คำศัพท์

Phenomenological Anthropology

        มานุษยวิทยาที่ศึกษาปรากฏการณ์ หรือ Phenomenological Anthropology หมายถึงวิธีการเขียนงานทางมานุษยวิทยาและการศึกษาทางชาติพันธุ์ที่เน้นประเด็นเกี่ยวกับความคิดและสำนึก  ในวิชาปรัชญา ปรากฏการณ์วิทยาหมายถึง วิธีวิทยาเพื่อศึกษาวิธีคิดที่เป็นบ่อเกิดของความรู้เกี่ยวกับการเข้าใจ และการหยั่งรู้ซึ่งเป็นพื้นฐานเบื้องต้น และในฐานะเป็นการสร้างความจริงเกี่ยวกับสำนึกในขั้นสุดท้าย การศึกษานี้เพื่อให้ทราบถึงโครงสร้างของจิตสำนึกเหล่านั้น   ในปัจจุบันนักปรากฏการณ์วิทยาส่วนใหญ่ได้ใช้วิธีศึกษาและแนวคิดตามแนวทางของนักคิดด้านปรากฏการณ์ที่สำคัญ คือ เอ็ดมันด์ เฮอร์เซิล การศึกษาของเฮอร์เซิลได้วางแนวทางศึกษาและแนวทฤษฎีเกี่ยวกับโครงสร้างสากลของประสบการณ์ของปัจเจกบุคคลที่มีจิตสำนึกเกี่ยวกับตนเองในบริบททางวัฒนธรรม

          มานุษยวิทยาที่ศึกษาประสบการณ์ สนใจวิธีวิทยาของเฮอร์เซิล เนื่องจากอาจเป็นประโยชน์ต่อการวิจัยภาคสนาม และทำความเข้าใจวิธีคิดของคนพื้นเมือง และเพื่อให้เข้าใจว่าอะไรคือประสบการณ์ของคนเหล่านั้น  นอกจากนั้น การศึกษามานุษยวิทยาปรากฎการณ์ ยังทำให้รู้ว่าวัฒนธรรมอื่นที่มิใช้ยุโรปมีวิธีการผลิตปรากฏการณ์ของตัวเองอย่างไร  เช่นการฝึกวิปัสนาของชาวพุทธอาจหมายถึงปรากฏการณ์วิทยาในความหมายของตะวันตก  ปรากฏการณ์วิทยาของตะวันตกและการนั่งสมาธิของชาวพุทธต่างเป็นตัวแทนของการหยั่งรู้ทางปัญญา และเป็นวิธีการเข้าถึงการมีสติและสำนึกที่ดีที่สุด  ทั้งชาวพุทธและตะวันตกเชื่อมั่นในโครงสร้างของจิตสำนึกที่เป็นสากล

          ผู้ที่มีอิทธิพลมากต่อการศึกษาปรากฏการณ์ในการวิจัยภาคสนาม คือพอล ริเคอร์ ลูกศิษย์ชาวฝรั่งเศสของเฮอร์เซิล   ริเคอร์ไม่ใช่นักมานุษยวิทยา แต่ศึกษาความหมายในคัมภีร์ทางศาสนา เขาโจมตีการศึกษาแนวโครงสร้างนิยมของเลวี่-สเตราส์    กล่าวคือเลวี่-สเตราส์อธิบายว่าคัมภีร์สามารถเข้าใจได้โดยสังเกตจากประสบการณ์ที่เกิดจริงของบุคคลที่เป็นผู้เขียนเรื่องเหล่านั้น แต่ริเคอร์โต้แย้งว่า การตีความเรื่องที่เขียนต้องอาศัยเข้าสังเกตประสบการณ์ของชาวบ้านที่ยังมีชีวิตซึ่งใช้เรื่องเหล่านั้นเป็นแนวทางปฏิบัติ  กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ   ความเป็นมนุษย์ที่แท้จริงดำรงอยู่ในเรื่องที่เขียนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตำนาน เทพนิยาย เรื่องเล่า บทหรือละคร ก็ตาม และยังอยู่ในประสบการณ์ในชีวิตที่ทำให้บุคคลเข้าไปมีส่วนในเรื่องเหล่านั้น  ความหมายของเรื่องแต่งจึงเกิดขึ้นจากการมีสำนึกของคนที่ยังมีชีวิตอยู่

