คำศัพท์

Power

        แม็กซ์ เวเบอร์ อธิบายว่าอำนาจหมายถึงแนวโน้มของบุคคลที่ต้องการต่อต้านขัดขืนในสิ่งที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคนอื่นๆในสังคม  เวเบอร์เชื่อว่าการใช้อำนาจครอบงำคือรูปแบบปกติของความสัมพันธ์เชิงอำนาจซึ่งจะถูกเปลี่ยนเป็นความสัมพันธ์ที่ขึ้นอยู่กับคำสั่งและความแตกต่าง  ความสัมพันธ์นี้เป็นปัญหาหลักของการวิเคราะห์สังคม แหล่งที่มาของอำนาจอาจเป็นทั้งผลผลิต และวิธีการจัดการ เช่น รูปแบบการปกครองต่างๆ  ส่วน คาร์ล มาร์กซ์สนใจอำนาจในมิติเรื่องการกดขี่ข่มเหงและการฉกฉวยประโยชน์ของผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้ปกครอง  มาร์กซ์อธิบายให้เห็นถึงวิถีการผลิตของสังคมและวิธีการที่มีการควบคุมและใช้ประโยชน์จากผลผลิตนั้นซึ่งจะทำให้เห็นการกดขี่  การควบคุมการผลิตจะกลายเป็นรูปแบบการปกครองทรัพย์สิน และความสัมพันธ์ทางสังคมจากการผลิต ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของอำนาจและวัตถุสิ่งของซึ่งนำไปสู่การแย่งชิงอำนาจ

          อีมิล เดอร์ไคม์เชื่อว่าสังคมและสถาบันทางสังคมเป็นหน่วยที่จรรโลงบุคคลให้ดำรงอยู่ได้  สิ่งที่เดอร์ไคม์สนใจคือการค้นหาความสัมพันธ์เชิงหน้าที่ระหว่างสถาบันต่างๆ  ดังนั้น ถึงแม้ว่าทัศนะของเดอร์ไคม์จะไม่ปิดกั้นเรื่องอำนาจและการแข่งขันระหว่างปัจเจก แต่เดอร์ไคม์ก็ไม่ได้อธิบายให้เห็นการสนทนาเชิงอำนาจของปัจเจกที่ทำให้สถาบันทางสังคมดำรงอยู่ เนื่องจากเดอร์ไคม์สนใจมิติอำนาจด้านเดียวที่เป็นเรื่องของการนิยามตัวเองของสถาบันทางสังคม ส่วนแนวคิดเรื่องอำนาจในทัศนะของเดอร์ไคม์จะหมายถึง “อำนาจทางสังคม” มิใช่การต่อสู้แข่งขันระหว่างปัจเจกที่มีผลประโยชน์ขัดแย้งกัน

          อำนาจก่อให้เกิดการจัดประเภทของการส่งต่อข้อมูล เช่น การส่งเชิงเศรษฐศาสตร์ การเมือง หรือศาสนา  นอกจากนั้นยังทำให้เกิดระบบของสังคม หรือพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของความสัมพันธ์ต่างๆ  อำนาจจึงทำให้เกิดพันธสัญญาของการวิเคราะห์แบบองค์รวมซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของมานุษยวิทยา ถึงแม้ว่าอำนาจจะใช้เน้นเรื่องความขัดแย้งและการไม่ลงรอยทางสังคม  แนวคิดเรื่องอำนาจช่วยให้เกิดความเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทางสังคม

