คำศัพท์

Plural Marriage

        การแต่งงานแบบ plural marriage หรือ  polygamous marriage หมายถึงการแต่งงานที่ผู้ชายแต่งงานกับผู้หญิงหลายคนในเวลาเดียวกัน หรือ เรียกว่า polygyny  ส่วนผู้หญิงที่แต่งงานกับผู้ชายหลายคนในเวลาเดียวกันเรียกว่า polyandry  นอกจากนั้นยังมีการแต่งงานแบบหมู่ คือมีผู้ชายและผู้หญิงหลายคนที่แต่งงานพร้อมกัน   การแต่งงานแบบกลุ่มเป็นการแต่งงานที่พบเห็นได้มากกว่าการแต่งงานหญิงหนึ่งชายหนึ่ง หรือ monogamy   การแต่งงานแบบกลุ่มมีความสำคัญทั้งทางสังคมและชีววิทยา รูปแบบการแต่งงานลักษณะนี้จะมีความไม่สมมาตร จากการศึกษาของเมอร์ด็อกพบว่าสังคมประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์มีการแต่งงานแบบกลุ่มซึ่งผู้ชายจะแต่งงานกับผู้หญิงหลายคน   การแต่งงานแบบกลุ่มมิใช่กฎเกณฑ์ทางสังคม  บางสังคมมีการแต่งงานแบบผัวเดียวเมียเดียว  และรูปแบบการแต่งงานที่พบได้ยากคือการแต่งงานที่ผู้หญิงมีสามีหลายคน  เมอร์ด็อกกล่าวว่า ครอบครัวแบบที่ผู้หญิงมีสามีหลายคนเป็นครอบครัวพิเศษที่ไม่ค่อยเกิดขึ้น จะเกิดขึ้นเฉพาะสังคมและสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติบางแห่งเท่านั้น

          การแต่งงานที่ผู้ชายมีภรรยาได้หลายคน เป็นการแต่งงานที่พบเห็นได้ในหลายวัฒนธรรม โดนเฉพาะในเขตกึ่งทะเลทรายซาฮาร่าของแอฟริกา  ผู้หญิงที่เป็นภรรยาของผู้ชายซึ่งมีภรรยาหลายคนอาจเป็นผู้ที่มีทรัพยากรหรือมีสมบัติของตัวเอง และสามารถเป็นแรงงานและหาทรัพยากรมาสู่ครอบครัว  การแต่งงานแบบหลายภรรยาที่มีสามีคนเดียวกัน อาจทำให้ผู้ชายได้รับความสะดวกสบายในการดำรงชีพมากขึ้น  การแต่งงานแบบนี้อาจสัมพันธ์กับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในกลุ่มของภรรยา ซึ่งนำไปสู่การหย่าร้าง  ดังนั้นผู้หญิงจึงต้องมีการจัดตั้งเป็นกลุ่มเพื่อดูแลกันเอง และช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดจากความไม่ลงรอยของภรรยาที่มีสามีร่วมกัน  แต่ในสังคมที่ผู้หญิงไม่ต้องการรวมตัวกัน ภรรยาแต่ละคนจำเป็นต้องแยกไปอยู่อาศัยตามลำพัง  จากการศึกษาของไวท์(1988) พบว่ามีสังคมประมาณ 42 เปอร์เซ็นต์ที่จับตัวผู้หญิงมาเป็นเมียหรือนางบำเรอ  สังคมที่จับผู้หญิงอื่นมาเป็นเมียกับสังคมที่กลุ่มภรรยาแยกกันอยู่ตามลำพัง เป็นสังคมที่เกิดขึ้นเฉพาะบางพื้นที่เท่านั้น

