คำศัพท์

Multispecies Ethnography

ชาติพันธุ์นิพนธ์ (ethnography) เป็นงานเขียนถึงชีวิตของผู้คนภายใต้เงื่อนไขทางสังคมวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลาย ซึ่งอาจกล่าวอย่างรวบรัดได้ว่าเป็นการเขียนที่เน้นพรรณนาให้เห็นรายละเอียดของเหตุการณ์ รวมถึงประสบการณ์และอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์เพื่อสร้างข้อเสนอทางวิชาการที่มีความหนักแน่น งานเขียนประเภทนี้เปรียบเหมือนเครื่องหมายการค้าของสาขาวิชามานุษยวิทยามายาวนาน จนกลายเป็นสิ่งที่คุ้นเคยกันโดยทั่วไปเมื่อนึกถึงขนบการเขียนและการอ่านงานศึกษาทางมานุษยวิทยา อย่างไรก็ดี การเขียนงานชาติพันธุ์นิพนธ์นั้นเป็นสิ่งที่ถูกท้าทายอยู่เสมอ ทั้งจากปรากฏการณ์ทางสังคมที่ไม่หยุดนิ่งและตัวนักมานุษยวิทยาที่พยายามแสวงหาวิธีการสร้างและนำเสนอความรู้ที่มีความสดใหม่ หากกล่าวถึงวิธีการศึกษาและงานเขียนทางมานุษยวิทยาที่เปลี่ยนแปลงไปเมื่อเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 21 จะพบว่า “หลากสายพันธุ์นิพนธ์” (Multispecies Ethnography) ซึ่งอาจเรียกว่าเป็นงานชาติพันธุ์นิพนธ์ที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่น เป็นหนึ่งในแนวการศึกษาที่ได้รับความสนใจและถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางมากขึ้น

ในปี ค.ศ. 2010 อีเบ็น เคิร์กซีย์ (Eben Kirksey) และสเตฟาน เฮล์มรีช (Stefan Helmreich) ได้ร่วมกันเป็นบรรณาธิการให้กับวารสาร Cultural Anthropology ฉบับพิเศษว่าด้วย “หลากสายพันธุ์นิพนธ์” พวกเขาเขียนบทความชิ้นสำคัญเรื่อง The Emergence of Multispecies Ethnography ซึ่งชี้ให้เห็นการก่อตัวของหลากสายพันธุ์นิพนธ์ในแวดวงมานุษยวิทยา ทั้งสองอภิปรายว่า โดยทั่วไป สิ่งมีชีวิตอื่นมักอยู่ตรงชายขอบของการศึกษาทางมานุษยวิทยา พืชหรือสัตว์นั้นอาจถูกจัดวางให้เป็นส่วนหนึ่งของภูมิทัศน์ เป็นอาหาร หรือเป็นสัญลักษณ์ ซึ่งสรุปได้ว่าเป็นเพียงฉากหลังในภาพชีวิตของมนุษย์ อย่างไรก็ดี หลากสายพันธุ์นิพนธ์คือความพยายามที่จะนำสิ่งมีชีวิตอื่นมาอยู่หน้าฉาก และทำให้ชีวิตของพวกมันปรากฏเคียงข้างมนุษย์ เพราะการมีชีวิตหรือการสิ้นชีวิตของพวกมันก็มีความสำคัญและเกี่ยวพันกับการดำรงอยู่ของมนุษย์และสังคม