          อำนาจประกอบด้วยการบังคับควบคุมเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย การวิเคราะห์อำนาจแบ่งออกได้เป็น 3 ลักษณะ คือ หนึ่ง การควบคุมทรัพยากรที่จะนำมาใช้เพื่อบรรลุเป้าหมาย  สอง ยุทธวิธีของการใช้อำนาจจากตัวแทนต่างๆ และ สามผลที่ตามมาหรือวิธีการตอบโต้จากกลุ่มคนที่ถูกกดขี่ข่มเหง   อำนาจในสามลักษณะนี้ได้รับความสนใจมาก แต่การวิเคราะห์ในแต่ละส่วนเป็นการวิเคราะห์แบบกว้างๆ เช่น วิเคราะห์ด้วยทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่ ซึ่งสนใจที่จะวิเคราะห์ระบบการเมืองในช่วงที่มีความสงบ เนื่องจากสถาบันต่างๆทำงานสอดประสานกัน แต่แนวทฤษฎีนี้จะไม่สนใจยุทธวิธีของการปฏิสัมพันธ์ นอกจากศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์  นอกจากนั้น นักมานุษยวิทยาที่สนใจศึกษาเรื่องตัวแทน ที่มาจากสถาบันหรือบุคคล ตั้งคำถามที่เป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์รูปแบบอำนาจ 3 แบบนี้ เพื่ออธิบายว่าความสัมพันธ์เชิงอำนาจจะถูกพัฒนาขึ้นภายใต้การควบคุมกดขี่ของผู้ปกครอง ซึ่งจะเกิดขึ้นในทางปฏิบัติของตัวแทนต่างๆ  อาจกล่าวได้ว่าการวิเคราะห์อำนาจค่อยๆเปลี่ยนจากการศึกษาเรื่องการใช้ทรัพยากรไปสู่เรื่องยุทธวิธีที่ส่งผลกระทบในส่วนต่างๆ แนวโน้มการศึกษาอำนาจจึงซับซ้อนขึ้น โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่าอำนาจเกี่ยวข้องกับการกดขี่บีบบังคับ

          ทรัพยากรเคยถูกแบ่งเป็นสองลักษณะ คือ ทรัพยากรที่เป็นวัตถุ และที่เป็นสัญลักษณ์  อย่างไรก็ตามการอธิบายถึงทรัพยากรทั้งสองแบบนี้มิได้อธิบายด้วยแนวคิดที่ต่างกัน แต่มักจะเป็นการชี้ให้เห็นภาพของอำนาจที่ปรากฏอยู่  ที่ดินทางเกษตรกรรมคือทรัพยากรที่มักจะถูกหยิบยกขึ้นมาวิเคราะห์ แต่ที่ดินก็ยังเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงอำนาจและผู้ที่อยู่ใต้อำนาจด้วย   เช่นเดียวกัน การขับไล่ออกจากศาสนาก็เป็นการใช้ทรัพยากรเชิงสัญลักษณ์ แต่การกระทำดังกล่าวยังมีนัยยะทางเศรษฐกิจด้วย  ความสำคัญของทรัพยากรที่เป็นสัญลักษณ์ซึ่งมีส่วนสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจชี้ให้เห็นว่าอำนาจทุกรูปแบบมีผลกระทบต่ออุดมการณ์ความคิดและการกระทำต่างๆ  อำนาจจะถูกใช้เพื่อทำลายสถาบันและความคิด ตัวแทนของอำนาจมักก็จะเกิดความขุ่นเคืองโดยการกระทำของพวกอนุรักษ์นิยม  อำนาจจึงผูกติดอยู่กับทรัพยากรที่จับต้องได้และทรัพยากรเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้อาจไม่ถูกควบคุมทางสังคมเสมอไป

          ทรัพยากรวัตถุและสัญลักษณ์ บางครั้งอาจถูกมองเป็นส่วนสำคัญในการสร้างอำนาจ 3 ประเภท คือ อำนาจเศรษฐกิจ อำนาจความคิด และอำนาจที่ใช้บังคับ   ส่วนที่เป็นอำนาจที่ใช้บังคับมักจะเป็นอำนาจเชิงสัญลักษณ์ที่เป็นอิสระ ส่วนอำนาจเชิงความคิดและเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นเมื่อมีการแลกเปลี่ยนแบบต่างตอบแทน ในขณะที่อำนาจที่ใช้บังคับไม่จำเป็นต้องมีการแลกเปลี่ยน  ตัวอย่างเช่น แรงงานทำงานเพื่อแลกกับค่าแรง หรือลูกน้องแสดงความจงรักภักดีต่อเจ้านายเพื่อหวังให้เจ้านายคุ้มครองดูแล  รูปแบบการบังคับดังกล่าวนี้วางอยู่บนพื้นฐานการแลกเปลี่ยน ถ้าบุคคลเข้าใจกฎกติกาดังกล่าว บุคคลก็จะได้รับการเชิดชูโดยการมีคนอยู่ใต้อำนาจ  อำนาจที่ใช้บังคับจึงไม่ต้องอาศัยการแลกเปลี่ยน แต่อำนาจเชิงบังคับจะถูกแสดงออกเมื่อมีการฝ่าฝืน  อำนาจเชิงบังคับเป็นรูปแบบหนึ่งของอำนาจที่เป็นสัญลักษณ์ที่ไม่ต้องอ้างอิงสิ่งใด อำนาจแบบนี้จะเห็นจากการใช้ความรุนแรงเมื่อคนในวัฒนธรรมนั้นไม่เคารพเชื่อฟังหรือปฏิบัติตาม

