คำศัพท์

Lacanian Anthropology

ความสัมพันธ์ระหว่างมานุษยวิทยาและจิตวิทยา

ในฐานะที่เป้าหมายการศึกษาทางมานุษยวิทยาคือการทำความเข้าใจมนุษย์ ทำให้มีการนำความรู้และทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับจิตวิทยามาปรับใช้และเปรียบเทียบ พร้อมกับการตั้งคำถามและวิเคราะห์ “ความเป็นมนุษย์” ซึ่งมีความแตกต่างจากสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น เช่น ทักษะและความสามารถในการใช้ภาษาและการประดิษฐ์ตัวอักษรเพื่อใช้ในการสื่อสารและสร้างความหมาย เป็นคุณสมบัติที่ทำให้มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่สร้างความหมายให้กับโลก (Hanks, 1996; Kodre, 2011) อย่างไรก็ตาม ในความสามารถดังกล่าวนี้มีเรื่องที่ซับซ้อนมากไปกว่าการใช้ภาษาเพื่อสื่อความหมาย นั่นคือ ความหมายที่มนุษย์สร้างขึ้นมิได้แสดงออกอย่างตรงไปตรงมา หากแต่เกี่ยวข้องกับบริบทและความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีกับสิ่งต่างๆ ทำให้ความหมายเป็นสิ่งที่ไม่คงที่ เช่น คำหนึ่งคำมีความหมายได้หลายแบบ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข คุณค่า ประสบการณ์ และปฏิบัติการที่มนุษย์กระทำ ดังนั้น ในฐานะที่มนุษย์สร้างความหมายอย่างไร้ขอบเขตและไม่มีจุดสิ้นสุด การศึกษาสังคมและวัฒนธรรมของมนุษย์จึงไม่สามารถใช้ทฤษฎีใดเพียงทฤษฎีเดียวเพื่อทำความเข้าใจความหมายที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงไปเสมอ

“ความจริง” ที่มนุษย์อธิบายผ่านความหมายต่างๆ จึงเป็นเรื่องยากที่จะตัดสินแบบตรงไปตรงมา (Clifford, 1986) ในการอธิบายและสร้างความหมายให้กับสรรพสิ่งต่างๆด้วยคำและภาษา มนุษย์จึงเป็นสิ่งมีชีวิตที่ใช้ภาษาเพื่อสร้างความจริง ในแง่นี้ทักษะและความสามารถเชิงภาษาจึงใกล้ชิดกับข้อถกเถียงของ Jacques Lacan ซึ่งสนใจ “ปฏิบัติการของคำพูด” (act of speech) ที่ทำให้มนุษย์สร้างตัวตนและการดำรงอยู่ ในขณะที่นักมานุษยวิทยาภาษามองว่า “การพูด” คือกิจกรรมเชิงสังคมและเกี่ยวข้องกับบริบท (contextualised activity) (Hoye, 2006) ในแง่นี้ จึงกล่าวได้ว่าความสนใจของมานุษยวิทยาและจิตวิทยาเข้ามาใกล้กันมากเมื่อทั้งสองศาสตร์สนใจทักษะและบทบาทของ “ภาษา” ที่มนุษย์ใช้เพื่อสร้างความหมาย กล่าวคือเมื่อมนุษย์คิด มนุษย์จึงพูด และการเปล่งเสียงเป็นถ้อยคำและประโยคต่างๆก็ล้วนแล้วแต่เป็นการกระทำเชิงสัญลักษณ์ที่ทำให้มนุษย์มีปฏิสัมพันธ์กับตนเองและสิ่งอื่น ดั่งที่ Heidegger (1998) ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าภาษาคือพรมแดนของการสร้างตัวตนของมนุษย์

