บทความ

การศึกษาเกย์ในสังคมไทย : 5ทศวรรษของการสร้างความรู้

15 มิ.ย. 2015 โดย ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เกิร่นนำ การแสวงหาความรู้เกี่ยวกับเกย์

                คำว่า “เกย์” เป็นคำที่มีนัยยะเชิงการเมืองและมีมิติทางประวัติศาสตร์   คำนี้เพิ่งปรากฎในสังคมตะวันตกในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 และถูกใช้เป็นคำเรียกเพื่อบ่งบอกว่าคนรักชอบเพศเดียวกันมีอัตลักษณ์เป็นอย่างไร และแตกต่างจากหญิงและชาย     อย่างไรก็ตาม ในการศึกษาทางวัฒนธรรม คำว่า “เกย์” อาจใช้ได้เฉพาะสังคมที่มีการนิยามและจัดระเบียบอารมณ์ความปรารถนาทางเพศ เช่นในสังคมยุโรปและอเมริกา ซึ่งเชื่อว่าความรู้สึกรักเพศเดียวกันมีแก่นแท้ในตัวเองและบุคคลสามารถหยั่งรู้ได้จากจิตสำนึก ความรู้สึกนี้ถูกนิยามด้วยคำว่า “โฮโมเซ็กช่วล”      แต่อีกหลายสังคม ไม่มีวิธีคิดเกี่ยวกับการนิยามอารมณ์ทางเพศ ทำให้การแสดงพฤติกรรมรักเพศเดียวกันเป็นเพียงการแสดงบทบาทหน้าที่ทางสังคม และไม่ถูกยกให้เป็นอัตลักษณ์ของบุคคล      ดังนั้นการศึกษา “เกย์” ในทางวัฒนธรรมจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจอิทธิพลความคิดของตะวันตกกับวิธีคิดเรื่องเพศในท้องถิ่น ซึ่งมีความซับซ้อนต่อการสร้างนิยามความหมายของอัตลักษณ์และพฤติกรรมทางเพศของบุคคล

                มิเชล ฟูโก้ (1998) เคยชี้ให้เห็นว่าความรู้วิทยาศาสตร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เข้ามาอธิบายความจริงเรื่องเพศ ทำให้เพศกลายเป็นเรื่องเชิงชีววิทยา  อวัยวะเพศจะกลายเป็นเครื่องบ่งบอกความเป็นหญิงและชาย  ความรู้นี้มีอิทธิพลต่อสังคมซึ่งนำไปสู่การออกกฎเกณฑ์และบรรทัดฐานที่ใช้เพศชายและเพศหญิงเป็นศูนย์กลาง  ส่งผลให้การแสดงออกทางเพศที่ไม่เป็นไปตามอดุมการณ์ทางสังคมจะถูกรังเกียจ เช่น โฮโมเซ็กช่วล     ดังนั้น การสร้างความรู้เกี่ยวกับเพศจึงมาพร้อมกับอำนาจและการควบคุม     เช่นเดียวกับการศึกษาของอีฟ เซดจ์วิค (1990) อธิบายให้เห็นว่าวัฒนธรรมตะวันตกในคริสต์ศตวรรษที่ 20 นำความรู้วิทยาศาสตร์มาเป็นมาตรฐานเพื่อตรวจวัดความจริงต่างๆในเชิงวัตถุวิสัย  เรื่องเพศก็ถูกตรวจสอบในแนวทางเดียวกันและนำไปสู่การแบ่งแยกเพศเป็นสองด้าน คือ “เพศตามธรรมชาติ” ได้แก่ชายและหญิงและอารมณ์แบบรักต่างเพศ   กับ “เพศผิดธรรมชาติ” ได้แก่ คนที่เกิดมามีสองเพศ  คนที่มีพฤติกรรมข้ามเพศ และ คนรักเพศเดียวกัน การแบ่งแยกนี้มาพร้อมกับการให้คุณค่าทางศีลธรรมที่ตัดสินว่าคนที่มีเพศผิดธรรมชาติเป็น “โรคจิต” หรือ “ผิดปกติ”  ความรู้วิทยาศาสตร์จึงทำให้มนุษย์ต้องตัดสินว่าตัวเองจะอยู่ในหมวดหมู่เพศแบบไหน

                 จูดิธ บัตเลอร์ (1990, 1993) เคยชี้ให้เห็นว่าสรีระทางเพศ ไม่ใช่ตัวแทนของความจริงเกี่ยวกับเพศ เพราะร่างกายเป็นเพียงพื้นที่ที่ใช้อ้างความหมายเกี่ยวกับความเป็นชายและหญิง ความหมายเกี่ยวกับเพศเป็นสิ่งที่สังคมสร้างขึ้นและนำไปวางบนร่างกายตามธรรมชาติ  เช่น ความหมายของ “ผู้หญิง” ถูกวางบนสรีระเพศหญิง   เจ้าของร่างกายเชื่อว่าตัวเองเป็นผู้หญิงเพราะนำเอาความหมายผู้หญิงมาใช้กับตัวเอง   ดังนั้น ความเป็นหญิงและชายในฐานะเป็นเพศภาวะทางสังคม และความรู้สึกทางเพศของหญิงชาย   ล้วนนำเพศสรีระมาเป็นเกณฑ์ในการสร้างความจริง    บุคคลที่มีอารมณ์ปรารถนาทางเพศที่ไม่สอดคล้องกับเพศสรีระ เช่น ผู้ชายที่รักผู้ชาย จึงได้รับแรงกดดันและพยายามออกมาเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมทางสังคม     

                ไมเคิล วอร์เนอร์(1993) ได้อธิบายให้เห็นว่า การต่อสู้ของชาวเกย์ในสหรัฐอเมริกาอาศัยตัวแบบการต่อสู้ของชนกลุ่มน้อย ซึ่งพบได้ในกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆที่ต้องการเรียกร้องความเป็นธรรมและสิทธิทางสังคม  การต่อสู้ดังกล่าวนี้ทำให้เกย์เป็น “คนกลุ่มน้อย” ที่มีสังคมวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง เช่น เกิดชุมชนเกย์ในซานฟรานซิสโก นิวยอร์ค ซิดนีย์ ลอนดอน และอัมสเตอร์ดัม เป็นต้น    อย่างไรก็ตาม  ความเชื่อที่ว่าเกย์มีวัฒนธรรมและความเชื่อร่วมกัน เป็นความเชื่อที่เน้น “ความจริงแท้”   แต่ในทางปฏิบัติเกย์มิได้มีเอกภาพและไม่ได้มีอะไรร่วมกันเหมือนอุดมคติ  การต่อสู้ทางการเมืองของกลุ่มเกย์บดบังความแตกต่างหลากหลายที่เกิดขึ้นในชุมชนเกย์    เพราะยังมีเกย์จากชนชั้นต่างๆ มีพื้นฐานทางสังคมไม่เท่ากัน รวมถึงเชื้อชาติที่ต่างกันด้วย       วอร์เนอร์ชี้ให้เห็นว่าในตัวบุคคลที่เป็นเกย์คนหนึ่งจะมีอัตลักษณ์ที่ซ้อนทับกันอยู่ เช่น เกย์ผิวดำหรือเกย์ลาตินจะมีตัวตนทางชาติพันธุ์ พร้อมทั้งมีตัวตนแบบโฮโมเซ็กช่วล  ด้วยเหตุนี้ทำให้วัฒนธรรมเกย์มีความซับซ้อน และไม่ได้มีหนึ่งเดียว    การต่อสู้ของชาวเกย์จึงไม่จำเป็นต้องมีรูปแบบเหมือนกัน เพราะเกย์แต่ละสังคมจะมีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของตัวเอง  

 

ประวัติการศึกษาเกย์ในสังคมไทย พ.ศ.2499-2537

                ผู้ศึกษาจะทบทวนการวิจัยเกี่ยวกับเกย์ในสังคมไทย โดยจะเป็นการต่อยอดการทบทวนของ ปีเตอร์ เอ. แจ็คสัน ในบทความเรื่อง Thai Research on Male Homosexuality and Transgenderism and the Cultural Limits of Foucauldian Analysis(1997)  และบทความเรื่อง Tolerant but Unaccepting: The Myth of a Thai “Gay Paradise” (1999) ซึ่งเป็นการทบทวนการศึกษาเกย์ในวงวิชาการไทยระหว่างปี พ.ศ.2499-2537 โดยสำรวจเอกสารภาษาไทย 207 ชิ้น ประกอบด้วยบทความในหนังสือและนิตยสาร และวิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิต    ผู้ศึกษาจะต่อยอดการทบทวนดังกล่าวโดยสำรวจเอกสารงานวิจัยเกี่ยวกับเกย์ในสังคมไทยระหว่างปี พ.ศ.2538 ถึง พ.ศ.2553 หรือเป็นเวลา 15 ปี ช่วงเวลาดังกล่าวนี้มีการศึกษาเกย์ในสังคมไทยที่หลากหลายมากขึ้น 

                แจ็คสัน (1997) เคยตั้งข้อสังเกตว่าความคิดของ มิเชล ฟูโก้ (1979,1980) เรื่องอำนาจและวาทกรรมทางสังคมที่มีส่วนควบคุม และครอบงำการปฏิบัติทางทางเพศของมนุษย์ อาจใช้อธิบายได้ในโลกตะวันตกซึ่งมีการควบคุมพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วลโดยกฎหมาย และมีการลงโทษบุคคลที่มีพฤติกรรมดังกล่าวอย่างชัดเจน แต่ในสังคมไทยซึ่งปราศจากกฎหมายและการลงโทษโฮโมเซ็กช่วล อาจนำความคิดของฟูโก้มาใช้ไม่ได้ หรือหากนำมาใช้ก็จำเป็นต้องคำนึงถึงบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของสังคมไทย  เพราะวิธีคิดของฟูโก้มีลักษณะเป็นการใช้ตะวันตกเป็นศูนย์กลาง หรือ Eurocentric ซึ่งสังคมไทยอาจมีวิธีคิดต่อโฮโมเซ็กช่วลในอีกลักษณะหนึ่ง  จากจุดนี้ทำให้แจ็คสันมองเห็นว่าการศึกษาเกย์ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมานั้น (พ.ศ.2499-2537) นักวิชาการไทยถูกครอบงำด้วยแนวคิดตะวันตกซึ่งมองพฤติกรรมและอัตลักษณ์โฮโมเซ็กช่วลว่าเป็นปัญหา โดยเฉพาะการศึกษาที่มาจากกลุ่มแพทย์ นักจิตวิทยา และเพศศาสตร์ (Sexology) ซึ่งใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาอธิบายว่าเกย์คือคนที่ “ผิดปกติทางเพศ”    

                 แจ็คสันได้แยกกลุ่มการศึกษาเกย์และโฮโมเซ็กช่วลเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มหนึ่งเป็นการศึกษาบุคคลที่มีอัตลักษณ์กะเทย  กลุ่มสองเป็นการศึกษาเพื่อตำหนิพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วล และกลุ่มสามเป็นการศึกษาวิถีชีวิตของเกย์และมองเกย์ในแง่บวก    การศึกษาในกลุ่มแรกเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1950-1960 ซึ่งเป็นการศึกษาในกลุ่มแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ ที่มุ่งไปที่เรื่องชีววิทยาและมีการจำแนกประเภทของพฤติกรรมกะเทยซึ่งแบ่งออกเป็นสองแบบ คือกะเทยแท้และกะเทยเทียม  กะเทยแท้ หมายถึงบุคคลที่มีอวัยวะและฮอร์โมนเพศทั้งชายและหญิงอยู่ในคนๆเดียว ส่วนกะเทยเทียม หมายถึงบุคคลที่มีฮอร์โมนเพศชายหรือหญิงอย่างเดียว แต่มีอวัยวะสืบพันธ์ตรงข้ามกับฮอร์โมน  คำอธิบายดังกล่าวนี้อาศัยความรู้ทางสรีระวิทยาและชีววิทยาจากตะวันตก แต่นักวิชาการยังไม่เข้าใจพฤติกรรมกะเทยในเชิงวัฒนธรรม  แจ็คสันเชื่อว่าสาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะความรู้ทางการแพทย์ (Biomedical) มีพลังในการอธิบายมากกว่าความรู้เชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม  กะเทยในสังคมไทยจึงถูกมองจากความรู้ทางจิตเวชศาสตร์ ซึ่งอธิบายว่ากะเทยเป็นผู้ที่มีความผิดปกติทางจิต

                  การศึกษาในกลุ่มสอง เป็นการศึกษาพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วลด้วยความคิดแบบวิทยาศาสตร์ ซึ่งเกิดขึ้นหลังช่วงสงครามโลกครั้งที่สองโดยนักเรียนไทยที่ได้ทุนไปศึกษาต่อในประเทศสหรัฐอเมริกานำแนวคิดทฤษฎีตะวันตกมาอธิบายพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วล     การศึกษามุ่งที่จะตำหนิเกย์และพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วลในฐานะเป็นสิ่งที่ทำลายศีลธรรมและวัฒนธรรมอันดีงามของชาติ อาจนำไปสู่การก่ออาชญากรรมทางเพศได้มากขึ้น  พฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วลกลายเป็นปัญหาสังคมที่ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายในช่วงทศวรรษ 1980     นักวิชาการไทยจำนวนมากต่างหวั่นวิตกว่าเยาวชนไทยกำลังมีพฤติกรรม “รักร่วมเพศ” ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ดี จนทำให้นักวิชาการออกมาโจมตีและต่อต้านรายการโทรทัศน์ และสื่อทั้งหลายที่นำเสนอพฤติกรรมเกย์และกะเทย  รวมทั้งการชี้ว่าปัญหาครอบครัวมีผลต่อการเป็นเกย์และกะเทยของลูก นักวิชาการกลุ่มนี้เรียกร้องให้สังคมป้องกันเยาวชนจากการแสดงพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วล

                 จะเห็นว่าการสร้างวาทกรรมโฮโมเซ็กช่วลว่าเป็นความ “เสื่อมทราม” ถูกสร้างขึ้นเมื่อวิทยาศาสตร์การแพทย์ต้องการพิสูจน์ว่า สาเหตุของโฮโมเซ็กช่วลมาจากความผิดปกติของฮอร์โมนและระบบประสาท ทำให้นักวิชาการหลายคนเชื่อว่าความบกพร่องทางร่างกายคือสาเหตุของการเป็นโฮโมเซ็กช่วล   กระบวนทัศน์แบบวิทยาศาสตร์นี้ยังได้คลืบคลานไปสู่สังคมศาสตร์ทำให้มีการอธิบายว่าการเป็นเกย์เป็นผลมาการเลี้ยงดู    นักวิชาการไทยที่มีเชื่อในแนวนี้    เช่น  คุณหญิงเต็มศิริ บุญสิงห์ นายแพทย์อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม  และ วัลลภ  ตังคณานุรักษ์     ล้วนมองว่าพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วลเป็นความเสื่อมเสีย  มีความเชื่อว่าอิทธิพลการเลี้ยงดูและสภาพแวดล้อมมีผลต่อการเป็นเกย์  กรอบความคิดนี้จึงเป็นการบ่งชี้สาเหตุเพื่อที่จะหาหนทางเยียวยาแก้ไข   เป็นการอธิบายแบบ Cause-Affect Paradigm หรืออธิบายแบบชี้เหตุชี้ผล อาจมีการใช้สถิติเพื่อบอกว่าคนเป็นเกย์เกิดจากปัญหาครอบครัวกี่เปอร์เซ็นต์ หรือเกิดจากการเลียนแบบพฤติกรรมกี่เปอร์เซ็นต์  พฤติกรรมเกย์จะถูกแจกแจงด้วยข้อมูลเชิงสถิติ

                อย่างไรก็ตาม แจ็คสันตั้งข้อสังเกตว่านักวิชาการไทยยังมองไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงของแนวคิดทฤษฎีที่ใช้อธิบายโฮโมเซ็กช่วลในโลกตะวันตก ซึ่งในช่วงทศวรรษ 1970 ได้มีการถกเถียงอย่างกว้างขวางว่าโฮโมเซ็กช่วลมิใช่อาการป่วยทางจิตอีกต่อไป       แต่วงวิชาการไทยยังคงใช้กรอบความคิดเดิม ๆ ที่มองโฮโมเซ็กช่วลในแง่ลบ  และมองว่าพฤติกรรมนี้มาพร้อมกับชาวตะวันตกและไม่เคยมีอยู่ในสังคมไทยมาก่อน    แจ๊คสันตั้งข้อสังเกตว่า ทัศนคติเชิงลบและการแสดงความรังเกียจต่อบุคคลที่เป็นเกย์ ในสังคมไทยเป็นทัศนะของชนชั้นกลางที่มีการศึกษา ซึ่งแตกต่างจากทัศนะของชนชั้นล่างซึ่งยอมรับพฤติกรรมนี้ได้มากกว่า (Jackson, 1995, pp. 72-77)

                  การศึกษาในกลุ่มสาม เป็นการศึกษาส่วนน้อยที่พยายามเข้าใจพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วลในฐานะที่เป็นพฤติกรรมตามธรรมชาติ และเข้าใจวิถีชีวิตของเกย์ในฐานะที่เป็นบุคคลธรรมดา  มิใช่คนที่ป่วยทางจิต  เช่นการศึกษาของสุรชัย วิเศษกุล (2521) ที่พยายามรื้อถอนความคิดทางการแพทย์ที่ใช้อธิบายพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วล  การศึกษาของเนื่องน้อย บุญรัตน์ (2529) ที่อธิบายว่าโฮโมเซ็กช่วลมิใช่พฤติกรรมเบี่ยงเบนหรือผิดศีลธรรม และการศึกษาของภิญโญ กรองทอง (2530) ที่อธิบายว่าพฤติกรรมของเกย์มิใช่ปัญหาสังคม ตัวอย่างการศึกษาเหล่านี้เป็นเสียงสะท้อนเล็ก ๆ ที่ยังไม่สามารถทำให้สังคมเปลี่ยนความคิดที่เกิดจากการศึกษาในกลุ่มที่สองได้ 