          หลายๆสังคม การเลือกคู่ครองมิใช่เรื่องง่ายนัก มิใช่เรื่องคนคนสองคน แต่ขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรองระหว่างสองครอบครัว ซึ่งส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับครอบครัวของฝ่ายชาย  ในสังคมที่ผู้ชายสามารถมีภรรยาได้หลายคนจะมีรูปแบบการแต่งงานที่ชัดเจน  ผู้ชายหลายคนอาจซื้อผู้หญิงมาเป็นภรรยา ราคาค่าตัวของผู้หญิงจะเรียกว่า “ราคาเจ้าสาว” (bride-price)  ส่วนมากมักจะเป็นวัวควาย ม้า หรือสัตว์เลี้ยงอื่นๆ และอาจเป็นเงินทองและสมบัติอื่นๆก็ได้   ราคาเจ้าสาวที่แลกด้วยสัตว์เลี้ยงจะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในเขตที่แห้งแล้ง มีฝนน้อย และสัตว์เลี้ยงหายาก  ผู้ชายอาจใช้แรงงานของตัวเองเป็นราคาเจ้าสาว โดยเข้าไปทำงานให้ครอบครัวของผู้หญิงในช่วงเวลาหนึ่ง  ในสังคมที่ยังชีพด้วยการเก็บของป่าล่าสัตว์ ผู้หญิงมักจะถูกใช้เป็นสินค้าในการแลกเปลี่ยน  การแต่งงานระหว่างญาติพี่น้องต่างพ่อแม่อาจทำให้เกิดสมดุลในการแลกเปลี่ยนผู้หญิง  แต่บางสังคมผู้ชายจะแต่งงานกับผู้หญิงในครอบครัวของตัวเอง

          รูปแบบการแต่งงานที่แตกต่างกัน อาจทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ต่างกัน  การแต่งงานที่เจ้าสาวเป็นลูกสาวของพี่ชายพ่อ อาจทำให้ระบบการแลกเปลี่ยนทรัพยากรในหมู่ญาติพี่น้องชายฝ่ายพ่อมีความเข้มแข็ง การแต่งงานแบบนี้สัมพันธ์กับการตั้งถิ่นฐานอยู่กับญาติข้างพ่อ  ส่วนการแต่งงานที่เจ้าสาวเป็นลูกสาวของพี่ชายแม่ จะทำให้ความช่วยเหลือกันในหมู่ญาติผู้ชายข้างแม่มีความเข้มแข็ง ซึ่งสัมพันธ์กับการตั้งถิ่นฐานอยู่กับญาติฝ่ายแม่  การแต่งงานที่เจ้าสาวเป็นลูกสาวของพี่สาวพ่อ จะทำให้ผู้ชายมีโอกาสอยู่กับลูกชายของตัวเองหลังแต่งงาน  การแต่งงานที่เจ้าสาวเป็นลูกสาวของพี่สาวแม่จะทำให้ญาติพี่น้องฝ่ายหญิงมีความเข้มแข็ง  แต่การแต่งงานแบบนี้ไม่ค่อยพบเห็นมากนัก เนื่องจากผู้ชายไม่ค่อยมีอำนาจ

          ในสังคมที่ผู้ชายมีภรรยาหลายคนส่วนใหญ่  ผู้ชายจะมีฐานะและอำนาจ   ในสังคมที่มีการแข่งช่วงชั้นทางสังคม ผู้ชายที่อยู่ในชนชั้นสูงจะมีอำนาจในการเลือกผู้หญิงมาเป็นภรรยาหลายคน  เช่น ผู้ที่เป็นหัวหน้าเผ่า หรือผู้นำกลุ่ม  ผู้ชายที่ร่ำรวย ผู้ชายที่สืบเชื้อสายมาจากกษัตริย์ ผู้ชายที่เป็นหมอรักษาโรค หรือมีอำนาจวิเศษ  ในสังคมที่มีความซับซ้อน เช่น สังคมบาบีโลเนียนและอาณาจักรโรมัน จะมีการปกครองที่เข้มงวด เนื่องจากผู้ชายที่มีฐานะสูง และมีอำนาจทางการเมืองมักจะมีภรรยาหลายคน