“ภาษา” จึงเป็นการกระทำที่สร้างผลกระทบเชิงสังคมที่ทำให้มนุษย์ในฐานะ “ผู้พูด” เข้าใจว่าตนเองและสิ่งอื่นคืออะไร (Hill & Mannheim, 1992) ในประเด็นนี้ Edward Sapir (1921) เคยกล่าวว่า “ภาษา” คือรากฐานของวัฒนธรรมและเป็นประตูเปิดไปสู่โลกของความหมาย ความหมายเกี่ยวกับโลกและการเป็นมนุษย์จึงหลีกหนีไปจากภาษามิได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ นักมานุษยวิทยาสนใจศึกษา “มนุษย์” ในฐานะเป็นผู้มีตัวตนผ่านการพูด (speaking subject) ซึ่งเป็นประเด็นที่นักจิตวิทยาสนใจศึกษาการสร้าง “ตัวตน” ที่มนุษย์คิด ถ่ายทอด สื่อสารและแสดงออกด้วยคำและความหมายต่างๆ ในขณะที่นักมานุษยวิทยาพยายามทำความเข้าใจความหลากหลายและความแตกต่างในเงื่อนไขที่ทำให้มนุษย์สร้างคำและภาษาเพื่ออธิบายสิ่งต่างๆไม่เหมือนกัน (linguistic relativity) (Whorf, 1944, 1952) นำไปสู่ความสนใจศึกษา “กระบวนการทางความคิดคิด” (cognitive processes) ของมนุษย์ในวัฒนธรรมต่างๆ ที่ส่งผลให้การสร้างความหมายในแต่ละวัฒนธรรมมีลักษณะเฉพาะ ดังนั้น ความสนใจต่อภาษาและวิธีคิดคือโจทย์ที่ทำให้การศึกษามานุษยวิทยามีประเด็นร่วมกับการศึกษาทางจิตวิทยา

หนังสือเรื่อง Totem and Taboo (1913) ของ Sigmund Freud คือความพยายามที่จะอธิบายประสบการณ์ทางความคิดของมนุษย์ให้สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมและบริบททางสังคมและวัฒนธรรม หนังสือเล่มนี้เป็นจุดเริ่มที่ทำให้มานุษยวิทยาและจิตวิทยามีความเกี่ยวโยงกัน แต่ในการศึกษาดังกล่าวนี้ Freud อธิบายความเป็นเหตุผลของความคิดที่มนุษย์ทุกแห่งมีเหมือนกัน โดยอาศัยทฤษฎีโครงสร้างภาษา (linguo-structuralist) มาเป็นแนวทางวิเคราะห์โครงสร้างจิตของมนุษย์ ทำให้คำอธิบายของ Freud ละเลยเงื่อนไขทางวัฒนธรรมที่มนุษย์ใช้สร้างความหมายต่อสิ่งต่างๆ ไม่เหมือนกัน นักมานุษยวิทยาที่นำความคิดของ Freud มาใช้เช่นการศึกษาโครงสร้างตำนานและระบบเครือญาติของ Claude Lévi-Strauss (1963) อาจกล่าวได้ว่า นักจิตวิทยาสนใจความเป็นสากลและโครงสร้างความคิดที่ตายตัว ในขณะที่นักมานุษยวิทยาโต้แย้งวิธีคิดแบบเหมารวมที่นักจิตวิทยามองมนุษย์เป็นเพียงผู้กระทำภายใต้โครงสร้างและกฎเกณฑ์ที่ไม่เปลี่ยนแปลง

