คำศัพท์

Race

       Race หมายถึง เผ่าพันธุ์ในทางกายภาพ ซึ่งชาวตะวันตกใช้มาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 โดยอาศัยความรู้วิทยาศาสตร์มาอธิบายการกำเนิดและวิวัฒนาการของเผ่าพันธุ์มนุษย์ หรือ    Homo sapiens  สายพันธุ์ของมนุษย์มีรูปร่างหน้าตาแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นสีผิว รูปศรีษะ หรืออวัยวะทางร่างกายต่างๆ  ฟรังซัว เบอร์เนียร์ แยกประเภทเผ่าพันธุ์เป็น 4 เผ่า ได้แก่  เผ่ายุโรป  แอฟริกา  เอเชีย และแลปส์   ในปี ค.ศ.1781 โจฮัน ฟรีดริช บลูเมนแบ็ค  เป็นผู้บัญญัติคำเรียกเผ่า “คอเคเซียน” (Caucasian)  เพื่ออธิบายประเภทของเผ่าพันธุ์ 5 เผ่า ซึ่งนอกจากคอเคเซียนแล้ว ยังมีมองโกเลียน เอธิโอเปียน (ได้แก่มนุษย์ในเขตซาฮาร่า แห่งแอฟริกา) อเมริกัน และมาลายัน  

          คำอธิบายนี้มีอิทธิพลและก่อให้เกิดความเข้าใจว่ามนุษย์แบ่งเป็นสีผิวต่างๆ เช่น ผิวขาว ผิวเหลือง ผิวดำ และผิวแดง ซึ่งเป็นความคิดแบบตะวันตก  นอกจากนั้นยังเชื่อว่าเผ่ามาลายันคือชนในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก    ในปัจจุบัน มีการแบ่งเผ่าพันธุ์เป็น 7 เผ่า ได้แก่ คอเคซอยด์ , มองโกลอยด์, ออสเตรลอยด์ปกติ ,ออสเตรลอยด์แคระ(นิกริตอส), คองกอยด์ปกติ, คองกอยด์แคระ(ปิกมี่ส์) และคาร์ปอยด์(บุชแมน)

          ทฤษฎีเผ่าพันธุ์มีการโต้แย้งระหว่างกลุ่มที่เชื่อความไม่เท่าเทียมทางเผ่าพันธุ์ กับกลุ่มที่เชื่อความเท่าเทียม แต่ละกลุ่มต่างถกเถียงกันด้วยทฤษฎีที่ต่างกันระหว่างทฤษฎีชีววิทยาที่สนับสนุนความไม่เท่าเทียม กับทฤษฎีสังคมวัฒนธรรมที่เชื่อเรื่องศักยภาพของมนุษย์ที่เท่ากัน  ในการศึกษาทางมานุษยวิทยากายภาพที่อาศัยความรู้ชีววิทยา จะสนใจศึกษาร่างกายของมนุษย์ที่ต่างกัน เช่น ขนาดร่างกาย กะโหลก กระดูก ความจุสมอง ฯลฯ ในขณะที่นักมานุษยวิทยาวัฒนธรรมสนใจศึกษาบริบทสังคมและวัฒนธรรมที่มนุษย์แสดงออก

ในช่วงทศวรรษ 1940 ประเด็นการศึกษาเผ่าพันธุ์มนุษย์หันมาสนใจเรื่องการถ่ายทอดทางพันธุกรรม เพื่อทำความเข้าใจความหลากหลายของประชากรมนุษย์ในพื้นที่ต่างๆ  ธีโอโดซิอุส โดบชันสกี อธิบายว่าเผ่าพันธุ์หมายถึงประชากรที่มีความแตกต่างกันโดยยีนส์ ซึ่งมนุษย์จากที่ต่างๆจะผสมพันธุ์ข้ามกันได้ แนวคิดเรื่องยีนส์ล้มล้างทฤษฎีเผ่าพันธุ์ที่บริสุทธิ์

          อย่างไรก็ตาม แนวคิดที่แบ่งแยกความเจริญออกจากความล้าหลังในยุคล่าอาณานิคมของตะวันตกนำไปสู่การรังเกียจชนเผ่าที่ล้าหลัง ซึ่งถือเป็นอคติทางสังคมและวัฒนธรรม   สตีเฟ่น กูลด์ กล่าวว่า  ความลำเอียงทางเผ่าพันธุ์เกิดขึ้นมานาน แต่การชี้ขาดทางชีววิทยาได้ตอกย้ำความต่ำต้อยของกลุ่มคนที่ถูกเหยียดหยามให้สาหัสขึ้นไปอีก ข้อสังเกตนี้ นำไปสู่ข้อการตั้งคำถามเชิงการเมือง เช่น ปัญหาการค้าทาส  ลัทธิอาณานิคม ชาตินิยม  และความรู้วิทยาศาสตร์ตะวันตก

          การวิจัยทางมานุษยวิทยาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา กลับไปตั้งคำถามเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมและชีววิทยา สนใจเรื่องการปรับตัวทางวัฒนธรรมเชิงชีวภาพ ศึกษาบทบาทของยีนส์ที่หลากหลายในการปรับตัวตามสภาพแวดล้อม และการดำรงชีพของประชากร


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Krimsky, Sheldon; Sloan, Kathleen, eds. 2011. Race and the Genetic Revolution: Science, Myth, and Culture. Columbia University Press.

Lieberman, Leonard; Jackson, Fatimah Linda C. 1995. "Race and Three Models of Human Origins". American Anthropologist 97 (2): 231–242.

Mevorach, Katya Gibel 2007. "Race, racism, and academic complicity". American Ethnologist 34 (2): 238–241.

Robert H. Winthrop. 1991. Dictionary of Concepts in Cultural Anthropology. Greenwood Press, New York. Pp.227-231.

Stocking, George W. 1968. Race, Culture and Evolution: Essays in the History of Anthropology. University of Chicago Press

Waples, Robin S.; Gaggiotti, Oscar 2006. "What is a population? An empirical evaluation of some genetic methods for identifying the number of gene pools and their degree of connectivity". Molecular Ecology 15 (6): 1419–39.


หัวเรื่องอิสระ: เผ่าพันธุ์