คำศัพท์

Sexual Orientation

          Sexual Orientation หมายถึง ความพึงพอใจ ความสนใจ ความชอบ หรือความต้องการทางเพศของบุคคล ซึ่งคนๆหนึ่งความพึงพอใจกับคนเพศตรงข้าม คนเพศเดียวกัน หรือพอใจทั้งสองแบบก็ได้   ประเภทของความพึงพอใจทางเพศในสังคมตะวันตกแบ่งได้เป็น 3 ชนิด คือ  ความพึงพอใจกับคนต่างเพศ (heterosexuality) ความพึงพอใจในคนเพศเดียวกัน (homosexuality) และความพึงพอใจทั้งคนเพศเดียวกันและต่างเพศ (bisexuality)   แต่งานวิจัยของคินซีย์ได้ท้าทายการจัดประเภทดังกล่าว  คินซีย์อธิบายว่าพฤติกรรมและความสนใจทางเพศทุกรูปแบบล้วนอยู่ในระนาบเดียวกัน คินซีย์ได้จำแนกมาตรวัดค่าของการเป็นรักต่างเพศและรักเพศเดียวกันเป็น 7 ระดับ  ระดับศูนย์หมายถึงคนที่เป็นรักต่างเพศร้อยเปอร์เซ็นต์  และระดับ 6 หมายถึงคนที่เป็นรักเพศเดียวกัน  มาตรวัดนี้สามารถวัดได้ทั้งประสบการณ์ทางเพศและการตอบสนองทางจิต

          ข้อโต้แย้งที่มีต่อเรื่องความพึงพอใจทางเพศ อาจเกี่ยวข้องกับการนิยามซึ่งคินซีย์เรียกว่าเป็นการตอบสนองทางจิต  มาตรวัดของคินซีย์มีสองประเภทคือ มาตรวัดพฤติกรรม และมาตรวัดความพึงพอใจทางเพศ แต่ในบางกรณีผู้ชายที่เป็นรักต่างเพศอาจมีพฤติกรรมแบบรักเพศเดียวกัน เพราะคนๆนั้นอาจติดคุก หรืออยู่ในเหมือง หรือกองทัพที่มีแต่ผู้ชาย (เป็นสถานการณ์ที่อาจทำให้ผู้ชายมีเพศสัมพันธ์กัน)  หรือบางครั้งผู้ที่มีจิตใจแบบรักเพศเดียวกันไม่สามารถแสดงตัวตนออกมาได้เพราะสังคมกดทับและเหยียดหยาม เขาก็อาจใช้ชีวิตแบบรักต่างเพศและแต่งงาน เช่นผู้ชายชาวยิวและคริสเตียน  มาตรวัดที่ซับซ้อนอีกชนิดหนึ่งมาจากแนวคิดของฟริตซ์ ไคลน์ ประกอบด้วยการตรวจสอบเวลาและตัวแปรต่างๆ เช่น อารมณ์ สังคม อัตลักษณ์ส่วนตัว รูปแบบการดำเนินชีวิต และอุดมคติ

          มิเชล ฟูโก้อธิบายว่าชาวตะวันตกไม่เคยยอมรับพฤติกรรมของคนรักเพศเดียวกัน คนเหล่านี้จะถูกมองว่าเป็นคนบาปหรือเป็นอาชญากร ซึ่งสังคมยัดเยียดให้  บทความของนักจิตวิทยาชื่อคาร์ล เวสต์ฟัล ในปี ค.ศ.1869 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดต่อโฮโมเซ็กช่วล โดยสังคมมองว่าคนรักเพศเดียวกันเป็นคนสายพันธุ์ใหม่  นักคิดแนวสังคมนำความคิดของฟูโก้มาอธิบายโดยเชื่อว่าคำอธิบายเกี่ยวเพศเป็นเรื่องทางวัฒนธรรม  นักคิดที่ให้น้ำหนักกับวัฒนธรรมไม่เชื่อว่าเรื่องเพศจะเป็นสิ่งที่มีอยู่เองโดยปราศจากวัฒนธรรมหรือประวัติศาสตร์

