คำศัพท์

Following Method

ปรากฏการณ์ทางสังคมในปัจจุบันเป็นสิ่งที่ทวีความสลับซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ ยกตัวอย่างเช่นการแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 ตั้งแต่ช่วงปลายปี ค.ศ.2019 ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง จนปัจจุบันโรคอุบัติใหม่ชนิดนี้คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 5 ล้านคน และมีจำนวนผู้ติดเชื้อประมาณ 270 ล้านคนทั่วโลก (WHO Coronavirus (COVID-19) Dashboard, 2021) อย่างไรก็ดี โรคโควิด-19 ไม่ได้เป็นเพียงปัญหาทางการแพทย์และสาธารณสุขที่แก้ไขได้ด้วยการคิดค้นวัคซีนหรือยารักษาเท่านั้น หากพิจารณาด้วยมุมมองทางสังคมศาสตร์จะพบว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของปรากฏการณ์ทางสังคมในโลกร่วมสมัยอย่างน้อย 3 ประการ ได้แก่ 1.การเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ กล่าวคือ มนุษย์ เชื้อโรค ปฏิบัติการทางการแพทย์ และนโยบายต่าง ๆ เป็นสิ่งที่เคลื่อนไหวไปมาข้ามพรมแดนทั้งในระดับโลก ระดับชาติ และระดับท้องถิ่น 2.การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างสปีชีส์ กล่าวคือ การระบาดของโรคทำให้มนุษย์ต้องหันกลับมาทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่น เมื่อสิ่งมีชีวิตที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็นอย่างไวรัสสามารถทำให้กิจกรรมและการทำงานของสถาบันทางสังคมต่าง ๆ ต้องหยุดชะงักและปรับเปลี่ยน นี่จึงเป็นช่วงเวลาที่วิธีคิดที่ยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง (anthropocentrism) ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น และ 3.การเปลี่ยนแปลงพรมแดนความรู้ กล่าวคือ การระบาดของโรคสะท้อนความเชื่อมโยงกันระหว่างความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ไวรัสวิทยา เภสัชศาสตร์ นิเวศวิทยา รวมถึงสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ดังนั้น การแสวงหาความรู้เพื่อทำความเข้าใจและแก้ไขปัญหาจึงจำเป็นต้องมีลักษณะข้ามพรมแดนความรู้ระหว่างวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ และอาศัยการทำงานร่วมกันของผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขาวิชา

ไม่เพียงแต่การระบาดของโรคโควิด-19 แต่อาจกล่าวได้ว่าปรากฏการณ์ทางสังคมส่วนใหญ่ในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงไปใน 3 ลักษณะข้างต้น ทั้งในแง่ที่เป็นปรากฏการณ์ที่ทับซ้อนกันของพื้นที่หลายระดับ มีความเกี่ยวพันกับมนุษย์และสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ (nonhumans) และต้องการความรู้และวิธีแก้ปัญหาจากหลายศาสตร์ ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้สร้างความท้าทายให้การทำงานวิจัยทางมานุษยวิทยาเช่นกัน โดยเฉพาะการพยายามทบทวนและทดลองหาวิธีวิทยาหรือวิธีวิจัยที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง หนึ่งในวิธีการดังกล่าวเรียกว่า “วิธีวิทยาแบบติดตาม” (following method) ที่นักมานุษยวิทยาการแพทย์ในโครงการวิจัยการใช้ยาต้านจุลชีพในสังคม (Anti-Microbials in Society, AMIS) นำมาใช้ศึกษาปรากฏการณ์เชื้อดื้อยา (โกมาตร และ ลือชัย, 2564)

