คำศัพท์

Built Environment

        การศึกษารูปแบบทางสถาปัตยกรรมและการปรับสภาพแวดล้อมของมนุษย์ ในทางมานุษยวิทยามีเป้าหมายเพื่อทำความเข้าใจระบบความคิด ความเชื่อ ความหมาย ที่มนุษย์มีต่อสิ่งปลูกสร้างในสภาพแวดล้อมต่างๆ เช่น การสร้างที่อยู่อาศัยที่มีการแยกบิเวณส่วนของหญิงชาย พื้นที่ส่วนส่วนตัวกับสาธารณะ พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์กับพื้นที่กิจวัตรประจำวัน เป็นต้น ออตโต้ บอลล์นาว (1963) กล่าวว่าวัฒนธรรมเกี่ยวข้องกับการใช้พื้นที่ของมนุษย์ หรือพื้นที่ทางกายภาพที่มนุษย์ดัดแปลงเป็นที่อยู่อาศัยคือการสร้างความหมายให้กับสภาพแวดล้อม

          การศึกษาเรื่องการดัดแปลงสภาพแวดล้อมของมนุษย์ เป็นการศึกษาว่าสภาพแวดล้อม และสถาปัตยกรรมของมนุษย์มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมอย่างไร และพฤติกรรมของมนุษย์มีผลต่อรูปแบบสถาปัตยกรรมและสภาพแวดล้อมอย่างไร   เป้าหมายของการศึกษาพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม คือการนิยามรูปแบบความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อม และเปรียบเทียบรูปแบบนี้ในวัฒนธรรมต่างๆ เพื่อดูว่ามนุษย์มีการใช้พื้นที่เหมือนและต่างกันอย่างไรบ้างการศึกษาของนักมานุษยวิทยา ชื่อ เอ็ดเวิร์ด ที ฮอลล์ (1966) เรื่องความคล้ายคลึงกัน  ฮอลล์อธิบายว่าสิ่งปลูกสร้างในวัฒนธรรมต่างๆเกิดขึ้นมารองรับกิจกรรมของมนุษย์  สิ่งปลูกสร้างจึงเป็นผลมาจากการทำกิจกรรม การใช้พื้นที่จึงถูกกำหนดอย่างตายตัวว่าพื้นที่ไหนจะใช้ทำอะไร 

          นักมานุษยวิทยาคนสำคัญที่ศึกษาการปรับสภาพแวดล้อมของมนุษย์ แรพโพพอร์ต ซึ่งเขียนหนังสือ The Meaning of the Built Environment(1990)  แรพโพพอร์ตอธิบายว่า  วัฒนธรรมคือปัจจัยสำคัญในการอธิบายความเหมือนและความแตกต่างสำหรับการสร้างสิ่งปลูกสร้างในแต่ละพื้นที่   แรพโพพอร์ตพยายามสืบหาว่าสิ่งปลูกสร้างของมนุษย์เป็นการสื่อสารชนิดหนึ่ง  ตัวอย่างเช่น อาคารสถานที่เป็นที่เก็บสะสมความทรงจำ  สิ่งปลูกสร้างอาจช่วยการมนุษย์ปรับตัวทางสังคมและวัฒนธรรม ช่วยบ่งบอกอำนาจและสถานะทางสังคมของบุคคล ช่วยในการติดต่อสื่อสารในเชิงสัญลักษณ์ ที่สัมพันธ์กับบุคคล สังคม และวัฒนธรรม