          สังคมมนุษย์หลายแห่ง จะพบเห็นการแต่งงานที่ผู้หญิงมีสามีหลายคนได้ในบางแห่ง เช่น แอฟริกา  และอินเดีย  การแต่งงานแบบนี้ไม่เหมือนกับการที่ผู้ชายมีภรรยาหลายคน  เพราะผู้หญิงที่มีสามีหลายคนจะมีโอกาสมีลูกไม่มากนัก  สังคมที่อนุญาตให้ผู้หญิงมีสามีหลายคนส่วนใหญ่จะเป็นสังคมที่ผู้หญิงแต่งงานกับญาติพี่น้องฝ่ายชายของตัวเอง และเป็นสังคมที่ขาดแคลนทรัพยากรในการยังชีพ  เช่น ที่ดินมีจำกัดหรือขาดความอุดมสมบูรณ์

          คำถามคือ ทำไมสังคมมนุษย์จึงนิยมให้ผู้ชายมีภรรยาได้หลายคน คำถามนี้เป็นปริศนาของนักมานุษยวิทยา  แต่ถ้ามองดูสังคมของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจะพบว่าตัวผู้มักจะมีตัวเมียหลายตัว  แต่สัตว์ปีกส่วนใหญ่ตัวเมียจะมีตัวผู้หลายตัว เพราะตัวเมียจะทำหน้าที่เลี้ยงลูกอ่อนได้ดีกว่า   ในสังคมที่ผู้ชายมีภรรยาหลายคนส่วนใหญ่ สัดส่วนรหว่างเพศชายและเพศหญิงจะไม่เท่ากัน  อย่างไรก็ตาม จากหลักฐานหลายแห่งพบว่าสังคมที่ผู้ชายมีภรรยาหลายคน จำนวนเพศชายจะมีน้อยกว่า หรืออัตราการรอดชีวิตของเพศชายขณะคลอดจะมีน้อยกว่า จึงทำให้เกิดสัดส่วนทางเพศที่ไม่เท่ากัน การคัดเลือกตามธรรมชาติเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สัดส่วนผู้ชายผู้หญิงไม่เท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นสังคมมนุษย์หรือของสัตว์อื่นๆ  เมื่อเพศชายต้องแข่งขันเพื่อแย่งเพศหญิง จะทำให้เพศชายต้องเสี่ยงอันตราย ถ้าไม่แข่งขัน เพศชายก็จะไม่มีคู่

          สังคมที่ผู้ชายมีภรรยาหลายคน ผู้ชายมักจะมีอำนาจและมีความร่ำรวย  ยิ่งมีฐานะดีเท่าไรผู้ชายก็ยิ่งมีภรรยามากขึ้นเท่านั้น  สังคมแบบนี้จะให้ความสำคัญกับผู้ชาย  ลูกชายจะมีบทบาทสำคัญกว่าลูกสาว  คำถามคือทำไมจึงไม่ค่อยเห็นผู้หญิงมีสามีหลายคน   คำตอบอาจประกอบด้วยหลายเหตุผล อย่างแรกอาจเนื่องจากผู้หญิงมีฐานะไม่ดีเท่าผู้ชาย และต้องมีภาระเลี้ยงดูลูกมากกว่า  ผู้หญิงแต่งงานกับผู้ชายด้วยเหตุผลที่ต้องการปรับปรุงชีวิตของตัวเองให้ดีขึ้น ต้องการให้ผู้ชายช่วยปกป้องดูแล และเป็นที่พึ่งทางเศรษฐกิจ    ผู้ชายที่ร่ำรวยจึงเป็นที่ต้องการของผู้หญิง ผู้ชายร่ำรวยจึงมีโอกาสมีภรรยาหลายคน

