คำศัพท์

Peripatetics

        สังคมแบบ Peripatetics  หมายถึงสังคมที่ประกอบด้วยกลุ่มเครือญาติกลุ่มเล็กๆ ซึ่งยังชีพและทำมาหากินด้วยการเป็นแรงงาน ลูกจ้าง หรือผลิตสินค้าให้กับคนอื่นๆ  แต่การเป็นลูกจ้างของคนเหล่านี้จะไม่มีความยั่งยืน หรือเกิดขึ้นในเวลาสั้นๆ และอยู่ตามรอยต่อของพรมแดนรัฐชาติ  กลุ่มคนที่เป็นลูกจ้างชั่วคราวเหล่านี้ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง และไม่มีที่ทำกิน ดังนั้นพวกเขาจึงขายแรงงานเป็นสำคัญ  แต่พวกเขาจะไม่ได้ทำงานตลอดเวลา เพราะจะมีงานมาเป็นช่วงๆ  ลูกจ้างชั่วคราวเหล่านี้อาจหารายได้จากเล่นดนตรี จำอวด แสดงมายากล เล่นเกมส์ ดูดวง ดูโชคชะตาราศี  ทำนายอนาคต เป็นหมอทำเสน่ห์  เป็นช่างตีเหล็ก ขายสัตว์เลี้ยง ทำงานฝีมือ เป็นขอทาน หรือ เป็นมิจฉาชีพ

          ถึงแม้ว่า งานวิจัยเกี่ยวกับกลุ่มคนเร่ร่อนรับจ้างชั่วคราว โดยเฉพาะกลุ่มยิปซีในยุโรป จะเป็นการวิจัยที่ละเอียดและเป็นระบบ แต่ก็เป็นการศึกษาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970   เมื่อนำข้อมูลเกี่ยวกับยิปซีซึ่งถูกศึกษาจากนักวิชาการหลายคนมาเปรียบเทียบกัน จะพบว่ามีความเหมือนกันบางอย่าง จึงทำให้กลุ่มคนเร่ร่อนรับจ้างชั่วคราวมีเอกลักษณ์แตกต่างจากกลุ่มคนอื่นๆ    เบอร์แลนด์(1982) เรียกกลุ่มคนเหล่านี้ว่า  Peripatetics  ซาโล(1979) เรียกว่ากลุ่มคนที่มีอาชีพพิเศษ   เฮย์เด็น(1979) เรียกว่ากลุ่มคนเร่ร่อนรับจ้าง   ราโอ(1987) เรียกว่ากลุ่มคนเร่ร่อนที่ผลิตอาหารเองมิได้  นอกจากนั้น ยังมีคำเรียกอื่นๆที่อธิบายลักษณะของกลุ่มคนเหล่านี้ เช่น คนเร่ร่อนที่รวมกลุ่มช่วยเหลือกัน  คนเร่ร่อนเพื่อค้าขาย และ คนเร่ร่อนขายแรงงาน   นักวิจัยส่วนใหญ่จะอธิบายลักษณะของกลุ่มคนเหล่านี้ว่ายังชีพด้วยการเร่ร่อน แต่ไม่เหมือนกับชนเผ่าเร่ร่อนที่เลี้ยงสัตว์ในทุ่งหญ้าหรือเก็บของป่าล่าสัตว์  หากแต่เร่ร่อนด้วยการปรับตัวให้เข้ากับสภาพสังคมที่พบเจอ  เช่น ชาวเมอร์ซีในเขตตะวันตกเฉียงใต้ของเอธิโอเปียซึ่งยังชีพด้วยการรับจ้างพานักท่องเที่ยวไปเที่ยวในเขตต่างๆ

          การอธิบายถึงคนเร่ร่อนรับจ้างในสมัยโบราณ เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย เอเชียกลาง และตะวันออกกลาง บอกให้ทราบว่าคนเร่ร่อนจะมีความใกล้ชิดกับเขตเมืองในยุคแรกๆ  ถึงแม้ว่าคนเร่ร่อนในปัจจุบันจะอยู่ในสังคมที่ซับซ้อนซึ่งมีการแบ่งแรงงานตามประเภทต่างๆ แต่คนเร่ร่อนก็ยังคงเกี่ยวข้องกับสังคมชนบทในเขตเอเชียและแอฟริกา  แต่ทำไมการยังชีพด้วยการเร่ร่อนรับจ้างจึงไม่มีใครรู้ที่มา    นักวิชาการบางคนอธิบายว่าสาเหตุของการเร่ร่อนรับจ้างมีหลายประการ  บางคนเป็นคนต่างด้าวที่ลี้ภัยสงคราม เช่น ยิปซี บางคนเป็นนักเดินทาง เช่น ชาวเยนิช และสวีดิชแทตแทร์  บางคนเป็นผู้หนีภัยธรรมชาติ หรือ ความอดยากแร้นแค้น  บางคนเป็นพวกสูญเสียที่ดินทำกิน เช่น ชาวไอริชเร่ร่อน  นอกจากนั้น บางคนอาจเคยเป็นพวกเลี้ยงสัตว์เร่ร่อนแต่หันมาค้าขาย เช่น ชาวสก็อต