          คาร์ล เฮนริช อุลริช หรือที่รู้จักในนาม “บิดาแห่งการเรียกร้องเสรีภาพของชาวเกย์” เคยเขียนหนังสือเกี่ยวกับโฮโมเซ็กช่วล โดยกล่าวว่าผู้ที่เป็นแบบนี้เป็นมาตั้งแต่กำเนิด  อุลริชเป็นผู้ที่จำแนกความพอใจทางเพศเป็นสามแบบ คือรักต่างเพศ รักเพศเดียวกัน และรักสองเพศ คำว่า urning หมายถึงผู้ชายที่รักเพศเดียวกัน  urningen หมายถึงผู้หญิงที่รักเพศเดียวกัน  dioning หมายถึงผู้ชายที่รักผู้หญิง  และ uranon-dioning หมายถึงผู้ชายที่รักผู้หญิงและผู้ชาย

         

          การศึกษาในวัฒนธรรมอื่นๆ ระบุถึงพฤติกรรมหรือแบบแผนการแสดงออกของโฮโมเซ็กช่วล  ส่วนใหญ่จะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายสูงวัยกับเด็กหนุ่มๆ และความสัมพันธ์ระหว่างชายที่มีอายุเท่ากัน  เป็นที่น่าสังเกตว่าความสัมพันธ์แบบโฮโมเซ็กช่วลวางอยู่บนโครงสร้างอายุ    ในสังคมตะวันตกความสัมพันธ์โฮโมเซ็กช่วลจะเกิดขึ้นกับคนอายุเท่ากัน ซึ่งความสัมพันธ์ลักษณะนี้จะไม่พบในสังคมชนเผ่าหรือสังคมชาวนา ยกเว้นในวัฒนธรรมฮาวายและลุ่มน้ำอะเมซอน และชนเผ่าแอสมัตในนิวกินี

          นอกจากนั้นความสัมพันธ์แบบโฮโมเซ็กช่วลยังมีรูปแบบอื่นๆ เช่นในนิวกินี ,โพลินีเซีย, ไซบีเรีย, อเมริกาเหนือ  ในนิวกินีจะมีพิธีกรรมเปลี่ยนผ่านวัยที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วล ในวัฒนธรรมนิวกินี เด็กชายจะมีประสบการณ์ทางเพศกับคนเพศเดียวกันซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ แต่ผู้ชายน้อยคนที่จะกลายเป็นโฮโมเซ็กช่วลเต็มตัว  สิ่งนี้ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก หรือการเปลี่ยนความพึงพอใจทางเพศของบุคคล จากการศึกษาโฮโมเซ็กช่วลในวัฒนธรรมต่างๆทำให้รู้ว่าพฤติกรรมกับความรู้สึกพอใจเป็นสิ่งที่แยกจากกัน

ชาวคริสต์เชื่อว่าการกระทำต่างๆมีแก่นแท้โดยธรรมชาติ ถ้าการกระทำตามธรรมถูกขัดขวาง การกระทำนั้นก็จะถูกมองว่าไม่เป็นธรรมชาติ  โฮโมเซ็กช่วลจึงถูกมองว่าเป็นการกระทำที่ผิดธรรมชาติ เช่นเดียวกับการคุมกำเนิด ความคิดเกี่ยวกับธรรมชาติเกิดขึ้นในศาสนาและปรัชญาวิทยาศาสตร์

          คริสต์ศตวรรษที่ 19 มีทฤษฎีหลายทฤษฎีที่อธิบายเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ ทฤษฎีนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากนักสำรวจชาวอังกฤษชื่อเซอร์ริชาร์ด เบอร์ตัน ซึ่งเดินทางไปสำรวจตะวันออกกลางและเมดิเตอร์เรเนียนซึ่งเป็นเขตที่มีการยอมรับพฤติกรรมแบบโฮโมเซ็กช่วล เขตดังกล่าวนี้เบอร์ตันเรียกว่า เขตโซตาดิก  ทัศนคติของการแพทย์อธิบายว่าพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนจากรักต่างเพศถือว่าเป็นโรคชนิดหนึ่ง  นักสังคมและนักเศรษฐศาสตร์ชาวเยอรมันชื่อฟรีดริช แองเกิลส์อธิบายลักษณะของพฤติกรรมเบี่ยงเบนนี้  แองเกิลส์กล่าวว่าพฤติกรรมรักเพศเดียวกันระหว่างเด็กหนุ่มกับชายสูงวัยในสังคมกรีกเป็นผลมาจากแรงขับทางเพศของผู้ชายที่มากเกินไป