          การศึกษาทางชาติพันธุ์อาจใช้คัมภีร์ทางศาสนาเป็นเครื่องทดลอง คัมภีร์ที่เล่าเรื่องตำนาน หรือจารึกอื่นๆ อาจไม่ได้ให้ข้อมูลเหมือนที่ชาวพื้นเมืองอธิบายให้ฟัง  การวิเคราะห์จึงจำเป็นต้องศึกษาประสบการณ์ตรงของมนุษย์เพื่อที่จะเข้าใจความหมายหมายที่แท้จริงของคัมภีร์ ซึ่งดำรงอยู่และมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมนั้น   นักมานุษยวิทยาหลายท่านเริ่มตระหนักว่าประสบการณ์ที่สัมพันธ์กับเรื่องทางศาสนา และพิธีกรรมเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเฉพาะ และใช้วิธีการเก็บข้อมูลตามปกติไม่ได้  แนวคิดเรื่อง Transpersonalism หรือ ความเป็นปัจเจกที่เปลี่ยนผ่าน คือ การศึกษากระบวนการระลึกรู้ประสบการณ์แบบพิเศษเพื่อหาข้อมูลในเชิงวิทยาศาสตร์ สิ่งที่ก่อให้เกิดประสบการณ์พิเศษก็คือ การอยู่ในสภาวะที่ไร้สติสัมปชัญญะ  ประสบการณ์ความเป็นปัจเจกที่เปลี่ยนผ่าน ยังรวมถึงปรากฏการณ์ของการออกจากร่าง การมองเห็นอนาคต การถูกเข้าสิง ประสบการณ์ใกล้ตาย การนั่งทางใน การตกอยู่ในภวังค์ และประสบการณ์แบบลึกลับ

          ตัวอย่างการศึกษาทางมานุษยวิทยาต่อประสบการณ์พิเศษ หรือปรากฏการณ์ปัจเจกที่เปลี่ยนผ่าน ได้แก่งานศึกษาของลีเดอร์แมน  ซึ่งอธิบายการรักษาโรคในวัฒนธรรมมาเลย์  คำว่า angin หรือแปลว่าลมภายใน หมายถึงประสบการณ์ที่เกิดขึ้นขณะที่มีพิธีกรรมการรักษาโรค    ลีเดอร์แมนกล่าวว่าชาวบ้านพยายามอธิบายความหมายของพิธีกรรมดังกล่าวให้เธอเข้าใจ แต่เธอต้องทำความเข้าใจพิธีดังกล่าวด้วยประสบการณ์ของเธอเอง  เมื่อเธอเข้าร่วมพิธีรักษาโรค   เธอรู้สึกปั่นป่วนอยู่ภายในอกเหมือนดั่งลมพายุที่รุนแรง  ลีเดอร์แมนได้อธิบายความหมายของพิธีกรรมจากประสบการณ์ของเธอ โดยเปรียบพิธีเหมือนสายลม ประสบการณ์ร่วมในพิธีรักษาโรคแบบ angin นั้นคือความเชื่อ และถูกเปรียบเปรยให้เห็นเป็นรูปธรรมที่เป็นจริง และเป็นประสบการณ์ที่ซับซ้อน

          ในขณะที่นักมานุษยวิทยาหันมาสนใจประสบการณ์ของมนุษย์มากขึ้น การศึกษาที่มีชื่อเสียงในคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยนักจิตวิทยาชื่อ วิเลียม เจมส์ เป็นการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์โดยตรง  วิธีการศึกษาที่เป็นที่รู้จักของเจมส์คือการศึกษาแบบมีส่วนกระทำ  เขาได้พัฒนาวิธีการศึกษาความจริงเกี่ยวกับประสบการณ์โดยเรียกว่า radical empiricism หรือ วิธีประจักษ์นิยมแบบแก่นแท้  การหาแก่นแท้โดยการสังเกตมิใช่การนำตัวเองเข้าไปอยู่ในการสร้างองค์ประกอบที่ไม่ก่อให้เกิดประสบการณ์ตรง และมิใช่การแยกตัวออกจากองค์ประกอบของประสบการณ์ตรงเหล่านั้น  ในความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงถึงประสบการณ์ในเชิงปรัชญาแล้วต้องอาศัยการใช้ประสบการณ์ศึกษาสิ่งเหล่านั้นด้วย ความสัมพันธ์ต่างๆที่มีต่อประสบการณ์ต้องเป็นสิ่งที่เป็นจริง

