คำศัพท์

Urban Anthropology

     มานุษยวิทยาเมือง หมายถึง การศึกษาของนักมานุษยวิทยาที่สนใจชีวิตของคนกลุ่มต่างๆที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง ชีวิตของคนเมืองจะสัมพันธ์กับการทำมาหากิน การประกอบอาชีพ ซึ่งมีการแข่งขันต่อสู้เพื่อเอาตัวรอด มีการแตกต่างทางชนชั้นและฐานะ  นักมานุษยวิทยาสนใจชีวิตในเมืองอย่างจริงจังในช่วงทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา   นักมานุษยวิทยาบางคนทำวิจัยในเมืองบางเมือง แต่ไม่ค่อยสนใจบริบทของความเป็นเมืองเท่าไหร่  บางคนอาจสนใจโครงสร้างเกี่ยวกับชีวิตเมือง และผลกระทบต่อพฤติกรรมของมนุษย์ บางคนก็อาจสนใจเกี่ยวกับการพัฒนาความเป็นเมืองในระดับสากลโดยมองผ่านมิติเวลาและสถานที่ ซึ่งแยกจากเงื่อนไขทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจและการเมือง  ประเด็นวิจัยที่ได้รับความสนใจก็คือกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆ เช่น กลุ่มคนอพยพจากชนบทเข้าสู่เมือง กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยในเมือง หรือกลุ่มผู้หญิงในชุมชนเมือง เป็นต้น  นักมานุษยวิทยาเมืองจะอธิบายว่าทำไมกลุ่มประชากรที่ศึกษาจึงมีพฤติกรรมเฉพาะแบบนั้น

          ในทางทฤษฎี คำว่ามานุษยวิทยาเมืองหมายถึงการศึกษาระบบวัฒนธรรมของเมือง และเชื่อมโยงเมืองเข้ากับสถานที่ที่ใหญ่กว่าหรือเล็กกว่า และเกี่ยวข้องกับประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองทั้งหมด  อาจกล่าวได้ว่า มานุษยวิทยาเมืองให้ความสำคัญกับเรื่องการวิจัยในพื้นที่เพื่ออธิบายวัฒนธรรมของกลุ่มคนต่างๆ และเปรียบเทียบวัฒนธรรมของกลุ่มคนที่อยู่ในเมือง  เพื่ออธิบายพฤติกรรม และความคิดของคนเหล่านั้น    ทั้งนี้ นักมานุษยวิทยาทำการวิจัยชีวิตคนในเมือง และกระบวนการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเมืองมาช้านานแล้วก่อนที่จะมีคำว่า urban anthropology เกิดขึ้น

          ออสการ์ ลิวอิส ทำการศึกษาหมู่บ้าน Tepoztlan ในช่วงทศวรรษที่ 1940 และพบว่าชีวิตชาวนาในหมู่บ้านนี้มิได้เหมือนภาพในฝัน เขาจึงติดตามการอพยพย้ายถิ่นของชาวนาจากหมู่บ้านไปสู่เมืองเม็กซิโกซิตี้ และศึกษาชีวิตของชาวนาที่เข้ามาอยู่ในเมือง   การศึกษาของลิวอิสได้ท้าทายแนวคิดของสังคมวิทยาซึ่งมีอิทธิพลต่อการศึกษาชีวิตเมือง โดยลิวอิสเขียนบทความเรื่อง Urbanization Without Breakdown  เขาใช้ครอบครัวเป็นประเด็นวิเคราะห์แทนการศึกษาชุมชน    ในหนังสือเรื่อง Five Families  (1959) เป็นการศึกษาที่สำคัญที่อธิบายวิธีคิดของชาวเม็กซิโกต่อเรื่องความน่าเกลียดของชีวิตในเมือง เช่นเรื่องการทารุณทางเพศ อาชญากรรมและการทำผิดศีลธรรมต่างๆ เป็นต้น  การศึกษาเรื่องนี้ทำให้ลิวอิสถูกกล่าวโทษจากชนชั้นปกครองในข้อหาทำลายภาพพจน์ของประเทศ แต่ชาวเม็กซิโกสนับสนุนเขา  การศึกษามานุษยวิทยาเมืองในช่วงเวลานี้จึงเป็นเรื่องเสี่ยง ซึ่งต่างไปจากการศึกษาในเขตชนบท และกลุ่มชนเผ่า หรือหมู่บ้านชาวนา

