คำศัพท์

Anthropology of Care

มานุษยวิทยาของการใส่ใจดูแล (anthropology of care) เป็นประเด็นศึกษาที่ได้รับความสนใจมากขึ้นนับตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1980-1990 เป็นต้นมา ท่ามกลางกระแสการศึกษาที่เชอร์รี่ ออทเนอร์ (Sherry B. Ortner) นักมานุษยวิทยาอเมริกัน เรียกว่า “มานุษยวิทยาสายหม่น” (dark anthropology) ซึ่งเน้นศึกษาความทุกข์ทนและความยากลำบากของกลุ่มคนด้อยอำนาจที่ตกอยู่ภายใต้การขูดรีดและความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ที่ไม่เพียงทำให้พวกเขาเหล่านั้นเผชิญความยากลำบากทางร่างกาย แต่ยังส่งผลถึงประสบการณ์ภายในตัวตนที่ต้องตกอยู่ภายใต้ความหดหู่และสิ้นหวัง งานศึกษาในกลุ่มมานุษยวิทยาสายหม่นจึงเป็นงานเชิงวิพากษ์ที่ให้แสดงเห็น “ความทุกข์ทนทางสังคม” (social suffering) และ “ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง” (structural violence) ซึ่งเป็นความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นจากโครงสร้างทางสังคม (Ortner, 2016)

ขณะที่งานศึกษากลุ่มมานุษยวิทยาสายหม่นเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย ก็มีงานศึกษาอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นปฏิกิริยาด้านตรงข้ามที่หันมาสนใจประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการให้คุณค่าทางศีลธรรม ชีวิตที่ดี จินตนาการ ความเห็นอกเห็นใจ ความหวัง รวมถึงการใส่ใจดูแล ซึ่งเรียกรวมกันได้ว่าเป็น “มานุษยวิทยาแห่งความดีงาม” (anthropology of the good) ที่ไม่ได้เป็นเพียงการวิพากษ์วิจารณ์งานศึกษาในกลุ่มมานุษยวิทยาสายหม่น แต่เป็นการเติมเต็มให้เห็นว่าภายใต้ความทุกข์ทนนั้น ผู้คนพยายามแสวงหาชีวิตที่ดีในความหมายที่แตกต่างกันออกไปอย่างไร และหากพิจารณางานที่สนใจประเด็นเรื่องการใส่ใจดูแลเป็นการเฉพาะ จะเห็นว่างานกลุ่มนี้สนใจว่าผู้คนสร้างตัวตนทางศีลธรรมของพวกเขาขึ้นมาอย่างไร และในขณะเดียวกันก็สำรวจความดีงามที่เกิดขึ้นผ่านการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม เพื่อแสดงให้เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์นั้นไม่ได้มีเพียงการเอารัดเอาเปรียบหรือความรุนแรง (Robbins, 2013)

