คำศัพท์

Symbolic Anthropology

         แนวคิดเกี่ยวกับระบบสัญลักษณ์ เป็นประเด็นที่สำคัญในทางมานุษยวิทยา เนื่องจากมีส่วนในการอธิบายทฤษฎีเกี่ยวกับวัฒนธรรม  สัญลักษณ์เป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับมนุษย์ในการที่จะสร้างระบบความหมายต่างๆให้กับโลกและธรรมชาติ  มนุษย์จึงเป็นผู้สร้างสัญลักษณ์ของจักรวาล ซึ่งส่งผลทั้งในทางปฏิบัติและความคิด  นักปรัชญาเอิร์นส คาสซิเรอร์ กล่าวไว้ว่า ความจริงทางกายภาพถูกทำให้กลายเป็นการกระทำเชิงสัญลักษณ์ของมนุษย์ มนุษย์จะเปลี่ยนความหมายของตัวเองให้เป็นสัญลักษณ์ ซึ่งถ่ายทอดออกมาเป็นภาษา งานศิลปะ สัญลักษณ์เกี่ยวกับตำนาน หรือพิธีกรรมทางศาสนา สัญลักษณ์เหล่านี้มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า นอกจากจะใช้เครื่องหมายที่ประดิษฐ์ขึ้นมาเป็นเครื่องมือถ่ายทอด

          เลสลี่ ไวท์ อธิบายว่า พฤติกรรมของมนุษย์ประกอบด้วยการใช้สัญลักษณ์ สัญลักษณ์คือจักรวาลของมนุษยชาติ     ในขณะที่สัญลักษณ์คือประสบการณ์ที่แจ่มชัดของมนุษย์  แต่การเข้าใจเกี่ยวกับสัญลักษณ์เป็นสิ่งที่คลุมเคลือ  การศึกษาในทางปรัชญาและศิลปะพยายามหยั่งรู้และตรวจสอบความหมายของสัญลักษณ์ตลอดเวลา  แนวคิดโรมแมนติกที่เกิดขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18-19 พยายามที่จะศึกษาระบบสัญลักษณ์โดยเชื่อว่าความหมายปรากฏขึ้นกับวัตถุต่างๆ  อารมณ์เป็นสิ่งที่ปกคลุมสติปัญญา  และความลึกลับมีอยู่ในเรื่องสามัญ  สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดสัญลักษณ์ที่ท้าทายให้เกิดการศึกษา

          โทมัส คาร์ไลล์ อธิบายว่าสัญลักษณ์บางอย่างเกิดขึ้น และดำรงอยู่อย่างถาวร  โจฮันน์ จาค็อบ บาโชเฟ่นได้ศึกษาระบบสัญลักษณ์เกี่ยวกับความตาย ชี้ให้เห็นว่าพลังอำนาจของสัญลักษณ์ก่อให้เกิดการสร้างสำนึก   ในเชิงจิตวิทยาได้ศึกษาสัญลักษณ์ในเชิงทฤษฎีและการรับรู้ อธิบายว่าสัญลักษณ์คือการแสดงออกของกระบวนการแห่งจิตใต้สำนึก  ในเรื่อง Interpretation of Dreams ของฟรอยด์ในปี ค.ศ. 1900 อธิบายว่าความฝันเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ซึ่งเกิดขึ้นกับความนึกคิด

          ในทางมานุษยวิทยาอธิบายสัญลักษณ์แตกต่างออกไป โดยเฉพาะในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง นักมานุษยวิทยาพยายามอธิบายลักษณะของสัญลักษณ์มากกว่าการสร้างทฤษฎีแบบฟรอยด์  เช่นการศึกษาของลิวอิส เฮนรี มอร์แกน  อธิบายระบบสัญลักษณ์ในพิธีกรรม White Dog ของชนเผ่า Iroquois   การศึกษาของฟรานซ์ โบแอส อธิบายว่างานศิลปะของชนพื้นเมืองมิได้สร้างขึ้นมาเพื่อความงาม หากแต่เป็นสัญลักษณ์ทางความคิด  โบแอสชี้ให้เห็นว่าแบบแผนและความหมายในงานศิลปะของชนพื้นเมืองในเขตอเมริกาเหนือมีความแตกต่างกัน ถึงแม้จะมีรูปลักษณ์ที่คล้ายกันก็ตาม

          ในเชิงทฤษฎี  ระบบสัญลักษณ์มีนัยยะที่สำคัญสองประการ  ประการแรกอธิบายจากมุมมองมานุษยวิทยาสังคมในอังกฤษ เชื่อว่าสัญลักษณ์คือการกระทำทางสังคม โดยพิจารณาได้จากการประกอบพิธีกรรม ประการที่สอง อธิบายจากมุมมองทางวัฒนธรรมสกุลอเมริกัน เชื่อว่าระบบสัญลักษณ์คือแบบแผนทางวัฒนธรรม ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดเรื่องวัตถุนิยมทางวัฒนธรรม   มานุษยวิทยาสกุลอังกฤษชี้ว่าระบบสัญลักษณ์คือการแสดงความหมายผ่านเหตุการณ์และวัตถุสิ่งของ  สัญลักษณ์จึงเป็นสิ่งที่มองเห็นได้และเป็นตัวแทนของการกระทำต่างๆ ส่วนมานุษยวิทยาสกุลอเมริกันเชื่อว่าพฤติกรรมและความคิดมีการถ่ายทอดเป็นสัญลักษณ์เพื่อสะท้อนลักษณะทางวัฒนธรรม

