คำศัพท์

Totemism

          Totemism หมายถึง สัญลักษณ์เกี่ยวกับบรรพบุรุษ คือระบบที่แยกแยะสมาชิกในครัวเรือนกับวัตถุในธรรมชาติที่เป็นพืชและสัตว์   ลักษณะของพืชและสัตว์จะเป็นตัวบ่งชี้ว่าบุคคลจะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มไหน การศึกษาสัญลักษณ์บรรพบุรุษในระยะแรกเป็นการมองในเชิงปรากฏการณ์ทางศาสนา  นักวิชาการในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ใช้แนวคิดวิวัฒนาการมาอธิบายพัฒนาการของศาสนาในระดับต่างๆ และสันนิษฐานว่าสัญลักษณ์เกี่ยวกับบรรพบุรุษมีเอกลักษณ์ตายตัวและคงที่  แต่ต่อมาคำอธิบายนี้ก็ไม่ได้รับการยอมรับ

          คำว่า totem มาจากคำว่า ototeman ในภาษาพื้นเมืองของชาว Ojibwa ในอเมริกา  หมายถึงความสัมพันธุ์ภายในตระกูล ซึ่งการสืบทายาทจะเป็นไปตามลำดับโดยมีบรรพบุรุษคนเดียวกัน  คำนี้ถูกใช้ในปี ค.ศ.1791โดยนักการค้าชาวแคนาดา ชื่อ  เจ ลอง อธิบายว่า totem หมายถึงวิญญาณที่ปกป้อง   ลองยังบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับข้อห้ามของชาวโอจิบวา ในเรื่องการห้ามฆ่าสัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ของบรรพบุรุษ  นั่นคือหมี เนื่องจากหมีเป็นสัญลักษณ์บรรพบุรุษ  ชาวโอจิบวาจึงไม่กิน และไม่ฆ่าหมี  กฏข้อห้ามจึงเกิดขึ้นกับการบูชาสัญลักษณ์บรรพบุรุษควบคู่กันไป

          การศึกษาของปีเตอร์ โจนส์ ในชนเผ่าโอจิบวา พบว่าความเชื่อเกี่ยวกับบรรพบุรุษเป็นการแบ่งกลุ่มคนออกจากกัน เผ่าแต่ละเผ่าจะมีบรรพบุรุษของตัวเอง  คนในเผ่าเดียวกันจะรู้สึกว่าตัวเองผูกพันธ์กับคนอื่นๆ   สัญลักษณ์บรรพบุรุษของโอจิบวา ได้แก่ นกอินทรีย์ กวางเรนเดียร์ หมี ควายป่า ตัวบีเวอร์ นาก และปลาหมอ  การนับถือสัญลักษณ์บรรพบุรุษนี้ยังพบในดินแดนอื่นๆ เช่นออสเตรเลียซึ่งมีการศึกษาโดย เซอร์จอร์จ เกรย์ ในปี ค.ศ.1841

          จอห์น  แม็คเลนนัน คือผู้ที่ทำให้แนวคิดเรื่อง totemism เป็นแนวคิดที่ใช้อธิบายลำดับขั้นของวิวัฒนาการ  ในปี ค.ศ. 1869  แม็คเลนนันอธิบายว่าเผ่าต่างๆที่มีความเชื่อเกี่ยวกับสัญลักษณ์บรรพบุรุษ เชื่อว่าพวกเขาเป็นลูกหลานของพืชและสัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ และในเวลาเดียวกันก็เคารพบูชาพืชและสัตว์ชนิดนั้นโดยมีข้อห้ามการฆ่าหรือกิน    ความเชื่อเรื่องนี้ทำให้เกิดกฎการแต่งงาน “ออก” หรือ exogamy เพราะสมาชิกที่มีบรรพบุรุษร่วมกันจะไม่แต่งงานกันเอง   ทฤษฎีนี้ถูกนำไปขยายความโดยนักศาสนาชื่อ โรเบิร์ตสัน สมิธ  อธิบายว่าสัตว์ที่เป็นบรรพบุรุษ ซึ่งเป็นสัตว์ต้องห้าม อาจถูกนำมาเป็นอาหารได้ในบางครั้ง เช่น ในช่วงงานฉลองประจำปี และมีการประกอบพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์   สมิธกล่าวว่าศาสนาของชาวเซเมติกมีความคล้ายคลึงกับการบูชาสัตว์บรรพบุรุษ ซึ่งพบในสังคมชนเผ่า  ความเชื่อนี้เป็นพื้นฐานของการประกอบพิธีทางศาสนาของชาวคริสต์