เอียน วิลคินสัน (Iian Wilkinson) และอาร์เธอร์ ไคลน์แมน (Arthur Kleinman) เสนอว่าการหันมาให้ความสนใจกับปฏิบัติการของการใส่ใจดูแลเป็นส่วนหนึ่งของการตอบสนองและแก้ไขความทุกข์ทนทางสังคม และการพัฒนาความรู้ในประเด็นนี้ทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน โดยเฉพาะการนำความรู้เรื่องนี้ไปประยุกต์ใช้ในโลกแห่งความเป็นจริงอย่างกระตือรือร้น (active engagement) (Wilkinson & Kleinman, 2016) สำหรับไคลน์แมน ซึ่งด้านหนึ่งเป็นนักมานุษยวิทยาคนสำคัญที่บุกเบิกการศึกษาด้านมานุษยวิทยาการแพทย์ ขณะที่อีกด้านหนึ่งมีประสบการณ์ตรงในฐานะผู้ดูแล (caregiver) ภรรยาผู้ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ เขาได้ถ่ายทอดประสบการณ์และนำเสนอแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับการใส่ใจดูแลไว้อย่างน่าสนใจ ไคลน์แมนอธิบายว่าการใส่ใจดูแลเป็นการปฏิบัติเชิงศีลธรรม (moral practice) ซึ่งเป็นทั้งเรื่องของการเห็นอกเห็นใจ การรับผิดชอบ การเป็นประจักษ์พยาน และการเป็นอันหนึ่งอันเดียวระหว่างผู้ดูแลและผู้รับการดูแล การใส่ใจดูแลนั้นเป็นการปฏิบัติเชิงศีลธรรมที่ทำให้ผู้ดูแล หรือแม้แต่ตัวผู้รับการดูแลเองได้ผ่านกระบวนการบ่มเพาะตัวตน (self-cultivation) ในการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี การใส่ใจดูแลไม่ได้มีเพียงแง่มุมที่สวยงามหรือโรแมนติกเท่านั้น แต่เป็นประสบการณ์ที่เต็มไปด้วยการเผชิญกับการเรียกร้อง ความตึงเครียด และความผิดพลาด ด้วยเหตุนี้การให้การใส่ใจดูแลจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งยังต้องการเวลา พลังงาน รวมถึงค่าใช้จ่ายจำนวนไม่น้อย และที่สำคัญ เราจะเข้าใจการใส่ใจดูแลได้อย่างลึกซึ้งก็ต่อเมื่อได้ลงมือทำด้วยตัวเอง (Kleinman, 2009)

ไคลน์แมนอธิบายว่าประสบการณ์ตรงจากการใส่ใจดูแลจะเกิดขึ้นจริงก็ต่อเมื่อผู้ดูแลได้ “ปรากฏตัว” (presence) ต่อผู้รับการดูแล การปรากฏตัวดังกล่าวหมายถึงการอยู่ที่นั่น (being there) และเผชิญความยากลำบากหรือความเจ็บปวดร่วมกับผู้รับการดูแล การปรากฏตัวอย่างแท้จริงในที่นี้อาจเป็นการกุมมือ การสบตา การรับฟังเรื่องราว หรือการให้ความช่วยเหลือใด ๆ ที่เป็นการแสดงให้เห็นความพยายามและความรับผิดชอบที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความเจ็บป่วยที่ยาวนานนั้น การปรากฏตัวจึงเป็นการปฏิบัติที่แสดงให้เห็นความตื่นตัวในการตอบสนองต่อความเจ็บปวด และเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นระหว่างบุคคล (interpersonal process) ที่ผู้ดูแลและผู้รับการดูแลมีประสบการณ์ร่วมกัน เป็นการทำให้ผู้รับการดูแลรับรู้ได้ว่ามีใครสักคนอยู่ที่นี่และพร้อมที่จะบรรเทาเบาบางความทุกข์ของเขา ดังนั้น การปรากฏตัวจึงเป็นแก่นแกนที่นิยามการใส่ใจดูแลที่เกิดขึ้นจริงในภาคปฏิบัติ ซึ่งไคลน์แมนเองก็วิพากษ์วิจารณ์ว่าเขาได้เรียนรู้ที่จะใส่ใจดูแลอย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อได้มาดูแลภรรยา ขณะที่ในช่วงชีวิตของการเรียนและทำงานเป็นแพทย์กลับขาดแคลนสิ่งนี้ (Kleinman, 2012, 2017)