          อัลเฟร็ด ชูทซ์ ศึกษาสังคมจากสิ่งที่เขาเรียกว่า “phenomenology of intersubjectivity” หรือ ปรากฏการณ์ระหว่างบุคคล   คือการใช้ประสบการณ์ของคนหนึ่งสัมพันธ์กับคนอื่นๆ   การเข้าถึงคนอื่นต้องเป็นสิ่งที่แตกต่าง เพื่อที่จะทำให้ความสัมพันธ์ทางสังคมเป็นสิ่งที่อธิบายได้    การศึกษาปรากฏการณ์ระหว่างบุคคล ที่สัมพันธ์กับคนอื่น อาจทำให้มีข้อสงสัยต่อความเชื่อเกี่ยวกับ “ข้อสันนิษฐาน” ของประสบการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรม  ทัศนคติทางสังคมขึ้นอยู่กับการเผชิญหน้ากันแบบตัวต่อตัวซึ่งต้องมีคนอยู่สองฝ่ายในพื้นที่เดียวกัน    และการมีสำนึกจะเกิดขึ้นพร้อมๆกัน   มนุษย์ต้องการการหยั่งรู้ถึงการมีคนอื่น เช่นเดียวกับต้องการรู้ว่ามีตัวเอง การมีคนอื่นอยู่จะถูกแสดงผ่านสัญลักษณ์ที่เข้าใจได้  ลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นมาเองในประสบการณ์ทางสังคมที่มีการกระทำต่างๆ

          ลาจฮ์ลิน กล่าวว่าหนทางที่ดีที่สุดที่จะเปิดเผยโครงสร้างของจิตสำนึกก็คือการนำตัวเราเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ทางวัฒนธรรมหลายๆแบบซึ่งมีประสบการณ์ของมนุษย์ปรากฏอยู่  จากนั้นจึงสำรวจดูโครงสร้างที่เป็นสากลของประสบการณ์ ซึ่งมีการผสมรวมกันของปรากฏการณ์วิทยาและประสาทวิทยา  วิธีการนี้เรียกว่าการประยุกต์ใช้ประสาทวิทยาของปรากฏการณ์    หากกล่างเฉพาะเจาะจงลงไปก็คือ นักมานุษยวิทยาทำให้เราพบกับสำนึกที่เต็มไปด้วยประสบการณ์ของมนุษย์ และขณะเดียวกันก็ชี้แนะให้เห็นความคล้ายคลึงกันของประสบการณ์ที่เป็นสากล

          อาจเป็นไปได้ว่าเหตุผลสำคัญส่วนใหญ่ในการศึกษาปรากฏการณ์วิทยาในช่วงปัจจุบันก็คือ ประเด็นเกี่ยวกับจิตสำนึก ซึ่งเป็นประเด็นที่ถูกเพิกเฉยมานานจากความรู้แบบวิทยาศาสตร์ ซึ่งถูกพิจารณาใหม่ในการศึกษาภาคสนาม และแนวคิดทฤษฎีทางชาติพันธุ์  วิธีศึกษาทางปรากฏการณ์วิทยาอาจมีความสำคัญยิ่งขึ้นเมื่อมานุษยวิทยาหันมาสนใจประเด็นเกี่ยวกับความหมายและประสบการณ์ในบริบททางสังคมและสภาวะปัจเจกที่เปลี่ยนแปลงไป


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Charles D.Laughlin ใน David Levinson and Melvin Ember (eds.) 1996. Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York.

Kim Knibbe and Peter Versteeg. 2008. Assessing Phenomenology in Anthropology

Lessons from the Study of Religion and Experience. Critique of Anthropology, vol. 28 no. 1: 47-62.

Robert Desjarlais and C. Jason Throop. 2011. Phenomenological Approaches in Anthropology. Annual Review of Anthropology Vol. 40: 87-102

Spiegelberg, Herbert, 1982. The Phenomenological Movement: A Historical Introduction. The Hague: Martinus Nijhoff


หัวเรื่องอิสระ: มานุษยวิทยาเชิงปรากฎการณ์