           ไม่ว่ากลุ่มคนเร่ร่อนรับจ้างจะเกิดขึ้นที่ใด พวกเขาก็จะทำงานรับจ้างอยู่เสมอ  ในขณะที่ชนเผ่าเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์หรือกลุ่มชนที่หาของป่าล่าสัตว์ค่อยๆลดน้อยลงไปเรื่อยๆ แต่กลุ่มคนเร่ร่อนรับจ้างกลับเพิ่มมากขึ้นและคงทน  สาเหตุที่การปรับตัวของคนเร่ร่อนรับจ้างได้รับการสนใจศึกษา อาจเนื่องมาจากความสัมพันธ์ของคนกลุ่มนี้กับคนอื่นๆที่ตั้งหลักฐานมั่นคง  เนื่องจากสภาพของคนเร่ร่อนรับจ้างเกิดขึ้นมาตั้งแต่โบราณ และอยู่นอกเหนือการควบคุมและกฎระเบียบต่างๆ  หากกลุ่มคนที่มีลักษณะเร่ร่อนและไม่มีอาชีพที่แน่นอนซึ่งพบเห็นได้ในหลายวัฒนธรรม คนเหล่านี้อาจมีอะไรร่วมกันบางอย่าง  งานวิจัยที่ศึกษาคนกลุ่มนี้ต่างชี้ให้เห็นลักษณะเฉพาะของคนเร่ร่อนรับจ้าง  แต่ไม่เหมือนกับคนกลุ่มอื่นๆ  ความแตกต่างระหว่างกลุ่มคนเร่ร่อนรับจ้างกับคนกลุ่มอื่นๆ อาจเนื่องมาจากการศึกษาที่ยังไม่ครอบคลุมและผิวเผิน

          กลุ่มคนเร่ร่อนรับจ้างในที่ต่างๆล้วนเป็นคนที่แทรกตัวอยู่ในคนกลุ่มใหญ่ของสังคม และมีวิถีชีวิตที่ต่างไปจากคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ภาษา การแต่งกาย การทำมาหากิน ขนบธรรมเนียมประเพณี และรวมถึงลักษณะรูปร่างหน้าตา  คนเร่ร่อนรับจ้างมักจะถูกดูหมิ่นเหยียดหยามจากคนอื่น จึงกลายเป็นคนส่วนน้อยทางสังคม  คนเร่ร่อนรับจ้างมักจะแยกตัวจากคนอื่น แต่พวกเขามักจะมีกลวิธีในการอยู่รอดโดยการต่อรองกับผู้มีอำนาจและแสดงเอกลักษณ์ของตนเองอย่างโดดเด่น    เอ็ดเวิร์ด สไปเซอร์ เรียกการแยกตัวของคนเร่ร่อนรับจ้างว่า “กระบวนการของการอยู่ตรงข้าม”   ในกลุ่มชาวยิบซีเร่ร่อนจะมีการสร้างกฎของกลุ่มโดยการไม่ยุ่งเกี่ยวกับคนภายนอก ถ้ามีการยุ่งเกี่ยวจะถือว่าทำผิดกฎของกลุ่ม

          อย่างไรก็ตาม สังคมยังคงต้องการกลุ่มคนเร่ร่อนรับจ้าง  คนเหล่านี้จึงมีความยืดหยุ่นและตั้งหลักแหล่งไม่ถาวร คนเร่ร่อนพร้อมจะย้ายถิ่นได้ตลอดเวลาเพื่อไปหางานทำในที่ใหม่  และการรวมกลุ่มก็มีลักษณะหลวมๆ คนแต่ละคนสามารถไปสร้างกลุ่มใหม่ได้เสมอ  สมาชิกในกลุ่มคนเร่ร่อนจะมีความคุ้นเคยใกล้ชิดกันมาก พวกเขาจะอพยพเดินทางและอาศัยอยู่ด้วยกัน และหางานทำในแบบเดียวกัน  ภายในกลุ่มของคนเร่ร่อนรับจ้างจะมีกฎระเบียบของตนเอง  มีการติดต่อกับเพื่อนฝูงและญาติพี่น้องที่อยู่ต่างแดนด้วยการโทรศัพท์ หรือเดินทางไปหาเป็นครั้งคราว  เครือข่ายความสัมพันธ์และขนบธรรมเนียมภายในกลุ่มคนเร่ร่อนจะมีการสืบทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่ง