                การทบทวนการศึกษาเกย์ในสังคมไทยของแจ็คสัน ทำให้พบข้อสังเกตที่นักวิชาการไทยไม่เคยสังเกตมาก่อน นั่นคือ อคติที่มีต่อเกย์ในสังคมไทยเกิดขึ้นในระดับ “วาทกรรม” ของชนชั้นกลางมากกว่าที่จะเกิดขึ้นในระดับของปฏิบัติการทางกฎหมาย และข้อบังคับเหมือนที่เกิดกับสังคมตะวันตก ประเด็นนี้คือสิ่งที่แจ็คสันเชื่อว่าความคิดเรื่องเพศของฟูโก้ไม่สามารถอธิบายปรากฎการณ์เกี่ยวกับเกย์ในสังคมไทยได้  แจ็คสันเสนอแนะว่านักวิชาการไทยจำเป็นต้องหันกลับมามองวิธีคิดเรื่องเพศในมิติทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของไทยเอง เพื่อที่จะทำให้เข้าใจว่าพฤติกรรมและอัตลักษณ์ของเกย์ในสังคมไทยมีเงื่อนไขอย่างไร  

การศึกษาเกย์ไทยในช่วงปี 2538-2553

                 การศึกษาเกย์ในสังคมไทยหลังปี พ.ศ.2538 เป็นต้นมา   การศึกษาในเชิงลบเริ่มลดน้อยลง  ทั้งนี้เนื่องจาก เกิดกลุ่มนักวิชาการรุ่นใหม่ที่ติดตามความเคลื่อนไหวของแนวคิดทฤษฎีตะวันตก โดยเฉพาะกระแสโพสต์มอเดิร์น เฟมินิสต์ สตรีศึกษา วัฒนธรรมศึกษา และมานุษยวิทยาซึ่งวิพากษ์ความรู้ในยุคสมัยใหม่ (Modernity)  นักวิชาการเหล่านี้ทำให้เกิดการตีความใหม่เกี่ยวกับเพศสภาวะและเพศวิถีในสังคมไทย และทำให้การศึกษาเกย์หันมาสนใจวิถีชีวิตและประสบการณ์ส่วนบุคคลมากขึ้น

                   ปัจจัยอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้นักวิชาการหันมาศึกษาเกย์ คือ การแสดงออกของเกย์ในพื้นที่ทางสังคมที่เพิ่มมากขึ้น เช่น การมีตัวละครเกย์ในละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ ละครเวที นวนิยาย บทเพลง รวมทั้งการขยายตัวของสถานประกอบการเกย์ในเมืองใหญ่ ๆ เช่น กรุงเทพฯ พัทยา เชียงใหม่ และภูเก็ต ทำให้เกย์มีพื้นที่พบปะกันมากขึ้น จากการสำรวจสถานประกอบการเกย์ในเขตกรุงเทพฯของผู้ศึกษาเองพบว่าในปี พ.ศ.2547 มีสถานประกอบการของเกย์ จำนวน 101 แห่ง และเพิ่มขึ้นเป็น 196 แห่งในปี พ.ศ.2552 หรือมีอัตราการเพิ่มสูงถึงร้อยละ 95  สถานการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่าพื้นที่ทางสังคมของเกย์ขยายตัวอย่างรวดเร็ว  การใช้ชีวิตของเกย์จึงเป็นประเด็นที่นักวิชาการยุคปัจจุบันสนใจที่จะศึกษา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเซ็กส์ ความรัก ไลฟ์ไตล์ แฟชั่น นิตยสาร และวัฒนธรรมป๊อป

                การศึกษาของรวมพล สายอรุณ (2541) อาจเป็นความพยายามที่ทำให้เห็นว่าสังคมไทยรับรู้และเข้าใจบุคคลที่เป็นเกย์อย่างไรบ้าง  การศึกษานี้สะท้อนความคิดของนักศึกษา 395 คน อายุเฉลี่ย 19 ปี ส่วนใหญ่เป็นคนกรุงเทพฯ พวกเขามองเกย์ว่าภาพลักษณ์ภายนอกเหมือนกับผู้ชายทั่วไปแต่ยังเชื่อว่าเกย์มีอารมณ์ปรวนแปรและเป็นพวกวิตถาร     ข้อสังเกตอย่างหนึ่งจากการศึกษาของรวมพล คือ กลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษา ซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีการยอมรับเกย์ในระดับที่สูง เช่น มีเพื่อนเป็นเกย์ และยอมรับให้ประกอบอาชีพได้เหมือนคนทั่วไป  แต่เกย์ที่ได้รับการยอมรับจะต้องเป็นเกย์ที่แสดงความเป็นชาย   สิ่งนี้สะท้อนว่า “ความเป็นชาย” ของเกย์เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ ซึ่งเป็นไปตามข้อสังเกตของแจ็คสันที่ระบุว่า “เพศสภาวะ” แบบผู้ชายมีส่วนทำให้เกย์อยู่ในสังคมได้  แต่สังคมไทยยังไม่เข้าใจอารมณ์ปรารถนาทางเพศของเกย์ แม้แต่กลุ่มนักศึกษาซึ่งยังมองเกย์เป็นพวกวิตถาร ส่ำส่อนทางเพศ มีความต้องการทางเพศสูง อารมณ์รุนแรง เป็นคนลามกอนาจาร รวมทั้งเป็นผู้แพร่เชื้อเอดส์  

                การศึกษาเกย์ในช่วง พ.ศ. 2538 เป็นต้นมา  พยายามที่จะอธิบายและทำความเข้าใจเกย์ในฐานะเป็นบุคคลธรรมดา มิใช่คนที่เป็นปัญหาหรือป่วยทางจิต  เป็นการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับ “เสียงพูด” และประสบการณ์ชีวิตของบุคคลที่เป็นเกย์ มีการทำความเข้าใจเกี่ยวกับตัวตนหรืออัตลักษณ์ความเป็นเกย์มากขึ้น    ผู้ศึกษาได้สำรวจเอกสารบทความวิชาการ งานวิจัยและวิทยานิพนธ์ และพบว่าแนวการศึกษาเกย์ในช่วงเวลานี้ แบ่งออกเป็น 5 แนว คือ 

1. การศึกษากระบวนการสร้างอัตลักษณ์

2. การศึกษาการลื่นไหลของอัตลักษณ์

3. การศึกษามิติสุขภาวะทางเพศและการสร้างกลุ่ม 

4. การศึกษาบริบทประวัติศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรม

5. การศึกษาไลฟสไตล์และแบบแผนชีวิต

 

การศึกษาแนวที่หนึ่ง การศึกษากระบวนการสร้างอัตลักษณ์

                การศึกษาแนวนี้ต้องการจะตอบคำถามว่า บุคคลที่เป็นเกย์มีพัฒนาการในการยอมรับ เปิดเผยและแสดงตัวตนทางเพศอย่างไร โดยเน้นการศึกษาจากเรื่องเล่า และการถ่ายทอดประสบการณ์ตั้งแต่วัยเด็กไปจนถึงการยอมรับว่าตนเองเป็นเกย์ และสะท้อนบริบทภายในครอบครัว โรงเรียนและสถานที่ทำงานที่มีผลต่อการปกปิดและเปิดเผยอัตลักษณ์เกย์   การศึกษาในกลุ่มนี้ได้แก่ วิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิตเรื่อง การสื่อสารเพื่อการเปิดเผยตนเองของกลุ่มชายรักชาย ของไชโย นิธิอุบัติ (2546)   คาราโอเกะคลับ พื้นที่และตัวตนของเกย์อ้วน ของ เอกศาสตร์ สรรพช่าง (2546) เรื่อง ชายรักชาย ของนายแพทย์สุพร เกิดสว่าง (2546)  เรื่อง เกย์: กระบวนการพัฒนาเอกลักษณ์และวิถีชีวิตทางเพศ ของปุรินทร์ นาคสิงห์(2547)   

                การศึกษาเหล่านี้ใช้แนวคิดทฤษฎีแตกต่างกันเพื่ออธิบายการสร้างอัตลักษณ์เกย์ กล่าวคือ ในการศึกษาของไชโย ใช้ทฤษฎีสื่อสารและแนวคิดเกี่ยวกับการเปิดเผยตนเอง  โดยมีหลักคิดว่าการสื่อสารระหว่างบุคคลจะเกี่ยวข้องกับการเปิดเผยตัวตน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความความสัมพันธ์ ความไว้วางใจ ความรู้สึกร่วม  ช่วงเวลา และโอกาส   จากการศึกษาของไชโยพบว่า การสื่อสารเพื่อเปิดเผยตัวของชายรักชายมีทั้งทางอ้อมและทางตรง  ซึ่งระดับของการยอมรับ มีทั้ง ยอมรับได้มาก ปานกลางและไม่ยอมรับ    การเปิดเผยแบบทางอ้อม ได้แก่การแสดงกิริยาท่าทางแบบอ่อนช้อย หรือแต่งตัวเหมือนผู้หญิง เพื่อให้คนในครอบครัวเข้าใจ  แต่คนในครอบครัวอาจมีการกล่าวตำหนิหรือห้ามปรามบ้าง ในกรณีที่ครอบครัวไม่ยอมรับจะมีการต่อต้านด้วยการด่าทำร้ายร่างกาย จนถึงขั้นตัดความสัมพันธ์  ส่วนการสื่อสารทางตรง คือบุคคลจะพูดคุยกับคนในครอบครัวที่เขาวางใจมากที่สุด แต่ถ้าเปิดเผยกับพ่อแม่ อาจทำให้พ่อแม่ไม่สบายใจหรือไม่พอใจ  ไชโยพบว่าเมื่อบุคคลเปิดเผยกับเพื่อนมีแนวโน้มที่จะสบายใจที่สุด เพราะเพื่อนจะไม่ล้อเลียนหรือตำหนิ

                จากการศึกษาของไชโยทำให้เข้าใจว่าชายรักชาย มักจะใช้วิธีการสื่อสารทางอ้อมเพื่อเปิดเผยตัวเอง โดยเฉพาะการแสดงออกทางกิริยาท่าทางและคำพูด ใช้คำพูดแทนตัวเองเป็นผู้หญิง หรือใช้คำว่า “ค่ะ” หรือ “ฮ่ะ” ในการสนทนา   ไชโยอธิบายว่าชายรักชายจะเปิดเผยตัวตั้งแต่เป็นเด็ก สภาพแวดล้อมครอบครัวที่ให้อิสระหรือไม่มีระเบียบกฎเกณฑ์มากจะเอื้อให้บุคคลเปิดเผยตัวได้ดีกว่า   อย่างไรก็ตามครอบครัวส่วนใหญ่จะไม่ค่อยยอมรับในพฤติกรรมชายรักชาย เพราะเห็นว่าขัดแย้งกับบรรทัดฐานทางสังคม     แต่บุคคลที่เป็นชายรักชายจะมีวิธีการชดเชยที่ทำให้เขาได้รับการยอมรับ ได้แก่การเรียนหนังสือให้เก่ง ทำงานดี ๆ สร้างชื่อเสียงจากการทำงาน  และ ประพฤติตัวเป็นคนดี

                การศึกษาของเอกศาสตร์ใช้กรอบความคิดเกี่ยวกับตัวตนและอัตลักษณ์  โดยกล่าวว่าอัตลักษณ์ไม่มีตำแหน่งแห่งที่แน่นนอน แต่มีความสัมพันธ์กับสังคมเพราะถูกกำหนดด้วยศีลธรรมและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ  เอกศาสตร์ใช้แนวคิดของสจ๊วต ฮอลล์เพื่อมองว่าอัตลักษณ์เป็นเครื่องมือของบุคคลในการต่อสู้กับสังคม โดยเฉพาะอัตลักษณ์ของคนชายขอบหรือคนที่ถูกสังคมกดทับ อัตลักษณ์จึงถูกใช้เชิงการเมืองเพื่อต่อรองกับอำนาจ   นอกจากนั้นยังใช้กรอบความคิดเรื่องพิธีกรรม ซึ่งนักมานุษยวิทยามักสนใจศึกษาประเพณีวัฒนธรรมเพื่อดูว่าเกย์มีกระบวนการทางสังคมอย่างไร ทั้งนี้เอกศาสตร์ได้วิเคราะห์สัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในร้านคาราโอเกะที่มีเกย์อ้วนเข้าไปใช้บริการ  โดยมองว่ากิจกรรมในร้านคาราโอเกะเปรียบเสมือนพิธีกรรมของเกย์อ้วน      เอกศาสตร์ชี้ให้เห็นตัวตนที่ซ้อนทับกันสองแบบระหว่าง การเป็น “เกย์” กับการเป็น “คนอ้วน” ซึ่งแบบหลังจะมีความสำคัญกว่า และบางครั้งอาจปกปิดความเป็นเกย์ของคนๆนั้น  เกย์อ้วนมีความกังวลต่อร่างกายของตัวเองและไม่สนใจเรื่องเซ็กซ์มากนักเนื่องจากความอ้วนเป็นปมด้อย      

                การศึกษาของสุพรเป็นความพยายาม ที่จะทำความเข้าใจโฮโมเซ็กช่วลในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรัก เพศสัมพันธ์ และการเข้าสังคม ซึ่งมีการอธิบายด้วยแนวคิดทฤษฎีจากตะวันตก      ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีทางชีววิทยาที่อธิบายสาเหตุของโฮโมเซ็กช่วลจากพันธุกรรม ฮอร์โมนเพศ ระบบประสาทและขนาดของสมอง และทฤษฎีทางจิตวิทยาที่อธิบายสาเหตุโฮโมเซ็กช่วลจากการอบรมเลี้ยงดู สภาพแวดล้อมทางสังคม และประสบการณ์ทางเพศในวัยเด็ก   สุพรเชื่อว่าสาเหตุของการเป็นเกย์เกิดจากหลายสาเหตุและไม่เชื่อว่าเกย์เป็นผู้ป่วยทางจิต  ผู้ที่เป็นเกย์จะมีกระบวนการพัฒนาอัตลักษณ์ของตนเองตั้งแต่วัยเด็กที่เริ่มรู้สึกแตกต่างจากเพื่อนชายคนอื่น เริ่มสนใจเพศเดียวกัน เกิดความสงสัยในตัวเอง เรียนรู้และยอมรับตัวเอง จนกระทั่งเปิดเผยตัวเอง    สุพรยอมรับว่าสังคมไทยยังมีคนที่ยอมรับและไม่ยอมรับเกย์อีกจำนวนมาก ดังนั้นปัญหาสำคัญของเกย์ก็คือไม่กล้าเปิดเผยตัวเองเพราะกลัวพ่อแม่เสียใจและกลัวเสียชื่อเสียง ทำให้เกย์บางคนต้องแต่งงานกับผู้หญิง  จากการสัมภาษณ์เกย์จำนวน 100 คน (บุคคลที่ยอมรับว่าตนเองเป็นเกย์) ทำให้สุพรพบว่าเกย์ส่วนใหญ่รู้สึกว่าตนเองเป็นผู้ชายที่มีรสนิยมชอบเพศเดียวกัน และใช้ชีวิตแบบผู้ชายทั่วไป ประสบการณ์ทางเพศของเกย์ส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นกับเพื่อนชายของตนเองในช่วงที่เป็นวัยรุ่น ซึ่งทำให้สุพรเชื่อความรู้สึก “ชอบเพศเดียวกัน” เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ และเรียกร้องให้สังคมหันมายอมรับเกย์ในฐานะคนปกติ

                การศึกษาของปุรินทร์ใช้ทฤษฎี ปฏิสังสรรค์เชิงสัญลักษณ์ (Symbolic Interactionism) ซึ่งมองว่าความเบี่ยงเบนมีลักษณะสัมพัทธ์ หรือความเบี่ยงเบนที่มิได้มาจากหลักเกณฑ์ตายตัว   แต่ขึ้นอยู่กับทัศนคติของมนุษย์ที่ให้ความหมายต่อปรากฎการณ์ทางสังคม      ปุรินทร์มองว่าเกย์ก็เป็นผู้นิยามความเบี่ยงเบนของตัวเองด้วย  ความเป็นกะเทย คือการเบี่ยงเบนแรกๆที่บุคคลรับรู้ และปฏิเสธที่จะนำมาเป็นเอกลักษณ์ของตน แต่เมื่อได้รู้จักกับเพื่อนที่มีพฤติกรรมคล้ายกันก็จะเรียนรู้และปรับเอกลักษณ์ตัวเอง  เอกลักษณ์ที่ชัดที่สุดคือการเป็นกะเทยที่แสดงออกทางกิริยาท่าทาง คำพูด การแต่งหน้าทาปาก การแต่งกายแบบผู้หญิง จนกระทั่งการเปลี่ยนสรีระด้วยการกินยาฮอร์โมน