การศึกษาการใส่ใจดูแลยังสามารถขยับขยายออกมาในแง่มุมที่กว้างขึ้น นั่นคือการหันมาสนใจการใส่ใจดูแลที่เกิดขึ้นในระบบสาธารณสุข งานที่น่าสนใจชิ้นหนึ่งคืองานของแอนน์มารี โมลล์ นักมานุษยวิทยาการแพทย์ผู้ศึกษากระบวนการรักษาโรคเบาหวานในประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งได้แสดงให้เห็นตรรกะของการรักษาโรคที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะในระบบตลาด ผู้ป่วยอยู่ในฐานะลูกค้าที่สามารถตัดสินใจเลือกบริการทางการแพทย์ ตรรกะดังกล่าวเรียกว่าตรรกะของตัวเลือก (logic of choice) ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเรื่องดีที่ผู้ป่วยได้เลือก แต่โมลล์ชี้ให้เห็นว่าเอาเข้าจริงแล้ว การเลือกก็เป็นเรื่องชวนสับสนและไม่ใช่เรื่องง่าย เช่น เมื่อแพทย์ถามผู้ป่วยว่าเขาต้องการอะไร ผู้ป่วยเองมักจะไม่รู้ว่าตัวเองต้องการหรือต้องเลือกอะไร ถึงที่สุดแล้วคนที่ตั้งสมมติฐาน เลือก และจัดการกับโรคจึงเป็นแพทย์มากกว่า สถานการณ์ข้างต้นเป็นสิ่งที่เรามักพบเจอโดยทั่วไป ดังนั้น ภายใต้กระบวนการรักษาโรคและการดูแลสุขภาพบนตรรกะของตัวเลือก การเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการโรคและการดูแลใส่ใจตนเองของคนไข้กำลังถูกลดทอนความสำคัญลง ทั้ง ๆ ที่ตัวผู้ป่วยเบาหวานเองก็มีส่วนในการควบคุมระดับน้ำตาลและดูแลร่างกายของตัวเองไม่น้อย โมลล์จึงเสนอตรรกะของการใส่ใจดูแล (logic of care) ที่เน้นการสร้างบทสนทนาเพื่อต่อรองและร่วมกันสร้างกระบวนการใส่ใจดูแลระหว่างแพทย์และผู้ป่วย (Mol, 2008; Stilgoe, 2008)

แม้ว่าการใส่ใจดูแลจะดูเหมือนเป็นประเด็นที่ตั้งอยู่บนความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และมีลักษณะมนุษยนิยม (humanism) แต่งานศึกษาในระยะหลังที่ได้รับอิทธิพลจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษา และกระแสความคิดที่สนใจภาวะพ้นมนุษย์ (posthumanism) ได้เริ่มต้นท้าทายการแบ่งคู่ตรงข้ามระหว่างการใส่ใจดูแลกับเทคโนโลยี กล่าวคือ โดยทั่วไปเรามักมองว่าการใส่ใจดูแลเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่สะท้อน “ความอบอุ่น” ที่อยู่ตรงข้ามกับเทคโนโลยีซึ่งเป็นวัตถุที่ “เย็นชา” แต่เมื่อเราศึกษาการใส่ใจดูแลที่เกิดขึ้นจริงในภาคปฏิบัติจะพบว่าภายใต้การดูแลใส่ใจนั้น มนุษย์และเทคโนโลยี เช่น เครื่องมือเครื่องใช้ในการดูแลรักษาโรค หรือแม้แต่เทคโนโลยีที่ใช้การจัดการฟาร์ม ได้ถูกปรับเปลี่ยนและนำมาประยุกต์ใช้เพื่อให้การใส่ใจดูแลในชีวิตประจำวันดำเนินไปได้ ดังนั้น การทำความเข้าใจการใส่ใจดูแลจึงไม่อาจเป็นเรื่องระหว่างมนุษย์กับมนุษย์เท่านั้น แต่ยังต้องพิจารณาความสัมพันธ์ที่กว้างขวางขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทคโนโลยี รวมถึงมนุษย์กับสิ่งมีชีวิตอื่น ภายใต้สมมติฐานที่ว่าการใส่ใจดูแลที่ดี (good care) หมายถึงการพยายามลองผิดลองถูก (tinkering) อย่างไม่หยุดหย่อน ท่ามกลางโลกที่เต็มไปด้วยความคลุมเครือและความตึงเครียด (Mol, Moser, & Pols, 2010)