แนวคิดของ Jacques Lacan

เมื่อทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของ Freud ถูกนักมานุษยวิทยาวิจารณ์ว่าไม่สามารถอธิบายความหลากหลายและการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของมนุษย์ได้ ทำให้เกิดการทบทวนและตีความวิธีคิดของ Freud ในแนวทางใหม่ หนึ่งในนั้นคือการศึกษาของ Jacques Lacan (ฌ้าคส์ ลาก็อง) ซึ่งพยายามนำความคิดเรื่องโครงสร้างเครือญาติของ Lévi-Strauss มาอธิบายในฐานะเป็นระบบสัญลักษณ์ที่สะท้อนกฎระเบียบทางสังคมที่มนุษย์แสดงออกผ่านการจัดลำดับและประเภทของเครือญาติ ในการศึกษาของลาก็องให้ความสำคัญกับโครงสร้างของจิตใต้สำนึกที่แสดงออกในระบบเครือญาติ โดยอธิบายว่าความคิดของมนุษย์เกี่ยวกับกฎระเบียบทางสังคมจะสะท้อนออกมาจากการจัดประเภทญาติและคำเรียกญาติ ความเข้าใจดังกล่าวนี้มีรากฐานมาจากความคิดของ Edward Sapir (1921) นักมานุษยวิทยาภาษาศาสตร์ที่เสนอความคิดว่าวัฒนธรรมของมนุษย์แบ่งเป็นสองด้าน ด้านแรกจะเกี่ยวข้องกับการสร้างความหมายซึ่งใช้คำและภาษาเป็นสื่อ ด้านที่สองจะเกี่ยวข้องกับการแสดงพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ซึ่งมนุษย์จะนำความหมายต่างๆมาปฏิบัติผ่านกิจกรรมทางสังคม คำอธิบายนี้คือโครงสร้างความคิดที่แบ่งแยกคู่ตรงข้ามระหว่าง “นามธรรม” (ความหมาย) กับ “รูปธรรม” (พฤติกรรม/การกระทำ)

คำอธิบายของ Sapir มีอิทธิพลต่อการศึกษาระบบความหมายในช่วงทศวรรษ 1920-1940 โดยเฉพาะคำอธิบายที่ว่า “พฤติกรรมของมนุษย์” คือกระบวนการทำให้ความหมายเป็น “สิ่งที่ปฏิบัติได้จริง” (actualisation of meaning) และเป็นตัวกำหนดแบบแผนทางวัฒนธรรม กล่าวคือ วัฒนธรรมของมนุษย์เกิดขึ้นบนการสร้างความหมายและสัญลักษณ์ที่มนุษย์ปฏิบัติต่อตนเองและสิ่งต่างๆ Sapir เปรียบเทียบแบบแผนทางวัฒนธรรมเป็นเหมือนไวยกรณ์ของภาษาซึ่งคอยกำกับการสร้างความหมายในประโยค คำต่างๆที่ประกอบขึ้นในประโยคจะเปรียบเสมือนเป็น “พฤติกรรม” ที่มนุษย์แสดงออก ในแง่นี้ “วัฒนธรรม” ก็คือการควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ให้เป็นไปตามแบบแผนที่กำหนด (Sapir, 2002) กล่าวอีกนัยหนึ่งคือโครงสร้างวัฒนธรรมดำรงอยู่แบบเดียวกับโครงสร้างทางภาษา แนวคิดของ Sapir ดำรงอยู่ภายใต้ทฤษฎีโครงสร้างนิยมที่มีอิทธิพลต่อการศึกษาทางภาษาศาสตร์และสัญญะที่วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างภาษา (signifier) และความหมาย (signified) (Saussure, 1983) โดย Sapir นำไปปรับใช้เพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่าง “พฤติกรรม” (signifier) กับ “ความคิด” (signified)