          การศึกษาของเจมส์ เอส ดันแคน (1982) อธิบายว่ากระบวนการเปลี่ยนไปสู่ความทันสมัยเปรียบเสมือนแหล่งกำเนิดของการเปลี่ยนวิธีการสื่อสารโดยอาศัยสิ่งปลูกสร้างเป็นสื่อ  ดันแคนชี้ให้เห็นว่าอัตลักษณ์ของกลุ่ม สามารถแสดงออกผ่านอาคารบ้านเรือนซึ่ง รูปแบบทางสถาปัตยกรรมจะแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ เช่นสิ่งปลูกสร้างในสังคมชนเผ่า  ดันแคนกล่าวว่าการสื่อสารเชิงสัญลักษณ์จะค่อยๆหดหายไปเมื่อความทันสมัยเข้ามาแทนที่ เนื่องจากสังคมให้ความสำคัญกับปัจเจกบุคคลแทนชุมชน  สิ่งปลูกสร้างสมัยใหม่จะให้ความสำคัญกับฐานะส่วนตัว  ดันแคนได้แยกประเภทสิ่งปลูกสร้างออกเป็นสองลักษณะ คือ สิ่งปลูกสร้างที่แสดงออกในเชิงความหมายและสัญลักษณ์  กับสิ่งปลูกสร้างที่บ่งบอกสถานะส่วนบุคคล  ประเด็นดังกล่าวนี้เป็นสิ่งสำคัญในการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบสถาปัตยกรรมในวัฒนธรรมต่างๆ

          ดันแคนเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมมีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงทางวัตถุที่ใช้ก่อสร้างอาคารบ้านเรือน     ริชาร์ด อี แบลนตัน(1994) ศึกษาบ้านและที่อยู่อาศัยของชาวนา และพบว่าการสื่อสารเชิงสัญลักษณ์เกี่ยวกับฐานะทางเศรษฐกิจบนสิ่งปลูกสร้างมีความหลากหลายในระดับที่ต่างกัน   แบลนตันเชื่อว่าสิ่งที่จะช่วยให้เข้าใจความหมายของสิ่งปลูกสร้างที่เป็นของส่วนรวมและส่วนตัวก็คือการเงื่อนไขของการปรับเปลี่ยนไปสู่ความทันสมัย

          นักออกแบบและสถาปนิกจำนวนมากต่างสนใจเรื่องการพัฒนามาตรฐานของการสร้างอาคารบ้านเรือน โดยเฉพาะในประเทศที่ด้อยพัฒนา  การศึกษาของแรพโพพอร์ตเป็นการนำความรู้จากศาสตร์ต่างๆมาผสมกัน ทั้งมานุษยวิทยา ภูมิศาสตร์ และคติชนวิทยาเพื่อที่จะอธิบายความแตกต่างหลากหลายของรูปแบบสถาปัตยกรรมท้องถิ่นในดินแดนต่างๆ  การศึกษาของแรพโพพอร์ตมักจะอธิบายให้เห็นลักษณะอาคารบ้านเรือนที่ออกแบบเป็นเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่นนั้นๆ ทั้งนี้ก็เพื่อทำให้เข้าใจเป้าหมายของการออกแบบที่เป็นการใช้สิ่งปลูกสร้างเพื่อสื่อสารความหมายบางอย่างในวัฒนธรรมนั้น ดังนั้นการศึกษาในแนวนี้จำเป็นต้องอาศัยวิธีการเก็บข้อมูลในพื้นที่อย่างเข้มข้น  แต่การศึกษาดังกล่าวนี้เกิดขึ้นโดยนักวิชาการตะวันตกที่ต้องการเก็บข้อมูลรูปแบบทางสถาปัตยกรรมในแต่ละวัฒนธรรมเป็นสำคัญ

          ความแตกต่างหลากหลายในรูปแบบสถาปัตยกรรมในวัฒนธรรมต่างๆมีอยู่มากมาย รูปแบบที่ต่างกันนั้นขึ้นอยู่กับลักษณะทางสังคมซึ่งเป็นสิ่งที่นักมานุษยวิทยาให้ความสนใจมาตั้งแต่แรก เช่นการศึกษาของ ลิวอิส เฮนรี มอร์แกน เรื่อง Houses and House-Life of American Aborigines (1881)   หลังจากการศึกษาของมอร์แกนเป็นต้นมา นักมานุษยวิทยาก็เริ่มศึกษาปัจจัยต่างๆที่สัมพันธ์กับสิ่งปลูกสร้างของมนุษย์โดยการเปรียบเทียบความเหมือนและความต่างทางสังคมวัฒนธรรมและชีวิตความเป็นอยู๋ในครัวเรือนที่มีผลต่อรูปแบบสถาปัตย์ เช่น ขนาดของครัวเรือน และความสัมพันธ์ระหว่างหญิงชาย