          นอกจากนั้นยุทธวิธีของการใช้อำนาจบังคับ มักจะเกี่ยวข้องกับการแสดงออกที่เห็นชัดเจน ซึ่งเต็มไปด้วยความหวาดกลัวต่อความรุนแรงท่ามกลางหมู่ประชาชนที่ถูกควบคุม  อาจกล่าวได้ว่า อำนาจเชิงบังคับนี้อาจเป็นที่รับรู้ในหมู่ประชาชนหรือไม่ก็ได้ แต่ยุทธการหรือวิธีการของการใช้อำนาจบังคับมักจะเป็นที่รับรู้กันทั่วไป   นักสังคมวิทยาชื่อทัลค็อตต์ พาร์สัน ได้แบ่งประเภทผลกระทบของอำนาจเป็น  3 แบบ คืออำนาจความคิดจะทำให้เกิดผลกระทบต่อการปฏิบัติสั่งการ  อำนาจเศรษฐกิจก่อให้เกิดผลกระทบเรื่องความแตกต่างของฐานะ  และอำนาจเชิงบังคับก่อให้เกิดผลกระทบเรื่องความแปลกแยก  แต่การจัดประเภทแบบนี้ นักมานุษยวิทยามิได้นำมาใช้ เพราะความสัมพันธ์ระหว่างผลกระทบกับอำนาจทั้งสามแบบนี้มีปัญหา  ตัวอย่างเช่น เมื่อมีการสั่งการจะทำให้เกิดการปะทะสังสรรค์ของบุคคลที่แตกต่างกัน ซึ่งในและวัฒนธรรมจะเกิดแตกต่างกัน

          เวเบอร์แยกรูปแบบอำนาจเป็น 3 แบบ คือ อำนาจจารีตประเพณี อำนาจผู้นำ และอำนาจแบบเหตุผล  อำนาจแต่ละแบบจะมีวิธีคิดที่แตกต่างกัน กล่าวคือ อำนาจแบบจารีตประเพณีเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเรื่องของธรรมชาติ  อำนาจผู้นำจะเป็นอำนาจของคนๆเดียวที่ออกคำสั่ง  ส่วนอำนาจแบบเหตุผลคืออำนาจที่มีการบริหารจัดการ  แต่ละอำนาจจะขึ้นอยู่กับทรัพยากรเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งเชื่อมโยงถึงรูปแบบการจัดการทางสังคม เช่นระบบราชการ การปกครองที่มีผู้ชายเป็นใหญ่ หรือองค์กรทางศาสนา   อำนาจตามความคิดของเวเบอร์ถูกนำไปใช้โดยนักมานุษยวิทยาในทศวรรษที่ 1950 โดยเฉพาะการศึกษาของเอ็ดมันด์ ลีช, เฟรเดริค บาร์ท และวิคเตอร์ เทอร์เนอร์  นักมานุษยวิทยาเหล่านี้อธิบายให้เห็นว่าการเมืองเป็นเรื่องซับซ้อนและมีความเชื่อมโยงของหลายสถาบันทางสังคม  นักมานุษยวิทยาการเมืองในช่วงปลายทศวรรษที่ 1950 และ1960 จึงหันเหออกจากแนวคิดของเรดคลิฟฟ์-บราวน์ ซึ่งเคยอธิบายว่าองค์กรทางการเมืองเป็นองค์กรที่จัดระเบียบสังคม หรือทำให้ระเบียบดำรงอยู่ได้โดยการใช้อำนาจบังคับ หรือใช้กำลังควบคุม นักมานุษยวิทยาสมัยหลังเชื่อว่าการต่อสู้ทางการเมืองเกี่ยวข้องกับองค์กรทางสังคมที่มีความหลากหลายและผันแปร และชี้ให้เห็นว่าองค์กรเหล่านี้เป็นแหล่งของทรัพยากรเชิงอำนาจ