วิธีวิทยาแบบติดตามไม่ใช่สิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นจากสุญญากาศ แต่เป็นความพยายามที่จะกำหนดนิยามและสร้างคำศัพท์เฉพาะที่เน้นให้เห็นวิธีคิดและวิธีทำงานภาคสนามที่ให้ความสำคัญกับการติดตามวัตถุของการศึกษา ซึ่งได้รับอิทธิพลจากกลุ่มแนวคิดและทฤษฎีทางมานุษยวิทยาที่ได้รับความสนใจมากขึ้นเมื่อเข้าสู่ ค.ศ.2000 อาทิ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษา (science and technology studies) ทฤษฎีเครือข่าย-ผู้กระทำ (actor-network theory) และหลากสายพันธุ์นิพนธ์ (multispecies ethnography) อย่างไรก็ดี แม้ว่างานศึกษาในกลุ่มแนวคิดเหล่านี้เริ่มแพร่หลาย แต่แง่มุมเชิงวิธีวิทยายังไม่ถูกขับเน้นให้เห็นมากนัก โดยเฉพาะการเสนอให้เห็นว่ามานุษยวิทยาเป็น “ศาสตร์แห่งการติดตาม” (following sciences) ที่สนใจสภาวะการดำรงที่ไม่ตายตัวและการเคลื่อนไหวไปมา ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับศาสตร์แห่งการผลิตซ้ำ (reproductive sciences) ที่มุ่งค้นหาแบบแผนหรือข้อค้นพบที่เป็นกฎทั่วไป (law-like regularities) (Jensen, 2012)

วิธีวิทยาแบบติดตามเริ่มต้นจากการตั้งคำถามถึงการดำรงอยู่ที่ข้ามพ้นไปจากการแบ่งคู่ตรงข้ามหลักของสังคมสมัยใหม่ นั่นคือ การแบ่งแยกระหว่างธรรมชาติและวัฒนธรรม ซึ่งทำให้เห็นว่ามนุษย์ไม่ได้ดำรงอยู่ในโลกทางวัฒนธรรม ส่วนสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์อยู่ในโลกธรรมชาติอย่างแยกขาดจากกัน แต่ทั้งมนุษย์และสิ่งอื่นเชื่อมต่อกันในลักษณะเครือข่ายที่สิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ พืช สัตว์ หรือแม้สิ่งของ สามารถเป็นผู้กระทำ (actor) ที่การกระทำของพวกเขา/พวกมันสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงและส่งผลต่อการดำรงอยู่ของสิ่งอื่น (Law & Mol, 2008) ดังนั้น ต่อคำถามที่ว่า “ติดตามอะไร ?” จะเห็นว่าวัตถุของการติดตามในที่นี้คือผู้กระทำการต่าง ๆ ทั้งมนุษย์และสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ อย่างไรก็ดี ประเด็นสำคัญของการติดตามไม่ได้อยู่ที่ “ใครเป็นผู้กระทำอะไร” แต่เป็นคำถามที่ว่า “อะไรกำลังเกิดขึ้น” นั่นหมายความว่าสิ่งที่ถูกติดตามในที่นี้คือการปฏิบัติ (practice) ซึ่งผู้กระทำการทำจริง ๆ ในโลกภาคปฏิบัติและในชีวิตประจำวัน และการกระทำที่เกิดขึ้นส่งผลต่อการดำรงอยู่ของสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในข่ายใยของการปฏิบัติ (webs of practice) (Law, 2017) เช่น การติดตามการระบาดของไวรัสในพื้นที่และเวลาแตกต่างกัน ย่อมทำให้เห็นว่าไวรัสส่งผลต่อชีวิตมนุษย์และวัตถุในพื้นที่และเวลานั้นแตกต่างกัน และในทางกลับกัน ตัวไวรัสเองก็ถูกจัดการและดำรงอยู่ในลักษณะที่แตกต่างกันออกไป เช่น ในชุมชน ในโรงพยาบาลสนาม หรือในห้องปฏิบัติการ