                ปุรินทร์เชื่อว่าสื่อมวลชนมีส่วนทำให้บุคคลเรียนรู้ความหมายของการเป็นเกย์  ทำให้รู้ว่าเกย์กับกะเทยต่างกันอย่างไร เมื่อบุคคลได้ทดลองมีเพศสัมพันธ์กับชาย เขาจะนำประสบการณ์ทางเพศนี้มาเปรียบเทียบหรือตรวจสอบกับความรู้สึกของตนเอง  เพื่อที่จะพิสูจน์ว่าตนเองเป็นเกย์หรือไม่  เมื่อความรู้สึกตรงกับการกระทำก็จะทำให้บุคคลยืนยันเอกลักษณ์เกย์ได้  หลังจากนั้นเขาก็จะมีไลฟสไตล์แบบเกย์ ซึ่งขับเคลื่อนไปบนชีวิตทางเพศ เช่น หาคู่นอนทางอินเตอร์เน็ต ในสวนสาธารณะ ซาวน่า ห้องน้ำสาธารณะ เป็นต้น  ปุรินทร์เชื่อว่าชีวิตทางเพศทำให้เอกลักษณ์เกย์ดำรงอยู่ได้  อีกนัยหนึ่งก็คือความเป็นเกย์จะมีได้ก็ต่อเมื่อบุคคลเอาชีวิตทางเพศเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว   ปุรินทร์พบว่ากระบวนการพัฒนาเอกลักษณ์เกย์มี 3 ขั้นตอน คือ 1 เริ่มจากความรู้สึกว่าตนเองต่างจากผู้ชายคนอื่น เช่น ถูกล้อเลียนว่าเป็นกะเทย เป็นตุ๊ด ชอบเล่นกับผู้หญิง  2 ขั้นสงสัยว่าตนเองเป็นเกย์ แต่ยังไม่ยอมรับเพราะสังคมมองว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่ดี  ในขั้นนี้บุคคลเริ่มสนใจเพศเดียวกัน เช่น แอบชอบเพื่อนที่หน้าตาดี ดูรูปโป๊ของผู้ชาย อยากมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย หรือมีเซ็กส์กับผู้ชายด้วยความบังเอิญ  ฯลฯ   และ 3  ขั้นยอมรับว่าตนเองเป็นเกย์  เปิดเผยตัวต่อสังคม เข้าสู่ชุมชนและวัฒนธรรมเกย์ รวมไปถึงความคาดหวังเรื่องคนรักและชีวิตคู่

                องค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษากระบวนการสร้างอัตลักษณ์เกย์ในงานเหล่านี้ มีจุดร่วมเดียวกันคือ การเปิดเผยตัวของเกย์เป็นขั้นตอนสุดท้ายที่ทำให้เกย์ยอมรับตัวเอง   โดยเชื่อว่าผู้ชายไทยที่นิยามตนเองเป็นเกย์มีจิตสำนึกเช่นเดียวกับเกย์ในที่อื่นๆ    อย่างไรก็ตาม การศึกษา “อัตลักษณ์เกย์” ในสังคมไทยนอกจากจะศึกษาจากประสบการณ์ชีวิตของเกย์ แล้วจำเป็นจะต้องทำความเข้าใจระบบคิดเรื่องเพศในสังคมไทยด้วย  แต่นักวิชาการที่ศึกษาเรื่องนี้ได้มองข้ามประเด็นนี้ไป จึงทำให้การศึกษาอัตลักษณ์เกย์ในสังคมไทยใช้กรอบการมองแบบตะวันตกที่เชื่อว่า “การเปิดเผยตัว” (Come Out) เป็นเครื่องมือสำคัญของการสร้างอัตลักษณ์  แต่ข้อสังเกตของแจ็คสันเคยโต้แย้งว่าการเปิดเผยตัวของเกย์ในสังคมไทย เป็นเรื่องเสี่ยงต่อการเสียภาพพจน์ ดังนั้น การเปิดเผยตัวอาจไม่ใช่สิ่งสำคัญของเกย์ในสังคมไทย 

 

การศึกษาแนวที่สอง การศึกษาการลื่นไหลของอัตลักษณ์

                การศึกษาในกลุ่มนี้ได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจาก Queer Theory ซึ่งได้รับความนิยมในหมู่นักวิชาการสายสตรีนิยมและสายโพสต์มอเดิร์น  งานศึกษาในกลุ่มนี้ได้แก่ วิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิตเรื่อง  ชีวิตติดเบอร์ ตัวตน และเพศวิถีของเกย์ “ควิง”ในซาวนา M ของ จตุพร บุญ-หลง (2548)  เรื่อง เกย์ลอกคราบ ของ นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ (2549)     และบทความเรื่อง Whiskey is Whiskey: You Can't Make a Cocktail from That! Self-Identified Gay Thai Men in Bangkok ของจิลลาน่า เอ็นทีน (1998)  การศึกษาในกลุ่มนี้นอกจากจะสนใจประสบการณ์ระดับบุคคลแล้ว ยังสนใจวิพากษ์ประสบการณ์เหล่านั้นในฐานะเป็นวาทกรรมที่ “บุคคล” เป็นผู้สร้างและเปลี่ยนแปลงในเวลาเดียวกัน  

                การศึกษาของจตุพรเป็นการศึกษาเชิงอัตชาติพันธุ์วรรณนา (Autoethnography) ซึ่งเชื่อว่าการพูดถึง “ตัวตน” ของผู้วิจัยในงานวิจัยจะสามารถสะท้อนความจริงได้ดีกว่า  แนวคิดนี้มองว่าการถ่ายทอดตัวตนเป็นเรื่องของการสร้างความหมาย ด้วยเหตุนี้จตุพรจึงพูดถึงอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองในงานวิจัยอย่างชัดเจน และได้ศึกษาประสบการณ์ชีวิตและเรื่องเล่าของเกย์ 2 คน  ซึ่ง  พบว่าตัวตนและบทบาททางเพศของเกย์มีความลื่นไหลและหลากหลาย เพราะในขณะที่เกย์นิยามบทบาททางเพศของตนว่าเป็น “เกย์รุก” หรือเกย์คิง  เป็น “ฝ่ายรับ”  หรือเกย์ควีน  แต่เกย์ก็สามารถสามารถสลับบทบาทการเป็นรุกและรับได้แล้วแต่โอกาสและสถานการณ์  การสลับบทบาทนี้เรียกว่า “ควิง” (คิง+ควีน)    การแสดงบทบาททางเพศยังสัมพันธ์กับชนชั้น เพศสถานะ และชาติพันธุ์  เกย์ที่จตุพรศึกษาทั้งสองคนเป็นชนชั้นกลาง มีการศึกษา มีฐานะทางเศรษฐกิจดี และมีความสามารถในการทำงาน ทำให้ได้รับการยอมรับจากสังคม   นอกจากนั้นเกย์ทั้งสองให้คุณค่ากับการสร้างสัมพันธ์กับชาวตะวันตกเพื่อตอกย้ำอัตลักษณ์เกย์  โดยการเข้าไปใช้ชีวิตทางเพศในซาวน่าเพื่อที่จะสำรวจและค้นหาตัวเอง

                การศึกษาของจตุพร เป็นการตรวจสอบวิธีคิดของตัวเองต่อเรื่องราวที่ถูกศึกษา     โดยกล่าวว่าตนเองเป็นเกย์ “ควิง” คือสามารถแสดงบทบาททางเพศได้ทั้งรุกและรับ   แต่ในอดีตจตุพรเคยคิดว่าตนเองมีอัตลักษณ์กะเทย และเป็นเกย์ควีน    อัตลักษณ์ดังกล่าวผูกโยงกับสิ่งที่จตุพรเรียกว่า”เพศวิถี” ในประเด็นนี้จตุพรเชื่อว่ากิจกรรมบนเตียง หรือบทบาทเป็นรุกและรับคือเพศวิถี (Sexuality) ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ต่างไปจากแนวคิดเพศวิถี ซึ่งใช้อธิบายความโน้มเอียงทางจิตใจ อารมณ์ ความรู้สึกที่บุคคลจะสนใจคนเพศเดียวกัน คนต่างเพศหรือทั้งสองอย่าง  เพศวิถีจะเป็นเรื่องทางอารมณ์มากกว่าจะเป็นกิจกรรมทางเพศหรือการแสดงบทบาทรุกหรือรับ    จตุพรอธิบายว่าตนเองรู้สึกอึดอัดกับเปลี่ยนการแสดงบทบาทางเพศ เพราะมีความชอบที่จะเป็นฝ่ายรับมากกว่า แต่ก็สามารถเป็นฝ่ายรุกได้ในบางโอกาส รวมถึงการหันมาเล่นกล้ามให้ดูมีความเป็นชายมากขึ้น    จตุพรเชื่อว่าซาวน่าเป็นพื้นที่ของการช่วงชิงความหมายทางอัตลักษณ์ เป็นทั้งพื้นที่ที่ให้อิสระและสร้างความขัดแย้ง   การเป็นอิสระคือการได้นิยามว่าตัวเองเป็นใคร ส่วนความขัดแย้งคือการเปลี่ยนความหมายให้กับการแสดงบทบาททางเพศตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

                การศึกษาของนฤพนธ์ อาศัยแนวทางโพสต์มอเดิร์น ซึ่งพยายามข้ามพ้นไปจากการแบ่งแยกขั้วแบบขาวดำ  และ ข้ามพ้นไปจากการหาความจริงแท้ เพื่อทำให้เห็นว่าชีวิตมนุษย์เต็มไปด้วยความลักลั่นและความไม่สมประกอบ  รวมทั้งมองว่าประสบการณ์ทางเพศเป็นเรื่องกระบวนการที่เปลี่ยนแปลงและมีความซับซ้อน เพื่อทำความเข้าใจว่าบุคคลที่เป็นเกย์เป็นทั้งผู้กระทำและถูกกระทำในเวลาเดียวกัน และยังชี้ให้เห็นว่าในสังคมของเกย์มีความหลากหลายในการแสดงอัตลักษณ์ และมีความไม่ลงรอยในหลายเรื่อง   นฤพนธ์ได้ยกกรณีศึกษาประสบการณ์ชีวิตของเกย์ในเขตเมืองใน 4 กรณี  ในกรณีแรก นฤพนธ์ชี้ให้เห็นว่าคำบอกเล่าเกี่ยวกับความรักของเกย์ในเว็บไซต์เป็นการตอกย้ำโครงสร้างความคิดของสังคมที่พยายามแบ่งแยกว่าอะไรคือความรักที่สมบูรณ์ และอะไรคือความรักที่ผิดพลาด เรื่องเล่าเกี่ยวกับความรักของเกย์ยังสะท้อนว่าเกย์กำลังแสวงหารักแท้ และพยายามให้ความหมายว่า “รักแท้” หรือรักเดียวใจเดียว แตกต่างจากความรักที่ผิดพลาดอย่างไร  เว็บไซต์จึงทำให้นิยามต่าง ๆ เกี่ยวกับความรักมาบรรจบพบเจอกันจนทำให้เกิดสภาพความคลุมเคลือ ทั้งนี้  เรื่องเล่าความรักของเกย์สะท้อนให้เห็นว่าชีวิตทางเพศของเกย์เป็นภาพที่บิดเบี้ยว ไม่มีความลงตัว ดังนั้นความรักที่ถูกพูดในเว็บไซต์จึงเปรียบเสมือนการเสียดสีและเย้ยหยันนิยามเกี่ยวกับความรักทั้งหลายที่สังคมสร้างขึ้น

                ในกรณีที่สอง ศึกษาวิธีการสร้างความหมายให้กับ “ร่างกาย” จากการ “แต่งหญิง” ของเกย์  นฤพนธ์ชี้ให้เห็นว่าสังคมมีการแสดงออกถึงความเป็นาชยและความเป็นหญิงภายใต้อุดมการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง     และเกย์ก็พยายามนำอุดมกาณ์เหล่านั้นมาปรุงแต่งเพื่อทำให้ตนเองมี “ร่าง” ตามที่ต้องการ    แต่ “ร่าง” ของเกย์กลายเป็นพื้นที่ของปฏิบัติการที่ตอกย้ำขั้วที่ต่างกันสองด้าน   การเป็นเกย์บนร่างกายแบบชายที่พยายามแต่งกายแบบหญิงนำไปสู่ความคลุมเคลือของเพศสภาวะ   การแต่งหญิงของเกย์จึงสะท้อนความไม่คงที่ของความเป็นชายและความเป็นหญิง   และเป็น “ร่าง” ที่ยังสร้างไม่เสร็จ ไม่สามารถจัดอยู่ในประเภทใดได้   

                กรณีที่สาม เป็นการวิเคราะห์หนังสือโป๊ที่เกย์ใช้ระบายอารมณ์ทางเพศ  นฤพนธ์ชี้ว่าภาพเปลือยนายแบบ และภาพการร่วมรักของนายแบบที่ปรากฎในหนังสือโป๊นำเสนอความเซ็กซี่ของร่างกายและหน้าตาที่หล่อเหลาของนายแบบ ซึ่งกระตุ้นอารมณ์ทางเพศของเกย์ แต่ภาพที่เห็นเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ถูกสร้างหรือถูกจัดฉาก เพื่อทำให้เกิดภาพร่วมรักที่สมบูรณ์แบบ   เพราะชีวิตทางเพศในประสบการณ์จริงของเกย์อาจไม่สามารถมีเซ็กกับคนที่หน้าตาและรูปร่างดีเหมือนนายแบบได้   ชีวิตจริงของเกย์อาจพบกับเซ็กที่ไม่เร้าใจหรือพบคนที่ไม่ถูกใจ การดูหนังสือโป๊จึงเป็นการต่อเติมจินตนาการและทำให้เกิดภาพมายา ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าชีวิตทางเพศของเกย์ให้ความสำคัญกับสรีระและกายภาพ ยิ่งนำเสนอภาพนายแบบที่รูปร่าง และหน้าดีมากเท่าใดก็ยิ่งตอกย้ำว่าเกย์ให้คุณค่ากับคนหน้าตาดีมากเท่านั้น สิ่งนี้อาจทำให้เกย์ที่มีหน้าตาและรูปร่างไม่ดีกลายเป็นชายขอบของสังคมเกย์มากขึ้นเรื่อย ๆ

                กรณีที่สี่ เป็นการศึกษาเรื่องเล่าของเกย์เกี่ยวกับการหาคู่ในสวนสาธารณะซึ่งถูกนำไปเล่าในเว็บไซต์    เกย์แต่ละคนจะให้ความหมายต่อสวนสาธารณะในแบบที่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นแดนสวรรค์ของการหาคู่นอน  ไปจนถึงการเป็นพื้นที่ที่อันตรายหรือเสี่ยงต่อการถูกจี้ปล้น  ความหมายเหล่านี้จะถูกต่อเติมเสริมแต่งจากเกย์ที่เข้าไปเล่าเรื่องในเว็บบอร์ด สภาพเช่นนี้เป็นการทำให้เรื่องเล่ามีความเคลื่อนไหวและไม่หยุดนิ่ง  จึงทำให้ “ความจริง” เกี่ยวกับสวนสาธารณะของเกย์เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นและไม่มีข้อยุติ    อินเตอร์เน็ตทำให้ความจริงเกี่ยวกับสวนสาธารณะไม่มีความคงที่  เว็บบอร์ดทำหน้าที่เสมือน “สิ่งยั่วยวนให้คิด” หรือเปิดโอกาสให้มีการตอบโต้ หักล้าง และสนับสนุน

                การศึกษาของเอ็นทีน(1998) ชี้ให้เห็นว่าผู้ชายที่ทำงานในสถานประกอบการเกย์และมีลูกค้าเกย์ชาวตะวันตก หรือฝรั่งมาใช้บริการเป็นส่วนใหญ่มีวิธีการสร้างอัตลักษณ์ทางเพศในแนวทางของตัวเอง และวิธีการสร้างอัตลักษณ์นี้ก็จะแตกต่างไปเมื่ออยู่กับบุคคลที่ต่างสถานะและความสัมพันธ์  เอ็นทีนชี้ให้เห็นว่าพื้นที่บาร์ ผับ และดิสโก้เธคเกย์ คือวัฒนธรรมบริโภคที่ช่วยสร้างพื้นที่ใหม่ในการนิยามความเป็นเกย์ให้กับผู้ชายไทย ซึ่งความเป็นเกย์แบบตะวันตกไม่ได้มีผลกระทบโดยตรงต่อการนิยามความเป็นเกย์แบบไทยๆ  กล่าวคือ อัตลักษณ์เกย์ไทยมาจากประสบการณ์หลายแบบทั้งการอยู่กับชาวตะวันตก อยู่กับเพื่อนกะเทย อยู่กับคนในครอบครัว การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย  และ การเที่ยวในสถานที่ที่มีเกย์ การนิยามตัวเองของเกย์ไทยจึงเป็นสิ่งที่ไม่คงที่และมีความหลากหลาย  หรือมีลักษณะซ้อนทับระหว่างการแสดงอัตลักษณ์เกย์ อัตลักษณ์ผู้ชาย และอัตลักษณ์ไบเซ็กช่วล

                จากการศึกษาของจตุพร นฤพนธ์ และเอ็นทีน ชี้ให้เห็นความซับซ้อนของอัตลักษณ์ทางเพศของเกย์ ทำให้เห็นว่าเกย์มิได้มีแบบเดียวแต่ประกอบด้วยเกย์หลายลักษณะ และเกย์แต่ละคนก็มีความยืดหยุ่นต่อการนิยามตัวเอง สิ่งนี้ทำให้การศึกษาอัตลักษณ์ของเกย์ต้องมองบริบทของความสัมพันธ์ที่เกย์มีต่อคนรอบข้าง เป็นการศึกษาที่แตกต่างจากกลุ่มแรกที่มองอัตลักษณ์เป็นเอกภาพหรือมีความคงที่   นอกจากนั้น การศึกษาในกลุ่มสองนี้เป็นการท้าทายแนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศที่เคยเชื่อว่าอัตลักษณ์เป็นสิ่งที่ถาวร  การศึกษาดังกล่าวนี้ได้ปูทางให้นักวิชาการรุ่นต่อไปนำกลับไปคิดและวิเคราะห์ว่าสิ่งที่เรียกว่า “เพศไม่นิ่ง” นั้นหมายถึงอะไร สภาพของความลื่นไหล เปลี่ยนแปลง และไม่คงที่จะเกิดขึ้นในสถานการณ์ใดบ้าง และการลื่นไหลนั้นเป็นเรื่องของพฤติกรรม การกระทำ รสนิยม หรืออัตลักษณ์ 