          การศึกษายุทธวิธีของการใช้อำนาจอาจแยกได้ 2 ลักษณะ คือ หนึ่งศึกษาจากการแสดงเชิงนามธรรมในเกมส์อำนาจ   และสองศึกษาจากการกระทำของบุคคลกลุ่มต่างๆในมิติประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม  ทฤษฎีเกี่ยวกับเกมส์อำนาจจะเป็นการศึกษาเรื่องพันธมิตร คู่ต่อสู้ และเวลา   “เกมส์อำนาจ”หมายถึงการแสวงหาอำนาจ  การธำรงรักษาอำนาจ และการขยายอำนาจออกไปให้มากที่สุดโดยใช้ทรัพยากรให้น้อยที่สุด เกมส์อำนาจเป็นนามธรรมและต้องคิดคำนวณ  ถึงแม้ว่านักมานุษยวิทยาหลายคนจะลังเลที่จะใช้แนวคิดนี้ แต่พวกเขาก็ใช้แนวคิดนี้แบบหลวมๆโดยการใช้เพื่อสำรวจสถานการณ์และรบบการเมืองที่หลากหลาย  เช่น การศึกษาของอีแวนส์-พริทชาร์ด(1940) เป็นการศึกษาคู่ต่อสู้ในสังคมที่นับญาติข้างพ่อ  การศึกษาของเทอร์เนอร์(1957) ศึกษายุทธวิธีทางการเมืองของการสืบทายาทข้างแม่และการตั้งถิ่นฐานอยู่กับฝ่ายผู้ชาย  การศึกษาของลีช(1954) ศึกษาระบบเครือญาติและการแต่งงานซึ่งทำให้เกิดการจัดลำดับช่วงชั้นทางสังคม หรือทำให้บุคคลมีความเท่าเทียมกัน 

          การศึกษายุทธวิธีโต้ตอบของผู้ที่ถูกกดขี่ข่มเหงหรืออยู่ใต้อำนาจ เพิ่งได้รับความสนใจเมื่อไม่นานนี้ การศึกษาในประเด็นดังกล่าวเป็นส่วหนึ่งของการเห็นความสำคํยของกระบวนการต่อต้านขัดขืนของประชาชนที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ  การศึกษาของเจมส์ ซี สก็อตต์(1985)ชี้ให้เห็นว่าผู้ที่ถูกกดขี่เป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ผู้ที่ถูกกดขี่เหล่านี้ก็มีวิธีการของตนเองที่จะสร้างอำนาจขึ้นมาต่อสู้กับผู้ปกครอง   การศึกษาของลีช(1954) อธิบายว่าบุคคลต้องเผชิญหน้ากับทางเลือกของการกระทำ และนำการกระทำนั้นมาเป็นเครื่องมือให้ได้อำนาจ  แนวคิดนี้ทำให้ลีชอธิบายสังคมของชาวคะฉินซึ่งมีความไม่มั่นคงและความเคลื่อนไหวจากชาวบ้าน แนวคิดนี้ทำให้นักมานุษยวิทยาศึกษาอำนาจในบริบททางวัฒนธรรมที่ขึ้นอยู่กับรูปแบบของอำนาจในพื้นที่   อย่างไรก็ตาม  แนวคิดที่มีอิทธิพลของลีช คือความเชื่อเกี่ยวกับการกดขี่ครอบงำ และความต้องการที่จะปลดปล่อยตัวเองจากการครอบงำ

          การศึกษาทางชาติพันธุ์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตของกลุ่มคนต่างๆซึ่งดิ้นรนต่อสู้เพื่อที่จะปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระ และมีอำนาจในตัวเอง  การศึกษาของลีชอาจยกคำว่า “อำนาจ” ขึ้นมาซึ่งชวนให้สับสนได้  ถ้าอำนาจในที่นี้มีไม่มีขอบเขตแค่การกดขี่ข่มเหง   อำนาจอาจหมายถึงอิสระ หรือความรู้ซึ่งพบอยู่ในการศึกษาทางมานุษยวิทยา แต่อำนาจไม่ควรเทียบเท่ากับความรู้ แต่อำนาจคือผลลัพธ์จากความรู้และสภาพทั่วไปก่อนที่จะมีความรู้  อำนาจมิใช่อิสระ เป็นอำนาจคือบริบทที่ช่วยสร้างความหมายให้กับความเป็นอิสระ