          มานุษยวิทยาสังคมได้รับความคิดเรื่องสัญลักษณ์มาจากเดอร์ไคม์ และพัฒนาต่อมาด้วยทฤษฎีหน้าที่นิยมของเรดคลิฟฟ์-บราวน์     อีมิล เดอร์ไคม์ อธิบายเรื่องพิธีกรรมทางศาสนาว่าเกิดขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงความเป็นเอกภาพของระเบียบกฎเกณฑ์ทางสังคม  ส่วนเรดคลิฟฟ์-บราวน์ อธิบายว่าพิธีกรรมคือการแสดงออกทางสังคม และช่วยตอกย้ำโครงสร้างทางสังคมที่สำคัญ     ต่อมาหลังสงครามโลกครั้งที่สองมีการตั้งคำถามว่าการกระทำต่างๆมีความหมายอย่างไร เพื่อที่จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับความคิดทางสังคมของชนพื้นเมืองที่สื่อออกมาทางสัญลักษณ์และพิธีกรรม เช่น  มาร์เซล กรีอูล ศึกษาชนเผ่าโดกอน  และ การศึกษาของโมนิกา วิลสันในชนเผ่า Nyakyusa  การศึกษาของวิคเตอร์ เทอร์เนอร์ ในปี ค.ศ.1958 เรื่อง Symbols in Ndembu Ritual เป็นการศึกษาระบบสัญลักษณ์โดยผ่านพิธีกรรม ซึ่งมีการพัฒนาในเชิงกรอบความคิดทฤษฎีที่ชัดเจน

          มานุษยวิทยาสายวัฒนธรรม อธิบายว่าวัฒนธรรมคือสัญลักษณ์ในตัวเอง  และมิใช่การสร้างความหมายเพียงหนึ่ง หรือเป็นเรื่องสามัญ  จากการศึกษาวัฒนธรรมหลายแห่งจะพบความแตกต่างของความหมาย  คลิฟฟอร์ด เกียร์ต กล่าวว่าระบบความคิดประกอบด้วยสัญลักษณ์ที่ใช้สื่อความหมายต่างๆ สัญลักษณ์นี้สร้างมาจากการกระทำและใช้สำหรับสื่อสารความหมายในประสบการณ์ชีวิต  ระบบสัญลักษณ์ที่มีการจัดระเบียบไว้แล้วก็คือแบบแผนทางวัฒนธรรม ซึ่งไม่อาจควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ได้ เนื่องจากการกระทำต่างๆ และอารมณ์ของมนุษย์ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่คงที่และปรวนแปร

          แนวคิดของเกียร์ตก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ตามมา โดยเฉพาะเรื่องการสร้างคำอธิบายในทางมานุษยวิทยา    คาร์ล มาร์กเคยกล่าวว่ารูปแบบทางวัฒนธรรม เช่น ศิลปะ ศาสนา ครอบครัว เป็นผลสะท้อนเชิงวัตถุวิสัยของวัฒนธรรมขั้นพื้นฐานซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับการจัดระเบียบเพื่อการผลิต   แต่การศึกษาทางมานุษยวิทยาสัญลักษณ์ ไม่เชื่อว่าวัฒนธรรมจะเกิดขึ้นจากวัตถุวิสัย เพราะประสบการณ์ของมนุษย์ล้วนแสดงออกเชิงสัญลักษณ์และต้องผ่านการตีความ   มาร์แชล ซาลินส์ อธิบายว่า สิ่งที่เรียกว่าสาเหตุเชิงวัตถุ คือผลผลิตของระบบสัญลักษณ์ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการตรวจสอบ  ถ้าหากไม่มีการการศึกษาสัญลักษณ์ในเชิงวัฒนธรรมแล้ว  เราก็จะมองไม่เห็นความสัมพันธ์ระหว่างแบบแผนทางวัฒนธรรมกับสภาพทางวัตถุวิสัย ข้อถกเถียงที่ต่างกันสองแบบนี้ คือความแตกต่างระหว่างทัศนะที่เชื่อว่าชีวิตคือการแสดงออกด้วยอารมณ์เชิงสัญลักษณ์ กับทัศนะที่เชื่อว่าชีวิตคือการปฏิบัติเชิงวัตถุอย่างมีเหตุผล  ข้อแตกต่างนี้เกิดขึ้นกับการศึกษาทางมานุษยวิทยามายาวนาน


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Geertz, Clifford 1973 The interpretation of cultures, Basic Books, New York

Geertz, Clifford. (Ed.) 1974 Myth, symbol, and culture, W. W. Norton, New York

Robert  H. Winthrop. 1991. Dictionary of Concepts in Cultural Anthropology. Greenwood Press, New York. pp.286-289.

Turner, Victor 1967 The forest of symbols: Aspects of Ndembu ritual, Cornell University Press, Ithaca

Turner, Victor 1974 Dramas, fields and metaphors: Symbolic action in human society, Cornell University Press, Ithaca


หัวเรื่องอิสระ: มานุษยวิทยาสัญลักษณ์