คำศัพท์

Anthropology of Secularism

รากฐานของ Secularism

โลกิยนิยม (Secularism) หมายถึงการให้คุณค่าชีวิตที่ดำรงอยู่ในกิจกรรมทางสังคมที่จับต้องและสัมผัสได้เชิงประจักษ์ บางครั้งตอบโต้กับความเชื่อทางศาสนาที่สอนให้เชื่อในอำนาจของพระเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ความสงสัยและความหมดศรัทธาต่อพระเจ้าและคำสอนทางศาสนาคือเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้เกิดการโต้แย้งเกี่ยวกับคุณค่าของมนุษย์ นำไปสู่การตื่นตัวของระบบเหตุผลและการใช้สติปัญญาเพื่อหาทางออกใหม่ๆที่ต่างไปจากกฎทางศาสนา โดยเฉพาะชนชั้นปัญญาชนตะวันตกที่วิจารณ์ความเชื่อทางคริสต์ศาสนาที่สอนให้คนหลงอยู่กับพระเจ้า (Royle, 1995) แนวคิดโลกิยนิยมจึงปรากฏเป็นส่วนหนึ่งในยุค Age of Enlightenment ผู้ที่วิพากษ์ศาสนาคริสต์และการมีอยู่ของพระเยซู คือนักศาสนวิทยาชาวเยอรมัน David Friedrich Strauss ซึ่งเขียนหนังสือเรื่อง The Life of Jesus (1835) โดยชี้ว่าเรื่องราวมหัศจรรย์ในคัมภีร์ไบเบิลไม่มีจริง เรื่องปาฏิหาริย์และอภินิหารต่างๆของพระเยซูล้วนเป็นเพียงตำนานที่แต่งขึ้น มิใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ทำให้พระเยซูสูญสิ้นความเป็นเทพเจ้าที่ยิ่งใหญ่ ข้อวิจารณ์นี้สั่นคลอนต่อศรัทธาของชาวคริสต์และชาวยิวในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นอย่างมาก

นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส Auguste Comte เขียนหนังสือหลายตอนจบชุด Course of Positive Philosophy นำเสนอกระบวนทัศน์ในการวิเคราะห์สังคมเชิงปฏิฐานนิยม (Positivism) โดยชี้ให้เห็นว่ากฎทางสังคมมีความชัดเจนและพิสูจน์ได้เช่นเดียวกับกฎธรรมชาติ เขาเสนอว่าวิวัฒนาการทางสังคมเริ่มจากยุคที่มนุษย์งมงายในศาสนา (Theological Stage) ต่อมาพัฒนาไปสู่ยุคของอภิปรัชญา (Metaphysical or Abstract Stage) และยุคที่เจริญด้วยการใช้เหตุผลเชิงประจักษ์แบบวิทยาศาสตร์ (Positive stage) ในยุคที่มีการปฏิวัติความรู้วิทยาศาสตร์ ทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยาได้กลายเป็นพรมแดนของความจริงแบบใหม่ที่ท้าทายความเชื่อเกี่ยวกับวิญญาณและอำนาจเหนือธรรมชาติ ความรู้วิทยาศาสตร์แบบตะวันตกมีอิทธิพลต่อการศึกษาสังคมและนำไปสู่การค้นหากฎเกณฑ์ ระเบียบแบบแผน และโครงสร้างที่หล่อหลอมให้สังคมดำรงอยู่ได้ โดยเฉพาะวิชาสังคมวิทยาที่ใช้วิธีการแบบวิทยาศาสตร์มาวิเคราะห์สังคมด้วยสถิติ ในความคิดของ Comte สังคมที่ยังคงเชื่อในพลังวิเศษของพระเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คือสังคมยุคบรรพกาลที่ยังไม่รู้จักคิดอย่างเป็นเหตุผล (rational thought) (Lenzer, 1998)