เมื่อวัตถุของการติดตามคือข่ายใยของการปฏิบัติ คำถามสำคัญที่ตามมาคือ “ติดตามอย่างไร ?” ในที่นี้ นักมานุษยวิทยายังคงยึดวิธีการทำงานชาติพันธุ์นิพนธ์ที่ให้ความสำคัญกับการทำงานภาคสนามที่เข้มข้น และการหันมาสนใจการปฏิบัติของผู้กระทำการต่าง ๆ ทำให้นักมานุษยวิทยาต้องเข้าไป “อยู่ที่นั่น” โดยไม่ได้สนใจเฉพาะความเป็นผู้กระทำการของมนุษย์เท่านั้น แต่ยังต้องสนใจสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์อีกด้วย การติดตามข่ายใยของการปฏิบัติในชีวิตประจำวันจึงมีความหมายมากกว่าแค่เพียงการเดินตาม สังเกตและบรรยายว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ต้องกลับมาทบทวนและทดลองวิธีการติดตามที่จะเผยให้เห็นลักษณะเฉพาะที่ผู้กระทำต่าง ๆ ร่วมกันสร้างขึ้น (Jensen, 2012: 3-4) ดังนั้น ในการสังเกตอย่างมีส่วนร่วม (participant observation) นักมานุษยวิทยาต้องใช้ผัสสะอื่นร่วมกับการใช้ดวงตา เพราะโลกของการปฏิบัตินั้นมีความซับซ้อน วัตถุต่าง ๆ สามารถกลายเป็นทั้งสิ่งที่มองเห็นได้ (visible) ได้ยินได้ (audible) จับต้องได้ (tangible) หรือรับรู้ได้ (knowable) (Mol, 2002) เป้าหมายของการทำงานภาคสนามในที่นี้จึงเป็นการเก็บข้อมูลโลกภาคปฏิบัติที่ผู้คนใช้ชีวิตอยู่อย่างมีเลือดเนื้อ และฉวยคว้าสภาวะที่สิ่ง ต่าง ๆ ปรากฏขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง

เพื่อให้เข้าใจวิธีวิทยาแบบติดตามได้ชัดเจนขึ้น ผู้เขียนจะเปรียบเทียบความเหมือนและความต่างระหว่างวิธีวิทยาแบบติดตามกับวิธีการทำงานชาติพันธุ์นิพนธ์ที่มีอยู่เดิม ได้แก่ การทำงานชาติพันธุ์นิพนธ์แบบขนบและการทำงานชาติพันธ์หลายสนาม (multi-sited ethnography) สำหรับการทำงานชาติพันธุ์นิพนธ์แบบแรกเป็นวิธีการที่มีโบรนิสลาฟ มาลินอฟสกี (Bronislaw Malinowski) นักมานุษยวิทยาผู้บุกเบิกการทำงานภาคสนามตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1930 เป็นต้นแบบ การทำงานชาติพันธุ์นิพนธ์แบบขนบจะให้ความสำคัญกับการสังเกตอย่างมีส่วนร่วมผ่านการใช้ชีวิตร่วมกับกลุ่มชนพื้นเมือง ฝังตัวในพื้นที่ศึกษาหนึ่งอย่างยาวนาน และตัวนักมานุษยวิทยายังต้องฝึกฝนและใช้ภาษาของชนพื้นเมืองอย่างชำนาญ โดยมีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การทำความเข้าใจมุมมองของคนใน