 

การศึกษาแนวที่สาม การศึกษามิติสุขภาวะทางเพศและการสร้างกลุ่ม

                การศึกษาในกลุ่มนี้มุ่งที่จะอธิบาย 2 ประเด็นสำคัญ คือ การศึกษาพฤติกรรมทางเพศของเกย์ในมิติของสุขภาพ และการศึกษาการรวมตัวและการสร้างกลุ่มของเกย์   การศึกษาในลักษณะนี้จะไม่มีการตั้งคำถามว่าอัตลักษณ์เกย์คืออะไร หรือถูกสร้างมาอย่างไร แต่จะเชื่อว่าความเป็นเกย์มีอยู่ในตัวบุคคลโดยอ้างทฤษฎีหลายทฤษฎีไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีพันธุกรรม จิตวิทยา และการอบรมเลี้ยงดูภายในครอบครัว โดยมิได้มีการถกเถียงว่าทฤษฎีใดมีข้อจำกัดในการอธิบายอัตลักษณ์เกย์อย่างไร ไม่ได้อธิบายเงื่อนไขของบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่ทำให้เกิดการสร้างกลุ่มเกย์ มิได้อธิบายวิธีคิดเรื่องเพศที่อยู่ในวัฒนธรรมไทย  การศึกษาในแนวนี้จะอธิบายเพียงปฏิบัติการของเกย์เพื่อการบรรลุเป้าหมายบางอย่าง

                การศึกษาในมิติสุขภาวะทางเพศ ได้แก่ เรื่อง เครือข่ายสังคมและเพศสัมพันธ์กลุ่มชายชอบชาย ของ วิภา ด่านธำรงกูล และคณะ (2547)   การศึกษานี้ต้องการอธิบายพฤติกรรมทางเพศที่สัมพันธ์กับปัญหาสุขภาวะทางเพศ โดยพบว่าเกย์ส่วนใหญ่จะมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกเมื่ออายุประมาณ 16 ปี และคนที่มีเพศสัมพันธ์ด้วยจะเป็นคนที่รู้จักกันหรือเป็นเพื่อน   บุคคลที่เกย์ต้องการทำความรู้จักด้วยจะต้องเป็นคนที่ถูกใจ เช่น มีหุ่นดี เป็นแมน ผิวขาว มีมนุษยสัมพันธ์ดี เป็นต้น และเพศสัมพันธ์ที่เกย์ชอบจะต้องมีการเล้าโลม มีการสอดใส่ และชอบให้คู่ขาใช้ปากทำออรัลเซ็ก ส่วนเพศสัมพันธ์ที่เกย์ไม่ชอบคือการถูกบังคับและไม่ใช่คนที่ถูกสเป็ก เกย์ส่วนใหญ่จะมีเพศสัมพันธ์กับแฟนและกับคนแปลกหน้า สถานที่ที่เกย์มักจะมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้ามากที่สุดคือ ในซาวน่า รองลงไปคือผับหรือดิสโก้เธค   นอกจากนั้น เกย์ส่วนใหญ่จะใช้ถุงยางอนามัยกับคู่ขาที่เป็นคนแปลกหน้า  ถ้าเป็นเพื่อนหรือเป็นแฟนก็จะมีการใช้ถุงยางน้อยลง                  เครือข่ายของการมีเพศสัมพันธ์ในกลุ่มเกย์แบ่งเป็น 3 ประเภทคือ    1) เครือข่ายสื่อนิตยสาร โทรศัพท์และอินเตอร์เน็ต 2) เครือข่ายสถานที่สาธารณะ เช่น สวนหย่อม สวนสนุก สนามกีฬา สระว่ายน้ำ ฯลฯ และ 3) เครือข่ายสถานบันเทิง เช่น   ซาวน่า ดิสโก้เธค ผับ คาราโอเกะ ฯลฯ เครือข่ายเหล่านี้มีความสำคัญต่อการแสวงหาคู่และการมีเพศสัมพันธ์ของเกย์ ความสัมพันธ์ทางสังคมของเกย์จะแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระดับคู่ขาแบบชั่วคราว ระดับเพื่อน และระดับคนรัก เกย์ส่วนใหญ่ที่รู้จักคนแปลกหน้ามักจะพัฒนาความสัมพันธ์ไปสู่การเป็นเพื่อน และมีส่วนน้อยที่จะพัฒนาไปสู่การเป็นคนรัก   การศึกษานี้พยายามวิเคราะห์ให้เห็นว่าเครือข่ายความสัมพันธ์ทางเพศของเกย์ที่เกิดขึ้นในสถานบันเทิง และอินเตอร์เน็ตทำให้ความสัมพันธ์ทางเพศของเกย์ไม่ยั่งยืนและ ทำให้เกย์เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพ 

                การศึกษาการสร้างกลุ่มของเกย์ ได้แก่ วิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิตเรื่อง กลยุทธ์การสื่อสารเรื่องชายรักชายของสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย ของภัทรวดี พันธุ์จันทร์ (2548)   และงานวิจัยเรื่อง การสื่อสารเพื่อการจัดการองค์กรเกย์ในประเทศไทย ของสุรพงษ์ โสธนะเสถียร และพจนา ธูปแก้ว (2549)  การศึกษาทั้งสองเรื่องนี้สนใจขบวนการสื่อสารในฐานะเป็นเครื่องมือในการสร้างกลุ่มของเกย์    ภัทรวดีอธิบายเกี่ยวกับพัฒนาการของการเกิดขึ้นของสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทยตั้งแต่ระยะก่อตัวไปจนถึงการตั้งเป็นสมาคมเพื่อดูว่า ในแต่ละช่วงเวลาองค์กรนี้มีรูปแบบการสื่อสารอย่างไม่เป็นทางการ และมีลักษณะเป็นแนวดิ่ง คือผู้เป็นหัวหน้าเป็นผู้กำหนดและวางกฎเกณฑ์ต่าง ๆ  แต่เกย์ในองค์กรจะมีความสนิทสนมและผูกพันกันอย่างดีเพราะสมาชิกแต่ละคนสามารถเสนอแนะความคิดของตนเองได้ ทำให้เกิดบรรยากาศของการรับฟังและเคารพซึ่งกันและกัน    สมาคมฟ้าสีรุ้ง ฯ ทำกิจกรรมเพื่อชาวเกย์ มีการสร้างพื้นที่ทางสังคมให้กับเกย์ได้มาพบเจอกัน แลกเปลี่ยนความคิดซึ่งกันและกัน รวมทั้งยังสื่อสารกับสังคมภายนอกโดยการรณรงค์กป้องกันโรคเอดส์  การศึกษานี้สรุปว่าสมาคมฟ้าสีรุ้งฯ สร้างภาพลักษณ์ด้านบวกให้กับเกย์   

                สุรพงษ์และพจนา ศึกษาองค์กรเกย์สองแห่งคือสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทยและองค์กรบางกอกเรนโบว์ โดยวิเคราะห์ว่าองค์กรเกย์ในสังคมไทย ยังไม่มีเข้มแข็งเพราะขาดแคลนงบประมาณและบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ ทำให้การทำกิจกรรมต่าง ๆ ไม่สามารถนำพากลุ่มเกย์ไปสู่ทิศทางที่สร้างสรรค์ นอกจากนั้นยังขาดผู้นำที่กล้าหาญที่จะเรียกร้องสิทธิของเกย์ ทำให้การรวมกลุ่มของเกย์เป็นแค่การทำให้ตนเองรู้สึกปลอดภัยจากคนภายนอก   จะเห็นได้ว่าการศึกษาในเรื่องนี้มิได้มองเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและวิธีคิดทางเพศในสังคมไทย จึงทำให้มองสังคมเกย์ว่าเป็นสังคมที่อ่อนแอและไม่กล้าเรียกร้องสิทธิ  การสรุปเช่นนี้อาจเกิดจากฐานคิดที่มองว่าการต่อสู้ของเกย์ในแต่ละสังคมจะต้องเป็นไปทางแนวทางเดียวกัน การสรุปในลักษณะนี้ จึงเป็นข้อจำกัดในการทำความเข้าใจเกย์ในสังคมไทยที่มีบริบทของการสร้างอัตลักษณ์ทางเพศและการต่อสู้กับสังคมต่างไปจากสังคมอื่น ๆ

                อาจกล่าวได้ว่า การศึกษาในในมิติสุขภาพและการสร้างกลุ่ม ถึงแม้จะทำให้เห็นปฏิบัติการของเกย์ที่ทำกิจกรรมต่อต้านโรคเอดส์ แต่ยังไม่ได้อธิบายความซับซ้อนของการสร้างอัตลักษณ์เกย์ และเงื่อนไขที่ทำให้เกย์ในสังคมไทยออกมารวมตัวกันหรือทำกิจกรรมทางสังคม การศึกษาในแนวนี้ชี้ให้เห็นแต่เพียงว่าเกย์ถูกสังคมดูหมิ่น ไม่ยอมรับ และยังไม่เข้าใจ ทำให้เกย์เป็นชนกลุ่มน้อยที่มีแรงกดดันและต้องการหาช่องทางที่จะปลดปล่อย ภาพความเข้าใจเกี่ยวกับเกย์จึงหลุดหายไปจากบริบบททางประวัติศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรม

 

การศึกษาแนวที่สี่ การศึกษาบริบทประวัติศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรม

                การศึกษาในกลุ่มนี้พยายามทำความเข้าใจประสบการณ์ชีวิตของเกย์ที่สัมพันธ์กับบริบททางประวัติศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรม เป็นความพยายามที่ชี้ให้เห็นว่าโครงสร้างความคิดเกี่ยวกับเพศในสังคมไทยมีผลต่อการนิยามตัวเองของเกย์ รวมทั้งอำนาจความรู้กระแสหลักที่เกิดจากสังคมรักต่างเพศมีผลทำให้เกย์กลายเป็นคนชายขอบ การศึกษาในกลุ่มนี้ ได้แก่  วิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิต เรื่อง วาทกรรมเกี่ยวกับเกย์ในสังคมไทย พ.ศ.2508-2542 ของเทอดศักดิ์ ร่มจำปา (2545) งานวิจัยเรื่อง Dear Uncle Go: Male Homosexuality in Thailand ของปีเตอร์ เอ. แจ็คสัน (1995)   การศึกษาของแจ็คสัน(1997) เรื่อง Kathoey><Gay><Man: The Historical Emergence of Gay Male Identity in Thailand   บทความวิชาการในหนังสือเรื่อง Lady Boys, Tom Boys, Rent Boys. Male and Female Homosexualities in Contemporary Thailand ของปีเตอร์ เอ.แจ็คสัน และเจอราร์ด ซุลลิแวน (1999)  และวิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิตของนฤพนธ์ ด้วงวิเศษ เรื่อง ขบวนการเคลื่อนไหวของเกย์ในสังคมไทย ภาคปฏิบัติการและกระบวนทัศน์ (2553)

                การศึกษาของเทอดศักดิ์ เป็นการค้นหาวาทกรรมกระแสหลักที่ดูหมิ่นเหยียดหยามเกย์  โดยใช้การเก็บข้อมูลเอกสาร หนังสือพิมพ์ นิตยสาร และวารสารเพื่อที่จะดูว่าสังคมพูดถึงเกย์อย่างไร ด้วยทัศนคติอย่างไร  โดยศึกษาเอกสารตั้งแต่พ.ศ.2508 จนถึง พ.ศ.2542 หรือประมาณ 34 ปี      เทอดศักดิ์อธิบายว่าช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หนังสือพิมพ์ได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ของนักโทษชายในเรือนจำ ซึ่งถูกมองว่า”อุตริพิสดาร”  รวมทั้งมีความรู้ทางจิตวิทยามาอธิบายว่าพฤติกรรมรักร่วมเพศ เป็นความผิดปกติทางจิต  หลังจากนั้นจะมีคำเรียก “ลักเพศ” “รักร่วมเพศ” ที่ส่อไปในเชิงลบ  ในช่วงพ.ศ.2500-2520 สังคมไทยเรียนรู้เกี่ยวกับความหมายและพฤติกรรมของโฮโมเซ็กช่วลผ่านแนวคิดทฤษฎีทางการแพทย์และจิตเวชศาสตร์ ทำให้เกย์คิดว่าตนเองมีความผิดปกติทางเพศ  วิกลจริต กามวิปริต หรือ ผิดธรรมชาติ   เกย์จึงเกิดความรู้สึกทุกข์ทรมาน โดดเดี่ยว ว้าเหว่ และ ซึมเศร้า

                สื่อที่มีบทบาททำให้เกย์มองตัวเองว่ามิใช่คนป่วยทางจิต คือนิตยสารเกย์ ในช่วง พ.ศ.2526 เป็นต้นมา เช่น มิถุนา  มรกต  นีออน มิดเวย์ ฯลฯ  ในช่วงนี้เกิดคำสรรพนามที่ใช้เรียกชายรักชายมากมาย เช่น เพศที่สาม กะเทยชาย เกย์คิง เกย์ควีน  โฮโมเซ็กช่วล  ชาวเรืองแสง  ชาวดอกไม้ และอีแอบ เป็นต้น  นิตยสารเกย์เป็นผู้ที่ทำให้เกย์ยอมรับสภาพจิตใจของตัวเอง หรือไม่ปฏิเสธชีวิตของตัเวอง  เป็นเครื่องมือที่ใช้ตอบโต้กับวาทกรรมกระแสหลักที่ตีตราว่าเกย์เป็น “ผู้ป่วยทางจิต”   อาจกล่าวได้ว่านิตยสารเกย์กำลังสร้างนิยามใหม่ที่บอกว่าเกย์เป็นคนปกติ 

                 การศึกษาของแจ็คสัน (1995) เป็นการศึกษารุ่นแรกๆที่พยายามทำความเข้าใจบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของเกย์ในสังคมไทย ซึ่งในช่วงเวลานั้นที่แจ็คสันกำลังเก็บข้อมูลในประเทศไทยในช่วงกลางทศวรรษ 1980 เป็นช่วงที่สังคมไทยยังมองพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วลเป็นความผิดปกติและเป็นปัญหาสังคม   แจ็คสันใช้การศึกษาจากเอกสารโดยวิเคราะห์จากคอลัมน์ “ชีวิตเศร้าชาวเกย์” ของโก๋ ปากน้ำในนิตยสารแปลกเพื่อดูการตอบคำถามเกี่ยวกับเกย์ และปัญหาชีวิตของเกย์   พร้อมทั้งให้บริบททางวัฒนธรรมเกี่ยวกับการเสียหน้า หรือเสียภาพพจน์ที่ส่งผลต่อบุคคลที่เป็นเกย์   การตอบปัญหาชีวิตเกย์โดยโก๋ ปากน้ำ สะท้อนความเชื่อกระแสหลักที่อธิบายว่าเกย์คือคนมีกรรม อาภัพ มีความเศร้า หรือขาดความอบอุ่นในครอบครัว    ดังนั้น โก๋ ปากน้ำจึงพยายามให้คำแนะนำว่าเกย์ควรจะหักห้ามใจตนเอง และหันมาประพฤติตัวและแสดงบทบาทผู้ชายที่เหมาะสม เช่น หันมาคบผู้หญิงเป็นแฟนและแต่งงานมีครอบครัว   จะเห็นว่าทัศนคติเกี่ยวกับเกย์ของโก๋ ปากน้ำมีลักษณะเป็นอนุรักษ์นิยม ซึ่งเป็นภาพตัวแทนของคนเมืองชนชั้นกลางที่ตกอยู่ใต้อิทธิพลความรู้ทางจิตเวชศาสตร์

                แจ็คสันชี้ให้เห็นว่าการมีเซ็กระหว่างชายกับชายในสังคมไทยอาจไม่เกี่ยวกับการเป็นเกย์เสมอไป เพราะการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายกับชายเป็นเรื่องของ “อารมณ์” มากกว่าเป็นอัตลักษณ์  แจ็คสันเชื่อว่าพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วลสามารถเกิดขึ้นได้ในสังคมไทย แต่การแสดงออกแบบ “ผิดเพศ” หรือไม่ใช่ผู้ชายจะได้รับการประณามหรือไม่ยอมรับ  ดังนั้น เกย์ในสังคมไทยจึงต้องรักษาภาพพจน์ความเป็นชายเอาไว้ จากเงื่อนไขนี้ทำให้การการปกปิด หรือการเปิดเผยตัวของเกย์กลายเป็นเรื่องของการซุบซิบนินทาทางสังคม      ในช่วงที่โรคเอดส์กำลังแพร่ระบาดในช่วงทศวรรษ 1980 สังคมก็หันมาโจมตีเกย์และประณามว่าเซ็กของเกย์เป็นสาเหตุของการแพร่เชื้อเอชไอวี/เอดส์  เกิดนักวิชาการ 2 กลุ่มออกมาถกเถียงว่าพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วลเป็นอย่างไร ฝ่ายหนึ่งคิดว่าโฮโมเซ็กช่วลเป็นพฤติกรรมเบี่ยงเบนหรือเป็นปัญหาสังคม และอีกฝ่ายหนึ่งคิดว่าโฮโมเซ็กช่วลเป็นคนปกติ  

