความเสี่ยงเพื่อแลกกับข้อมูลที่จะได้มาอยู่ตลอดเวลา โดยต้องหาความสมดุลของข้อมูลที่มีความสำคัญต่อการศึกษา ด้วยการพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วว่าข้อมูลนั้นมีค่ามากเพียงใด ในการที่อาจจะต้องแลกมากับความเสี่ยงในการเสียชีวิตหรือถูกจับกุม ซึ่งเป็นประเด็นที่ไม่ค่อยได้มีการกล่าวถึงโดยทั่วไปในชั้นเรียนทางมานุษยวิทยาในขณะนั้นมากนัก นักชาติพันธุ์วรรณาที่ทำงานในพื้นที่อันตรายต้องเผชิญกับความท้าทายในการคิดค้นกลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อรักษาตัวรอดและต้องรับผิดชอบต่อประเด็นความปลอดภัยของผู้ให้ข้อมูล พร้อม ๆ ไปกับความพยายามในการทำความเข้าใจและอธิบายความสัมพันธ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งรุนแรง นอกจากนี้ เขามองว่าไม่เห็นผิดอะไรที่นักมานุษยวิทยาจะมีการแสดงออกเชิงวาระทางการเมือง ตราบใดที่พวกเขาทำหน้าที่เป็นนักเคลื่อนไหวในนามปัจเจก (individual activists) ทั้งนี้ เขามองว่าทั้งหลักจริยธรรม (Code of Ethics) และหลักแห่งความรับผิดชอบในเชิงวิชาชีพ (Principles of Professional Responsibility) ของ American Anthropological Association นั้นยังคงมีความไร้เดียงสาหรือไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะชี้นำการทำงานภาคสนามภายใต้เงื่อนไขที่เขาต้องพบเจอ โดยเขาเสนอว่านักมานุษวิทยาอาจจะปรับใช้จริยธรรมของท้องถิ่นนั้น ๆ หากมันช่วยลดความเสี่ยงของเราในการทำงานพื้นที่ แม้ว่ามันอาจจะขัดแย้งกับจริยธรรมของมานุษยวิทยาแบบดั้งเดิม

อีกทั้งในหนังสือเรื่อง Engaged Observer: Anthropology, Advocacy, and Activism (2006) ซึ่งรวบรวมบทความวิจัยภาคสนามจากสังคมต่าง ๆ ที่โดยภาพรวมกล่าวถึงข้อถกเถียงเมื่อนักวิจัยต้องเผชิญกับสนามที่มีความขัดแย้งทางสังคมหรือบรรยากาศของความรุนแรงอันเกิดจากความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันและการดิ้นรนเพื่อแสวงหาความยุติธรรมในสังคม โดยที่นักวิชาการหลายคนได้เสนอภาพสะท้อนตนเองภายใต้บทบาทของมานุษยวิทยาผ่านงานเชิงชาติพันธุ์วรรณาของการเอาชีวิตรอด (ethnographies of survival) ที่เกิดจาการวิจัยหรือสังเกตแบบมีส่วนร่วม (engaged observation) ในชีวิตประจำวันของผู้ที่รอดชีวิตจากสงคราม จากการถูกยึดครอง การกีดกัน การทำให้เป็นชายขอบ การพลัดถิ่น รวมทั้งการสังหารหมู่ในสังคมต่าง ๆ เช่น แอฟริกา อิตาลี เชียปัส กัวเตมาลา เวียดนาม โคลอมเบีย ปาเลสไตน์ เอลซัลวาดอร์ พม่า ฝรั่งเศส กัมพูชา และสหรัฐอเมริกา และโดยภาพรวมหนังสือเล่มนี้ยังช่วยให้นักมานุษยวิทยาได้ทบทวนเป้าหมายและออกแบบวิธีการวิจัยที่เหมาะสมกับบริบทในสนามที่เต็มไปด้วยความรุนแรง (Sanford & Angel-Ajani, 2006)