          คนเร่ร่อนรับจ้างส่วนใหญ่จะรวมตัวในลักษณะเป็นกลุ่มของญาติพี่น้อง ญาติๆจะมีการแต่งงานกันเอง มีการรักษาเอกลักษณ์ทางชาติพันธุ์เพื่อแสดงว่าตนเองต่างจากคนอื่นๆอย่างชัดเจน  กลุ่มคนเร่ร่อนแต่ละกลุ่มจะมีอิสระเสรีภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำงาน การตั้งถิ่นฐาน หรือการควบคุมดูแลระเบียบของกลุ่ม  คนในกลุ่มจะจงรักภักดีและซื่อสัตย์ต่อกัน  คนเร่ร่อนจะไม่ไว้ใจคนแปลกหน้า นอกจากญาติพี่น้องซึ่งอยู่รวมกันแบบครอบครัวขยายและช่วยเหลือกันทั้งการทำมาหากินและสังคม  ครอบครัวของคนเร่ร่อนจะแยกบทบาทของสมาชิกด้วยเพศ อายุ และทักษะความสามารถ  ความแตกต่างของบุคคลเพียงอย่างเดียวคือเรื่องฐานะทางเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่ผู้ที่มีฐานะร่ำรวยและมีอำนาจคือหัวหน้ากลุ่มซึ่งมีความสัมพันธ์กับคนภายนอก แต่หัวหน้ากลุ่มมิได้มีการสืบทอดอำนาจ ทำให้สังคมของคนเร่ร่อนมีความเท่าเทียมกัน

          เมื่อนักวิชาการเน้นย้ำเรื่องความลื่นไหลของกลุ่มคนเร่ร่อนซึ่งถูกอธิบายว่าเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของคนกลุ่มนี้  กลุ่มคนเร่ร่อนรับจ้างหลายกลุ่มอาจมีการตั้งถิ่นฐานในช่วงเวลาสั้นๆในบางพื้นที่ แต่บางกลุ่มก็เร่ร่อนอยู่ในเฉพาะพื้นที่บางแห่งเท่านั้น    การศึกษาของซาโล(1986) มีการเปรียบเทียบกลุ่มคนเร่ร่อน 4 กลุ่มในอเมริกาเหนือ พบว่าคนเร่ร่อนมักจะมีการย้ายถิ่นเสมอๆ ซึ่งถือเป็นการปรับตัวในการยังชีพ  การเดินทางไปยังที่ต่างๆอาจเกิดขึ้นเนื่องจากการแสวงหาแหล่งทำมาหากิน  สถานที่บางแห่งอาจเหมาะสมในการตั้งถิ่นฐานนานกว่าที่อื่นๆ เนื่องจากมีทรัพยากรที่เพียงพอ แต่คนเร่ร่อนก็จะไม่อยู่อย่างถาวร

          ปัจจัยที่สำคัญที่มีผลต่อการย้ายถิ่นหรือตั้งหลักแหล่งของคนเร่ร่อน คือทรัพยากรและประโยชน์จากการทำมาหากิน  นักวิชาการส่วนใหญ่มักจะพูดถึงปัจจัยเหล่านี้และถือเป็นลักษณะเด่นของคนเร่ร่อนรับจ้างอีกอย่างหนึ่ง  ซาโลอธิบายว่าชีวิตของคนเร่ร่อนประกอบด้วยการควบคุมด้วยกฎระเบียบประเพณี และการใช้แรงงานของญาติพี่น้อง  สังคมของคนเร่ร่อนจะมีวิธีการอยู่รอดที่หลากหลายและมีการใช้แรงงานญาติพี่น้องบางคนที่มีความพร้อม  การทำมาหากินของคนเร่ร่อนจึงเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

          นักวิชาการหลายคนอธิบายว่ากลุ่มคนเร่ร่อนทั้งหลายมีลักษณะคล้ายกัน คือ เป็นคนที่อาศัยอยู่ในสังคมของผู้อื่นโดยการรับจ้าง  การศึกษาของโจเซฟ  เบอร์แลนด์(1982) อธิบายว่าคนเร่ร่อนเป็นคนที่ขายแรงงานเพื่อยังชีพ  ในสังคมที่มีความซับซ้อนล้วนมีช่องว่างของการให้บริการ  ดังนั้นจึงอาจทำให้เกิดปัญหาทางสังคม เช่น การบริการขาดตกบกพร่อง หรือประชาชนไม่ได้รับบริการจากรัฐ  คนเร่ร่อนรับจ้างจึงอาศัยช่องว่างนี้เข้ามาแสวงหาประโยชน์  แรงงานของคนเร่ร่อนจึงเป็นแรงงานที่เข้ามาช่วยเหลือในด้านบริการของรัฐ  การดำรงชีพของคนเร่ร่อน มีลักษณะที่หลากหลายและยืดหยุ่นมาก ซึ่งสามารถพบเห็นในในทุกสังคม  สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าสังคมที่ซับซ้อนจะประกอบด้วยกลุ่มคนที่อยู่นอกโครงสร้างทางสังคม และคนเร่ร่อนก็ทำให้เห็นว่ามนุษย์มีการปรับตัวเพื่อที่จะมีชีวิตรอด


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

David Levinson and Melvin Ember(eds.) 1996. Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. Pp.917-921.

Maria Carmela Gatto. Peripatetic Nomads along the Nile: Unfolding the Nubian Pan-Grave Culture of the Second Intermediate Period. Journal of Ancient Egyptian Interconnections, Vol.6, No.1


หัวเรื่องอิสระ: กลุ่มคนเร่ร่อนรับจ้างชั่วคราว