                ในการศึกษาของแจ็คสัน(1997) เรื่อง Kathoey><Gay><Man: The Historical Emergence of Gay Male Identity in Thailand ได้เสนอว่าวิธีคิดเรื่องเพศของไทยมองปฏิบัติการทางเพศที่ผูกติดกับ “เพศสภาพ” (Gender) ซึ่งทำให้ “ความเป็นชาย” และ “ความเป็นหญิง” มีพลังในการแสดงอัตลักษณ์ทางเพศ  แจ็คสันกล่าวว่าพฤติกรรมแบบชายรักชายในสังคมไทย มิใช่การบ่งบอกถึงอัตลักษณ์ (Identity) แต่เป็นเรื่องของพฤติกรรม (Behavior) มีการรับรู้และเรียกพฤติกรรมเช่นนี้ว่า “เล่นสวาท” หรือบางครั้งอธิบายว่าเป็นการเสพเมถุนทางเว็จมรรค(ทวารหนัก)   สังคมไทยอธิบายว่าการเล่นสวาท คือการที่ผู้ชายมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย ซึ่งอาจเกิดขึ้นกับผู้ชายที่มีอายุกับเด็กชายวัยรุ่น หรือผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับกะเทย  พฤติกรรมเหล่านี้มักจะพบได้ในสังคมที่มีผู้ชายมารวมตัวกัน เช่น ในคุก ในเขตอาวาส หรือในคณะละครที่มีผู้ชายแสดงทั้งหมด (ละครนอก)  มีความเชื่อว่าการเล่นสวาทจะทำให้ฟ้าผ่า หรือเป็นบ้า เป็นพฤติกรรมที่ถูกมองว่าน่ารังเกลียดและน่าอาย    

                พฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วลในสังคมของชายไทยจึงถูกปกปิดซ่อนเร้น รับรู้กันเฉพาะพื้นที่ส่วนตัวเท่านั้น  และการที่ผู้ชายไทยมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายด้วยกันยังเป็นเรื่องของการ “อยากลอง” หรือ การเปลี่ยนรสชาติ ซึ่งในสังคมของผู้ชายถือว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้  ประเด็นนี้แจ็คสันอธิบายว่าพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วลเป็นความหลากหลายของการแสดงออกทางเพศของผู้ชาย หรือเป็นความหลากหลายของ “เพศวิถี” (Sexuality) ของผู้ชาย ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีพฤติกรรมแบบรักต่างเพศเท่านั้น หากแต่ผู้ชายอาจมีเพศสัมพันธ์กับชายอื่นด้วยเหตุผลที่ต่างกันไป    แต่เมื่อสังคมไทยเริ่มนำคำว่า “เกย์” มาใช้เรียกอัตลักษณ์ของชายรักชายในช่วงทศวรรษ 1960 พฤติกรรมดังกล่าวก็ถูกพูดอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะ  โฮโมเซ็กช่วลที่ยังปกปิดซ่อนเร้นจึงจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการถูกกล่าวหาว่าเป็นเกย์  เพราะกลัวเสียหน้า หรือเสียภาพพจน์ของความเป็นชาย (Jackson, 1997, p.178)  

                การศึกษาของแจ็คสัน ยังพูดถึงการเกิดขึ้นของอัตลักษณ์เกย์ในสังคมไทยว่า เกิดขึ้นท่ามกลางฐานความคิดแบบ  Sex/Gender Category ที่แยกเพศสรีระออกเป็น 2 เพศ คือ เพศชายกับเพศหญิง และแยกเพศสภาพเป็น 3 แบบ คือ ผู้ชาย ผู้หญิง และกะเทย  ทำให้การอธิบายเพศสภาพของเกย์จะต้องยึดเอา “ความเป็นชาย” เป็นตัวแบบ และทำให้เกย์ถูกจัดให้มีเพศสภาพเดียวกับ “ผู้ชาย” สังคมไทยจึงไม่แยกความแตกต่างระหว่าง “ผู้ชาย” กับ “เกย์” แต่จะแยกพฤติกรรมชายรักชายออกจากชายรักหญิง     แต่พฤติกรรมชายรักชายคือพฤติกรรมที่ล่อแหลมต่อการถูกประณามทางสังคม ดังนั้นผู้ชายที่มีจิตใจรักเพศเดียวกันจึงต้องปกปิดตัวเอง   อย่างไรก็ตาม เกย์ที่มาจากกลุ่มชนชั้นกลางในกรุงเทพฯคือคนกลุ่มแรก ๆ ที่แสดงตัวว่าเป็นเกย์ในพื้นที่ของสถานบริการ เช่น บาร์ ซาวน่า และผับ   “อัตลักษณ์เกย์” ทำให้ผู้ชายไทยจำนวนมากที่มีความรู้สึกชอบเพศเดียวกันหันมาเปิดเผยตัวและแยกตัวจากบุคคลที่แสดงตัวแบบกะเทย  และใช้ความเป็นชายเพื่อแสดงความแตกต่างจากกะเทย  เกย์ไทยกับผู้ชายไทยจึงดำรงอยู่ในกลุ่มที่ใช้เพศสภาวะ “ความเป็นชาย” (Masculinity) ร่วมกัน

                เมื่อเกย์กับผู้ชายดำรงอยู่ในเพศสภาพเดียวกัน ทำให้การกีดกันหรือการควบคุมเกย์ในสังคมไทยต่างไปจากตะวันตก  กล่าวคือ เกย์ไทยสามารถดำรงอยู่ในชีวิตประจำวันได้เหมือนกับผู้ชายทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำงาน การเรียน และการเข้าสังคม  เกย์ไทยสามารถเข้าสังคมได้ง่ายกว่ากะเทย    แจ็คสันกล่าวว่า ด้วยเงื่อนไขดังกล่าวนี้ทำให้เกย์ดำรงอยู่ได้อย่างปกติ ไม่ถูกลงโทษ หรือถูกล้อเลียนเหมือนกับกะเทย  เรื่องที่สำคัญก็คือ “ความเป็นชาย” ของเกย์เป็นเรื่องที่เปิดเผยและทำให้เขามีพื้นที่ทางสังคม แต่พฤติกรรมทางเพศของเขาจะไม่ถูกพูดถึงในพื้นที่สาธารณะ  เกย์ไทยจึงไม่กังวลในเรื่องเพศสภาพ (Gender) แต่กังวลเรื่องพฤติกรรมทางเพศ (Sexual Activities) และความปราถนาทางเพศวิถี (Sexuality)     แจ๊คสันมองว่าโครงสร้างความคิดคู่ตรงข้ามชาย-หญิงที่ปรากฎอยู่ในสังคมไทย  จะไม่ยอมรับพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วล  เพราะบุคคลที่มีพฤติกรรมนี้จะถูกมองว่า “ไม่ใช่ผู้ชาย”  การใช้ชีวิตของเกย์ไทยจึงต้องระวังตัวต่อการถูกเปิดเผยในพฤติกรรมทางเพศ (Jackson, 1997, p.184) 

                บทความวิชาการในหนังสือเรื่อง Lady Boys, Tom Boys, Rent Boys. Male and Female Homosexualities in Contemporary Thailand. (1999) มีบทความเกี่ยวกับเกย์ในสังคมไทย 6 เรื่อง ได้แก่ บทความแรกของแจ็คสันเกี่ยวกับปัญหาการสำรวจสถิติเกย์ในสังคมไทยในช่วงทศวรรษ 1980 ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการสำรวจดังกล่าวอาศัยทัศนคติเชิงลบที่มีต่อเกย์และมองเกย์เป็นปัญหาสังคม   บทความที่สองของพรูเด็นซ์ บอร์ธวิคเกี่ยวกับโครงการป้องกันโรคเอดส์ในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าพรแดนของเพศสภาพและเพศวิถีของเกย์ กะเทย และผู้ชายขายบริการทางเพศมีความคลุมเคลือ เพราะกลุ่มคนเหล่านี้มีทั้งจุดร่วมและจุดต่าง ดังนั้นโครงการป้องกันโรคเอดส์จะต้องเข้าใจมิติเหล่านี้   บทความที่สามของสตีเฟ่น โอ. เมอร์เรย์ เกี่ยวกับการแสดงอัตลักษณ์เกย์ที่แตกต่างไปจากตะวันตก ซึ่งเกย์ไทยจะใช้เพศสภาพของผู้ชายเป็นเครื่องมือในการแสดงออกเพื่อทำให้ตนเองแตกต่างจากกะเทย 

                บทความที่สี่ของแกรม สโตเรอร์ เกี่ยวกับความไม่คงที่ของเพศสภาพและเพศวิถีในสังคมไทย โดยศึกษาจากประสบการณ์ทางเพศของเกย์และชายขายบริการ  ความไม่คงที่นี้มีเงื่อนไขมาจากทัศนคติเรื่อง “ภาพพจน์” ในสังคมไทยซึ่งเกย์และชายขายบริการจะแสดงบทบาททางเพศให้เหมาะกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป        บทความที่ห้าของมัลคอล์ม แม็คคามิช เกี่ยวกับชายขายบริการทางเพศในพัทยา อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมทางเพศและสภาพแวดล้อมทางสังคมของชายขายบริการ เช่น การมีเพื่อน ความสัมพันธ์กับลูกค้า และความสัมพันธ์กับครอบครัว ซึ่งมีความสำคัญมากกว่าที่จะตีตราว่าชายขายบริการจะเป็นผู้เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์เพียงอย่างเดียว  บทความที่หกของญาณ เดอ ลินด์ แวน วินการ์เดน เกี่ยวกับชีวิตของชายขายบริการในบาร์เกย์ในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งพบว่าผู้ชายเหล่านี้มิได้นิยามว่าตนเองเป็นเกย์ แต่นิยามว่าตนเองคือผู้ชาย  นอกจากนั้นผู้ชายขายบริการยังมองว่าการแสดงบทบาทเป็นรุก ยังทำให้เขาธำรงความเป็นชายไว้ได้ หรือไม่เสียความเป็นชาย  ประเด็นนี้ทำให้แนวคิดโฮโมเซ็กช่วลตะวันตกไม่อาจนำมาอธิบายอัตลักษณ์ของชายขายบริการทางเพศในสังคมไทยได้

            การศึกษาของนฤพนธ์ (2553) ชี้ให้เห็นว่าการเคลื่อนไหวของเกย์ในสังคมไทยต่างไปจากเกย์ตะวันตก เพราะสังคมเกย์ไทยเติบโตมาภายใต้วัฒนธรรมบริโภคในทศวรรษ 2520 ซึ่งอาศัยสินค้าและบริการทางเพศเป็นเครื่องบ่งบอกถึงอัตลักษณ์เกย์ ทำให้การเคลื่อนไหวของเกย์ไทยเน้นวิถีชีวิตหรือไลฟสไตล์ซึ่งเกย์แต่ละคนจะปลดปล่อยตัวตนในพื้นที่ส่วนตัว เช่น บาร์ ผับ ซาวน่า และดิสโก้เธค  พื้นที่ส่วนตัวนี้ทำให้เกย์ปลอดภัยจากการดูหมิ่นเหยียดหยาม แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้เกย์สนใจเรื่องเซ็กส์และกามรมณ์ และใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม    การเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมที่สำคัญสองอย่าง คือ การเดินพาเหรดและการทำงานด้านสุขภาวะทางเพศ  นฤพนธ์ชี้ให้เห็นว่าปฏิบัติการทั้งสองนี้ สะท้อนภาพการเปลี่ยนผ่านทางวัฒนธรรมที่ชาวเกย์ไทยพยายามแสดงตัวตนในพื้นที่สาธารณะ โดยการต่อรองกับสังคมภายนอกผ่านการให้ความหมายและกระบวนทัศน์เกี่ยวกับการเป็น “เกย์ที่ดี” เป็นเกย์ที่ทำประโยชน์ต่อส่วนรวม   มีความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น

            นอกจากนั้น อัตลักษณ์ของเกย์ไทยเป็นอัตลักษณ์ทับซ้อน (Multiple Identity) ซึ่งเกิดจากเกย์แต่ละคนเลือกที่จะนำความเป็นหญิงและความเป็นชายมาแสดงออก  ทำให้อัตลักษณ์ไม่มีเอกภาพ เช่น เป็นเกย์สาว เกย์แมน เกย์รุก เกย์รับ เกย์ที่รุกและรับ(เกย์โบท) เกย์สาวที่เป็นรุก (สาวเสียบ) หรือเกย์แมนที่เป็นรับ   อัตลักษณ์ทับซ้อนเหล่านี้ทำให้เกย์สามารถยืดหยุ่นต่อการสร้างความสัมพันธ์ทางเพศกับคนรัก หรือคู่นอน     รวมทั้งอัตลักษณ์เกย์ไทยมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ (Situated Identity)   ซึ่งเกย์จะแสดงอัตลักษณ์ผู้ชายเมื่ออยู่กับครอบครัวหรือในที่สาธารณะ และจะแสดงอัตลักษณ์เกย์กับเพื่อนสนิทและในพื้นที่ส่วนตัว        

    

แนวทางที่ห้า การศึกษาไลฟสไตล์และแบบแผนชีวิต

                การศึกษาในแนวนี้มีความเหลื่อมซ้อนกับแนวทางที่สี่ โดยเฉพาะการพูดถึงบริบททางสังคมวัฒนธรรม แต่จะเน้นสถานการณ์ปัจจุบันและเรื่องเล่าประวัติชีวิตของคนที่เป็นเกย์  งานศึกษาได้แก่  เรื่อง  อำนาจและการขัดขืน: ชายรักชายในสังคมที่มีความสัมพันธ์ต่างเพศเป็นใหญ่ ของสุธรรม ธรรมรงค์วิทย์ (2548) วิทยานิพนธ์ระดับดุษฎีบัณฑิต เรื่อง การสร้างความเป็นอื่นให้กับเกย์ ของ ทศวร มณีศรีขำ (2545)  เรื่อง แนวทางในการผลักดัน การสร้างมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมของเกย์ในกรุงเทพมหานคร ของ ร.ต.อ.สิทธิพัฒน์ เฉลิมยศ (2551)   เรื่องแคมฟร็อกกับเพศวิถีของวัยรุ่นชายรักชายไทย พื้นที่ไซเบอร์ โครงสร้างอำนาจและอำนาจในตนทางเพศ ของรณภูมิ สามัคคีคารมย์ และคณะ (2552)    การศึกษาเรื่องเชิงสังวาสของเพศเดียวกัน ผู้ชายขายแรงกับเรื่องเล่าออนไลน์ การค้นหาความสุขทางเพศของชาวสีม่วง ของ สหะโรจน์ กิตติมหาเจริญ (2552)  วิทยานิพนธ์ปริญญาโทเรื่อง The Margins Speak: A Multifaceted Examination of Practising 'Men Who Have Sex with Men' Development in Bangkok  ของเจมส์ เบอร์ฟอร์ด (2010) และบทความเรื่อง Encounters in the Sauna: Exploring Gay Identity and Power Structures in Gay Places in Bangkok ของนิคอส ดาคาเนย์ (2011)

                การศึกษาของสุธรรมใช้การศึกษาจากประสบการณ์ชีวิตของเกย์ 3 คน เพื่อทำความเข้าใจการต่อรองกับอำนาจที่สังคมสร้างขึ้นเพื่อควบคุมบุคคลที่เป็นเกย์ ซึ่งอำนาจนี้มาจากสังคมที่ใช้บรรทัดฐานของรักต่างเพศเป็นเกณฑ์   สุธรรมอธิบายว่าเกย์แต่ละคนจะมีวิธีต่อรอง ต่อต้าน ขัดขืนในแบบที่ต่างกัน โดยขึ้นอยู่กับประสบการณ์ชีวิต สภาพแวดล้อมในครอบครัว ในโรงเรียน ที่ทำงาน และในสถานการณ์ทางสังคม แต่สิ่งที่เกย์มีร่วมกันคือการปกปิดซ่อนเร้นตัวเอง หรือการแอบซ่อนความเป็นเกย์มิให้ใครรู้     การปิดบังนี้ทำให้เกย์สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้   เช่น การแสดงความเป็นชาย อยู่ในกลุ่มเพื่อนผู้ชาย  แกล้งทำเป็นชอบผู้หญิง จีบผู้หญิงหรือเที่ยวผู้หญิง  เพื่อให้คนอื่น ๆ มองว่าเขาไม่ใช่เกย์  แต่ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดคือการปฏิเสธความเป็นเกย์ของตัวเอง ในกรณีหลังนี้เกย์จะพยายามนำตัวออกห่างจากสังคมเกย์และทดแทนด้วยการทุ่มเทให้กับงาน  นอกจากนนั้น  เกย์ในสังคมไทยระมัดระวังตัวต่อการเสียภาพพจน์เป็นอย่างมาก  เพราะเกย์ไม่ต้องการให้คนอื่นมองว่าเขา “ไม่ใช่ผู้ชาย”  การควบคุมตัวเองของเกย์ คือภาพสะท้อนของอำนาจทางสังคมที่พยายามสร้างระบบความหมายทางเพศ ซึ่งเกย์ได้รับเอามาใช้กับตัวเอง