การศึกษาการใส่ใจดูแลในโลกที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีจึงเป็นการทำความเข้าใจความสลับซับซ้อนของการใส่ใจดูแล และไม่ได้สนใจเฉพาะด้านที่อบอุ่นเท่านั้น แต่อาจเปิดเผยให้เห็นด้านมืดของการใส่ใจดูแลได้เช่นกัน เช่น การเมืองของการใส่ใจดูแลที่มักตั้งอยู่บนความไม่เท่าเทียมในความสัมพันธ์ทางอำนาจ ซึ่งสะท้อนผ่านคำถามที่ว่าใครมีอำนาจในการใส่ใจดูแล? ใครมีอำนาจในการกำหนดนิยามการใส่ใจดูแลและปฏิบัติการที่เกี่ยวข้อง? นอกจากนี้ การใส่ใจดูแลยังสามารถทำให้ผู้รับการดูแลตกอยู่ในสถานะด้อยอำนาจ หรือสามารถสร้างเงื่อนไขผู้รับการดูแลตกอยู่ภายใต้พันธะผูกพัน (obligation) และการติดค้าง (indebtedness) หรือหากมองในแง่ของการควบคุมปกครอง การใส่ใจดูแลอาจเป็นเครื่องมือในการควบคุม จำแนก และจัดการเรือนร่างของประชากร ดังนั้น การพยายามทำความเข้าใจการใส่ใจดูแลในที่นี้จึงไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่ในอาณาบริเวณที่เราคุ้นเคยอีกต่อไป (Martin, Myers, & Viseu, 2015)

หนึ่งในตัวอย่างที่น่าสนใจในระยะหลังคือการศึกษาการใส่ใจดูแลชีวิตหลากสายพันธุ์ (multispecies care) ซึ่งเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากวิกฤติสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์มีส่วนสำคัญในการทำให้สิ่งมีชีวิตอื่นตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ ดังนั้น การหันกลับมาทบทวนและทำความเข้าใจการใส่ใจดูแลที่เกิดขึ้นระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง และมนุษย์กับสิ่งมีชีวิตอื่นจึงทวีความสำคัญ (Schroer, van Dooren, Münster, & Reinert, 2021) ซึ่งอาจเริ่มต้นจากการพิจารณาสิ่งมีชีวิตอื่นในฐานะ “วัตถุแห่งการใส่ใจดูแล” (matters of care) เพราะมุมมองดังกล่าวกระตุ้นให้เห็นความผูกพันทางอารมณ์ความรู้สึก และทำให้เกิดความตื่นตัวในเชิงปฏิบัติการยกตัวอย่างเช่น การพัฒนาองค์ความรู้ว่าด้วยดินที่มองว่าดินเป็นสิ่งมีชีวิต (organism) แทนที่จะมองว่าดินเป็นเพียงทรัพยากรเพื่อการผลิตในระบบทุนนิยมและการทำเกษตรแปลงใหญ่ (Puig de la Bellacasa, 2017) หรือการศึกษาสายสัมพันธ์ที่มนุษย์และพืชต่างเติบโตผ่านการให้การดูแลใส่ใจกันและกัน ในกรณีของชาวมารินด์ (Marind) และต้นสาคู (Sago palm) ในอินโดนีเซีย ซึ่งมนุษย์มีส่วนช่วยในการขยายพันธุ์พืช ขณะที่พืชเองก็ให้ดอกผลเป็นอาหารของมนุษย์ภายใต้ความสัมพันธ์ที่เกาะเกี่ยวกันอย่างใกล้ชิดเป็นเวลายาวนาน แต่เมื่ออุตสาหกรรมการปลูกปาล์มน้ำมันและการจัดโซนนิ่งพื้นที่อนุรักษ์โดยบรรษัท (corporate conservation) เข้ามาจัดการพื้นที่ กลับทำให้ชาวมารินด์และต้นสาคูต้องแยกกันอยู่ ทั้งมนุษย์และพืชต่างก็กำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ต่างฝ่ายต่างโตและตายอย่างโดดเดี่ยวและโศกเศร้า (Chao, 2021)