ลาก็องพยายามนำแนวคิดโครงสร้างภาษาของ Saussure และแนวคิดแบบแผนวัฒนธรรมของ Sapir ไปปรับใช้เพื่อวิเคราะห์บทบาทของภาษาในฐานะเป็นตัวกำหนดความรู้ ความจริงและความหมายที่ปรากฎในโลก ลาก็องเชื่อว่าความสัมพันธ์ระหว่างภาษาและความหมายมิใช่สิ่งที่ตายตัว หากแต่มีความลักลั่นและเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทและเงื่อนไข ดังนั้น ในการวิเคราะห์ความหมายจำเป็นต้องเข้าใจสถานการณ์ที่นำไปสู่การสร้างความหมาย ในการศึกษาความสัมพันธ์เชิงสัญลักษณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม ลาก็องมองว่าความหมายที่เกิดขึ้นจะแสดงออกให้เห็นเป็นรูปธรรมผ่านกิจกรรมและพฤติกรรมทางสังคม ซึ่งบุคคลสามารถรับรู้และเข้าใจความหมายต่างๆที่สังคมยอมรับ แต่ถ้าบุคคลแสดงพฤติกรรมที่ขัดต่อกฎระเบียบที่สังคมกำหนด จะนำไปสู่ความขัดแย้งและความปั่นป่วนวุ่นวาย ภายใต้ทฤษฎีโครงสร้างนิยม วิธีป้องกันมิให้สังคมไร้ระเบียบและโกลาหลจำเป็นต้องทำให้การสื่อสารความหมายจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่งมีความคงที่สม่ำเสมอและดำเนินไปอย่างราบรื่น

การท้าทาย “ความมีตัวตน” (subjectivity)

สิ่งที่ทำให้ความคิดของลาก็องแตกต่างไปจากทฤษฎีโครงสร้างนิยมก็คือการท้าทายระบบเหตุผลแบบคู่ตรงข้าม ในขณะที่นักคิดแนวโครงสร้างพยายามค้นหากฎเกณฑ์ที่ตายตัวของคู่ตรงข้ามที่ดำรงอยู่ในจิตสำนึกและความคิดของมนุษย์ แต่ลาก็องมองหาประสบการณ์ทางความรู้สึกของมนุษย์ที่มีผลต่อการสร้างความหมาย จากจุดนี้ ทำให้ลาก็องให้ความสำคัญกับการสร้างตัวตนที่ไม่คงที่และเปลี่ยนไปตามเครือข่ายความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีกับคนอื่นและสิ่งอื่น (inter-subjective network) ลาก็อง (1977,1993) อธิบายว่ามนุษย์รู้ว่าตนเองเป็นใคร มีสถานะอย่างไร เมื่อเขามีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับคนอื่นและสิ่งต่างๆ ซึ่งดำรงอยู่ในฐานะเป็น “สิ่งอื่น”(the Other) การมีตัวตนของมนุษย์จึงดำรงอยู่ท่ามกลางการสร้างความหมายให้กับสิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ วัตถุสิ่งของ ธรรมชาติ เทพเจ้า วิญญาณ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่สิ่งอื่นเหล่านี้คือภาพสมมติที่มนุษย์สร้างขึ้น ดังนั้น การมีตัวตนของมนุษย์และการมีสิ่งอื่นจึงเป็นความย้อนแย้งที่เกิดขึ้น ดังที่ Sapir (2002) เคยอธิบายไว้ว่ากิจกรรมต่างๆที่มนุษย์กระทำขึ้นก็เพื่อทำให้มนุษย์รู้สึกว่าตนเองและสิ่งอื่นมีอยู่จริง ไม่ว่าจะเป็นการกราบไหว้บูชาเทพเจ้าหรือการจัดงานเฉลิมฉลอง แบบแผนทางวัฒนธรรมเหล่านี้ไม่ต่างอะไรกับ “ภาพหลอนทางสังคม” (collective lunacy)

ความคิดดังกล่าวขัดแย้งกับความเข้าใจเดิมๆเกี่ยวกับวัฒนธรรมซึ่งมักจะแยกมนุษย์ออกมาสังคม สำหรับลาก็อง ความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสังคมมิได้มีเส้นแบ่งที่ขาดจากกัน หากแต่ทั้งสองสิ่งคือสิ่งเดียวกัน กล่าวคือ จิตของมนุษย์คือสิ่งที่สร้างสังคมและสังคมก็คือภาพแทนที่ถูกสร้างขึ้นโดยจิตของมนุษย์ ลาก็องได้ชี้ให้เห็นว่าจิตกับสังคมมิได้เป็นสิ่งตรงกันข้าม แต่มันล้วนเป็นผลมาจากการสร้างความหมายที่มีภาษาและคำพูดเป็นเครื่องบ่งชี้ ในแง่นี้ สิ่งที่เป็นเป้าหมายในการศึกษาของลาก็องก็คือกลไกการทำงานของภาษาและกระบวนการสร้างความหมาย ตัวตนของมนุษย์จึงมิใช่องค์ประธานที่มีอำนาจในตัวเอง มนุษย์มิใช่ผู้กำหนดและค้นพบกฎเกณฑ์ของความจริงในโลก หากแต่มนุษย์เป็นผลผลิตของกระบวนการสร้างความหมาย