หลากสายพันธุ์นิพนธ์นั้นให้ความสำคัญกับการศึกษาว่าสรรพชีวิตได้มีส่วนสร้างโลกและสังคมขึ้นมาอย่างไร และในทางกลับกัน ชีวิตเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ถูกสร้างและได้รับผลกระทบจากพลังทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมในลักษณะใด แนวทางการศึกษานี้กำลังตั้งคำถามต่อการนิยามความเป็นมนุษย์และสังคม เพราะพยายามชี้ให้เห็นว่าไม่มีชีวิตใดอยู่เพียงลำพัง แต่สรรพสิ่งต่างมีชีวิตอยู่ภายใต้การพัวพัน (entanglement) ความสัมพันธ์ดังกล่าวอุปมาเหมือนเครือข่ายที่ไร้ศูนย์กลาง ไม่มีสิ่งมีชีวิตใดสามารถควบคุมหรือกำหนดทิศทางของความสัมพันธ์ได้อย่างเบ็ดเสร็จ มุมมองดังกล่าวแตกต่างกับสิ่งที่มักเชื่อกันว่ามีแต่มนุษย์เท่านั้นที่สามารถกำหนดความเป็นไปของโลกและสังคม ขณะที่พืช สัตว์ หรือทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ดิน หิน เป็นวัตถุที่ดำรงอยู่อย่างแน่นิ่ง รอคอยให้มนุษย์เข้าไปจัดการ

จอห์น ลอว์ และแอนน์มารี โมล (2004) เสนอว่าความเป็นผู้กระทำการ (agency) ไม่ได้เป็นคุณสมบัติที่มีอยู่ในมนุษย์เท่านั้น แต่สิ่งมีชีวิตอื่น (รวมถึงวัตถุสิ่งของ) ก็มีศักยภาพจะเป็นผู้กระทำการเช่นกัน หรือกล่าวอีกอย่างได้ว่าผู้กระทำการไม่อาจกระทำการเพียงลำพัง และความสามารถในการกระทำการใด ๆ ล้วนเกิดขึ้นภายใต้ความสัมพันธ์กับสิ่งอื่น ลอว์และโมลยกตัวอย่างการตรวจวินิจฉัยแกะที่ป่วยด้วยโรคปากและเท้าเปื่อยของ สัตวแพทย์ซึ่งพยายามควบคุมการระบาดของโรคดังกล่าวในสหราชอาณาจักร แกะอาจแสดงอาการของโรคอย่างคลุมเครือจนสร้างความสับสนให้กับสัตวแพทย์ว่าพวกมันมีไวรัสอยู่ในตัวหรือไม่ ทำให้สัตวแพทย์ต้องตรวจปากเพื่อให้เห็นสัญญาณบ่งชี้ที่ชัดขึ้น ดังนั้น แกะจึงต้องทำงานร่วม (collaborate) กับพวกเขา หากแกะไม่ให้ความร่วมมือก็ยิ่งทำให้การจัดการกับโรคยากลำบากขึ้น นั่นแสดงให้เห็นว่าในกระบวนการรักษาโรค ทั้งแกะและ สัตวแพทย์ต่างก็ไม่อาจกระทำโดยลำพัง นอกจากนี้ การไม่แสดงอาการของโรคอย่างชัดเจนและการแพร่ระบาดที่ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเหมือนในสัตว์ชนิดอื่นก็ทำให้โมเดลทางระบาดวิทยาที่สร้างมาสำหรับหมูถูกนำมาประยุกต์ใช้ในแกะได้ยากขึ้น และนั่นนำไปสู่ความผิดพลาดในการประมวลผลและความเชื่อมั่นที่เกษตรกรมีต่อนโยบายที่มาจากโมเดลทางระบาดวิทยาของรัฐ

การศึกษาความสัมพันธ์และความสำคัญของสิ่งมีชีวิตอื่นที่พัวพันกับมนุษย์และต่างมีส่วนก่อรูปสังคมขึ้นมาร่วมกันนั้นมีความหลากหลาย เช่น การติดตามเส้นทางการเดินทางของเห็ดมัตซึตาเกะ ในงานของแอนนา ซิง (Anna Tsing, 2015) ซึ่งแสดงให้เห็นความซับซ้อนของระบบทุนนิยมและการจัดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และพืช หรือการศึกษาการแปรรูปต้นชิงเฮา (Qinghao) ในงานของอลิซาเบธ ฮู (Elisabet Hsu, 2015) ซึ่งสะท้อนให้เห็นเงื่อนไขทางวัตถุและวัฒนธรรมที่ทำให้สมุนไพรจีนชนิดดังกล่าวถูกนำมาเป็นพัฒนาเป็นยารักษามาลาเรียจนได้รับความนิยมอย่างสูงในกลุ่มประเทศแถบแอฟริกา นอกจากงานศึกษาพืชแล้ว ยังมีงานศึกษาสัตว์ที่มีความน่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานที่ศึกษาไวรัส เช่น การศึกษาไวรัส H5N1 ซึ่งเป็นพาหะของโรคไข้หวัดนก ในงานของซีเลีย โลว (Celia Lowe, 2010) อธิบายให้เห็นว่าสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่เราไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าอย่างไวรัสไม่เพียงเปลี่ยนแปลงระบบภูมิคุ้มกันในสัตว์และมนุษย์ แต่ยังส่งผลต่อการปรับตัวของสถาบันทางสังคมต่าง ๆ