                การศึกษาของทศวร เป็นความพยายามที่จะเข้าใจบริบททางสังคมที่ก่อให้เกิดกระบวนการสร้างความหมาย ความรู้ ความจริงให้กับเกย์โดยผ่านศาสตร์และสถาบันทางสังคม ซึ่งนำไปสู่การสร้างและผลิต “ความเป็นอื่น” ให้กับเกย์  ทัศนะเรื่องเพศในสังคมไทย พยายามแบ่งแยกเพศที่เหมาะสมออกจากเพศที่ไม่เหมาะสม โดยตัดสินจากความเป็นชาย ความเป็นหญิง และการแสดงบทบาททางเพศที่ถูกต้องตามเพศสรีระ   ทศวรมีความเห็นสอดคล้องกับการศึกษาในแนวเดียวกันนี้ว่าเกย์จะต้องแสดงตัวให้เหมือนผู้ชายและพยายามที่จะปิดบังซ่อนเร้นความเป็นเกย์ของตัวเอง เพราะเชื่อในบรรทัดฐานทางเพศที่สังคมกำหนดไว้     เมื่อเกย์อยู่ในครอบครัวก็จะได้ยินคำบอกเล่าของพ่อแม่ว่าลูกควรจะปฏิบัติตัวเป็น “ผู้ชาย” อย่างไร   เมื่ออยู่ในโรงเรียน ครูอาจารย์จะเป็นผู้ควบคุมพฤติกรรมทางเพศของนักเรียน เมื่ออยู่ในที่ทำงาน หัวหน้าหรือเจ้านายจะเป็นผู้ควบคุมพฤติกรรมทางเพศ ทำให้เกย์ต้องปกปิดตัวเอง  การหาทางออกของเกย์จึงเป็นการแสวงหากลุ่มเพื่อนที่มีความรู้สึกแบบเดียวกัน เพราะเพื่อนทำให้ตนเองไม่โดดเดี่ยวและมีสังคม 

                การศึกษาของสิทธิพัฒน์เสนอวิถีการใช้ชีวิตทางเพศที่สัมพันธ์กับบริบทของการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม  ซึ่งเกิดมาจากสมมุติฐานที่ว่าเกย์ถูกสังคมรังเกียจ  ทำให้เกย์ไม่มีพื้นที่ทางสังคม     ชาวเกย์จึงสร้างพื้นที่ของตัวเองเพื่อที่จะสามารถแสดงออกทางเพศตามที่ตนเองต้องการ และพื้นที่ในการแสดงออกทางเพศหรือทำกิจกรรมทางเพศของเกย์ก็มักจะเป็นพื้นที่ที่เสี่ยงอันตราย ได้แก่ สวนสาธารณะ  ห้องน้ำสาธารณะ  ซาวน่า และการสื่อสารทางอินเตอร์เน็ต    พื้นที่เหล่านี้มีอาชญกรรมแฝงเร้นอยู่ เช่น การจี้ปล้น การลักทรัพย์ การทำร้ายร่างกาย ฯลฯ    สิทธิพัฒน์สรุปว่า ความเข้าใจและการยอมรับพฤติกรรมเกย์ของคนในครอบครัวมีส่วนช่วยให้เกย์ไม่ต้องเสี่ยงต่ออาชญากรรมนอกบ้าน เมื่อพ่อแม่พี่น้องมีความเข้าใจลูกที่เป็นเกย์ เกย์ก็สามารถแสดงตัวตนทางเพศในบ้านได้และสามารถพาคนรักมาที่บ้านได้    สิทธิพัฒน์มีข้อเสนอเชิงมาตรการเกี่ยวกับการป้องกัน 4 ด้าน คือ ด้านสังคม ครอบครัว กฎหมายและการป้องกันตัวเอง 

                การศึกษาของสิทธิพัฒน์อาจเป็นจุดเริ่มต้น ที่นำไปสู่การศึกษาว่าสังคมควรจะยอมรับเรื่องเซ็กของเกย์อย่างไร และในมิติใดบ้าง   ในขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องศึกษาว่าเกย์มีวิธีการอย่างไรเพื่อทำให้สังคมยอมรับชีวิตทางเพศของตนเอง ซึ่งล่อแหลมต่อระบบศีลธรรมของสังคม แม้สิทธิพัฒน์จะเสนอให้เกย์รักเดียวใจเดียว หรือเลิกส่ำส่อนทางเพศ    แต่การแสวงหาความสุขทางเพศของเกย์ไม่ได้มีแบบเดียว แต่มีความหลากหลายขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เกย์พบเจอ  ดังนั้นการศึกษาบริบทการใช้ชีวิตทางเพศของเกย์อาจต้องการการตั้งโจทย์แบบใหม่ เพื่อไม่ทำให้เกิดการตีตราว่าเซ็กส์ของเกย์เป็น “อันตราย” หรือ “สกปรก”      เพราะเมื่อมีการพูดถึงชีวิตทางเพศของเกย์ ก็จำเป็นต้องเข้าใจวิธีคิดที่เกย์มีต่อการกระทำทางเพศนั้นด้วย เช่น เกย์คิดอย่างไรต่อการหาเซ็กส์ในห้องน้ำ หรือ การนัดเจอคนจากอินเตอร์เน็ต

                  การศึกษาของรณภูมิและคณะ ได้นำเอาแนวคิดเฟมินิสต์มาเป็น “แว่นตา” เพื่อศึกษาพฤติกรรมการเล่นแคมฟร็อกของเกย์วัยรุ่นซึ่งมีการแสดงออกทางเพศผ่านกล้องวีดิโอที่อยู่ในโปรแกรมสนทนาทางอินเตอร์เน็ต   เกย์ใช้แคมฟร็อกเพื่อโชว์เรือนร่างและอวัยวะเพศของตนเองให้กับเพื่อนที่อยู่ในแคมฟร็อกได้เห็น ซึ่งนำไปสู่การแสดงลีลายั่วยวน และการสำเร็จความใคร่ (ชักว่าว)   แต่การศึกษานี้มองว่าการใช้แคมฟร็อกของชายรักชายขาดการตระหนักถึงสุขภาวะทางเพศ และเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย   แคมฟร็อกของเกย์จึงเป็นทั้งการสร้างความรื่นรมย์ทางเพศและเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาวะทางเพศ  นอกจากนั้น  แคมฟร็อกยังแฝงวิธีคิดกระแสหลักแบบรักต่างเพศที่ให้อำนาจผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ซึ่งในกรณีของเกย์ก็ถูกจัดให้มีอำนาจเป็นชายเป็นใหญ่ที่สามารถแสดงออกในเรื่องเพศได้อย่างอิสระมากกว่าเพศหญิง  สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าวัฒนธรรมเกย์แฝงไว้ด้วยวิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่ เพราะเกย์ได้นำ “ความเป็นชาย” (องคชาตและสรีระ)  มาใช้เพื่อแสวงหาความสุขทางเพศ 

                 การศึกษาของสหะโรจน์เป็นการศึกษาเรื่องราวการสนทนาของเกย์ในเว็บไซต์เกี่ยวกับการหาความสุขทางเพศซึ่ง เกย์นิยมที่จะมีเซ็กส์กับผู้ชายชายแรง เช่น กรรมกร คนสวน พนักงานรักษาความปลอดภัย คนขับแท็กซี่ นักมวย วินมอเตอร์ไซต์  นักกีฬา เด็กเสิร์ฟ  ฯลฯ  เพราะผู้ชายประเภทนี้มี “ความเป็นชาย” ที่ชัดเจน  หรือเป็น “ชายแท้”  นอกจากนั้น วาทกรรมเกี่ยวกับผู้ชายกลุ่มนี้ ในหมู่เกย์ มักจะอธิบายว่า ผู้ชายแบบนี้ “หน้าบ้าน” หรือไม่หล่อ แต่มีอวัยวะเพศขนาดใหญ่  ซึ่งเป็นความเชื่อที่ถูกสร้างในชุมชนเกย์  และเกย์ก็ได้สร้างอำนาจให้เหนือกว่าผู้ชายเหล่านั้น  อย่างไรก็ตาม   การศึกษาของสหระโรจน์เข้าใจเพศวิถีของเกย์ในฐานะเป็นภาพสะท้อนของประสบการณ์ทางเพศ   ซึ่งไม่ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับความซ้อนทับที่เกิดขึ้นในอัตลักษณ์เกย์ และการสร้างความเป็นเกย์ผ่านเรื่องเล่าที่มีทั้งความเป็นจริงและจินตนาการ     ซึ่งยังอาจไม่เพียงพอที่จะทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลง ความไม่ลงรอย และไม่คงที่ของการแสดงอารมณ์ปรารถนาทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ และความสัมพันธ์ที่เกย์มีกับคนอื่นๆ

                การศึกษาของเบอร์ฟอร์ด เป็นการค้นหาประสบการณ์ ความคิด และความฝันของเกย์ที่ทำงานในองค์กรเกย์ไทย 2 แห่งคือ สมาคมฟ้าสีรุ้งและองค์กรบางกอกเรนโบว์ โดยชี้ให้เห็นว่าการทำงานในองค์กรเกย์แบบไทยมีเงื่อนไขของตัวเอง โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้ทุนกับผู้รับทุน ความสัมพันธ์นี้วางอยู่บนความไม่เท่าเทียมที่ผู้ให้ทุนมีอำนาจบังคับควบคุมให้เกย์ต้องทำงานตามคำสั่งและเป้าหมายที่เน้นเรื่องสุขภาพเป็นหลัก แต่เกย์ก็พยายามนำเรื่องอัตลักษณ์ สิทธิ ความเท่าเทียม และการส่งเสริมคุณภาพชีวิตเข้าไปรวมอยู่ในการทำงาน   ทั้งนี้ เบอร์ฟอร์ดเชื่อว่า องค์กรเกย์ไทยมีเอกภาพและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สามารถเป็นตัวแทนที่มีประสิทธิภาพในการต่อสู้เพื่อสิทธิของเกย์ไทยทั้งหลายได้   แต่ข้อสังเกตนี้อาจต้องระมัดระวังเมื่อพบว่าองค์กรเกย์ไทยไม่มีเอกภาพและมีความขัดแย้ง    การอธิบายของเบอร์ฟอร์ดมีข้อจำกัดที่สำคัญคือเป็นการมองเกย์ไทยในช่วงเวลาปัจจุบัน ซึ่งขาดมิติทางประวัติศาสตร์ในการทำความเข้าใจการปรากฎขึ้นของอัตลักษณ์และชุมชนเกย์

                การศึกษาของดาคาเนย์(2011) พบว่าพื้นที่ซาวน่าของเกย์สองแห่งในกรุงเทพฯ คือ บาบีลอนและฟารอส สัมพันธ์กับการแสดงอัตลักษณ์และการแสดงอำนาจ  กล่าวคือ เกย์ที่เข้าไปใช้ซาวน่าทั้งสองแห่งนี้มีพื้นฐานทางสังคม เศรษฐกิจ และแบบแผนการดำเนินชีวิตที่ต่างกัน เกย์ที่ไปเที่ยวซาวน่าจะให้ความสำคัญกับความเป็นชายและความเป็นหญิงที่ปรากฎอยู่ในเกย์แต่ละคน รวมทั้ง ซาวน่าได้แบ่งแยกเกย์ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่างกัน เกย์ที่อยู่ในบาลีลอนจะมีฐานะที่ดีกว่าเกย์ที่อยู่ในฟารอส  อย่างไรก็ตาม เกย์ที่ไปเที่ยวซาวน่าแต่ละคนจะมีวิธีการเลือกและแนวทางที่จะทำให้ตนเองได้รับความสุขทางเพศมากที่สุด  ดังนั้น การใช้ชีวิตในซาวน่าของเกย์จึงสะท้อนวิธีการไกล่เกลี่ยในการแสดงบทบาท พฤติกรรม และรสนิยมทางเพศ    สถานที่ของการแสดงหาความสำราญทางเพศ (ซาวน่า) จึงมีส่วนสำคัญในการนิยามและแสดงตัวตนเกย์ในสังคมไทย เพราะในซาวน่าจะเป็นพื้นที่พิเศษที่เกย์สามารถสร้างสัญลักษณ์ ภาพลักษณ์ นิยาม และกฎเกณฑ์เพื่อการมีเซ็กส์และแสดงอารมณ์ทางเพศ    บุคคลที่เป็นเกย์จะเป็น “ผู้เล่น” ที่สามารถสร้างหรือรื้อสร้างความหมายของตัวตนทางเพศได้ตลอดเวลา    พื้นที่ทางเพศของเกย์ไทย เต็มไปด้วยแบบแผนทางวัฒนธรรมที่สร้างระเบียบกฎเกณฑ์ให้เกย์แต่ละคนต้องปฏิบัติเพื่อให้สอดคล้องกับการใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่นั้น  กิจกรรมทางเพศในพื้นที่เหล่านั้นจึงมิได้มาจากจิตสำนึกตามธรรมชาติของเกย์ แต่เกิดจากการควบคุมที่มีอยู่ในสังคมเกย์ ไม่ว่าจะเป็นการให้ความสำคัญกับรูปร่างหน้าตา ความเป็นแมน และขนาดของอวัยวะเพศ  ร่างกายจึงมีความสำคัญกับการแสดงออกทางเพศของเกย์ไทย

 

ฐานคิดในการศึกษาเกย์ในสังคมไทย

            การศึกษาเพศวิถีและอัตลักษณ์ของโฮโมเซ็กช่วลในโลกตะวันตก  วางอยู่บนข้อถกเถียงที่ต่างกันสองแบบ คือ การแสวงหาความจริงแท้ (Essentialism) กับการผลิตสร้างทางสังคม  (Social Constructionism) ซึ่งข้อถกเถียงแบบคู่ตรงข้ามนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากกระบวนทัศน์เควียร์ในช่วงทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา      เมื่อกลับมาดูการศึกษาเกย์ในสังคมไทยก็จะพบว่ามีการใช้กรอบความคิด หรือกระบวนทัศน์ที่ต่างกัน สามแบบ คือ

 

แบบแรก กระบวนทัศน์ปฏิฐานนิยม (Positivism)

                กระบวนทัศน์นี้เชื่อว่าโฮโมเซ็กช่วลคือพฤติกรรมเบี่ยงเบน เป็นปัญหาสังคม และบ่อนทำลายศีลธรรมอันดีงาม     กระบวนทัศน์เบี่ยงเบน (Deviant Approaches) มุ่งหาสาเหตุของความเบี่ยงเบนในระดับพฤติกรรมส่วนบุคคล และปัจจัยแวดล้อมต่างๆที่เอื้อให้เกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบน แนวนี้มองว่าปัญหาเบี่ยงเบนจะหมดไปถ้าบุคคลเปลี่ยนพฤติกรรม  การศึกษาในแนวนี้แพร่หลายมากในช่วงทศวรรษ 2520-2530 แต่ค่อย ๆ กลายเป็นแนวคิดที่ถูกโจมตีจากนักวิชาการรุ่นหลัง ทำให้ปัจจุบันการศึกษาในแบบแรกกลายเป็นเรื่องล้าสมัยและถูกมองว่าเป็นการศึกษาที่มีอคติ        ฐานคิดที่อยู่เบื้องหลังการศึกษาในแนวนี้คือฐานคิดแบบการแสวงหาความจริงแท้ (Essentialism) ซึ่งเป็นการศึกษาที่มาจากนักจิตเวชศาสตร์และเพศศาสตร์ (Sexology) เช่นในการศึกษาของวิภาและคณะ(2547) ที่มองว่าพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วลเป็นพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพทางเพศ ซึ่งลึกๆแล้วเชื่อว่าเกย์เป็นคนที่ส่ำส่อนและทำให้ศีลธรรมเสื่อมเสีย

                ความคิดปฏิฐานนิยมยังแฝงเร้นอยู่ในคำอธิบายที่พยายามแยกขั้วระหว่างสังคมรักต่างเพศกับสังคมรักเพศเดียวกัน เพื่อที่จะทำให้เห็นว่าเกย์ถูกสังคมรังเกียจอย่างไร สังคมควรให้โอกาสและเห็นใจเกย์อย่างไร ขณะเดียวกันเกย์ควรจะปฏิบัติตัวเป็นคนดีเพื่ออยู่ในสังคมร่วมกับคนอื่นๆอย่างไร การมองในแนวนี้พบได้ในการศึกษาของสุพร(2546) และสิทธิพัฒน์(2551) ซึ่งเชื่อในบรรทัดฐานจารีตประเพณีและระบบศีลธรรม ลึกๆแล้วการศึกษาในแนวนี้มองว่าการเป็นคนดีมีแก่นแท้ที่ชัดเจน หากเกย์เป็นคนดีก็จะทำให้ได้รับการยอมรับจากสังคม  รวมทั้งมองว่าการที่เกย์สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมรักต่างเพศได้ถือเป็นการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด

                ในการศึกษาของรณภูมิและคณะ(2552) ซึ่งอาศัยทฤษฎีเฟมินิสต์มาอธิบายเพศวิถีของเกย์ในแคมฟร็อก แต่การศึกษานี้มีท่าทีและสำเนียงของเฟมินิสต์ที่ยังเชื่อในความไม่เท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิง และมองว่าสังคมยังคงให้อำนาจผู้ชายมากกว่า  จึงทำให้อธิบายว่าเกย์เปรียบเสมือนสังคมผู้ชายที่มีสิทธิพิเศษสามารถแสดงออกทางเพศในแคมฟร็อกได้อย่างอิสระมากกว่าผู้หญิง    อย่างไรก็ตาม แคมฟร็อกอาจไม่ใช่เพียงเครื่องมือที่เกย์จะแสดงออกความเป็นชายเท่านั้น แต่ยังอาจรื้อสร้างความหมายและท้าทายคุณค่าความเป็นชายในกระแสหลักด้วย  ทำให้การแสดงออกความเป็นชายของเกย์มีความซับซ้อนและเต็มไปด้วยความขัดแย้งมากมาย  การใช้แคมฟร็อกของเกย์จึงไม่ใช่การแบ่งแยกว่าเกย์มีอำนาจเช่นเดียวกับผู้ชาย แต่แคมฟร็อกได้เปิดพื้นที่ให้เห็นว่า “ความเป็นชาย” ของเกย์มีความไม่ลงรอยเกิดขึ้น และการแสดงออกทางเพศของเกย์ในแคมฟร็อกก็ทำให้ “ความเป็นชาย” มิใช่สิ่งที่สมบูรณ์