วิธีวิทยาแบบติดตามยังคงรักษาเป้าหมายในการทำความเข้าใจมุมมองของคนใน แต่ก็มีลักษณะแตกต่างจากเดิม ได้แก่ วิธีวิทยาแบบติดตามไม่ได้ให้ความสนใจมนุษย์ในฐานะองค์ประธานหรือผู้กระทำการเพียงหนึ่งเดียว ขณะที่การทำงานชาติพันธุ์นิพนธ์แบบขนบมักจัดวางให้มนุษย์เป็นศูนย์กลางและเป็นสิ่งมีชีวิตเพียงหนึ่งเดียวที่ใช้ชีวิตอยู่ในโลกทางวัฒนธรรม และมองสนามเป็นพื้นที่เดี่ยว (single site) ของมนุษย์ซึ่งบรรจุชุดวัฒนธรรม ความเชื่อ แบบแผน และความสัมพันธ์ทางสังคมไว้ พื้นที่ดังกล่าวมีขอบเขตที่ชัดเจน สามารถนำมาเปรียบเทียบกันเพื่อสร้างความรู้ที่มีลักษณะทั่วไปและเป็นสากล (Falzon, 2009) แต่วิธีวิทยาแบบติดตามมองว่าพื้นที่ในการศึกษาไม่มีขอบเขตที่แน่นอนตายตัวและเคลื่อนไหวไปมา พื้นที่เกิดขึ้นผ่านการถักทอกันเป็นเครือข่ายของสรรพสิ่งที่แตกต่างกันและเกิดขึ้นผ่านการปฏิบัติที่มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งแตกต่างกับเป้าหมายของการทำงานชาติพันธุ์นิพนธ์ตามขนบที่มุ่งค้นหาแบบแผนหรือกฎเกณฑ์ทั่วไป

ส่วนงานชาติพันธุ์นิพนธ์หลายสนามเป็นอีกหนึ่งแนวทางการทำงานวิจัยทางมานุษยวิทยาที่เกิดขึ้นในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1980 ซึ่งเป็นช่วงเวลาของกระแสวิพากษ์การสร้างภาพตัวแทน (representation) ที่แข็งทื่อตายตัว โดยการเสนอว่าภาพแทนกลุ่มชน โดยเฉพาะชนพื้นเมืองที่สร้างโดยกลวิธีการประพันธ์ในงานเขียนชาติพันธุ์นิพนธ์แบบขนบนั้นเป็นความจริงเพียงส่วนเสี้ยว นับแต่นั้นนักมานุษยวิทยาจึงหันมาทำงานที่ท้าทายมากขึ้น หนึ่งในกระแสที่เกิดขึ้นคือการทำงานภาคสนามที่สนใจการเชื่อมโยงตัดข้ามพื้นที่ทางวัฒนธรรม ไม่จำกัดตัวเองอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว งานชาติพันธุ์นิพนธ์หลายสนามเสนอว่าการมองพื้นที่ศึกษาเป็นพื้นที่เดี่ยวนั้นไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในโลกโลกาภิวัฒน์ที่มีแรงผลักระดับโลกตัดข้ามพื้นที่ ทำให้เกิดการติดตามการเคลื่อนย้ายของผู้คน สิ่งของ รวมถึงสิ่งอื่น ๆ จนทำให้พื้นที่ในการศึกษาถูกเพิ่มเข้ามามากกว่าหนึ่งพื้นที่ (Marcus, 1995, 1998)

อย่างไรก็ดี แม้การทำงานชาติพันธุ์หลายสนามและวิธีวิทยาแบบติดตามจะมองพื้นที่ระดับท้องถิ่นที่มีความเชื่อมโยงกันและมีมากกว่าหนึ่ง รวมถึงหันมาให้ความสนใจกับชีวิตของผู้คนและสิ่งของในสังคมสมัยใหม่ แต่หนึ่งในจุดต่างสำคัญคือการมองพื้นที่ ขณะที่งานชาติพันธุ์นิพนธ์หลายสนามสนใจการเชื่อมโยงกันระหว่างพื้นที่ย่อยต่าง ๆ แต่พื้นที่เหล่านั้นก็ยังตั้งอยู่บนระบบโลก (world system) ที่เป็นพื้นที่ระดับโลกที่ไร้รอยต่อและเป็นหนึ่งเดียว (Cook, Laidlaw, & Mair, 2009) ทำให้การติดตามเกิดขึ้นผ่านการมองพื้นที่ที่ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้า (a given space) หรือมีสมมติฐานว่ามีสนามดำรงอยู่ก่อน (a pre-existing field) (Falzon, 2009) เช่น การติดตามห่วงโซ่อุปทาน หรือกรอบพรมแดนที่ถูกกำหนดภายใต้ความเป็นรัฐชาติ ซึ่งอาจทำให้มองไม่เห็นความเป็นไปได้แบบอื่น ๆ ในการจินตนาการถึงพื้นที่

