คำศัพท์

Folk Culture

        วัฒนธรรมพื้นบ้าน (Folk Culture) หมายถึงการแสดงออกของวิถีชีวิตชาวบ้านและคนท้องถิ่นซึ่งยึดถือในพิธีกรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีและอยู่ห่างไกลจากสังคมเมือง เช่น ชุมชนชาวนาที่ยั่งชีพแบบเรียบง่าย แต่เดิม แนวคิดเรื่องวัฒนธรรมพื้นบ้านใช้อธิบายลักษณะ คุณค่า และโครงสร้างสังคมที่มีอยู่ในชุมชนชนบท นักมานุษยวิทยาและนักคติชนวิทยาในยุโรป ในคริสต์ศตวรรษที่ 19และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 อธิบายว่า “คนพื้นบ้าน” หมายถึงชาวนาหรือชนชั้นแรงงานที่ยึดในจารีตประเพณี เป็นพวกที่อยู่ตรงข้ามกับชนชั้นนำในเมืองที่มีหัวก้าวหน้า  การศึกษาเรื่องคนพื้นบ้านได้แก่ เรื่อง Folk-Ways ของวิลเลียม ซัมเมอร์ และ Golden Bough ของเจมส์ เฟรเซอร์

          แนวคิดเรื่องวัฒนธรรมพื้นบ้านเกิดขึ้นครั้งแรกในการศึกษาสังคมชาวนา เริ่มขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1930   สังคมชาวนาที่ดำรงอยู่ในรัฐชาติ ถูกเรียกว่าเป็น “สังคมประกอบ” ซึ่งถูกครอบงำทางเศรษฐกิจและการเมืองโดยอำนาจศูนย์กลาง   ต่างจากสังคมชนเผ่าตรงที่ สังคมชาวนาไม่ถูกกีดกันออกไปจากการมีส่วนร่วม แต่ยังคงมีการติดต่อสัมพันธ์กับศูนย์กลางที่เจริญและเป็นรัฐขนาดใหญ่    ในทศวรรษที่ 1950 มีปัญหา 3 อย่างในการวิเคราะห์สังคมชาวนา ปัญหาแรกคือ อะไรคือบทบาทของจารีตประเพณี พิธีกรรม และความเหนียวแน่นทางสังคมที่พบในชุมชนพื้นบ้าน และทำให้ต่างไปจากสังคมเมือง    ปัญหาที่สอง อะไรคือความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมพื้นบ้าน กับวัฒนธรรมเมือง   ปัญหาที่สาม มีกระบวนการอะไรที่ทำให้วัฒนธรรมพื้นบ้านเปลี่ยนแปลงไป

          โรเบิร์ต เรดฟีลด์ ใช้คำว่า “folk society” และ “folk culture” เพื่อย้ำความแตกต่างของโครงสร้างสังคม รวมทั้งความต่างของความเชื่อและระบบคุณค่า    folk culture หรือวัฒธรรมพื้นบ้าน ตามความคิดของเรดฟีลด์ เป็นสิ่งที่อิงอยู่กับศีลธรรม  เขากล่าวว่าสังคมพื้นบ้านให้ความสำคัญกับระเบียบศีลธรรมมากกว่ากฎเกณฑ์  สังคมท้องถิ่นเป็นสังคมที่ยึดเหนี่ยวกันด้วยศีลธรรมอย่างเป็นเอกภาพ ไม่มีการแบ่งชนชั้นหรือฐานะ  คำว่า folk society หรือ สังคมพื้นบ้านตามความคิดของเรดฟีลด์ คือการอธิบายลักษณะเด่นๆของสังคมและวัฒธรรมที่ยึดในระเบียบศีลธรรมเช่นนี้  เป็นสังคมขนาดเล็กที่แยกตัวอยู่ตามลำพัง คนไม่รู้หนังสือ และมีเอกภาพ คนจะมีจิตสำนึกถึงความเป็นกลุ่มสูง  ลักษณะทางเศรษฐกิจเป็นแบบพึ่งตัวเอง ไม่มีการแยกประเภทงานมากนัก  สังคมพื้นบ้านจึงเป็นสังคมที่สงบราบรื่น กลมเกลียวและยึดในประเพณี   ประเพณีคือสิ่งที่มีค่าเหมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเป็นดั่งศาสนา

          ในการศึกษาชนเผ่า Yucatan ในเม็กซิโก  เรดฟีลด์พยายามมองหาความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างหมู่บ้านกับเมือง และนครขนาดใหญ่ โดยชี้ว่าชุมชนเริ่มแรกพัฒนาจากสังคมพื้นบ้านและเปลี่ยนไปสู่สภาพเมืองในเวลาต่อมา ซึ่งเป็นการศึกษาในมิติประวัติศาสตร์และบริบททางชาติพันธุ์  แนวคิดเรื่องวัฒนธรรมพื้นบ้าน จึงเป็นแนวคิดพื้นฐานที่จะใช้อธิบายวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมของรัฐที่ซับซ้อนขึ้นที่เปลี่ยนสภาพไปจากการเป็นชุมชนหมู่บ้านท้องถิ่น

          ซิดนีย์ มินท์โต้แย้งว่าลักษณะของสังคมพื้นบ้านหลายอย่าง อาจพบเห็นได้ในพื้นที่ของสังคมอุตสาหกรรม ซึ่งอาจเรียกว่าเป็นสังคมแรงงานที่อาศัยอยู่ในชนบท เช่น ชุมชนที่ทำไร่อ้อย เป็นต้น  

การศึกษาทางมานุษยวิทยาในเวลาต่อมา สนใจประเด็นเกี่ยวกับ Materialism ในทางวัฒนธรรม   การศึกษาสังคมชาวนาระยะหลังสนใจเรื่องการปรับตัว การพัฒนา ระบบเศรษฐกิจ และความแตกต่างทางฐานะ ซึ่งเป็นประเด็นที่จะช่วยอธิบายความแตกต่างของอำนาจและฐานะทางเศรษฐกิจในชุมชนชาวนาที่ซับซ้อน


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Kaplan, Merrill 2013. Blank, Trevor J., and Robert Glenn Howard, eds., ed. "Tradition in the Twenty-First Century: Locating the Role of the Past in the Present". Logan, UT: Utah State University Press. pp. 123–148

Robert H. Winthrop. 1991. Dictionary of Concepts in Cultural Anthropology. Greenwood Press, New York. Pp.120-122 .


หัวเรื่องอิสระ: วัฒนธรรมพื้นบ้าน