ในทัศนะของ Comte มนุษย์สามารถเข้าถึงความจริงได้ด้วยการสังเกตและค้นหากฎเกณฑ์ที่ตายตัวในธรรมชาติ การสังเกตเชิงวัตถุและกายภาพเปรียบเสมือนเป็นการสะท้อนสภาวะตึงเครียด (reflection of the tension) ที่ดำรงอยู่ในสังคม ยิ่งมนุษย์มีทักษะในการสังเกตสิ่งต่างๆได้มากเท่าใด ก็ยิ่งทำให้มนุษย์มีความสามารถในการคิดแยกแยะเหตุผลได้มากเท่านั้น ในแง่นี้ มนุษย์จึงต้องพัฒนาและฝึกฝนให้ตนเองมีความสามารถในการคิดและการสังเกตสิ่งต่างๆ ยิ่งคิดมนุษย์ก็ยิ่งมีปัญญาและสามารถเข้าถึงความจริงในโลกธรรมชาติได้มากขึ้น ในการศึกษาสังคม Comte เชื่อว่าเป้าหมายสำคัญคือการสังเกตและค้นหากฎเกณฑ์ที่จะสร้างความเข้มแข็งและเอกภาพให้กับสังคม เครื่องมือที่จะช่วยให้ค้นหากฎเกณฑ์ทางสังคมก็คือการเก็บข้อมูลเชิงสถิติ (social statistics) และการศึกษากฎแห่งการเปลี่ยนแปลงทางสังคม (social dynamics) ทั้งสองส่วนนี้คือหัวใจสำคัญของสังคมวิทยาซึ่ง Comte เสนอว่าเป็นส่วนประกอบที่จะทำให้สังคมพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น

ในช่วงปี ค.ศ.1830-1833 นักภูมิศาสตร์ชาวสก๊อตต์ Charles Lyell เขียนหนังสือที่สำคัญมากคือ Principles of Geology ถือเป็นการเสนอทฤษฎีกำเนิดโลกและกฎทางธรณีวิทยาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของโลก คำอธิบายของ Lyell ได้ล้มล้างทฤษฎีมหาวิบัติ (catastrophism) ที่เคยมีอิทธิพลต่อการทำความเข้าใจการดำรงอยู่และการเปลี่ยนแปลงของโลกซึ่งเป็นฐานคิดในเชิงศาสนา โดยมองว่าโลกต้องเผชิญกับหายนะทางธรรมชาติหลายครั้งจนทำให้เกิดความรุนแรงและความเสียหายส่งผลต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์และสายพันธุ์ต่างๆ เช่น น้ำท่วมโลกที่บัญญัติไว้ในคัมภีร์ทางศาสนา แต่ Lyell ได้เสนอแนวคิดเอกรูปนิยม (uniformitarianism) ในการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งบ่งชี้ว่ากระบวนการทางธรรมชาติค่อยๆเปลี่ยนแปลงไปทีละน้อยอย่างต่อเนื่องจนส่งผลให้ภูมิประเทศและธรณีสัณฐานเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น คลื่น ลม อุณหภูมิ และสภาพอากาศ (Bowler & Morus, 2005) Lyell อธิบายว่าสภาพภูมิประเทศของโลกที่ปรากฎเห็นในปัจจุบันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาในอดีตที่มีร่องรอยให้เห็นและพิสูจน์ได้จากชั้นดินในยุคต่างๆ ซึ่งเรียกสิ่งนี้ว่ากระบวนการทางธรณีวิทยา (geological processes)