ลาก็องกล่าวว่าความมีตัวตนของมนุษย์ถูกสร้างและก่อตัวขึ้นภายใต้กลไกทางภาษา ซึ่งมนุษย์เรียนรู้ที่จะถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูดและการสนทนาที่คำแต่ละคำ ประโยคแต่ละประโยคล้วนเป็นความหมายที่ไม่รู้จบ สภาพทางจิตจึงมิใช่กลไกทางร่างกายแต่เป็นการคิดที่มีภาษาคอยกำกับ กล่าวคือสิ่งที่เรียกว่า “จิตสำนึก” หรือ “จิตใต้สำนึก” คือวาทกรรมที่ถูกสร้างขึ้นภายใต้ทฤษฎีจิตวิเคราะห์และความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งลาก็องเรียกว่าเป็น “วาทกรรมของสิ่งอื่น” (discourse of the Other) มนุษย์ล้วนแล้วแต่เล่นเกมของภาษาเพื่อที่จะสร้างความหมายให้ตัวเองและสิ่งอื่น ในฐานะที่มนุษย์ดำรงอยู่ร่วมกับสิ่งอื่น ความมีตัวตนของมนุษย์จึงผันแปรตลอดเวลา (alterity) ในการศึกษาทางมานุษยวิทยา แนวคิดที่ลาก็องเสนอช่วยลดความตึงเครียดของคู่ตรงข้ามระหว่าง “มนุษย์” กับ “วัฒนธรรม” โดยมองว่าทั้งสองส่วนนี้มิได้แยกขาดออกจากกัน

ความจริง, สัญลักษณ์ และความเพ้อฝัน

ลาก็องเคยเสนอว่าองค์ประกอบทางจิตของมนุษย์ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ความจริง, สัญลักษณ์และความเพ้อฝัน ทั้งสามส่วนนี้มิได้แยกอยู่อย่างโดดเดี่ยว กล่าวคือ สัญลักษณ์คือกระบวนการทางภาษาที่มนุษย์ใช้เรียกสิ่งต่างๆที่ตนมองเห็นและมองไม่เห็น ภาษาจึงถ่ายทอดความหมายของสิ่งที่มนุษย์ต้องการจะมีความสัมพันธ์ด้วย การมีตัวตนในโลกของมนุษย์จึงเกิดขึ้นบนความสัมพันธ์ของสิ่งอื่น กล่าวอีกนัยหนึ่งคือถ้าไม่มีสิ่งอื่นก็ไม่มีตัวตน สิ่งอื่นคือแหล่งกำเนิดของสัญลักษณ์ สัญลักษณ์ก็คือสิ่งบ่งชี้ความหมายที่แตกต่างหลากหลายซึ่งในทางกลับกันความหมายเหล่านั้นก็เป็นผลผลิตของภาษาที่มนุษย์สร้างขึ้น ความย้อนแย้งนี้คือข้อถกเถียงที่ทำให้การอธิบายตัวตนของมนุษย์แบบลาก็องต่างไปจากเดิม ตัวตนที่ดูเหมือนจะเกิดจากจิตสำนึกแต่มันก็มีอยู่ได้ด้วยการคิดเป็นภาษา ตัวตนที่ถูกกำกับด้วยภาษาจึงมิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติซึ่งลาก็องระบุว่า “ตัวตนไม่มีอยู่จริง”

