คำศัพท์

Sacrifice

               การบูชายัญหมายถึงการกระทำที่เกิดขึ้นในพรมแดนของความศักดิ์สิทธิ์แห่งเทพเจ้า คำว่า sacrifice มาจากภาษาลาตินว่า sacrificium ซึ่งหมายถึงการกระทำพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์   อีมิล เดอร์ไคม์ อธิบายว่าการรวมกลุ่มเพื่อบูชาเทพเจ้าคือการแสดงออกทางจิตใจของกลุ่มคน    อิวานส์ พริทชาร์ดอธิบายว่าศาสนาเป็นเรื่องของการอุทิศตัวกับพระเจ้า เพื่อล้างบาป ทำจิตใจให้สะอาด และ สำนึกต่อการทำผิด ความหมายของศาสนาตามความคิดดังกล่าวเป็นเรื่องของความผูกพันกับพระเจ้า พระเจ้าจะอยู่เหนือโครงสร้างทางสังคม และการบูชาด้วยสิ่งของวัตถุจะเป็นวิธีการติดต่อกับพระเจ้าที่สำคัญ  การบูชาเทพเจ้าคือสิ่งที่สังคมเตรียมไว้เรียบร้อยแล้วเพื่อที่ยืนยันถึงจิตวิญญาณที่สูงส่ง    พริทชาร์ดศึกษาชาวนูเออร์ซึ่งมีการบูชายัญด้วยเลือดและอาหาร

          การตีความเรื่องพิธีบูชายัญตามความหมายของศาสนาคริสต์นั้น เป็นเรื่องของการทำความเข้าใจเรื่องการปฏิบัติในพิธีมากกว่าการอธิบายตามคัมภีร์    การศึกษาของกิ๊บสันในประเทศฟิลิปปินส์ได้แยกประเภทของพิธีกรรมออกเป็นกลุ่มๆ  การปฏิบัติในพิธีกรรมอาจมีหลายอย่าง แต่บางอย่างอาจมีความสำคัญเช่น ในเผ่านูเออร์ การฆ่าสัตว์เป็นพิธีที่สำคัญมาก  การประกอบพิธีบูชายัญในเผ่านูเออร์มีสัญลักษณ์มากมายเกิดขึ้น และการตีความสัญลักษณ์ก็เป็นสิ่งที่น่าศึกษา โดยเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์ทางจิตใจของมนุษย์กับพระเจ้า  การศึกษาของคอมบ์ ชิลลิ่งในสังคมของชาวโมร็อคโคที่เป็นมุสลิม พบว่ากิจกรรมการฆ่าสัตว์เพื่อบูชายัญ โดยการใช้หอกทิ่มแทงสัตว์แสดงให้เห็นความรุนแรง เลือดของสัตว์เปรียบเสมือนการเสียความบริสุทธิ์ของเจ้าสาว และการให้กำเนิดทารก  ในสังคมโมร็อคโค การบูชายัญด้วยสัตว์คือการแสดงให้เห็นระบบสังคมที่ผู้ชายมีอำนาจ

          กิ๊บสันกล่าวว่าในสังคมของชาวบูอิด การฆ่าสัตว์และการประกอบอาหารในพิธีกรรม เป็นการทำให้กับดวงวิญญาณต่างๆ       สังคมของชาวบูอิด การบูชายัญด้วยสัตว์มีความหมายต่างๆเกิดขึ้นมากมาย แต่การศึกษาความหมายดังกล่าวถูกตีความด้วยทฤษฎีที่แตกต่างกันไป   การอธิบายความหมายของพิธีบูชายัญในสังคมกรีกของเดเทียนและเวอร์แนนท์ พบว่าชาวกรีกให้ความสำคัญกับเรื่องการจัดการกับศพมากกว่าการประหารเหยื่อเพื่อบูชายัญ   การบูชายัญด้วยสัตว์ จึงเป็นการกระทำเชิงสัญลักษณ์ที่ซับซ้อน  อย่างไรก็ตาม นักมานุษยวิทยาวิเคราะห์ความหมายของพิธีบูชายัญต่างกัน และพยายามสร้างทฤษฎีของพิธีดังกล่าวขึ้นมา แต่การอธิบายความหมายของพิธียังคงถูกตีความว่าเป็นเรื่องของการฆ่าเพื่อสังเวย และการปลดเปลื้องตนเอง