                นอกจากนั้น ยังพบในการศึกษาทางนิเทศศาสตร์ที่สนใจการสื่อสารในชุมชนเกย์  ซึ่งพบในการศึกษาของภัทราวดี(2548)     สุรพงษ์และพจนา(2549)  ที่มองว่าองค์กรเกย์คือพื้นที่สำหรับสร้างความมั่นใจให้กับเกย์และจะเป็นปากเสียงในการต่อสู้เพื่อสิทธิให้กับเกย์คนอื่นๆ   รวมถึงงานของไชโย (2546) ที่มองว่าอัตลักษณ์เกย์จะปรากฎอยู่ในการสื่อสารทางสังคม การศึกษาในสายนิเทศศาสตร์นี้มักจะมองว่าตัวตนทางเพศมีอยู่ในร่างกายตามธรรมชาติ และจิตสำนึกที่ปรากฎอยู่ในตัวคน จิตสำนึกนี้จะถูกปลดปล่อยออกมาเมื่อมีสถานการณ์ที่เอื้ออำนวย  นอกจากนั้นยังมองว่าตัวตนทางเพศเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการปลดปล่อย เชื่อว่ามีความจริงเกี่ยวกับเพศที่รอการแสดงออก หรือเป็นพฤติกรรมที่เกิดจากแรงขับภายใน  และเพศจะต้องมีการจัดแบ่งเป็นกลุ่ม เป็นประเภทต่างๆ และคนที่มีเพศภาวะ เพศวิถีแบบเดียวกันจะต้องมารวมตัว ซึ่งนำไปสู่การสร้างกลุ่มสังคมทางเพศ  

                จะเห็นว่าการอธิบายเกย์ในงานศึกษาเหล่านี้ ยังเชื่อในการแบ่งแยกขั้วเพศวิถีระหว่าง “รักต่างเพศ” และ “รักเพศเดียวกัน” ซึ่งเป็นฐานคิดแบบเหตุผลนิยม  และสารัตถะนิยม (Essentialism)  ความคิดเหล่านี้มาจากตรรกะแบบวิทยาศาสตร์ที่เชื่อในโลกวัตถุและความจริงตามธรรมชาติ ที่พยายามจัดสิ่งต่างๆเป็นคู่ตรงข้าม  ทำให้ความเข้าใจเกี่ยวกับเพศวิถีของเกย์ในการศึกษาในกระบวนทัศน์นี้เป็นเพศวิถีของสิ่งที่มีแก่นแท้แน่นอน ซึ่งเกิดขึ้นทั้งในการศึกษาทางวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ 

 

แบบที่สอง กระบวนทัศน์สัมพัทธนิยม (Relativism)

                กระบวนทัศน์นี้สนใจที่จะอธิบายเงื่อนไขและบริบทของการแสดงพฤติกรรมและอัตลักษณ์ของบุคคลที่เป็นเกย์เป็นการศึกษาที่มองว่าวิถีชีวิตเกย์ คือ “ไลฟ์สไตล์” (Edwards, 1994, p.3)  หรือคล้ายกับแบบแผนทางวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยที่ถูกสังคมปิดกั้นและขาดสิทธิเสรีภาพ   การอธิบายในแนวนี้มุ่งอธิบายความหมายของประสบการณ์และระบบคุณค่าที่สังคมสร้างขึ้น  สนใจที่จะศึกษากระบวนการสร้างอัตลักษณ์ทางเพศ และการใช้ชีวิตทางเพศ   แนวนี้มองว่าปัญหาจะหมดไปเมื่อสังคมเปลี่ยนทัศนคติและหันมายอมรับบุคคลที่เป็นเกย์      การศึกษาแนวนี้เกิดขึ้นในสาขาวิชาสังคมวิทยา มานุษยวิทยา และประวัติศาสตร์ ที่สนใจเรื่องอัตลักษณ์และการแสดงพฤติกรรมทางเพศ     เช่น การศึกษาของเอกศาสตร์ (2546)    ปุรินทร์ (2547)  และเบอร์ฟอร์ด(2010)      การศึกษาในแนวนี้พยายามมองเงื่อนไขของการสร้างอัตลักษณ์ทางเพศ โดยสนใจประสบการณ์ระดับปัจเจกเพื่อที่จะเข้าใจว่าบุคคลมีวิธีการนิยามตัวเองอย่างไรในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน  กรณีของเอกศาสตร์สนใจอัตลักษณ์ของเกย์อ้วน  ปุรินทร์สนใจกระบวนการสร้างอัตลักษณ์ตามช่วงวัยของเกย์ และเบอร์ฟอร์ดสนใจการสร้างอัตลักษณ์เกย์ในองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับโรคเอดส์

                นอกจากนั้น  ยังมองว่าเพศวิถีของเกย์เป็นวาทกรรมที่สังคมสร้างขึ้นโดยอาศัยกรอบความคิดจากมิเชล ฟูโก้ และกระบวนทัศน์หลังสมัยใหม่มาใช้เป็นแนวทางในการศึกษา เห็นได้จากการศึกษาของทศวร (2545) เทอดศักดิ์ (2545) และสุธรรม (2548)  ฐานคิดในการศึกษาแนวนี้มาจากกระบวนทัศน์แบบการผลิตสร้างทางสังคม (Social Constructionsim)  ซึ่งเชื่อว่าการดูหมิ่นเหยียดหยามเกย์เป็นอคติทางสังคม(Edwards, 1994, p.7)   การศึกษาในเชิงวาทกรรมเชื่อว่าความจริงเกี่ยวกับเรื่องเพศเกิดจากการสร้างคำอธิบายโดยผู้รู้ ผู้มีอำนาจ และผู้มีบทบาททางสังคม โดยเฉพาะกลุ่มนักวิทยาศาสตร์แพทย์ และนักจิตวิทยาจะมีบทบาทในการสร้างวาทกรรมทางเพศ    ดังนั้น การศึกษาในเชิงวาทกรรมต้องการจะค้นหาว่าสาเหตุของการรังเกียจและการมีอคติต่อเกย์เกิดจากความรู้แบบวิทยาศาสตร์  เพื่อที่จะทำให้สังคมเปลี่ยนความคิดว่าบุคคลที่เป็นเกย์ไม่ใช่คนที่ผิดปกติ  การศึกษาในแนวนี้สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางวาทกรรมที่มีผลต่อการสร้างความจริงเกี่ยวกับเกย์ ซึ่งลึกๆแล้วยังเชื่อว่าจิตสำนึกแบบเกย์เป็นเรื่องที่มีอยู่จริงในช่วงเวลาต่างๆ เพียงแต่ในช่วงเวลานั้นๆ สังคมได้ให้คุณค่าต่อพฤติกรรมทางเพศของเกย์ไม่เหมือนกัน 

                การศึกษาในแนวอัตลักษณ์ลื่นไหล เช่น จตุพร(2548)  นฤพนธ์ (2549)  เอ็นทีม(1998) และดาคาเนย์(2011) เป็นการทำความเข้าใจว่าเกย์แต่ละคนมีวิธีการที่จะตอบรับ คล้อยตาม ท้าทาย หรือเปลี่ยนแปลงความหมายเกี่ยวกับการเป็นเกย์ ซึ่งการศึกษาในแนวนี้จะให้ความสำคัญไปที่ “ตัวคน” (Agency) ซึ่งเป็นทั้ง “ผู้กระทำ” และ “ผู้ถูกกระทำ”  ในเวลาเดียวกัน การศึกษาเกี่ยวกับประสบการณ์ของบุคคลทำให้เข้าใจว่าการแสดงอัตลักษณ์เกย์มีหลากหลายและไม่คงที่ เกย์คนหนึ่งสามารถแสดงอัตลักษณ์ได้หลายแบบขึ้นอยู่กับบริบททางสังคมที่เกย์ดำรงอยู่ เช่น เป็นผู้ชายในพื้นที่สาธารณะ เป็นเกย์ในพื้นที่ส่วนตัว รวมทั้ง การแสดงอารมณ์ความรู้สึกทางเพศต่อเกย์คนอื่นๆก็เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ของความสัมพันธ์ เช่น แสดงบทบาทเป็นฝ่ายรุก ฝ่ายรับ และฝ่ายทั้งรุกและรับ สิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นว่าอัตลักษณ์ทางเพศและพฤติกรรมทางเพศเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้   ด้วยเหตุนี้  ทำให้แนวการศึกษา “เพศไม่นิ่ง” หรือ “เพศลื่นไหล” ได้รับความสนใจในหมู่นักวิชาการไทยในช่วงทศวรรษ 2000  แต่สิ่งที่ต้องตั้งคำถามต่อไปก็คือ การลื่นไหลที่เกิดขึ้นนั้นมีขอบเขตและความหมายต่างกันอย่างไรในประสบการณ์ของเกย์แต่ละกลุ่ม  ความลื่นไหลนี้ส่งผลอย่างไรต่อการสร้างอัตลักษณ์ การแสดงพฤติกรรม และการแสดงอารมณ์ความรู้สึก

                ในการศึกษาบริบทประวัติศาสตร์ที่พบในงานของแจ็คสัน(1995, 1997,1999) และนฤพนธ์ (2553) ชี้ให้เห็นบริบททางวัฒนธรรมที่มีผลต่อการสร้างอัตลักษณ์เกย์ไทยที่ต่างไปจากเกย์ในตะวันตก  โดยเฉพาะเกย์ไทยจะแสดงบทบาทผู้ชายในพื้นที่สาธารณะ และแสดงบทบาทเกย์ในพื้นที่ส่วนตัว   รวมทั้ง ช่วงเวลาที่แตกต่างกัน เกย์แต่ละยุคสมัยจะมีวิธีการแสดงตัวตนที่ไม่เหมือนกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม  การศึกษาในแนวประวัติศาสตร์ไม่เชื่อในความเป็นสากลของเกย์ แต่มองว่าวัฒนธรรมเกย์ในแต่ละที่มีการหยิบยืมความความรู้ท้องถิ่นและสากลมาใช้ในสถานการณ์ที่ต่างกัน  เบ้าหลอมวัฒนธรรมเกย์จึงไม่ได้มีเบ้าหลอมเดียวกัน   ในแง่หนึ่ง การศึกษาบริบทประวัติศาสตร์ช่วยขยายความเข้าใจเรื่องเพศภาวะและเพศวิถีของคนในท้องถิ่น   ทำให้เห็นว่าวิธีคิดและการแสดงออกเกี่ยวกับพฤติกรรมรักเพศเดียวกันในวัฒนธรรมไทยต่างไปจากวัฒนธรรมอื่นๆ    แต่ในอีกแง่หนึ่ง ก็เป็นการมองหา “ลักษณะเฉพาะ” ของอัตลักษณ์เกย์ไทย ซึ่งเชื่อว่าบริบทท้องถิ่นจะหล่อหลอมให้เกย์ไทยมีตัวตนขึ้นมา

                การย้อนกลับไปหาลักษณะเฉพาะ จึงเสมือนการต่อต้านความเป็นสากลและกระแสโลกาภิวัตน์ ในงานของแจ็คสันส่วนใหญ่มักจะนำความท้องถิ่นของเกย์ไทยเพื่อไปวิพากษ์ทฤษฎีตะวันตกที่มีอิทธิพลต่อการศึกษาเกย์ในสังคมอื่นๆ  แจ็คสันมองว่ามีข้อจำกัดทางแนวคิดทฤษฎีของตะวันตกในการทำความเข้าใจวิถีชีวิตของเกย์ในที่อื่นๆ แต่ในขณะเดียวกันก็เชื่อในระบบทุนนิยมและวัฒนธรรมบริโภคที่มีอิทธิพลต่อการสร้างอัตลักษณ์และแบบแผนการดำเนินชีวิตของเกย์ไทย  ในการศึกษาของนฤพนธ์ (2553) ได้ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมบริโภคกับวิธีคิดเรื่องเพศในชุมชนเกย์ไทยที่ส่งผลให้เกย์ไทยแสดงอัตลักษณ์ผู้ชายและอัตลักษณ์เกย์ในบริบทที่ต่างกัน การมองหาลักษณะเฉพาะของเกย์ไทยจากการศึกษาของปีเตอร์และนฤพนธ์ ได้ข้อค้นพบประการหนึ่งคือ เกย์ไทยนำเอาเพศภาวะ “ผู้ชาย” มาใช้แสดงออกในพื้นที่สาธารณะเพื่อไม่ให้สังคมมองว่า “ไม่ใช่ผู้ชาย”   แต่วิธีคิดเรื่องบทบาทชายหญิงในสังคมไทยก็เป็นสิ่งที่ได้รับอิทธิพลมาจากตะวันตกในช่วงสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งไทยกำลังสร้างความศิวิไลซ์เพื่อไม่ให้ชาวตะวันตกดูหมิ่นเหยียดหยาม สถาบันกษัตริย์จึงได้นำความวิธีคิดเรื่องเพศแบบวิคตอเรียมาเป็นบรรทัดฐานเพื่อแยกบทบาทหน้าที่ของหญิงชายให้ชัดเจน ดังนั้นวิธีคิดเรื่องเพศสมัยใหม่จากตะวันตกจึงมีอิทธิพลต่อความเป็นหญิงชายในสังคมไทย  สิ่งที่เป็น “ท้องถิ่น” หรือ เพศแบบไทยๆจึงไม่ใช่สิ่งที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง  การมองหาลักษณะเฉพาะของเกย์ไทยจึงไม่ใช่การมองหา “ความแปลก” ที่ต่างไปจากสังคมอื่น  ในประเด็นนี้ การศึกษาในมิติวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ยังไม่ได้มีการตั้งคำถามมากนัก

                นอกจากนั้น สิ่งที่ควรมีการตั้งคำถามและอธิบายเพิ่มเติมในการศึกษาเชิงวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ก็คือ การทำความเข้าใจเรื่องอารมณ์ปรารถนาและรูปแบบการแสดงออกของเกย์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลาและเงื่อนไข  การศึกษาควรชี้ให้เห็นว่าอารมณ์ความรู้สึกของเกย์ไม่ได้มีเพียงแบบเดียว เกย์แต่ละยุคไม่ได้ใช้ชีวิตภายใต้บริบทเดียวกัน การชี้ให้เห็นความแตกต่างของอารมณ์เหล่านี้จะทำให้เห็นว่าเกย์ในปัจจุบันมีวิธีคิดและพฤติกรรมต่างไปจากเกย์ในอดีตอย่างไร เช่น การแสดงความรัก การมีเซ็กส์ การสร้างสัมพันธ์ทางสังคม เป็นต้น  นอกจากนั้น แม้แต่เกย์ที่มีชีวิตร่วมอยู่ในยุคสมัยเดียวกันก็ไม่จำเป็นต้องแสดงออกในแบบเดียวกัน เพราะเกย์แต่ละคนมีพื้นฐานและความเป็นมาต่างกัน ทั้งฐานะทางสังคม เศรษฐกิจ การศึกษา และแบบแผนการดำเนินชีวิต  ดังนั้น จึงเป็นเรื่องอันตรายหากมองว่าเกย์ไทยมีเอกภาพและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

 

แบบที่สาม กระบวนทัศน์เควียร์ (Queer)

                การศึกษาเกย์ในกระบวนทัศน์สองแบบ ทั้งปฏิฐานนิยมและสัมพันธนิยม อาจไม่ใช่คำตอบที่น่าพึงพอใจเมื่อเกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับความจริงของเพศสภาพและเพศวิถี    กล่าวคือ  กระบวนทัศน์ทั้งสองแบบ แม้จะดูต่างกัน แต่ก็มีข้อพิจารณาที่น่าคิด โดยเฉพาะเมื่อตั้งคำถามเกี่ยวกับกระบวนการแสวงหาและสร้างความรู้ หรือญาณวิทยา  ในตอนต้น ผู้ศึกษาได้ชี้ให้เห็นข้อสังเกตที่สำคัญจากนักคิด 4 คน ซึ่งช่วยให้เข้าใจว่าทฤษฎีของความรู้เกี่ยวกับเพศวิถีและสังคมวัฒนธรรมเกย์     ข้อสังเกตเหล่านี้เกิดจากกระบวนทัศน์เควียร์ที่ช่วยให้เข้าใจว่าญาณวิทยาในการศึกษาเกย์ในสังคมไทยยังคงเชื่อเรื่องการปลดปล่อยเกย์ออกจากสังคมที่เป็นรักต่างเพศ กล่าวคือ ความรู้กระแสหลักเป็นการสร้างคู่ตรงข้ามระหว่างรักต่างเพศกับรักเพศเดียวกัน  หรือ เพศธรรมชาติกับเพศผิดธรรมชาติ (Turner,2000, p.34)    ลึกๆแล้วเป็นการอธิบายด้วยความคิดแยกขั้วนี้ยังเชื่อในความจริงแบบแก่นแท้  เกย์จะถูกสร้างให้เป็นมนุษย์อีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกสังคมดูหมิ่น หรือเป็นคนที่อยู่ชายขอบ ซึ่งวอร์เนอร์(1993) เรียกว่า  Marginal styles of embodiment  หรือ ความมีตัวตนในแบบชายขอบ สิ่งนี้เมื่อถูกอธิบายในพื้นที่สาธารณะ จะกลายเป็นสัญลักษณ์ของความจริง การทำให้เกย์กลายเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งคือการจัดประเภทและสร้างความแตกต่าง          กระบวนทัศน์เควียร์พยายามที่จะก้าวข้ามไปจากวิธีคิดนี้ โดยการเริ่มต้นวิพากษ์หรือ “รื้อสร้าง” สิ่งที่เรียกว่า ความรู้และความจริงเกี่ยวกับเพศของมนุษย์  เช่นถามว่าทำไมจึงมีการแบ่งแยกอารมณ์ความรู้สึกทางเพศเป็นคู่ตรงข้าม และการแบ่งประเภทนี้คือความจริงเกี่ยวกับเพศใช่หรือไม่