          ในช่วงทศวรรษที่ 1950 นักมานุษยวิทยาที่ทำวิจัยในเขตเมืองมีจำนวนมากขึ้น  ตัวอย่างการศึกษาของกอร์ดอน ไชลด์  เขียนบทความเรื่อง The Urban Revolution  ก่อนหน้านั้นราล์ฟ บีลส์  ได้เขียนบทความเรื่อง Urbanism, Urbanization and Acculturation    ในช่วงกลางทศวรรษมีการศึกษาคล้ายๆกับลิวอิสเกิดขึ้น ได้แก่การศึกษาของวิลเลียม บาสคอม เขียนบทความเรื่อง Urbanization Among the Yoruba  ในปีเดียวกันนักสังคมวิทยา กิดเดียน สจอเบิร์ก ได้เสนอแนวคิดที่เรียกว่า เมืองก่อนยุคอุตสาหกรรม หรือ preindustrial city  โดยพูดถึงรูปแบบของเมืองที่ต่างไปจากเมืองที่เกิดจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป  ในเวลาเดียวกัน นักมานุษยวิทยาในยุโรปก็ได้วิเคราะห์เครือข่ายทางสังคมเพื่อที่จะอธิบายความสัมพันธ์ส่วนบุคคลที่เกิดขึ้นในเมืองด้วย  การศึกษาชิ้นสำคัญคือเรื่อง Family and Social Network : Roles, Norms, and Extended Relationships in Ordinary Urban Families ของ อลิซาเบ็ธ บ็อทท์ ปี ค.ศ. 1957

          ปลายทศวรรษที่ 1950  นักมานุษยวิทยาและนักสังคมศาสตร์ได้นำวิธีการศึกษาแบบสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วมในกรณีเฉพาะมาผนวกกับการศึกษาเชิงสถิติระดับชาติ เพื่อพัฒนาแนวคิดใหม่เกี่ยวกับการเกิดขึ้นในลาตินอเมริกา แอฟริกา และเอเชีย ตัวอย่างเช่น  ในปี ค.ศ.1959 องค์การสหประชาชาติได้จัดการประชุมเรื่องการเกิดเมืองในลาตินอเมริกา ซึ่งนักมานุษยวิทยาชาวเปรู ชื่อโจเซ่ มาทอส มาร์ ได้เสนอบทความเรื่อง Migration and Urbanization : The Barriadas of Lima  บทความเรื่องนี้และเรื่องอื่นๆที่คล้ายกันได้เสนอแนวทางการวิจัยให้กับนักวิชาการรุ่นต่อมาซึ่งสนใจประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างเมืองและชนบท การอพยพของชาวนาเข้ามาสู่เมือง และการตั้งถิ่นฐานในพื้นที่แออัดภายในเขตเมือง

          ในทศวรรษที่ 1960 ความสนใจเกี่ยวกับเมืองในสายตานักมานุษยวิทยาโดยเฉพาะในอเมริกา ก็คือการตระหนักว่า พื้นที่วิจัยภาคสนามของนักมานุษยวิทยาตามจารีตนิยม เช่น สังคมชนเผ่า เกษตรกรรม เป็นพื้นที่วิจัยที่มิอาจแยกจากพื้นที่ของเมืองได้อีกต่อไป  ตั้งแต่ ปี ค.ศ.1963 เป็นต้นมา จอห์น กูลิค ได้นำร่องการวิจัยเมืองในมิติมานุษยวิทยา โดยชี้ให้เห็นสงครามความยากจนในอเมริกา และการขยายตัวของการลงทุนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในลาตินอเมริกา แอฟริกา และเอเชีย ซึ่งได้สร้างโอกาสให้นักมานุษยวิทยาและนักสังคมศาสตร์เข้าไปทำวิจัยสังคมเมือง การขยายตัวของการวิจัยเมืองโดยนักมานุษยวิทยาในทศวรรษที่ 1960 ให้ความสนใจในประเด็นเกี่ยวกับการอพยพย้ายถิ่นระหว่างเมืองและชนบท การปรับตัวในสังคมเมือง สำนึกทางชาติพันธุ์ และความยากจน  งานวิจัยที่สำคัญในช่วงนี้ ได้แก่ งานของแอนดรูว์ ไวท์ฟอร์ด ซึ่งศึกษาเชิงเปรียบเทียบกรณีเมืองปาปายัน ในโคลัมเบีย และเมืองเกอเรทาโรในเม็กซิโก  งานวิจัยเรื่องนี้ชื่อว่า Two Cities in Latin America (1964) 