          อย่างไรก็ตาม ทรัพยากรเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้หญิง  ในสังคมพื้นเมืองหลายแห่ง ผู้หญิงมักจะมีเรื่องราวขัดแย้งเมื่อต้องแสวงหาทรัพยากรเพื่อมาเลี้ยงลูก  ผู้หญิงในสังคมที่ยังชีพด้วยการเร่ร่อนหาอาหารจะมีภาระเลี้ยงดูลูกมากกว่าผู้หญิงในสังคมอื่นๆ  ในช่วงที่สังคมยุโรปค่อยๆเปลี่ยนมาเป็นสมัยใหม่ ผู้หญิงต้องออกไปทำงานนอกบ้านตั้งแต่อายุยังน้อย หรือแต่งงานตั้งแต่เด็ก เนื่องจากผู้หญิงเริ่มสูญเสียการครอบครองทรัพยากร  เมื่อเปรียบเทียบอำนาจของผู้ชายที่มีภรรยาหลายคน กับอำนาจของผู้หญิงที่มีสามีหลายคนจะพบว่าผู้ชายจะมีอำนาจมากกว่า  เพราะผู้หญิงที่มีสามีหลายคนมักจะเป็นผู้หญิงที่อยู่ในสังคมที่ขาดแคลนทรัพยากร  และผู้หญิงที่อยู่ในครอบครัวร่ำรวย ซึ่งต้องการควบคุมมรดกและสมบัติให้อยู่ในกลุ่มลูกหลาน

          พฤติกรรมของเพศผู้และเพศเมียในสังคมของสัตว์ทุกชนิด สามารถดูได้จากลักษณะของการเลี้ยงดูลูก และการจับคู่ผสมพันธุ์   เช่น การต่อสู้แย่งชิงเขตแดนจะพบได้ในพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์  ในสังคมของมนุษย์ ปัจจัยที่มีผลต่อการอยู่รอดคือโรคภัยไข้เจ็บ   จากแนวคิดเรื่องประวัติชีวิต ทำให้ทราบว่ามนุษย์มีแนวโน้มที่จะสร้างครอบครัวที่ผู้ชายมีภรรยาได้หลายคน กล่าวคือ เมื่อมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคมากขึ้น  สังคมก็จะยอมให้ผู้ชายมีภรรยาได้มากขึ้น  นอกจากนั้น ผู้หญิงที่มีสามีคนเดียวกันก็จะแยกครัวเรือนเป็นของตัวเองโดยไม่ยอมมาอยู่ในบ้านเดียวกัน   ภาวะโรคภัยยังทำให้ผู้ชายนำผู้หญิงจากหมู่บ้านอื่นมาเป็นภรรยามากขึ้น

          ความสัมพันธ์ระหว่างภาวะโรคภัยและการมีภรรยาหลายคนของผู้ชาย ดูได้จากสังคมมนุษย์ในเขตร้อน  จากการศึกษาของดักลาส อาร์ ไวท์ และ ไมเคิล แอล เบอร์ตัน(1988) พบว่ามนุษย์ที่อาศัยในเขตทุ่งหญ้าสวันนามักจะมีภรรยาหลายคน  การศึกษาของโลว์ (1990) พบว่าพื้นที่ที่แห้งแล้งมักจะไม่ค่อยมีโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งขัดแย้งกับการศึกษาของไวท์และเบอร์ตัน  เนื่องจากไวท์และเบอร์ตันไม่ได้แยกความแตกต่างระหว่างพื้นที่อาศัยแบบป่าเขตร้อนชื้น กับพื้นที่อื่นๆที่มีความชื้น  อาจกล่าวได้ว่า การแต่งงานแบบมีภรรยาหลายคน หรือสามีหลายคน มีเงื่อนไขของสภาพแวดล้อมทางนิเวศน์ และแบบแผนทางวัฒนธรรมเป็นสำคัญ


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

David Levinson and Melvin Ember (eds.) 1996. Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York,  pp.948-951.

Kathryn M. Daynes, 2001. More Wives than One: Transformation of the Mormon Marriage System, 1840–1910 Urbana: University of Illinois Press

Lowell C. Bennion, 2012 “Mapping the Extent of Plural Marriage in St. George, 1861–1880,” BYU Studies Quarterly 51, no. 4: 34–49


หัวเรื่องอิสระ: การแต่งงานแบบหลายผัวหลายเมีย