การพยายามทำความเข้าใจการดำรงอยู่และความสัมพันธ์ที่เกี่ยวร้อยกันระหว่างมนุษย์และสิ่งมีชีวิตต่างสายพันธุ์นั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัว และไม่ได้เป็นเพียงการสร้างเทคนิควิธีใหม่ ๆ เพื่อสร้างสีสันทางวิชาการ แต่หลากสายพันธุ์นิพนธ์เป็นแนวทางการศึกษาที่ยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นในยุคสมัยปัจจุบันที่มนุษย์กำลังเผชิญกับวิกฤตทางสิ่งแวดล้อมและโรคระบาด เพราะเป็นหนทางหนึ่งที่ทำให้มนุษย์ได้ย้อนกลับมาตั้งคำถามต่อตำแหน่งแห่งที่ของตนเอง โดยเฉพาะการรื้อถอนฐานคิดที่ยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลางที่เชื่อว่ามนุษย์สูงส่งกว่าสิ่งมีชีวิตอื่น การศึกษาในแนวทางนี้สอดคล้องกับสิ่งที่ดอนนา ฮาราเวย์ (Donna Haraway, 2008) เสนอว่าสภาวะการดำรงอยู่ (being) เป็นสิ่งที่เคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่ง การดำรงอยู่จึงเป็นภาวะการกลายเป็น (becoming) ที่ไม่อาจคาดเดา และสามารถเปลี่ยนแปลงไปได้เสมอ ดังนั้น เมื่อสรรพชีวิตเข้ามาปฏิสัมพันธ์กันในพื้นที่และเวลาหนึ่ง ๆ ย่อมทำให้การดำรงอยู่เป็นการกลายเป็นร่วม (becoming with) ที่เกิดขึ้นภายใต้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสปีชีส์ต่าง ๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ หลากสายพันธุ์นิพนธ์จึงทำให้เส้นแบ่งของความเป็นมนุษย์ สังคม และวัฒนธรรมที่เคยเชื่อกันว่าเป็นพื้นที่ของมนุษย์ที่ดำรงอยู่อย่างแยกขาดจากสิ่งมีชีวิตอื่นกลายเป็นสิ่งที่กำลังถูกสั่นคลอน


ผู้เขียน: ชัชชล อัจนากิตติ

เอกสารอ้างอิง:

Hsu, E. 2015. From social lives to playing fields: ‘the Chinese antimalarial’ as artemisnin monotherapy, artemisinin combination therapy and qinghao juice. Anthropology & Medicine, 22(1), 75-86.

Haraway, D. 2008. When species meet. Minneapolis: University of Minnesota Press.

Kirksey, E., Helmreich, S. 2010. The emergence of multispecies ethnography. Cultural Anthropology, 25(4), 545-576.

Law, J., & Mol, A. 2008. The actor-enacted: Cumbrian sheep in 2001. In Knappett C., Malafouris L. (Eds.), Material agency (pp. 57-77). Boston: Springer.

Lowe, C. 2010. Viral clouds: becoming H5N1 in Indonesia. Cultural Anthropology, 25(4), 625-649.

Tsing, A. 2015. The mushroom at the end of the world: On the possibility of life in capitalist ruins. Princeton: Princeton University Press.


หัวเรื่องอิสระ: ชาติพันธุ์นิพนธ์, หลากสายพันธุ์, มานุษยวิทยา