          ต้นทศวรรษที่ 1970  การศึกษามานุษยวิทยาเมืองกลายเป็นเรื่องของนักวิจัยเฉพาะกลุ่มที่สนใจเรื่องเมือง ซึ่งเป็นสาขาย่อยในมานุษยวิทยาวัฒนธรรม  การศึกษาที่ได้รับการยอมรับคืองานของแอนโธนี ลีดส์ การศึกษาของลีดส์ได้ใช้ความรู้แบบสหสาขาวิชามาศึกษาวิจัยเมือง ซึ่งนำไปสู่การผลิตงานวิชาการจำนวนมากในระดับมหาวิทยาลัย รวมทั้งมีวิชาใหม่ๆเกี่ยวกับมานุษยวิทยาเมืองเกิดขึ้นด้วย เช่น หนังสือเรื่อง Peasants in Cities : Radings in the Anthropology of Urbanization บรรณาธิการโดยวิลเลียม แมนกิ้น เผยแพร่ในปี ค.ศ.1970    ในปี ค.ศ.1973  มีหนังสือเรื่อง Urban Anthropology : Cross Cultural Studies of Urbanization บรรณาธิการโดยไอแดน เซ้าท์ฮอลล์

          ในปี ค.ศ.1976 หนังสือคู่มือเรื่อง Urban Anthropology บรรณาธิการโดยดักลาส เจ อูซเซลล์ และโรนัลด์ โพรเวนเชอร์ ติดตามมาด้วยหนังสือเรื่อง Anthropology and the City เขียนโดยเอ็ดวิน เอมส์ และ จูดิธ เกรนิช ในปี ค.ศ.1977   หนังสือเรื่องนี้อธิบายเกี่ยวกับเมืองโดยเปรียบเทียบเมืองในวัฒนธรรมต่างๆ และพูดถึงวัฒนธรรมความยากจน  หนังสือเรื่อง Urban Anthropology : Cities in Their Cultural Settings ปี ค.ศ.1977 เขียนโดยริชาร์ด จี ฟ็อกซ์ อธิบายความหมายของเมือง 5 ประเภท ได้แก่ เมืองเชิงพิธีกรรม เมืองบริหาร เมืองการค้าและรัฐ เมืองอาณานิคม และเมืองอุตสาหกรรม นอกจากนั้นยังอธิบายเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเมืองและสังคมซึ่งเป็นที่ตั้งของเมือง  ใน ปี ค.ศ.1978 หนังสือของริชาร์ด บาสแฮม เรื่อง Urban Anthropology : The Cross-Cultural Syudy of Complex Societies อธิบายเกี่ยวกับการศึกษาเมืองที่ซับซ้อน วิวัฒนาการของการเกิดเมือง การอพยพย้ายถิ่นระหว่างเมืองกับชนบท และการขยายตัวของเมือง ระบบเครือญาติในเขตเมือง ผู้อพยพ คนเมือง ชนชั้น ฐานะทางสังคม และชาติพันธุ์ รวมถึงการศึกษาทางชาติพันธุ์ในเขตเมืองด้วย 

      ในทศวรรษที่ 1980  เกิดมานุษยวิทยาเมืองรุ่นที่สอง ขณะเดียวกันก็มีการเจาะลึกในประเด็นเกี่ยวกับกลุ่มคนและที่อาศัยมากขึ้น   หนังสือสำคัญสองเล่มในช่วงนี้ ได้แก่ เรื่อง Urban Life บรรณาธิการโดยจอร์จ กเมลช์  และวอลเตอร์ พี เซนเนอร์ หนังสือเล่มนี้มีผู้เขียน 30 คน ซึ่งอธิบายแนวคิดเรื่องเมือง การอพยพ และการปรับตัวของผู้คนที่อพยพเข้าเมือง ครอบครัวและเครือญาติของสังคมเมือง กลุ่มชาติพันธุ์และชนชั้นในเมือง คนจนเมือง และการทำวิจัยสนามในเขตเมือง  เรื่องที่สอง คือ Urban Place and Process  บรรณาธิการโดยเออร์วิน เพรส และ เอสเทลลี สมิธ หนังสือเรื่องนี้มีนักเขียน 32 คน อธิบายแนวคิดเรื่องเมือง และความเป็นเมือง พัฒนาการและความแตกต่างของเมือง กระบวนการการกลายเป็นเมือง หน่วยย่อยของเมือง พื้นที่ภายในเขตเมือง ความแตกต่างทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมในเมือง และอนาคตของเมือง  