Lyell ยังเสนอว่าลักษณะทางธรณีวิทยาของโลกมีวิวัฒนาการเป็นลำดับขั้น ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศน์ โดยมีกฎเกณฑ์ที่สำคัญ 3 ประการ คือ (1) กฎการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์ (geologic change) ที่สภาพพื้นดิน อากาศ และองค์ประกอบทางธรณีวิทยาค่อยๆเปลี่ยนไปทีละน้อย (2) กฎของพลังงาน (the forces) ที่เกิดขึ้นจากส่วนประกอบของโลกไม่ว่าจะเป็นพลังลม ความร้อน ภูมิเขาไฟระเบิด แผ่นดินไหว แรงคลื่น กระแสน้ำ เป็นต้น (3) กฎแห่งวัฎจักรทางอากาศ (celestial cycles) หมายถึงการโคจรของโลกในฐานะเป็นวัตถุในอวกาศ กฎทั้งสามข้อนี้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาและเป็นแนวคิดที่มีอิทธิพลต่อนักวิทยาศาสตร์หลายคน เช่น Charles Darwin คำอธิบายเกี่ยวกับธรณีวิทยาของ Lyell ถือเป็นการสร้างความรู้เกี่ยวกับโลกที่ต่างไปจากคำอธิบายทางศาสนา โดยชี้ว่าเหตุการณ์ทางธรณีวิทยามิได้เกิดจากคำสาปหรือการลงโทษของพระเจ้า

หนังสือของ Charles Darwin เรื่อง On the Origin of Species (1859) และ The Descent of Man, and Selection in Relation to Sex (1871) ถือเป็นหนังสือที่มีอิทธิพลอีกเล่มหนึ่งที่เสนอทฤษฎีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตที่ปรากฎอยู่บนโลก โดยอธิบายว่าสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตมีวิวัฒนาการและปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมทำให้ยีนส์และโครโมโซมมีการเปลี่ยนไปเพื่อทำให้สายพันธุ์สิ่งมีชีวิตแข็งแรงและอยู่รอดได้ ซึ่งเป็นรากฐานของทฤษฎีการคัดเลือกตามธรรมชาติ (natural selection) ความคิดของ Darwin ทำให้เกิดข้อแย้งในหมู่นักวิชาการและนักบวชในคริสต์ศาสนาเนื่องจากเป็นความคิดที่ล้มล้างความเชื่อเดิมที่ว่าเผ่าพันธุ์มนุษย์มีเอกภาพและแตกต่างจากสัตว์ชนิดอื่น โดยไม่เชื่อว่าบรรพบุรุษของมนุษย์จะมีการสืบเชื้อสายและวิวัฒนาการร่วมกับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น แต่หลังจากหนังสือของ Darwin ได้รับการตีพิมพ์ นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากก็ยอมรับทฤษฎีวิวัฒนาการซึ่งมีอิทธิพลต่อการศึกษาทางวิทยาศาสตร์และสังคมในช่วงทศวรรษ 1880-1930 (Bowler, 1996, 2003 ; Mayr, 1982)

ชนชั้นกลางและชนชั้นแรงงานกับโลกกิยนิยม

ในวัฒนธรรมวิคตอเรียนในประเทศอังกฤษช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 แนวคิดทฤษฎีวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการก่อกำเนิดโลกและวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตมีอิทธิพลต่อสังคมของชนชั้นกลางซึ่งต้องการปฏิรูปการเมืองและการเรียกร้องสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ การปฏิวัติอุตสาหกรรมและการขยายตัวของชนชั้นแรงงาน ทำให้คริสตจักรไม่ได้รับความศรัทธาจากกรรมกรและแรงงานที่ยากจน (Levine, 2008) เนื่องจากศาสนาคริสต์ถูกมองเป็นระบอบการกดขี่และเป็นมรดกของโลกเก่าและระบบเจ้าขุนมูลนายที่เต็มไปด้วยการฉ้อฉลและเอารัดเอาเปรียบ ชนชั้นแรงงานจึงหันไปให้ความสนใจต่อเรื่องราวทางโลกรวมทั้งพยายามออกมาเคลื่อนไหวต่อสู้กับระบบอภิสิทธิ์ของชนชั้นสูง การรวมตัวของชนชั้นแรงงานในยุคอุตสาหกรรมนำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมแบบใหม่ที่ละทิ้งจารีตประเพณีแบบเดิม หันไปสู่วิธีปฏิบัติที่ท้าทายกฎระเบียบเดิมๆ โดยเฉพาะการเรียกร้องให้ปฏิรูประบบการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชนชั้นแรงงาน ในแง่นี้ การศึกษาสมัยใหม่จึงเข้ามาแทนที่คำสอนทางศาสนา ซึ่งบ่งชี้ว่าโลกิยนิยมก่อตัวขึ้นจากวิถีชีวิตของแรงงานในสังคมอุตสาหกรรม