          บทความของเวสต์ฟัลในปี ค.ศ.1869 ยืนยันความคิดทางการแพทย์ที่กล่าวว่าโฮโมเซ็กช่วลเป็นอาการของโรคทางจิต หรือผู้ที่บกพร่องทางอารมณ์  ก่อนหน้านั้นในปี ค.ศ.1844 แพทย์ชาววรัสเซียชื่อเฮนริช คาน เขียนหนังสือเรื่อง Psychopathia Sexualis โดยกล่าวว่าอาการป่วยทางจิตได้แก่การสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง การมีเพศสัมพันธ์กับศพ  กับศพ กับรูปปั้น  กับเด็กชาย และเพศสัมพันธ์ระหว่างหญิงกับหญิง  ในปี ค.ศ.1791 มีคำอธิบายทางการแพทย์ระบุว่าอาการโฮโมเซ็กช่วลเป็นอาการป่วยทางจิต 

          จนถึงช่วงทศวรรษที่ 1950 แนวคิดทางการแพทย์ก็เริ่มถูกท้าทาย  ในปี ค.ศ.1957 เอเวอลีน ฮูเกอร์ นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ณ เมืองลอสแองเจลีส ทำหารศึกษาผู้ชายที่เป็นโฮโมเซ็กช่วลเปรียบเทียบกับผู้ชายธรรมดา ผลการศึกษาพบว่าผู้ชายทั้งสองกลุ่มนี้ไม่มีความแตกต่างกัน ในปี ค.ศ.1974 สมาคมจิตแพทย์อเมริกันก็ลบชื่อโฮโมเว็กช่วลออกจากการเป็นโรคจิต ทั้งนี้อาจมีสาเหตุมาจากแรงกดดันจากขบวนการเคลื่อนไหวของชาวเกย์ในช่วงเวลานั้น

          ซิกมันด์ ฟรอยด์ อธิบายว่าความสนใจทางเพศแบบพิเศษเป็นความผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นชายชอบหญิงหรือชายชอบชายก็ตาม  นอกจากนั้นฟรอยด์ยังกล่าวว่าโฮโมเซ็กช่วลมิใช่โรคจิต  การศึกษาทางมานุษยวิทยาเกี่ยวกับเรื่องเพศมักจะสะท้อนให้เห็นทัศนคติของตะวันตก  การศึกษาของคลีแลน เอส ฟอร์ด และ แฟรงค์ เอ บีช(1951) อธิบายว่าการเป็นโฮโมเซ็กช่วลเป็นส่วนหนึ่งของสัตว์ประเภทเลี้ยงลูกด้วยนม  เมื่อเกิดการเคลื่อนไหวเรื่องเสรีภาพของชาวเกย์ยุคใหม่ ประเด็นเกี่ยวกับโฮโมเซ็กช่วล คนแต่งตัวและแสดงกิริยาผิดเพศ  และเรื่องความพึงพอใจทางเพศ กลายเป็นเรื่องสำคัญและเกิดแนวทางการศึกษาในเรื่องนี้โดยตรง  การศึกษาในรุ่นแรกๆ ได้แก่การศึกษาของเอสเธอร์ นิวตันเรื่องการแต่งกายเลียนแบบหญิง ในหนังสือเรื่อง Mother Camp(1979) การศึกษาของเดนนิส เวอร์เนอร์ เรื่องระเบียบวิธีวิจัยและทฤษฎีที่ใช้ศึกษาโฮโมเซ็กช่วลเพศชาย (1979)  และการศึกษาของเฮิร์ดท์เกี่ยวกับพิธีกรรมแลกน้ำอสุจิในหมู่เกาะเมลานีเซีย ในเรื่อง Guardians of the Flutes(1981)


ผู้เขียน: ดร

เอกสารอ้างอิง:

David Levinson and Melvin Ember (eds.) Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. Pp.1173-1178.

Garnets, L. & Kimmel, D. C. (Eds.). 2003. Psychological perspectives on lesbian, gay and bisexual experiences. New York: Columbia University Press

Laumann et al. 1994. The Social Organization of Sexuality. The University of Chicago Press.


หัวเรื่องอิสระ: ความพึงพอใจทางเพศ