          ถึงแม้ว่า การบูชาสัญลักษณ์บรรพบุรุษจะพบเห็นในกลุ่มชนพื้นเมืองในอเมริกาเหนือ แต่ความสนใจในประเด็นนี้ก็ขยายไปสู่การศึกษาในเขตออสเตรเลีย ซึ่งมีการเก็บข้อมูลทางชาติพันธุ์ที่ละเอียด   ความเชื่อเรื่องสัญลักษณ์บรรพบุรุษในออสเตรเลีย  เป็นที่ดึงดูดความสนใจของนักทฤษฎีวิวัฒนาการมากเพราะว่า ชนพื้นเมืองในออสเตรเลียยังคงมีชีวิตแบบเดิม และเปรียบเสมือนสังคมมนุษย์ในยุคแรกๆ

          อีมิล เดอไคม์เขียนเรื่อง The Elementary Forms of the Religion Life(1915) โดยใช้ข้อมูลเรื่องความเชื่อสัญลักษณ์บรรพบุรุษในออสเตรเลียมาอธิบาย   เดอไคม์กล่าวว่าศาสนาขั้นที่ง่ายที่สุดและดั้งเดิมที่สุดสามารถพบได้ในออสเตรเลีย   แต่หลักฐานที่น่าสงสัยและเป็นที่โต้เถียงเกี่ยวกับเรื่องนี้กลายเป็นความคิดหลักสำหรับเดอไคม์ในการอธิบายต้นกำเนิดของศาสนา   ในเรื่อง Totem and Taboo(1913) ของซิกมันด์ ฟรอยด์อธิบายว่าสัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์บรรพบุรุษคือตัวแทนของพ่อ ซึ่งเมื่อมีการเลี้ยงฉลองโดยการฆ่าสัตว์ ก็เท่ากับเป็นการฆ่าพ่อ  เหตุนี้จึงทำให้เกิดการสร้างระบบศีลธรรมและศาสนา ซึ่งทำให้ครอบครัวดำรงอยู่ได้

          นักมานุษยวิทยาสมัยวิคตอเรียน  เชื่อว่าการบูชาสัญลักษณ์บรรพบุรุษเป็นปรากฏการณ์ที่คงที่ และสะท้อนสภาวะจิตใจที่เป็นเหมือนกันของมนุษย์ในทุกๆที่  ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20  ข้อถกเถียงนี้ถูกโจมตีโดยนักมานุษยวิทยาอเมริกัน ซึ่งพยายามเก็บข้อมูลภาคสนามและศึกษาประวัติศาสตร์ของคนกลุ่มต่างๆอย่างละเอียด  อเล็กซานเดอร์ โกลเดนไวเซอร์ พยายามอธิบายเรื่องนี้ใหม่โดยล่าวว่าสังคมที่นับถือสัญลักษณ์บรรพบุรุษ ย่อมมีกฎข้อห้ามการฆ่าสัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์  แต่สังคมอื่นๆอาจไม่มีข้อห้ามนี้  บางสังคมอาจไม่มีการนับถือสัญลักษณ์บรรพบุรุษ  การตั้งชื่อเผ่าตามสัตว์ประเภทต่างๆ หรือการประกอบพิธีกรรมบูชาสัตว์สัญลักษณ์ก็อาจมีความแตกต่างกันไป   ความเชื่อที่เกี่ยวกับสัญลักษณ์บรรพบุรุษ เกิดขึ้นจากบริบททางสังคมในช่วงเวลานั้น  ความเชื่อนี้มิได้มาจากอำนาจของสัตว์ชนิดนั้นแต่อย่างใด


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Claude Levi-Strauss, 1971. Totemism. Translated by Rodney Needham, Beacon Press.

Frazer, James George. (2013). Totemism and Exogamy: A Treatise on Certain Early Forms, of Superstition and Society (Vol. 3). London: Forgotten Books.

Robert H. Winthrop. Dictionary of Concepts in Cultural Anthropology. Greenwood Press, New York. 1991. Pp.298-299.


หัวเรื่องอิสระ: สัญลักษณ์บรรพบุรุษและเครือญาติ