Robert Owen นักคิดแนวสังคมนิยมเชิงอุดมคติ (utopian socialism) ทุ่มเทและบุกเบิกการพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งริเริ่มการจัดตั้งชุมชนแบบสังคมนิยม (socialistic communities) ที่สมาชิกทุกคนจะมีส่วนรับผิดชอบเลี้ยงดูบุตรหลานที่เกิดในชุมชน โดยมิได้แบ่งแยกให้ครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งดูแลตามลำพัง (Harvey, 1949) แนวคิดสังคมนิยมเชิงอุดมคติมีเป้าหมายที่จะสร้างสังคมที่คนทุกคนมีความเท่าเทียมกัน ร่วมมือที่จะทำงานเพื่อคนอื่น และมีความคิดเป็นแบบเดียวกัน ซึ่งเป็นแนวคิดที่ชนชั้นแรงงานมีความศรัทธาอย่างมาก เนื่องจากเป็นแนวคิดที่ให้สิทธิและโอกาสทางสังคมโดยไม่เลือกปฏิบัติว่าเป็นชนชั้นใด (Draper, 1990) ในขณะที่ชนชั้นกลางซึ่งยังคงสนใจสิทธิพิเศษทางสังคมและเศรษฐกิจมิได้ชื่นชมแนวสังคมนิยมเชิงอุดมคติ ในทางกลับกันมองว่าแนวคิดนี้คือต้นตอของการเรียกร้องเสรีภาพมากเกินไปและอาจบ่อนทำลายกฎระเบียบและจารีตประเพณีที่สังคมยึดถือ

ในปี ค.ศ.1851 นักหนังสือพิมพ์ชาวอังกฤษ ชื่อ George Jacob Holyoake คือผู้เสนอคำว่า secularism และเขียนหนังสือเรื่อง The principles of secularism ในปี ค.ศ.1870 และ English secularism : a confession of belief ในปี ค.ศ.1896 โดยการนำแนวคิดของ Auguste Comte และ Robert Owen มาสานต่อและสนับสนุนการรวมตัวของชนชั้นแรงงาน (Rectenwald, 2013) ในความคิดของ Holyoake สังคมของมนุษย์ควรจะมีความร่วมมือกันและคนทุกคนควรมีเสรีภาพในการดำเนินชีวิตและการแสดงออกทางความคิด (free thought) โดยเฉพาะเสรีภาพทางความเชื่อและการนับถือศาสนา เช่น การไม่เชื่อในการมีอยู่ของพระเจ้า (Atheism) ด้วยเหตุนี้ทำให้ Holyoake ออกมาตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวและวิพากษ์วิจารณ์คริสต์ศาสนาอย่างรุนแรงและถูกดำเนินคดีในปี ค.ศ.1842 โดยถูกตัดสินให้จำคุกเป็นเวลา 6 เดือน หลังพ้นโทษ Holyoake ยังคงเคลื่อนไหวในการแสวงหาเสรีภาพจากศาสนา โดยตีพิมพ์บทความเผยแพร่ต่อสังคมพร้อมกับคลุกคลีอยู่กับกลุ่มปัญญาชนและนักวิทยาศาสตร์หัวก้าวหน้าที่เชื่อในกฎของธรรมชาติ (Rectenwald, 2013, 2016)