          แนวคิดของแอนโทนิโอ  แกรมชี เกี่ยวกับเรื่อง hegemony และแนวคิดของมิเชล ฟูโกต์เรื่องวาทกรรม  คำว่า hegemony เป็นการอธิบายให้เห็นรูปแบบการควบคุมที่มิได้มาจากอำนาจรัฐ แต่การควบคุมนี้ทำให้เกิดอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันของฐานะบุคคล  ส่วนวาทกรรมเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่เกี่ยวโยงกันระหว่างระบบความรู้ การสร้างคำอธิบายและอำนาจ  รูปแบบอำนาจที่หลากหลายนี้มีส่วนควบคุมและกำหนด “ความจริง”  แนวคิดทั้งสองนี้ค่อนข้างยากต่อการทำความเข้าใจ หากกล่าวว่าอำนาจมีส่วนสร้างความจริง  ผู้วิเคราะห์ก็ต้องแยกให้เห็นว่าอำนาจที่เป็นรูปธรรมต่างจากอำนาจเชิงนามธรรมอย่างไร

          ถ้าการวิเคราะห์สนใจแค่เรื่องอำนาจ ซึ่งถูกใช้โดยบุคคลหรือกลุ่มคนผ่านการใช้ทรัพยากรเพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเอง  ดังนั้นจำเป็นต้องทำความเข้าใจว่าอำนาจมิใช่เรื่องราวทั้งหมดในชีวิตมนุษย์  แต่การวิเคราะห์อำนาจต้องคำนึงถึงพลังทางสังคมซึ่งอาจทำให้อำนาจเปลี่ยนไป  ประสบการณ์ของการกดขี่ข่มเหงไม่เพียงแต่เป็นการสั่งให้เกิดอำนาจเท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งที่ทำให้มีอำนาจหลายแบบ หรือการไม่มีอำนาจก็ได้  อำนาจที่หลากหลายเป็นส่วนหนึ่งในความเป็นมนุษย์ ดังนั้นการมีอำนาจเบ็ดเสร็จโดยคนๆเดียวจึงเป็นเรื่องยากและไม่สมบูรณ์ การควบคุมทางสังคมแบบเบ็ดเสร็จจึงเป็นเกิดขึ้นจริงได้ยาก  เหตุผลของสิ่งนี้ก็คือความสัมพันธ์ของการยอมอยู่ใต้อำนาจและเหนืออำนาจเป็นการเสริมความมั่นคงของกันและกัน ซึ่งสำคัญยิ่งกว่าการถูกสั่งการโดยตรงจากผู้มีอำนาจ

          นอกจากนั้น ความสัมพันธ์เชิงอำนาจยังพัฒนาขึ้นภายใต้เงื่อนไขที่การใช้อำนาจบีบบังคับพร้อมจะทำงานได้  กล่าวคือ การใช้อำนาจบังคับได้แทรกตัวอยู่ในส่วนต่างๆของสังคมแล้ว เหตุผลนี้ทำให้ฟูโก้อธิบายว่าการศึกษาอำนาจจำเป็นต้องศึกษาจากบริบทประวัติศาสตร์ ซึ่งฟูโกต์ได้สำรวจวิธีการที่อำนาจหยั่งรากลึก   ปัจจัยที่ต่างกันสองด้าน ด้านหนึ่งเชื่อว่าสังคมมีอยู่จริง อีกด้านหนึ่งเชื่อว่าอำนาจถูกสร้างขึ้นตามช่วงเวลาต่างๆ ปัจจัยเหล่านี้นำไปสู่การเปลี่ยนควาหมายของอำนาจที่ขึ้นอยู่กับข้อมูลภาคสนาม  นักวิจัยมักจะเขียนคำว่าอำนาจในภาษาอังกฤษว่า Power เพราะมีความเข้าใจว่าการยอมอยู่ใต้อำนาจ เสมือนกับการใช้อำนาจกดขี่ข่มเหง  อย่างไรก็ตาม นักวิจัยมักจะคิดเช่นนี้ก็ต่อเมื่อเจอความเสี่ยง เพราะอำนาจเกี่ยวข้องกับสิ่งที่จะทำให้เกิดอำนาจ อำนาจเป็นเรื่องของมนุษย์และความเป็นไปได้ต่างๆของความตั้งใจที่มนุษย์ก่อขึ้น  ซึ่งเรื่องต่างๆเหล่านี้จะพบเห็นการใช้อำนาจทั้งที่ตั้งใจและมิได้ตั้งใจ


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

David Levinson and Melvin Ember (eds.) 1996. Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. Pp.1003-1008.

Gordon, Collin (1980). Forward. In Power/Knowledge, Foucault, Michel, Pantheon Books, New York,

Michel Foucault, Lectures at the College de France, 1977–78: Security, Territory, Population, 2007, pp. 1–17.


หัวเรื่องอิสระ: อำนาจ