ตัวตนที่ก่อรูปขึ้นด้วยภาษาเป็นสภาวะที่ลาก็องเรียกว่า “การไร้จิตสำนึก” เนื่องจากมันเคลื่อนที่ไปด้วยภาษาและคำพูดที่ใช้ตอบโต้กับสิ่งต่างๆ การตอบโต้ด้วยภาษานี้ก็คือแบบแผนทางวัฒนธรรม ลาก็องเสนอว่าสัญลักษณ์ต่างๆล้วนเป็นสิ่งที่ไม่มีจริง มันเป็นเพียงความฝันที่ถูกเล่าผ่านภาษา แต่สังคมของมนุษย์พยายามทำให้สัญลักษณ์เป็นความจริงแท้หรือมีเนื้อแท้ที่จะสัมผัสและครอบครอง สิ่งนี้จึงทำให้เกิด “ช่องว่าง” ระหว่างความจริงกับความฝัน ลาก็องอธิบายว่ามนุษย์ไม่สามารถครอบครองสัญลักษณ์ได้เพราะมันเป็นเพียงการให้ความหมายกับสิ่งต่างๆ แต่เมื่อมนุษย์เชื่อว่าสัญลักษณ์คือความจริงแท้ที่ต้องการครอบครอง มนุษย์ก็จะพบกับความผิดหวัง จะเห็นได้ว่าสัญลักษณ์คือเงื่อนงำที่ทำให้มนุษย์หลงติดอยู่กับความจริงทั้งๆที่มันเป็นเพียงความฝัน พรมแดนระหว่างความจริง สัญลักษณ์ และความฝันจึงมิได้แยกขาดจากกัน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ในฐานะที่วัฒนธรรมของมนุษย์คือผลผลิตเชิงสัญลักษณ์ วัฒนธรรมจึงเป็นทั้งความฝันและความจริงในเวลาเดียวกัน ซึ่งแตกต่างไปจากคำอธิบายแบบโครงสร้างนิยมที่แบ่งแยก “วัฒนธรรม” ในฐานะความคิด “ธรรมชาติ” ในฐานะวัตถุ

คู่ตรงข้ามระหว่าง “วัฒนธรรมกับธรรมชาติ” จึงเป็นไปไม่ได้ เพราะมันล้วนแล้วแต่เป็นระบบสัญลักษณ์ เรื่องท้าทายในการศึกษาทางมานุษยวิทยาก็คือ ถ้าวัฒนธรรมมิใช่สิ่งที่มีอยู่จริงและมิใช่วัตถุที่จะสังเกตเพื่อที่จะเข้าใจกฎเกณฑ์ของมัน วิธีการศึกษาแบบเดิมจำเป็นต้องเปลี่ยนไป การแสวงหาความรู้แบบ ลาก็องตั้งคำถามเกี่ยวกับการค้นหาความจริง ถ้าวิธีการทำงานของนักมานุษยวิทยาในอดีตคือการสังเกตอย่างมีส่วนร่วมและฝังตัวอยู่กับชุมชนของมนุษย์เป็นเวลานานมิได้ทำให้เกิดการเข้าถึงความจริงทางวัฒนธรรมได้ วิธีการใดที่จะทำให้นักมานุษยวิทยาทำงานได้ ลาก็องปฏิเสธการมีอยู่ของ “วัตถุวิสัย” และ “อัตวิสัย” ซึ่งเป็นสิ่งที่รื้อทำลายวิธีการทำงานของนักมานุษยวิทยา ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทของภาษาที่กำกับความจริงและความฝัน ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าใครคือผู้กำหนดและควบคุมภาษาเหล่านั้น มานุษยวิทยาและศาสตร์ทั้งหลายล้วนใช้ภาษาเป็นเครื่องมือในการอธิบายความจริงและผลิตความรู้ จะตรวจสอบบทบาทหน้าที่ของภาษาเหล่านี้อย่างไร และการสร้างความหมายให้กับสิ่งต่างๆที่นักมานุษยวิทยากำลังทำอยู่จะมีทิศทางเปลี่ยนไปอย่างไร