                แบร์รี อดัม(2002) อธิบายให้เห็นว่ากระบวนทัศน์เควียร์พยายามตรวจสอบความรู้และความจริง โดยไม่มองว่าเกย์เป็นคนกลุ่มน้อยทางเพศ แต่มองว่าเป็นผลผลิตของวิธีคิดของการจัดแบ่งประเภท เช่น แยกความเป็นชายออกจากความเป็นหญิง และนำไปสู่การอ้างความเป็นชายในวัฒนธรรมเกย์ (Adam, 2002, p.19)  การยึดในการแบ่งแยกประเภทส่งผลให้เกิดการสร้างความจริงเกี่ยวกับโฮโมเซ็กช่วลในหลายรูปแบบ เช่น เชื่อในสิทธิเสรีภาพของเกย์ และการปลดปล่อยเกย์จากสังคมรักต่างเพศ เป็นต้น  ถึงแม้ว่าเควียร์จะช่วยให้เห็นปัญหาของวิธีคิดการแบ่แยกประเภทแต่ในประเด็นเรื่องความเป็นธรรมทางสังคม เป็นสิ่งที่เควียร์อธิบายไว้น้อยมาก หรือแทบจะไม่สนใจเลย  ประเด็นนี้ทำให้นักเคลื่อนไหวเพื่อชาวเกย์ไม่ค่อยสนใจข้อวิจารณ์ของทฤษฎีเควียร์ เพราะประสบการณ์ของการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมนำเอาความหมายของการเป็นเกย์ในแบบต่างๆมาใช้เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ในประเด็นนี้ไม่ค่อยเกิดขึ้นในสังคมไทย เพราะประสบการณ์ของเกย์ไทยไม่ค่อยมีเรื่องเกี่ยวกับการต่อสู้ทางการเมืองและได้รับผลกระทบจากกฎหมาย     ทำให้ทฤษฎีเควียร์ในสังคมไทยเป็นแนวคิดที่อยู่ในชั้นเรียนสายมนุษยศาสตร์ อักษรศาสตร์ และวัฒนธรรมศึกษาที่สนใจกระบวนการสร้างความหมายผ่าน “ตัวบท” เช่น ศึกษาเรื่องเล่าเกย์ในวรรณกรรม นิยาย เรื่องสั้น ละคร ภาพยนตร์ และอินเตอร์เน็ต เป็นต้น      

                อย่างไรก็ตาม   การศึกษาที่วิพากษ์สังคมและวัฒนธรรมเกย์ ยังพบน้อยมาก  ในวงวิชาการไทย   งานที่พยายามวิพากษ์สังคมเกย์ไทย ได้แก่งาน ของนฤพนธ์ (2549,2553) และปีเตอร์ (2011) ซึ่งได้ชี้ให้เห็นว่าวาทกรรมและความรู้ต่างๆที่เกย์นำไปใช้เพื่อสร้างกฎระเบียบ นำไปสู่บรรทัดฐานที่มีการจัดช่วงชั้น ลำดับสูงต่ำ และการแบ่งแยก  สิ่งเหล่านี้คืออำนาจที่เกิดขึ้นในสังคมเกย์    ดังนั้น ความรู้เรื่องเพศภาวะ ความเป็นชายและหญิง เพศวิถีของความเป็นรักต่างเพศและรักเพศเดียวกัน ไม่ใช่สิ่งที่แบ่งแยกเกย์ออกจากคนอื่นๆแต่อย่างใด แต่เกย์ก็ตกอยู่ใต้มายาคติและอำนาจแบบเดียวกันที่นำไปการสร้างอคติทางเพศในสังคม 

 

การศึกษาเกย์ไทยจะเดินไปอย่างไร

                เซดจ์วิค(2005) เคยกล่าวว่านักวิชาการที่ศึกษาวัฒนธรรมของคนรักเพศเดียวกันทั้งเกย์และเลสเบี้ยน มักจะติดอยู่ในกับดักของการแบ่งแยกขั้วระหว่าง “ความเป็นส่วนตัว” กับ “ความเป็นสาธารณะ”   คำกล่าวนี้หมายถึงอะไร สิ่งที่เซดจ์วิคต้องการจะบอกก็คือการศึกษาเกย์และเลสเบี้ยนมุ่งที่จะเปิดเผยเรื่องราวชีวิตของคนเหล่านี้ เสมือนกับว่ามันเป็น “ความจริง” ที่รอการค้นหา ในขณะเดียวกันก็ต้องการที่จะทำให้คนเหล่านี้ออกมาต่อสู้และสร้างสังคมของตัวเอง  วิธีการศึกษาในแนวนี้วางอยู่บนโครงสร้างของการ “เปิดเผยความลับ” และการต่อต้านความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน (Sedgewick, 2005, p.81)  ข้อสังเกตดังกล่าวนี้อาจจะสร้างความรำคาญใจให้กับนักวิชาการหลายคน แต่เป็นสิ่งที่สมควรนำมาพิจารณาในที่นี้

                ผู้เขียนมองว่าสิ่งที่เซดจ์วิคได้เสนอไว้ช่วยทำให้เห็นฐานคิดที่ครอบงำและซ่อนเร้นอยู่ในการศึกษาเกย์ไทยได้เป็นอย่างดี  กล่าวคือ การอธิบายเรื่องราวเกี่ยวกับเกย์มักจะวางอยู่บนฐานคิดเรื่อง “ความแตกต่าง” และความศรัทธาต่อเรื่องเพศวิถี  เพราะถ้าปราศจากความคิดนี้ การศึกษาเกย์ก็ไม่มีความหมาย  ความคิดเรื่องเพศวิถีกลายเป็นผู้กำหนดความจริงเกี่ยวกับตัวตนและอัตลักษณ์ทางเพศของมนุษย์ และอาจเป็นการสร้างความรุนแรงทางเพศได้มากที่สุด (Sedgewick, 2005, p.83)    ความคิดเรื่องเพศวิถีได้กำหนดวิธีการที่มนุษย์จะสร้างกฎเกณฑ์และสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม   ดังนั้น สิ่งที่จำเป็นในการค้นหามิใช่การอธิบายความหมายของเพศวิถี หากแต่ต้องตรวจสอบว่าการจัดจำแนกประเภทคนเป็นเพศต่างๆนั้นทำงานได้อย่างไร และในอดีต  สังคมไทยมีการจัดประเภทอารมณ์ของเพศวิถีหรือไม่

                การศึกษาเกย์ในสังคมไทย ไม่ค่อยเคยชินกับการตั้งคำถามในแนวทางข้างต้นเท่าใดนัก เพราะนักวิชาการส่วนใหญ่มักจะทำงานวิจัยและอธิบายสังคมวัฒนธรรม แบบแผนชีวิต และพฤติกรรมของเกย์ด้วยความเชื่อเรื่องเพศวิถีและความแตกต่างทางเพศ พร้อมๆกับนำเอาความคิดเรื่องอคติทางเพศมาเป็นโครงในการอธิบาย   ทำให้การศึกษาเกย์ไทยมุ่งที่จะตอบโจทย์เรื่องอัตลักษณ์เป็นสำคัญ     ดังนั้น เมื่อเริ่มที่จะตั้งคำถามเกี่ยวกับวิธีการจัดประเภทและการสร้างความแตกต่าง ก็อาจทำให้เห็นวิธีการที่เกย์ไทยนำเอาเรื่องเพศวิถีมาใช้ในชีวิตประจำวัน  รวมทั้งเห็นอำนาจ ความขัดแย้ง และความไม่ลงรอยต่างๆที่เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกชุมชนเกย์ 

บรรณานุกรม

 

หนังสือและบทความภาษาไทย

ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ และกีรติกานต์ กลัดสวัสดิ์ (บรรณาธิการ.) (2551). การป้องกันและแก้ไขปัญหาการติดเชื้อเอชไอวีใน     กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย. นนทบุรี: สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข.

นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ. (2549).เกย์ลอกคราบ. กรุงเทพฯ:วัฒนศาลา.

นฤพนธ์ ด้วงวิเศษใ (2549). “ซาวน่าเกย์ กับการเผยร่าง” ใน รัฐศาสตร์สาร ปีที่ 27 ฉบับที่ 3 หน้า 56-98.

รณภูมิ สามัคคีคารมย์, พิมพวัลย์ บุญมงคล และวชิรา จันทร์ทอง. “แคมฟร็อกกับเพศวิถีของวัยรุ่นชายรักชายไทยพื้นที่        ไซเบอร์ โครงสร้างอำนาจ และอำนาจในตนทางเพศ”. 2552. ในรายงานการประชุมประจำปีเพศวิถีศึกษาใน         สังคมไทย ครั้งที่ 1 วิพากษ์องค์ความรู้และธรรมเนียมปฏิบัติเรื่องเพศวิถีศึกษาในสังคม              ไทย. กรุงเทพฯ,      โครงการจัดตั้งสำนักงานศึกษานโยบายสาธารณสุข คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัย มหิดล. หน้า 230-240.

วิภา ด่านธำรงกูล และวิชัย โปษยะจินดา (บรรณาธิการ.) (2547) เครือข่ายสังคมและเพศสัมพันธ์กลุ่มชายชอบชาย.            กรุงเทพฯ: ฝ่ายศูนย์วิจัยยาเสพติด สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์.

สหะโรจน์ กิตติมหาเจริญ. “เชิงสังวาสของเพศเดียวกัน “ผู้ชายขายแรง” กับเรื่องเล่าออนไลน์ การค้นหาความสุขทางเพศ    ของชาวสีม่วง.” 2552. ใน ในรายงานการประชุมประจำปีเพศวิถีศึกษาในสังคมไทย ครั้งที่ 1 วิพากษ์องค์       ความรู้และธรรมเนียมปฏิบัติเรื่องเพศวิถีศึกษาในสังคมไทย. กรุงเทพฯ, โครงการจัดตั้งสำนักงานศึกษา         นโยบายสาธารณสุข คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. หน้า 279-290.

สุพร เกิดสว่าง.(2546) ชายรักชาย. กรุงเทพฯ:สมาคมอนามัยเจริญพันธุ์.

สุรพงษ์ โสธนะเสถียร และพจนา ธูปแก้ว. (2549). การสื่อสารเพื่อการจัดการองค์กรเกย์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ:               สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

 

วิทยานิพนธ์

จตุพร บุญ-หลง. (2548). ชีวิตติดเบอร์ ตัวตนและเพศวิถีของเกย์ “ควิง” ในเซานา M. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหา               บัณฑิต(สตรีศึกษา), มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, โครงการสตรีศึกษา.

ไชโย นิธิอุบัติ.(2546).การสื่อสารเพื่อการเปิดเผยตนเองของกลุ่มชายรักชาย. วิทยานิพนธ์นิเทศศาสตรมหาบัณฑิต,             จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะนิเทศศาสตร์, สาขานิเทศศาสตร์พัฒนาการ, ภาควิชาการประชาสัมพันธ์.

ทศวร มณีศรีขำ. (2545). การสร้างความเป็นอื่นให้กับเกย์. วิทยานิพนธ์การศึกษาดุษฎีบัณฑิต,มหาวิทยาลัย         ศรีนครินทรวิโรฒ, สาขาพัฒนศึกษาศาสตร์.

เทอดศักดิ์ ร่มจำปา. (2545).วาทกรรมเกี่ยวกับเกย์ในสังคมไทย พ.ศ.2508-2542. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหา   บัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะอักษรศาสตร์, สาขาประวัติศาสตร์.

นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ. (2553). ขบวนการเคลื่อนไหวของเกย์ในสังคมไทย ภาคปฏิบัติการและกระบวนทัศน์. วิทยานิพนธ์          ดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สาขาการบริหารสังคม คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์.

ปุรินทร์ นาคสิงห์. (2547). เกย์ กระบวนการพัฒนาเอกลักษณ์และวิถีชีวิตทางเพศ. วิทยานิพนธ์สังคมวิทยาและ   มานุษยวิทยามหาบัณฑิต (สังคมวิทยา) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา, สาขา              สังคมวิทยา.

ภัทรวดี พันธุ์จันทร์. (2548).กลยุทธ์การสื่อสารเรื่องชายรักชายของสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย. วิทยานิพนธ์    นิเทศศาสตร์มหาบัณฑิต. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะนิเทศศาสตร์,สาขาวิชานิเทศศาสตร์พัฒนาการ,        ภาควิชาการประชาสัมพันธ์.

รวมพล สายอรุณ. (2541). ภาพลักษณ์เกย์ในสายตานักศึกษา. วิทยานิพนธ์สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต,                 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา, สาขาสังคมวิทยา.

สิทธิพัฒน์ เฉลิมยศ (ร.ต.อ.). (2551). แนวทางในการผลักดันการสร้างมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาการตกเป็นเหยื่อ        อาชญากรรมของเกย์ในกรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต, มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต,    สาขาการบริหารงานยุติธรรมและสังคม.

สุธรรม ธรรมรงค์วิทย์. (2548). อำนาจและการขัดขืน: ชายรักชายในสังคมที่มีความสัมพันธ์ต่างเพศเป็นใหญ่.      วิทยานิพนธ์รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,คณะรัฐศาสตร์, สาขาการปกครอง.

อนันต์ นาวิไล. (2537). กระบวนการการกลายมาเป็นผู้ชายขายตัว ศึกษาเฉพาะกรณีผู้ชายขายตัวให้เกย์ในเขต  กรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยศิลปากร, คณะโบราณคดี, สาขา     มานุษยวิทยา.

เอกศาสตร์ สรรพช่าง. (2546).คาราโอเกะคลับ พื้นที่และตัวตนของเกย์อ้วน. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต,               มหาวิทยาลัยศิลปากร, คณะโบราณคดีสาขาวิชามานุษยวิทยา. 

 

หนังสือและบทความภาษาอังกฤษ

Adam, Barry D. 2002. “From Liberation to Transgression and Beyond” in Richardson, Diane and Seidman                Steven (eds.) Handbook of Lesbian and Gay Studies. London, SAGE Publication.

Burford, James. 2010. The Margins Speak: A Multifaceted Examination of Practising 'Men Who Have Sex   with Men' Development in Bangkok. A Master Degree Thesis in Development Studies, School of Geography, Environment and Earth Science, Victoria University of Wellington, New Zealand.

Butler, Judith. 1990. Gender Trouble: Feminism and the Subversion of Identity. New York, Routledge.

Butler, Judith. 1993. Bodies That Matter: On the Discursive Limits of Sex. New York,       Routledge.

Cole, Peter. 2002. The Theory of Knowledge. London, Hodder & Stoughton.

Dacanay, Nikos. 2011. “Encounters in the Sauna: Exploring Gay Identity and Power Structures in Gay Places          in Bangkok” in Peter A. Jackson (eds.) Queer Bangkok: 21th Century Markets, Media, and Rights.   Hong Kong, Hong Kong University Press.

Edwards, Tim. 1994. Erotics & Politics: Gay Male Sexuality, Masculinity, and Feminism. London, Routledge.

Enteem, Jillana. 1998. “Whisky is Whisky: You Can't Make a Cocktail from That Self-Identified Gay Thai Men              in Bangkok.” in Jouvert A Journal of Post-Colonial Studies 2.1 (Fall 1998).

Foucault, Michael. 1998. The Will to Knowledge: The History of Sexuality Vol.1. Translated         

                by Robert Hurley. London, Penguin Books.

Jackson, Peter A. (1995).Dear Uncle Go: Male Homosexuality in Thailand. Bangkok: Bua Luang Books.

Jackson, Peter A.(1997). Kathoey><Gay><Man: The Historical Emergence of Gay Male Identity in Thailand              (pp.166-190). In Manderson, Lenore and Jolly, Magaret (Eds.) Site of Desire, Economies of      Pleasure. Chicago: The University of Chicago Press. 

Jackson, Peter A. Thai Research on Male Homosexuality and Transgendersim: The Cultural Limits of          Foucauldian Analysis. Journal of the History of Sexuality, 8(1) 52-85.

Jackson, Peter A. (1999). Tolerant but Unaccepting: The Myth of a Thai “Gay Paradise (pp.226-242).In      Jackson, Peter A. & Cook,Nerida M..(Eds.). Genders & Sexualities in Modern Thailand. Bangkok: Silkworm Books. 

Sedgwick, Eve Korofsky. 1990. Epistemplogy of the Closet. Berkeley, University of California Press.

Sedgwick, Eve Korofsky. 2005. “Axiomatic” in Morland, Iain and Willox, Annabelle (eds.) Queer Theory.

                New York, Palgrave MacMillan. pp.81-95.

Turner, William B. 2000. A Genealogy of Queer Theory. Philadelphia, Temple University Press.

Warner, Michael. 1993. Fear of the Queer Planet. Minneapolis, University of Minnesota Press.


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

คำสำคัญ: เกย์, สังคมไทย, ประวัติศาสตร์, อัตลักษณ์, การศึกษา, วัฒนธรรม

หัวเรื่องอิสระ: สังคมเกย์