John M. Janzen (2016) ซึ่งเป็นนักมานุษยวิทยาที่ทำงานภาคสนามในพื้นที่แอฟริกากลางและแอฟริกาใต้ที่เป็นสนามของความรุนแรงมายาวนาน ทั้งความขัดแย้งระหว่างประเทศและความขัดแย้งภายในระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ เขาได้เสนอว่า มานุษยวิทยาเป็นสาขาวิชาที่สามารถนำเสนอถึงการปฏิบัติและความเข้าใจเชิงทฤษฎีต่อสนามที่มีประเด็นของความรุนแรง มีความเจ็บช้ำ มีความทรงจำ มีการดูแลรักษาเยียวยา และประเด็นความยุติธรรมทางสังคม โดยที่งานชาติพันธุ์วรรณาในสนามความรุนแรงจะช่วยอธิบายบริบทของการนำไปสู่ความรุนแรง สาเหตุและผลลัพธ์ของความขัดแย้งและความรุนแรง โดยมักจะมีเรื่องเล่าหรือการบอกเล่าของผู้ถูกกระทำหรือผู้ที่มีประสบการณ์ต่อความรุนแรง (สิ่งที่พวกเขาต้องการสื่อสารกับชาวโลก) รวมถึงเรื่องเล่าของผู้ใช้ความรุนแรงที่มีการให้เหตุผลกับการกระทำของพวกเขา และเรื่องเล่าของผู้ที่ช่วยเหลือผู้อื่น ทั้งนี้ แม้เรื่องเล่าจะถือเป็นศูนย์กลางของชาติพันธุ์วรรณาของความรุนแรง แต่ก็ต้องตระหนักอยู่เสมอว่ามันอาจจะมีความขัดแย้งกันในเรื่องเล่าและการให้ความหมายต่อปรากฏการณ์ที่ไม่ตรงกัน และในสนามดังกล่าวยังมีความท้าทายอีกประการคือ การทำความเข้าใจต่อการเล่าเรื่องของบุคคลที่เป็นทั้งผู้กระทำความผิดและเป็นเหยื่อของความรุนแรง หรือเรื่องเล่าของบุคคลที่ฆ่าผู้อื่นเพื่อรักษาชีวิตตนเอง ขณะที่ Kathryn Coe, Craig T. Palmer และ Khadijah elShabazz (2013) ซึ่งได้ทำงานภาคสนามในแอฟริกา โดยมีการศึกษาความขัดแย้งในระดับรากหญ้าของสังคม การประนีประนอมและการสานความสัมพันธ์ทางสังคมหลังเกิดความขัดแย้งในหมู่ชาวแอฟริกันก่อนยุคอาณานิคม และได้เสนอว่า งานชาติพันธุ์วรรณาที่นำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับอัตลักษณ์และวัฒนธรรมนั้นมีความสำคัญต่อการแก้ไขข้อขัดแย้งในบางพื้นที่ของโลก

อีกทั้ง Sergio Eduardo Visacovsky (2017) นักมานุษยวิทยาชาวอาเจนตินาร์ ที่ได้ศึกษาสนามของความขัดแย้งรุนแรงในละตินอเมริกา ก็ได้เสนอว่า นักมานุษยวิทยาที่งานภาคสนามด้านชาติพันธุ์วรรณาในแต่ละพื้นที่ถือเป็นผู้ที่สามารถนำเสนอข้อมูลสำคัญในการหาวิธีที่กลุ่มทางสังคมได้พยายามรับมือกับสถานการณ์วิกฤติในชีวิตประจำวันโดยการใช้กลยุทธ์ รูปแบบความร่วมมือ หรือการดำเนินการทางการเมืองที่แตกต่างกันไป มานุษยวิทยายังสามารถทำการศึกษาเกี่ยวกับวิธีที่ผู้คนมีประสบการณ์เกี่ยวกับเวลาและให้ความหมายรวมทั้งสร้างภาพที่เป็นไปได้ของอนาคตในสถานการณ์วิกฤต อีกทั้ง งานภาคสนามและมุมมองทางชาติพันธุ์วรรณายังช่วยให้เราเข้าใจว่าผู้คนตอบสนองและพัฒนาการตอบโต้เชิงปฏิบัติการโดยใช้ความเชื่อของพวกเขาอย่างไร พวกเขาเรียนรู้มันอย่างไร ทั้งนี้การศึกษาชาติพันธุ์วรรณายังสามารถเปิดเผยแง่มุมที่ซ่อนเร้นของชีวิตทางเศรษฐกิจ (hidden aspects of economic life) ที่นักเศรษฐศาสตร์อาจจะไม่สามารถเข้าถึงได้