“แถลงการณ์ว่าด้วยการใส่ใจดูแล” (The Care Manifesto) ชี้ว่าโลกในศตวรรษที่ 21 ซึ่งขับเคลื่อนด้วยระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่เป็นโลกที่การดูแลใส่ใจค่อย ๆ ถูกบ่อนทำลายลงทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นภายในความสัมพันธ์ในครอบครัว รัฐและระบบสวัสดิการ ไปจนถึงสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสิ่งแวดล้อม จนกล่าวได้ว่าเรากำลังอยู่ในโลกที่ไร้ความใส่ใจ และหนทางที่จะเยียวยาช่วงเวลาที่เรากำลังเผชิญอยู่คือการผลักดันให้การใส่ใจดูแลกลับมาเป็นพื้นฐาน (universal care) ที่เป็นใจกลางและปรากฏอยู่ในทุกมิติของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นในพื้นที่ส่วนตัว ในชุมชน ในรัฐ และในโลก (Chatzidakis et. al., 2020) ในแง่นี้ มานุษยวิทยาของการใส่ใจดูแลก็อาจเป็นส่วนหนึ่งของหนทางในการแสวงหาความรู้และสร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่จะทำให้โลกใบดังกล่าวเกิดขึ้นได้


ผู้เขียน: ชัชชล อัจนากิตติ

เอกสารอ้างอิง:

Chao, S. 2021. They Grow and Die Lonely and Sad. Theorizing the Contemporary, Fieldsights, January 26. Retrieved from https://culanth.org/fieldsights/they-grow-and-die-lonely- and-sad Chatzidakis,

A., Hakim, J. Littler, J., Rottenberg, C., & Segal, L. 2020. The Care Manifesto: The Politics of Interdependence. London & New York: Verso.

Kleinman, A. 2009. Caregiving: The Odyssey of Becoming More Human. Lancet, 373, 292-293.

Kleinman, A. 2012. Caregiving as Moral Experience. Lancet, 380, 1550-1551.

Kleinman, A. 2017. Presence. Lancet, 389, 2466-2467.

Martin, A., Myers, N., & Viseu, A. 2015. The Politics of Care in Technoscience. Social Studies of Science, 45, no. 5, 625-641.

Mol, A., Moser, I. & Pols, J. 2010. Care in Practice: On Tinkering in Clinics, Homes and Farms. Bielefeld: transcript.

Mol, A. 2008. The Logic of Care: Health and the Problem of Patient Choice. New York: Routledge.

Ortner, S. B. 2016. Dark Anthropology and Its Others: Theory Since the Eighties. HAU: Journal of Ethnographic Theory, 6(1), 47-73.

Puig De La Bellacasa, M. 2017. Matters of Care: Speculative Ethics in More Than Human Worlds. Minneapolis: University of Minnesota Press.

Robbins, J. 2013. Beyond the Suffering Subject: Toward an Anthropology of the Good. Journal of the Royal Anthropological Institute, 19(3), 447-462.

Schroer, S. A., van Dooren, T., Münster, U., & Reinert, H. 2021. Introduction: Multispecies Care in the Sixth Extinction. Theorizing the Contemporary, Fieldsights, January 26. Retrieved from https://culanth.org/fieldsights/introduction-multispecies-care-in-the-sixth-extinction

Stilgoe, J. 2008. Book: Handle with care. Lancet, 371, 2163-2164.

Wilkinson, I., & Kleinman, A. 2016. A Passion for Society: How We Think About Human Suffering. California: University of California Press.


หัวเรื่องอิสระ: มานุษยวิทยา, การใส่ใจ, การดูแล, ความห่วงใย