มิติการเมืองของโลกิยนิยม

ในประเทศฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา ยึดในอุดมการณ์สิทธิและเสรีภาพ ซึ่งมีการแยกรัฐออกจากศาสนาจักรอย่างเด็ดขาด โดยส่งเสริมให้รัฐมีบทบาทในการจัดระเบียบสังคมและส่งเสริมการใช้กฎหมายพลเรือนเป็นเครื่องมือในการควบคุมสังคมแทนการใช้กฎระเบียบทางศาสนา การแยกรัฐออกจากศาสนานี้นำไปสู่การเพิ่มอำนาจให้กับนักการเมืองและข้าราชการ การบัญญัติกฎหมายของรัฐ โดยเฉพาะกฎหมายรัฐธรรนูญจึงเป็นกิจกรรมหลักที่รัฐใช้เพื่อควบคุมพลเมือง (Feldman, 2005) กฎหมายจึงเปรียบเสมือนคำสอนและคัมภีร์ของศาสนาแบบใหม่ที่ทำงานผ่านกลไกของรัฐบาลและระบอบปกครองแบบประชาธิปไตย (Jacoby, 2004) การผลักดันให้มีกฎหมายรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการเลือกดำเนินชีวิตโดยไม่นำเอาวิธีคิดทางศาสนามาปิดกั้น เช่น กฎหมายทำแท้ง กฎหมายแต่งงานของคนเพศเดียวกัน กฎหมายอุ้มบุญ กฎหมายปลูกถ่ายอวัยวะ รวมทั้งการสนับสนุนการเรียนเพศศึกษา ประเด็นเหล่านี้จะได้รับการส่งเสริมอย่างชัดเจนในรัฐที่สนับสนุนเรื่องเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออกของปัจเจกบุคคล (Bruce, 2002)

อย่างไรก็ตาม อุดมการณ์โลกิยนิยมที่ต้องการแยกรัฐออกจากศาสนาไม่อาจเกิดขึ้นได้ เนื่องจากในทางปฏิบัติศาสนายังมีบทบาทสำคัญในการควบคุมและจัดระเบียบทางสังคม (Taylor, 2007) ในสังคมปัจจุบัน ความเชื่อทางศาสนามีรูปแบบที่ซับซ้อนและหลากหลายโดยไม่จำเป็นต้องยึดอยู่ในหลักและกฎเกณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ทำให้การปฏิบัติทางศาสนาในชีวิตของคนสามัญเชื่อมโยงเข้ากับการทำกิจกรรมทางโลก การแบ่งแยกว่าอะไรเป็นเรื่องศาสนาและอะไรเป็นเรื่องทางโลกจึงเป็นเพียงอุดมคติ การศึกษาของ Navaro-Yashin (2002) และ Tambar (2009) ชี้ให้เห็นว่าชาวมุสลิมในประเทศตุรกีถูกตีตราด้วยคำว่า “ล้าหลัง” รัฐบาลตุรกีพยายามประดิษฐ์และสร้างความหมายให้ชีวิตพลเมืองด้วยอุดมการณ์ชาตินิยมและโลกิยนิยม ซึ่งเป็นการต่อสู้เชิงการเมืองที่ท้าทายผู้นำทางศาสนา

โลกิยนิยมในมุมมองมานุษยวิทยา

ประเด็นเกี่ยวกับการเติบโตของอำนาจรัฐและการเสื่อมอำนาจของศาสนา Asad (2003) Martin (2005) และ Casanova (1994) ตั้งข้อสังเกตว่าในแต่ละสังคมและเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ การกลายเป็นเรื่องทางโลกไม่จำเป็นต้องมีทิศทางและรูปแบบที่เหมือนกัน แบบแผนความคิดโลกิยนิยมที่พบในสังคมตะวันตกไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในสังคมอื่น รวมทั้งกฎระเบียบและความเชื่อทางศาสนาไม่จำเป็นต้องถูกตัดทิ้งและปิดกั้นไปจากพรมแดนของเหตุผลแบบวิทยาศาสตร์ ความเชื่อทางศาสนาสามารถปรับวิธีการใหม่ๆให้ดำรงอยู่ในกฎเกณฑ์และแบบแผนการดำเนินชีวิตในโลกสามัญ Jacoby (2004) ตั้งข้อสังเกตว่าการเอาเรื่องภาวะสมัยใหม่ไปเป็นภาพแทนของอุดมการณ์โลกิยนิยมอาจเป็นวิธีที่ตื้นเขินเกินไป เพราะการตีความศาสนาสามารถนำเอาหลักคิดแบบวิทยาศาสตร์เข้ามาเสริมเพื่อทำให้พลังศรัทธาทางศาสนาดำเนินต่อไปได้ (Cannell, 2006; Dawkins, 2006; Eagleton, 2009) การศึกษาทางมานุษยวิทยาได้ชี้ให้เห็นว่าปัจจุบัน วิธีปฏิบัติที่เสมือนความศรัทธาทางศาสนาไม่จำเป็นต้องนิยามด้วยคำว่าศาสนาอีกต่อไป แต่สามารถนิยามด้วยแนวคิดทางโลกที่ตอบสนองการใช้ชีวิตของคนกลุ่มต่างๆ เช่น การแก้บน การสะเดาะเคราะห์ การออกเดินทางท่องเที่ยวเพื่อค้นหาความสุขในชีวิต รวมถึงวัฒนธรรมแฟนคลับที่หลงใหลและศรัทธาในนักร้องและนักแสดง เป็นต้น (Heelas, 2008; Pike, 2001)