นอกจากนี้ Brenda Fitzpatrick (2020) ก็ได้เขียนบทความเรื่อง anthropology and conflict transformation promises and dilemmas of worldview translation ที่เป็นการศึกษาภาคสนามในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งในกรณีการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำในเขตตะวันออกเฉียงเหนือของ British Columbia ประเทศแคนาดา โดยเขาได้ระบุว่ามันเป็นการประยุกต์แนวทางการศึกษาของมานุษยวิทยาและสันติศึกษา (Peace and Conflict Studies -PACS) และเขาก็ได้ใช้แนวทางชาติพันธุ์วรรณาของความขัดแย้ง (an ethnography of the conflict) ในการลงภาคสนามเพื่อรับฟังอย่างตั้งใจต่อมุมมองต่าง ๆ ของทั้งผู้ที่สนับสนุนการสร้างเขื่อนและผู้ที่ต่อต้าน ซึ่งเรียกว่าเป็นวิธีการศึกษาแบบ Double- or multi-sided ethnography เพื่อให้ได้ข้อมูลและประเด็นเชิงลึกที่อาจจะถูกซ่อนไว้ ทั้งนี้ เขามีความเชื่อที่ว่างานชาติพันธุ์วรรณาของความขัดแย้งจะช่วยเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับความขัดแย้งและนำไปสู่การแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้โดยมีนักชาติพันธุ์วรรณาเป็นตัวประสาน อย่างไรก็ตามเขาก็เน้นย้ำถึงความท้าทายและความยากลำบากของการทำงานภาคสนามบนความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นความยากในการเก็บข้อมูลและการสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วม รวมทั้งการวางตัวหรือจุดยืนของผู้วิจัยเอง

ขณะเดียวกัน Jana Krause (2021) ก็ได้เสนอว่า งานศึกษาวิจัยในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นในสาขารัฐศาสตร์ การวิจัยความขัดแย้ง การวิจัยสันติภาพนั้นบ่งชี้ว่าวิธีวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณาได้ฟื้นคืน (resurgence) หรือเป็นที่นิยมในสาขาวิชาต่าง ๆ ซึ่งมีความสนใจและทำงานในสนามที่มีความขัดแย้งและความรุนแรง โดยนักวิจัยด้านสันติภาพและชาติพันธุ์วรรณาเชื่อว่าการวิเคราะห์และการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางอาวุธต้องเกิดจากการอธิบายโดยผู้ที่ผ่านสถานการณ์นั้นมาว่าความขัดแย้งเกิดขึ้นได้อย่างไร ทว่าประเด็นของจริยธรรมในการทำงานภาคสนามในพื้นที่ขัดแย้งรุนแรงก็ยังคงเป็นเรื่องที่ท้าทายและกลืนไม่เข้าคายไม่ออก โดยเขาเสนอว่าแม้นักวิจัยจะมีทักษะ มีความยืดหยุ่น มีการเตรียมความพร้อมอย่างดี แต่การฝังตัวเป็นเวลานานอย่างลึกซึ้ง (long and deep immersion) ในสนามที่อันตรายอาจไม่ใช่แนวทางที่มีจริยธรรมการวิจัยที่ดีที่สุดเสมอไปในความขัดแย้งร่วมสมัย ทั้งนี้ เราควรประเมินสถานการณ์และอาจเลือกใช้การฝังตัวแบบจำกัดและไม่สม่ำเสมอ (limited and uneven immersion) หรือแนวทางชาติพันธ์วรรณาที่ยืดหยุ่น (flexible ethnographic approach) มากขึ้น ซึ่งอาจเรียกว่าเป็นลักษณะการทำงานภาคสนามแบบ 'หยุดแล้วไป' (stop-and-go nature of fieldwork) อีกทั้งต้องประเมินผลกระทบทางอารมณ์ในการทำงานภาคสนามที่อันตรายของทั้งผู้วิจัยและผู้ให้ข้อมูล และจัดการกับผลกระทบจากอารมณ์ความรู้สึกเหล่านั้นด้วยเช่นกัน


ผู้เขียน: สัมพันธ์ วารี

เอกสารอ้างอิง:

จักรพันธ์ ขัดชุ่มแสง. (2018). มานุษยวิทยากับจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์. วารสารมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์, 35(2). 1-48.