แม้ว่าพื้นที่ที่เกิดขึ้นผ่านวิธีวิทยาแบบติดตามจะมีมากกว่าหนึ่ง แต่จุดต่างสำคัญคือพื้นที่ดังกล่าวไม่ได้เป็นสิ่งที่ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าหรือดำรงอยู่ก่อน ในทางกลับกันพื้นที่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากปฏิบัติการของผู้กระทำการ และสามารถเปลี่ยนแปลงไปได้เมื่อมีการเข้าออกของผู้กระทำการที่ทำให้เกิดชุดของการปฏิบัติที่เปลี่ยนแปลงไป มุมมองเชิงพื้นที่ในวิธีวิทยาแบบติดตามมีลักษณะเป็นโทโพโลยี (Topology) ซึ่งเป็นการจินตนาการถึงรูปร่างของพื้นที่ในเชิงเครือข่ายที่ยืดหยุ่นและสามารถเปลี่ยนรูปไปมา พื้นที่ไม่ได้มีความแข็งตัวหรือคงตัวอยู่ในรูปแบบที่จัดวางไว้ตามทฤษฎี (Law & Mol, 2001) ดังนั้น การติดตามอาจเกิดขึ้นในสถานที่เดียวแต่เป็นการเคลื่อนผ่านหลายพื้นที่ เช่น การศึกษาความจริงว่าด้วยโรคหลอดเลือดแดงแข็งในโรงพยาบาลเพียงแห่งเดียว แต่ติดตามการเคลื่อนที่ระหว่างพื้นที่ต่าง ๆ ภายในโรงพยาบาล ตั้งแต่ห้องคลินิกผู้ป่วยห้อง ห้องตรวจชิ้นเนื้อ หรือห้องเอกซเรย์ (Mol, 2002)

วิธีวิทยาแบบติดตามเป็นความพยายามขับเน้นลักษณะเฉพาะที่เด่นชัดในเชิงวิธีวิทยาที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของปรากฏการณ์ทางสังคม และเป็นการชักชวนให้นักมานุษยวิทยาสร้างสรรค์วิธีการทำงานภาคสนามที่ไม่ใช้ทฤษฎีหรือวิธีวิจัยที่แข็งทื่อ แต่การติดตามจะค่อย ๆ สร้างวิธีการทำงานขึ้นมาพร้อมกับเผยให้เห็นลักษณะเฉพาะของปรากฏการณ์ วิธีการนี้สามารถสร้างความเป็นไปได้และขยายขอบเขตของการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคมในมุมมองที่สดใหม่ โดยเฉพาะการแสดงให้เห็นการเชื่อมต่อและความลื่นไหลระหว่างผู้กระทำการ ความรู้ และพื้นที่ที่มีมากกว่าหนึ่ง ที่สำคัญ วิธีวิทยาแบบติดตามนั้นเป็นสิ่งที่มีลักษณะเป็นปลายเปิดและพร้อมที่จะกลายเป็นสิ่งใหม่อยู่เสมอ