Casanova (2006) ตั้งข้อสังเกตว่าคำอธิบายเรื่องโลกิยนิยมในวงวิชาการมักจะนำเอาสังคมตะวันตกและการวิพากษ์คริสต์ศาสนามาเป็นบรรทัดฐาน รวมทั้งให้ความสำคัญกับรัฐชาติสมัยใหม่ อุดมการณ์ประชาสังคม (civil society) และการมีส่วนร่วมของประชาชนในฐานะเป็นหมุดหมายแห่งความสำเร็จและเครื่องบ่งชี้ของอุดมการณ์โลกิยนิยม นักวิชาการกระแสหลักมองข้ามแบบแผนสังคมและศาสนาที่เกิดขึ้นในเอเชีย เช่น สังคมจีนและอินเดีย ที่มีบริบทและเงื่อนไขที่ต่างไปจากตะวันตก Asad (2003) ชี้ให้เห็นว่าแนวคิดโลกิยนิยมที่เกิดขึ้นในโลกวิชาการคือระบอบอำนาจชี้นำแบบใหม่ที่พยายามทำให้เรื่องราวทางโลกและวัตถุวิสัยมีความสำคัญเหนือกว่าจิตวิญญาณ ความเชื่อและความศรัทธาต่ออำนาจเหนือธรรมชาติ การชี้นำดังกล่าวนี้มาพร้อมกับการเชิดชูสิทธิเสรีภาพและการเมืองแบบประชาธิปไตยที่สร้างนิยามใหม่ให้กับความเป็นพลเมืองและการมีตัวตนของปัจเจก การศึกษาทางมานุษยวิทยามิได้แยกเรื่องทางโลกออกจากเรื่องทางศาสนา หากแต่พยายามเปิดเผยให้เห็นว่าทั้งสองพรมแดนนี้มิได้ตัดขาดจากกัน แต่มันกำลังตอบโต้กันไปมาภายใต้ระบอบอำนาจที่เคลื่อนตัวไปกับนักการเมือง นายทุน กลุ่มผลประโยชน์และภาคประชาชน (McBrien & Pelkmans, 2008)


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Asad, T. (2003). Formations of the Secular: Christianity, Islam, Modernity. Stanford, CA: Stanford University Press.

Bowler, P. J (1996). Charles Darwin: the man and his influence. Cambridge: Cambridge University Press.

Bowler, P. J. (2003). Evolution: The History of an Idea (3rd ed.), Berkeley, CA: University of California Press.

Bowler, P. J.; Morus, I. R. (2005). Making Modern Science: A Historical Survey. Chicago: University of Chicago Press.

Bruce S. (2002). God is Dead: Secularization in the West. Oxford: Oxford University Press.

Cannell, F. (2010). The Anthropology of Secularism. The Annual Review of Anthropology, 39, 85–100.

Casanova, J. (1994). Public Religions in the Modern World. Chicago: Chicago University Press.