ชยันต์ วรรธนะภูติ. (2001). การวิจัยทางมานุษยวิทยา: ทัศนะทางทฤษฎี วิธีการวิจัยและการสะท้อนความจริง. วารสารวิธีวิทยาการวิจัย, 14(3), 231-257.

Avruch, K. (2001). Notes toward Ethnographies of Conflict and Violence. Journal of Contemporary Ethnography, 30(5). 637-648.

Barcot, .R., Peacock, J., González, R. J., Al-Ali, N. & McNamara, L. A. (2008). Anthropology in Conflict: An Exchange. Survival, 50(3), 127-162.

Behar, R. (1996). The Vulnerable Observer: Anthropology that Breaks Your Heart. Boston. MA: Beacon Press.

Coe, K., Palmer, K.C., & ElShabazz, K.C. (2013). The Resolution of Conflict: Traditional African Ancestors, Kinship, and Rituals of Reconciliation. African Conflict & Peacebuilding Review, 3. 110 - 128.

Fitzpatrick, B. (2020). Anthropology and Conflict Transformation Promises and Dilemmas of Worldview Translation. In Willow, A.J., & Yotebieng, K.A. (Eds.), Anthropology and Activism: New Contexts, New Conversations (pp. 160-174). London: Routledge.

Janzen J. M. (2016). The anthropology of violence: Context, consequences, conflict resolution, healing, and peace-building in Central and Southern Africa. Journal of public health policy, 37(1), 122–132.

Kovats-Bernat, J. C. (2002). Negotiating Dangerous Fields: Pragmatic Strategies for Fieldwork Amid Violence and Terror. American Anthropologist, 104(1), 208–222.

Krause, J. (2021). The ethics of ethnographic methods in conflict zones. Journal of Peace Research, 58(3), 329–341.

Levine, R. A. (1961). Anthropology and the study of conflict: an introduction. Journal of Conflict Resolution, 5(1), 3–15.

Marcus, G. E. (Ed.). (1992). Rereading Cultural Anthropology. Duke University Press.

Nordstrom, C., & Robben, A. C. G. M. (Eds.). (1995). Fieldwork under fire: Contemporary studies of violence and survival. Berkeley: University of California Press.

Otterbein, K. F. (1999). A History of Research on Warfare in Anthropology. American Anthropologist, 101. 794-805.

Robben, A. C. G. M. (2016). Rethinking the Anthropology of Violence for the Twenty-First Century, Conflict and Society, 2(1), 1-3.

Rodgers, D. (2001). Making Danger a Calling: Anthropology, Violence, and the Dilemmas of Participant Observation. LSE-DESTIN Crisis States Programme working paper no. 6. London: Crisis States Programme.

Sanford, V., & Angel-Ajani, A. (Eds.). (2006). Engaged observer: Anthropology, advocacy, and activism. New Brunswick, N.J: Rutgers University Press.

Scheper-Hughes, N. (1995). The Primacy of the Ethical: Propositions for a Militant Anthropology. Current Anthropology, 36(3). 408–420.

Varshney, A. (2007). Ethnicity and Ethnic Conflict. In Boix, C. and Stokes, S. (eds.), Oxford Handbook of Comparative Politics (pp. 274-294), Oxford: Oxford University Press.

Visacovsky, S. E. (2017). When Time Freezes: Socio-Anthropological Research on Social Crises. Iberoamericana. Nordic Journal of Latin American and Caribbean Studies, 46(1), 6–16.


หัวเรื่องอิสระ: ชาติพันธุ์นิพนธ์, อันตราย, ความรุนแรง, ความขัดแย้ง