          บล็อกกล่าวว่าการตีความพิธีบูชายัญมีส่วนคาบเกี่ยวกับการทำพิธีประเภทอื่นๆซึ่งอาจมีการฆ่าสัตว์ปรากฏอยู่ เช่น พิธีเปลี่ยนสถานภาพ พิธีเริ่มวัยหนุ่มสาว พิธีแต่งงาน และการเคลื่อนไหวทางศาสนา เป็นต้น บล็อกเชื่อว่าพิธีกรรมเหล่านี้เกี่ยวข้องกับโลกทัศน์ ความเชื่อ และ อำนาจของสังคม   คำถามสำคัญประการหนึ่งคือ ทำไมจึงมีการฆ๋าสัตว์เพื่อการบูชายัญในพิธีที่เป็นสัญลักษณ์อย่างสอดคล้องลงตัว   ในการศึกษาของเลวี่สเตราส์ เรื่อง The Savage Mind  อธิบายว่าการใช้สัตว์ในพิธีมีความหมาย 2 ประการ คือ 1) หมายถึงการแบ่งแยกพรมแดนระหว่างสัตว์ที่เป็นของศักดิ์สิทธิ์กับสัตว์ธรรมดาทั่วไป และ 2) หมายถึงความสำคัญและคุณค่าของสัตว์ประเภทนั้นที่ใช้บูชาในพิธี

          ความคิดเกี่ยวกับโครงสร้างของพิธีทำให้พิธีมีความสมบูรณ์มีระเบียบที่ตายตัว ซึ่งสะท้อนความกลมเกลียวหรือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสังคม  เลวี่สเตราส์อธิบายว่าในสังคมเผ่าอะบอริจินมีการจัดระเบียบที่ลงตัว และการจัดประเภทของสัตว์ก็ขึ้นอยู่กับการล่าสัตว์  ชาวอะบอริจินจะมีการจัดระเบียบ และจัดประเภทของสัตว์ไว้  อย่างไรก็ตามคำอธิบายของเลวี่สเตราส์ก็ใช้ได้เฉพาะสังคมขนาดเล็กที่ยังชีพด้วยการล่าสัตว์หรือเพาะปลูก  ซึ่งแตกต่างไปจากสังคมที่มีระบบการเกษตรและปศุสัตว์เชิงพาณิชย์  ความหมายของสัตว์เลี้ยงจึงเป็นการบ่งบอกพรมแดนที่ต่างกันระหว่าง “วัฒนธรรม” กับ “ธรรมชาติ”   เอ็ดมันด์ ลีชกล่าวว่าความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับวัฒนธรรมนั้นจำเป็นต้องมีหน่วยคงที่ ซึ่งการมีกฎข้อบังคับ หรือข้อห้ามภายในสังคมจะช่วยให้ความสัมพันธ์ดำรงอยู่ได้ 

          ดังนั้นมนุษย์ สัตว์และสถานที่จึงต้องมีข้อห้ามคอยกำกับ และการจะเปลี่ยนพรมแดนจากข้อห้ามหนึ่งไปยังข้อห้ามอื่นๆจะทำให้เกิดสภาวะอันตราย หากพิจารณาว่าการใช้สัตว์บูชายัญเกี่ยวข้องกับโลกทางวัตถุ ก็จะพบว่าสังคมมีการจัดระเบียบ  และมีพิธีกรรม การใช้สัตว์บูชายัญเพื่อสังเวยเทพเจ้าก็เพื่อทำให้เทพเจ้าพอใจ ขณะเดียวกันก็เป็นการไถ่บาปให้ตัวมนุษย์ การทำพิธีบูชายัญจึงเป็นการแก้ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับอำนาจเหนือธรรมชาติ  และการใช้สัตว์เพื่อการบูชายัญจะต้องเป็นสัตว์เลี้ยง ขณะที่สัตว์ประจำเผ่าต้องเป็นสัตว์ที่มาจากป่า


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Alan Barnard and Jonathan Spencer (eds). 1996 Encyclopedia of Social and Cultural Anthropology. Routledge : London. P.497-499.

Carter Jeffrey (ed.). 2003 Understanding Religious Sacrifice: A Reader. London: Continuum,

Henri Hubert, and Marcel Mauss. 1964 Sacrifice. It’s Nature and Function. Chicago: The University of Chicago Press.


หัวเรื่องอิสระ: การบูชายัญ