Casanovaม J. (2006). Secularization revisited: a reply to Talal Asad. In Powers of the Secular Modern, ed. D Scott, C Hirschkind, pp. 12–30. Stanford, CA: Stanford University Press.

Comte, A. (1830). The Positive Philosophy of Auguste Comte. Trans. By Harriet Martineau (2000). Kitchener: Batoche Books.

Darwin, C. (1859). On the Origin of Species. London: John Murray.

Darwin, C. (1871). The Descent of Man, and Selection in Relation to Sex. London: John Murray.

Dawkins, R. (2006). The God Delusion. Boston: Houghton and Miffin.

Draper, H. (1990). Karl Marx's Theory of Revolution, Volume IV: Critique of Other Socialisms. New York: Monthly Review Press.

Eagleton, T. (2009). Reason, Faith and Revolution: Reflections on the God Debate. New Haven/London: Yale University Press.

Feldman, N. (2005). Divided by God: America's Church-State Problem--and What We Should Do About It. New York: Farrar, Straus & Giroux.

Galen, L.W. (2016). The Nonreligious: Understanding Secular People and Societies. Oxford: Oxford University Press.

Harvey, R. H. (1949). Robert Owen: Social Idealist. Cambridge, Massachusetts: University of California Press.

Heelas, P. (2008). Spiritualities of Life: New Age Romanticism and Consumptive Capitalism. Malden/Oxford: Blackwell.

Holyoake, G. J. (1870). The principles of secularism. London: Book store; Austin & co.

Holyoake, G.J. (1896). English secularism: a confession of belief. Chicago: Open court Pub. Co.

Jacoby, S. (2004). Freethinkers: a History of American Secularism. New York: Metropolitan Books.

Lenzer, G. (1998). Auguste Comte and Positivism: The Essential Writings. Piscataway, New Jersey: Transaction Publishers.

Levine, G. (2008). Realism, Ethics and Secularism: Essays on Victorian Literature and Science. Cambridge: Cambridge University Press.

Lyell, C. (1830). Principles of Geology: Vol.1. London: John Murray.

Lyell, C. (1832). Principles of Geology: Vol. 2. London: John Murray.

Lyell, C. (1833). Principles of Geology: Vol. 3. London: John Murray. Martin D. (2005). On Secularization: Towards a Revised Theory. Aldershot, UK: Ashgate.

Mayr, E. (1982), The Growth of Biological Thought. Cambridge: Harvard University Press.

McBrien, J., & Pelkmans, M. (2008). Turning Marx on his head: missionaries, “extremists” and archaic secularists in Post-Soviet Krygyzstan. Critical Anthropology, 28, 87–103.

Navaro-Yashin, Y. (2002). Faces of the State: Secularism and Public Life in Turkey. Princeton, NJ: Princeton University Press.

Pike S. 2001. Desert goddesses and apocalyptic art: making sacred space at the Burning Man Festival. In God in the Details: American Religion in Popular Culture, ed. K McCarthy, EM Mazur, pp. 155–76. New York: Routledge.

Rectenwald, M. (2013). Secularism and the cultures of nineteenth-century scientific naturalism. The British Journal for the History of Science, 46 (2), 237–238.

Rectenwald, M. (2016). Nineteenth-Century British Secularism: Science, Religion and Literature. Houndsmills, Basingstoke, Hampshire, UK; New York: Palgrave Macmillan.

Royle, E. (1995). Freethought: The Religion of Irreligion. in Denis G. Paz (ed.), Nineteenth Century English Religious Traditions: Retrospect and Prospect. Westport, CT: Greenwood Press.

Strauss, D. F. (2010). The Life of Jesus, Critically Examined. Trans. By George Eliot. Cambridge: Cambridge University Press.

Tambar, K. (2009). Secular populism and the semiotics of the crowd in Turkey. Public Cult, 21(3), 517–37

Taylor, C. (2007). A Secular Age. Cambridge: Harvard University Press.


หัวเรื่องอิสระ: มานุษยวิทยา, โลกิยนิยม, เหตุผล, ความรู้วิทยาศาสตร์, สังคม