     หนังสือดังกล่าวก่อให้เกิดการพัฒนาแนวคิดและองค์ความรู้เกี่ยวกับการวิจัยเมืองในทางมานุษยวิทยา ก่อให้เกิดการเชื่อมโยงประเด็นเกี่ยวกับท้องถิ่นเข้ากับเมือง ชุมชนเชื่อมโยงถึงระดับชาติ และระบบสังคมวัฒนธรรมนานาชาติ  ความเปลี่ยนแปลงในการศึกษามานุษยวิทยาเมือง ไม่ได้เปลี่ยนเฉพาะขนาดของพื้นที่วิจัย หากแต่ยังมีการเปลี่ยนจุดสนใจที่เพิ่มมิติประวัติศาสตร์มากขึ้นด้วย

     อาจกล่าวได้ว่าในช่วงทศวรรษที่ 1960-70 นักมานุษยวิทยาที่ศึกษาเมืองสนใจประเด็นการอพยพย้ายถิ่น ความยากจน ชาติพันธุ์ และการปรับตัวเข้ากับเมือง ในช่วงทศวรรษที่ 1980 นักมานุษยวิทยาเริ่มสนใจประเด็นเกี่ยวกับชีวิตเมืองในมิติอื่นๆ เช่น เรื่องของปัจเจกบุคคล เพื่อนบ้าน และสถาบันต่างๆ เพื่อเชื่อมโยงให้เห็นผู้คนและสถานที่ที่หลากหลายซึ่งเป็นส่วนประกอบของเมือง    นักมานุษยวิทยาสนใจประเด็นเกี่ยวกับฐานะทางสังคมของคนเมือง ผลกระทบของลัทธิอาณานิคมที่มีต่อเมือง และการเคลื่อนตัวของเมืองเข้ากับระบบเศรษฐกิจโลก  นักมานุษยวิทยาเมืองได้ใช้ความรู้จากหลายสาขามาอธิบายปรากฏารณ์เกี่ยวกับเมืองมากขึ้น

     การศึกษามานุษยวิทยาเมืองในปัจจุบัน ถือเป็นการศึกษาเฉพาะทางสำหรับนักมานุษยวิทยา มิใช่เฉพาะนักมานุษยวิทยาในอเมริกาเท่านั้น แต่รวมถึงการศึกษาในเมืองต่างๆของโลก ริชาร์ด เบแชม กล่าวว่ามานุษยวิทยาเมืองมิใช่การศึกษาที่ตรงตามแบบมานุษยวิทยา แต่เป็นการศึกษาที่ท้าทายมานุษยวิทยาในอนาคต  ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20  การวิจัยและการเรียนการสอนเกี่ยวกับเมือง และความเป็นเมืองได้แตกขยายออกไป และเป็นส่วนหนึ่งในการศึกษาทางมานุษยวิทยาวัฒนธรรม  นักมานุษยวิทยาคนหนึ่งอาจสนใจประเด็นเกี่ยวกับการทำลายป่าเขตร้อนที่สัมพันธ์กับชีวืตเมือง  บางคนอาจสนใจความเป็นเมืองที่สัมพันธ์กับความรุนแรง และสำนึกทางชาติพันธุ์ในสลัม บางคนอาจสนใจระบบโลกที่เชื่อมโยงเมืองใหญ่ๆเข้าด้วยกัน  ความสนใจเหล่านี้อาจเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษามานุษยวิทยาเมือง  ถึงแม้ว่านักมานุษยวิทยาส่วนน้อยจะสนใจทฤษฎีเกี่ยวกับเมือง ความเป็นเมือง หรือวิธีวิทยาที่เปรียบเทียบวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ก็ตาม


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Basham, Richard 1978. "Urban Anthropology. The Cross-Cultural Study of Complex Societies", Mayfield Publishing Company.

Fox, Richard G. 1977. "Urban Anthropology. Cities in their Cultural Settings", Prentice-Hall.

Gmelch, George. 2002. Urban Life: Readings in the Anthropology of the City. Waveland Press.

Low, Setha. 2005. Theorizing the City: The New Urban Anthropology Reader. Rutgers University Press.

Prato, Giuliana B. and Pardo, italo. ‘Urban Anthropology’ Urbanities, Vol. 3 • No 2 • November 2013, pp 80–110.

Robert V.Kemper ,Jack R.Rollwagen ใน David Levinson and Melvin Ember (eds.) 1996 Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. Pp.1337-1343.


หัวเรื่องอิสระ: มานุษยวิทยาเมือง