          แต่การอธิบายลักษณะครัวเรือนโดยดูจากตัวอาคารและสิ่งก่อสร้างอาจมีปัญหา สิ่งที่ทำได้ก็คือการอธิบายลักษณะการอยู่อาศัยที่เกิดขึ้นในสิ่งปลูกสร้างนั้น  รูปแบบของอาคารอาจทำให้เข้าใจการใช้พื้นที่ของชุมชนและครัวเรือนในแต่ละวัฒนธรรม   นอกจากนักมานุษยวิทยาแล้วยังมีนักโบราณคดีที่สนใจเรื่องสิ่งปลูกสร้างของมนุษย์ในอดีต  นักโบราณคดีศึกษาหน้าที่และการใช้งานของสิ่งปลูกสร้างที่สัมพันธ์กับครัวเรือนและชุมชน เช่น การตรวจวัดขนาดและความหนาแน่นของประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ของสิ่งปลูกสร้าง ลักษณะการใช้พื้นที่ในแบบต่างๆ  การแบ่งพื้นที่ในบ้านที่สัมพันธ์กับระบบเครือญาติ  การแสดงออกทางฐานะทางเศรษฐกิจที่ปรากฏอยู่ในสิ่งปลูกสร้าง เป็นต้น  นักโบราณคดีที่สนใจศึกษาในประเด็นเหล่านี้ เช่น แครอล เครเมอร์(1982)

          นักมานุษยวิทยาเชื่อว่าสภาพแวดล้อมคือปัจจัยสำคัญในการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์  ในปัจจุบันนี้การศึกษาตีความระบบสัญลักษณ์คือประเด็นหลักที่นักมานุษยวิทยาใช้ศึกษาสถาปัตยกรรมและสิ่งปลูกสร้างของมนุษย์    มานูเอล คาสเทลส์(1983) กล่าวว่าลักษณะการตั้งถิ่นฐานแบบเมืองเป็นผลมาจากผู้นำในการปกครอง ซึ่งพยายามพัฒนารูปแบบของเมืองตามความพอใจและผลประโยชน์ของตนเอง ซึ่งไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนยากจนที่อาศัยอยู่ในเมืองด้วย  นักวิชาการบางคนเชื่อว่ารูปแบบของสิ่งปลูกสร้างอาจจะมีมากกว่าความหมาย  เช่น อาจมีระบบความเชื่อและความสัมพันธ์ที่มีต่อการกระทำในลักษณะต่างๆ      การศึกษาของซูซาน เบลียร์(1987) ในสังคมของชาวบาทัมมาลิบาในประเทศโตโก้และเบนิน พบว่าบ้านของคนเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ของระบบความคิดเกี่ยวกับจักรวาล  บ้านจึงเป็นพื้นที่สำหรับการแสดงออกเชิงความคิด เป็นพื้นที่ที่เชื่อมโยงความคิดมาสู่การปฏิบัติ  และเป็นพื้นที่ของการสร้างระเบียบต่างๆ

          อาจกล่าวได้ว่าการศึกษาลักษณะสถาปัตยกรรมในมิติมานุษยวิทยามีประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตั้งถิ่นฐานและที่อยู่อาศัย การจัดระเบียบทางสังคม  การสื่อสารเชิงสัญลักษณ์ การตีความระบบความหมาย การแสดงออกทางพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับระบบการเมืองการปกครอง เป็นต้น  การศึกษาสถาปัตยกรรมในทางมานุษยวิทยาจึงเป็นการทำความเข้าใจสังคม วัฒนธรรม และพฤติกรรมไปพร้อมๆกัน


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

David Levinson, Melvin Ember (eds.) 1996. Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York.  Pp.81-83.

Denise L. Lawrence and Setha M. Low. 1990. The Built Environment and Spatial Form. Annual Review of Anthropology, Vol. 19: 453-505.

H. James Birx (ed.) 2006. “Architectural Anthropology” in  Encyclopedia of Anthropology. London: Sage Publication.


หัวเรื่องอิสระ: การปรับสภาพแวดล้อมโดยมนุษย์