อย่างไรก็ดี การทำงานโดยใช้วิธีวิทยาแบบติดตามก็ยังคงเผชิญข้อจำกัดซึ่งอาจมองว่าเป็นความท้าทายสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ ประการแรก นักมานุษยวิทยาอาจต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจและสร้างความคุ้นเคยกับความรู้และวิธีการทางวิทยาศาสตร์ และยังต้องเผชิญกับช่องว่างของความเข้าใจและความคาดหวังเมื่อต้องทำงานวิจัยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากต่างสาขาวิชา ประการที่สอง การถอยห่างจากมุมมองที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง และหันไปสนใจสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ไม่ใช่เรื่องง่าย เช่น ธรรมชาติของเชื้อวัณโรคที่มีระยะติดเชื้อแต่ไม่ปรากฏอาการยาวนานอาจทำให้การติดตามทำได้ยากและไม่เป็นอย่างที่คาดไว้ ประการสุดท้าย เมื่อขอบเขตของพื้นที่ในการศึกษาไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจน และการติดตามวัตถุไม่มีทิศทางที่ตายตัว ทำให้นักมานุษยวิทยาต้องมีความยืดหยุ่นในการทำงานภาคสนามสูง นอกจากนี้ พื้นที่ในการติดตามอาจเป็นการสืบเสาะเข้าไปยังพื้นที่สีเทา หรือพื้นที่ที่เต็มไปด้วยการทำงานของอำนาจ เช่น พื้นที่การทำงานของผู้เชี่ยวชาญ หรือพื้นที่ที่ถูกสงวนไว้เป็นความลับทางการค้า ซึ่งถือเป็นการศึกษาสิ่งที่อยู่ข้างบน (studying up) (Nader, 1972) ที่มีอำนาจในการขัดขวางการเข้าถึงของคนนอก นักมานุษยวิทยาจึงจำเป็นต้องทำงานเคลื่อนไปมาทั้งพื้นที่ที่ลึกและตื้นภายใต้บริบทการทำงานชาติพันธุ์นิพนธ์ในโลกที่เปลี่ยนแปลงไป


ผู้เขียน: ชัชชล อัจนากิตติ

เอกสารอ้างอิง:

โกมาตร จึึงเสถีียรทรัพย์ และ ลืือชัย ศรีีเงิินยวง (บก.). 2564. เชื้อดื้อยา : มานุษยวิิทยาของยาต้านจุลชีพ. กรุุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

Cook, J., Laidlaw, J., & Mair, J. 2009. What if There is No Elephant? Towards a Conception of an Un-sited Field. In M. Falzon (Ed.), Multi-sited Ethnography: Theory, Praxis and Locality in Contemporary Research, (pp. 47-72). Great Britain: Ashgate Publishing.

Falzon, M. 2009.Introduction: Multi-sited Ethnography: Theory, Praxis and Locality in Contemporary Research. In M. Falzon (Ed.), Multi-sited Ethnography: Theory, Praxis and Locality in Contemporary Research, (pp. 1-24). Great Britain: Ashgate Publishing.

Jensen, C. B. 2012. Anthropology as a Following Science. Natureculture, 1(1), 1-24.

Law, J. 2017. STS as Method. In Felk, U., Fouche, R., Miller, C.A., Smith-Doerr, L. (Eds.), The Handbook of Science and Technology Studies (pp. 31-57). Cambridge: The MIT Press.

Law, J., & Mol, A. 2001.Situating technoscience: an inquiry into spatialities. Environment and Planning D: Society and Space, 19, 609-621.

Law, J., & Mol, A. 2008. The actor-enacted: Cumbrian sheep in 2001. In Knappett C., Malafouris L. (Eds.), Material agency (pp. 57-77). Boston: Springer.

Marcus, G. E. 1995. Ethnography in/of the world system: The emergence of multi-sited ethnography. Annual Review of Anthropology, 24(1), 95-117.

Marcus, G. E. 1998. Ethnography through thick and thin. Princeton: Princeton University Press.

Mol, A. 2002. The body multiple: Ontology in medical practice. USA: Duke University Press.

Nader, L. (1972). Up the Anthropologist: perspectives gained from studying up. In D. Hymes (Ed.), Reinventing Anthropology. New York: Pantheon Books. WHO Coronavirus (COVID-19 Dashboard. 2021. Overview. https://covid19.who.int/


หัวเรื่องอิสระ: มานุษยวิทยา, วิธีวิทยา, การติดตามวัตถุที่ศึกษา, ผู้กระทำการ