Kodre (2011) ตั้งข้อสังเกตว่าสิ่งที่ทำให้มนุษย์เดินทางไปเรื่อยๆและทำให้ตัวเองไม่หยุดที่จะทำสิ่งต่างๆ ก็คือความพยายามที่จะถ่ายทอด “ความจริง” ให้เป็นความหมายด้วยพลังแห่งจินตนาการ และทำให้ความจริงนั้นเป็นสัญลักษณ์บางอย่างขึ้นมา ตั้งแต่ที่มีมนุษย์เกิดขึ้นบนโลก วัฒนธรรมต่างๆก็ล้วนแล้วแต่ถูกสร้างขึ้นด้วยจินตนาการและสัญลักษณ์เพื่อทำให้สมาชิกในสังคมตระหนักถึงการมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ เมื่อลาก็องตั้งข้อสังเกตว่าทุกสิ่งล้วนขับเคลื่อนด้วยภาษา ทำให้ทฤษฎีกระแสหลักเกี่ยวกับการค้นหาความจริงต้องสั่นคลอน เมื่อนำข้อสังเกตของลาก็องมาใช้กับการศึกษาทางมานุษยวิทยาจะพบว่าตั้งแต่มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับชาติพันธุ์นิพนธ์ (Clifford & Marcus, 1986) บทบาทของนักมานุษยวิทยาในฐานะผู้เขียน “ความจริง” เกี่ยวกับวัฒนธรรมก็ถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้น


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Clifford, J. (1986). Introduction: Partial Truths. In James, Clifford & George E., Marcus (eds.), Writing Culture. The Poetics and Politics of Ethnography. (pp. 1–26). Berkeley: University of California Press.

Clifford, J. & Marcus, G.E. (eds). (1986). Writing Culture. The Poetics and Politics of Ethnography. Berkeley: University of California Press.

Freud, S. (1913). Totem and Taboo. Boston: Beacon Press.

Hanks, W. F. (1996). Language and Communicative Practices. Boulder: Westview Press.

Heidegger, M. (1998). Pathmarks. Cambridge: Cambridge University Press.

Hill, J. H., & Mannheim, B. (1992). Language and World view. Annual Review of Anthropology, 21, 381–406.

Hoye, L.F. (2006). Linguistic anthropology and pragmatics. Journal of Pragmatics, 38(6), 944- 967.

Kodre, L. (2011). Psychoanalysis for anthropology: An introduction to Lacanian anthropology. Anthropological Notebooks, 17 (1), 53–72.

Lacan, J. (1977). The Seminar. Book XI. The Four Fundamental Concepts of Psychoanalysis. trans. Sheridan, Alan. London: Hogarth Press and Institute for Psycho-Analysis.

Lacan, J. (1993). The Seminar. Book III. The Psychoses, 1955-56. trans. Grigg, Russell. London: Routledge.

Lévi-Strauss, C. (1963). Structural Anthropology. New York: Basic Books.

Sapir, E. (1921). Language: An Introduction to the Study of Speech. Harcourt: Brace.

Sapir, E. (2002). The Psychology of Culture: A Course of Lectures. Berlin: Mouton de Gruyter.

Saussure, F. D. (1983). Course in General Linguistics. trans. Harris, Roy. London: Duckworth.

Whorf, B. L. (1944). The Relation of Habitual Thought And Behavior to Language. A Review of General Semantics, 1(4), 197-215.

Whorf, B. L. (1952). Language Mind and reality. A Review of General Semantics, 9(3), 167-188.


หัวเรื่องอิสระ: มานุษยวิทยา, จิตวิทยา, ฌาคส์ ลากอง, ตัวตน, ภาษา, ความหมาย